-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรทาง วิทยุ 1 APR *สารสมุนไพร (39), กล้วย (เต็มสูตร)
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรทาง วิทยุ 1 APR *สารสมุนไพร (39), กล้วย (เต็มสูตร)
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรทาง วิทยุ 1 APR *สารสมุนไพร (39), กล้วย (เต็มสูตร)

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 01/04/2016 12:26 pm    ชื่อกระทู้: ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรทาง วิทยุ 1 APR *สารสมุนไพร (39), กล้วย (เ ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรทางรายการวิทยุ 1 APR

AM 594 เวลา 06.30-07.00 (ทุกวัน) และ 08.10-09.00 (จันทร์-ศุกร์)

********************************************************************

สวัสดีครับ ท่านผู้ฟังที่เคารพ
กองทัพบกเพื่อประชาชน เสนอรายการสีสันชีวิตไทย วิทยุเพื่อการเกษตร และอาชีพเสริม
ผลิตรายการโดยกองกิจการพลเรือน หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก

@@ สนับสนุนรายการโดย ...

* บ.นิมุติ เอ็นจิเนียริ่ง เครื่องย่อยเศษพืช (02) 322-9175-6

http://kasate.site88.net/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=1
* ยิบซั่มธรรมชาติ เฟอร์มิกซ์, ธันเดอร์พลัส, ธาตุรอง/ธาตุเสริม มัลติแชมป์ (089) 144-1112

http://www.mysuccessagro.com
* บ.มายซัคเซส อะโกร---ปุ๋ยอินทรีย์ ตราคนกับควาย, กาวเหนียวดักแมลง มายฟิกส์, กลิ่นล่อแมลงวันทอง ฟลายแอต,
สารเสริมฤทธิ์สารสมุนไพร ไบโอเจ๊ต, ถังฉีดพ่นรุ่นใหม่ ใช้แบตเตอรี่ (081) 910-5034

กระผม พันโทวีระ ใจหนักแน่น (คิม ซา กัสส์) เป็นผู้ดำเนินรายการครับ
เช่นเคยครับ รายการเรา 1188 ฝากข้อความ-ฝากคำถาม ที่ (081) 913-4986

----------------------------------------------------------------------------------------------

ตัวแทนจำหน่าย ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง, ไบโออิ, ไทเป, ยูเรก้า. (อินทรีย์ – เคมี)

1) ชมรม (ใหญ่) สีสันชีวิตไทย (089) 814-3204 ใกล้ไฟแดง สี่แยกบางแพ ราชบุรี
2) “คุณชาตรี” (081) 841-9874 ทรัพย์ทวีการเกษตร ชัฎป่าหวาย สวนผึ้ง ราชบุรี (ส่งทาง ปณ.)

3) ร.ต.ต.นันท์สุรัตน์ (089) 821-8273 ต.จรเข้เผือก ด่านมะขามเตี้ย กาญจนบุรี (ส่งทาง ปณ.)
4) “คุณล่า” (081) 944-8494 ทุกวันจันทร์ ตลาดนัดวัดอมรญาติ ดำเนินสดวก ราชบุรี

5) “คุณประเสริฐ” (080) 110-4645 บ.เขาดิน หนองแขม เดิมบางนางบวช สุพรรณบุรี
6) “คุณพรพรรณ” (089) 814-7944 พลชัยเกษตรชีวภาพ ตลาดนัดธนบุรี ถ.เลียบคลองทวีวัฒนา
7) “คุณน้ำส้ม” (085) 055-7706 ชมรมฯ สาขาศาลายา หน้า ม.มหิดล พุทธมณฑลสาย 4 (ส่งทาง ปณ.)

----------------------------------------------------------------------------------------

@@ สารอาหาร (ปุ๋ย) เพื่อการสื่อสาร :

** ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง : ส่วนผสมหลัก .... อินทรีย์/เคมี (กุ้งหอยปูปลาทะเล, เลือด,
ไขกระดูก, นม, ขี้ค้างคาว, น้ำมะพร้าว, ธาตุหลักตามพืช, แม็กเนเซียม. สังกะสี. รอง/เสริม

** ไบโออิ : ส่วนผสมหลัก .... เคมี (แม็กเนเซียม. สังกะสี. รอง/เสริม)
** ยูเรก้า : ส่วนผสมหลัก .... เคมี (21-7-14, ไคโตซาน, อะมิโนโปรตีน)
** ไทเป : ส่วนผสมหลัก ..... อินทรีย์/เคมี (นม, ไข่, น้ำมะพร้าว, 13-0-46. 0-52-34)

มิได้มีเจตนาโฆษณาผลิตภัณฑ์ แต่ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์เพื่อง่ายต่อการสื่อสารข้อมูล เท่านั้น
.... ต้นพืชไม่รู้จักยี่ห้อ ไม่รู้จักเจ้าของสูตร .....
...... ไม่รู้เจ้าของคนปลูก ไม่ฟังโฆษณา .......
...... ต้นพืชรู้จักแต่ส่วนผสมหรือเนื้อใน .......

-----------------------------------------------------------



สารสมุนไพร (39)

20 วิธีไล่แมลงแบบธรรมชาติ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่ง้อสารเคมี

1. พริกแห้งไล่มอดออกจากข้าวสาร

เปิดหม้อหุงข้าวแทบอยากนั่งร้องไห้ กับกองทัพมอดที่ชอนไชข้าวสารอย่างหน้าตาเฉย ไม่ต้องลำบากออกไปซื้อข้าวสารถุงใหม่ให้เปลืองเงิน แค่เดินไปหยิบพริกแห้งมา 1 กำมือ มาห่อด้วยผ้าขาวบางแล้วใส่ลงไปในข้าวสาร เท่านี้เจ้ามอดก็ทนความเผ็ดร้อนของพริกไม่ไหว อพยพหนีไปยกครัว

2. ถูเปลือกส้มกันแมงมุมเข้าบ้าน
ไม่อยากให้บ้านถูกโจษจันไปทั่วว่าเป็นบ้านผีสิงน่าสยองขวัญ เพราะหยากไย่แมงมุมที่เหล่าแมง 8 ขา ฉายาฮีโร่ ชักใยไปทั้งบ้าน ให้นำเปลือกส้มหรือพืชในตระกูลส้มมาถูๆ บี้ๆ ให้น้ำมันจากเปลือกออกมา แล้วทำไปวางไว้บริเวณชั้นวางของ หน้าต่าง หรือมุมเพดานบ้าน แล้วแมงมุมได้กลิ่นเปลือกส้มมันจะเหม็นจนไม่กล้าเข้ามาขยุ้มหลังคาชักใยได้อีกเลย

3. ไล่ยุงร้ายด้วยน้ำมันยูคาลิปตัส

ในยุคนี้ไม่ได้มีแค่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพราะยุงแมลงร้ายก็พัฒนาสายพันธุ์ไปมากขึ้น แถมยังมีพิษร้ายแรงอีกต่างหาก ฉะนั้นมาปราบยุงกวนๆ ด้วยการทาน้ำมันยูคาลิปตัสที่มีกลิ่นเลมอน ก็จะช่วยไล่ยุงให้ห่างไกลจากตัวเรายิ่งกว่าเดิม และไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายมนุษย์อีกด้วย

4. น้ำกระเทียมกำจัดเพลี้ยในต้นไม้

การพักผ่อนในสวนหลังบ้านต้องสะดุด เพราะเจ้าเพลี้ยแมลงศัตรูพืชที่คอยกัดกินต้นไม้ของเราจนเสียหาย แต่อย่าเพิ่งใจร้อนไปเอาน้ำยาเคมีฆ่าเพลี้ยเด็ดขาด เพราะไม่ใช่แค่เพลี้ยที่ตาย สารเคมีจะทำให้ต้นไม้คุณวอดวายตามไปด้วย ให้นำกระเทียมประมาณ 1 กำมือ มาตำพอแหลก แล้วแช่ในน้ำเปล่า 3 ลิตร ทิ้งไว้ 1 วัน จากนั้นกรองเอาแต่น้ำไปฉีดพ่นเพลี้ยตามใบไม้ เพลี้ยจะหนีไปเอง ถ้าไม่หนีหรือหนีไม่ทันก็ตาย

5. พ่นน้ำส้มสายชูเปลี่ยนที่อยู่ให้มด

ทั้งขนลุก ทั้งเซ็ง เวลาเห็นมดกำลังย้ายถิ่นฐานก่อนฝนตก แล้วมาอาศัยข้าวของสำคัญของเราเป็นที่อยู่ไปซะงั้น แนะนำให้เอาน้ำส้มสายชูเทลงในขวดสเปรย์ (ฟ็อกกี้รีดผ้า) แล้วไปฉีดไล่ตามที่ที่มันย้ายไปอยู่ แต่ถ้าจะฉีดบนวัสดุที่เป็นผ้าขอให้ลองทดสอบจุดเล็กๆ ดูก่อน ถ้าเนื้อผ้าและสีผ้าไม่เปลี่ยนแปลงหรือเสียหายก็เป็นอันใช้ได้

6. โรยผงอบเชยที่มุมเด็กเล่นในสวนป่วนหัวแมลง

ชื่อเริ่ดๆ ของขนมปังชินนามอนโรลที่จริงมันก็คือ ขนมปังผสมผงอบเชย สมุนไพรคู่ใจต้นตำรับไทยของเรานี่เอง เครื่องเทศที่ไม่ได้ทำให้ขนมปังดูน่ากินอย่างเดียวนะ เพราะมันยังช่วยไล่แมลงได้อีกด้วย เพียงแค่นำไปโรยที่สนามหญ้าหรือกองทรายที่เด็กๆ ชอบไปเล่น เจ้าแมลงอันตรายทั้งหลายก็จะไม่มาก่อกวนเด็กๆ อีกเลย

7. แป้งเด็กทำผึ้งและตัวต่อบินไม่เป็น

ทำตัวไม่ถูกทุกทีที่ผึ้งบินเข้ามาในบ้าน จะวิ่งออกไปกระโดดลงน้ำก็ดูเป็นเรื่องใหญ่ งั้นมาลองใช้แป้งเด็กที่บ้านไหนๆ ก็มีกันดีกว่า ซึ่งเหล่าผึ้งน้อยและตัวต่อยักษ์ใหญ่ไม่ชอบกลิ่นและเนื้อแป้งที่ฟุ้งอยู่ในอากาศ เพราะทำให้วิสัยทัศน์การบินของมันแย่ลง เราสามารถไล่พวกมันให้ไกลห่างได้โดยโรยแป้งเด็กไว้รอบบ้านหรือเทใส่ถุงผ้าขาวบาง แล้วนำไปวางไว้ตามมุมที่คิดว่าผึ้งและตัวต่อชอบทำรัง

8. ขีดชอล์กห้ามมดผ่านข้ามแดนเข้ามาในบ้าน

อีกหนึ่งวิธีไล่มดที่แสนจะง่ายดาย ซึ่งนอกจากน้ำส้มสายชูแล้วเรายังมีทริคหรือเคล็ดลับสำหรับคุณมดผู้ขยันทั้งหลายที่กำลังย้ายรังมายังบ้านของเราให้หันหลังแล้วเดินกลับไปซะ โดยการขีดชอล์คที่คุณครูใช้เขียนกระดานดำสอนนักเรียน ขีดบนพื้นเป็นเส้นกั้นเขตแดนรอบๆ ตัวบ้าน หรือบริเวณที่กันไม่ให้มดเข้าเอาไว้ ที่มดหน้าไหนก็ข้ามมาไม่ได้ เพราะมดไม่ถูกกับกลิ่นชอล์ค

9. แตงกวาพาแมลงสาบหนีหาย

สติสตังเตลิดไปหมดเมื่อเห็นแมลงสาบเดินในบ้าน จะใช้เคมีมาฉีดก็กลัวตัวเองจะล้มตามไปด้วย ถ้าอย่างนั้นต้องลองใช้เทคนิคง่ายๆ ที่ไม่ต้องพึ่งเคมีเลย สไลซ์แตงกวาให้เป็นแว่นๆ แล้ววางไว้ตามจุดที่แมลงสาบชอบเดินบ่อยๆ แมลงสาบไม่ชอบกลิ่นแตงกวาอย่างมาก ไม่นานมันก็ย้ายพรรคพวกไปเอง

10. แผ่นอบแห้งแผ่รัศมีไล่แมลงขณะเดินป่า

หากคุณเป็นเนวิเกเตอร์เดินป่าตัวยงแล้วต้องพบกับปัญหาแมลงก่อกวน แนะนำให้พกแผ่นอบแห้ง (Dryer Sheets) ติดใส่กระเป๋าเสื้อไปด้วย เพราะกลิ่นหอม ๆ ในแผ่นอบแห้งจะแพร่กระจายส่งสัญญาณบอกให้แมลงอย่าง มด ริ้น และอื่น ๆ ถอยออกไปอย่ามารบกวนการท่องป่าของคุณ

11. หัวหอมกันแมลงวันให้อยู่ห่าง

ขอยกมือเลยว่าเป็นหนึ่งในคนเจ้าน้ำตาเมื่อผ่าหัวหอม แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง แล้วรู้ไหมว่าคุณสมบัติน้ำตาเช็ดหัวเข่าเนี่ยแหละสามารถไล่แมลงได้โดยเฉพาะแมลงวัน ถ้าไม่อยากยืนปัด พัด และโบกแมลงวันให้เมื่อยแขน แนะนำให้ซอยหัวหอมแช่น้ำ แล้วไว้ใกล้ ๆ อาหารที่แมลงวันตอม รับรองเลยว่ามันต้องหยีตากลับไปร้องไห้ที่รังมันแน่นอน

12. วานิลลาสกัดเข้มข้นกลิ่นหอมพิฆาต

สำหรับคนที่ไม่ชอบกลิ่นสมุนไพรเพียว ๆ ของหัวหอม กระเทียม ตะไคร้ และอื่น ๆ ก็ไม่ต้องเปลี่ยนใจไปใช้สารเคมี เพราะกลิ่นหอมของวานิลลาสกัดเข้มข้นที่ผสมลงในน้ำเปล่าจะช่วยตีจากแมลงกวนให้ไกลจากเราได้ไม่แพ้สมุนไพรกลิ่นแรง ๆ เลย หรือจะใช้ลาเวนเดอร์หรือมิ้นต์สกัดเข้มข้นแทนก็ได้เช่นกัน

13. น้ำมันถั่วเหลืองอีกหนึ่งทางเลือกไล่ยุง

ถ้าใครเกิดปัญหาทั้ง 2 อย่างคือทั้งไม่ชอบกลิ่นสมุนไพรไทยและไม่มีวานิลลาสกัดเข้มข้น ก็ไม่ต้องออกไปหาซื้อให้วุ่นวาย เพราะน้ำมันถั่วเหลืองที่เราใช้ผัดอาหารนี่แหละ คืออีกทางเลือกที่จะช่วยไล่ยุงน่ารำคาญไม่ให้มากัดขาเราได้ แค่ทาไปบนผิวบาง ๆ ระหว่างวันที่อยู่บ้าน เจ้ายุงก็จะไม่มายุ่งกับเราแล้ว

14. ตะไคร้หอมราชาแห่งการปราบแมลง

น้ำยาเคมีที่ว่าแน่ก็ยังแพ้ให้กับตะไคร้หอม ไม่ว่าแมลงหน้าไหนก็ต้องหลีกทางให้พืชตัวนี้ ซึ่งตอนนี้ก็มีหลากหลายผลิตภัณฑ์จากตะไคร้หอมที่วางขายตามท้องตลาด ที่เราสามารถหาซื้อมาใช้เพื่อไล่แมลงได้แถมยังไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีก หรือถ้าใครอยากมีไว้ใช้นาน ๆ แนะนำให้เอามาปลูกไว้ในสวนทั้งต้นเลย เพราะนอกจากจะกั้นเขตไม่ให้แมลงเข้ามาแล้ว ยังเอามาทำผลิตภัณฑ์ไล่แมลงใช้เองได้ด้วยนะ

15. รักษาความสะอาดบ้านก็ปลอดแมลง

ไม่ต้องรื้อบ้านหาต้นตอของแมลงให้ยุ่งยาก การทำความสะอาดบ้านคือด่านแรกของการกำจัดแมลงตัวจริง แค่วางตารางการปัด กวาด เช็ด ถูให้ดี แล้วทำเป็นประจำอย่าให้ขาด สำรวจแหล่งน้ำรอบบ้าน กำจัดน้ำขังกับน้ำเน่าออกไป หรือหาทรายอะเบทไปเทในถังน้ำที่ยุงชอบมาวางไข่ ส่วนบ้านไหนที่ชอบเลี้ยงสัตว์ในบ้าน ควรแยกเขาไปอยู่ในบ้านสัตว์เลี้ยงหลังเล็กๆ นอกบ้านของเราจะดีกว่า

16. สวมใส่เสื้อที่มีสีสว่างสดใส ไม่ให้ยุงบินเข้าหา

วันไหนที่คว้าเสื้อดำมาใส่ก็ต้องต่อสู้กับกองทัพยุงที่จะพุ่งมาหาเรา เพราะยุงและแมลงชอบอยู่ในที่มืดเป็นหลัก ฉะนั้นถ้าไม่ได้ออกไปไหนอยากให้เลือกใส่เสื้อผ้าที่สีสว่างสดใสน่าจะดีกว่าใส่เสื้อผ้าสีมืด ๆ คล้ำ ๆ เจ้ายุงจะได้ไม่มาเกาะแกะคอยสูบเลือดเราอีก

17. เลือกใช้เครื่องประทินร่างกายแบบไม่มีน้ำหอมกลิ่นผลไม้และดอกไม้

กลิ่นหอมของผลไม้คือปัจจัยแรกในการเลือกซื้อครีมอาบน้ำ สบู่ และแชมพู เพื่อให้ความหอมดึงดูดใจคนรอบข้าง แล้วรู้หรือไม่ว่ามันยังดึงดูดแมลงเข้าหาคุณด้วยนะ ทางที่ดีควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมกลิ่นผลไม้และดอกไม้ เปลี่ยนเป็นกลิ่นสมุนไพรหรือไร้กลิ่นแทนดีกว่า

18. เลือกใช้หลอดไฟสีวอร์มไวท์ปิดทางเดินแมงมุม

เมื่อเงยหน้ามองหลอดไฟเพดานต้องตกใจกับเจ้าแมงมุมที่เดินพล่านบนใย ทำตัวเหมือนนี่คือบ้านหลังแรกของมัน ดังนั้นเรามาเปลี่ยนไฟเป็นสีวอร์มไวท์ปิดตาให้แมงมุมหาทางเดินไม่เจอดีกว่า หลอดไฟชนิดนี้จะมีแสงที่สร้างความลำบากในการคลำทางเดินของแมงมุม

19. ทำกับดักจับแมลงฉลาดน้อยให้ตกหลุมดัก

เพียงเอ่ยปากว่าจะไม่ทนกับแมลงอีกต่อไป ขอให้มาดูวิธีทำกับดับล่อยุงและแมลงก่อนจะไปเลือกน้ำยาเคมี นำขวดพลาสติดมาตัดครึ่งแล้วน้ำส่วนผสมของน้ำ 200 มิลลิลิตรและน้ำตาล 50 กรัมลงไป ตามด้วยยีสต์ 1 กรัมแต่ไม่ต้องคนให้เข้ากัน จากนั้นนำปากขวดอีกครึ่งหนึ่งที่ตัดออก ไปตอนแรกมาปิดไว้แล้วพันด้วยเทปกาว พร้อมหุ้มทั้งขวดไว้ด้วยกระดาษอีกที คราวนี้ทั้งยุงและแมลงก็จะโดนขังอยู่ในขวดไปไหนไม่ได้แล้ว

20. อารมณ์ดีก็มีผลต่อการไล่แมลง

บอกแล้วว่าทุกอย่างมันอยู่ที่ใจใช่ภายนอก หากเราคิดดีอารมณ์ดีไม่วิตกกังวลจนมากเกินไป แมลงร้ายชนิดไหนก็ไม่อยากเข้าใกล้เราเลย แต่ถ้าเราหงุดหงิด เครียด อารมณ์ร้อนตลอดเวลาสารจากฮอร์โมน และฟีโรโมนก็จะหลั่งออกมาล่อแมลงให้เข้าหาตัวเราเอง ฉะนั้นทำใจร่ม ๆ เข้าไว้ป้องกันแมลงได้แถมหน้าก็ไม่เหี่ยวง่าย ๆ อีกต่างหาก

ร้อยแปดพันสารเคมีที่พร้อมจะปลิดชีพแมลงร้าย แต่อย่าลืมนะว่ามันก็ส่งผลร้ายต่อเราเช่นกัน แต่จะดีกว่าไหมถ้าเอาทริคเด็ดไม่เก็บสารเคมีตกค้างไปใช้ แล้วเหล่าแมลงทั้งหลายจะต้องโบกธงขาวยอมแพ้แต่เนิ่น ๆ แน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก naturallivingideas
http://home.kapook.com/view127093.html
-----------------------------------------------------------------------

จาก : (098) 782-62xx
ข้อความ : ที่ 50 ไร่ ทำนามาตลอดชีวิต ปีก่อนนาปรังเจอแล้งขาดทุนอย่างหนัก หนี้เก่า 3 แสน เพิ่มเป็น 4 แสนห้า ปีนี้แล้งอีก ทำนาไม่ได้ ฟังเรื่องแล้งอนุบาล แล้งประถม แล้งมัธยม จน ถึงแล้งปริญญาแล้ว จริงแน่นอน ผมเจาะบ่อบาดาลข้างที่ติดบ้าน น้ำไม่มากแต่คิดว่าพอใช้ อยากตัดที่มาปลูก กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ อยากให้คุณลุงช่วยวางแผน กับวิธีบำรุงแบบอินทรีย์เกาะขอบด้วยครับ .... ดอนเจดีย์
ตอบ :
ความรู้รอบตัวเรื่องกล้วย (ทุกสายพันธุ์)

* ในประเทศไทยมีกล้วยหลายร้อยสายพันธุ์ ปัจจุบันสถานีวิจัยปากช่อง นครราชสีมา ได้รวบรวมพันธุ์กล้วยที่มีค่าทางเศรษฐกิจไว้มากกว่า 50 สายพันธุ์

* เป็นพืชอายุสั้นฤดูกาลเดียวหลังจากให้ผลผลิตแล้วต้นตายแต่มีหน่อสืบต่อ (ไม่แยกหน่อไปปลูกใหม่) ทำให้กลายเป็นพืชอายุยืนนานหลายสิบปีได้ โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้าที่มีหน่อสืบแทนต้นแม่มีอายุยืนนานหลายปี แต่ผลผลิตที่เกิดจากหน่อสืบต่อแทนต้นแม่นั้นคุณภาพจะด้อยลงจนถึงขนาดมีเมล็ด

* ระหว่างกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ ปลูกในแปลงเดียวกัน บำรุงรักษาอย่างเดียวกัน กล้วยไข่จะออกเครือก่อนแล้วกล้วยหอมและกล้วยน้ำว้าจะออกเครือที่หลังตามลำดับ
* เป็นพืชอวบน้ำต้องการความชุ่มชื้นสูงทั้งในดิน ผิวดินและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง ไม่ชอบน้ำขังค้างนาน ต้นที่ขาดน้ำจะโตช้า ให้ผลผลิตไม่ดี ถ้าอากาศหนาวเย็นจะโตช้าและผลก็แก่ช้าด้วย

* ขณะต้นแม่ยังไม่ออกเครือไม่ควรแยกหน่อเพราะจะทำให้กระทบกระเทือนต่อต้นแม่ แต่ให้ตัดต้นหน่อจนเหลือแต่ตอสูงจากพื้นประมาณ 20-30 ซม. ไม่นานหน่อนั้นจะแตกยอดใหม่ และให้ตัดหน่อทุกครั้งเมื่อความสูง 80 ซม.- 1 ม. กว่าต้นแม่ออกเครือซึ่งอาจจะต้องตัดหน่อ 2-3 รอบ การตัดหน่อจะทำให้ตัวหน่อเองมีเหง้าขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแยกนำไปปลูกจะได้ผลผลิตที่ดี

* ตอบสนองต่อปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทุกสูตร) และฮอร์โมนธรรมชาติ (ทำเอง) ดีมาก ถ้ามีการใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพตั้งแต่เตรียมดินจนถึงบำรุงต้นอย่างต่อเนื่อง ลำต้นจะสูงใหญ่มากจนอาจเกิดปัญหาในการค้ำต้นและการเก็บเกี่ยวผลผลิต แก้ไขโดยเมื่ออายุต้นได้ 90 วัน มียอดใหม่หลังตัดตอ ให้บำรุงทางใบด้วย 0-42-56 หรือ นมสัตว์สด หรือกลูโคส 2-3 รอบ ห่างกันรอบละ 20-30 วัน ควบคู่กับให้ทางรากด้วย 8-24-24 นอกจากจะทำให้ต้นเตี้ยลงแล้วยังช่วยให้ต้นได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอก (ปลี) ซึ่งส่งผลให้ออกดอกดีอีกด้วย

* รากเจริญทางยาวได้เดือนละ 1 ม. ซึ่งจะเจริญทางยาวตลอด 3 เดือนแรก หลังจากนั้นไม่เจริญทางยาวอีกได้แต่แตกรากแขนงออกทางข้าง ดังนั้นการให้น้ำและธาตุอาหารทางรากจึงต้องให้แบบกระจายเต็มทั่วแปลงหรือเต็มพื้นที่ทรงพุ่มรัศมี 2-3 ม.

* งดใช้ยาฆ่าหญ้าทุกชนิดโดยเด็ดขาด แต่ให้ใช้วิธีกำจัดหญ้าหรือวัชพืชด้วยการถอนแล้วปล่อยทิ้งไว้คลุมหน้าดิน ละอองยาฆ่าหญ้าที่ปลิวลมไปกระทบใบกล้วยจะทำให้ใบไหม้ นอกจากนี้ยาฆ่าหญ้าที่ปลิวลงสัมผัสพื้นดินโดยตรงและแทรกอยู่ในต้นหญ้าหรือวัชพืช เมื่อต้นหญ้าหรือวัชพืชเน่าสลาย ยาฆ่าหญ้าก็จะละลายออกมาปนเปื้อนกับเนื้อดินทำให้ดินเป็นกรดอีกด้วย

* แปลงปลูกที่มีลมแรงควรมีไม้บังลม (ลมแรง ใบแตก)
* ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิมแบบรุ่นต่อรุ่น แนะนำให้แบ่งพื้นที่เป็นสองแปลง ระหว่างที่แปลงหนึ่งปลูกกล้วยนั้นอีกแปลงหนึ่งให้ปลูกพืชอายุสั้นบำรุงดิน เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วเขียว ถั่วเหลือง หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วให้ไถกลบเศษซากต้นลงดินใช้เป็นปุ๋ยพืชสด และเมื่อแปลงที่กล้วยเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วก็ให้เปลี่ยนเป็นปลูกพืชตระกูลถั่ว ส่วนแปลงที่เคยปลูกพืชตระกูลถั่วก็ให้เปลี่ยนเป็นปลูกกล้วยแทน สลับกันไปมาเช่นนี้จะทำให้ปลูกกล้วยและถั่วได้หลายรุ่น

* รากมีจุลินทรีย์แอ็คติโนมัยซิส การให้จุลินทรีย์หน่อกล้วยตั้งแต่ช่วงเตรียมดินและให้ต่ออีกเป็นครั้งคราว (1-2 เดือน/ครั้ง) หลังจากหน่อยืนต้นได้แล้ว นอกจากช่วยบำรุงต้นแล้วยังช่วยบำรุงดินอีกด้วย

* ธรรมชาติจะออกเครือทางทิศตรงข้ามกับไหลที่งอกออกมาจากต้นแล้วเกิดเป็นหน่อเสมอ เมื่อต้องการให้ต้นออกเครือมาทางทิศใดก็ให้หันด้านตรงข้ามกับไหลไปทางทิศนั้น ถ้ากล้วยทุกต้นออกเครือทางทิศด้านเดียวกันพร้อมกันทั้งแถวจะช่วยให้การปฏิบัติงานง่ายขึ้น

* แต่ละต้นย่อมมีหลายหน่อ หน่ออยู่ลึกเป็นหน่อสมบูรณ์ดีกว่าหน่ออยู่ตื้น เพื่อให้หน่อทุกหน่อเป็นหน่อสมบูรณ์ก็ให้พูนโคนต้นให้สูงขึ้นด้วยเศษซากพืชแห้งหรือดินเลนก้นร่อง

* อายุต้น 4-6 เดือน (ตามชนิดสายพันธุ์) หลังปลูก จะเริ่มมีหน่อ ให้ตัดต้นหน่อทิ้งไปเพื่อไม่ให้ต้นแม่ต้องรับภาระส่งอาหารไปเลี้ยงหน่อซึ่งเกิดใหม่ จะทำให้ต้นแม่มีสารอาหารส่งไปเลี้ยงผลบนต้นอย่างเพียงพอ หรือระหว่างที่ต้นมีเครืออยู่หรือยังไม่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วมีหน่อแทงขึ้นมาก็ให้ตัดต้นหน่อทิ้งทุกครั้ง ยกเว้นหน่อที่จะเก็บไว้ให้โตต่อแทนต้นแม่

* ระหว่างต้นมีเครืออยู่ ถ้าขุดแยกหน่อออกมาจะทำให้ต้นแม่ชะงักการเจริญเติบโต
* เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือตัดเครือแล้วให้ล้มต้นแม่ นำเศษซากต้นแม่ออก จากนั้นบำรุงหน่อต่อไปจนได้ขนาดเหง้าและลำต้นใหญ่ตามต้องการ การแยกหน่อจะทำได้หลังจากตัดเครือและล้มต้นแม่แล้วเท่านั้น

* ปลูกกล้วยแบบ รุ่นต่อรุ่น หมายถึง การปลูกให้ได้ผลผลิตพร้อมกันทั้งแปลง ด้วยระยะปลูก 2.5 x 2 ม. หลังจัดเก็บเกี่ยวแล้วล้มต้น นำเศษซากต้นออก ขุดแยกหน่อที่มีทั้งหมดออก ปรับปรุงบำรุงดินและจัดแปลงใหม่ จากนั้นลงมือปลูกใหม่พร้อมกันทั้งแปลง ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตพร้อมกันทั้งแปลงเหมือนการปลูกครั้งแรก .... การปลูกแบบหลุมละ 2 ต้นแล้วจัดระยะห่างระหว่างต้น/แถวเพิ่มขึ้นอีก 1 ม.เป็น 3.5 x 3 ม. จะทำให้ได้จำนวนต้นเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่แปลงปลูกด้วยระยะ 2.5 x 2 ม. หรือพื้นที่เท่าเดิม

* ปลูกกล้วยแบบ ปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตหลายรุ่น หมายถึง การปลูกครั้งแรกแบบพร้อมกันทั้งแปลงหรือไม่พร้อมกันก็ได้ด้วยระยะห่าง 4 x 4 ม. หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตต้นใดแล้วนำเศษซากต้นแม่ออกพร้อมกับขุดแยกหน่อตามออกทั้งหมด ให้คงเหลือหน่อชิดที่อยู่คนละด้านของต้นแม่ไว้ 2 หน่อ เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นต้นแม่ในรุ่นต่อไป ซึ่งหน่อชุดใหม่ที่คงไว้นี้จะให้ผลผลิตได้ไม่ต่างจากต้นแม่

* การปลูกกล้วยแบบ มีผลผลิตตลอดปี ให้แบ่งแปลงปลูกเป็นส่วนๆ (โซนนิ่ง) 3-4 แปลง แล้วปลูกกล้วยแต่ละรุ่นให้ห่างกัน 3-4 เดือน แปลงไหนแก่ก่อนเก็บก่อนและแปลงไหนแก่ทีหลังเก็บทีหลัง แต่ละแปลงจะมีกล้วยแก่ให้ทยอยเก็บ 2-3 เดือน เมื่อรวมทุกแปลงแล้วทำให้มีผลผลิตขายตลอดปี

* หน่อหรือต้นแม่เมื่อไม่ต้องการเก็บไว้ทำพันธุ์ต่อให้ทำลายโดยตัดตอ คว้านไส้กลางให้เป็นแอ่งแล้วหยอดน้ำมันพืชหรือน้ำมันก๊าดลงไป 1 ช้อนโต๊ะ เหง้าของหน่อหรือต้นแม่นั้นจะเน่าไม่แตกยอดใหม่ขึ้นมาอีก จากนั้นจะเน่าสลายกลายเป็นปุ๋ยต่อไป

* ช่วงยังไม่ออกเครือควรให้มีใบ 10-12 ใบ ช่วงกำลังออกเครือให้มีใบ 9-10 ใบ และช่วงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวให้มีใบ 4-5 ใบก็พอ

* ใบกล้วยมีนวลใบมาก การฉีดพ่นสารอาหารทางใบจึงต้องใช้สารจับใบร่วมด้วยทุกครั้ง
* การปลูกกล้วย (ทุกสายพันธุ์) ให้ได้ผลผลิตเก็บเกี่ยวพร้อมกันหรือระยะเวลาใกล้เคียงกันต้องใช้ต้นพันธุ์จากเพาะเนื้อเยื่อ

* เทคนิคการบำรุงด้วย ฮอร์โมนสมส่วน + ธาตุรอง/ธาตุเสริม อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวจะช่วยให้ได้ต้นสมบูรณ์ ผลขนาดใหญ่ ยาว เนื้อแน่นกลิ่น รส และสีดี

* วิธีรักษากล้วยให้สุกช้า หลังจากตัดเครือลงมาจากต้นแล้วให้นำลงแช่น้ำในโอ่งจนท่วมทั้งเครือ หรือตัดออกเฉพาะหวี แช่นาน 3-5-7 วัน ตามความต้องการยืดอายุนานสุด ระหว่างแช่อยู่ในน้ำนี้กล้วยจะไม่สุกแต่จะนิ่งอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งนำขึ้นจากน้ำ ผึ่งลมให้แห้งแล้วบ่ม กล้วยก็จะเริ่มสุกเองตามปกติ

* บำรุงกล้วยให้รสชาติหอมหวาน ก่อนตัดเครือ 7-10 วัน ให้เจาะลำต้นด้านบน ณ ความสูง 3 ใน 4 ของความสูงลำต้นจากพื้น หรือเจาะลำต้นด้านล่าง ณ ความสูงจากพื้น 1 ฝ่ามือ เลือกเจาะจุดใดจุดหนึ่งด้วยไม้ปลายแหลมมนขนาดตะเกียบ ลึกถึงไส้กลาง 3 รูของทั้ง 3 ด้านเป็นแฉกเหมือนตรารถเบนซ์ ให้ปลายรูทั้ง 3 ชนกันที่ไส้กลางพอดี ใส่ "แป้งข้าวหมาก"ลงไปจนเต็มรูทั้ง 3 แล้วปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นจนถึงเก็บเกี่ยว เมื่อนำไปบ่มจนสุกแล้วรับประ ทานจะมีกลิ่นหอมรสหวานขึ้น บางคนบอกว่ามีกลิ่นและรสแอลกอฮอร์น้อยๆทำให้รับประ ทานได้อร่อยขึ้น

* ก่อนตัดเครือ 2-3 อาทิตย์ ฉีดพ่นด้วยน้ำคั้นมะเขือเทศสุก ให้ทั่วต้นแต่เน้นที่เครือโดยตรง 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 1 อาทิตย์ หลังจากตัดเครือและนำไปบ่มจนสุกแล้วจะได้รสชาติและกลิ่นดีมาก

* ใช้เกลือแกง 1-2 กำมือ + ปุ๋ยคอกแห้งเก่าค้างปี 2-3 กก. ผสมดินปลูกรองก้นหลุมนอกจากช่วยป้องกันหนอนและด้วงงวงเจาะเหง้าได้แล้วยังบำรุงผลให้รสชาติดีอีกด้วย

* คลุมโคนต้นด้วยผักปอด (ทั้งต้นและราก) ผสมปุ๋ยคอกจะช่วยบำรุงต้นให้สมบูรณ์ หน่อมาก ผลดกและคุณภาพดี
* ห่อผลหลังจากตัดปลี 20-30 วัน ด้วยกระสอบปุ๋ยทั้งใบ หรือวัสดุอื่นที่ขนาดใหญ่สวมกล้วยได้ทั้งเครือ ตัดส่วนก้นกระสอบเปิดให้อากาศผ่านได้ หรือใช้ใบกล้วยทั้งก้าน 3-4 ก้าน ผูกโคนก้านกับเครือด้านบน จัดใบปิดหวีกล้วยให้มิดชิด ผูกรวบปลายใบที่ห่อให้เรียบร้อย......เครือที่ห่อด้วยใบกล้วยมีคุณภาพดีกว่าห่อด้วยกระสอบปุ๋ย

* ช่วงติดเครือใหม่ๆ ยังไม่ห่อผล ควรตัดใบล่างทิ้งเพื่อไม่ให้กวัดแกว่งไปถูกผลเพราะจะทำให้ผิวผลมีตำหนิได้
* เครือกล้วยมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก จำเป็นต้องค้ำต้นด้วยการใช้ไม้ไผ่ลำขนาดเท่าแขน ยาวหรือสูงกว่าเครือกล้วย 1-1.5 ม. จำนวน 2 อัน ใช้เชือกปอพลาสติกทบกันหลายๆชั้นยาวประมาณ 50-80 ซม. ผูกปลายไม้ค้ำทั้งสองด้านให้แน่น ค้ำต้นโดยสวมเชือกเข้าหาเครือตรงๆไม่ต้องไขว้ปลายไม้ ให้น้ำหนักเครือกล้วยอยู่บนเชือกนั้น ขยับปลายไม้ที่พื้นกางออกแล้วปักลงดินในลักษณะที่ต้นกล้วยเอนลงเล็กน้อย .... หรือใช้ไม้ไผ่ลำขนาดเท่าแขน 1 ลำ แนบลำต้นด้านหลังของเครือ แทงไม้ลงดินยิ่งลึกยิ่งดี ใช้เชือกผูกต้นกล้วยเข้ากับหลัก หลายๆทบ แน่นพอประมาณ 3-4 เปราะจากโคนถึงคอ ไม้หลักนี้จะช่วยรั้งลำต้นไว้ไม่ให้เอนมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนั้นได้

* ปลูกกล้วยตัดใบโดยเฉพาะให้ปลูกระยะห่าง 2 x 2 หรือ 2 x 3 ม.
------------------------------------------------------------

ปลูกกล้วยแบบประณีต :
การเตรียมหน่อพันธุ์ (ทุกสายพันธุ์) :

- เลือกหน่อพันธุ์ที่เป็นหน่อชิด (หน่อแรกที่ออกมาจากต้นแม่) ใบแคบหรือใบธง (ยังไม่กางแผ่) เหง้าใหญ่ ลำต้นตรง ปลายเรียว ถ้าเป็นหน่อที่ผ่านการตัดตอขณะที่ยังอยู่กับต้นแม่มาแล้ว 2-3 รอบซึ่งจะมีเหง้าขนาดใหญ่ หลังจากนำลงปลูกแล้วตัดตออีกเพียงรอบเดียวแล้วบำรุงต่อได้เลย

- หน่อรากลึกสมบูรณ์กว่าหน่อรากตื้น และหน่อเหง้าใหญ่ให้ผลผลิตดีกว่าหน่อเหง้าเล็ก
- หน่อเหง้าเล็กเมื่อนำลงปลูกจนแตกใบอ่อนชุดใหม่สูง 1-1.20 ม. ให้ตัดต้นเหลือแต่ตอแล้วบำรุงเรียกใบใหม่ เมื่อใหม่ออกมาจนต้นสูง 1-1.20 ม. ก็ให้ตัดตอเหนือรอยตัดครั้งแรก 1 ฝ่ามือ ทำซ้ำอย่างนี้ 3รอบ ห่างกันรอบละ 1-1 เดือนครึ่ง ก็จะได้หน่อเหง้าใหญ่เช่นกัน เรียกว่า เลี้ยงหน่อสร้างเหง้า การตัดจะตัดกี่รอบก็ได้ ต้นแม่หรือหน่อจะไม่ตายตราบเท่าที่ต้นแม่ยังไม่ออกเครือ

- เหง้ากล้วยมีตา เมื่อเฉือนเหง้าออกเป็นชิ้นรูปลิ่ม ให้มีตาติดอยู่ชิ้นละ 1-2 ตา แล้วนำไปเพาะในกระบะเพาะด้วยวัสดุเพาะธรรมดาๆ ตาจากเหง้าจะงอกขึ้นมาเป็นหน่อได้ 1 ตาต่อ 1 หน่อ สามารถนำไปปลูกได้เช่นกัน แต่ต้นอาจจะไม่สมบูรณ์เท่าหน่อปกติ

- ได้หน่อกล้วยมาแล้วตัดส่วนลำต้นออกให้หมดเหลือแต่เหง้า นำลงปลูกโดยให้ส่วนลำต้นชี้ลงดิน ส่วนใต้เหง้าชี้ขึ้นด้านบน กลบดินหลุมปลูก คลุมหลุมปลูกด้วยเศษพืชแห้ง ให้น้ำปกติ เหง้ากล้วยต้นนั้นจะแตกหน่อ 3-5 หน่อ/เหง้า ซึ่งหน่อทั้งหมดนี้สามารถให้ผลผลิตที่ดีได้

- การขุดแยกหน่อจากต้นแม่ควรขุดให้ตั้งฉาก ใช้มีดคมๆตัดก้าน (ไหล) น้ำเลี้ยง ยกขึ้นตรงๆ ห้ามโยกเด็ดขาดเพราะจะทำให้เหง้าช้ำ โดยเฉพาะกล้วยหอมกับกล้วยไข่ต้องระวังเป็นพิเศษ

- หน่อที่แยกออกมาจากต้นแม่แล้ว ถ้ามีใบมากเกินไปให้ลิดใบทิ้งเหลืองเพียง 1-2 ใบ พร้อมกับตัดใบแห้งกาบแห้งออกให้หมด หรือถ้าหน่อมีความสูงมากเกินไปให้ตัดลำต้นแล้วต้นจะแตกยอดขึ้นมาใหม่เอง

- หน่ออ่อนอายุยังน้อยหรือหน่อใบกว้างเป็นหน่อไม่สมบูรณ์ไม่ควรใช้ทำพันธุ์ ส่วนหน่อใบแคบหรือใบธงเป็นหน่อสมบูรณ์เหมาะสำหรับใช้ทำพันธุ์

- หน่อแรกที่ออกมาจากต้นแม่เรียกว่า "หน่อชิด" เป็นหน่อสมบูรณ์เหมาะสำหรับใช้ทำพันธุ์ ส่วนหน่อที่เกิดต่อลำดับจากหน่อชิดเรียกว่า "หน่อตาม" เป็นหน่อสมบูรณ์น้อยกว่าหน่อชิด เมื่อนำลงปลูกแล้วต้องบำรุงเลี้ยงเหง้าให้ใหญ่เสียก่อน

- วิธีขุดแยกหน่อจากต้นแม่ออกมาแล้วนำลงชำในถุง เลี้ยง (อนุบาล) ในโรงเรือนจนกระทั่งได้ใบใหม่ 2-3 ใบจึงนำลงปลูกในแปลงจริงจะช่วยให้ต้นแตกรากใหม่และโตเร็วกว่าการนำหน่อที่แยกจากต้นแม่แล้วนำลงปลูกในแปลงจริงเลย

เตรียมดิน เตรียมแปลง :

- ไถดะไถแปร ขี้ไถใหญ่ ปล่อยตากแดดจัด 15-20 แดด ให้ดินแห้ง เพื่อกำจัดวัชพืช และกำจัดเชื้อโรคในดิน ระหว่างตากแดดมีฝนต้องไถใหม่ แล้วเริ่มตากแดดใหม่

- ใส่ยิบซั่ม เฟอร์มิกซ์, ปุ๋ยอินทรีย์ ตราคนกับควาย, กระดูกป่น, ขี้วัวขี้ไก่แกลบดิบ ไถพรวน ทำสันแปลงสูงๆ มีช่องทางระบายน้ำจากสันแปลงลงตีนแปลงดีๆ ทำให้ดินโปร่งให้ได้ บ่มดินทิ้งไว้ 20-30 วัน (ตระหนักเสมอว่า ขั้นตอน “บ่มดิน” สำคัญที่สุด) เพื่อให้เวลาจุลินทรีย์ปรับสภาพดิน เตรียมสารอาหารพร้อมแล้วจึงค่อยปลูก ใช้ฟางแห้งคลุมหน้าแปลงหนาๆ, ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 8-24-24 (1-2 ล.) /ไร่ /เดือน รดทั่วแปลงทุกตารางนิ้ว ให้น้ำสม่ำเสมอ พอหน้าดินชื้น, อย่าให้น้ำขังค้างเด็ดขาด

ระยะปลูก :

- สันแปลงกว้าง 4-5 ม. ถ้าต้องการปลูก 2 แถว ให้ปลูกแบบสลับฟันปลาริมสันร่อง ถ้าสันแปลงกว้าง 3-4 ม. ให้ปลูกแบบแถวเดี่ยวกลางสันร่อง .... ทั้งสองแบบระยะห่างระหว่างต้น 3-4 ม.

- ปลูกแบบรุ่นต่อรุ่น ให้ปลูกระยะห่าง 2.5 - 3 ม.
- ปลูกแบบครั้งเดียวได้ผลผลิตตลอดปี ให้ปลูกระยะห่าง 4 x 6 ม.
------------------------------------------------------

ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงต่อกล้วยแบบประณีต (ทุกสายพันธุ์) :
1. ระยะต้นเล็ก
ทางใบ :

- ให้ ไบโออิ + สารสมุนไพร 2 รอบ สลับด้วยแคลเซียม โบรอน 1 รอบ ห่างกันรอบละ 10-15 วัน .... ในรอบ 1 เดือน ให้น้ำตาลทางด่วน 1 รอบ
- ฉีดพ่นสารสมุนไพร บ่อยๆ
ทางราก :
- ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 30-10-10 หรือ 25-7-7 (1-2 ล.)/ไร่ ด้วยการรดโคนต้นจนโชกแฉะเต็มพื้นที่แปลงปลูก หรือปล่อยร่วมกับน้ำไปตามร่องแถวปลูก ทุก 20-30 วัน
- ให้น้ำปกติ ทุก 3-5 วัน
หมายเหตุ :
- การให้ปุ๋ยทางรากสูตร 30-10-10 หรือ 25-7-7 จะช่วยให้ได้ใบขนาดใหญ่หนาเขียวเข้ม เป็นใบที่มีคุณภาพดีกว่าใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ

- เนื่องจากใบกล้วยมีนวลใบมาก การฉีดพ่นทางใบควรผสมสารจับใบด้วย ฉีดพ่นแล้วให้สังเกตว่าน้ำที่ฉีดพ่นไปนั้นเปียกทั่วใบจริงหรือไม่ การใช้สารจับใบครั้งแรกอาจจะต้องใช้มากกว่าปกติเพื่อละลายนวลใบออกไปหลังจากนั้นจึงใช้ในอัตราปกติได้

- หลังจากตัดตอทุกครั้งควรให้ธาตุอาหารทั้งทางใบและทางรากเพื่อรักษาความชื้นแฉะอยู่เสมอ
- ให้ฮอร์โมนบำรุงราก. ปุ๋ยน้ำชีวภาพระบิดเถิดเทิง. ไคตินไคโตซาน. 1-2 เดือน/ครั้ง จะช่วยบำรุงเหง้าทั้งต้นแม่และหน่อมีขนาดใหญ่เร็วขึ้น
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน

2. ระยะก่อนแทงปลี
ทางใบ :

- ให้ไทเป 2 รอบ สลับด้วยแคลเซียม โบรอน 1 รอบ ห่างกันรอบละ 7-10 วัน ฉีดพ่นให้เปียกโชกทั้งใต้ใบบนใบลงถึงพื้น
ติดต่อกัน 1-2 เดือน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 8-24-24 (1-2 ล.) สำหรับพื้นที่ 1 ไร่/เดือน
- ให้น้ำปกติ ทุก 5-7 วัน
หมายเหตุ :
- เริ่มบำรุงเมื่ออายุต้น 170-180 วัน หลังแตกยอดที่เกิดจากตัดตอครั้งสุดท้าย กรณีที่ให้ 30-10-10 ทางรากจะทำให้ต้นสูงใหญ่มาก อาจจะทำให้การเข้าไปปฏิบัติงานไม่สะดวก แก้ไขโดยเมื่อเห็นว่าต้นมีความสูงพอสมควรแล้ว แม้ว่าอายุต้นจะยังไม่ได้ตามกำหนดก็ตาม แนะนำให้ทางใบด้วย “0-42-56 + ฮอร์โมนไข่ + กลูโคสหรือนมสัตว์สด” คู่กับให้ทางรากด้วย 8-24-24 ได้เลย วิธีนี้นอกจากจะช่วยลดความสูงของต้นไม่ให้สูงต่อได้แล้ว ยังเป็นการสะสมอาหารก่อนออกปลีได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

- การแทงปลีของต้นกล้วยก็คือการออกดอกของไม้ผลทั่วๆไป ดังนั้นเพื่อให้ต้นได้มีการสะสมอาหารเพื่อการออกดอกหรืออั้นตาดอกได้สมบูรณ์ดียิ่งขึ้นควรเสริมด้วยธาตุอาหารกลุ่มสะสมตาดอกอื่นๆ เช่น นมสัตว์สดหรือกลูโคส 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 20-30 วัน ทั้งนี้กล้วยไม่จำเป็นต้องเปิดตาดอกเหมือนผลไม้ทั่วไป เมื่อต้นได้รับธาตุอาหารกลุ่มสะสมตาดอกเต็มที่ก็จะแทงดอก (ปลี) ออกมาเอง

- ระยะต้นเล็กถึงก่อนแทงปลีให้ตัดแต่งใบเหลือ 12-13 ใบ
- อายุต้น 90-120 วันหลังปลูกแตกใบอ่อนชุดแรกจะเริ่มมีหน่อแทงขึ้นมา เมื่อหน่อโตสูงได้ 90 ซม.-1 ม.ให้ตัดตอหน่อเหลือตอสูงจากพื้น 15 - 20 ซม. หลังจากตัดตอหน่อแล้วจะแตกใบอ่อนออกมาอีกก็ให้ตัดตออีกเมื่อตอสูง 90 ซม. - 1 ม. เช่นกัน และให้ตัดทุกครั้งจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิต การตัดตอแต่ละครั้งให้แผลครั้งหลังสูงกว่าแผลครั้งแรก 1-2 ฝ่ามือ มีดที่ใช้ตัดต้องคมจัดเพื่อให้แผลช้ำน้อยที่สุดก็จะแตกใบอ่อนชุดใหม่ได้เร็ว

- การตัดหน่อด้วยมีดหรือเคียวคมๆทำให้แผลไม่ช้ำ จากนั้นประมาณ 10-15 วัน จะมีหน่อใหม่แทงขึ้นมา ถ้าไม่ใช้มีดหรือเคียวคมๆตัดหน่อแล้วใช้วิธีเหยียบหน่อให้ล้มลง โคนหน่อช้ำ แบบนี้จะทำให้หน่อแทงใบใหม่ช้า ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 1-2 เดือน ทำให้ประหยัดเวลา

4. ระยะเริ่มแทงปลี
ทางใบ :

- ให้ 15-45-15 + ธาตุรอง/ธาตุเสริม + เอ็นเอเอ. + สารสมุนไพร ฉีดพ่นให้เปียกโชกทั้งใต้ใบบนใบลงถึงพื้นดินโคนต้น ทุก 7-10 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 8-24-24 (1-2 ล.) /1 ไร่ ทุก 20-30 วัน
- ให้น้ำปกติ ทุก 5-7 วัน
หมายเหตุ
- ก่อนแทงปลีจะมี “ใบธง” ลักษณะม้วนกลมชี้ตรงขึ้นฟ้าแทงออกมาก่อน หลังจากปลีออกมาเป็นงวงชี้ลงล่างแล้วใบธงก็จะกลายเป็นใบปกติ

- การที่ในเครือกล้วยมีจำนวนหวีน้อย หรือหวีสุดท้ายปลายเครือเป็น “ตีนเต่า” เร็วเกิน ไป เนื่องมาจากต้นได้รับธาตุอาหารไม่สมดุล และบำรุงตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมหน่อและระยะต่างๆก่อนแทงปลีไม่ดีพอ

- เริ่มให้ฮอร์โมน เอ็นเอเอ. เมื่อปลายปลีแทงพ้นโคนก้านใบธงขึ้นมาประมาณ 1 ฝ่ามือ 2-3 รอบห่างกันรอบละ 7-10 วัน จนกระทั่งตัดปลีจะช่วยให้เกสรสมบูรณ์ ผสมติดเป็นผลได้มากขึ้น ส่งผลให้ในเครือมีจำนวนหวีมาก และแต่ละหวีก็จะมีจำนวนผลมากขึ้นด้วย

- ดอกกล้วย (ปลี) เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เกสรกล้วยพร้อมผสมกันเองหรือรับการผสมจากต้นอื่นได้ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ช่วงกลางวันจะมีแมลงช่วยผสม ส่วนช่วงกลางคืนจะมีค้างคาวช่วยผสม หลังจากกลีบดอก (กาบหัวปลี) เปิดแย้มเต็มที่แล้ว ถ้าช่วยผสมด้วยมือโดยใช้พู่กันขนอ่อนยาวคุ้ยเขี่ยบริเวณเกสรให้มีโอกาสได้ผสมกัน นอกจากจะช่วยให้ได้ผล ผลิตมากขึ้นแล้วคุณภาพผลก็ดีขึ้นอีกด้วย

5. ระยะผลเล็ก
ทางใบ :

- ให้ ไบโออิ + ยูเรก้า 2 รอบ สลับด้วยแคลเซียม โบรอน 1 รอบ ห่างกันรอบละ 7-10 วัน ในรอบ 1 เดือน ให้น่ำตาลทางด่วน 1 รอบ ฉีดพ่นให้เปียกโชกลงถึงพื้น
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร บ่อยๆ
ทางราก
- ใส่ยิบซั่มธรรมชาติ 10% ของอัตราการใส่เมื่อช่วงเตรียมดิน
- ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 21-7-14 (1-2 ล.) /1 ไร่ ทุก 20-30 วัน
- ให้น้ำปกติ ทุก 5-7 วัน
หมายเหตุ :
เริ่มบำรุงหลังจากตัดปลี

6. ระยะผลกลาง
ทางใบ :

- ให้ ไบโออิ + ยูเรก้า 2 รอบ สลับด้วยแคลเซียม โบรอน 1 รอบ ห่างกันรอบละ 7-10 วัน ในรอบ 1 เดือน ให้น่ำตาลทางด่วน 1 รอบ ฉีดพ่นให้เปียกโชกลงถึงพื้น
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร บ่อยๆ
ทางราก :
- ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 21-7-14 (2 ล.) +เพิ่ม 21-7-14 (1-2 กก.)/1 ไร่ ทุก 20-30 วัน
- ให้น้ำปกติ ทุก 5-7 วัน
หมายเหตุ :
- หลังจากตัดปลีแล้ว 20-30 วันให้ห่อผลด้วยถุงขนาดใหญ่ เปิดก้นระบายอากาศห่อทั้งเครือ หรือใช้ใบกล้วย 3-4 ใบผูกโคนก้านกล้วยกับก้านเครือ ปล่อยใบยาวตามเครือ จัดระเบียบใบกล้วยให้คลุมผลกล้วยทั้งเครือ มัดรวบช่วงปลายใบกล้วยที่ใช้ห่อกับมัดช่วงกลางพอหลวมอีก 1-2 เปราะ....ก่อนลงมือห่อผลควรฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรกำจัดชื้อราและแมลงให้เปียกโชก นอกจากช่วยกำจัดเชื้อราแล้วยังกำจัดไข่ของแม่ผีเสื้อไม่ให้ฟักออกเป็นตัวหนอน ป้องกันแมลงวันทองและยังทำให้ผิวสวย คุณภาพเนื้อในดีอีกด้วย

- ระยะบำรุงผล (หลังตัดปลี) ถึง ผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว ตัดแต่งใบให้เหลือไว้ประมาณ 9-10 ใบ
- เมื่อเห็นว่าเครือเริ่มใหญ่และน้ำหนักมากขึ้นให้ค้ำต้น
- ถ้าต้นติดผลดกมากควรให้แม็กเนเซียม 1-2 รอบ โดยแบ่งให้ตลอดช่วงผลกลางจะช่วยให้ต้นไม่โทรมเนื่องจากรับภาระเลี้ยงผลมาก
- ให้กำมะถัน 1-2 รอบตลอดช่วงผลกลางจะช่วยบำรุงให้กลิ่นและสีดี

7. ระยะผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว
ทางใบ :

- ให้ ไบโออิ 0-21-74 (1-2 รอบ) ห่างกันรอบละ 5-7 วันก่อนเก็บเกี่ยว ฉีดพ่นทางใบให้เปียกโชกทั้งใต้ใบบนใบลงถึงพื้น
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก
- ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 13-13-21 (2 ล.) +เพิ่ม 13-13-21 (1-2 กก.) /1 ให้ครั้งเดียว ก่อนตัดเครือ 10-15 วัน
- ให้น้ำกับปุ๋ยแล้วงดน้ำจนถึงวันเก็บเกี่ยว
หมายเหตุ :
- ให้ก่อนเก็บเกี่ยว 7-10 วัน
- เมื่อผลกล้วยส่วนโคนเครือแก่ได้ประมาณ 3 ใน 4 ของจำนวนหวีทั้งเครือ ใบจะเริ่มเหี่ยวเหลืองเนื่อจากไกล้หมดอายุต้น ใบที่เหี่ยวเหลืองแล้วนี้จะไม่สังเคราะห์สารอาหาร เป็นเหตุให้จำนวนหวีส่วนปลายเครือ 3 ใน 4 ไม่ได้รับสารอาหาร หรือได้รับน้อยกว่าปกติ จังหวะนี้หากมีการให้ “ฮอร์โมนน้ำดำ” หรือ “แมกเนเซียม” 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 7-10 วัน ก็จะช่วยบำรุงให้ใบยังคงเขียวสด สังเคราะห์สารอาหารต่อไปได้ จนกระทั่งผลของหวีสุดท้ายปลายสุดของเครือแก่จัด
----------------------------------------------------------------

ปลูกกล้วยแบบเหมาจ่าย :

- ใช้ผักปอดสด คลุมโคนต้น หนาๆ กว้างๆ โรยหรือว่านทับผักปอดด้วย ยิบซั่ม เฟอร์มิกซ์, ปุ๋ยอินทรีย์ตราคนกับควาย กระดูกป่น แล้วรดด้วยน้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 8-24-24

- รดด้วยน้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 8-24-24 เดือนละครั้ง จนถึงตัดเครือ
- การปฏิบัติอื่น เช่น การสางต้นตัดใบแห้ง การควบคุมหน่อ การไว้ปลี การไว้เครือ ปฏิบัติเหมือนการบำรุงกล้วยทั่วๆ ไป
----------------------------------------------------------------------

กล้วยหอมแจ๊คพ็อต :

- กล้วยหอมราคาดีมากช่วงเทศกาล ตรุษจีน, สาร์ทจีน, เชงเม้ง, ไหว้พระ จันทร์. ผลที่มีขนาดใหญ่ จำนวนผลในหวีมาก สีจัด ไร้ตำหนิ มีราคาแพงมาก ลักษณะสีเหลืองเปรียบ เสมือนสีทอง ถือเป็นโหงวเฮ้งที่ดี คนซื้อใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้

- ผลสุกเต็มที่ในวันเซ่นไหว้ถือว่าดีที่สุด แต่ปัจจุบันค่านิยมบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป กล้วยหอมที่ลักษณะทุกอย่างดี แต่ยังดิบอยู่ก็ใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ได้เช่นกัน

ระยะพัฒนาการของกล้วยหอม :

- ตั้งแต่เริ่มปลูกถึงแทงปลี 7-8 เดือน
- ตั้งแต่แทงปลีถึงเก็บเกี่ยว 70-80 วัน หรือ....
- ตั้งแต่เริ่มปลูกถึงตัดเครือ 10 เดือนครึ่ง

เทคนิคการทำให้ตัดเครือได้ ณ วันที่ต้องการ :

1. จากวันตัดเครือ ให้นับถอยหลังในปฏิทิน 10 เดือน สำหรับการเลี้ยงต้น
2. จากระยะ 10 เดือนสำหรับการเลี้ยงต้นให้นับถอยหลัง 2 เดือน สำหรับการเลี้ยงเหง้า
3. จากระยะ 2 เดือนสำหรับการเลี้ยงเหง้า ให้ลงหน่อ สำหรับการตัดต้นก่อนเลี้ยงต้น

สรุป :

- ลงหน่อ 2 เดือน เลี้ยงเหง้าแล้วตัดต้น + 10 เดือน สำหรับการเลี้ยงต้น .... หรือ
- วันที่ตัดต้น คือ วันเริ่มนับอายุ เริ่มปลูก ถึง ตัดเครือ ..... หรือ
- ลงหน่อก่อนวันตัดเครือ 12 เดือน

หมายเหตุ :

- ในธรรมชาติไม่มีตัวเลขและไม่มีสูตรสำเร็จ วันที่ตัดเครือ คือ วันที่กล้วยยังดิบอยู่ หากต้องการขายกล้วยสุก ก็ต้องตัดเครือล่วงหน้า 7 วัน สำหรับบ่ม

- กำหนดวันตัดเครือล่วงหน้า 7-15 วัน ต้องเปลี่ยนวันลงหน่อก่อน 12 เดือน เป็น 12 เดือนครึ่ง ก็จะทำให้มีกล้วยออกตลาดตั้งแต่ก่อนวันไหว้ ถึงวันไหว้ 10-15 วัน

- กล้วยหอม ท่ายางเพชรบุรี บำรุงด้วยสูตรสหประชาชาติ ปรากฏผลใหญ่เกิน ส่งออกญี่ปุ่นไม่ได้ แต่ห้างในประเทศชอบ มีเท่าไหร่รับทั้งหมด จองล่วงหน้าด้วย

http://www.kasetloongkim.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=3917
----------------------------------------------------------------------

กล้วยหอมก้าวหน้า :

* เลือกหน่อชิด แยกจากต้นแม่มาปลูกเป็นต้นแรก จะได้ต้นที่สมบูรณ์ดีกว่าเลี้ยงหน่อในต้นแม่
* หน่อเหง้าใหญ่จะให้ผลผลิตดีกว่าหน่อเหง้าเล็ก ปลูกหน่อลงไปแล้วให้ตัดต้น 2-3 รอบ ห่างกับรอบละ 1 เดือน เพื่อเลี้ยงเหง้าให้ใหญ่ไว้ก่อน

* ปลูกซ้ำที่ 2-3-4 รอบ มักเกิดโรค “ตายพราย” เชื้อโรคตัวนี้เป็นไวรัส ไม่มีสารเคมีหรือสารสมุนไพรใดกำจัดได้ แก้ไขโดยไม่ปลูกซ้ำที่เท่านั้น

* ก่อนตัดเครือ 2-3 อาทิตย์ ฉีดพ่นด้วยน้ำคั้นมะเขือเทศสุก ให้ทั่วต้นแต่เน้นที่เครือโดยตรง 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 1 อาทิตย์ หลังจากตัดเครือและนำไปบ่มจนสุกแล้วจะได้รสชาติและกลิ่นดีมาก

* คลุมโคนต้นด้วยผักปอด ทั้งต้น ใบ และราก ใส่ทับด้วยยิบซั่ม เฟอร์มิกซ์ แกลนด์, ปุ๋ยอินทรีย์ ตราคนกับควาย, น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 8-24-24 จะช่วยให้ต้นสมบูรณ์ แข็งแรง ให้ผลผลิตดี

* ห่อผลหลังจากตัดปลี 20-30 วัน ด้วยกระสอบปุ๋ยหรือห่อด้วยใบกล้วย เครือที่ห่อด้วยใบกล้วย จะให้คุณภาพดีกว่าห่อด้วยกระสอบปุ๋ย

* อายุต้นตั้งแต่เริ่มปลูกถึงแทงปลี 7-8 เดือน และตั้งแต่แทงปลีถึงเก็บเกี่ยว 70-80 วัน หรือตั้งแต่เริ่มปลูกถึงตัดเครือ 10 เดือนครึ่ง

* กล้วยหอมแจ็คพอต หมายถึง กล้วยหอมที่แก่จัดใกล้สุก (ห่าม) หรือสุกพอดี ตรงหรือก่อนเล็กน้อยกับเทศกาล ตรุษจีน สารทจีน ไหว้พระจันทร์ เชงเม้ง ทำได้โดยการนับระยะอายุจากวันตัดเครือ ย้อนหลังมาถึงวันที่หน่อยืนต้นได้ 10 เดือนครึ่ง นั่นคือ ให้ลงมือปลูกหน่อกล้วยก่อนวันยืนต้นได้ 2-3 เดือน เพื่อจะได้มีโอกาสตัดต้น 1-2 รอบสำหรับสร้างเหง้าให้ใหญ่ก่อน ซึ่งการตัดต้นครั้งสุดท้ายตรงกับวันเริ่มนับอายุปลูก จากนั้นให้ปฏิบัติบำรุงตามขั้นตอนปกติ กล้วยหอมต้นนั้นก็จะมีเครือให้ตัดได้ในอีก 10 เดือนครึ่งต่อมาพอดี

http://www.kasetloongkim.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=3652

--------------------------------------------------------------------


.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©