-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-พลิกวิกฤตเป็นโอกาส
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - พลิกวิกฤตเป็นโอกาส
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
Aorrayong
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009
ตอบ: 869

ตอบตอบ: 21/10/2009 9:00 pm    ชื่อกระทู้: พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ที่มา คัดลอกจาก http://www.measwatch.org/autopage/show_page.php?t=29&s_id=225&d_id=224&page=1&start=1

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส รับมือ “โลกร้อน”

โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ 8 ตุลาคม 2552 08:31 น.



- วิกฤตโลกร้อน มาแล้วจริงๆ ไม่ใช่กระต่ายตื่นตูม
- ซูเปอร์ไซโคลนที่พัดกระหน่ำเป็นพยาน ต่อไปจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอีก ไทยจะเปลี่ยนเป็นโอกาสอย่างไร
- นักวิชาการฟันธง ไทยได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่ามี “กึ๋น” หรือไม่
- เตรียมรับมือให้ดี อีก 10 ปีข้างหน้าจะยิ่งวิกฤตกว่านี้

************

7 ต.ค. 2552 ข่าวล่าสุดรายงานว่า

ภัยพิบัติจากพายุกิสนา ที่ฟิลิปปินส์ มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 ราย ทางสหประชาชาติแถลงเรียกร้องให้นานาประเทศ ช่วยบริจาคเงินช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับประชาชนราว 1 ล้านคน เป็นเงิน 74 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,500 ล้านบาท จากตอนนี้มีผู้ประสบภัยที่ต้องอยู่ตามศูนย์บ้านพักพิงชั่วคราว 4 แสนคน และพายุไต้ฝุ่นป้าหม่า เพิ่งทำลายบ้านเรือนชาวฟิลิปปินส์ไปอีก 4,000 หลัง

6 ต.ค. ปีเดียวกัน มีรายงานว่า

อิทธิพลพายุกิสนา ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงในฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว ไทย โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ มีฝนตกรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี น้ำท่วมสูงและดินถล่ม ส่วนเวียดนามและลาวมีลมกระโชกแรงกับน้ำท่วมหลายพื้นที่ เช่นเดียวกับประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จนทำให้ทางการต้องประกาศเตือนให้ระวังน้ำท่วมฉับหลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่

ถ้านับเฉพาะพายุที่สร้างความเสียหายร้ายแรงแก่โซนเอเชียช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาทั้งไต้ฝุ่น มรกต-กิสนา-ป้าหม่า-เมอโลว์ ล้วนถูกจัดเกณฑ์เข้ากลุ่ม “ซูเปอร์ไต้ฝุ่น” ที่มีความเร็วลมบริเวณจุดศูนย์กลาง (ตาพายุ) มากกว่า 120 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 193 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

มีความเห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกันว่า วิกฤตภัยธรรมชาติ พายุไต้ฝุ่น และเฮอริเคน หลายต่อหลายลูกที่พัดกระหน่ำหลายประเทศ เหตุที่เกิดบ่อยและรุนแรงกว่าในอดีต เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจน (อ่านล้อมกรอบ ย้อนรอยพายุถล่มโลก-เอเชีย)

หนังสือวิกฤตโลกร้อน เรื่องจริงหรือตื่นตูม ของ ชัยวัฒน์ คุประตกุล ได้รายงานว่า ภาวะโลกร้อนไม่ใช่ทำให้เราต้องเจอภัยพิบัติที่หนักหนาสาหัสกว่าเดิมเท่านั้น แต่ยังต้องประสบกับการเสียชีวิตปีละ 150,000 คน และความเจ็บไข้ได้ป่วยปีละ 5 ล้านคน ตัวเลขนี้อาจเพิ่มเป็น 2 เท่า เมื่อถึง ค.ศ.2030 ขณะที่ประเทศมัลดีฟส์ จะจมน้ำทั้งประเทศภายใน 10 ปี (จากค.ศ.2008) และกรุงเทพฯ จะจมน้ำในอีก 20 ปีข้างหน้า (จากค.ศ.2008)

แล้วประเทศไทยจะรับมือวิกฤตนี้ได้อย่างไร


ใครกระทบเมื่อฝนเปลี่ยน

อุณหภูมิของไทยร้อนขึ้น นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 หรือ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา ส่งผลให้รูปแบบการตกของฝนเปลี่ยนแปลงไป ที่เห็นชัดเจนในปีนี้คือ ฤดูฝนมาเยี่ยมเยียนคนไทยเร็วกว่าปกติทั้งที่เพิ่งผ่านกลางเดือนเมษายนเพียงไม่กี่วัน และยังตกต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ หรือในปี 2549 ฝนตกหนักจนน้ำท่วมในหลายจังหวัดแต่ปีถัดไปเกิดภาวะแห้งแล้งอย่างหนัก

สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ว่า จากตำแหน่งของประเทศไทยการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิกับไต้ฝุ่นมีผลต่อเราโดยตรง พื้นไหนมีฝนตกมากก็จะมีฝนตกมากขึ้น ส่วนพื้นที่ไหนมีฝนตกน้อยอยู่แล้วก็จะยิ่งมีฝนตกน้อยลงด้วยเช่นกัน

“ภาวะของการแกว่งตัวจะรุเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส นแรงมากขึ้น ถ้าเป็นทางเหนือที่มีภูเขาหรือป่าเขาความรุนแรงจะลดลง แต่ทางใต้ พวกที่ใกล้ทะเลการแกว่งตัวจะสูงเพราะอิทธิพลความร้อนจะเข้าไป ซึ่งจะส่งผลให้การดำรงชีวิตของคนเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งปกติคนจะเปลี่ยนวิถีชีวิตไปตามธรรมชาติทุก 4-5 ปีอยู่แล้ว แต่จากนี้ไปคนจะมีความสามารถในการปรับตัวได้สักแค่ไหน หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นสัก 2-3 องศา อาจทำให้น้ำหายไปประมาณ 10-20% เรื่องนี้จะกระเทือนต่อคนอิสานที่น้ำไม่ค่อยมีอยู่แล้ว ต่อไปจะยิ่งมีปัญหา”

การแก้เกมในเบื้องต้นนี้จึงอาจทำได้ด้วยการสร้างเขื่อนขนาดเล็ก สร้างฝายเก็บกักน้ำ การจัดการชลประทาน ต้องปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกใหม่ให้เป็นพันธุ์ที่สามารถอยู่ได้ในน้ำน้อย และที่สำคัญปรับกลยุทธ์ในเรื่องของการใช้น้ำใหม่ จากเดิมที่การบริหารเขื่อนยังอ้างอิงข้อมูลในอดีต ทำให้ทุกวันนี้หลายจังหวัดในบ้านเรายังประสบปัญหาน้ำท่วม เช่น ลพบุรีบางอำเภอมีน้ำท่วมถึง 80 ซม. และเชื่อว่าจะเป็นเช่นนี้ซ้ำซาก หากไม่มีการบริหารเขื่อนให้ถูกต้องกับสภาวะฝนตกจริง ซึ่งมีข่าวดีว่าขณะนี้หน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังวิจัยเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบปรับตัวเองมาสู่การจัดการน้ำรูปแบบใหม่

“ในเชิงวิชาการ เราเน้นให้มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุก 4-5 ปี จากผลนี้เราเตรียมกับชาวบ้าน เช่น เรื่องของการสต็อกน้ำ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เชื่อในภาวะใหม่ มีการเตรียมตัวล่วงหน้า หรือการบริหารเขื่อนของประเทศต้องมีการปรับตัว เพื่อจะได้ใช้ในหน้าแล้งได้ยาวขึ้น ถ้าทำเช่นนี้ได้หน้าแล้ง หรือหน้าฝนเราจะมีน้ำพอเพียงที่จะทำเกษตรเพื่อส่งออก”

เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ให้ไทยได้ประโยชน์จากโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศโลกเนื่องจากโลกร้อนมีการวิจัยมาหลายปีแล้ว โดยมีคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Changes) ประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์ 3,000 คน กระจายอยู่ทั่วโลกได้รับมอบหมายให้ศึกษาเรื่องต่างๆแล้วรายงานต่อสหประชาชาติเป็นระยะ

บางส่วนของรายงานสรุปว่า โลกของเราผ่านยุคแห่งความร้อน และยุคน้ำแข็งมาหลายครั้งหลายหน แต่ละครั้งได้ทำลายสัตว์และพรรณพืชมากมาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา ธรรมชาติเป็นผู้เปลี่ยน และปรับโดยตัวของมันเอง แต่สภาวะโลกร้อนครั้งนี้มีต้นเหตุมาจากน้ำมือมนุษย์ จึงมีคำถามว่าแล้วธรรมชาติยังจะปรับตนเองให้คืนสู่สภาวะเดิมได้หรือไม่ และหากทำไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น

ไม่นานมานี้ IPCC ได้จัดทำแผนที่โลกขึ้นมาใหม่ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น บอกชัดเจนว่าพื้นที่บางแห่งจะกลายเป็นทะเลสาบ บางแห่งมีฝนตกมากขึ้น บางแห่งความร้อนที่เพิ่มขึ้นจะไปทำให้แผ่นดินที่เป็นธารน้ำแข็งและหิมะบนยอดเขาสูงละลายหายไป ผลคือในอนาคตแม่น้ำบางแห่งอย่างคงคา ที่อินเดีย ที่ได้รับน้ำจากการละลายของน้ำแข็งจากเทือกเขาหิมาลัยอาจเหือดแห้งลง ส่งผลให้ทางภาคตะวันออกของประเทศขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก แต่บางพื้นที่อาจมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณใกล้ทะเลที่จะได้รับมรสุมที่บ่อยขึ้นและแรงมากขึ้น

เมื่อดูในประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เนื่องจากมรสุมที่มาจากอ่าวเบงกอลจะมากระทบพม่าก่อน และจะอ่อนกำลังกลายเป็นฝนตกลงมาในบ้านเรา ขณะที่มรสุมที่มาจากทะเลจีนใต้ก็จะปะทะกับกัมพูชาก่อนมาถึงภาคอิสาน ซึ่งน่าจะส่งผลให้ทางภาคต่างๆของประเทศมีน้ำจืดในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวลต่อไปก็คือ หากปีนี้มีน้ำมาก ก็มีความเป็นไปได้ว่าปีต่อไปอาจมีน้ำน้อย หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานๆได้

เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ว่า ประเทศไทยควรจะมีการศึกษาว่า ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนหรือไม่ หรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องอาหาร และน้ำ ว่า อาหารทะเลจะลดลงหรือไม่ เนื่องจากภาวะที่ก๊าซคาร์บอนไดออนไซค์ที่มีอยุ่ในบรรยากาศ เมื่อตกลงมารวมกับน้ำจะกลายเป็นกรดคาร์บอนิค ซึ่งมีผลต่อชีวิตความเป็นอยุ่ของสัตว์ทะเล เพราะทำให้แหล่งอาหาร และแหล่งอนุบาลสัตว์แรกเกิดทางทะเลสูญหายไป ดังกรณีของการเกิดปะการังฟอกขาวในหลายพื้นที่ และหากอาหารทะเลลดลงเราจะสามารถเพิ่มโอกาสผลิตปลาน้ำจืดแทนได้หรือไม่


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Aorrayong เมื่อ 21/10/2009 9:16 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
Aorrayong
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009
ตอบ: 869

ตอบตอบ: 21/10/2009 9:02 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)



3 ปัจจัยเปลี่ยนวิถีเกษตรโลก รู้ก่อนเตรียมตัวก่อน

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก หลายประเทศแห้งแล้งขึ้น บางประเทศถูกน้ำท่วมสูง แต่ยังนับเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ยังมีน้ำอุดมสมบูรณ์ เพราะน้ำถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีพของมนุษย์ แต่การจะอาศัยโชคเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ไทยอยู่รอดในสภาวะการแข่งขันสูงเช่นนี้ จำเป็นต้องรู้คนอื่นเพื่อจะได้เป็นเสาเอกในการบริหารจัดการเรื่องอาหารต่อไปในอนาคต

ปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรโลกเปลี่ยนวิถีชีวิต มีอยู่ 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ

1.จำนวนประชากรโลกมีมากเกินกว่าที่โลกจะดูแลได้หมด ขณะที่พื้นดินในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์มีอยู่เท่าเดิม IPCC ประเมินว่า หากต้องการให้ประชากรพอดีกับอาหารควรจะมีคนประมาณ 4 พันล้านคนเท่านั้น แต่วันนี้ประชากรทั่วโลกทะลักอยุ่ที่ 6.7 พันล้านคน อีก 20 ปีข้างหน้าจะมีคนถึง 9 พันล้านคน ทุกวันนี้มีคนอดข้าวมากกว่า 1 พันล้านคน ดังนั้น หากเราไม่นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ก็อาจเกิดการรุกล้ำข้าไปทำลายป่าจนหมด และภาวะโลกร้อนจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เพราะไม่มีต้นไม้คอยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์

2.หลายประเทศที่รับน้ำจากธารน้ำแข็งจะประสบภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก จึงเป็นโอกาสดีของไทยที่ไม่ได้รับผลกกระทบตรงนี้ในการเพาะปลูกเพื่อส่งออก รวมไปถึงเลี้ยงสัตว์

“สัตว์น้ำบางพันธุ์ต้องปรับตัวเอง ปลาน้ำจืดบางพันธุ์ที่ไม่สามารถทนร้อนได้ จะสูญหายไป แต่ถ้าจัดการเรื่องน้ำได้ดี เราอาจเป็นประเทศที่สามารถส่งออกอาหารได้ดีขึ้น ถึงแม้ได้รับผลกระทบบ้างก็ตาม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นเราได้รับผลกระทบน้อยกว่า เราสามารถส่งออกพืชต่างๆ ขณะที่เกษตรกรรมของบางประเทศถึงกับเจ๊ง โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ติดทะเลอย่างเวียดนาม หรือกัมพูชา เพราะจะร้อนกว่าเรามาก ด้วยเป็นเขตที่ได้รับอิทธิพลเรื่องความร้อน หรือขึ้นไปบริเวณ 20 องศาของโลก จะเป็นพื้นที่แล้งมากขึ้น จีน อเมริกา ยุโรป ดังนั้นเกษตรตรงนี้จะเสียเปรียบ”

3.พลังงานทางเลือก เป็นที่รู้กันดีว่าอีกไม่นานพลังงานจากฟอสซิลจะค่อยๆหมดไปจากโลก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของพลังงาน 2 กลุ่มใหญ่ คือ พลังงานทางกายภาพ ได้แก่ พลังงานปรมาณู พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานแดด ลม น้ำ เป็นต้น และพลังงานชีวภาพ ที่กำลังเป็นกระแสนิยมที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษในปัจจุบัน คือ การผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) หรือเอทานอล จากพืช เช่น ปาล์ม ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ข้าว มะพร้าว ไปผสมกับน้ำมันเบนซินได้เป็นแก๊สโซฮอล์ใช้กับรถยนต์และยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเบนซิน

หรือผสมกับน้ำมันดีเซลได้เป็นไบโอดีเซล ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล โดยในกรณีของไบโอดีเซลสามารถใช้สัดส่วนของเอทานอลกับน้ำมันดีเซลในอัตราสูงถึง 100% ได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้น้ำมันจากไขมันของสัตว์ เช่น น้ำมันหมู และน้ำมันพืช ที่ใช้แล้วตามตลาด ในครัวเรือ ในโรงอาหาร มาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งจากความแพร่หลายของการใช้เอทานอลจากพืชเพื่อผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลก็ทำให้เกิดประเด็นปัญหาระหว่าง “พืชเพื่อพลังงาน” และ “พืชเพื่ออาหาร” เพราะวัตถุดิบส่วนใหญ่ใช้เป็นอาหารได้ หรือเป็นแหล่งอาหารใหญ่ของโลกมาก่อน แต่จากความนิยมในการใช้เอทานอลเพื่อผลิตเชื้อเพลิงทำให้วัตถุดิบมีราคาแพงจึงไปแย่งพื้นที่การปลูกพืชเพื่ออาหาร และมีผลต่อเนื่องทำให้ป่าถูกทำลาย เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่สำหรับการปลูกพืชเพื่อพลังงาน ซึ่งต้องใช้พื้นที่ทางการเกษตร อันจะทำให้การเกษตรมีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น

“นี่คือโอกาสของประเทศไทย เพราะเรามีต้นทุนเรื่องการเกษตรดีอยู่แล้ว มาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ดี มีพื้นที่ทางการเกษตรอยู่ทุกภาค ซึ่งตรงนี้ควรอย่างยิ่งที่จะทำเป็นวาระแห่งชาติ” องคมนตรี เกษม กล่าว

บริหารจัดการน้ำ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

ณรงค์ เพ็ชรประเสิรฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ทัศนะกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” เกี่ยวกับการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในภาวะโลกร้อนว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลให้น้ำแข็งละลาย ประเทศที่อาศัยแหล่งน้ำจากน้ำแข็งเหล่านี้จะประสบกับปัญหาแม่น้ำ ลำธาร เหือดแห้ง เช่น ประเทศในแถบเอเชียใต้อย่างอินเดียที่แม่น้ำหลายสายมีต้นกำเนิดมาจากน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัย

ในขณะที่ประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล จะได้รับน้ำเพิ่มขึ้นจากการที่น้ำแข็งในที่ต่างๆละลายและไหลลงสู่ทะเลทำให้น้ำทะเลมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศที่อยู่ชายฝั่งทะเลมีน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น ประกอบกับอยู่ในเขตมรสุม ส่งผลให้เวลาเกิดพายุฝนมีโอกาสที่จะหอบน้ำทะเลเข้าสู่ฝั่งในปริมาณที่มากขึ้น

แม้ประเทศไทยจะไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง แต่จะเกิดปัญหาในทางตรงกันข้ามคือ น้ำท่วม ซึ่งส่งผลให้พืชพรรณธัญญาหาร และสินค้าเกษตรต่างๆได้รับความเสียหาย การแก้ไขจึงอยู่ที่การจัดสรรทรัพยากรน้ำ

“ถ้าเราจัดการทรัพยากรน้ำเป็น รู้จักกักเก็บน้ำเวลามีน้ำมาก ไว้ใช้ในฤดูแล้ง เราก็มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ซึ่งการจัดการเรื่องน้ำเป็นสิ่งที่เราเคยทำกันมาในอดีต แต่ปัจจุบันไม่มีใครให้ความสนใจ เช่น การมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ อย่าง ห้วย หนอง คลอง บึง แทนที่จะมานั่งรอการสร้างเขื่อนเพียงอย่างเดียว แต่เราก็สามารถกักเก็บน้ำได้และยังลดความสูญเสียจากปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้ง นอกจากนี้ที่ผ่านมาเราก็เคยมีการจัดการน้ำแบบครัวเรือน เช่น การมีคลองแยกเข้าสู่เลือกสวนไร่นา ซึ่งชาวบ้านช่วยกันทำ ช่วยกันลงแรง ไม่ต้องมีต้นทุนมากก็ทำได้”

การใช้น้ำต่อหัวของเกษตรกรไทยถือว่าน้อยกว่ามาตรฐาน เนื่องจากเราไม่มีโอกาสได้ใช้น้ำอย่างเต็มที่ เพราะขาดการบริหาร จัดการน้ำที่ดี เขตชุมชนควรมีแหล่งน้ำธรรมชาติ แม่น้ำทุกสายถ้าทำให้ลึกกว่าเดิมก็สามารถกักเก็บน้ำได้มากขึ้น สามารถทดน้ำเข้าบ่อ เข้าบึง หรือจัดสรรไปตามคลองแยกต่างๆ ไปสู่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน

“เราคิดแต่ทำถนน ทั้งๆที่แม่น้ำสามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้ดีและมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการสร้างถนน แต่ที่ผ่านมาคิดแต่โครงการใหญ่ๆ เงินเยอะๆ ทำให้แม่น้ำไม่ถูกพัฒนา”

วิกฤตโลกร้อนส่งผลให้ประเทศที่เกิดภัยแล้ง หรือน้ำท่วม ขาดผลผลิตทางการเกษตรเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกเสียหาย นำไปสู่การขาดแคลนอาหาร หรือ Food Crisis ดังนั้นสินค้าเกษตรจึงถือเป็นโอกาสของประเทศไทย


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Aorrayong เมื่อ 21/10/2009 9:24 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
Aorrayong
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009
ตอบ: 869

ตอบตอบ: 21/10/2009 9:02 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ปัญหาอยู่ที่ว่าเราสามารถแปลงวิกฤตเป็นโอกาสได้หรือไม่ เราจัดการเป็นหรือเปล่า ถ้าทำไม่เป็น ปล่อยให้ที่ดินการเกษตรถูกต่างชาติฮุบ ก็น่าเป็นห่วง เพราะผลผลิตที่ได้จะถูกส่งกลับไปยังประเทศเหล่านั้น และจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรในประเทศมีราคาแพง โดยที่เกษตรกรของไทยไม่ได้รับประโยชน์เพราะเงินทุนไหลไปสู่ต่างชาติ”

วิกฤตอาหารก่อให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่ดินชุ่มน้ำ ความกลัวและการตระหนักถึงปัญหาวิกฤตดังกล่าวในอีก 10 ปีข้างหน้า ได้ทำให้ประเทศที่ร่ำรวยต่างพยายามหาที่ดินการเกษตรเพื่อเลี้ยงพลเมืองของประเทศเหล่านั้น เช่น เกาหลีใต้ มีการซื้อที่ดินบนเกาะมาดากัสก้า หรือย่างประเทศจีนก็มีการกว้านซื้อที่ดินทางตอนเหนือของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ขณะที่ซาอุดิอาระเบีย ไปลงทุนด้านการเกษตรในอาฟกานิสถาน

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าวิกฤตอาหารจะมีความรุนแรงและให้ผลที่น่าวิตก ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 7,000 ล้านคน ทว่าพื้นที่เพาะปลูกกลับลดน้อยลง เพราะโลกร้อนทำให้พื้นที่เพาะปลูกเสียหาย สำหรับประเทศไทยเองมีความโชคดีตรงที่ต้นน้ำเกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ทำให้ไม่แห้งเหือดเหมือนธารน้ำแข็ง ดังนั้นประเทศไทยจึงควรที่จะรักษาพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารเอาไว้ เพราะอาหารจะมีราคาแพง การบริหารจัดการน้ำเป็นกุญแจสำคัญในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ทำให้ประเทศไทยสามารถฝ่าวิกฤตภัยแล้งและน้ำท่วมได้

นอกจากนี้ ณรงค์ ยังได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทย ว่า ผลิตภัณฑ์ที่จะมารองรับโลกในอนาคตคือผลิตภัณฑ์การเกษตร ไบโอฟู้ด วันนี้เรามีประชากรสูงอายุกว่า 30% ซึ่งคนเหล่านี้ต้องการอาหารสุขภาพเพื่อให้มีชีวิตที่ยั่งยืนและแข็งแรง ซึ่งอาหารสุขภาพเกือบทั้งหมดมาจากพืช อุตสาหกรรมอาหารถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่ใช่แค่ผลผลิตทางการเกษตร หากยังมีการแปรรูปไปสู่รูปแบบอาหารสุขภาพต่างๆ ทั้งชนิดเม็ด ชนิดผง โดยมีไบโอเทคโนโลยี ฟู้ดไซน์ เป็นตัวช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าการนำพื้นที่ไปปลูกพืชพลังงาน เช่น กะเพรา ที่นำไปแปรรูปเป็นยารักษากระเพาะ หรือ กวาวเครือ ที่นำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมทรวงอก

*************

ย้อนรอยพายุถล่มโลก-เอเชีย
ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อการเกิดพายุอย่างไร ทำให้เกิดพายุบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้นหรือไม่

ถึงแม้การเกิดพายุในภูมิภาคหรือท้องถิ่นจะไม่ตรงกันทุกแห่ง ทั้งเรื่องความถี่และความรุนแรง กล่าวคือทั่วทุกหนแห่งทั่วโลกจะมีอยู่เสมอที่บางแห่งบางพื้นที่ มีพายุเกิดขึ้นทั้งบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น หรือลดความถี่ลง แต่ความรุนแรงทวีเพิ่มขึ้น บางแห่งก็ลดลงทั้งความถี่และความรุนแรง

ทว่า ภาพที่ปรากฏโดยทั่วไปในระยะช่วงก่อนขึ้นศตวรรษที่ 20 และการเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 ถึงปัจจุบัน พายุในแต่ละภาคและท้องถิ่นโดยเฉลี่ยทั้งปีแล้วก็ไม่ได้เกิดบ่อยขึ้น แต่ที่เพิ่มมากขึ้นคือ ความรุนแรงซึ่งส่งผลต่อเนื่องเป็นความสูญเสียต่อพื้นที่ซึ่งถูกถล่มด้วยพายุในเชิงเศรษฐกิจ สำหรับความสูญเสียต่อชีวิตขึ้นอยู่กับสภาพความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ในการรับมือกับพายุที่รุนแรงขึ้น

ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ถึงปัจจุบันโดยทั่วๆไป มีพายุใหญ่ถึงระดับเฮอร์ริเคน หรือทอร์นาโด จำนวนไม่เพิ่มขึ้นจากสถิติเก่าในศตวรรษที่ 21 แต่ที่เพิ่มขึ้นคือความรุนแรงและความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจ

เมื่อ ค.ศ. 2005 เกิดพายุเฮอร์ริเคน หรือทอร์นาโดถล่มสหรัฐอเมริกาในระดับความรุนแรงสูงสุด (คือระดับ 5) ต่อเนื่องกันถึง 3 ลูก คือ แคทรินา ในเดือนสิงหาคม ริตา ในเดือนกันยายน และวิลมา ในเดือนตุลาคม

ความสูญเสียต่อชีวิตมนุษย์ชาวอเมริกันจากพายุทั้ง 3 ลูกดังกล่าวมีไม่มากนัก แต่ที่มากที่สุดคือความสูญเสียต่อทรัพย์สินและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอย่างมหาศาล เฉพาะเฮอร์ริเคนแคทรินาก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินมากกว่า 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท

ในแถบเอเชียมีภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่นหรือไซโคลนซึ่งอาจไม่รุนแรงเท่าที่เกิดในสหรัฐอเมริกา แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินจะมากกว่า (ยกเว้นการตีค่าความเสียหายเชิงเศรษฐกิจที่สหรัฐอเมริกาจะสูงกว่า เพราะมีความเสียหายต่อระบบเทคโนโลยีราคาแพงและอาคารมากกว่า) เมื่อปี ค.ศ.1991 เกิดพายุไซโคลน ถล่มประเทศบังคลาเทศระหว่างวันที่ 29 เมษายน-10 พฤษภาคม นับเป็นพายุไซโคลนที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกของประเทศบังคลาเทศ เมืองจิตตะกองได้รับความเสียหายมากที่สุดจากลมพายุพัด ด้วยความเร็วประมาณ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกิดคลื่นสูงประมาณ 6 เมตร มีผู้คนได้รับผลกระทบประมาณ 15.4 ล้านคน จำนวนผู้เสียชีวิต 138,900 คน เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าประมาณ 1,780 ล้านเหรีญสหรัฐ)

2 พฤษภาคม 2008 เกิดพายุไซโคลนนาร์กิส ที่มีความเร็วสูงสุด 215 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถล่มประเทศพม่า นับเป็นภัยธรรมชาติร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่การเกิดคลื่นยักษ์สึนามิถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2004 (ซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ใต้น้ำที่ประเทศอินโดนีเซียจึงไม่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนโดยตรง) และเป็นภัยธรรมชาติร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกของพม่า

พายุไซโคลนนาร์กิสเริ่มก่อตัวในอ่าวเบงกอลตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2008 ประเทศที่ได้รับความเสียหายจากพายุนาร์กิสมี 4 ประเทศ คือ บังคลาเทศ พม่า อินเดีย และศรีลังกา แต่ประเทศที่ได้รับผลประทบรุนแรงที่สุด คือพม่า อย่างไรก็ตาม ประมาณการจำนวนผุ้เสียชีวิตและผู้ที่ยังสูญหายไปทั้งหมดของ 4 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากพายุนาร์กิสว่าน่าจะมีอย่างน้อย 140,000 คน และมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดประมาณ 24 ล้านคน สำหรับมูลค่าความเสียหายจากพายุ คาดว่าประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Aorrayong เมื่อ 21/10/2009 9:28 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
Aorrayong
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009
ตอบ: 869

ตอบตอบ: 21/10/2009 9:03 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

สำหรับประเทศไทยนั้น โดย ภาพรวมบ้านเรามีตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ช่วยบรรเทาความรุนแรงของพายุ ที่พัดผ่านประเทศไทยได้มากกทีเดียวเพราะพายุจะก่อตัวในมหาสมุทร ซึ่งจะมีทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออกของไทย และมหาสมุทรอินเดียทางฝั่งตะวันตก

ก่อนที่พายุจากทางด้านตะวันออกจะมาถึงประเทศไทยก็จะผ่านประเทศเวียดนาม กัมพูชา ลาว มาก่อน ส่วนพายุจากทางฝั่งตะวันตกก็จะผ่านพม่ามาก่อน ยกเว้นพายุที่เข้าประเทศไทยมาทางฝั่งตะวันออก (ฝั่งอ่าวไทย) และฝั่งตะวันตก (ฝั่งทะเลอันดามัน) ส่วนทางฝั่งตะวันตกลงไปทางใต้จะมีประเทศอินโดนีเซียช่วยบรรเทาความรุนแรงของพายุได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีประวัติการถูกถล่มด้วยพายุดังเช่นประเทศอื่นๆ เช่น เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 จังหวัดชุมพรถูกถล่มด้วยพายุไต้ฝุ่นเกย์ ทำให้เกิดน้ำท่วมและความเสียหายแก่ชีวิต บ้านเรือน ทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการในเขตอำเภอเมือง อำเภอปะทิว และอำเภอท่าแซะ มีผู้เสียชีวิต 529 คน ทรัพย์สินเสียหายมูลค่าประมาณ 7,459 ล้านบาท

ต่อไปในอนาคตจากภาวะโลกร้อน ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้พายุพัดผ่านประเทศไทยที่อาจไม่บ่อยแต่อาจรุนแรงขึ้นนั้น ประเทศไทยจะอยู่ในสภาพที่เตรียมรับมือกับพายุได้ดีกว่าในอดีตมาก เนื่องจากระบบเฝ้าระวังภัยธรรมชาติของบ้านเรามีประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบขึ้น และที่สำคัญมีเทคโนโลยีการเฝ้าระวังการก่อตัวของพายุ โดยอาศัยดาวทียมและอื่นๆ รวมทั้งความรวดเร็วในการรับรู้ข่าวเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น

อีกทั้งในปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากขึ้นที่กำลังทำงานทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อพยากรณ์ภัยธรรมชาติล่วงหน้าในประเทศ และร่วมเป็นทีมกับนักวิชาการระดับนานาชาติในการเฝ้าระวังอนาคต เช่น ความร่วมมมือกับเครือข่ายเฝ้าระวังภัยธรรมชาติ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนโดยตรง เช่น ไอพีซีซี

*************

โอกาสไทยท่ามกลางวิกฤตโลกร้อน

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อแหล่งผลิตอาหารของโลกทั้งในระดับโลกและประเทศไทย เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการผลิตอาหารให้พอเพียงได้อย่างไร

ว่ากันว่าจากภาวะโลกร้อนและวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของประชากรโลก ข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าปัจจุบันจำนวนประชากรที่กำลังเผชิญกับภาวะหิวโหยทั่วโลกสูงถึง 1,000 ล้านคน หรือ 1 ใน 6 ของประชากรโลกทั้งหมด และทุกๆ 5 วินาที จะมีเด็กเสียชีวิตด้วยความอดอยากหิวโหย 1 คน

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนให้ชาวโลกตระหนักถึงความสำคัญของอาหารที่นับวันปัญหาจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงหาใช่เรื่องแปลกไม่ที่ประเทศแถบตะวันออกกลางหลายประเทศ จะพยายามสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการเข้าซื้อซื้อที่ดินในบ้านเรา และอีกหลายประเทศเพื่อทำการเกษตร เพื่อจะได้อุ่นใจว่าไม่ว่าโลกจะเกิดสภาวะข้าวยากหมากแพงเพียงใด คนในประเทศของเขาจะไม่มีวันอด

เช่นเดียวกับคนไทยที่จะไม่มีวันอดอยาก หากเราคิดถึงเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ และการเกษตรของเราให้ดี บางทีการเป็นมหาอำนาจด้านอาหารอาจไม่ใช่แค่ความฝัน เพราะเรามีทั้งน้ำ ทั้งผืนแผ่นดินที่เพาะปลูกได้ดี มีเทคโนโลยีการผลิตที่สืบทอดกับมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย และมีอีกหลายสิ่งที่ประเทศอื่นๆไม่มี

แต่การทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์อย่างเป็นธรรมชาติก็ต้องอาศัยปัจจัยที่จำเป็นของธรรมชาติ คือ น้ำฝน สภาพลมฟ้าอากาศ เป็นสิ่งสำคัญ

ดังนั้น ภาวะโลกร้อนจึงส่งผลกระทบโดยตรงและรุนแรงต่อแหล่งการผลิตอาหารใหญ่ของโลก

แต่สิ่งที่ไทยต้องทำต่อไปคือ การพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชที่ดีที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ให้สามารถทนต่อดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เมล็ดพันธุ์พืชไร่ อย่าง ข้าวโพด ข้าว พืชผัก หรือเมล็ดพันธุ์ไม้ป่าต่างๆ เนื่องจากหากเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วปัจจุบันประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีแห่งหนึ่งของโลกทีเดียว ด้วยสภาพภูมิอากาศเหมาะแก่การผลิตเมล็ดพันธุ์ สร้างรายได้แก่ภาคเกษตรกรรมทั้งจากการส่งออกและตลาดในประเทศรวม 3,500 ล้านบาท

ทว่า การจะเป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับคนทั้งโลก จึงต้องเพิ่มขีดความสามารถในผลิตให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น กรณีของข้าวหอมมะลิที่ผลิตได้ต่อไร่ทุกวันนี้ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา ที่บอกว่าสามารถผลิตข้าว แจสแมน ได้มากกว่าข้าวหอมมะลิ ที่จดทะเบียนภายใต้ชื่อจัสมิน ได้มากกว่าเท่าตัว ดังนั้น การพัฒนาเมล็ดพันธุ์เป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะการจะเพิ่มผลผลิตโดยการขยายพื้นที่ออกไปมันแทบมองไม่เห็นเพราะพื้นที่การเกษตรมีแต่จะลดลง ฉะนั้นตอนนี้ถ้าไม่มีกลยุทธ์ที่ดีๆ ในอนาคต ไม่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ในอนาคตอาจจะมีปัญหา จากที่เคยส่งออกอาจจะไม่เพียงพอเลยก็ได้ ทั้งที่หากพิจารณาเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ภูมิอากาศ ความสามารถในการผลิตของไทยแล้วอาจเรียกว่าได้เปรียบกว่าประเทศเกษตรกรรมหลายประเทศ ทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งผลิตพืชผักแลพะพืชไร่อันเป็นอาหารของโลก

แต่สิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งก็คือ ความสำคัญของภาคเกษตรกรไทยมีแนวโน้มลดลง ด้วยปัจจัยหลายอย่างบีบรัดรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการละเมิดและลักลอบผลิตเมล้ดภัณฑ์ผู้อื่น หรือการลักลอบซื้อเมล็ดพันธุ์จากแปลงผลิตและนำมาขายในราคาที่ต่ำกว่า เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายด้านงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาด้านการตลาด เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่สอดรับกับธรรมชาติของธุรกิจเมล็ดพันธุ์ในเวลานี้ ขณะเดียวกันปัญหาที่หนักหน่วงสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการคงหนีไม่พ้นเรื่องราคาตลาดโลกตกต่ำ และการกีดกันทางการค้าจากประเทศโลกที่ 1

ปัจจุบันการค้าเมล็ดพันธุ์ในประเทศมีมูลค่ากว่า 2.3 พันล้านบาทต่อปี โดยเมล็ดพันธุ์พืชไร่ที่เป็นที่นิยม 3 อันดับแรก คือ ข้าวโพดไร่ ทานตะวัน และข้าวฟ่าง เฉพาะข้าวโพดไร่มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1,000 ล้านบาท ส่วนเมล็ดพันธุ์ผักที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ พืชตระกูลแตง คือ แตงโม และแตงกวา พืชตระกูลกะหล่ำ คือ กระหล่ำปลี และกระหล่ำดอก และสุดท้ายคือ ข้าวโพดหวาน

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ดีกว่านี้ และสามารถส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชได้ดีกว่านี้ภาครัฐและเอกชนจึงต้องร่วมมือกันเพื่อยกระดับความสามารถของผู้ผลิตและเกษตรกร ตลอดจนนักวิชาการให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ โดยมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มบทบาทในการพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ของไทย พร้อมกับมีเครื่องหมายการค้า (brand name) ของประเทศ นอกเหนือไปจากการรับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นการขายแรงงานที่สร้างรายได้ต่ำ

วินิจ ชวนใช้ เลขาธิการสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโสธุรกิจเมล็ดพันธุ์บริษัท เจียไต๋ จำกัด ผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เปิดเผยว่า ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์บนพื้นฐานแนวคิด 4 ด้าน ได้แก่ ส่งเสริมสนับสนุนและคุ้มครองป้องกันสายพันธุ์ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมา การสร้างความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยี โดยสนับสนุนงานวิจัยด้านวิชาการเมล็ดพันธุ์อย่างต่อเนื่อง การพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน และประสานเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างกลุ่มต่างๆ

"การทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ดูง่ายๆ ว่าประเทศไหนมีจำนวนประชากรเยอะ นั่นคือตลาดใหญ่ เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะมีทุกอย่างได้เพราะว่าเมล็ดพันธุ์มันมีขีดจำกัดในเรื่องของดินฟ้าอากาศในการขยายพันธุ์ บ้านเราคุณปลูกกะหล่ำปลีให้ตายยังไงก็ไม่ได้เมล็ด ได้แต่หัวไปกิน เพราะไม่หนาวพอ ต่างประเทศเหมือนกัน ปลูกแตงไม่ได้เพราะเย็นเกินไป อากาศไม่ร้อนพอ ฉะนั้นในอุตสาหกรรมเมล็ดผักมันต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน แต่ประเทศไทยโชคดีว่าส่งออกมากกว่านำเข้าเยอะ"

ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ไทยสามารถส่งออกได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน เนื่องจากสภาพของดินฟ้าอากาศของบ้านเราที่ปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี ซึ่งประเทศอื่นไม่มี ลองไปเปรียบเทียบยุโรป อเมริกา อากาศหนาว 8 เดือน ปลูกพืชได้แค่ 4 เดือน ขณะที่ไทยปลูกพืชได้เลยทั้งปี แต่ปัญหาขาดอย่างเดียวคือ "น้ำ" เท่านั้น

*************

เตรียมพบ 3 ภัยเร็วๆ นี้

ชัยวัฒน์ คุประตกุล ได้อธิบายผ่านหนังสือเรื่อง วิกฤตโลกร้อนเรื่องจริงหรือตื่นตูม ว่า ภาวะโลกร้อนสร้างผลกระทบที่หลากหลายและซับซ้อนต่อมนุษยชาติ ซึ่งในการวิเคราะห์ศึกษาจะสามารถเห็นชัดขึ้นจากผลกระทบในรุปของภัยธรรมชาติ ภัยเศรษฐกิจ และภัยสังคม

ภัยธรรมชาติ ในรูปของความเปลี่ยนแปลงรุนแรง สภาพธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ เช่น ลมพายุ น้ำท่วม ความผิดเพี้ยนของฤดูกาล ฝนตกหนักและยาวนานกว่าปกติ ความแห้งแล้งในพื้นที่ที่เคยมีฝนตกมาก่อน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งอย่างรวดเร็ว และอย่างช้าๆต่อระบบนิเวศ ห่วงวงจรชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวพันระหว่างสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่นกับสิ่งมีชีวิตอพยพตามฤดูกาลมาจากที่อื่น

ภัยเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในแถบพื้นที่ที่เกิดภัยธรรมชาติรุนแรง เช่น พายุไต้ฝุ่น เฮอริเคน หรือทอร์นาโด สร้างความสูญเสียและผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง น้ำท่วมและความแห้งแล้งที่มีผลต่อผลิตผลด้านการเกษตร โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากความผิดเพี้ยนของภูมิอากาศ

ภัยสังคม ในรูปแบบของปัญหาสังคม ซึ่งมีภาวะโลกร้อนเป็นต้นเหตุและมักจะเกี่ยวเนื่องกับภัยเศรษฐกิจ ทำให้มีคนจน คนขัดสน แม้แต่ปัจจัยสี่สำหรับการดำรงชีวิตเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการก่อคดีอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากความจำเป็นหรือไม่มีทางออกและเกิดจากความเครียด

แม้แต่ภัยจากการก่อการร้ายก็มีรายงานการศึกษาว่า วิกฤตโลกร้อนมีแนวโน้มจะทำให้ภัยของการก่อการร้ายขยายวงกว้างขึ้น เพราะจะมีจำนวนผู้ก่อการร้ายเพิ่มขึ้น เช่น รายงานของ โทมัน ฟินการ์ (Thomas Fingar) ประธาน National Intelligence Council หรือสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ต่อสภาคองเกรสสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนมิถุนายน 2008 ว่า ภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้เกิดปัญหารุนแรงยิ่งขึ้นต่อปัญหา เช่น ความยากจน ความเครียดต่อสังคม ความเสื่อมทรามของสภาพแวดล้อม ความอ่อนแอของผู้นำและสถาบันการเมืองรอบโลก ทำให้มีคนถูกชักจูงให้เป็นผู้ก่อนการร้ายได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
Aorrayong
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009
ตอบ: 869

ตอบตอบ: 21/10/2009 10:19 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

Aorrayong บันทึก:

ฯลฯ
เช่นเดียวกับคนไทยที่จะไม่มีวันอดอยาก หากเราคิดถึงเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ และการเกษตรของเราให้ดี บางทีการเป็นมหาอำนาจด้านอาหารอาจไม่ใช่แค่ความฝัน เพราะเรามีทั้งน้ำ ทั้งผืนแผ่นดินที่เพาะปลูกได้ดี มีเทคโนโลยีการผลิตที่สืบทอดกับมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย และมีอีกหลายสิ่งที่ประเทศอื่นๆไม่มี
ฯลฯ




โชคดี...ที่คนไทยมีทรัพยากรธรรมชาติและผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร
แต่โชคร้าย...ที่มีคนไทยมองไม่เห็นคุณค่าและความได้เปรียบที่ตัวเองมี

มหาอำนาจด้านอาหาร....คงเป็นแค่ความฝัน ถ้าเกษตรกรไทยเรายังทำเกษตรตามความเคยชิน ปลูกทั้งๆที่รู้ว่า
ขาดทุน ทั้งยังขาดการทำงานแบบบูรณาการของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นตัวเกษตรกรเอง เจ้าหน้าที่ส่งเสริม
การเกษตร หรือแม้แต่ นักวิชาการ นักวิจัย รวมทั้งรัฐบาลที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายบริหารประเทศ

ถ้าวันนี้...พวกเรายังไม่คิดที่จะช่วยกันขับเคลื่อนแนวทางการทำเกษตรเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ
ของผลผลิต อย่าว่าแต่ความฝันที่จะเป็นมหาอำนาจด้านอาหารของโลก แค่หนทางที่จะทำให้คุณภาพชีวิต
ของลูกหลานเกษตรกรดีขึ้น เรายังมองไม่เห็นเลย.....
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©