-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-* นานาสาระเรื่องเกษตร.
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - * นานาสาระเรื่องเกษตร.
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

* นานาสาระเรื่องเกษตร.
ไปที่หน้า ก่อนนี้  1, 2, 3 ... 49, 50, 51 ... 72, 73, 74  ถัดไป
 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 04/12/2011 7:54 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ลำดับเรื่อง.....


1,362. โครงการโครงการเพาะเลี้ยง ชะมดเช็ด บ้านดงเย็น ฟาร์มตัวอย่าง
1,363. พรอพอลิส จากผึ้ง ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติต้านโรค
1,364. ระเบิดฐานนม เทคนิคเลี้ยงโคนมแบบ ทินกร ศิริสมบัติ ที่ป่าเด็ง
1,365. แนะนำเทคนิคการกรีดยางแบบใหม่ 1 ใน 4

1,366. ใบยาสูบอัดเป็นแท่ง กำจัดแมลงศัตรูพืช
1,367. การปลูกข้าวต้นเดียว (SRI) แบบอินทรีย์
1.368. วิจัยมะพร้าวให้เป็นกะทิ
1,369. เลี้ยงปลาสลิดระบบใหม่ เป็นตัวอย่างให้ชุมชน
1,370. ปัจจัยในการงอกของเมล็ดพืช

1,371. ทุเรียน....การเพิ่มผลผลิตนอกฤดู
1,372. ข้าวฮาง 5 สี
1,373. ข้าวฮาง...อุดมไป ด้วยคุณค่าทางอาหาร
1,374. การสืบหายีนที่มีความสำคัญและการพัฒนาพันธ์ข้าว
1,375. ข้าวกล้องโภชนการสูง

1,376. ข้าวต้านโรคเบาหวาน
1,377. ข้าวพม่าโค่นแชมป์ "หอมมะลิ" ครองสุดยอดข้าวอร่อยสุดในโลก
1,378. เมื่อข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมนานขึ้น
1,379. ม.เชียงใหม่จับมือแม่โจ้ ปรับปรุงข้าวหอมมะลิ ด้วยเทคนิคลำไอออนนาโน
1,380. เตือนอีสานระวัง ข้าวเรื้อ/ข้าวปน ในข้าวหอมมะลินาปี

1,381. ความลับในถังโอ๊ค หมักไวน์
1,382. การผลิตสาหร่ายเกลียวทอง
1,383. “ข้าวลูกผสม” ข้าวหอมพันธุ์น้ำลึกพันธุ์แรกของไทย
1,384. หญ้าที่โตเร็วที่สุดในโลก
1,385. ข้าวหอมสายพันธุ์ใหม่ที่กว่างซี

1,386. ซื้อแต่เตา แล้วมีแก๊สใช้ตลอดไป !

--------------------------------------------------------------------------------------------------






1,362. โครงการโครงการเพาะเลี้ยง ชะมดเช็ด บ้านดงเย็น ฟาร์มตัวอย่าง






โครงการเพาะเลี้ยง "ชะมดเช็ด" บ้านดงเย็น ฟาร์มตัวอย่าง ที่เพาะขยายพันธุ์ได้

ด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำรัสให้ทำการเลี้ยงชะมดเช็ดขึ้นในโครงการฟาร์มตัวอย่างตามราชดำริ บ้านดงเย็น วัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ชะมดเช็ดและเพื่อใช้ประโยชน์จาก "ไขชะมดเช็ด" สืบต่อไปในอนาคต "องค์การสวนสัตว์" เล็งเห็นว่าเป็นพระราชดำรัสที่มีนิมิตหมายอันสำคัญ จึงอาสารับผิดชอบหน้าที่ทางด้านงานวิจัยเกี่ยวกับการเพาะขยายพันธุ์ชะมดเช็ด เพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำผลิตภัณฑ์เครื่องหอม และได้ศึกษาวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จทางด้านการเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ลึกลงไปคือ "สร้างอาชีพให้ราษฎรที่มีฐานะยากจนได้มีงานทำ" นั่นเอง

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้ร่วมกับ คุณสหัส บุญมาวิวัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ได้สำรวจคัดเลือกพื้นที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าธาร บ้านดงเย็น หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บนเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 300 ไร่ และให้จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านดงเย็น ขึ้น

ชะมดเช็ด คือสัตว์ป่าชนิดล่าสุดที่นำเข้ามาวิจัยและทดลองเลี้ยง เหตุผลที่เลือกพื้นที่ป่าท่าธารบ้านดงเย็น เนื่องจากมีความเหมาะสมด้านภูมิประเทศที่เป็นสภาพป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่เงียบสงบ คนไม่พลุกพล่าน สภาพอากาศในพื้นที่โครงการส่วนใหญ่ร้อนและแห้งแล้ง อุณหภูมิต่ำสุด ประมาณ 11 องศาเซลเซียส และสูงสุดอยู่ที่ 40 องศาเซลเซียส


โครงการในขั้นเริ่มแรก
ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นช่วงที่กระแสความต้องการ "ชะมดเช็ด" มีอยู่มาก ดังนั้น การเพาะเลี้ยงและการขยายพันธุ์ของโครงการเพื่อให้เป็นต้นแบบหรือเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับท่านที่สนใจต้องการเรียนรู้ และสามารถนำไปปฏิบัติด้วยตนเองอย่างถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่สำนักอนุรักษ์ วิจัย และการศึกษา ให้ความสำคัญ

สำนักอนุรักษ์ วิจัย และการศึกษา ซึ่งมี คุณสุเมธ กมลนรนารถ เป็นผู้อำนวยการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีพันธกิจหลักอยู่ 4 ประการ คือ อนุรักษ์ วิจัย ให้การศึกษา ให้ความรู้พักผ่อนหย่อนใจและนันทนาการกับประชาชน ส่วนพันธกิจที่รับผิดชอบตรงในการอนุรักษ์ วิจัย ให้การศึกษา เป็นหน้าที่ของ น.สพ.ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พร้อมทีมงานที่รับผิดชอบโครงการงานวิจัยและอนุรักษ์สัตว์ป่า อีกทั้งยังทำหน้าที่ประสานงานกับอุทยานสวนสัตว์ทั่วประเทศ ในการขอความร่วมมืออนุเคราะห์สัตว์ป่าหายากมาวิจัยจนได้ผล

ล่าสุด...ได้รับผิดชอบ "โครงการเลี้ยงชะมดเช็ดตามพระราชดำริบ้านดงเย็น" ซึ่งได้รับงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อ ปี 2550 และเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง เมื่อปี 2551 โดยเข้าไปขอใช้พื้นที่ในโครงการฟาร์มตัวอย่าง ตามพระราชดำริบ้านดงเย็น ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

เริ่มแรกในโครงการได้นำสายพันธุ์มาจากสวนสัตว์หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสวนสัตว์ที่โคราช สงขลา เขาเขียว และเขาดิน รวมพ่อแม่พันธุ์ที่นำมาทดลองในครั้งนั้น 8 คู่ ภายใต้งบประมาณ 700,000 บาท มีระยะเวลาในการดำเนินงาน 1 ปี แต่ติดปัญหาความพร้อมการเบิกจ่าย ทำให้เหลือระยะเวลาทำงานจริงเพียง 8 เดือน

"แรกเริ่มการบันทึกข้อมูลอาจจะติดปัญหาอยู่ที่ความใหม่ของชะมดเช็ด ต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้แก่เขาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม ทางด้านการกินอาหาร การปรับตัวให้เข้ากับเพศตรงข้ามที่มาในแต่ละที่ และกับคนเลี้ยงโดยนักศึกษาที่ทำหน้าที่ดูแลและเก็บข้อมูล จนกระทั่งชะมดเช็ดมีสัญชาตญาณกับตัวเองว่าปลอดภัยที่สุด ซึ่งจะสังเกตได้จากลักษณะที่ชะมดไม่เครียด เมื่อร่างกายมีความพร้อม ชะมดเช็ดก็จะเริ่มเข้าสู่การเป็นสัด ตัวผู้จะเริ่มผลิตสเปิร์ม ตัวเมียก็จะผลิตไข่ จากการทดลองปีแรกผสมพันธุ์ได้เพียง 1 คู่ จนกระทั่งวันนี้สามารถผสมพันธุ์ได้แล้วทุกตัว"

คุณหมอบริพัตร กล่าวถึงอุปสรรคในการนำเข้ามาทดลองเลี้ยงในครั้งแรกว่า ในระยะแรกมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง จึงต้องให้เวลาในการปรับตัวของชะมดเช็ดพอสมควร ที่สำคัญชะมดเช็ดเป็นสัตว์ที่ออกหากินในช่วงเวลากลางคืน ดังนั้น การพัฒนาชีวิตของเขาจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและค่อยเป็นค่อยไป



ก่อนเลี้ยงต้องรู้ว่า ชะมดเช็ด คืออะไร
ชะมดเช็ด เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศไทย ดังนั้น หากถามว่า พื้นที่ใดเหมาะสมต่อการเลี้ยงชะมดเช็ดมากที่สุด คุณหมอบริพัตร กล่าวว่า สภาพพื้นที่และภูมิอากาศประเทศไทยเหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงชะมดเช็ดทั่วทุกภาค และฟาร์มที่เลี้ยงมากที่สุดในประเทศ คือ "ฟาร์มป้าน้อย" ที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ต้องยอมรับว่าเป็นฟาร์มที่มีประสบการณ์ด้านการเลี้ยงได้เป็นอย่างดี แต่ข้อเสียอยู่ที่ ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ แม้ว่าจะเลี้ยงมานานถึง 7 ปี ก็ตาม ซึ่งภาพรวมเชิงลึกอาจวิเคราะห์ได้ว่า อนาคตชะมดเช็ดอาจสูญพันธุ์ได้


http://www.moac-info.net/Krabi/index.php?option=com_wrapper&view=wrapper&Itemid=140


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 11/12/2011 11:46 am, แก้ไขทั้งหมด 5 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 04/12/2011 8:43 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,363. พรอพอลิส จากผึ้ง ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติต้านโรค





พรอพอลิส (propolis) คือ สารเหนียวคล้ายยางไม้ มีสีน้ำตาลแก่จนเกือบดำ ผึ้งสร้างพรอพอลิส โดยที่ผึ้งงานเก็บรวบรวมยางไม้หรือของเหลวที่ได้จากใบ หน่ออ่อน จากตาหรือเปลือกพืชหลากหลายชนิดและนำมาผสมกับเอ็นไซม์ของผึ้งที่หลั่งออกมาจากต่อมบริเวณหัวและช่องท้องของผึ้ง พรอพอลิสมีลักษณะแข็งเมื่ออุณหภูมิต่ำ และเหนียวขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ผึ้งใช้พรอพอลิสมาอุดหน้าทางเข้ารัง ลดขนาดรูเปิดรังให้มีขนาดพอดีเพื่อสะดวกในการดูแลป้องกันรังผึ้งจากศัตรู และห่อหุ้มศัตรูที่ถูกผึ้งฆ่าตายในรัง เพื่อไม่ให้เกิดการเน่าเหม็นในรัง ใช้ในกิจกรรมภายในรังผึ้งั้เช่น อุดรอยแตกภายในรัง เคลือบรวงรังให้แข็งแรง คลุมเคลือบไข่บางๆ เคลือบเซลล์ตัวอ่อนผึ้งั้เพื่อให้ปลอดจากเชื้อโรคั้ฉาบทาเคลือบมันในรังผึ้งยึดติดคอนผึ้งให้แน่น ไม่คลอนแคลน พยุงส่วนต่างๆ ในรังผึ้ง

พรอพอลิส มีการใช้ประโยชน์ในมนุษย์มาช้านาน เช่น เป็นสารยึดติดหรือป้องกันเนื้อไม้ รวมทั้งใช้เป็นยา เพราะพรอพอลิสมีสารยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ได้หลายชนิด ในกรีกโบราณเรียกสารนี้ว่า "Mitys" ที่เชื่อว่าพรอพอลิสมีฤทธิ์เป็นยารักษาโรค เช่น แก้อักเสบและฟกช้ำ เป็นต้น ในกรุงโรมใช้พรอพอลิสเป็นยาพอกลดการอักเสบ เป็นต้น

พรอพอลิส เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ได้จากผึ้ง มีความแตกต่างกันจากแหล่งพืชและต้นไม้ที่ผึ้งไปเก็บมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการนำพรอพอลิสมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่หลากหลาย เช่น ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ฤทธิ์ต้านไวรัส ฤทธิ์ต้านอักเสบ ฤทธิ์ต้านมะเร็ง และฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น ด้วยเหตุผลนี้เอง จึงทำให้มีการนำพรอพอลิสมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อบำรุงสุขภาพ และป้องกันการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง

สายพันธุ์ผึ้งที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย และสามารถเก็บสะสมพรอพอลิสได้ คือ ผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera) นอกจากนี้ ยังพบว่า ในชันโรงก็พบมากเช่นกัน และในอดีตพบว่าคนไทยได้นำพรอพอลิสชันโรงมาใช้ประโยชน์มากมายในกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำแคน ทำด้ามมีด เป็นต้น จากการศึกษาพบว่าพรอพอลิสมีองค์ประกอบทางเคมีหลายชนิด เช่น เทอร์ปีนอยด์ (terpenoid) สเตอรอยด์ (steroid) สารประกอบฟีนอลิก (phenolic compound) และฟลาโวนอยด์ (flavonoid) โดยสารประกอบฟีนอลิก และ ฟลาโวนอยด์ นี้เองที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น

องค์ประกอบของพรอพอลิส
- สารคัดหลั่งจากต้นไม้
- เอ็นไซม์จากผึ้ง
- สารที่ผึ้งหลั่งออกมาขณะเกิดกระบวนการผลิตพรอพอลิส

ส่วนประกอบของพรอพอลิส
มีส่วนประกอบทางเคมีหลายชนิด เช่น กรด วิตามินั้แร่ธาตุ และสารที่เป็นประโยชน์หลายชนิด โดยเฉพาะฟลาโวนอยด์ และฟีนอลิก ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารปฏิชีวนะั้(antibiotic)ั้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่วนประกอบของพรอพอลิส ประกอบด้วย
- สารเหนียว 50-55%
- ไขผึ้ง 30%
- น้ำมันั้10-15%
- เกสร 5%
- สารอื่นๆ 5%

ประโยชน์ของพรอพอลิส
พรอพอลิส เป็นยางเหนียวสีน้ำตาล ติดตามคอน เวลาเคี้ยวมีรสฝาดเล็กน้อย แต่ชุ่มคอ อีกทั้งยังช่วยให้ฟันขาวเป็นเงางาม ทำให้ไม่ค่อยเป็นโรคเหงือกบวม และถ้าเป็นแผลข้างในปากตามโคนลิ้น สารพรอพอลิสจะช่วยรักษาแผลในปากให้หายเร็วขึ้น นอกจากนั้น ยังพบว่า เมื่อมีอาการเจ็บคอ ไอ หรือเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ สารนี้ก็ช่วยได้เช่นกัน

- ใช้ในทางการแพทย์ นำมาสกัดสารที่ต่อต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย เป็นส่วนประกอบในการทำยารักษาโรคมนุษย์และสัตว์ั้ใช้รักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ใช้ผสมเป็นยารักษาโรคทางหู คอั้จมูก รักษาโรคผิวหนัง

-ใช้บรรเทาพิษที่เกิดจากผึ้งต่อยั้โดยขูดสารออกจากคอนผึ้งมาละลายในแอลกอฮอล์ั้หรือน้ำมันมะกอก เก็บไว้ใช้ทาเวลาถูกผึ้งต่อยจะบรรเทาอาการเจ็บปวด บวม ได้

- ใช้เป็นส่วนผสมในการทำเครื่องสำอาง
- บรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบของแผล
- บรรเทาอาการบวม เป็นฝีแดง และคันตามผิวหนังของภูมิแพ้
- บรรเทาอาการเจ็บคอ และการอักเสบในลำคอ
- บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ
- บำบัดรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

พรอพอลิสในการต้านโรคที่เกิดจากอนุมูลอิสระ ได้แก่
- โรคหัวใจ
- เบาหวาน
- ต้อกระจก
- โรคหืดหอบ
- โรคหลอดลมอักเสบ
- โรคเกี่ยวกับระบบประสาท
- โรคมะเร็ง

พรอพอลิสและการใช้ประโยชน์ทางเภสัชกรรม
การใช้ประโยชน์พรอพอลิส มีมาเป็นเวลานาน เริ่มตั้งแต่ ฮิปโปเครติส (Hippocretes) บิดาแห่งการแพทย์ได้ใช้เป็นครีมสมานแผล บรรเทาอาการปวดแสบ ปวดร้อน และบำบัดแผลเน่าเปื่อย ต่อมามีนักปราชญ์ชาวโรมันอ้างอิงว่า พรอพอลิสมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการบวม บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามเอ็นและกล้ามเนื้อ บำบัดอาการปวดแสบ ปวดร้อน นอกจากนี้ ในหนังสือแพทย์หลายเล่มในจอร์เจีย บรรยายว่า พรอพอลิส เป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่อต้านอาการติดเชื้อในช่องปาก ป้องกันไม่ให้ปากบวม ดับกYD
พรอพอลิส จากผึ้ง ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติต้านโรค




http://www.moac-info.net/Krabi/index.php?option=com_wrapper&view=wrapper&Itemid=140
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 04/12/2011 9:14 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,364. ระเบิดฐานนม เทคนิคเลี้ยงโคนมแบบ ทินกร ศิริสมบัติ ที่ป่าเด็ง





นับเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้วที่ คุณทินกร ศิริสมบัติ ชายวัย 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 9/1 หมู่ที่ 2 ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนอาชีพจากที่ทำอาชีพรับจ้างทั่วไปมาเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และสามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จ โดยได้รับคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2554 ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อเร็วๆ นี้

เริ่มต้นจากโคนมเพียง 1 ตัว ในปี 45
สำหรับเกษตรกรคนเก่งผู้นี้ ได้เริ่มมาเลี้ยงโคนมเมื่อปี พ.ศ. 2545 ซึ่งได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ประกอบกับพื้นที่ใกล้เคียงมีเกษตรกรเลี้ยงโคนมเป็นตัวอย่างอยู่ก่อนแล้ว และมีสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด ซึ่งเป็นแหล่งรับซื้อน้ำนมดิบที่มั่นคง

"ด้วยเห็นว่าอาชีพการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพพระราชทานฯ จึงนำเงินออมที่เก็บไว้ไปซื้อที่ดิน จำนวน 1 ไร่ และกู้เงินจากกองทุนหมู่บ้านเพื่อซื้อลูกโคนมเพศเมีย จำนวน 1 ตัว" คุณลุงทินกร กล่าว

จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงโคนมนั้น คุณลุงทินกรบอกว่า ได้เลี้ยงด้วยวิธีการง่ายๆ ตามความรู้ที่มี โดยการผูกล่ามไว้ข้างบ้านและเกี่ยวหญ้าจากพื้นที่สาธารณะมาเลี้ยงโค ต่อมาเมื่อมีความชำนาญมากขึ้น ได้นำเงินออมจากการรับจ้างมาซื้อแม่โคเพิ่มอีก จำนวน 4 ตัว รวมมีโคนม 5 ตัว

ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้สมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด และเข้ารับอบรมการเลี้ยงโคนม รวมทั้งได้เบอร์สมาชิก เพื่อจัดส่งน้ำนมให้สหกรณ์

จากนั้นคุณลุงทินกรได้พัฒนาวิธีการเลี้ยงโคนมให้ดียิ่งขึ้นโดยเพิ่มแม่โคนมเป็น 9 ตัว มีผลผลิตน้ำนมเฉลี่ยถึง 9 กิโลกรัม/ตัว/วัน

ในช่วงระยะเวลาการประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนมมานั้น มีหลายครั้งที่เขาต้องประสบปัญหาส่งผลกระทบกับการประกอบอาชีพ เช่น การเกิดภาวะวิกฤติเนื่องจากปัญหาน้ำนมล้นตลาด ราคาตกต่ำ รายได้ไม่คุ้มทุน แต่คุณลุงทินกรก็ยังคงมุ่งมั่นเลี้ยงโคนม

"เพราะมีความเชื่อมั่นว่าเป็นอาชีพพระราชทานฯ" คุณลุงทินกร กล่าว

พร้อมกันนี้ ด้วยเห็นว่าสถานการณ์โคนมคงจะมีแนวโน้มดีขึ้น ตามกลไกตลาด จึงได้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสโดยการรับซื้อโคนมจากเพื่อนเกษตรกรที่ขายให้ในราคาต่ำอีกจำนวน 16 ตัว รวมมีโคนม 25 ตัว

จากที่ได้ทุ่มเทให้กับการประกอบอาชีพมาหลายปี พร้อมกับได้สร้างสมประสบการณ์การเลี้ยง คุณลุงทินกรจึงมีการพัฒนาการเลี้ยงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการภายในฟาร์ม

คุณลุงทินกรได้เน้นการเลี้ยงโดยใช้อาหารหยาบคุณภาพเพื่อลดต้นทุน รวมทั้งเช่าพื้นที่เพื่อปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงโคนม หญ้าที่ปลูก คือ รูซี่ กินนีสีม่วง เพื่อเป็นแหล่งอาหารหยาบคุณภาพดีสำหรับโคนม รวมแปลงหญ้า 24 ไร่ ต่อมาได้ซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงโคนมเพิ่มเติม จัดการให้อาหารโดยเน้นหญ้าสดคุณภาพดีจากแปลงหญ้าที่ปลูกและเสริมด้วยกากสับปะรดและอาหารสำเร็จรูป

จากการเลี้ยงที่เจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่องจึงทำให้คุณลุงทินกรสามารถขยายจำนวนโคนมในฟาร์มได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2550 ได้ซื้อโคนมเพิ่ม รวมลูกโคที่เกิดขึ้นในฟาร์มเป็น 30 ตัว ให้ผลผลิตน้ำนมดิบ 200 กิโลกรัม/วัน อีกทั้งยังพัฒนาการเลี้ยงจนได้รับการรับรองให้เป็นฟาร์มมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นฟาร์มโคนมต้นแบบสาธิตของจังหวัดเพชรบุรี

จนในปี 2551 คุณลุงทินกรสามารถพัฒนาการเลี้ยงโคนมอย่างต่อเนื่อง ศึกษาด้วยตนเองจนมีผลผลิตน้ำนมในฟาร์มมากกว่า 380 กิโลกรัม/วัน และสามารถนำเงินที่ได้จากน้ำนมดิบมาสร้างบ้านของตนเอง

ปัจจุบัน คุณลุงทินกร มีจำนวนโคนมที่เลี้ยงทั้งสิ้น 45 ตัว แบ่งเป็นโครีดนม จำนวน 27 ตัว โคแห้งนม 7 ตัว โคสาวท้อง 7 ตัว โครุ่น 1 ตัว และลูกโคเพศเมีย 3 ตัว ปริมาณน้ำนมที่รีดได้เฉลี่ย 585 กิโลกรัม/วัน หรือเฉลี่ย 21 กิโลกรัม/ตัว/วัน และเป็นฟาร์มที่มีสัดส่วนโครีดนม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของฝูง

"ระเบิดฐานนม" เทคนิคทำให้ได้น้ำนมสูง
จากประสบการณ์การเลี้ยงโคนมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณลุงทินกรสามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จได้เป็นอย่างดีนั้น มีปัจจัยที่สำคัญคือ การที่เน้นการพัฒนาการเลี้ยงโคนมตามหลักวิชาการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องมาโดยตลอด

โดย คุณปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้กล่าวถึงเคล็ดลับการเลี้ยงโคนมของคุณลุงทินกรว่า ได้มีการปรับปรุงพันธุ์โคนมโดยใช้การผสมเทียม รวมทั้งมีการคัดเลือกแม่โคในฟาร์มโดยเน้นรูปร่างภายนอก

"เช่น ลักษณะโครงสร้างใหญ่ รูปทรงตรงตามลักษณะประจำสายพันธุ์ รูปทรงเป็นสามเหลี่ยม เส้นเลือดที่เต้านมใหญ่ เต้านมกว้างและระยะเต้านมห่าง คอเล็ก ผิวหนังบาง กีบสวย" อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว



http://www.moac-info.net/Krabi/index.php?option=com_wrapper&view=wrapper&Itemid=140
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 04/12/2011 9:20 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,365. แนะนำเทคนิคการกรีดยางแบบใหม่ 1 ใน 4





ผลการศึกษาระบุว่า การปลูกยางพาราจะสามารถกรีดน้ำยางได้ 25 ปี นั่นหมายถึงการกรีดยางพาราโดยทั่วไปคือ กรีดครึ่งหนึ่งของเส้นรอบลำต้น ล่าสุด สุวรรณ สกุลวงศ์สุเมธ เกษตรกรชาวสวนยางพาราจากหมู่ 7 ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา แนะเคล็ดลับการกรีดยางพาราแบบ "รอยรีดสั้น" กรีดเพียง 1 ใน 4 ของเส้นรอบวงของลำต้น ผลออกมามีผลผลิตน้ำยางไม่แตกต่างกัน แต่มีข้อดีจะทำให้อายุการกรีดยางพารายาวขึ้น ที่สำคัญต้นยางพาราไม่โทรมเร็วอีกด้วย สุวรรณ บอกว่า ได้ทดลองกรีดยางพาราแบบรอยกรีดสั้นมาหลายปีแล้ว พบว่าเป็นผลดีต่อต้นยางพาราและเจ้าของยางพาราเองอย่างแน่นอน เพราะเมื่อก่อนเกษตรกรจะนิยมกรีดยางพาราต่อเมื่อมีอายุ 7 ปี จะรีดช่วงสูงจากพื้นราว 150 เมตร เวลากรีดจะลากรอยยาวครึ่งหนึ่งของเส้นรอบวงลำต้น เอียง 30 องศา เพื่อให้น้ำยางไหลลงถ้วย พอกรีดเกือบถึงพื้นก็เปลี่ยนไปกรีดอีกด้านหนึ่งที่ยังไม่ได้กรีด ส่วนที่กรีดหน้าแรกจะใช้เวลา 10-12 เปลือกยางพาราจะขึ้นใหม่ และได้กรีดเป็นรอบสอง แต่ตอนหลังเกษตรกรเริ่มทำสวนยางพารามากขึ้น ทำให้เจ้าของสวนยางไม่ได้กรีดเอง ต้องจ้างคนอื่น โดยการแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ คือเจ้าของได้ 60% ลูกจ้างได้ 40%


"ปัญหามีอยู่ว่า พอเราจ้างคนอื่นมา ลูกจ้างต้องการให้ได้ผลผลิตมาก โดยไม่คำนึงว่าต้นยางจะโทรมเร็ว บางทีกรีดลึก เปลือกหนา ส่งผลให้อายุการกรีดสั้นลงก่อนกำหนด ตอนหลังมีบางรายกรีดแบบรอยกรีดสั้นลงคือ 1 ใน 3 ของเส้นรอบวง แต่ผลผลิตก็ไม่น้อยลง ผมเลยลองกรีดสั้นกว่า คือ 1 ใน 4 ของเส้นรอบวง เอียง 22 องศา พบผลผลิตใกล้เคียง ที่สำคัญเมื่อเปลือกต้นยางที่ไม่ถูกกรีดเหลือยู่ 3 ส่วน จะทำให้รากดูดส่งปุ๋ยและน้ำส่งผ่านลำต้นไปยังใบใช้ในการสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ต้นยางพาราได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญเปลือกยางกรีดน้อย ต้นยางพารา 1 ต้น สลับกรีดได้ 4 หน้า ต่อไปอายุการกรีดยางต้องยาวขึ้นแน่นอน" สุวรรณ กล่าวอย่างมั่นใจ
ด้าน อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่กับวงการยางพารามายาวนาน และลงพื้นที่ดูเทคนิคการกรีดยางพาราแบบรอยกรีดสั้น ซึ่งเป็นแบบฉบับชาวบ้านของ สุวรรณ บอกว่า เป็นเทคนิคที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง สะดวกต่อการกรีดที่ใช้เวลาน้อยลง การสิ้นเปลืองของเปลือกต้นยางพาราก็น้อยลง เพราะส่วนที่ไม่ได้กรีดที่เหลืออีก 3 ส่วนนั้น เป็นส่วนที่เหลือมากพอ ที่เมื่อรากดูดน้ำและอาหารผ่านไปยังลำต้นยางพาราได้ ต่อไปจึงมั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม เป็นการช่วยรักษาหน้ายางได้เป็นอย่างดี ขณะที่ต้นยางพาราก็สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้โดยไม่โทรมเร็วด้วย


"ตอนนี้ยางพาราราคาแพง ชาวสวนยางพาราที่ปลูกในโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ในภาคเหนือและภาคอีสาน เริ่มกรีดกันแล้ว บางรายกรีดทั้งที่อายุยังไม่ถึง จะส่งผลให้ต้นยางโทรมเร็ว เมื่อเราห้ามชาวบ้านไม่ได้ ผมนึกว่าวิธีนี้น่าจะช่วยได้ ต้นยางอาจโทรมช้ากว่า จึงอยากให้ทางการหรือหน่วยงานของรัฐทดสอบอย่างเป็นทางการ หรือศึกษาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะเราหยุดชาวสวนยางไม่ให้กรีดยางก่อนกำหนดไม่ได้ เราควรหาวิธีการช่วยเหลืออย่างอื่น" นายอุทัย กล่าว
ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย ย้ำด้วยว่า ถึงเวลาที่หน่วยราชการจะต้องทำการศึกษาการเปลี่ยนระบบการกรีดยางจากกรีด 1 ใน 2 ของเส้นรอบวงลำต้นมาใช้เป็น 1 ใน 4 เปลี่ยนองศากรีดจากเดิม 30 องศา มาเป็น 22 องศา มีดที่ใช้กรีดจะต้องเปลี่ยนเป็นมีดที่ใช้มีเบอร์เล็กและเปลี่ยนวิธีการใส่ปุ๋ยยางให้มีความถี่ขึ้นจากปกติ 6 เดือนครั้ง เพื่อเจ้าของสวนยางกับต้นยางอยู่ด้วยนานกว่าที่เป็นอยู่อีกด้วย
นับเป็นเทคนิคง่ายๆ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยี เกษตรกรสามารถไปปฏิบัติได้ทันที ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับชาวสวนยางพาราในยุคนี้




http://www.moac-info.net/Krabi/index.php?option=com_wrapper&view=wrapper&Itemid=140
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 04/12/2011 9:32 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,366. ใบยาสูบอัดเป็นแท่ง กำจัดแมลงศัตรูพืช

ปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ใช้ ไม่มีสารตกค้างในผลผลิต

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีผลผลิตทางด้านการเกษตรจำนวนมากที่ผลิตขึ้นและสามารถทำรายได้ให้กับประเทศปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนเงินมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตด้านพืชไร่ ผัก ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งในปัจจุบันนับว่ามีความสำคัญต่อมนุษย์ทั้งในด้านอาหารและเศรษฐกิจ

แต่ในขณะเดียวกัน กระบวนการผลิตต้องประสบปัญหาในเรื่องศัตรูพืชเข้าทำลาย ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเกิดความเสียหาย เกษตรกรจึงต้องหาวิธีการควบคุมและป้องกันมาใช้เพื่อทำให้ประชากรของแมลงศัตรูพืชทางการเกษตรนั้นให้ลดน้อยลง

ในปัจจุบันการควบคุมแมลงศัตรูพืช จะอาศัยหลักการและวิธีการหลากหลาย ทั้งในส่วนของการใช้สารเคมี การใช้เครื่องมือ หรือการใช้สารสกัดจากธรรมชาติ ฯลฯ การรมควันถือเป็นวิธีการกำจัดแมลงวิธีหนึ่งที่ทำให้สารออกฤทธิ์อยู่ในรูปแบบของก๊าซ สามารถสร้างความเสียหายแก่แมลงศัตรูพืช ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแน่นอนสูงและถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ในปัจจุบันสารที่ใช้ในการรมควันจะทำออกมาในรูปของเหลวหรือของแข็งก่อนนำไปใช้งาน

ดร. อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช อาจารย์คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มนุษย์เรารู้จักการใช้ประโยชน์จากพืชต่างๆ ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชมาเป็นระยะเวลานาน แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกมองข้าม ขาดการเผยแพร่ และศึกษาอย่างจริงจัง ประกอบกับในปัจจุบันสารเคมีทางการเกษตรหาซื้อได้ง่าย สะดวกต่อการใช้และเห็นผลได้รวดเร็ว แต่เมื่อใช้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน สารเคมีจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม ทำให้ปัจจุบันมีการให้ความสำคัญในการศึกษาพืชที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงศัตรูพืชกันอย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นทางเลือกในการนำไปควบคุมแมลงศัตรูพืชและนำมาทดแทนสารเคมีที่เป็นอันตราย

"ใบยาสูบ (ยาเส้น ยาตั้ง)" เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย อาจารย์พิเชษฐ์ สืบสายพรหม ดร. อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช และ รศ.ดร. นิพนธ์ ทวีชัย (ผู้สนับสนุนทุนในการวิจัย) อาจารย์คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษา ทดลอง วิจัยหาขีดความสามารถและประสิทธิภาพของใบยาสูบเพื่อนำมาใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช

ทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกร
ใบยาสูบ พืชสมุนไพรที่รู้จักกันมานาน

ดร. อุดมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ยาสูบเป็นพืชที่ได้รับการจัดลำดับทางพฤกษศาสตร์ โดยจัดให้เป็นพืชในวงศ์โซลานซีอี เช่นเดียวกับมะเขือเทศ พริก มันฝรั่งและผักต่างๆ และอยู่ในสกุลนิโคเทียน่า ยาสูบเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตรง ไม่แตกกิ่งก้าน เป็นใบเดี่ยวเรียงตัวสลับเวียนรอบต้น รูปวงรีหรือรูปหอก ขอบใบเรียบ เนื้อบางนุ่ม ผิวมีขน ดอกช่อแบบพานิเคิล กลีบเลี้ยงสีขาว กลีบดอกสีชมพูอ่อน รูปกรวยมี 5 แฉก ลักษณะการปลูกจะเป็นการค้าทั้งหมด

ใบของยาสูบจะมีสารประกอบไนโตรเจนหรือที่เรียกว่า "อัลคาลอยด์" ซึ่งมีสารนิโคตินเป็นส่วนใหญ่ สารนิโคตินจะพบมากในส่วนของใบและก้าน สารนิโคตินในใบยาสูบจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะแมลงในกลุ่มปากเจาะดูด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ เพลี้ยไก่ฟ้า เพลี้ยแป้ง นอกจากนั้น สารนิโคตินยังเป็นสารที่สลายตัวได้ง่ายจึงไม่มีสารพิษตกค้างในผลผลิต ดินและสภาพแวดล้อม ปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ใช้

"การนำใบยาสูบมาอัดเป็นแท่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการนำสารนิโคตินไปใช้งานในรูปแบบของการรมควัน อันเนื่องมาจากรูปแบบที่ง่ายต่อการผลิต ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำและมีราคาถูก จึงมุ่งเน้นและศึกษาถึงวิธีการผลิตใบยาสูบอัดแท่ง รวมถึงอัตราส่วนที่เหมาะสมในการผสมสำหรับการรมควัน" ดร. อุดมศักดิ์ กล่าว

ใบยาสูบที่จะนำมาเพื่อใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีการรมควันนั้น จะทำออกมาในรูปแบบใบยาสูบอัดแท่งแบบแท่งธูปกำยาน ซึ่งกระบวนการและขั้นตอนในการผลิตนั้นง่าย สะดวก ไม่ซับซ้อน เกษตรกรทั่วๆ ไปก็สามารถทำใช้ได้ เพราะด้วยวิธีการทำที่ไม่ยุ่งยาก ต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ บวกกับอุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ก็สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป


อุปกรณ์และขั้นตอนในการผลิต
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำใบยาสูบอัดแท่งจะประกอบไปด้วยใบยาสูบสายพันธุ์พื้นเมือง ขุยมะพร้าว ผงจันทน์เหนียวและบล็อคพิมพ์ขึ้นรูปที่ทำจากแผ่นซูเปอร์ลีน

เริ่มต้นของกระบวนการผลิตใบยาสูบอัดแท่ง ขั้นตอนแรกให้นำเศษใบยาสูบมาร่อนกับตะแกรงเพื่อคัดขนาดที่เล็กออกมาและนำไปบดเพื่อให้มีความละเอียดมากขึ้น จากนั้นให้นำขุยมะพร้าวแห้งที่บดมาร่อนกับตะแกรงและนำส่วนที่ร่อนแล้วซึ่งมีความละเอียดมาใช้เป็นส่วนผสม (ขุยมะพร้าวที่นำมาใช้อาจมีความชื้น ควรนำไปตากแดดให้แห้งประมาณ 1-2 วัน) นำใบยาสูบที่ร่อนผสมกับขุยมะพร้าวบดในอัตราส่วน 60 : 40 หรือ 80 : 20 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นนำผงจันทน์เหนียว (เปลือกต้นยางบง) ผสมเพิ่มเข้าไป 10-15 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละอัตราส่วน ซึ่งผงจันทน์เหนียวนั้นจะช่วยให้ใบยาสูบกับขุยมะพร้าวสามารถยึดเกาะกันได้



http://www.moac-info.net/Krabi/index.php?option=com_wrapper&view=wrapper&Itemid=140
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 04/12/2011 9:51 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,367. การปลูกข้าวต้นเดียว (SRI) แบบอินทรีย์

เป็นวิธีการจากมาดากัสการ์ ศรีลังกา กัมพูชา สู่การทดลองครั้งสำคัญบนผืนนาไทย การปักเดี่ยว ซึ่งประหยัดเมล็ดพันธุ์ ช่วยให้ต้นข้าวแสดงศักยภาพเต็มที่ใน การแตกกอและออกรวง





หลังจากกระเด็นกระดอนอยู่บนถนนลูกรังที่ตัดผ่านทุ่งนาผืนกว้างมาได้ครึ่งชั่วโมง รถกระบะสีน้ำเงินของโครงการเสริมประสิทธิภาพเกษตรกร (คสป.) ก็มาจอดอยู่ตรงหน้าบ้านไม้หลังใหม่ของรุ่งโรจน์ ขจัดโรคา ซึ่งกำลังง่วนอยู่กับพิธีขึ้นบ้านใหม่และเตรียมอาหารเลี้ยงญาติมิตรที่มาร่วมงาน

พวกชาวบ้านดูไม่แปลกใจกับการมาเยือนของคนแปลกหน้า บางคนคงเดาออกแล้วด้วยซ้ำว่าเราดั้นด้นมาถึงตำบลทมอของพวกเขาเพื่อตามหา ‘ข้าวอินทรีย์’ ที่ขายดีหนักหนา และเป็นสินค้าส่งออกไปถึงทวีปยุโรป

“ยุโรป” อยู่ห่างจากตำบลทมอกี่หมื่นไมล์ชาวนาอย่างรุ่งโรจน์และพรรคพวกกลุ่มปลูกข้าวอินทรีย์ไม่รู้ พวกเขารู้แต่เพียงว่า ข้าวหอมมะลิจากนาของตนนั้นจะถูกส่งไปขายชาวยุโรป ซึ่งส่งใบสั่งซื้อมาไม่ขาดสาย ทั้งยังให้ราคาดีกว่าข้าวที่ปลูกแบบใช้สารเคมีอีกด้วย- -คุ้มค่าเหนื่อยที่เฝ้าลงแรงปรับปรุงดิน ใส่ปุ๋ยคอก ปลูกถั่ว ปลูกต้นโสนหลังเกี่ยวข้าวเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน ทั้งยังต้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าว ปลูกต้นไม้ใหญ่เป็นแนวกันชนเพื่อป้องการสารเคมีจากแปลงนาของเพื่อนบ้าน และปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่นๆ ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย (มกท.) มาตลอดหลายปี

ตำนานเกษตรอินทรีย์ของ “กลุ่มเกษตรกรรมธรรมชาติตำบลทมอ” ที่หมู่บ้านโดนเลงใต้ ตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ อาจไม่เข้มข้นเร้าใจเหมือนเรื่องราวของเกษตรกรที่อื่นๆ ซึ่งผ่านฝันร้ายจากการทำเกษตรแบบใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้ามาอย่างโชกโชน เพราะเริ่มต้นขึ้นง่ายๆ จากการที่มีคนมาขอซื้อข้าวพันธุ์เหลืองอ่อน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ปลูกกันมากในตำบลทมอ โดยผู้ซื้อระบุไว้ด้วยว่าต้องการซื้อข้าวเหลืองอ่อนปลอดสารเคมี คือใส่ปุ๋ยเคมีได้ไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อไร่ และห้ามใช้ยาปราบศัตรูพืชและวัชพืช

อาจเป็นเพราะเกษตรกรของที่นี่บางส่วนไม่นิยมใช้ยาฆ่าหญ้า-ฆ่าแมลงมาแต่เดิม การปลูกข้าวปลอดสารเคมีจึงไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องฝืนความรู้สึกและความเคยชินอยู่บ้างเมื่อต้องลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง และหันมาบำรุงดินด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักและปุ๋ยพืชสดแทน

จากการปลูกข้าวแบบปลอดสารเคมี พวกเขาก็เริ่มพัฒนามาปลูกข้าวอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ คือเลิกใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาดด้วยการสนับสนุนจากโครงการเสริมประสิทธิภาพเกษตรกรสุรินทร์ (คปส.) ซึ่งทั้งแนะนำเทคนิคขั้นตอนการปลูกข้าวแบบอินทรีย์และจัดการหาตลาดให้

การเพาะปลูกระบบอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มกท. นั้นสอดคล้องกับหลักการที่สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) ให้ความหมายไว้ว่า เป็น “ระบบเกษตรที่ผลิตอาหารและเส้นใยด้วยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นหลักการปรับปรุงบำรุงดิน การเคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และระบบนิเวศเกษตร” นอกเหนือจากการหลีกเลี่ยงปุ๋ยเคมี สารเคมีสังเคราะห์กำจัดศัตรูพืช รวมไปถึงเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ วิถีเกษตรอินทรีย์จะลดการพึ่งพาปัจจัยผลิตจากภายนอก ขณะเดียวกันก็พยายามประยุกต์ใช้ธรรมชาติเพื่อเพิ่มผลผลิต และพัฒนาความต้านทานต่อโรคของพืชและสัตว์เลี้ยง ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการสากลที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมของท้องถิ่นด้วย

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ในตำบลทมอเพิ่มจำนวนจาก 7 รายในปี พ.ศ. 2539 เป็น 170 รายในปัจจุบัน แต่เหตุที่เราต้องเจาะจงมาพบรุ่งโรจน์ ชาวนาวัย 30 ปีที่หมู่บ้านโดนเลงใต้แห่งนี้ก็เพราะเขาเป็นเกษตรกร 1 ใน 3 รายในจังหวัดสุรินทร์ และเป็นรายแรกๆ ของประเทศที่ทดลองปลูกข้าวอินทรีย์ด้วย “วิธีใหม่” ซึ่งถูกถ่ายทอดต่อๆ กันมาจากชาวนาในมาดากัสการ์สู่ชาวนาใน 20 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งจีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา กัมพูชา และไทย





“พวกชาวบ้านหาว่าผมบ้า เดินผ่านที่นาก็พากันล้อว่าปลูกแบบนี้จะได้กินหรือ?”
รุ่งโรจน์ เล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่เขาลงมือปลูก “ข้าวต้นเดียว” ท่ามกลางแวดล้อมของเพื่อนบ้านที่มาร่วมยินดี และมีข้าวเปลือกในกระบุงเป็นส่วนหนึ่งของพิธี

ข้าวต้นเดียว มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “ระบบการปลูกข้าวแบบเข้มข้น” หรือ System of Rice Intensification - SRI

รุ่งโรจน์ ได้ยินเรื่องราวของการทำนาแบบ SRI จากการไปอบรมเรื่องเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเกษตรเมื่อปีปลายปี 2544 เขากลับมาที่หมู่บ้านพร้อมกับตำราหนึ่งเล่มที่บรรยายหลักการของ SRI ไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่อายุของต้นกล้าที่ใช้ การเคลื่อนย้ายต้นกล้ามาปลูก ระยะห่างระหว่างกล้าแต่ละต้น การจัดเรียงรากของต้นข้าวให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไปจนกระทั่งถึงการปล่อยน้ำเข้านา และการจัดการกับวัชพืช
เดือนมิถุนายนปี 2546 หลังจากอ่านตำราอย่างละเอียด ปรึกษากับพ่อและเพื่อนจนเริ่มมั่นใจ รุ่งโรจน์ กับพ่อก็ตัดสินใจลงมือปลูกข้าวแบบ SRI ในที่นาประมาณ 2 ไร่

“ผมลองทำเพราะอยากได้ผลผลิตเยอะๆ เหมือนกับชาวนาจากกัมพูชาที่เล่าให้ฟังว่าการปลูกข้าวต้นเดียวทำให้เขาได้ผลผลิตตั้ง 900-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ขนาดเราใส่ทั้งปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักแล้วยังได้แค่ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่” ชายหนุ่มพูดด้วยสำเนียงควบกล้ำชัดตามธรรมชาติของคนใช้ภาษาเขมรในชีวิตประจำวัน แล้วตบท้ายว่า “ผมอยากรู้จริงๆ ว่าไอ้ข้าวต้นเดียวนี่มันให้ผลผลิตเยอะจริงอย่างที่เขาพูดหรือไม่”

ปัจจุบันวิธีการของ SRI กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากนักวิทยาศาสตร์และเกษตรกรเอง แต่เหตุที่ยังมีชาวนาลงมือทำกันน้อยอยู่นั้น ผู้เชี่ยวชาญด้าน SRI วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะเทคนิคนี้ “ฟังดูดีเกินกว่าที่จะเป็นจริงได้”
คู่มือการปลูกข้าว SRI ฉบับภาษาไทย ซึ่งจัดทำขึ้นโดยทีมงานส่งเสริมเกษตรสถาบันแมคเคน (เชียงใหม่) เมื่อเดือนตุลาคม 2544 แนะนำการปลูกข้าวแบบนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“SRI เริ่มจากหลักปรัชญาที่ว่า ต้นข้าวต้องได้รับความเคารพและจุนเจือประหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่มีศักยภาพ ซึ่งศักยภาพนี้จะเปล่งออกมาก็ต่อเมื่อเราอำนวยสภาวะที่ดีที่สุดที่เอื้อต่อการเติบโตของพืช หากเราช่วยให้พืชเจริญเติบโตด้วยหนทางใหม่ที่ดีกว่า พืชก็จะตอบแทนความพยายามนั้นกลับคืนเป็นหลายเท่า เราจะไม่ปฏิบัติต่อพืชเยี่ยงเครื่องจักรน้อยๆ ที่ถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ฝืนธรรมชาติของตนเอง วิธีการทำนาที่เกษตรกรทั่วโลกปฏิบัติกันมานับร้อยๆ ปีได้ทำให้ศักยภาพตามธรรมชาติของต้นข้าวลดลง วิธี SRI นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติเดิมๆ เพื่อนำศักยภาพสำคัญในต้นข้าวออกมาใช้เพิ่มผล"





เพื่อให้ต้นข้าวแสดงศักยภาพในการออกรวงได้เต็มที่ รุ่งโรจน์เริ่มต้นด้วยการเตรียมดินด้วยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักเช่นเดียวกับการปลูกข้าวอินทรีย์ จากนั้นสูบน้ำเข้านาพอให้ดินเป็นโคลน จากนั้นก็ไถแปรแล้วคราดให้เรียบเสมอกันทั้งแปลง เช้าวันรุ่งขึ้นจึงนำต้นกล้าอายุ 8 วันที่เตรียมเอาไว้มาปักดำทีละต้น โดยปลูกห่างกันที่ระยะ 40X40 เซ็นติเมตร

“ต้นกล้าอายุ 8 วัน เป็นช่วงที่มีพลังมากมายเหมือนกับวัยเด็ก ต้นกล้าที่อายุเยอะจะไม่ค่อยแตกกอ เวลาย้ายต้นกล้ามาลงแปลงต้องแซะอย่างประณีต และต้องให้มีดินติดรากมาด้วย เมื่อแซะมาแล้วต้องปลูกให้หมดภายใน 20 นาที เพราะว่าถ้าทิ้งไว้นานกว่านี้กล้าจะเหี่ยวเฉาและอารมณ์ไม่ดี ปักดำทีละต้น โดยรากต้องอยู่ลึกไม่เกิน 1 เซ็นติเมตร และจัดเรียงรากให้แผ่ไปตามแนวนอนในทิศทางเดียวกัน” รุ่งโรจน์อธิบายพร้อมสาธิตการจัดเรียงรากของต้นกล้าด้วยมือเปล่าให้ดู “พอปักดำเสร็จมองไม่เห็นต้นข้าวในนาเลย ใครเดินผ่านมาเห็นเขาก็หัวเราะเยาะว่าปลูกอย่างนี้สงสัยจะไม่ได้กิน…”

การปักต้นกล้าทีละต้นนี่เองที่เป็นหัวใจของ SRI แถมยังเป็นที่มาของชื่อ ข้าวต้นเดียว หรือ ‘ปักเดี่ยว’ ที่รุ่งโรจน์และชาวบ้านโดนเลงใต้ตั้งชื่อให้อีกด้วย

อองรี เดอ โลลานี ชาวฝรั่งเศสที่พัฒนาวิธีการ SRI ขึ้นระหว่างที่เขาทำงานร่วมกับชาวนาในมาดากัสการ ์ระหว่างปี 2504-2538 บอกว่า การปักต้นกล้าทีละหลายต้นอย่างที่ชาวนาทั่วโลก ปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้จะทำให้ต้นข้าวแย่งอาหาร และแสงแดดกัน ทำให้เติบโตได้ไม่เต็มที่และออกรวงน้อย ดังนั้นแม้ว่าวิธีการปลูกข้าวแบบเดิมนี้ จะช่วยเลี้ยงประชาชนนับพันล้านคนมานานนับศตวรรษ แต่เกษตรกรจำเป็นต้องไตร่ตรองถึงการปลูกข้าวด้วยวิธีใหม่ที่ต่างออกไป เพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มและไม่ทำลายดิน น้ำ อากาศเหมือนกับการใช้สารเคมีเร่งผลผลิต





รุ่งโรจน์ เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการปลูกข้าว SRI กับการปลูกข้าวทั่วไปว่า “ปกติเราใช้ต้นกล้าอายุ 30-40 วัน พอถอนกล้ามาแล้วก็ไม่ต้องรีบปลูกให้เสร็จภายในครึ่งชั่วโมง บางทีแช่น้ำไว้จนเกือบเน่าแล้วค่อยปักดำ เวลาย้ายกล้าไม่ต้องระมัดระวังขนาดนี้ ถ้ามีดินติดรากมา เราก็เอาต้นกล้าฟาดกับหน้าแข้งเพื่อให้ดินหลุด ซึ่งการปลูกแบบ SRI ห้ามเด็ดขาด เวลาปลูกก็ปักกล้าลงไปตรงๆ ทีละหลายๆ ต้น ไม่ต้องวัดระยะห่าง ไม่ต้องจัดเรียงรากให้เป็นแนว”

ตามคู่มือการปลูกแบบ SRI คำอธิบายสำหรับขั้นตอนอันละเอียดอ่อนเหล่านี้มีว่า ต้นกล้าอ่อนๆ เป็นสิ่งมีชีวิตที่บอบบางมาก หากได้รับการสัมผัสเบาๆ การเติบโตจะไม่ชะงักและใบไม่เหลือง การฟาดต้นกล้าเพื่อให้ดินหลุดก็เหมือนกับการฟาดหัวเด็กนั่นเอง การจัดตำแหน่งรากให้อยู่ในแนวนอนจะทำให้ปลายรากชอนไชลงดินได้ง่ายและเป็นการประหยัดพลังงานของข้าวทำให้ข้าวตั้งตัวได้เร็ว, การปลูกกล้าให้เสร็จภายใน 15-30 นาทีหลังจากถอนต้นกล้ามาก็เพื่อช่วยลดความเครียดให้กับต้นข้าว, ส่วนการปักต้นกล้าให้ห่างกัน 40x40 เซ็นติเมตร จะทำให้ง่ายต่อการกำจัดวัชพืชและทำให้ข้าวแตกกอได้ใหญ่กว่า

ความยากของ SRI ไม่ได้อยู่ที่ขั้นตอนการเตรียมกล้าและปักดำเท่านั้น พ่อศิริชัย ชุ่มมีชัย หนุ่มใหญ่อีกรายหนึ่งในตำบลทมอ ที่สมัครใจทดลองการปลูกข้าวต้นเดียวพร้อมกับรุ่งโรจน์เมื่อปีก่อนบอกว่า การจัดการน้ำและ วัชพืชเป็นเรื่องใหญ่ที่ชาวนาต้องเตรียมรับมือให้ดี

แทนที่จะปล่อยน้ำให้ขังในนาช่วงที่ข้าวกำลังเจริญเติบโตเพื่อป้องกันวัชพืชอย่างที่ชาวนาทำกันอยู่ทุกวันนี้ ระบบการปลูกข้าวต้นเดียวแนะนำให้เกษตรกรปล่อยให้นาแห้งเป็นช่วงๆ เพื่อให้ต้นข้าวได้รับออกซิเจนมากขึ้นและได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเพิ่มผลผลิต แต่การปล่อยให้นาแห้งนั้นจะทำให้มีวัชพืชมาก ดังนั้นเกษตรกรจะต้องขยันถอนวัชพืช ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะต้องพร้อมที่จะเสียแรงงานมากขึ้นและใช้เวลาอยู่ในนาข้าวมากขึ้นกว่าเดิม




“การปลูกแบบปักเดี่ยวนี่ ถ้าใส่น้ำเยอะข้าวก็ไม่แตกกอ แต่ถ้าปล่อยให้ดินแห้งหญ้ามันก็ขึ้นรกอีก” พ่อศิริชัย เล่าประสบการณ์ “แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าก็คือ ที่นาเราอยู่นอกเขตชลประทาน อาศัยแต่ฝนฟ้า มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะควบคุมน้ำเข้า-ออกที่นาได้ตามสูตรที่เขากำหนด”
ลำพังการปลูกข้าวแบบอินทรีย์ก็นับว่าเป็นเรื่องแปลกเอาการอยู่แล้วสำหรับเกษตรกรส่วนใหญ่ที่เคยชินกับการหว่านปุ๋ย-พ่นยาในนาข้าว แต่ SRI หรือที่บางคนเรียกว่า “การปลูกข้าวแบบมาลากาซี” ดูเหมือนจะแปลกยิ่งกว่า เพราะการปักดำต้นกล้าทีละต้นและการปล่อยที่นาให้แห้งตามกระบวนการของ SRI นั้นเป็นเรื่องที่ขัดความรู้สึก-ฝืนความเคยชินของชาวนาอย่างรุนแรง

แต่ชาวนานักทดลองอย่าง พ่อศิริชัย และ รุ่งโรจน์ ก็ยินดีจะฝืนและเสียแรงเสียเวลาไปกับการดูแลแปลงนา SRI

“เราจะปักใจเชื่อตามหนังสือหรือที่คนอื่นเล่าไม่ได้ ถ้าไม่ลองทำดูก็ไม่รู้ว่าการปลูกข้าวแบบนี้จะให้ผลผลิตเป็นพันกิโลต่อไร่จริงหรือเปล่า เราอยากรู้ว่าที่ดินตรงนี้จะปลูกข้าวต้นเดียวได้หรือไม่” พ่อศิริชัยบอกเหตุผลที่แกยอมถูกเพื่อนบ้านหัวเราะเยาะ และทะเลาะกับภรรยาซึ่งไม่เห็นด้วยกับการทดลอง

เราไปถึงหมู่บ้านโดนเลงใต้เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2547 ที่นาของ พ่อศิริชัย และ รุ่งโรจน์ ไม่มี “ข้าวต้นเดียว” ให้เห็น เพราะถูกเก็บเกี่ยวไปหมดตั้งแต่เดือนธันวาคม และที่นาก็ถูกแทนที่ด้วยพืชหลังนา เช่น ถั่ว งา ตามวิถีการทำเกษตรอินทรีย์ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็นับว่าเป็นจังหวะดี เพราะตลอด 6 เดือนที่ผ่านมานั้น พวกเขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์การปลูกวิธี SRI มาได้ชุดใหญ่ และพร้อมจะบอกเล่าให้คนอื่นๆ ฟัง ถึงความยากง่ายและปัญหาที่พบเจอระหว่างการทดลองครั้งสำคัญ

และต่อไปนี้คือผลการทดลองของชาวนาทั้งสอง





รุ่งโรจน์ : ปลูกข้าวแบบ SRI ในพื้นที่ 2 ไร่ ปักต้นกล้าประมาณ 500 ต้น ได้ผลผลิตเฉลี่ย 720 กิโลกรัมต่อไร่ โดยต้นกล้า 1 ต้นแตกกอได้ถึง 40 ต้น ข้าวหนึ่งรวงมีเมล็ดข้าวประมาณ 230 เมล็ด (ข้าวที่ใช้ปุ๋ยเคมีจะมี 170-180 เมล็ดต่อหนึ่งรวง)

พ่อศิริชัย : ปลูกข้าวแบบ SRI ในพื้นที่ 1 งาน ปักต้นกล้าไปประมาณ 100 กว่าต้น ได้ผลผลิต 160 กิโลกรัม (4 กระสอบ) ต้นกล้า 1 ต้น แตกกอได้มากที่สุดถึง 44 ต้น (ข้าวอินทรีย์ทั่วไปจะแตกกอได้ 5-10 ต้นเท่านั้น)

ต้นข้าวที่ปลูกแบบ SRI ของทั้งสองคนเจริญเติบโตเร็วกว่าข้าวทั่วไป คือ ตั้งต้นได้ภายใน 3 วันหลังจากปักดำ นอกจากนี้ยังแตกเป็นกอใหญ่ ออกรวงเยอะ ลำต้นใหญ่ แข็งแรง บางต้นสูงกว่า 2 เมตร รากแผ่ขยายเป็นวงกว้างทำให้สามารถหาอาหารมาเลี้ยงลำต้นได้มากกว่า

ถึงตอนนี้พวกชาวบ้านเริ่มตื่นเต้นสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในที่นาของรุ่งโรจน์และพ่อศิริชัย หลายคนบอกกับพวกเขาว่า “ไม่น่าเชื่อ“

ชาวนาทั้งสองสรุปว่า วิธี SRI ให้ผลผลิตสูงอย่างเห็นได้ชัดจริง แม้ยังไม่มากถึง 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ อย่างที่บันทึกเอาไว้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะดินในตำบลทมอไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์และไม่เรียบสม่ำเสมอ การทำนายังต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถจัดการน้ำในนาได้ นอกจากนั้นเกษตรกรไม่มีเวลาดูแลนา-กำจัดวัชพืชได้เต็มที่ เพราะต้องทำนาอินทรีย์ควบคู่กันไปด้วย แต่ผลผลิตระดับ 700 กว่ากิโลกรัมถือว่าน่าจะพอให้ชาวนายิ้มออก และน่าจะถือเป็นความสำเร็จขั้นต้นสำหรับความพยายามที่จะต่อยอดการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ในแง่ของการเพิ่มผลผลิตโดยไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย หรือใช้สารเคมีที่เป็นภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม

“ถึงอย่างไรผมก็จะลองปลูกอีกรอบ” พ่อศิริชัยประกาศ “ทดลองดูว่าปลูกช่วงเวลาไหน ระยะห่างแค่ไหนถึงจะดีที่สุด เพราะมันไม่มีอะไรเสียหาย อย่างน้อยก็เป็นการคัดพันธุ์ข้าวไปในตัว” นอกเหนือจากชาวบ้านโดนเลงใต้ ขณะนี้ในประเทศไทยมีการทดลองปลูกข้าวแบบ SRI อย่างน้อยอีก 3 แห่ง คือที่ตำบลสำโรง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร และที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำหรับ อนุวัฒน์ จันทร์เขต หรือ “หนุ่ม” เจ้าหน้าที่ คปส. ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยรุ่งโรจน์และพ่อศิริชัยเก็บข้อมูลการทำนา SRI ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า การปลูกข้าวต้นเดียวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่นี่ เพราะที่นามีความสูงต่ำไม่สม่ำเสมอ มีปัญหาเรื่องน้ำ และเกษตรกรมีที่นามากทำให้ดูแลกำจัดวัชพืชได้ไม่ทั่วถึง เขาคิดว่าวิธีนี้น่าจะเหมาะกับคนที่มีที่นาเล็กๆ ขนาด 3-5 ไร่เท่านั้น

ถึงกระนั้นหนุ่มก็ยืนยันว่า คปส. จะเดินหน้าส่งเสริมการปลูกข้าวแบบ SRI ต่อไป เพราะการปลูกข้าวต้นเดียวนี้มีประโยชน์มหาศาลต่อการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวของชาวนา

“การปลูกข้าวทีละต้นทำให้เราเห็นได้ชัดว่าต้นไหนไม่ใช่ข้าวมะลิ 105 หรือเป็นข้าวเมล็ดลีบที่ปะปนมา เพราะดูจากเมล็ดข้าวเราไม่มีทางรู้ ต่อเมื่อข้าวแตกกอขึ้นมาเราถึงจะรู้ว่าเมล็ดข้าวนั้นเป็นพันธุ์อะไร ถ้าเป็นพันธุ์อื่นเราก็ถอนทิ้งไป เก็บแต่ต้นที่เป็นพันธุ์แท้เอาไว้ วิธีนี้จะช่วยลดปัญหาการปนเปื้อนของเมล็ดพันธุ์ข้าวลงได้มาก” หนุ่มอธิบาย

เขาบอกว่าในอนาคต คปส. จะตั้งธนาคารพันธุ์ข้าวเพื่อเก็บข้าวหอมมะลิพันธุ์แท้ที่มีคุณภาพดีไว้ให้สมาชิก โดยยินดีจะรับซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวที่คัดมาจากแปลง SRI ของเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าตลาดเล็กน้อย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรทดลองทำนาแนวใหม่นี้กันมากขึ้น

หน้านาปีนี้ นอกจากรุ่งโรจน์กับพ่อศิริชัยแล้ว สมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์อีกอย่างน้อยสองราย คือ มิตร บุญทวี และภาคภูมิ อินทร์แป้น ประกาศว่าจะหาแปลงนาที่เหมาะๆ เพื่อทดลองปลูกข้าวต้นเดียวดูบ้าง

เรื่องที่ต้องทำงานหนักขึ้น ปรับเปลี่ยนความเชื่อความเคยชินในการทำนา หรือการถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ จากเพื่อนบ้านนั้น พวกเขารับมือได้สบายๆ เพราะเคยผ่านมันมาหมดแล้ว เมื่อครั้งที่ตัดสินใจเปลี่ยนจากการทำนา “เคมี” มาเป็น “อินทรีย์”

บางทีชาวนากลุ่มนี้อาจเป็นผู้ค้นพบวิธีการปลูกข้าว SRI แบบไทยๆ ที่เหมาะสมกับเกษตรกรและนาข้าวในประเทศไทย--ทำให้วิธีการทำนาที่ “ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นจริง” นี้ได้รับการยอมรับแพร่หลายเหมือนอย่างที่ “เกษตรอินทรีย์” เคยทำสำเร็จมาแล้วก็เป็นได้

ที่สำคัญ SRI อาจเป็นหนทางในการเพิ่มผลผลิตข้าวที่ชาวนามีโอกาสเป็นผู้ทดลอง และเลือกใช้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีราคาแพงของบริษัทข้ามชาติ อย่างการดัดแปรพันธุกรรมที่กำลังจู่โจมประเทศเกษตรกรรมอย่างหนักอยู่ในวันนี้



http://www.rakbankerd.com/agriculture/open.php?id=243&s=tblrice
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 05/12/2011 7:34 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1.368. วิจัยมะพร้าวให้เป็นกะทิ

เพิ่มมูลค่าผลผลิต งานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นกะทิแท้ 100 เปอร์เซ็นต์


เมื่อมาอยู่ในร่มเงาของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน และได้ออกไปทำข่าวตามต่างจังหวัด ได้พบเห็นสิ่งแปลกใหม่ ที่ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ โดยสิ่งเหล่านั้น เป็นผลงานการคิดสร้างสรรค์ และวิจัยของนักวิชาการเกษตร โดยเฉพาะสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร

ปี 2532 มีโอกาสไปอีสาน เนื่องจากรถวิ่งเร็ว เห็นคล้ายๆ ชาวบ้านตากผ้าเช็ดตัวหรือผ้าอ้อม แต่ที่ไหนได้ เข้าไปใกล้ๆ กลายเป็นแผ่นยางพารา ที่เกษตรกรปลูกไว้ขาย คิดดูชาวบ้านเขาปลูกยางพาราขายเป็นการค้าแถบริมโขงกว่า 20 ปีมาแล้ว พอไปถึงสถานีวิจัยพืชสวนนครพนม ได้ลิ้มรสทุเรียนชะนี เขาไม่ได้ปลูกเพียงต้นสองต้น แต่ปลูกเป็นแปลงใหญ่ งานนั้น ผอ.ปรีชา เชยชุ่ม เป็นผู้นำเสนอ ทราบว่า ท่านย้ายไปหลายที่หลายแห่งในอีสาน คาดว่า ท่านน่าจะเกษียณแล้ว

เพราะตื่นเต้นกับงานวิจัย หลังๆ จึงแวะเวียนไปตามศูนย์วิจัยและสถานีวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ นอกจากงานวิจัยเด่นๆ แล้ว ตามศูนย์และสถานีวิจัยเขายังมีบ้านพักที่เงียบสงบ ภูมิทัศน์สวยงาม สนนราคาที่พักนั้นก็ถูกมาก คืนหนึ่งตกหัวละ 30 บาท ระยะหลังๆ ขึ้นมาเป็น 50 บาท ทุกวันนี้ บางแห่งเขาปรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แต่คนยังรู้จักกันน้อย

ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร เป็นหน่วยงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ที่สมบูรณ์แบบมาก ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านแวะเวียนไปอยู่เป็นประจำ นอกจากไปทำข่าวแล้ว ยังพาสมาชิกไปเสวนาเกษตรสัญจร ดูงานสมุนไพร งานมะพร้าว ถึงคราวนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านจัดงาน "เกษตรมหัศจรรย์ฯ" ทีมงานยังขอความอนุเคราะห์ นำพันธุ์มะพร้าวมาโชว์ รวมทั้งพนักงานของศูนย์วิจัยฯ ก็มาสาธิตการสกัดน้ำมันมะพร้าว

ผู้อำนวยการศูนย์คนปัจจุบัน คือ คุณดำรงค์ พงศ์มานะวุฒิ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ตั้งอยู่อำเภอสวี งานวิจัยเด่นๆ ที่ทำมานานคือ เรื่องมะพร้าว นอกจากที่สวีแล้ว งานวิจัยมะพร้าว ยังมีอยู่ที่คันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่คันธุลี มีงานวิจัยมะพร้าวกะทิ หัวหน้าโครงการ คือ คุณสมชาย วัฒนโยธิน จากสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ผู้วิจัยภาคสนามที่ผ่านมา คือ คุณสมเดช วรลักษณ์ภักดี ปัจจุบันมี คุณปริญดา หรูนหีม รับผิดชอบโดยตรง



ผลงานวิจัยเด่น
นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ปักษ์ที่ 483 วันที่ 15 กรกฎาคม 2553 เคยตีพิมพ์งานวิจัยมะพร้าวกะทิลูกผสมไปแล้วค่อนข้างละเอียด แต่ขอนำเรื่องมาเล่าย้อนหลังอีกสักนิด แต่เดิม นักวิชาการเกษตร มีงานวิจัยให้ได้มะพร้าวพันธุ์ดี ซึ่งก็ได้มาหลายสายพันธุ์ อาทิ ชุมพรลูกผสม 60, สวี 1, สวี 2 เป็นต้น ต่อมาจึงมีงานวิจัยมะพร้าวให้ได้มะพร้าวกะทิ ซึ่งใช้เวลากว่า 10 ปี จึงประสบผลสำเร็จ ถือว่าเป็นงานวิจัยมะพร้าวกะทิชิ้นแรกของโลก เมื่อปี 2551 จึงได้รับรางวัลยอดเยี่ยมของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งงานวิจัยยอดเยี่ยมในวาระที่กรมวิชาการเกษตร ก่อตั้งครบ 36 ปี

แนวทางการวิจัย เขาได้นำเกสรมะพร้าวกะทิมาผสมกับมะพร้าวหลายๆ สายพันธุ์ แต่ที่พบว่ามีลักษณะดีเด่น คือคู่ผสมระหว่างมะพร้าวมลายูสีเหลืองต้นเตี้ยxกะทิ และมะพร้าวน้ำหอมxกะทิ


เป็นลูกผสม 2 สายพันธุ์แต่ละสายพันธุ์มีลักษณะดังนี้
1. มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิ ระหว่างมลายูสีเหลืองต้นเตี้ยxกะทิ (YDK) เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุด จำนวน 3,378 ผล/ไร่/3 ปีแรก คิดเป็นรายได้ 28,008 บาท/ไร่/3 ปีแรก มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต/ไร่ ให้สูงขึ้นเป็น 34,002 บาท/ไร่/3 ปีแรก โดยเลือกแหล่งที่ปลูกให้ปลอดจากมะพร้าวธรรมดา และให้มีรายได้สูงขึ้นเป็น 55,737 บาท/ไร่/3 ปีแรก โดยใช้เทคโนโลยีในการทำหมันและช่วยผสมพันธุ์มะพร้าวด้วยละอองเกสรมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ พันธุ์มะพร้าวดังกล่าวจึงสามารถเสนอเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร ในปี 2550

2. มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิ ระหว่างพันธุ์น้ำหอมxกะทิ (NHK) ให้มะพร้าวลูกผสมกะทิที่ให้ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิที่มีกลิ่นหอมทั้งน้ำและเนื้อ จำนวน 55 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนต้นที่ปลูก ต้นมะพร้าวลูกผสมกะทิจำนวนดังกล่าวสามารถใช้พัฒนาพันธุ์มะพร้าวกะทิน้ำหอมต้นเตี้ย โดยใช้เทคนิคการผสมพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงคัพภะมะพร้าว ในเบื้องต้นพันธุ์คู่ผสมระหว่างน้ำหอมxกะทิ สามารถเสนอเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรได้อีก 1 พันธุ์

ลูกผสมทั้ง 2 สายพันธุ์ เมื่อนำไปปลูก จะให้ผลที่เป็นกะทิราว 25 เปอร์เซ็นต์ แต่หากมีการควบคุมเกสรจะได้มากกว่านี้

ตัวอย่าง...ในปีหนึ่งมะพร้าวติดผล จำนวน 100 ผล/ต้น/ปี ในจำนวนนี้ 25 ผล จะเป็นกะทิ ปกติมะพร้าวธรรมดา ขายกันเป็นมะพร้าวแกง ผลละ 8 บาท จะมีรายได้ 800 บาท/ต้น/ปี หากปลูกแล้วได้มะพร้าวกะทิ 25 ผล หากขายผลละ 50 บาท จะได้เงินจากการขายมะพร้าวกะทิ 1,250 บาท บวกกับที่ไม่เป็นกะทิ 600 บาท เป็นเงิน 1,850 บาท ดังนั้น ผู้ปลูกมะพร้าวจะมีรายได้ต่อต้นเพิ่มขึ้น



http://www.moac-info.net/Krabi/index.php?option=com_wrapper&view=wrapper&Itemid=140
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 05/12/2011 7:41 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,369. เลี้ยงปลาสลิดระบบใหม่ เป็นตัวอย่างให้ชุมชน





การพัฒนาอาชีพของคนในชุมชนให้เกิดความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เป็นเป้าหมายสำคัญของ คุณประสพชัย อารีวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองปลาไหล อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่มีความอดทนและพยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

คุณประสพชัย นายก อบต. ผู้มีความุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชน เล่าว่า ตำบลหนองปลาไหล เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับทำการเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คนในตำบลส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำการเกษตร (ทำนา ทำไร่ ทำสวน) เลี้ยงสัตว์และประมง ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า

"การประกอบอาชีพของคนในชุมชนส่วนใหญ่ที่มีอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไรก็ตาม ยังขาดขั้นตอนและกระบวนการผลิตที่ถูกต้อง หากยังไม่เริ่มที่จะแก้ไข้หรือพัฒนา คนในชุมชนก็จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ในฐานะที่ผมเป็น นายก อบต. ผู้ที่ต้องดูแลสารทุกข์สุกดิบและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนจึงมีแนวทางในการพัฒนาอาชีพให้มีความยั่งยืน"

เปลี่ยนแปลงระบบ.......สร้างต้นแบบสู่ชุมชน
การพัฒนาอาชีพตามแนวคิดของคุณประสพชัย จะคำนึงถึงอาชีพที่มีอยู่ในชุมชน ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอาชีพนั้นๆ

"ผมสร้างต้นแบบอาชีพให้กับชุมชน โดยมองถึงสิ่งที่จะสามารถเกิดขึ้นได้ อย่างอาชีพประมงถือเป็นอาชีพหนึ่งในชุมชนที่ยังไม่มีการพัฒนาในเรื่องของการเลี้ยงให้ได้ผลผลิตตามที่ควรจะเป็น ผมจึงตัดสินใจและเริ่มพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงปลาสลิดเพื่อสร้างแนวทางให้กับคนในชุมชนได้นำไปปฏิบัติ"

บนพื้นที่ 40 ไร่ ที่มีอยู่ถูกจัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้ การเพาะเลี้ยงปลาสลิดระบบใหม่ ซึ่งคุณประสพชัยได้ไปศึกษาวิธีการผลิตมาจากจังหวัดราชบุรี

"ใช้เวลา 1 ปีเต็ม ในการศึกษาวิธีการเพาะเลี้ยงปลาสลิด ตั้งแต่การเตรียมบ่อจนถึงวิธีการจับออกจำหน่าย ทำให้ผมมีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงและวิธีการขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น สามารถนำมาถ่ายทอดให้กับคนในชุมชน ตลอดจนให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลาสลิดระบบใหม่ได้"

"เดิมทีการเลี้ยงปลาสลิดของคนในชุมชนจะเป็นการเลี้ยงเลียนแบบธรรมชาติ หรือเลี้ยงแบบตามมีตามเกิด ซึ่งเป็นการเลี้ยงที่คนในชุมชนนิยม เพราะว่าใช้เวลาในการเลี้ยงน้อย ประมาณ 10 เดือน ก็ได้ผลผลิต ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สั้น ซึ่งปลาที่เลี้ยงจะเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ส่งผลทำให้ปลามีขนาดเล็กไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ขายไปก็ได้ราคาน้อย ทำให้มีรายได้จากการเลี้ยงน้อยตามไปด้วย" คุณประสพชัย กล่าว

สร้างต้นแบบการผลิต......เลี้ยงแบบผสมผสาน
คุณประสพชัย สร้างต้นแบบการเพาะเลี้ยงปลาสลิดให้กับชุมชนโดยการเลี้ยงแบบผสมผสานอาศัยธรรมชาติในการช่วยเลี้ยง

"ผมใช้แปลงนารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีชานบ่อกว้างอย่างน้อย 1 เมตร ในการเพาะเลี้ยง ภายในแปลงนาจะปลูกหญ้าเพื่อเตรียมไว้สำหรับให้ปลาวางไข่ หลังจากที่พ่อแม่พันธุ์ปลาพร้อมที่จะว่างไข่แล้ว ผมจะเริ่มทำการตัดหญ้าและปล่อยน้ำเข้ารอไว้ ตกเย็นผมจะปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาลงไปในบ่อทันที ซึ่งปลาจะใช้เวลาวางไข่เพียง 1 คืน หลังจากที่วางไข่และฟักออกมาเป็นตัวแล้ว ผมจะทำการถ่ายน้ำที่ปลายบ่อทิ้ง เพื่อป้องกันน้ำเน่า ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้ลูกปลาสามารถอยู่รอดได้"

"พอออกเป็นตัวได้ 10 วัน ผมจะเริ่มให้อาหารกุ้ง เบอร์ 0 ผสมกับน้ำมันพืช เป็นเวลา 2 เดือน โดยจะให้วันเว้นสาม พอครบกำหนด 2 เดือนแล้ว เราก็ต้องคอยมาสังเกตอีกว่า จำนวนลูกปลาในบ่อมีปริมาณมากไปหรือเปล่า หากมีปริมาณมากไป เราจะจัดการโดยการนำลูกปลาช่อนหรือปลากรายใส่ลงไป ในช่วงเดือนที่ 5 หรือ 6 ของการเพาะเลี้ยง เพื่อช่วยลดปริมาณลูกปลาลง แต่ก็ต้องดูด้วยว่าควรใส่ปริมาณเท่าไร" คุณประสพชัย กล่าว

ขุนด้วยอาหาร........ตัวโต เนื้อหนา
หลังจากเดือนที่ 5 หรือ 6 ของการเพาะเลี้ยง คุณประสพชัยจะเริ่มขุนโดยการให้อาหารหมู 12% และอาหารปลาสลิด 18% เป็นเวลา 9 เดือน วันละ 1 มื้อ โดยวิธีการให้อาหารนั้นจะใช้เรือนำอาหารไปเทไว้ตามหลักไม้ในจุดต่างๆ ภายในบ่อ ซึ่งการให้อาหารลักษณะนี้สามารถทำให้เราทราบว่าหลักไหนควรจะใส่อาหารเท่าไร ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้ปลามีขนาดใหญ่ได้ตามเกณฑ์ เป็นที่ต้องการของตลาด

ปลาสลิดที่ส่งออกไปจำหน่ายทุกตัวจะมีขนาดที่ใหญ่และได้มาตรฐาน หนักประมาณ 7-10 ตัว ต่อกิโลกรัม สามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการนำไปทอดรสชาติจะหวานมัน เนื้อแน่นมาก

สำหรับตลาดรับซื้อ ผมจะขายให้กับห้องเย็นจังหวัดสุพรรณบุรีที่เป็นลูกค้าประจำและเป็นลูกค้ารายใหญ่ เพราะในการจับแต่ละครั้งต้องใช้ทั้งเวลาและแรงงานจำนวนมาก หากต้องมาจับในปริมาณที่น้อย จะเป็นการเสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

รายละเอียดทั้งหมด อาจยังไม่สมบูรณ์พอ หากใครต้องการข้อมูลการเลี้ยงหรือต้องการขอคำแนะนำ ติดต่อไปได้ที่ คุณประสพชัย อารีวงศ์ นายก อบต. หนองปลาไหล โทรศัพท์ (032) 796-633, (081) 013-0330


http://www.moac-info.net/Krabi/index.php?option=com_wrapper&view=wrapper&Itemid=140
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 05/12/2011 7:57 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,370. ปัจจัยในการงอกของเมล็ดพืช


การเพาะเมล็ด หลายครั้งสร้างความสงสัยอย่างมากให้กับผู้ปลูก เนื่องจากการเพาะมีกระบวนการที่แตกต่างกันไปหลากวิธี บ้างเพาะง่าย บ้างเพาะยาก ลองไปดูส่วนประกอบของเมล็ด และปัจจัยที่มีผลต่อการงอกของเมล็ดกัน รวมถึงวิธีการทำลายการพักตัวของเมล็ด เพื่อให้เมล็ดงอกได้เร็วยิ่งขึ้น

ส่วนประกอบของเมล็ด ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่
1. เปลือกหุ้มเมล็ด
2. คัพภะ ประกอบด้วย ใบเลี้ยง ตายอด ต้นอ่อน และราก
3. อาหารสะสมในเมล็ด

การงอกของเมล็ด
เมล็ดพืช ประกอบด้วยส่วนซึ่งเป็นคัพภะ ส่วนที่เป็นอาหารสะสมภายในเมล็ด และเปลือกหุ้มเมล็ด หลังจากที่เมล็ดถูกแยกออกจากต้นแม่แล้ว เมล็ดจะอยู่ในสภาพหยุดการเจริญเติบโตช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเอาเมล็ดมาไว้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คัพภะที่อยู่ภายใน จะเจริญเป็นต้นพืชใหม่ กระบวนการที่คัพภะภายในเมล็ดเจริญเป็นต้นใหม่นี้ เรียกว่า “การงอก” ต้นพืชที่เจริญมาจากคัพภะในขณะที่เป็นต้นอ่อนอยู่ ยังต้องอาศัยอาหารที่เก็บไว้ภายในเมล็ด เรียกว่า “ต้นกล้า”


ปัจจัยในการงอกของเมล็ด
เมล็ดที่จะงอกได้ จะต้องมีปัจจัยที่เหมาะสม ทั้งเมล็ด และสภาพแวดล้อมภายนอก ดังนี้
1. การมีชีวิตของเมล็ด นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะเมล็ด การที่เมล็ดมีชีวิตอยู่ได้น้อย อาจเนื่องจากการเจริญเติบโตของเมล็ด ไม่เหมาะสมขณะที่ยังอยู่บนต้นแม่ หรือเนื่องจากได้รับอันตราย ขณะทำการเก็บเกี่ยว หรือขบวนการในการผลิตเมล็ดไม่ดีพอ

2. สภาพแวดล้อมในขณะเพาะ เมล็ดต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดังนี้

2.1 น้ำ เป็นตัวทำให้เปลือกเมล็ดอ่อนตัว และเป็นตัวทำละลายอาหารสะสมภายในเมล็ด ที่อยู่ในสภาวะที่เป็นของแข็ง ให้เปลี่ยนเป็นของเหลง และเคลื่อนที่ได้ ทำให้จุดเจริญของเมล็ดนำไปใช้ได้

2.2 แสง เมล็ดเมื่อเริ่มงอก จะมีทั้งชนิดที่ต้องการแสง ชอบแสง และไม่ต้องการแสง ส่วนใหญ่เมล็ดเมื่อเริ่มงอก จะไม่ต้องการแสง ดังนั้น การเพาะเมล็ดโดยทั่วไป จึงมักกลบดินปิดเมล็ดเสมอ แต่แสงจะมีความจำเป็น หลังจากที่เมล็ดงอกแล้ว ขณะที่เป็นต้นกล้า แสงที่พอเหมาะจะทำให้ต้นกล้าแข็งแรง และเจริญเติบโตได้ดี

2.3 อุณหภูมิ อุณหภูมิที่เหมาะสม ช่วยให้เมล็ดดูดน้ำได้เร็วขึ้น กระบวนการในการงอกของเมล็ดเกิดขึ้นเร็ว และช่วยให้เมล็ดงอกได้เร็วขึ้น อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับพืชแต่ละชนิด จะไม่เท่ากัน พืชเมืองร้อน ย่อมต้องการอุณหภูมิสูงกว่า พืชเมืองหนาวเสมอ

2.4 อ๊อกซิเจน เมื่อเมล็ดเริ่มงอก จะเริ่มหายใจมากขึ้น ซึ่งก็ต้องใช้อ๊อกซิเจน ไปเผาผลาญอาหารภายในเมล้ด ให้เป็นพลังงานใช้ในการงอก ยิ่งเมล็ดที่มีมันมาก ยิ่งต้องใช้อีอกซิเจนมากขึ้น ดังนั้น การกลบดินทับเมล็ดหนาเกินไป หรือใช้ดินเพาะเมล็ด ที่ถ่ายเทอากาศไม่ดี จะมีผลยับยั้งการงอก หรือทำให้เมล็ดงอกช้าลง หรือไม่งอกเลย



การพักตัวของเมล็ด
การพักตัวของเมล็ด หมายถึง ช่วงที่เมล็ดพืชยังไม่พร้อมที่จะงอกขึ้นเป็นต้นพืชใหม่ได้ ดังนั้นการเพาะเมล็ดบางชนิด อาจต้องทำลายการพักตัวของพืชก่อน เพื่อให้เมล็ดงอกได้เร็วยิ่งขึ้น

วิธีการทำลายการพักตัวของเมล็ด
1. ลอกเปลือกหุ้มเมล็ดออก วิธีการนี้ ทำให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น กว่าวิธีการเพาะเมล็ดทั้งเปลือกหุ้มเมล็ด ซึ่งวิธีการลอกเปลือกหุ้มเมล็ดออก ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้เป็นอันตรายต่อเมล็ดภายใน เพราะอาจทำให้การงอกของเมล็ดสูญเสียไปได้ พืชที่นิยมลอกเปลือกหุ้มเมล็ดออก ได้แก่ มะม่วง

2. ฝนเมล็ด เป็นการทำให้เปลือกแข็งหุ้มเมล็ด เกิดเป็นรอยด้าน โดยการฝนเมล็ดลงบนกระดาษทราย หรือหินฝน ไม่ควรฝนลึกเกินไป และอย่าฝนตรงจุดที่เป็นที่อยู่ของคัพภะ วิธีนี้จะช่วยให้เมล็ดงอกได้เร็วขึ้น

3. การกะเทาะเอาเมล็ดออก นิยมทำกับพืช ที่มีเมล็ดแข็ง เมื่อกะเทาะเปลือกหุ้มเมล็ดแตกออกแล้ว จึงค่อยนำเมล็ดอ่อนภายใน ไปทำการเพาะ วิธีนี้จะช่วยให้ เมล็ดพืชงอกได้เร็วกว่าวิธีการเพาะแบบไม่กะเทาะเปลือกหุ้ม เมล็ดพืชที่จะต้องทำการกะเทาะเมล็ดก่อนเพาะ ได้แก่ บ๊วย พุทรา สมอจีน

4. การตัดปลายเมล็ด เป็นวิธีการหนึ่ง ที่จะช่วยให้เมล็ดพืช งอกได้เร็วกว่าปกติ โดยตัดเปลือกหุ้มเมล็ดทางด้านตรงข้ามกับด้านหัวของคัพภะ และอย่าตัดให้เข้าเนื้อของเมล็ด นิยมใช้กับพืชที่มีเมล็ดแข็ง เช่น เหรียง หางนกยูงฝรั่ง

5. การแช่น้ำ การนำเมล็ดไปแช่น้ำ จะช่วยให้เมล็ดพืชงอกได้เร็วกว่าปกติ ทั้งนี้เพราะน้ำ จะทำให้เปลือกหุ้มเมล็ดอ่อนตัว จึงเป็นการช่วยให้เมล็ดงอกได้เร็วขึ้น น้ำที่ใช้แช่อาจจะเป็นน้ำอุ่น หรือน้ำเย็น และช่วงเวลาการแช่ จะช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับชนิดพืช พืชบางชนิดใช้เวลานานถึง 1 – 2 วัน บางชนิดใช้เวลาประมาณ 6 – 12 ชั่วโมง ทั้งนี้สังเกตจาก ขนาดของเมล็ดขยายใหญ่และเต่งขึ้น หรือเปลือกหุ้มเมล็ดนิ่ม ก็นำไปเพาะได้ พืชที่นิยมใช้วิธีนี้ ได้แก่ น้อยหน่า มะขาม มะละกอ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าว ผักชี





ที่มา: “ การขยายพันธุ์พืช “ กรมส่งเสริมการเกษตร

http://www.kasedtakon.com


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 08/01/2023 7:41 am, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 06/12/2011 8:44 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,371. ทุเรียน....การเพิ่มผลผลิตนอกฤดู


ทุเรียน เป็นผลไม้ที่มีราคาแพงมาก เมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น โดยเฉพาะถ้ามีการผลิตทุเรียนนอกฤดู อย่างเช่น ในเดือนพฤษภาคม หรือหลังมิถุนายนไปแล้ว ราคาจะยิ่งแพงยิ่งขึ้นไปอีก และยังหารับประทานได้ยาก

ด้วยเหตุนี้ชาวสวนทุเรียนจึงพยายามทำทุเรียนนอกฤดูกันขึ้น ซึ่งมีทั้งที่ประสบผลสำเร็จและไม่ประสบผลสำเร็จ ที่ประสบผลสำเร็จและมีชื่อเสียงในขณะนี้ได้แก่ คุณประภัทรพงษ์ เวชชาชีวะ คุณโกเตียงกวง โกศัลล์วัฒนา และคุณสรรเสริญ ศรีพระยา

สำหรับหลักการอย่างกว้างๆ ในการผลิตทุเรียนนอกฤดูเกษตรกรทั้ง 3 ท่านนี้ก็คือพยายามทำให้ปัจจัยภายในและภายนอกต้นทุเรียนพร้อมจะออกดอก โดยมีการดูแลรักษาต้นทุเรียน ทั้งในเรื่องของการตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ กำจัดวัชพืช และฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรคแมลง ทั้งนี้เพื่อให้ต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์ และมีความพร้อมที่จะออกดอกเมื่อถึงเวลาอันสมควร

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการผลิตทุเรียนนอกฤดูในขณะนี้ก็คือ การที่ไม่สามารถควบคุมปัจจัยบางอย่างในการออกดอกได้ โดยเฉพาะในเรื่องของสภาพฟ้าอากาศและความหนาวเย็น

ยกตัวอย่างเช่น ในบางครั้งที่มีการผลิตทุเรียนนอกฤดู เกษตรกรหรือชาวสวนสามารถควบคุมหรือกำหนดปัจจัยพื้นฐานในการออกดอกได้ อาทิเช่น มีการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ ตัดแต่งกิ่ง และกำจัดวัชพืช จนกระทั่งทุเรียนมีความสมบูรณ์ แต่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยให้ โอกาสที่ทุเรียนออกดอกออกผลมีน้อยมาก

ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ต้นทุเรียนพร้อมออกดอกแต่มีฝนตกลงมา แทนที่ทุเรียนจะแทงตาดอกออกมา ก็จะแตกตาใบขึ้นมาแทน หรือในกรณีที่มีปัจจัยต่างๆ อยู่พร้อม แต่ไม่มีสภาพความแห้งแล้งและอากาศหนาวเย็น โอกาสที่ทุเรียนออกดอกจะมีน้อยมากเช่นเดียวกัน


ต่อไปนี้จะเป็นแนวคิดและวิธีปรับปัจจัยเพื่อให้ทุเรียนออกดอกนอกฤดูและทะวาย ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ คือ

วิธีการที่ 1
เป็นแนวความคิดในเรื่องของการปรับปัจจัยต่างๆ เพื่อให้ต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์และพร้อมที่จะออกดอก โดยวิธีการดังนี้ คือ

1. การเร่งให้ต้นทุเรียนพร้อมที่จะออกผล
การบังคับให้ทุเรียนออกผลนอกฤดูกาลนั้น จำเป็นต้องเร่งให้ทุเรียนมีความพร้อมเสียก่อน ในทางปฏิบัติจะทำได้ โดยการใส่ปุ๋ยให้แก่ต้นทุเรียน ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุเรียนสมบูรณ์เร็วขึ้น และพร้อมที่จะออกดอกทันทีเมื่อกระทบอากาศเย็น การใส่ปุ๋ยให้กับต้นทุเรียนกระทำเป็นขั้นตอนต่างๆ ได้ดังนี้

ก. การใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตและบำรุงต้นทุเรียน โดยให้ใส่ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปุ๋ยที่ใส่ได้แก่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 3-4 กิโลกรัม/ต้น การใส่ปุ๋ยให้แบ่งใส่ 2 ครั้งห่างกัน 2-3 สัปดาห์ การใส่ปุ๋ยในระยะนี้จะทำให้ผลทุเรียนมีคุณภาพดี สำหรับการให้ปุ๋ยทุเรียนในสวนที่มีระบบการชลประทานดีและมีน้ำอย่างเพียงพอ ให้เริ่มใส่ปุ๋ยตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ซึ่งมีข้อดีคือ จะทำให้ขั้วทุเรียนเหนียวและไม่ร่วงง่าย แต่ถ้าทุเรียนแตกใบอ่อนแล้วให้ใส่ปุ๋ยเพิ่มเป็นสองเท่าและฉีดพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 20-20-20 จำนวน 3 ช้อนแกง/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน จะทำให้ต้นทุเรียนไม่สลัดผลทิ้ง เพราะมีอาหารเพียงพอที่จะบำรุงต้นและผล ผลทุเรียนที่ได้จะมีขนาดโต

ข. การใส่ปุ๋ยหลังการตกแต่ง ภายหลังจากที่ได้ตัดแต่งกิ่งเรียบร้อยแล้ว ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 2-3 กิโลกรัม/ต้น โดยใส่ในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก จะทำให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และจะมีความสมบูรณ์มากขึ้น

ค. การใส่ปุ๋ยเพื่อเร่งให้ทุเรียนเตรียมออกดอก ในช่วงปลายฤดูฝนประมาณเดือนกันยายน ให้ใส่ปุ๋ยเม็ดเพื่อกระตุ้นให้ทุเรียนออกดอกโดยใส่ปุ๋ยสูตร 6-24-24 อัตรา 2-3 กิโลกรัม/ต้น จะทำให้ต้นทุเรียนสมบูรณ์และพร้อมที่จะออกดอก

ง. การฉีดพ่นปุ๋ยและฮอร์โมนเร่งการออกดอกและผล ภายหลังจากที่ฝนหยุดตกและพื้นดินเริ่มแห้ง ให้ทำการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบแก่ทุเรียน ปุ๋ยที่นิยมฉีดให้ต้นทุเรียนได้แก่ปุ๋ยสูตร 10-52-17 จำนวน 2-3 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตร การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบนี้มีข้อดีคือ ทำให้ต้นทุเรียนได้รับน้ำไม่มากจนเกินไปพอที่จะทำให้ทุเรียนแตกใบอ่อนได้ นอกจากนี้ชาวสวนบางรายใช้ฮอร์โมน เอ็น.เอ.เอ. ที่มีชื่อการค้าว่า แพลนโนฟิกซ์ ฉีดพ่นในอัตรา 3-5 ซีซี. ผสมน้ำ 20 ลิตร ทุกๆ 10-15 วัน ซึ่งการฉีดพ่นฮอร์โมนดังกล่าว จะช่วยให้ทุเรียนมีการสะสมอาหารจำพวกแป้งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ทุเรียนมีความพร้อมในการออกดอกและผลได้เร็วขึ้น


2. การปรับสภาพพื้นที่ภายในสวนให้เหมาะสมต่อการออกดอกและผล
การปรับสภาพพื้นที่เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยเร่งให้ทุเรียนออกดอกได้เร็วขึ้น และควรทำพร้อมกับการใส่ปุ๋ยเพื่อสะดวกในการปฏิบัติงาน ในการปรับสภาพพื้นที่ภายในสวนนั้นควรปรับให้มีสภาพดังนี้

ก. ปรับพื้นที่ให้มีการระบายน้ำดี โดยธรรมชาติแล้วไม้ผลที่ขึ้นอยู่ในที่ดินดอนจะออกดอกได้ง่ายและเร็วกว่าต้นที่ขึ้นอยู่ในที่ลุ่ม และต้นที่ขึ้นอยู่ในที่ดินทรายจะออกดอกได้ง่ายกว่าต้นที่ขึ้นในที่ดินเหนียว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับสภาพพื้นดินเพื่อให้มีการระบายน้ำดี การปรับสภาพดังกล่าวจะทำให้ทุเรียนหยุดการเจริญทางกิ่งก้านและใบเพื่อเตรียมตัวสำหรับการออกดอกและออกผลต่อไป

ข. ทำความสะอาดโคนต้นทุเรียน การทำความสะอาดโคนต้นทุเรียนให้กระทำก่อนที่จะหมดช่วงฤดูฝน โดยเก็บเศษใบไม้ ใบหญ้าออกให้หมด ซึ่งจะทำให้ดินบริเวณโคนต้นทุเรียนแห้งเร็วและมีอากาศถ่ายเทได้ดีรวมทั้งไม่เป็นแหล่งสะสมของโรคแมลง


3. ตัดแต่งกิ่งที่งอกออกมาใหม่
ภายหลังจากที่ชาวสวนเก็บผลผลิตหมดแล้วช่วงนี้มักจะมีกิ่งใหม่แตกออกมาเสมอ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ชาวสวนจะต้องทำการตัดแต่งกิ่งเหล่านั้นทิ้งไปเสีย เพื่อช่วยรักษาทรงพุ่มให้โปร่งและไม่ต้องเปลืองธาตุอาหารโดยไม่จำเป็นสำหรับกิ่งที่ควรทำการตัดแต่งควรมีลักษณะดังนี้

1. กิ่งที่เจริญออกจากโคนต้นจนถึงความสูง 1 เมตร ให้ตัดแต่งออกให้หมด

2. กิ่งที่เจริญออกจากลำต้นตั้งแต่ระดับความสูง 1 เมตรขึ้นไป ควรปล่อยให้มีการแตกสลับกัน ทั้งนี้เพื่อช่วยให้กิ่งเหล่านี้ไม่บังแสงซึ่งกันและกัน และระยะห่างของกิ่งที่แตกก็ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะช่วยทำให้ทุเรียนมีการแตกใบนอกทรงพุ่มเหมือนกันหมด การตัดแต่งกิ่งแบบนี้จะช่วยให้แสงส่องเข้ามาในทรงพุ่มได้สะดวก ทั้งยังช่วยให้ต้นทุเรียนสมบูรณ์ ลดความรุนแรงของโรครากและโคนเน่าได้อันจะช่วยให้ทุเรียนออกดอกและติดผลได้เร็วกว่าฤดูปกติอีกด้วย


วิธีการที่ 2
เป็นแนวความคิดของคุณโกเตียงกวง โกศัลล์วัฒนา เกษตรกรชื่อดังแห่งจังหวัดจันทบุรี มีวิธีปฏิบัติดังนี้

1. การตัดแต่งกิ่ง การปลูกทุเรียนเพื่อให้มีผลดกมีคุณภาพดี จำเป็นจะต้องมีการตัดแต่งกิ่งทุกปี โดยทำในช่วงหลังจากเก็บเกี่ยวผลทุเรียนเสร็จแล้วประมาณ 15-20 วัน ซึ่งเป็นระยะที่ทุเรียนเข้าสู่ระยะพักตัว และจะทำการตัดแต่งเฉพาะกิ่งที่เห็นว่าไม่มีประโยชน์เท่านั้นเช่น กิ่งที่เป็นโรค กิ่งแขนงหรือกิ่งที่แสงแดดส่องไม่ถึง การตัดแต่งกิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์ในแง่ที่ทุเรียนได้รับธาตุอาหารอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกระจายอาหารไปยังกิ่งทุกกิ่งบนต้นรวมถึงกิ่งที่ไม่มีประโยชน์ด้วย

2. การใส่ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยทุเรียนสามารถกระทำได้ 2 วิธี คือ

ก. การใส่ปุ๋ยทางดิน เป็นการใส่เพื่อให้ทุเรียนได้ใช้ธาตุอาหารอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่พอเหมาะโดยใช้ปุ๋ยที่มีสูตรตัวหน้าต่ำเช่นสูตร 9-24-24 สำหรับเหตุผลที่ใช้ปุ๋ยสูตร 9-24-24 แทนการใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ก็เพราะถ้าใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ซึ่งเป็นสูตรที่มีปุ๋ยไนโตรเจนสูง อาจทำให้ไนโตรเจนตกค้างอยู่ในดินเป็นปริมาณที่มาก ซึ่งมีผลถึงช่วงที่ทุเรียนออกดอก จะทำให้มีการแตกใบอ่อนออกมาได้ ในทางปฏิบัติแล้วถ้าต้องการให้ทุเรียนแตกใบอ่อนเช่นในกรณีต้องการให้ทุเรียนแตกใบอ่อนเร็ว เพื่อให้ทุเรียนมีใบแก่และพักตัวเร็วขึ้น จะใช้วิธีฉีดพ่นปุ๋ยทางใบเลย เพราะให้ผลดีกว่าและมีธาตุไนโตรเจนตกค้างอยู่ในดินในจำนวนที่น้อยมาก

ข. การให้ปุ๋ยทางใบ การให้ปุ๋ยทางใบเป็นการให้ปุ๋ยเพื่อให้ต้นทุเรียนใช้ธาตุอาหารได้อย่างรวดเร็ว โดยปกติมักใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่นสูตร 18-18-18 หรือ 20-20-20 แล้วเพิ่มด้วยจิบเบอร์เรลลิน ในอัตราส่วน 100 มิลลิกรัม (2 หลอด) ต่อน้ำ 200 ลิตร เพื่อต้องการเร่งให้ใบชุดแรกออกมาเร็ว ส่วนในครั้งต่อไปให้ใช้ ซีปลาสเอฟ อัตรา 30 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้อีกสูตรหนึ่งแทนก็ได้คือ

ดีซ (อาหารเสริม) 400 ซี.ซี.
ปุ๋ยเกล็ด (10-52-17) 400 ซี.ซี.
โปแตสเซียมไนเตรท (13-0-46) 600 กรัม
น้ำสะอาด 200 ลิตร

การให้ปุ๋ยหรืออาหารเสริมทางใบนี้จะให้ 2 ครั้ง โดยฉีดพ่นดังนี้
ครั้งที่ 1
ฉีดพ่นในช่วงทุเรียนเข้าสู่ระยะพักตัวไปจนกระทั่งทุเรียนออกดอกและดอกทุเรียนอยู่ในระยะไข่ปลา แล้วจึงหยุดฉีด (ควรจะฉีดครบรอบวงจรประมาณ 4-5 ครั้ง)

ครั้งที่ 2
ฉีดเมื่อทุเรียนติดผลเท่ากับไข่ไก่และจะฉีดต่อไปทุกๆ 15-20 วัน ในแต่ละครั้งที่ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบอาจใส่ปุ๋ยทางใบเสริมด้วยก็ได้เพื่อให้ผลโตเร็วยิ่งขึ้น ปุ๋ยที่ใช้ได้แก่ปุ๋ยสูตร 12-12-17+2


การฉีดพ่นปุ๋ยหรืออาหารเสริมทางใบนี้ ควรจะปฏิบัติในช่วงที่ทุเรียนอยู่ในระยะใบเพสลาด ทั้งนี้เพราะทุเรียนจะปรับตัวได้ดี ทำให้มีการเก็บอาหารได้เพิ่มขึ้นและสามารถแทงตาดอกออกมาได้เร็วขึ้น ในกรณีที่ต้องการจะฉีดพ่นในช่วงใบอ่อนก็สามารถกระทำได้ แต่มีผลเสียกล่าวคือ ปุ๋ยที่ให้จะไปเลี้ยงใบให้เจริญมากเกินไปจนทำให้ตาดอกออกได้ช้า ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วไม่นิยมทำกัน


3. การให้น้ำ
การให้น้ำนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งซึ่งเป็นช่วงที่ทุเรียนกำลังติดดอก ฉะนั้นจึงควรมีการปฏิบัติด้วยความระมัดระวังและพิถีพิถันโดยมีวิธีการให้น้ำดังนี้

ระยะก่อนดอกทุเรียนบาน 15 วัน ไปจนถึงดอกบานแล้ว 15 วัน ควรให้น้ำจากปลายพุ่มใบเข้าไปประมาณ 1 เมตร โดยให้ในปริมาณที่เท่ากับจำนวนที่เคยให้ การให้น้ำวิธีนี้จะทำให้มีเปอร์เซ็นต์การติดดอกดีขึ้นและทุเรียนจะติดดอกที่โคนกิ่งได้มากขึ้นซึ่งทำให้ไม่ต้องใช้ไม้ค้ำหรือโยงกิ่ง เหมือนกับกรณีที่ทุเรียนติดดอกบริเวณปลายกิ่งอย่างเช่นกรณีที่ให้น้ำด้วยวิธีอื่น

ระยะต่อไป ให้น้ำไปจนถึงปลายพุ่มใบ สำหรับความถี่หรือความบ่อยครั้งของการให้น้ำนั้น ให้สังเกตจากความชื้นของดินบริเวณโคนต้นเป็นหลัก ถ้าดินมีความชื้นสูงก็ไม่ควรให้น้ำ แต่ถ้าความชื้นในดินมีน้อยหรือดินแห้งก็เริ่มให้น้ำได้ การให้น้ำควรระวังอย่าให้น้ำถูกลำต้นทุเรียนเพราะจะเกิดโรคโคนเน่าได้ง่าย

สำหรับอัตราการให้ปุ๋ยทางดินนี้จะขึ้นอยู่กับอายุของทุเรียนเป็นสำคัญ กล่าวคือ
ทุเรียนอายุ 8-12 ปี ใส่ปุ๋ยในอัตรา 2-5 กิโลกรัมต่อต้น
ทุเรียนอายุ 13-19 ปี ใส่ปุ๋ยในอัตรา 3-4 กิโลกรัมต่อต้น
ทุเรียนอายุ 20-30 ปี ใส่ปุ๋ยในอัตรา 4.5-5 กิโลกรัมต่อต้น
(การใส่ปุ๋ยจะใส่เพียงครั้งเดียวโดยใส่พร้อมกับการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบครั้งแรก)

วิธีการที่ 3
เป็นแนวความคิดของคุณประภัทรพงษ์ เวชชาชีวะ ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงจากการผลิตทุเรียนกระดุมนอกฤดู ส่วนนี้เน้นในเรื่องพันธุ์และการดูแลรักษาโดยมีรายละเอียดดังนี้คือ

1. พันธุ์
พันธุ์ที่เน้นคือพันธุ์เบาที่ออกลูกง่าย ติดผลง่าย เช่น พันธุ์กระดุม กบแม่เฒ่า ก้านยาว ชะนี อีลวง สาวน้อยเรือนงาม เป็นต้น

2. การดูแลรักษา
เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งและต้องกระทำอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยมีการปฏิบัติในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้คือ

1. การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่งทุเรียนจะทำภายหลังจากที่ทุเรียนให้ผลและเก็บผลไปแล้ว โดยกิ่งที่ทำการตัดแต่งคือ กิ่งที่เป็นโรค กิ่งที่แสงแดดส่องไม่ถึง กิ่งน้ำค้าง กิ่งที่อ่อนแอหรือกิ่งที่ใกล้จะตาย และโดยเฉพาะกิ่งน้ำค้างนั้นเป็นกิ่งที่มีการเจริญเติบโตได้เร็ว และคอยแย่งน้ำ และอาหารจากลำต้น จึงจำเป็นต้องตัดแต่งทิ้งทันที

2. การใส่ปุ๋ย
หลังจากที่ได้เก็บเกี่ยวผลไปแล้วให้ใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เนื่องจากผลทุเรียนที่ตัดไปนั้นมีแป้งเป็นองค์ประกอบ และแป้งเหล่านั้นก็ได้มาจากอาหารจำพวกไนโตรเจน ดังนั้นเมื่อทุเรียนสูญเสียแป้งไปมาก ก็ต้องใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเสริมเข้าไป ปุ๋ยที่ใส่เช่นสูตร 14-14-14, 15-15-15, 16-16-16 หรือ 20-10-10 ก็ได้ จากนั้นก็ควรฉีดปุ๋ยยูเรียทางใบหรือทางรากเสริมอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อถึงช่วงปลายฤดูฝนระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม พอฝนเริ่มทิ้งช่วงก็ให้ใส่ปุ๋ย
ครั้งที่ 2 ก่อนที่ทุเรียนจะออกดอก โดยใส่ปุ๋ยสูตรตัวหน้าต่ำ เช่น 6-24-24, 9-24-24 ซึ่งใช้กับดินทราย แต่ถ้าเป็นดินเหนียว ซึ่งมีโปแตสเซี่ยมสูงอยู่แล้ว ก็ใช้สูตร 1:2:1 เช่น 12-24-12 เพื่อให้ทุเรียนเตรียมพร้อมสำหรับการออกดอกต่อไป

3. การให้น้ำ
การให้น้ำทุเรียนจะให้หลังจากที่ฝนทิ้งช่วงในระหว่างปลายฤดูคือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ทุเรียนมีการพักตัวและมีสภาพพื้นดินแห้งแล้ง อาจจะเป็น 10-18 วันก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับความสูงของพื้นที่เช่น ถ้าพื้นที่มีความสูงมาก การให้น้ำก็จะเร็วขึ้น เมื่อเห็นว่าพื้นดินแห้งก็เริ่มให้น้ำ เพื่อกระตุ้นให้ทุเรียนเกิดตาดอก หลังจากให้น้ำไปแล้วต้องคอยสังเกตดูว่าทุเรียนแตกตาดอกหรือยัง ถ้ามีการแตกตาดอกแล้ว และเห็นว่าปริมาณดอกมีน้อยอยู่ก็ให้น้ำอีกครั้งหนึ่งในปริมาณน้อยๆ ประมาณ 3-4 วัน หลังจากนั้นก็จะเห็นดอกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น เมื่อเห็นว่าดอกทุเรียนมีปริมาณเพียงพอแล้วก็ให้น้ำเต็มที่ทุกวัน แต่อย่างไรก็ตามปริมาณดอกทุเรียนจะมีมากหรือน้อยยังขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น การสะสมอาหาร การให้ปุ๋ย การปราบวัชพืชและการตัดแต่งกิ่งด้วย สำหรับวิธีการให้น้ำแก่ต้นทุเรียนนั้น อาจให้แบบสปริงเกอร์หรือใช้สายพลาสติกปล่อยน้ำไปที่โคนต้นก็ได้ ถ้าให้แบบสปริงเกอร์อาจจะให้วันเว้นวันหรือทุกวันก็ได้ แต่ถ้าให้วันเว้นวันก็ควรให้ในปริมาณที่มากต่อครั้งหนึ่งๆ ถ้าให้แบบใช้สายพลาสติกปล่อยน้ำไปที่โคนต้นทุเรียน ก็ควรให้ประมาณ 5-6 วันต่อครั้ง

4. การฉีดยาป้องกันโรคแมลง
โรคและแมลงนับว่าเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในการที่จะทำให้ทุเรียนออกดอกนอกฤดูกาล ทั้งนี้เพราะในกรณีที่มีการใส่ปุ๋ยไปแล้ว ทุเรียนจะเกิดใบอ่อนและในช่วงนี้จะมีแมลงมากัดกินเสมอ ดังนั้นปุ๋ยที่ใส่ให้ทุเรียนก็จะถูกแมลงเหล่านี้กินทางอ้อม ต้นทุเรียนก็ขาดความสมบูรณ์ ซึ่งจะมีผลไปถึงการออกดอกและติดผลต่อไป สำหรับโรคนั้นก็มีความสำคัญเช่นเดียวกันคือ ในช่วงฤดูฝนในสภาวะที่มีอากาศชื้น ความชื้นสัมพัทธ์สูงนั้น มักจะเกิดโรคระบาดในทุเรียนเสมอ โดยเฉพาะโรครากเน่าและโคนเน่า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการฉีดยาป้องกันและกำจัดอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์และเตรียมพร้อมที่จะให้ดอกและติดผลต่อไป

วิธีการที่ 4
เป็นแนวความคิดของคุณสรรเสริญ ศรีพระยา ซึ่งเป็นเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีเช่นเดียวกัน สวนนี้จะเน้นในเรื่องการสร้างพื้นฐานทางดินและการใส่ปุ๋ยก่อน แล้วจึงเข้าสู่สรีระวิทยาของทุเรียนและมีสภาพฟ้าอากาศเป็นส่วนประกอบกล่าวคือ

การใส่ปุ๋ย
ทุเรียนเป็นพืชที่ต้องการปุ๋ยตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโต ช่วงออกดอกหรือหลังเก็บเกี่ยว แต่ชนิดของปุ๋ยที่ทุเรียนต้องการจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงต้องค้นหาว่า แต่ละช่วงทุเรียนต้องการปุ๋ยอะไร และให้ปุ๋ยเสริมจนเพียงพอที่จะออกดอก สำหรับชนิดของปุ๋ยที่ใช้ในสวนทุเรียนนั้นได้แก่ ปุ๋ยสูตร 9-24-24 และอาหารเสริมทางใบ พอทุเรียนเริ่มออกดอกก็ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 พร้อมอาหารเสริมทางใบและปุ๋ยทางใบสูตร 10-52-17 การให้อาหารเสริมในช่วงที่ทุเรียนกำลังออกดอกและติดผลนี้มีความสำคัญมาก เพราะจะมีผลถึงการติดผลและการขยายขนาดของผลหรือความสมบูรณ์ของผล

ส่วนเรื่องการแตกใบอ่อนนั้น เนื่องจากมีชาวสวนส่วนมากเข้าใจกันว่าทุเรียนจะต้องมีใบแก่ก่อนจึงจะมีการออกดอก แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วทุเรียนที่เริ่มแตกยอดใบเพสลาด ก็สามารถออกดอกได้เช่นเดียวกัน

วิธีการที่ 5
เป็นการใช้สารเคมีเร่งดอกทุเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลทุเรียนก่อนฤดูหรือต้นฤดู ดังนั้นหากมีการผลิตทุเรียนออกมาจำหน่ายได้ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ก็จะจำหน่ายได้ในราคาสูงมาก สารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการเร่งดอกทุเรียนก็คือ สารพาโคลบิวทราโซล แต่วิธีการใช้สารที่เหมาะสมกับทุเรียนจะแตกต่างจากมะม่วงและมะนาว จากงานทดลองต่างๆ ของนักวิชาการสรุปได้ว่าการใช้สารพาโคลบิวทราโซลความเข้มข้น 1,000 พีพีเอ็ม พ่นต้นในระยะใบอ่อน จะทำให้ทุเรียนออกดอกได้ภายใน 2 เดือนหลังจากการพ่นสาร ถ้าต้นไม่สมบูรณ์เพียงพอก็จะไม่ตอบสนองต่อสารนี้ เท่าที่มีการศึกษาเรื่องนี้ในปัจจุบัน พอสรุปได้ว่า พันธุ์ที่ตอบสนองต่อสารได้ดีคือ พันธุ์ชะนี ส่วนพันธุ์อื่นยังไม่มีข้อมูลที่เด่นชัด จึงยังไม่สามารถแนะนำให้ใช้กับพันธุ์อื่น


http://www.giswebr06.ldd.go.th/lddweb/knowledge/plant/durion/6x.asp
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 07/12/2011 7:42 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,372. ข้าวฮาง 5 สี











ข้าวฮาง หรือ ข้าวกล้องเพาะงอกจากเมล็ดข้าวเปลือก *

ข้าวฮาง 5 สี ประกอบไปด้วยข้าว 5 ชนิดด้วยกัน คือ
- ข้าวแม่หอมมะลิ
- ข้าวแม่หอมมะลิแดง
- ข้าวแม่หอมนิล (แม่หอมสุโขทัย)
- แม่ข้าวเหนียวแก้งคร้อ
- ข้าวแม่หอมประทุมเทพ

คุณค่าที่สำคัญต่อร่างกาย
มีใยอาหารป้องกันมะเร็งลำไส้ ลดอาการท้องผูก ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งการเกิดฝ้า ทำให้ผิวพรรณดี ชะลอความแก่ ช่วยลดความดันโลหิต มีวิตามินบี ช่วยเผาผลาญพลังงาน ป้องกันการสะสมของไขมัน มีสารกาบาช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ช่วยทำให้สมองผ่อนคลายนอนหลับสบาย

วิธีการหุง : ล้างน้ำ 1 ครั้ง, ข้าว 1 ส่วน ต่อน้ำ 1- 1.5 ส่วน หรือตามชอบ
ผลิตภัณฑ์จาก : กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวเพื่อสุขภาพ จ.ชัยภูมิ
ขนาดบรรจุ : 1 กก.


* ข้าวฮางเป็นข้าวกล้องเพาะงอกจากเมล็ดข้าวเปลือก
สมัยก่อนคนโบราณใช้ข้าวฮางเป็นยารักษาโรค วิธีการก็คือ นำข้าวเปลือกมาแช่น้ำจนงอก จากนั้นก็นำไปตากหรืออบจนแห้ง แล้วก็นำไปสี และนำเมล็ดข้าวที่ได้ไปหุงให้คนป่วยทาน

ข้าวกล้องงอกของเรา แตกต่างจากเจ้าอื่นๆ วิธีการก็คือ ใช้ข้าวสารที่เป็นข้าวกล้อง มาแช่น้ำประมาณ 6-8 ชั่วโมง แล้วสังเกตส่วนหัวว่ามีจุดขาว นั่นก็คือ ส่วนที่งอก ซึ่งก็คือ สารการ์บาร์ จากนั้นก็นำไปตากให้แห้งและนำไปหุง ซึ่งวิธีการนี้มีข้อจำกัด ก็คือ ต้องเป็นข้าวกล้องใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 14 วัน หลังสีเอาเปลือกข้าวออก ถ้าเกินจากนั้นก็จะไม่ดีเพราะได้ส่วนที่งอกได้

แต่ถ้าเป็นข้าวฮาง ปัญหาเรื่องข้อจำกัดเรื่องอายุของข้าวสารข้าวกล้องจะหมดไป เพราะเราทำข้าวกล้องงอกตั้งแต่กระบวนการข้าวเปลือก ซึ่งขั้นตอนการผลิตสามารถทำให้เกิดสารการ์บาร์ที่มีประโยชน์ได้ดี และสม่ำเสมอกว่า


http://www.greenshopcafe.com/green.php?id=1429
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 08/12/2011 9:57 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,373. ข้าวฮาง...อุดมไป ด้วยคุณค่าทางอาหาร





เมื่อครั้งไปเยือนจังหวัดอุบลราชธานี เมืองคนดี เมืองนักปราชญ์ เมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซึ่งตั้งอยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำมูล เพื่อนคนหนึ่งเล่าถึง “ข้าวฮาง” ให้ฟัง จึงตั้งใจฟังด้วยไม่เคยได้ยินมาก่อน ครั้นกลับมาที่กรุงเทพฯ จึงสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับข้าวฮางทางอินเทอร์เน็ตแต่ก็ไม่มี ด้วยขณะนั้นยังไม่มีการผลิตเพื่อเป็นการค้า ชาวบ้านผลิตเพียงเพื่อรับประทานในครัวเรือนเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ไม่ต้องห่วง เพราะข้าวฮางมีจำหน่ายโดยทั่วไป แม้กระทั่งศูนย์การค้าใหญ่ก็มีจำหน่ายเช่นกัน

ข้าวฮาง... อำพน ศิริคำ สำนักเกษตรจังหวัดขอนแก่น (http://khonkaen. doae.go.th/ Data/Agristory/ข้าวฮาง.doc) กล่าวว่า หากไปสอบถามคนเฒ่าคนแก่ในชนบท ก็จะได้รับคำตอบว่าเป็นการนำเอาข้าวในนาที่รวงยังไม่แก่ถึงระยะเก็บเกี่ยวมา รับประทาน ซึ่งมีที่มาคือ คนในชนบทสมัยก่อนมีลูกมาก ทำนาอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก ปีใดฝนดีก็ได้ข้าวมาก สามารถเก็บไว้รับประทานจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว แต่ถ้าหากปีใดฝนแล้งได้รับผลผลิตน้อย ข้าวที่เก็บในยุ้งฉางหมดก่อนที่จะมีข้าวใหม่ออกมา แต่ก็หาวิธีที่จะนำเอาข้าวมารับประทานให้ได้ ก็ได้นำเอาข้าวที่อยู่ในระยะติดเมล็ดแล้วแต่ยังไม่ถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยว หรือยังไม่ถึงระยะพลับพลึง นำมาแช่น้ำ และนึ่งก่อนที่จะนำมาสีเป็นข้าวสาร และนำข้าวสารมาแช่น้ำและนึ่งรับประทานต่อไป ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนข้าวได้…เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นการแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาดของชาวชนบทที่ไม่มีปัจจัยให้เอื้อแก่การแก้ ปัญหามากนัก...

โสมฉาย จุ่นหัวโทน สำนักงานเกษตรอำเภอแวงใหญ่ จ.ขอนแก่น (http:// gotoknow.org/ blog/ agext23/169414) กล่าวว่า การสีข้าวฮางเป็นการเอาเปลือกหรือเอาแกลบออกโดยที่จมูกข้าวและเยื่อหุ้ม เมล็ดไม่แตกหักไปไหน เส้นใยและโปรตีนที่มีคุณค่าจึงอยู่ในเมล็ดครบเนื่องจากการนึ่งข้าวให้สุก เมล็ดข้าวจะเหนียวไม่มีเมล็ดแตกร้าว เมื่อนำไปสีจึงทำให้ข้าวฮางมีสีเหลือง สำหรับประเภทของข้าวฮาง 3 ชนิด คือ 1.ข้าวฮางระยะน้ำนม 2.ข้าวฮางที่นำข้าวเปลือกไปแช่น้ำ 24 ชั่วโมงแล้วนำไปนึ่ง และ 3. ข้าวฮางที่นำข้าวเปลือกไปแช่น้ำ 24 ชั่วโมงแล้วนำมาบ่ม 48 ชั่วโมง จากนั้นนำไปนึ่งเรียกว่า ข้าวฮางงอก

ข้าวฮาง เป็นข้าวที่เอาเปลือกหรือแกลบออกโดยที่จมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดไม่แตกหัก ไปไหนเพราะจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดนี้ คือส่วนที่สะสมโปรตีนที่มีคุณค่า ทางอาหาร

ข้าวกล้อง คือ ข้าวเปลือกที่ผ่านการ ขัดสีเพียงครั้งเดียวเพื่อเอาเปลือก (แกลบ) ออก โดยที่ยังมีจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ด ข้าว (รำ) อยู่ ข้าวที่ได้จึงมีสีน้ำตาลขุ่น จมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวนี้เป็นส่วนที่อุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และเส้นใยอาหาร จึงเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าข้าวขัดขาว เมื่อหุงจะมีกลิ่นหอมมาก แต่เนื้อสัมผัสนุ่มนวลสู้ข้าวขาวไม่ได้

ข้าวซ้อมมือ เป็นชื่อเรียกข้าวที่เอาเปลือกออกโดยการตำ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในสมัยโบราณ ชาวบ้านโดยทั่วไปจะ ใช้วิธีตำข้าวกินกันเองจึงเรียกข้าวที่ตำว่า “ข้าวซ้อมมือ” เริ่มจากการนำข้าวเปลือกมาสีเอาเปลือกออก จากนั้น นำมาตำเพื่อขจัดเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวออกไปบางส่วน แล้วใช้กระด้งฝัดแยกเปลือกและรำออก ข้าวซ้อมมือหุงง่าย และเมื่อสุกจะนุ่มกว่าข้าวกล้อง (จาก www. neutron. rmutphysics.com/)

มีคนบอกว่าข้าวกล้องกับข้าวซ้อมมือเป็นข้าวอย่างเดียวกัน เพียงแต่ข้าวกล้อง ผ่านกระบวนการจากโรงสี ส่วนข้าวซ้อมมือผ่านกระบวนการจากครก... เท่านั้นเอง

ข้าวฮางมีโปรตีนประมาณร้อยละ 6-12 และยังมีวิตามินและเกลือแร่ ได้แก่ วิตามินบี 1 บี 2 ไนอะซิน (ช่วยรักษาระบบผิวหนังและระบบประสาทไว) ฟอสฟอรัส แคลเซียม ธาตุเหล็ก ส่วนข้าวสารนั้นโปรตีนหลุดหายไปแล้วกว่าร้อยละ 30

เปรียบเทียบให้เห็นง่าย ๆ ถ้ากินข้าวฮางสุก 1 กรัม จะได้โปรตีน 7.60 ส่วนข้าวสวยธรรมดามีโปรตีน 6.40 คิดแล้วข้าวฮางมีโปรตีนมากกว่าร้อยละ 19 เป็นต้น (ข้อมูลจาก www.baanmaha.com)

ฉะนั้น ข้าวฮางจึงอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบัน ไม่ใช่ผลิตข้าวฮางธรรมดา แต่เป็นข้าวฮางสมุนไพร...อินทรีย์ อีกต่างหาก...ข้าวฮางนี้สามารถผลิตได้ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ฉะนั้น เวลาจะซื้อควรดูก่อนว่าจะรับประทานข้าวอะไร

มีหลายกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตข้าวฮางจำหน่าย เช่น …ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ต.ใหม่นาเพียง อ.แวงใหญ่ จ.ขอน แก่น ที่ผลิตข้าวฮางสมุนไพรหอมมะลิอินทรีย์ออกจำหน่าย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมากและก็มีแนวโน้มว่าจะได้รับความ สนใจมากขึ้น กลุ่มส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกสะอาด ต.นิคมพัฒนา อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ที่ผลิตข้าวฮาง พร้อมด้วยแปรรูปสิ่งที่เหลือจากการผลิตข้าวฮางเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและ เป็นการนำสิ่งที่เหลือมาทำให้เกิดประโยชน์อีก, กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านกุดเชียง ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่ผลิตข้าวฮางสมุนไพร

…และมีกลุ่มอื่น ๆ อีกที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ตามที่อยู่ข้างบน...รับประทานข้าวปกติยังมีประโยชน์ ต่อร่างกาย หากรับประทานข้าวฮางก็ยิ่งมี ประโยชน์มากขึ้น ยิ่งรับประทานข้าวฮางงอกยิ่งมีประโยชน์ไปกันใหญ่.


ที่มา ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์
จีร์ ศรชัย



http://dna.kps.ku.ac.th


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 08/01/2023 7:42 am, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 08/12/2011 10:17 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,374. การสืบหายีนที่มีความสำคัญและการพัฒนาพันธ์ข้าว

เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ อันนำไปสู่การผลิตข้าวที่ยั่งยืนของประเทศ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก


การสร้างพันธ์ข้าวให้มีคุณลักษณะที่ดีเลิศทั้งในทางปริมาณและคุณภาพนั้น นักปรับปรุงพันธุ์ไม่เพียงแต่จะต้องคำนึงถึงลักษณะที่ให้ได้ผลผลิตคุณภาพสูง แต่ยังต้องคำนึงการป้องกันการสูญเสียผลผลิตที่เกิดจากการทำลายเชื้อโรคและแมลง และการเกิดสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ในการเจริญเติบโต เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง ดินเค็ม ดินกรด

ศูนย์ฯยังเป็นหน่วยปฏิบัติการฯ ศึกษาการวางตำแหน่งยีนของลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ จำนวน 16 ลักษณะ โดยการใช้วิธีการวางตำแหน่งยีนที่ซ้อนเลื่อมกันอย่างต่อเนื่อง (intergrated linkage maps) และใช้ยีนจาก 12 ประชากร ซึ่งยีนดังกล่าว หน่วยปฏิบัติการฯ ใช้เป็นเป้าหมายในการปรับปรุงพันธุ์ทั้งข้าวนาน้ำฝนและนาชลประทาน สำหรับข้าวนาน้ำฝนนั้นเป้าหมาย คือการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 และ กข 6 ที่มีคุณภาพหุงต้มและความหอมเหมือนพันธุ์เดิม แต่มีคุณสมบัติตามต้องการ เช่น มีความต้านทานโรคแมลงดีขึ้น ทนต่อสภาพเครียดอันเกิดจากสภาพแวดล้อมมากขึ้น กลยุทธ์นี้ทำให้เกิดการรวบยอดยีน (gene pyramid) ที่ดีไว้ด้วยกัน ในข้าวทั้งสองพันธุ์ นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพในการให้ผลผลิตขึ้นอีกด้วย สำหรับนาชลประทานเน้นที่การเพิ่มผลผลิตและมูลค่าของผลผลิต เช่น เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ปริมาณอะไมโลส เป็นต้น กลยุทธ์นี้ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ของการหายีนจากการกลายพันธุ์ เพื่อสร้างพันธ์ข้าวในอุดมคติ นับเป็นความพยายามครั้งแรกในประเทศไทยที่ใช้กลยุทธ์ดังกล่าว เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่ดี


การศึกษาทางด้านโครงสร้างของยีน (structural genomics)
จากการที่หน่วยปฏิบัติการฯ ร่วมมือกับโครงการหาลำดับเบสจีโนมข้าว ( International Rice Genome Sequencing Project : IRGSP ) โดยรับผิดชอบในการหาลำดับเบสโครโมโซม 9 ค้นพบลำดับเบสจีโนมข้าวอย่างสมบูรณ์ การค้นพบดังกล่าว ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ออกสู่เกษตรกร แต่ยังทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้พันธุ์ข้าวในอุดมคติที่มีคุณลักษณะดีเลิศเพื่อการบริโภคที่ยั่งยืนทั่วโลกในอีกหนึ่งศตวรรษ การเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นความภาคภูมิใจของประเทศ แต่ยังเป็นอีกก้าวหน้าหนึ่งที่จะไปสู่ยุคจีโนมข้าว


การค้นพบยีน (gene discovery)
หน่วยปฏิบัติการฯ กำลังดำเนินงานวิจัยในการค้นหาตำแหน่งยีนของลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ จำนวน 16 ลักษณะ โดยใช้ยีนที่ควบคุมลักษณะทางปริมาณ 2 ยีนคือ ยีนทนต่อน้ำท่วมและยีนที่เกี่ยวข้องกับความหอม เป็นต้นแบบในการศึกษา และได้สร้างห้องสมุดชิ้นส่วนขนาดใหญ่จีโนม (BAC library) สำหรับข้าวหอมมะลิ 105 และ FR 13 A เพื่อทำแผนที่จีโนมทางกายภาพ (physical mapping) และหาลำดับเบสขนาดใหญ่ ในขณะนี้ประสบความสำเร็จในการหายีนและกำลังอยู่ในระหว่างการสืบค้นหน้าที่ของยีนดังกล่าว นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายในการสืบหายีนอื่น ๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับความต้านทาน พัฒนาการ การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งโภชนาการ


ชีวสารสนเทศ RiceGeneThresher
การสร้างฐานข้อมูลลำดับเบสขนาดใหญ่เรียกว่า Rice Gene Thresher (http://rice.kps.ku.ac.th) เป็นแหล่งรวบรวมฐานข้อมูลข้าวสาธารณะเพื่อให้นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวและผู้สนใจ สามารถสืบค้นหาข้อมูลได้ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ฐานข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วยลำดับเบสของมวลสารพันธุกรรมของข้าวทั้งสายพันธุ์จาโปนิกาและอินดิกา โดยประกอบด้วยแผนที่พันธุกรรมของข้าวโมเลกุลเครื่องหมาย EST ลำดับเบสดีเอ็นเอ การทำนายบทบาทหน้าที่ และการทำงานของยีนต่างๆ รวมถึงโครงสร้างของโปรตีนซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจในการแสดงออกของยีนและโปรตีนได้ดียิ่งขึ้น


การศึกษาทางด้านการค้นหาหน้าที่ยีน (functuional genomics)
เนื่องจากประมาณ 60% Open reading frame ของจีโนมข้าวที่ยังไม่ทราบหน้าที่ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องค้นหาหน้าที่ของยีน (functional genomics) ซึ่งโดยทั่วไปมักจะใช้วิธีการ 2 วิธี คือ เทคนิคทรานสเจนิกส์ (transgenics) การแสดงออกที่มากเกิน (overexpression) หรือการยับยั้งของอาร์เอ็นเอในยีนที่สนใจ (RNA interference) และเทคนิคที่เรียกว่า TILLING (targeting induced local lesions in genomes) ซึ่งหน่วยปฏิบัติการฯ ได้ใช้เทคนิคนี้ในการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ทั้งจีโนมโดยใช้รังสี Fast neutron ขนาดปริมาณรังสี 13 Gy ข้าวเจ้าหอมนิลจำนวน 200,000 ต้นได้ถูกชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์โดยวิธีดังกล่าว และทำการคัดเลือกต้นกลายพันธุ์ เพื่อนำไปสู่การหาหน้าที่ของยีนข้าว


การปรับปรุงพันธุ์ข้าวอณูวิธี (molecular breeding)
การปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีศักยภาพสูงขึ้นจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ด้านลำดับเบสจีโนมที่เกี่ยวข้องโดยการใช้เทคนิคที่เรียกว่าโมเลกุลเครื่องหมาย (Marker-Assisted Selection MAS) เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพที่ดีและผลผลิตสูง ตัวอย่างของพันธุ์ข้าวที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโดยใช้เทคนิคดังกล่าว คือข้าวหอมมะลิไตรลักษณ์ ที่ประกอบด้วยลักษณะ 3 ประการ คือ ทนทานต่อน้ำท่วม ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล




http://dna.kps.ku.ac.th/index.php/บทความหลักศูนย์/งานวิจัยและพัฒนา.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 08/12/2011 10:42 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,375. ข้าวกล้องโภชนการสูง

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2011 เวลา 10:51 น.


สินค้าเกษตรอินทรีย์ข้าวกล้องโภชนาการสูง
ผลิตโดย "ธัญโอสถ" ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน


.....



......



ชุดผลิตภัณฑ์ข้าวโภชนาการสูง จากธัญโอสถ ซึ่งบรรจุแบบสูญญากาศ ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ เมล็ดม่วงเข้ม อุดมด้วยวิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) แพ็ครวมกับข้าวกล้องสินเหล็กที่มีน้ำตาลต่ำ ธาตุเหล็กสูง หุงสุกกลิ่นหอม

ราคาชุดผลิตภัณฑ์ข้าวกล้อง
- ชุดละ 1 กก./ราคาบาท
- ข้าวกล้องสินเหล็ก 99.-
- ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ 99.-
- ข้าวไตรรงค์ 99.-

*สำหรับการจัดส่งทางไปรษณีย์จะมีค่าส่งสินค้า
ติดต่อสั่งซื้อข้าวกล้องได้ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน Tel. 034 355 193 ต่อ 116 (ในวันจันทร์ - เสาร์ 9.00 - 16.30 น.)


http://dna.kps.ku.ac.th/index.php/บทความของศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว/ข้าวกล้องโภชนการสูง.html


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 08/12/2011 11:06 am, แก้ไขทั้งหมด 4 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 08/12/2011 11:01 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,376. ข้าวต้านโรคเบาหวาน

เป็นภาวะผิดปกติ ของร่างกายในการควบคุมระดับน้ำตาล ในเลือด ผู้ป่วยเบาหวานที่ “ควบคุมน้ำตาล” ไม่ดี จะเกิดโรคแทรกซ้อน แม้ไม่ทำให้เสีย ชีวิตทันที แต่ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง คนที่เป็นเบาหวาน มีโอกาสเป็นโรค หลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนปกติ 2-4 เท่า อัมพาต 5 เท่า

การป้องกัน
โรคเบาหวานทำได้โดยรับประทานอาหาร ให้เหมาะสม ลดอาหาร จำพวกแป้ง ไขมัน เช่น กะทิ อาหารทอด กินผักผลไม้รสไม่หวานจัดให้มากขึ้น ออกกำลังกาย สม่ำเสมอ ไม่ปล่อยตัวให้อ้วน หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำหรือกินจุ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ปัสสาวะมีมดขึ้น ต้องรีบ พบแพทย์


การรักษา
ปัจจุบัน แนะนำให้ทำการรักษาเชิงรุก คือ ให้ระดับน้ำตาลในเลือดทั้ง ก่อน และหลังมื้ออาหารอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงปกติ รวมทั้งเน้นให้ ดูแล รักษาโรคอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ต่อ การเกิดภาวะแทรกซ้อน


สถานการณ์โรคเบาหวานของประเทศไทย
จากการสำรวจ ขณะนี้มีคนไทย 3.2 ล้านคนกำลังป่วยเป็นโรคเบาหวาน โดยพบว่าผู้ใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไป 10 คน จะมีคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน 1 คน ซึ่งมีผู้ป่วยที่ควบคุมเบาหวานได้ดีเพียง 400,000 คน ส่วนที่เหลือยังควบคุม ไม่ได้ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ไตวาย โรคหัวใจ ตาบอดหรือถูกตัดขา จากการสำรวจยังพบว่า มีประมาณ 2 ล้านคน ที่มีระดับน้ำตาล ในเลือด สูงผิด ปกติ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน

ข้าวสัมพันธ์กับน้ำตาลในเลือดอย่างไร
กลุ่มอาหารหลักที่ให้พลังงานสำหรับคนไทย คือ กลุ่มคาร์โบไฮเดรต ซึ่งได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้งต่างๆ ขนมและผลไม้ รวมทั้งน้ำตาลด้วย โดยข้าวให้พลังงานมากกว่าร้อยละ 60 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับจากอาหาร ร่างกายจะนำคาร์โบไฮเดรต ไปใช้ได้ต้องถูก ย่อยให้เป็นน้ำตาลเสียก่อน หาก คาร์โบไฮเดรตนั้นถูกย่อยเร็ว ก็จะได้น้ำตาลเร็ว ซึ่งการที่เซลล์จะนำน้ำตาลไปใช้เป็น พลังงานได้ดีนั้น จำเป็นต้องอาศัยฮอร์โมนอินสุลินซึ่งผลิตจากตับอ่อน ดังนั้นถ้า ในเลือดมีน้ำตาลขึ้นเร็ว ตับอ่อนก็ต้องผลิตอินสุลินได้เร็ว หากในเลือดมีน้ำตาล มากขึ้นก็ต้องใช้อินสุลินจำนวนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้ตับอ่อนต้องทำงาน หนักขึ้น การที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะคนที่เป็นเบาหวาน เนื่องจากตับอ่อนทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร


ดัชนีน้ำตาล
เนื่องจากอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด หลังอาหารสูงขึ้น ดังนั้นการเลือกชนิด และปริมาณของคาร์โบไฮเดรต จึงมี ความสำคัญในการทำให้ระดับน้ำตาล ในเลือดสมดุล และควบคุมโรคเบาหวานดีขึ้น ได้มีการใช้ดัชนีน้ำตาล หรือ Glycemic index (GI) เป็นดัชนีวัดคุณภาพ ของคาร์โบไฮเดรตในอาหาร

การหาค่าดัชนีน้ำตาลวัดโดย ให้คนรับประทานอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ต้อง การ ศึกษา 50 กรัม แล้วติดตามว่าเมื่อกินแล้ว คาร์โบไฮเดรตที่ถูกย่อยและดูดซึม ทำให้ ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างไรในเวลา 2 ชั่วโมง โดยน้ำตาลกลูโคส มีค่าดัชนี น้ำตาลเท่ากับ 100 เมื่อรับประทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง น้ำตาลในเลือดจะขึ้นสูง และเร็วกว่าอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ


ค่าดัชนีน้ำตาลของข้าวไทยพันธุ์ใหม่
ข้าวที่ใช้ศึกษาเป็นข้าวที่มีธาตุเหล็กสูง 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ สินเหล็ก และ ไรซ์เบอรี่ โดยใช้ทั้งข้าวกล้องและข้าวขัดสี นำมาทำเป็น มื้ออาหารเช้า ให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และมีไขมันในเลือดสูง จำนวน 16 ราย ผู้ป่วยกินข้าวแต่ละชนิดกับกับข้าวคือผัดกระเพราไก่ แล้วเก็บตัวอย่าง เลือดในเวลาต่างๆ เป็นเวลา 4 ชั่วโมง ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากนักวิจัย ของ รพ. รามาธิบดี

ข้าวกล้องทั้ง 2 พันธุ์มีดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวขัดสีพันธุ์เดียวกัน ทั้งนี้เพราะใย อาหารที่อยู่ในรำข้าว ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล ทำให้น้ำตาลในเลือด ขึ้นช้า กว่า นอกจากข้าวกล้องจะมีใยอาหารมากกว่าข้าวขัดสีแล้ว ข้าวกล้องยัง มีวิตามิน และเกลือแร่มากกว่า โดยเฉพาะวิตามินบีหนึ่งหรือไธอะมิน (B1) ซึ่งช่วย ป้องกัน โรคเหน็บชาได้


การศึกษาการบริโภคข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำในระยะยาว
ได้ศึกษาผลของการรับประทานอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำโดยเน้นบริโภคข้าวกล้องพันธุ์ สินเหล็ก วันละ 2 มื้อต่อระดับน้ำตาล และปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยมีเป้าหมาย ทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับ น้ำตาล ในเลือด ได้ดีขึ้น ช่วยลดภาระของตับอ่อนที่ต้องผลิตอินสุลินเพิ่มขึ้น ตลอดจนลดกลไกการอักเสบในเลือดจากขบวนการออกซิเดชัน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของผู้ป่วยในระยะยาว ช่วยชะลอการเกิดภาวะ แทรกซ้อน ทำให้เกิดช้าลง เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ผลการศึกษา
จากข้อมูลเบื้องต้นโดยเปรียบเทียบผลระหว่างการรับประทานข้าวกล้อง กับข้าวขัดร่วมกับการปรับพฤติกรรมการกินอาหารอื่นๆ ให้ถูกต้องด้วยเป็นเวลา 8 สัปดาห์


ผลิตภัณฑ์จากข้าวทางเลือกใหม่ของผู้ป่วยเบาหวาน
จากการค้นพบพันธุ์ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ 2 สายพันธุ์ข้างต้นและยังพบว่าในข้าวพันธุ์เดียวกันข้าวกล้องจะมีดัชนีน้ำตาลที่ต่ำกว่าข้าวขัด ทำให้สรุปได้ว่า ปัจจัยสำคัญในรำข้าวมีผลต่อการลดดัชนีน้ำตาล จึงเกิดแนวความคิดในการพัฒนารำข้าวให้เป็นเม็ดยา เพื่อใช้ร่วมกับการบริโภคอาหารประจำวันแทนการบริโภคข้าวกล้องได้


เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงได้มีการแปรสภาพรำข้าวในรูปแคปซูลและลูกกลอน ซึ่งพบว่าการทำลูกกลอนมีข้อดีหลายด้าน เนื่องสามารถเพิ่มความหนาแน่นของรำได้ดีกว่าการบรรจุในแคปซูล นอกจากนี้ลูกกลอนยังสามารถแตกตัวในกระเพาะอาหารได้ดีกว่ายาอัดเม็ดอีกด้วย ปัจจุบันประเทศไทยได้พัฒนาเทคนิคการผลิตเม็ดยาลูกกลอนให้ได้มาตรฐาน ปราศจากเชื้อโรคได้ ดังนั้นการอัดเม็ดยาแบบลูกกลอนน่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับรำข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำมากที่สุด

ข้อเสนอแนะ
ควรสนับสนุนให้คนไทยรับประทานข้าวกล้องให้บ่อยขึ้น เพราะมีดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าและมีสารต้านอนุมูลมากกว่าข้าวขัดสี โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ใหม่คือ ข้าวกล้องพันธุ์ ไรซ์เบอรี่ และพันธุ์ สินเหล็ก ซึ่งดัชนีน้ำตาลต่ำและสารต้านอนุมูลอิสระสูง เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว


โดยความร่วมมือของ
- สำนักวิจัย คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท กทม.
- ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์-ศิริราชพยาบาล บางกอกน้อย กรุงเทพฯ
- สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ต. ศาลายา อ. พุทธมณฑล จ. นครปฐม
- ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ



คลิกดูภาพประกอบ....
http://dna.kps.ku.ac.th/index.php/บทความของศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว/ข้าวต้านเบาหวาน.html



"
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 08/12/2011 11:13 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,377. ข้าวพม่า โค่นแชมป์ "หอมมะลิ" จากไทย ครองสุดยอดข้าวอร่อยสุดในโลก




หนังสือพิมพ์ วอลสตรีต เจอร์นัล รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากการประกวดสุดยอดข้าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานการประชุมข้าวโลก ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19-21 ต.ค. ที่เมืองโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม โดยในปีนี้ คณะกรรมการได้จากข้าวกว่า 30 สายพันธุ์ที่ส่งเข้าประชันงานประกวดข้าว โดยเกณฑ์การตัดสินข้าวจะพิจารณาจากรสชาติ สี และคุณภาพของตัวข้าวเป็นสำคัญ การประกวดที่เริ่มเมื่อ 2 ปีก่อน ภายใต้การสนับสนุนของไรซ์ เทรดเดอร์ส องค์การที่ปรึกษาข้าวระดับโลก โดยข้าวหอมมะลิของไทยได้ครองตำแหน่งสุดยอดข้าวไปครองติดต่อกันใน 2 ปีแรก ขณะที่ในปีนี้โดยตัดสินให้ข้าว "Pearl Paw San" จากประเทศพม่า ได้ตำแหน่งชนะเลิศไปครอง

นายไมเคิล ครอส พ่อครัวจากสถาบันด้านศิลปะการทำอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ จากเมืองซาเครเมนโต สหรัฐฯ กล่าวว่า คณะกรรมการตัดสินข้าวหลากหลายสายพันธุ์ โดยพิจารณาถึงคุณสมบัติของตัวข้าวเป็นหลัก โดยไม่มีส่วนผสมอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

ด้านนายเจเรมี สวิงเกอร์ ประธานสมาคมไรซ์ เทรดเดอร์ เปิดเผยว่า ผู้ผลิตข่าวทั่วโลกมักมีข้อถกเถียงกันมานานว่า ใครเป็นเจ้าของสายพันธุ์ข้าวที่มีรสชาติดีที่สุด และในบางชาติ นั่นอาจถือเป็นความภูมิใจของชาติ อีกทั้งข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ต่างก็มีความพิเศษเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร โดยข้าวสายพันธุ์ที่พลาดแชมป์ไปอย่างฉิวเฉียดในปีนี้คือข้าวพันธุ์ Venere ซึ่งเป็นข้าวเม็ดสีดำที่ปลูกในอิตาลี และข้าวหอมมะลิจากไทย

นายอดัม แทนเนอร์ หัวหน้าพ่อครัวจากโรงแรมเชอราตัน ไซง่อน และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน ระบุว่าเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมการตัดสินรสชาติข้าวที่มีสายพันธุ์ที่หลากหลายและมีคุณสมบัติแตกต่างกันตามแต่ละสายพันธุ์ ทำให้การตัดสินข้าวแตกต่างจากการชิมเครื่องดื่ม อย่างชา หรือไวน์ แต่โชคดีว่าทางงานประกวดมีเกณฑ์ในการตัดสินเป็นแนวทางให้คณะกรรมการ

ทั้งนี้ หนึ่งในเกณฑ์ที่สำคัญก็คือกลิ่นหอมเฉพาะของข้าวแต่ละสายพันธุ์ โดยข้าวพันธุ์ใดที่ยังคงรักษากลิ่นหอมเฉพาะนั้นๆ ไว้ได้หลังจากที่ผ่านการหุงให้สุกแล้ว ก็จะได้รับคะแนนอย่างท่วมท้นจากคณะกรรมการนอกเหนือไปจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ต้องบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ เมล็ดเต็มสมบูรณ์ และไม่มีสิ่งเจือปนใดๆ

ด้านสมาคมอุตสาหกรรมข้าวพม่าเปิดเผยว่า ข้าวสายพันธุ์ Pearl Paw San ซึ่งชนะในการประกวดครั้งนี้ เป็นข้าวที่มีลักษณะเม็ดกลมหนา โดยมีความยาวประมาณ 5-5.5 มม. และเมล็ดข้าวจะมีขนาดยาวมากขึ้นกว่าเดิม 3-4 เท่าตัวเมื่อผ่านการหุงเรียบร้อยแล้ว และยังสามารถรักษากลิ่นหอมเฉพาะไว้ได้

ครอสและแทนเนอร์ เห็นว่า การที่ข้าวสามารถขยายขนาดได้เมื่อผ่านการหุง ความแน่นของตัวข้าวเมื่อเคี้ยวและผิวสัมผัสที่ดี ล้วนส่งให้ข้าวPearl Paw San ของพม่าเฉือนเอาชนะข้าวหอมมะลิของไทย และข้าวสีดำสายพันธุ์ Venere ของอิตาลีได้อย่างฉิวเฉียด



ที่มา site_www:matichon.co.th

http://dna.kps.ku.ac.th/index.php/ข่าว-ข้าว/2554-ข้าวพม่า-โค่นแชมป์-หอมมะลิ-จากไทย-ครองสุดยอดข้าวอร่อยที่สุดในโลก.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 08/12/2011 11:28 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,378. เมื่อข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมนานขึ้น


........



เมื่อข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมนานขึ้น
ข้าวพื้นเมืองไทยโดยส่วนใหญ่ในท้องทุ่งที่น้ำท่วมถึง จะเป็นข้าวที่มีการยืดตัวสูงเพื่อให้ใบโผล่พ้นน้ำ หลังจากน้ำลดข้าวเหล่านี้จะมีลำต้นที่ยืดยาวและหักล้ม การเก็บเกี่ยวผลผลิตทำได้ยากและเสียหายง่าย ลักษณะการทนต่อน้ำท่วมดังกล่าวนี้ไม่ค่อยเป็นที่ต้องการของเกษตรกรในเขตนาชลประทาน แต่มีข้าวบางสายพันธุ์จากอินเดียที่มีความสามารถทนอยู่ใต้น้ำเมื่อเกิดสภาวะน้ำท่วมแบบฉับพลันและสามารถยืนหยัดจนกระทั่งฟื้นตัวหลังน้ำลดลง นำไปสู่การออกรวงและให้ผลผลิตในที่สุด ถูกนำมาเป็นพันธุ์ให้ลักษณะทนทานต่อน้ำท่วมในข้าวขาวดอกมะลิ105 ณ ปัจจุบัน เราได้ปรับปรุงข้าวขาวดอกมะลิให้ทนต่อน้ำท่วมได้นานถึง 21 วัน ในระยะเวลาดังกล่าวถ้าน้ำลดลง ต้นข้าวสามารถฟื้นตัวและออกรวงให้ผลผลิตได้เช่นเดียวกับสภาพปกติ นับเป็นความหวังของเกษตรกรไทยในยุคที่ปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ


ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่ทนต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นแมลงศัตรูธรรมชาติที่สำคัญที่ทำให้ผลผลิตข้าวลดต่ำลงทั้งในเขตนาน้ำฝนและนาชลประทาน การปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีความต้านทานต่อแมลงดังกล่าวเป็นเป้าหมายระดับต้นของโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวของประเทศไทยและในอีกหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ามีอย่างน้อยสองยีนต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพันธุ์ ABHAYA ซึ่งสองยีนนั้นอยู่บนโครโมโซมที่ 6 และ 12 ข้อมูลดังกล่าวทำให้สามารถเลือกใช้โมเลกุลเครื่องหมายสำหรับช่วยในการคัดเลือกความต้านทานได้ถูกต้อง อันจะนำไปสู่การปรับปรุงพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ และร่นระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวลง


การปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ให้ต้านทานโรคขอบใบแห้ง
โรคขอบใบแห้ง (bacterial leaf blight, BLB) เกิดจากเชื้อสาเหตุ Xanthomonas oryzae pv. oryzae เป็นโรคที่สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตข้าวอย่างมาก อาจทำให้ผลผลิตลดลงได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โรคนี้มักพบระบาดในเขตที่น้ำท่วมหรือบริเวณที่ลุ่ม ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวคุณภาพดีแต่มีความอ่อนแอต่อโรคหลายชนิดที่สำคัญคือโรคขอบใบแห้ง


ขาวดอกมะลิ 105 กับความทนแล้ง
ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของไทย เกษตรกรแถบนี้จะอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติในการเพาะปลูก โดยเริ่มปลูกในราวเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวราวเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งในแต่ละปีมักประสบปัญหาความไม่แน่นอนของปริมาณและการกระจายตัวของฝน จึงเกิดสภาพน้ำท่วมและฝนแล้งเป็นประจำ ทั้งนี้ความแห้งแล้งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระยะของการเพาะปลูก คือต้นฤดู กลางฤดูหรือปลายฤดูปลูก หรือถ้าปีไหนแล้งจัดก็อาจจะแห้งแล้งทั้งต้นและปลายฤดูปลูกเป็นต้น ซึ่งการเกิดสภาวะแล้งในระยะที่ข้าวกำลังออกรวงนั้นทำให้ผลผลิตข้าวลดลงอย่างมาก ซึ่งในปีที่แล้งจัดเกษตรกรอาจจะไม่ได้ผลผลิตข้าวเลย จึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงขาวดอกมะลิให้สามารถเจริญเติบโต และให้ผลผลิตได้แม้อยู่ภายใต้สภาพแล้ง



http://dna.kps.ku.ac.th/index.php/บทความของศูนย์/เมื่อข้าวทนต่อโรค.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 08/12/2011 2:00 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,379. ม.เชียงใหม่จับมือแม่โจ้ ปรับปรุงข้าวหอมมะลิ ด้วยเทคนิคลำไอออนนาโน


ข้าวหอม เป็นข้าวเมล็ดยาวและมีกลิ่นหอมหลังจากที่หุงแล้ว ข้าวหอมมีหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงของไทยคือ ข้าวหอมดอกมะลิ 105 เป็นข้าวที่มีความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นมากทุกปี เฉลี่ยปีละ 4-5 ล้านตัน ส่งออกมากกว่า 120 ประเทศ ข้าวหอมมะลิของไทยเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือในด้านคุณภาพ จากตัวเลขการส่งออกในปี 2547 ส่งออกประมาณ 7.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 76,368 ล้านบาท

ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดคือ ความหอมของข้าวหอมมะลินั้นเป็นสารหอมระเหยที่หายไปได้ ดังนั้น การรักษาความหอมของข้าวหอมมะลิ ควรเก็บข้าวไว้ในที่เย็น อุณหภูมิประมาณ 15 องศาเซลเซียส เป็นข้าวที่ไวต่อช่วงแสง จึงปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง ลำต้นค่อนข้างสูง จึงล้มง่ายก่อนการเก็บเกี่ยว

รศ.ดร.สมบูรณ์ อนันตลาโภชัย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า การปรับปรุงพันธุ์พืชโดยวิธีก่อกลายพันธุ์ถือว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก จึงเกิดแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีลำไอออนพลังงานต่ำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 จึงได้รวบรวมทีมงานประกอบด้วย คุณบุญรักษ์ พันธ์ไชยศรี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ยู เหลียงเติ้ง และ ศาสตราจารย์ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ที่ปรึกษาโครงการจากศูนย์วิจัยนิวตรอนพลังงานสูง ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ และ ดร.รัฐพร จันทร์เดช มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อพัฒนาข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ใหม่ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดยทั่วไปการก่อกลายพันธุ์พืชจะใช้รังสีแกรมมา รังสีเอ็กซ์ แต่ปัจจุบันใช้เทคนิคล่าสุดคือ การใช้ลำไอออนพลังงานต่ำ เป็นเครื่องที่สร้างขึ้นเอง ราคาถูกกว่าต่างประเทศหลายเท่าตัว เป็นเครื่องเร่งอนุภาคมวลหนัก ขนาด 150 กิโลวัตต์ วิธีการทำงานโดยอาศัยอนุภาคที่มีประจุ เช่น ไอออนของไนโตรเจนหรืออาร์กอน ที่ถูกเร่งให้เกิดพลังงานสูงขึ้นภายใต้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้อนุภาคเคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายคือ เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิด้วยความเร็วสูงในภาวะสุญญากาศ เมื่ออนุภาคกระทบกับเป้าหมายจึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางเคมี โดยไม่เป็นอันตรายที่โครงสร้างและพื้นผิว อนุภาคของประจุจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงลักษณะการเรียงตัวของสารพันธุกรรมภายในเซลล์ ชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ จึงเรียกข้าวที่กลายพันธุ์นี้ว่า ข้าวหอมมะลินาโน

ประโยชน์ของข้าวหอมมะลินาโน หลังจากผ่านกระบวนการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ของข้าวหอมมะลิแล้ว ได้นำไปทดลองปลูก ผลปรากฏว่า ได้สายพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์ มีลักษณะที่แตกต่างกันคือ สายพันธุ์ต้นเตี้ย สายพันธุ์ต้นสูง และสายพันธุ์ต้นเตี้ย เมล็ดดำ โดยทั้ง 3 สายพันธุ์ เป็นพันธุ์ที่ไม่ไวแสง สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี

สายพันธุ์ต้นเตี้ย จะช่วยให้ลำต้นไม่ล้มง่าย เก็บเกี่ยวสะดวก
สายพันธุ์ต้นสูง เป็นพันธุ์ที่ออกรวงเร็ว มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก มีประโยชน์ต่อการผลิตเม็ดเลือดแดงธาตุแมงกานีส ช่วยในการสร้างเม็ดโลหิตแดง กระดูก ควบคุมการทำงานของเอนไซม์ ธาตุสังกะสี ช่วยควบคุมระบบประสาท สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ป้องกันอนุมูลอิสระ

สายพันธุ์ต้นเตี้ยและเมล็ดดำ เป็นพันธุ์ที่ออกรวงได้เร็ว เมล็ดข้าวสีน้ำตาลอมขาวคล้ายข้าวก่ำ กลิ่นหอม รสชาติอร่อยและนุ่มนวล

ความสำเร็จจากการปรับปรุงข้าวหอมมะลินาโนดังกล่าว ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2549 จาก สกว. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. (053) 943-333, (053) 941-303, (081) 595-0597, (053) 943-346

โดยธงชัย พุ่มพวง


http://pre-rsc.ricethailand.go.th/knowledge/6.htm
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 08/12/2011 2:23 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,380. เตือนอีสานระวัง ข้าวเรื้อ/ข้าวปน ในข้าวหอมมะลินาปี



สศก.เตือนเกษตรกรระวังปัญหา ข้าวเรื้อ/ข้าวปน ในข้าวหอมมะลิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นและใช้พันธุ์ข้าวชัยนาท 1 และปทุมธานี 1 ในนาปรังปลูกสลับข้าวหอมมะลินาปี อาจส่งผลให้เกิดการปนเปื้อน ทำให้ข้าวหอมมะลิไม่ตรงตามมาตรฐานข้าวส่งออก


ข้าวหอมมะลิ หมายถึง ข้าวหอมมะลิ 105 และข้าว กข 15 เป็นข้าวที่ปลูกในฤดูนาปี ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดีที่สุดของไทยและส่วนใหญ่ปลูกอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิคุณภาพดี หอมนุ่ม เหนียว และเมล็ดเรียวยาว เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ และเป็นสินค้ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ให้มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยต้องมีข้าวหอมมะลิไม่น้อยกว่า 92% หรือให้มีข้าวชนิดอื่นปนได้ไม่เกิน 8%


ปัจจุบันพบว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นจนทำให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวนาปรังได้เพิ่มขึ้น จาก 10 ปีที่ผ่านมาการปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นจาก 0.444 ล้านไร่ ในปี 2542 เป็น 1.263 ล้านไร่ ในปี 2551 และผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 0.420 ล้านตันข้าวเปลือก เป็น 0.685 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 6.71 และ 4.00 ตามลำดับ โดยคาดว่าในปี 2552 ก็มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังประมาณ 1.164 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 0.629 ล้านตัน ซึ่งพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังมากที่สุดจะอยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครราชสีมาประมาณ 0.263 0.146 และ 0.129 ล้านไร่ แต่ที่สำคัญคือ ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้โดยเฉพาะมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ประมาณ 0.123 และ 0.116 ล้านไร่ พันธุ์ข้าวที่เพาะปลูกในนาปรังส่วนใหญ่เป็นข้าวพันธุ์ ชัยนาท 1 ปทุมธานี 1 และพันธุ์ข้าวอื่นๆ ที่ เกษตรกรสามารถหาซื้อได้ตามโรงสีที่อยู่ในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการจำนำและไม่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกกับภาครัฐฯ ที่อยู่ใกล้บ้าน

การเพิ่มรายได้โดยการทำนาปรังของเกษตรกรเป็นเรื่องที่ดี แต่การเก็บเกี่ยวและขนส่งข้าวนาปรังดังกล่าว อาจมีข้าวเปลือกตกหล่นลงพื้นอาจก่อให้เกิดข้าวเรื้อเมื่อเกษตรกรทำนาปี เกษตรกรที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 หรือ กข 15 นาปีจะต้องระวังในเรื่องนี้ให้มาก เพราะข้าวชัยนาท 1 และข้าวปทุมธานี 1 มีลักษณะทางกายภาพเหมือนข้าวหอมมะลิมากซึ่งยากต่อการมองเห็นด้วยสายตา หากปนเปื้อนมากับข้าวหอมมะลิแล้ว จะทำให้ข้าวหอมมะลิไม่ได้มาตรฐานตามมาตรฐานของ มกอช. และมาตรฐานการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ท้ายสุดข้าวเปลือกของเกษตรกรจะถูกตัดราคาหรือพ่อค้าอาจไม่รับซื้อเป็นข้าวหอมมะลิแต่ซื้อเป็นข้าวเจ้าธรรมดาทั่วไปได้


ดังนั้นการเพาะปลูกข้าวนาปี หรือปีต่อๆไปควรระวังเรื่องเรื้อและข้าวปนในนาข้าวหอมมะลิ 105 และ กข 15 เพื่อเป็นการรักษาข้าวคุณภาพดีของไทย ทั้งนี้เกษตรกรควรปรึกษาเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลเพื่อป้องกัน เพราะกำจัดได้ยากกว่าการปลูกสลับกับข้าวเหนียวนาปรัง ซึ่งสามารถใช้สายตาสังเกตได้ หรือโรงสีอาจมีเครื่องยิงเมล็ดข้าวเหนียวออกจากข้าวหอมมะลิได้ แต่ข้าวปทุมธานี 1 ต้องตรวจสอบ DNA เท่านั้นจึงจะทราบ ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก พ่อค้าอาจใช้เป็นเหตุตัดราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 105 ของเกษตรกรทั้งที่ไม่ได้ทำนาปรังด้วย


http://www.oae.go.th/ewtadmin/ewt/oae_baer/ewt_news.php?nid=379&filename=index
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 09/12/2011 5:17 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,381. ความลับในถังโอ๊ค หมักไวน์


หลายคนอาจยังไม่ทรายว่าไม้โอ๊คสำคัญอย่างไรในการหมักไวน์ โดย เจมี่ กู๊ด

ไม้โอ๊คเป็นสิ่งที่สำคัญมากในกระบวนการทำไวน์ แต่การค้นพบประโยชน์ของถังไม้โอ๊คต่อรสชาติของไวน์น่าจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว เนื่องจากถังโอ๊คเป็นภาชนะที่ดีที่สุดในการเก็บและขนส่งไวน์ ส่วนสรรพคุณที่มีต่อน้ำไวน์นั้นถือเป็นโบนัสพิเศษ แต่อย่างไรก็ดี ผลดีที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญนี้ก็มีความสำคัญมาก ไวน์แดงส่วนใหญ่ต้องหมักในถังโอ๊คจึงจะได้รสชาติอย่างที่ควร เช่นเดียวกับไวน์ขาวหลาย ๆ ชนิด หากไม่มีไม้โอ๊ค รสชาติของไวน์จะต่างจากที่เราดื่มกันมากที่เดียว แม้ในกรณีที่ใช้ถังไม้โอ๊คค่อนข้างเก่า ซึ่งไม่สู่มีผลโดยตรงต่อรสไวน์อย่างถังใหม่ เพราะถังไม้โอ๊คช่วยให้ไวน์ที่บรรจุอยู่ข้างในได้สัมผัสกับออกซิเจนปริมาณเล็กน้อยซึ่งเป็นขึ้นตอนที่สำคัญในการทำไวน์

เหตุที่ไม่โอ๊คเป็นไม้ที่เหมาะต่อการทำถังหมักไวน์นั้นเป็นเพราะไม้ชนิดนี้ความแข็งแรงทนทานสามารถทำเป็นถังที่กันน้ำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ไม้โอ๊คจะทำปฏิกิริยาทางเคมีกับไวน์ ส่งผลให้ไวน์มีโครงสร้างและรสชาติดีขึ้นด้วยเหตุนี้ แม้ว่าโลกเราจะก้าวไกลทางเทคโนโลยีสักเพียงใด โรงไวน์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่เลิกใช้ถังไม้โอ๊ค นอกจากนี้ ชนิดของถังที่เลือกใช้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และผู้ผลิตไวน์ฝีมือดี ๆ จะจู้จี้เรื่องถังไวน์ที่ใช้มากพอ ๆ กับองุ่นที่นำมาทำไวน์เลยทีเดียว

ไม้โอ๊คที่นำมาทำถังไวน์แบ่งได้หลายประเภทตามแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ แต่ปกติจะแบ่งเป็นไม้โอ๊ค

ฝรั่งเศสกับไม้โอ๊คอเมริกัน โดยไม้โอ๊คอเมริกันเป็นพืชอีกพันธุ์หนึ่งที่มีคุณลักษณะแตกต่างจากโอ๊คฝรั่งเศสอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ไม้โอ๊คฝรั่งเศสยังแบ่งย่อยออกไปอีก ว่าเป็นโอ๊คจากป่าใด แคว้นใด มิหนำซ้ำ ช่างทำถังโอ๊คแต่ละคนยังมีวิธีทำถังเป็นของตัวเอง ความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างพันธุ์ไม้โอ๊ค ผลกระทบจากสภาพแวดล้อมและน้ำมีอมนุษย์ทำให้ศาสตร์การทำถังไวน์เป็นเรื่องซับซ้อนที่ต้องศึกษาและฝึกฝนเป็นเวลานาน

ไม้โอ๊คที่จะนำมาทำถังไวน์ต้องผ่านการหมักบ่มจนได้ที่เพื่อให้มีปริมาณความชื้นเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปใช้ และเพื่อกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่สำคัญ การบ่มไม้โอ๊คใช้เวลาสองถึงสามปี และเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความสมดุลพอดี ต้องทิ้งไม้โอ๊คไว้นานเพียงพอแต่ไม่นานเกินไป ส่วนสถานที่ที่ใช้มักเป็นที่กลางแจ้ง หากปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เอื้ออำนวยไม้โอ๊คนั้นก็จะมีสรรถคุณผิดเพี้ยนไป ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังไวน์ที่หมักในถังโอ๊คใบนั้นด้วย

ถังไวน์ไม่ได้มีผลต่อรสของไวน์โดยตรง แต่ผลกระทบที่สำคัญต่อการหมักไวน์ที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงเกิดจากการที่ไวน์ได้รับออกซิเจนในปริมาณที่กำหนด โดยปกติ คนทำไวน์จะพยายามทำทุกวิถีทางไม่ให้ไวน์สัมผัสกับอากาศ แต่ในกรณีนี้การทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในปริมาณต่ำมากอย่างที่เกิดกับไวน์ในถังโอ๊คกลับเป็นสิ่งที่มีคุณอย่างยิ่ง

ทั้งนี้มิใช่ว่าใคร ๆ ก็ชอบรสที่ไม้โอ๊คใหม่ฝากไว้กับไวน์ในถัง ไวน์บางประเภทมีความเข้มสูงพอที่จะดูดซับสารประกอบจากไม้โอ๊คใหม่โดยไม่ถูกสารเหล่านี้กลบรสหมด แต่ไวน์อีกหลาย ๆ ประเภทก็ควรจะหมักในถังโอ๊คที่ผ่านการใช้งานมาแล้วสักครั้งสองครั้ง หรือสามครั้งจึงจะดีไม่เช่นนั้นน้ำไวน์ที่ได้ ก็จะมีกลิ่นถังโอ๊คโดดเด่นกว่ากลิ่นอื่น

คุณผู้อ่านอาจมีคำถามว่ารสชาติของไม้โอ๊คที่ปนอยู่ในไวน์เป็นอย่างไร คำตอบก็คือ รสจะต่างกันไปตามชนิดของไม้ ถังไม้โอ๊คฝรั่งเศสที่ใหม่เอี่ยมมักจะทำให้ไวน์มีรสของเครื่องเทศและมีกลิ่นควันจาง ๆ เหมือนผ่านการย่างหรืออบ บางครั้งก็มีกลิ่นวานิลลาปนอยู่นิด ๆ ส่วนไม้โอ๊คอเมริกันมักมีกลิ่นรสชัดกว่า ดื่มแล้วรู้สึกว่ามีรสเครื่องเทศผสมวานิลลา รสไวน์ออกหวานชัดเจนและบางทีก็มีกลิ่นมะพร้าวปนอยู่ด้วย น่าเสียดายที่มีไวน์จำนวนไม่น้อยที่ดูดซับกลินรสของไม้โอ๊คมามากเกินไป โดยเฉพาะไวน์จากแคลิฟอร์เนีย ออสเตรเลีย และสเปน ไวน์เหล่านี้ดื่มแล้วจะรู้สึกว่าเหมือนกินไม้เข้าไป เท่ากับเสียของไปอย่างน่าเสียดาย

คนทำไวน์เก่ง ๆ จะพยายามใช้ถังโอ๊คมาช่วยเพิ่มความซับซ้อนและโครงสร้างของไวน์โดยที่คนดื่ม ดื่มแล้วไม่ทราบว่าคนทำไวน์ใช้ถังไม้โอ๊คใหม่ในการหมัก มีไวน์จำนวนมากที่ระบุบนฉลากด้านหลังว่าหมักในถังโอ๊คประเภทใด ข้อมูลนี้มีประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาผลกระทบของไม้โอ๊คต่อไวน์ หากคุณอยากจะลองศึกษาว่าการหมักด้วยถังไม้โอ๊คมีผลอย่างไรก็ขอแนะนำให้เปรียบเทียบไวน์ริโอฆา เรเซร์บา (Rioja Reserva) ซึ่งมักจะหมักในถังไม้โอ๊คอเมริกันเป็นเวลานาน กับไวน์ริโอฆาที่ราคาถูกกว่าและไม่ไดหมักในถังโอ๊ค จากนั้นลองเทียบกับไวน์บอร์โดซ์ อายุน้อย ๆ ซึ่งมักจะหมักในถังไม้โอ๊คฝรั่งเศสใหม่เอี่ยม ไม่ผ่านการใช้งานมาก่อน หรือไม่เช่นนั้นก็ลองเทียบไวน์ชาร์ดอนเนย์จากแคลิฟอร์เนียกับไวน์ชาบลีส์ ซึ่งมักไม่ผ่านการหมักในถังโอ๊ค การทดลองเปรียบเทียบเช่นนี้จะช่วยให้คุณทราบว่าคุณชอบดื่มไวน์ที่มีรสของไม้โอ๊คผสมอยู่หรือไม่ และถ้าหากว่าชอบรสนั้น คุณควรจะดื่มไวน์ที่หมักในถังไม้โอ๊คฝรั่งเศสหรืออเมริกันมากกว่ากัน เพื่อที่ครั้งต่อไปจะได้เลือกไวน์ได้ถูกปากถูกใจตัวเองยิ่งขึ้น

ถ้าไม้โอ๊คมีประโยชน์มหาศาลแต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะราคาที่ค่อนข้างแพงและการดูแลรักษาที่ไม่ง่ายเลย ทุกวันนี้ผู้ผลิตไวน์หลายรายหันมาใช้เศษไม้โอ๊ค แถบคาดถังโอ๊คและแม้กระทั่งโอ๊คสกัดชนิดเหลวเติมลงในไวน์ เพื่อให้ไวน์ราคาถูกมีกลิ่นรสซับซ้อนขึ้นเหมือนไวน์ดี ราคาแพง ๆ ผลของการทำเช่นนี้มีทั้งบวกและลบ แต่มีน้อยครั้งที่การทำเช่นนี้จะสามารถทดแทนการใช้ถังไม้โอ๊คหมักไวน์โดยสิ้นเชิง

ขณะนี้ยังมีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง และคุณภาพของไวน์ที่ได้จากการแต่งกลิ้นโอ๊คเทียมก็พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีคำถามว่า ฤาถังไม้โอ๊คที่อยู่คู่กับไวน์มานานแสนนานจนเหมือนจะขาดกันไม่ได้ จะใกล้ถึงกาลอวสานเสียแล้วในวันนี้




ที่มา : My Favorite Restaurants 2006
http://www.ecookingfood.com


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 08/01/2023 7:42 am, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 09/12/2011 6:02 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,382. การผลิตสาหร่ายเกลียวทอง

การผลิตสาหร่ายเกลียวทอง
Commercial Spirulina Cultivation


สาหร่ายเกลียวทอง คืออะไร
สาหร่ายเกลียวทอง (Spirulina) เป็นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน จัดเป็นพืชชื้นต่ำ (prokaryote) มีหลายเซลล์เรียงตัวกันเป็นเส้นสาย, บิดเป็นเกลียวที่เรียกว่า ทรัยโคม (trichome) ไม่มีกิ่งก้าน ไม่แตกแขนง เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมต่างกัน ขนาดรูปร่าง และลักษณะเกลียวจะแตกต่างกันไป

โครงสร้างผนักเซลล์มีความหนา 40-60 นาโนเมตร ประกอบด้วยผนังย่อย 4 ชั้น, ชั้นในสุดมีสาร b 1, 2-glucan เป็นองค์ประกอบ ซึ่งถูกย่อยได้ยาก ชั้นถัดมามีความคงตัวสูงเป็นสารประกอบ peptidoglycan, ส่วนอีกสองชั้นเป็นสารประกอบ protein fibrils และ glycoprotein ไม่พบสารประกอบพวกเซลลูโลส ภายในเซลล์มีแกสแวคคูโวลขนาดใหญ่ทำให้ลอยตัวในน้ำได้ดี

ในธรรมชาติจะพบสาหร่ายเกลียวทองทั่วไปทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม โดยเฉพาะน้ำที่มีความเป็นด่างสูง (pH~10.5) แหล่งที่พบในทะเลสาปธรรมชาติขนาดใหญ่มีอยู่หลายประเทศ เช่น ทะเลสาปเท็กซ์โคโค ประเทศเม็กซิโก, ในทะเลสาปหลายประเทศของทวีปอาฟริกา และในทะเลสาปประเทศพม่า สายพันธุ์ที่พบมาก และมีการนำมาเพาะเลี้ยงในทางการค้า คือ S.platensis และ S.maxima


คุณค่าทางโภชนาการของสาหร่ายเกลียวทอง
สาหร่ายเกลียวทอง มีองค์ประกอบทางโภชนาการที่สำคัญต่อสุขภาพมากมาย ได้แก่ โปรตีนที่มีอยู่สูงถึงร้อยละ 62-68 พร้อมอุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิดและธาตุอหาารสำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะสารอาหารจำพวกพฤกษเคมี (phytonutrients) เป็นสารอาหารที่พืชสังเคราะห์ขึ้นมา เช่น ไฟโคไซยานิน, คลอโรฟิลล์, เบต้า-คาโรทีน, กรดแกมมาลิโนลินิค (GLA), ไกลโคไลปิด, ซัลโฟไลปิด เป็นต้น สารอาหารเหล่านี้มีความสำคัญที่จะช่วยปรับสภาพความสมดุลของระบบในร่างกาย และช่วยเพิ่มภูมิต้านทานทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี


การผลิตสาหร่ายเกลียวทอง (ภาพที่ 1) มี 3 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ

1. การเพาะเลี้ยงสาหร่าย (algal cultivation)
สายพันธุ์สาหร่ายเกลียวทอง ที่เพาะเลี้ยงในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เป็นสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกมาจากคลังเก็บสายพันธุ์สาหร่าย ของห้องปฏิบัติการสาหร่าย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การเพาะเลี้ยงในห้องควบคุม นำสาหร่ายเกลียวทองที่ต้องการมาใส่ในหลอดแก้วปลายแหลมขนาด 200 มิลลิลิตร เพาะเลี้ยงในตู้ที่ควบคุมอุณหภูมิ 30oC ความเข้มข้นแสง 10-12 กิโลลักซ์ ช่วงเวลาให้แสง 16 ชม. และมืด 8 ชม. ให้อากาศที่มีแกสคาร์บอนไดออกไซด์ผสม 1-2% อาหารเพาะเลี้ยงใช้สูตรอาหาร Zarrouk’s ควบคุมการเจริญเติบโต โดยการวัดความเข้มเซลล์ (OD 560), pH, น้ำหนักแห้ง ฯลฯ และตรวจสอบการปนเปื้อนด้วยกล้องจุลทรรศน์

การเพาะเลี้ยงในอ่างขยายกลางแจ้ง ขยายหัวเชื้อสาหร่ายจากห้องควบคุม มาเพาะเลี้ยงกลางแจ้งในถาดโยก (Rocking tray) จำนวน 12 ถาดๆ ละ 6 ลิตร ใช้เวลาเพาะเลี้ยงประมาณ 1 สัปดาห์ จะส่งหัวเชื้อสาหร่ายทั้งหมดไปยังโครงการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองสวนจิตรลดา 3 ที่สวนอุไทยธรรม ขยายต่อในอ่างน้ำวน (Raceway ponds) ขนาด 250 ลิตร เพื่อเป็นกล้าเชื้อเริ่มต้นของอ่างผลิต

การเพาะเลี้ยงในอ่างผลิต (production ponds) เป็นอ่างซีเมนต์ขนาดใหญ่ จะใช้เวลาเพาะเลี้ยง 10-15 วัน จึงทำการเก็บเกี่ยว การเพาะเลี้ยงทุกขั้นตอนจะต้องควบคุมปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญของสาหร่ายให้เหมาะสม (ภาพที่ 2)

2. การเก็บเกี่ยว (harvesting)
การเก็บเกี่ยวสาหร่ายเกลียวทอง โดยใช้ผ้ากรองละเอียดขนาด 30-50 ไมครอน กรองและล้างน้ำจนสะอาด จะเก็บเกี่ยวหมดทั้งอ่าง ล้างอ่าง นำน้ำเลี้ยงที่ผ่านผ้ากรองกลับอ่างเติมกล้าเชื้อสาหร่าย, สารอาหาร และทำการเพาะเลี้ยงต่อไป

3. การทำแห้ง (drying)
นำสาหร่ายเกลียวทองที่ผ่านการกรอง มาอบแห้งด้วยตู้อบลมร้อน อุณหภูมิ 60-70oC เวลา 6-8 ชม. นำไปบดละเอียด บรรจุในถุงฟอลย์ และส่งไปห้องบรรจุแคปซูล

ผลิตภัณฑ์สาหร่ายเกลียวทองที่ผลิตออกมา จะผ่านมาตรวจคุณภาพความปลอดภัย และคุณค่าทางอาหารอย่างสม่ำเสมอ จากงานควบคุมคุณภาพและงานประกันคุณภาพ ของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

กิจกรรมโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและงานสาหร่ายประยุกต์ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

เป็นแหล่งคัดเลือกและเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายเกลียวทองบริสุทธิ์, ผลิตหัวเชื้อสาหร่ายบริสุทธิ์เพื่ออนุเคราะห์แก่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จัดฝึกอบรม ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ แก่เจ้าหน้าที่โครงการฯ ให้เรียนรู้เทคนิค และความสำคัญของการเพาะเลี้ยงสาหร่าย เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อการบริโภค

เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบระบบการเพาะเลี้ยงแบบอ่างน้ำวน, ระบบเก็บเกี่ยว และการทำแห้ง ที่มีประสิทธิภาพ ง่าย สะดวกต่อการปฏิบัติงาน. ให้คำปรึกษาปัญหาในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทอง และแปรรูปผลิตภัณฑ์






ขั้นตอนการผลิตสาหร่ายเกลียวทอง




คณะผู้วิจัย :
ณัฐภาส ผู้พัฒน์ 1, ลลิดา สุระรัตน์ชัย 2, รุจา สารคุณ 2, และ พรกมล คำหาญ2,
หน่วยงาน :
1. ฝ่ายจุลชีววิทยาประยุกต์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



http://www.rdi.ku.ac.th/kasetresearch52/01-celebrate/natpas/celebrate_00.html
2. งานสาหร่ายประยุกต์ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 09/12/2011 9:09 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,383. “ข้าวลูกผสม” ข้าวหอมพันธุ์น้ำลึกพันธุ์แรกของไทย

ในงานThailand Research Expo2011





ข้อมูล สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว


ข้าวลูกผสม คือ เมล็ดพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 ที่ได้จากการผสมข้ามระหว่างข้าวสายพันธุ์แท้ 2 สายพันธุ์ที่มีลักษณะดี เทคโนโลยีการผลิตข้าวลูกผสมเป็นการนำเอาหลักของความแข็งแรง หรือความดีเด่นของลูกผสม มาใช้ประโยชน์ เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมชั่วที่ 1 (F1 Seed) ที่ได้ เมื่อนำไปปลูกจะมีความดีเด่นในด้านผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ข้าวปกติ 20-30 เปอร์เซ็นต์ การใช้พันธุ์ข้าวลูกผสมปลูก จะต้องเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกฤดูปลูก เมล็ดในชั่วต่อไปมีการกระจายตัวไม่สามารถใช้ทำพันธุ์ต่อได้

กรมการข้าว ได้จัดให้มีการประชุมชี้แจงให้ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่เรื่อง “ข้าวลูกผสม” เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ณ แปลงนาของ เกษตรกร ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี มีเกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุมประมาณ 50 คน การให้ความรู้แก่เกษตรกรครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการพัฒนาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมดีเด่นเชิงพาณิชย์ ของสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ซึ่งเกษตรกรจะได้รับความรู้และเข้าใจในเรื่องข้าวลูกผสมเพิ่มขึ้น รวมทั้งรับทราบวิทยาการแบบใหม่ที่อยู่ในความสนใจของเกษตรกรโดยทั่วไปด้วย






จากการสรุปการประเมินการยอมรับของเกษตรกร ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี พบว่า หลังจากได้รับทราบความเป็นมาของข้าวลูกผสมแล้ว เกษตรกรชอบข้าวลูกผสม 40 ราย คิดเป็นร้อยละ 80 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด และไม่ชอบ 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด สาเหตุที่ชอบเพราะ ให้ผลิตสูง 23 ราย อายุพอเหมาะ 8 ราย ชอบลักษณะเมล็ด 6 ราย ชอบลักษณะรวง 28 ราย ชอบที่ไม่มีโรค 11 ราย ไม่ชอบ 5 ราย เพราะ เมล็ดพันธุ์ราคาแพง ไม่สามารถนำไปผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ในฤดูต่อไป ไม่มั่นใจในคุณภาพข้าว และตลาด 1 ราย หลังจากได้ชมข้าวลูกผสมแล้วเกษตรกรอยากได้เมล็ดพันธุ์ไปเพาะปลูก 43 ราย คิดเป็นร้อยละ 86 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด ไม่อยากได้เมล็ดพันธุ์ไปเพาะปลูก 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด ซึ่งปกติเกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์จากร้านค้า เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้พันธุ์เอง และจากศูนย์วิจัยข้าว/ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ในการผลิตข้าวลูกผสมเกษตรกรต้องการให้ทางราชการผลิต 43 ราย คิดเป็นร้อยละ 86 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด หากเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมราคากิโลกรัมละ 100 บาท เกษตรกรต้องการซื้อข้าวลูกผสม 14 ราย คิดเป็นร้อยละ 28 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด และไม่ต้องการซื้อข้าวลูกผสม 31 ราย คิดเป็นร้อยละ 62 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด







ที่มาและความสำคัญ
ข้าวลูกผสม คือ เมล็ดพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 ที่ได้จากการผสมข้ามระหว่างข้าวสายพันธุ์แท้ 2 สายพันธุ์ที่มีลักษณะดี เมื่อนำไปปลูกแล้วไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำพันธุ์ต่อได้ จะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผสมใหม่ทุกฤดู เทคโนโลยีการผลิตข้าวลูกผสมเป็นการนำเอาหลักของความแข็งแรง หรือความดีเด่นของลูกผสม (Hybrid vigor หรือ Heterosis) มาใช้ประโยชน์ เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมชั่วที่ 1 (F1 Seed) ที่ได้ เมื่อนำไปปลูกจะมีความดีเด่นในด้านผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ข้าวปกติ 20-30 เปอร์เซ็นต์ การใช้พันธุ์ข้าวลูกผสมปลูก จะต้องเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกฤดูปลูก เมล็ดในชั่วต่อไปมีการกระจายตัวไม่สามารถใช้ทำพันธุ์ต่อได้ ข้าวเป็นพืชผสมตัวเองอย่างสูง (Strictly self-pollination) ดังนั้นโอกาสที่จะผสมข้ามจึงมีน้อย จำเป็นต้องอาศัยวิธีการทำให้พันธุ์ข้าวที่จะใช้เป็นต้นแม่มีละอองเกสรตัวผู้หรือเรณูเป็นหมันก่อนแล้วนำมาผสมกับพันธุ์หรือสายพันธุ์ข้าวปกติที่มียีนแก้ความเป็นหมัน และมีความเหมาะสม ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศแรกที่ประสบผลสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีข้าวลูกผสม ปัจจุบันประเทศจีนมีพื้นที่ปลูกข้าวลูกผสมในเชิงการค้ามากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดของประเทศ หรือมีพื้นที่ปลูกข้าวลูกผสมประมาณ 100 ล้านไร่ และมีประเทศอื่น ๆ ที่สามารถปลูกข้าวลูกผสมในเชิงการค้าได้ ในระยะต่อมา คือ อินเดีย เวียดนาม บังคลาเทศ และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ จากการพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมของประเทศไทยโดยสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา สามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวลูกผสมจนได้สายพันธุ์ดีโดยใช้ระบบ 3 สายพันธุ์ ซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวพันธุ์ผสมประมาณร้อยละ 20 ปัจจุบันข้าวลูกผสมสายพันธุ์ดีที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทย โดยกรมการข้าว ซึ่งมีศักยภาพผลผลิตพอที่จะผลิตในเชิงการค้าได้มี 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์ PTT06001H เป็นพันธุ์ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสงให้ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 996 กิโลกรัมต่อไร่ ความสูง 120-130 เซนติเมตร อายุ 115-120 วัน มีปริมาณแอมิโลส 27% และสายพันธุ์ PTT06008H ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสงให้ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 1,073 กิโลกรัมต่อไร่ ความสูง 116 เซนติเมตร อายุ 113 วัน มีปริมาณแอมิโลส 22-24%

อย่างไรก็ตามพันธุ์ข้าวลูกผสมไทยยังคงต้องมีการพัฒนาต่อไป ความสำเร็จในการใช้พันธุ์ลูกผสมในประเทศขึ้นอยู่กับการพัฒนาสายพันธุ์พ่อแม่ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ผลผลิตของข้าวลูกผสมจะต้องสูงกว่าพันธุ์ข้าวปกติอย่างเด่นชัด คุณภาพของข้าวลูกผสมต้องใกล้เคียงคุณภาพของข้าวไทย และพื้นที่ปลูกต้องมีระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การพัฒนาและปรับใช้เทคนิคให้ง่ายและเหมาะสำหรับคู่ผสมที่มีผลผลิตดีเด่น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมสายพันธุ์ดีให้มีปริมาณมากขึ้น เพียงพอแก่ความต้องการในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตข้าวลูกผสมแต่ละพันธุ์ที่จะปลูกในแต่ละแหล่งปลูกเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาต่อไป เพื่อยกระดับผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และที่สำคัญอย่างยิ่งขาดไม่ได้ คือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านข้าวลูกผสมสู่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องข้าวลูกผสมเพิ่มขึ้น


สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว จะนำองค์ความรู้ "ข้าวลูกผสม" และ "ข้าวกข 45" ซึ่งเป็นข้าวหอมพันธุ์น้ำลึกพันธุ์แรกของไทย ไปจัดแสดงในงาน Thailand Research Expo 2011 ในวันที่ 26 -30 ส.ค. นี้ ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ล จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)



เบอร์ติดต่อนักวิจัย สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว
นางอัญชลี ประเสริฐศักดิ์ โทร 085-4848624
นายสุนิยม ตาปราบ โทร 081-8035934


http://www.kehakaset.com/index.php?option=com_content&view=article&id=452:2011-08-11-08-37-59&catid=38
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 11/12/2011 10:05 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,384. หญ้าที่โตเร็วที่สุดในโลก







ความแตกต่างระหว่างหญ้าเนเปียร์ และ เนเปียร์ลูกผสม
สองภาพข้างบนนี้เป็นเนเปียร์ลูกผสม ให้สังเกตขนาดของใบจะใหญ่กว่า แต่ลำต้นจะจะงอกเอียงไม่ตั้งตรง การแตกหน่อจะมีจำนวนมากกว่ากัน การแก้ลำต้นเอียงให้งอกตั้งตรงทำได้โดยการตัด 2 ครั้ง การแตกหน่อครั้งต่อๆไปก็จะตั้งตรงเองตามธรรมชาติ

เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในบ้านเรา โดยเฉพาะผู้ที่เลี้ยงแพะ แกะ วัว ควาย คงจะเป็นที่รู้จักกับหญ้าเนเปียร์เป็นอย่างดี เพราะเป็นหญ้าที่เจริญเติบโตได้ดี มีคุณค่าทางอาหารสูง สัตว์ชอบกิน มีชื่อทางวิชาการว่า Pennisetum purpureum แต่ปัจจุบันนี้ได้การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ขึ้นใหม่เป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างPennisetum purpureum กับ Pennisetum alopecuroides (Chinese Pennisetum) มีลักษณะของใบและลำต้นใกล้เคียงกับต้นอ้อยมาก มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าเนเปียร์ที่ปลูกๆกันอยู่ทุกวันนี้







รูปทางด้านบนทั้ง 2 ภาพ คือเนเปียร์สายพันธุ์ดั้งเดิมที่ปลูกกันทั่วไป

หญ้าเนเปียร์ลูกผสมพันธุ์ใหม่นี้ทางการจีนตั้งชื่อให้ว่า ซินสวินฮว๋างจู๋ฉ่าว (新型皇竹草) แปลว่า หญ้าไผ่ราชันย์ชนิดใหม่ (ภาษาไทยอาจเรียก เนเปียร์ใหม่ก็ได้) เป็นหญ้าพันธุ์ลูกผสมระหว่างหญ้า เซี่ยงฉ่าว (象草 / หญ้าช้าง / หญ้าเนเปียร์ ) กับ หญ้า หลางไหว่ฉ่าว (狼尾草 / หญ้าหางหมาจิ้งจอก / ) ทางหน่วยงานพืชอาหารสัตว์กว่างซี (กวางสี) ได้นำมาปลูกและทำการพัฒนาปรับปรุงพันธ์ให้ดีกว่าเดิม และทำการส่งเสริมกระจายพันธุ์ไปทั่วประเทศ มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับหญ้าสายพันธุ์นี้ทางสื่อหลายชนิด โดยเฉพาะทางเว็บไซท์อินเตอร์เน็ทจำนวนมาก ขอหยิบยกมาให้ทัศนาเป็นตัวอย่างจากหน่วยงานทางการของเมืองกว่างเจา (广州市 / กวางเจา) มณฑล กว่างตง (广东省 /กวางตุ้ง) ดังนี้

http://www.gdhzc.com/tp.htm

บนหน้าเว็บไซท์นี้ จะมีรูปภาพระยะต่างๆของต้นหญ้า ฮว๋างจู๋ฉ่าว ให้ได้ชม และท่านสามารถ คลิกเข้าไปดูการใช้หญ้าชนิดนี้เป็นอาหารสดเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆได้จากหัวข้อเรื่องที่มีเลข 1 2 3 ......... กำกับ เรื่อยไป ดูรูปภาพบรรยายแทนหนังสือภาษาจีนบันเทิงใจไปพลางๆ ส่วนรายละเอียดที่มีอีกมากมายนั้น ทางเว็บไซท์ของเราจะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป



ฮว๋างจู๋ฉ่าว ที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตสมบูรณ์หนาแน่น



ลำต้นที่อวบหนาเหมือนลำต้นอ้อย



ปลูกไว้เลี้ยงไก่พื้นเมือง



นำไปปลูกลงกลางคอกเลี้ยงนากหญ้า



หญ้าหางหมาป่าที่ใช้เป็นสายพันธุ์ในการปรับปรุงพันธุ์






http://www.eco-agrotech.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538654340&Ntype=2
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 11/12/2011 10:31 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,385. ข้าวหอมสายพันธุ์ใหม่ที่กว่างซี


ศูนย์วิจัยข้าวเอกชน ฮว๋างสื้อ (黄氏水稻研究所) เมืองเสี้ยงเจา (象州) เขตปกครองตนเองมณฑล กว่างซี (广西自治区 / กวางสี) ได้ทำการวิจัยผสมพันธุ์ข้าวหอมสายพันธุ์ใหม่ ข้าวหอมลูกผสมสามสายพันธุ์นี้เป็นข้าวหอมแดง มีชื่อเรียกว่า ปินหลางหง (槟榔红 / หมากแดง) เป็นข้าวพันธุ์ลูกผสมที่นำเอาข้าวป่าที่ดอกเพศผู้ไม่พัฒนา แหย่ป้าย (野败型不育) มาทำการปรับปรุงพันธุ์ ดังนั้นเมล็ดข้าวพันธุ์ลูกผสมนี้จึงเป็นข้าวที่มียีนดอกเพศผู้ไม่พัฒนาตามไปด้วย นับเป็นพันธุ์ข้าวสีแดงที่มีกลิ่นหอมแรกสุดในประเทศจีน

ข้าวหอมแดงลูกผสมที่ว่านี้ ออกรวงแทงดอกดีมาก คุณภาพเมล็ดข้าวดี มีความต้านทานต่อสภาพแวดล้อมที่ดีอีกด้วย จากการนำเสนอในที่ประชุมข้าวโลกที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน เป็นเป้าที่สนใจของนักวิชาการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเป็นอย่างสูง ได้รับการยกย่องชมเชยในด้านคุณภาพและกลิ่นของข้าวสายพันธุ์นี้โดยทั่วกัน

จากการวิเคราะห์คุณภาพข้าว และคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรของกระทรวงเกษตรของประเทศ รวมทั้งหน่วยงานวิเคราะห์ฯ ของเขตปกครองตนเองกว่างซีเอง รายงานว่าข้าวหอมแดงดังกล่าวมีคุณค่าทางโภชนาหารสูง มีสารเสริมสุขภาพและตัวยาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าข้าวทั่วๆไป อาทิ ไวตามิน E เฟลวาโนน เบตาแคโรทีน และ กรดลีโนลีนิค โดยเฉพาะกรดลิโนลีนิคนั้นมีสูงกว่าข้าวธรรมดาถึงเท่าตัวเลยทีเดียว ส่วนไฟเบอร์นั้นมีมากกว่า 50 %ขึ้นไป







ข้าวหอมแดงลูกผสมพันธุ์นี้สีออกจำหน่ายเป็น 3 ชนิดด้วยกัน คือ
1. หงปินหลาง A (หมากแดง A) เป็นข้าวกล้อง (สีหยาบ) ถือเป็นข้าวสมุนไพรใช้บริโภคบำรุงสุขภาพ

2. หงปินหลาง B (หมากแดง B) เป็นกึ่งข้าวกล้อง เหมาะใช้หุงเป็นข้าวต้มบำรุงกำลังผู้ป่วยหลังพักฟื้นจากการรักษา คนสูงอายุ หญิงมีครรภ์ เด็กเล็ก มีประโยชน์ในการเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง

3. หงปินหลาง C (หมากแดง C) เป็นข้าวขัดขาวสำหรับบริโภคทั่วไป



http://www.eco-agrotech.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538649837&Ntype=2
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 11/12/2011 10:36 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

1,386. ซื้อแต่เตา แล้วมีแก๊สใช้ตลอดไป !


.....


เป็นเรื่องจริงและเป็นที่ฮือฮากล่าวขวัญกันทั่ว และเริ่มมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วทั้งประเทศจีน เป็นการนำเอาแก๊สชีวมวลที่เกิดจากพืชมาใช้แทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ร่อยหรอหมดเปลืองไปเรื่อยๆโดยไม่สามารถผลิตขึ้นมาใหม่ได้ แต่แก๊สที่นำมาใช้กับเตาชนิดนี้นั้น สามารถผลิตขึ้นมาทดแทนใช้ได้ตลอดเวลา เพราะผลิตขึ้นมาจากพืชทุกชนิด หรือจากสารอินทรีย์ที่ติดไฟได้ อย่างเช่นกระดาษ มูลสัตว์แห้งเป็นต้น โดยไม่ต้องเสียเวลาทำการย่อย บ่มหมัก เหมือนแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์หรือน้ำเสียจากโรงงานเกษตรอุตสาหกรรม



.....


จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และมุ่งมั่นในการหาแหล่งพลังงานทดแทนชนิดต่างๆเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์เรา เช่น การหุงต้มอาหาร การสร้างความอบอุ่นในอาคารบ้านเรือน การต้มน้ำอุ่นอาบ การผลิตพลังงานไฟฟ้าเป็นต้น จากความสำเร็จในการวิจัยนำเอาความรู้ทางด้าน ไบโอแมสแก๊สสิฟิเคชั่น มาประยุกต์กับการใช้งาน และประสบกับความสำเร็จในการสร้างเตาชนิดนี้ขึ้นมาใช้งานได้อย่างดี (ดูเว็บหัวข้อเรื่อง บอกอำลาควันไฟไปได้เลย / เตาแก๊สจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร) แต่ทว่ายังมีขนาดเทอะทะค่อนข้างใหญ่และมีส่วนประกอบแยกชิ้นหลายส่วน เหมาะที่จะใช้งานกับครัวเรือนในชนบท แต่เตาที่ได้ปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ มีขนาดเล็กกะทัดรัดตัวอันเดียว เหมาะต่อการใช้งานในครัวเรือนขนาดเล็กหรือในเมือง แค่ซื้อแต่ตัวเตา เชื้อเพลิงสามารถใช้วัสดุที่ติดไฟได้ที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วไป เช่นเศษไม้ และกระดาษหนังสือพิมพ์เก่า ฯลฯ เป็นเตาที่รักษาสิ่งแวดล้อม เป็นเชื้อเพลิงแก๊สที่สะอาด ไม่มีควันไม่มีกลิ่น ที่สำคัญก็คือช่วยประหยัดเงินและกำจัดสิ่งเหลือใช้ที่ทิ้งขว้างเป็นขยะรกโลกให้เกิดประโยชน์ และเป็นเตาสำรองเมื่อยามเตาใช้งานประจำด้วยแก๊ส LPG เกิดหมดกะทันหัน



http://www.eco-agrotech.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5321969&Ntype=2
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
ไปที่หน้า ก่อนนี้  1, 2, 3 ... 49, 50, 51 ... 72, 73, 74  ถัดไป
หน้า 50 จากทั้งหมด 74

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©