-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-นวตกรรมคนไทย เพื่อเกษตรกร
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - นวตกรรมคนไทย เพื่อเกษตรกร
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

นวตกรรมคนไทย เพื่อเกษตรกร

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
Pum_NWF_Rayong
สาวดาม
สาวดาม


เข้าร่วมเมื่อ: 29/07/2009
ตอบ: 177

ตอบตอบ: 21/09/2009 2:58 pm    ชื่อกระทู้: นวตกรรมคนไทย เพื่อเกษตรกร ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เสื้อฝนต้นยาง...นวัตกรรมคนไทยเพื่อชาวสวน




สภาวะราคายางที่ตกต่ำลงมาในช่วงนี้ ทำให้เกษตรกรเกิดปัญหาโดยอาจจะมีการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ บางคนก็โทษว่าราคายางที่ลดลงนี้ เพราะชาวสวนปลูกมากไป บางคนก็บอกว่าเป็นเพราะราคาน้ำมันที่ถูกลง โดยอ้างอิงว่าราคายางนั้นจะมีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมัน เพราะยางเทียมหรือยางสังเคราะห์ทำได้จากน้ำมันปิโตรเลียมนั่นเอง การที่ทำให้ชาวสวนมีรายได้เท่าเดิม ก็มีหลายวิธี การเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้มากขึ้นเป็น 1 ในกระบวนการที่พูดกันมาช้านาน ซึ่งความจริงแล้วก็คือ จะทำอย่างไรให้ยางแต่ละต้นมีน้ำยางไหลออกมามากกว่าเดิม ซึ่งก็จะช่วยทำให้รายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางไม่ลดลง ทั้งๆที่ราคาอาจจะลดลงในบางช่วง ยางพาราเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษก็คือการได้ น้ำยาง หรือที่เรียกว่า ผลผลิต นั้นได้มาจากการเข้าไปกรีดในแต่ละครั้ง ซึ่งถ้าหากเป็นการกรีดแบบระบบวันเว้นวัน หรือหมายถึงการกรีดแบบ 2 วัน/ครั้ง ถ้าครบกำหนดแล้วไม่เข้าไปกรีดเว้นอีก 2 วัน น้ำยางที่ไหลออกมา ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นดับเบิ้ล จำนวนครั้งหรือจำนวนวันในการกรีดเป็นตัวแปรทำให้ผลผลิตต่อต้นหรือต่อไร่มากขึ้น ปัญหาอุปสรรคของจำนวนครั้งในการกรีดที่สำคัญที่สุดก็คือ ฝน วันไหนฝนตกการเข้าไปกรีดยางไม่สามารถทำได้ นวัตกรรมที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือการออกแบบ เสื้อฝนต้นยาง เพื่อทำให้วันกรีดมีมากขึ้น

ยางกับการให้ผลผลิต
ประเทศไทยปลูกยางกันมาเกือบร้อยปี มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันมีพื้นที่อีกประมาณ 15 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ที่สามารถกรีดยางได้ประมาณ 10 ล้านไร่ ในแต่ละปีมียางดิบประมาณ 3 ล้านตัน ผลผลิตที่ได้เฉลี่ยตกประมาณ 270-280 กิโลกรัม/ไร่ ยางพาราจะเริ่มให้ผลผลิตได้หลังการปลูกลงในแปลงประมาณ 6 ปี ในช่วงแรกนี้เกษตรกรจำเป็นต้องหารายได้จากกิจกรรมอื่น เช่น การปลูกพืชแซม นั่นหมายความว่า ยางพาราจะทำเงินให้กับชาวสวน ก็ต้องอายุ 6 ปีไปแล้วนั่นเอง เมื่อเริ่มกรีดยางได้ หรือที่เรียกว่า เริ่มเปิดกรีด ชาวสวนจะเข้าไปกรีดยาง โดยปกติก็คือ วันเว้นวัน หรือ 2 วัน/ครั้ง โดยมากจะกรีดในเวลาเช้ามืด และเข้าไปเก็บในตอนเช้าเมื่อน้ำยางหยุดไหล ต่อจากนั้นก็จะเข้าสู่ระบบการทำยางแผ่น หรือยางข้นต่อไป น้ำยางที่ผ่านกระบวนการแล้วทำเป็นยางแผ่นนั้นก็จะเข้าสู่ระบบตลาดในราคาที่ประกาศอยู่ตามหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือแม้แต่ SMS ก็ได้ ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ราคายางดี กิโลกรัมละร่วมร้อย ปัจจุบันเหลือประมาณ 50 กว่าบาท ชาวสวนก็โอดครวญขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วย
การให้ผลผลิตยางพารานั้นจะมีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีที่ 6 ถึงปีที่ 25-30 ซึ่งเราเคยเปรียบว่ายางพาราเปรียบเสมือน พืชATM คือ อยากได้เงินก็เข้าไปกรีด พอบ่ายๆก็จะแลกเป็นสตางค์ได้ ชาวสวนมักนิยมการกรีดยางในระบบ 60/40 คือ เจ้าของสวนได้ 60 คนกรีดได้ 40 คิดเงินเป็นสัดส่วนไปเลย แต่บางโอกาสก็อาจเป็นระบบ 50/50 แล้วแต่ข้อตกลง ชาวสวนส่วนหนึ่งจะกรีดเอง แต่นายหัวที่มีสวนขนาดใหญ่ มักจ้างคนกรีด รายได้ของคนกรีดน่าสนใจ แต่มีข้อน่าสังเกตก็คือ รายได้จากการกรีดนั้น ไม่ได้เป็นการจ้างเหมา ไม่ได้เป็นเงินเดือน หรือไม่ได้เป็นรายได้ที่กำหนดตายตัว จะเป็นเรื่องของความสามารถในการกรีดแล้วได้น้ำยางมาก-น้อย แล้วเรื่องของราคา ถ้าคนกรีดมีความสามารถกรีดแล้วได้ผลผลิตสูงและราคายางดีก็จะทำให้มีรายได้สูงต่างกัน การกรีดระบบวันเว้นวันนี้ทำกันมานมนาน เพราะเชื่อว่าต้นยางกรีดทุกวันเดี๋ยวจะโทรมเลยจำเป็นต้องให้พักสักหนึ่งวัน แล้วรุ่งขึ้นค่อยไปกรีดใหม่ แต่การกรีดยางแบบวันเว้นวันนี้มิใช่หมายความว่า คนกรีดจะทำงานวันเว้นวัน ในสภาพทั่วไปแล้ว คนกรีดสามารถเข้าไปกรีดได้ทุกวันแบบสลับแปลง

ผลผลิตยางที่ได้ก็คือ จำนวนวันกรีด และปริมาณน้ำยางที่ออกมา เชื่อได้ว่ายางพันธุ์ดีนั้นจะให้น้ำยางต่อต้นต่อปีในปริมาณสูง อย่างน้อยๆก็สูงกว่ายางพันธุ์เก่าซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีให้เห็นอีกแล้ว เพราะกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางได้จัดการเปลี่ยนต้นยางเก่าให้เป็นต้นยางพันธุ์ใหม่มากว่า 40-50 ปี ยางพาราเป็นพืชแปลกตรงที่เราเก็บผลผลิตออกมาจากสวนซึ่งเป็นวัตถุดิบ หรือปริมาณธาตุอาหารแล้วน้อยมาก เพราะเราทำการเก็บเกี่ยวเพียงน้ำยางที่หยดออกมาจากเปลือกต้น จึงอาจกล่าวได้ว่ายางพาราเป็นพืชที่รักษาสมดุลได้ดีเพราะใบ กิ่งก้านสาขา ยังอยู่ในสวนอย่างน้อยๆก็ 25 ปีขึ้นไป ยางพาราเป็นพืชที่ปลูกกันมากในภาคใต้ รองลงมาก็คือ ภาคตะวันออก ซึ่งในปัจจุบันจะมีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนืออีกเป็นล้านไร่ การให้ผลผลิตในรูปน้ำยางนั้น ก็มีข้อเปรียบเทียบว่าภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จะสู้กับภาคใต้ได้หรือไม่ ถ้าจะว่ากันตัวต่อตัวว่ายางจะสมบูรณ์เติบโตดีก็คงต้องพูดว่าภาคใต้มีความเหมาะสม เพราะมีฝนตกมาก อากาศชื้น ดินดี แต่ถ้าลองเข้าไปพิจารณาให้ดี การที่มีฝนตกชุกอาจสร้างปัญหารเรื่องจำนวนวันกรีดน้อยกว่าภาคอื่นก็ได้ เรื่องของจำนวนวันกรีด จึงเป็นตัวกำหนดผลผลิตยางต่อไร่ต่อปีของเกษตรกรชาวสวน

เสื้อฝนต้นยาง กับจำนวนวันกรีด
โดยทั่วไปแล้วยางพาราเป็นพืชที่สามารถเข้าไปกรีดและเก็บเกี่ยวน้ำยางได้ตลอดปี ยกเว้นอยู่ 2 กรณีนั่นเอง คือ ตอนช่วงยางผลัดใบ ซึ่งก็เป็นระยะสั้นๆที่กำลังแตกใบอ่อน ในช่วงนี้ชาวสวนจะไม่เข้าไปกรีดยาง และการกรีดยางจะไม่ทำกันในวันที่มีฝนตก ทีนี้ลองมาคิดดูว่า ในประเทศไทยเป็นเขตมรสุมจำนวนวันที่มีฝนตกจะมีมากกว่าเขตอื่น โดยปกติแล้วเฉพาะภาคใต้ก็มีจำนวนวันฝนตกมากกว่าภาคอื่น จึงแสดงให้เห็นว่าโอกาสเข้าไปกรีดยางก็จะน้อยกว่าภาคอื่นๆนั่นเอง จริงอยู่การที่มีฝนตกมากช่วยทำให้การเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตยางดีขึ้น แต่ถ้าไม่สามารถเข้าไปกรีดได้ ก็เท่ากับเป็นการเสียโอกาส เพราะการที่เก็บวันสะสมของวันที่มีฝนตกแล้วไปกรีดยางนั้น ผลผลิตไม่มีการทบต้น น้ำยางอาจจะออกมากว่าเดิมเพียงเล็กน้อย การเพิ่มจำนวนวันกรีดมีวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การทำเสื้อฝนต้นยาง หรือเรียกว่า ยางกางร่ม
ฝนที่ตกลงมานี้จะทำให้น้ำยางในถ้วยเสียและล้น ชาวสวนจึงไม่กรีดยางในวันที่ฝนตก ดังนั้น วิธีแก้ไขในการป้องกันฝน ก็ได้มีคนไทยประดิษฐ์นวัตกรรมที่เรียกว่า เสื้อฝนคลุมต้นยาง ซึ่งเป็นการออกแบบที่น่าสนใจ จำนวนวันกรีดที่เพิ่มขึ้นอีก 50-60 วัน/ปีนี้ จึงเท่ากับเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตมากขึ้นในพื้นที่เท่าเดิม การออกแบบเสื้อฝนต้นยางนี้ดูแล้วเหมือนจะง่าย แต่ความเป็นจริงในสภาพสวนนั้น จะต้องเป็นการประดิษฐ์ที่ถูกต้อง ทนทาน และง่ายต่อการปฏิบัติในโอกาสนี้ คุณสุเทพ ศรีวิพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อฝนต้นยางได้ให้ข้อคิดหลายประการ ซึ่งเป้าหมายหลักก็คือ จะทำอย่างไรให้ชาวสวนมีรายได้เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการเพิ่มวันกรีดในรอบปี ซึ่งพลาสติคและวัสดุที่ใช้ได้ค้นคิดมาหลายปี กว่าจะได้เป็นนวัตกรรมแนวคิดนี้ได้ผ่านการทดลองมาช้านาน ซึ่งผลที่ได้รับก็คือ สามารถเพิ่มวันกรีดได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะมีวันไหนฝนตก อีกทั้งยังช่วยป้องกันสิ่งสกปรกที่ตกลงไปในน้ำยาง วิธีการใช้ก็สามารถทำได้ง่ายโดยมีทั้งหมด 4 เบอร์ ตั้งแต่ต้นยางอายุ 6 ปี จนถึง 25 ปี เกษตรกรผู้ปลูกยางสนใจสามารถติดต่อได้ที่คุณสุเทพ ศรีวิพัฒน์ เบอร์โทรศัพท์ (02) 519 7638 บริษัท ไทย เอ วี แอล อินเตอร์เทรด จำกัด


โดย ดร.พรชัย เหลืองอาภาพงศ์

บันทึกเมื่อ : 13/2/2009

ที่มาhttp://www.kasetcity.com/Worldag/view.asp?id=384


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Pum_NWF_Rayong เมื่อ 21/09/2009 3:48 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
Pum_NWF_Rayong
สาวดาม
สาวดาม


เข้าร่วมเมื่อ: 29/07/2009
ตอบ: 177

ตอบตอบ: 21/09/2009 3:16 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เครื่องสับพืชผลทางการเกษตร

นักวิจัย มทส ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์คิดค้น "เครื่องสับพืชผลทางการเกษตร" ซึ่งเป็นนวัตกรรมในกระบวนการอบชุบขึ้นรูปใบมีดแบบพิเศษ ตลอดจนการออกแบบชุดใบสับต่างๆ ซึ่งสามารถถอดประกอบเลือกใช้งานได้ตามความต้องการ ทำให้เครื่องจักรมีประสิทธิภาพสูง สับพืชผลทางการเกษตรหลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังสามารถรีไซเคิลเหล็กเก่า ซึ่งเป็นของเสียจากอุตสาหกรรมนำกลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นเครื่องจักรประหยัดพลังงาน ใช้กับไฟบ้านได้ทั่วไป ระบุหากภาคเกษตรกรรมและชุมชนนำไปใช้งานจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตและพึ่งพาตนเองได้อย่างครบวงจร
"เครื่องสับพืชผลทางการเกษตร"




เครื่องสับพืชผลทางการเกษตรดังกล่าว เป็นผลงานประดิษฐ์คิดค้นของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศักดิ์ระวี ระวีกุล นักศึกษาปริญญาเอก และ ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร. สราวุฒิ สุจิตจร สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศักดิ์ระวี กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบและสร้างเครื่องจักร เพื่อต้องการแก้ปัญหาในการใช้เทคโนโลยีแปรรูปมันสำปะหลังเป็นมันเส้นหรือชิ้นส่วนขนาดเล็ก เนื่องจากมันสำปะหลังมีความชื้นและ เส้นใยสูง ขณะที่เครื่องจักรที่ใช้งานกันโดยทั่วไปทำงานและสับย่อยชิ้นมันสำปะหลัง มักเกิดการติดล็อคในใบสับและเครื่องจักร ทำให้เครื่องจักรทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังสิ้นเปลืองพลังงานจากการใช้เครื่องยนต์หรือใช้มอเตอร์ระบบ 3 เฟส ขนาดใหญ่มาฉุดดึงเครื่องจักรให้ทำงานอีกด้วย ทีมวิจัยจึงคิดค้นและออกแบบเครื่องจักรดังกล่าวได้เป็นผลสำเร็จ สามารถใช้สับพืชผลทางการเกษตรได้หลากหลายชนิด อาทิ สับหัวมันสำปะหลังสดออกเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดประมาณ 1 x 2 x 0.5 เซนติเมตร ย่อยกาบมะพร้าวแห้งออกเป็นเส้นใยมะพร้าว พร้อมที่จะใช้ในกระบวนการผลิตเครื่องเรือน หรือวัสดุในการปลูกพืช เพาะเห็ด ย่อยกะลามะพร้าวสำหรับทำเชื้อเพลิง เป็นต้น เครื่องจักรนี้สามารถเสียบปลั๊กไฟบ้านใช้งานได้ทั่วไป มอเตอร์ที่ใช้เป็นแบบ เฟสเดียว บำรุงรักษาง่ายและประหยัดพลังงาน ด้วยการออกแบบใบมีด 3 ชั้น แต่ละชั้นมีลักษณะแตกต่างกัน เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานจริง



" ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร. สราวุฒิ สุจิตจร - ด้านขวารูปภาพ "

จุดเด่นของเครื่องจักรดังกล่าว ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร. สราวุฒิ สุจิตจร กล่าวว่า "ชิ้นส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบมีดได้รับการออกแบบพิเศษ เหมาะสำหรับการกระแทก สับ ฝานหรือเฉือน โดยทีมวิจัยใช้เหล็กหมดอายุที่มีปริมาณคาร์บอนสูง อันเป็นของเสียจากภาคอุตสาหกรรมมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลด้วยการอบอ่อนแบบพิเศษ และกระบวนการอบชุบที่ทีมวิจัยเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น ซึ่งแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ทำให้เหล็กหมดอายุกลายเป็นใบมีดที่แข็งแกร่ง เหนียวและทนทาน สามารถใช้สับพืชผลทางการเกษตรได้หลากชนิด จุดเด่นของการออกแบบชุดใบมีด ซึ่งจะมีใบมีดอยู่ทั้งหมด 3 ชุด แต่ละชุดสามารถถอดประกอบได้ ลดหรือเพิ่มจำนวนใบมีดได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน

ขณะนี้ทีมวิจัยได้สร้างเครื่องจักรต้นแบบซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดที่เป็นไปได้ในการใช้งานจริงในภาคสนาม ต้นทุนไม่เกิน 5 แสนบาท และได้จดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว หากมีการผลิตเป็นจำนวนมากต้นทุนก็จะต่ำลง นอกจากนี้ หากต้องการขยายขนาดเครื่องจักรต้นแบบเพื่อนำไปสู่การผลิตที่ใหญ่ขึ้น ก็ไม่ต้องทำการปรับปรุงการออกแบบแต่อย่างใด สามารถขยายได้เลย แต่หากจะขยายให้เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ในระดับโรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการดัดแปลงการออกแบบเป็นบางจุด อย่างไรก็ตามเราไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะทำเครื่องจักรขนาดยักษ์เพื่อไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม แต่วัตถุประสงค์ตั้งแต่เริ่มออกแบบและสร้างเครื่องจักรนี้ เพื่อต้องการส่งเสริมให้ภาคเกษตรกรรม เช่น สหกรณ์การเกษตร อบต. เป็นเจ้าของและสามารถจัดตารางการใช้งานให้กับชุมชน กลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น กลุ่มมันสำปะหลัง กลุ่มผลิตเครื่องเรือน กลุ่มทำขนม หรือ OTOP เป็นต้น ก็จะเป็นการใช้เครื่องจักรได้อย่างคุ้มค่าตลอดปี ช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างครบวงจรมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น" ศาสตราจารย์ น.ท. ดร.สราวุฒิ สุจิตจร กล่าวในที่สุด

ที่มา http://www.kaset.org/index.php?PHPSESSID=e621c926a40ac1ba0a42af9632e59a08&topic=14.0
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
Pum_NWF_Rayong
สาวดาม
สาวดาม


เข้าร่วมเมื่อ: 29/07/2009
ตอบ: 177

ตอบตอบ: 21/09/2009 3:54 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

วว. เปิดตัว “เครื่องปอกเปลือกกระเทียม”...นวัตกรรมใหม่สำหรับภาคอุตสาหกรรม


สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ “เครื่องปอกเปลือกกระเทียม” ระบุมีประสิทธิภาพการทำงานดีเยี่ยม..ปอกเปลือกกระเทียมได้มากกว่า 90 % สามารถแยกเปลือกกระเทียมและเนื้อกระเทียมออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยลดระยะเวลาการผลิต ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะอาด ถูกสุขอนามัย สนองตอบความต้องการผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย





นางอัญชลี กมลรัตนกุล รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ชี้แจงว่า ขณะนี้ วว. โดยฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร ประสบความสำเร็จในการออกแบบ “เครื่องปอกเปลือกกระเทียม” ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยของ วว. เครื่องดังกล่าวมีประสิทธิภาพการทำงานดีเยี่ยม ช่วยลดระยะเวลาการผลิต ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น และได้ผลิตภัณฑ์ที่สะอาด ถูกสุขอนามัย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้งานในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนองตอบต่อความต้องการอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้กระเทียมเป็นวัตถุดิบในการผลิต อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องเทศ เครื่องปรุงรส อุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อุตสาหกรรมยา เป็นต้น
“...ผลจากการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฯ พบว่า สามารถปอกกระเทียมได้ดีทุกขนาด ทั้งกระเทียมไทยหรือกระเทียมจีน กำลังการผลิต 20 กิโลกรัม/ชั่วโมง มีประสิทธิภาพในการปอกเปลือกกระเทียมสูงมากกว่า 90 % โดยไม่มีการช้ำ แตก หัก เสียหายของเนื้อกระเทียม สามารถแยกเปลือกกระเทียมและเนื้อกระเทียมออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยสนองตอบต่อความต้องการและการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี...” รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวเพิ่มเติม
นายสัมพันธ์ ศรีสุริยวงษ์ นักวิชาการประจำฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร ชี้แจงเพิ่มเติม ว่า หลักการทำงานเครื่องปอกเปลือกกระเทียม วว. อาศัยแรงลมแบบกระแสลมแปรปรวน ทำให้เกิดการขัดสีกันระหว่างกลีบกระเทียมกับกลีบกระเทียม รวมทั้งกลีบกระเทียมกับผนังด้านใน โดยนำกระเทียมแบบกลีบใส่ลงในช่องอบลมร้อนทางด้านบนของเครื่อง ซึ่งผู้ใช้สามารถบรรจุกระเทียมได้มากที่สุด ครั้งละ 10 กิโลกรัม ภายในชุดอบลมร้อนนี้จะมีตัวกระจายลมร้อนเพื่อเป่าลมร้อนให้เปลือกกระเทียมแห้งและง่ายต่อการขัดสี
เครื่องฯ ควบคุมด้วยระบบนิวแมติกแบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติ ที่สามารถปรับตั้งเวลาและอุณหภูมิในการปอกได้ เมื่อครบเวลาที่ตั้งอบไว้ กระเทียมจะถูกปล่อยลงมายังชุดขัดสีซึ่งอยู่ด้านล่างของเครื่อง ภายในชุดปอกเปลือกจะมีการขัดสีกันเองโดยอาศัยแรงลมช่วยในการขัดสีให้เปลือกกระเทียมร่อนออกจากเนื้อกระเทียม โดยเปลือกกระเทียมจะถูกเป่าขึ้นไปเก็บยังชุดรับเปลือกกระเทียม ส่วนกระเทียมที่ปอกเปลือกแล้วจะตกลงมายังถาดรับด้านล่างสุดของเครื่องซึ่งเครื่องดังกล่าวสามารถปอกเปลือกกระเทียมได้ทุกขนาด และกระเทียมไม่ช้ำเสียหาย
“...จุดเด่นของเครื่องฯ มี 2 ระบบ ได้แก่ ชุดอบลมร้อน ที่จะทำหน้าที่ส่งผ่านลมร้อน ภายในจะมีอุปกรณ์สำหรับกระจายลมร้อนไปตามรูเล็กๆที่เจาะไว้รอบ ๆ เพื่อ preheat ให้เปลือกกระเทียมแห้งและง่ายต่อการปอกเปลือก ซึ่งสามารถปรับระดับขึ้น-ลงได้ตามขนาดของกลีบกระเทียม โดยการหมุนปรับน็อตด้านบน ส่วนอีกระบบหนึ่ง คือ ชุดปอกเปลือกอาศัยแรงลม ซึ่งได้ออกแบบโดยการต่อท่อลมเข้าทางด้านข้าง เพื่อให้เกิดกระแสลมแปรปรวน ทำให้ทิศทางและแรงลมที่เกิดภายในมีลักษณะการเคลื่อนที่แบบปั่นป่วน ซึ่งส่งผลให้กลีบกระเทียมภายในเกิดการขัดสีกันระหว่างกลีบกระเทียมกับกลีบกระเทียม และขัดสีกันระหว่างผนังด้านในกับกลีบกระเทียม…”




อนึ่งเครื่องปอกเปลือกกระเทียม วว. เป็นนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติและโล่เกียรติคุณ จากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2551 ซึ่งจัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับมูลนิธิธนาคารกรุงเทพฯ อีกทั้ง วว.ยังได้จดสิทธิบัตรนวัตกรรมดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โทร. 0 2577 9133 โทรสาร 0 2577 9009 www.tistr.or.th E-mail: tistr@tistr.or.th อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน


ที่มา http://www.most.go.th/main/index.php?option=com_content&view=article&id=97:2009-07-15-04-42-37&catid=34:news-gov&Itemid=54
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
Pum_NWF_Rayong
สาวดาม
สาวดาม


เข้าร่วมเมื่อ: 29/07/2009
ตอบ: 177

ตอบตอบ: 21/09/2009 3:57 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ยุทธศาสตร์นวัตกรรมการเกษตรไทย
ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ
นักศึกษาหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) 2550
มติชน 11 พ.ย. 51

ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรมมาช้านาน อันมีรากฐานมาจากความแข็งแกร่งและความได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม และลักษณะภูมิศาสตร์ของประเทศ แม้จะพยายามพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นประเทศอุตสาหกรรม แต่เศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศก็ยังคงต้องพึ่งพาอาศัยเกษตรกรรมเป็นหลัก

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบางครั้งประเทศไทยจะได้ประโยชน์เนื่องจากสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากเช่นเหตุการณ์เมื่อต้นปีนี้ แต่ก็เป็นผลสืบเนื่องจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการที่ประเทศเกษตรกรรมอื่นที่เป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรต่างประสบภัยธรรมชาติ

ดังนั้นราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น จึงนับเป็น "โชคดี" ของประเทศไทยมากกว่าจะเป็นเพราะศักยภาพความสามารถด้านการสร้าง "สิ่งใหม่" ของประเทศ และจะเป็นความโชคดีที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เพราะเท่าที่ผ่านมาการเกษตรไทยหรือในประเทศกำลังพัฒนา จะเป็นการเกษตรที่อยู่บนฐานของการใช้แรงงานสูง (labour Intensive) มิใช่บนฐานความรู้หรือความคิดสร้างสรรค์ (knowledge/creativity based)

นั่นหมายถึงว่าความสามารถด้าน "นวัตกรรม" ทางการเกษตรของไทย ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

การพัฒนาการเกษตรไทยจึงมีความจำเป็นต้องสร้าง "ความเปลี่ยนแปลง" โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการเกษตร เพื่อจะนำไปสู่ "ความแตกต่าง" กับประเทศอื่นๆ ทั้งในด้านกระบวนการผลิตใหม่และด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ทางการเกษตร

ซึ่งที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตสินค้าใหม่สูงขึ้นบ้าง เช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ จากมูลค่าการส่งออกปี 2540 ประมาณ 288 ล้านบาท เป็น 720 ล้านบาท ในปี 2548

นอกจากนี้ยังได้มีความพยายามสร้างนวัตกรรมเพื่อให้เกิดคุณค่า (value creation) ใหม่แก่ผลิตภัณฑ์เกษตรต่างๆ เช่น การสร้างนวัตกรรมยางแผ่นคุณภาพสูง ระบบเลี้ยงกุ้งที่มีความหนาแน่นสูงมาก

การแปรรูปผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากสมุนไพรเป็นน้ำมันหอมระเหยเพื่อนำไปใช้ในธุรกิจสปา

หรือการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนที่มีราคาส่งออกสูงถึงตัวละ 400 บาท เป็นต้น

"ยุทธศาสตร์นวัตกรรมการเกษตรไทย" จึงมีปรัชญาอยู่ที่การพัฒนาการเกษตรที่สามารถส่งผลให้เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมๆ กับประเทศมีความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ

บทความนี้ต้องการนำเสนอแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรของประเทศไทย โดยพิจารณาทั้งจากจุดแข็งและจุดอ่อนของการเกษตรไทย รวมถึงโอกาสและอุปสรรคของปัจจัยภายนอกและภายในที่มีต่อการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรไทย โดยมีกุญแจหลักคือ การสร้าง "ความเปลี่ยนแปลง" เพื่อให้เกิด "ความแตกต่าง" ของเกษตรกรรมไทยกับประเทศอื่นๆ

โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการเกษตร เพื่อสร้างความได้เปรียบและความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง

ทั้งนี้ การเร่งสร้างความสามารถด้านการรังสรรค์นวัตกรรมในทุกระดับ ผ่านการรังสรรค์ร่วม (co-creation) ระหว่างภาครัฐมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน หรือระหว่างภาคเอกชนด้วยกันเอง จะนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถการผลิต มาตรฐานการเกษตร และการพัฒนาสินค้าเกษตรบนฐานความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีความโดดเด่นเหนือกว่าประเทศอื่นๆ

ผู้เขียนได้สร้างกระบวนการศึกษา รวมทั้งอาศัยประสบการณ์เดิมในการทำงานด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมมากว่า 8 ปี ทำให้พบว่าความสามารถในการพัฒนาการเกษตรไทยให้ยั่งยืนและมั่นคงทั้งคุณภาพชีวิต รายได้ และความเป็นอยู่ ของเกษตรกรไทย จำเป็นต้องนำ "นวัตกรรม" มาใช้ในการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างระบบการเกษตรใหม่

โดยมีแนวคิดเชิงกลยุทธ์คือ การปรับเปลี่ยนจากฐานการผลิตที่เน้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ก้าวเป็นฐานการผลิตจากองค์ความรู้ การปรับเปลี่ยนจากการผลิตมากแต่ให้ผลตอบแทนน้อย (ทำมากได้น้อย) ก้าวเป็นการผลิตน้อยแต่ให้ผลตอบแทนมาก (ทำน้อยได้มาก) โดยการสร้างนวัตกรรมในสินค้าธุรกิจเกษตรที่มีศักยภาพสูง รวมทั้งการพัฒนาปรับปรุงระบบควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลก

บทความนี้ ได้ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ต่างๆ และนำเสนอยุทธศาสตร์นวัตกรรมการเกษตรไทยรวม 7 ด้าน เรียกชื่อย่อว่า "ไบโอ อะโกร, BIO-AGRO" โดยมี "ยุทธศาสตร์นำ" ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย 3 ด้าน ได้แก่ ความสามารถด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) เพื่อการเกษตร และการเกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture) และ "ยุทธศาสตร์การปรับปรุงและพัฒนา" เพื่อแก้ไขจุดอ่อน 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาระบบบูรณาการ (Alignment) การรักษาความมั่นคงทางการเกษตร (Guardian) การใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ (Research Commercialization)

และในที่สุด บทความนี้คาดหวังว่าจะนำไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในการ "ยกเครื่อง" (Overhaul) โครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรไทย (รูปที่ 1)

ทั้ง "ยุทธศาสตร์นำ" และ "ยุทธศาสตร์การปรับปรุงและพัฒนา" ได้กำหนดให้มีกลยุทธ์และแผนการปฏิบัติในระยะเวลา 15 ปี (รูปที่ 2) และให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากกระแสห่วงใยเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ในระยะ 1-5 ปีแรก กำหนดแนวทางการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรไทย ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยยกระดับภาคเกษตรหรือสร้างทางเลือกใหม่ให้แก่สินค้าเกษตรที่ให้มูลค่าใหม่ที่สูงมาก เช่น การผลิตพลาสติคชีวภาพจากมันสำปะหลัง ที่จะให้ผลตอบแทนมากถึง 20 เท่าตัวเมื่อเทียบกับการผลิตมันเส้นในปัจจุบัน

หรือการผลิตสารเพิ่มปริมาตรในเม็ดยาจากแป้งข้าวเจ้า ซึ่งสามารถเพิ่มราคาปลายข้าวจาก 10-15 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคา 450 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น


สำหรับระยะที่สองตั้งแต่ปีที่ 5-10 จะเป็นการสร้างระบบนวัตกรรมการเกษตร เช่น ระบบเกษตรอินทรีย์ ระบบนวัตกรรมข้าวครบวงจร หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางการเกษตร (agritronics) เป็นต้น

และระยะที่สามตั้งแต่ปีที่ 10-15 ปี ประเทศไทยควรจะมีกลยุทธ์การขยายพื้นที่การเพาะปลูกในสัดส่วนที่ลดลงหรือลดการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรบางชนิด และมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาระบบนวัตกรรมการเกษตรไปสู่ชั้นต้นน้ำ (upstream) คือ การเป็นผู้ให้บริการนำเสนอทางเลือกหรือการแก้ไขปัญหาทางการเกษตร (ASP, Agro-Solutions Provider) สำหรับระบบเกษตรกรรมหรือผู้ผลิตสินค้าเกษตรในประเทศต่างๆ

การปรับเปลี่ยนตำแหน่งของประเทศไทย จากการเป็นเพียงผู้ผลิตไปสู่ผู้วางแผนการผลิตในระดับภูมิภาค (หรือของโลก) จะทำให้ประเทศมีความมั่นคงทางอาหาร สามารถกำหนดกลไกตลาดสินค้าเกษตร สามารถสร้างมาตรฐานใหม่ของสินค้าเกษตร สามารถรับมือกับความผันผวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อเขตกรรมทั้งในประเทศ และประเทศ "ลูกค้า" รวมถึงสร้างความมั่นคงต่ออาชีพเกษตรกรรม และการเกิดรายได้ใหม่

โดยในระยะสั้นจะทำให้ผลผลิตเกษตรมีทางเลือกไปสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำมากขึ้น ในระยะยาวเกษตรกรไทยรุ่นใหม่จะมีความสามารถในการสร้างระบบการจัดการการเกษตร และก้าวไปสู่ผู้เชี่ยวชาญในการบริหารและวางแผนการผลิตให้กับประเทศต่างๆ

อย่างไรก็ดี "ยุทธศาสตร์นวัตกรรมการเกษตรไทย" จะมีประโยชน์และสามารถนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการเกษตร รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มจากโซ่การผลิต (value chain) ได้จริงนั้น ขึ้นกับวิสัยทัศน์ร่วมระหว่างรัฐบาลและคนในชาติ ในการลงทุนพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการเกษตร อันจะนำไปสู่ความพร้อมในการก้าวไปสู่การเป็น "ครัวของโลก" ในอีกมิติหนึ่ง

ซึ่งในที่สุดยุทธศาสตร์นวัตกรรมที่นำเสนอนี้ จะส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าเกษตรมีศักยภาพในการแข่งขัน และประเทศไทยจะเป็นแหล่งผลิตรวมทั้งเป็นผู้ให้บริการ (service provider) แก่แหล่งผลิตอาหารในประเทศอื่นๆ เพื่อผลิตอาหารที่มีคุณภาพให้กับประชากรโลก

หมายเหตุ: ได้รับรางวัลเอกสารวิจัยส่วนบุคคลในหลักสูตร วปอ.2550
โดย : มติชน วันที่ 11/11/2008

ที่มา http://www.food-resources.org/news/view.php?id=2852
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
Pum_NWF_Rayong
สาวดาม
สาวดาม


เข้าร่วมเมื่อ: 29/07/2009
ตอบ: 177

ตอบตอบ: 05/10/2009 4:38 pm    ชื่อกระทู้: เทคโนโลยีเกษตร ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ที่มา : http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05034011052&srcday=&search=no

มะพร้าวลูกผสมน้ำหอม-พวงร้อย "รบ.3" น้ำหอมหวาน ผศ.ประสงค์ ทองยงค์...ภูมิใจนำเสนอ

จริงๆ แล้ว อาจารย์ประสงค์ หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสงค์ ทองยงค์ มีบ้านพักอยู่กรุงเทพฯ แต่อาจารย์ประสงค์ทำสวนมะพร้าวน้ำหอมอยู่ที่อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี บนพื้นที่ 55 ไร่ ทั้งนี้เพราะอาจารย์ประสงค์เป็นคนดั้งเดิมที่นั่น การนัดหมายเพื่อพูดคุยจึงต้องมีความชัดเจน

"เวลาแปดโมงครึ่ง ผมรออยู่ที่อุโมงค์รถไฟนะ แล้วเจอกัน" อาจารย์ประสงค์ นัดทางโทรศัพท์

อาจารย์ประสงค์ วัย 73 ปี แต่ยังดูแข็งแรง อาจารย์ประสงค์ออกจากบ้านที่บางกะปิ นั่งเรือไปตามคลองแสนแสบ ไปต่อรถเมล์ที่ผ่านฟ้า ไปขึ้นรถทัวร์ที่สายใต้ ใช้เวลาไม่นานนักก็ถึงราชบุรี

"ผมมารถทัวร์ เลิกขับรถทางไกลเมื่ออายุ 65 ปี" อาจารย์ประสงค์บอก พร้อมกับนำทางไปยังบ้านดั้งเดิม ถนนที่ไปยังวัดเพลง คู่ขนานไปกับแม่น้ำอ้อม

เมื่อถึงปากทางก่อนเข้าบ้าน อาจารย์ประสงค์ให้รถของทีมเทคโนฯ ไปจอดรออยู่ที่บ้านก่อน ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำอ้อม เจ้าถิ่นชวนให้เดินจากหน้าสวนซึ่งเป็นถนนใหญ่ พร้อมกับชวนให้ดูป่ามะพร้าว และพืชที่ปลูกผสมผสาน พืชหลักมี มะพร้าวแกง ที่เสริมเข้ามามีลิ้นจี่ กล้วย ส้มโอ ก่อนที่จะไปพูดคุยบนเรือนไทยประยุกต์สุดสวย เจ้าของท้องที่พาไปดูมะปรางหวานอายุกว่า 100 ปี ละมุดสีดาอายุกว่า 100 ปี

"ยายชวดปลูกไว้" อาจารย์ประสงค์บอก



สวนอายุเกือบ 200 ปี สืบทอดมา 3 ชั่วอายุคน

อาจารย์ประสงค์ เกิดที่บ้านเลขที่ 39/1 หมู่ที่ 1 ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี อาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษคือ ทำนา ทำสวนมะพร้าวแกง

"อยู่ที่นี่เลย ยังชีพด้วยการทำนา ทำสวน นาอยู่หลังบ้าน สวนมีมะพร้าวเป็นหลัก ลิ้นจี่และส้มโอมาทีหลัง ตั้งแต่เล็กจนโต ยังชีพด้วยมะพร้าว ชาวสวนที่นี่ ปลูกครั้งแรกต้นไม่สูงทำตาลกัน เมื่อต้นสูงขึ้นก็เก็บผลผลิตจำหน่าย สมัยก่อน มะพร้าวผลละ 3 บาท ผมว่าราคาดีนะ 60 ปีที่แล้ว มะพร้าวถือว่าเป็นสินค้าสำคัญ ครอบครัวมีพี่น้อง 9 คน ปัจจุบันเหลือ 4 คน แม่น้ำตรงนี้เรียกว่าแม่น้ำอ้อม เป็นแม่น้ำที่มาจากน้ำแม่กลองที่ตัวเมืองราชบุรี ไปโผล่ออกที่อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม" อาจารย์ประสงค์เล่า

อาจารย์ประสงค์เล่าว่า คุณพ่อของอาจารย์ชื่อ ชั้ว บ้านอยู่สมุทรสงคราม มีอาชีพเป็นชาวประมงมาก่อน ส่วนคุณแม่ชื่อ ฮวย เป็นคนท้องถิ่นวัดเพลง มีฝีมือทำขนมไทย

"คุณยายชื่อ ไล้ สุคนธมาน เป็นคนมีที่ดินค่อนข้างมาก อาชีพคุณแม่ทำสวน ปลูกพลู เอาไปจำหน่าย คุณพ่อเป็นชาวประมงแม่กลอง เอาปลาทะเลมาแปรรูปขาย เมื่อก่อนไม่ได้ซื้อขายเป็นเงินสด แต่นำไปแลกข้าวมาใส่ยุ้งฉางไว้ ไกลออกจากนี่ไปพอสมควร มีชุมชนที่มาจากเขมร สมัยรัชกาลที่ 1 ทำนา เขาจะนำข้าวเปลือกบรรทุกเกวียนมาแลกกับอาหารการกิน คุณพ่อคุณแม่ก็เก็บไว้ ขายไปบ้าง" อาจารย์ประสงค์ เล่า

สวนมะพร้าวที่มีอยู่ ได้รับการบอกเล่าว่า บรรพบุรุษแบ่งให้ลูกๆ หลานๆ ซึ่งไม่ได้ขายเปลี่ยนมือ แต่สืบทอดกันมา 3 ชั่วอายุคนแล้ว พืชพรรณในยุคเก่าก่อนที่ยังหลงเหลืออยู่ คือมะปรางหวาน ละมุดสีดา ส่วนมะพร้าวก็ปลูกทดแทนไปเรื่อยๆ อาจารย์ประสงค์ได้ที่ดินมรดก 2 ไร่ ริมแม่น้ำอ้อม ส่วนแปลงปลูกมะพร้าว 55 ไร่ อาจารย์ประสงค์บอกว่า เก็บออมจากอาชีพราชการ ซื้อที่ในกรุงเทพฯ จากนั้นขายต่อ พอมีกำไร จึงซื้อที่แปลงใหญ่ที่ต่างจังหวัดได้

อาจารย์ประสงค์บอกว่า ตนเองแต่งงานตอนอายุ 31 ปี ไม่มีวี่แววว่าจะมีบุตร จึงทำงานเก็บเงิน ส่วนหนึ่งส่งหลานเรียนจบปริญญาตรี 2 คน จนกระทั่งอาจารย์อายุได้ 55 ปี ภรรยาอายุ ได้ 42 ปี จึงมีบุตรชาย 1 คน ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย

เรื่องการศึกษา อาจารย์เรียนจบปริญญาตรี ที่ประสานมิตร จากนั้นรับราชการครูอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทากว่า 40 ปี

คนที่อายุ 73 ปี และเป็นคนชนบท ได้เรียนจบปริญญาตรีสมัยก่อนไม่ธรรมดา เรื่องนี้อาจารย์ประสงค์เล่าว่า คุณย่าของอาจารย์ มีน้องชายได้เรียนหนังสือ ได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าเมืองชื่อ หลวงวุธ จึงให้พี่สาวคนโตไปอยู่บ้านหลวงวุธ จากนั้นเรียนหนังสือจบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วได้ทุนโคลัมโบไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย ปัจจุบันพี่สาวคนโตของอาจารย์อายุ 83 ปี

"ผมเองหากพี่สาวไม่ได้เรียนหนังสือ พวกผมคงไม่ได้เรียน ใจผมอยากเล่าเรียนหนังสือ แต่ก่อนที่จะออกจากบ้าน เป็นเรื่องเศร้ามาก ผมห่วงเป็ด ห่วงไก่ ห่วงเตาตาล" อาจารย์ประสงค์บอก



สนใจงานเกษตรมานาน เพราะพื้นฐานเดิมก็เกษตร

อาจารย์ประสงค์ เล่าว่า ตนเองออกจากบ้านไปเรียนหนังสือ เมื่อทำงานก็กลับมาเยี่ยมบ้านอยู่เป็นประจำ ระยะเวลาที่ผ่านมา อาจารย์ประสงค์บอกว่า สภาพพื้นที่ไม่เปลี่ยนไปนัก สิ่งก่อสร้างบ้านเรือนไม่เปลี่ยน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเรื่องความอุดมสมบูรณ์ เมื่อก่อนจะทำอาหาร ต้มน้ำไว้แล้วลงไปงมปลาในแม่น้ำ มาทำกินได้เลย ปัจจุบันหายาก ส่วนการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำ มีราว 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เช่น การสัญจรไป-มา

อาจารย์ประสงค์มีความผูกพันกับมะพร้าว ทั้งนี้เพราะมะพร้าวเป็นพืชที่ส่งให้อาจารย์ประสงค์ได้เรียนหนังสือ ยุคก่อนโน้น ใครมีมะพร้าว 20 ไร่ ถือว่าเป็นผู้มีอันจะกิน

"มะพร้าวที่ปลูก เมื่อต้นต่ำๆ ทำน้ำตาลกัน เมื่อต้นสูงเก็บผลผลิตขาย ถึงช่วงเก็บ คุณยายจะให้หลานๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ มาช่วยกัน เมื่อขายได้เงินก็ได้รับส่วนแบ่งไปเรียนหนังสือ ผมนึกถึงบุญคุณบรรพบุรุษตรงนี้ จึงสนใจมะพร้าว จริงๆ แล้วผมสนใจงานเกษตรมาตั้งแต่อายุได้ 23 ปี ผมทำมะพร้าวจริงจังมา 33 ปีแล้ว เป็นมะพร้าวน้ำหอม ทั้งนี้เพราะพบมะพร้าวน้ำหอมผลใหญ่ ที่เป็นพืชพรรณดีของท้องถิ่น" อาจารย์ประสงค์ ให้ข้อมูล



รบ.1 พืชพรรณล้ำค่าตามด้วย รบ.2

งานปลูกมะพร้าวของอาจารย์ประสงค์ เริ่มจริงจังโดยซื้อมะพร้าวน้ำหอม จากฟาร์มอ่างทองมาปลูกจำนวน 40 ต้น โดยผสมผสานกับมะพร้าวหมูสีในท้องถิ่น ต่อมาได้มีการเก็บพันธุ์มะพร้าวจากต้นน้ำหอมไปเพาะ เพื่อขยายพันธุ์ต่อ ปรากฏว่า พบลักษณะของมะพร้าวที่เปลี่ยนไป อาจารย์ประสงค์เฝ้าสังเกตมะพร้าวที่ได้อยู่นาน จนสุดท้ายพบว่า มะพร้าวต้นใหม่ มีลักษณะนิ่ง มีความโดดเด่น จึงขยายปลูกเต็มที่ ปัจจุบันมีทั้งหมด 1,250 ต้น อาจารย์ประสงค์ตั้งชื่อมะพร้าวที่ได้ว่า "รบ.1" คือ "ราชบุรี 1" นั่นเอง

จุดเด่นของมะพร้าวพันธุ์ รบ.1 คือต้นเตี้ยเหมือนมะพร้าวน้ำหอมทั่วไป ต้นมีขนาดใหญ่คล้ายหมูสี ผลมีขนาดใหญ่กว่ามะพร้าวน้ำหอม รสชาติและกลิ่นเหมือนมะพร้าวน้ำหอม จุดเด่นอย่างหนึ่งที่พบอยู่ มีนิสัยออกผลอย่างต่อเนื่องแทบไม่ขาดคอ เป็นนิสัยของมะพร้าวหมูสี

หากเป็นมะพร้าวน้ำหอมทั่วไปมักขาดคอเป็นบางช่วง

มะพร้าว รบ.1 ให้ผลผลิต 10-12 ทะลาย ต่อต้น ต่อปี แต่ละทะลายผลผลิตเฉลี่ย 10-12 ผล การจำหน่ายมะพร้าวในยุคเริ่มแรก อาจารย์ประสงค์บอกว่า ราคาผลละ 2 บาท ปัจจุบันผลละ 5 บาท

สำหรับมะพร้าว รบ.2 หรือราชบุรี 2 เป็นมะพร้าวหมูสีกลายพันธุ์ ลักษณะต้นเตี้ย คุณสมบัติทั่วไปคล้ายหมูสี แต่โดดเด่นกว่า



รบ.3 พืชพรรณล้ำค่า

ท้องถิ่นแถบวัดเพลง เป็นแหล่งพันธุกรรมมะพร้าวที่สำคัญไม่น้อย รวมไปถึงมะแพร้ว

แต่หากเป็นมะพร้าวน้ำหอมแล้ว ถือว่า อาจารย์ประสงค์เป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญ เพราะเวลาผ่านมา 33 ปีแล้ว

ที่วัดเพลง และบริเวณใกล้เคียง เช่น ที่บางคนที สมุทรสงคราม มีมะพร้าวพวงร้อย บางช่วงติดผลทะลายหนึ่งมากกว่า 100 ผล ลักษณะของมะพร้าวพันธุ์นี้ ต้นสูง มีเลือดมะพร้าวป่ามาก มะพร้าวพวงร้อยในรอบปีหนึ่ง จะมี 10-12 ทะลาย เหมือนมะพร้าวอื่น คือ 10-12 ทะลาย ต่อต้น ต่อปี แต่ทะลายจะดกมากเป็น 80-100 ผล ราว 3-4 เดือนเท่านั้น นั่นย่อมหมายถึงมีผลดกในรอบปี 3-4 เดือน

เพราะอยู่ในวงการมะพร้าวมานาน อาจารย์ประสงค์พบว่า ใกล้ๆ บ้าน มีมะพร้าวลูกผสม เข้าใจว่า เป็นลูกผสมระหว่างมะพร้าวพวงร้อยกับมะพร้าวน้ำหอม จึงไปนำมาปลูก โดยเปรียบเทียบกับของตนเองและของหลาน ปรากฏว่า พบลักษณะที่โดดเด่นอย่างมาก เพื่อเป็นเกียรติแก่จังหวัดราชบุรี อาจารย์จึงขอตั้งชื่อว่า "รบ.3" หรือราชบุรี 3 นั่นเอง

มะพร้าวลูกผสมพวงร้อยกับมะพร้าวน้ำหอม มีคุณสมบัติอย่างไร

อาจารย์ประสงค์อธิบายว่า มะพร้าวลูกผสมพันธุ์ใหม่ ผลดก เคยเก็บได้ 30 ทะลาย ต่อผล ขนาดของผลใหญ่กว่ามะพร้าวพวงร้อย

หากการติดผลไม่มากนัก ผลมีขนาดเท่ามะพร้าวน้ำหอม สิ่งที่พิเศษสุดนั้น น้ำของมะพร้าวรสชาติหวานมาก มีกลิ่นหอม ต้นไม่สูง ซึ่งได้คุณสมบัตินี้มาจากมะพร้าวน้ำหอม

ปกติหากเป็นมะพร้าวพวงร้อยทั่วไปต้นจะสูง

ความดกของมะพร้าวลูกผสมพวงร้อย คล้ายมะพร้าวพวงร้อยเดิม คือดกเป็นบางช่วง แต่โดยทั่วไปแล้วอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้

พื้นที่ปลูกมะพร้าวของอาจารย์ประสงค์มี 2 แปลง แปลงแรก 30 ไร่ แปลงที่สอง จำนวน 25 ไร่ อาจารย์ประสงค์ได้พาไปพิสูจน์มะพร้าวลูกผสมพวงร้อย หรือ รบ.3 ที่แปลงแรก ซึ่งปลูกไว้ 4 ทิศของสวน

"ต้องชิมให้ครบ 4 ทิศ" อาจารย์ประสงค์บอก

มะพร้าวที่อาจารย์ประสงค์ปลูกไว้กว่า 1,000 ต้น มีกระรอกรบกวนบ้าง เหมือนสวนเกษตรกรทั่วๆ ไป แต่มีมะพร้าว รบ.3 อยู่ต้นหนึ่ง มีกระรอกรบกวนอยู่เป็นประจำ แรกๆ เจ้าของก็สงสัย ว่าทำไมต้นนี้ถูกกระรอกเจาะไม่ขาด หลังๆ หลานของอาจารย์ประสงค์ไขข้อสงสัยว่า มะพร้าว รบ.3 ต้นนั้น อร่อยเป็นพิเศษ

หลานของอาจารย์ประสงค์ได้เฉาะมะพร้าว รบ.3 ต้นที่กระรอกชอบให้ชิมดู เพียงแต่ยกมะพร้าวขึ้นจ่อที่ปาก กลิ่นหอมปะทะจมูก จนต้องหายใจเข้าลึกๆ เมื่อกลืนน้ำมะพร้าวลงคอ น้ำมะพร้าวมีความหวานเป็นพิเศษ ซึ่งนานๆ 5-10 ปี จะพบครั้งหนึ่ง

ชิมทิศแรกผ่านไปแล้ว อาจารย์ประสงค์ได้พาไปชิมอีก 3 ทิศ รวมทั้งต้องชิมมะพร้าวน้ำหอม รบ.1 อีก สรุปแล้ว ชิมไป 6 ผลด้วยกัน ชิมเฉพาะน้ำ ส่วนเนื้อทดลองดูนิดหน่อย ซึ่งอร่อยมาก เรื่องชิมเรื่องกินนี่ไม่ปฏิเสธแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว

หลังชิมมะพร้าว อาจารย์ประสงค์ยังพาไปรับประทานอาหารเที่ยงที่ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี ปลาช่อนทอด และต้มยำอร่อยมาก รับประทานเข้าไปเต็มที่ เพราะมะพร้าวและอาหารมื้อเที่ยง เมื่อกลับถึงบ้าน ไม่สามารถที่จะรับประทานอาหารเย็นได้เลย



ร่องกั๊บ ภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น

ระบบปลูกมะพร้าวน้ำหอม ในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง เป็นระบบยกร่อง คือมีสันร่อง ปลูกมะพร้าวตรงกลาง ระหว่างสันร่อง มีร่องน้ำ

ร่องน้ำมีไว้เพื่อใช้เรือรดน้ำ หรือลากเรือเข้าไปเก็บผลผลิต

อาจารย์ประสงค์เล่าว่า เมื่อเกษตรกรปลูกมะพร้าวได้ 2-3 ปี ก็จะเริ่มทำ "ร่องกั๊บ"

การทำร่องกั๊บนั้น เกษตรกรจะนำทาง (ใบ) มะพร้าว ผลมะพร้าวที่เน่าเสีย รวมทั้งปุ๋ยคอกมาใส่ที่ร่องกั๊บ เพื่อให้เน่าสลายกลายเป็นปุ๋ย ปีแรกที่ทำร่องกั๊บ วัสดุต่างๆ อาจจะไม่มาก เมื่อหลายปีไปแล้วร่องก็จะเต็ม เป็นผืนเดียวกัน ร่องกั๊บที่ทำ เกษตรกรจะทำร่องเว้นร่อง ดังนั้น เรือรดน้ำ รวมทั้งเรือเก็บผลผลิต จะยังคงทำงานได้ตามปกติ

อาจารย์ประสงค์บอกว่า ประโยชน์ของร่องกั๊บ ช่วยให้เกษตรกรใช้วัสดุที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ อย่างทางมะพร้าวแทนที่จะทิ้ง เมื่อนำวางไว้ที่ร่องก็กลายเป็นอินทรียวัตถุได้อย่างดี เมื่อวัสดุที่เหลือใช้ถูกทิ้งเป็นที่เป็นทาง สวนก็สะอาด ลดการระบาดของโรคและแมลงได้

ในวัย 73 ปี อาจารย์ประสงค์ยังแข็งแรง

"ผมเดิมเป็นเกษตรกร มาทำเกษตรกรได้ยืดเส้นยืดสาย ช่วงเรียนเป็นนักกีฬา สอนอยู่เป็นโค้ชกรีฑา เริ่มวิ่งมาตั้งแต่สมัยเด็ก เขาเรียกวิ่งวัว เข้าแถวที่แปลงนา ใช้เชือกมัดไว้ เมื่อได้สัญญาณกรรมการตัดเชือก ก็ออกวิ่ง ระยะทาง 50-100 เมตร ตอนวิ่งวัวยืนดูอยู่ สวนผมนี่ไม่ได้จ้างประจำ แต่เหมาให้ญาติมาช่วย ผมมาสวนอย่างต่ำอาทิตย์ละครั้ง ผมผลิตแบบอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีนานแล้ว เน้นขี้หมู สารเคมีก็ไม่ใช้ เมื่อเข้าสวนแต่ละครั้งต้องดูแลอย่างน้อย 1 ร่อง ผมกับภรรยายช่วยกัน เพราะปลูกมะพร้าวใกล้นาชาวบ้าน มีหนอนม้วนใบ ต้นเล็กๆ ผมใช้น้ำฉีดเอา หรือเดินเก็บ ต้นใหญ่ไม่ได้ใช้สารอะไร" อาจารย์ประสงค์บอก



มะพร้าวน้ำหอมปลูกเป็นการค้าอยู่ได้

อาจารย์ประสงค์ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกมะพร้าวได้ 25 ต้น ผลผลิตมะพร้าวที่เก็บได้ 10 ผล ต่อต้น ต่อเดือน พื้นที่ 1 ไร่ จึงเก็บมะพร้าวได้ 250 ผล ต่อไร่ ต่อเดือน หากจำหน่ายได้ผลละ 4 บาท จะมีรายได้ 1,000 บาท ต่อไร่ ต่อเดือน ถ้าพื้นที่ 55 ไร่ อย่างของอาจารย์ประสงค์ จะมีรายได้ 55,000 บาท ต่อไร่ ต่อเดือน

ต้นทุนการผลิตนั้น

ปีหนึ่งเสียค่ากำจัดวัชพืช 5,000 บาท

ค่าปุ๋ยคอกและค่าใส่ปุ๋ย 45,000 บาท ต่อปี

ค่าลอกเลน 10,000 บาท (4-5 ปี ลอกครั้งหนึ่ง โดยใช้รถ ครั้งละ 50,000 บาท)

ต้นทุนการผลิตของอาจารย์ประสงค์แต่ละปี ไม่น่าจะเกิน 100,000 บาท เมื่อหักต้นทุนแล้ว งานปลูกมะพร้าวยังมีกำไร

อาจารย์ประสงค์บอกว่า สำหรับผู้ที่อยากปลูกมะพร้าวน้ำหอมเป็นการค้า ต้องดูสภาพพื้นที่ก่อน ที่ลุ่มภาคกลางได้เปรียบ โดยเฉพาะจังหวัดนครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร

"เคยมีผู้ซื้อต้นพันธุ์ไปปลูกที่นครสวรรค์ ริมบึงบอระเพ็ดได้ผล ผมไปซื้อที่ไว้ที่อำเภอผาขาว จังหวัดเลย 60 ไร่ นำมะพร้าวไปปลูก ตรงนั้นมีสระน้ำ ได้ผล ตอนนี้ขายไปหลายปีแล้ว เทียวไปเทียวมาลำบาก อยู่ไกล บริเวณที่มีแหล่งน้ำ มีดินทับถม มีโพแทสเซียมสูง ผมว่าได้ผล อย่างเขตนี้ สำหรับผู้ที่อยากปลูกมะพร้าวไว้กินผล ควรมีพื้นที่พอสมควร ใบมะพร้าวแผ่ออกข้างละ 4 เมตร ต้องคำนวณอย่าให้รบกวนเพื่อนบ้าน และควรปลูกทิศตะวันออก ให้ได้รับแสงเต็มที่" อาจารย์ประสงค์แนะนำ

เรื่องราวงานปลูกมะพร้าวของอาจารย์ประสงค์น่าสนใจไม่น้อย ถามไถ่กันได้ที่ โทร. (02) 378-2620 และ (081) 836-6228

ในงานสัมมนา มหัศจรรย์...มะพร้าวไทย "พบความหลากหลายของมะพร้าว พืชที่รับใช้คนไทยมานาน" ซึ่งจะจัดขึ้นที่สำนักงาน หนังสือพิมพ์ข่าวสด ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2552 นี้ อาจารย์ประสงค์ จะมาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ในฐานะที่เป็นผู้ปลูกมายาวนาน 33 ปี

พร้อมกับนำพันธุ์มะพร้าวมาโชว์ดังนี้ คือ มะพร้าวน้ำหอม รบ.1, มะพร้าว รบ.2, มะพร้าวน้ำหอมพวงร้อยพันธุ์แท้, มะพร้าวน้ำหอมพวงร้อยลูกผสม (รบ.3), มะพร้าวใหญ่ต้นสูงสีเขียว, มะพร้าวใหญ่ต้นสูงสีเหลือง, มะพร้าวใหญ่ต้นสูงสีแดง และมะแพร้ว รวมแล้วไม่น้อยกว่า 8 ตัวอย่าง จากวัดเพลง

นอกจากฟังอาจารย์ประสงค์บรรยายแล้ว สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนตัวต่อตัวได้ เมื่อมีเวลาว่าง

ผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนา ดูรายละเอียดได้ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ปักษ์นี้ หน้า 12

11. บ้านเดิมของอาจารย์ประสงค์ กำลังบูรณะ

12. ในหมู่ญาติพี่น้องปลูกมะพร้าวแบ่งเขตกัน มะพร้าว 2 ต้น มีเจ้าของคนละต้น
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
Pum_NWF_Rayong
สาวดาม
สาวดาม


เข้าร่วมเมื่อ: 29/07/2009
ตอบ: 177

ตอบตอบ: 05/10/2009 4:47 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ที่มา : http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05063011052&srcday=&search=no

แผนปฏิบัติการป้องกันโรคใบไหม้ลาตินอเมริกัน (SALB) ของยางพารา ในประเทศไทย

โรคยางพารา ที่พบระบาดโดยทั่วไป มีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไปตามแหล่งปลูกยาง สภาพภูมิอากาศในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงพันธุ์ยางที่ใช้ปลูก โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกระยะการเจริญเติบโต และทุกส่วนของต้นยาง มีผลให้ต้นยางตาย หรือชะงักการเจริญเติบโต และผลผลิตลดลง

สำหรับโรคยางพาราที่สำคัญและพบในประเทศไทยซึ่งเกิดจากเชื้อรา ได้แก่ โรคใบร่วงและฝักเน่า ที่เกิดจากเชื้อไฟทอปทอร่า โรคใบจุด โรคเส้นดำ และโรคราก แมลงศัตรูบางชนิด ได้แก่ ปลวก หนอนทราย ตัวตุ่น และอาการผิดปกติจากการเกิดอาการเปลือกแห้ง เป็นต้น ซึ่งอาการผิดปกติของต้นยางจากสาเหตุดังกล่าว สามารถเฝ้าระวัง ควบคุมการแพร่ระบาดและป้องกันกำจัดมิให้เกิดความเสียหายในระดับเศรษฐกิจได้ แต่ยังมีโรคยางพาราที่สำคัญและร้ายแรงอีกชนิดหนึ่ง ที่อาจมีโอกาสแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยได้หากไม่มีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยมีการปลูกยางพารากันทั่วทุกภาคของประเทศ หากไม่มีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด ก็อาจส่งผลเสียหายในระดับเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมยางธรรมชาติของประเทศ นั่นคือ โรคใบไหม้ลาตินอเมริกัน (South American Leaf Blight) หรือ SALB ซึ่งระบาดรุนแรง และทำความเสียหายแก่สวนยางพาราในประเทศแถบละตินอเมริกาเขตร้อนของทวีปอเมริกา (Tropical Latin American Countries) ได้แก่ เบลีซ โบลิเวีย บราซิล โคลัมเบีย คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ เอกวาดอร์ เฟรนช์เกียนา กายอานา กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส เม็กซิโก นิการากัว ปานามา เปรู ซูรินาเม ตรินิแดดและโตเบโก และเวเนซุเอลา และยังไม่สามารถหามาตรการในการป้องกันกำจัดโรคดังกล่าวให้หมดสิ้นได้ ปัจจุบันโรคใบไหม้ลาตินอเมริกันของยางพารายังไม่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรมีมาตรการและแผนปฏิบัติการป้องกันอย่างเข้มงวด

คุณสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนตั้งอยู่บริเวณเส้นรุ้งเดียวกันกับประเทศแถบละตินอเมริกา ที่เป็นแหล่งระบาดของโรคใบไหม้ลาตินอเมริกัน และมีภูมิอากาศที่คล้ายกัน ดังนั้น โรคใบไหม้ลาตินอเมริกันจึงมีโอกาสแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยได้ หากไม่มีมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด กรมวิชาการเกษตร รับผิดชอบการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยการกักพืช ซึ่งปัจจุบัน คือ "พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551" อันมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันโรคและศัตรูพืชร้ายแรงระบาดจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่งทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ จึงเป็นความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตรในการดำเนินการป้องกันโรคใบไหม้ลาตินอเมริกันมิให้แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย โดยอาศัยความร่วมมือช่วยเหลือของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ทั้งระหว่างประเทศและในประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำมาตรการป้องกันโรคใบไหม้ลาตินอเมริกันของยางพาราในประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นมาตรการรองรับ โดยกำหนดเป็นขั้นตอน ดังนี้

1. กำหนดให้พืชสกุล Hevea spp. และพาหะ ได้แก่ น้ำยางสด ยางก้อน ยางเน่า และขี้ยางจากทุกแหล่ง เป็นสิ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช

2. ในกรณีที่มีสายการบินที่บินตรงจากประเทศที่มีโรคใบไหม้ลาตินอเมริกันระบาด เพื่อป้องกันโรคมิให้แพร่ระบาดเข้ามาทำความเสียหายต่อการปลูกยางพาราในประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร จึงกำหนดมาตรการป้องกันโรคใบไหม้ลาตินอเมริกัน ดังต่อไปนี้

2.1 ให้สายการบินที่บินตรงจากประเทศที่มีโรคใบไหม้ลาตินอเมริกันระบาด ยื่นใบแสดงจำนวนผู้โดยสารและใบแสดงรายการสินค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจพืช ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ

2.2 ให้ผู้โดยสารที่มากับสายการบินดังกล่าว กรอกแบบฟอร์มกักกันพืช (พ.ก. 11) และยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจพืช ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ

2.3 ให้สายการบินดังกล่าวแยกกระเป๋าเดินทางและสัมภาระ หีบห่อของผู้โดยสารที่มาจากแหล่งระบาดโรคใบไหม้ลาตินอเมริกันจากผู้โดยสารอื่น

2.4 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบการปนเปื้อนของสปอร์ของเชื้อโรคใบไหม้ลาตินอเมริกันบนเครื่องบินจากเบาะนั่ง พนักพิงศีรษะ ที่วางเท้าและพื้นทางเดิน รวมทั้งกระเป๋าเดินทาง สัมภาระ และภาชนะบรรจุสินค้า

2.5 พนักงานเจ้าหน้าที่จะกำจัดเชื้อซึ่งอาจปนเปื้อน โดยฉีดน้ำสบู่รอบนอกกระเป๋าเดินทาง สัมภาระ และภาชนะบรรจุสินค้า และกำจัดเชื้อซึ่งอาจปนเปื้อนมากับเสื้อผ้า และสัมภาระของผู้ที่เดินทางเข้าไปในสวนยางพาราในช่วง 7 วัน ก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยด้วยแสงอัลตราไวโอเลตนาน 15 นาที

2.6 ในกรณีตรวจพบเชื้อโรคใบไหม้ลาตินอเมริกันจะต้องรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบทันที เพื่อกำหนดมาตรการเสริมต่อไป

2.7 ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เดินทางไป-กลับ ระหว่างราชอาณาจักรไทยและแหล่งระบาดโรคใบไหม้ลาตินอเมริกันให้ทราบถึงภัยอันตรายและข้อควรปฏิบัติในการป้องกันโรคใบไหม้ลาตินอเมริกัน โดยแจกแผ่นพับ เรื่องการป้องกันประเทศไทยให้ปลอดจากโรคใบไหม้ลาตินอเมริกัน มหันตภัยของยางพารา ซึ่งมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากแหล่งที่มีโรคใบไหม้ลาตินอเมริกันระบาด ควรปฏิบัติตนดังต่อไปนี้

1. อย่านำส่วนขยายพันธุ์ของยางพารา ตัวอย่างแห้ง รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ซึ่งทำจากยางพาราและพืชชนิดอื่นจากแหล่งที่มีโรคระบาดเข้ามาในราชอาณาจักร

2. กรณีเดินทางเข้าไปในสวนยางพาราที่เป็นแหล่งระบาดโรคใบไหม้ลาตินอเมริกัน ควรอาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดเสื้อผ้า และรองเท้า ก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย

3. ก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเป็นเวลา 7 วัน ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในสวนยางพารา ซึ่งเป็นแหล่งระบาดโรคใบไหม้ลาตินอเมริกัน

4. เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย ต้องกรอกแบบฟอร์มกักกันพืช (พ.ก.11) ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจพืช

5. เมื่อเดินทางถึงราชอาณาจักรไทยแล้ว ควรงดเดินทางเข้าไปในแหล่งปลูกยางพารา อย่างน้อย 7 วัน

คุณสุขุม กล่าวในตอนท้ายว่า จากมาตรการป้องกันโรคใบไหม้ลาตินอเมริกันของยางพาราในประเทศไทยที่เข้มงวดดังกล่าวนี้ จะทำให้มั่นใจได้ว่าโรคนี้จะไม่สามารถแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยได้โดยง่าย ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือช่วยเหลือของหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ทั้งระหว่างประเทศและในประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเกษตรกรชาวสวนยางด้วยที่จะช่วยกันสอดส่องดูแล เฝ้าระวังและปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มงวดต่อไป หากท่านผู้ใดอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ คุณสุรพล ยินอัศวพรรณ กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-8516 หรือสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 940-6670 และฝ่ายควบคุมยางตามพระราชบัญญัติ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-1576 ต่อ 307 ในวันและเวลาราชการ

ชุมสินธุ์ ทองมิตร
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
Pum_NWF_Rayong
สาวดาม
สาวดาม


เข้าร่วมเมื่อ: 29/07/2009
ตอบ: 177

ตอบตอบ: 05/10/2009 4:51 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ที่มา http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05070011052&srcday=&search=no

นักวิจัย มก. ปรับพันธุ์ถั่วเขียว สู้ด้วงเจาะเมล็ด

ด้วงเจาะเมล็ด เป็นแมลงศัตรูในโรงเก็บที่ทำความเสียหายให้กับเมล็ดถั่วเขียวหลังการเก็บเกี่ยว ด้วงเจาะเมล็ดที่พบทั่วไปในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ ด้วงถั่วเขียว (Callosobruchus muculatus) และด้วงถั่วเหลือง (Callosobruchus chinensis) โดยตัวเต็มวัยของด้วงทั้ง 2 ชนิด จะวางไข่ลงบนฝักถั่วเขียวที่อยู่ในระยะใกล้สุกแก่ หลังจากนั้นตัวอ่อนจะออกมาจากไข่แล้วเจาะผ่านเปลือกฝักเข้าไปในเมล็ดเพื่อพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย โดยกินส่วนของเนื้อเมล็ดเป็นอาหาร โดยช่วงเวลาที่ด้วงถั่วอาศัยอยู่ในเมล็ด กินเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ดังนั้น เมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวถั่วเขียวมาเก็บรักษาไว้ จึงมีด้วงถั่วอยู่ในเมล็ด และเมื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัย ด้วงจะเจาะออกมาจากเมล็ด ผสมพันธุ์และเข้าทำลายเมล็ดถั่วเขียวที่เก็บเกี่ยวไว้ทันที ถ้าหากไม่มีการป้องกัน เมล็ดถั่วเขียวที่เก็บไว้อาจถูกทำลายทั้งหมดในระยะเวลา 1-2 เดือน เมล็ดถั่วเขียวที่ถูกทำลายไม่สามารถนำมาใช้บริโภค ขายหรือปลูกต่อไปได้ เนื่องจากด้วงเจาะเมล็ดอาจขับถ่ายของเสียออกมา การบริโภคถั่วเขียวที่ถูกทำลายอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ นอกจากนี้ ถ้าหากมีการตรวจพบภายหลังว่าเมล็ดถั่วเขียวที่ส่งออกไปมีด้วงเจาะเมล็ดอยู่ (เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นว่ามีด้วงเจาะเมล็ดอยู่ข้างใน) อาจทำให้เสียความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของประเทศได้

โดยทั่วไปเกษตรกรสามารถควบคุมด้วงเจาะเมล็ดได้โดยการอบหรือรมด้วยสารเคมี อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาด้วงถั่วโดยการใช้สารเคมีไม่เป็นที่นิยม เพราะมีราคาแพงและยุ่งยากในการปฏิบัติ อีกทั้งการใช้สารเคมีเป็นอันตรายต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม วิธีการที่ดีที่สุดคือ การใช้พันธุ์ต้านทาน แต่ปัญหาก็คือ ถั่วเขียวพันธุ์การค้าและพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกอยู่ในประเทศไทยล้วนแต่อ่อนแอต่อด้วงเจาะเมล็ดทั้งสิ้น

ดังนั้น ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. นักวิจัยของภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จึงได้ปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์การค้าที่เกษตรกรนิยมปลูกคือ พันธุ์กำแพงแสน 1 ให้มีความต้านทานต่อด้วงเจาะเมล็ด โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

คณะวิจัยได้รวบรวมเชื้อพันธุกรรมถั่วเขียวจากทั้งในและต่างประเทศ จำนวนกว่า 800 พันธุ์ มาทดสอบการเข้าทำลายของด้วงถั่วเขียวและด้วงถั่วเหลืองในห้องปฏิบัติการ เพื่อคัดเลือกหาพันธุ์ถั่วเขียวที่ต้านทาน พบพันธุ์ถั่วเขียวที่ต้านทานต่อด้วงทั้ง 2 ชนิด จำนวน 4 พันธุ์ แต่วิธีการคัดเลือกที่ใช้มีข้อจำกัดคือ ไม่สะดวกในการปฏิบัติงานและใช้เวลานาน กล่าวคือ

1. ต้องเลี้ยงด้วงไว้ในห้องควบคุมอุณหภูมิและความชื้นตลอดเวลา

2. ความแข็งแรงของด้วงอาจลดลง เนื่องจากเกิดการผสมพันธุ์กันเอง (inbreeding) ทำให้ผลการทดสอบไม่เที่ยงตรง และ

3. การทดสอบในแต่ละครั้งใช้เวลานานถึง 4-5 เดือน (ปลูกถั่ว 2-3 เดือน เพื่อเก็บเมล็ด และอีก 2 เดือน ในการทดสอบการเข้าทำลาย)

ด้วยเหตุนี้ คณะวิจัยจึงได้นำเครื่องหมายโมเลกุล (molecular marker หรือ DNA marker) มาช่วยคัดเลือกด้วย โดยเฉพาะเครื่องหมายโมเลกุลแบบเอสเอสอาร์ ซึ่งจากผลจากการวิจัยพบ 1 เครื่องหมาย คือ GBssr-MB87 ที่เชื่อมโยงอยู่กับยีนควบคุมความต้านทาน สามารถนำไปใช้ในการคัดเลือกพันธุ์ต้านทานได้ โดยในขณะนี้ได้สร้างประชากรจากคู่ผสมระหว่างพันธุ์กำแพงแสน 1 กับพันธุ์ V2709 ได้สายพันธุ์ผสมกลับ 4 ครั้ง ชั่วที่ 3 จำนวน 5 สายพันธุ์ ที่ต้านทานอย่างสมบูรณ์ต่อด้วงทั้งถั่วเขียวและด้วงถั่วเหลือง ซึ่งจะได้ผสมกลับอีก 1-2 ครั้ง แล้วคัดเลือกพันธุ์ต้านทานโดยเครื่องหมายโมเลกุลร่วมกับการปลูกทดสอบผลผลิต เพื่อจะได้ถั่วเขียวพันธุ์กำแพงแสน 1 ที่ต้านทานต่อด้วงเจาะเมล็ด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปี จึงจะสามารถแจกจ่ายพันธุ์พืชให้กับเกษตรกรได้

ทั้งนี้ ผู้ใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. (034) 281-267 ในวันและเวลาราชการ
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©