-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ปุ๋ยสังกะสี...จำเป็น...สำหรับพืช
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ปุ๋ยสังกะสี...จำเป็น...สำหรับพืช
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ปุ๋ยสังกะสี...จำเป็น...สำหรับพืช

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
ott_club
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 20/07/2009
ตอบ: 718

ตอบตอบ: 15/06/2010 7:45 am    ชื่อกระทู้: ปุ๋ยสังกะสี...จำเป็น...สำหรับพืช ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ธาตุสังกะสี เป็นหนึ่งในธาตุอาหารจำเป็นของพืช แต่วันนี้ "มังคุด" ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชินีผลไม้ของไทย กำลังประสบกับภาวะขาดแคลนธาตุสังกะสีอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อผลผลิตมังคุดส่งออก

เมื่อปี 2540 รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม นักวิจัยสาขาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตรเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (ส สถาบันจล.) เริ่มสังเกตพบว่า สวนผลไม้ในภาคตะวันออกของไทยส่วนใหญ่ ขาดธาตุสังกะสี โดยเฉพาะมังคุดและทุเรียน ที่แสดงอาการขาดธาตุสังกะสีให้เห็นมากกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆ จึงเริ่มศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

"สังกะสีเป็น 1 ใน 16 ธาตุอาหารจำเป็นของพืชที่ต้องได้รับ หากขาดไปจะทำให้พืชจะเจริญเติบโตได้ไม่ครบวงจรชีวิต เช่น อาจไม่มีดอก ไม่ออกผล หรือหากได้รับธาตุสังกะสีไม่เพียงพอ พืชจะแสดงอาการผิดปกติออกมา ได้แก่ ใบเล็กและแข็ง ข้อใบสั้น ทำให้ใบรวมกันเป็นกระจุก ส่งผลให้พืชทำการสังเคราะห์ด้วยแสงได้ไม่เต็มที่ ทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก อ่อนแอ และเป็นโรคง่าย ซึ่งพบในพืชผลหลายชนิดในภาคตะวันออก โดยเฉพาะมังคุดและทุเรียนที่พบมากกว่าผลไม้อื่น" รศ.ดร.สุมิตรา อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนระหว่างเข้าเยี่ยมชมสวนมังคุดส่งออกของเกษตรกรใน จ.จันทบุรี ที่จัดโดยบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา

นักวิจัย สจล. กล่าวต่อว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่า ขาดธาตุการสังกะสีของพืชในภาคตะวันออกเกิดส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสมากเกินไปเป็นเวลายาวนานจากความไม่รู้ของเกษตรกร เนื่องจากเชื่อว่าการใส่ปุ๋ย เอ็น-พี-เค (N-P-K) ตามปกตินันเพียงพออยู่แล้ว และเมื่อใช้ปุ๋ยสูตรดังกล่าวมากเกินไปจะทำให้มีฟอสฟอรัส (P) ในดินสูง ซึ่งฟอสฟอรัสในดินจำนวนมากนั้นจะไปขัดขวางการดูดซับธาตุสังกะสีในดินของพืช ส่งผลให้พืชที่เจริญเติบโตบริเวณนั้นขาดธาตุสังกะสีได้

การแก้ปัญหาพืชขาดธาตุสังกะสีสามารถทำได้โดยการให้ปุ๋ยสังกะสีเพิ่มในดิน แต่เนื่องจากสวนผลไม้ในภาคตะวันออกมีฟอสฟอรัสในดินสูงมาก การให้ปุ๋ยสังกะสีในดินจึงไม่มีผลใดๆ และอาจต้องใช้เวลายาวนานหลายสิบปีจึงจะทำให้ฟอสฟอรัสในดินลดลงจนหลือปริมาณที่เหมาะสมโดยที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสเพิ่มเข้าไปอีก

ฉะนั้นต้องให้ปุ๋ยสังกะสีโดยวิธีฉีดพ่นทางใบแทน โดยให้ฉีดพ่นปุ๋ยสังกะสีทุกครั้งเมื่อมังคุดเริ่มแตกใบอ่อนจะสามารถช่วยให้ใบใหม่ไม่ขาดธาตุสังกะสี พืชแข็งแรง ออกดอกสม่ำเสมอ ผลใหญ่ เปลือกมีผิวสวย เรียบเนียน และไม่มีคราบน้ำยางเกาะติดที่ผิวเปลือก

รศ.ดร.สุมิตรา เผยอีกว่ายังมีปัญหาสำคัญที่ยังพบมากในผลผลิตมังคุดคือ มังคุดเป็นเนื้อแก้ว และยางไหล ซึ่งเกิดจากมังคุดได้รับน้ำฝนมากเกินไปจนทำให้เซลล์ของเนื้อมังคุดแตกและกลายเป็นเนื้อแก้ว ส่วนปัญหายางไหลเกิดจากท่อน้ำยางแตกเมื่อมีแรงดันมากเกินไป ซึ่งวิธีแก้ปัญหาคือเกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวมังคุดให้ได้ก่อนเริ่มเข้าฤดูฝน แต่เมื่อไม่สามารถทำดังนั้นได้ จึงจำเป็นต้องทำให้มังคุดมีความแข็งแรงพอที่จะทนทานต่อสภาวะดังกล่าวได้

"ธาตุสังกะสีช่วยให้พืชมีความสมบูรณ์แข็งแรงได้ในระดับภาพรวม แต่จากการศึกษาพบว่าธาตุแคลเซียมสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับเซลล์เนื้อมังคุดและท่อน้ำยางได้ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยการเพิ่มแคลเซียมให้มังคุดในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อลดปัญหาเนื้อแก้วและยางไหล ซึ่งจะทำให้มังคุดมีคุณภาพดียิ่งขึ้น" รศ.ดร.สุมิตรา เผย ซึ่งนักวิจัยได้รับทุนวิจัยต่อเนื่องจาก คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยในการศึกษาความต้องการธาตุอาหารของพืชในสวนมังคุด ทุเรียน และสละ ตั้งแต่ปี 2541 ถึงปัจจุบัน

ด้านนางสงวน บุญญฤทธิ์ เกษตรกรเจ้าของสวนมังคุดรายหนึ่งใน จ.จันทบุรี ที่ครอบครัวทำสวนมังคุดมายาวนานร่วม 50 ปี บนพื้นที่ราว 150 ไร่ และเป็นเกษตรกรรายแรกๆ ที่เริ่มหันมาสนใจการเพิ่มธาตุสังกะสีให้มังคุด เปิดเผยว่า ก่อนหน้าที่ รศ.ดร.สุมิตราจะเข้ามาทำวิจัย ผลผลิตมังคุดเริ่มไม่ค่อยดี

แต่หลังจากทดลองฉีดพ่นปุ๋ยสังกะสีให้มังคุดตามคำแนะนำของนักวิจัยก็พบว่าผลผลิตมังคุดเริ่มมีคุณภาพดีขึ้น ผลใหญ่ขนาดตั้งแต่ 70-90 กรัมขึ้นไป ผิวมัน เปลือกบาง ไม่เป็นกระ เนื้อขาวสวย รสชาติหวาน ไม่ค่อยพบเนื้อแก้วหรือยางไหลมากเหมือนแต่ก่อน

จากเดิมที่สามารถส่งออกได้เพียงประมาณ 30% ปัจจุบันส่งออกมังคุดได้มากกว่า 70% โดยตลาดส่วนใหญ่อยู่ในจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป แต่กว่าจะประสบผลสำเร็จได้ขนาดนี้ ต้องใช้เวลานานประมาณ 6 ปี

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหามังคุดขาดธาตุสังกะสี ที่นักวิจัยต้องเผชิญคือ ความไม่เชื่อถือจากเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มักเชื่อตามความรู้สึกของตนเอง เชื่อตามวิธีเดิมที่ปฏิบัติมาเป็นเวลานาน

รศ.ดร.สุมิตรา จึงแนะนำว่า สิ่งที่เกษตรกรควรทำคือนำตัวอย่างดินไปวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้รู้ปริมาณธาตุอาหารที่ควรเติมลงในดิน และนำตัวอย่างใบมังคุดวิเคราะห์เพื่อให้รู้ว่าพืชขาดธาตุอาหารใดบ้าง จะได้ให้ปุ๋ยพืชที่มีธาตุอาหารเหมาะสมและครบถ้วน

นอกจากนั้น รศ.ดร.สุมิตรา ยังให้ความรู้เพิ่มเติมว่า สังกะสีเป็นธาตุอาหารจำเป็นต่อพืช และเป็นธาตุอาหารจำเป็นต่อมนุษย์เช่นกัน และมีรายงานวิจัยว่าการขาดธาตุสังกะสีและวิตามินเอจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์มากที่สุด โดยผู้ที่ขาดธาตุสังกะสีจะมีร่างกายแคระแกร็น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ป่วยเป็นโรคง่าย และมีผลต่อระบบการทำงานในสมอง

ดังนั้นการบริโภคอาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสีในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งธาตุสังกะสีพบมากในเนื้อสัตว์ ปลา ข้าว ธัญพืช รวมทั้งผักสีเขียว และการให้ปุ๋ยสังกะสีในมังคุดหรือพืชอาหารอื่นๆ ยังช่วยลดอาการขาดธาตุสังกะสีในมนุษย์ได้ด้วยเช่นกัน



ที่มา http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000079440


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ott_club เมื่อ 15/06/2010 11:10 am, แก้ไขทั้งหมด 2 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว ส่งอีเมล์
ott_club
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 20/07/2009
ตอบ: 718

ตอบตอบ: 15/06/2010 9:15 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม อธิบายลักษณะของมังคุดที่ขาดธาตุสังกะสีจะมีใบเล็กหรือหงิกงอ



รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม นักวิจัย สจล. ที่เริ่มพบอาการขาดธาตุสังกะสีของสวนมังคุดในภาคตะวันออกของไทยเมื่อกว่า 10 ปีก่อน



เนื้อมังคุดสีขาวสวย ไม่เป็นเนื้อแก้ว และไม่มียางไหล





ที่มา http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000079440
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว ส่งอีเมล์
ott_club
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 20/07/2009
ตอบ: 718

ตอบตอบ: 16/06/2010 1:39 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ดินและปุ๋ย

เพิ่มสังกะสีในมังคุด เพิ่มคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร

ในบรรดาผลไม้ทั้งมวล ผลไม้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "ราชาของผลไม้" ก็คือ "ทุเรียน" ด้วยทั้ง
ลักษณะภายนอกของผลที่เป็นหนามคล้ายมงกุฎของพระราชา และเนื้อในที่มีรสชาติแสนอร่อยที่ยากจะหาผลไม้อื่นมาเทียบได้ และในบรรดาผลไม้ทั้งมวลผลไม้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "ราชินีของผลไม้" ก็คือ "มังคุด" ด้วยลักษณะภายนอกของผลที่มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่หัวขั้วของผลคล้ายมงกุฎของพระราชินี ส่วนเนื้อในก็มีสีขาวสะอาด มีรสชาติที่แสนหวาน อร่อย อย่างยากที่จะหาผลไม้อื่นมาเทียบได้เช่นเดียวกัน
มังคุด ที่ปลูกในประเทศไทยมีพันธุ์เดียว เป็นพันธุ์พื้นเมือง เพราะเกิดจากเมล็ดที่ไม่ได้ผสมเกสร จึงแทบจะไม่มีโอกาสกลายพันธุ์เลย เนื่องจากเกสรตัวผู้ของดอกมังคุดเป็นหมัน เมล็ดจึงเจริญจากเนื้อเยื่อของต้นแม่ โดยไม่ได้รับการผสมเกสร ดังนั้น จึงเชื่อกันว่ามังคุดมีแค่พันธุ์พื้นเมือง

คุณค่าทางโภชนาการ
การบริโภคมังคุดทำให้เราได้บริโภคกากใยจากเนื้อมังคุด ซึ่งช่วยในการขับถ่าย และยังได้สารอาหารวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น น้ำตาล กรดอินทรีย์ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และสังกะสี นอกจากนั้น มังคุดยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จากการศึกษาในหนูทดลอง พบว่า มังคุดสามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอลในไขมันได้ด้วย

สรรพคุณทางยา
มังคุด มิได้มีประโยชน์อยู่แค่เนื้อในของมังคุดที่เราใช้เป็นอาหารเท่านั้น เปลือกมังคุดก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วงเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกเลือด โดยการใช้เปลือกสดหรือเปลือกแห้งต้มกับน้ำดื่มก็ได้ผลเช่นเดียวกัน เปลือกมังคุดยังมีสรรพคุณในการสมานแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว เช่น ใช้รักษาแผลผุพอง แผลเน่าเปื่อย แผลเป็นหนอง เพราะเปลือกมังคุดมีสารแทนนิน (Tannin) และสารแซนโทน (Xanthone) ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า สารแมงโกสติน (mangostin) สารแทนนินมีฤทธิ์สมานแผล ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น สารแมงโกสตินมีฤทธิ์ช่วยลดอาการอักเสบ และต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง สารแซนโทนในเปลือกมังคุดยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนังและกลากได้อีกด้วย



เพิ่ม "สังกะสี" พัฒนาคุณภาพไม้ผลภาคตะวันออก

หลังพบพื้นที่กว่าร้อยละ 50 ประสบปัญหา
สังกะสี ไม่ใช่มีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น สังกะสียังเป็นธาตุอาหารที่สำคัญต่อการสังเคราะห์แสงและการเจริญเติบโตของพืชด้วย

พื้นที่สวนผลไม้ภาคตะวันออกที่จริงไม่ขาด "ธาตุสังกะสี" แต่ความไม่รู้ของเกษตรกรทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว ที่ส่งผลอย่างคาดไม่ถึง

บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตแร่สังกะสีเพื่อถลุงเป็นโลหะสังกะสีแท่งบริสุทธิ์สำหรับภาคอุตสาหกรรม ได้จัดกิจกรรมเยี่ยมชมสวนผลไม้จังหวัดจันทบุรี เผยแพร่คุณประโยชน์ของสังกะสีในด้านธาตุอาหารที่มีความสำคัญต่อพืช โดยนักวิจัยพบว่า พื้นที่เกษตรกรรมภาคตะวันออกซึ่งปลูกไม้ผลกว่าร้อยละ 50 มีปัญหาขาดธาตุสังกะสี หลังเกษตรกรเพิ่มธาตุสังกะสีทางใบ ทำให้ผลผลิตดีขึ้น

คุณชิตชัย ทวีพาณิชย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบริหารงานกลาง บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่สังกะสียังมีความสำคัญต่อภาคเกษตรกรรมด้วยเช่นกัน เพราะเป็นธาตุอาหารที่ช่วยทำให้พืชสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น กิจกรรมครั้งนี้มุ่งส่งเสริมความรู้เรื่อง "สังกะสีที่มีความสำคัญต่อพืช" หลังจากที่ได้จัดกิจกรรม "สังกะสีสำคัญต่อสุขภาพ" ไปแล้ว เมื่อปลายปี 2552

รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ดินและพืช จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งดำเนินงานวิจัยช่วยเกษตรกรพัฒนาคุณภาพผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า จากการทำงานวิจัยเพื่อศึกษาความต้องการธาตุอาหารและการวิเคราะห์ดินและพืชในสวนผลไม้ภาคตะวันออก เป็นระยะเวลา 12 ปี นั้น เริ่มต้นจากการศึกษาทุเรียนก่อน ต่อมาได้สังเกตเห็นปัญหาของสวนมังคุดในภาคตะวันออก ที่ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 50 มีอาการขาดธาตุสังกะสี คือ มีใบขนาดเล็กปะปนกับใบใหญ่จำนวนมาก ทำให้การสังเคราะห์แสงเพื่อผลิตอาหารเลี้ยงลำต้นไม่สมบูรณ์ ภาวะดังกล่าวเกิดจากสาเหตุของฟอสฟอรัส (P) ที่สะสมในดินมีปริมาณมาก จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางไม่ให้พืชดูดธาตุสังกะสีมาบำรุงต้นได้ ทั้งนี้ มาจากความเข้าใจผิดของเกษตรกรที่คิดว่า การใส่ปุ๋ย P จะช่วยเร่งดอก ทำให้ติดลูกดี และคิดว่าธาตุอาหารพืชมีแค่เพียงปุ๋ย N-P-K เท่านั้น โดยใส่ปุ๋ยสูตรเดิมมานับสิบๆ ปี หลังจากได้แนะนำเกษตรกรให้ฉีดพ่นปุ๋ยสังกะสีผ่านทางใบมังคุด ทำให้ใบมีขนาดใหญ่สม่ำเสมอทั้งต้น พร้อมกันนี้ยังได้แนะนำให้เกษตรกรให้ธาตุอาหารอื่นๆ แก่พืชอย่างเหมาะสม เพื่อปรับปรุงลักษณะผลและรสชาติควบคู่กันไปด้วย ส่งผลให้ผลผลิตมังคุดมีคุณภาพดีขึ้นมาก เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

คุณสงวน บุญญฤทธิ์ เกษตรกรรายหนึ่งของกลุ่มปรับปรุงคุณภาพมังคุดเพื่อการส่งออก กล่าวว่าหลังจากได้ทำตามคำแนะนำของ ดร.สุมิตรา มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถคัดผลผลิตมังคุดเพื่อการส่งออก จากร้อยละ 30 ของผลผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 90 ในปัจจุบัน โดยมังคุดจะมีขนาดผลตั้งแต่ 90 กรัม ขึ้นไป ผิวมัน ไม่มีกระ เปลือกบาง เนื้อขาว รสชาติหวาน ไม่เป็นเนื้อแก้ว ยางไหล ซึ่งขณะนี้ตลาดต่างประเทศทั้งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและจีน มีความต้องการสูงมาก อีกทั้งจำหน่ายได้ในราคาสูงเป็นที่น่าพอใจ มีต้นทุนการผลิตต่ำลง โดยลดการใช้ปุ๋ยที่ไม่จำเป็น

รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม กล่าวทิ้งท้ายว่า สังกะสี เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการเพียงเล็กน้อย แต่มีความสำคัญมากและขาดไม่ได้ เช่นเดียวกับธาตุอาหารอื่นๆ การปลูกไม้ผลให้มีรสชาติดีต้องรู้จักให้ธาตุอาหารที่เหมาะสม เพราะพืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากและซับซ้อนที่จะเข้าใจได้แตกฉาน งานวิจัยที่ลึกพอจึงจะให้คำตอบแก่เกษตรกรได้

ถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ส่วนประชาสัมพันธ์ โทร. (02) 695-9499 ต่อ 9408-9




สังกะสี มีความจำเป็นกับพืชอย่างไร

- สังกะสี เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช เป็นองค์ประกอบของโครงสร้าง และทำงานร่วมกับเอ็นไซม์หลายชนิด เพื่อให้กระบวนการต่างๆ ในพืชดำเนินไปด้วยดี

- พืชที่ได้รับธาตุสังกะสีไม่เพียงพอ จะส่งผลให้การเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ มีผลผลิตต่ำ คุณภาพไม่ดีและเป็นโรคง่าย ถ้าขาดสังกะสีรุนแรงจะทำให้แคระแกร็น

- พืชที่พบสังกะสีมาก ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง งา ธัญพืชทุกชนิด ผักใบเขียวและผลไม้สด

- จากผลการสำรวจพบว่า เกือบร้อยละ 50 ของดินทั่วโลกที่ใช้เพาะปลูก เป็นดินที่ขาดธาตุสังกะสี

- ในประเทศไทยพบว่า ปัญหาดินขาดธาตุสังกะสีนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากภาวะทางธรรมชาติ แต่เป็นผลจากการใช้ปุ๋ยที่ไม่เหมาะสมและไม่มีประสิทธิภาพ

- พื้นที่ปลูกผลไม้ในภาคตะวันออกพบว่า ดินไม่ขาดธาตุสังกะสี แต่พืชดูดไปใช้ไม่ได้ เพราะมีปริมาณธาตุฟอสฟอรัส (P) ในดินสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก จึงต้องให้ธาตุสังกะสีโดยการฉีดพ่นผ่านทางใบ

- ลักษณะการขาดธาตุสังกะสีของต้นมังคุด จะแสดงอาการทางใบ ซึ่งจะมีขนาดเล็ก แคระแกร็น ส่งผลให้การสังเคราะห์อาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ไม่ดี ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพไม่ดี

- ผลมังคุด 1 ลูก ขนาด 80 กรัม มีสารอาหารประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ ทั้ง โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก แมงกานีส ทองแดง อย่างครบถ้วน โดยมีสังกะสี ประมาณ 0.1 มิลลิกรัม

ที่มา http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05032150653&srcday=&search=no
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว ส่งอีเมล์
ott_club
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 20/07/2009
ตอบ: 718

ตอบตอบ: 18/06/2010 4:29 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

'สุมิตรา ภู่วโรดม' 'อัพเกรดผลไม้' ช่วยชาติ

“ธาตุอาหารมีความสำคัญกับสิ่งมีชีวิต ทุกชนิด ทั้งพืช สัตว์ และคน แม้ว่าจะต้องการ วันละนิดเดียว แต่ถ้าขาดหรือได้รับไม่เพียงพอ สิ่งมีชีวิตก็จะมีปัญหา”...เป็นการระบุของ รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม นักวิชาการที่ปัจจุบันมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรของไทยด้วย “ธาตุอาหาร” ซึ่งเรื่องราวของนักวิชาการายนี้ และรวมถึงเรื่องธาตุอาหารในผลิตผลทางการเกษตร ก็มีแง่มุมน่าสนใจ

ทีม “วิถีชีวิต” มีโอกาสพบกับ รศ.ดร. สุมิตรา ภู่วโรดม ที่ จ.จันทบุรี หนึ่งในพื้นที่ที่ บริษัท ผาแดง อันดัสทรี จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจเหมืองแร่ และโรงถลุงแร่สังกะสีเพื่อผลิตเป็นโลหะสังกะสีแท่งบริสุทธิ์ และโลหะสังกะสีผสม เข้าไปสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาผลผลิตของเกษตรกรผ่านทางนักวิชาการ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในโครงการภาคเอกชนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ซึ่งมีรากฐานของประเทศคือภาคเกษตรกรรม

รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ดินและพืช จุลชีววิทยาดิน อายุ 58 ปี เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มาตั้งแต่ปี 2529 ถึงปัจจุบัน เป็นนักวิจัยที่มีผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “งานวิจัยด้าน ดินและปุ๋ยในไม้ผล”

นักวิจัยด้านดินและปุ๋ยในไม้ผลท่านนี้ จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะเกษตร ศาสตร์ สาขาวิชาการเกษตร (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ปริญญาโท สาขาวิชาปฐพีวิทยา และวิศวกรรมทางน้ำ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และปริญญาเอก สาขาวิชาจุลชีววิทยาทางดิน จากมหาวิทยาลัยรัทเจอร์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากงานสอนหนังสือแล้ว ปัจจุบัน รศ.ดร.สุมิตรายังได้ทำงานวิจัยภายใต้ชุดโครงการ “ความต้องการธาตุอาหาร การจัดการธาตุอาหาร และการวิเคราะห์ดินและพืช ในสวนมังคุด สวนทุเรียน และสวนสละ” รวมทั้งการแก้ปัญหาเนื้อแก้วและยางไหลในมังคุด การแก้ปัญหาอาการหัวยุบหัวดำในสละโดยการใช้ธาตุอาหารที่เหมาะสม โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยก็ร่วมสนับสนุน

ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.สุมิตรา ได้รับทุนทำงานวิจัยสาขาความอุดมสมบูรณ์ของดิน และธาตุอาหารพืช ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐด้านเกษตร ศาสตร์และสัตวแพทย์ ที่โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เป็นเวลา 15 เดือน

นับว่าเป็น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษคนหนึ่งของเมืองไทย ในด้านธาตุอาหารพืช โดยเฉพาะไม้ผล ไม้ยืนต้น การวิเคราะห์ดินและพืชเพื่อเป็นแนวทางในการใส่ปุ๋ย โดยมีประสบการณ์ทั้งการสอนและภาคสนามกว่า 20 ปี และกำลังจะได้รางวัลคนทำงานวิจัยด้านการเกษตรจากธนาคารกรุงเทพในเร็ว ๆ นี้ด้วย

กับความสนใจในเรื่องธาตุอาหารในพืชผลไม้นั้น รศ.ดร.สุมิตราเล่าว่า เมื่อก่อนทำแต่งานธาตุอาหารในข้าว ซึ่งทำเป็นฤดู ๆ ไป แต่จุดเปลี่ยนอยู่ที่การได้ไปประชุมเชิงปฏิบัติการที่ประเทศฟิลิปปินส์ เรื่องการวิเคราะห์ดิน พืช เพื่อใส่ปุ๋ยไม้ผล ซึ่งได้พบกับนักวิจัยผู้บรรยายชาวไต้หวันคนหนึ่งชื่อ ซูซาน เชง ซึ่งทำวิจัยเรื่องส้ม นักวิจัยชาวไต้หวันคนนี้เป็นคนบอกชาวสวนส้มว่าทำสวนแบบเดิม ไม่ถูก และบอกวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งชาวสวนส้มก็เชื่อ และเมื่อได้คุยกันก็ได้ถามนักวิจัยคนนั้นว่า “ทำไมคนไต้หวันเชื่อคุณ?” ซึ่งนักวิจัยคนนั้นตอบมาว่า “เพราะฉันเก่งกว่าเกษตรกร!!” อย่างไรก็ตาม งานวิจัยด้านสวนผลไม้ทุก อย่างนั้นเป็นงานที่ต้องใช้เวลาถึงจะตอบได้ว่าสิ่งที่นักวิจัยแนะนำถูกหรือไม่ถูก จึงมักได้รับคำปรามาสมาตลอดว่าทำสวนเป็นหรือ? ซึ่งต่างจากงานวิจัยที่เกี่ยวกับข้าว ซึ่งทำกันช่วงสั้น ๆ ผลลัพธ์จะเห็นชัดมากกว่า ส่วนสวนผลไม้มีอายุยาวนานกว่าอายุคนอีก ดังนั้น ทั้งเรื่องการปรับปรุง หรือการเพิ่มเติมธาตุอาหาร จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

“ประทับใจกับคำพูดนั้นมาก จึงกลับมาทำงานวิจัยไม้ผล และพยายามนึกถึงคำพูดคำนั้นตลอดเวลาที่ทำงาน และเข้าใจว่าเหตุที่ชาวบ้านเชื่อนักวิจัย เพราะนักวิจัยคนนั้นได้รับการยอมรับ”

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สุมิตราบอกว่า เมื่อมาลุยงานเรื่องธาตุอาหารในไม้ผลในช่วงแรก ๆ ชาวบ้านก็ไม่ค่อยสนใจนัก ชาวบ้านหรือชาวสวนต้องฟันฝ่ากับทัศนคติเดิม ๆ ใส่ปุ๋ยสูตรเดิม ไม่ได้สนใจเรื่องธาตุอาหารอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น หรือลดความเสียหายของสวนอันเกิดจากการใส่ปุ๋ยแบบไม่มีประสิทธิภาพ

“ปีแรกเมื่อเริ่มบรรยายเรื่องการใส่ปุ๋ย การใช้ธาตุอาหาร ชาวบ้านก็นั่งฟังไปกินกาแฟไป กินอาหารไป ไม่ได้สนใจ ซึ่งเราก็โมโหนะ แต่ก็ไม่ได้ท้อ พอไปอีกปี ที่สองเขาก็บอกว่ามาพูดเรื่องเดิม และถามเราว่าอาจารย์ทำสวนเป็นหรือเปล่า? ที่บ้านอาจารย์มีสวนหรือเปล่า? ซึ่งเราก็บอกว่า ไม่มีสวน ทำสวนไม่เป็น แต่การทำงานของเราเหมือนกับหมอ ซึ่งเราสามารถวินิจฉัยโรคได้ และรู้ว่าต้องกินยาอะไรโรคถึงหายร่างกาย ถึงแข็งแรง”

แม้ว่าปีแรกจะไม่ค่อยมีคนเชื่อ แต่ก็มีคนนำไปลองคิด ลองทำ ประกอบกับเกิดเหตุการณ์ปุ๋ยราคาแพง และบริษัทปุ๋ยต่างชาติก็ไม่มีปุ๋ยจะขาย ดังนั้น สมาคมผู้ผลิตปุ๋ยโลก ก็บอกกับเกษตรกรในปีนั้นว่า การแก้ปัญหาปุ๋ยแพงนั้น คือต้องใส่ปุ๋ยให้ถูก เพื่อผลผลิตจะได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อทำแล้วได้ผล จึงเริ่มมีคนเชื่อมากขึ้น


“เหตุที่ชาวบ้านชาวสวนไม่เชื่อเราแต่แรก เพราะ

1.ไม่มีความรู้ และ
2.ความรู้เรื่องธาตุอาหารมีจำกัด

ที่สำคัญไม่เคยได้เรียนรู้ มีแต่ทำตามที่ทางราชการบอก


และทำตาม ๆ กันมา ดังนั้น การให้ความรู้เรื่องธาตุอาหารของเราจึงเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการทำสวนไปเลย” ...

รศ.ดร.สุมิตราระบุ



“มีการศึกษามานานกว่า 200 ปีมาแล้ว แตกแยกขยายสาขาออกไปเรื่อย ๆ เพราะอาหารคือสัตว์และพืช เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องกิน จึงมีการศึกษาต่อเนื่องมาตลอดในทุก ๆ พืชผลที่กินได้”...เป็นอีกคำกล่าวของ รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม ซึ่งก็คงจะสะท้อนได้ว่านักวิชาการท่านนี้จะเดินหน้าศึกษาวิจัยทางด้านนี้ต่อไป...

และก็น่าจับตาการพลิกโฉมสวนไม้ผลในอนาคต.

เติมสังกะสีพัฒนามังคุด

“มังคุด-ราชินีแห่งผลไม้” ก็เป็นหนึ่งในผลไม้ที่ บริษัท ผาแดง อันดัสทรี ให้การสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพผ่านทางนักวิชาการ ซึ่ง รศ.ดร.สุมิตราระบุว่า การพัฒนามังคุดมีความสำคัญ เพราะเป็นผลไม้ที่ทุก ๆ คนโดยเฉพาะชาวต่างชาติทั่วโลกรอทาน 1 ปีมีหนเดียว ประเทศไทยประเทศเดียว ปริมาณไม่อั้น ราคาจ่ายเต็มที่ แต่คุณภาพต้องดีตามราคา เป็นโจทย์ใหญ่ของเกษตรกรที่อยากขาย แต่ขายไม่ได้เพราะทำตามเงื่อนไขไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขว่าเสียได้ไม่เกิน 20% แต่ส่วนมากจะเกิน และปีนี้ก็เสียถึง 60% เพราะอากาศร้อนมาก

“ในอดีตเราส่งออกมังคุดในรูปแบบมังคุดแช่แข็ง ซึ่ง ปีก่อนหน้าโน้นมีออร์เดอร์มังคุดสดจากญี่ปุ่นถึง 130 ตัน ในราคา กก.ละ 60 บาท (ในประเทศญี่ปุ่นขายมังคุดสดผลละ 60 บาท) แต่ปรากฏว่าเสียเยอะ ปีที่แล้วออร์เดอร์เหลือเพียง 30 ตัน ซึ่งปัญหาใหญ่คือ เนื้อแก้ว ยางไหล ซึ่งเราก็ต้องวิเคราะห์สาเหตุ และค่อย ๆ แก้”

การทำวิจัยเรื่องไม้ผล ทำให้ รศ.ดร.สุมิตราต้องบุกป่าฝ่าสวนบ่อยครั้ง ซึ่งนับแต่ได้รับการยอมรับจากชาวสวนมังคุดที่จันทบุรี ในเรื่องการ “เติมแร่สังกะสี” เพื่อแก้ใบแคระแกร็น เพื่อเพิ่ม-พัฒนาคุณภาพผลผลิต ก็ไม่มีเลยที่จะถูกไล่จากสวน มีแต่จะได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าไปดูสวน ยกตัวอย่างสวนของ สงวน บุญญฤทธิ์ ซึ่งเป็นเกษตรกรในเครือข่ายกลุ่มปรับปรุงคุณภาพมังคุดเพื่อการส่งออก เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าคนหนึ่ง

รศ.ดร.สุมิตราบอกว่า สวนของแต่ละคนไม่ใช่ว่าจะเข้าไปได้ง่าย ๆ สบาย ๆ ทั้งเหนื่อย ทั้งร้อน แถมโดนยุงกัดอีกต่างหาก แต่ก็ต้องเข้า เพราะในนั้นมีปัญหาที่ท้าทายมากปัญหาหนึ่งรอให้ไปวิเคราะห์เพื่อแก้ไข

“คิดว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายมาก และปีนี้แม้ว่าเป็นปีที่แย่ของชาวสวน แต่ก็ถือว่าเป็นปีทองของงานวิจัยเลย เพราะอากาศร้อนจัดทำให้เรารู้ว่าจะต้องแก้ปัญหาอย่างไรต่อไปในอนาคต”.

สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล : รายงาน

ที่มา http://dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=524&contentID=71676
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว ส่งอีเมล์
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©