-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - หนี้เกษตรกร....
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

หนี้เกษตรกร....

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 18/06/2017 6:32 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.

นักวิชาการกะเทาะปัญหาโครงสร้างชาวนาไทย ทำนาแล้วไม่ได้นา

นักวิชาการกะเทาะปัญหาโครงสร้างชาวนาไทย ทำนาแล้วไม่ได้นา ชี้ชาวนาขาดทุน 1 หมื่นบาท/ไร่ เหตุแบกต้นทุนการผลิตสูงถึง 21,000 บาท ม.เกษตร จับมือ สสค. เปิดหลักสูตรชาวนามืออาชีพ นำร่องโรงเรียนลูกชาวนา 6 จังหวัด เล็งขยายผลสู่ อบต.-ปวส. ภาคการเกษตร

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดเสวนาเรื่อง แนวทางการยกระดับสมรรถนะชาวนาสู่การเป็นมืออาชีพ

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า วิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นใน 10-20 ปีข้างหน้า คือ เกษตรกรไทยจะไม่เหลืออีกแล้ว ปัจจุบันลูกค้า ธกส. ค่าเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 55 ปี และอีก 10 ปีข้างหน้า ค่าเฉลี่ยอายุจะอยู่ที่ 65 ปี โดยคนรุ่นใหม่จะไม่หลงเหลือในภาคการเกษตร เพราะการส่งลูกเข้าเรียนในเมือง และมองอาชีพเกษตรกรว่าเหนื่อยยาก ล้าหลัง จึงอยากให้ลูกหลานเปลี่ยนไปสู่อาชีพอื่น

วิกฤติเรื่องแรงงานภาคการเกษตรจึงต้องสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพมาทดแทนเพื่อเป็นเกษตรกรมืออาชีพ ซึ่งการสร้าง smart farmer หรือเกษตรกรปราดเปรื่อง ต้องทำให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ปี และเป็นการผลิตที่มีคุณภาพ หรือเป็นเกษตรอินทรีย์ โดยการเข้าสู่เกษตรกรมืออาชีพประกอบด้วย
การลดต้นทุนทั้งกระบวนการผลิตและต้นทุนชีวิต
รู้จักการเพิ่มผลผลิต
การสร้างมาตรฐานเพื่อควบคุมคุณภาพของผลผลิต


รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ชาวนามืออาชีพ กล่าวถึงโครงสร้างปัญหาของชาวนาไทยที่ทำนาแล้วไม่ได้นาว่า ชาวนาไทยกำลังเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายความอยู่รอด เพราะต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดย ต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาไทยในพื้นที่ทดลองภาคกลาง สูงถึง 21,355 บาท/ไร่ ประกอบด้วย

- ค่าแรง 54%
- ปัจจัยการผลิต 20.4%
- ค่าใช้ที่ดิน 10.4%
- อื่นๆ 10.4%


ขณะที่รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 10,400 บาท/ไร่ เท่ากับชาวนาต้องขาดทุนทั้งสิ้น 10,955 บาท/ไร่ ซึ่งผลผลิตข้าวของไทยยังต่ำกว่าผลผลิตเฉลี่ยของโลก โดยผลผลิตของไทยอยู่ที่ 448 กิโลกรัม/ไร่

ขณะที่ประเทศเวียดนามอยู่ที่ 862 กิโลกรัม/ไร่ และผลผลิตเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 680 กิโลกรัม/ไร่

ทำให้ชาวนาไทยเพิ่มผลผลิตด้วยการปลูกข้าวให้มากขึ้นโดยไม่พักนา ส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำ ดินเสื่อมโทรม ปัญหาศัตรูข้าว จึงเพิ่มสารเคมีและนำสู่การเพิ่มต้นทุนการผลิตเป็นเงาตามตัว แรงงานภาคเกษตรจึงทยอยขายที่นาเพราะเกิดภาวะหนี้สิน ที่ดินจึงเปลี่ยนมือไปสู่นายทุนรายใหญ่มากขึ้น

“รากของปัญหาโครงสร้างชาวนาไทยจึงมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ
1. การแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
2. การขาดทักษะและความรู้ ทั้งความรู้เท่าทันกลไกตลาด การลดต้นทุนการผลิตและการจัดการ จึงตกเป็นเหยื่อธุรกิจการผลิต การขายปุ๋ยและสารเคมี และ

3. ขาดวิถีชีวิตที่พอเพียงทั้งการส่งลูกเข้าเรียนในเมืองทำให้หมดตัวกับการศึกษา เป็นหนี้เงินกู้จากกับดักเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่


นอกจากนี้ยังถูกกระหน่ำจากปัจจัยภายนอกทั้งการถูกนายทุนผูกขาดกดราคาตลาดทำให้ไม่มีอำนาจต่อรอง กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อชาวนารายย่อย นโยบายรัฐที่แก้ปัญหาปลายเหตุโดยไม่แก้ที่ต้นเหตุคือการติดอาวุธทางปัญญาให้กับชาวนาไทย”รศ.จุฑาทิพย์กล่าว


http://www.qlf.or.th/Mobile/Details?contentId=694

-----------------------------------------------------------------------------------

.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 20/06/2017 6:35 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
รูปแบบแก้หนี้เกษตรกร ที่รัฐควรเรียนรู้

นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรของรัฐบาลปัจจุบัน ถือว่ายังไม่มีอะไรใหม่และยังเป็นแนวปฏิบัติที่รัฐบาลยุคก่อนๆได้ดำเนินการมาแล้วแทบทั้งสิ้น เช่นโครงการปลดหนี้เกษตรกรรายย่อย ซึ่งยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ โครงการปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้พักชำระเงินต้น และขยายเวลาผ่อนชำระเงินต้นไม่เกิน 10 ปี โดยเน้นกลุ่มเกษตรกรที่เป็นหนี้จากโครงการส่งเสริมของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ ภัยพิบัติธรรมชาติ หนี้ขาดอายุความ หนี้ที่อยู่ในวงเงินไม่เกิน 3 หมื่นบาท เป็นต้น

แม้ว่าล่าสุดรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย แก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยจัดตั้ง บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (จังหวัด) จำกัด โดยมีองค์ประกอบ ภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับประเทศมาขับเคลื่อนร่วมกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานรัฐ เป้าหมายคือ ทำหน้าที่ดำเนินงานเพื่อสังคม (Social Enterprise)ไม่แสวงหากำไร และทำหน้าที่หาตลาด กระจายสินค้า ดังนั้นนโยบายแก้ปัญหาหนี้ทั้งหมดที่ว่ามาจึงเป็นเพียงเรื่องเฉพาะหน้าและเป็นโครงการสงเคราะห์ของรัฐมากกว่า เพราะยังไม่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ของปัญหาหนี้ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานานได้

เมื่อมาดูสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดหนี้ของเกษตรกรจากงานศึกษาของ วิทยา เจียรพันธุ์ (2553: 24-25) ซึ่งได้อธิบายถึงปัจจัยมีผลต่อหนี้สินเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่เป็นปัญหาระดับโครงสร้างแทบทั้งสิ้น อาทิเช่น
- ปัญหาพื้นฐานทางการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต
- ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศมักมุ่งเน้นภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคการเกษตร ทั้งที่ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม

- ปัญหาด้านที่ดินทำกินซึ่งเป็นปัจจัยทางการผลิตที่สำคัญของเกษตรกรโดยตรง แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือมีที่ดินเพื่อการเกษตรขนาดเล็ก

- ปัญหาแหล่งน้ำทางการเกษตร โดยพื้นที่เกษตรทั่วประเทศมีไม่ถึงร้อยละ 25
- ปัญหาด้านการตลาดถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรขายสินค้าเกษตรได้ในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ตลอดจน

- ปัญหาความไม่ต่อเนื่องด้านนโยบายหนี้สินและเน้นแก้เฉพาะหน้ามากกว่าการวางแผนระยะยาว ส่งผลให้ปัญหาหนี้สินเป็นแผลเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้


เห็นได้จากตัวเลขหนี้สินและรายได้ล่าสุด ที่กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมาให้ข้อมูลผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรปีการผลิต 2558/2559 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 โดยได้สำรวจครัวเรือนเกษตรกร 6.5 ล้านครัวเรือนในประเด็น การถือครองที่ดิน รายได้ หนี้สิน การเข้าร่วมโครงการของรัฐ ทั้งนี้พบว่า
- เกษตรกร 5.52 ล้านครัวเรือน มีรายได้ 1.8 แสนบาท/ปี
- เกษตรกร 7.34 แสนครัวเรือน มีรายได้ระหว่าง 180,000-499,999 บาท/ปี
- เกษตรกร 8.77 หมื่นครัวเรือน มีรายได้ 500,000 บาท/ปี
- เกษตรกรเพียง 1.85 หมื่นครัวเรือน มีรายได้มากกว่า 1 ล้านบาท

และเมื่อมาพิจารณาข้อมูลหนี้สินเกษตรกร พบว่าจากจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด 6.5 ล้านครัวเรือนมีเกษตรกรมาให้ข้อมูลหนี้สินจำนวน 5.44 ล้านครัวเรือน พบว่า 3.76 ล้านครัวเรือนมีหนี้สินภาคเกษตร 134,164 บาท/ต่อครัวเรือน เกษตรกร 2.97 ล้านครัวเรือนมีหนี้สินนอกภาคเกษตร 130,164 บาท/ต่อครัวเรือน ทำให้หนี้สินรวมอยู่ที่ 163,164บาท/ต่อครัวเรือน

จากข้อมูลนี้ทำให้เห็นว่าเกษตรกรมีหนี้สินและรายได้ค่อนข้างใกล้เคียงกันมากและกว่าร้อยละ 80 มีรายได้ไม่ถึง 300 บาท/วันตัวเลขนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่านโยบายแก้ปัญหาหนี้ยังไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่

ขณะที่เกษตรกรในหลายพื้นที่ได้ค้นหารูปแบบการแก้ปัญหาหนี้ โดยล่าสุด (25-26 พฤษภาคม 2559) มูลนิธิชีวิตไท ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสมาชิกสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) ใน 4 กลุ่มประกอบด้วย
- กลุ่มพัฒนาเกษตรกร หมู่ 7
- กลุ่มเกษตรกรรวมใจ หมู่ 7
- กลุ่มคลองเข้พัฒนา จ.ฉะเชิงเทรา และ
- กลุ่มส่งเสริมการเกษตรครบวงจร ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท

ได้ร่วมกันระดมปัญหาและแนวทางการจัดการหนี้สินของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม

โดยฐานของสมาชิกส่วนใหญ่ในแต่ละกลุ่มประกอบอาชีพ ทำนา ปลูกมันสำปะหลัง เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู ในขณะที่สมาชิกในบางพื้นที่ประสบปัญหามีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ต้องเช่าที่ทำกินเพิ่ม ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งและสภาพแวดล้อมรุนแรงขึ้น ราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตเองได้ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูงขึ้น (ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าเทอมลูก) สุขภาพเกษตรกรแย่ลงจากการใช้สารเคมียาปราบศัตรูพืช สมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่เป็นหนี้มากกว่า 1 แหล่ง และสถานะหนี้สินกำลังถูกฟ้องดำเนินคดี ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด

ปัจจุบันเกษตรกรทั้ง 4 กลุ่มมีแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินจากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นจากพวกเราโดยตรง แบ่งเป็น การจัดการกับหนี้สินก้อนเดิมและไม่ให้มีหนี้เพิ่ม การปรับรูปแบบการผลิต การจัดหาตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิต

การจัดการกับหนี้เดิม ด้วยการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การโอนหนี้เข้าสู่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เจรจากับเจ้าหนี้ให้ชะลอการขายทรัพย์โดยใช้กลไกกลุ่มและเครือข่าย สค.ปท. มีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ช่วยเหลือสมาชิก

การปรับรูปแบบการผลิต ด้วยการปรับรูปแบบการผลิตให้หลากหลายไม่ปลูกข้าวอย่างเดียว ปลูกผัก ข้าวโพด มะนาว เพิ่มเติม หาความรู้พัฒนาทักษะโดยใช้กลไกกลุ่ม จัดอบรมให้สมาชิกทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก ชีวภาพ มีการปรับเปลี่ยนการผลิตจากเคมีมาเป็นอินทรีย์ บางรายมีการปรับเปลี่ยนอาชีพ จากเลี้ยงหมูขาดทุนมาทำบ้านเช่า ทำสวน และพัฒนาอาชีพเสริม เรียนนวดแผนไทย แปรรูปผลผลิต มะม่วงกวน ทำเครื่องดื่มน้ำฟักข้าวผสมเสาวรส ทั้งนี้เพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้และพึ่งตนเองให้มากที่สุด

การจัดหาตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิต ด้วยการหาตลาดเอง ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ รวมตัวผู้ผลิตเดียวกัน เช่น ผู้ปลูกมันสำปะหลัง ผู้ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ เพื่อรวมผลผลิตสร้างพลังการต่อรองให้ราคาสูงขึ้น

และด้วยปัญหา “หนี้” และแนวทางการแก้ปัญหาทั้งในระดับตนเอง ระดับกลุ่มส่งผลให้สมาชิกของแต่ละกลุ่ม ยิ้มรับกับสภาพปัญหาหนี้ที่รุมเร้าเข้ามา ตั้งสติค่อยๆเจรจาแก้หนี้แต่ละก้อน จนบางคนผ่อนชำระหนี้ได้สำเร็จแล้ว จากการระดมปัญหาและแนวทางแก้หนี้ในครั้งนี้ ยังทำให้ได้เห็นสิ่งที่เกษตรกรแต่ละกลุ่มต้องการทำร่วมกันในอนาคต เช่น การพัฒนาผลผลิตให้ครบวงจรแบบการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด เปิดช่องทางการจำหน่ายให้กว้างขึ้น สร้างสถาบันการเงินของกลุ่ม

ดังนั้นการทำให้ภาคเกษตรไทยมีอนาคตเป็นแหล่งพึ่งพาทำมาหากินและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้น จำเป็นต้องมีนโยบายกฎหมายเข้าไปแก้โครงสร้างภาคเกษตรครบวงจรตั้งแต่
- การวางแผนการผลิตในระดับประเทศ
- ปัจจัยการผลิต
- กระบวนการผลิต
- การแปรรูปและช่องทางตลาด
- สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม
- จัดตั้งเป็นระบบสหกรณ์ให้สมาชิกเข้าไปมีส่วนร่วม



พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 10 มิถุนายน 2559
http://www.landactionthai.org


.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 20/06/2017 6:36 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.

แก้ปัญหาหนี้ชาวนา ก้าวให้พ้นภาพจำ “โง่ จน เจ็บ”

อารีวรรณ คูสันเทียะ landactionthai.org, Local Act

ภาพจำของชาวนาและเกษตรกรรายย่อยในสังคมไทย ชาวนาเป็นอาชีพที่ยากจน ทำงานหนัก ขาดความรู้ รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย มีปัญหาหนี้สิน ฯลฯ การออกแบบแนวทางช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกรรายย่อยของภาครัฐในอดีตที่ผ่านมา จึงมักเป็นแนวคิดแบบพึ่งพา ที่ให้ชาวนาเป็นผู้รอรับความช่วยเหลือจากรัฐ

คำถามสำคัญต่อประสบการณ์ที่ผ่านมาคือ การออกแบบแนวทางการช่วยเหลือในลักษณะสังคมสงเคราะห์เช่นนี้ ทำให้ปัญหาของชาวนายังอยู่ที่เดิมใช่หรือไม่ และวิธีการแก้ปัญหาแบบใด ที่จะสามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาชาวนารายย่อยด้วยแนวทางที่ยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่

ยกตัวอย่างแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินชาวนาของรัฐแบบเดิม ที่มีอยู่ 2 แนวทางหลัก นั่นคือ
1. มาตรการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายชาวนาที่มีปัญหาหนี้สินระดับรุนแรง เช่น หนี้ NPL ด้วยการชะลอการฟ้องร้อง ชะลอการบังคับคดี ชะลอการขายที่ดินทอดตลาด และการตัดหนี้เงินต้นเหลือครึ่งหนึ่ง และซื้อหนี้เกษตรกร ผ่านกลไกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) และกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน(กชก.) และ

2. มาตรการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนให้กับเกษตรกรมากขึ้น ในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ พักชำระเงินต้น ปรับโครงสร้างหนี้ การโอนหนี้นอกระบบสู่หนี้ในระบบ โดยผ่านกลไก ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน และกองทุนหมู่บ้าน

บนฐานคิดและภาพจำว่าชาวนาเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยง และขาดหลักประกันการกู้ยืมเงิน สถาบันการเงินในระบบส่วนใหญ่จึงมักจะยึดเงื่อนไขการปล่อยกู้ โดยพิจารณาจากหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นเกณฑ์สำคัญ แม้แต่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธ.ก.ส. หรือสถาบันการเงินระดับย่อยเช่น สหกรณ์การเกษตร ถึงแม้ว่าบางกรณี ที่วงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาท จะยินยอมให้ใช้หลักค้ำประกันกลุ่มได้ก็ตาม แต่แนวทางการช่วยเหลือเหล่านี้ มักตกไม่ถึงมือชาวนายากจน ที่ขาดหลักประกันและต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ และท้ายที่สุดชาวนาก็หลุดไม่พ้นจากวงจรปัญหาหนี้สิน ความยากจน และก็นำไปสู่การสูญเสียที่ทำกินในที่สุด

ต่อแนวทางแก้ไขปัญหาให้ยั่งยืน มีตัวอย่างประสบการณ์การออกแบบแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาและคนยากจนแนวใหม่ในต่างประเทศ ที่ได้ผ่านการใช้และทดสอบกับประเทศกำลังพัฒนามาแล้วทั่วโลก ซึ่งอาจทำให้พอมองเห็นแนวทางใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหาชาวนาและเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยได้

ธนาคารเพื่อคนจน “กรามีน แบงก์” -ประเทศบังคลาเทศ ธนาคารคนจนแห่งแรกของโลก ที่ปล่อยกู้ไมโครเครดิตให้กับคนจน ผู้ไร้การศึกษา โดยไม่เรียกหลักประกัน ไม่มีการจำนอง โดยเชื่อมั่นและศรัทธาในศักยภาพของคนจนในการพัฒนาตนเอง จากการคิดดีทำดี ทุ่มเทอุทิศชีวิตเพื่อสังคมมาโดยตลอด

ลักษณะเด่นของธนาคารกรามีน คือ การเป็นธนาคารที่เป็นเจ้าของโดยคนจน (คนจนถือหุ้นและเป็นบอร์ด) ปล่อยกู้แก่คนจนโดยไม่มีหลักทรัพย์อะไรค้ำประกัน เงื่อนไขเพียงอย่างเดียวที่ธนาคารกำหนดขึ้นคือ ผู้กู้ต้องมากันเป็นกลุ่ม 5 คน ทั้งหมดจะรับรู้ซึ่งกันและกันว่า ใครเป็นหนี้เท่าใด สิ่งเดียวที่เป็นเครื่องค้ำประกันการกู้เงิน คือ ความอับอายขายหน้าที่จะเกิดขึ้นหากคนหนึ่งคนใด "ชักดาบ" เพราะนั่นหมายถึงความเสียหายแก่ผู้กู้ทั้งกลุ่ม และความไม่มีประสิทธิภาพของผู้ให้กู้ ทุกคนที่ขอกู้ต้องมาพบกันอาทิตย์ละครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น ผลปรากฏว่าอัตราส่วนการคืนเงินต้นให้กับธนาคารสูงถึงร้อยละ 98.5

ธนาคารเพื่อเกษตรกรรายย่อย - ประเทศกานา ใช้แนวทางความร่วมมือรัฐกับสังคม (state-society partnership) หน่วยงานของรัฐบาลกับองค์กรชาวนาเป็นหลักในการขับเคลื่อนเงินออมภาคชนบทและการให้สินเชื่อแก่กลุ่มเกษตรกร ธนาคารเพื่อเกษตรกรรายย่อยสามารถขยายธุรกรรมการเงินเพื่อให้ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยแตกธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่การรับฝากและการปล่อยสินเชื่อเท่านั้น

นอกจากนี้แนวทางแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาที่ยั่งยืน ไม่ได้มีเฉพาะความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อเกษตรกรโดยตรง ยังมีการออกแบบกลไกการแก้ไขปัญหาที่ขยายวงกว้างไปถึงวิถีชีวิต เช่น เรื่องการศึกษา สวัสดิการ การคุ้มครองทางสังคม และสิทธิมนุษยชน ดังเช่น

การสร้างเงื่อนไขเพื่อการลงทุนทางสังคม – ประเทศคิวบา รัฐบาลตั้งเป้าหมายการลงทุนเรื่องกสิกรรมที่จะรักษาระบบนิเวศ (agro-ecological farming) คิวบาได้เปลี่ยนตนเองจากการทำเกษตรเชิงการค้าที่มุ่งส่งออก แทนที่ด้วยเกษตรอินทรีย์ เพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนาสินค้าเกษตร ควบคุมศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ ปรากฏว่าได้ผลสำเร็จที่น่าพอใจ โดยเมื่อปี 2011 สัดส่วนผลผลิตอาหารของประเทศที่ผลิตโดยชาวนารายย่อยสูงขึ้นถึงร้อยละ 65 จากการใช้ที่ดินจำนวนเพียง 1 ใน 4 ของทั้งประเทศ ทั้งนี้ การช่วยเหลือชาวนาโดยส่วนใหญ่ มักมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยนให้ชาวนาต้องปรับปรุงการผลิต ที่จะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลปรากฏว่าการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของคิวบาดีขึ้น นำเข้าอาหารน้อยลง การใช้สารเคมีการเกษตรลดลง รวมถึงการเปลี่ยนมาสู่ฟาร์มที่เกื้อกูลกับระบบนิเวศช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติให้ดีขึ้นด้วย

โครงการรักษาที่ดินไม่ให้หลุดมือชาวนา –ประเทศบราซิล เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาที่ต้องการจะฟื้นคืนวิถีชีวิตชาวนา (Repeasantization) โครงการนี้ช่วยชาวนาไร้ที่ดินให้เข้าถึงที่ดินทำกิน โดยทำให้การเข้าถึงแหล่งทุนการเกษตร ถูกทำให้เชื่อมโยงกับมีมิติสุขภาวะ การช่วยเหลือสังคม และการศึกษา หรือ โครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน มีข้อผูกพันกับการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย โดยกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่บังคับให้โรงเรียน เมื่อรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลแล้วจะต้องรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อยเพื่อใช้ในโครงการ

โครงการเงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขและผูกเรื่องการจ้างงานเข้ากับตาข่ายรองรับทางสังคม (Safety Net) -ประเทศเอธิโอเปีย จุดมุ่งหมายคือผลักดันให้ครัวเรือนที่ยากไร้ มีรายได้จากการทำงานพร้อมกับความมั่นคงทางอาหารภายในเวลา 5 ปี ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยมีเงื่อนไขทำงานให้กับโครงการของรัฐ บางกรณีที่เงินค่าจ้างทำงานไม่มากพอกับความจำเป็นใช้เงินของผู้ที่เข้าร่วม สำหรับเงินในส่วนที่ขาด รัฐอาจจะเพิ่มเติมด้วยเงินอุดหนุนโดยตรงที่ไม่มีเงื่อนไขให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ

แนวคิดธนาคารเพื่อเกษตรกรรายย่อยแนวใหม่ เป็นการคิดนอกกรอบจากธนาคารเพื่อการเกษตรแบบเดิม ไม่ใช่การสงเคราะห์ และไม่ใช่การแสวงหาผลกำไร แต่ยึดหลักการการพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาตนเองของเกษตรกร และตั้งอยู่บนฐานคิดการลงทุนทางสังคมที่มองปัญหาแบบองค์รวม ถือว่าเป็นกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับการแก้ไขปัญหาเกษตรกร

การแก้ไขปัญหาหนี้สินชาวนา จึงไม่ควรมองแค่มิติการปัญหาเรื่องรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ขาดเงินทุนหรือเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ถ้ามองให้กว้างขึ้น ก็จะเห็นว่าหนี้สินชาวนาผูกพันกับประเด็นต่าง ๆ ทั้งเรื่องการจ้างงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน การศึกษา ความมั่นคงทางสังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาวะชาวนาด้วย ประเด็นทั้งหมดนี้ล้วนเชื่อมโยงกัน


https://www.facebook.com/LocalAct/posts/871361002980072

-----------------------------------------------------------------------------------

.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 20/06/2017 6:37 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
แก่นใจกลาง..ปัญหาหนี้สินเกษตรกร

พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์/landactionthai.org/Local Act

การเปิดเผยของกรมส่งเสริมการเกษตร ถึง รายได้ของเกษตรกรว่ามีเกษตรกรถึงร้อยละ 85 ที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน สะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดเจน ถึงสถานะทางเศรษฐกิจของชาวนาและเกษตรกรไทยในยุคปัจจุบัน

ผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรปีการผลิต 2558/2559 สำรวจครัวเรือนเกษตรกรจำนวน 6.5 ล้านครอบครัว ของกรมส่งเสริมการเกษตร ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2558 พบด้วยว่ามีเกษตรกรร้อยละ 69.2 มีหนี้สินจากภาคเกษตรเฉลี่ย 134,020 บาท ต่อครอบครัว และเกษตรกรร้อยละ 54.64 มีหนี้สินนอกภาคเกษตรเฉลี่ย 130,164 บาท ต่อครอบครัว เฉพาะชาวนาจำนวน 3.7 ล้านครอบครัว พบว่ามี 4.5 แสนราย ต้องเช่าที่ดินทำนา ในพื้นที่ของคนอื่นมากกว่า 8.4 ล้านไร่ (ซึ่งไม่ได้ระบุว่า ที่ดินสำหรับเช่าเหล่านี้ เป็นพื้นที่ของใคร)

สถานการณ์ของชาวนาที่เป็นอยู่ นายนิพนธ์ วงศ์ตระหง่าน ประธานสมาพันธ์สมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย ถึงกับกล่าวว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินชาวนา จะไม่สามารถสำเร็จได้ หาก ชาวนาไม่พยายามที่จะลดต้นทุนการผลิต และชาวนาในภาคกลางร้อยละ 86 ไม่มีที่นาเป็นของตนเองแล้ว แต่อยู่ในสภาพต้องเช่าที่ดินคนอื่นเพื่อทำนา (โพสต์ทูเดย์ 10 พ.ย. 2558)

ข้อความที่กล่าวมาข้างต้น อาจทำให้ดูเหมือนว่า มีความหวังน้อยเหลือเกิน ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรไทย ไม่ให้ตกอยู่ในภาวะหมดเนื้อหมดตัว จมดิ่งอยู่กับปัญหาหนี้สิน และไม่สูญเสียที่ดินอันเป็นมรดกตกทอดของครอบครัวได้

คำถามคือ เพราะเหตุใด การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ที่ผ่านมาจึงไม่สามารถแก้ไขได้ตรงจุด และไม่ทำให้สถานภาพของเกษตรกรไทยดีขึ้น แม้จะมีการอนุมัติโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรมาแล้วมากมาย และใช้งบประมาณไปแล้วจำนวนไม่น้อย

แก่นกลางสำคัญของปัญหานี้ น่าจะอยู่ที่ผู้ที่มีปัญหา ไม่ได้เป็นผู้ที่แก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ส่วนผู้ที่แก้ไขปัญหา ก็ไม่ใช่ผู้มีปัญหาโดยตรง จึงไม่เข้าใจความลึกซึ้งและซับซ้อนของปัญหา และแก้ไขกี่คราว ก็ยังไม่ตรงจุดอยู่นั่นเอง ในที่นี้ไม่นับรวมเจตนารมณ์และความจริงใจในการแก้ไขปัญหา

ในงานศึกษาวิจัยรูปธรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินและการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร พบว่ามีเกษตรกรจำนวนหนึ่ง ค้นพบแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สิน และสามารถรักษาที่ดินทำกินไว้ได้ แม้เกษตรกรจำนวนนี้ จะมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเกษตรกรทั่วประเทศ ที่ยังตกอยู่ในวังวนของปัญหาหนี้สิน และหาทางออกไม่เจอ ในงานศึกษายังพบด้วยว่า ครอบครัวเกษตรกรที่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินและรักษาที่ทำกินไว้ได้ ล้วนเคยผ่านประสบการณ์เกือบจะสูญเสียที่ดิน จากภาระหนี้สินและดอกเบี้ยที่เพิ่มพูนทั้งจากธนาคารของรัฐ เอกชน และเจ้าหนี้นอกระบบ มาแล้วทั้งสิ้น

จุดเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเหล่านี้ มีทั้งที่ ได้รับความรู้และข้อมูลที่ชัดเจน เชื่อถือได้ จากศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ในแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สิน และการสร้างเศรษฐกิจครอบครัวที่ยั่งยืนมากกว่าการผลิตแบบต้นทุนสูงที่เคยทำมา มีทั้งที่ ได้รับโอกาสในการช่วยเหลือจากกลุ่มธุรกิจชุมชนที่เข้มแข็งในการรับซื้อผลผลิต เมื่อพวกเขาเปลี่ยนวิถีชีวิตและเปลี่ยนวิถีการผลิตแบบเดิมๆ มาสู่ระบบการผลิตแบบอินทรีย์ที่ยั่งยืนกว่า และมีทั้งที่ เกิดจากการหยุดคิดและทบทวนด้วยตัวเกษตรกรเอง ถึงประสบการณ์ความล้มเหลวที่ผ่านมาของครอบครัวและวิธีทำการผลิต เกษตรกรบางรายกล้าพูดด้วยซ้ำว่า การทบทวนทำให้พวกเขาคิดได้ว่า ความอยากรวยและการลงทุนสูง ไม่น่าจะใช่วิถีของเกษตรกรอย่างพวกเขา พวกเขาจึงยอมถอยหนึ่งก้าว เพื่อกลับมาทำให้สิ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้จริง แม้จะไม่ได้จับเงินจำนวนมากเหมือนเดิมก็ตาม

แน่นอนว่า เกษตรกรจำนวนมากส่วนหนึ่ง อยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงจะสูญเสียที่ดิน ตามข้อมูลการสำรวจของกระทรวงมหาดไทยที่พบว่า มีเกษตรกรนำที่ดินไปจำนองและขายฝากกับเจ้าหนี้นอกระบบ และมีคำพิพากษาให้บังคับคดียึดที่ดินแล้วจำนวน 2,292 ราย นี่เป็นเพียงตัวเลขในเบื้องต้นของการสำรวจระยะสั้นเท่านั้น ตัวเลขจริงหากมีการสำรวจอย่างละเอียด จึงน่าจะมากกว่านี้ เกษตรกรที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางกลุ่มนี้ จึงต้องการมาตรการช่วยเหลือที่เร่งด่วน แตกต่างจากเกษตรกรอีกกลุ่มที่ยังมีโอกาส ในการทบทวน และปรับเปลี่ยน เพื่อสร้างความอยู่รอดในการทำอาชีพเกษตรต่อไป

แก่นกลางของการแก้ไขปัญหาหนี้สิน จึงต้องนำเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนแก้ไขปัญหานี้ด้วย การให้ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ทางเลือกที่ชัดเจน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรหยุดคิด และทบทวนถึงประสบการณ์และที่มาของปัญหาหนี้สินของตนเองอย่างจริงจัง เพื่อเดินหน้าสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐมีหน้าที่ในการหยิบยื่นโอกาสเหล่านี้ เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้ ทบทวน และฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนเองให้กลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง
ประเด็นคือ ......

เกษตรกรบางส่วนเริ่มหยุด และทบทวนตนเอง เพื่อก้าวไปสู่สิ่งใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาของพวกเขาแล้ว

ตอนนี้ก็เหลือเพียงแต่ภาครัฐ ที่ต้องหยุด และทบทวนแนวทางแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ว่าใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ที่ยั่งยืน อย่างแท้จริงหรือเปล่า


https://www.facebook.com/pg/LocalAct/about/?ref=page_internal

-----------------------------------------------------------------------------------


.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 20/06/2017 6:38 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
บทความตีพิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์

หนี้สินชาวนา กับการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

| เขียนโดย พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 46 เรื่องความผิดเกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้ชาวนา มีสาระสำคัญว่าเนื่องจากมีสถานการณ์การทวงถามหนี้จากชาวนาอย่างไม่เป็นธรรม จึงออกประกาศว่า ผู้ใดข่มขืนใจชาวนา หรือใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต หรือทรัพย์สินของชาวนา ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ประกาศฉบับนี้ทำให้เห็นว่า ปัญหาหนี้สินชาวนาและการไม่ได้รับความเป็นธรรมของชาวนาจากหนี้นอกระบบ อยู่ในสายตาและความสนใจของ คสช. ถึงได้ออกประกาศที่มีความเฉพาะเจาะจงให้คุ้มครองความปลอดภัยของชาวนาอย่างที่ว่ามา

ปัญหาหนี้นอกระบบของชาวนา เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหนี้สินชาวนา ซึ่งจะว่าไปแล้วชาวนาไทยที่ถูกคาดหวังให้ผลิตข้าวเพื่อส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ร้อยละ 78 หรือแปดในสิบครอบครัว ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สิน ที่หมุนเวียนสลับไปมาระหว่างหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ จนหยั่งรากลึก ยากและเกินความสามารถในการชำระคืนได้ หากดูตัวเลขสถิติจำนวนเกษตรกรที่มีอยู่ปัจจุบัน 5.8 ล้านครอบครัว หากหนึ่งครอบครัวมีสมาชิกเฉลี่ย 4 คน จำนวนเกษตรกรทั้งหมดในบ้านเราจะมีอยู่ราว 23 ล้านคน หรือหนึ่งในสามของประชากรทั้งประเทศ ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยตัวเลขจำนวนเกษตรกรที่มีหนี้สินในปี 2554/2555 พุ่งสูงขึ้นเป็น 78 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าเทียบเป็นจำนวนเกษตรกร น่าจะอยู่ที่ประมาณ 18 ล้านคนที่มีปัญหาหนี้สิน ซึ่งไม่น้อยเลย

สำหรับประชาชนคนทั่วไป การมีหนี้สินอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะการเป็นหนี้เพื่อเพิ่มทรัพย์สินให้กับครอบครัว หรือการเป็นหนี้ที่มีความสามารถในการชำระคืน แต่สำหรับเกษตรกรและชาวนา ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา ชาวนาและเกษตรกรเป็นหนี้ เพราะพวกเขาไม่สามารถปรับตัวได้ทัน กับระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปของระบบเศรษฐกิจ ที่เติบโตและทำกำไรอย่างมหาศาลจากการค้าและการลงทุนในภาคเกษตร ทุกองคาพายพของภาคเกษตรกรรมบ้านเราจึงถูกทำให้เปลี่ยนแปลง โดยการเกื้อหนุนหรือเอื้ออำนวยจากนโยบายรัฐนั่นเอง

ที่เห็นได้ง่ายและชัดเจนที่สุด คือราคาที่ดินสำหรับการเกษตร ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ราคาที่ดินในภาคกลาง รอบกรุงเทพฯและปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ เปลี่ยนแปลงมาแล้วไม่น้อยกว่า 25 ปี ที่ดินมีมูลค่าสูงมาก การกว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่ติดต่อกัน และการซื้อที่นา ที่สวน ที่ไร่ เก็บไว้เพื่อเก็งกำไรของกลุ่มนักธุรกิจ ได้แผ่ขยายอิทธิพลอย่างทรงพลัง ชาวนาและเกษตรกรจำนวนมาก เมื่อขาดความคุ้มครองจากรัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย เมื่อหมดทางเลือก หรือเห็นทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ก็มักจะเลือกที่จะขายที่นา ที่สวนของตัวเอง เพื่อขยับขยายไปหาที่ดินผืนอื่นที่ราคาถูกกว่า หรือเปลี่ยนอาชีพไปเป็นแรงงานรับจ้างเสียเลย

ดังตัวเลขเกษตรกรนาเช่า และเกษตรกรรับจ้างในภาคกลาง ที่สูงขึ้นตามลำดับและสูงมากกว่าภาคอื่น คือ มีจำนวนเกษตรกรถึงร้อยละ 45 หรือประมาณ 10 ล้านคน อยู่ในสถานะที่ต้องเช่าที่ดินคนอื่นเพราะไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินไม่เพียงพอ โดยใน

ภาคกลางมีเกษตรกรนาเช่าสูงถึงร้อยละ 45 หรือ 1.5 ล้านคน จากเกษตรกรภาคกลาง 3.4 ล้านคน ในขณะที่

ภาคเหนือ มีเกษตรกรผู้เช่า 2 ล้านคน จากเกษตรกรภาคเหนือ 5.4 ล้านคน และลดจำนวนลงในภาคอื่น

ในขณะที่งานวิจัยของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน พบว่ามีเกษตรกรนาเช่าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปี 2555 สูงถึง 85

ในขณะที่อีกความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ลากจูงให้เกษตรกรติดกับดักหนี้สิน อย่างที่ถอนตัวได้ยากในวันนี้ คือ ระบบเกษตรที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การทำนาและการทำเกษตรทุกวันนี้ ไม่ได้ใช้และพึ่งพาปัจจัยการผลิตที่ทำได้เองอย่าง มูลสัตว์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ ในไร่นา หรือใช้แรงงานในครอบครัว และเครื่องมือการเกษตรที่ผลิตได้เองอย่างในอดีตอีกต่อไป

แต่ทุกอย่างต้องลงทุนด้วยเงินทั้งนั้น ทั้ง....
ปุ๋ยเคมี
สารเคมีฆ่าแมลง
ยาปราบวัชพืช
ค่าจ้างรถไถนา
ค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว
ค่าจ้างอื่นๆ


และหากชาวนาต้องการเพิ่มผลผลิตข้าวให้มากขึ้น นั่นหมายถึงการลงทุนซื้อปัจจัยการผลิตเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ทั้งฮอร์โมนเร่งผลผลิต เร่งผล เร่งดอก ทั้งยาคุมและฆ่าหญ้าสารพัด ซึ่งหมายถึงเงินลงทุนและหนี้สินที่เพิ่มขึ้น เพราะชาวนาไม่ได้มีเงินเก็บออม งานศึกษาพบว่า เงินลงทุนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของชาวนามาจากเงินกู้ยืมที่มีดอกเบี้ยทั้งสิ้น

เมื่อระบบการทำนาเปลี่ยน ต้นทุนการทำนาสูงขึ้น แต่ปริมาณผลผลิตข้าวที่ได้ยังขึ้นกับดินฟ้าอากาศ ไม่มีหลักประกันความเสี่ยง หากชาวนาต้องเจอวิกฤตภัยแล้ง น้ำท่วม โรคแมลงระบาด ต้นทุนที่สูงขึ้นก็อาจกลายเป็นหนี้ค้างชำระที่สูงขึ้นได้ทันที และมีชาวนาจำนวนมากสูญเสียที่ดินเพราะวิกฤตที่รับมือไม่ได้เหล่านี้

ส่วนราคาข้าว เอาเข้าจริงแล้วถึงแม้จะมีโครงการรับจำนำข้าวและโครงการช่วยเหลือของรัฐ แต่ผู้ที่กำหนดราคาข้าว ณ จุดขายของชาวนากลับเป็นโรงสี เพราะโรงสีคือผู้บอกว่าข้าวของชาวนาเช็คแล้วคุณภาพเป็นอย่างไร ความชื้นเท่าไร และควรจะได้ราคาจริงเท่าไร ไม่ว่ารัฐจะกำหนดราคารับจำนำไว้เท่าไรก็ตาม ราคาผลผลิตข้าว จึงเป็นสิ่งที่ชาวนาทุกวันนี้กำหนดเองไม่ได้ เพราะชาวนาไม่มีการรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปผลผลิตของตนเอง และไม่มีกลุ่มที่เข้มแข็ง ที่มีอำนาจต่อรองราคากับผู้รับซื้อผลผลิตข้าว หรือโรงสีได้

ท้ายที่สุดปัญหาสำคัญ ที่ทำให้ชาวนาอ่อนแอและไร้อำนาจต่อรอง รวมทั้งกำหนดราคาข้าวตัวเองไม่ได้ นั่นคือปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้สินที่จ่อคิว รอถูกถ่ายโอนไปเป็นหนี้ผิดนัดชำระ และต้องเผชิญกับดอกเบี้ยอัตราเพดานสูงสุดรวมทั้งค่าปรับ และหากชาวนาผิดนัดชำระหนี้ยาวนาน ภายในสิบปีชาวนาจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยสถาบันการเงิน ทั้งจากสถาบันการเงินเอกชน หรือแม้แต่สถาบันการเงินของรัฐอย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรก็ตาม เมื่อยังไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้อีก ที่ดินของชาวนา ก็จะถูกกรมบังคับคดีประกาศขายทอดตลาด และนี่คือจุดสุดท้ายของเส้นทางการทำนา ที่ชาวนากลัวที่สุด เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียที่นาของตัวเอง

มีเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้กับกองทุนฟื้นฟูและยังไม่ได้รับการจัดการหนี้หรือช่วยเหลือทั้งสิ้น 357,879 ราย ในจำนวนนี้ มีหนี้ปกติอยู่ร้อยละ 60 อีกร้อยละ 40 คือ หนี้ที่ผิดนัดชำระแล้ว(ค่าปรับและดอกเบี้ยสูง) หนี้ที่ถูกดำเนินคดี หนี้ที่ถูกบังคับคดีให้ขายทอดตลาด หนี้ที่เป็นทรัพย์สินรอการขายทอดตลาด และหนี้ที่ถูกฟ้องร้องซ้ำให้ล้มละลาย ตัวเลขที่ว่ามานี้ นับเฉพาะเกษตรกร 5.9 ล้านราย ที่มาขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เท่านั้น ยังไม่นับเกษตรกรอีก 17 ล้านราย ที่ยังไม่รู้ชะตากรรม ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ในรอบ 15 ปี นับจากมีพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรขึ้นมา กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถช่วยเหลือซื้อหนี้เกษตรกรจากสถาบันการเงิน เพื่อให้เกษตรกรรักษาที่ดินไว้ได้เพียง 4 เปอร์เซ็นต์ หรือ 20,451 ราย หรืออาจจะกล่าวได้ว่า แม้กฎหมายกองทุนฟื้นฟูฯ จะเป็นกฎหมายที่ดี มีเจตนารมณ์ช่วยเหลือเกษตรกร แต่ในการปฏิบัติ กลับถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองที่หวังผลจากนโยบายประชานิยม ทำให้กองทุนฯ นี้ กลายเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา ช่วยเหลือเกษตรกรได้น้อยมาก

หากจะแก้ไขปัญหาชาวนาอย่างยั่งยืน จึงต้องมองให้เห็นภาพกว้างของระบบเศรษฐกิจทั้งหมดและสถานะของชาวนาปัจจุบัน การจ่ายเงินรับจำนำข้าวได้ต่อชีวิตการทำนาให้กับชาวนา เพราะชาวนาได้นำเงินไปใช้คืนหนี้สิน เพื่อให้สามารถกู้ยืมเงินก้อนใหม่มาลงทุนได้อีก แต่หากจะแก้ไขปัญหาชาวนาอย่างยั่งยืน ต้องไม่ละเลยปัญหาที่ดินของชาวนา การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเพื่อลดต้นทุน การประกันภัยพิบัติ การรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปผลผลิต และการสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาด รวมไปถึงการหยุดยั้งขั้นตอนการสูญเสียที่ดิน อันเนื่องมาจากหนี้สินของชาวนาไว้ให้ได้มากที่สุด


ตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ 13 มิถุนายน 2557
http://www.landactionthai.org

---------------------------------------------------------------------------------



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 20/06/2017 6:39 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
แจกเท่าไหร่ชาวนาก็ไม่หายจน

ผู้เขียน ลมเปลี่ยนทิศ

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็หนีไม่พ้น รัฐบาลซานตาคลอสไปอีกรัฐบาล เมื่อ ครม.มีมติให้ใช้ มาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย 2 มาตรการ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง และราคาผลผลิตทางเกษตรผันผวน ให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ด้วยการแจกเงินเกษตรกร 2.85 ล้านราย รายละ 1,500-3,000 บาท ผ่าน ธ.ก.ส. และให้ลดดอกเบี้ยและหนี้ด้วย

ก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ ไม่สะเด็ดน้ำ แบบเดิมๆ ด้วยมาตรการแบบเดิมๆ เหมือนที่รัฐบาลก่อนๆทำ เพียงแต่เรียกชื่อแตกต่างกันเท่านั้นเอง

การแจกเงินครั้งนี้ รัฐบาลจะแจกให้เกษตรกรที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการสวัสดิการรัฐ ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม-15 สิงหาคม 2.85 ล้านคน เป็นเงิน 6,540 ล้านบาท โดย

- เกษตรกรที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับแจกเงินเข้าบัญชี คนละ 3,000 บาท รวม 1.51 ล้านราย

- ส่วนเกษตรกรที่มีรายได้สูงกว่าปีละ 30,000 บาท แต่ไม่เกินปีละ 100,000 บาท จะได้รับแจกเงินเข้าบัญชีคนละ 1,500 รวม 1.34 ล้านราย

ผมไม่คัดค้านที่รัฐบาลแจกเงินเกษตรกรยากจน การช่วยคนจนเป็นเรื่องที่ดี ก็หวังว่าเงินน้อยนิด 1,500-3,000 บาท จะไม่ถูกนายทุนเงินกู้นอกระบบมาเอาไปเสียก่อน

แต่สิ่งที่ ผมอยากจะเรียกร้องจากรัฐบาลเพื่อเกษตรกรไทยที่ยากจนทุกคน ก็คือ การช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองได้อย่างยั่งยืน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากอะไร หลายประเทศทำสำเร็จมาแล้ว เพียงแค่รัฐบาลลงทุนสร้างระบบการเกษตรที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร ปัญหาของเกษตรกรทุกอย่างก็จะหายวับไปทันที ไม่ต้องรอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลทุกฤดูกาล ไม่ว่าภัยแล้ง ภัยน้ำ หมดเงินไปไม่รู้กี่ล้านล้านบาท แต่เกษตรกรก็ยังยากจนเหมือนเดิม แถมหนี้สินเพิ่มขึ้น

รัฐบาลต้องเลิกการแจกเงินแบบเดิมๆ และหันมาแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างยั่งยืน

วันก่อนผมอ่านคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีเกษตรฯ ที่พูดถึง โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตลง 20% และเพิ่มผลผลิตอีก 20% ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าจะทำทั้งหมด 650 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 1.47 ล้านไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วม 93,260 ราย

ผมขอแสดงความชื่นชมไว้ตรงนี้ว่า โครงการเกษตรแปลงใหญ่ คือการแก้ปัญหาที่ถูกทางแล้ว ผมเองเคยเขียนเสนอเรื่องนาแปลงใหญ่ ไปหลายครั้ง เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ให้ชาวนา เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของชาวนาอย่างยั่งยืน แต่ไม่มีเสียงขานรับจากรัฐบาล ครั้งนี้เมื่อ รัฐมนตรีเกษตรฯ ออกมาผลักดันเกษตรแปลงใหญ่ ผมจึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่อยากให้เน้นพืชเกษตรที่สำคัญเสียก่อน เช่น ข้าว

ผมเคยไปดู การทำนาแปลงใหญ่ ที่มีประสิทธิภาพใน ประเทศจีน มาแล้ว ก็อยากจะเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง เผื่อรัฐบาลสนใจ ผมรับรองว่าแก้ปัญหาความยากจนของชาวนาได้จริง

วิธีการก็ง่ายๆให้ กระทรวงเกษตรฯ ไปว่าจ้าง บริษัทผู้เชี่ยวชาญการเกษตร มารับจ้างทำนาแทนชาวนา และ วางแผนการใช้ที่นา สมมติว่า วางแผนเป็นนาขนาดใหญ่ 1,000 ไร่ วางแผนปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง ปลูกพืชหมุนเวียนสลับ 1 ครั้ง นาหนึ่งพันไร่ภายใต้การบริหารจัดการของมืออาชีพ จะสามารถทำรายได้ให้เจ้าของนาได้ถึงปีละ 3 ครั้ง และได้ผลผลิตสูงกว่าที่ชาวนาเคยทำ

จากนั้นก็ให้ นายอำเภอ หรือ ผู้ว่าฯ ในพื้นที่นาเป็นคนกลางไปเจรจากับ เจ้าของนารายย่อยในพื้นที่ ใครมี 5 ไร่ 10 ไร่ก็เข้าร่วมได้ เพื่อให้ได้นาแปลงใหญ่หนึ่งพันไร่ พอขายข้าวได้แล้ว ก็เอาเงินไปแบ่งตามสัดส่วนพื้นที่นาที่เข้าร่วม เจ้าของนาไม่ต้องทำนาเอง เวลาที่ว่างก็ไปรับจ้างบริษัททำนาอีกทอด อย่างน้อยก็มีรายได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาทกินอยู่สบาย

ความจริงรายละเอียดมีมากกว่านี้ แต่เนื้อที่หมดแล้ว ผมขอให้เป็น ไอเดีย ไว้ตรงนี้ เพื่อไปต่อยอดก็แล้วกัน ถ้า กระทรวงเกษตรฯ นำไปใช้จริง ผมรับรองว่า ชาวนาไทยหายจนแน่นอน และมีโอกาสที่จะเป็นชาวนา 4.0 ได้ในอนาคต ไม่ใช่ชาวนาจนๆที่ต้องรอรับเงินแจกจากรัฐบาลเพื่อการดำรงชีพทุกปีอย่างวันนี้.

“ลมเปลี่ยนทิศ"
http://springradio.in.th

--------------------------------------------------------------------------------------



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©