-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - หอมมะลิไทยทวงแชมป์อันดับ1โลก
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

หอมมะลิไทยทวงแชมป์อันดับ1โลก

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11555

ตอบตอบ: 06/12/2016 7:38 pm    ชื่อกระทู้: หอมมะลิไทยทวงแชมป์อันดับ1โลก ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
ข้าวหอมมะลิไทยทวงแชมป์อันดับ 1 โลกปี 2016 วัดด้วยกลิ่น-รสชาติ-เหนียวนุ่มและรูปลักษณ์

ข้าวหอมมะลิไทย รสชาติดีที่สุดในโลกครองอันดับ 1 ปี 2016 ในการประกวดข้าวระดับโลกที่เรียกว่า การประกวด World’s Best Rice จัดโดยองค์กรที่ใช้ชื่อว่า The Rice Trader ตามด้วยข้าวกัมพูชาและสหรัฐ

ทั้งนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2552 ข้าวหอมมะลิไทย ครองตำแหน่ง 2 ปีแรก คณะกรรมการตัดสิน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร สมาคมบริษัทที่ปรึกษา เกี่ยวกับการทำอาหารในสหรัฐฯ และพ่อครัวที่มีชื่อเสียงจากประเทศต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ ใช้เกณฑ์การตัดสิน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลิ่น รสชาติ ความเหนียวนุ่ม และ รูปร่างลักษณะ โดยใช้วิธีตัดสินแบบการทดสอบด้วย Blind testing (คือไม่ให้กรรมการทราบว่าเป็นข้าวของประเทศใด)

หลังจากนั้นไทยเสียแชมป์มาโดยตลอด ตั้งแต่ ปี 2554 โดย ข้าวหอมมะลิ 105 ของไทย พ่ายข้าว Pawsan หรือ Myanmar Pearl rice ของพม่าคว้าแชมป์ เป็นข้าวที่มีลักษณะเม็ดกลมหนา เมื่อผ่านการหุงแล้ว เมล็ดข้าวจะมีขนาดยาวมากขึ้น กว่าเดิม 3-4 เท่าตัว และ ยังสามารถรักษากลิ่นหอมเฉพาะไว้ไ

ต่อมาปี 2555 ข้าวที่ชนะเลิศคือข้าว Phaka Malis "ผกาลำดวน" จากกัมพูชา หมายถึง ดอกไม้ มีความหมาย ข้าวดอกไม้มะลิ หรือข้าวดอกมะลิ เป็นข้าวของกัมพูชาเอง มีอยู่แพร่หลาย ทั้งที่บันเตียนเมียนเจย (ศรีโสภณเดิม) พระตะบอง กัมปงธม กัมปงจาม โพธสัด ข้าวที่ปลูกในพื้นที่ มีคุณสมบัติของข้าวไม่ว่าจะความนุ่ม ความหอม ใกล้เคียงการปลูกในประเทศไทย เพราะมีการใส่ปุ๋ยเคมีค่อนข้างน้อย

ปี 2556 ข้าวหอมมะลิจากกัมพูชา ได้คะแนนสูงสุด เท่ากับข้าว California Rose หรือ Calrose จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ จึงเป็นครั้งแรก ที่มีข้าว 2 ชนิดได้ครองชนะเลิศด้วยกัน

ข้าว Calrose ถูกพัฒนาสายพันธุ์ โดยนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟฟอร์เนีย,เดวิส ( UC Davis) เมื่อ พ.ศ.2491 เป็นข้าวเมล็ดขนาดกลาง รูปร่างคล้ายดอกกุหลาบตูม หากปลูกในรัฐ Louisiana จะเรียกว่า Blue rose มีการปลูกข้าว Calrose ในหลายประเทศ เช่นที่ ออสเตรเลีย และแถบหมู่เกาะแปซิฟิค เป็นข้าวชนิดนุ่ม เหนียว เหมาะที่จะทำข้าวซูชิอาหารญี่ปุ่น

ปี 2557 ข้าวหอมมะลิของกัมพูชายังสามารถ คว้ารางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แต่คราวนี้ไม่ใช่ข้าว Phaka Malis แต่ เป็นข้าว Phka Romdul "ผกาลำดวน" โดยข้าวกล้องหอมมะลิของไทย ช่วยกู้หน้าคนไทย ด้วยการคว้าตำแหน่งชนะเลิศร่วมกับข้าวกัมพูชา

ปี 2558 ข้าว California Rose คว้าแชมป์ไปครองนับเป็นครั้งแรกของข้าวจากสหรัฐฯ
ปี 2559 ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 18 พฤศจิกายน ข้าวหอมไทยได้รางวัลชนะเลิศทวงตำแหน่งแชมป์คืน ข้าวหอมจากกัมพูชาเป็นอันดับที่ 2 ตามด้วยข้าว Japonica (ข้าวเมล็ดสั้น) จากสหรัฐฯ เป็นอันดับ 3

ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิ 9 เดือนเพิ่ม 20 %
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวหอมมะลิไทยว่า ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไทยเฉลี่ยปีละ 1.4 ล้านตัน โดยในปี 2559 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไทยปริมาณ 1.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีปริมาณส่งออก 1.40 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 20 % ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ และแคนาดา

ไทยยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดข้าวเป็นอันดับหนึ่งในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกงนำเข้าข้าวไทย ในปี 2559 (ม.ค.-ก.ย.) ปริมาณ 1.5 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณ 1.41 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 3.77 % และมีสัดส่วนการตลาดเป็นอันดับหนึ่งที่ 59 % ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีตลาดสหรัฐฯ และสิงคโปร์ ที่ข้าวไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งที่ 60 % และ 38 % ตามลำดับ

นางอภิรดีเปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้ปรับปรุงมาตรฐานข้าวไทยใหม่ให้เหมาะสม ชัดเจน สอดคล้องกับผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยแยกเป็นมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยและข้าวหอมทั่วไปซึ่งประกอบด้วย ข้าวหอมจังหวัดและข้าวหอมปทุม
อีกทั้งได้เร่งจัดกิจกรรมขยายตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิไทยในตลาดสำคัญอย่างต่อเนื่องพร้อมๆไปกับการสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกร เพื่อปลูกข้าวคุณภาพดี และขยายช่องทางการตลาดผ่านช่องทางปกติ และ online การจัดคณะเดินทางเยือนฮ่องกงและสิงคโปร์เพื่อเจรจาขยายตลาดและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า

ขณะเดียวกันในปี 2560 มีกำหนดเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญ เพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทย เช่น งาน Food Fiesta ฮ่องกง งาน Biofach เยอรมนี งาน Gulfood ดูไบ งาน Foodex ญี่ปุ่น งาน Summer Fancy Food งาน Natural Products Expo ที่สหรัฐฯ และงาน China-ASEAN Expo จีน รวมทั้งการจัดงานระดับนานาชาติในประเทศไทย เช่น งาน THAIFEX World of Food งาน Biofach ASEAN/Organic and Natural Expo เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมกระตุ้นการบริโภคข้าวหอมมะลิไทยร่วมกับร้านอาหาร/ซุปเปอร์มาร์เก็ต/ภัตตาคาร/โรงแรมในตลาดต่างประเทศ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

http://thaitribune.org/contents/detail/342?content_id=24248&rand=1480357612
-------------------------------------------------------------------

‘หอมมะลิ’ คืนบัลลังก์โลก หลังแพ้ข้าวมะกันเมื่อปีกลาย

แอลเอ (สยามทาวน์ยูเอส) : ข้าวหอมมะลิของไทยสามารถทวงคืนบัลลังค์แชมป์โลกได้สำเร็จ หลังเสียแชมป์ให้กับข้าว “คาลโรส” ของแคลิฟอร์เนีย และข้าว “ผกามะลิ” ของกัมพูชา ต่อเนื่องหลายปี จากเวทีประชุมข้าวโลกครั้งที่ 8 ระหว่าง 16-18 พฤศจิกายน ที่เชียงใหม่

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2016 เว็บไซต์ข่าว Coconuts Bangkok รายงานข่าวว่า ข้าวหอมมะลิของไทย สามารถคว้าตำแหน่งข้าวดีเด่นของโลกประจำปี 2016 หรือ 2016 World’s Best Rice จากการประกวดข้าวสายพันธุ์ต่างๆ จากทั่วโลก (a global rice contest) ที่มีขึ้นระหว่างการประชุมข้าวโลกครั้งที่ 8 (The 2016 World Rice Conference) ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้ค้าข้าวของอเมริกาชื่อ The Rice Trader ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2016 ณ โรงแรมเลอ เมอริเดี้ยน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีข้าว ผกามะลิ (Phaka Malis rice) ของกัมพูชา คว้าตำแหน่งที่สอง

ทั้งนี้ การประชุมข้าวโลก จัดขึ้นเพื่อใช้เป็นเวที สำหรับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ สถานการณ์ด้านข้าว และสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมค้าข้าวของโลก มีขึ้นครั้งแรกในปี 2009 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ มีผู้เกี่ยวข้องในตลาดการค้าข้าวจาก 33 ประเทศทั่วโลก ทั้งแต่เกษตรกรจนถึงผู้บริหารขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ เข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน

ส่วนการประกวดข้าวดีเด่นของโลก หรือ Best Rice in the World ที่จะใช้วิธีการ “ปิดตาชิม” นั้น เกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรการค้าข้าวระหว่างประเทศหลายองค์กร ร่วมกับวารสารตลาดข้าวนานาชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องข้าวคุณภาพของแต่ละประเทศ และกระตุ้นให้มีการพัฒนาสินค้าข้าวของผู้ส่งออกในแต่ละตราสินค้า ถือเป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่จะจัดให้มีการประกวดต่อเนื่องในทุก ๆ ปี ของการประชุมสัมนาข้าวโลก

ข้าวหอมมะลิของไทย เคยครองตำแหน่งแชมป์โลกสองปีแรก คือ 2009-2010 ก่อนจะเสียแชมป์ให้กับข้าวปอซาน (Pawsan rice) ของพม่าในปี 2011 และข้าวผกามะลิของกัมพูชา ซึ่งมีลักษณะคล้ายข้าวหอมมะลิของไทยมาก สามารถคว้าแชมป์โลกได้ในปี 2012

การประกวดในปี 2013 ถือเป็นการสร้างปรากฎการณ์ใหม่ เพราะข้าว คาลโรส จากแคลิฟอร์เนีย กลายเป็นม้ามืด ผงาดขึ้นคว้าตำแหน่งแชมป์โลกร่วมกับข้าวผกามะลิของกัมพูชาแบบไม่มีใครคาดคิด

ข้าวคาลโรส ซึ่งย่อมาจาก แคลิฟอร์เนียโรส ถูกพัฒนาสายพันธ์โดยนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่เมืองเดวิส (UC Davis) ตั้งแต่ปี 1948 และเริ่มปลูกเป็นการค้าในปี 1961 เป็นข้าวเมล็ดขนาดกลาง รูปร่างคล้ายดอกกุหลาบตูม (หากปลูกในรัฐหลุยเซียน่า จะเรียกว่าข้าวบลูโรส) เป็นข้าวที่นุ่ม เหนียว เหมาะที่จะทำข้าวซูชิ เป็นสินค้าส่งออกที่ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วในตลาดโลก และปัจจุบัน ข้าวชนิดนี้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของออสเตรเลียและหมู่เกาะแปซิฟิกอีกด้วย

ปี 2014 ในการประกวดข้าวที่ดีเด่นครั้งที่ 6 ข้าวผกาลำดวล ซึ่งเป็นข้าวหอมอีกชนิดของกัมพูชา ได้รับเลือกให้เป็นที่หนึ่ง ร่วมกับข้าวหอมมะลิของไทย และในปี 2015 ข้าวคาลโรสของแคลิฟอร์เนีย คว้าตำแหน่งแชมป์โลกไปครอง

การคว้าแชม์โลกของข้าวหอมมะลิไทย ในประกวดข้าวดีเด่นของโลกครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ข้าวหอมมะลิของไทยได้ตำแหน่งแชม์โลกสี่ครั้ง มากกว่าข้าวจากภูมิภาคอื่นๆ ทั้งหมด โดยมีข้าวหอมของกัมพูชาตามมาเป็นอันดับสอง คือสามครั้ง

ข่าวบอกด้วยว่า การประกวดข้าวที่ดีเด่นของโลกครั้งล่าสุด มีข้าวที่น่าจับตาปรากฎตัวขึ้นอีกชนิด นั่นคือข้าว จาปอนิก้า (Japonica rice) ที่ปลูกในสหรัฐฯ ด้วย โดยข้าวที่มีถิ่นกำเนิดในญี่ปุ่นและเกาหลีชนิดนี้ ได้รับรางวัลที่สาม

ขณะเดียวกัน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ รายงานข่าวว่า สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จะจัดงานแสดงความยินดีที่ข้าวหอมมะลิไทยได้ รับรางวัลชนะเลิศ ข้าวดีเด่นของโลกในวันที่ 8 ธันวาคม นี้ เพราะถือเป็นรางวัลของประเทศและเป็นความสำเร็จของไทยซึ่งจะเป็นการตอกย้ำถึงคุณภาพข้าวที่ดีของประเทศไทยด้วย โดยการให้คะแนนนั้นมาจากความสวยและความสะอาด จากตัวอย่างข้าวที่ยังไม่ได้หุง 40 คะแนน และอีก 60 คะแนน จะพิจารณาจากรสชาติข้าวที่หุงแล้ว ซึ่งไทยถือว่าเป็นเลิศ

ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวในปีนี้น่าจะได้ยอดประมาณ 10 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 170,000 ล้านบาทโดยจะเป็นรองจากอินเดียที่จะส่งออกได้ถึงกว่า 10.5 ล้านตัน ทำให้ปีนี้ไทยจะอยู่ในอันดับที่ 2 และคาดว่าในปีหน้าไทยจะกลับมาเป็นอันดับ 1 ที่จะส่งข้าวออกตลาดต่างประเทศได้ไว้ 9.5-10 ล้านตันได้ เนื่องจากขณะนี้ผลผลิตข้าวใหม่ออกมามาก ประกอบกับตรุษจีนเร็วขึ้น ทำให้หลายประเทศต่างเร่งซื้อข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้นโดยการส่งออกข้าวหอมมะลิต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 90,000 ตันเป็น 120,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ราคาถือว่าดีขึ้นเช่นกัน โดยขณะนี้ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิอยู่ที่ประมาณ 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเพิ่มขึ้นประมาณ 60 – 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เนื่องจากสินเชื่อชะลอการขายของภาครัฐ ทำให้ผลผลิตไม่ล้นตลาด และทำให้ราคาดีขึ้น.


นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม,
แหล่งที่มาข่าวโดย : สยามทาวน์ยูเอส
http://www.siamtownus.com/2016/New-1612000007-1.aspx
----------------------------------------------------------------------------


พฤกษากับเสียงเพลง

มานพ อำรุง

พฤกษาข้าวหอมมะลิไทย ไฉนต้องปรับ...มาสู้คู่แข่ง?
ข้าวไทย...อร่อย เปี่ยมคุณค่า
ข้าวไทยมีหลากหลายชนิด
แต่ละชนิด จะมีลักษณะเมล็ด สี และรสชาติอร่อย
และเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไป
แต่ที่สำคัญยิ่ง ข้าวไทยทุกชนิดเป็นธัญพืช
ที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ
อุดมด้วยแร่ธาตุ กากใยธรรมชาติ และวิตามิน?

ข้อความจากแผ่นพับ กล่าวถึง "ข้าวหอมมะลิไทย" โดย กองบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

...ข้าวหอมมะลิไทย เป็นที่ต้องการของตลาดในทุกชั้นราคา ทุกเกรด จึงเกิดปัญหาเรื่องการปลอมปน ทำให้ชื่อเสียงเรื่องคุณภาพข้าวหอมมะลิเสียไป กระทรวงพาณิชย์จึงได้กำหนดมาตรฐานข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออกว่า ต้องมีความบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 92 เพื่อรักษาคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยให้คงไว้ ซึ่งมาตรฐานด้านคุณภาพ ระดับพรีเมี่ยม แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เราส่งออกข้าวหอมมะลิได้น้อยลง เนื่องจากประเทศคู่ค้าไม่ได้ต้องการข้าวในมาตรฐานเดียวนี้ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาใหม่ คือลูกค้าสั่งข้าวหอมมะลิไปแล้วนำผสมเอง ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า นำข้าวชนิดใด จากประเทศใดไปผสม แล้วไปติดตราสินค้าว่าเป็น ข้าวหอมมะลิไทย เลียนแบบบรรจุภัณฑ์ ตราสินค้า ว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย?

ส่วนหนึ่งของข้อความ ในหัวข้อเรื่อง "เกิดอะไรขึ้นกับตลาดข้าวหอมมะลิไทย ในทศวรรษที่ผ่านมา ?" โดย DIT กรมการค้าภายใน ในเอกสารพิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิ และข้าวตราคุณภาพดีเด่น ประจำปี 2559

ข้าว เป็นทั้งพืชอาหารหลักที่สำคัญของคนไทย และรวมถึงเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของประเทศ ข้าวเป็นพืชดั้งเดิมที่เกษตรกรไทยปลูกกันมานานหลายศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้การปลูกข้าวของไทยเป็นฐานของแหล่งประเพณี พิธีกรรม และวัฒนธรรมที่ดีงามต่อเนื่องกันมา อาชีพการทำนาในอดีตจึงเป็นอาชีพที่จำกัดและสงวนไว้สำหรับคนไทย ซึ่งมีประชากรไทยจำนวนมากที่ยึดการทำนาเป็นอาชีพหลัก เกิดเป็นแหล่งเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศ (ข้อความขึ้นต้นจาก คำนำ ในหนังสือ พลวัตเศรษฐกิจการผลิตข้าวไทย โดย อาจารย์สมพร อิศวิลานนท์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สิงหาคม 2552) และอีกส่วนหนึ่งของข้อความในบทนำจากเอกสารเล่มเดียวกันนี้ กล่าวไว้ว่า ?นับต่อนี้ไป อาจกล่าวได้ว่า สินค้าข้าวจะเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ เพราะเป็นฐานเศรษฐกิจของครัวเรือนในชนบท

การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ทั้งทางด้านราคาข้าวและราคาพืชอื่นๆ รวมทั้งราคาปัจจัยการผลิตจะส่งผลกระทบต่อภาวะการผลิตข้าวไทยอย่างไร และประเทศไทยควรปรับตัวในแนวนโยบายการผลิตข้าว พืชอาหาร และพืชพลังงานอย่างไร ถึงจะเอื้อประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจข้าวของประเทศ เพื่อปรับตัวให้ทันกับความเป็นพลวัตของสถานการณ์ทางการตลาด ต่อภาวะวิกฤตอาหารของโลก และการสร้างความสมดุล ทั้งเพื่อการเป็นสินค้าส่งออก และการเป็นพืชอาหารที่สำคัญของประเทศ ?

ข้าวไทยเป็นข้าวคุณภาพดีที่ทั่วโลกเชื่อมั่น ไว้วางใจ เป็นอาหารหลักและรองของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยขึ้นอยู่กับวิถีการดำรงชีพ ประเพณี วัฒนธรรมในการบริโภคอาหารในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความต้องการข้าวต่างชนิดกัน อาทิ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ หรือข้าวหอมมะลิ GI ข้าวนึ่ง ข้าวคุณลักษณะพิเศษ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสังข์หยด ข้าวสินเหล็ก โดยข้าวเหล่านี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวที่สามารถผลิตและส่งออกสนองความต้องการของผู้บริโภคไปทุกภูมิภาคทั่วโลก เป็นสิ่งยืนยันคุณภาพข้าวไทย เป็นที่นิยม เชื่อมั่น และวางใจตลอดมา

การส่งออกข้าวไทยไปภูมิภาคต่างๆ ตามแต่ละชนิดข้าวทั่วโลก ได้แก่
- ข้าวนึ่ง ส่งออกไปประเทศแอฟริกาใต้ เยเมน ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย ไนจีเรีย ฯลฯ

- ข้าวขาว ส่งออกไปประเทศเม็กซิโก เปรู ชิลี แคมารูน ไนจีเรีย อิรัก อิหร่าน โมซัมบิก ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฯลฯ

- ข้าวลักษณะพิเศษ ส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา แอฟริกาใต้ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อิตาลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง ฯลฯ

- ข้าวหอมมะลิไทย ส่งออกไปประเทศออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน ซาอุดีอาระเบีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ เซเนกัล ตรินิแดด เปอร์โตริโก้ จาไมก้า สหรัฐอเมริกา แคนาดา โกตดิวัวร์ กานา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ

จากเอกสาร พิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิ และข้าวตราคุณภาพดีเด่น ประจำปี 2559 โดย DIT กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ 23 พฤษภาคม 2559 ได้บันทึกไว้ในหัวข้อเรื่อง ? เกิดอะไรขึ้นกับตลาด ? ข้าวหอมมะลิไทย ? ในทศวรรษที่ผ่านมา ?? ขออนุญาตสรุปเรื่องราวว่า ทำไม ประเทศไทยเราจะต้องปรับตัว เปลี่ยนยุทธวิธีมาสู้กับคู่แข่งการตลาดข้าว ซึ่งเราเคยเป็นผู้นำมาหลายทศวรรษ แต่ตอนนี้ประเทศเหล่านั้น จัดได้ว่ากลายมาเป็นคู่ปรับ คู่แข่ง ที่ต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์การตลาดโดยสรุป

กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิ อันดับ 1 ของโลกมาตลอด แต่ในระยะ 5 ปี มานี้ ส่วนแบ่งการตลาดของข้าวหอมมะลิไทย กำลังตกอยู่ในสถานการณ์เพลี่ยงพล้ำสถานภาพเป็นรอง ถูกฉกชิง และแทนที่ด้วยข้าวสายพันธุ์กำเนิดเดียวกัน กับข้าวหอมมะลิ ที่หลายประเทศส่งเข้ามาแข่งขัน ทำให้ "ข้าวหอมมะลิ" อาจจะไม่ใช่ข้าวของคนไทย และของประเทศไทย เพียงหนึ่งเดียวดังที่ผ่านมา หรือต่อไป เนื่องจากข้าวหอมในตลาดโลกแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ข้าวบาสมาติ (Basmati rice) ซึ่งมีประเทศอินเดีย และปากีสถาน เป็นผู้ผลิตหลัก เป็นที่นิยมบริโภคอย่างมาก ในตลาดแถบเอเชียใต้และตะวันออกกลาง ส่วนข้าวหอมอีกกลุ่มหนึ่ง ถูกเรียกว่า ข้าวหอมมะลิ (Jasmine rice) มีแหล่งสำคัญที่เพาะปลูกอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน โดยปัจจุบัน มีประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญคือ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา

ข้าวหอมมะลิไทย กับ ข้าวบาสมาติ แม้ว่าจะเป็นกลุ่มข้าวหอมเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกัน โดยไม่ถือว่าเป็นสินค้าทดแทนกันได้ เพราะข้าวหอมมะลิมีค่าอมิโลสต่ำกว่าข้าวหอมบาสมาติ ทำให้ข้าวหอมมะลิมีรสชาติดี นุ่มนวล จึงเป็นที่นิยมบริโภคในกลุ่มผู้บริโภคในเอเชียตะวันออก และสหรัฐอเมริกา

ส่วนข้าวบาสมาติ มีค่าอมิโลสระดับปานกลาง และสูงกว่าข้าวหอมมะลิไทย ทำให้เมื่อหุงสุกแล้ว ข้าวมีลักษณะร่วน ไม่นุ่มเหมือนข้าวหอมมะลิ ข้าวบาสมาตินิยมบริโภคกันในกลุ่มเอเชียใต้ และตะวันออกกลาง ข้าวทั้งสองชนิดจึงมีลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างกันของตัวสินค้าข้าว และลักษณะการนำไปปรุงอาหาร

ประเทศไทยส่งออกข้าวหอมมะลิ ในชื่อ "Thai Hom Mali Rice" เป็นข้าวที่มีมูลค่าการส่งออกสูง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ถ้าเอ่ยถึงอดีต ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีการส่งออกข้าวหอมมะลิ ทำให้มีชื่อเสียงในเวทีการค้าโลก เป็นที่รู้จัก ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลก โดยตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิไทย เดิมอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง ก่อนจะขยายตัวไปตลาดสหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกาใต้

จากข้อมูลของ The Rice Trader ระบุปริมาณการค้าข้าวของโลก โดยเฉลี่ยประมาณ 40 ล้านตันข้าวสาร โดยในจำนวนดังกล่าวมีข้าวหอมที่เรียกกันว่า หอมมะลิ อยู่ 3 ล้านตันข้าวสาร ดูเหมือนจำนวนไม่มาก แต่ด้วยราคาซื้อ-ขาย ข้าวหอมมะลิในช่วงที่ราคาสูง เคยมากกว่าพันเหรียญสหรัฐ ต่อตัน จึงเป็นข้าวที่มีราคาสูงเป็น อันดับที่ 2 รองจากข้าวหอมกลุ่มบาสมาติ และข้าวหอมมะลิยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก จึงต้องหาคำตอบว่า ประเทศไทยผู้ซึ่งเคยเป็นแชมป์ตลาดข้าวหอมมะลิโลก จะยังคงรักษา หรือกลับมาดำรงตำแหน่งแห่งศักดิ์ศรีนี้ต่อไปได้หรือไม่ เพราะเป็นเวทีแห่งศักดิ์ศรีที่จะทวงคืนแชมป์ข้าวหอมมะลิไทย ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข้าวไทย จึงต้องคำนึงถึงผลผลิตเชิงเศรษฐกิจ ทั้งปริมาณและคุณภาพ เพื่อจะนำภาพลักษณ์ระดับพรีเมี่ยมกลับมาในระบบอีกต่อไป

ประเทศไทย กำลังเผชิญกับศึกรอบทิศในตลาดข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล และกำลับขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น เป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวไทยจะต้องคำนึงถึงการกำหนดกลยุทธ์ในการแข่งขัน เพื่อจะได้รีบหาคำตอบ ว่าจะดึงตลาดข้าวหอมของไทยในเวทีตลาดโลกกลับคืนมาได้อย่างไร ประกอบกับปัจจุบัน ลูกค้ารายสำคัญของข้าวหอมมะลิไทย อย่าง สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ ต่างก็มีปริมาณการค้าที่ลดลง เช่นเดียวกับตลาดในแถบแอฟริกา ที่เคยเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญของไทยในกลุ่มข้าวหอมหัก ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคไปเป็นการบริโภคข้าวหอมเต็มเมล็ดเกรดล่าง ซึ่งนำเข้าจากประเทศเวียดนามแทน และอีกปัจจัยที่มีผลให้การส่งออกข้าวหอมมะลิไทยมีปริมาณลดน้อยลง คือ มาตรฐานข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออก ถูกระบุชนิดและคุณภาพข้าวตามความต้องการของลูกค้า และด้วยความที่ข้าวหอมมะลิไทยเป็นที่ต้องการของตลาดในทุกชั้นราคา ทุกเกรด จึงเกิดปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิดังที่กล่าวไว้ในช่วงแรกของคำขึ้นต้นมาแล้ว

ในปี พ.ศ. 2558 มีการจัดเกรดโรงสีข้าวโดยการติดดาว โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินโครงการจัดเกรดโรงสีข้าวด้วยการติดดาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเกี่ยวกับการผลิต การแปรรูป การค้าข้าว ผู้ประกอบการโรงสีข้าวของประเทศไทยให้มีการบริหารจัดการทั้งด้านกระบวนการผลิต การดูแล และเก็บสินค้าข้าว จนถึงการรับซื้อผลผลิต และจำหน่ายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวของประเทศไทย และพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน การส่งออกข้าว ในขณะที่ประเทศคู่แข่งในประชาคมอาเซียน อาทิ ประเทศเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ก็ได้มีการพัฒนาอย่างเป็นลำดับ เนื่องจากเป็นประเทศคู่แข่งในการส่งออกข้าวหอมประเภทต่างๆ อย่างสำคัญยิ่ง

สำหรับการพัฒนาด้านการผลิตแปรรูปจากโรงสีข้าวให้มีระบบมาตรฐาน การผลิตข้าวสารที่มีความปลอดภัยในการบริโภค และการส่งออกซึ่งเป็นการผดุงรักษาชื่อเสียงและคุณภาพต่อประเทศลูกค้าผู้บริโภคนั้น ก็จะมีผลจากระบบมาตรฐาน GMP (GOOD MANUFACTURING PRACTCE ) และ HACCP (HAZARD ANALYSIS CRITICAL CONTROL POINT) จึงถือว่าเป็นกลยุทธ์ตามยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนเพื่อนำมาสู่การสู้กับคู่แข่งเป็นเบื้องต้นเช่นกัน

มีรายละเอียดจากเอกสารในพิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิ และข้าวตราคุณภาพดีเด่น ประจำปี 2559 ได้กล่าวถึงการเกิดอะไรขึ้นกับข้าวหอมมะลิไทย กับหัวข้อเรื่อง "เมื่อคู่แข่งปรับ...ถึงเวลาเรา (ต้อง) เปลี่ยน" โดยวิเคราะห์ประเทศคู่แข่งที่จะมาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดข้าวหอมของไทยกันอย่างคึกคัก เช่น ประเทศเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะขออนุญาตนำเสนอรายละเอียดจากข้อมูลในเอกสารฉบับดังกล่าวว่า...ไฉนต้องปรับ...มาสู้คู่แข่ง ในฉบับหน้าต่อไป



เพลง ชีวิตชาวนา

ศรเพชร ศรสุพรรณ

ชีวิตเกษตรลูกชาวนาไทย เกิดจากปู่ย่าตายายด้วยใจสู้กับปัญหา ตากแดดตากฝน อาบเหงื่ออาบทั้งน้ำตา หน้าสู้ดินหลังสู้ฟ้า เกิดมาเป็นชาวนาไทย

ตื่นเช้าต้องรีบลุกจากที่นอน เก็บเสื่อเก็บมุ้งเก็บหมอน จากจรสู่ทุ่งนาไกล แม้แดดจะร้อน แม้ฝนเปียกปอนเพียงใด แต่ใจยังคงสู้ไหว ปลูกข้าวเรื่อยไปเพื่อไทยทุกคน

แม้เหนื่อยเพียงไหน ถ้าขายราคาตกต่ำ ถึงแม้เจ็บช้ำ แต่ใจก็ยังอดทน เหนื่อยใจ เหนื่อยกาย จากรายได้ผลิตผล ชีวิตชาวนาหลายคน เจ็บช้ำหลายหน ไม่มีคนรู้

ชีวิตเกษตรลูกชาวนาไทย เกิดจากปู่ย่าตายาย สืบสานไว้เป็นดั่งครู จะเป็นอย่างไรอยากจะให้ชาวไทยได้รู้ จะขอทำนาต่อสู้ เพื่อให้ได้รู้ ชีวิตไทย จะขอทำนาเรื่อยไป เพื่อพี่น้องไทยได้กินข้าวดี



บทเพลงมุ่งมั่น ยอมรับในสัมมาชีพ ไม่ได้บ่นน้อยใจ แต่บอกความในใจที่สู้ทน ยลยิน สู้ดินและฟ้า เทิดทูนบูชาความรู้ที่สืบสานจากบรรพบุรุษ ไม่ยี่หระต่อคำว่าเป็น "ชาวนา"

มาถึงยุคนี้ ซื้อขายข้าวคราวละเป็นแสนเป็นล้านตัน ปลูกข้าวได้มากเพียงใด ก็ส่งของดีออกขายเมืองนอก เพราะคำว่า ?ส่งออก? คือเศรษฐกิจของชาติ โดยอาจจะลืมว่า "เศรษฐกิจครัวเรือน" คืออะไร สักกี่ล้านตันข้าวสาร หรือกี่ล้านโกดังข้าวเปลือกที่เป็นของพ่อค้า ชาวนาก็ยังคงยินดีเลือกทำนาปลูกข้าวเรื่อยไป เพื่อพี่น้องไทยได้กินข้าวหอมมะลิอย่างดี แต่ตัวชาวนานี้ ขอเพียงมี "ข้าวสารกรอกหม้อ" ก็พอที่จะมีชีวิตสู้ต่อไป

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05026010759&srcday=&search=no
-----------------------------------------------------------------------------


http://www.kasetloongkim.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=5533
ข้าวหอมมะลิ "โลก" .... "?" ....
--------------------------------------------------------------------------------



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©