-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ข้าวหอมมะลิ "โลก" .... "?" ....
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ข้าวหอมมะลิ "โลก" .... "?" ....

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 03/11/2016 2:46 pm    ชื่อกระทู้: ข้าวหอมมะลิ "โลก" .... "?" .... ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
การประกวดข้าวโลก :

ข้าวในโลกมีมากกว่า 5000 สายพันธุ์ เมื่อเดือนที่แล้ว มีข่าวเกี่ยวกับการประกวดข้าวโลกที่ฮ่องกง ผมจึงขอเขียนเกี่ยวกับการประกวดข้าวดังกล่าวครับ

การประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกจัดขึ้นครั้งแรกที่งาน “World Rice Conference 2009” หรือการประชุมข้าวโลก 2009 ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 27-29 ตุลาคม 2552 ถือเป็นงานสัมมนาเรื่องข้าวระดับนานาชาติ ที่มีผู้เกี่ยวข้องในตลาดการค้าข้าว จำนวนกว่า 500 คน จาก 33 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุมโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ ผู้บริหาร จาก 200 องค์กร ในแวดวงการค้าข้าวและด้านการเกษตร ซึ่งงานที่จัดขึ้นใช้เป็นเวที สำหรับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ สถานการณ์ด้านข้าว และสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมค้าข้าวของโลก และได้มีการเปิดตัวโครงการประกวด “ข้าวที่ดีที่สุดในโลก” หรือ Best Rice in the World โดยความร่วมมือของ องค์กรการค้าข้าว ที่เป็นองค์กรหลักในธุรกิจการค้าข้าวระหว่างประเทศ ร่วมกับวารสารตลาดข้าวนานาชาติ วัตถุประสงค์เพื่อยกย่องข้าวคุณภาพของแต่ละประเทศ และกระตุ้นให้มีการพัฒนาสินค้าข้าวของผู้ส่งออกในแต่ละตราสินค้า ถือเป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่จะจัดให้มีการประกวดต่อเนื่องในทุก ๆ ปี ของการประชุมสัมมนาข้าวโลก

การประกวดในครั้งแรกนั้นมีผู้ประกอบการจากประเทศต่าง ๆ อาทิ ปากีสถาน พม่า ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินเดีย สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย ส่งข้าวจำนวน 22 ตราสินค้าเข้าร่วมประกวด โดยคณะกรรมการตัดสินเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร สมาคมบริษัทที่ปรึกษาเกี่ยวกับการทำอาหารในสหรัฐอเมริกา และพ่อครัวที่มีชื่อเสียงจากประเทศต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ ใช้เกณฑ์การตัดสิน 4 ด้านหลัก ได้แก่

ด้านกลิ่น
รสชาติ
ความเหนียวนุ่ม และ
รูปร่างลักษณะ

โดยใช้วิธีตัดสินแบบการทดสอบโดยไม่เปิดเผยตราสินค้า (Blind testing) ซึ่งผลการตัดสินเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า “ข้าวหอมมะลิ” จาก

ประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ “ข้าวที่ดีที่สุดในโลก” หรือ “Best Rice in the World” ประจำปี ค.ศ. 2009

ครั้งที่ 2 จัดที่ประเทศฟิลิปปินส์ ข้าวไทยยังคงได้รับการตัดสินให้เป็นข้าวที่ดีที่สุดอีกครั้ง

ครั้งที่ 3 จัดที่ เมืองโฮจิมินห์ ซิตี้ ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2554 มีข้าวกว่า 30 สายพันธุ์ที่เข้าประกวด ข้าวหอม ปอซาน ( Pawsan ) หรือ Myanmar Pearl rice ซึ่ง เป็นข้าวที่มีลักษณะเม็ดกลมหนา มีความยาวประมาณ 5-5.5 มม. เมื่อผ่านการหุงแล้ว เมล็ดข้าวจะมีขนาดยาวมากขึ้นกว่าเดิม 3-4 เท่าตัว และ ยังสามารถรักษากลิ่นหอมเฉพาะไว้ได้ ได้คะแนน 14 คะแนน จาก15 คะแนน เอาชนะ ข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งได้คะแนน 13.75 ได้รับรางวัล ข้าวที่ดีที่สุดในโลกไปครอง เป็นครั้งแรกที่ข้าวหอมมะลิจากประเทศไทยเสียตำแหน่งข้าวที่ดีที่สุดในโลก

ครั้งที่ 4 จัดขึ้นที่ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 26-28 กันยายน 2555 โดยให้กุ๊กจากโรงแรม 5 ดาวในบาหลี ชิมข้าวที่ไม่มีการระบุประเภท ชนิด หรือ แหล่งที่มาของข้าว ข้าวที่ชนะเลิศคือข้าว หอมมะลิ (Phaka Malis) จากประเทศกัมพูชา

ครั้งที่ 5 จัดที่ฮ่องกง ระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2556 ข้าวหอมมะลิ จากประเทศกัมพูชา ได้คะแนนสูงสุด เท่ากับข้าว แคลโรส (California Rose) จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จึงเป็นครั้งแรก ที่มีข้าว 2 ชนิดได้ครองชนะเลิศด้วยกัน

ผมขอพูดถึงข้าว แคลโรสก่อน ข้าวแคลโรสเป็นข้าวที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์โดยนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย แคลิฟฟอร์เนีย ที่เมือง เดวิส (UC Davis) เมื่อ พ.ศ.2491 และเริ่มมีการปลูกแพร่หลายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นข้าวเมล็ดขนาดกลาง รูปร่างคล้ายดอกกุหลาบตูม หากปลูกในรัฐ Louisiana จะเรียกว่า Blue rose มีการปลูกข้าว แคลโรส ในหลายประเทศ เช่นที่ ออสเตรเลีย และแถบหมู่เกาะ แปซิฟิค ข้าวแคลโรส เป็นข้าวชนิดนุ่ม เหนียว เหมาะที่จะทำข้าวซูชิ ส่วนข้าวพกามะลิ จากประเทศกัมพูชานี่แหละครับ จะเป็นข้าวที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทย

เนื่องจากข้าวพกามะลิ เป็นข้าวเมล็ดยาว การหุงต้มเหมือนข้าวหอมมะลิของไทย จริงๆแล้วน่าจะพูดได้ว่าข้าวพกามะลิ ก็คือ ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในกัมพูชานั่นเอง

Phka Malis ในภาษาเขมร Phka หมายถึง ดอกไม้ ข้าวพกามลิ จึงมีความหมาย ข้าวดอกไม้มะลิ หรือข้าวดอกมะลิ

ข้าวหอมของกัมพูชามีหลายสายพันธ์ เช่น ข้าว Phka Romdul, ข้าว Phka Khnei, ข้าว Cammalis ข้าว ผกาลำดวน (Phka Malis) เป็นข้าวของกัมพูชาเองที่ปลูกตามพื้นที่ที่จำกัด แต่มีคุณภาพดีมาก แต่เนื่องจากเมล็ดพันธ์ หายาก จึงนิยมปลูกน้อยกว่า ข้าวผกามะลิ ซึ่งหาซื้อพันธ์ได้ง่ายกว่า การปลูกข้าวผกามะลิมีอยู่แพร่หลายทั้งที่บันเตียนเมียนเจย (ศรีโสภณเดิม) พระตะบอง กัมปงธม กัมปงจาม โพธสัด ข้าวที่ปลูกในพื้นที่ดังกล่าวมีคุณสมบัติของข้าวไม่ว่าจะความนุ่ม ความหอม ใกล้เคียงการปลูกในประเทศไทย เพราะมีการใส่ปุ๋ยเคมีค่อนข้างน้อย ปัญหาที่พบก็คือ ข้าวเริ่มมีพันธุ์ปน เนื่องจากชาวนาในกัมพูชา ที่ปลูกข้าวหอมมะลิได้ 3 ปี ยังไม่ค่อยเปลี่ยนเมล็ดพันธ์ ทำให้ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธ์เริ่มลดลง

ส่วนราคา ข้าวผกามะลิของกัมพูชาราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิของประเทศไทย โดยข้าวผกามะลิราคาขายอยู่ที่$ 900-920 ต่อตัน F.O.B. สีหนุวิลล์ ขณะที่ข้าวไทย ราคาส่งออก $980-1080 ต่อตัน F.O.B . แหลมฉบัง

http://www.ncc.or.th/web2014/index.php/component/content/article/41-farmland/102-rice

------------------------------------------------------------


ข้าวหอมมะลิใน AEC

ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Mix Magazine ฉบับเดือนเมษายน 2558
นายเกษมสันต์ วีระกุล

คนไทยเราภาคภูมิใจและมีความเชื่อตลอดมาว่าข้าวหอมมะลิไทยดีที่สุดในโลก แต่เชื่อมั้ยครับว่าวงการการค้าข้าวของโลกซึ่งรวมผู้ค้าข้าวของไทยด้วย เขาจัดการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกกันมา 6 ครั้งแล้ว ปรากฎว่า ข้าวหอมมะลิของไทยเราคว้ารางวัลชนะเลิศได้เพียง 3 ครั้งเท่านั้นเอง

การประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกนั้นเริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่เมืองเซบู ฟิลิปปินส์ ในการประกวดเขาจะ เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและพ่อครัวที่มีชื่อเสียง มาทำการชิมข้าวแบบไม่ให้รู้ว่าข้าวที่ถูกส่งเข้าประกวดนั้นมา จากประเทศไหน ใครส่งประกวด โดยกรรมการจะตัดสินจากกลิ่น รสชาด ความเหนียวนุ่มและรูปร่างลักษณะของ เมล็ดข้าวทั้งก่อนและหลังการหุง

ในการประกวดสองครั้งแรกนั้น “ข้าวหอมมะลิ” ของไทยชนะเลิศตามความคาดหมาย แต่ในการประกวดปีที่ 3 คือ ในปี พ.ศ. 2554 ที่โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามผลปรากฎว่า “ข้าวปอซาน” จากเมียนมาสามารถเฉือนเอาชนะ ข้าวหอมมะลิของไทยไปได้อย่างหวุดหวิด ที่ข้าวปอซานเอาชนะใจกรรมการ ได้ก็เพราะรูปทรงก่อนและหลังหุง ของข้าวปอซานนั้นแตกต่างกันอย่างน่าอะเมซิ่ง ก่อนหุงนั้นข้าวปอซานจะมีลักษณะเมล็ด กลมหนา ป้อมๆสั้นๆ คล้ายๆไข่มุกหรือข้าวญี่ปุ่น ฝรั่งบางคนถึงกับเรียกข้าวปอซานว่า “Myanmar Pearl Rice หรือข้าวไข่มุกจาก เมียนมา” แต่พอหุงสุกแล้วเมล็ดข้าวกลับจะยาวขึ้นมากกว่าเดิมถึง 3-4 เท่าตัว ยาวจนดูเหมือนข้าวสวยที่คนไทย เราทานกันเป็นประจำ

สาเหตุที่พอหุงสุกแล้วเมล็ดยาวขึ้นมากได้ถึง 3 หรือ 4 เท่าก็เพราะข้าวปอซานนั้นมีค่าอะไมโลสค่อนข้างสูง มาก กว่าข้าวหอมมะลิของไทย การที่มีค่าอะไมโลสสูงนี่เองที่ทำให้ข้าวปอซานมีความแข็งกระด้างกว่าไม่นิ่มนวล เหมือนข้าวหอมมะลิของไทย สำหรับคนไทยผมคิดว่าส่วนมากน่าจะชอบข้าวหอมมะลิของเรามากกว่า แต่ถ้า เป็นคนชอบทานข้าวออกแข็งๆ นิดหน่อยแล้วได้ลอง ข้าวปอซานออกใหม่ๆ หุงดีๆ เผลอๆ ก็อาจจะปันใจไปชอบ ข้าวปอซานของเขาได้เหมือนกัน ถ้าได้ไปเที่ยวเมียนมาแล้วอยากซื้อมาชิม ขอให้เลือกดูข้าวที่ใหม่นิดนึงนะครับ เพราะถ้าเป็นข้าวปอซานเก่าแล้วนอกจากกลิ่นจะไม่ค่อยหอมแล้ว พอหุงเสร็จข้าวจะไม่ค่อยหอมและจะออกร่วนๆ ไม่อร่อยครับ

ข้าวปอซานมีหลายพันธุ์ ที่รับความนิยมมากที่สุดคือ “ข้าวปอซานมุย” บริเวณที่ปลูกข้าวปอซานได้ดีและปลูกกัน เยอะอยู่ที่แคว้นสะกายและแคว้นเอยาวดี (คนไทยเรียกอิระวดี) แต่ก็ปลูกได้ไม่เยอะเท่าไหร่ ปีหนึ่งๆผลิตได้ไม่ถึง ล้านตันข้าวสาร หรือคิดเป็นเพียง 5 ถึง 6 % ของการผลิตข้าวสารทั้งหมดของเมียนมา เพราะผลิตได้น้อยเลยทำให้ ข้าวปอซานมีราคาแพงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆเกือบๆสองเท่าและมีเหลือพอส่งออกไม่กี่พันตันเท่านั้น

ความจริงในอดีตเมียนมานั้นเคยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่เพราะมีปัญหาภายในประเทศมายาวนาน เมียนมาเลยไม่ค่อยได้ส่งออกข้าวมากนัก ปัจจุบันเมื่อสถานการณ์ต่างๆ เริ่มเข้าที่เข้าทาง เมียนมาก็เริ่มหันมาสนใจ พัฒนาพันธุ์ข้าวและเริ่มกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าเมียนมาจะกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าว รายใหญ่ของโลกได้เหมือนอดีตหรือไม่

ต่อมาในการประกวดในปีพ.ศ. 2555 ที่บาหลีประเทศอินโดนีเซียปรากฎว่าข้าวผกามะลิ ข้าวหอมมะลิชั้นดีจากกัมพูชาชนะเลิศ ที่น่าประหลาดใจแกมน่าตกใจอย่างมากสำหรับข้าวหอมมะลิของไทยก็คือในการประกวด ในปีต่อมาที่ฮ่องกงปรากฎว่าข้าวผกามะลิก็ยังคงชนะเลิศติดต่อกันเป็นปีที่สองโดยมีข้าวแคลโรสจาก แคลิฟอร์เนียคว้าตำแหน่งชนะเลิศคู่กัน

ที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นก็คือในการประกวดปีล่าสุด 2557 ที่กัมพูชาปรากฎว่าข้าวหอมมะลิของกัมพูชายังสามารถเอาชนะใจกรรมการคว้ารางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แต่คราวนี้ไม่ใช่ข้าวผกามะลิแต่ เป็นข้าว "ผกาลำดวน" โชคของเรายังดีที่ข้าวกล้องหอมมะลิของไทยเรายังช่วยกู้หน้าคนไทยเราได้บ้างด้วยการคว้าตำแหน่งชนะเลิศร่วมกับข้าวกัมพูชา

ผมได้ทานข้าวผกามะลิแล้วหลายครั้งต้องยอมรับครับว่าข้าวหอมมะลิพันธุ์นี้ของกัมพูชานั้นอร่อยสมศักดิ์ศรีข้าว หอมชนะเลิศของโลกสองปีซ้อน ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นที่หอม เมล็ดข้าวที่สวย ความนุ่มนวลที่ถูกปากคนไทย ถ้าไม่ บอกกันก่อนผมมั่นใจว่าคนไทยไม่มีทางรู้หรอกครับว่ากำลังทานข้าวหอมมะลิของกัมพูชาอยู่ ยิ่งถ้าได้ข้าว ผกามะลิที่ออกใหม่ๆ มาหุงให้ดีๆ ทานแล้วล่ะก็จะยิ่งติดใจ ถ้าคิดจะเอาข้าวหอมมะลิไทยมาสู้ก็จะต้องคัดเอา ข้าวหอมมะลิชั้นดีมาสู้นะครับ จะไปเอาข้าวหอมมะลิของไทยแบบพื้นมาสู้ มีโอกาสหน้าแตกสูงนะครับ

ส่วนข้าวผกาลำดวนที่คนกัมพูชาออกเสียงว่า “ผการุมดวล” แม้จะชนะเลิศในปีล่าสุดแต่ผมว่าความหอมและ ความนุ่มนวลยังสู้ข้าวผกามะลิไม่ได้ ถ้าไปถามคนกัมพูชาเขาก็จะบอกอย่างนี้เหมือนกันครับ

แหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของกัมพูชาอยู่บริเวณพระตะบอง บันเตียเมียนเจย กำปงชะนำ กำปงสะปือ เสียมราฐ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญยังเป็นพื้นที่เกษตรสำคัญเพาะปลูกพืชผักนานาชนิดเลี้ยงคนทั้งประเทศ อีกด้วยเพราะพื้นที่บริเวณเหล่านี้ดินดีและน้ำอุดมสมบูรณ์ การปลูกข้าวของกัมพูชานั้นยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก และเนื่องจากดินยังอุดมสมบูรณ์ เขาจึงใช้ปุ๋ยและสารเคมีน้อยกว่าบ้านเรา ต้นทุนในการปลูกข้าวหอมมะลิ ของเขาจึงถูกกว่าเรา ทำให้ราคาข้าวหอมมะลิเขาจึงถูกกว่าเราทั้งราคาที่ขายในประเทศและราคาที่ส่งออก

สาเหตุที่คุณภาพข้าวหอมมะลิของกัมพูชานั้นพัฒนาขึ้นอย่างมากในระยะหลังๆ ก็เพราะรัฐบาลกัมพูชานั้นเน้นการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิเป็นอย่างมากทั้งพัฒนาด้วยตัวเองและไปร่วมมือกับเวียดนาม ซึ่งระยะหลังๆมานี้ เวียดนามได้ก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องข้าวในกัมพูชา โดยจะเน้นเป็นพิเศษในเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการส่งออก
เวียดนามและกัมพูชามีข้อตกลงพิเศษในการซื้อขายข้าวหอมมะลิโดยไม่มีภาษีนำเข้าดังนั้นข้าวหอมมะลิชั้นดีจึง ไหลจากกัมพูชาไปยังเวียดนามเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นถ้าจะดูแต่ตัวเลขที่กัมพูชาส่งออกข้าวหอมมะลิปีหนึ่งๆ ไม่ถึง 3 แสนตัน แล้วบอกจะบอกว่ายังห่างชั้นกับไทยที่ส่งออกข้าวหอมมะลิเกือบๆ 3 ล้านตันในช่วงปี 2550 แล้วค่อยๆลดลงมาเหลือราวๆ 1.3 ล้าน ตันเศษในปี 2557 นั้น ผมว่าจะดูแค่นั้นไม่ได้นะครับ แต่เราควรจะต้อง ย้อนกลับไปดูตัวเลขส่งออกข้าวหอมมะลิของเวียดนามที่เมื่อสามสี่ปีที่แล้วยังส่งออกไม่ถึง 5 แสนตันอยู่เลย แต่พอปี 2557 ตัวเลขการส่งออกข้าวหอมมะลิของเวียดนามนั้นน้อยกว่าการส่งออกของไทยแค่ 1 แสนตันนิดๆ เท่านั้นเอง ใครจะไปรู้ข้าวหอมมะลิที่เวียดนามส่งออกนั้นอาจจะเป็นข้าวผกามะลิของกัมพูชาที่ถูกจับมาใส่เสื้อ ให้เป็นข้าวเวียดนามก็เป็นไปได้

ที่สำคัญใครจะไปรู้ว่าข้าวหอมมะลิที่คนไทยเราทานกันอย่างเอร็ดอร่อยทุกวันนี้นั้นอาจจะเป็นข้าวผกามะลิ แปลงร่างมาก็เป็นได้

ถ้าไทยเรายังละเลยการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวอยู่อย่างนี้ และยังไม่เร่งส่งเสริมให้ชาวนาเน้นการปลูกข้าวคุณภาพดี เห็นทีว่าอีกไม่นานคนไทยเราจะต้องสั่งข้าวหอมมะลิคุณภาพดีจากกัมพูชามาทานโดยแท้

http://aecconsultandconnect.co.th/th/aec-knowledge/mix/412-riceinaec.html

-----------------------------------------------------------------------


จับตา ! ข้าวหอมเวียดนามตั้งเป้าล้มไทย

จับตาข้าวหอมพันธุ์ใหม่เวียดนาม อีก 8 ปี ตั้งเป้าล้มข้าวหอมมะลิไทย :
รายงานเกษตร : โดย ... ดลมนัส กาเจ

แม้การประกวดข้าวที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เมื่อ 4 ปีก่อน ที่มีการนำตัวอย่างข้าวทั่วโลกกว่า 30 สายพันธุ์มาจัดอันดับ โดยพิจารณาจากรสชาติ สี และคุณภาพ ในงานการประชุมข้าวโลกโดยองค์กรไรซ์ เทรดเดอร์ ข้าวหอมมะลิของไทยสูญเสียตำแหน่งแชมป์ข้าวรสชาติดีที่สุดในโลกให้แก่ข้าว เพียร์ล ปาว ซาน (Pearl Paw San) ของพม่า ที่คว้ารางวัลข้าวรสชาติดีที่สุดไปครองเนื่องจากไม่มีการใส่ส่วนผสมอื่นใดก็ตาม แต่ นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ์ อธิบดีกรมการข้าว ยืนยันว่าข้าวไทยยังเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก แต่ก็น่าจับตามองประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่แอบซุ่มวิจัยข้าวหอมมาแข่งกับประเทศไทยโดยตรง และประกาศจะล้มข้าวหอมมะลิของไห้ได้ในเร็วๆ นี้

"ผมเพิ่งเดินทางไปประเทศเวียดนามเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ทราบว่าขณะนี้ประเทศเวียดนามกำลังวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมคล้ายข้าวหอมมะลิไทย และมีแปลงทดลองในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ ที่สำคัญเวียดนามประกาศอย่างชัดเจนว่าเขาจะล้มข้าวหอมมะลิของไทยภายใน 8 ปีข้างหน้า หรือในปี 2020 (2562) ตรงนี้เราไม่ควรประมาท เพราะภาคการเกษตรโดยเฉพาะการปลูกข้าวของเวียดนามกำลังมาแรง" นายชัยฤทธิ์ กล่าวในรายการ "เกษตรทำกินกับคม ชัด ลึก" ทางช่องระวังภัยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สำหรับข้าวหอมของเวียดนามนั้น เมื่อปี 2550 หนังสือพิมพ์เวียดนามอีโคโนมิคไทมส์ ลงตีพิมพ์ว่า โดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามว่า นักวิทยาศาสตร์ของกระทรวงเกษตรเวียดนาม กำลังซุ่มวิจัยและทดลองข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ หลายสายพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2548 รวมทั้งมีการทดลองปลูกข้าวหอม 6 สายพันธุ์ ซึ่งเตรียมส่งเสริมให้ชาวนาปลูกในพื้นที่ 7 จังหวัด บริเวณที่ราบปากแม่น้ำโขง หรือเขตแม่โขงเดลต้า ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ นอกจากนี้เวียดนามสามารถปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ไฮบริด หรือลูกผสมได้ไร่ละถึง 2,000 กิโลกรัม ซึ่งนับเป็นก้าวครั้งสำคัญของผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก

นายชัยฤทธิ์ ระบุว่า แม้จะมีการอ้างว่าข้าวหอมมะลิของไทยสูญเสียตำแหน่งแชมป์ข้าวรสชาติดีที่สุดในโลกให้แก่ข้าว Pearl Paw San ของพม่า ก็ตาม แต่เขายืนยันว่าข้าวไทยยังเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก เขาจะไม่ยอมให้เสียแชมป์ทั้งที่ข้าวที่มีรสชาติดีที่สุด การการส่งออกมากที่สุดในโลก ขณะนี้กรมการข้าวได้กำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยข้าว พ.ศ.2555-2559 เน้น 3 ด้าน คือ

ยุทธศาสตร์การวิจัย และพัฒนาข้าว
ยุทธศาสตร์การผลิต และการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และ
ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของกรมการข้าว

เพื่อเป็นการรองรับการรวมประเทศในกรอบของประชาคมเศษรฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี เพราะถึงเวลานั้นประเทศผู้ผลิตต้องการแข่งขันที่สูงขึ้นแน่นอน

"ตอนนี้กรมข้าวเรามีนักวิจัยรุ่นใหม่ถึง 164 คน พร้อมที่จะเดินหน้างานวิจัยเพื่อพัฒนาข้าวของไทย ผมยืนยันได้ว่าเราได้เปรียบประเทศอื่นทั่วโลก ตอนนี้คู่แข่งของเราในอาเซียนมีประเทศเวียดนามกับประเทศพม่า หากระดับโลกมีจีนกับอินเดียเพิ่มขึ้น แต่เรายังได้เปรียบประเทศเหล่านี้หลายเท่า เพราะเรามีข้าวที่เก็บไว้ในศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีกว่า 2 หมื่นสายพันธุ์

ในจำนวนนี้เป็นข้าวพื้นเมืองกว่า 1.7 หมื่นสายพันธุ์ และที่กรมวิชาการเกษตรประกาศรับรองสายพันธุ์ข้าวแล้ว 120 สายพันธุ์ ข้าวพื้นเมือง 57 สายพันธุ์ ข้าวลูกผสมอีก 63 สายพันธุ์

ถือว่ามากพอที่จะให้เกษตรกรเลือกนำไปปลูกในพื้นที่เหมาะสม อนาคตเราจะนำสายพันธุ์ใดก็ได้มาต่อยอด หรือทำเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เพื่อพัฒนาข้าวไทยให้ผลผลิตอย่างน้อยไร่ละ 800 กก." อธิบดีกรมการข้าวกล่าว

กระนั้นการที่จะทำให้ข้าวไทยต้องเป็นหนึ่งของโลก จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย โดยเฉพาะชาวนาต้องมุ่นเน้นในการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ข้าวที่ผ่านมาตรฐาน จีเอพี (GAP) หรือข้าวอินทรีย์ เน้นในเรื่องสุขภาพผู้บริโภค และให้ข้าวเป็นยา เป็นต้น นอกจากนั้นหาแนวทางลดต้นทุน โดยเฉพาะสารเคมีและปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตถึง 35% เพื่อจะได้แข่งในตลาดโลกได้ ซึ่งทราบกันดีว่าปัจจุบันประเทศคู่แข่งในการผลิตข้าวอย่างเวียดนามมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า

สอดคล้องกับ ดร.เอนก ศิลปพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร (ซีพีเอส) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการงานวิจัยและพัฒเมล็ดพันธุ์ข้าวของ ซีพีเอส ก็มั่นใจว่าการที่เวียดนามวิจัยพันธุ์ข้าวหอมเพื่อแข่งกับข้าวหอมมะลิไทย คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะข้าวหอมมะลิที่จะให้คุณภาพดีต้องมีสภาพภูมิอากาศลักษณะคล้ายกับภาคอีสานของไทยโดยเฉพาะพื้นที่เขตทุ่งกุลาร้องไห้ ที่มีสภาพกลางคืนเย็นแต่จะร้อนในเวลากลางวัน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับข้าวเวียดนาม คือ ให้ผลผลิตที่จะเหนือกว่าของไทย เนื่องจากระบบชลประทานค่อนข้างจะสมบูรณ์ โดยเฉพาะในเขตแม่โคขงเดลต้า จุดนี้มีแนวโน้มสูงที่เวียดนามจะกลายเป็นประเทศที่ส่งข้าวออกมากที่สุดในโลกแทนไทยได้เพราะ

ข้าวเวียดนามให้ผลผลิตที่ไร่ละ 875 กก.
ข้าวไทยอยู่ที่ไร่ละ 461 กก.
ข้าวจีนอยู่ที่ไร่ละ 1,054 กก.
ข้าวอินโดเนีเซียไร่ละ 774 กก.

นอกจากนี้เวียดนามมีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมมาจากจีนที่ให้ผลผลิตสูงด้วย ตรงนี้จะทำให้ไทยเสียเปรียบได้

"การแก้ปัญหาของไทยคือต้องมีการวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง ทนต่อโรค เปลี่ยนวิธีการทำนาจากนาหว่านมาเป็นนาดำ อย่างของซีพี ตอนนี้มีการพัฒนาเมล็ดที่ได้รับการรับรองจากกรมข้าวแล้วคือ ซีพี 304 เป็นพันธุ์ข้าวลูกผสมให้ผลผลิตดี ซึ่งจากการนำไปปลูกในพื้นที่ อ.บางเลน ได้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ไร่ละ 1,200-1,400 กก. แต่ต้องปลูกในพื้นที่เขตชลประทาน อีกสายพันธุ์เป็นพันธุ์พื้นที่เมือง ซึ่งเกษตรกรนำไปปลูกสามารถเก็บเมล็ดเองได้คือ ซีพี 111 ให้ผลผลิตไร่ 1,000-1,200 กก. " ดร.เอนก กล่าว

ก่อนหน้านี้ ดร.เอนก เขียนบทความลงในซีพี อี-นิวส์ (CP e-NEWS) ว่าในปีนี้ 2012 เวียดนามที่ตัวเลขการส่งออกข้าวพุ่งสูงถึง 7 ล้านตันต่อปี แม้แต่อินเดียก็ก้าวขึ้นมาเบียดเวียดนาม ทำสถิติส่งออกข้าว 7 ล้านตันต่อปีเช่นกัน ขณะที่ไทยการส่งออกลดลงเหลือ 6.5 ล้านตันต่อปี โดยลดลงจากปีที่ผ่านมาถึง 39%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะได้เปรียบทั้งความหลากหลายของสายพันธุ์ และสภาพภูมิประเทศที่เหมาะกับการทำนา แต่เมื่อคู่แข่งประกาศศักดาพร้อมที่จะล้มแชมป์ข้าวไทยให้ได้ ก็ไม่ควรประมาทเป็นอย่างยิ่ง

http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/139129

----------------------------------------------------------------------



.


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 03/11/2016 3:03 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 03/11/2016 2:59 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
หอมมะลิไทยพ่ายอีกปี “ดอกมะลิ” เขมรครองแชมป์ข้าวดีที่สุดในโลก

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

เจ้าหน้าที่กัมพูชานำข้าว 8 ชนิดส่งประกวดในงานประชุมข้าวโลกที่สิ้นสุดลงวันพฤหัสบดี 21 พ.ย.ที่ผ่านมาในฮ่องกง "ข้าวหอมดอกมะลิ" ได้ครองแชมป์ข้าวดีที่สุดของโลกเป็นปีที่สองติดต่อกันช่วยยกระดับข้าวของประเทศนี้ในตลาดโลก กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกข้าวให้ได้ 1 ล้านตันเป็นครั้งแรกภายในปี 2558. -- ภาพ : สมาคมผู้ส่งออกข้าวกัมพูชา.


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ข้าวหอม “ดอกมะลิ” ของกัมพูชาสามารถรักษาตำแหน่งข้าวดีที่สุดของโลกได้อีกปี จากการจัดประกวดระหว่างการประชุมประจำปีข้าวโลกครั้งที่ 5 ในฮ่องกง ระหว่างวันที่ 19-21 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเสียตำแหน่งติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ของข้าวหอมมะลิ 105 ของไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เป็นที่ต้องการของตลาด และขายได้ราคาดีมาก

ข้าวดอกมะลิ หรือ “ผกามะลิ” (Phka Malis) เป็นหนึ่งในข้าว 6 ชนิดที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวกัมพูชาส่งเข้าประกวดในปีนี้ นายกิม สาวุธ (Kim Savuth) ประธานสมาคมผู้ส่งออกฯ กล่าวกับสำนักข่าวกัมพูชา โดยไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดอีก

ตามรายงานในเว็บไซต์การประชุมข้าวโลก ข้าวหอมดอกมะลิ ครองตำแหน่งข้าวดีที่สุดในโลกร่วมกับข้าวแคลโรส (California Rose) จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีข้าว 2 ชนิดครองรางวัลชนะเลิศร่วมกัน

ข้าวดอกมะลิ ครองรางวัลชนะเลิศได้ครั้งแรกในการประกวดที่เกาะบาหลีเดือน ต.ค.2555 โดยสามารถเอาชนะข้าวหอมพม่า แชมป์ประจำปี 2554 ลงได้

ข้าวหอมมะลิ 105 ของไทย เสียตำแหน่งข้าวดีที่สุดของโลกให้แก่ข้าวพม่า ในการประชุมข้าวโลกที่จัดขึ้นในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ จึงเป็นความล้มเหลวติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ซึ่งเท่ากับเป็นการสูญเสียอันดับในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม ยังนับเป็นโชคดีสำหรับข้าวหอมมะลิไทย ที่ครองตลาดข้าวระดับพรีเมียม ในขณะที่กัมพูชา ผลิตข้าวหอมออกสู่ตลาดได้ยังไม่มาก

ปัจจุบัน กัมพูชามีผู้ส่งออกข้าว จำนวน 72 ราย จำหน่ายให้แก่ 57 ประเทศ และดินแดนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ โปแลนด์ ฝรั่งเศส มาเลเซีย ไทย เนเธอร์แลนด์ และจีน ปีนี้ตั้งเป้าจะส่งออกให้ได้ 400,000 ตัน โดยมีเป้าหมายที่ 1 ล้านตันครั้งแรกในปี 2558 สำนักข่าวของทางการกล่าว

ในกัมพูชา มีข้าวหอมอยู่ 4 ชนิดซึ่งเป็นข้าวระดับ “พรีเมียม” ของประเทศ แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งปลูก ปริมาณที่ผลิตได้ รวมทั้งปริมาณส่งออกของแต่ละชนิด

กัมพูชา เสนอขายข้าวผกามะลิในราคา 930 ดอลลาร์ต่อตัน ทั้งนี้ เป็นราคาประจำเดือน พ.ย.2556 ที่แสดงในเว็บไซต์สมาคมผู้ส่งออกข้าวฯ ขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิ 105 ของไทยขึ้นลงระหว่าง 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน

http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000145509

---------------------------------------------------------------


ข้าวพม่า โค่นแชมป์ "หอมมะลิ" จากไทย ครองสุดยอดข้าวอร่อยที่สุดในโลก

หนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัลรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากการประกวดสุดยอดข้าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานการประชุมข้าวโลก ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19-21 ต.ค. ที่เมืองโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม โดยในปีนี้ คณะกรรมการได้จากข้าวกว่า 30 สายพันธุ์ที่ส่งเข้าประชันงานประกวดข้าว โดยเกณฑ์การตัดสินข้าวจะพิจารณาจากรสชาติ สี และคุณภาพของตัวข้าวเป็นสำคัญ การประกวดที่เริ่มเมื่อ 2 ปีก่อน ภายใต้การสนับสนุนของไรซ์ เทรดเดอร์ส องค์การที่ปรึกษาข้าวระดับโลก โดยข้าวหอมมะลิของไทยได้ครองตำแหน่งสุดยอดข้าวไปครองติดต่อกันใน 2 ปีแรก ขณะที่ในปีนี้โดยตัดสินให้ข้าว "Pearl Paw San" จากประเทศพม่า ได้ตำแหน่งชนะเลิศไปครอง

นายไมเคิล ครอส พ่อครัวจากสถาบันด้านศิลปะการทำอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ จากเมืองซาเครเมนโต สหรัฐฯ กล่าวว่า คณะกรรมการตัดสินข้าวหลากหลายสายพันธุ์ โดยพิจารณาถึงคุณสมบัติของตัวข้าวเป็นหลัก โดยไม่มีส่วนผสมอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

ด้านนายเจเรมี สวิงเกอร์ ประธานสมาคมไรซ์ เทรดเดอร์ เปิดเผยว่า ผู้ผลิตข่าวทั่วโลกมักมีข้อถกเถียงกันมานานว่า ใครเป็นเจ้าของสายพันธุ์ข้าวที่มีรสชาติดีที่สุด และในบางชาติ นั่นอาจถือเป็นความภูมิใจของชาติ อีกทั้งข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ต่างก็มีความพิเศษเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร โดยข้าวสายพันธุ์ที่พลาดแชมป์ไปอย่างฉิวเฉียดในปีนี้คือ ข้าวพันธุ์ Venere ซึ่งเป็นข้าวเม็ดสีดำที่ปลูกในอิตาลี และข้าวหอมมะลิจากไทย

นายอดัม แทนเนอร์ หัวหน้าพ่อครัวจากโรงแรมเชอราตัน ไซง่อน และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน ระบุว่าเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมการตัดสินรสชาติข้าวที่มีสายพันธุ์ที่หลากหลายและมีคุณสมบัติแตกต่างกันตามแต่ละสายพันธุ์ ทำให้การตัดสินข้าวแตกต่างจากการชิมเครื่องดื่ม อย่างชา หรือไวน์ แต่โชคดีว่าทางงานประกวดมีเกณฑ์ในการตัดสินเป็นแนวทางให้คณะกรรมการ

ทั้งนี้ หนึ่งในเกณฑ์ที่สำคัญก็คือกลิ่นหอมเฉพาะของข้าวแต่ละสายพันธุ์ โดยข้าวพันธุ์ใดที่ยังคงรักษากลิ่นหอมเฉพาะนั้นๆ ไว้ได้หลังจากที่ผ่านการหุงให้สุกแล้ว ก็จะได้รับคะแนนอย่างท่วมท้นจากคณะกรรมการนอกเหนือไปจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ต้องบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ เมล็ดเต็มสมบูรณ์ และไม่มีสิ่งเจือปนใดๆ

ด้านสมาคมอุตสาหกรรมข้าวพม่าเปิดเผยว่า ข้าวสายพันธุ์ Pearl Paw San ซึ่งชนะในการประกวดครั้งนี้ เป็นข้าวที่มีลักษณะเม็ดกลมหนา โดยมีความยาวประมาณ 5-5.5 มม. และเมล็ดข้าวจะมีขนาดยาวมากขึ้นกว่าเดิม 3-4 เท่าตัวเมื่อผ่านการหุงเรียบร้อยแล้ว และยังสามารถรักษากลิ่นหอมเฉพาะไว้ได้

ครอสและแทนเนอร์ เห็นว่า การที่ข้าวสามารถขยายขนาดได้เมื่อผ่านการหุง ความแน่นของตัวข้าวเมื่อเคี้ยวและผิวสัมผัสที่ดี ล้วนส่งให้ข้าวPearl Paw San ของพม่าเฉือนเอาชนะข้าวหอมมะลิของไทย และข้าวสีดำสายพันธุ์ Venere ของอิตาลีได้อย่างฉิวเฉียด

http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=50295.0;wap2

-----------------------------------------------------------------------


ข้าวหอมมะลิไทย เสียแชมป์ ข้าวรสชาติดีที่สุดในโลก

MThai News : สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานข่าวการประกวดข้าวที่นครโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม ด้วยความร่วมมือจากการประชุมข้าวโลกโดยองค์กร ไรซ์ เทรดเดอร์ ซึ่งเป็นการประกวดครั้งที่ 3 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ข้าวหอมมะลิ ของไทย ตกเป็นที่ 2 อีกครั้ง ติดต่อกัน 2 ปีแล้ว ส่วนที่ 1ได้แก่ ข้าว Pearl Paw San ของ สหภาพพม่า

โดยในปีนี้มีข้าวกว่า 30 สายพันธุ์จากประเทศต่างๆทั่วโลกเข้าประกวด ใช้เกณฑ์รสชาติ, สี และคุณภาพ เป็นหลัก

นายไมเคิล ครอสส์ พ่อครัวจากวิทยาลัยศิลปะการอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ณ เมืองซาเครเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ในการตัดสินจะพิจารณาจากคุณสมบัติภายในตัวข้าวเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงชนิดของน้ำที่นำมาหุง อีกทั้งข้าวที่ยังคงกลิ่นหอมอยู่หลังจากหุงสุกแล้วจะได้คะแนนดีเป็นพิเศษด้วย ในทางตรงข้าม ข้าวที่มีฝุ่นผงเจือปน หรือเมล็ดหัก ก็จะเสียคะแนน

อย่างไรก็ตาม ข้าว Pearl Paw San ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศไปครองนั้น เป็นข้าวเมล็ดกลม มีความยาวเพียง 5.0-5.5 มิลลิเมตร แต่เมื่อหุงสุกจะพองขึ้น 3-4 เท่าและยังมีกลิ่นหอมน่ารับประทานทั้งก่อนและหลังปรุงอีกด้วย

Mthai News
http://news.mthai.com/thaiflood

-----------------------------------------------------------------------


ไทยเสียแชมป์โลกข้าวหอม แพ้พม่า, เขมร, สหรัฐฯ 5 ปีซ้อน

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้พบกับคุณเกษมสันต์ วีระกุล พิธีกรและนักจัดรายการชื่อดังทางโทรทัศน์ ซึ่งในระยะหลังๆ หันมาจัดรายการให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนจนใครๆ เรียกว่า “มิสเตอร์อาเซียน” ไปแล้วในขณะนี้

เนื่องจากเราเจอกันในโต๊ะอาหารก็เลยคุยกันถึงเรื่องข้าวปลาอาหาร และในที่สุดก็มาจบลงที่เรื่อง “ข้าวหอม” ซึ่งเป็นข้าวยอดนิยมของโลก และส่วนใหญ่ก็ปลูกในประเทศอาเซียนนี่แหละ
คุณเกษมสันต์ซึ่งไปกินข้าวในประเทศอาเซียนมาครบทุกประเทศ และประเทศละหลายๆ ครั้งบอกผมว่า ข้าวหอมของกัมพูชาทั้งหอมทั้งอร่อยมาก หากมีโอกาสไปกัมพูชา อย่าลืมสั่งมารับประทาน

ข้าวของเขาชื่อ “ผกาลำดวน” ไปประกวดข้าวหอมโลก คว้าตำแหน่งแชมป์มาแล้วถึง 3 ปีซ้อน

ในขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยคว้าแชมป์ได้ในการประกวด 2 ปีแรก ต่อมาข้าวพม่ามาแซงคว้าแชมป์ไปได้ปีหนึ่ง…จากนั้นก็เสร็จกัมพูชา

ผมฟังแล้วก็ใจหายประสาคนที่ “เชียร์ไทย” ในทุกเรื่อง ตั้งแต่เชียร์ฟุตบอลไทย เชียร์มวยไทย เชียร์นักกีฬาไทย ไปจนถึงเชียร์ข้าวไทย อาหารไทยและทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของคนไทย
ตอนเราเสียตำแหน่งแชมป์โลกส่งออกข้าวไปเมื่อ 2 ปีก่อน ผมเองก็เคยเสียใจและเสียดายมาหนหนึ่งแล้ว เมื่อทราบว่าเราต้องเสียแชมป์ข้าวอร่อยที่สุดในโลก คือ “ข้าวหอมมะลิ” ไปอีกเช่นนี้จะไม่ให้รู้สึกเสียใจอีกครั้งหนึ่งได้อย่างไรล่ะ

กลับถึงโรงพิมพ์ผมรีบเข้ากูเกิลค้นหาข่าวการประกวดข้าวหอมที่คุณเกษมสันต์เล่าให้ฟังโดยทันที ในที่สุดก็ไปเจอว่าเขามีการประกวดกันจริงๆ และจัดประกวดอย่างเป็นทางการมาถึง 7 ปีแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า ได้มีการประชุมใหญ่ของตัวแทนประเทศผู้ผลิตข้าวและค้าข้าว ประจำปีขึ้นตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา และหลังจากประชุมแล้วก็จะมีการประกวดข้าวหอมเป็นการส่งท้าย

ข้าวที่ชนะประกวดจะได้ตำแหน่งแชมป์ซึ่งเขาเรียกว่าตำแหน่ง The World’s Best Rice หรือข้าวที่ดีที่สุดในโลก…ไปครอบครอง

ผลปรากฏว่า ปี 2009 หรือ พ.ศ. 2552 ประชุมกันที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่าง 27-28 ต.ค. แชมป์ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย หรือ Thai Hom Mali ครับ !

ปี 2010 หรือ 2553 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ 12-14 ต.ค. จัดที่ภูเก็ต ผลแชมป์ได้แก่ Thai Hom Mali อีกครั้ง…

ปี 2011 หรือ 2554 จัดประชุมที่นครโฮจิมินท์ เวียดนาม 19-21 ต.ค. ปรากฏว่าข้าวหอมเมียนมาชื่อ Paw Son Rice กลายเป็นม้ามืดคว้าแชมป์ไปครองอย่างพลิกความคาดหมาย

ปี 2012 หรือ 2555 จัดที่บาหลี อินโดนีเซีย 26-28 พ.ย. แชมป์ได้แก่ ผกาลำดวน ข้าวหอมจากกัมพูชา

ปี 2013 หรือ 2556 จัดที่ฮ่องกง 19-21 พ.ย. แชมป์ได้แก่ ผกาลำดวน จากกัมพูชาอีกครั้ง

ปี 2014 หรือ 2557 จัดที่พนมเปญ 18-20 พ.ย. แชมป์เป็นของ ผกาลำดวน แห่งกัมพูชาเช่นเคย…นับเป็นแชมป์ 3 ปีติดกัน

ปี 2015 หรือ 2558 เมื่อปีกลายนี้ไปจัดที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย พลิกล็อกอีกแล้ว กลายเป็นข้าวหอมแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ Calrose คว้าแชมป์ไปครอง…นับเป็นครั้งแรกของข้าวจากสหรัฐอเมริกา

สรุปแล้วจริงอย่างที่คุณเกษมสันต์บอกผมครับ ข้าวหอมมะลิไทยได้แชมป์แค่ 2 ปีแรก จาก 7 ปีที่จัดแข่งขันจากนั้นก็ไม่ได้อีกเลย กัมพูชาเสียอีกที่ได้แชมป์ไปถึง 3 ปีซ้อน

ปีนี้ 2016 หรือ 2559 จะมาจัดกันที่โรงแรม เลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ระหว่าง 16-18 พ.ย.นี้ครับ ข้าวหอมมะลิไทยจะคว้าตำแหน่งแชมป์โลกกลับมาได้หรือไม่โปรดลุ้นกันด้วย

บอลไทยไปบอลโลกผมก็ลุ้นอยู่ครับ และยังเสียใจและรู้สึกโกรธๆ ผู้ตัดสินจีนที่เป่านกหวีดให้ลูกโทษซาอุฯ ทำให้ช้างศึกเราแพ้ไป 0-1 แต่ผมก็ยังพอทำใจได้ เพราะรู้ว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งประเทศไทยของเราคงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรในการพัฒนา

แต่แชมป์โลกข้าวอร่อยนั้นเหมือนอยู่แค่เอื้อม และเราก็คว้ามาครองได้บ้างแล้ว…ทำอย่างไรจะคว้ากลับมาได้อีกครั้ง และครองต่อไปอีกเรื่อยๆ ตราบนานเท่านาน…ฝาก “บิ๊กตู่” ไว้อีกเรื่องก็ละกัน.

“ซูม”

http://www.zoomzogzag.com/2016/09/hehapatee-5sep-2016/

------------------------------------------------------------------------


พฤกษากับเสียงเพลง
มานพ อำรุง

พฤกษาข้าวหอมมะลิไทย ไฉนต้องปรับ...มาสู้คู่แข่ง ?

? ข้าวไทย...อร่อย เปี่ยมคุณค่า

ข้าวไทยมีหลากหลายชนิด
แต่ละชนิด จะมีลักษณะเมล็ด สี และรสชาติอร่อย
และเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไป
แต่ที่สำคัญยิ่ง ข้าวไทยทุกชนิดเป็นธัญพืช
ที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ
อุดมด้วยแร่ธาตุ กากใยธรรมชาติ และ วิตามิน ?

ข้อความจากแผ่นพับ กล่าวถึง ?ข้าวหอมมะลิไทย? โดย กองบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

?...ข้าวหอมมะลิไทย เป็นที่ต้องการของตลาดในทุกชั้นราคา ทุกเกรด จึงเกิดปัญหาเรื่องการปลอมปน ทำให้ชื่อเสียงเรื่องคุณภาพข้าวหอมมะลิเสียไป กระทรวงพาณิชย์จึงได้กำหนดมาตรฐานข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออกว่า ต้องมีความบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 92 เพื่อรักษาคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยให้คงไว้ ซึ่งมาตรฐานด้านคุณภาพ ระดับพรีเมี่ยม แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เราส่งออกข้าวหอมมะลิได้น้อยลง เนื่องจากประเทศคู่ค้าไม่ได้ต้องการข้าวในมาตรฐานเดียวนี้ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาใหม่ คือลูกค้าสั่งข้าวหอมมะลิไปแล้วนำผสมเอง ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า นำข้าวชนิดใด จากประเทศใดไปผสม แล้วไปติดตราสินค้าว่าเป็น ข้าวหอมมะลิไทย เลียนแบบบรรจุภัณฑ์ ตราสินค้า ว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย?

ส่วนหนึ่งของข้อความ ในหัวข้อเรื่อง ? เกิดอะไรขึ้นกับตลาดข้าวหอมมะลิไทย ในทศวรรษที่ผ่านมา ?? โดย DIT กรมการค้าภายใน ในเอกสารพิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิ และข้าวตราคุณภาพดีเด่น ประจำปี 2559

ข้าว เป็นทั้งพืชอาหารหลักที่สำคัญของคนไทย และรวมถึงเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของประเทศ ข้าวเป็นพืชดั้งเดิมที่เกษตรกรไทยปลูกกันมานานหลายศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้การปลูกข้าวของไทยเป็นฐานของแหล่งประเพณี พิธีกรรม และวัฒนธรรมที่ดีงามต่อเนื่องกันมา อาชีพการทำนาในอดีตจึงเป็นอาชีพที่จำกัดและสงวนไว้สำหรับคนไทย ซึ่งมีประชากรไทยจำนวนมากที่ยึดการทำนาเป็นอาชีพหลัก เกิดเป็นแหล่งเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศ (ข้อความขึ้นต้นจาก คำนำ ในหนังสือ พลวัตเศรษฐกิจการผลิตข้าวไทย โดย อาจารย์สมพร อิศวิลานนท์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สิงหาคม 2552) และอีกส่วนหนึ่งของข้อความในบทนำจากเอกสารเล่มเดียวกันนี้ กล่าวไว้ว่า ?นับต่อนี้ไป อาจกล่าวได้ว่า สินค้าข้าวจะเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ เพราะเป็นฐานเศรษฐกิจของครัวเรือนในชนบท การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ทั้งทางด้านราคาข้าวและราคาพืชอื่นๆ รวมทั้งราคาปัจจัยการผลิตจะส่งผลกระทบต่อภาวะการผลิตข้าวไทยอย่างไร และประเทศไทยควรปรับตัวในแนวนโยบายการผลิตข้าว พืชอาหาร และพืชพลังงานอย่างไร ถึงจะเอื้อประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจข้าวของประเทศ เพื่อปรับตัวให้ทันกับความเป็นพลวัตของสถานการณ์ทางการตลาด ต่อภาวะวิกฤตอาหารของโลก และการสร้างความสมดุล ทั้งเพื่อการเป็นสินค้าส่งออก และการเป็นพืชอาหารที่สำคัญของประเทศ ?

ข้าวไทยเป็นข้าวคุณภาพดีที่ทั่วโลกเชื่อมั่น ไว้วางใจ เป็นอาหารหลักและรองของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยขึ้นอยู่กับวิถีการดำรงชีพ ประเพณี วัฒนธรรมในการบริโภคอาหารในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความต้องการข้าวต่างชนิดกัน อาทิ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ หรือข้าวหอมมะลิ GI ข้าวนึ่ง ข้าวคุณลักษณะพิเศษ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสังข์หยด ข้าวสินเหล็ก โดยข้าวเหล่านี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวที่สามารถผลิตและส่งออกสนองความต้องการของผู้บริโภคไปทุกภูมิภาคทั่วโลก เป็นสิ่งยืนยันคุณภาพข้าวไทย เป็นที่นิยม เชื่อมั่น และวางใจตลอดมา

การส่งออกข้าวไทยไปภูมิภาคต่างๆ ตามแต่ละชนิดข้าวทั่วโลก ได้แก่

- ข้าวนึ่ง ส่งออกไปประเทศแอฟริกาใต้ เยเมน ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย ไนจีเรีย ฯลฯ
- ข้าวขาว ส่งออกไปประเทศเม็กซิโก เปรู ชิลี แคมารูน ไนจีเรีย อิรัก อิหร่าน โมซัมบิก ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฯลฯ

- ข้าวลักษณะพิเศษ ส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา แอฟริกาใต้ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อิตาลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง ฯลฯ

- ข้าวหอมมะลิไทย ส่งออกไปประเทศออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน ซาอุดีอาระเบีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ เซเนกัล ตรินิแดด เปอร์โตริโก้ จาไมก้า สหรัฐอเมริกา แคนาดา โกตดิวัวร์ กานา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ

จากเอกสาร พิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิ และข้าวตราคุณภาพดีเด่น ประจำปี 2559 โดย DIT กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ 23 พฤษภาคม 2559 ได้บันทึกไว้ในหัวข้อเรื่อง ?เกิดอะไรขึ้นกับตลาด ?ข้าวหอมมะลิไทย? ในทศวรรษที่ผ่านมา?? ขออนุญาตสรุปเรื่องราวว่า ทำไม ประเทศไทยเราจะต้องปรับตัว เปลี่ยนยุทธวิธีมาสู้กับคู่แข่งการตลาดข้าว ซึ่งเราเคยเป็นผู้นำมาหลายทศวรรษ แต่ตอนนี้ประเทศเหล่านั้น จัดได้ว่ากลายมาเป็นคู่ปรับ คู่แข่ง ที่ต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์การตลาดโดยสรุป

กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิ อันดับ 1 ของโลกมาตลอด แต่ในระยะ 5 ปี มานี้ ส่วนแบ่งการตลาดของข้าวหอมมะลิไทย กำลังตกอยู่ในสถานการณ์เพลี่ยงพล้ำสถานภาพเป็นรอง ถูกฉกชิง และแทนที่ด้วยข้าวสายพันธุ์กำเนิดเดียวกัน กับข้าวหอมมะลิ ที่หลายประเทศส่งเข้ามาแข่งขัน ทำให้ ?ข้าวหอมมะลิ? อาจจะไม่ใช่ข้าวของคนไทย และของประเทศไทย เพียงหนึ่งเดียวดังที่ผ่านมา หรือต่อไป เนื่องจากข้าวหอมในตลาดโลกแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ข้าวบาสมาติ (Basmati rice) ซึ่งมีประเทศอินเดีย และปากีสถาน เป็นผู้ผลิตหลัก เป็นที่นิยมบริโภคอย่างมาก ในตลาดแถบเอเชียใต้และตะวันออกกลาง ส่วนข้าวหอมอีกกลุ่มหนึ่ง ถูกเรียกว่า ข้าวหอมมะลิ (Jasmine rice) มีแหล่งสำคัญที่เพาะปลูกอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน โดยปัจจุบัน มีประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญคือ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา

ข้าวหอมมะลิไทย กับ ข้าวบาสมาติ แม้ว่าจะเป็นกลุ่มข้าวหอมเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกัน โดยไม่ถือว่าเป็นสินค้าทดแทนกันได้ เพราะข้าวหอมมะลิมีค่าอมิโลสต่ำกว่าข้าวหอมบาสมาติ ทำให้ข้าวหอมมะลิมีรสชาติดี นุ่มนวล จึงเป็นที่นิยมบริโภคในกลุ่มผู้บริโภคในเอเชียตะวันออก และสหรัฐอเมริกา

ส่วนข้าวบาสมาติ มีค่าอมิโลสระดับปานกลาง และสูงกว่าข้าวหอมมะลิไทย ทำให้เมื่อหุงสุกแล้ว ข้าวมีลักษณะร่วน ไม่นุ่มเหมือนข้าวหอมมะลิ ข้าวบาสมาตินิยมบริโภคกันในกลุ่มเอเชียใต้ และตะวันออกกลาง ข้าวทั้งสองชนิดจึงมีลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างกันของตัวสินค้าข้าว และลักษณะการนำไปปรุงอาหาร

ประเทศไทยส่งออกข้าวหอมมะลิ ในชื่อ ?Thai Hom Mali Rice? เป็นข้าวที่มีมูลค่าการส่งออกสูง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ถ้าเอ่ยถึงอดีต ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีการส่งออกข้าวหอมมะลิ ทำให้มีชื่อเสียงในเวทีการค้าโลก เป็นที่รู้จัก ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลก โดยตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิไทย เดิมอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง ก่อนจะขยายตัวไปตลาดสหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกาใต้

จากข้อมูลของ The Rice Trader ระบุปริมาณการค้าข้าวของโลก โดยเฉลี่ยประมาณ 40 ล้านตันข้าวสาร โดยในจำนวนดังกล่าวมีข้าวหอมที่เรียกกันว่า หอมมะลิ อยู่ 3 ล้านตันข้าวสาร ดูเหมือนจำนวนไม่มาก แต่ด้วยราคาซื้อ-ขาย ข้าวหอมมะลิในช่วงที่ราคาสูง เคยมากกว่าพันเหรียญสหรัฐ ต่อตัน จึงเป็นข้าวที่มีราคาสูงเป็น อันดับที่ 2 รองจากข้าวหอมกลุ่มบาสมาติ และข้าวหอมมะลิยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก จึงต้องหาคำตอบว่า ประเทศไทยผู้ซึ่งเคยเป็นแชมป์ตลาดข้าวหอมมะลิโลก จะยังคงรักษา หรือกลับมาดำรงตำแหน่งแห่งศักดิ์ศรีนี้ต่อไปได้หรือไม่ เพราะเป็นเวทีแห่งศักดิ์ศรีที่จะทวงคืนแชมป์ข้าวหอมมะลิไทย ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข้าวไทย จึงต้องคำนึงถึงผลผลิตเชิงเศรษฐกิจ ทั้งปริมาณและคุณภาพ เพื่อจะนำภาพลักษณ์ระดับพรีเมี่ยมกลับมาในระบบอีกต่อไป

ประเทศไทย กำลังเผชิญกับศึกรอบทิศในตลาดข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล และกำลับขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น เป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวไทยจะต้องคำนึงถึงการกำหนดกลยุทธ์ในการแข่งขัน เพื่อจะได้รีบหาคำตอบ ว่าจะดึงตลาดข้าวหอมของไทยในเวทีตลาดโลกกลับคืนมาได้อย่างไร ประกอบกับปัจจุบัน ลูกค้ารายสำคัญของข้าวหอมมะลิไทย อย่าง สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ ต่างก็มีปริมาณการค้าที่ลดลง เช่นเดียวกับตลาดในแถบแอฟริกา ที่เคยเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญของไทยในกลุ่มข้าวหอมหัก ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคไปเป็นการบริโภคข้าวหอมเต็มเมล็ดเกรดล่าง ซึ่งนำเข้าจากประเทศเวียดนามแทน และอีกปัจจัยที่มีผลให้การส่งออกข้าวหอมมะลิไทยมีปริมาณลดน้อยลง คือ มาตรฐานข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออก ถูกระบุชนิดและคุณภาพข้าวตามความต้องการของลูกค้า และด้วยความที่ข้าวหอมมะลิไทยเป็นที่ต้องการของตลาดในทุกชั้นราคา ทุกเกรด จึงเกิดปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิดังที่กล่าวไว้ในช่วงแรกของคำขึ้นต้นมาแล้ว

ในปี พ.ศ. 2558 มีการจัดเกรดโรงสีข้าวโดยการติดดาว โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินโครงการจัดเกรดโรงสีข้าวด้วยการติดดาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเกี่ยวกับการผลิต การแปรรูป การค้าข้าว ผู้ประกอบการโรงสีข้าวของประเทศไทยให้มีการบริหารจัดการทั้งด้านกระบวนการผลิต การดูแล และเก็บสินค้าข้าว จนถึงการรับซื้อผลผลิต และจำหน่ายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวของประเทศไทย และพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน การส่งออกข้าว ในขณะที่ประเทศคู่แข่งในประชาคมอาเซียน อาทิ ประเทศเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ก็ได้มีการพัฒนาอย่างเป็นลำดับ เนื่องจากเป็นประเทศคู่แข่งในการส่งออกข้าวหอมประเภทต่างๆ อย่างสำคัญยิ่ง

สำหรับการพัฒนาด้านการผลิตแปรรูปจากโรงสีข้าวให้มีระบบมาตรฐาน การผลิตข้าวสารที่มีความปลอดภัยในการบริโภค และการส่งออกซึ่งเป็นการผดุงรักษาชื่อเสียงและคุณภาพต่อประเทศลูกค้าผู้บริโภคนั้น ก็จะมีผลจากระบบมาตรฐาน GMP (GOOD MANUFACTURING PRACTCE ) และ HACCP (HAZARD ANALYSIS CRITICAL CONTROL POINT) จึงถือว่าเป็นกลยุทธ์ตามยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนเพื่อนำมาสู่การสู้กับคู่แข่งเป็นเบื้องต้นเช่นกัน

มีรายละเอียดจากเอกสารในพิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิ และข้าวตราคุณภาพดีเด่น ประจำปี 2559 ได้กล่าวถึงการเกิดอะไรขึ้นกับข้าวหอมมะลิไทย กับหัวข้อเรื่อง ?เมื่อคู่แข่งปรับ...ถึงเวลาเรา (ต้อง) เปลี่ยน? โดยวิเคราะห์ประเทศคู่แข่งที่จะมาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดข้าวหอมของไทยกันอย่างคึกคัก เช่น ประเทศเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะขออนุญาตนำเสนอรายละเอียดจากข้อมูลในเอกสารฉบับดังกล่าวว่า...ไฉนต้องปรับ...มาสู้คู่แข่ง? ในฉบับหน้าต่อไป



เพลง ชีวิตชาวนา
ศรเพชร ศรสุพรรณ

ชีวิตเกษตรลูกชาวนาไทย เกิดจากปู่ย่าตายายด้วยใจสู้กับปัญหา ตากแดดตากฝน อาบเหงื่ออาบทั้งน้ำตา หน้าสู้ดินหลังสู้ฟ้า เกิดมาเป็นชาวนาไทย

ตื่นเช้าต้องรีบลุกจากที่นอน เก็บเสื่อเก็บมุ้งเก็บหมอน จากจรสู่ทุ่งนาไกล แม้แดดจะร้อน แม้ฝนเปียกปอนเพียงใด แต่ใจยังคงสู้ไหว ปลูกข้าวเรื่อยไปเพื่อไทยทุกคน

แม้เหนื่อยเพียงไหน ถ้าขายราคาตกต่ำ ถึงแม้เจ็บช้ำ แต่ใจก็ยังอดทน เหนื่อยใจ เหนื่อยกาย จากรายได้ผลิตผล ชีวิตชาวนาหลายคน เจ็บช้ำหลายหน ไม่มีคนรู้

ชีวิตเกษตรลูกชาวนาไทย เกิดจากปู่ย่าตายาย สืบสานไว้เป็นดั่งครู จะเป็นอย่างไรอยากจะให้ชาวไทยได้รู้ จะขอทำนาต่อสู้ เพื่อให้ได้รู้ ชีวิตไทย จะขอทำนาเรื่อยไป เพื่อพี่น้องไทยได้กินข้าวดี



บทเพลงมุ่งมั่น ยอมรับในสัมมาชีพ ไม่ได้บ่นน้อยใจ แต่บอกความในใจที่สู้ทน ยลยิน สู้ดินและฟ้า เทิดทูนบูชาความรู้ที่สืบสานจากบรรพบุรุษ ไม่ยี่หระต่อคำว่าเป็น ? ชาวนา ?

มาถึงยุคนี้ ซื้อขายข้าวคราวละเป็นแสนเป็นล้านตัน ปลูกข้าวได้มากเพียงใด ก็ส่งของดีออกขายเมืองนอก เพราะคำว่า "ส่งออก" คือ เศรษฐกิจของชาติ โดยอาจจะลืมว่า "เศรษฐกิจครัวเรือน" คืออะไร สักกี่ล้านตันข้าวสาร หรือกี่ล้านโกดังข้าวเปลือก ที่เป็นของพ่อค้า ชาวนาก็ยังคงยินดีเลือกทำนาปลูกข้าวเรื่อยไป เพื่อพี่น้องไทยได้กินข้าวหอมมะลิอย่างดี แต่ตัวชาวนานี้ ขอเพียงมี "ข้าวสารกรอกหม้อ" ก็พอที่จะมีชีวิตสู้ต่อไป

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05026010759&srcday=&search=no

----------------------------------------------------------------



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©