-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - กาฝาก
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

กาฝาก

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
suthep
หนาวดึ่ง
หนาวดึ่ง


เข้าร่วมเมื่อ: 17/10/2009
ตอบ: 1

ตอบตอบ: 17/10/2009 2:00 pm    ชื่อกระทู้: กาฝาก ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ใช้ยาอะไรกำจัดกาฝากที่ขึ้นตามต้นไม้ ที่หลังบ้านเป็นสวนและมีกาฝากขึ้นผมกลังงูจะเข้ามาภายในบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
Aorrayong
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009
ตอบ: 869

ตอบตอบ: 17/10/2009 4:57 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ที่มา คัดลอกจาก http://boonanimal.blogspot.com/2009/05/blog-post.html

ต้นกาฝาก

หัวข้อ : การแพร่พันธุ์ของกาฝาก
ข้อความ : ข่าวสารชมรมเบิร์ดไลฟ์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 6 เมษายน-มิถุนายน 2544 หน้า 4-6

นกกับต้นไม้ต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมาเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 160,000,000 ปีแล้ว เพราะนกชนิดแรกของโลก คือ อาร์คีออพเทริกซ์ (Archaeopteryx)ได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก โดยวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลานจำพวกหนึ่งที่ขึ้นไปอาศัยและหากินอยู่บน ต้นไม้ และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต้นไม้ก็ให้ที่พักอาศัย หลบแดด หลบฝน และที่หลับนอน และที่ทำรังวางไข่แก่นกหลายชนิด

ต้นไม้ยังเป็นที่อยู่อาศัยและหากินของหนอน แมลง และสัตว์เล็กๆอื่นๆซึ่งเป็นอาหารของนกต่างๆ และยังออกดอกออกผลให้นกหลายชนิดได้ดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้และกินเนื้อผลไม้ เป็นอาหาร ต้นไม้จึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับนก จึงมีคุณค่ามากมายมหาศาลแก่นกนานาชนิด

นกมีคุณประโยชน์ต่อต้นไม้มากพอๆกัน นกช่วยกำจัดหนอน แมลง และสัตว์เล็กๆอื่นๆที่เข้ามารบกวนกัดกินใบไม้และเนื้อไม้ ปีหนึ่งๆศัตรูพืชเหล่านี้นับล้านๆตัวถูกทำลายลงโดยนกนานาชนิด ทั้งนี้เพราะนกกินแมลงตัวหนึ่งๆ ต้องใช้อาหารประเภทโปรตีนในวันหนึ่งๆ มากกว่าน้ำหนักตัวของมันเสียอีก เนื่องจากนกเป็นสัตว์ไม่อยู่สุข ต้องกระโดดหรือบินไปไหนมาไหนอยู่ตลอดเวลา ทำให้สูญเสียพลังงานไปมาก จึงจำเป็นที่จะต้องหาอาหารประเภทโปรตีนมาชดเชยให้พอเพียงต่อความต้องการของ ร่างกาย

นกยังให้ประโยชน์แก่ต้นไม้โดยการช่วยแพร่พันธุ์ต้นไม้จากที่หนึ่งไปยังอีก ที่หนึ่ง ทั้งนี้เพราะนกที่กินผลไม้ เช่น นกเงือก นกขุนทอง นกโพระดก และนกเปล้า กินผลไม้เข้าไปทั้งผลรวมทั้งเมล็ดด้วย แต่เมล็ดผลไม้นั้นย่อยไม่ได้ จึงถูกถ่ายออกมาพร้อมกับมูลของนก เมื่อนกไปถ่ายมูลไว้ที่ใดเมล็ดผลไม้จึงงอกขึ้นที่นั่น ทำให้ต้นไม้แพร่พันธุ์ไปอยู่ ณ ที่ต่างๆได้

ด้วยเหตุนี้ นกจึงมีส่วนช่วยในการปลูกป่าเป็นอย่างมาก ป่าละเมาะบางแห่งที่เต็มไปด้วยต้นตะขบบ้าน ต้นมะขามเทศ ต้นกระถิน หรือต้นก้างปลา ล้วนเกิดจากการปลูกของนกทั้งสิ้น ทางด้านตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกา มีป่าต้นโอ๊คขาวอันกว้างใหญ่ อย่างไม่ต้องสงสัย ป่าแห่งนี้ถูกปลูกขึ้นโดยนกเช่นกัน และนกที่ปลูกป่าแห่งนี้ คือ นกบลูเจ (Blue Jay ;Cyanocitta cristata) ซึ่งเป็นนกในวงศ์อีกา (Family Corvidae) กาฝาก พืชเบียนบนคาคบไม้

กาฝาก (Mistletoe) พืชใบเลี้ยงคู่ในวงศ์ Loranthaceae ในอันดับ Santalales ก็เช่นเดียวกับต้นไม้ที่มีผลเหล่านั้น ต้องอาศัยนกเป็นผู้แพร่พันธุ์ให้ แต่ที่แตกต่างไปจากต้นไม้เหล่านั้นก็คือ ถ้าหากขาดนกแล้วต้นกาฝากไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ด้วยตัวของมันเอง มันจะต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด นอกจากกาฝากจะต้องพึ่งพานกในการช่วยแพร่พันธุ์แล้ว กาฝากยังต้องพึ่งพาต้นไม้อื่นในการดำรงชีวิตอีกด้วย เพราะมันมิได้เกาะอยู่บนต้นไม้อื่นเฉยๆแบบกล้วยไม้ ว่านไก่แดง หรือนมตำเรีย ซึ่งเป็นพืชอิงอาศัย (epiphyte) แต่มันจะต้องแทงรากเข้าไปในท่อลำเลียงน้ำและแร่ธาตุของต้นไม้อื่นนั้น เพื่อแย่งเอามาเป็นอาหารของมัน เพราะกาฝากเป็นพืชเบียน (parasite) บนคาคบไม้ จึงแตกต่างจากกล้วยไม้และพืชอิงอาศัยอื่นๆ

กาฝากเป็นพืชที่มีเนื้อไม้แข็ง มีใบเขียวชอุ่ม และผลัดใบตามฤดูกาล จากลักษณะของลำต้น กาฝากเป็นไม้พุ่มที่มีกิ่งก้านสาขามากมาย มีใบเป็นใบเดี่ยวที่ติดเรียงแบบตรงกันข้าม (opposite) ขอบใบเรียบ เนื้อใบเหนียวหนา บางชนิดมีใบกว้าง แต่บางชนิดมีใบแคบ

ต้นกาฝากจะขึ้นงอกงามอยู่บนต้นไม้อื่นราวกับว่ามันเป็นกิ่งก้านของต้นไม้ต้น นั้น ดูเผินๆแล้วสวยแปลกตาดี โดยเฉพาะในเวลาที่ต้นกาฝากออกดอกเต็มต้น เพราะดอกกาฝากมีสีสวยเป็นสีแดง หรือสีส้ม ในเวลาที่ออกดอกเต็มต้น จึงทำให้ต้นไม้ที่มันเกาะกินอยู่ดูแดงดูส้มไปด้วย ช่วยเพิ่มสีสันให้กับต้นไม้ในป่า แต่ถ้าต้นไม้ต้นใดมีต้นกาฝากขึ้นงอกงามอยู่มากเกินไป ต้นไม้ต้นนั้นจะเฉาลงหรือไม่สมบูรณ์ และอาจตายลงได้ เมื่อต้นไม้ต้นนั้นตายลง ต้นกาฝากต้นนั้นก็ต้องตายลงเช่นกัน

ในช่วงเดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม ต้นกาฝากจะออกดอกออกผล ซึ่งล่อใจเหล่านกที่ชอบกินน้ำหวานจากดอกไม้และเนื้อผลไม้ให้เข้ามาเยี่ยม เยียน ราวกับว่าต้นกาฝากคือ ภัตตาคารชั้นดี ดอกกาฝากมีทั้งที่เป็นดอกเดี่ยวและดอกช่อที่ติดกันเป็นกลุ่ม(dichasium) ขึ้นอยู่กับชนิดของกาฝาก เมื่อนำดอกกาฝากมาพิจารณาดู จะเห็นว่า ดอกกาฝากมีกลีบเรียงเป็น 2 วงชั้น กลีบใน (petal) มี 2-3 กลีบ กลีบนอก (sepal) มี 2-3 กลีบเช่นกัน กลีบดอกอาจแยกกัน หรือติดกันที่โคนกลีบกลายเป็นหลอดก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของกาฝาก

กาฝากบางชนิดมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ภายในดอกเดียวกัน จึงผสมเกสรกันเองได้ แต่กาฝากบางชนิดมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่กันคนละดอกแต่อยู่บนต้นเดียว กัน แต่กาฝากบางชนิดมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่กันคนละดอกและคนละต้นด้วย จึงต้องอาศัยนกที่ดูดกินน้ำหวานจากดอกกาฝาก เช่น นกกินปลี (Sunbird) และนกเขียวก้านตอง (Leafbird) ช่วยผสมเกสรให้ จึงจะติดผลได้

ในขณะที่นกเหล่านี้สอดจะงอยปากเข้าไปดูดกินน้ำหวานในกรวยดอกกาฝาก ละอองเกสรตัวผู้จะติดตามปากและขนบริเวณหน้าผากของนก เมื่อนกเหล่านี้สอดจะงอยปากเข้าไปดูดกินน้ำหวานในดอกกาฝากดอกอื่น ละอองเกสรตัวผู้จึงร่วงหล่นและผสมกับเกสรตัวเมียในดอกกาฝากดอกนั้น ทำให้กาฝากต้นนั้นติดผลได้ ในทางชีววิทยาถือว่าเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างนกกับต้นกาฝาก แบบชั่วคราว (mutualism without continuous contact)

ผลของกาฝากมักมีสีขาว มีเปลือกเหนียว หรือแข็ง ภายในมีเมล็ดเพียงเมล็ดเดียว ซึ่งมีเมือกเหนียวๆห่อหุ้มไว้ เมือกเหนียวๆ นี้เองที่ทำให้เมล็ดกาฝากเกาะติดอยู่บนกิ่งไม้ได้นานๆและเหนียวแน่น จนกว่าจะงอกเป็นต้นกาฝากเล็กๆ มีรากเจาะดูด (haustoria) แทงเข้าไปในท่อลำเลียงน้ำและแร่ธาตุของต้นไม้ได้

อย่างไรก็ดี เมล็ดกาฝากไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้เอง ถ้าหากผลสุกจนแก่จัด จะร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน ถึงจะร่วงหล่นลงบนกิ่งไม้บ้าง แต่ผลนั้นยังมีเนื้อผลไม้หุ้มเมล็ดอยู่ จึงไม่มีวันที่เมล็ดกาฝากจะไปติดอยู่ตามกิ่งไม้ต่างๆได้เลย นอกจากจะอาศัยนกเท่านั้น เพราะนกจะกินผลกาฝากเข้าไปเป็นอาหาร แล้วถ่ายเมล็ดกาฝากออกมาพร้อมกับมูลของมัน นกที่ช่วยแพร่พันธุ์ให้กับต้นกาฝาก คือ นกกาฝาก (Flowerpeckers) นั่นเอง นกกาฝาก ผู้ช่วยแพร่พันธุ์ต้นกาฝาก

นกกาฝาก เป็นนกขนาดเล็ก มีขนาดพอๆกับนกกินปลี แต่เดิมนักสัตวศาสตร์เคยจัดนกกาฝากไว้ในวงศ์ Dicaeidae แต่ในปัจจุบัน จากการวิเคราะห์ทางชีวเคมี โดยการตรวจ ดีเอ็นเอ (DNA) ทำให้นักปักษีวิทยาทราบว่า นกกาฝากมีเชื้อสายใกล้ชิดกับนกกินปลีมากกว่านกในวงศ์ใด จึงได้จัดนกกาฝากไว้ในวงศ์เดียวกับนกกินปลี คือ วงศ์ Nectariniidae แต่แยกนกกาฝากไว้ในเหล่า Dicaeini ซึ่งแยกออกได้เพียง 2 สกุล เท่านั้น สกุล Prionochilus มี 6 ชนิด ซึ่งพบในประเทศไทย 3 ชนิด และสกุล Dicaeum มี 38 ชนิด ซึ่งพบในประเทศไทย 7 ชนิด

นักดูนกคงจะรู้จักนกกาฝากกันดี โดยเฉพาะนกสีชมพูสวน(Scarlet-backed Flowerpecker; Dicaeum cruentatum) ซึ่งเป็นนกกาฝากชนิดเดียวที่พบในกรุงเทพฯ มันมีรูปร่างป้อมๆ คอสั้น ปากสั้น และสันปากบนโค้งลงเล็กน้อย ถ้ามองจากทางด้านบนจะเห็นว่าโคนปากของมันกว้างคล้ายรูปสามเหลี่ยม แต่ถ้านำแว่นขยายมาส่องดูที่ปากของมัน จะเห็นว่าตอนปลายปากประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวปาก ทั้งปากบนและปากล่าง ที่ขอบปากจะหยักเป็นฟันเลื่อย แต่เล็กมาก มีประโยชน์ในการคาบผลกาฝากและผลไม้เล็กๆอื่นๆเพื่อปลิดออกจากกิ่ง

ปีกของนกกาฝากค่อนข้างสั้น และปลายปีกมนกลม ขนปลายปีก (primaries) มี 10 เส้น หางสั้นจุนจู๋และปลายหางตัดตรง ประกอบด้วยขนหาง 12 เส้น มันมีขาสั้นและนิ้วเท้าเล็ก แต่แข็งแรงดี ลิ้นของนกกาฝากสั้น แต่ว่าปลายลิ้นมีลักษณะพิเศษ ซึ่งเปลี่ยนไปให้เหมาะกับการใช้ดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้ เพราะตอนปลายของลิ้นนั้น ขอบทั้งสองข้างของลิ้นจะม้วนเข้าเป็นหลอด 2 หลอด คล้ายกับลิ้นของนกกินปลี ด้วยเหตุนี้มันจึงชอบกินน้ำหวานจากดอกไม้เช่นเดียวกับนกกินปลี แต่ชอบกินน้ำหวานจากดอกกาฝากมากกว่า

ในเวลาที่ต้นกาฝากออกดอก นกกาฝากจึงชอบบินเข้าบินออกจากกอกาฝาก เพื่อคอยดูดกินน้ำหวานจากดอกกาฝาก แต่มันก็ชอบจิกกินแมลงตัวเล็กๆตามกิ่งก้านและใบกาฝากด้วย ชาวผิวขาวเรียก นกกาฝาก ว่า Flowerpecker ซึ่งแปลว่า ผู้จิกดอกไม้ เพราะว่ามันชอบใช้จะงอยปากแหย่ลงไปดูดกินน้ำหวานในดอกไม้ และจิกกินแมลงตัวเล็กๆในกรวยดอกไม้นั่นเอง

ถึงแม้นกกาฝากจะกินน้ำหวานจากดอกไม้และแมลง แต่อาหารโปรดของมันคือ ผลกาฝาก ในเวลาที่ต้นกาฝากออกผล นกกาฝากจึงพากันมาป้วนเปี้ยนอยู่ในกอกาฝาก และบินเข้าบินออกจากกอกาฝากเป็นว่าเล่น เพื่อจิกกินผลของกาฝาก ซึ่งส่วนมากนกกาฝากจะกลืนกินผลกาฝากเข้าไปทั้งผล เนื้อนิ่มๆรอบๆเมล็ดจะถูกย่อยเป็นอาหารของนก แต่เมล็ดกาฝากซึ่งไม่ถูกย่อย จะถูกถ่ายออกมาพร้อมกับมูลของนก

เนื่องจากเมล็ดกาฝากมียางเหนียวๆคลุมไว้อีกชั้นหนึ่ง จึงทำให้นกกาฝากถ่ายมูลซึ่งมีเมล็ดกาฝากออกมาได้ยากมาก และนกกาฝากเองก็รู้สึกรำคาญอีกด้วย ในเวลาถ่ายมูล มันจึงต้องทำก้นกระดกต่ำๆซ้ำๆกันหลายๆครั้ง ราวกับว่าจะเช็ดก้นของมันกับกิ่งไม้ จึงทำให้เมล็ดกาฝากที่ถูกถ่ายออกมาพร้อมกับมูลของนก ติดอยู่ตามกิ่งไม้ ซึ่งในเวลาต่อมา จะเจริญงอกงามเป็นต้นกาฝากเกาะกินต้นไม้นั้นต่อไป

ด้วยเหตุนี้ ต้นกาฝากจึงแพร่พันธุ์ไปได้เรื่อยๆ เพราะนกกาฝากช่วยแพร่พันธุ์ให้นั่นเอง แต่นกกาฝากก็ได้น้ำหวานจากดอกกาฝากและผลกาฝากเป็นอาหาร เป็นการตอบแทน มันจึงมีอาหารโปรดของมันอยู่เรื่อยๆโดยไม่อดอยาก เพราะมันช่วยสร้างแหล่งอาหารให้กับตัวของมันนั่นเอง นกกาฝากและต้นกาฝากจึงต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันจนตลอดชีวิต ถ้าขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องสูญพันธุ์ไป ในทางชีววิทยา เรียกความสัมพันธ์ประเภทนี้ว่า การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันแบบถาวร (mutualism with continuous contact)
ถึงแม้ว่านกกาฝากหลายชนิดจะชอบกินผลกาฝาก แต่วิธีกินผลกาฝากของนกกาฝากแต่ละชนิดอาจแตกต่างกันไปบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะปากของนก นกกาฝากใน สกุล Prionochilus ซึ่งพบในประเทศไทย 3 ชนิด แต่ชนิดที่พบบ่อยที่สุด คือ นกกาฝากอกเหลือง (Yellow-breasted Flowerpecker; P. maculatus) นั้น มีปากค่อนข้างหนา มันจึงกินผลกาฝาก โดยใช้ปากปลิดผลกาฝากให้หลุดออกจากกิ่ง แล้วค่อยๆขยับปากบีบผลกาฝากให้เมล็ดกาฝากแยกออกจากเนื้อนิ่มๆรอบๆเมล็ด แล้วจึงกลืนกินเฉพาะเนื้อของผลกาฝาก
สำหรับเมล็ดกาฝากซึ่งมียางเหนียวๆหุ้มอยู่ จะยังคงติดอยู่ที่ปากของนก ซึ่งนกจะต้องเอาปากของมันไปป้ายกับกิ่งไม้เพื่อให้เมล็ดกาฝากนั้นหลุดออกจาก ปาก เมล็ดกาฝากที่ติดอยู่ที่กิ่งไม้นั้น ในเวลาต่อมาจะงอกงามเป็นต้นกาฝากเกาะกินต้นไม้นั้นต่อไป

นกกาฝากใน สกุล Dicaeum ซึ่งพบในประเทศไทย 7 ชนิดนั้น ส่วนใหญ่จะมีปากบอบบาง จึงต้องกลืนกินผลกาฝากเข้าไปทั้งผล ยกเว้นนกกาฝากบางชนิด เช่น นกกาฝากปากหนา (Thick-billed Flowerpecker; D. agile) ซึ่งมีปากหนาสมชื่อ จะใช้ปากบีบผลกาฝากเพื่อแยกเมล็ดกาฝากออกจากเนื้อรอบๆเมล็ด แล้วกลืนกินเฉพาะเนื้อรอบๆเมล็ดเช่นเดียวกับนกกาฝากใน สกุล Prionochilus

เนื่องจากนกกาฝากเลี้ยงชีวิตด้วยผลกาฝาก กระเพาะส่วนท้าย (gizzard or ventriculus) จึงอยู่ค่อนไปทางด้านข้าง และมีกล้ามเนื้อหูรูดทำหน้าที่ปิดเปิดช่องทางผ่านด้วย เพื่อให้ผลกาฝากที่นกกาฝากกลืนเข้าไปผ่านจากหลอดอาหารไปยังลำไส้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระเพาะส่วนท้าย จึงทำให้นกกาฝากสามารถย่อยเนื้อผลกาฝากและถ่ายเมล็ดกาฝากออกมาได้รวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ถ้านกกาฝากกินแมลงหรือแมงมุมเข้าไปบ้าง แมลงหรือแมงมุมนี้ จะผ่านเข้าไปในกะเพาะส่วนท้ายเพื่อย่อยเสียก่อน แล้วนกจึงสำรอกเปลือกของแมลงหรือแมงมุมที่ย่อยไม่ได้ออกมาเป็นก้อนเล็กๆทาง ปาก
ถึงแม้ว่าน้ำหวานจากดอกกาฝากและเนื้อนิ่มๆรอบผลกาฝากจะเป็นแหล่งน้ำตาล (glucose) ที่ย่อยง่ายที่สำคัญยิ่งของนกกาฝาก เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกายของนกกาฝากเป็นอย่างมากก็ตาม แต่นกกาฝากก็จำเป็นต้องกินน้ำหวานและผลของพืชชนิดอื่นๆบ้าง และยังต้องกินแมลงต่างๆ เช่น เพลี้ยแป้ง (aphis) และเพลี้ยกระโดด (leafhopper) รวมทั้งแมงมุมด้วย เพื่อเพิ่มโปรตีนให้กับร่างกาย นกเฟนโนเพพล่า ผู้แพร่พันธุ์กาฝากในสหรัฐอเมริกา

ในทวีปอเมริกาเหนือ ในประเทศสหรัฐอเมริกาทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเขตทะเลทรายและกึ่งทะเลทราย แม้ว่าจะมีต้นไม้อยู่น้อยต้นและน้อยชนิดด้วย แต่ก็มีต้นกาฝากเกาะกินต้นไม้เหล่านี้เหมือนกัน แต่นกที่ช่วยแพร่พันธุ์ให้กับต้นกาฝากเหล่านี้ไม่ใช่นกกาฝาก เพราะนกกาฝากแพร่กระจายอยู่ในทวีปเอเชียตอนใต้เรื่อยไปจนถึงทวีปออสเตรเลีย เท่านั้น แต่เป็นนกเฟนโนเพพล่า (Phainopepla; Phainopepla nitens) ซึ่งเป็นนกในวงศ์ Bombycillidae

นกเฟนโนเพพล่านี้มีขนทั่วทั้งตัวเป็นสีดำปนน้ำเงินเป็นมันเงางาม และมีขนหงอนตั้งชันขึ้นคล้ายๆกับขนหงอนของนกปรอดเหลืองหัวจุก (Black-crested Bulbul) ด้วย มันชอบกินผลกาฝากเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับนกกาฝาก โดยจะใช้ปากปลิดผลกาฝากออกมาจากต้น แล้วขยับบีบให้เนื้อผลกาฝากแยกออกจากเมล็ดกาฝาก

เนื่องจากเมล็ดกาฝากมียางเหนียวๆหุ้มอยู่ จึงติดอยู่ที่ปากของนก ทำให้นกเกิดความรำคาญ ต้องเอาปากไปเช็ดกับกิ่งไม้ที่มันเกาะ จนเมล็ดกาฝากติดอยู่กับกิ่งไม้ แล้วงอกงามเป็นต้นกาฝากเกาะกินต้นไม้นั้นในเวลาต่อมา ถ้าหากไม่มีนกชนิดนี้แล้ว เขตทะเลทรายและกึ่งทะเลทรายทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา คงไม่มีต้นกาฝากเป็นแน่ เมื่อดูเผินๆแล้ว ต้นกาฝากเป็นเพียงวัชพืชที่ไม่มีประโยชน์ แต่ต้นกาฝากในฐานะพืชเบียนช่วยควบคุมต้นไม้ต่างๆ มิให้เจริญเติบโตเร็วเกินไป เดี๋ยวจะแย่งอาหารกันเองและต้องเหี่ยวเฉาตายไปในที่สุด ถ้าหากต้นไม้ต้นใดมีต้นกาฝากเกาะกินอยู่มากจนเหี่ยวเฉาลงเสียบ้าง ต้นไม้ในป่าจะได้ไม่ต้องขึ้นเบียดเสียดกันหนาแน่นมากนัก และมีที่ว่างให้ต้นไม้ต้นอื่นที่แข็งแรงกว่างอกงามขึ้นมาแทนที่ได้ เป็นการควบคุมประชากรกันเองระหว่างพืชในป่าต่างๆ

อย่างไรก็ดี ต้นกาฝากเหล่านี้ใช่ว่าจะไม่มีใครมาคอยควบคุม เพราะตัวหนอนของผีเสื้อหนอนกาฝาก (Jezebel) ใน สกุล Delias ในวงศ์ Pieridae จะคอยกัดกินใบของต้นกาฝากเป็นอาหารอยู่เป็นประจำ ช่วยควบคุมต้นกาฝากมิให้เจริญงอกงามมากเกินไป เป็นการสร้างสมดุลในธรรมชาตินั่นเอง
http://bord.dserver.org
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
Aorrayong
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009
ตอบ: 869

ตอบตอบ: 17/10/2009 5:06 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ต้นกาฝากขึ้นได้เพราะระบบนิเวศน์มีความสมบูรณ์ ถ้าเราจะใช้สารเคมีเพื่อกำจัดต้นกาฝาก คงไม่คุ้มกับผลเสียที่จะเกิดขึ้น

ปีนต้นไม้เป็นหรือเปล่าคะ?

แค่ใช้มีดคมๆเฉือนและแคะเอาต้นกาฝากออกมาให้หมด ง่ายๆ ไม่ต้องเสียเงินสักบาท
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©