-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ฝรั่งพันธุ์ไต้หวัน...พันธุ์แดงบางกอก....
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ฝรั่งพันธุ์ไต้หวัน...พันธุ์แดงบางกอก....

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 02/02/2011 6:50 pm    ชื่อกระทู้: ฝรั่งพันธุ์ไต้หวัน...พันธุ์แดงบางกอก.... ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ฝรั่งฝรั่งฝรั่งฝรั่งฝรั่งฝรั่งฝรั่งฝรั่งฝรั่งฝรั่ง





การปลูกและการดูแลรักษาฝรั่งในประเทศไต้หวัน
ในบรรดาไม้ผลที่ควรส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีการขยายพื้นที่ปลูกเพื่อเป็นอาชีพ รอง แต่ทำรายได้หลักก็คือ “ฝรั่ง” เนื่องจากเป็นไม้ผลที่มีต้นทุนในการผลิต ต่ำ, ให้ผลผลิตเร็ว, ราคาถึงผู้บริโภคไม่แพงนัก และเป็นผลไม้ยอดนิยมของคนไทยอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะวิตามิน ซี. เพียงแต่เกษตรกรที่คิดจะปลูกฝรั่งให้ประสบความสำเร็จจะต้องเน้นในเรื่องของผลผลิต คือ ผลิตฝรั่งให้มีรสชาติหวาน, กรอบและอร่อย (อุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนาตลาดของฝรั่งไทย คือรสชาติไม่อร่อยเท่าที่ควร) สำหรับเรื่องสายพันธุ์ฝรั่งที่เกษตรกรไทยนิยมปลูกกันมากที่ผ่านมา ถ้าเป็นฝรั่งที่มีเมล็ด ได้แก่ พันธุ์แป้นมีทอง ที่ มีเกษตรขายพื้นที่ปลูกกันพอสมควร เนื่องจากให้ผลผลิตดกและผลขนาดใหญ่ สำหรับพันธุ์กรอบสามสี ที่เนื้อมีอยู่ 3 สีภายในผลเดียวกัน คือ สีชมพู, สีเขียว และ สีขาว ซึ่งมีรสชาติอร่อยเหมือนฝรั่งขี้นกของไทยในอดีต ถ้าควบคุมการติดผลให้ขนาดของผลไม่ใหญ่มากนัก ตลาดจะขายได้ดี





ประวัติความเป็นมาและการปลูกฝรั่งในไต้หวัน :
“ฝรั่ง” เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดเล็กที่ถิ่นกำเนิดอยู่ใน แถบโซนร้อนของทวีปอเมริกาจัดเป็นไม้ผลที่ไม่ผลัดใบ ในอดีตไต้หวันไม่ใช่พื้นที่การเพาะปลูกฝรั่งและได้มีการสืบประวัติความเป็นมาของการปลูกฝรั่งครั้งแรกในไต้หวันอยู่ในยุคต้นของราชวงศ์ชิง แต่ไม่มีรายงานเรื่องผลผลิตที่มีการค้าขายในเชิงพาณิชย์ มาถึงช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2472–2480 เป็นช่วงฟื้นฟูที่สุด ในการปลูกฝรั่งในไต้หวัน กล่าวคือ ในช่วงปี พ.ศ. 2480 ไต้หวันมีปริมาณผลผลิตฝรั่งจำนวน 5,684 ตัน หลังจากนั้นมาพื้นที่การปลูกฝรั่งในไต้หวันลดลงเรื่อยมา เกษตรกรมาเริ่มปลูกอีกครั้งในปี พ.ศ. 2495 ผลผลิตฝรั่งได้จำนวนมาก 1,000 ตัน/ปี, ปีพ.ศ. 2497 ได้ผลผลิต 2,027 ตัน, ปี พ.ศ. 2506 ได้ผลผลิต 3,316 ตัน, ปี พ.ศ. 2517 ได้ผลผลิต 6,467 ตันและในปีพ.ศ. 2532 ได้ผลผลิต 7,554 ตัน โดยมีพื้นที่ปลูกหลักอยู่ที่ ไทเป จางฮั้วและชินจู๋ เป็นต้น จากความเจริญก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม ทำให้พื้นที่ปลูกฝรั่งได้ย้ายมาปลูกในเขต จางฮั้ว เกาสง และไทหนาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันแหล่งปลูกฝรั่งที่สำคัญของไต้หวันจะอยู่บริเวณภาคกลางมาถึงตอนใต้ ของเกาะไต้หวันส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะมีปลูกมากอยู่ที่ จ.อี๋หลาน ปัจจุบันถือได้ว่าไต้หวันเป็นแหล่งพัฒนาสายพันธุ์ฝรั่งได้คุณภาพดีที่สุด แห่งหนึ่งของโลก

มีเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมากไม่ทราบว่าเมื่อปี พ.ศ. 2513 ไต้หวันได้นำฝรั่งจากประเทศไทยซึ่งขนาดของผลใหญ่ เนื้อแน่นและกรอบไปปลูกได้ผลผลิตที่ชื่นชอบของคนไต้หวันในขณะนั้น เวลาผ่านไปไต้หวันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ฝรั่งเรื่อยมาโดยเน้นความอร่อย, มีเมล็ดน้อยและเนื้อไม่แข็งมากนัก ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีเกษตรกรไทยนำพันธุ์ฝรั่งในไต้หวันมาปลูก ในบ้านเรา เช่น พันธุ์เจินจู หรือถ้าแปลจากภาษาอังกฤษ คือ พันธุ์ไข่มุก (pearl) ซึ่งฝรั่งไต้หวันพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ของไต้หวันที่ ออกเผยแพร่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 (อ.ประทวีป กุณาศล) อดีตผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านไม้ผลจากกรมวิชาการเกษตร นำเข้าฝรั่งพันธุ์เจินจูจากไต้หวันเป็นคนแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2542 เมื่อสืบประวัติความเป็นมาของฝรั่งพันธุ์นี้กลับพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับฝรั่งบ้านเรา คือ เป็นสายพันธุ์ฝรั่งที่อยู่ในสถานีทดลองพืชสวนในไต้หวันแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศ เป็นฝรั่งที่ได้จากการเพาะเมล็ดและขยายพันธุ์มาดีโดยเกิดจากการผสมพันธุ์ของ ฝรั่งไทย 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์กลมสาลี่ (มีเมล็ด) และพันธุ์บางกอกแอ๊ปเปิ้ล ซึ่งไม่มีเมล็ด พันธุ์เจินจูจัดเป็นฝรั่งที่มีความหวานค่อนข้างสูง คือ เฉลี่ย 12 บริกซ์ โดยเฉพาะไส้กลางผลจะหวานมากเป็นพิเศษและมีเมล็ดน้อยมาก ปัจจุบันเกษตรกรที่ปลูกฝรั่งในประเทศไทยได้เปลี่ยนจากการปลูกพันธุ์แป้นสีทองมาปลูกเป็นพันธุ์เจินจูกันมากขึ้นเป็นลำดับ คนไทยรู้จักฝรั่งพันธุ์นี้กันมากขึ้น




สายพันธุ์ฝรั่งไต้หวัน :
สำหรับฝรั่งอีกสายพันธุ์หนึ่งของไต้หวันที่มีชื่อเสียง คือ พันธุ์ส๋วยเจิน แปลว่า “คริส
ตัล” ด้วยเป็นฝรั่งที่มีสีผิวออกสีเขียวอ่อนดูสุกใส แต่ยังเป็นพันธุ์ที่มีการดูแลรักษายากกว่าพันธุ์อื่น ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือ จะต้องเป็นเกษตรกรที่มือถึงเท่านั้นถึงจะปลูก ฝรั่งพันธุ์นี้ให้ประสบความสำเร็จได้ ทำให้ราคาขายสูงกว่าฝรั่งพันธุ์อื่นๆ 2-3 เท่า นอกจากฝรั่งที่ได้กล่าวมาแล้ว ทั้งปัจจุบันมีฝรั่งอีกสายพันธุ์หนึ่งของ ไต้หวันที่ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จ.พิจิตร. ได้กิ่งพันธุ์ชนิดเสียบยอดจากไต้หวัน เมื่อครั้งไปดูงานเกษตรกรรมที่เกาะไต้หวัน เมื่อเทศกาลสงกรานต์ ปี พ.ศ.2552 ที่ผ่านเป็นกิ่งพันธุ์ฝรั่งประเภทเสียบยอดที่มีรากแก้ว ซึ่งแตกต่างจากการขยายพันธุ์ฝรั่งในบ้านเราที่เกือบทั่งหมดใช้การตอนกิ่ง หรือปักชำกิ่ง ต้นฝรั่งทั้งสองต้นนั้นได้นำมาปลูกที่แผนกฟาร์มของชมรมฯ ที่ จ.พิจิตร เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2552 มาจนถึงปัจจุบันนี้ได้เริ่มออกดอกและให้ผลผลลิตบริโภคได้แล้ว

ฝรั่งไต้หวันที่ทางชมรมฯได้มา มีชื่อภาษาจีนติดมาด้วยชื่อว่าพันธุ์ “ฮ่องเต้” ลักษณะของผลมีความแตกต่างจากฝรั่งพันธุ์เจินจูตรงที่ ทรงผลจะเป็นทรงกระบอกสี่เหลี่ยม เมื่อผลเจริญเติบโตเต็มที่จะมีน้ำหนักผลไม่ต่ำกว่า 500 กรัม เนื้อมีรสชาติหวานกรอบและเมล็ดน้อยมาก ที่สำคัญเป็นสายพันธุ์ที่ออกดอกและติดผลง่ายมาก ในขณะที่พันธุ์เจินจูจะมีผลทรงกลมมนและมีหกเหลี่ยม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการพัฒนาสายพันธุ์ของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่จะเน้นใน เรื่องของสายพันธุ์ที่ไม่มีเมล็ด ซึ่งหลายคนยังไม่ทราบว่าการปลูกฝรั่งไร้เมล็ดมักจะมีปัญหาในเรื่องของการติดผลซึ่งส่วนใหญ่จะติดผลน้อยและเนื้อค่อนข้างแข็ง จริงอยู่พันธุ์ฝรั่งบางกอก แอ๊ปเปิ้ลซึ่งเป็นฝรั่งไร้เมล็ดในอดีตที่ได้ชื่อว่าอร่อยที่สุดแต่ติดผลยากที่สุดเช่นกัน ไม่เหมาะที่จะนำมาปลูกในเชิงพาณิชย์




การปลูกฝรั่งพันธุ์ไต้หวัน :
ดิน :
ปลูกที่จะต้องเป็นดินที่มีการระบายน้ำที่ดีและมีอินทรีย์วัตถุสูง เป็นที่สังเกตว่าเกษตรกรไต้หวันได้มีการนำกากอ้อยมาใช้เป็นปุ๋ยหมักในการปรับโครงสร้างของดินและที่เน้นเป็นพิเศษ คือ จะต้องมีการตรวจเช็คค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน เมื่อดินเป็นกรดจะแนะนำให้ใส่ปูนโดโลไมท์

ระยะปลูก :
ระยะการปลูกจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ถ้าเกษตรกรมีพื้นที่ปลูกไม่มากจะใช้ระยะระหว่างต้น 2.7-3.6 เมตร และระยะระหว่างแถว 3.5-4 เมตร สำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกมากและต้องมีการใช้เครื่องจักรเข้าไปทำงานใน แปลงจะใช้ระยะปลูก 4 X 4 เมตร หรือ 6 X 6 เมตร มีคำแนะนำเพิ่มเติมว่า การใช้ระยะปลูกที่ห่างพอสมควรมีส่วนช่วยในเรื่องของ ระบบการถ่ายเทอากาศที่ดีมีส่วนลดปัญหาโรคและแมลงได้


เทคนิคการดูแลรักษาฝรั่งในไต้หวัน :
การตัดแต่งกิ่งฝรั่ง :
หลักการที่สำคัญจะต้องมีการตัดแต่งกิ่งให้กิ่งและใบกระจายกันอย่างสมดุล ไม่ควรให้กิ่งซ้อนกันมากจนบังแสงแดด ในการควบคุมทรงพุ่มของฝรั่งจะต้องควบคุมทรงต้นไม่ให้มีความสูงเกิน 2 เมตร เพื่อเป็นผลดีของการติดผลที่กระจายทั่วต้นและสะดวกในการห่อผล วิธีการตัดแต่งกิ่งยังมีความแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ในกรณีของฝรั่งพันธุ์ เจินจูซึ่งมีลักษณะของลำต้นที่ขยายกว้างออก ควรใช้วิธีการตัดแต่งกิ่งให้เป็นรูปทรงหัวใจ

ต้นฝรั่งที่ปลูกและมีอายุได้ 1 ปี ไม่ควรปล่อยให้ติดผลมากเกินไป ควรจะมีการตัดแต่งเพื่อกระตุ้นให้ต้นฝรั่งมีการเจริญเติบโตและคัดเลือกให้ เหลือกิ่งหลักที่แข็งแรงประมาณ 3-4 กิ่ง เพื่อใช้เป็นกิ่งหลักในอนาคต เกษตรกรไต้หวันหลายรายได้มีการใช้ไม้ไผ่และเชือกมาค้ำกิ่งหลักเพื่อให้มีการแตกกิ่งและใบอย่างสมดุล ก่อนที่กิ่งหลักจะเข้ารูปไม่เหมาะที่จะปล่อยให้มีการติดผลไว้บนกิ่งเพื่อ หลีกเลี่ยงการโน้มเอียงของกิ่งหลักที่เกิดจากน้ำหนักของผลฝรั่ง ระดับความสูงของกิ่งหลักควรจะเหนือกว่าพื้นดินอย่างน้อย 50 เซนติเมตร




การให้ปุ๋ยต้นฝรั่ง :
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ต้นฝรั่งเป็นไม้ผลที่ออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี การใส่ปุ๋ยอินทรีย์เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมีผลต่อคุณภาพของผลผลิตในระยะยาว ปุ๋ยอินทรีย์ที่เกษตรกรไต้หวันใช้ในการปลูกฝรั่งจะใช้กากอ้อยหรือเปลือกไม้ เป็นหลัก สำหรับระยะเวลาในการใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี

** เริ่มจากมีการตัดแต่งกิ่ง หลักจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ ให้ใช้วิธีการเปิดร่องและนำปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีกลางร่อง หลังจากนั้นกลบดินทับ (ปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้จะต้องหมักดีแล้ว) วิธีการใส่ปุ๋ยต้นฝรั่งในไต้หวันในแต่ละครั้ง จะไม่ใส่ลงในตำแหน่งเดิม ให้ใส่สลับกันไป หากพบว่าสภาพดินที่ใช้ปลูกฝรั่งขาดธาตุโบรอน มีคำแนะนำให้ใช้สารบอแร็กซ์ อัตรา 10 กก. ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 1 ตัน (1,000 กก.) ใส่ในช่วงหลังจากมีการตัดแต่งกิ่งเสร็จ สำหรับปุ๋ยเคมีที่ใช้ในการปลูกฝรั่งในไต้หวันนอกจากจะใช้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหาร หลัก คือ ไนโตรเจน ( N ), ฟอสฟอรัส ( P ), และโปแตสเซียม ( K )แล้ว ยังเน้นการให้ปุ๋ยที่มีธาตุแมกนีเซียม และแคลเซี่ยม




โรคที่ความสำคัญของการปลูกฝรั่งในไต้หวัน :
จากเอกสารคำแนะนำการปลูกฝรั่งที่ชมรมฯ ได้มาจากการดูงานการเกษตรที่ไต้หวันในครั้งนั้น เป็นฉบับภาษจีนและได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ในส่วนของโรคและแมลงศัตรูฝรั่งนั้น ดูเหมือนว่า ศัตรูฝรั่งที่มีความสำคัญมากที่สุด คือ บางครั้งพบว่าต้นฝรั่งกำลังเติบโตอยู่ดีๆ เมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะตายในทันที

มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าเชื้อราชนิดนี้จะเข้าทำลายผ่านทางรอยแผลที่เกิดบริเวณ กิ่งก้านของต้นฝรั่ง จากนั้นจะกระจายตามระบบท่อน้ำแพร่เข้าสู่กิ่ง เชื้อจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนทำให้ท่อน้ำถูกทำลายจนหมดต้นเป็นที่สังเกตว่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ไม่ได้พักตัวหรืออาศัยอยู่ในดินแต่กระจายตัวอยู่ในอากาศ ผ่านเข้าทำลายทางรอยแผลของลำต้น วิธีการป้องกันและกำจัด เมื่อพบต้นฝรั่งที่มีอาการโรคดังกล่าวเกษตรกรจะต้องกำจัดทิ้งโดยการเผาทันที ไม่ควรปลูกฝรั่งซ้ำที่เดิมและควรขุดเอาลำต้นและ รากออกมาเผาทำลาย และไถคราด ตากดินทิ้งเอาไว้ หลังจากนั้นให้ปลูกอย่างอื่นหมุนเวียนไปก่อน เช่น พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น




เทคนิคการห่อผลฝรั่งแบบประณีตในไต้หวัน :
เทคนิคการห่อผลฝรั่งแบบประณีตในไต้หวัน โดยปกติแล้วการปลูกฝรั่งในเชิงพาณิชย์ทุกแห่งในโลก การห่อผลนับเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด สำหรับการปลูกฝรั่งในประเทศไทยจะมีการห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์และห่อทับ ด้วยถุงก๊อปแก๊ปทับอีกชั้นหนึ่ง เกษตรกรบางรายใช้ถุงพลาสติกเพียงอย่างเดียว ผลที่ตามมาความชื้นที่เกิดขึ้นภายในถุง และกระทบกับแสงแดดจะกระทบกับผลฝรั่ง มีการตายนึ่งได้

สำหรับการห่อผลฝรั่งในไต้หวัน นับได้ว่ามีความประณีตมาก ไม่ว่าจะเป็นสวนฝรั่งที่ปลูกแบบสวนหลังบ้านหรือปลูกในเชิงพาณิชย์ โดยเริ่มแรกจะปลิดผลทิ้งบ้างให้เหลือกิ่งละไม่กี่ผล ถ้าติดผลที่กิ่งอ่อนให้ปลิดทิ้งทันที เหลือผลฝรั่งที่จะใช้ห่อให้สมดุลกับต้น เนื่องจากฝรั่งเป็นไม้ผลที่มีการออกดอกติดผลดกตลอดปี ถ้าปล่อยให้ติดเต็มต้นจะได้ฝรั่งที่มีขนาดผลเล็กและไม่ได้คุณภาพ ขนาดของผลที่เริ่มห่อให้ผลมีขนาดใหญ่ประมาณนิ้วโป่งมือ ใช้ตาข่ายโฟมห่อที่ผลก่อนเป็นลำดับแรก และห่อทับด้วยถุงพลาสติกบางใสและเหนียว (ทางชมรมฯ สั่งนำเข้ามาจากไต้หวัน) สังเกตได้ว่าถุงพลาสติกที่ห่อทับไปนั้นจะบางมากและสามารถมองทะลุเห็นผลภายในอย่างชัดเจน เพื่อสะดวกต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต มีงานวิจัยของไต้หวันสรุปข้อดีของการห่อผลฝรั่งด้วยวิธีดังกล่าว จะมีผลให้ขนาดของผลฝรั่งมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมประมาณ 40% และคุณภาพของผลฝรั่งจะมีความกรอบขึ้น ไม่แข็งหรือนิ่มจนเกินไป และความหวานและปริมาณวิตามิน ซี.ไม่แตกต่างกันกับฝรั่งที่ไม่ได้ห่อผล


การปลูกฝรั่งเชิงพาณิชย์ให้ประสบความสำเร็จ
คุณ พงษ์สวัสดิ์ พงษ์บุญฤทธิ์ หรือ เฮียนิด เจ้าของปั๊มน้ำมัน ปตท. เขต อ.บางสลกบาตร หากท่านเลือกเดินทางจากทางกรุงเทพ-กำแพงเพชร ปั๊มนี้จะขึ้นป้าย ว่า “ปั๊มนี้ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ” พื้นที่หลังปั๊มแห่งนี้มีสวนเกษตร ของคุณ พงษ์สวัสดิ์ หรือใช้ชื่อสวนว่า “สวนตานิด” ในพื้นที่กว่า 140 ไร่ ปลูกไม้ผล มากกว่า 20 ชนิด ทั้งฝรั่งกิมจู, ฝรั่งแป้นยอดแดง, แก้วมังกรหลายสายพันธุ์, พุทราซุปเปอร์จัมโบ้, มะปรางยักษ์, มะเดื่อญี่ปุ่น, ตะขบยักษ์ไร้หนาม, ส้มเขียวหวาน, มะพร้าวน้ำหอม และผักหวานป่า เป็นต้น





“สวนตานิด” ฝรั่งแปลงใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนล่าง :
คุณพงษ์สวัสดิ์ กล่าวด้วยความสุขใจว่า การมาทำสวนเกษตรต้องยอมรับตัวเองไม่เคยมีความรู้ด้านการเกษตรเลย แต่พออายุมากขึ้นก็เกิดมีความรู้สึกชอบต้นไม้ ชอบสีเขียว อยากทำสวนขึ้นมา จึงได้เริ่มหาความรู้เบื้องต้นจากการอ่านหนังสือ, วารสาร,นิตยสารเกษตรต่างๆ เป็นจำนวนมาก หลังจากศึกษาหาข้อมูลเรื่องการเกษตรนานนับปี จึงตัดสินใจทำสวนเกษตรหลังปั๊มน้ำมัน ปตท.ของตนเอง ในพื้นที่ประมาณ 140 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่นา โดยก่อนหน้านี้ก็ให้คนเช่าทำนา ได้ค่าเช่าบ้าง ไม่ได้บ้าง จนนาบางแปลงก็ต้องร้างไป คุณพงษ์สวัสดิ์ จึงปรับที่นาให้เหมาะกับการปลูกไม้ผลด้วยการขุดดินทำคันล้อม สูงเกือบ 2 เมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมจากน้ำป่าที่มักจะไหลบ่ามาในบางปี และพื้นที่จะยกร่องทั้งหมด ใช้ระบบเดียวกับการทำเกษตรแบบทาง จ.นครปฐม ที่ใช้เรือในการจัดการให้น้ำและดูแลรักษาผลผลิต เมื่อปี พ.ศ. 2549 ไม้ผลชนิดแรกที่นำมาปลูกในสวนคือ ส้มเขียวหวาน ที่แบ่งพื้นที่ปลูกราว 22 ไร่ ซึ่งในขณะนั้นพื้นที่ จ.กำแพงเพชร นิยมปลูกส้มกันมาก ในการปลูกส้มเขียวหวานคุณพงษ์สวัสดิ์ ก็ทำได้ดีผลผลิตส้มดก พอสมควรเลยทีเดียว





การเลือกสายพันธุ์ฝรั่งปลูกเชิงพาณิชย์ :
หลังจากนั้นคุณพงษ์สวัสดิ์ ได้พบกับคุณสุกิจ ผู้จัดการสวนในปัจจุบัน เป็นคน อ.บ้านแพ้ว จ.นครปฐม มีประสบการณ์ในการปลูกฝรั่งมาก่อน จึงได้แนะนำว่าฝรั่งเป็นไม้ผลที่น่าสนใจ การดูแลฝรั่งไม่ยากมากนัก และฝรั่งเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตเร็ว ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังจากปลูกเพียง 8 เดือนเท่านั้น จึงหาข้อมูลเรื่องสายพันธุ์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ และไปดูการทำสวนฝรั่ง ถึงที่ใน จ.นครปฐม จนบังเกิดความแน่ใจเรื่องสายพันธุ์ สุดท้ายตัดสินใจซื้อฝรั่งเชื้อสายไต้หวันมาปลูกในพื้นที่ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เริ่มได้รับความนิยมในการปลูกมากและเป็นที่ต้องการของตลาด ในพื้นที่ ได้แก่ “ฝรั่งพันธุ์กิมจู” มีจุดเด่นที่น่าสนใจมาก คือ ทานอร่อย เมล็ดน้อยมาก หรือขนาดไส้เมล็ดเท่ากับเหรียญบาทเท่านั้น รสชาติหวานกรอบ ทานแล้วจะติดใจ น้ำหนัก 3-5 ผล/กก. คุณพงษ์สวัสดิ์จึงตัดสินใจนำฝรั่งพันธุ์กิมจูมาปลูกพร้อมกันจำนวน 7,500 ต้นและฝรั่งอีกสายพันธุ์หนึ่งที่คุณ พงษ์สวัสดิ์ นำมาปลูกพร้อมกับฝรั่งกิมจู ก็คือ “ฝรั่งพันธุ์แป้นยอดแดง” เป็นฝรั่งอีกพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในพื้นที่ จ.นครปฐม และผู้บริโภคยอมรับในเรื่องรสชาติว่าทานอร่อย

** ซึ่งสายพันธุ์ฝรั่งแป้นยอดแดงนี้ มีความแตกต่างจากพันธุ์แป้นสีทองตรงขนาดผลฝรั่งที่มีขนาดใหญ่มาก น้ำหนักเฉลี่ยตั้งแต่ 5 ขีด – 1 กก./ผล เนื้อหนาเมล็ดมีขนาดปานกลาง รสชาติหวาน กรอบและฝรั่งพันธุ์แป้นยอดแดง ยังสามารถรองรับการแปรรูปเป็นฝรั่งแช่บ๊วยได้อีกด้วย จากขนาดผลที่ใหญ่ เมื่อขูดผิวออกแล้วก็ไม่สูญเสียความหนาของเนื้อมากนัก





ข้อดีของการปลูกฝรั่ง :
คุณพงษ์สวัสดิ์ ก็ได้เตรียมการเรื่องการทำฝรั่งแช่บ๊วยมาด้วยตนเองแล้วกลับมา ทำเองที่สวน จนนำออกจำหน่ายแล้วและได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคว่าอร่อยมาก คุณพงษ์สวัสดิ์ จึงได้ตัดสินใจสร้างโรงงานฝรั่งแช่บ๊วยขนาดใหญ่ไว้รองรับผลผลิตในอนาคต หากผลผลิตฝรั่งแป้นยอดแดงคุณพงษ์สวัสดิ์ ที่ปลูกไว้ประมาณ 5,000 ต้นล้นตลาดหรือราคาตกต่ำ คุณพงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า ที่ปลูกฝรั่งไว้ถึง 2 พันธุ์นั้น เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกสร้างความหลากหลายนั่นเอง ก็ถือเป็นหลักการตลาดในขั้นพื้นฐาน

** คุณพงษ์สวัสดิ์ กล่าวถึงข้อดีของฝรั่งว่า “ฝรั่งให้ผลผลิตเร็ว ให้ผลตอบแทนกลับมาเร็ว” เพียง 8 เดือน หลังปลูกเท่านั้นก็มีผลให้ได้เก็บขายได้แล้ว และจะเก็บผลฝรั่งเต็มที่เมื่ออายุต้นได้ 1 ปีครึ่งไปแล้ว มีการออกดอกและติดผลตลอดทั้งปี ฝรั่งจะให้ผลผลิตต่อไร่สูงราว 300-500 กก./ไร่ โดยเฉพาะฝรั่งแป้นยอดแดงที่เด่นเรื่องขนาดผลใหญ่นั้น จะทำให้น้ำหนักต่อไร่สูงมาก ฝรั่งเป็นผลไม้ที่ทานง่ายหรือจะแปรรูปเป็นฝรั่งแช่บ๊วยก็ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมิใช่น้อย

การปลูกฝรั่งแบบยกร่อง :
การปลูกฝรั่งและไม้ผลทุกชนิดบนพื้นที่ราว 140 ไร่นั้น คุณพงษ์สวัสดิ์ เลือกการยกท้องร่องปล่อยน้ำเข้าร่องเป็นรูปแบบการทำเกษตรของ จ. นครปฐม ด้วยเหตุผลที่ว่าทำให้การจัดการสวนง่ายขึ้นไม่ว่าเรื่องการให้น้ำ, ให้ปุ๋ย ฉีดพ่นสารเคมี การเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยใช้ “เรือ” ทั้งหมด แล้วระบบท้องร่องยังช่วยเรื่อง “ความชื้น” ให้แปลงฝรั่งได้อีกด้วย

การเตรียมพื้นที่และวางระยะการปลูกฝรั่งแบบยกร่อง :
เตรียมท้องร่องให้มีความกว้างประมาณ 7 ม. ทั้งฝรั่งกิมจูและแป้นยอดแดง ใช้ระยะระหว่างต้น 1.8 X 1.8 ม. ปลูกเป็น 3 แถว ยาวตลอดท้องร่อง ซึ่งคุณพงษ์สวัสดิ์ ยอมรับว่าเป็นระยะที่ชิดเกินไป แนะนำว่าอย่างน้อยควรปลูกที่ระยะปลูก 2 X 2 ม. น่าจะเหมาะสมกว่า ดังนั้น คุณพงษ์สวัสดิ์ จึงขยายพื้นที่ปลูกฝรั่งกิมจูไปอีก 20 ไร่ แต่ปรับเปลี่ยนระยะปลูกใหม่ คือ ปลูกเป็นแถวคู่ในท้องร่อง ไม่ใช้ระยะปลูกชิดแบบเดิม เพราะต้องมาจัดการเรื่องของการตัดแต่งกิ่งที่แน่น ทึบ และซ็อนชนกันมากไป ซึ่งส่งผลให้ฝรั่งไม่ออกดอก แต่จะงามใบแทน นอกจากนี้แปลงฝรั่งที่ร่ม ใบแน่นทึบ จะทำให้แดดส่องไม่ถึง ไม่โปร่ง อากาศถ่ายเทไม่สะดวกจะเป็นแหล่งสะสมโรค-แมลง โดยเฉพาะเพลี้ยแป้งศัตรูทีสำคัญของฝรั่ง





การดูแลรักษาฝรั่งที่ปลูกเชิงพาณิชย์ :
การปลูกฝรั่งไม่ได้ยุ่งยากแต่ประการใด เพียงแต่ดูแลเรื่องน้ำให้สม่ำเสมอ จากนั้นฉีดพ่นปุ๋ย, ฮอร์โมนและสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ควบคู่มิให้ขาด มีการให้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือน้ำหมักชีวภาพ ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อบำรุงต้นฝรั่งให้งาม

** ในการทำให้ฝรั่งออกดอกติดผลนั้นก็จะมีหลายๆ วิธี ซึ่งที่สวนตานิดจะใช้วิธีการตัดแต่งกิ่งให้แตกยอดใหม่พร้อมออกดอก หลังตัดแต่งกิ่งหรือตัดแต่งกิ่งเดิม ที่ให้ผลผลิตแล้ว จะตัดชิดกิ่งหลักให้มีการแตกยอดใหม่ เมื่อยอดยาวได้ประมาณ 1 คืบมือ ฝรั่งก็จะอกมาตามซอกใบ ถ้าใบฝรั่งกิมจูจะออกดอกประมาณ 3 ดอก จะใช้ระยะเวลาหลังตัดกิ่งแล้วประมาณ 30-35 วัน เมื่ออายุได้ 60 วัน ผลฝรั่งจะมีผลเท่ากับลูกมะนาวเล็กหรือผลลำไยโต จะเป็นระยะที่เหมาะแก่การห่อผล ก่อนห่อควรมีการฉีดสารป้องกันกำจัดโรค-แมลงศัตรู เช่น เพลี้ยแป้งหรือโรคแอนแทรคโนส

การพิจารณาเลือกใช้สารเคมีกับฝรั่ง :
ก่อนการใช้สารเคมีจะต้องสุ่มตรวจโรค-แมลงในแปลงเสียก่อน ว่าพบปัญหาอะไรบ้างจึงจะเลือกใช้หรือแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด แต่คนที่ทำฝรั่งให้มีหลายรุ่นภายในต้นนั้น ก็ต้องมีการฉีดพ่นสารป้องกันศัตรูกว้างๆ ก่อนการห่อผลฝรั่ง โดยต้องเน้นป้องกันเพลี้ยแป้งเป็นสำคัญ เพราะเมื่อมีเพลี้ยแป้งติดผลไปตอนห่อฝรั่งผลเล็กๆ มันจะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนเต็มถุงห่อ ไปจนกระทั่งผลฝรั่งมีขนาดใหญ่เลยทีเดียว

** สารเคมีที่แนะนำฉีดผลก่อนห่อผล คือ สารไวท์ออยด์ ปริมาณ 200 ซีซี.ผสมกับสารมาลาไธออน ปริมาณ 1,000 ซีซี. ในน้ำ 20 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 คืน พอฉีดช่วงเช้าให้ตวงสารดังกล่าวมาใช้ 150 ซีซี. มาผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วก่อนการห่อผล





การห่อผลฝรั่ง :
การห่อผลนั้นจะต้องห่อตั้งแต่ขนาดเท่าหัวนิ้วโป้งมือ หรือราวผลมะนาวเล็ก หรือผลลำไยผลโต เกษตรกรจะต้องคัดผลที่ผลกลม ผิวสวย ดูสมบูรณ์ไว้พียงผลเดียว ตัดผลที่คู่กันทิ้งไป การห่อผลจะใช้ถุงพลาสติกที่ใช้เพื่อการห่อฝรั่งโดยเฉพาะ ถุงห่อดังกล่าวจะมีรูระบายในตัว เกษตรกรไม่ต้องกรีดหรือเจาะรูระบายน้ำเหมือนแต่ก่อน จากนั้นตัดกระดาษสมุดโทรศัพท์มาสัก 2 หน้า เพื่อกระดาษจะได้ความหนาพอเพื่อจะพรางแสงแดด ให้ผิวฝรั่งขาวสวย เหตุที่เลือกให้กระดาษจากสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง เพราะเป็นกระดาษที่ทนแดด ทนฝนไม่ขาดยุ่ยง่าย เหมือนกระดาษหนังสือพิมพ์

** หลังจากการห่อผลฝรั่งนับไปอีกราว 2 เดือน ฝรั่งก็จะแก่พร้อมเก็บเกี่ยว คนงานที่เก็บเกี่ยวผลฝรั่งจะต้องมีความชำนาญ มีประสบการณ์ ถึงจะปล่อยให้เก็บได้ เพราะฝรั่งหากเก็บผลที่ไม่แก่ ยังเขียวอยู่จะมีรสฝาด ทานไม่ได้เลย ไม่สามารถแปรรูปอะไรได้เลย คือ ผลฝรั่งที่เก็บผิดก็จะเสียไป การฝึกคนงานที่จะมาเก็บผลผลิตได้นั้นจะเริ่มทักษะจากการได้ผลก่อน, ตัดแต่งกิ่งก่อน แล้วจึงฝึกเรื่องการเก็บฝรั่ง นอกจากการนับอายุโดยคร่าวๆ แล้ว สามารถสังเกตจาก เนื้อกระดาษที่จะดูเก่าตามเวลา หากไม่แน่ใจคนเก็บก็จะเปิดกระดาษดูเพื่อดูสีฝรั่งว่าขาวหรือยัง




การตลาดและราคาผลผลิต :
เก็บผลผลิตป้อนตลาดอาทิตย์ละ 2 ครั้งๆ ละ 40-50 ลัง คุณพงษ์สวัสดิ์ กล่าวถึงตลาดฝรั่งกิมจูและแป้นยอดแดงว่า มีความต้องการเป็นจำนวนมาก ผู้บริโภคเริ่มรู้จักฝรั่งกิมจูจากสวนตานิดแล้วว่า ทานอร่อย หวานและกรอบ เมล็ดน้อย นอกจากจะวางขายในปั๊มน้ำมันแล้วมีส่งตลาดท้องถิ่นในระแวกใกล้เคียง ก็จะมีพ่อค้าจากต่างจังหวัด อย่างจังหวัดนครสวรรค์, สิงห์บุรี, อ่างทอง, ฯลฯ ก็จะมาแบ่งกันไป โดย 1 ลังจะบรรจุฝรั่งได้ 17 กก. การคัดเกรดจะดูที่ผลเพียงอย่างเดียว ฝรั่งจากสวนไม่ได้ดูเรื่องขนาด ซึ่งราคาส่งจากสวนจะแบ่งออกเป็น 3 เกรด คือ เบอร์ยอด (ผิวสวย) ราคากก.ละ 15 บาท , เบอร์รอง (มีตำหนิเล็กน้อย) ราคากก.ละ 8 บาท และเบอร์ตำหนิ (ผิวไม่สวย) ราคากก.ละ 5 บาท

** ฝรั่งกิมจูหรือแป้นยอดแดง หลังการเก็บเกี่ยวแล้วก็จะวางตลาดได้นานราว 5 วัน ในกรณีตัดแก่พอดี ซึ่งผิวจะขาวนวล แต่เก็บขาวเขียวจะไม่ได้ เพราะยังไม่แก่ รสชาติฝาด หรือหากเก็บแก่เกินไป อายุการวางตลาดก็จะน้อยเพียง 3 วัน ก็จะนิ่มแล้ว เป็นต้น ขนาดผลของฝรั่งลูกค้ามักจะชอบขนาดผลไม่ใหญ่มากนัก 4-5 ผล/กก.มากกว่า ฝรั่งสวนตานิดถือว่า ตลาดมีความยอมรับในคุณภาพที่ทานอร่อย เมื่อซื้อไปแล้วก็จะกลับมาซื้อใหม่อีก ฝรั่งกิมจูและฝรั่งแป้นยอดแดง ยังมีอนาคตในการเป็นฝรั่งผลสดที่ปัจจุบันผลผลิตฝรั่งสดจากสวนตานิดยังไม่พอขาย ส่วนอนาคตคุณพงษ์สวัสดิ์ ยังขยายพื้นที่ปลูกฝรั่งเพิ่ม และสร้างโรงงานฝรั่งแช่บ๊วยราคากว่า 2 ล้านบาท เพื่อรองรับผลผลิตอีกด้วย


--------------------------------------------------------------------------------


ฝรั่งลูกผสม พันธุ์แดงบางกอก

“แดงบางกอก” ซึ่งเป็นฝรั่งสายพันธุ์ลูกผสมที่ คุณดำรงศักดิ์ วิรยศิริ ได้ทำการผสมพันธุ์ขึ้นมาด้วยตนเอง





ประวัติการปรับปรุงพันธุ์ :

เริ่มต้นจาก ซื้อพันธุ์ฝรั่งเพาะเมล็ดที่มีความสูงของต้นประมาณ 1 เมตร เมื่อปี พ.ศ.2519 ในงานไม้ดอกและไม้ประดับที่จัดขึ้นที่วังสวนผักกาด ถ.ศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสมาคมไม้ดอกไม้ประดับแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ซื้อมาในราคาต้นละ 100 บาท ทราบว่าเป็นฝรั่งที่นำมาจากประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อนำมาปลูกและให้ผลผลิตได้ฝรั่งที่มีขนาดเล็ก, เนื้อบางและมีจำนวนเมล็ดมาก




คุณดำรงศักดิ์ได้ทำการพัฒนาสายพันธุ์เรื่อยมาจนได้พันธุ์ทับทิมแดงสยาม ซึ่งเป็นลูกของต้นฝรั่งประดับจากประเทศฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นได้นำฝรั่งพันธุ์ทับทิมสยามเป็นต้นแม่มาผสมพันธุ์กับพันธุ์แป้น สีทองเป็นต้นพ่อ ลูกผสมออกมาได้ต้น,ใบ ดอกและผลจากต้นแม่คือสีแดงทั้งหมดบริเวณหลังใบมีสีแดงน้ำตาล, ส่วนของหน้าใบมีสีเขียวออกดำ ดอกมีสีแดงอมชมพูสวยงามมาก ลำต้นสีแดง ขณะที่ติดผลสีของผลมีสีน้ำตาลดำและเมื่อผลแก่สีของผลจะจางลงเป็นสีน้ำตาลแดง ผลแก่มีลักษณะทรงผลคล้ายกับฝรั่งเวียดนาม เนื้อมีสีแดงรสชาติหวานและกรอบมีกลิ่นของฝรั่งขี้นก จัดเป็นฝรั่งที่ให้ผลดกไม่แพ้สายพันธุ์อื่น

เป็นที่สังเกตว่าพฤติกรรมการบริโภคฝรั่งของคนไทยส่วนใหญ่จะนิยมบริโภคฝรั่งสด มากกว่าฝรั่งแปรรูป ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศที่นิยมบริโภคฝรั่งคั้นน้ำ มีงานศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับสายพันธุ์ฝรั่งคั้นน้ำในบ้านเราอยู่หลายเรื่อง แต่ไม่แพร่หลายในหมู่เกษตรกรไทย เนื่องจากคนไทยคุ้นเคยในการบริโภคผลไม้สดมากกว่า ฝรั่งยังจัดเป็นผลไม้ที่มีการลงทุนค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับผลไม้ เศรษฐกิจชนิดอื่นใช้เนื้อที่ในการปลูกไม่มากนักและเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิต เร็ว ตลาดค่อนข้างกว้างคนทุกระดับนิยมบริโภค


------------------------------------------------------------------------------------------------------

เกี่ยวกับสายพันธุ์ฝรั่งจากไต้หวัน

จาก การสืบค้นข้อมูลและจากการสอบถามผู้รู้จริงในเรื่องของชื่อสายพันธุ์ฝรั่งที่ บ้านเรานำเข้ามาจากไต้หวันมาปลูกซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ข้อเท็จจริง จาก ดร. กาญจนา สุทธิกุล ได้ไขความกระจางชัดเรื่องของชื่อสายพันธุ์ฝรั่ง ว่า





“พันธุ์เจินจู” เป็นพันธุ์การค้าอันดับหนึ่งของไต้หวันที่ปลูกเป็นจำนวนมาก และมีการส่งออกไปจำหน่ายหลายประเทศ โดยลักษณะผลกลมรีทรงไข่ไก่พบเห็นว่ามีจำหน่ายตามแผงผลไม้ทั่วทั้งไต้หวัน




““พันธุ์ส๋วยจิน” เป็นสายพันธุ์ที่ ถูกนำมาปลูกเป็นการค้ามากแล้วในบ้านเรา แต่มีการเรียกชื่อฝรั่งพันธุ์ส๋วยจินผิดไปเป็นพนัธุ์เจินจู, เชินจู, กิมจู แท้จริงแล้ว เป็นฝรั่งพันธุ์ส๋วยจินของไต้หวันที่ผลมีลักษณะกลมมีเหลี่ยมผลประมาณ 6 เหลี่ยมผิวสีเขียวอ่อน มีเมล็ดน้อยมาก พันธุ์ส๋วยจินที่ปลูกในไต้หวันนั้นจะหาทานได้ยากกว่าพันธุ์เจินจู เพราะเป็นพันธุ์ที่ยังไม่มีความแน่นอนเรื่องคุณภาพมากนัก แต่พันธุ์ “ส๋วยจิน”หรือบ้านเราที่เรียกชื่อผิดเป็นพันธุ์เจินจู, เชินจู, กิมจูนั้น กลับมีการออกดอกและติดผลง่ายในบ้านเรา


---------------------------------------------------------------------------------------------------


เทคนิคการห่อผลฝรั่งให้โตเร็ว

เทคนิคการห่อฝรั่งง่ายๆให้โตเร็ว และยังช่วยลดต้นทุนในการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชได้อีกด้วย





วิธีการ
1. การคัดเลือกขนาดของผลฝรั่งที่จะห่อ ให้คัดเลือกขนาดของผลฝรั่งที่มีขนาดเท่าผลมะนาว
2. การตัดแต่งผลฝรั่ง ให้ตัดแต่งออกเหลือเพียง 1 ผล / ช่อ
3. ก่อนจะห่อผลฝรั่ง ให้แกะกลีบดอกที่ติดอยู่ด้านล่างของผลออกให้หมด เพราะการแกะกลีบดอกออก จะทำให้ผลฝรั่งโตเร็วและไม่เป็นแหล่งสะสมของโรค
4. กระดาษที่ใช้ห่อผลฝรั่งควรเป็นกระดาษที่มีสี เช่น กระดาษจากสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง หรือ กระดาษที่ใช้โฆษณาของห้างสรรพสินค้า
5. การห่อผลให้ใช้กระดาษห่อก่อน แล้วใช้ถุงพลาสติกชนิดมีหูห่ออีกครั้งหนึ่ง สำหรับถุงพลาสติกให้ ตัดมุมถุงด้านล่างทั้งสองด้าน และตรงก้นถุงอีก 2 รอย

ประโยชน์ที่ได้รับ
1. ผลฝรั่งโตเร็วกว่าการห่อแบบไม่เอากลีบดอกออก
2. ป้องกันโรคแมลงที่สะสมอยูในกลีบดอกของผล
3. ลดต้นทุนในการฉีดพ้นสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช
4. นำวัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ได้อีกรอบ



http://blog.taradkaset.com/%E0%B8%9D%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87/


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kimzagass เมื่อ 02/02/2011 8:03 pm, แก้ไขทั้งหมด 3 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 02/02/2011 6:51 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ต่อยอด.....
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©