-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 212 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ลำไย




หน้า: 4/6


เตาอบแห้งลำไย สมองกลอัจฉริยะ


วท.เดินหน้าสนองตอบเกษตรกร

ดร.คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รมว. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วง
เดือน ก.ค. นี้เป็นช่วงสำคัญของพี่น้องเกษตรกรสวนลำไยในภาคเหนือที่คาดว่าจะมีผลผลิตลำไยอบ
แห้งเพื่อส่งออกกว่า 2 แสนตัน มูลค่าประมาณ 2,900 ล้านบาท ล่าสุดทีมนักวิจัยของ ม.แม่โจ้
และ ม.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงวิทย์ฯ โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอ นิกส์และ
คอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(สวทช.) ได้ประสบความสำเร็จในการวิจัยพัฒนา ชุดควบคุมเตาอบแห้งลำไยสมองกล ที่ให้ความ
ร้อนสม่ำเสมอ ร่นเวลาการอบจาก 3 วันเหลือเพียง 2 วัน รวมทั้งยังสามารถทํานายความชื้นของลําไย
และทํานายเวลาที่เหมาะสมในการกลับทิศทางลมเพื่อลดความเสี่ยงของผลลำไยบุบเสียหาย


ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชพงษ์ ผอ.เนคเทค เปิดเผยว่า โครงการนี้เนคเทคและ สวทช. ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญ
จาก โปรแกรมสมองกลฝังตัว มาช่วยให้คำปรึกษา ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวนี้ สามารถตอบสนองนโยบาย
เร่งด่วนของรัฐบาลในการเพิ่มขีดความสามารถของพี่น้องเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือ
ได้ว่าอุปกรณ์สมองกลชุดนี้เป็นเครื่องแรกของประเทศไทย ที่สำคัญทีมนักวิจัยได้พัฒนาไปถึงขั้นการ
ถ่ายทอดผลงานไปสู่วิสาหกิจชุมชน มีอุตสาหกรรมขนาดย่อมรับเทคโนโลยีการผลิตดังกล่าวไปผลิตใน
เชิงธุรกิจและบริการ สร้างอุตสาหกรรมให้กับชุมชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงได้ใช้
เทคโนโลยีที่ตรงกับความต้องการและราคาเหมาะสม


ผศ.ดร.จาตุพงศ์ วาฤทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและ
อุตสาหกรรมเกษตร ม.แม่โจ้ ในฐานะหัวหน้าคณะนักวิจัย กล่าวเสริมว่า ทีมนักวิจัยและบริษัทที่ได้รับ
การถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ติดตั้งอุปกรณ์สมองกลเพื่อควบคุมเตาอบแห้งลำไยแบบสลับทิศทางลมร้อน
ให้กับ โรงงานแปรรูปลำไยอบแห้ง วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตลำไยนอกฤดู ต.สันทราย อ.สารภี จ.
เชียงใหม่ จำนวน 8 ตู้อบ แต่ละตู้สามารถอบลำไยได้ครั้งละ 2 ตัน ลดเวลาการอบจาก 3 วันเหลือ
เพียง 2 วัน ส่งผลให้เกษตรกรได้ลำไยอบแห้งที่มีคุณภาพสูงตรงตามความต้องการของผู้สั่งซื้อราย
ใหญ่โดยเฉพาะจาก ประเทศจีน และวางแผนการอบแห้งได้แม่นยำมากขึ้น คาดว่าในฤดูผลิตลำไยของ
จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูนในปีนี้ ทีมนักวิจัยและบริษัทที่รับติดตั้งจะสามารถติดตั้งอุปกรณ์สมองกล
เพื่อควบคุมเตาอบแห้งลำไยให้วิสาหกิจชุมชนใน จ.เชียงใหม่ ได้จำนวน 30 เตาจากจำนวนเตาอบ
แห้งลำไยทั้งหมดเกือบ 400 เตา


“เดิมจะใช้ฟืนหรือก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิง ควบคุมความร้อนด้วยประสบการณ์ของคนควบคุมเตา แต่
อุปกรณ์ชุดนี้จะใช้สมองกลควบคุมโดยอัตโนมัติ ทำให้ได้พลังงานความร้อนอย่างสม่ำเสมอ และมีการ
ใช้เชื้อเพลิงอย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นการลดมลพิษที่ปล่อยสู่อากาศ เป็นการลดภาวะโลกร้อนไปด้วย”
หัวหน้าคณะนักวิจัยเตาอบแห้งลำไยสมองกล ระบุ.




รู้รอบด้านกับสาร "โพแทสเซียมคลอเรต" ช่วยลำไยไทยเพิ่มค่า ก้าวสู่ตลาดโลก

รู้จักโพแทสเซียมคลอเรต
โพแทสเซียมคลอเรต เป็นสารที่เกษตรกรนำมาใช้เพื่อกระตุ้นการออกดอกของลำไยทั้งในและนอกฤดูกาล แต่ปัญหาที่สำคัญคือ สารดังกล่าวเป็นสารตั้งต้นของวัตถุระเบิดร้ายแรง และอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหม เนื่องจากเป็นยุทธภัณฑ์ หากการใช้ไม่ถูกต้องอาจเกิดอันตรายได้จากการระเบิด เมื่อถูกการกระแทก หรือลุกติดไฟในที่จำกัด ดังเช่น เหตุการณ์ระเบิดที่โรงงานอบแห้งลำไยที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่  การใช้สารดังกล่าวมีการขออนุญาตซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก แต่ปัจจุบันมีการอนุโลมให้เกษตรกรใช้และครอบครองสารโพแทสเซียมคลอเรตได้ภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหมโดยตรง แต่เนื่องจากมีการใช้สารดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง ทำให้มีการครอบครองโพแทสเซียมโดยเกษตรกรทั้งรายใหญ่และรายย่อยกระจัดกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งยากต่อการควบคุมและป้องกัน จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นเมื่อกลางปี 2542


รู้ใช้อย่างปลอดภัย
งานวิจัย "การพัฒนาการเร่งดอกลำไยที่มีโพแทสเซียมคลอเรตเป็นองค์ประกอบหลักในรูปแบบที่ปลอดภัยและสะดวกในการใช้ของชาวสวนลำไย" โดยดร.สมคิด พรหมมา ศูนย์วิจัยบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจาก สกว.เป็นการพัฒนาสูตรผสมที่มีโพแทสเซียมคลอเรตเป็นองค์ประกอบโดยไม่มีคุณ สมบัติในการเป็นวัตถุระเบิดหรือติดไฟด้วยการผสมสารถ่วงชนิดต่างๆเพื่อให้สารผสมโพแทสเซียมคลอเรตที่ได้หมดสภาพหรือความสามารถในการระเบิดโดยใช้วิธีทดสอบการระเบิดที่เป็นมาตรฐาน  ตลอดจนไม่สามารถแยกบริสุทธิ์สารนี้ได้อีกโดยวิธีกล


การประกอบสูตรสารผสมโพแทสเซียมคลอเรตชนิดปลอดภัยจากการระเบิดนี้สามารถทำได้ใน 4 ลักษณะคือ ชนิดผง, ชนิดเม็ด ชนิดละลายน้ำและชนิดละลายน้ำรวมแร่ธาตุอาหาร และทดสอบการระเบิดของสูตรทั้ง 4 เพื่อยืนยันถึงความปลอดภัยไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตามเมื่อทราบถึงส่วนผสมต่าง ๆ แล้ว ได้ทำการ ศึกษาถึงกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย เช่น วิธีการเตรียมโพแทสเซียมคลอเรต ชนิดของเครื่องผสม การผลิตสารผสมขั้นต้น เพื่อนำไปแปรรูปเป็นสูตรต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยที่สุดในรูปแบบต่าง ๆ คือ แบบผงไม่ละลายน้ำ แบบผงละลายน้ำ แบบผงละลายน้ำผสมแร่ธาตุ และแบบเป็นเม็ดสำหรับหว่าน

"เมื่อพัฒนาสูตรสำเร็จแล้ว ได้มีการทดลองใช้ในสวนของเกษตรกร 3 ราย จำนวน 125 ต้น และได้ผลดี โดยวัดจากการออกช่อ การติดผล และคุณภาพผลเมื่อเก็บเกี่ยว หลังจากนั้นจึงทดลองซ้ำกับเกษตรกรอีก 9 ราย จำนวน 290 ต้นและวัดผลในเชิงคุณภาพโดยใช้การสัมภาษณ์และออกแบบสอบถามทัศนคติกับเกษตรกรผู้ใช้  และวัดในเชิงปริมาณโดยวัดการออกดอก ความยาวช่อ และการติดผลพบว่า เกษตรกรมีความพอใจ และต้องการใช้ต่อไป โดยมีเกษตรกรในละแวกใกล้เคียงให้ความสนใจและต้องการซื้อเป็นจำนวนมาก แต่ต้องการให้มีหน่วยงานควบคุมคุณภาพ และมีราคาไม่แพงกว่าโพแทสเซียมคลอเรตบริสุทธิ์ที่มีราคาประมาณกิโลกรัมละ 100 บาท  โดยเกษตรกรมีความพอใจสารผสมรูปแบบผงละลายน้ำมากที่สุด รองลงมาคือรูปแบบเม็ด เพราะสะดวกในการใช้ โดยละลายในน้ำและรดเพียงรอบเดียว ซึ่งถ้าเป็นแบบหว่านต้องมีการรดน้ำจนกว่าเม็ดจะละลายหมด นอกจากนั้น การใช้ในรูปแบบละลายน้ำยังพบว่าทำให้ออกดอกมากกว่า ช่อดอกยาวกว่า และติดผลมากกว่า"


ดร.สมคิด กล่าวว่า เกษตรกรในแถบ อ.สันป่าตอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และอ.แม่ทา อ.เมือง จ.ลำพูน ที่ได้ทดลองนำสารเร่งดอกลำไยชนิดที่ปลอดภัยไปใช้ต่อเนื่องและได้ผลดี จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ห้าเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรใกล้เคียงได้เรียนรู้ ทำให้มีความต้องการสารที่ปลอดภัยมากขึ้นในวงกว้างและเรียกร้องให้มีการผลิตเชิงพาณิชย์โดยเร็วที่สุด และติดต่อให้ผู้วิจัยผลิตสารผสมเพื่อใช้ในระยะที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ออกจำหน่าย  

ผลการวิจัยนี้ได้ถูกนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและควบคุม เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการยุติให้เกษตรกรครอบครองสารบริสุทธิของโพแทสเซียมคลอเรตและส่งเสริมให้เอกชนมากกว่า 1 ราย ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตสารผสมดังกล่าวในรูปแบบคล้ายปุ๋ย เพื่อดำเนินการผลิตภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหม และยกเลิกการควบคุมลักษณะยุทธ์ปัจจัยสำหรับสารผสมที่ปลอดภัย โดยมีการควบคุมคุณภาพให้อยู่ในมาตรฐานโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำไปสู่การจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในรูปแบบที่ปลอดภัยจากการระเบิด

รู้คำนึงถึงสุขภาพ
นอกจากจะทราบถึงวิธีนำสารโพแทสเซียมคลอเรตมาใช้อย่างปลอดภัยแล้ว แนวทางในการศึกษาถึงผลกระทบของการใช้สารดังกล่าวในกรณีผู้บริโภคก็เป็นสิ่งจำเป็น โดย รศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาเรื่อง "การประเมินความเป็นพิษของผลลำไยที่ได้จากการใช้สารโพแทสเซียมเป็นสารเร่งการออกดอก" พบว่าสารสกัดจากลำไยอบแห้งมีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเม็ดเลือดได้ในห้องปฏิบัติการ ในขณะที่ลำไยสดไม่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งทั้งสองชนิดเหมือนลำไยอบแห้ง  "การวิจัยนี้ทำใน 2 ส่วนคือ 1.นำผลลำไยสดที่ทราบแหล่ง

ที่มาชัดเจนแน่นอนว่ามาจากสวนที่ไม่มีหรือมีการใช้โพแทสเซียมคลอเรตเป็นสารเร่งดอก นำมาอบแห้งเองในห้องปฏิบัติการ และ2.นำลำไยอบแห้งที่ขายอยู่ตามท้องตลาดมาทำการทดลอง ซึ่งผลปรากฏว่า ลำไยอบแห้งจากทั้ง 2 แหล่งสามารถทำลายเซลล์มะเร็งลำไส้และมะเร็งเม็ดเลือดในหลอดทดลองได้ ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าเนื้อลำไยอบแห้งอาจพัฒนาเป็นสารต้านมะเร็งได้ แต่ควรต้องมีการศึกษากลไกการเหนี่ยวนำก่อน"

การทดลองผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสารสกัดที่ได้จากลำไยที่มีการใช้โพแทสเซียมคลอเรต พบว่าสารสกัดจากลำไยสด  แสดงแนวโน้มถึงความสามารถกระตุ้นให้เซลล์มะเร็ง(มะเร็งเม็ดเลือดขาว) ตายด้วยรูปแบบของการทำลายตนเองแบบอะพอพโตซิส (Apoptosis) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้การกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดตายนั้น พบในสารสกัดด้วยน้ำจากลำใยที่ใส่สารโพแทสเซียมคลอเรตทางราก 4 กรัม ต่อตารางเมตร และสารสกัดด้วยเอธานอลของลำไยที่ใส่สารโพแทสเซียมคลอเรตทางรากความเข้มข้น 16 กรัมต่อตารางเมตร และเมื่อนำลำไยอบแห้งมาทดสอบได้พบว่าสารสกัดจากลำไยอบแห้งมีฤทธ์ทำลายทั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวและเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ดีขึ้น

ทั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการทดสอบผลของสารสกัดจากลำไยสด ต่อการยับยั้งหรือการส่งเสริมให้เกิดโรคมะเร็ง ด้วยการทดสอบในสัตว์ทดลอง นั่นคือหนูขาวพันธุ์ Wistar ให้ได้รับสารสกัดจากลำไยทุกๆวันเป็นเวลา 4-16 สัปดาห์ ไม่พบว่ามีความผิดปกติต่อเซลล์ลำไส้ใหญ่ของหนูขาว   แต่พบว่าการให้สารสกัดจากลำไยที่ใช้โพแทสเซียมคลอเรตทางรากขนาด 8 กรัมต่อตารางเมตร และใช้ทางใบขนาด 2000 ppm ร่วมกับสารก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นระยะเวลานานถึง 16 สัปดาห์ สามารถเพิ่มปริมาณรอยโรคที่เกิดจากการได้รับสารก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ไม่พบการเพิ่มขนาดของรอยโรคของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งแสดงว่าในสารสกัดลำไยอาจส่งเสริมเมแทบอลิซึมของสารก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่เท่านั้น 

ดร.อุษณีย์ กล่าวว่า "ถ้าหากเราสามารถศึกษาเพิ่มเติมถึงฤทธิ์การยับยั้งการเกิดรอยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ของสารสกัดจากลำไยแห้งในสัตว์ทดลอง และวิจัยถึงกลไกการยับยั้งการเกิดมะเร็ง ที่เกิดจากสารสกัดจากลำไยแห้งเหล่านี้ จะทำให้เกิดความมั่นใจในการบริโภคลำไยอบแห้ง เพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ อีกทั้งการพัฒนางานวิจัยเพื่อแยกสารสกัดที่ได้จากลำไยอบแห้งออกมา เพื่อใช้ในการผลิตสารยับยั้งมะเร็งที่สกัดจากธรรมชาติ ก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ลำไยภายในประเทศได้อีกทางหนึ่ง" เมื่อจะมีการใช้สารโพแทสคลอเรตในสวนลำไยกันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ หน่วยงานต่างๆ จึงกังวลกับผลกระทบของการใช้สารโพแทสคลอเรตต่อผลผลิตลำไย  ต่อผู้บริโภคลำไยและต่อสิ่งแวดล้อมในสวนลำไยและการระเบิดของสารโพแทสคลอเรต  ซึ่งได้เกิดขึ้นครั้งใหญ่เมื่อวันที่  19 กันยายน 2542 ทำให้มีคนตาย 36 คน ปัญหาเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การกีดกันทางการค้าลำไยสดและอบแห้งได้ การหาข้อมูลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และเตรียมข้อมูลชี้แจงในกรณีที่มีการอ้างเพื่อการกีดกันทางการค้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น 

รู้จัดการสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้ครอบคลุมทุกด้าน สกว.จึงมีงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อเกษตรกรนำสารโพแทสเซียมคลอเรตไปใช้โดยมีงานวิจัย  "ผลกระทบของการใช้สารคลอเรตต่อสิ่งแวดล้อมในสวนลำไยและการแก้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้สารคลอเรต" โดย รศ.สมชาย องค์ประเสริฐ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ศึกษาและพบว่า สารโพแทสเซียมคอลเรตมีการสลายตัวในดินเกิดจากกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินเท่านั้น โพแทสคลอเรตจึงสลายตัวในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงได้เร็วกว่าในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ นอกจากนี้การใช้สารโพแทสคลอเรตโดยการราดทางดินในอัตรา 4 เท่าของอัตราการใช้ที่แนะนำ ไม่มีผลต่อสมบัติใดๆ ของดิน (อัตราการราดทางดินที่แนะนำเมื่อ พ.ศ. 2542 คือ 10 กรัมต่อตารางเมตรของดินที่ทรงพุ่ม หรือประมาณ 200 กรัมต่อต้นขนาดทรงพุ่ม 6 เมตร)และความเข้มข้นของโพแทสคลอเรตที่ถือว่าไม่มีผลต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมในดินคือ กระทบต่อการอยู่รอดของไส้เดือนดินและวัฏจักรไนโตรเจนในดินคือ 50 มก./กก. และผลการติดตามโพแทสคลอเรตตกค้างในสวนลำไยที่มีการใช้คลอเรต 2 - 3 ครั้งด้วยอัตรา 1-2 เท่าของคำแนะนำ 25 สวนในช่วงปี พศ. 2542-2543 พบว่า ภายใต้การจัดการสวนของเกษตรกร  โพแทสเซียมคลอเรตในดินลดลงเหลือไม่เกินระดับที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมภายใน 2-3 เดือนหลังจากราด  และภายในเวลา 1 ปีโพแทสเซียมคลอเรตจะสลายตัวหมดจากดิน

รศ.สมชาย กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบการใช้สารโพแทสคลอเรตต่อสิ่งแวดล้อมในสวนลำไยพบว่า การใช้โพแทสเซียมคลอเรตของเกษตรกรมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะสั้นเฉพาะในแนวราดโพแทสเซียมคลอเรตเท่านั้น  แต่ไม่มีผลกระทบระยะยาว ทำให้ความกังวลต่อผลกระทบของการใช้โพแทสเซียมคลอเรตต่อสิ่งแวดล้อมในสวนลำไยหมดไป 

การนำสารโพแทสเซียมคลอเรต มาใช้ประโยชน์ในลำไย เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ หากเรารู้เท่าทันและนำมาใช้อย่างถูกวิธี นอกจากจะปลอดภัยทั้งผู้ใช้และผู้บริโภคแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลลำไยไทย เกิดเป็นมาตรฐานผลไม้ที่ปลอดภัย เพื่อก้าวสู่ตลาดโลกได้ต่อไป

www.prachatai3.info/journal/2005/08/21328 -



ผลกระทบของสารคลอเรตที่ให้ทางดินต่อระบบราก ลำต้นและกิ่งใบลำไย   Effect of Soil Treated Chlorate salt on root system, stem and leaves of Longan.

ผู้ดำเนิน วีระ วรปิติรังสี
พะเนิน ฉลูรัตน์
ศศิธร วรปิติรังสี
มนตรี ทศานนท์

ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย สถาบันวิจัยพืชสวน
--------------------------------

บทคัดย่อ

ศึกษาถึงผลกระทบของการให้สารคลอเรตทางดินต่อต้นลำไยพันธุ์ดออายุ 17 ปี ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ระหว่างกันยายน 2543 – ตุลาคม 2544 โดยการให้สารคลอเรตทางดิน 2 อัตราคือ อัตราสูง (105กรัม/เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร) และอัตราต่ำ (45 กรัม/เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร) แก่ต้นลำไยที่มีสภาพต้น 3 ระยะ คือลำไยที่ระยะแทงยอดอ่อน 5-7 ซม. แล้วเด็ดยอดทิ้งก่อนราดสาร ลำไยที่ระยะแทงยอดอ่อน 5-7 ซม. และลำไยที่ระยะมีใบเพสลาดแก่เต็มที่ ผลการทดลองพบว่า การให้สารคลอเรตทางดินทั้งอัตราสูงและต่ำแก่ลำไยทั้ง 3 ระยะ ไม่ทำให้ลำไยมีลักษณะใบ กิ่ง และยอดผิดปกติใดๆ แต่สำหรับระบบราก พบว่าสารคลอเรตทั้งอัตราต่ำและสูง จะทำให้รากลำไยที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 1 มม. เน่าตายใน 2 สัปดาห์หลังราดสาร ในทุกระยะสภาพต้นลำไย จากนั้นลำไยจะเริ่มมีการแตกรากใหม่ออกมาภายใน 4 สัปดาห์หลังราดสาร สำหรับการออกดอกพบว่า การให้สารคลอเรตแก่ลำไยทั้ง 3 ระยะ จะทำให้ลำไยมีเปอร์เซ็นต์การออกดอกใกล้เคียงกัน แต่การให้สารคลอเรตระยะใบแก่เพสลาดเต็มที่จะทำให้ลำไย มีระยะเวลาการพัฒนาของช่อดอกและผลลำไยเร็วกว่าการให้สารคลอเรตระยะลำไยแทงยอดอ่อน ขณะที่การเด็ดและไม่เด็ดยอดอ่อนทิ้งก่อนราดสารคลอเรต ลำไยมีการออกดอกและการพัฒนาช่อดอกใกล้เคียงกัน ในส่วนของผลผลิตและคุณภาพของผลผลิตของลำไยที่ให้สารคลอเรตทั้ง 3 ระยะ พบว่าไม่แตกต่างกัน


doachiangrai.com/V7.kolrat.htm - แคช -





ราดสารลำไย

ปุ๋ยที่ดีที่สุดคือปุ๋ยตราเงา เดือนมิถุนายนใกล้จะมาถึงแล้ว ชาวสวนลำไยทุกคนคงเตรียมพร้อมที่จะราดสารลำไยกันแล้ว หลังจากที่มีการเตรียมต้นลำไยกันมาหลายเดือน หมดเงินกันไปกับค่าปุ๋ยและฮอร์โมนต่างๆ ก็หลายหมื่น เพียงเพื่อหวังให้ต้นลำไยสมบูรณ์และออกดอกเต็มที่กับเม็ดเงินที่ลงทุนไป หลายคนหลายสูตรในการบำรุงต้นลำไย ซึ่งในที่นี้อาจมีในวารสารเกษตร หรือฟังเขาเล่าต่อกันมา(เอาเขาว่า) ก็แล้วแต่ครับ เพราะหลายคนก็หลายความคิด คนที่ได้รับผลประโยชน์เต็มๆคือร้านขายอุปกรณ์ทางการเกษตรครับ

ซึ่งผมอยากจะให้เกษตรกรทุกท่านคิดว่า หากเราลงทุนไปมากแต่ผลที่ได้ไม่คุ้มทุน ท่านต้องรอเวลาเป็นปี เพื่อที่จะราดสาร ดังนั้นผมคิดว่าอย่าฟังคนอื่นมากเกินไป ไม่ใช่ว่าเขาบอกว่าปุ๋ยนั้นดี ก็เอามาใช้ มันจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับการผลิตมากกว่า หากต้นลำไยสมบูรณ์ ไม่ย่นเวลาราดสารจากปีที่ผ่านมา สารที่ราดมีความเข้มข้น 100% ราดยังไงมันก็ออกครับ ไม่ต้องซื้อฮอร์โมนที่เขาโฆษณามาฉีดพ่นหรอกครับ มันสิ้นเปลือง ให้ท่านเกษตรกรใช้สารที่ราดทางดิน นำมาพ่นทางใบผสมกับสารเอททีฟอน(ช่วยปลิดใบอ่อน) ในอัตราที่เกษตรกรเข้าใจไม่ต้องทางวิชาการเกินไปคือ สารประมาณ 3 ขีดผสมสารเอททีฟอน 100 ซี.ซี ต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นทุก 3-7-14 วันตามลำดับ ประมาณ 25-30 ลำไยก็จะแทงช่อดอกออกมา หลังจากนั้นก็สุดแล้วแต่ท่านเกษตรกรจะบำรุงช่อดอกของลำไยต่อไป ซึ่งความคิดนี้ผมได้ทดลองใช้แล้ว ผลที่ออกมาปรากฏว่าคุ้มครับ ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าฮอร์โมนเปิดตาดอกหลังราดสาร หากเกษตรกรท่านใดสนใจ อยากจะทดลองใช้ผมไม่สงวนลิขสิทธิ์ครับ หากมันจะเป็นผลดีต่อท่านและครอบครัว และหากสนใจหรือมีปัญหาประการใดติดต่อผมได้ครับ หากไม่เหนือบ่ากว่าแรงผมเกินไป ผมยินดีครับ เพื่อปากท้องพี่น้องเกษตรชาวสวนลำไยไทย

"ปุ๋ยที่ดีที่สุดของการทำเกษตรคือปุ๋ยตราเงา"(ตราเงาที่ว่านี้คือเงาเจ้าของสวนนะครับ) ไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหนครับ ทุกคนมีเหมือนกันครับปุ๋ยชนิดนี้ พืชทุกชนิดต้องการการดูแลเอาใจใส่ หากเจ้าของดูแลพืชที่ปลูกอย่างดี ผลผลิตที่ได้ก็จะออกมาดีสมที่ตั้งใจครับ


gotoknow.org/blog/maejo69/362284 - แคช



สวนลำไยติดผลดกที่สุดด้วยน้ำสกัดชีวภาพจากสัตว์

สวัสดีค่ะคุณผู้ฟังที่รักทุกท่าน พบกับรายการสาระความรู้ทางการเกษตรจากคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กันอีกครั้งนะคะ สำหรับวันนี้ดิฉันดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ ขอเสนอเรื่อง สวนลำไยติดผลดกที่สุดด้วยน้ำสกัดชีวภาพจากสัตว์ ค่ะ

ในที่สุดเทคโนโลยีการบังคับให้ต้นลำไยออกดอกติดผลนอกฤดูก็ไม่เป็นความลับอีกต่อไปแล้วนะคะ สารที่มีบทบาทและเป็นตัวบังคับให้ต้นลำไยออกดอกติดผลนอกฤดูก็คือ โพแทคเซียมคลอเรท ซึ่งโดยปกติแล้วประโยชน์ของสารชนิดนี้จะใช้ทำระเบิด ดอกไม้เพลิง ดอกไม้แห้ง ไม้ขีดไฟ สี และสีย้อม ต่าง ๆเป็นต้น แต่เป็นความบังเอิญ ที่ว่าเมื่อนำมาราดให้กับต้นลำไยแล้ว มีผลให้ต้นลำไยออกดอกภายใน 20-35 วัน นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของการผลิตลำไยในประเทศไทย มีนักวิชาการเกษตรหลายคนมีความเชื่อว่าการผลิตลำไยในอนาคตไม่จำเป็นต้องพึ่งอากาศหนาวเย็นอีกต่อไป แต่สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ก็คือ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตรและกรมาส่งเสริมการเกษตร จะต้องเฝ้าติดตามถึงผลข้างเคียงของสาราชนิดนี้อย่างใกล้ชิด เพราะทราบมาว่าต้นลำไยที่จะใช้ โพแทสเซียมคลอเรท ราดนั้นจะต้องมีความสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นๆประกอบอีกมากมาย ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2542 ที่ผ่านมาต้นลำไยที่มีอายุมากมีการติดดอกออกผลมากและดกทุกต้นโดยไม่ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรท แต่เป็นการใช้น้ำสกัดชีวภาพจากสัตว์ ซึ่งนับเป็นอีกแนวทางหนึ่งของเทคโนโลยีในการทำให้ต้นลำไยออกดอกและติดผลดีได้ค่ะ

ต้นลำไยอายุ 20 ปี ติดผลดกที่สุดตั้งแต่ปลูกลำไยมา น้ำหนักผลในแต่ละช่อไม่ต่ำกว่า 5 กิโลกรัมเป็นสวนลำไยของ คุณสุรชัย กิตติกรวัฒนา หมู่ 2 บ้านหนองสมณะ ต.นครเจดีย์ อ.ป่างชาง จ.ลำพูน ปลูกลำไยพันธุ์อีดอ เบี้ยวเขียว และสีชมพู่ แต่มีพันธุ์อีดอมากที่สุด ปัจจุบัน ต้นที่มีอายุ 20 ปี มีจำนวน 104 ต้น อายุ 7 ปี จำนวน 30 ต้น เมื่อฤดูกาลผลิตลำไยในปี พ.ศ. 2540-41 หรือ 2 ปีที่ผ่านมาลำไยสวนนี้ออกดอกติดผลน้อยมากเหมือนกับสวนอื่นๆ จึงได้ปรึกษากับ คุณสำรวล ดอกไม้หอม หัวหน้ากลุ่มงานสัตว์ศัตรูพืช การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตร ถึงแนวทางการทำให้ต้นลำไยออกดอกติดผลโดยใช้น้ำสกัดชีวภาพจากสัตว์ที่มีชื่อว่า "ไบโอคิง" มาใช้กับต้นลำไย โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 ทำการกวาดใบลำไยแห้งที่ใต้ทรงพุ่มของต้นออกให้หมดเพื่อลดการใช้ไนโตรเจนและเป็นการทรมานต้น หลังจากนั้นใช้"ไบโอคิง" ทั้งทางดินและฉีดพ่นทางใบอย่างต่อเนื่อง 1-2 เดือน เพื่อให้ต้นลำไยมีความสมบูรณ์และพร้อมที่จะออกดอก "ไบโอคิง" เป็นน้ำสกัดที่ผลิตมาจากเนื้อหอยเชอรี่(ที่เป็นศัตรูข้าวที่สำคัญในขณะนี้)ซึ่งมีปริมาณโปรตีนสูงถึง 56% เมื่อนำมาผสมกับกากน้ำตาลและเติมจุลินทรีย์ในธรรมชาติเป็นตัวย่อยสลาย จนได้น้ำสกัดชีวภาพจากสัตว์ที่มีกรดฮิวมิค สูงถึง 3-4 % และเป็นกรดฮิวมิคที่ได้จากธรรมชาติอย่างแท้จริง นอกจากนั้นใน "ไบโอคิง" ยังมีกรดอิมิโน และแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์อีกมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อต้นพืช คุณสำรวลบอกว่าน้ำสกัดชีวภาพที่ผลิตได้มีมากมายหลายสูตร ตัวอย่างในระยะเร่งการออกดอกของต้นลำไยจะใช้ "ไบโอคิง" ฉีดพ่นให้กับลำต้นในอัตรา 30-50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน ค่ะ

ผลจากการใช้น้ำสกัดชีวภาพจากสัตว์ดังกล่าว ต้นลำไยทุกต้นในสวนของคุณสุรชัย ติดผลดกมาก โดยเฉพาะต้นลำไยที่มีอายุ 20 ปี คาดว่าเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2542 จะให้ผลผลิตถึงต้นละ 1,000 กิโลกรัม จากการเดินสำรวจต้นลำไยทั่วสวนพบว่าช่อลำไยที่ติดผลอ่อนอยู่นั้น มีขนาดก้านช่อใหญ่และยาวมากๆ ผลอ่อนยังเขียวอยู่แสดงว่ายังขยายผลได้อีกมาก ช่อที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ คาดว่าเมื่อผลลำไยแก่จะได้น้ำหนักผลพร้อมช่อไม่ต่ำกว่า 5 กิโลกรัมต่อช่อ อย่างไรก็ตามในการทำให้ต้นลำไยออกดอกติดผลได้ทุกปี คุณสำรวลย้ำว่าความสมบูรณ์ของต้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด กล่าวคือ ในช่วงต้นลำไยพักตัวจะต้องมีอากาศหนาวเย็นตลอดวัน มีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 7 วัน อย่างไรก็ตามถ้าปีใดที่อากาศมีความแปรปรวนเมื่อผ่านพ้นฤดูหนาวไปแล้วไม่ออกดอก เมื่อมีการเตรียมต้นมาอย่างดี เกษตรกรเจ้าของสวนลำไยควรจะราดโพแทสเซียมคลอเรทให้กับต้นลำไยด้วยการใช้น้ำสกัดชีวภาพ "ไบโอคิง" นะคะ มีสวนลำไยของคุณเจริญ ชัยชมพู ที่ราดสารโพแทสเซียมคลอเรทไปแล้ว และเสริมด้วย "ไบโดคิง" เป็นสวนตัวอย่างที่พบว่าต้นลำไยติดผลดกมากอีกสวนหนึ่งเช่นกันค่ะ

คุณผู้ฟังที่รักค่ะ หากคุณผู้ฟังต้องการได้รายละเอียดเกี่ยวกับรายการสาระความรู้ทางการเกษตรเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ หรือต้องการให้คำแนะนำ ติชม เข้ามาแก่ทางรายการนะคะ ก็สามารถเขียนจดหมายติดต่อเข้ามาได้ค่ะ โดยส่งมาที่ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โทร.(074)-211030-49 ต่อ 2370 หรือที่สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โทร.(074)-211030-79 ต่อ 2999 ในวันและเวลาราชการค่ะ

สำหรับวันเวลาของรายการสาระความรู้ทางการเกษตรได้หมดลงอีกแล้วละคะ คุณผู้ฟังจะติดตามรับฟังรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ณ สถานีวิทยุมอ.FM 88 MHz ทุกวันจันทร์เวลาประมาณสิบห้านาฬิกาสี่สิบห้านาที สำหรับวันนี้ดิฉันขอลาคุณผู้ฟังไปก่อนค่ะ สวัสดีค่ะ

natres.psu.ac.th/radio/radio_article/...43/42-430012.htm -


คำแนะนำสำหรับการใช้สารกลุ่มคลอเรต

เร่งการออกดอกลำไยอย่างปลอดภัย
(เฉพาะโซเดียมคลอเรตและโพแทสเซียมคลอเรต)
1. คุณสมบัติของสารกลุ่มคลอเรต
1.1 เมื่อผสมกับกรดกำมะถันจะเกิดอันตรายและสามารถระเบิดได้
1.2 สารบริสุทธิ์เป็นผลึกใสหรือผงสีขาว มีคุณสมบัติไม่ติดไฟแต่จะช่วยให้สารอื่นเกิด การลุกไหม้ได้ดีขึ้น
1.3 เป็นส่วนผสมในการผลิตวัตถุระเบิด พลุ และไม้ขีดไฟ
1.4 ละลายได้ในน้ำและในสารละลายอื่น เช่น แอลกฮอล์อัลคาไลน์ (ด่าง) และกลีเซอรอล เป็นต้น

2. ข้อควรระวังในการใช้สารกลุ่มคลอเรต
2.1 เป็นวัตถุอันตรายชนิดวัตถุระเบิด อาจเกิดระเบิดได้เมื่อได้รับความร้อนสูง
2.2 อาจเป็นอันตรายต่อพืช ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
2.3 เก็บรักษาไว้ให้ห่างจากวัตถุไวไฟ ประกายไฟ และหลีกเลี่ยงการใช้ผสมกับสารอินทรีย์ทุกชนิด เช่น กำมะถัน ผงถ่านปุ๋ยยูเรีย น้ำตาลทราย สารกลุ่มซัลเฟตและเกลือแอมโมเนียเกือบทุกชนิด เช่น แอมโมเนียมคลอไรด์ และแอมโมเนียมซัลเฟต เป็นต้น เพราะจะทำให้ง่ายต่อการติดไฟและอาจเกิดระเบิดอย่างรุนแรงขึ้นได้
2.4 ไม่ควร ทุบ บด กระแทกสาร หรือทำให้สารเกิดการเสียดสีโดยเด็ดขาด เพราะแรงเสียดทานจะทำให้สารเกิดระเบิดได้
2.5 ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและตา ทำลายเม็ดโลหิตแดง เป็นอันตรายต่อไตและกล้ามเนื้อหัวใจ จึงควรทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังการใช้สาร

ข้อควรคำนึงก่อนใช้สาร
1. ไม่ควรใช้สารในช่วงเวลาที่ลำไยมีใบอ่อน
2. ต้นลำไยที่จะใช้สารควรเป็นต้นที่สมบูรณ์เท่านั้น
3. ควรมีแหล่งน้ำในสวนลำไย
4. ควรใช้สารตามอัตราที่กำหนดในรูปของสารบริสุทธิ์ ห้ามผสม กับสารอื่นใด

3. วิธีการใช้สาร
3.1 วิธีการราดลงดิน
3.2 วิธีการพ่นสารทางใบ
3.3 วิธีการฉีดเข้ากิ่ง


3.1 วิธีการราดลงดิน
1. หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตควรดูแลรักษาต้นลำไย โดยการตัดแต่งกิ่ง ให้ปุ๋ยและพ่นยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชบำรุงต้นให้สมบูรณ์ โดยให้ต้นลำไยมีการแตกใบใหม่อย่างน้อย 1-2 ชุดขึ้นไป และช่วงเวลาให้สารควรอยู่ในระยะใบแก่หรืออย่างต่ำต้องอยู่ในระยะใบเพสลาดขึ้นไป
2. ก่อนการให้สารถ้าเป็นไปได้ให้งด หรือลดการให้น้ำลงเพื่อให้ต้นลำไยได้พักตัว และลดการดูดธาตุไนโตรเจนมากลำไยอาจแตกใบอ่อน หรืออาจแตกช่อเพียงพอที่ไม่ทำให้ต้นลำไยเหี่ยวเฉาเท่านั้น
3. ทำความสะอาดบริเวณทรงพุ่ม โดยกำจัดวัชพืช และกวาดวัสดุคลุมดินออกไปจากโคนต้น ไม่จำเป็นต้องสับหรือพรวนดิน ถ้าดินแห้งเกินไปควรรดน้ำให้ชุ่มก่อนราดสาร
4. อัตราการใช้สาร ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์หรือความเข้มข้นของเนื้อสาร ชนิดของดิน ขนาดของทรงพุ่มและระยะเวลา ควรใช้สารที่มีความเข้มข้นของเนื้อสารไม่ต่ำกว่า 95% โดยมีอัตราการใช้สารดังนี้
- ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของทรงพุ่มต้นลำไย 4-5 เมตร ใช้สาร 100-200 กรัมต่อต้น
- ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของทรงพุ่มต้นลำไย 5-7 เมตร ใช้สาร 200-400 กรัมต่อต้น
- ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของทรงพุ่มต้นลำไย มากกว่า 7 เมตร ใช้สาร 500 กรัมต่อต้น
5. ใช้สารคลอเรตในอัตราที่กำหนดตามขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของทรงพุ่มต้นลำไย ผสมกับน้ำ 80 ลิตร ใช้ไม้คนให้ทั่วจนสารละลายเป็นเนื้อเดียวกัน บรรจุสารละลายในภาชนะที่ปิดมิดชิดขณะนำไปราด
6. ราดสารละลายที่ผสมแล้วลงดินบริเวณชายพุ่มเป็นแนววงแหวนกว้างประมาณครึ่งเมตร เนื่องจากบริเวณชายพุ่มเป็นบริเวณที่ลำไยมีรากฝอยที่กำลังเจริญเติบโตจึงสามารถดูดซึมสารละลายคลอเรตเข้าสู่ลำต้นได้อย่างรวดเร็ว
7. ในช่วง 10 วันแรกหลังราดสาร ต้องรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ เพื่อให้ปริมาณสารละลายคลอเรตเคลื่อนที่เข้าสู่ระบบรากของลำไยได้ดีและเร็วขึ้น ลดการเกิดพิษภัยกับต้นลำไยและสารสะสมในดิน
8. หลังจากราดสารประมาณ 20-30 วัน ลำไยเริ่มออกดอก ควรให้น้ำแก่ลำไยให้ชุ่มชื้นสม่ำเสมอ เพื่อให้การพัฒนาของดอกเป็นไปอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ควรดูแลป้องกันกำจัดโรคและแมลงตามความจำเป็น
9. สวนลำไยที่จะราดสารต้องมีแหล่งน้ำ เพื่อให้น้ำแก่ต้นลำไยหลังราดสาร และตลอดฤดูกาลติดผลของลำไยโดยเฉพาะการบังคับลำไยออกดอกนอกฤดูในช่วงที่ลำไยติดผล จะต้องให้น้ำแก่ลำไยอย่างเพียงพอเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี
10. ต้นลำไยที่บังคับให้ออกดอกโดยการราดสารคลอเรตในปีที่ 1 แล้วในปีต่อไป ควรเว้นเพื่อบำรุงต้นลำไยให้มีความสมบูรณ์เต็มที่ ไม่ให้ต้นทรุดโทรม ดังนั้นควรแบ่งลำไยออกเป็น 2 แปลงและทำสลับปีเว้นปี
11. ควรใช้สารคลอเรตตามอัตรากำหนด หากใช้มากไปจะมีผลทำให้ต้นลำไยโทรมเร็วขึ้น

3.2 วิธีการพ่นสารทางใบ (เฉพาะสารโพแทสเซียมคลอเรต)

การปฏิบัติในการพ่นสารทางใบ
1. ต้นลำไยต้องสมบูรณ์
2. การพ่นสารทางใบสามารถใช้ได้กับลำไยทุกพันธุ์
3. ควรพ่นสารในช่วงทีลำไยมีใบแก่เท่านั้น (ระยะ 4-8 สัปดาห์หลังจากแตกใบอ่อน) เพราะหากพ่นในระยะที่ลำไยมีใบอ่อนอาจออกดอกไม่ดี หรืออาจทำให้ช่อดอกสั้น
4. หลังจากพ่นสารพ่นแล้ว 25-30 วัน ลำไยจะเริ่มแทงช่อดอก

วิธีการพ่นสาร
1. ผสมสารให้มีความเข้มข้นในอัตราส่วนผสมสาร 2 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร โดยคนสารให้ละลายในน้ำให้หมดก่อนแล้วจึงเทใส่ถังพ่นยา
2. ควรพ่นในตอนเช้า หรือช่วงอากาศไม่ร้อยแต่ถ้ามีฝนตกในระยะ 1-2 วันหลังจากพ่นแล้วควรพ่นสารซ้ำอีกครั้ง

ข้อควรระวัง
1. ไม่ควรใช้สารในปริมาณสูงกว่าคำแนะนำ เพราะหากใช้ในอัตราสูงอาจทำให้ลำไยใบไหม้และใบร่วงได้
2. การพ่นควรพ่นให้โดนส่วนของปลายยอดลำไยให้มากที่สุดเพราะจะเป็นจุดที่มีการออกดอก
3. ให้คำนึงเสมอว่าสารที่ใช่พ่นเป็นอันตราย ต้องระมัดระวังและต้องทำความสะอาดชุดที่สวมใส่ทันทีหลังจากพ่นแล้ว

*ไม่ควรผสมสารใดๆ ในสารที่ใช้พ่น*

3.3 การฉีดเข้ากิ่ง
1. เลือกต้นลำไยที่มีใบแก่เต็มที่ เลือกกิ่งที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10-15 ซม.
2. ใช้สว่านเจาะกิ่งลึก 1-1.5 นิ้ว
3. นำปลอกพลาสติกที่นิยมใช้กับต้นทุเรียนตอกลงไปในรูให้แน่น
4. ละลายสารคลอเรต อัตรา 0.25 กรัมต่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่ง 1 เซนติเมตร ละลายน้ำ 4 ซีซี.
5. จากนั้นใช้หลอดฉีดยาขนาด 60 ซีซี. ดูดสารละลานที่ผสมจนหมดและดูดอากาศเข้าไปอีกประมาณ 10 ซีซี. เพื่อเป็นตัวดันสารละลานอีกทางหนึ่ง แล้วฉีดเข้าไปในกิ่งโดยผ่านทางปลอกพลาสติก
6. อัดสารละลายเข้าไปโดยใช้ลวดแข็งหรือตะปูสอดบริเวณรูของหลอดและด้านฉีดที่เจาะไว้ให้ยึดติดกับกระบอกหลอดฉีดยาเพื่อป้องกันแรงอัดดีดตัวก้านฉีดออกมาจากนั้นรอจนสารละลายหมดดึงหลอดฉีดยาและปลอกออกเพื่อใช้งานต่อไป



การปฏิบัติดูแลรักษาหลังจากใช้สาร
1. ต้องปฏิบัติและดูแลรักษาต้นลำไยตามคำแนะนำการผลิตลำไยอย่างถูกต้องและเหมาะสม (GAP) ของกรมวิชาการเกษตร
2. ในช่วงการเจริญและพัฒนาของช่อดอกและผล ต้องมีการให้น้ำและปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ มิฉะนั้นจะทำให้ได้ผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพและต้นโทรมได้
3. ถ้าลำไยติดผลมากเกินไป อาจต้องช่วยลดปริมาณผลลงโดยการตัดช่อผลออกให้เหลือ 60-70 ผลต่อช่อ
4. การให้ปุ๋ยทางดิน ระยะที่ผลลำไยขยายตัว ใช้ปุ๋ยไนโตรเจน : ฟอสฟอรัส : โพแทสเซียม อัตราส่วน 3 : 1 : 2 หรือ 4 : 1 : 2 หรือใกล้เคียง และช่วงก่อนเก็บเกี่ยวควรให้ปุ๋ยอัตราส่วน 1 : 2 : 4 หรือ 1 : 2 : 5 หรือใกล้เคียง โดยใส่ก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือนครึ่ง
5. ควรตรวจการระบาดของแมลง เช่น หนอนวักใยกินดอกลำไย และหนอนเจาะผลลำไยขณะที่ผลอ่อน

การเก็บรักษาสารกลุ่มคลอเรต
ต้องเป็นไปตามข้อแนะนำในข้อมูลความปลอดภัย
1. ต้องไม่ให้สัมผัสกับอินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยยูเรีย ถ่าน
2. ต้องไม่ผสมกับสารกำมะถัน ผงถ่าน ขี้เลื่อย ปุ๋ยคอก ปุ๋ยยูเรีย สารฆ่าแมลง อาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง ผ้า กระดาษ เศษไม้แห้ง เพราะเมื่อได้รับความร้อนอาจทำให้เกิดลุกไหม้หรือระเบิดได้
3. เก็บไว้ในที่เย็น และแห้ง อากาศถ่ายเทได้ดี
4. เก็บให้พ้นจากมือเด็ก

เมื่อเกิดเพลิงไหม้
1. ต้องอพยพผู้คนให้ห่างออกไปอย่างน้อย 1,000 เมตรโดยรอบ
2. ให้ใช้น้ำเท่านั้นดับเพลิง

ข้อควรปฏิบัติในการใช้สารกลุ่มคลอเรต
1. ภาชนะบรรจุสารต้องมีฝาปิดมิดชิด
2. เก็บไว้ในอาคารที่มีการถ่านเทอากาศที่ดีและต้องมีพื้นที่ว่างเหลือไว้โดยรอบ เก็บให้ห่างจากอาหาร เครื่องดื่มและอาหารสัตว์ ห้ามว่างบนพื้นไม้และต้องจัดว่างสารไม่ให้สูงเกิน 3 เมตร
3. ควรใช้สารนี้ในรูปของเหลว โดยผสมกับน้ำ
4. สวมใส่ชุดป้องกันที่ทำด้วยใยสังเคราะห์ไวนิล นีโอพรีน หรือ พีวีซี
5. สวมรองเท้าบู๊ตที่ทำด้วยใยสังเคราะห์ไวนิล หรือนีโอพรีน
6. สวมแว่นตาชนิดที่กระชับลูกตา
7. สวมถุงมือยางและสวมหมวก
8. ห้ามสูบบุหรี่ขณะราดสารละลายกลุ่มคลอเรตและต้องระวังอย่าให้สาร
สัมผัสกับผิวหนังหรืออวัยวะต่างๆโดยตรง
9. หลังราดสารแล้วต้องทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดทุกครั้ง
10. ระวังสัตว์เลี้ยงประเภทวัว ควาย อย่าให้มากินหญ้าบริเวณที่ใช้สาร เพราะอาจทำให้เป็นอันตรายถึงตายได้
11. การใช้สารกลุ่มคลอเรตเพื่อทำให้ลำไยออกดอก ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง

ข้อควรปฏิบัติเมื่อได้รับสารพิษในกลุ่มคลอเรต
สารในกลุ่มคลอเรตเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายในระคายเคืองต่อผิวหนังและตา และหากสะสมในร่างกายในปริมาณมากอาจมีผลต่อไตและเม็ดเลือดแดงได้ ดังนั้น หากร่างกายได้รับสารดังกล่าวควรปฏิบัติดังนี้
1. หากสารสัมผัสผิวหนังหรือเข้าตา ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 15 นาที
2. ถ้าสูดหายในเอาก๊าซพิษที่เกิดจากการสลายตัวของสารนี้เข้าไป ให้ย้ายผู้ป่วยไปในที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้ออกซิเจน และนำส่งแพทย์ทันที
3. หากกลืนเข้าไปรีบทำให้อาเจียนทันทีและดื่มน้ำมาก ๆ ถ้ามีอาการรุนแรงควรให้ออกซิเจนและนำส่งแพทย์
4. หากผู้ป่วยหมดสติ ห้ามปฐมพยาบาลโดยวิธีผายปอดแบบปากต่อปาก

พิษของสารคลอเรตและการแก้พิษ
อาการพิษ
1. ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ซีด เนื่องจากโลหิตจาง ถ้าเป็นมากทำให้ไตวายได้ มีอาการปัสสาวะไม่ออกและมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางอาจทำให้ชัก อาการที่เห็นเด่นชัดและสังเกตได้ง่ายที่สุดคืออาเจียนและตัวเขียว
2. หากได้รับสารคลอเรตเข้าร่างกายในปริมาณ 15-30 กรัม สำหรับผู้ใหญ่ และ 7 กรัม สำหรับเด็ก ทำให้เสียชีวิตได้ แต่ยังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิตเนื่องจากสารนี้มาก่อน

การแก้พิษ
1. ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนโดยเร็ว โดยการล้วงคอหรือให้ยาช่วยอาเจียนหรือให้กลืนผงถ่านเข้าไปเพื่อช่วยดูดซับสารคลอเรตในกระเพาะ ลดการดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือดและให้ดื่มน้ำมาก ๆ ถ้ามีอาการรุนแรงควรให้ออกซิเจนและนำส่งแพทย์
2. ให้ดื่มสารละลาย ซึ่งประกอบด้วยโซเดียมไธโอซัลเฟต 2-3 กรัม ผสมกับ โซเดียมไบคาร์บอเนต ความเข้มข้น 5% จำนวน 200 ซีซี จะสามารถทำลายฤทธิ์ของคลอเรตได้ หรือให้แพทย์ทำการล้างสารออกจากเลือด
3. ให้ดื่มนมเพื่อลดการระคายเคืองต่อกระเพาะ
4. ทำให้ร่างกายผู้ป่วยอบอุ่น และอยู่นิ่ง ๆ จนอาการเขียวค่อยๆ ลดลง
5. หากอาการต่างๆ ค่อยๆ ลดลงภายใน 12 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะสามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้
6. หากได้สัมผัสสารละลาย ให้รีบล้างออกทันทีด้วยน้ำสะอาดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 15 นาที
7. ถ้าสูดหายใจเอาก๊าซพิษที่เกิดจากการสลายตัวของสารนี้เข้าไปให้ย้ายผู้ป่วยไปในที่มีอากาศถ่ายเทได้
8. หากผู้ป่วยหมดสติ ห้ามปฐมพยาลบาลโดยวิธีผายปอดแบบปากต่อปาก


เอกสารอ้างอิง
กรมส่งเสริมการเกษตร. 2542. ปัญหาลำไยนอกฤดูกับโพแทสเซียมคลอเรต (KCIO3). เอกสารประกอบการสัมมนา วันที่ 12 มีนาคม 2542 ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ชิติ และคณะ. 2542. ผลของสารโพแทสเซียมคลอเรต (KCIO3) ต่อการออกดอกนอกฤดูของลำไยพันธุ์ดอ. รายงานการสัมมนาฮอร์โมนพืชเพื่อการผลิตไม้ผลนอกฤดูกาล. วันที่ 9-11 มิถุนายน 2542 ณ โรงแรมเค พี แกรนด์ สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทย, จันทบุรี. หน้า 30-37.

ประทีป กุณาศล. 2542. การผลิตลำไยนอกฤดู. เอกสารโรเนียว. สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร. 4 หน้า.

พงศ์พันธุ์ จึงอยู่สุข. 2542. การใช้โพแทสเซียมคลอเรต (KCIO3) บังคับให้ลำไยออกดอก. เอกสารโรเนียว. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่.

ยุทธนา และคณะ. 2542. ผลของสารโพแทสเซียมคลอเรตทางใบ ทางเลือกที่ดีกว่าของชาวสวนลำไย. วารสารเคหการเกษตร ฉบับเดือน กันยายน 2542.

รวี เสรฐภักดี. 2542. การออกดอกของลำไยและการใช้สารบังคับ. เอกสารโรเนียว. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 5 หน้า.

วินัย วิริยะอลงกรณ์ วรินทร์ สุทนต์ พาวิน มะโนชัย นภดล จรัสสัมฤทธิ์และเสกสันต์ อุชสหตานนท์. 2542. การศึกษาเบื้องต้นของวิธีการฉีดสารโพแทสเซียมคลอเตรเข้าทางกิ่งต่อการออกดอกติดผลของลำไยพันธ์ชมพู. รายงานการสัมมนาฮอร์โมนพืชเพื่อการผลิตไม้ผลนอกฤดูกาล. วันที่ 9-11 มิถุนายน 2542 ณ โรงแรม เค พี แกรนด์ สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทย, จันทบุรี.

วีระวรรณ เรืองยุทธการณ์. พิษคลอเรต. เอกสารโรเนียว. หน่วยพิษวิทยา ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร
สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ. เชียงใหม่ 50290
โทร. 0-53873938 , 0-53873939


www.it.mju.ac.th/dbresearch/organize/extention/book.../fruit041.htm -




ลำไยนอกฤดู

สูตร ไพโรจน์ แก้วภัยพาล แนะวิธีง่ายๆ ทำในเขตภาคกลาง เน้นลดต้นทุนการผลิต

เทคโนโลยีการเกษตร
มนตรี แสนสุข

"ลำไย" ผลไม้เศรษฐกิจระดับประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกลำไยเป็นอันดับ 1 ของโลก ไปยังหลายๆ ประเทศ ทั้งในรูปของผลสดและลำไยแปรรูป สร้างมูลค่าสินค้าเกษตรส่งออกให้กับประเทศไทยปีละไม่ใช่น้อย

สมัยก่อนลำไยมีปลูกกันมากทางภาคเหนือของประเทศ มาระยะหลังมีการใช้สารเร่งให้ลำไยติดดอกนอกฤดูกาลได้ ลำไยจึงมีปลูกกันทั่วทุกภาคของประเทศ ผลผลิตจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ขึ้นอยู่กับสภาพของท้องถิ่นนั้นๆ ในเขตภาคกลางมีการปลูกลำไยนอกฤดูมานานนับ 10 ปีแล้ว เริ่มมีการนำเอาลำไยมาปลูกและทำนอกฤดูที่จังหวัดราชบุรีเป็นครั้งแรก ซึ่งก็ได้ผลดี ทำให้มีการปลูกลำไยเพื่อทำนอกฤดูแพร่หลายไปนอกภาค

คุณไพโรจน์ แก้วภัยพาล เกษตรกรชาวสวนผลไม้ย่านตำบลแหลมบัว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานจากการปลูกไม้ผลแทบทุกชนิดมาแล้ว ก็เลยหันมาปลูกลำไยเพื่อทำนอกฤดูกาลดูบ้าง ผลปรากฏว่าเพียงชั่วระยะเวลา 5 ปี คุณไพโรจน์เก็บผลผลิตลำไยขายมาแล้ว 4 รุ่น รับทรัพย์เข้ากระเป๋า ยิ้มไม่ยอมหุบมาจนทุกวันนี้

คุณไพโรจน์บอกว่า เรื่องไม้ผลปลูกมาทุกชนิด มีแต่รุ่งริ่งไม่รุ่งโรจน์ เห็นละแวกบ้านเขาปลูกลำไยกันประกอบกับพรรคพวกทางเหนือก็สนับสนุน เลยทดลองปลูกลำไยดู ในเนื้อที่สวน 40 กว่าไร่ ซื้อกิ่งพันธุ์ลำไยสีดอมา 400-500 กิ่ง นำมาลงปลูก

การปลูกลำไยคุณไพโรจน์บอกว่า ไม่ยุ่งยากอะไรเลย จะมายุ่งก็ตอนหาไม้ค้ำกิ่งหลังลำไยติดผลแล้ว ช่วงลำไยติดขนาดมะเขือพวงนั่นแหละ ก่อนไปซื้อกิ่งพันธุ์ลำไยมาปลูก ก็ต้องเตรียมพื้นที่ปลูกเอาไว้ก่อน ที่สวนย่านนครชัยศรีปลูกแบบระบบร่องสวน ปรับพื้นที่ให้เรียบ พลิกดินสักครั้ง หรือจะเพียงแค่ขุดโค่นไม้อื่นออกให้หมดก็ได้ ยึดความสะดวกของเจ้าของสวนเป็นหลัก

พอเตรียมที่ปลูกได้แล้วก็ไปหากิ่งพันธุ์มาปลูก สำหรับตนไปซื้อกิ่งพันธุ์ลำไยสีดอจากจังหวัดลำพูน พอมาถึงก็ขุดหลุมลงปลูกเลย ไม่มีพิธีรีตองให้ยุ่งยาก เอากิ่งลงหลุม กลบหลุมให้แน่น หาไม้มาปักเป็นหลักป้องกันกิ่งหักโค่นเสียหน่อยก็จะดีไม่ใช่น้อย จากนั้นก็ลดน้ำให้ชุ่ม เป็นอันเสร็จพิธี ทำง่ายๆ แบบลูกทุ่งย่านนครชัยศรี

แต่ถ้าเกษตรกรจะรองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกเสียก่อนก็ดี ต้นจะได้โตเร็วขึ้น เวลากลบหลุมพูนดินให้เป็นโคกป้องกันน้ำขังก็เป็นความประณีตของพี่น้องเกษตรกรอีกแบบหนึ่ง

คุณไพโรจน์บอกว่า สำหรับตนมาเน้นให้ปุ๋ยตอนหลัง พอดินรัดราก ต้นตั้งตัวดีแล้ว ถึงให้ปุ๋ยขี้วัวขี้ไก่ใส่เดือนละครั้ง ไม่ช้าต้นก็จะแตกยอด คราวนี้เสริมด้วยปุ๋ยเคมีบ้างไม่ต้องมาก จะทำให้ยอดพุ่งเร็วขึ้น เพียงแค่ไม่ถึง 2 ปี ต้นก็จะสอนเป็น ติดลูกผลครั้งแรกแล้ว

"สำหรับบ้านเราหมายถึงที่นครชัยศรี จะต้องราดสารบังคับให้ติดดอก ไม่เช่นนั้นลำไยก็จะไม่ติดดอก ลำไยบ้านเราจะไม่ออกตามธรรมชาติ ต้องบังคับ"

คุณไพโรจน์ กล่าวและว่า ลำไยบ้านเราราดสารบังคับ 7 เดือน เก็บผลได้ ลำไยภาคเหนือราดสารบังคับ 8 เดือน เก็บผล ต่างกัน 1 เดือน การราดสารต้องกำหนดก่อนว่าจะเก็บลำไยช่วงไหน จากนั้นก็นับเดือนถอยหลังไป 7 เดือน เป็นเดือนที่ต้องราดสารบังคับ ที่สวนกำหนดเก็บเดือนธันวาคม-มกราคม ช่วงปีใหม่ ฉะนั้นการราดสารจะราดราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม

ก่อนราดสารราวเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงต้นให้สมบูรณ์ที่สุดเสียก่อน พอถึงเดือนที่จะราดสาร ก็ให้กักน้ำอย่าให้ต้นแตกใบอ่อน ต้องคุมยอดให้อยู่ ไม่ให้ยอดพุ่งขึ้น กักน้ำให้หน้าดินแห้งแตกระแหง จนต้นโศกพอสมควร เวลาราดสารจึงจะลงถึงรากได้เร็ว

พอต้นโศก ใบหงอย ให้ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตผสมน้ำ แล้วแต่ทรงพุ่มของต้น ถ้าทรงพุ่ม 1 เมตร ใช้สาร 3 ขีด ผสมน้ำ 15 ลิตร ราดรอบทรงพุ่ม อย่าเพิ่งรีบรดน้ำ ปล่อยทิ้งไว้ก่อน พอรุ่งขึ้นอีกวันจึงค่อยๆ รดน้ำ พรมๆ ไม่ต้องมาก ให้วันเว้นวันไป 7 วัน จากนั้นก็ 5 วัน รดน้ำครั้ง ถ้าเป็นลำไยอายุน้อยประมาณ 25 วัน ก็จะแทงยอดให้เห็น

ใบอ่อนติด 3 คู่ใบ จึงจะมีช่อดอกตามออกมา คราวนี้ใส่ปุ๋ยทางดิน สูตร 25-7-7 ให้น้ำสม่ำเสมอ เป็นอันว่าได้ลำไยในชุดนี้แน่นอน พอช่อดอกเป็นเม็ดไข่ปลา ฉีดยาป้องกันเพลี้ยไฟ 1 ครั้ง เข้าระยะ 15 วัน จากติดช่อดอกสู่ระยะดอกบาน ต้องหยุดฉีดยาโดยสิ้นเชิง ระบบน้ำให้สม่ำเสมออย่าให้ขาด จนดอกติดเป็นผลเล็กๆ ให้ฉีดยาป้องกันเพลี้ยไฟอีก 1 ครั้ง ทิ้งระยะประมาณ 7 วัน ให้ฮอร์โมน แคลเซียมโบรอน ทางดินให้ปุ๋ย สูตร 16-16-16 เมื่อผลขนาดเม็ดถั่วเขียวเปลี่ยนเป็นให้ปุ๋ยขี้ไก่ ผลใหญ่ขึ้นให้ฮอร์โมนสูตรเดิมอีกครั้งหนึ่ง พอลำไยก้มหัวลงจากช่อหยุดการให้ฮอร์โมน ทางดินให้ปุ๋ย สูตร 13-13-21 ให้น้ำสม่ำเสมอ 5 วันครั้งตลอด

ขณะที่ผลลำไยค่อยๆ โตขึ้น ฉีดยาฆ่าเชื้อรา 10 วัน ต่อครั้ง พอผลลำไยขนาดมะเขือพวง ให้ตัดแต่งตัดช่อที่ไม่สมบูรณ์ออก อย่าให้กิ่งแบกผลมากเกินไป ให้เหลือประมาณ 40% ของกิ่ง แล้วก็หาไม้ค้ำกิ่งป้องกันกิ่งฉีกขาดเมื่อผลค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น

คุณไพโรจน์บอกว่า ถ้าหนาวมาเร็วจะเก็บผลได้เร็วกว่าทางเหนือ หลังเก็บผลขายก็ต้องบำรุงต้น แล้วก็ตัดแต่งกิ่ง เอากิ่งไม่ดีภายในทรงพุ่มออกให้หมด แต่งกิ่งให้โปร่ง แดดส่องเข้าถึงได้ยิ่งดีใหญ่ จากนั้นก็ใส่ปุ๋ยพื้นปุ๋ยคอก ถ้าดูดเลนจากร่องสวนขึ้นมาใส่โคนต้นได้ยิ่งดีใหญ่ พอเข้าหน้าร้อนโคนต้นจะชื้น ให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 1 ครั้ง ช่วยให้ต้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เข้าช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ดูที่ต้นถ้าเห็นต้นสมบูรณ์ ใบเขียวเข้มดี ก็ให้กักน้ำเตรียมราดสารบังคับในรุ่นต่อไป

สำหรับปัญหาศัตรูของลำไยนั้น คุณไพโรจน์บอกว่ามีไม่มาก คอยดูเพลี้ยแป้งให้ดีๆ ดูแล้วไม่ใช่ให้ผ่านเลยไป ต้องฉีดยาป้องกันด้วย โรคอื่นๆ ก็ไม่มีอะไร ส่วนเจ้าแมลงวันทอง ถ้าทำผลเก็บช่วงธันวาคม-มกราคม ไม่มีปัญหา ไม่มีระบาด

"สวนผมเก็บผลมา 4-5 ครั้งแล้ว ได้ผลผลิตดี ปีที่แล้วเก็บลำไยได้ประมาณ 50 ตัน ทำท่าจะดีแต่ก็ไม่ดีเพราะราคาไม่ดี กลายเป็นแค่ท่าดีแต่ทีเหลวซะยังงั้น" คุณไพโรจน์กล่าวและว่า ถึงอย่างไรก็ดีกว่าทำนาและทำสวนไม้ผลอื่นๆ ลำไยทำง่ายกว่ากันมาก ไม้ผลอื่นๆ ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ต้นทุนการผลิตสูง เปลืองค่ายา ค่าปุ๋ย ที่นับวันจะแพงขึ้นๆ ไม่มีถูกลง

ในเรื่องของตลาดคู่แข่งนั้น คุณไพโรจน์บอกว่าไม่ต้องพูดถึงเลย เราอยากให้หันมาปลูกลำไยกันให้เยอะๆ เสียอีก จะได้ส่งล้งได้ง่าย ถ้ามีลำไยมากๆ ทางล้งเขาจะส่งคนงานมาเก็บให้ ไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายแรงงานเก็บ และค่อนข้างจะหายากอีกด้วย ตลาดที่รับซื้อรายใหญ่ส่งที่ตลาดศรีเมืองราชบุรี

การทำลำไยนอกฤดูทุกวันนี้ เกษตรกรจะต้องดูเรื่องต้นทุนการผลิตให้ดี ต้องเน้นเรื่องการลดต้นทุนเป็นอันดับแรก ปุ๋ยควรใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้วัว ปุ๋ยขี้ไก่ จะดีกว่า ส่วนปุ๋ยเคมีให้เพียงแค่อาหารเสริมเท่านั้น เกษตรกรต้องรู้จักประยุกต์ใช้ เพราะปัจจุบันค่าปุ๋ยค่ายาราคาแพงมาก คุณไพโรจน์แนะนำในช่วงท้ายสำหรับเกษตรกรที่คิดจะหันมาปลูกลำไยดูบ้าง

clinictech.wu.ac.th/detail.php?id=214 -





ลำไย


สภาพพื้นที่ พื้นที่ปลูกลำไยเป็นที่เนินระหว่างภูเขา มีความลาดเอียงเพียงเล็กน้อย ดินเป็นดินร่วนเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ดีพันธุ์ ใช้พันธุ์อีดอ เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนนิยมปลูกมากที่สุด เนื่องจากออกดอกและเก็บผลก่อนพันธุ์อื่น เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตดี โดยเฉพาะในดินอุดมสมบูรณ์ ระยะปลูก 8 x 8 เมตร

การให้ปุ๋ย
หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนสิงหาคม ทำการใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1.5 กิโลกรัมต่อต้น และใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 10 กิโลกรัมต่อต้น หลังจากนั้น 10-15 วัน จะเริ่มแตกยอด ทำการพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 0-52-34 อัตรา 150 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อบำรุงยอด หลังจากราดสาร 3 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 อัตรา 1.5กิโลกรัมต่อต้น ใช้แกลบและฟางกลบบริเวณโคนต้น พ่นปุ๋ยทางใบสูตร 0-52-34
อัตรา 150 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร กระตุ้นให้ใบแก่จะทำให้แทงช่อดอกได้เร็วขึ้น ในช่วงดอกตูม พ่นสารแคลเซียม โบรอน อัตรา 300 มิลลิลิตรต่อน้ำ 200 ลิตร เพื่อช่วยให้ดอกสมบูรณ์มีขนาดใหญ่ ช่วยพัฒนาดอกให้ติดผลเร็วขึ้น และลดการหลุดร่วงของผลอ่อน ในช่วงติดผลเล็กประมาณเดือนพฤษภาคม ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น และปุ๋ยคอก อัตรา 10 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อบำรุงผลให้เจริญเติบโต

ประมาณกลางเดือนมิถุนายน ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิต

การให้น้ำ
การปลูกลำไยของเกษตรกรอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก แต่ในช่วงฤดูแล้งก็มีแหล่งน้ำเสริม
คือน้ำจากสระ โดยเกษตรกรจะใช้เครื่องสูบน้ำและรดลำไยด้วยสายยาง การให้น้ำมีความจำเป็นอย่างมากซึ่งต้องมีการให้น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการราดสารโพแทสเซียมคลอเรต ต้องให้น้ำอย่างระมัดระวังและต่อเนื่อง หลังจากติดผลก็ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเกษตรกรจะสังเกตความชื้นในดินก่อนที่จะให้น้ำ

การราดสารโพแทสเซียมคลอเรต (KClO3) การผลิตลำไยในฤดูกาลปกติเกษตรกรจะประสบปัญหาลำไยออกดอกไม่สม่ำเสมอซึ่งจะออกดอกประมาณ 40-60 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนกิ่ง

เกษตรกรจึงใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต เพื่อให้ลำไยออกดอกมากและสม่ำเสมอ ถ้าหากไม่ราดสารลำไยจะออกดอกน้อยและออกเฉพาะบางกิ่งเท่านั้นทำให้ได้ผลผลิตต่ำ และนอกจากนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อให้ลำไยออกดอกได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเก็บผลผลิตได้เร็วขึ้นทำให้ขายได้ราคาดี โดยปกติแล้วลำไยโดยทั่วไปจะออกดอกไม่เกินวันที่ 15 มกราคม แต่ถ้าราดสารโพแทสเซียมคลอเรต จะทำให้ออกดอกเร็วขึ้น คือจะออกดอกในวันที่ 1 มกราคม (ลำไยจะแทงช่อดอกหลังจากราดสาร 1 เดือน

การเตรียมต้น หลังจากมีการให้ปุ๋ยบำรุงหลังจากเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคมลำไยจะ แทงยอด ในเดือนตุลาคมใบลำไยจะอยู่ในระยะใบเพสลาด ทำการริดใบออกให้เหลือกิ่งละ 4 ใบ

หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ลำไยจะแทงยอดออกมาอีก ทำการพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงอีกครั้ง เมื่อถึงระยะใบเพสลาด ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายนทำการราดสารโพแทสเซียมคลอเรต ก่อนราดสารต้องทำความสะอาดบริเวณโคนต้นรอบทรงพุ่ม กำจัดวัชพืชและกวาดเอาวัสดุคลุมดินออก จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มต้นละประมาณ 200 ลิตร

วิธีการราดสารโพแทสเซียมคลอเรต หลังจากให้น้ำ 2 วัน ทำการราดสารโดยละลายน้ำราดให้ทั่วบริเวณทรงพุ่ม ต้นลำไยอายุ 4-5 ปี ใช้อัตรา 0.3 กิโลกรัมต่อต้น

ลำไยอายุ 8 ปี ใช้อัตรา 0.5 กิโลกรัมต่อต้น หลังจากราดสารต้องให้น้ำวันละ 1 ครั้ง 3 วันติดต่อกัน หลังจากนั้นควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งลำไยออกดอก เมื่อถึงต้นเดือนมกราคมลำไยจะแทงช่อดอก ครั้งแรกควรให้น้ำทีละน้อย ๆ พอชุ่ม หลังจากนั้นให้น้ำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยให้น้ำทุก ๆ 3-4 วัน จนติดผล

การค้ำกิ่ง หลังระยะติดผล ผลลำไยจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรมีการใช้ไม้ไผ่ หรือกิ่งไม้ ค้ำตามกิ่งของลำไย เพื่อช่วยพยุงกิ่งไม่ให้ฉีกหัก

การป้องกันกำจัดศัตรูลำไย
ในช่วงหลังจากใส่ปุ๋ยครั้งแรกลำไยจะแตกยอดอ่อน ศัตรูที่สำคัญคือหนอนกินใบ แมลงกินนูน และด้วงงวงช้าง ทำการพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง โดยพ่นสารไซ
เพอร์เมทริน 2 ครั้ง หลังจากติดผลจะพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงเดือนละ 1 ครั้ง โดยพ่นสารไซเพอร์เมทริน แมนโคเซบ หรือแคบแทน โดยจะหยุดพ่นสารเคมีก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งเกษตรกรมีความมั่นใจในความปลอดภัยของผลผลิต

การกำจัดวัชพืช
ใช้วิธีการตัด

การเก็บเกี่ยว
ลำไยจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม การเก็บเกี่ยวใช้กรรไกรตัดช่อผลลำไย นำช่อผลใส่ตะกร้าขนย้ายไปยังสถานที่คัดเกรด

วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
สถานที่คัดเกรดเป็นอาคารเล็ก ๆ อยู่บริเวณข้างแปลงลำไยเกษตรกรจะนำลำไยที่ตัดจากต้นมาวางบนเสื่อ ทำการตัดผลลำไยที่มีขนาดเล็กไม่ได้มาตรฐานในแต่ละ
ช่อออกจากช่อผล และตัดกิ่งแห้งในช่อผลออกเพื่อความสวยงาม มัดช่อผลลำไยมัดละประมาณ 1 กิโลกรัม บรรจุใส่ถุงพลาสติกที่เจาะรูระบายอากาศรอบถุง โดยบรรจุถุงละ 10 กิโลกรัม ในการจำหน่าย จะมีพ่อค้ามารับซื้อที่แปลง หรือบางครั้งจะนำไปจำหน่ายเอง

เขียนโดย nipaporn ที่ 20:09

nipaporn613.blogspot.com/2010/01/blog-post_9758.html -




ผ่ากึ๋น อธิบดีทรงศักดิ์ ล้วงวิธีทำ ลำไยนอกฤดู

โดย คม ชัด ลึก

การทำให้ผลผลิต ลำไยนอกฤดู มีคุณภาพสูงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกลำไยได้หันมาผลิตลำไยนอกฤดูแพร่หลายมากขึ้น

ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีพื้นที่ปลูกประมาณ 80,000-100,000 ไร่ กระจายอยู่ในเขตภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ลำพูน และ จ.พะเยา รวมทั้งภาคตะวันออก เช่น จ.จันทบุรี เป็นต้น โดยลำไยนอกฤดูจะให้ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี

"หลังการชักนำให้ลำไยออกดอกและติดผล ถือเป็นช่วงสำคัญที่เกษตรกรควรใส่ใจ ถ้าบำรุงต้นลำไยดีก็จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง โดยภายหลังราดสารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อชักนำการออกดอกของต้นลำไยแล้ว ควรหมั่นดูแลบำรุงรักษาต้นลำไยในสวนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการให้น้ำและปุ๋ยเคมี ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพผลผลิต" ทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องลำไยให้คำแนะนำพร้อมย้ำว่า

ส่วนปริมาณการให้น้ำอาจคำนวณการใช้น้ำของลำไยแต่ละต้นต่อวัน โดยคำนวณจากพื้นที่ทรงพุ่มคูณกับค่าการใช้น้ำจริงต่อวัน เช่น [color=red]ต้นลำไยขนาดทรงพุ่ม 3 เมตร ในเดือนพฤษภาคม ควรใช้น้ำ 42 ลิตรต่อวัน[/color] เป็นต้น ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน สภาพภูมิอากาศ วิธีการให้น้ำและระยะการเจริญเติบโตของพืชด้วย

การให้ปุ๋ยเคมีนั้น เกษตรกรควรส่งตัวอย่างดินในสวนลำไยไปวิเคราะห์คุณภาพดินก่อน ซึ่งจะทำให้ทราบถึงปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่แล้วในดินเพื่อที่จะได้ปรับปรุงดินก่อนใส่ปุ๋ย จะส่งผลให้ลำไยใช้ปุ๋ยได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้อาจมีการวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในใบลำไยร่วมด้วย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการให้ปุ๋ยในฤดูผลิตปีถัดไป

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรให้รายละเอียดถึงวิธีการใช้ปุ๋ยว่าสำหรับอัตราการให้ปุ๋ยเคมีแก่ต้นลำไยขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตต่อต้น เช่น ถ้าลำไยติดผลมากก็ใส่มาก หากติดผลน้อยก็ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลง เช่น ต้นที่คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 100 กิโลกรัม ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 จำนวน 900 กรัมต่อต้น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 960 กรัมต่อต้น และปุ๋ยสูตร 0-0-60 จำนวน 880 กรัมต่อต้น โดยแบ่งใส่ 2-3 ครั้งในปริมาณเท่าๆ กัน ทั้งนี้ ลำไยแต่ละสวนอาจตอบสนองต่อปุ๋ยที่ให้แตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างของดินและฝีมือการจัดการสวน

การปรับปรุงคุณภาพผลลำไย ทรงศักดิ์ย้ำว่าถือเป็นเรื่องสำคัญ หากลำไยติดผลดกมากกว่า 80 ผลต่อช่อ โอกาสที่จะได้ผลผลิตด้อยคุณภาพก็มีค่อนข้างสูง เนื่องจากธาตุอาหารที่ส่งไปหล่อเลี้ยงผลอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงควรตัดช่อผลให้เหลือไม่เกิน 50 ผลต่อช่อ โดยพิจารณาความสมบูรณ์ของต้นการตัดช่อผลควรตัดเมื่อมีผลขนาดเท่ากับเมล็ดถั่วเขียว โดยใช้กรรไกรตัดตรงกลางช่อผล

"เกษตรกรยังสามารถปรับปรุงสีผิวผลลำไย โดยการห่อช่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หนาประมาณ 2 ชั้น ซึ่งก่อนห่อช่อผลควรทำการฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อน โดยต้องห่อช่อผลเมื่อเมล็ดลำไยเริ่มเปลี่ยนสี หรือห่อไว้ประมาณ 8 สัปดาห์ก่อนการเก็บเกี่ยว จะช่วยให้ได้ผลผลิตลำไยที่มีคุณภาพดี ผิวเปลือกมีสีเหลืองสวย เป็นจุดขายอย่างหนึ่งที่ช่วยดึงดูดผู้บริโภค" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องลำไยแนะนำ พร้อมย้ำถึงวิธีการปัญหาการระบาดของโรคและแมลงว่า

จะพบมากในช่วงลำไยติดผล ศัตรูพืชที่สำคัญได้แก่ เพลี้ยไฟ และไรสี่ขา ถ้าระบาดอย่างรุนแรงควรพ่นสารเมทโธเอท ทั้งนี้ ไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลงในช่วงดอกบาน เนื่องจากอาจจะเป็นอันตรายต่อแมลงที่ช่วยผสมเกสร สำหรับช่วงติดผลให้ระมัดระวังแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง ควรดูแลตั้งแต่ผลขนาดเล็ก โดยใช้น้ำมันปิโตรเลียมหรือไวท์ออยล์ฉีดพ่น จะสามารถช่วยป้องกันและควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืชได้


news.sanook.com › สกู๊ปพิเศษ - แคช -





ลำไยโป่งน้ำร้อน..ฉลุย ทำนอกฤดู 3.5 หมื่นไร่

ภาคตะวันออก....เป็นแหล่งสำคัญในการผลิตผลไม้ และในช่วงฤดูนี้จะมีผลิตผลของทุเรียน มังคุด เงาะ ฯลฯ ออกมาจนเกินความต้องการ...ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นทุกๆปี

กับการปริมาณปริ่มหรือเกินความต้องการนี้ ทำให้ราคาตกต่ำ แม้ว่าภาครัฐจะช่วยผลักดันส่งออกแต่ก็ช่วยได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากผลกระทบในปีนี้ เกษตรกรพากันเอาเงาะมากองกันจนเต็มถนน....

....คาบเวลาที่ผลไม้อื่นๆกำลังมีปัญหาเรื่องราคา ก็มีผลไม้ชนิดหนึ่งที่จำหน่ายได้อย่างฉลุยคือ ลำไย เนื่องจากว่าผลผลิตที่ออกมาในยามนี้เป็น ช่วงที่ก่อนฤดูกาล (ลำไยทั่วไปมีฤดูการเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม) จึงทำให้ ผลผลิตเป็นที่ต้องการแก่ผู้บริโภค

นายชำนาญ บัวเฟื่อง เกษตรอำเภอโป่งน้ำร้อน สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร บอกว่า....เฉพาะที่โป่งน้ำร้อนอำเภอเดียวมีเกษตรกรปลูกลำไย พันธุ์อีดอ 3,750 ราย และ ผ่านการรับรองตามระบบ GAP ไปแล้ว 1,300 ราย....พื้นที่ ลูกลำไย 49,000 ไร่ ส่วน ผลิตนอกฤดูมากถึง 35,000 ไร่

ในปีที่ผ่านมามีผลผลิตลำไยนอกฤดูออกมาทั้งสิ้น 61,000 ตัน โดยมีนายทุนมารับซื้อถึงสวนจำนวน 9 ราย เพื่อนำส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และ กัมพูชา ซึ่งราคาต่ำสุดอยู่ที่ กิโลกรัมละ 18 บาท และราคาสูงสุด ประมาณ 40 บาทต่อกิโลกรัม โดยเกษตรกรมี ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 12-20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรบางรายที่มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ขึ้นไป สามารถจำหน่ายผลผลิตมี กำไรถึง 6 ล้านบาท

นายอำนาจ จันทรส อยู่ที่ บ้านคลองคด หมู่ 7 ตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เป็นผู้หนึ่งที่ผลิตลำไยนอกฤดูเพื่อการส่งออก ทำให้มีรายได้ปีหนึ่งๆเป็นกอบเป็นกำ สามารถหลุดพ้นจากภาวะปัญหาสินค้าล้นตลาดอันเป็นแบบอย่างที่ดีเล่าว่า.... ทำสวนลำไยมา 25 ปี ช่วงแรกผลผลิตออกมาไม่ดีเท่าไหร่ จึงไปศึกษาหาความรู้ในการ ทำลำไยนอกฤดู จากเกษตรอำเภอโป่งน้ำร้อน แนะนำไปพบกับ โกบั๊ก เกษตรกร ซึ่งประสบความสำเร็จในการทำลำไยนอกฤดูมาแล้ว ที่ อำเภอรัตนภูมิ จังหวัดสงขลา

จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 12 ปี ได้ทำลำไยนอกฤดูในพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ แบ่งเป็น 2 โซน ทำการราด สารโพแทสเซียมคลอเรต เพื่อเร่งการออกดอกห่างกันประมาณ 2 สัปดาห์ ในรอบการผลิตที่ผ่านมาได้ผลผลิตลำไยออกมาประมาณ 150-160 ตัน มีพ่อค้ามาซื้อลำไยสดช่อที่สวนในราคากิโลกรัมละ 25-28 บาท โดยมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม

“การผลิตลำไยนอกฤดูไม่ควรใส่สารเร่งการออกดอกเพื่อมุ่งเอาผลประโยชน์อย่างเดียว ต้องเอาใจใส่ดูแลบำรุงรักษาต้นให้ดีที่สุด เพื่อยืดอายุให้ยาวนานขึ้น หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตป้อนสู่ตลาดแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งให้พร้อมที่จะผลิตรอบใหม่ โดยการ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยขี้ไก่และมูลสัตว์) ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อต้น และ ใส่ปุ๋ยเคมี ร่วมด้วย จะทำให้ ต้นลำไยฟื้นตัวเร็วขึ้น พร้อมที่ราดสารเพื่อเร่งการออกดอกอีกครั้ง” นายอำนาจกล่าว ชาวสวนลำไยบ้านคลองคด กล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐบาลช่วยเปิดตลาดส่งออกกลุ่มใหม่ อย่างเช่น ตะวันออกกลาง และ อินเดีย เพื่อลดการพึ่ง ตลาดจากจีน ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยผลักดันปริมาณการส่งออกสินค้าผลไม้ไทยได้เพิ่มสูงขึ้น ไม่ควรเก็บภาษีซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นการ เพิ่มต้นทุนการผลิต รวมทั้งการอำนวยความสะดวกใน การตรวจวิเคราะห์ และ ออกใบรับรองคุณภาพสินค้า ต้องเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (ONE STOP SERVICE) เนื่องจากผลไม้สดใช้เวลานานมากจะเน่าเสียง่าย
    




หน้าก่อน หน้าก่อน (3/6) - หน้าถัดไป (5/6) หน้าถัดไป


Content ©