-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 447 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ไม้เศรษฐกิจ3




หน้า: 1/2


ยูคาลิปตัส

การเตรียมพื้นที่ปลูก

การเตรียมพื้นที่ปลูกเป็นขั้นตอนหนึ่ง ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของยูคาลิปตัส การจะจัดเตรียมพื้นที่ปลูกอย่างไรขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ สภาพดินซึ่งจะต้องพิจารณาในแต่ละพื้นที่ดังต่อไปนี้

1. ในสภาพพื้นที่ที่แห้งแล้ง เช่น เป็นดินลูกรัง พื้นที่ประเภทนี้จะมีไม้แคระแกรน ขึ้นกระจัดกระจายทั่วไป ซึ่งกีดขวางการเจริญเติบโตของไม้ที่ปลูกและมีปัญหา พื้นผิวหน้าดินแข็ง อันจะมีผลต่อการซึมลงไปได้ของน้ำฝน วิธีการเตรียมพื้นที่ที่ดีที่สุด คือการใช้แทรกเตอร์ไถปาดไม้เดิมที่มีออกและเก็บริบสุมเผาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคมให้หมด จากนั้นก่อนเข้าฤดูฝนปลายเดือนเมษายน – ปลายเดือนพฤษภาคม ใช้แทรกเตอร์ไถพรวน 2 ครั้ง การไถอายุประมาณ 3 เดือนครั้งแรกใช้ผานสาม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่รองรับน้ำฝนที่ตกลงมา และซึมลงข้างล่าง หลังจากฝนตกหนัก 2 – 3 ครั้ง ใช้รถแทรกเตอร์ผานเจ็ดไถพรวนแปรกลับอีกครั้ง การเตรียมพื้นที่แบบนี้จะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนระยะแรกสูง แต่การปลูกจะได้ผล และต้นไม้จะเจริญเติบโตดี อีกทั้งเป็นการกำจัดวัชพืชได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะทุ่นค่าใช้จ่ายในการบำรุงดูแลรักษา

2. ในสภาพพื้นที่ที่เป็นไร่ร้าง หรือพื้นที่กสิกรรมเก่า หรือพื้นที่ป่าที่ถูกแผ้วถางมาเป็นเวลานาน พื้นที่เหล่านี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับวัชพืช ตอนต้นฤดูฝนก่อนปักหลักระยะปลูกควรใช้แทรกเตอร์ไถพรวน และเก็บรากวัชพืชออกด้วยก็จะช่วยลดการแก่งแย่งของวัชพืชในระยะแรกของการปลูกได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งจะช่วยให้กล้าไม้ที่ปลูกตั้งตัวอย่างรวดเร็ว และสามารถต่อสู้กับวัชพืชได้เป็นอย่างดี

ภายหลังการไถพรวน สิ่งที่ต้องกระทำต่อไปคือการปักหลักระยะปลูกและการขุดหลุมปลูก หากสามารถจัดเตรียมได้กว้างและลึกยิ่งเป็นการดี แต่พื้นที่ที่มีการจัดเตรียมอย่างดีโดยการไถพรวน ขนาดของหลุมประมาณ 25x25x25 ซม. ถึง 50x50x50 ซม. ก็เป็นการเพียงพอ พื้นที่ที่ผ่านการไถพรวนแล้วนั้น การขุดหลุมปลูกสามารถกระทำได้ง่ายและรวดเร็ว หรือจะชักร่องห่างเท่าระยะระหว่างแถว แล้วขุดหลุมปลูกตามระยะที่ต้องการก็ได้


 
การปลูก

ขนาดกล้าไม้ที่พอเหมาะในการย้ายปลูกอายุประมาณ 3 – 5 เดือน สูงประมาณ 25 – 40 ซม. ควรเลือกปลูกหลังจากวันที่ฝนตก ทำให้ดินเปียกชื้นพอสมควร ประการสำคัญถุงพลาสติก ต้องฉีกออกและทิ้งนอกหลุม เพื่อให้ระบบรากสามารถชอนไชออกไปตั้งตัว และหาอาหารได้ดีขึ้นแล้ว กลบดินและกดรอบๆ ต้นไม้ให้แน่น ในบริเวณพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ระดับดินที่กลบหลุม ควรให้เป็นแอ่งลึกกว่าระดับดินโดยรอบเล็กน้อย เพื่อให้เป็นแอ่งรับน้ำฝนเลี้ยงต้นไม้
ระยะปลูกจะใช้ระยะปลูกถี่ห่างเท่าใดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ และการนำไม้ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งมี ข้อคิดเห็นดังนี้

1) ปลูกเพื่อเป็นฟืนหรือเผ่าถ่าน ซึ่งใช้ไม้ขนาดเล็ก ก็อาจปลูกระยะถี่ เช่น ใช้ระยะปลูก 1x2 เมตร หรือ 2x2 เมตร ซึ่งจะปลูกได้ 400 – 800 ต้น/ไร่ ในช่วง 2 – 3 ปีก็สามารถ ตัดไม้มาขายใช้ทำฟืนหรือเผ่าถ่านขายได้ และต้นตอไม้ยูคาลิปตัสที่ตัดออกไปสามารถ แตกหน่อได้โดยไม่ต้องปลูกขึ้นใหม่

2) ปลูกเพื่ออุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ เฟอร์นิเจอร์ หรือไม้สำหรับใช้ในการก่อสร้าง ที่ต้องการไม้ขนาดโตก็ควรใช้ระยะปลูก 2x3, 2x4 หรือ 4x4 เมตร ซึ่งจะปลูกได้ 100 – 270 ต้น/ไร่ สามารถตัดมาใช้เพื่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ได้เมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไป ส่วนไม้เพื่อการก่อสร้างต้องมีอายุมากกว่า 5 ปี การปลูกระยะห่างนั้น ในปีที่ 1 – 2 สามารถ ปลูกพืชเกษตรควบลงในระหว่างต้นและแถวของต้นไม้ได้ เป็นการใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ และยังมีรายได้ระหว่างคอยผลจากต้นไม้อีกด้วย


ปลูกยูคาลิปตัสบนคันนา

ปลูกยูคาลิปตัสบนขอบบ่อเลี้ยงปลา
การบำรุงรักษา

การกำจัดวัชพืช เนื่องจากยูคาลิปตัสคามาลดูเลนซิส มีความต้องการแสงและมีความสามารถในการแก่งแย่งกับพวกวัชพืชในระยะแรกได้น้อยดังนั้น การดายวัชพืชอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องจำเป็นแต่เมื่อต้นไม้สูงพ้นวัชพืชแล้ว การดายวัชพืชรอบโคนต้นปีละครั้งก็เป็นการเพียงพอ ส่วนวัชพืชระหว่างต้นและระหว่างแถว ก็ใช้มีดหวดให้สั้นก็พอ ซึ่งการกำจัดวัชพืชนี้นอกจากจะเป็นการลดการแก่งแย่งแสงและธาตุอาหารในดินให้แก่ต้นไม้แล้ว ยังเป็นการลดเชื้อเพลิงที่จะเกิดไฟป่าที่จะเป็นอันตรายต้นไม้ที่ปลูกอีกด้วย

การป้องกันไฟป่า ไฟป่าเป็นตัวทำลายที่สำคัญต่อสวนป่า ดังนั้นการป้องกันไฟป่าเป็นเรื่องจำเป็น มิฉะนั้นต้นไม้ที่ปลูกมาด้วยความเหนื่อยยากและใช้เวลานาน จะถูกทำลายลงในเวลาไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ การป้องกันไฟป่าทำได้โดยการกำจัดวัชพืชให้น้อยลง การทำแนวกันไฟ การชิงวัชพืชก่อนถึงหน้าแล้งซึ่งเป็นช่วง ที่เกิดไฟป่า การเตรียมคนและอุปกรณ์ให้พร้อมเพื่อดับไฟ เมื่อเกิดไฟไหม้สวนป่าก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะป้องกันการเกิดไฟป่าและลดความรุนแรงที่เกิดจากไฟป่าได้

การใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีขึ้น ควรใส่ปุ๋ยให้กับต้นไม้บ้างเป็นครั้งคราวจะใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกก็ได้ สำหรับปริมาณที่ใส่ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ขนาดต้นไม้ ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นแห่งๆ ไป โดยใช้หลักว่าใส่ปริมาณน้อยแต่ใส่บ่อยๆ ต้นไม้จะใช้ประโยชน์จากปุ๋ยได้เต็มที่ใส่ปุ๋ยรอบต้นให้ห่างจากโคนเล็กน้อย พร้อมกับพรวนดินรอบๆ โคนต้น

การลิดกิ่ง ยูคาลิปตัสบางสายพันธุ์จะแตกกิ่งก้านตั้งแต่ยังเล็กหรือมีกิ่งที่มีขนาดใหญ่ทำให้ดูเป็นปู หากผู้ปลูกต้องการไม้ที่มีลำต้นเปลาตรง ควรหมั่นตรวจและลิดกิ่งเสมอ แต่บางสายพันธุ์จะมีกิ่งก้านเล็ก ซึ่งจะแห้งและร่วงหล่นเองตามธรรมชาติในฤดูแล้ง

การตัดสางขยายระยะ ในกรณีที่ปลูกต้นไม้ในระยะถี่ เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตมากขึ้นก็จะมีการเบียดบังและแก่งแย่งกันเอง ทำให้ต้นไม้ที่เหลืออยู่เจริญเติบโตดีขึ้น และไม้ที่ตัดออกก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ โดยจะเลือกตัดต้นที่มีลักษณะเลว หรือคดงอ แคระแกร็นออก หรืออาจจะเลือกตัดออกแบบง่ายๆ เช่น ตัดออกแบบต้นเว้นต้น หรือแถวเว้นแถว หรือสลับกัน ก็แล้วแต่ผู้ปลูกจะพิจารณาตามความเหมาะสม

การบำรุงรักษาอื่นๆ ได้แก่ การป้องกันสัตว์เลี้ยงเข้าเหยียบย่ำในระยะที่ต้นไม้ยังเล็ก การป้องกันโรคและแมลง ซึ่งผู้ปลูกจะต้องหมั่นตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ

การเจริญเติบโต

การปลูกสร้างสวนป่ายูคาลิปตัส ถ้าหากได้มีการดำเนินการปลูกและบำรุงรักษาอย่างดีถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว ต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกในสวนป่า จะเจริญเติบโตและให้ผลผลิตตอบแทนในระยะเวลา 5 ปี การเจริญเติบโตของยูคาลิปตัสในระยะ 5 – 7 ปีแรกไม่ต้องการเนื้อที่เท่าใดนัก เนื่องจากมีเรือนยอดแคบๆ แม้บางแห่งจะเห็นต้นไม้อยู่อย่างเบียดเสียดกันบ้างแต่การเจริญเติบโตยังคงเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงยังไม่จำเป็นนัก ในการตัดสางขยายระยะ อย่างไรก็ตามสิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติในการดูแลต้นไม้คือหากพบต้นไม้ใดที่ไม่แข็งแรง เช่น ต้นที่ถูกแมลง รบกวนหรือเป็นโรค ไม้ ที่แคระแกร็นหรือหากถูกข่มจากต้นข้างเคียงมาก ควรต้องตัดทิ้งออกไป สวนป่าที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เกี่ยวกับการกำจัดวัชพืชและเชื้อเพลิงต่างๆ อย่างดีแล้ว มักจะรอดพ้นอันตรายจากไฟป่าได้ หรือในกรณีที่ต้นไม้ยูคาลิปตัสได้รับอันตรายจากไฟป่าส่วนใหญ่ก็จะแตกตาออกมาอีกตามกิ่ง ลำต้นและตาเหล่านี้ จะเจริญเติบโตเป็นหน่อใหม่หรือบางครั้งลำต้นเดิมจะเริ่มเจริญเติบโตต่อไปอีกอย่างปกติ

การตัดฟัน และการไว้หน่อ

1.ปลูกระยะ 1x1 เมตร (ไร่ละ 1,600 ต้น) ปีที่ 2 ตัดออก 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อทำฟืนขนาดเล็ก ปีที่ 3 – 4 ตัดออก 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อทำฟืนและถ่าน ที่เหลือตัดในปีที่ 5 เพื่อทำเยื่อกระดาษ ชิ้นไม้สับ เสาขนาดเล็ก และไม้แปรรูปขนาดเล็ก

2.ปลูกระยะ 2x2 เมตร และ 2x4 เมตร (ไร่ละ 400 ต้น และ 20 ต้น) ปีที่ 3- 4 ตัดออก 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อทำฟืนและถ่าน ปีที่ 5 ตัดทำเยื่อกระดาษ ชิ้นไม้สับ เสาขนาดเล็ก และไม้แปรรูปขนาดเล็ก หรือคงเหลือไม้ลักษณะดีไว้ 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อทำไม้แปรรูปใช้ก่อสร้าง บ้านเรือน

3.ปลูกระยะ 3x3 เมตร, และ 4x4 เมตร (ไร่ละ 176, 100 ต้น) ตัดในปีที่ 5 ทั้งหมด เพื่อทำเยื่อกระดาษ ชิ้นไม้สับ ฟืน ถ่าน เสาขนาดเล็ก และไม้แปรรูปขนาดเล็ก หรือคงเหลือไม้ลักษณะดีไว้ 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อทำไม้แปรรูปใช้ก่อสร้างบ้านเรือน

การตัดไม้ยูคาลิปตัสในสวนป่าออกมาใช้ประโยชน์ดังกล่าว ควรทำในระยะเริ่มต้นฤดูฝน เพราะดินมีความชื้น ต้นไม้ที่ตัดโคนลงจะได้รับความเสียหายจากการโค่นล้มน้อยกว่าช่วงหน้าแล้ง และควรตัดต้นไม้ยูคาลิปตัสให้ระดับพื้นดินประมาณ 10 – 12 ซม. เพื่อปล่อยให้แตกหน่อใหม่ จากนั้นอีกประมาณ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 จำนวน 10 กก./ไร่ ปล่อยไว้อีก 1 – 2 เดือน ทำการตัดแต่งหน่อไว้ให้เหลือเพียง 2 – 3 หน่อ หรืออาจจะเหลือไว้ 7 – 8 หน่อ อีกประมาณ 1 ปี จึงค่อยสางหน่อออกไป 5 – 6 หน่อ ไปทำฟืน – ถ่าน หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น เหลือหน่อที่ดีที่สุดเพียงหน่อเดียวหรือ 2 หน่อ ทำการบำรุงรักษาทุกๆ ปีตามปกติจนตัดฟันครั้งต่อไป


ประโยชน์ของไม้ยูคาลิปตัส
ยูคาลิปตัสสามารถนำมาปลูกเป็นสวนป่าเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูงเมื่อเปรียบเทียบกับไม้โตเร็วชนิดอื่น ในช่วง 1 – 2 ปีแรกสามารถปลูกพืชควบในพื้นที่สวนป่าแบบไร่นาป่าผสม หรือวนเกษตรได้ เช่น ปลูกละหุ่ง เผือก ถั่วลิสง สัปปะรด ข้าวโพด ข้าว หญ้ากินี ฯลฯ ในระหว่างแถวของยูคาลิปตัสซึ่งจากการวิจัยของนักวิชาการพบว่า พืชควบที่ปลูกให้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดีและ ยูคาลิปตัสไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อพืชเกษตร ที่ปลูกแต่อย่างใด
-ประโยชน์ทางตรง

ไม้ยูคาลิปตัสสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางตรงได้หลายหลายอย่างดังนี้

1. ทำไม้ใช้สอย เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน ทำรั้ว ทำคอกปศุสัตว์ ทำเสา ใช้ในการก่อสร้างต่างๆ ไม้ยูคาลิปตัสสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาคารบ้านเรือนได้ แต่ควรจะได้ทำการ อาบน้ำยารักษาเนื้อไม้ไว้ก่อน ก็จะยืดอายุ การใช้งานได้นาน

2. ทำฟืน เผาถ่าน ถ่านไม้ยูคาลิปตัสใช้เป็นเชื้อเพลิงติดไฟได้ดีและมีขี้เถ้าน้อย จากการทดลอง ไม้ฟืนยูคาลิปตัสให้พลังงานความร้อน 4,800 แคลอรี่ต่อกรัม ส่วนถ่านไม้ยูคาลิปตัส ให้พลังงานความร้อน 7,400 แคลอรี่ต่อกรัม ซึ่งให้ความร้อนใกล้เคียงกับถ่านไม้โกงกาง ซึ่งจัดว่าเป็นถ่านไม้ชั้นดีที่สุด

3. ทำชิ้นไม้สับ ไม้ยูคาลิปตัสเมื่อนำมาแปรรูปและสับทำชิ้นไม้สับ สามารถนำไปผลิตแผ่นชิ้นไม้อัด แผ่นใยไม้อัด แผ่นปาร์ติเกิล และแผ่นไม้อัดซีเมนต์ นอกจากนี้ได้มีโรงงานผลิตชิ้นไม้สับ เพื่อนำส่งไปจำหน่ายให้กับโรงงานเยื่อกระดาษทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลี ไต้หวัน และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งมีความต้องการสูงมาก ไม้ท่อนยูคาลิปตัส 2.2 ตัน นำมาผลิตเป็นชิ้นไม้สับได้ 1 ตัน ราคาชิ้นไม้สับ ประมาณตันละ 3,000 บาทเศษ

4. ทำเยื่อไม้ ไม้ยูคาลิปตัสสามารถแปรรูปทำเยื่อไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งมูลค่าผลผลิตเยื่อไม้ราคาตัน 17,000 บาท โดยไม้ท่อนยูคาลิปตัส 4.5 ตัน ผลิตเยื่อไม้ได้ 1 ตัน เยื่อไม้ให้สารพวกเซลลูโลส ซึ่งนำไปใช้ทำเส้นใยเรยอนและทำผ้าแทนเส้นใยฝ้าย และปุยนุ่นได้อีกด้วย โดยมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นตันละ 60,000 บาท และเมื่อนำเส้นใยเรยอนมาปั่นเป็นเส้นด้าย และทอเป็นผ้าจะมีมูลค่าสูงถึง ตันละ 75,000 บาท และ 300,000 บาท ตามลำดับ

5. ทำกระดาษ จากการประเมินเยื่อไม้ยูคาลิปตัส 1 ตัน ผลิตเยื่อกระดาษได้ประมาณ 1 ตัน เยื่อไม้ยูคาลิปตัสมีคุณสมบัติเด่น คือ มีความฟูสูง และมีความทึบแสง ประกอบกับ ไฟเบอร์มีความแข็งแรงเหมาะต่อการใช้ทำกระดาษพิมพ์เขียวประเภทต่างๆ ได้


-กองไม้ชิ้นสับ


 
ประโยชน์ทางอ้อม

1. เห็ด ที่ระบบรากของไม้ยูคาลิปตัสจะมีเชื้อราไมคอร์ไรซ่าชนิดต่างๆ อาศัยอยู่ เป็นตัวช่วย ดูดธาตุฟอสฟอรัสให้กับต้นยูคาลิปตัสได้มากขึ้น ช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตดี และปรับปรุงดินเสื่อม ให้มีคุณภาพดีขึ้น เมื่อถึงฤดูฝนเชื้อไมคอร์ไรซ่าเหล่านี้ ก็จะแทงดอกเห็ดโผล่เหนือพื้นดิน เพื่อแพร่ กระจายพันธุ์ออกไป คนจึงเก็บดอกเห็ดเหล่านี้ไปกินไปขายได้ ในที่สวนป่ายูคาลิปตัสบางแห่งพบว่า มีเห็ดเกิดขึ้นใต้ต้นยูคาลิปตัสมากมายซึ่งเรียกว่า เห็ดยูคา ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เช่น เห็ดเสม็ด เห็ดไข่ เห็ดระโงกขาว เป็นต้น ซึ่งสามารถรับประทานได้ อาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทดลองหาวิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดยูคาในห้องปฏิบัติการอยู่ ซึ่งเชื่อแน่ว่าหากสามารถเพาะเชื้อเห็ดยูคาได้ และนำเชื้อเห็ดชนิดนี้ไปใส่ในสวนป่ายูคาลิปตัส และใส่ปุ๋ยคอกช่วยแล้ว จะทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเห็ดยูคาบริโภค และส่งขายได้ เป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

2. เลี้ยงผึ้ง ดอกยูคาลิปตัสมีน้ำหวานล่อแมลงมาผสมเกสรและดูดเอาน้ำหวานไปสร้างรวงผึ้ง และไม้ยูคาลิปตัสมีดอกปีละ 7 – 8 เดือนหรือเกือบตลอดปี ซึ่งผิดกับพันธุ์ไม้ชนิดอื่นๆ ทั่วไป ที่มักจะมีดอก 1 – 2 เดือน/ปี จึงเป็นประโยชน์มากสำหรับการเลี้ยงผึ้ง น้ำผึ้งที่ได้จากดอกไม้ ยูคาลิปตัสมีรสและคุณภาพดีเหมือนกับน้ำผึ้งที่ได้จาก ดอกไม้ชนิดอื่นๆ

3. สิ่งแวดล้อม ช่วยทำให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติ เช่น เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ พื้นที่อันเนื่องจากปริมาณน้ำที่ต้นไม้ยูคาลิปตัสดูดขึ้นไปคายน้ำออกทางใบ เป็นปริมาณกว่า 95% มีส่วนช่วยทำให้ฝนตก ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดิน

4. เศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการปลูกสร้างสวนป่าเชิงพาณิชย์อย่างครบวงจร โดยเฉพาะเกษตรกร รายย่อยที่ปลูกยูคาลิปตัส จะมีแหล่งตลาดรองรับผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความมั่นคง ในอาชีพ และรายได้

5. สังคม สร้างงานในชนบท ทำให้คนมีงานทำ กระจายโรงงานอุตสาหกรรมไปสู่ชนบท

6. ประหยัดเงิน ลดเงินที่จะออกไปต่างประเทศ จากการที่จะต้องสั่งซื้อไม้ท่อนและ วัตถุดิบ เยื่อกระดาษเข้าประเทศ

7. ช่วยฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ของชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าเศรษฐกิจได้มากขึ้น ตามเป้าหมายของรัฐบาล





กองไม้ยูคาลิปตัส


**************************************************************************************************************






เอสซีจี เปเปอร์ยกระดับไม้ยูคาลิปตัส




เป้าหมายการเติบโตในธุรกิจกระดาษของเอสซีจี เปเปอร์ในกลุ่ม บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ"เอสซี
จี"ไม่ใช่มุ่งแต่ขายด้วยปริมาณที่มาก แต่จะให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพและมูลค่าขายที่สูงขึ้น เอสซีจี เปเปอร์จึง
อุทิศกำลังส่วนหนึ่งให้กับการพัฒนาวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทางโดยเฉพาะเมล็ด และกล้าไม้ จากที่ในอดีต
ศึกษาวิจัยมาทั้งการผลิตเยื่อกระดาษจากเยื่อไผ่  ชานอ้อย และไม้ยูคาลิปตัส โดยทีมงานวิจัยและพัฒนาที่เชี่ยว
ชาญ      ก่อนที่จะมาลงตัวที่วัตถุดิบจากไม้ยูคาลิปตัสเพียงอย่างเดียว   เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว ดูแลจัดการ
ง่าย มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ดี ลงทุนน้อย แต่ให้ผลตอบแทนสูงและคืนทุนได้เร็วกว่าการปลูกไม้
ชนิดอื่น


เอสซีจี เปเปอร์คลัสเตอร์ตัวแม่
ปัจจุบัน เอสซีจี เปเปอร์ เป็นกลุ่มธุรกิจกระดาษที่พัฒนามาต่อเนื่องทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ บวกกับความได้
เปรียบที่ เอสซีจี เปเปอร์ มีความเป็น "คลัสเตอร์" ขนานแท้ เริ่มจากบริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด  ผู้ดำเนินธุรกิจสวน
ไม้ เพื่อป้อนให้กับบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเยื่อกระดาษใยสั้น โดยโรงงานผลิตเยื่อ
แห่งนี้นอกจากจะซัพพอร์ตวัตถุดิบให้กับไลน์ผลิตกระดาษพิมพ์เขียนของบริษัท ฟินิคซ พัลพฯ ด้วยกันแล้ว อีกส่วน
หนึ่งก็กระจายไปยังฐานการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน และโรงงานผลิตกระดาษคราฟต์ และบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มเอสซีจี
เปเปอร์  ในเครือเดียวกันเกือบทั้งหมดด้วย

    
นายจุมพฏ ตัณมณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจสวนไม้ใน เอสซีจี เปเปอร์ กล่าวว่า
เยื่อกระดาษและกระดาษจะดีได้  นั่นแปลว่าวัตถุดิบต้องดีด้วย ซึ่งเอสซีจี เปเปอร์ผ่านการวิจัย และทดลองมานานใน
เรื่องวัตถุดิบ  จนเมื่อปี 2552 บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของเอสซีจี
เปเปอร์ประสบความสำเร็จอีกก้าว กับจากการพัฒนาและจำหน่ายต้นกล้ายูคาลิปตัสสายพันธุ์ไฮบริด4 (H4)  ซึ่ง
บริษัทได้นำมาทดลองปลูกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยสายพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่าง คาเมลดูเลมซิส
(camaldulemsis) ซึ่งทนแล้งได้ดีกับยูโรปีลา(urophyla) มีคุณสมบัติเด่นเนื้อแน่น ให้น้ำหนักดี เหมาะสำหรับปลูก
ในพื้นที่ภาคอีสาน


ขยับจากเมล็ดเป็นกล้าไม้
จากเดิมที่ปลูกด้วยเมล็ด ตอนนี้หันมาขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเนื้อเยื่อโดยการผสมข้ามสายพันธุ์ หรือไฮบริด  เป็น
สายพันธุ์ ที่มีคุณสมบัติเด่นคือทนแล้งได้ดี ขณะนี้ในพื้นที่ภาคอีสานเรามีแปลงวิจัยทดลองยูคาลิปตัสอยู่ 36 แปลง ที่
ต.ดงเมืองแอม อ.เขาสวนกวาง ก็เป็นหนึ่งในแปลงทดลอง  โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาดูงานของเกษตรกร
ที่เข้าร่วมโครงการ   โดยประโยชน์ที่ได้รับจากการพัฒนามาเป็นต้นกล้าสายพันธุ์ H4 ว่า ถ้าปลูกในระยะเวลา 4 ปี จะ
ได้ผลผลิต/ไร่สูงขึ้น เมื่อเทียบจากการปลูกยูคาลิปตัสด้วยเมล็ดจะได้ผลผลิตยูคาลิปตัส 6-8 ตัน/ไร่ แต่การปลูกด้วย
กล้าไม้ H4 จะได้ผลผลิต/ไร่สูงถึง 12-30 ตัน โดยทั้งหมดจะขึ้นอยู่ที่สภาพดินด้วย

     
"เอสซีจี  เปเปอร์ ต้องการจะต่อยอดให้กับเกษตรกรที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสมีแหล่งรายได้ที่แน่นอน ปีนี้จึงจัดแคมเปญ
"ยูคา คุ้มค่า" โดยมองว่าเมื่อเกษตรกรหันมาปลูกยูคาลิปตัสจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มเวลามากกว่าพืชอื่น พร้อมเป็นพืชที่
ทนแล้ง สอดคล้องกับที่รัฐบาลแนะนำให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทนต่อภาวะแห้งแล้งในปีนี้ โดยเกษตรกรที่สั่งจองกล้าไม้
ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมบริษัทจะลดราคากล้าให้พิเศษ20-25% จากปัจจุบันราคาจะอยู่ที่ประมาณ 3
บาท/ตัน"
  
อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ จะมีเกษตรกรและเจ้าของที่ดินที่อยู่ภายใต้การส่งเสริมของบริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด
จำนวนมากกว่า 50,000 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1 ล้านไร่ทั่วประเทศ และในช่วงภัยแล้งนี้น่าจะเป็นโอกาสของ
เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรถึง 80% อยู่นอกเขตชลประทาน ต้องอาศัยเพียงน้ำฝนเป็นหลัก

    
นายมนูญศักดิ์ สถีรศิลปิน ผู้จัดการส่วนผลิตกล้าไม้และเทคนิค บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด  กล่าวเสริมว่า  งานวิจัย
กล้าไม้ยูคาลิปตัสของบริษัทศึกษาสภาพดิน  สภาพภูมิอากาศ และพันธุ์ไม้ ซึ่งในจังหวัดขอนแก่นจะพบว่าพื้นที่ส่วน
ใหญ่มีสภาพเป็นดินร่วน  โดยพื้นที่ภาคอีสานมีความเสี่ยงต่อภัยแล้งเกิน50%  ซึ่งขณะนี้บริษัทจะมีบริการห้องปฏิบัติ
การปฐพีวิทยา หรือ Soil Lab ให้บริการตรวจสอบดิน และให้คำแนะนำแก่เกษตรกรและเจ้าของที่ดินถึงวิธีการดูแล
สภาพดินซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่


ปลูกยูคาฯร่วมกับพืชอื่นได้    
นายประจักษ์ ทุยไธสง เกษตรกร หมู่ 9 บ้านเทพอำนวย อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น กล่าวว่าขณะนี้ได้จัดสรรพื้นที่
13 ไร่ปลูกยูคาลิปตัสสายพันธุ์ H4 ของบริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด เนื่องจากครอบครัวมีที่ดินมาก แต่ไม่มีเวลาดูแล
และอายุมากแล้ว ตอนนี้จึงหันมาสนใจปลูกไม้ยูคาลิปตัสเนื่องจากมีที่ดินมาก เมื่อปลูกยูคาลิปตัสไม่ต้องดูแลมาก และ
ได้ราคาแน่นอน แม้จะใช้เวลานานกว่าพืชเกษตรอื่นอย่างมันสำปะหลัง อ้อย  ซึ่งพืชเหล่านี้ ต้องลงทุนมาก ต้องใส่ปุ๋ย
และราคาก็ไม่แน่นอน ขณะที่ยูคาลิปตัสราคาเปลี่ยนแปลงน้อยมากโดยจะเห็นว่าขายได้ราคาไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท/
ตันมาต่อเนื่องแล้ว 
    
"ผมมีนาข้าวอยู่  22 ไร่ ก็จะปลูกไม้ยูคาลิปตัสระหว่างคันนาด้วย ข้าวก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไรเพราะปลูกยูคาลิปตัส
ไม่ถี่จนเกินไป  เพื่อให้มีแสงแดดส่องถึงนาข้าวด้วย ทำให้การปลูกไม้ยูคาลิปตัสไม่เป็นอุปสรรคกับการปลูกอยู่ติดนา
ข้าว"


ใกล้แหล่งวัตถุดิบยิ่งได้เปรียบ
ด้านนายธีระศักดิ์ จามิกรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) มองเห็นถึงความ
ได้เปรียบของอุตสาหกรรมกระดาษในกลุ่มเอสซีจี เปเปอร์ว่า  ทุกวันนี้อุตสาหกรรมกระดาษของเอสซีจี เปเปอร์อยู่ได้
เพราะมีวัตถุดิบรองรับ ตั้งแต่กล้าไม้ยูคาลิปตัส เยื่อกระดาษ ขณะที่หลายประเทศยังต้องนำเข้าไม้ยูคาลิปตัสไปผลิต
เยื่อใยสั้น เช่น ญี่ปุ่นที่นำเข้าชิ้นไม้สับจากไทย จะต้องแบกต้นทุนค่าขนส่งสูง ซึ่งเวลานี้ฟินิคซถือว่ายังมีความได้
เปรียบอยู่เนื่องจากโรงงานผลิตเยื่อกระดาษตั้งอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ รวมถึงช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานด้วย  โดย
เฉพาะ บริษัท ฟิคซ พัลพฯ  ที่กระบวนการผลิตเยื่อกระดาษสามารถเชื่อมต่อเข้าไลน์ผลิตกระดาษพิมพ์เขียนได้ทันที 
 
รายได้กระดาษจ่อแซงซีเมนต์
อย่างไรก็ตามนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ปี 2553 มีการคาดการณ์ว่า
อุตสาหกรรมกระดาษจะเป็นปีที่มียอดขายก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีจากเดิมที่กลุ่มซีเมนต์จะ
มียอดขายโตเป็นลำดับ 2 และกลุ่มกระดาษเป็นอันดับ3

แต่เนื่องจากกลุ่มกระดาษขณะนี้มีปริมาณขายและราคาดีขึ้นบวกกับกลุ่มเอสซีจี เปเปอร์มีรายได้ที่เกิดจากการลงทุนใน
ต่างประเทศเข้ามาเพิ่ม จะทำให้มีรายได้โตขึ้น
    
โดยผลดำเนินงานประจำไตรมาสแรกปีนี้ธุรกิจของเอสซีจี เปเปอร์  มียอดขายสุทธิ 12,551 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30%
จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณขายและราคาขายผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น  รวมทั้งมียอดขายที่เพิ่มมาจาก
New Asia Industries โรงงานกล่องกระดาษลูกฟูก ซึ่งเป็นบริษัทย่อยแห่งใหม่ในเวียดนาม โดยมีกำไรสุทธิ 974
ล้านบาท เพิ่มขึ้น 308%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นและมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,531   16-19  พฤษภาคม พ.ศ. 2553



*********************************************************************************************************************************



วิจัยยูคาลิปตัสพันธุ์ใหม่เพื่อเกษตรกร


จากการทดลองผสมพันธุ์ยูคาลิปตัสสายพันธุ์  H  4  กว่า  2  ปี  และทดลองปลูกอีก  5  ปี   โดยบริษัท  สยาม
ฟอเรสทรี  จำกัด  และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของเอสซีจี  เปเปอร์   ยูคาลิปตัสสายพันธุ์  H  4  ก็
พร้อมสำหรับให้เกษตรกรนำไปปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ

    
โดยจุดเด่นคือ   ทนแล้ง  ทนโรค  และทนแมลง  เช่น  แมลงแตนปมฝอย  มีกิ่งเล็ก  เปลือกบางทำให้ได้เนื้อไม้
มากขึ้น  โดยให้ผลผลิตเนื้อไม้สูงถึง  12-24  ตันต่อไร่  ที่อายุ  5  ปี  และให้ผลผลิตเยื่อถึง  49%  สามารถปลูก
ได้ทั้งในพื้นที่ราบ  ระบายน้ำได้ดี  และสามารถทนน้ำขังได้เป็นครั้งคราวในฤดูฝน  เหมาะสำหรับการปลูกในดินที่ภาค
ตะวันตก  ภาคเหนือตอนล่าง  และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   ซึ่งเป็นพื้นที่ราบ  ดินเป็นกรด  ดินร่วนปนทราย  หรือ
ดินร่วนเหนียวปนทราย

    
คุณจุมภฏ  ตัณมณี  กรรมการผู้จัดการบริษัท  สยามฟอเรสทรี  จำกัด  ในเอสซีจี  เปเปอร์  กล่าวว่า  การปลูก
ยูคาลิปตัสสายพันธุ์  H  4  จะช่วยสร้างรายได้ที่ยั่งยืนและมั่นคงกว่าพืชเศรษฐกิจอื่นๆ   เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย 
เติบโตเร็ว  ดูแลจัดการง่าย  ลงทุนน้อย  ใช้แรงงานน้อย  แต่ให้ผลผลิตและผลตอบแทนสูง  คืนทุนเร็วกว่าการปลูก
ไม้ชนิดอื่น  โดยใช้เวลาเพียง  4-5  ปี  ก็ตัดขายได้  และยังสามารถแตกหน่อได้ดี  โดยสามารถตัดได้  3-4 
รอบ  ในรอบที่  2  จะให้ผลผลิตที่มากกว่ารอบแรกถึง  30%

    
นอกจากนั้นยังสามารถปลูกพืชเกษตรควบคู่ในสวนไม้ยูคาลิปตัสได้  ได้แก่  ข้าวโพด  สับปะรด  มันสำปะหลัง  เป็น
ต้น  ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ระหว่างช่วงที่รอการตัดฟันไม้ออก  การปลูกยูคาลิปตัสจึงช่วยเพิ่มมูลค่าที่ดินให้สูงขึ้น  ดี
กว่าปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า

    
บริษัท  สยามฟอเรสทรี  จำกัด  ในเอสซีจี  เปเปอร์  จำกัด  ที่  ต.วังศาลา  อ.ท่าม่วง  จ.กาญจนบุรี  และสถานที่
วิจัยพัฒนาพันธุ์ไม้ยูคาลิปตัส  ได้เปิดให้ชมผลงานวิจัยที่ล่าสุดยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน  เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยง
เนื้อเยื่อยูคาลิปตัส  การเพาะพันธุ์ในหลอดแก้ว   การทดลองปลูกในกรีนเฮาส์  และการปลูกในแปลงเพาะ  และให้มี
การเยี่ยมชมไร่ยูคาลิปตัสสายพันธุ์  H  4  รายใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก  ที่  อ.จอมบึง  จ.ราชบุรี  ที่ปัจจุบันส่ง
เสริมการปลูกในพื้นที่กว่า  5  แสนไร่  โดยตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่ปลูกให้ได้ถึง  1  ล้านไร่  ภายใน  5  ปี

    
คุณพนมศักดิ์   พรสุขสว่าง  ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกยูคาลิปตัสรายหนึ่ง  เล่าว่า  เริ่มปลูกมาตั้งแต่ปี  2534  ก่อน
หน้านี้เคยปลูกอ้อย  แต่ผลผลิตไม่ดีเพราะภัยแล้ง  มีหนี้สินเป็นหลักล้าน  แต่หันมาปลูกยูคาลิปตัสได้ไม่นาน  ก็
สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้จนหมด  ปัจจุบันเป็นผู้ดูแลไร่ยูคาลิปตัสในพื้นที่กว่า  800  ไร่  เป็นพื้นที่ของตนเอง 
150  ไร่  โดยแบ่งเป็น  5  แปลง  แปลงละ  30  ไร่  ปลูกสลับช่วงเวลากันในแต่ละแปลง  เพื่อให้มีผลผลิตทุกปี
จากการเก็บเกี่ยวทีละแปลง  เพราะ  3-4  ปี  จะเก็บเกี่ยวได้ครั้งหนึ่ง  พอเก็บเกี่ยวยูคาลิปตัสหมด  ก็ปลูกมัน
สำปะหลังสลับเป็นเวลา   2  ปี  แล้วจึงกลับมาปลูกยูคาลิปตัสต่อ  ซึ่งก็ให้ผลผลิตที่ดีเช่นกัน   เคยปลูกยูคาลิปตัสมา
หลายสายพันธุ์แล้ว  แต่สายพันธุ์  H  4  มีข้อดีเหนือพันธุ์อื่นตรงที่ดูแลง่าย  กิ่งขนาดเล็ก  ผลัดกิ่งเองได้  ทนแล้ง
ทนต่อโรคแมลง  และสภาพแวดล้อม  ให้น้ำหนักดีและให้ผลผลิตเยื่อสูง

    
"อย่าคิดว่าจะต้องปลูกยูคาลิปตัสเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่เท่านั้นถึงจะคุ้ม  ที่จริงแล้วแม้มีที่ดินน้อยก็ปลูกได้เพื่อเป็นรายได้
เสริม  หรือแม้แต่ปลูกตามคันนา  ริมรั้ว  ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการออมเงินไปในตัวในภาวะเศรษฐกิจตอนนี้"  นาย
พนมศักดิ์กล่าว

    
แม้จะประสบความสำเร็จจากการเพาะพันธุ์ยูคาลิปตัสลูกผสมสายพันธุ์  H  4  เจ้าของรางวัลดีเด่นจากเวทีประกวด
นวัตกรรม  SCG  Powerof  lnnovation  Award  2007-2008  แต่บริษัทก็ยังทุ่มเทวิจัยและพัฒนาอย่างต่อ
เนื่อง  เพื่อให้ได้สายพันธุ์ยูคาลิปตัสที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพาะปลูกของไทย  ให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้าง
ผลตอบแทนแก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

    
เอสซีจี  เปเปอร์  เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักของเครือซิเมนต์ไทย  และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกระดาษ  ซึ่งดำเนิน
การใน 5   ธุรกิจหลัก  ได้แก่  กิจการสวนป่า  กิจการเยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียน  กิจการกระดาษ
อุตสาหกรรม  (ที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน)  กิจการกระดาษแข็งและกิจการบรรจุ
ภัณฑ์  มีโรงงานผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย  และในภูมิภาคอาเซียน 
และยังมีฐานการผลิตอยู่ในเวียดนาม  มาเลเซีย  สิงคโปร์  และฟิลิปปินส์  มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้
มาตรฐาน  มีประสิทธิภาพ

    
สำหรับผู้ที่สนใจอยากปลูกยูคาลิปตัส  ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือเจ้าของที่ดิน  สนใจอยากลงทุน  ทางสยามฟอเรสท
รีก็มีบริการฟรี  ตั้งแต่การประเมินความเหมาะสมของสภาพที่ดิน  วางแผนการปลูก  จัดส่งกล้าพันธุ์  ตลอดจนวัดผล
ความคืบหน้าการเพาะปลูก  เช่น  ขนาดลำต้น   และจัดสัมมนาให้ความรู้  นอกจากนี้ยังมีบริการจัดหาแรงงานในการ
เพาะปลูกและดูแลผลผลิต   ตลอดจนรับเหมาตัดฟันและขนส่งครบวงจร 

ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่  Call  Center 0-3461-5040  หรือ 
www.paper.scg.co.th.

***********************************************************************************************


ผลกระทบของการปลูกยูคาลิปตัสต่อคุณสมบัติดิน
และระบบนิเวศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ชื่อผู้ทำวิทยานิพนธ์ เดชชัย ศิริวัฒนกาญจน์
ชื่อวิทยานิพนธ์ ผลกระทบของการปลูกยูคาลิปตัสต่อคุณสมบัติดิน และระบบนิเวศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สาขาวิชา ปฐพีศาสตร์
ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ หอมจันทน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กัณหา บุญพรหมมา kanha@kku.ac.th ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชรัตน์ มงคลสวัสดิ์ charat@kku.ac.th
ปีที่จบ 2532


บทคัดย่อ

ในการศึกษาผลกระทบของการปลูกยูคาลิปตัสต่อคุณสมบัติดินและการปลูกพืชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่ง
กำหนดวิธี การศึกษาออกเป็น 5 การทดลอง ได้แก่ การศึกษาผลกระทบของการปลูกยูคาลิปตัสต่อคุณสมบัติทาง
กายภาพและเคมีของดิน การศึกษาอัตราการให้อินทรียวัตถุของสวนป่าในรูปอัตราการร่วงของใบยูคาลิปตัส การศึกษา
อัตราการย่อยสลายของอินทรีย วัตถุจากยูคาลิปตัสเปรียบเทียบกับอินทรียวัตถุจากพืชชนิดอื่น ตลอดจนศึกษาสภาพ
พิษของอินทรียวัตถุจากยูคาลิปตัสต่อ จุลินทรีย์ดิน การศึกษาผลกระทบของอินทรียวัตถุจากยูคาลิปตัสต่อเปอร์เซนต์
ความงอกของเมล็ดพืช การทดลอง ระดับกระถางเพื่อทดสอบผลกระทบของอินทรียวัตถุจากยูคาลิปตัสต่อการเจริญ
เติบโตของพืชไร่ที่มีความสำคัญทาง เศรษฐกิจ และการศึกษาผลกระทบของการปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสต่อระดับน้ำใต้
ดิน มีผลการทดลองโดยสรุปดังนี้.-

- คุณสมบัติ 13 ประการของดิน ได้แก่ เนื้อดิน, pH, Total acidity, ปริมาณอินทรียวัตถุ, C.E.C.,
ปริมาณธาตุอาหารพืช ได้แก่ ไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P), โปแตสเซียม (K), แคลเซียม (Ca), แมกเน
เซียม (Mg) และปริมาณธาตุโซเดียม (Na) อะลูมิเนียม (A1) และค่าความนำไฟฟ้าของดิน (Ec) ที่เก็บจาก 2
ระดับความลึก คือ 0-15 ซม. และ 15-30 ซม. จากในสวนป่ายูคาลิปตัสที่มีอายุต่างกัน 3 รุ่น คือ อายุน้อยกว่า
3 ปี, 3-5 ปี และมากกว่า 5 ปี โดยเก็บดิน รุ่นละ 5 ตัวอย่างจากสวนป่าที่ปลูกกระจายอยู่ทั่วภาคตะวันออกเฉียง
เหนือไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในทาง สถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างดินชนิดเดียวกันที่เก็บจากพื้นที่
นอกสวนป่า แม้ข้อมูลการวิจัยจะชี้ให้เห็นว่าคุณสมบัติ บางประการ ได้แก่ ปริมาณอินทรียวัตถุ C.E.C. โปแตสเซียม
(K) และค่าความนำไฟฟ้าของตัวอย่างดินชั้นบนระดับ (0-15 ซม.) ที่เก็บจากในสวนป่าที่มีอายุมากกว่า 5 ปีมี
แนวโน้มที่จะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับดินนอกสวนป่า

- อัตราการร่วงของใบยูคาลิปตัสจากสวนป่ายูคาลิตัสที่ใช้ระยะปลูก 2x4 เมตร สูงกว่าส่วนป่าที่ใช้ระยะปลูก 2x8
เมตร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีอัตราการร่วงของใบเฉลี่ยรวมเท่ากับ 382.12 กรัม/ตร.เมตร (611.39
กก./ไร่) และ 271.92 กรัม/ตร.เมตร (435.07 กก./ไร่) ตามลำดับจากสวนป่าที่มีอายุ 4 ปี ในช่วงเวลา
11 เดือน อัตราการร่วง ของใบยูคาลิปตัสเกิดขึ้นมากที่สุดในระหว่างเดือนธันวาคม ถึง เดือนมกราคม และน้อยที่สุด
ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนกรกฎาคม

- อัตราการย่อยสลายของอินทรียวัตถุจากยูคาลิปตัสแตกต่างกันโดยเปลือกยูคาลิปตัส ถูกปลวกเข้าทำลายจนหมด
ในช่วง เดือนแรกในขณะที่ใบยูคาลิปตัสมีสอัตราการย่อยสลายตัวช้าที่สุดเทียบกับต่อซังข้าว ใบมะม่วงและใบกระถิน
ณรงค์ โดยน้ำหนักแห้งของอินทรียวัตถุที่เหลือเฉลี่ยเท่ากัย 45.6, 15.75, 11.75 และ 7.75 เปอร์เซนต์ของ
น้ำหนักเริ่มต้นสำหรับ ใบยูคาลิปตัส ตอซังข้าว ใบมะม่วง และใบกระถินณรงค์ ตามลำดับ ภายหลังการย่อยสลายตัว
เป็นเวลา 7 เดือนการ เปลี่ยนแปลงของประชากรแบคทีเรียที่เกิดขึ้นในรูปแบบที่ไม่แตกต่างกันสำหรับทุกชนิดของ
อินทรียวัตถุที่ศึกษา

- การใส่อินทรียวัตถุจากใบยูคาลิปตัสในอัตรา 0, 0.5, 2.5, 5, 10 และ 25 กรัม/กิโลกรัม มีผลทำให้
เปอร์เซนต์ความงอก ของพืชที่ทดสอบ 9 ชนิด ได้แก่ ถั่วเหลือง, ถั่วเขียว, ถั่วลิสง, ถั่วพุ่ม, กระถิน, ข้าวโพด,
ข้าวฟ่าง, ปอแก้ว และงา ลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อใช้ทรายเป็นวัสดุเพาะโดยเปอร์เซนต์ความงอกของพืช
ส่วนใหญ่ (7 ใน 9 ชนิดที่ศึกษา) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับการใส่ 2.5 กรัม/กิโลกรัมของวัสดุเพาะ อินทรีย
วัตถุจากใบยูคาลิปตัสมีผลกระทบ เช่นเดียวกันเมื่อใช้ดินยโสธรเป็นวัสดุเพาะยกเว้นพืช 2 ชนิด ได้แก่ ปอแก้ว และ
ถั่วพุ่ม ซึ่งแม้เปอร์เซนต์ความงอก จะลดลงที่ระดับการใส่อัตราสูง แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
สำหรับการทดลองระดับ
กระถางถึงผลกระทบของอินทรียวัตถุจากยูคาลิตัสในอัตราการใส่ 0, 10, 25, 50, 100 และ 200 กรัม/ดิน
1 กิโลกรัม ต่อการเจริญเติบโตของพืช 9 ชนิด ได้แก่ ถั่วเหลือง, ถั่วเขียว, ถั่วลิสง, กระถิน, สไตโล, ข้าว
โพด, ข้าวฟ่าง, ปอแก้ว และมันสำปะหลัง พบว่า น้ำหนักแห้งของลำต้นและรากของพืชทุกชนิด (ยกเว้นข้าวฟ่าง
และมันสำปะหลัง) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับดินที่ไม่ใส่ใบยูคาลิปตัส โดยน้ำหนักแห้งของ
ลำต้นและรากลดลงที่ระดับการใส่ที่ต่างกัน กล่าวคือ ปอแก้ว ที่อัตราการใส่ 10 กรัม/ดิน 1 กิโลกรัม ถั่วเหลือง สไต
โล และข้าวโพด ที่อัตราการใส่ 50 กรัม/ดิน 1 กิโลกรัม ถั่วเขียวและกระถิน ที่อัตราการใส่ 25 กรัม/ดิน 1
กิโลกรัม และถั่วลิสง ที่อัตราการใส่ 100 กรัม/ดิน 1 กิโลกรัม ตามลำดับ

- ในการตรวจวัดระดับน้ำใต้ดินในสวนป่ายูคาลิปตัส เปรียบเทียบกับระดับน้ำใต้ดินนอกสวนป่า เป็นเวลาต่อเนื่องกัน
48 สัปดาห์ พบว่า ระดับน้ำใต้ดินในสวนป่ายูคาลิปตัสอยู่ลึกกว่า 2 เมตร ตลอดระยะเวลาที่ศึกษา ในขณะที่ระดับ น้ำ
ใต้ดินในจุดที่อยู่ในระดับเดียวกันของพื้นที่มีระดับน้ำใต้ดินในระดับที่ตื้นกว่า 2 เมตร



*********************************************************************************************************


หยุดล้านไร่  มหันตภัยยูคาฯ


กระแสการเลี้ยงกุ้งกู้ชาติ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดดมาตอบการ
นำเสนอของข้าราชการ โดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งถูกสื่อมวลชนออกมาวิพากษ์
วิจารณ์ อย่างหนักจนกระแสการเลี้ยงกุ้งกู้ชาติเริ่มสร่างซาเงียบหายไป รัฐบาลก็ผลักโครงการปลูกยูคาลิปตัส 1 ล้านกว่าไร่
ขึ้นมาอีก แม้โครงการนี้จะไม่ได้รับการตีปีกจากสื่อมวลชน มากนัก แต่ก็มีองค์กรอื่นๆ เคลื่อนไหวจับตามองโครง
การนี้ชนิดเกาะติดทุกฝีก้าว โดยเฉพาะจากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม และป่าไม้ที่ดิน เนื่อง
จากประชาชน เคยมีบทเรียนจากไม้มหันตภัยที่ชื่อยูคาลิปตัสมานาน และ ผู้ที่มีบทเรียนจากการปลูกยูคาลิปตัส มาก
ที่สุดคือคนอีสาน มิใยต้องพูดถึง ว่าบทเรียนที่เคยปลูกมาก่อนนั้นได้รับอะไรมาบ้าง จากไม้ที่ชื่อยูคาลิปตัสนี้

รัฐบาลของพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศออกมาเสมอ
ว่า"คิดใหม่ ทำใหม่ "แต่กับการนำเสนอโครงการต่างๆ ของ
รัฐ เพื่อสร้างชีวิตที่ดีแก่ประชาชนแก่ส่วนรวมกลับมองเห็นแต่
เพียง การประเคนผลประโยชน์จำนวนมหาศาล

ให้พวกพ้อง บริวาร และนายทุนต่างชาติ มองจากโครงการเลี้ยงกุ้งกู้ชาติ มาสู่ยูคาลิปตัส ใช้ความอุดมของผื่นดินดึง
การลงทุนจากต่างชาติ

เครือข่ายป่าไม้และที่ดินภาคอีสาน โดยการประสานงานของ นาย วิพัฒนชัย พิมพ์หิน ได้ออกมาชี้แจงข้อ
เท็จจริงกับทีมงานไทยเอ็นจีโอ อย่างชัดเจนและเน้นย้ำว่า การที่รัฐบาลใช้ความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทยดึง
การลงทุนแบบนี้ เป็นการมองข้ามประชาชนมากเกินไป อีกทั้งบทเรียนของชาวบ้านภาคอีสานก็ เห็นชัดเจนแล้วว่า
ป่ายูคาลิปตัส นั้นมีผลกระทบสูงมาก จนทำให้ระบบนิเวศทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลง และนายวิพัฒนชัยยังสรุปเพิ่ม
อีกว่ารัฐบาลต้องชัดเจนต่อประเด็นนี้ก่อนนำจีนมาลงทุนปลูกยูคาลิปตัส

"ตอนนี้ในส่วนของสถานการณ์ หลังจากที่ ทางรัฐบาลคุณทักษิณ กลับจากการเยือนประเทศจีนมานั้นเคยมีการคุย
เรื่องนี้กันมาก่อนหน้าที่จะไปประชุมเรื่องนี้กับจีนแล้ว และก็มีประเด็นคุยกันมาตลอด ก็คือว่าทางฝ่ายของนายทุน
ประเทศจีนร่วมกับนายทุนประเทศไทย ซึ่งก็มี บริษัทเกษตรรุ่งเรือง บริษัทสวนป่าจิตติ และองค์การอุตสาหกรรม
ป่าไม้หรือ ออป. ร่วมกันลงทุน

ทีนี้เมื่อมามองเรื่องพื้นที่กัน ทางผมและเครือข่ายก็ตรวจสอบจนชัดเจนแล้วว่า พื้นที่ที่จะปลูกทั้งหมด ที่กลุ่มทุนเขา
ต้องการนั้น ประมาณ 1ล้านกว่าไร่ แต่ในขณะนี้ทางกลุ่มทุนไทยและ ออป. สามารถระดมพื้นที่ว่างๆ และพื้นที่ป่า
ยูคาฯ ที่มีอยู่เดิมได้แล้ว ประมาณ 700,000 ไร่ ซึ่งใจจำนวน นี้ เป็นของส่วนป่าจิตติ ที่มีอยู่แล้วตอนนี้ ประมาณ
200,000 ไร่ และของ ออป. อีกประมาณ 8,000 ไร่ ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนที่เหลือก็มีการตกลงกันว่าจะปลูก
ในบริเวณ 3 จังหวัดเหล่านี้ คือ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว "


นายวิพัฒนชัย กล่าว ก่อนจะเน้นย้ำประกาศเตือนรัฐบาล ที่เสนอการลงทุนครั้งนี้ว่า คนอีสานมีบทเรียนมากแล้ว
ดังนั้น น่าจะมาศึกษาดูก่อนว่า ยูคาลิปตัสส่งผลกระทบอะไรบ้าง

"ประเด็นที่ทางเครือข่ายป่าไม้ที่ดินภาคอีสานต้องการเสนอเพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ นั้นเกิดจากประสบการณ์ของ
ทางเครือข่ายและชาวบ้านเอง ซึ่งทำงานด้านนี้มาตั้งแต่ ปี 2528 โดยปัญหาหลักๆ ที่ศึกษาพบจากการปลูกยูคา
ลิปตัสคือ

1. มีผลกระทบต่อระบบนิเวศสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องดิน น้ำและสัตว์ ซึ่งสัตว์นี่รวมแม้กระทั่งหมดแดงหรือแมลงต่างๆ
ด้วยนะครับ สัตว์เหล่านี้แทบไม่มีอาศัยเลยในป่ายูคาลิปตัส เพราะป่ายูคาลิปตัสจะไม่เอื้อเลยต่อระบบนิเวศทางธรรม
ชาติ

2. ผลกระทบที่เกิดต่อโครงสร้างของดิน ซึ่งถ้าเราศึกษาดูจากพื้นที่ ที่เขาต้องการนั้น ส่วนมากแล้วพื้นที่เหล่านี้จะ
เป็นดินปนทราย คล้ายภาคอีสาน และเมื่อผ่านการปลูกไปสัก 4-5 ปี ก็จะพบว่าดินแห้งมาก อันเนื่องมาจากว่า ป่ายูคา
ลิปตัสนี้ไม่มีพืชต่างๆ เกิดแซมขึ้นมาได้เลย ดังนั้นเมื่อฝนตกลงมาก็จะเกิดการชะล้างหน้าดินสูง เมื่อเกิดการชะล้าง
หน้าดินสูงน้ำก็เซาะโคนต้นยูคาลิปตัส ทำให้โคนต้นโผล่ เมื่ออายุประมาณ 4-5 ปี ก็จะเกิดอาการลักษณะที่ภาษา
ชาวบ้านเรียกกันคือ ต้นขึ้นโคน นั่นก็คือ การที่น้ำเซาะรากจนโผล่ช่วงโคนและรากออกมาเหนือดิน นั่นเพราะว่าการ
เกาะหน้าดินของยูคาลิปตัสมันไม่ได้ผลเลย อีกอย่างคือ ยูคาลิปตัสเป็นพืชที่โตเร็วมาก รากของมันจึงค่อนข้างดูด
ซับปุ๋ยและธาตุอาหารต่างๆ ได้ดีมาก มากผิดปกติกับพืชชนิดอื่นๆ ทำให้แร่ธาตุต่างๆ ในดินถูกดูดซับจนหมด โดย
ที่พืชชนิดอื่นไม่สามารถจะแย่งแร่ธาตุสู้กับต้นยูคาลิปตัสได้ ดังนั้นการปลูกยูคาลิปตัส เพื่อให้เป็นสวนป่านั้น ผมคิดว่า
มันเป็นไปไม่ได้

3.ระบบน้ำ เรื่องระบบน้ำนี้ โดยปกติ ถ้าเป็นต้นไม้ตามธรรมชาติในท้องถิ่นบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นสะเดา สัก กะถิน
เหล่านี้ มันยังมีพืชชนิดอื่นงอกแซมขึ้นมาได้ และเมื่อมีพืชชนิดอื่นงอกแซมขึ้นมาได้ เวลาฝนตกลงมาการชะล้าง
ของน้ำฝนที่ไหลผ่านไป ก็ไหลได้ไม่เร็วนัก เมื่อไหลผ่านได้ไม่เร็วนัก ก็ทำให้พืชสามารถดูดซึมน้ำลงสู่ดินได้มากขึ้น
นั่นแสดงว่ามีความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นสูงมาก ส่วนบริเวณที่ปลูกป่ายูคาลิปตัส จะมีข้อแตกต่างกันมากเพราะบริเวณ
ที่ปลูกยูคาลิปตัสจะไม่คงสภาพความชุ่มชื้น เพราะระบบรากของยูคาลิปตัสไม่สามารถอุ้มน้ำลงสู่ชั้นใต้ดินได้ ซึ่งต่าง
จากพืชที่เกิดเองตามธรรมชาติของแต่ละพื้นที่

ปัญหาเหล่านี้ทางเครือข่ายได้จากการศึกษาป่ายูคาลิปตัส ที่ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ที่ออกมาชัดเจนมาก บนเนื้อ
ที่ประมาณ 500-600 ไร่ ซึ่งปลูกในแปลงสวนป่าสาธารณประโยชน์ จนชาวบ้านมีการเคลื่อนไหวให้กำจัดออกไปจาก
พื้นที่สวนป่าสาธารณประโยชน์ของชาวบ้าน หรือกรณีศึกษาที่บ้านหนองเยาะ จ.สุรินทร์ ที่ปลูกไว้จำนวนมาก แล้วก็มี
การเคลื่อนไหวเจรจาต่อรองกันในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.เชาวลิต ยงใจยุทธ ให้ยุติโครงการปลูกป่ายูคาลิปตัสในพื้น
ที่บ้านหนองเยาะ ครั้งนั้นชาวบ้านเคลื่อนไหวกดดันจนกรมป่าไม้และรัฐบาลต้องออกมายอมรับมติ ให้มีการยกเลิก
โครงการปลูกยูคาลิปตัส และยังสนับสนุนงบประมาณให้มีการถอนยูคาลิปตัสออกไป ตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.)
ในสมัยนั้นโดยการเรียกร้องของสมัชชาคนจน "
นายวิพัฒนชัย กล่าวอีก และยังกล่าวเตือนเพิ่มเติมอีกว่า

"กับกระแสของประเด็นนี้ แม้ว่าจะมีผลกระทบมากมาย แต่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังผลักดันออก
มานั้น ผมคิดว่า รัฐบาลทักษิณ พยายามหาเหตุจูงใจให้มีการลงทุน จากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่ง
ผมอยากถามรัฐบาลนี้ว่า ประเทศจีน เขามีพื้นที่มากกว่าเรา ทำไมเขาไม่ปลูกในประเทศของเขา ทำไมต้องมาปลูก
ในประเทศของเรา และถ้ารัฐบาลจงใจใช้พื้นที่เหล่านี้ปลูกยูคาลิปตัสจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ หรือป่า
เสื่อมโทรม ก็แล้วแต่ โดยอนุญาตให้นายทุนเข้ามาเช่าปลูก แล้วทำไมเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ ที่ทำมาหากินในพื้นที่
เหล่านี้มานาน จึงมักถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายป่าไม้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลน่าจะดูแลเกษตรกรด้วยซ้ำ ผมจึงอยากถามว่า
ทำไมรัฐบาลไม่มองเรื่องนี้บ้าง ส่วนเรื่องการเข้ามาลงทุนนั้น ตามความจริงแล้วนายทุนต่างชาติเหล่านี้ควรจะเข้ามา
ซื้อที่ดิน มากกว่ามาเช่าเอาความอุดมสมบูรณ์แล้วก็กลับไป เพราะนักลงทุนต่างชาติเหล่านี้แทบไม่ได้ออกทุนอะไร
เลย เพียงเสียค่าเช่าที่ดินในอัตราที่น้อยมาก"
นายวิพัฒนชัย กล่าวหนักแน่น

ต่อกรณีมีชาวบ้านเสียชีวิตเพราะได้รับสารพิษ จากการดื่มน้ำในแปลงปลูกป่ายูคาลิปตัส ซึ่งเกิดขึ้น ที่ อ.ปะคำนั้น
นายวิพัฒนชัยได้กล่าวกับทางทีมงาน ไทยเอ็นจีโอว่า ตนยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากนักว่าสาเหตุการตายที่แท้จริง
เกิดจากอะไรบ้าง แต่จากประสบการณ์ของชาวบ้านที่เขาค้นพบ จากป่ายูคาลิปตัสนั้นมีเยอะมาก

"กรณีชาวบ้าน จาก อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ คนหนึ่งที่ล้มป่วยและเสียชีวิต โดยก่อนตายได้กล่าวกับญาติว่า ได้ไปดื่มน้ำ
จากร่องแปลงในสวนยูคาลิปตัส แล้วปวดหน้าอกนั้น

เรื่องนี้เป็นเพียง กรณีเดียวที่เครือข่ายฯ พบ ซึ่งก็ยังสรุปชี้ชัดไม่ได้ชัดเจนมากนัก ว่าสาเหตุการตายเกิดจากอะไร
หรือกรณีมีสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านดื่มกินน้ำจากร่องแปลงยูคาลิปตัส แล้ว ล้มป่วยตายก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ชัดเจนอีก"

ขณะเดียวกัน นายเดช คงทะราช ชาวบ้านจาก อ.แกดำ จ.มหาสารคาม ได้กล่าวยืนยันกับทางทีมงานไทยเอ็นจีโอ
เช่นกันว่า ผลกระทบของป่ายูคาลิปตัสมีมากกว่านั้น และแตกต่างกันออกไป ซึ่งในส่วนที่ตนประสบมากับตัวเองนั้น
ก็เป็นเรื่องของต้นข้าวที่แคะแกร็นไม่ติดเมล็ดกับเรื่องปลาเลี้ยงในนาข้าวไม่ยอมโตหรือโตช้ามาก

"เป็นเรื่องจริงครับ ในแปลงนาของผมที่ปลูกยูคาลิปตัสตามคันนาทิ้งไว้ นั้น เมื่อเราปลูกข้าวลงแปลงนาข้าวก็ตาย
หมดครับ ถ้าไม่ตายก็เหลืองแกร็น ไม่ติดเมล็ด ส่วนในบ่อพักปลาที่เลี้ยงไว้ก็ไม่ยอมโต พวกปลาธรรมชาติก็ไม่ค่อย
เข้ามาหากินใกล้ๆ ผมไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่ใช่ต้นยูคาลิปตัส "


นายเดช กล่าวเสริม จากนั้นได้รับการยืนยันจากนายวิพัฒนชัย เพิ่มอีกว่า หากรัฐบาลยังดึงดันที่จะดำเนินโครงการ
นี้ต่อไป ทางเครือข่ายป่าไม้และที่ดินภาคอีสาน อาจจะมีการวางแผนเคลื่อนไหวแน่นอน

"เรื่องการเคลื่อนไหวที่เราได้คุยกันระดับหนึ่งนั้น เราต้องการให้รัฐบาลตอบคำถามให้ประชาชนเข้าใจให้ได้ก่อนว่า

1.ในเรื่องของการปลูกยูคาลิปตัส มันทำลายระบบนิเวศโดยรวมอย่างไร เพราะในเมื่อชาวบ้านอีสานเขามีประสบ
การณ์จากการปลูกมาแล้ว

2.เรื่องการลงทุน หากมีผลกระทบจริง ใครรับผิดชอบ และจะรับผิดชอบอย่างไรบ้าง เพราะการที่รัฐบาลเอาค่าเช่า
ที่ดินราคาถูกมาเป็นแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างเดียวไม่ได้

3.หากจะดำเนินโครงการนี้จริงๆ รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาชุดหนึ่ง หรืออาจจะทำเหมือน อีไอเอ ว่า
การปลูกยูคาลิปตัสในปริมาณมากๆ นั้น มีผลกระทบอย่างไร และก่อนที่จะมีการลงทุนต้องเอาเรื่องนี้มาทำประชา
พิจารณ์ก่อน เพื่อให้ประชาชนหรือชาวบ้านทราบและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

ในนามเครือข่ายป่าไม้และที่ดินภาคอีสาน ซึ่งมีประสบการณ์ต่อเรื่องนี้มาก่อน มากแล้ว เราก็อยากจะนำปัญหาผล
กระทบของการปลูกป่ายูคาลิปตัสออกเผยแพร่ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบด้วยเช่นกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับ
ข้อมูลทั้ง 2 ด้าน

เพื่อให้รัฐบาลตัดสินใจต่อเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะยูคาลิปตัสนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับกุ้งกู้ชาติในขณะนี้ ดังนั้นรัฐบาล
จึงต้องรอบคอบและให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะกระบวนการการตัดสินใจร่วมกัน

เรื่องสุดท้าย คือเรื่องจัดตั้งโรงงานทำเยื่อกระดาษ เพราะจากข้อมูลที่ได้รับมา มีการกำหนดว่าจะตั้งโรงงานผลิต
กระดาษในเขต อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา โดยใช้แหล่งน้ำในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้โรงงานทำกระดาษอย่าง
ฟินิกซ์ ที่ตั้งอยู่ริมลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น กำลังก่อให้เกิดมลภาวะสูง คือน้ำพองเสียทั้งลำน้ำ ถึงตอนนี้ก็ยัง
แก้ไขอะไรไม่ได้ แม้ว่าจะมีกฎหมาย มีระเบียบ ข้อปฏิบัติ ครบก็ตาม แต่ก็ยังทำให้น้ำพองที่เน่าเสียกลับมาใสสะอาดคืนไม่ได้ ปัญหา
ตรงนี้ ถ้าหากรัฐบาลไม่คิดให้รอบคอบ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากๆ ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมา
อย่างแน่นอน ดังนั้นเรื่องนี้สื่อมวลชนต้องตีแผ่ออกมาให้มากๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ด้วย เพราะปัจจุบันนี้ประเทศไทย
ถูกระบบทุนทะลุทะลวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจนเสื่อมโทรมและใกล้จะหมดลงแล้ว "
นายวิพัฒนชัย กล่าวย้ำสรุปท้าย


ทีมงาน ThaiNGO
มูลนิธิกองทุนไทย

webmaster@thaingo.org






หน้าถัดไป (2/2) หน้าถัดไป


Content ©