-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 665 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ยางพารา10





การป้องกันไฟไหม้สวนยางพาราช่วงหน้าแล้ง


ช่วงหน้าแล้งซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนของประเทศไทยนั้น จะมีปริมาณฝนน้อย ดินขาดความชุ่มชื้น อีกทั้งความร้อนจากแสงแดดและกระแสลมที่พัดรุนแรง เป็นสาเหตุให้ต้นยางเล็กที่ปลูกในท้องที่ปลูกยางใหม่ชะงักการเจริญเติบโต และแห้งตายได้ ปัญหาเรื่องไฟไหม้ยางนับว่าเป็นสาเหตุหนึ่งเกิดขึ้นได้ในสวนยางขนาดเล็กและสวนยางขนาดใหญ่ ทำความเสียหายอย่างมากให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วความเสียหายรุนแรงมากน้อยไม่เท่ากัน อยู่ที่การดูแลของเจ้าของสวนยาง

สาเหตุของการเกิดไฟไหม้สวนยางมีสาเหตุที่สำคัญ 3 ประการคือ

1. ก้นบุหรี่ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ โดยเฉพาะสวนยางที่อยู่ริมถนนใหญ่ที่มีรถวิ่งผ่านไปมา เมื่อทิ้งก้นบุหรี่เข้าไปในสวนยางทำให้เกิดไฟไหม้สวนยางได้

2. เกิดจากสวนข้างเคียงที่เกิดไฟไหม้จากสาเหตุต่างๆ แล้วมักจะลุกลามไปยังสวนยางที่อยู่รอบ ๆ

3. เกิดจากไฟป่า เมื่อเกิดจากไฟไหม้จากสาเหตุต่างๆที่กล่าวมา ประกอบกับในช่วงหน้าแล้งซึ่งมีเชื้อไฟ จากวัชพืชที่แห้งตาย จากวัสดุที่ใช้คลุมโคน และใบยางที่ร่วงในฤดูแล้ง ทำให้ไฟไหม้ขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว

การป้องกันไฟไหม้สวนยาง ควรปฏิบัติก่อนเข้าหน้าแล้งโดยมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
1. ทำแนวกันไฟ

2. กำจัดวัชพืชในสวนยาง การทำแนวกันไฟเป็นการป้องกันไฟที่ลุกลามมาจากบริเวณข้างเคียงที่อยู่ติดกับสวน สามารถทำได้โดยการไถ หรือขุดถากวัชพืชและเศษซากพืชออกเป็นแนวกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร รอบบริเวณสวนยาง ในกรณีสวนยางขนาดใหญ่ควรทำแนวกันไฟ ทุกๆ 100 เมตร ภายในสวนระหว่างแถวยาง การกำจัดวัชพืชในสวนยาง เป็นการป้องกันไฟไหม้ที่จะเกิดภายในสวนยางโดยกำจัดวัชพืชในบริเวณแถวยางออกให้หมดข้างละ 1 เมตร ก่อนเข้าหน้าแล้ง หากในระหว่างแถวยางมีวัชพืชขึ้นสูงหรือหนาแน่นควรใช้วิธีการถากหรือตัดออกแล้วนำเศษซากไปคลุมโคน ไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในช่วงฤดูแล้ง เพราะจะทำให้วัชพืชยืนต้นแห้งตายซึ่งจะเป็นเชื้อไฟได้ดี กรณีต้นยางที่ถูกไฟไหม้ไม่รุนแรง แนะนำให้ใช้ส่วนผสมของปูนขาว ผสมน้ำอัตรา 1:1 ทิ้งไว้ค้างคืน แล้วทาลำต้น เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดป้องกันต้นยางสูญเสียน้ำ โรคและแมลงที่อาจเข้าทำลายได้้ต่อมาเปลือกต้นยางบริเวณที่ถูกไฟไหม้แสดงอาการแตกออกมา ให้ใช้มีดคมๆ ปาดเอาส่วนที่เสียหายออก แล้วใช้สีน้ำมันทาปิดทับให้รอยแผลหายได้เร็วขึ้น ถ้าต้นยางในสวนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จนไม่อาจรักษาหน้ายางได้เกิน 40% ของทั้งสวนควรทำการปลูกใหม่

การบำรุงรักษาสวนยางในหน้าแล้ง
- การคลุมโคนต้นยาง การคลุมโคนต้นยางเป็นวิธีการปฏิบัติที่จำเป็นต่อต้นยางอ่อนอายุ 1-3 ปี ก่อนเข้าฤดูแล้ง ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการปลูกสร้างสวนยางของเกษตรกร คือ
1. ช่วยเก็บรักษาความชื้นในดิน
2. ทำให้ต้นยางรอดตายสูงกว่าการไม่คลุมโคน
3. ช่วยให้ต้นยางเจริญเติบโตดีขึ้น
4. วัสดุที่ใช้คลุมโคนจะช่วยปรับปรุงโครงสร้าง และความอุดมสมบูรณ์ของดิน เช่น เศษซากวัชพืช ซากพืชคลุม หญ้าคา ฟางข้าว เป็นต้น โดยต้องคลุมโคนต้นยางก่อนเข้าหน้าแล้ง ประมาณ 1 เดือน

การคลุมโคนต้นยางสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1. คลุมบริเวณโคนต้นยางโดยใช้วัสดุคลุมพื้นที่บริเวณโคนต้นยางเป็นวงกลม ห่างจากต้นยาง 5-10 เซนติเมตร (1 ฝ่ามือ) มีรัศมีคลุมพื้นที่รอบโคนต้นยางประมาณ 1 เมตร คลุมหนาประมาณ 10 เซนติเมตร

2. คลุมตลอดแถวยาง กรณีสามารถหาวัสดุคลุมดินได้ง่าย มีปริมาณมากและแรงงานเพียงพอ ควรคลุมให้ตลอดแถวยางจากโคนต้นยางคลุมพื้นที่ออกไปข้างละ 1 เมตร วิธีการนี้จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินได้ดีและป้องกันวัชพืชขึ้นในแถวยางได้อีกด้วย - การป้องกันการไหม้จากแสงแดดต้นยางอ่อนอายุ 1-2 ปี ที่ปลูกในเขตแห้งแล้ง เมื่อเข้าหน้าแล้งควรใช้ปูนขาวละลายน้ำทาบริเวณโคนสูงจากพื้นดิน 1 เมตร เพื่อป้องกันรอยไหม้จากแสงแดด สำหรับรอยแผลที่เกิดขึ้นให้แก้ไขโดยใช้สีน้ำมันทาปิดทับทันที และทาปิดทับอีกครั้งก่อนที่จะเข้าช่วงแล้งในฤดูกาลต่อไป - การตัดแต่งกิ่งในช่วงแล้งในช่วงหน้าแล้งต้นยางมักจะแตกกิ่งแขนงมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดทรงพุ่มที่หนัก ดังนั้นจึงควรตัดแต่งกิ่งแขนงออกบ้างให้เหลือไว้ประมาณ 2-3 กิ่ง ในทิศทางที่สมดุลย์ การไว้กิ่งแขนงมากเกินไปจะทำให้ต้นยางต้านทานลมมาก ต้นยางโยกคลอนเป็นเหตุให้บริเวณโคนต้นเป็นหลุมรอบโคนต้น ซึ่งกระทบกระเทือนต่อรากแขนงได้

การตัดแต่งกิ่ง
1. ควรตัดแต่งกิ่งให้ชิดกับลำต้น
2. ควรทาสารเคมีป้องกันโรคและแมลงที่รอยแผลตัดแต่งกิ่งทุกครั้ง (หรือทารอยแผลตัดด้วยสีน้ำมัน)
3. ไม่ควรโน้มต้นยางเพื่อตัดแต่งกิ่ง
4. อุปกรณ์ในการตัดแต่งกิ่ง ต้องสะอาด และคม

ข้อควรจำ
ในหน้าแล้งไม่แนะนำให้ใส่ปุ๋ย เพราะปริมาณความชื้นในดินต่ำไม่เพียงพอที่จะละลายปุ๋ยให้ต้นยางใช้ได้ และถ้าหากมีฝนตกเพียงเล็กน้อยไปละลายปุ๋ยเกาะอยู่ตามรากจะทำให้ไปดึงความชื้นจากต้นยางทำให้ต้นยางเหี่ยวเฉาและอาจเกิดรากเน่าได้ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยยางในช่วงนี้เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแล้วยังอาจเกิดอันตรายต่อต้นยางอีกด้วย





ที่มา  : WWW.YANGPARA.CO,





เรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหายางพารากระทบภัยแล้ง


เรียน เกษตรกรชาวสวนยางพารา

ด้วยจังหวัดเลย ได้เกิดปัญหาภัยแล้งเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนติดต่อกัน คือตังแต่ปลายเดือนธันวาคม 2552 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์แอลนิโนที่มีผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และเกษตรกรชาวจังหวัดเลยบางส่วน

ได้ซ้ำเติมปัญหา โดยการแผ้วถางป่าและจุดไฟเผาที่ขาดการจัดการที่ถูกต้อง ทำให้เกิดปัญหาไฟไหม้สวนยางพารา สวนไม้ผล เป็นจำนวนมาก จากภาวะภัยแล้งดังกล่าวเป็นวิบากกรรมที่ส่งผลให้ต้นยางพารามีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง บางสวนมีใบเหี่ยวเฉา ยืนต้นตาย และมีอาการโคนไหม้ น้ำยางไหลทางด้านทิศใต้ที่เกิด จากการเผาไหม้ของแสงแดดที่มีความเข้มข้นของแสงสูงมาก


ลักษณะอาการและการดูแลรักษา
สำนักงานเกษตรจังหวัดเลย ขอให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้หมั่นตรวจสวนยางพาราอย่างต่อเนื่อง โดยสังเกตอาการดังนี้


1.
หากสวนยางถูกไฟไหม้ สวนยางเล็กอายุ 1–2 ปี แนะนำให้ปลูกใหม่ หากอายุยาง 2 ปีขึ้นไปให้ทาด้วยปูนขาวผสมเกลือแกง อัตรา 3 ต่อ 1 ส่วน ละลายน้ำ ทาลำต้นตั้งแต่โคนต้นอย่างน้อย 1 เมตรขึ้นไป หลังจากไฟไหม้สวนทันที หากต้นยางตายที่มีอายุไม่เกิน 4 ปี ให้ปลูกซ่อม หากอายุเกิน 4 ปี ให้ปลูกไม้อื่นทดแทน เช่น ไม้แดง ไม้ประดู่ สะเดาช้าง เป็นต้น

 

2.หากสวนยางมีอาการใบเหี่ยวเฉา จากการขาดน้ำอย่างรุนแรงที่มีผลกระทบจากภัยแล้ง หากจัดการระบบ น้ำได้แนะนำให้น้ำเฉพาะจุดคือที่โคนต้นเพื่อให้ความชื้นถึงรากแก้ว เช่นให้แบบนําหยดหรือแบบมินิสปริงเกอร์เป็นการประหยัดน้ำและต้นทุน ทั้งนี้ต้องใช้วัสดุเศษพืชคลุมโคนต้นด้วย หากไม่มีน้ำ แนะนำให้ใช้ปูนขาวผสมเกลือแกง อัตรา 3 ต่อ 1 ส่วน ละลายนํา ทาลำต้นให้รอบตั้งแต่โคนจนสุดมือเอื้อม ซึ่งสามารถชะลอการเหี่ยวเฉาตาย เพื่อรอฝนตามฤดูกาลได้เช่นกัน


3.
หากต้นยางมีอาการโคนต้นด้านทิศใต้มีรอยแผลไหม้ นํายางไหล แนะนำให้ป้องกันรักษาต้นยางโดยการทาปูนขาวผสมเกลือแกง อัตรา 3 ต่อ 1 ส่วน ละลายน้ำ ทาต้นยางจากโคนต้นจนสุดมือเอื้อมทุกต้น วิธีนี้หากจะให้เกิดผลดี เกษตรกรควรทาต้นยางพาราตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวหรือช่วงยางผลัดใบ จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ได้มาก และเกิดผลดีหลายประการ กล่าวคือ ลดการเหี่ยวเฉายืนต้นตายจากการขาดน้ำอย่างรุนแรง ลดการเกิดโคนไหม้จากแสงแดด ลดการเกิดโรคที่เกิดตามลำต้นยางพารา เป็นธาตุอาหารแก่ต้นยางหลังฝนตก เป็นต้น




นายวัฒนมงคล ทรัพย์มี

นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ

สำนักงานเกษตรจังหวัดเลย

เมษายน 2553


ประชาสัมพันธ์โดย
: งานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดเลย

โทร. 042 – 813101 e-mail : loei@doae.go.th










สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-04-23 (1795 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©