-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 161 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

เห็ด13








สรุปผลงานตามโครงการเพาะเห็ด แบบครบวงจร
ในศูนย์ฝึก ฯ อุตรดิตถ์ โดย อนงค์นุช ทินพรหม ครูอาสฯ ศฝช อต
รายละเอียด : สรุปผลงานตามโครงการเพาะเห็ด แบบครบวงจร ในศูนย์ฝึก ฯ อุตรดิตถ์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของเห็ดนางฟ้า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pleurotus sajor – caju ( Fr.) sing ชื่อวิสามัญ Sajor – caju Class Basidiomycetes Subclass Holobasidiomycetidae Order agaricales Family Tricolomataceae Genus Pleurotus Species Sajor – caju

ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเจริญของเห็ด
เห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีคลอโรฟิลล์ จึงไม่สามารถสังเคราะห์อาหารด้วยแสงเหมือนพืชที่มีสีเขียวโดยทั่วไปได้ แหล่งอาหารของเห็ดจะได้จากสารอินทรีย์ซึ่งต้องผ่านการย่อยสะสายจากเชื้อจุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น จนทำให้อาหารมีขนาดของโมเลกุลที่เล็กลงเห็ดจึงนำไปใช้ประโยชน์ได้


1. การทำเชื้อเห็ด
ก่อนที่จะลงมือทำการเพาะเห็ดจะต้องเตรียมเชื้อเห็ดไว้ก่อน ดังนั้นถ้าสามารถผลิตเชื้อเห็ดเองได้จะทำให้งานการเพาะเห็ดประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีไว้ใช้เพาะ มีโอกาสที่ตรวจสอบความบริสุทธิ์ของเชื้อ และสามารถตรวจสอบความแข็งแรง ตลอดจนเลือกเชื้อเห็ดที่มีอายุเหมาะสมมาเพาะ ซึ่งจะทำเชื้อเห็ดเจริญได้ดีและให้ผลผลิตสูง งานการทำเชื้อเห็ดเป็นงานที่ละเอียดประณีต ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญพอสมควรจึงจะทำได้สำเร็จ ขั้นตอนการผลิตเชื้อเห็ดแบ่งออกได้ ดังนี้
1.1 การเตรียมอาหารวุ้น พี ดี เอ ( potato dextrose agar ) ประกอบด้วย มันฝรั่งไม่ต้องปลอกเปลือก 200 กรัม น้ำตาลกลูโคล หรือ เด็กโตรส 20 กรัม ผงวุ้นสำหรับทำขนม 15-20 กรัม น้ำสะอาด 1,200 ซีซี หมายเหตุ ที่ต้องใช้น้ำ 1,200 ซีซี เผื่อน้ำระเหยระหว่างการต้ม
1.2 วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมอาหารวุ้น พี ดี เอ 1. หม้อนึ่งความดัน

2. หม้ออะลูมิเนียม
3. เตาแก๊ส
4. เครื่องชั่งชนิดละเอียด
5. ขวดแบน
6. สำสีปอนด์
7. มีดและเขียง
8. พลาสติกและยางรัด
9. ทัพพี
10. กรวย
11. กระบอกตวงน้ำ

1.3 ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติ
1. ทำการชั่งมันฝรั่ง น้ำตาลกลูโคส ผงวุ้น และทำการตวงน้ำให้ได้จำนวนตามที่ต้องการ โดยยึดสูตรอาหารเป็นหลัก 2. นำหัวมันฝรั่งไปล้างน้ำทำความสะอาดโดยไม่ต้องปลอกเปลือก เพราะถ้าปลอกเปลือกจะทำให้วุ้นมีสีขาวขุ่น นำมันฝรั่งมาหั่นตามขวางออกเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบลูกเต๋า
3. นำหัวมันฝรั่งที่หั่นเสร็จแล้วไปต้มกับน้ำสะอาด โดยตั้งไฟอ่อนๆ นานประมาณ 15–20 นาที ต้มพอให้เนื้อมันนิ่มอย่าต้มนานจนเนื้อมันยุ่ยเละ เพราะจะทำให้วุ้นมีสีขาวขุ่นเกิดตะกอนมาก เสร็จแล้วนำไปกรองเอาเนื้อมันออกเหลือไว้เฉพาะส่วนที่เป็นน้ำ
4. แบ่งน้ำต้มมันฝรั่งออกเป็น 2 ส่วน เทใส่หม้อ 2 ใบ เท่าๆกัน ส่วนแรกยกขั้นตั้งไฟอ่อนๆ ส่วนที่สองให้เทวุ้นลงไปพร้อมกับใช้ทัพพีคนให้วุ้นละลาย เมื่อวุ้นละลายดีแล้วจึงยกไปรวมกับหม้อที่ตั้งไฟอยู่ก่อน พร้อมกับคนตลอดเวลา เมื่อเห็นว่าน้ำตาลละลายดีแล้วจึงดับไฟยกหม้ออาหารวุ้นลงจากเตา
5. นำอาหารวุ้นมากรองลงในขวดแบน โดยเทวุ้นผ่านกรวย ขวดละ 15–20 ลูกบาศก์เซนติเมตร หรือสูงจากก้นขวดประมาณ 2–3 เซนติเมตร การกรองอาหารวุ้นลงขวดต้องระมัดระวังอย่าให้วุ้นติดที่คอขวดหรือปากขวด เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ได้ง่าย
6. ปิดขวดอาหารวุ้นด้วยจุกสำสี จุกสำสีจะต้องพันเป็นรูปทรงรี แกนด้านในแน่นไม่หลุดลุ่ยง่าย เมื่อสวมลงไปแล้วจะแน่นกระซับกับปากขวด เสร็จแล้วหุ้มด้วยพลาสติกใช้ยางรัด 2-3 รอบ นำขวดอาหารวุ้นไปนึ่งฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความดัน ใช้ความดัน 15-20 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ซึ่งอุณหภูมิจะสูงประมาณ 121–124 องศาเซลเซียส นึ่งนาน 30–45 นาที เมื่อนึ่งครบกำหนดเวลาแล้วจึงดับไฟ ปล่อยให้ความดันในหม้อนึ่งลดลงเองถึงเลขศูนย์ ไม่ควรเปิดลิ้นระบายอากาศเพื่อเร่งให้ความดันลดลงเร็ว เพราะถ้าความดันภายในหม้อนึ่งลดลงอย่างรวดเร็วจะทำให้ขวดอาหารวุ้นแตกหรือจุกสำสีหลุดออกจากปากขวดได้
7. เมื่อความดันลดลงถึงเลขศูนย์จึงเปิดลิ้นระบายอากาศและเปิดฝาหม้อ นำขวดอาหารวุ้นมาตั้งทิ้งไว้รอให้เย็นประมาณ 50 องศาเซลเซียส แล้วจึงนำขวดอาหารวุ้นไปเอียงเพื่อเพิ่มปริมาณหน้าวุ้น ถ้าเอียงขวดอาหารในขณะที่ยังร้อนจัดจะทำให้เกิดไอน้ำเกาะรวมกันเป็นหยดน้ำที่ขวดวุ้น เมื่อน้ำไปเขี่ยเชื้อจะทำให้มีโอกาสเกิดการปนเปื้อนได้ง่าย แต่ถ้าปล่อยให้ขวดอาหารวุ้นเย็นเกินไป วุ้นจะแข็งตัวทำให้เอียงลำบากหน้าวุ้นจะไม่เรียบ อาหารวุ้นที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้วหน้าวุ้นจะแห้ง ก่อนนำมาใช้ให้นำขวดวุ้นไปนึ่งพอวุ้นละลาย แล้วจึงนำขวดวุ้นมาเอียงใหม่อีกครั้งก็สามารถนำไปใช้งานได้ดีเหมือนเดิม

2. การเลี้ยงเชื้อเห็ดบนอาหารวุ้น
การตัดเนื้อเยื่อเห็ดบริสุทธิ์เลี้ยงบนอาหารวุ้น (tissue culture) การตัดเนื้อเยื่อเห็ดเลี้ยงบนอาหารวุ้น เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในงานเพาะเห็ด เพราะสามารถทำได้ง่ายกว่าการเพาะเลี้ยงสปอร์ ขั้นตอนการตัดเนื้อเยื่อเห็ดเลี้ยงบนอาหารวุ้นมีดังนี้
2.1 การคัดเลือกดอกเห็ดที่จะใช้ทำพันธุ์ ดอกควรมีลักษณะดังนี้
1) เป็นดอกที่สมบรูณ์น้ำหนักมาก ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป
2) ควรคัดเลือกจากถุงที่ให้ผลผลิตสูง
3) ต้องเป็นดอกเห็ดสดที่เก็บมาจากถุงใหม่ๆดอกไม่บอบซ้ำ
4) ดอกเห็ดที่จะนำมาตัดเนื้อเยื่อจะต้องแห้งไม่เปียกน้ำ

2.2 วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดเนื้อเยื่อ
1) ขวดอาหารวุ้น พี ดี เอ
2) ดอกเห็ดสดที่เก็บมาใหม่ๆ
3) เข็มตัดเนื้อเยื่อ
4) ตู้เขี่ยเชื้อหรือตู้กระจกที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
5) ตะเกียงแอลกอฮอล์
6) แอลกอฮอล์ทั้งชนิดจุดไฟและชนิดฆ่าเชื้อ
7) อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ไฟแชก จานแก้ว ปากกา เป็นต้น

2.3 ขั้นตอนและวิธีการปฎิบัติ
1) พ่นตู้เขี่ยเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ชนิดฆ่าเชื้อ เพื่อทำความสะอาดตู้เขี่ยเชื้ออีกครั้งก่อนลงมือทำงาน ความสะอาดดอกเห็ด ขวดอาหารวุ้น เข็มตัดเนื้อเยื่อ โดยเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ชนิดฆ่าเชื้อ
2) นำอุปกรณ์ต่างๆ เข้าในตู้เขี่ย เช่น ตะเกียงแอลกอฮอล์จุดไฟ จานแก้ว เข็มตัดเนื้อเยื่อ ขวดอาหารวุ้น ดอกเห็ด 3) ทำความสะอาดมือโดยการเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ จุดตะเกียงแอลกอฮอล์เปิดช่องระบายอากาศด้านบนของตู้เขี่ย เพื่อให้ไอความร้อนในตู้ถ่ายเทออกได้
4) ใช้มือทั้งสองข้างสอดเข้าในตู้เขี่ย มือข้างหนึ่งหยิบเข็มตัดเนื้อเยื่อขึ้นมาทำการลนเข็มตัดเนื้อเยื่อเพื่อฆ่าเชื้อโรคโดยลนที่ปลายเข็มก่อน เมื่อปลายเข็มร้อนจนแดงแล้วค่อยลนด้ามเข็ม จากนั้นใช้มืออีกข้างหนึ่งหยิบดอกเห็ดขั้นมาฉีกดอกเห็ดออกเป็น 2 ส่วน ดอกเห็ดส่วนที่ 1 วางไว้บนจานแก้ว อีกส่วนหนึ่งนำมาตัดเนื้อเยื่อ เนื้อเยื่อที่ตัดคือบริเวณรอยต่อระหว่างหมวกดอกกับก้านดอก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเนื้อเยื่อหนา สะอาดและแข็งแรงมากที่สุด
5) ปักปลายเข็มแทงลงตรงกลางก้านดอก ค่อยๆ เขี่ยเอาเนื้อเยื่อให้ติดขึ้นมาขนาดของเนื้อเยื่อเห็ดไม่ต้องโตมาก 6) เมื่อตัดเนื้อเยื่อได้แล้วค่อยวางดอกเห็ดลง ใช้มือข้างหนึ่งหยิบเอาขวดอาหารวุ้นขึ้นมา ทำการลนบริเวณคอขวด ใช้นิ้วก้อยกับอุ้งมือข้างที่จับเข็มตัดเนื้อเยื่อคบเอาจุกสำสีออกทำการลนปากขวด ค่อยๆ สอดปลายเข็มนำเนื้อเยื่อเห็ดวางลงตรงกลางอาหารวุ้น แล้วค่อยๆดึงเข็มตัดเนื้อเยื่อออก ทำการลนปากขวดอีกครั้ง เสร็จแล้วปิดปากขวดด้วยจุกสำสี ขวดต่อๆ ไปก็ทำเช่นเดียวกัน
7) เมื่อตัดเนื้อเยื่อเสร็จแล้วจึงนำขวดอาหารวุ้นออกจากตู้เขี่ย ใช้กระดาษหุ้มจุกสำสีแล้วรัดด้วยยาง 2-3 รอบ นำขวดอาหารวุ้นมาเขียนชื่อเห็ด วัน เดือน ปี ที่เขี่ยเชื้อ เสร็จแล้วนำขวดไปเก็บไว้ในตู้หรือในห้องที่ลมสงบไม่ให้ถูกแสงแดด เนื้อเยื่อเห็ดจะเจริญเป็นเส้นใยเห็ดแผ่กระจายจนเต็มอาหารวุ้น ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10-15 วัน
8) เส้นใยเห็ดบนขวดอาหารวุ้นที่ได้จากการตัดเนื้อเยื่อช่วงที่หนึ่ง สามารถนำมาตัดขยายลงในขวดอาหารวุ้นได้อีก 2-3 ช่วง โดยเส้นใยในอาหารวุ้น 1 ขวด สามารถตัดถ่ายลงในขวดอาหารวุ้นช่วงต่อไปได้ 20-30 ขวด

3. การทำหัวเชื้อเห็ดหรือการเลี้ยงเส้นใยเห็ดในเมล็ดธัญพืช
เชื้อเห็ดหรือเส้นใยเห็ดในอาหารวุ้น ยังไม่สามารถที่จะนำไปเพาะเลี้ยงให้เกิดดอกได้ ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อเห็ดยังไม่แข็งแรงพอที่จะเจริญในวัสดุเพาะ และมีปริมาณที่ยังน้อยอยู่ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องนำเชื้อเห็ดไปเลี้ยงในวัสดุที่ย่อยยากขึ้น เพื่อปรับสภาพให้เชื้อเห็ดมีความแข็งแรงและเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นด้วย เมล็ดธัญพืชที่นิยมใช้ทำหัวเชื้อ ได้แก่ เมล็ดข้าวฟ่าง เพราะสามารถเทออกจากขวดได้ง่าย การทำหัวเชื้อแบ่งออกได้ 2 ขั้นตอน ดังนี้
3.1 การเตรียมเมล็ดธัญพืช วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบด้วย
1) เมล็ดข้าวฟ่าง
2) ขวดแบน
3) หม้ออลูมิเนียม
4) หม้อนึ่งความดัน
5) เตาแก๊ส
6) สำสี / พลาสติก / กระดาษ / ยางรัด
7) ทัพพี
8) ตาข่ายไนล่อน สำหรับตากเมล็ดข้างฟ่าง
9) กะละมัง สำหรับใส่เมล็ดข้าวฟ่าง 10) กรวยพลาสติก

ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ
1) นำเมล็ดข้าวฟ่างมาชั่งตามความต้องการ โดยประมาณหัวเชื้อ 1 ขวด ต่อเมล็ดข้าวฟ่าง 100 กรัม หรือ 1 ขีด 2) นำเมล็ดข้าวฟ่างมาทำความสะอาด เก็บสิ่งเจือปนออก แล้วจึงนำไปแช่น้ำเพื่อคัดเอาเมล็ดที่ไม่สมบรูณ์และสิ่งเจือปนออกอีกครั้ง จากนั้นนำเมล็ดที่สมบูรณ์ไปแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน หรือ 12 ชั่วโมง เพื่อให้เปลือกเมล็ดนิ่ม
3) นำเมล็ดข้าวฟ่างมาล้างทำความสะอาดอีกครั้ง เมื่อเห็นว่าเมล็ดสะอาดดีแล้วจึงนำไปต้มพอให้เปลือกนิ่ม หรือเปลือกเริ่มปริ 1 ใน 3 ของเมล็ด อย่าต้มนานจนเมล็ดเปื่อยยุ่ย จะทำให้เมล็ดนิ่มเละเชื้อเห็ดเจริญได้ไม่ดีและเขี่ยออกจากขวดยาก ในขณะที่ต้มต้องคนบ่อยๆเพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดที่อยู่ก้นหม้อเปื่อยยุ่ยก่อนเมล็ดที่อยู่ด้านบน
4) เมื่อต้มจนเมล็ดนิ่มดีแล้วให้รินน้ำออก นำเมล็ดไปเทใส่ตาข่ายไนล่อน เกลี่ยเมล็ดออกบางๆ แล้วนำไปผึ่งลมเพื่อให้เมล็ดแห้งพอหมาดๆ แล้วนำเมล็ดข้าวฟ่างเทใส่กะละมัง
5) กรอกเมล็ดข้าวฟ่างลงในขวดแบน อาจเทผ่านกรวยพลาสติกก็ได้ โดยกรอกลงให้เกินครึ่งขวดถึงไหล่ขวด เสร็จแล้วเช็ดคอขวดให้สะอาด ปิดด้วยจุกสำสีแล้วนำพลาสติกมาปิดทับอีกชั้นหนึ่งรัดคอขวดด้วยยาง 2-3 รอบ เพื่อป้องกันไม่ให้จุกสำสีเปียกในขณะที่นึ่ง
6) นำขวดเมล็ดข้าวฟ่างไปนึ่งฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความดัน ใช้ความดัน 15-20 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว นาน 30-45 นาที เมื่อนึ่งครบตามกำหนดแล้วจึงดับไฟ ปล่อยให้ความดันของหม้อลดลงถึงศูนย์จึงเปิดฝาหม้อนึ่ง นำขวดเมล็ดข้าวฟ่างไปตั้งไว้ให้เย็นเพื่อทำการเขี่ยเชื้อต่อไป

3.2 การเขี่ยเส้นใยเห็ดในอาหารวุ้นลงในขวดเมล็ดข้าวฟ่าง วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบด้วย
1) ขวดเส้นใยเห็ดในอาหารวุ้นที่กำลังเดินเต็ม
2) ขวดเมล็ดข้างฟ่าง
3) แอลกอฮอล์ทั้งชนิดจุดไฟและชนิดฆ่าเชื้อ
4) ตู้เขี่ยเชื้อ
5) ตะเกียงแอลกอฮอล์
6) เข็มตัดเนื้อเยื่อ
7) ปากกาเคมีสำหรับเขียนขวด

ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติ
1) เช็ดเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ด้วยแอลกอฮอล์ชนิดฆ่าเชื้อทำความสะอาดก่อนนำเข้าตู้เขี่ยเชื้อ
2) นำอุปกรณ์ต่างๆ เข้าในตู้เขี่ยเชื้อ แล้วจุดตะเกียงแอลกอฮอล์ เปิดช่องระบายอากาศด้านบนของตู้เขี่ยเชื้อ สำหรับขวดเมล็ดข้าวฟ่างให้เคาะจนเมล็ดแตกกระจายเสียก่อนจึงนำเข้าตู้เขี่ย
3) นำเข็มตัดเนื้อเยื่อมาลนไฟ โดยลนบริเวณปลายเข็มจนแดงก่อนแล้วจึงลนด้ามเข็ม ใช้มือข้างหนึ่งหยิบขวดอาหารวุ้นขึ้นมาทำการลนคอขวด แล้วใช้นิ้วก้อยกับอุ้งมือข้างที่ถือเข็มตัดเนื้อเยื่อคีบเอาจุกสำสีออก ลนปากขวดอีกครั้ง แล้วใช้เข็มตัดเนื้อเยื่อสอดเข้าไปในขวดวุ้น ใช้ปลายเข็มตัดเส้นใยในอาหารวุ้นให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนาด 1 ตารางเซนติเมตร เอาปลายเข็มแทงลงกลางแผ่นวุ้นที่ตัดแล้วค่อยๆ หงายปลายเข็มขึ้นดึงเข็มออกจากขวดแล้วปิดจุกสำสีเสร็จแล้วนำขวดวุ้นไปวางไว้ที่เดิม
4) ใช้มืออีกข้างหนึ่งหยิบขวดเมล็ดข้าวฟ่างขึ้นมา เขย่าขวดเล็กน้อยเพื่อให้เมล็ดข้าวฟ่างแตกไม่จับกันเป็นก้อน เอียงขวดในแนวเกือบขนาน ใช้นิ้วก้อยกับอุ้งมือข้างที่ถือเข็มตัดเนื้อเยื่อคีบเอาจุกสำสีออกจากคอขวด ลนคอขวด แล้วค่อยๆ สอดปลายเข็มตัดเนื้อเยื่อเพื่อนำแผ่นวุ้นไปวางไว้ตรงกลางของส่วนที่มีเมล็ดข้าวฟ่าง ดึงเข็มตัดเนื้อเยื่อออกลนปากขวดอีกครั้งหนึ่งแล้วปิดด้วยจุกสำสี นำขวดเมล็ดข้าวฟ่างตั้งไว้ ทำขวดต่อไปก็ทำเช่นเดียวกันจนเสร็จ
5) นำขวดเมล็ดข้าวฟ่างที่ตัดเส้นใยแล้วออกจากตู้เขี่ยเชื้อ ใช้กระดาษหุ้มจุกสำสีด้วยยางรัด 2-3 รอบ นำขวดเมล็ดข้าวฟ่างมาเขียนบันทึกชื่อเห็ด วัน เดือน ปี ที่เขี่ยเชื้อ เสร็จแล้วนำขวดเมล็ดข้าวฟ่างไปเก็บไว้ในห้องที่ลมสงบไม่ให้ถูกแสงแดด ประมาณ 10-15 วัน เส้นใยเห็ดจะเดินเต็มขวดเมล็ดข้าวฟ่าง


4. การทำเชื้อเห็ดและการทำก้อนเชื้อ
หลังจากที่ทำหัวเชื้อเห็ดหรือเลี้ยงเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่างแล้ว ขั้นตอนนี้เรียกว่าการทำก้อนเชื้อเห็ด วัสดุหลักสำหรับทำก้อนเชื้อเห็ดได้แก่ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ไม้มะม่วง ไม้จามจุรี เป็นต้น 4.1 วัสดุที่ใช้ประกอบด้วย 1. ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน 100 กิโลกรัม
2. รำละเอียด 5 กิโลกรัม
3. ปูนขาว 1 กิโลกรัม
4. ยิปซั่ม 2 กิโลกรัม
5. ดีเกลือ 200 กรัม
6. น้ำ (ความชื้น ) 60–70 เปอร์เซนต์ หมายเหตุ อาจจะเพิ่มแป้งข้าวเหนียว / อีเอ็ม / ปุ๋ยยูเรีย / น้ำตาล เพื่อเพิ่มผลผลิตก็ได้

4.2 ขั้นตอนและวิธีการ การผสมสูตรอาหารนับว่ามีความสำคัญ จะต้องผสมให้ส่วนประกอบต่างๆ เข้ากันดีมีความเข้มข้นสม่ำเสมอกัน เพื่อจะทำให้เชื้อเห็ดเจริญได้ดีสม่ำเสมอทั่วถุง ขั้นตอนและวิธีผสมทำได้ดังนี้
1) ทำการชั่งวัสดุตามรายการให้ได้ครบจำนวนสูตรอาหาร
2) นำขี้เลื่อยมาเทรวมกันเก็บสิ่งเจือปน เช่น เศษไม้ เปลือกไม้ ออกให้หมด
3) กระจายกองขี้เลื่อยให้เป็นวงกลม
4) นำรำละเอียด ปูนขาว ยิปซั่ม ดีเกลือ หว่านกระจายให้ทั่วกับขี้เลื่อย โดยหว่านที ละอย่าง เสร็จแล้วใช้พลั่วทำการคลุกเคล้าให้ส่วนผสมเข้ากันดี จนมองดูเป็นสีเดียวกัน
5) นำน้ำไปรดกองขี้เลื่อยให้พอประมาณ เสร็จแล้วให้ลองทดสอบความชื้นในกองขี้ เลื่อย โดยใช้มือกำขี้เลื่อยให้แน่นแล้วค่อยแบมือออก ถ้าขี้เลื่อยแตกกระจายแสดงว่าความชื้นต่ำให้รดน้ำเพิ่มลงไปอีก จนกว่าจะกำแล้วแบมือออกขี้เลื่อยจับตัวกันแต่ไม่ต้องแน่นมากแสดงว่าความชื้นเหมาะสม อยู่ระหว่าง 60-70 เปอร์เซ็นต์

4.3 การบรรจุถุง
อุปกรณ์ที่ใช้ในการบรรจุถุงประกอบด้วย
1) ถุงสำเร็จ
2) คอขวดพลาสติก
3) ยางรัด
4) พลาสติกใส / คอขวด /กระดาษ
5) อุปกรณ์ตักขี้เลื่อย
6) ขวดกลมหรือไม้สำหรับตีก้อนเห็ด การบรรจุขี้เลื่อยลงถุงควรบรรจุถุงละ 7 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม เมื่อกรอกขี้เลื่อยลงถุงได้แล้ว ใช้มือกระแทกถุงขี้เลื่อยลงกับพื้นให้ถุงขี้เลื่อยแน่นพอสมควรแล้วใช้ขวดหรือไม้ทุบถุงขี้เลื่อยให้ แน่นสม่ำเสมออีกรอบหนึ่ง

การบรรจุขี้เลื่อยต้องระมัดระวังอย่าให้ถุงขาดหรือเกิดรูรั่ว เพราะจะทำ ให้เชื้อโรคเข้าไปปนเปื้อนในถุงได้ เมื่ออัดขี้เลื่อยลงถุงจนแน่นแล้วจึงใส่คอขวด ปิดปากถุงด้วย พลาสติกรัดด้วยยางรัดให้แน่น

4.4 การนึ่งฆ่าเชื้อ
เมื่อทำการบรรจุขี้เลื่อยลงถุงเสร็จแล้วต้องนำถุงขี้เลื่อยไปนึ่งฆ่าเชื้อทันที ไม่ควรปล่อยทิ้ง ไว้ เพราะจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นเจริญขยายตัวในถุงขี้เลื่อยได้รวดเร็ว เมื่อนำไปนึ่งฆ่าเชื้อทำ ได้ยากขึ้นและมีโอกาสเกิดการปนเปื้อนได้สูง การนึ่งนั้นอาจจะใช้ถัง 200 ลิตร (หม้อนึ่งลูกทุ่ง) ก็ ได้ถ้าไม่มีถังนึ่งไอน้ำขนาดใหญ่ การนึ่งต้องสังเกตจากการมีไอน้ำลอยขึ้นมาถือว่าใช้ได้ให้เริ่มจับ เวลาไปอีก 3–4 ชั่วโมง จนกว่าขี้เลื่อยจะสุก (จะมีกลิ่นหอมของขี้เลื่อย) ถือว่าใช้ได้

4.5 การเขี่ยหัวเชื้อเห็ดลงถุงก้อนเชื้อ การเขี่ยหัวเชื้อ ควรเขี่ยในตู้เขี่ยจะสามารถป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อโรคอื่นได้ดี แต่ถ้า ไม่มีตู้เขี่ยเชื้ออาจจะเขี่ยในห้องที่ลงสงบโดยทำการปิดประตูหน้าต่างห้องให้มิดชิด วิธีการเขี่ยเริ่มด้วยดารจุดตะเกียงแอลกอฮอล์ หยิบไม้ตะเกียบหรือเหล็กแท่งยาวประมาณ 7–8 นิ้ว ขึ้นมาลนไฟฆ่าเชื้อโรค ใช้มืออีกข้างหนึ่งหยิบขวดหัวเชื้อมาแล้วลนคอขวด ใช้นิ้วก้อยกับอุ้งมือข้างที่จับไม้ตะเกียบคีบจุกสำสีออกจากขวด ทำการเขี่ยเมล็ดข้าวฟ่างให้แตกออกจากกัน ระหว่างการเขี่ยจะต้องคีบเอาจุกสำสีไว้ในมืออยู่ตลอดเวลา ขวดหัวเชื้อต้องอยู่เหนือเปลวไฟ เพราะเปลวไฟจะช่วย สกัดเชื้อโรคไม่ให้ลงไปในขวด เมื่อเมล็ดข้าวฟ่างแตกกระจายดีแล้วจึงลนปากขวด ปิดจุกสำสี ขวดต่อไปก็ทำเช่นเดียวกัน เมื่อเขี่ยหัวเชื้อเสร็จแล้วจึงทำการเขี่ยหัวเชื้อลงถุงก้อนเชื้อ ควรทำในที่ลมสงบเพื่อป้องกันเชื้อโรคปลิวลงในถุง ขั้นแรกให้หยิบขวดหัวเชื้อขึ้นมาเขย่าหรือเคาะกับฝ่ามือ เมื่อเมล็ดข้าวฟ่างแตกกระจายดีแล้วจึงใช้นิ้วก้อยกับอุ้งมือคีบเอาจุกสำสีออกจากขวด ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้หยิบพลาสติกที่ปิดปากถุงออก เทหัวเชื้อข้าวฟ่างลงไปในปากถุง ถุงละ 10–20 เมล็ด แล้วปิดถุงก้อนเชื้อด้วยกระดาษ หัวเชื้อหนึ่งขวดสามารถเขี่ยได้ประมาณ 30–35 ถุง ในการเขี่ยหัวเชื้อลงถุงต้องทำด้วยความรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อชนิดอื่นลงไปปนเปื้อนในถุงก้อนเชื้อ

4.6 การบ่มพักเชื้อและเปิดดอก เมื่อเขี่ยหัวเชื้อลงถุงก้อนเห็ดเสร็จแล้ว ให้นำถุงก้อนเชื้อไปเก็บพักไว้ในห้องที่ลมสงบหรือถ้าไม่มีห้องพักเชื้อก็สามารถนำไปเรียงที่โรงเรือนเพาะเ ห็ดได้เลย เส้นใยจะเดินเต็มถุงใช้เวลาประมาณ 25–28 วัน ให้สังเกตดูว่าถ้าดอกเห็ดแทงกระดาออกมาอย่างน้อย 5–10 ถุง ให้ดึงกระดาษออกให้หมดเพราะเห็ดพร้อมที่จะออกดอกให้เก็บผลผลิตแล้ว
 
4.7 โรคและศัตรูของเห็ดนางฟ้า ศัตรูตัวสำคัญได้แก่ แมลงวี่ แมลงวันตัวเล็ก จะวางไข่ในถุงก้อนเชื้อเห็ด ต่อมาไข่จะฟักตัวเป็นหนอน ตัวหนอนจะเข้าไปทำลายเส้นใยเห็ดทำให้เห็ดเจริญได้ไม่เต็มที่ 4.8 การดูแลรักษา การรดน้ำ ควรรดน้ำเวลาเช้าและเย็นไม่ควรรดน้ำให้เปียกปากถุงเพราะจะทำให้ถุงก้อนเชื้อเห็ดเน่าเร็ว และไม่ควรใช้น้ำที่มีสารเคมีเจือปน จะทำให้เห็ดออกดอกได้ยาก 4.9 ผลที่เกิดกับชุมชน/สังคม
1. ถ้าสามารถทำเชื้อเองได้ก็สามารถลดต้นทุนไปได้ 3-4 บาท
2. สามารถบริโภคเห็ดที่สดสะอาดปลอดสารเคมีเจือปน
3. สามารถทำเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-04-23 (2521 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©