-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 501 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

มะละกอ




หน้า: 2/4


จี้รัฐเร่งตรวจสอบ "มะละกอ จีเอ็มโอ" หลังพบปนเปื้อนซ้ำ
พร้อมพืชใหม่รวม 5 ชนิด

"กรีนพีซ" เรียกร้องรัฐบาล เร่งตรวจสอบกรณีไบโอไทยพบพืชจีเอ็มโอปนเปื้อนในแปลงเปิด 5
ชนิด ในหลายจังหวัด มีมะละกอรวมอยู่ด้วย คาดเป็นพันธุ์เดียวกับที่เคยพบเมื่อปี 47 เตรียมยื่น
เรื่องถึงศาลปกครอง จี้ภาครัฐพิสูจน์อีกครั้ง หากพบให้รีบทำลายทิ้งทันที พร้อมเรียกร้องรัฐบาล
ทบทวนนโยบายหนุนปลูกพืช จีเอ็มโอ ใหม่ ออกกฏหมายให้เข้มแข็งเพื่อควบคุม จีเอ็มโอ ทุก
ชนิด และหวังให้ยุติการทดลองพืชดัดแปรพันธุกรรมในไทยทุกระดับ
      
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้ออกมาเปิดเผยรายงาน "เบื้องลึก จีเอ็มโอ ต้นทุนที่ไม่จำ
เป็น" เมื่อวันที่ 12 ก.พ.53 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานกรีนพีซ อาคารทอง สุทธิสาร พร้อมกับเรียก
ร้องรัฐบาลเร่งตรวจสอบกรณีมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ตรวจพบพื้น จีเอ็มโอ ปนเปื้อนในพื้นที่
เกษตรกรรมเพิ่มเติม และยังพบว่าเป็นพืช จีเอ็มโอ ชนิดใหม่ที่พบการปนเปื้อนครั้งแรกในประเทศ
ไทยด้วยอีก 2 ชนิด
      
น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กล่าวว่า ที่ผ่านมาการปลูกพืช จีเอ็มโอ ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศมาแล้ว
จากการพบสินค้าเกษตรปนเปื้อน จีเอ็มโอ  และความล้มเหลวในพื้นที่เพาะปลูก และปัจจุบันพบว่า
พื้นที่เพาะปลูกพืช จีเอ็มโอ ในยุโรปลดลงประมาณ 7% เพราะสหภาพยุโรปมีมาตรการเกี่ยวกับพืช
จีเอ็มโอ เข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยประเทศฝรั่งเศสได้ประกาศยุติการปลูกข้าวโพด จีเอ็มโอ แล้ว
      
"ล่าสุดรัฐบาลอินเดียก็ไม่อนุมัติการปลูกมะเขือดัดแปลงพันธุกรรม เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทาง
วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมมากเพียงพอ และเกรงว่าจะ
กระทบต่อความหลากหลายทางพันธุกรรมของมะเขือในอินเดีย และตลาดส่งออกมะเขือ ซึ่งเป็น
พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอินเดียวเทียบได้กับข้าวของไทย"  น.ส.ณัฐวิภา กล่าว
      
ส่วนในประเทศไทยนั้น ล่าสุดทางมูลนิธิชีววิถีได้แถลงรายงานการตรวจพบพืชดัดแปรพันธุกรรม
หรือ จีเอ็มโอ ปนเปื้อนในพื้นที่เกษตรกรรม จำนวน 5 ชนิด ในหลายจังหวัด เมื่อวันที่ 8 ก.พ.53
ที่อาคาร เคยู.โฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมูลนิธิชีววิถีร่วมกับห้องปฏิบัติการ
ทรานส์เจนิคเทคโนโลยีในพืชและไบโอเซ็นเซอร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุ่มตรวจสอบการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของพืช จีเอ็มโอ  ระหว่าง
เดือน พ.ย. 51- ก.ค. 52 จำนวน 768 ตัวอย่าง จากพืช 9 ชนิด ในพื้นที่เกษตรกรรม
40 จังหวัด ครอบคลุม 120 อำเภอ ทั่วประเทศ
      
ในรายงานระบุว่าผลการตรวจสอบพบพืช จีเอ็มโอ ปนเปื้อนในพื้นที่ของเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 5
ชนิด จำนวน 17 ตัวอย่าง ได้แก่ ฝ้าย ข้าวโพด ถั่วเหลือง มะละกอ และพริก ซึ่งในจำนวนนี้ ถั่ว
เหลือง และพริก เป็นพืช จีเอ็มโอ ชนิดใหม่ที่พบหลักฐานการปนเปื้อนเป็นครั้งแรกในประเทศ
ไทย โดยถั่วเหลือง จีเอ็มโอ พบในจังหวัดแม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่ และนครสวรรค์ ส่วนพริก จีเอ็ม
โอ พบในจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น
      
ส่วนมะละกอ จีเอ็มโอ นั้นพบการปนเปื้อนในจังหวัดนครสรรค์และกาญจนบุรี โดยตรวจพบโครง
สร้างชิ้นส่วน ดีเอ็นเอ 35S promoter ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมที่เคยพบ
ปนเปื้อนในพื้นที่เกษตรกรรมเมื่อปี 2547 และหลงเหลือจากการทำลายในครั้งนั้น รวมทั้งฝ้าย จี
เอ็มโอ ที่พบใหม่ คาดว่าเป็นฝ้านต้าทานหนอนเจาะสมอฝ้ายสายพันธุ์เดียวกับที่เคยพบการปน
เปื้อนเมื่อหลายปีก่อน
      
"หลังจากที่ไบโอไทยเปิดเผยการพบพืช จีเอ็มโอ ปนเปื้อนในพื้นที่เกษตรครั้งนี้ ก็ยังไม่มีหน่วย
งานใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ มะละกอ จีเอ็มโอ ก็พบว่ายังมีปนเปื้อนอยู่อีก ทั้งที่ภาครัฐ
บอกว่าได้ทำลายไปหมดแล้ว และรายงานการพบพืช จีเอ็มโอ ปนเปื้อนในไทยทุกครั้งมาจากภาค
ประชาชน แสดงให้เป็นถึงความหละหลวมและไม่เอาจริงเอาจังของหน่วยงานภาครัฐในเรื่องนี้ ทั้งที่
มีหน้าที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังเรื่องนี้โดยตรง"  น.ส.ณัฐวิภา กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV
ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนอีกหลายสำนัก
      
น.ส.ณัฐวิภา กล่าวต่อว่า กรีนพีซจะติดต่อขอข้อมูลการพบมะละกอ จีเอ็มโอ ปนเปื้อนจากทางมูล
นิธิชีววิถี และทำหนังสือถึงศาลปกครอง เพื่อประกอบการพิจารณาคดีกรีนพีซฟ้องกรมวิชาการ
เกษตร ว่าได้ละเลยต่อหน้าที่และปล่อยให้มีการแพร่กระจายของมะละกอ จีเอ็มโอ สู่แปลงเพาะ
ปลูกของเกษตรกร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์
      
"เราจะรวบรวมข้อมูลและยื่นต่อศาลปกครองให้เร็วที่สุด และหวังว่าศาลจะตัดสินใหม่ให้กรม
วิชาการเกษตรเร่งตรวจสอบการปนเปื้อนของมะละกอ จีเอ็มโอ ในพื้นที่เกษตรกรรมใหม่ทั้งหมด
และหากพบว่ายังมีอยู่จริงให้รีบทำลายทิ้งให้หมดทันที" น.ส.ณัฐวิภา กล่าว และส่วนกรณีการตรวจ
พบการปนเปื้อนของพืช จีเอ็มโอ ชนิดใหม่ รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการเพื่อเร่งตรวจสอบและสืบ
หาสาเหตุการปนเปื้อนโดยเร็วที่สุดด้วย
      
นอกจากนั้น กรีนพีซยังเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการสนับสนุนเพื่อ จีเอ็มโอ เสีย
ใหม่ ควรยุติการทดลองพืช จีเอ็มโอ ในประเทศไทยทุกชนิดในทุกระดับการทดลอง เพราะแม้
ทดลองในห้องปฏิบัติการก็มีโอกาสหลุดออกมาปนเปื้อนในธรรมชาติได้ ซึ่งยากที่จะแก้ไขและ
ควบคุม อย่างความล้มเหลวที่ผ่านมาในกรณีของฝ้ายและมะละกอ จีเอ็มโอ
      
รวมทั้งควรออกมาตรการทางกฏหมายที่เข้มแข็งและมีความครอบคลุมในการควบคุมพืช จีเอ็มโอ
ทุกชนิด เพื่อปกป้องสิทธิ์ผู้บริโภค และควรมีบทลงโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับพืช จีเอ็มโอ และการ
ชดเชยค่าเสียหายแก่เกษตรกรหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของพืช จีเอ็มโอ อย่าง
เหมาะสมด้วยเช่นกัน


ที่มา http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000021069



 
ญี่ปุ่นไฟเขียว  มะละกอ จีเอ็มโอ
นักวิจัยคอร์เนลเผย ญี่ปุ่นเตรียมนำเข้ามะละกอจีเอ็มโอจากฮาวาย เดินเรื่องอีกขั้นตอนเดียวก็แล้วเสร็จพร้อมแจ้งต่อองค์การการค้าโลก เดือน ก.พ. ปีหน้าเริ่มนำเข้าได้ อนาคตมีแนวโน้มปลูกเองด้วย ส่วนมะละกอ จีเอ็มโอ.ไทยยังไม่ได้ลงแปลงภาคสนาม นักวิจัยเร่งยื่นเรื่องขออนุญาตภายในปีนี้
      
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จัดบรรยายพิเศษเกี่ยวกับมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมหรือมะละกอ จีเอ็มโอ. เรื่อง   “Environmental,   Food safety Assessment and Experiences on Deregulation of Hawaiian Transgenic Papaya”  ณ อาคารไบโอเทค อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา โดยมีวิทยากรคือ ดร.เดนนิส กอนซัลเวส (Dr.Dennis Gonsalves) นักวิจัยผู้พัฒนามะละกอฮาวายดัดแปลงพันธุกรรม จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา และ ดร.ปาริชาติ เบิร์นส  คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ เข้าร่วมฟังการบรรยายพร้อมกับนักวิจัยและผู้สนใจจำนวนหนึ่ง
      
ดร.ปาริชาติ ได้ศึกษาในเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพของมะละกอ จีเอ็มโอ.ที่ปลูกทดสอบภายในเรือนกระจก โดยศึกษาว่ามะละกอ จีเอ็มโอ.ที่ดัดผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ต้านทานโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวน จะมีผลอย่างไรต่อแบคทีเรียในดิน, ไรแดงแอฟริกัน ซึ่งเป็นแมลงศัตรูของมะละกอ และไรตัวห้ำ ซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติของไรแดงแอฟริกัน
      
ผลการทดลองที่ได้ ไม่พบความแตกต่างของชนิดและจำนวนประชากรของแบคทีเรียในดินบริเวณปมรากมะละกอธรรมดากับมะละกอ จีเอ็มโอ. ส่วนไรตัวห้ำที่เลี้ยงด้วยไรแดงแอฟริกันที่กินใบมะละกอ จีเอ็มโอ. ก็ยังคงมีวงจรชีวิตปกติ ไม่แตกต่างจากไรตัวห้ำที่เลี้ยงด้วยไรแดงแอฟริกันที่กินใบมะละกอ จีเอ็มโอ.
      
นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาการกระจายของละอองเกสรมะละกอด้วยคอมพิวเตอร์โมเดลและสาร
สนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อดูว่าจะสามารถใช้จีไอเอสโมเดลลิง (GIS modeling) ทำนายการเคลื่อนที่ของละอองเกสรของมะละกอได้หรือไม่ โดยใช้ข้อมูลขนาดและรูปทรงของละอองเกสรมะละกอ ประกอบกับทิศทางและความเร็วของลมในแต่ละช่วงเวลา เทียบกับการทดลองจริงในแปลง  พบว่าแบบจำลองให้ผลระยะทางการเคลื่อนที่ของละอองเกสรที่แม่นยำ ฉะนั้นจึงสามารถใช้ จีไอเอสโมเดลลิง เป็นเครื่องมือในการสังเกตหรือคาดการณ์การปลิวของละอองเกสรมะละกอได้อย่างมีประสิทธิภาพในกรณีที่มีลมเป็นปัจจัยหลัก แต่อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยอื่นที่มีผลร่วมด้วย เช่น แมลง
      
ด้าน ดร.เดนนิส ได้เผยว่า ได้เริ่มวิจัยมะละกอ จีเอ็มโอ.มาตั้งแต่ปี 2528 และประสบความสำเร็จในปี 2535 ปรากฏว่าในปีถัดไปเกิดปัญหามะละกอในฮาวายได้รับความเสียหายครั้งจากโรคระบาด ทำให้มะละกอ จีเอ็มโอ.จากการวิจัยของเขาถูกนำไปใช้แก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีการทดสอบความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งก็ไม่พบว่ามีอะไรที่แตกต่างไปจากมะละกอปกติ ยกเว้นความสามารถในการต้านทานโรคได้ และมะละกอ จีเอ็มโอ.ก็ได้ปลูกเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในปี 2540 และในปี 2554 นี้ ญี่ปุ่นจะเริ่มนำเข้ามะละกอ จีเอ็มโอ.จากฮาวายเป็นครั้งแรกด้วย
      
      
ทั้งนี้ ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ นักวิจัยไบโอเทค ที่เข้าร่วมฟังบรรยายในครั้งนี้ด้วย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นมีการนำเข้าพืช จีเอ็มโอ.เพื่อเป็นอาหารสัตว์เท่านั้น เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง แต่สำหรับมะละกอ จีเอ็มโอ. นี่จะถือเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นจะนำเข้าพืช จีเอ็มโอ.เพื่อการบริโภคโดยตรง
      
เดิมทีญี่ปุ่นนำเข้ามะละกอจากฮาวายอยู่แล้ว แต่ในระยะหลังเกษตรกรในฮาวายปลูกมะละกอ จี
เอ็มโอ.เป็นส่วนใหญ่ ทำให้มะละกอไม่ จีเอ็มโอ.เริ่มมีน้อยลงญี่ปุ่นจึงเริ่มพิจารณาอนุญาตให้นำเข้ามะละกอ จีเอ็มโอ.จากฮาวาย โดยได้มีการตรวจสอบความปลอดภัยในด้านต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอนและสำรวจความคิดเห็นของประชาชนด้วยในทุกขั้นตอน โดยในขณะนี้เหลือเพียงการทำประชาพิจารณ์ในขั้นสุดท้ายที่กำลังจะเสร็จสิ้นในเร็วๆนี้ และหลังจากนั้นญี่ปุ่นก็จะต้องแจ้งต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าจะมีการนำเข้ามะละกอ จีเอ็มโอ.จากฮาวาย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มนำเข้าได้ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2554 เป็นต้นไป
      
ส่วนประชาชนในญี่ปุ่นก็ยังมีสิทธิที่จะตัดสินใจเลือกเองว่าจะบริโภคมะละกอ จีเอ็มโอ.หรือไม่ จี
เอ็มโอ. เพราะกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นพิจารณาว่าจะกำหนดให้มีการติดฉลากเพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคด้วย และนอกจากนั้นยังมีแนวโน้มด้วยว่าญี่ปุ่นอาจจะปลูกมะละกอ จีเอ็มโอ.ด้วยในอนาคต โดยอาจเริ่มที่โอกินาว่าเป็นแห่งแรก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับเกษตรในพื้นที่ด้วย
      
ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นจัดเป็นประเทศที่ปฏิเสธพืช จีเอ็มโอ.มากเป็นอันดับต้นๆ แต่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ของญี่ปุ่นอาจส่งสัญญาณบางอย่าง ซึ่ง ดร.บุญญานาถ แสดงความเห็นว่า อาจไม่ทำให้การวิจัยพืช จีเอ็มโอ.ในไทยเปลี่ยนไปมากนัก เนื่องจากวิจัยกันมามากและนานแล้ว เพียงแต่ประเทศไทยยังมีคอขวดที่ยังผ่านไปไม่ได้ง่ายๆ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่งแซงหน้าไทยไปแล้ว
      
"การตัดสินใจนำเข้ามะละกอ จีเอ็มโอ.ของญี่ปุ่นนั้นดำเนินบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ น่าจะเป็นตัวอย่างให้ประเทศไทยในการเตรียมตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ ถ้าญี่ปุ่นยอมรับที่จะนำเข้ามะละกอ จีเอ็มโอ. ก็แสดงว่ามีตลาดสำหรับมะละกอ จีเอ็มโอ. แล้วถามว่าประเทศไทยจะเข้าช่วงชิงตลาดนี้ด้วยหรือไม่  ถ้าจะไทยจะทำ ก็ต้องทำการทดสอบภาคสนามก่อน แล้วจึงจะสามารถไปสู่เชิงพาณิชย์ได้" ดร.บุญญานาถ กล่าว
      
อย่างไรก็ดี ดร.บุญญานาถ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่มีการทดลองพืช จีเอ็มโอ.ภาคสนามเกิดขึ้นในไทย แต่นักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ก็กำลังร่วมกับจัดทำกรอบการวิจัยภาคสนามเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในการขออนุญาตทดลองปลูกมะละกอ จีเอ็มโอ.ภาคสนาม คาดว่าน่าจะยื่นเสนอได้ภายในปีนี้ แต่ไม่รู้ว่าจะผ่านการพิจารณาหรือไม่ และหากได้รับการอนุมัติก็จะต้องมีการประชาพิจารณ์ก่อนจึงจะเริ่มดำเนินการทดลอง


 

มะละกอปากช่อง 2 งานเด่น...ใช้เวลาวิจัยนานกว่าทศวรรษ
พานิชย์ ยศปัญญา

มะละกอ เป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานผลสุกทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ในต่างประเทศนิยมรับประทานมะละกอที่มีผลขนาดเล็ก มีน้ำหนักต่อผลไม่เกิน 600 กรัม จากมูลค่าการค้ามะละกอในปี 2543 มูลค่าการค้ารวมของโลกอยู่ที่ 3,816 ล้านบาท ปี 2547 มูลค่าการค้ามะละกอได้เพิ่มขึ้นเป็น 7,348 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการเพิ่มขึ้นแต่ละปีประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์

ประเทศที่มีการส่งออกมะละกออันดับหนึ่งคือ เม็กซิโก มีมูลค่าการค้า 40 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด อันดับสองคือ มาเลเซีย 25 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ประเทศอื่นๆ ได้แก่ บราซิล และสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยมีการผลิตมะละกอเพื่อส่งออกโดยตรงยังมีน้อย และพันธุ์ที่ปลูกส่วนมากเป็นพันธุ์ที่มีผลขนาดใหญ่ จึงไม่เหมาะสำหรับตลาดต่างประเทศ

มะละกอ นอกจากใช้บริโภคเป็นอาหารในชีวิตประจำวันแล้ว ผลของมะละกอดิบและสุก และส่วนของยางยังใช้เป็นประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมได้อีกหลายๆ ด้าน เช่น เมื่อมะละกอดิบ สามารถไปทำมะละกอเชื่อม แช่อิ่ม ดองเค็ม หรือใช้ในโรงงานปลากระป๋อง ผลมะละกอสุกสามารถใช้ทำน้ำผลไม้ ซอส ผลไม้กระป๋อง แยม ลูกกวาด และมะละกอผล เปลือกมะละกอใช้ทำอาหารสัตว์ หรือสีผสมอาหาร ยางมะละกอใช้ในโรงงานผลิตเบียร์ ผลิตน้ำปลา อาหารกระป๋อง อุตสาหกรรมเคมีและเครื่องสำอาง เป็นต้น

สถานีวิจัยปากช่อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ จึงพัฒนาพันธุ์มะละกอมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เริ่มต้นจากการนำมะละกอสายพันธุ์ซันไลท์ จากประเทศไต้หวัน มาปลูกและคัดเลือกต้นที่มีลักษณะที่ต้องการ ทำการผสมตัวเองและปลูกคัดเลือกอยู่ 5 ชั่วอายุ จนได้สายพันธุ์ที่ไม่กระจายตัว แล้วปลูกขยายเมล็ดโดยวิธีผสมเปิดในหมู่เดียวกันอีก 2 ครั้ง ได้สายพันธุ์ค่อนข้างบริสุทธิ์และมีลักษณะตามที่ต้องการ เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับส่งเสริมให้ปลูกเป็นการค้า ให้ชื่อว่า มะละกอพันธุ์ ปากช่อง 1


ลักษณะประจำพันธุ์ มีลำต้นสีเขียวปนม่วงเล็กน้อย ใบมี 7 แฉกใหญ่ กว้าง 50-60 เซนติเมตร ยาว 45-50 เซนติเมตร ก้านใบสีเขียวปนม่วงยาว 70-75 เซนติเมตร อายุ 8 เดือน ก็เริ่มเก็บผลได้ มีน้ำหนักผล 350 กรัม เนื้อสีส้มหนา 1.8 เซนติเมตร เมื่อสุกเนื้อไม่เละ มีรสหวาน กลิ่นหอม เปอร์เซ็นต์ความหวาน 12-14 องศาบริกซ์ ในระยะเวลา 18 เดือน จะให้ผลผลิตต้นละ 30-40 กิโลกรัม ค่อนข้างทนต่อโรคใบด่าง เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้เอง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 เริ่มผสมมะละกอพันธุ์แขกดำ+พันธุ์ปากช่อง 1 คัดเลือกลักษณะดีไว้ 3 สายพันธุ์ ที่มีขนาดผลใหญ่กว่าพันธุ์ปากช่อง 1 เนื้อสีส้มแดง รสชาติดี เนื้อไม่เละ น่าจะเป็นพันธุ์การค้าที่ส่งเสริมการผลิตเพื่อออกสู่ตลาดต่อไป


มะละกอสายพันธุ์ใหม่ที่ได้คือ พันธุ์ปากช่อง 2

วิธีการผสมพันธุ์ (Hybridization)
สายพันธุ์มะละกอปากช่อง 2 เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์แขกดำ (พันธุ์แม่) และพันธุ์ปากช่อง 1 (พันธุ์พ่อ) โดยผสมที่สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2540 นำผลมาผ่าเอาเมล็ดเพาะในถุงพลาสติค


วิธีการคัดเลือกพันธุ์ (Selection Trial)
คัดเลือกพันธุ์มะละกอลูกผสมปากช่อง 2 ที่สถานีวิจัยปากช่อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541-2549 ดังนี้

การคัดเลือกพันธุ์ปีที่ 1 (Seedling Selection) ทำเมล็ดจากมะละกอที่ผสม เพาะในถุงพลาสติคดำ ขนาด 3" x 5" ปลูกลงแปลงได้ จำนวน 26 แถว แถวละ 21 หลุม ปลูกหลุมละ 3 ต้น โดยปลูกลงแปลง หลังจากเพาะเมล็ดได้ 1 เดือน หลังจากปลูก 8 เดือน เก็บผลผลิต คัดเลือกไว้ 3 สายพันธุ์ ในปี พ.ศ. 2541-2542

การคัดเลือกพันธุ์ปีที่ 2 ดำเนินการที่สถานีวิจัยปากช่อง ในปี พ.ศ. 2542-2543 โดยปลูกสายพันธุ์ที่คัดเลือกไว้ 3 สายพันธุ์ สายพันธุ์ละ 2 แถว แต่ละแถวมี 20 หลุม หลุมละ 3 ต้น แล้วคัดเลือกให้เหลือต้นสมบูรณ์เพศไว้ต้นเดียว คัดเลือกหลังจากปลูก 8 เดือน นำไปปลูกคัดเลือก โดยการเปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้น

การคัดเลือกพันธุ์ปีที่ 3 ดำเนินการที่สถานีวิจัยปากช่อง ในปี พ.ศ. 2543-2544 โดยปลูกสายพันธุ์ที่คัดเลือกไว้ 3 สายพันธุ์ สายพันธุ์ละ 2 แถว แต่ละแถวมี 20 หลุม หลุมละ 3 ต้น แล้วคัดเลือกให้เหลือต้นสมบูรณ์เพศไว้ต้นเดียว คัดเลือกหลุมจากปลูก 8 เดือน นำเมล็ดไปเพาะปลูกคัดเลือก ในปีที่ 4 เหมือนกับปีที่ 3 ในปี พ.ศ. 2544-2545

การคัดเลือกพันธุ์ในปีที่ 5, 6 และ 7 เป็นการคัดเลือกพันธุ์มาตรฐาน ที่สถานีวิจัยปากช่อง ในปี พ.ศ. 2546-2549 โดยปลูกพันธุ์ละ 2 แถว แถวละ 20 หลุม หลุมละ 3 ต้น เมื่อออกดอกจะตัดต้น เหลือต้นสมบูรณ์เพศไว้ 1 ต้น และปลูกเปรียบเทียบกับมะละกอพันธุ์ปากช่อง 1 กับสายพันธุ์มะละกอลูกผสมที่คัดเลือกไว้

ทำการศึกษาลักษณะต่างๆ ของมะละกอดังนี้ ลักษณะของใบและก้านใบ วัดความยาวของใบ วัดความกว้างของใบ วัดความยาวของใบ วัดสีของใบ ถ่ายรูป ลักษณะภายนอกและภายในของผลศึกษาน้ำหนักผล รูปร่างผล โดยวัดความกว้างและความยาวของผล สีผิวของผลภายนอก เมื่อดิบและสุก ความหนาเนื้อโดยผ่าตรงส่วนที่กว้างที่สุด น้ำหนักเนื้อ น้ำหนักเปลือก น้ำหนักเมล็ด โดยชั่งเป็นกรัม สีของเนื้อเมื่อสุก เปอร์เซ็นต์ Total Soluble Solids (%TSS) การชิมรส โดยให้คะแนนตามเกณฑ์  ทำการศึกษาที่สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2540-2549


ผลการศึกษา
1. การผสมพันธุ์ สายพันธุ์มะละกอปากช่อง 2 เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์แขกดำ เป็นพันธุ์แม่ และพันธุ์ปากช่อง 1 เป็นพันธุ์พ่อ โดยวิธีการผสมด้วยมือ หลังจากนั้นเก็บผลผลิตเอาเมล็ดมาเพาะในถุงพลาสติคดำ ขนาด 3"x5" คัดเลือกต้นกล้าที่แข็งแรงปลูกลงแปลงได้ 26 แถว แถวละ 21 ต้น จำนวน 3 ต้น ต่อหลุม หลังจากปลูก 4 เดือน คัดต้นที่เป็นดอกสมบูรณ์เพศเหลือเพียง 1 ต้น ศึกษาลักษณะลูกผสมเพื่อคัดเลือกลักษณะดีได้ตามต้องการ ที่ออกดอกและติดผล หลังจากปลูก 8 เดือน คู่ผสมที่ดีที่คัดไว้คือ 11-19, 12-21 และ 13-19 โดยมีคุณภาพของผลที่ดี มีเนื้อหนา สีส้มและรสชาติดี

2. การคัดเลือกสายพันธุ์ดี หลังจากปลูกทดสอบพันธุ์ในแปลง มีสายพันธุ์ที่ดีให้ผลผลิตมีคุณภาพและผลผลิตสูง คือสายพันธุ์ 11-19, 12-21 และ 13-19 โดยสายพันธุ์ปากช่อง 2 (12-21) ให้ผลผลิตดีที่สุด และทดสอบพันธุ์กับพันธุ์ปากช่อง 1 รวมเวลา 4 ปี พบว่า ผลผลิตของสายพันธุ์ 12-21 (ปากช่อง 2) ให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์ปากช่อง 1 10 กิโลกรัม ต่อต้น หลังจากปลูก 18 เดือน

จากการศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ของใบและผลของมะละกอลูกผสมพันธุ์ปากช่อง 2 และพ่อแม่พันธุ์ของลูกผสม ดังนี้ คือ ความกว้างของใบ พบว่ามะละกอพันธุ์แขกดำและลูกผสมปากช่อง 2 (12-21) มีความกว้างของใบใกล้เคียงกัน คือ 88.00 เซนติเมตร และ 87.50 เซนติเมตร รองลงมาคือพันธุ์ปากช่อง 1 มีความกว้างของใบ 74.50 เซนติเมตร จึงแตกต่างทางสถิติกับพันธุ์แขกดำ และลูกผสมพันธุ์ปากช่อง 2 (12-21) ความยาวของใบ พบว่ามะละกอพันธุ์ปากช่อง 2 (12-21) มีความยาวของใบมากที่สุด 67.50 เซนติเมตร รองลงมาคือพันธุ์แขกดำ 59.00 เซนติเมตร น้อยที่สุดคือ พันธุ์ปากช่อง 1 49.00 เซนติเมตร มีความแตกต่างทางสถิติทั้ง 3 พันธุ์ ความยาวของก้านใบ พบว่ามะละกอพันธุ์ปากช่อง 1 มีความยาวของก้านใบมากที่สุด 92.00 เซนติเมตร รองลงมาคือพันธุ์แขกดำ และลูกผสมปากช่อง 2 (12-21) มีความยาวเท่ากัน คือ 85.00 เซนติเมตร มีความแตกต่างทางสถิติกับพันธุ์ปากช่อง 1 สีของใบมะละกอทั้ง 3 พันธุ์ อยู่ในกลุ่มสีเขียว พันธุ์ปากช่อง 1 พันธุ์ปากช่อง 2 (12-21) Green group 139 A พันธุ์แขกดำ Green group 139 A

ลักษณะภายนอกและภายในผล น้ำหนัก พบว่ามะละกอพันธุ์แขกดำมีน้ำหนักมากที่สุด 2,050 กรัม รองลงมาคือพันธุ์ปากช่อง 2 (12-21) 1,100 กรัม และพันธุ์ปากช่อง 1 ตามลำดับ มีความแตกต่างทางสถิติทั้งสามพันธุ์ สีผิวผลภายนอกเมื่อสุก พันธุ์แขกดำ พันธุ์ปากช่อง 1 และพันธุ์ปากช่อง 2 (12-21) อยู่ในกลุ่ม Yellow Orange group มีสีเหลืองส้ม ไม่แตกต่างกันความหนาเนื้อพบว่า พันธุ์ปากช่อง 2 (12-21) มีความหนาเนื้อมากที่สุด 3.00 เซนติเมตร รองลงมาคือ พันธุ์แขกดำ 2.60 เซนติเมตร พันธุ์ปากช่อง 1 2.45 เซนติเมตร มีความแตกต่างทางสถิติ แต่พันธุ์แขกดำ และพันธุ์ปากช่อง 1 ไม่มีความแตกต่างทางสถิติระหว่างกัน สีเนื้อสุกทุกพันธุ์อยู่ในกลุ่มสีส้มแดง Orange Red group ไม่มีความแตกต่างกัน เปอร์เซ็นต์ Total soluble solid (%TSS) พบว่า พันธุ์ปากช่อง 1 มีเปอร์เซ็นต์ Total soluble solid (%TSS) มากที่สุด 14.5 Brix พันธุ์ปากช่อง 2 (12-21) 14 Brix และพันธุ์แขกดำ 11 Brix


ลักษณะสายพันธุ์ ปากช่อง 2 (12-21) ใบมี 7 แฉก ใบสีเขียวเข้ม ใบกว้าง 85-70 เซนติเมตร ใบยาว 66-70 เซนติเมตร ก้านใบสีเขียวยาว 80-89 เซนติเมตร น้ำหนักผลดิบ 1,000-1,200 กรัม น้ำหนักผลสุก 900-1,100 กรัม สีผิวผลสุกสีเหลือง สีเนื้อสุกสีส้มแดง ความหนาเนื้อประมาณ 3 เซนติเมตร น้ำหนักเนื้อ 810 กรัม น้ำหนักเปลือก 50 กรัม น้ำหนักเมล็ด 40 กรัม คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เนื้อ เปอร์เซ็นต์เปลือก เปอร์เซ็นต์เมล็ด ความหนาเปลือก 0.16 เซนติเมตร ความหวาน 15 องศาบริกซ์ กลิ่นหอมรสชาติดี หลังจากปลูก 8 เดือน ให้น้ำหนักผลผลิต 40-50 กิโลกรัม ต่อต้น ค่อนข้างทนต่อโรคไวรัสจุดวงแหวน



สรุป
1. สายพันธุ์มะละกอปากช่อง 2 เป็นลูกผสมของพันธุ์มะละกอแขกดำกับพันธุ์ปากช่อง 1 โดยทำการผสมพันธุ์ที่สถานีวิจัยปากช่อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 คัดเลือกและทดสอบจนสิ้นสุดการทดลองเมื่อ พ.ศ. 2549


2. การคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ ได้ 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ 11-19, ปากช่อง 2 (12-21) และ 13-19


3. พันธุ์ที่มีลักษณะดี คือ พันธุ์ปากช่อง 2 (12-21) มีลักษณะผลขนาดปานกลาง น้ำหนักผลดี ขนาด 1,000-1,200 กรัม เนื้อสีส้มแดง หนา ความหวานประมาณ 15 องศาบริกซ์ การเก็บเกี่ยวหลังจากปลูก 18 เดือน ได้น้ำหนักผลผลิต 40-50 กิโลกรัม ต่อต้น ค่อนข้างทนต่อโรคใบจุดวงแหวน


คุยกับนักวิจัยมะละกอ......คุณรักเกียรติ ชอบเกื้อ
คุณรักเกียรติ ชอบเกื้อ นักวิชาการเกษตร 8 (ชำนาญการ) นักวิจัยมะละกอ เล่าว่า เมื่อก่อนปากช่องคือแดนมะละกอ เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก ผลผลิตที่ได้ส่งไปจำหน่ายภาคอีสาน รวมทั้งภูมิภาคอื่น สายพันธุ์ที่ปลูกมีแขกดำ แขกนวล รวมทั้งพันธุ์ปากช่อง 1 ช่วงที่ปลูกกันมากๆ คือช่วงปี 2530-2535 ราวๆ นี้ ต่อมามีโรคระบาด จึงมีการย้ายถิ่นปลูก ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว

เมื่อความนิยมปลูกมะละกอลดลง มะละกอพันธุ์ปากช่อง 1 ก็มีปลูกน้อยลง ขณะเดียวกันก็มีการวิจัยพันธุ์ใหม่ให้มีจุดเด่นกว่าเดิม จนได้มะละกอพันธุ์ปากช่อง 2 ทุกวันนี้ ยังไม่ได้เผยแพร่ แต่ใครสนใจก็โทรศัพท์ไปพุดคุยเป็นกรณีพิเศษได้

ในฐานะที่อยู่ในแวดวงมะละกอมานาน คุณรักเกียรติให้ความเห็นว่า มะละกอเป็นพืชที่น่าปลูก เพราะหากปัจจัยเหมาะสม จะสามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดปี ต่างจากพืชอื่น เช่น ลำไย เก็บผลผลิตได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น แต่งานปลูกมะละกอ ต้องมีทุน มีปัจจัยอื่นๆ แต่ที่สำคัญคือ แหล่งน้ำ  งานปลูกมะละกอหากมีน้ำราวเดือนมกราคมปลูกลงแปลง ไปเก็บเกี่ยวได้กลางฝนและปลายฝนไปแล้ว หากเป็นมะละกอสุกออกมาช่วงผลไม้อื่นไม่มีแล้ว มะม่วง เงาะ และทุเรียน หมดไปแล้ว แหล่งปลูกที่เหมาะสมหากเป็นที่แห้งแล้งแล้วมีน้ำจะดีมาก อย่างเมืองกาญจน์ หรือที่ปากช่อง ที่แล้งทำให้เนื้อมะละกอแน่น รสชาติหวาน แต่ที่แห้งแล้งมีน้ำหายาก ข้อเสียของที่แล้งอาจจะมีปัญหาเรื่องเพลี้ยไฟ ทางเขตฝนชุกอย่างทางใต้ ทางมาเลเซีย มีความชื้นปัญหาเพลี้ยไฟน้อย แต่ก็เจอปัญหาเรื่องโรคเน่า


คุณรักเกียรติเล่า และบอกต่ออีกว่า
มะละกอปากช่อง 2 อาจจะมีข้อด้อยตรงที่การติดผลแรกอยู่เหนือระดับดินสูงเกินไปนิดหนึ่ง ติดผลสูงจากดินราว 1 เมตร อาจจะแก้โดยการใส่ปุ๋ย การติดผลจากดินสูง ทำให้ต้นสูงเร็ว มะละกอปากช่อง 2 เป็นพันธุ์กินสุก ทำส้มตำเนื้อเหนียว โอกาสต่อไปคงผสมให้ได้ผลเล็กลง จะได้ความหวานมากขึ้น มะละกอผลยิ่งเล็กยิ่งหวาน วิธีการบริโภคของคนเราเปลี่ยนไป เมื่อก่อนชอบผลใหญ่ๆ ในเมืองครอบครัวเล็กลง มี 2-3 คน ต่อครอบครัว นิยมมะละกอผลเล็ก ต่างจากสังคมชนบท ที่ครอบครัวหนึ่งอาจจะมีหลายคน มะละกอต้องผลใหญ่ จึงจะแจกจ่ายพอกันกิน

คุณรักเกียรติ บอกว่า ในประเทศไทยส่วนใหญ่ปลูกมะละกอได้ ยกเว้นพื้นที่ดินเค็ม มะละกอไม่ชอบ ทางนครราชสีมามีหลายอำเภอที่ดินเป็นเกลือ ทางทุ่งกุลาร้องไห้ก็มีหลายจังหวัด เช่น มหาสารคาม

คุณรักเกียรติ เข้าทำงานที่สถานีวิจัยตั้งแต่ปี 2526 ช่วยงานวิจัยของ อาจารย์ฉลองชัย แบบประเสริฐ มานาน ส่วนมะละกอปากช่อง 2 วิจัยมาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน


งานอื่นๆ ที่ถือว่ามีคุณค่ามาก ที่คุณรักเกียรติทำอยู่ คือปรับปรุงพันธุ์อะโวกาโด สำหรับงานวิจัยพันธุ์มะละกอ คงมีอะไรแปลกใหม่ออกมาให้เห็นเพิ่มเติมอย่างแน่นอน

อนึ่ง ทีมงานวิจัย นอกจากคุณรักเกียรติแล้ว ยังประกอบด้วย อาจารย์ฉลองชัย แบบประเสริฐ อาจารย์องอาจ หาญชาญเลิศ อาจารย์พินิจ กรินท์ธัญญกิจ และ อาจารย์กัลยาณี สุวิทวัส

สำหรับผู้สนใจ ถามไถ่ได้ที่ สถานีวิจัยปากช่อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 164 หมู่ที่ 3 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30130 โทร. (044) 311-796


ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน





หน้าก่อน หน้าก่อน (1/4) - หน้าถัดไป (3/4) หน้าถัดไป


Content ©