-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 315 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ข่าวแวดวงเกษตร45






ระบบไฮโดรโปรนิคต่อการเกษตรไทยในอนาคต


แม้การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์จะยังไม่มีความจำเป็นมากนักในประเทศไทยในปัจจุบัน เนื่องจากเรายังมีพื้นที่ดินสำหรับทำการเกษตรอย่างเพียงพอ ประกอบกับยังไม่มีระบบที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับสภาพของประเทศไทย ยังจะต้องมีการศึกษาค้นคว้ากันต่อไป แต่ในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะเป็นประโยชน์และมีการนำมาใช้กันมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาต่อไปนี้
 

         

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรส่งผลให้เกิดการนำทรัพยากรต่างๆ มาใช้เพื่อการดำรงชีวิตมากขึ้น รวมถึงความต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบต่างๆ การขยายตัวของชุมชนเมืองเพื่อตอบสนองการเพิ่มขึ้นของประชากรโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทำให้ที่ดินมีราคาสูงเกินกว่าจะใช้เพื่อการเกษตรกรรม ดังจะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่เหมาะสำหรับทำการเกษตรบริเวณชานกรุงเทพฯ เช่น บางมด ตลิ่งชัน หนองแขม และปริมณฑล เช่น ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม กำลังลดลงเรื่อยๆ กลายเป็นชุมชนเมืองขึ้นมาแทน นอกจากการขยายตัวของชุมชนเมืองจะทำให้พื้นที่ทำการเกษตรลดลงแล้ว น้ำสำหรับทำการเกษตรก็ถูกจำกัดเนื่องจากต้องนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคของชาวเมืองก่อน

         
นอกจากการขยายตัวของชุมชนเมืองแล้ว การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมา ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง มีการบุกรุกทำลายป่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบุกรุกเพื่อนำพื้นที่มาใช้ในการเกษตรเพื่อผลิตอาหาร ดังจะเห็นได้ว่าในระยะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ถึง พ.ศ. 2536 พื้นที่ป่าของไทยลดลงจาก 94,291,349 ไร่ เหลือเพียง 83,450,625 ไร่ เฉลี่ยแล้วลดลงถึงปีละ 1,084,072 ไร่ ขณะที่ปลูกชดเชยได้เพียงปีละ 1.6 แสนไร่ (สำนักนโยบายและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, 2539) การตัดไม้ทำลายป่าทำให้สูญเสียสมดุลของระบบนิเวศน์ เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่วมฉับพลัน การชะล้างพังทลายของหน้าดิน ดินเสื่อมโทรมขาดความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนั้นการบุกรุกป่าเพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตรโดยไม่มีการบำรุงรักษายังทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ การใช้ปุ๋ยเคมีติดต่อกันเป็นระยะเวลานานทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช พื้นที่เกษตรจำนวนมากเป็นดินมีปัญหา เช่น ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินอินทรีย์ ดินตื้น ดินลูกรัง รวมทั้งที่ลาดชันไม่เหมาะต่อการทำการเกษตร การปรับปรุงพื้นที่มีปัญหาเหล่านี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้เวลานาน การบุกเบิกพื้นที่ว่างเปล่าและพื้นที่ป่ามาขยายเป็นพื้นที่ทำการเกษตรเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

         
ปัญหาดังที่กล่าวมาทำให้พื้นที่ทำการเกษตรของประเทศลดลง ส่งผลให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรในอนาคต โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมือง ชานเมือง และพื้นที่ที่สูญเสียความเหมาะสมในการทำการเกษตร การปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหา เพราะเป็นวิธีที่ใช้พื้นที่และใช้น้ำน้อยแต่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากสามารถปลูกพืชเป็นเชิงพาณิชย์แล้วยังสามารถดัดแปลงเป็นระบบขนาดเล็ก สำหรับปลูกพืชผักสวนครัวหรือไม้ดอกไม้ประดับเป็นงานอดิเรก สำหรับผู้อยู่อาศัยในย่านชุมชนที่มีพื้นที่จำกัด ไม่มีพื้นที่ดินสำหรับปลูกพืชอีกด้วย 

         
ประเทศไทยเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรทั้งในประเทศและประชากรโลก ในอนาคตการผลิตพืชจะต้องคำนึงถึงคุณภาพมากขึ้น ในการผลิตพืชเกษตรเพื่อบริโภคในประเทศ เนื่องจากนโยบายการปฏิรูปการศึกษา คนไทยจะได้รับการศึกษามากขึ้น ทำให้มีความรู้ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ได้ดีขึ้น นอกจากนั้นการพัฒนาของวิธีการติดต่อสื่อสาร การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่มีการพัฒนาไม่หยุดยั้งทำให้ผู้บริโภคมีความรู้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คำนึงถึงคุณภาพของผลผลิตที่จะบริโภคมากขึ้น

         
สำหรับการส่งออก ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก แต่ที่ผ่านมาปัญหาคุณภาพสินค้าเกษตรเป็นปัญหาสำคัญในการส่งออก เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าเข้มงวดต่อคุณภาพผลผลิตและมักนำไปเป็นข้ออ้างในการกีดกันการนำเข้าอยู่เสมอ ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือปัญหาสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ นอกจากการกีดกันการนำเข้าของประเทศผู้นำเข้าแล้ว การส่งออกสินค้าเกษตรในอนาคตจะต้องประสบกับภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2538) เช่นการส่งออกพืชผักและผลิตภัณฑ์ มีคู่แข่งสำคัญ คือ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย (ถาวร, 2542) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกและสนองความต้องการภายในประเทศ จึงได้มีการจัดทำแนวทางการทำการเกษตรอย่างถูกต้องและเหมาะสม(Good Agricultural Practice, GAP) โดยทำตามคำแนะนำของทางราชการซึ่งจัดทำขึ้นอย่างเหมาะสม ให้เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและภูมิประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำแนะนำนั้นๆ จะต้องเหมาะสมกับชนิดพืช ในขั้นตอนการผลิตพืชซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญนั้น (นวลศรี, มมป.) อาจกำหนดเป็นคำแนะนำที่เป็นหลักการพื้นฐานทั่วไป โดยแยกเป็น 2 ส่วนคือ แนวทางในการปลูกพืช (crop cultivation) และแนวทางในการอารักขาพืช (crop protection)

         
ดังได้กล่าวแล้วว่าปัญหาคุณภาพผลผลิตส่งออกที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือปัญหาสารเคมีตกค้างในผลผลิต นอกจากเป็นปัญหาสำคัญในการส่งออกแล้ว ผู้บริโภคในประเทศก็ให้ความสำคัญกับคุณภาพข้อนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้น จึงมีการตื่นตัวในเรื่องสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของสิ่งที่บริโภคมากขึ้น ปัญหาพิษตกค้างของสารเคมีในผลผลิตจึงต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แนวทางที่เหมาะสมคือจะต้องจัดทำ GAP ขึ้นในแต่ละพืช จะต้องพยายามให้เกษตรกรมีการปฏิบัติตาม GAP ให้ได้ผลอย่างจริงจังทั้งในส่วนของการปลูกพืช และการอารักขาพืช ในด้านการอารักขาพืชนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสารพิษตกค้างในผลผลิต โดยควบคุมไม่ให้เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดโดย Codex ซึ่งเป็นค่าสากลที่ยอมรับกันทั่วโลก รวมทั้งองค์การการค้าโลก ในอนาคตผลผลิตที่จะสามารถส่งออกได้โดยไม่มีปัญหาสารพิษตกค้างหรือปัญหาคุณภาพด้านอื่นๆ จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำภายใต้ GAP เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าเกษตรกรจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำจากทางราชการอย่างใกล้ชิด (นวลศรี, มมป.)

         
เนื่องจากการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์มีการจัดการปัจจัยต่างๆ เช่น น้ำ แร่ธาตุ แสง อุณหภูมิ ให้แก่พืชอย่างเหมาะสม ไม่ต้องกำจัดวัชพืช และสามารถควบคุมโรคและแมลงได้ดีกว่าการปลูกพืชบนดิน จึงเป็นการง่ายที่จะปฏิบัติตามแนวทาง GAP และทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตัวอย่างเช่น คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางการปลูกพืช (crop cultivation) เกี่ยวข้องกับปัจจัยหลัก 2 ปัจจัย คือ ตัวพืชและสภาพแวดล้อมของพืช ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพืชนั้น เป็นการเลือกพันธุ์ดีให้ผลผลิตสูง ต้านทานศัตรูได้ดี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมนั้น มีปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ

         
1. การใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม คือต้องมีการปรับสภาพดินให้เหมาะสมและปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์โดยใส่ปุ๋ยเคมีหรืออินทรีย์วัตถุต่างๆ เพื่อให้พืชเจริญเติบโตดี การปลูกพืชโดยวิธีไฮโดรโปนิกส์เป็นการปลูกพืชไร้ดินแต่พืชจะเจริญเติบโตในสารละลายธาตุอาหาร ซึ่งสามารถกำหนดปริมาณธาตุอาหารให้พอเหมาะกับความต้องการของพืชได้ พืชได้รับธาตุอาหารอย่างเพียงพอและไม่มีการสูญเสีย จึงเจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตที่มีความสม่ำเสมอและมีคุณภาพ การปลูกพืชโดยวิธีไฮโดรโปนิกส์จึงสอดคล้องกับการปฏิบัติข้อนี้ได้เป็นอย่างดี

         
2. การให้น้ำอย่างเพียงพอแก่การเจริญเติบโตของพืช การปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ใช้น้ำน้อยและมีประสิทธิภาพ ไม่มีปัญหาพืชขาดน้ำเนื่องจากพืชเจริญเติบโตอยู่ในสารละลายธาตุอาหารซึ่งมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลักอยู่แล้ว แต่น้ำที่ใช้จะต้องเป็นน้ำสะอาดไม่มีสิ่งเจือปนที่เป็นพิษต่อพืช การปลูกพืชโดยวิธีไฮโดรโปนิกส์จึงเป็นการปฏิบัติตามแนวทางนี้เช่นกัน

         
3. การจัดการสภาพแวดล้อมที่ดี การปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช ไม่ว่าบริเวณต้นพืชหรือสภาพแวดล้อมของราก ส่งผลให้พืชมีการเจริญเติบโตดี ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ การปลูกพืชโดยวิธีไฮโดรโปนิกส์จึงเป็นการปลูกพืชที่มีการปฏิบัติสอดคล้องกับหลักการข้อนี้ 

         
การป้องกันกำจัดศัตรูพืชสมัยใหม่เริ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการสังเคราะห์สารเคมีกำจัดแมลงขึ้นหลายชนิด เช่น DDT และ BHC ต่อจากนั้นมามีการคิดค้นและผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชขึ้นอีกหลายร้อยชนิดทั้งสารกำจัดแมลง สารกำจัดเชื้อรา สารกำจัดวัชพืช สารกำจัดไส้เดือนฝอย สารกำจัดหนู ฯลฯ (บรรพต, 2520) สำหรับประเทศไทยตั้งแต่เริ่มมีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การเกษตรได้ถูกผลักดันเข้าสู่ระบบเกษตรกรรมแผนใหม่ ซึ่งเน้นเป้าหมายไปที่ระบบธุรกิจการค้า สนับสนุนการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเป็นหลัก มีการนำเอาเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ เข้ามาใช้แทนแรงงานคนและแรงงานสัตว์ อีกทั้งมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชมาใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มผลผลิตตอบสนองความต้องการของตลาด และเพิ่มรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในขณะที่การพัฒนาการเกษตรดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ภายใต้อิทธิพลของระบบเกษตรกรรมแผนใหม่ ได้ก่อให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นอกจากการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้เป็นจำนวนมาก ซึ่งนำให้เกิดปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม เกิดปัญหาการเสื่อมโทรมของความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชยังก่อปัญหาสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และความหลากหลายของทรัพยากรพันธุกรรม และผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อความอยู่รอดของเกษตรกรผู้ผลิต ปัญหาความยากจนและหนี้สิน ปัญหาความล้มเหลวของชุมชน และระบบวัฒนธรรม รวมทั้งเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของเกษตรกร และของผู้บริโภค การใช้สารเคมีกำจัดแมลง ทำให้แมลงที่มีประโยชน์ตายไปด้วย มีผลต่อการควบคุมตามธรรมชาติ ทำให้มีการระบาดของศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น และเกิดความต้านทานของแมลงศัตรูพืชต่อสารเคมี (กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, 2536)

         
ข้อมูลจากรายงานประจำปีของสมาคม British Agrochemicals Associations ระบุสัดส่วนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ในพืชชนิดต่างๆ ว่า ในกลุ่มพืชผักมีปริมาณการใช้มากที่สุด ถึง ร้อยละ 24.7 รองลงมาได้แก่ธัญพืช ข้าว และข้าวโพด ในอัตรา ร้อยละ 14.2, 13.0 และ 11.2 ตามลำดับ และพบว่าสารกำจัดวัชพืชได้ถูกนำมาใช้มากที่สุด คือ ร้อยละ 42.0 ของปริมาณการใช้สารเคมีทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สารกำจัดแมลง และสารกำจัดเชื้อรา ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ ร้อยละ 28.8 และ 19.5 ตามลำดับ นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังได้จำแนกสัดส่วน การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์ ตามภูมิภาคต่างๆ ของโลกไว้ด้วย ซึ่งปรากฏว่า บริเวณที่มีการใช้สารเคมีสูงสุดคือ ภาคพื้นอเมริกาเหนือ (ร้อยละ 29.8) รองลงมาได้แก่ภาคพื้นเอเชียตะวันออก (ร้อยละ 28.1) และยุโรปตะวันตก (ร้อยละ 24.2) (กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, 2536)

         
สำหรับประเทศไทยมีรายงานปริมาณการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรว่ามีการนำเข้าสารกำจัดวัชพืช มากที่สุด คือ ร้อยละ 52 ของปริมาณสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่นำเข้าทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สารกำจัดแมลง และสารกำจัดเชื้อรา (ร้อยละ 25 และ 19 ตามลำดับ) และยังมีรายงาน ถึงผลการตรวจพบสารเคมีตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร และอาหารต่างๆ ซึ่งตรวจพบ ประมาณ ร้อยละ 30-40 ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจวิเคราะห์ และในจำนวนนี้ จะมีการตกค้างเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย เฉลี่ยร้อยละ 10 โดยผลการตรวจสอบพบว่า ผลไม้มีการตกค้างของสารเคมีเกินมาตรฐานมากที่สุด รองลงมาได้แก่พืชผัก ส่วนธัญพืชและผลิตภัณฑ์สัตว์ แม้ว่าจะมีการตกค้าง แต่ปริมาณที่พบไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, 2536)

         
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในแม่น้ำสายสำคัญต่างๆ และในพื้นที่ที่เป็นเขตเกษตรกรรมหลัก ในบางภูมิภาคของประเทศ ซึ่งผลการสำรวจสรุปว่า บริเวณภาคเหนือตรวจพบสารเคมีกลุ่ม ออร์กาโนคลอรีน (organochlorene) ตกค้างในตัวอย่างน้ำ และดินตะกอน ร้อยละ 8 และ 90 ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด ตามลำดับ โดยปริมาณที่ตรวจพบ มีค่าอยู่ระหว่าง 0.04-0.07 ไมโครกรัมต่อลิตร ในตัวอย่างน้ำ และ 0.001-0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวอย่างดินตะกอน ส่วนในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบสารเคมีตกค้างต่ำกว่าบริเวณภาคเหนือ โดยพบสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนคลอรีน (organochlorene) ตกค้างในตัวอย่างน้ำ และดินตะกอนที่ระดับ 0.02 ไมโครกรัมต่อลิตร ในตัวอย่างน้ำ และ 0.001-0.008 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวอย่างดินตะกอน ตามลำดับ และในการสำรวจการตกค้างของสารเคมี ในแม่น้ำท่าจีนตลอดทั้งลำน้ำ พบว่า สารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนคลอรีน (organochlorene) ตกค้างในตัวอย่างน้ำ และดินตะกอน ถึง ร้อยละ 98 และ 73 ของจำนวนตัวอย่างที่วิเคราะห์ทั้งหมด โดยปริมาณที่ตรวจพบมีค่าอยู่ระหว่าง 0.01-0.60 ไมโครกรัมต่อลิตร ในตัวอย่างน้ำ และ 0.001-0.07 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวอย่างดินตะกอน ตามลำดับ (กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, 2536)

         
จากปัญหาดังกล่าวจึงได้มีความพยายามในการส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยการพัฒนาระบบเกษตรกรรมทางเลือก การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน ตลอดจนการปลูกพืชภายใต้การควบคุมสภาพแวดล้อมขึ้น ซึ่งนอกจากจะบรรเทาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย การปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์เป็นระบบการปลูกพืชแบบหนึ่งที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อม และสามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีได้ เนื่องจากพืชที่ปลูกด้วยวิธีนี้จะเก็บเกี่ยวได้เร็ว หลีกเลี่ยงการระบาดของโรคแมลงได้ การปลูกไม่ใช้ดิน จึงไม่มีปัญหาการระบาดของโรคแมลงที่มากับดิน ไม่มีวัชพืชรบกวน จึงไม่ต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืช ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเป็นการปลูกภายใต้ระบบโรงเรือนก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของศัตรูพืชได้ดีขึ้น การปลูกพืชโดยวิธีไฮโดรโปนิกส์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช จึงมีแนวโน้มว่าจะเป็นวิธีการที่มีการใช้มากขึ้นในอนาคต

         
การลดลงของพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากการขยายตัวของแหล่งชุมชน การแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้นทั้งการส่งออกและการค้าภายในประเทศ ตลอดจนความจำเป็นที่จะต้องลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช  ประกอบกับการพัฒนาเทคนิคการปลูกพืชโดยวิธีไฮโดรโปนิกส์ที่เหมาะสม ควบคู่กับการพัฒนารูปแบบโรงเรือนที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย จะทำให้การปลูกพืชโดยวิธีไฮโดรโปนิกส์เป็นวิธีการปลูกพืชที่มีความจำเป็นมากขึ้นสำหรับประเทศไทยในอนาคต
 






ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ที่ปลูกด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์


การเจริญเติบโตและพัฒนาการของพืชไม่ว่าจะปลูกด้วยวิธีดั้งเดิมหรือด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ ถูกควบคุมโดยปัจจัยทั้งภายในและภายนอก การเรียนรู้ถึงอิทธิพลของปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญในการกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวในการปลูกพืช การเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ซึ่งอาจจำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

         
1. พันธุกรรม เป็นปัจจัยภายในตัวพืชเองเพราะเกี่ยวข้องกับยีนซึ่งอยู่ในโครโมโซมของพืช ยีนเป็นตัวกำหนดลักษณะต่างๆ เช่น ความสูง รูปร่าง สี นอกจากนั้นยังเป็นตัวกำหนดว่าพืชจะเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูงหรือสามารถต้านทานศัตรูพืชได้ดีเพียงใด ปัจจัยทางพันธุกรรมจะมีอิทธิพลร่วมกับสภาพแวดล้อม ดังนั้นในการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ได้ลักษณะตามต้องการ จะต้องแยกความแตกต่างทางพันธุกรรมออกจากความแตกต่างทางสภาพแวดล้อมให้ได้ ในประเทศที่มีการปลูกพืชโดยวิธีไฮโดรโปนิกส์เป็นการค้าอย่างแพร่หลาย เช่น ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม จะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อปลูกด้วยวิธีนี้โดยเฉพาะ การปลูกพืชโดยวิธีนี้จึงให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกพืชในดิน ต่างจากประเทศไทยซึ่งการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโรโปนิกส์ยังมีน้อยส่วนใหญ่จึงใช้พันธุ์พืชพันธุ์เดียวกับที่ใช้ปลูกในดิน

         
2. สารควบคุมการเจริญเติบโต ไม่ว่าการปลูกพืชด้วยวิธีดั้งเดิมหรือปลูกด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ พืชมีสารควบคุมการเจริญเติบโตและการพัฒนาของส่วนต่างๆ อยู่ตลอดเวลา สารควบคุมการเจรญเติบโตของพืชเป็นสารอินทรีย์ซึ่งไม่จำกัดว่าพืชสร้างขึ้นเองหรือมนุษย์สังเคราะห์ขึ้น สารปริมาณเพียงเล็กน้อยในช่วงเพียงส่วนในล้านส่วน (ppm) ก็สามารถกระตุ้น ยับยั้งหรือเปลี่ยนสภาพทางสรีรวิทยาของพืชได้ โดยสารควบคุมการเจริญเติบโตจะไปควบคุมการทำงานของจีน (gene) ในการสร้างโปรตีน กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ หรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเยื่อหุ้มทั้งหลาย สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้

              
2.1 ออกซิน (auxins) มีคุณสมบัติเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต ควบคุมการขยายขนาดของเซลล์ การยืดตัวของเซลล์ และมีผลในการกระตุ้นการเกิดราก สารออกซินชนิดแรกที่ค้นพบคือ IAA (indol-3-yl acetic acid) ซึ่งเป็นสารที่พืชสร้างขึ้นเอง เนื่องจากออกซินมีส่วนในกระบวนการหลายอย่างที่เกิดขึ้นในพืช จึงมีการสังเคราะห์สารต่างๆ ที่มีคุณสมบัติคล้ายออกซินเพื่อนำมาใช้ในการเกษตร สารสังเคราะห์ที่ใช้ทั่วไปในปัจจุบันได้แก่ NAA (1-naphthylacetic acid), IBA (4-indol-3-yl butyric acid), 2,4-D (2,4-dichlorophenoxyacetic acid), และ 4-CPA (4- chlorophenoxyacetic acid) (พีรเดช, 2537)

              
2.2 จิบเบอเรลลิน (gibberellins) มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการยืดตัวของเซลล์ การแบ่งตัวของเซลล์ การกระตุ้นการงอกของเมล็ดและตา เพิ่มการติดผล การเปลี่ยนเพศดอก เร่งการออกดอก สารจิบเบอเรลลินที่ค้นพบจนถึงปัจจุบันมี 72 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายคลึงกัน แต่การเรียงตัวของบางอะตอมแตกต่างกันเล็กน้อย จึงเรียกจิบเบอเรลลินเหมือนกันหมดคือ จิบเบอเรลลิน เอ (GA) แล้วตามด้วยหมายเลขตั้งแต่ 1 ถึง 72 เช่น GA1 GA3 เป็นต้น สาร GA ที่นิยมใช้ในปัจจุบันมี 3 ชนิดได้แก่ GA3, GA4 และ GA7

              
2.3 ไซโตไคนิน (cytokinins) ไซโตไคนินเป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรค่อนข้างน้อยกว่าสารกลุ่มอื่นๆ สารกลุ่มนี้มีผลต่อการแบ่งเซลล์ และกระตุ้นการเจริญทางด้านข้างของพืช กระตุ้นการเจริญของตาข้าง ชะลอการแก่ของพืช นอกจากนั้นยังมีผลเล็กน้อยต่อการพัฒนาของผล ใช้กันมากในงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สารกลุ่มนี้ราคาสูงมาก จึงใช้ประโยชน์ค่อนข้างจำกัด ในประเทศไทยยังไม่มีการสั่งสารกลุ่มนี้เข้ามาใช้ในรูปสารเคมีเกษตรแต่มีจำหน่ายในรูปสารเคมีบริสุธิ์ซึ่งราคาจะค่อนข้างสูง ไซโตไคนินที่พืชสังเคราะห์ได้เองตามธรรมชาติคือ ซีอาติน (zeatin) ส่วนสารสังเคราะห์ในกลุ่มนี้ได้แก่ ไคเนติน (kinetin), และ BAP (6-benzyl-laminopurine)

              
2.4 เอทิลีนและสารปลดปล่อยเอทีลีน (ethylene and ethylene releasing compounds) เอทิลีนเป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชชนิดเดียวที่อยู่ในรูปก๊าซ มีอิทธิพลในการควบคุมการแก่ของพืช เช่น เร่งการสุกของผลไม้ เร่งการเหี่ยวของดอกไม้ นอกจากนี้ยังมีผลในการเร่งการออกดอกของพืชบางชนิด แต่เนื่องจากอยู่ในรูปก๊าซจึงใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ค่อนข้างจำกัด จึงได้มีการคิดค้นสารรูปอื่นที่เป็นของแข็งหรือของเหลวแต่สามารถปลดปล่อยก๊าซเอทิลีนได้คือ ethephon (2-chloroethylphosphonic acid) และนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

              
2.5 สารชะลอการเจริญเติบโตของพืช (plant growth retardants) สารชะลอการเจริญเติบโตของพืชเป็นสารที่พืชไม่สามารสร้างขึ้นเองได้ แต่เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตร มีคุณสมบัติในการชะลอการแบ่งเซลล์และการยืดตัวของเซลล์บริเวณใต้ปลายยอดของกิ่ง จึงมีผลให้ความสูงของพืชลดลง นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ในการเร่งการออกดอกของพืชบางชนิด เพิ่มการติดผลและคุณภาพของผลไม้ ตลอดจนมีผลในการเพิ่มผลผลิตพืชผัก สารชะลอการเจริญเติบโตของพืชที่ใช้กันแพร่หลายคือ chlormequat และ daminozide และสารอื่นๆซึ่งใช้น้อยกว่าเช่น ancimidol, mepiquat chloride, และ paclobutrazol

              
2.6 สารยับยั้งการเจริญเติบโตของพืช (plant growth inhibitors) สารกลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการยับยั้งการแบ่งเซลล์ ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนอื่นบางชนิด และยับยั้งการเจริญเติบโตทั่วๆ ไป สารยับยั้งการเจริญเติบโตที่พบในธรรมชาติมีกว่า 200 ชนิด แต่สารที่สำคัญที่สุดคือ ABA (abscisic acid) ซึ่งมีผลควบคุมการหลุดร่วงของใบ ดอก และผล การพักตัวของพืช และการคายน้ำ ไม่มีการนำสารนี้มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร แต่มีการสังเคราะห์สารหลายชนิดเช่น maleic hydrazide, chloroflurenol หรือ morphactin, dikegulac-sodium ที่มีผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของพืช และใช้ประโยชน์ในการกระตุ้นการแตกตาข้าง ยับยั้งการงอกของหัว และลดความสูงของไม้พุ่ม

         


3. สภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งการตอบสนองต่อปัจจัยต่างๆเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างกันไม่ว่าจะปลูกพืชด้วยวิธีดั้งเดิมหรือด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ ปัจจัยที่เป็นตัวควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของพืชมีอยู่หลายปัจจัย แต่มีปัจจัยที่สำคัญดังต่อไปนี้

              
3.1 อุณหภูมิ อุณหภูมิควบคุมอัตราการเจริญเติบโตของพืช โดยมีผลโดยตรงต่อการสังเคราะห์แสง การหายใจ การดูดธาตุอาหาร การคายน้ำและกิจกรรมของเอนไซม์ต่างๆ โดยทั่วไปอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นมีผลในการเร่งขบวนการทางเคมีต่างๆ ในพืช ขบวนการเหล่านี้ควบคุมโดยเอนไซม์ ซึ่งจะทำงานได้ดีในช่วงอุณหภูมิแคบๆ อุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่าช่วงที่เหมาะสมจะทำให้เอนไซม์ทำงานลดลง มีผลให้ปฏิกริยาเคมีต่างๆ ในพืชลดลงหรือหยุดไปด้วย เมื่อถึงจุดนี้ พืชจะอยู่ในภาวะเครียดและหยุดเจริญเติบโต และอาจตายได้ในที่สุด การควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชจึงเป็นเรื่องสำคัญ

              
สำหรับการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ อุณหภูมิมีบทบาทสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้ออกซิเจนละลายน้ำได้ลดลง ทำให้มีออกซิเจนไม่เพียงพอต่อการหายใจของราก เช่นเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นจาก 25° C เป็น 30° C จะทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงจาก 8.25 ppm เหลือเพียง 7.51 ppm

              
3.2 ความชื้นสัมพัทธ์ มีผลโดยตรงต่อการคายน้ำของพืช เมื่อความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงจะทำให้พืชคายน้ำน้อยลง ส่งผลให้การลำเลียงแร่ธาตุอาหารต่างๆ จากรากไปสู่ใบลดลง และยังทำให้อุณหภูมิที่ใบสูงขึ้น นอกจากนี้ความชื้นสัมพัทธ์สูงยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคบางโรคได้ง่ายอีกด้วย

              
3.3 แสง เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของพืช เพราะแสงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างอาหารหรือการสังเคราะห์แสงของพืช โดยมีคลอโรฟิลล์เป็นตัวรับแสงไปใช้เป็นพลังงานในการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำเป็นคาร์โบไฮเครตและออกซิเจน แสงมีคุณสมบัติ 3 ประการที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ ความยาวคลื่น ความเข้มแสงและระยะเวลาที่พืชได้รับแสง คุณสมบัติที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ที่สุด คือความเข้มแสง ความเข้มแสงที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป จะมีผลในการลดการสังเคราะห์แสงของพืช ทำให้พืชมีการเจริญเติบโตน้อยลง สำหรับการปลูกพืชในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในเขตร้อน ได้รับแสงที่มีความเข้มสูง การปลูกพืชในที่โล่งจึงต้องมีการให้ร่มเงาเพื่อลดความเข้มแสง นอกจากนี้แสงยังสัมพันธ์กับอุณหภูมิคือ เมื่อแสงมีความเข้มมากขึ้นอุณหภูมิก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์จะมองข้ามความสัมพันธ์นี้ไม่ได้ เนื่องจากอุณหภูมิของสารละลายที่ใช้ปลูกพืชมีบทบาทอย่างมากต่อกิจกรรมของราก

              
3.4 องค์ประกอบของบรรยากาศ พืชต้องใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์แสง ในอากาศโดยปกติมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณร้อยละ 0.03 ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของพืช นอกจากในบริเวณที่มีพืชหนาแน่นคาร์บอนไดออกไซด์อาจเป็นตัวจำกัดการเจริญเติบโตของพืชได้ในเวลากลางวัน เนื่องจากมีการสังเคราะห์แสงเกิดขึ้นมาก นอกจากคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว พืชต้องการออกซิเจนใช้ในการหายใจเพื่อเปลี่ยนพลังงานเคมีที่สะสมไว้ในรูปคาร์โบไฮเดรตเป็นพลังงานใช้ในปฏิกริยาเคมีต่างๆ ในการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์นั้นส่วนที่อยู่เหนือดินมักไม่มีปัญหาการขาดออกซิเจน เนื่องจากในอากาศมีออกซิเจนอยู่ถึงร้อยละ 20 แต่ในส่วนของรากที่อยู่ในสารละลายมักเกิดปัญหาเนื่องจากปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช จึงต้องมีการเติมออกซิเจนในสารละลายซึ่งอาจทำได้โดยใช้ปั๊มหรือเครื่องสูบลม หรืออาจใช้ระบบหมุนเวียนสารละลาย โดยปกติควรรักษาระดับออกซิเจนในสารละลายให้อยู่ที 8 ppm

              
3.5 คุณภาพน้ำ คุณภาพน้ำมีความสำคัญมากในการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ เนื่องจากพืชที่ปลูกได้รับธาตุอาหารต่างๆจากสารละลายธาตุอาหารซึ่งต้องใช้น้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ ถ้าน้ำมีการปนเปื้อนของจุลิทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ โรคจะแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องมีการฆ่าเชื้อก่อนนำไปใช้ ซึ่งอาจใช้คลอรีน หรือ โซเดียมไฮโปคลอไรด์ หรือ แคลเซียมไฮโปคลอไรด์ก็ได้ ถ้าน้ำขุ่นเนื่องจากมีสารแขวนลอย จะต้องกรองเอาตะกอนออก

              
นอกจากนี้ถ้าน้ำที่ใช้มีองค์ประกอบทางเคมีที่ไม่เหมาะสม เช่น มีจุลธาตุบางตัวในปริมาณมากเกินไป ก็จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ น้ำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์คือ น้ำฝนหรือน้ำจากคลองชลประทาน

              
3.6 ปฏิกริยาน้ำ (pH) pH ของน้ำมีผลทางอ้อมต่อการเจริญเติบโตของพืช เกี่ยวข้องกับความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหาร (ภาพที่ 1.1) โดยทั่วไปการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ สารละลายธาตุอาหารพืชควรมี pH อยู่ระหว่าง 5.5-6.5 หรือประมาณ 6 ไม่ควรเกิน 7 ขึ้นกับชนิดพืช

              
3.7 ธาตุอาหารพืช พืชที่ยังคงความสดอยู่จะมีปริมาณน้ำประกอบอยู่ร้อยละ 80-95 ถ้าเก็บต้นพืชมาชั่งจะได้น้ำหนักสด เมื่อวางทิ้งไว้พืชจะเหี่ยวลงเนื่องจากสูญเสียน้ำอยู่ตลอดเวลา และถ้านำไปอบที่อุณหภูมิ 70° C เป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง น้ำส่วนใหญ่ที่อยู่ในต้นพืชจะระเหยไป เมื่อนำไปชั่งอีกครั้งเพื่อหาน้ำหนักแห้งจะพบว่าพืชมีน้ำหนักลงลงอย่างมากเหลือเพียงร้อยละ 10-20 ของน้ำหนักสดที่ชั่งครั้งแรก (กระบวน, 2542) ยกตัวอย่าง เก็บผักคึ่นฉ่ายมา 1 ต้น สมมุติว่าชั่งได้น้ำหนักสด 100 กรัม แต่เมื่อนำไปอบให้แห้งแล้วชั่งใหม่จะเหลือน้ำหนักแห้งเพียง 10 กรัม เป็นต้น น้ำหนักแห้งที่ได้นี้มากกว่าร้อยละ 90 ประกอบด้วยแร่ธาตุ 3 ชนิด คือ คาร์บอน (C) ออกซิเจน (O) และไฮโดรเจน (H) ซึ่งได้มาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซออกซิเจน (O2) ในบรรยากาศ และ น้ำ (H2O) ส่วนที่เหลือเป็นแร่ธาตุชนิดอื่นๆ ที่ประกอบเป็นต้นพืช จากตัวอย่างคึ่นฉ่ายจะพบว่ามีธาตุอื่นๆ เพียงร้อยละ 1 ของน้ำหนักสด หรือเท่ากับ 1 กรัม

         
ในการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์นั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชคือน้ำและธาตุอาหาร เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ผู้ปลูกจัดหาให้แก่พืชโดยตรงโดยการเตรียมสารละลายธาตุอาหาร สามารถควบคุมปริมาณธาตุอาหารแต่ละชนิดให้เหมาะสมต่อความต้องการของพืชแต่ละชนิดได้ โดยทั่วไปธาตุอาหารที่พืชต้องการมีทั้งสิ้น 16 ธาตุ ซึ่ง 3 ธาตุ ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ได้จากน้ำและอากาศ ส่วนอีก 13 ธาตุจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มตามปริมาณที่พืชต้องการ คือ

         
1. ธาตุที่พืชต้องการในปริมาณมากหรือมหธาตุ (macronutrient elements) คือธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพืชมีความต้องการในปริมาณมากเมื่อเทียบกับธาตุอื่นๆ มีทั้งหมด 6 ธาตุ ได้แก่

              
1.1 ไนโตรเจน (N) เป็นธาตุสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเจริญเติบโตของพืชเพราะไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบของกรดอมิโน โปรตีน นิวคลีโอไทด์ และคลอโรฟิลล์ ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารประกอบที่สำคัญมากต่อขบวนการเมตาโบลิซิมของพืช พืชที่ได้รับไนโตรเจนเพียงพอจะเจริญเติบโตดี มีใบสีเขียวเข้ม ในพืชผัก ไนโตรเจนมีส่วนสำคัญในการเพิ่มคุณภาพ เพราะเป็นตัวทำให้ผักมีลักษณะอวบน้ำ พืชผักรับประทานต้นหรือใบจึงต้องการไนโตรเจนสูง เพื่อให้ต้นและใบมีความกรอบ มีกากหรือเส้นใยน้อย ซึ่งเป็นลักษณะที่ผู้บริโภคต้องการ ไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ต่อพืชจะอยู่ในรูปแอมโมเนียมอิออน (NH4+) และไนเตรทอิออน (NO3-) แต่ไนโตรเจนส่วนใหญ่ในสารละลายจะอยู่ในรูปไนเตรทอิออน เพราะแอมโมเนียมอิออนในปริมาณมากจะเป็นอัตรายต่อพืชได้ ในการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ ควรมีสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างแอมโมเนียมอิออนและไนเตรทอิออน ปริมาณแอมโมเนียมอิออนไม่ควรเกินร้อยละ 50 ของความเข้มข้นของไนโตรเจนทั้งหมดในสารละลาย แต่สัดส่วนที่เหมาะสมมักใช้ไนเตรทอิออนร้อยละ 75 และแอมโมเนียมอิออนร้อยละ 25 สารเคมีที่ให้ไนเตรทอิออน คือ แคลเซี่ยมไนเตรท และโพแทสเซี่ยมไนเตรท

              
1.2 ฟอสฟอรัส (P) ฟอสฟอรัสมีหน้าที่เกี่ยวกับการถ่ายเทพลังงาน ซึ่งเป็นกระบวนการทางสรีรวิทยาที่สำคัญมาก พลังงานที่ได้จากการสังเคราะห์แสงและเมตาโบลิซิมของสารประกอบคาร์โบไฮเดรตจะถูกเก็บไว้ในรูปของสารประกอบฟอสเฟต (อะดิโนซีน ไตรฟอสเฟต, ATP) สำหรับใช้ในการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ของพืช นอกจากนั้นฟอสฟอรัสยังเป็นส่วนประกอบของนิวคลีโอไทด์และไลปิดอีกด้วย ในแง่การเจริญเติบโตของพืช ฟอสฟอรัสทำให้การแบ่งเซลล์และการพัฒนาของส่วนที่เจริญเติบโตของพืช (ยอดและราก) เป็นไปได้ดี ฟอสฟอรัสยังช่วยให้พืชออกดอกและแก่เร็ว ทำให้พืชมีความแข็งแรงและต้านทานต่อโรคแมลง สำหรับพืชผัก ฟอสฟอรัสทำให้พืชตั้งตัวได้เร็ว โดยเฉพาะระยะแรกๆ ของการเจริญเติบโต ฟอสฟอรัสยังมีส่วนในการทำให้พืชผักเก็บเกี่ยวได้เร็วและมีรสชาติดีขึ้นด้วย รูปของฟอสฟอรัสที่พืชนำไปใช้ได้คือ โมโนไฮโดรเจนฟอสเฟต (HPO42-) และ ไดไฮโดรเจนฟอสเฟต (H2PO4-) ส่วนจะอยู่ในรูปไหนมากกว่ากันขึ้นกับค่า pH ของสารละลายในขณะนั้น ในการปลูกพืชในดินมักมีปัญหาความเป็นประโยชน์ของธาตุฟอสฟอรัสเมื่อ pH ไม่เหมาะสม เช่นถ้า pH ต่ำฟอสฟอรัสจะทำปฏิกริยากับเหล็กและอลูมิเนียม แต่ถ้า pH สูงฟอสฟอรัสจะทำปฏิกริยากับแคลเซียมและแมกนีเซียม ทำให้ความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสลดลง แต่ในการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์จะไม่เกิดปัญหานี้เนื่องจากสามารถควบคุมปริมาณธาตุอาหารและ pH ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้

              
1.3 โพแทสเซียม (K) โพแทสเซี่ยมไม่ได้เป็นองค์ประกอบในโครงสร้างของสารประกอบอินทรีย์ในพืช แต่มีหน้าที่เกี่ยวกับการทำงานด้านสรีรวิทยาของพืช เป็นธาตุจำเป็นในการสังเคราะห์คาร์โบไฮเดรต และการเคลื่อนย้ายแป้งและน้ำตาลในพืช จึงเป็นธาตุที่จำเป็นมากต่อพืชผักประเภทหัว นอกจากนี้โพแทสเซียมยังควบคุมการปิดเปิดของปากใบ และกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ ในพืชผักรับประทานต้นและใบ มีความต้องการโพแทสเซียมไม่น้อยกว่าไนโตรเจน เพราะเป็นธาตุที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพ เช่น ช่วยให้กระหล่ำปลีห่อหัวได้ดี น้ำหนักดี มีเนื้อแน่นและเป็นเงาน่ารับประทาน ส่วนผักกาดต่างๆ ที่รับประทานใบถ้าได้รับโพแทสเซียมเพียงพอจะไม่เฉาง่ายเมื่อตัดส่งตลาด จึงสดอยู่ได้นาน ในพืชผักกินผลเช่นมะเขือเทศ ความต้องการโพแทสเซียมจะสูงในช่วงที่มีการพัฒนาของผล รูปของโพแทสเซี่ยมที่พืชนำไปใช้ได้คือ โพแทสเซียมอิออน (K+) แต่ถ้ามีโพแทสเซียมมากเกินไปจะรบกวนการนำแคลเซียมและแมกนีเซียมไปใช้ สารเคมีที่ให้โพแทสเซียมมีอยู่หลายตัว เช่น โพแทสเซียมไนเตรท และโพแทสเซียมฟอสเฟต

              
1.4 แคลเซียม (Ca) แคลเซียมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผนังเซลล์ หน้าที่หลักภายในพืชจึงเกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของเนื้อเยื่อและเซลล์พืช นอกจากนั้นยังมีบทบาทในการกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์อีกด้วย การดูดใช้แคลเซียมของพืชจะขึ้นกับอิออนตัวอื่นในสารละลาย โดยเฉพาะเมื่อมีไน เตรทจะทำให้ดูดใช้แคลเซียมได้ดีขึ้น รูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ คือแคลเซียมอิออน (Ca2+) แหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุดคือ แคลเซียมไนเตรท เนื่องจากละลายง่าย ราคาไม่แพง อีกทั้งยังให้ธาตุไนโตรเจนได้ด้วย ความเข้มข้นของแคลเซียมที่มากเกินไปจะมีผลต่อการนำโพแทสเซียมและแมกนีเซียมมาใช้

              
1.5 แมกนีเซียม (Mg) แมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ นอกจากนี้ยังมีบทบาทในในการดูดซึมธาตุอาหาร และการเคลื่อนย้ายธาตุอาหารของพืชโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟอสเฟต แมกนีเซียมที่พืชสามารถนำไปใช้ได้อยู่ในรูป แมกนีเซียมอิออน (Mg2+) สารเคมีที่ใช้เป็นแหล่งแมกนีเซียมคือ แมกนีเซียมซัลเฟต ในการเตรียมสารละลายสำหรับปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ จะต้องระวังในเรื่องปริมาณแมกนีเซียมเพราะแมกนีเซียมที่มากเกินไปจะรบกวนการนำโพแทสเซียมและแคลเซียมมาใช้

              
1.6 กำมะถัน (S) กำมะถันเป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบของพืชมากพอๆ กับฟอสฟอรัสแต่พืชแต่ละชนิดจะมีกำมะถันในปริมาณต่างกัน พืชตระกูลถั่ว หอม กระหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง กระเทียม ต้องการกำมะถันเพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติให้ดีขึ้น กำมะถันมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนและกรดอมิโนบางชนิดที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบเช่น ซิสเทอีน (cysteine) และ เมทไธโอนีน (methionine) นอกจากนั้นกำมะถันยังมีผลทางอ้อมต่อการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ของพืชด้วย รูปของกำมะถันที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้คือ ซัลเฟตอิออน (SO42-) ซึ่งในการเตรียมสารละลายธาตุอาหารมักมีส่วนประกอบของเกลือซัลเฟตหลายชนิดอยู่ เช่น แมกนีเซียมซัลเฟต แคลเซียมซัลเฟต เป็นต้น พืชที่ปลูกในสารละลายจึงมักไม่ขาดธาตุนี้

         
2. ธาตุที่ต้องการในปริมาณน้อยหรือจุลธาตุ (micronutrient element) คือธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่พืชต้องการในปริมาณน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับธาตุอื่นๆ ในการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์จะต้องระมัดระวังการควบคุมปริมาณธาตุกลุ่มนี้เป็นพิเศษกว่าธาตุในกลุ่มมหธาตุ เพราะความเข้มข้นระหว่างความเป็นพิษและการขาดมีระยะค่อนข้างแคบ นอกจากนั้นการประเมินอาการขาดทำได้ค่อนข้างยากอีกด้วย การแก้ปัญหาการขาดจุลธาตุทำได้ง่ายกว่าการแก้ปัญหาความเป็นพิษ เมื่อเกิดอาการเป็นพิษขึ้นมักจะต้องปลูกใหม่ ความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารกลุ่มนี้ขึ้นกับค่า pH ของสารละลายและการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของธาตุอาหารหลักบางธาตุ เช่น ฟอสฟอรัส ดังนั้นการควบคุม pH ของสารละลายและความเข้มข้นของธาตุอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ธาตุที่พืชต้องการในปริมาณน้อยนี้มีอยู่ 7 ธาตุ ได้แก่

              
2.1 เหล็ก (Fe) เป็นธาตุที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนย้ายในพืช ในพืช เหล็กเป็นส่วนประกอบของเฟอริดอกซิน (ferridoxin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในขบวนการถ่ายทอดอิเล็กตรอนของพืช นอกจากนั้นยังเป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ รูปที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ คือเฟอรัสอิออน (Fe2+) และเฟอริกอิออน (Fe3+) สารเคมีที่ให้ธาตุเหล็กและมีราคาถูก คือ เฟอรัสซัลเฟต (FeSO4) ซึ่งละลายน้ำได้ง่ายแต่จะตกตะกอนเร็วจึงต้องระวังในเรื่อง pH ของสารละลาย จึงนิยมใช้เหล็กในรูปคีเลต ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ สามารถคงตัวอยู่ในรูปสารละลายธาตุอาหารพืชและพืชก็สามารถนำไปใช้ได้ดี

              
2.2 แมงกานีส (Mn) เป็นธาตุที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์แสง และการทำงานร่วมกับธาตุอื่น เช่น เหล็ก แคลเซี่ยม และแมกนีเซียม ความเป็นประโยชน์ของแมงกานีสจะถูกคววบคุมโดยค่า pH ของสารละลาย รูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้คือ แมงกานีสอิออน (Mn2+)

              
2.3 สังกะสี (Zn) เป็นธาตุจำเป็นต่อการสังเคราะห์ IAA ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของเซลล์ มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของเอนไซม์หลายชนิด และยังมีบทบาทในการสร้างแป้งของพืชด้วย รูปที่พืชสามรถนำไปใช้ได้ คือ ซิงค์อิออน (Zn2+) ที่อาจได้จากซิงค์ซัลเฟต (ZnSO4) หรือซิงค์คลอไรด์ (ZnCl2)

              
2.4 ทองแดง (Cu) แต่เป็นธาตุที่มีความจำเป็นเนื่องจากเป็นองค์ประกอบของโปรตีน ช่วยในกระบวนการหายใจ และส่งเสริมให้พืชนำเหล็กมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น รูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชคือ คอปเปอร์อิออน (Cu2+) ที่อาจได้จากคอปเปอร์ซัลเฟต (CuSO4) หรือคอปเปอร์คลอไรด์ (CuCl2)

              
2.5 โบรอน (B) หน้าที่ของโบรอนในพืชยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อกันว่าโบรอนมีความสำคัญต่อการสังเคราะห์และเคลื่อนย้ายคาร์โบไฮเดรต การสร้างกรดอมิโนและโปรตีน การงอกและการเจริญเติบโตของละอองเกสรตัวผู้ และกิจกรรม ต่างๆ ของเซลล์ เช่น การแบ่งเซลล์ การขยายตัวของเซลล์ การเจริญเติบโตของเซลล์ นอกจากนั้นโบรอนยังมีอิทธิพลต่อสัดส่วนการดูดใช้ธาตุที่มีประจุบวก (cations) และธาตุที่มีประจุลบ (anions) ของพืชโดยจะส่งเสริมให้มีการดูดใช้ธาตุที่มีประจุบวกได้ดีขึ้น และธาตุที่มีประจุลบลดลง ที่เด่นชัดคือการดูดใช้แคลเซี่ยมจะดีขึ้นถ้ามีโบรอนเพียงพอ รูปที่เป็นประโยชน์สำหรับพืชคือโบเรตอิออน (BO33-) ซึ่งมีในน้ำธรรมชาติ หรือได้จากการเติมกรดบอริก (H3BO3)

              
2.6 โมลิบดินัม (Mo) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเอนไซม์ 2 ชนิด คือไนโตรจีเนส (nitrogenese) ซึ่งสำคัญต่อการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และไนเตรทรีดักเตส (nitrate reductase) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรีดิวส์ไนเตรทให้เป็นไนไตรท์ พืชสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในรูปโมลิบเดตอิออน (MoO42-) ซึ่งอาจได้จากสารแอมโมเนียมโมลิบเดต หรือ โซเดียมโมลิบเดต

              
2.7 คลอรีน (Cl) ถ้าความเข้มข้นสูงกว่าร้อยละ 1 ส่วนใหญ่จะเป็นพิษต่อพืช บทบาทภายในพืชยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ถ้าขาดคลอรีนพืชจะเหี่ยวง่าย ในน้ำจะมีคลอรีนอยู่ในรูปคลอไรด์อิออน (Cl-) ซึ่งเป็นรูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ ถ้ามีปริมาณมากเกินไปจะไปยับยั้งการนำธาตุที่อยู่ในรูปประจุลบตัวอื่นๆ มาใช้ประโยชน์

         
นอกจากธาตุต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีธาตุอีกหลายชนิดที่คาดว่าเป็นประโยชน์ต่อพืช แต่ยังไม่ทราบบทบาทแน่ชัด เช่น โซเดียม(Na), ซิลิกอน(Si, นิเกิล(Ni), และเวเนเดียม(V) เป็นต้น

         
การประยุกต์ใช้ระบบไฮโดรโปนิกส์ปลูกพืชเชิงพาณิชย์เริ่มขึ้นเมื่อ William F.Gericke ประสบความสำเร็จ ในการปลูกมะเขือเทศในสารละลายธาตุอาหารแทนการปลูกในดิน จากนั้นจึงมีการพัฒนาเทคนิคต่างๆ จนมีการนำระบบนี้ไปใช้แพร่หลายเกือบทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาที่พื้นที่ทำการเกษตรมีน้อยลง เนื่องจากการพัฒนาประเทศและการขยายตัวของชุมชน สำหรับประเทศไทย การปลูกพืชด้วยวิธีนี้ได้มีการศึกษาวิจัยกันมากว่า 30 ปีแล้ว แต่เพิ่งมีการดำเนินการเป็นเชิงพาณิชย์ในระยะไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา การปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์แม้จะมีข้อดีในแง่ต่างๆ เช่น ปลูกพืชได้ต่อเนื่องตลอดปี ปลูกได้แม้ไม่มีพื้นที่ปลูกพืช หรือพื้นที่ที่มีไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืช พืชที่ปลูกเจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตสูง สม่ำเสมอ คุณภาพดี ใช้แรงงานและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชน้อยลง แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ต้องใช้ทุนเริ่มต้นสูง ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ผู้ปลูกจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี นอกจากข้อจำกัดในเรื่องต้นทุนและเทคโนโลยีที่ใช้แล้ว กรณีเกิดโรคระบาดขึ้นจะควบคุมได้ยากเนื่องจากเชื้อสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับพืชที่ปลูกด้วยวิธีดั้งเดิม การเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ ควบคุมโดยปัจจัยพื้นฐานหลักๆ 3 ปัจจัย ได้แก่ พันธุกรรม สารควบคุมการเจริญเติบโต และสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจัยที่ผู้ปลูกสามารถควบคุมได้และเป็นตัวกำหนดความสำเร็จในการปลูกพืชด้วยวิธีนี้ คือสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องธาตุอาหาร




http://www.rasbithydro.com/index.php?option=com_content&view=article&id=69:2010-02-23-12-47-28&catid=34:hydroponic-tech&Itemid=60









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-04-23 (1351 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©