-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 363 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

มะนาว




หน้า: 6/7



ปลูกมะนาวในแปลงกุหลาบ เพิ่มรายได้ในพื้นที่เดิม  
  
นายอภิชาติ พูลสวัสดิ์ เกษตรกรคนเก่งแห่ง อ.พบพระ จ.ตาก ประสบความสำเร็จในการปลูกกุหลาบตัดดอกขาย สถานะทางการเงินพลิกฟื้นจากขาดทุนเป็นกำไร จากการเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้จำนวนมาก และด้วยเห็นว่าเครื่องมือ อุปกรณ์ แหล่งน้ำ และพื้นที่ที่ใช้ปลูก ยังสามารถนำมาทำประโยชน์ได้อีก จึงได้ปลูกมะนาวแซมในพื้นที่ ทำให้ได้ผลผลิตที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถกระจายความเสี่ยงด้านราคาได้ ตลอดจนมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
         
อภิชาติ เล่าว่า เริ่มปลูกกุหลาบโดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาพบพระ สำหรับการดูแล เนื่องจากกุหลาบเป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูง ปริมาณน้ำที่รดลงไปในดินปลูกต้องเพียงพอที่จะซึมลึกได้ประมาณ 1 ฟุต แต่ไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน ทั้งนี้อย่ารดน้ำให้โดนใบเนื่องจากโรคบางชนิดที่อยู่ตามใบหรือกิ่งจะแพร่กระจายไปได้โดยง่าย
         
ส่วนมะนาวจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อประมาณอายุ 3 ปี โดยให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 8 ปี ระยะเวลาตั้งแต่ออกดอกถึงดอกบานประมาณ 20 วัน ตั้งแต่ดอกบานถึงผลแก่ประมาณ 5 เดือน ให้ผลผลิตประมาณ 800-1,000 ผล/ปี ช่วงที่ให้ผลผลิตมากอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน สำหรับนอกฤดูอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน
         
ช่องทางการจำหน่ายผลผลิตจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวนเป็นประจำทุกวันทำให้ครอบครัวมีรายได้ประจำ ส่วนปัญหาที่พบขณะนี้คือค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนผสมปุ๋ย และอุปกรณ์ราคาสูง ในขณะที่ราคาผลผลิตสูงแค่ช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ เท่านั้น วิธีบริหารจัดการก็ต้องลดต้นทุนให้มากที่สุด

สนใจดูงานการปลูกพืชแซมในแปลงกุหลาบติดต่อได้ที่ 7/1 หมู่ที่ 6 ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก โทรศัพท์ 08-9907-0471


ที่มา  :  เดลินิวส์



พันธุ์มะนาวที่นิยมปลูก


มะนาว

“รวมมิตรมะนาวดี” ปลูกคุ้ม


พอเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน หลายคนเสาะหามะนาวพันธุ์ดีๆไปปลูกและขอให้แนะนำสายพันธุ์เจ๋งๆในคอลัมน์บ้าง ซึ่งความจริงแล้วมะนาวสายพันธุ์ดีๆ ที่ผู้ปลูกต้องการนั้นเคยเสนอในคอลัมน์ไปเกือบทุกชนิดแล้ว แต่เมื่อผู้อ่านไทยรัฐเรียกร้อง ประกอบกับพบว่าผู้ขายกิ่งตอนมะนาวพันธุ์เยี่ยมๆ นำสายพันธุ์ออกวางขายมากมายอยู่ในเวลานี้ พร้อมกับมีผลจริงๆของแต่ละสายพันธุ์โชว์ให้ผู้สนใจได้ทดลองชิมรสชาติอีกด้วย จึงรีบ “รวมมิตรมะนาวดี” ปลูกแล้วคุ้มค่าลงในคอลัมน์อีกครั้งทันที


ผลมะนาว ที่ผู้ขายกิ่งพันธุ์มะนาวนำไปวางรวมกันโชว์บนจานเท่าที่สังเกต มีด้วยกัน 4 สายพันธุ์ เริ่มจาก มะนาวแป้นพิจิตร มะนาวแป้นจริยา มะนาวแม่ไก่ไข่ดก และ มะนาวน้ำหอมทูลเกล้าไม่มีเมล็ด ทั้ง 4 สายพันธุ์ถือเป็นมะนาวเด่นที่ได้รับความนิยมปลูกอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เคยแจกแจงรายละเอียดในคอลัมน์ไปทุกพันธุ์แล้ว บางพันธุ์มีผลทะวายหรือตลอดปี ให้น้ำเยอะ รสเปรี้ยวจัด ติดผลดก แต่ละพันธุ์ที่กล่าวข้างต้นปลูกแล้วคุ้มค่ามาก โดยเฉพาะมะนาวแป้นพิจิตร เป็นพันธุ์ใหม่ล่าสุดที่นักวิชาการเกษตรบำรุงพันธุ์ให้ทนทานต่อโรคแมลงทุกชนิด และยังสามารถติดผลดกในช่วงฤดูแล้งที่ผลมะนาวมีราคาแพงด้วย เกษตรกรในปัจจุบันจึงนิยมปลูกมะนาวสายพันธุ์ แป้นพิจิตรอย่างแพร่หลาย

ส่วนมะนาวแป้นจริยา มีความโดดเด่นตรงเวลาติดผลจะเป็นพวงเกินกว่า 5 ผลขึ้น และที่เป็นจุดดีอีกอย่างได้แก่ เปลือกผลของมะนาวแป้นจริยาจะบางมาก จึงทำให้มีน้ำเยอะรสชาติเปรี้ยวและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มะนาวแม่ไก่ไข่ดก จะติดผลกระจายทั่วทั้งต้นได้ดีและสม่ำเสมอ แม้จะไม่เป็นพวงแต่จะให้ผลดกมาก มีรสเปรี้ยวใกล้เคียงกับน้ำมะนาวแป้นทั่วไป สุดท้าย มะนาวน้ำหอมทูลเกล้าไร้เมล็ด มีลักษณะเด่นคือ ผลขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่เกือบเท่าลูกเทนนิส เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ผู้ปลูกนิยมปลูก
กันมาก เนื่องจากให้น้ำเยอะ เวลาติดผลดกทั้งต้นจะคุ้มค่ายิ่งนัก ซึ่งมะนาวดีทั้ง 4 สายพันธุ์มีกิ่งตอนขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผง “คุณภิญโญ” ตรงกันข้ามกับโครงการ 13 มีผลจริงของแต่ละสายพันธุ์ให้ดูและทดลองชิมด้วย ราคาสอบถามกันเอง ส่วนใหญ่เป็นต้นเสียบยอด จะทำให้ ใช้เวลาปลูกเพียง 8-10 เดือน สามารถติดผลให้เก็บใช้ประโยชน์ได้


ส่วนอีก 2 สายพันธุ์ ที่อยากแนะนำให้ปลูกได้แก่ มะนาวด่านเกวียน กับ มะนาวพวง ทั้งสองชนิดมีรูปทรงของผล น้ำจากผล ผิวผลคล้ายกับ “เลมอน” ของฝรั่งมาก เวลาติดผลจะเป็นกระจุกแน่นเกิน 10 ผล ต่อพวงน่าชมมาก ที่สำคัญจะติดผลตลอดปีครับ.



ดอกสะแบง



**************************************************************************************************************************************

มะนาวผง

มะนาวเป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม จัดอยู่ในตระกูลส้ม (citrusfruit) มีหลายพันธุ์ แต่ที่แพร่หลายคือ มะนาวหนัง มีลักษณะเป็นลูกกลม ผิวบางเรียบค่อนข้างจะเป็นมัน มีผลดก หรือที่เรียกว่า "มะนาวสวน"

      
มะนาวเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทย เพราะใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหาร และเป็นส่วนประกอบในการผลิตเครื่องสำอาง มะนาวให้ผลดกเฉพาะในฤดูฝนคือ เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม จะเป็นช่วงที่มีมะนาวมาก เกิดภาวะล้นตลาด ราคาต่ำ อาจจะเหลือผลละ 20 สตางค์ แต่หลังเดือนตุลาคม ผลิตผลจะเริ่มน้อยลงและขาดแคลน ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ทำให้ราคามะนาวสูงขึ้น ดังนั้นการนำน้ำมะนาวมาแปรรูปเป็นมะนาวผง ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้นานถึง 8 เดือน ที่อุณหภูมิห้อง เมื่อจะใช้ก็นำมาละลายน้ำตามสัดส่วนที่กำหนด จะช่วยแก้ปัญหามะนาวราคาตก และเป็นแนวทางหนึ่งในการผลิตน้ำมะนาวผง ในรูปผงแท่งในระดับอุตสาหกรรมหรือเพื่อการส่งออกต่อไป

      
ประศาสตร์ ฟูตระกูล และคณะ จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการวิจัย "การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะนาวผง โดยวิธี spray drying ให้โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตในระดับอุตสาหกรรม" โดยแปรรูปน้ำมะนาวสดเป็นมะนาวผง เพื่อแก้ปัญหาราคามะนาวตกต่ำในช่วงฤดูฝน โดยการลดความขมในน้ำมะนาวด้วยการลวกมะนาวที่ 100 องศาเซลเซียส นาน 1 นาที ช่วยลดปริมาณลิโมนิน ซึ่งสารให้รสขมในน้ำมะนาวใกล้เคียงกับมะนาวที่เตรียมจากผลมะนาวที่ปอกเปลือก จากการใช้สารตัวพาที่ให้ผลดีที่สุดคือ น้ำมะนาวต่อมอลโตเด็กซ์ทริน 100:30 จะช่วยให้มะนาวจับตัวกันเป็นผงเมื่อทำแห้งโดยเครื่องพ่นฝอย ที่อุณหภูมิร้อนขาเข้า 160-180 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิของลมร้อนขาออก 90-95 องศาเซลเซียส มะนาวผงที่เตรียมจากกลูโคสไซรับ หรือ D.E. 26 ให้ค่าการละลายต่ำสุดเฉลี่ย 30-40 วินาที ส่วนการใช้กับอารบิกเป็นสารตัวพาให้น้ำมะนาวที่เป็นสีเข้มเกินไป


ในการผลิตแบบอุตสาหกรรม ใช้น้ำมะนาวผสมกับมอลโตเด็กซ์ทริน D.E. 10 ในอัตราส่วน 30:10 จะได้สารละลายผสม 392.6 กิโลกรัม เมื่อนำมาทำให้แห้งแล้วจะได้มะนาวผง 106.3 กิโลกรัม ใช้เวลาผลิต 14.25 ชั่วโมง ผลผลิตของการทำแห้งคิดเป็น 27.08 เปอร์เซ็นต์ ประสิทธิภาพในการผลิต 1 กิโลกรัมมะนาวผง ใช้เวลา 7.46 ชั่วโมง เพราะเครื่องพ่นฝอยเป็นแบบ Mini production

      
ในการศึกษาคุณภาพอายุการเก็บรักษา พบว่าปริมาณกรดซิตริกและไวตามินซี มีค่าลดลงตามระยะเวลาการเก็บรักษาในภาชนะบรรจุสูญญากาศ ส่วน pH มีค่าคงที่ ทั้งที่อุณหภูมิห้อง และที่ 4 องศาเซลเซียส ตลอด 12 เดือน ส่วนค่าสี L มีค่าลดลง ขณะที่ค่าสี a และ b มีค่าเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำมะนาวคืนรูป มีสีน้ำตาลเพิ่มขึ้น ค่าความชื้นอยู่ในช่วง 5-7 เปอร์เซ็นต์ ค่าการดูดกลืนแสง และค่าการละลายมีค่าเพิ่มขึ้นตลอดอายุการเก็บรักษา ผู้บริโภคให้การยอมรับมะนาวผงในช่วง 9 เดือนแรกของการเก็บรักษา หลังจากนั้นมะนาวผงจะให้รสขมมากขึ้น ในการทดสอบการยอมรับมะนาวผง ได้ทดลองทำน้ำมะนาวพร้อมดื่มจากมะนาวผงเทียบกับมะนาวสด พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

      
ส่วนต้นทุนมะนาวผงโดยเฉลี่ยประมาณ 300-400 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นกับราคามะนาวสด และราคาภาชนะบรรจุข้อดีคือ สามารถเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องนาน 9 เดือน โดยยังมีคุณภาพดีและมีศักยภาพสูงเหมาะแก่การส่งออก สำหรับข้อเสนอแนะในการผลิตมะนาวผงในระดับอุตสาหกรรมสามารถทำได้ โดยได้มะนาวผงที่มีคุณภาพดี แต่มีข้อจำกัดที่มะนาวสดจะมีราคาถูกเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม เท่านั้น ส่วนช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน ราคาจะค่อย ๆ สูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถผลิตมะนาวผงได้ตลอดปี เพราะจะทำให้ต้นทุนสูง อย่างไรก็ดีเราสามารถเร่งผลิตมะนาวผงในช่วงที่มะนาวสดราคาถูก ไม่เกินผลละ 1 บาท และเก็บไว้ในภาชนะบรรจุสูญญากาศ เพื่อนำออกจำหน่ายในช่วงที่มะนาวสดราคาแพง หรือเพื่อการส่งออก เพราะมะนาวผงสามารถเก็บไว้ โดยมีรสชาติเปรี้ยวแบบมะนาวได้นานถึง 9 เดือน หรือนานกว่านี้ถ้าเก็บรักษาไว้ในห้องเย็น มะนาวผงมีน้ำหนักเบา และความชื้นต่ำ 4-5 เปอร์เซ็นต์ ผู้ผลิตมะนาวผงอาจเช่าโรงงานทำเครื่องพ่นฝอยผลิตเมื่อมีกำไร จึงซื้อเครื่องมาผลิตเอง หรือผลิตอาหารผงอย่างอื่นในช่วงมะนาวสดมีราคาแพงได้ เพื่อให้เครื่องจักรได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ


อนึ่งมะนาวผงสะดวกต่อการใช้ ไม่ต้องปอกเปลือกหรือคั้นน้ำ แค่ฉีดซองก็ใช้ได้เลย อาจนำมาใช้เป็นเครื่องปรุงอาหารไทยได้หลายชนิด อาทิ ต้มยำ พร่า และอาหารอื่นที่มีการปรุงร้อน เพราะมะนาวผงต้องละลายในน้ำร้อน จึงจะละลายได้ดี ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงได้ทดลองผลิตมะนาวผงบรรจุซองสูญญากาศขนาดครึ่งกิโลกรัม หรือ 500 กรัม จำหน่ายให้ครัวการบินไทย โดยเฉลี่ยเดือนละ 100 กิโลกรัม เพื่อใช้ประกอบอาหารไทย อาทิ ต้มยำกุ้ง พร่า ยำ และอื่น ๆ ที่ต้องใช้มะนาวเป็นส่วนประกอบ เสริ์ฟให้ผู้โดยสารชั้น 1 ของการบินไทย พบว่าผู้บริโภคให้การยอมรับในรสชาติเป็นอย่างดี


www.ku.ac.th/e-magazine/june48/agri/fruit.html -



การปลูกมะนาว

มะนาวฤดูแล้งพันธุ์แป้นรำไพและพันธุ์แป้นดกพิเศษที่ขายจากสวนเกษตรกรเมื่อปลาย เดือนมีนาคม 2552 ที่ผ่านมา มีราคาสูงถึงผลละ 5 บาท (ขนาดจัมโบ้) เมื่อขายถึงผู้บริโภคน่าจะไม่ต่ำกว่าผลละ 8-10 บาท นับเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สวนทางกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงทั้งในและต่าง ประเทศขณะนี้ ความเป็นจริงแล้ว ราคาซื้อ-ขาย มะนาว จะเป็นวงจรเช่นนี้มานานแล้วคือ มีราคาแพงสุดในช่วงฤดูแล้ง คือตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาและจะมีราคาสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี แต่ราคาในปี พ.ศ. 2552 มีราคาแพงเป็นพิเศษคือ แพงที่สุดในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาเลยทีเดียว ด้วยเหตุที่ราคามะนาวฤดูแล้งมีราคาแพงเช่นนี้ได้สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกร สนใจที่จะปลูกมะนาวกันมากยิ่งขึ้น แต่อย่าลืมว่าจะทำสวนมะนาวให้ได้กำไรสูงสุด จะต้องมีความรู้และเทคนิคในการผลิตมะนาวนอกฤดูเป็นอย่างดี คุณมานิด อินทรไทยสงค์ เลขที่ 121 หมู่ที่ 13 ตำบลนิคมสร้างตนเองโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร หรือในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะนาว จังหวัดกำแพงเพชร ยกให้เป็นมือหนึ่งเรื่องของการทำมะนาวนอกฤดู สามารถทำกำไรจากการขายผลผลิตมะนาวนอกฤดูได้ทุกปี



หลักการสำคัญในการปลูกมะนาวเชิงพาณิชย์
คุณ มานิด บอกว่า พื้นที่ปลูกมะนาวในเขตนิคมสร้างตนเองโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จะเป็นที่ดอน จะต้องมีการปรับที่ไถพรวนให้ดินร่วนซุยและยกร่องปลูกแบบร่องลูกฟูก หาสายพันธุ์ดีจากต้นแม่พันธุ์มาปลูก คุณมานิดจะเน้นปลูกมะนาวในกลุ่มของพันธุ์แป้น เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ออกดอกติดผลตลอดทั้งปี ผลมีขนาดกลาง ทรงผลแป้น เปลือกบาง และน้ำมีกลิ่นหอม ที่สำคัญเป็นพันธุ์ที่ต้องการของตลาด ในการคัดเลือกพันธุ์มะนาวดีมาปลูกนั้น จะต้องดูลักษณะของต้นแม่พันธุ์ที่เราต้องการจะขยายพันธุ์นั้น ควรเป็นต้นสาวที่มีอายุต้นประมาณ 1 ปี และไม่เคยผ่านการราดหรือฉีดสารแพคโคลบิวทราโซลมาก่อน เพราะจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของกิ่งพันธุ์หลังจากที่ปลูกลงแปลงไปแล้ว สังเกตดูพบว่ากิ่งพันธุ์ที่ผ่านการราดสารจะเจริญเติบโตไม่ดี ประการต่อมาต้นแม่พันธุ์มะนาวจะต้องมีลักษณะของการติดผลดี ติดผลดกเป็นพวง พวงละประมาณ 7-10 ผล เช่น พันธุ์แป้นดกพิเศษ จะถือว่าดีมาก ลักษณะของใบใหญ่เป็นมัน นี่เป็นภาพรวมของการคัดเลือกต้นแม่พันธุ์ที่ชาวสวนจะคัดเลือกจากสวนของตัว เองหรือมองหาจากสวนอื่นมาปลูก


การขยายพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมกันมากที่สุดคือ การตอนกิ่ง
คุณ มานิด บอกว่า การตอนกิ่งมะนาวจะใช้เวลาไม่นาน นิยมทำกันช่วงต้นฤดูฝน เมื่อกิ่งตอนมีรากแล้วก็ควรจะเอามาชำไว้ในถุงดำที่มีวัสดุปลูกเป็นขี้เถ้า แกลบดำ การชำควรจะชำราว 10 วัน ก็เพียงพอแล้ว (ซึ่งระยะดังกล่าวรากของกิ่งตอนจะแผ่พอดีเต็มถุงดำ) ข้อแนะนำในการชำกิ่งพันธุ์มะนาว ไม่จำเป็นต้องชำใต้ตาข่ายพรางแสงเลย ให้ชำไว้ในบริเวณกลางแจ้งได้เลย ให้ต้นมะนาวชินต่อสภาพ แต่ถ้าเราเอากิ่งชำที่ชำไว้ใต้ตาข่ายพรางแสงไปปลูกในแปลง เรามักพบว่ากิ่งพันธุ์จะมีเปอร์เซ็นต์ของการตายค่อนข้างสูง และเวลาเอาไปปลูกให้แกะถุงดำออก ให้เอาส่วนของรากกิ่งพันธุ์มะนาวจุ่มน้ำให้ขี้เถ้าแกลบดำหลุดออกจนเหลือ เพียงรากมะนาวเท่านั้น (คุณมานิด ให้เหตุผลว่า ถ้าเราไม่ล้างเอาแกลบดำออก เวลาที่เราปลูกลงหลุมในแปลงเมื่อรดน้ำ ขี้เถ้าแกลบดำมันมักจะอุ้มน้ำไว้มาก ต้นมะนาวจะมีอาการใบเหลืองหรือไม่ก็จะเป็นโรคเชื้อรา เช่น รากเน่า โคนเน่า และตายในเวลาต่อมา)


ขั้นตอนของการล้างรากเอาขี้เถ้าแกลบดำออก เกษตรกรจะต้องตักน้ำใส่ถังพลาสติคหิ้วไปด้วย เพื่อสะดวกในการล้างราก ส่วนการปลูกไม่ต้องปลูกให้ลึกเกินไป ขุดหลุมให้ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร ก็เพียงพอแล้ว แผ่รากมะนาวให้ทั่วหลุม จากนั้นกลบดินให้แน่น ปักไม้ไผ่ไว้ค้ำต้นไม่ให้ลมโยก ก็หาเศษหญ้าหรือเศษฟางมาคลุมบริเวณโคนต้นแล้วรดน้ำให้ชุ่มเป็นอันเสร็จ ในกรณีที่เกษตรกรจะนำกิ่งตอนที่ตัดมาจากต้นแล้วลงปลูกในแปลงเลยก็สามารถทำ ได้ แต่เราพบว่ากิ่งพันธุ์จะมีการตั้งตัวและเติบโตช้ากว่าวิธีที่เราแนะนำไปอีก เคล็ดลับหนึ่งของคุณมานิดคือ การให้ปุ๋ยทางดินกับต้นมะนาวเล็ก จะให้ 20 วัน ต่อครั้ง ปุ๋ยที่ให้จะใช้ปุ๋ยยูเรีย (สูตร 46-0-0) ผสมน้ำรดให้ อัตราที่ใช้คือ ปุ๋ยยูเรีย 1 กิโลกรัม ผสมกับน้ำ 10 ลิตร ประมาณการให้ปุ๋ยยูเรียที่ละลายน้ำแล้วต่อต้น ประมาณ 1 แก้วน้ำ ต่อต้น แต่ก่อนที่จะให้ปุ๋ยแก่ต้นมะนาว ดินควรมีความชื้นเพื่อที่จะทำให้ต้นมะนาวสามารถดูดใช้ปุ๋ยได้ดีขึ้น แต่การราดปุ๋ยระวังอย่ารดปุ๋ยให้ชิดโคนต้นมะนาว ให้ห่างออกมาอย่างน้อย 1 คืบ คือการใส่ปุ๋ยยูเรียบำรุงต้นมะนาวเล็ก เปรียบเทียบกับการใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ พบว่าการใช้ปุ๋ยยูเรียต้นจะโตเร็วกว่าอย่างเห็นได้ชัด ต้นที่ให้ปุ๋ยยูเรียอายุ 1 ปี จะสูงถึง 1.50-1.70 เมตรเลยทีเดียว แต่เราจะมาหยุดให้ปุ๋ยยูเรียก็ต่อเมื่อช่วงที่จะเตรียมออกดอกเท่านั้น ต้นมะนาวเล็กมักมีกิ่งกระโดงให้เด็ดปลายยอดทิ้ง ไม่นานกิ่งกระโดงที่ถูกเด็ดยอดอ่อนทิ้งมันจะแตกพุ่มอ่อนออกมาอีกจำนวนมาก พุ่มมะนาวเล็กของเราก็จะขยายใหญ่ขึ้นอีก การดูแลรักษาต้นมะนาวเล็ก คุณมานิดจะเน้นบำรุงดูแลรักษาใบอย่างเดียว ปลูกช่วงมะนาวเล็ก อยากให้ทรงพุ่มสวยก็ต้องใส่ปุ๋ยเป็น อย่างต้นมะนาวปลูกแล้วเอนไปทางซ้ายก็ต้องใส่ปุ๋ยข้างขวามากหน่อย ต้นมันจะตั้งตรงขึ้นมา ส่วนต้นพุ่มสวยปกติก็ใส่บริเวณทรงพุ่มมะนาว โคนต้นควรสูงราว 1 ศอก ให้โล่งหน่อย ถ้าดูแลรักษาดีต้นมะนาวอายุ 1 ปี ก็จะได้พุ่มเกือบ 2 เมตร เลย


ระยะปลูกที่เหมาะสม ของมะนาวพันธุ์ “แป้นดกพิเศษ"
คุณ มานิด แนะนำใช้ระยะปลูก 6×6 เมตร เกษตรกรบางรายคิดว่ามันห่างกันเกินไป แต่มะนาวจัดเป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตเร็วเพียงอายุต้นได้ 3 ปี ทรงพุ่มก็เกือบจะชนกันแล้ว ถ้าเราปลูกถี่ไปหรือชิดกันเกินไป พอกิ่งมันชนกันตรงส่วนที่ประสานกันนั้นมันมักจะติดผลไม่ค่อยดก การดูแลมะนาวเล็กสูตรคุณมานิด สิ่งสำคัญมากคืออย่าให้ขาดน้ำ โดยเฉพาะหลังจากที่ย้ายต้นปลูก แต่ปกติเกษตรกรมักจะปลูกกันในช่วงฤดูฝนหรือปลายฤดูฝน ทำให้เรื่องน้ำไม่เป็นปัญหาเท่าไรนัก การฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรค-แมลง การดูแลฉีดพ่นทุก 5-7 วัน ต่อครั้ง แมลงศัตรูที่สำคัญในมะนาวเล็กคือ หนอนชอนใบ เพลี้ยไฟ ฯลฯ


ปลูกมะนาวจะต้องตัดแต่งกิ่ง
คุณ มานิด บอกถึงข้อเสียของเกษตรกรที่ไม่ตัดแต่งกิ่งต้นมะนาว ได้แก่ เกิดความยุ่งยากในการเข้าไปปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะใส่ปุ๋ย รดน้ำ หรือเก็บผลผลิต เพราะหากมะนาวมีทรงพุ่มทึบ ผู้เข้าไปปฏิบัติงานจะโดนหนามมะนาวทิ่มแทง ทำให้บาดเจ็บได้ เมื่อทรงพุ่มทึบแสงแดดส่องได้ไม่ทั่วถึง การติดผลจะลดลง หรือไม่ติดเลย เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง ทำให้ต้นมะนาวอายุสั้น เพราะไม่มีการกระตุ้นให้เกิดกิ่งใหม่ๆ กิ่งเก่าจะแห้งและตายในที่สุด สำหรับข้อดีของการตัดแต่งกิ่งคือ เข้าไปปฏิบัติงานได้สะดวก ไม่ต้องคอยเจ็บตัวกับหนามอันแหลมคมของต้นมะนาว ทรงพุ่มโปร่ง แสงแดดส่องทั่วถึง ทำให้การติดผลดกและกระจายโดยรอบ ลดการสะสมของโรคและแมลง การที่ทรงพุ่มโปร่งแสงแดดจะส่องเข้าได้ทั่วทั้งต้น โรคและแมลงบางชนิดจะลดลง และต้นมะนาวมีอายุยืน เพราะมีกิ่งใหม่ๆ มาแทนกิ่งเก่าเสมอ จำไว้เสมอว่า “กิ่งใหม่ออกลูกดีกว่ากิ่งเก่า”




 เทคนิคการผลิตมะนาวฤดูแล้ง สูตร คุณมานิด อินทรไทยสงค์

ในช่วงเดือนสิงหาคม-เดือนกันยายน คุณมานิดจะสะสมอาหารและสะสมตาดอกด้วยการใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 ทางดิน และทางใบจะฉีดสะสมอาหารด้วยปุ๋ยเกล็ด สูตร 0-52-34 ร่วมกับสารโปรดั๊กทีฟเป็นหลัก จะฉีดพ่นช่วงเดือนสิงหาคม-เดือนกันยายน จนใบมะนาวจะเริ่มแก่จัด หรือ “แก่ก้าน” ใบมีลักษณะสีเขียวเข้ม จับใบดูจะกรอบ แสดงว่าต้นมะนาวมีความพร้อมที่จะเปิดตาดอก ช่วง 2 เดือนนี้ เกษตรกรต้องดูต้นมะนาวของเราอย่าให้แตกใบอ่อนออกมา เราต้องบังคับให้ไปแตกใบอ่อนพร้อมดอกหรือเปิดตาดอกในเดือนตุลาคมเท่านั้น ถ้ามีฝนชุกหรือต้นมะนาวดูงามเกินไป จะต้องเพิ่มอัตราปุ๋ย 0-52-34 เข้าไปอีก จากอัตรา 150 กรัม เป็น 200 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร




การใช้สารแพคโคลบิวทราโซลหยุดการแตกใบอ่อน

วัตถุประสงค์ของการใช้สารแพคโคลบิวทราโซลของคุณมานิดคือ การควบคุมไม่ให้มะนาวแตกใบอ่อน ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนกรกฎาคม จะเป็นช่วงที่เกษตรกรสร้างความสมบูรณ์ของต้นและเร่งการแตกใบอ่อนของต้นมะนาว ให้ออกอย่างน้อย 2-3 ชุด เมื่อใบอ่อนรุ่นสุดท้ายเป็นระยะเพสลาดหรือใบเริ่มแก่แล้ว ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมแนะนำให้ฉีดพ่นสารแพคโคลบิวทราโซลเพื่อควบคุมไม่ให้ เกิดการแตกใบอ่อนออกมาอีก คุณมานิดจะเลือกใช้สารแพคโคลบิวทราโซลที่ความเข้มข้น 15% (เช่น แพนเทียม 15%) อัตราที่แนะนำใช้ ประมาณ 100-150 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร (1 ปี๊บ) และเติมสารจับใบเลทรอน ซีเอส-7 ฉีดพ่น ประมาณ 2-3 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน แต่ในกรณีที่ฝนตกชุกก็จะฉีดให้ถี่ขึ้นตามความเหมาะสม ช่วงต้นเดือนตุลาคมใบมะนาวจะมีความพร้อมใบเขียวเข้มจับดูจะกรอบ แสดงว่ามีความพร้อมจะ “เปิดตาดอก” โดยใช้สารโปรดั๊กทีฟและสารโพลี่เอไซม์เป็นหลัก ข้อควรระวังในการใช้สารเคมีและฮอร์โมนต่างๆ ในช่วงที่มะนาวออกดอกคือ หลีกเลี่ยงการใช้สารฆ่าแมลงที่มีส่วนของน้ำมันและยาร้อน เนื่องจากจะทำให้ดอกมะนาวแห้งและร่วง ช่วงที่มะนาวออกดอก ดอกเริ่มบานต้องระวังเรื่องของเชื้อราเป็นพิเศษ จะเป็นกลุ่มเชื้อราที่เข้าทำลายขั้วดอกและทำให้ดอกหลุดร่วง เชื้อราที่ใช้ดีที่สุดในปัจจุบันนี้คือ สารฟลิ้นท์-แอนทราโคลโกลด์ ระยะเลี้ยงผล การฉีดพ่นทางใบใช้สูตรในการขยายผลมะนาวให้โตขึ้น โดยใช้ฮอร์โมนกลุ่มจิบเบอเรลลิน (เช่น จิบทรี) อัตราที่ใช้ ประมาณ 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 10-15 วัน ต่อครั้ง ผสมไปพร้อมกับการฉีดสารปราบศัตรูพืช ปุ๋ยทางดินจะให้ปุ๋ย สูตร 19-19-19 หรือ 32-10-10 จากสูตรการทำมะนาวนอกฤดูของคุณมานิด อาจจะเป็นแนวทางให้แก่เกษตรกรมือใหม่หรือที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะเอาไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมด้วยในสภาพของการปลูกสภาพดินปัจจัยสิ่ง แวดล้อมที่แตกต่างกันอาจจะเป็นตัวกำหนดในการประสบความสำเร็จของการทำมะนาว เช่นกัน


คุณมานิด ฝากไว้ว่า การทำมะนาวฤดูแล้ง เกษตรกรมักจะพลาดในเรื่องไม่กล้าลงทุน พอช่วงมะนาวราคาถูกก็จะห่างการดูแลและบำรุงรักษา มะนาวเป็นพืชที่ห่างปุ๋ย ห่างยา ไม่ได้ บำรุงไม่ถึงในช่วงสะสมอาหาร ต้นขาดความสมบูรณ์ โอกาสประสบความสำเร็จในการผลิตมะนาวฤดูแล้งก็จะน้อยตามไปด้วย



หนังสือ “เทคนิคการผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์” พิมพ์ 4 สี มีแจกฟรี พร้อมกับ “การผลิตมะนาวฤดูแล้งยุคใหม่” รวม 168 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 50 บาท (ระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398


ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ

http://news.enterfarm.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A7.html
news.enterfarm.com/การปลูกมะนาว.html -

7.




หน้าก่อน หน้าก่อน (5/7) - หน้าถัดไป (7/7) หน้าถัดไป


Content ©