-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 452 บุคคลทั่วไป และ 1 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

แฟ้มงานวิจัย50





อนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติเพลี้ยแป้ง

แบบรายงานเรื่องเต็ม ผลการวิจัยที่สิ้นสุด ปีงบประมาณ 2550
1. แผนงานวิจัย การอนุรักษ์เชื้อพันธุ์
2. โครงการวิจัยที่ 1 ศึกษาและสำรวจเชื้อพันธุ์พืช จุลินทรีย์ แมลง ไร สัตว์ศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติ

กิจกรรมที่ 2 สำรวจ รวบรวมและศึกษาจุลินทรีย์ แมลง ไร สัตว์ศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติ
กิจกรรมย่อยที่ 2 สำรวจรวบรวมแมลง ไร สัตว์ศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติ

3. ชื่อการทดลอง อนุกรมวิธานแมลงศัตรูพืช ศัตรูธรรมชาติ
Taxonomy of Insect Pests and Natural Enemies
การทดลองย่อย อนุกรมวิธานของเพลี้ยแป้ง สกุล Dysmicoccus
Taxonomy of Mealybug in Genus Dysmicoccus


4. คณะผู้ดำเนินงาน
หัวหน้าโครงการวิจัย ดร.วีรณา สินสวัสดิ์ ฟอเรอร์ สังกัด สถาบันวิจัยพืชไร่
หัวหน้าการทดลอง ศิริณี พูนไชยศรี สังกัด สำนักวิจัยพัฒนาการอารักพืช
หัวหน้าการทดลองย่อย ชลิดา อุณหวุฒิ สังกัด สำนักวิจัยพัฒนาการอารักพืช
ผู้ร่วมงาน ศิริณี พูนไชยศรี สังกัด สำนักวิจัยพัฒนาการอารักพืช
ลักขณา บำรุงศรี สังกัด สำนักวิจัยพัฒนาการอารักพืช
ยุวรินทร์ บุญทบ สังกัด สำนักวิจัยพัฒนาการอารักพืช
ณัฐวัฒน์ แย้มยิ้ม สังกัด สำนักวิจัยพัฒนาการอารักพืช
สิทธิศิโรดม แก้วสวัสดิ์ สังกัด สำนักวิจัยพัฒนาการอารักพืช




5. บทคัดย่อ
การศึกษาอนุกรมวิธานของเพลี้ยแป้งสกุล Dysmicoccus ดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2548ถึงเดือนกันยายน 2550 เพื่อทราบชนิด พืชอาศัย เขตการแพร่กระจาย และแมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้งสกุล Dysmicoccus ที่มีอยู่ในประเทศไทย โดยเก็บรวบรวมตัวอย่างเพลี้ยแป้ง จากแหล่งปลูกพืชต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย นำตัวอย่างที่รวบรวมได้ไปทำสไลด์ถาวรและตรวจจำแนกชนิดตามหลักอนุกรมวิธาน ณ ห้องปฏิบัติการกลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัย พัฒนาการอารักขาพืช จากการตรวจจำแนกชนิดพบเพลี้ยแป้งสกุล Dysmicoccus จำนวน 2 ชนิด คือ Dysmicoccus brevipes (*****erell) และ Dysmicoccus neobrevipes Beardsley นอกจากนี้ยังพบแมลงศัตรูธรรมชาติ 2 ชนิด คือ ด้วงเต่า Crytolaemus montrouzieri Mulsant (Coleoptera :Coccinellidae) เป็นแมลงห้ำของ D. brevipes และหนอนผีเสื้อ Spalgis epius epius Westwood(Lepidoptera : Lycaenidae) เป็นแมลงห้ำของ D. neobrevipes



6. คำนำ
เพลี้ยแป้ง (mealybug) เป็นแมลงปากดูด จัดอยู่ในวงศ์ Pseudococcidae อันดับHomoptera แต่นักอนุกรมวิธานบางกลุ่มได้จัดอยู่ในอันดับ Hemiptera แมลงวงศ์นี้มีลักษณะพิเศษ คือ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเพศเมียสามารถผลิตไขแป้ง (mealy wax) สีขาวปกคลุมลำตัวไว้ และสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบไม่ใช้เพศ (parthenogenesis) และแบบใช้เพศ อีกทั้งมีมดบางชนิดอาศัยร่วมอยู่ด้วยและเป็นตัวช่วยแพร่กระจายเพลี้ยแป้งจากส่วนหนึ่งของพืชไปยังอีกส่วนหนึ่ง หรือจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง (ชำนาญ 2541) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ของมดกับเพลี้ยแป้ง พบมดในไร่สับปะรดที่สามารถจำแนกชนิดได้ 6 ชนิดคือ Monomorium sp., Pheidole sp., Solenopsis sp., Tetramorium sp., Paratrechina sp.  และ Odontoponera sp. โดย Pheidole sp. (big-headed ant) จะคาบเพลี้ยแป้งวัยที่ 1 วิ่งไปมาตามใบสับปะรด ลงไปในรูและนำเพลี้ยแป้งไปวางไว้ที่รากสับปะรด เพลี้ยแป้งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากสับปะรด จนเจริญเติบโตและต่อมาเคลื่อนย้ายไปอยู่ตรงกาบใบที่โคนสับปะรด เพลี้ยแป้งบางชนิดมีพืชอาศัยมากชนิดและสามารถทำลายส่วนต่างๆของพืช ทำให้บริเวณที่ถูกทำลายมีลักษณะผิดปกติ เช่นใบเป็นจุดสีเหลืองและบางครั้งมีลักษณะย่น ผลบิดเบี้ยวและร่วง ถ้าพืชถูกทำลายรุนแรงจะทำให้ต้นเหี่ยวชะงักการเจริญเติบโตและบางครั้งทำให้ต้นตายได้ นอกจากนี้เพลี้ยแป้งยังขับถ่ายของเหลวมีลักษณะเป็นน้ำเหนียวๆ เรียกว่ามูลน้ำหวาน (honeydew) ซึ่งเป็นอาหารของราดำ ทำให้ราดำเจริญเติบ โตได้อย่างรวดเร็วปกคลุมใบและผล ใบจึงไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้อย่างเต็มที่ สำหรับผลจะสกปรกเนื่องจากมูลน้ำหวานและราดำ ในกรณีผลสกปรกนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อไม้ผลนานาชนิด เพราะจะไม่เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ


เพลี้ยแป้งสกุล Dysmicoccus เป็นเพลี้ยแป้งที่มีความสำคัญสกุลหนึ่งในวงศ์Pseudococcidaeสามารถทำลายพืชได้หลายชนิดทั้งพืชสวน และพืชไร่ McKenzie (1967) รายงานว่าในเขตทวีปอเมริกาเหนือมีเพลี้ยแป้งสกุล Dysmicoccus ประมาณ 30 ชนิด โดยพบที่รัฐแคลิฟอร์เนีย 10 ชนิด และ Williams and Watson (1988) ได้รวบรวมเพลี้ยแป้งในแถบแปซิฟิค พบเพลี้ยแป้งสกุลนี้ 12 ชนิด ต่อมา Ben-Dov (1994) ได้รวบรวมรายชื่อและรายละเอียดของเพลี้ยแป้งที่มีรายงานจากทั่วโลก พบว่ามีเพลี้ยแป้งสกุล Dysmicoccus จำนวน 106 ชนิด สำหรับในประเทศไทย บุปผา (2538) พบเพลี้ยแป้ง Dysmicoccus neobrevipes Beardsley บนผลกล้วย ในปี พ.ศ.2546 ชลิดาและคณะ รายงานว่าพบ  เพลี้ยแป้งชนิดดังกล่าวเป็นศัตรูมังคุด อย่างไรก็ดีข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของเพลี้ยแป้งสกุลนี้มีน้อยมากดังนั้นการศึกษาอนุกรมวิธานของเพลี้ยแป้งสกุล Dysmicoccus จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อทราบชนิด และชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง พืชอาหาร เขตแพร่กระจายของเพลี้ยแป้งสกุล Dysmicoccus แต่ละชนิดที่พบในประเทศไทย สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งดังกล่าว



7. อุปกรณ์และวิธีการ

อุปกรณ์
1. ตัวอย่างเพลี้ยแป้ง Dysmicoccus ที่รวบรวมได้
2. อุปกรณ์เก็บตัวอย่างเพลี้ยแป้ง ได้แก่ alcohol ขวดดองตัวอย่างแมลง พู่กัน กล่องพลาสติกและถุงพลาสติก
3. อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำสไลด์ถาวร ได้แก่ สารเคมีต่างๆ เช่น potassium hydroxide, alcohol, hydrochloric acid, glacial acetic acid, xylene, carbolic acid, acid fuchsin, N-butyl alcohol, clove oil และ canada balsam บีคเกอร์ขนาด 500 มิลลิเมตร เตาไฟฟ้า (hot plate) ตู้อบ แผ่นสไลด์แก้วและแผ่นแก้วปิดสไลด์
4. กล้องจุลทรรศน์ชนิด stereo microscope และ compound microscope ที่ติด camera lucida เป็นอุปกรณ์เสริมช่วยในการวาดภาพเพลี้ยแป้ง อุปกรณ์กล้องถ่ายภาพ
5. อุปกรณ์วาดภาพ ได้แก่ ปากกา Rotring และกระดาษไขเขียนแบบ
6. อุปกรณ์คอมพิวเตอร์
7. เอกสารประกอบการจำแนกชนิดเพลี้ยแป้ง


วิธีการ
1. สำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่างเพลี้ยแป้งสกุล Dysmicoccus จากแหล่งปลูกพืชต่างๆ ทั่ว
ทุกภาคของประเทศใช้พู่กันเขี่ยตัวอย่างเพลี้ยแป้งส่วนหนึ่งใส่ขวดดองตัวอย่างแมลงที่บรรจุ alcohol 70% อยู่ภายในขวด กรณีที่เพลี้ยแป้งกำลังดูดน้ำเลี้ยงบนพืช ปากจะอยู่ที่เนื้อเยื่อพืชจึงได้ตัดตัวอย่างพืชที่มีเพลี้ยแป้งเกาะอยู่ แช่ใน alcohol 70% เช่นเดียวกัน บันทึกสถานที่ วัน เดือน ปีที่เก็บตัวอย่าง ชนิดของพืชและส่วนของพืชที่ถูกทำลายรวมทั้งชื่อผู้เก็บตัวอยา่ ง บนกระดาษไขเขียนแบบใส่ลงในขวดดองตัวอย่างแมลงแต่ละขวด เก็บตัวอย่างเพลี้ยแป้งอีกส่วนหนึ่งรวมทั้งพืชอาหารใส่ในกล่องพลาสติกใสที่ฝากล่องบุด้วยลวดตาข่ายตาถี่ พร้อมกับบันทึกรายละเอียดปิดไว้ที่กล่องพลาสติกเช่นเดียวกับที่ใส่ลงในขวดดอง
ตัวอย่างเพลี้ยแป้ง  ลักษณะอาการของพืชที่ถูกทำลายในสภาพธรรมชาติ จากนั้นนำตัวอย่างเพลี้ยแป้งที่รวบรวมได้กลับไปยังห้องปฏิบัติการกลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง กลุ่มกีฏและสัตววิทยา เพื่อ
จำแนกชนิด และศึกษาแมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้งแต่ละชนิด


2. นำตัวอย่างเพลี้ยแป้งจากข้อ 1. มาตรวจลักษณะภายนอกของเพลี้ยแป้งและแมลงศัตรู
ธรรมชาติภายใต้กล้องจุลทรรศน์ชนิด stereo microscope แล้วบันทึกรายละเอียดต่างๆ เช่น รูปร่าง ลักษณะ ขนาด และสี เป็นต้น


3. นำตัวอย่างเพลี้ยแป้งเพศเมียจากขวดดองตัวอย่างแมลง (ข้อ 1) มาทำสไลด์ถาวร โดยดัด
แปลงวิธีการของ Williams and Watson (1988) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

3.1 ใช้เข็มเจาะที่ตรงกลางส่วนอกด้านบนของเพลี้ยแป้ง แล้วนำไปใส่ในหลอดทดลองที่
บรรจุด้วยสารละลาย potassium hydroxide 10% จากนั้นนำหลอดทดลองดังกล่าวใส่ในบีคเกอร์ขนาด 500 มิลลิลิตร ที่บรรจุน้ำและตั้งอยู่บนเตาไฟฟ้า ต้มประมาณ 15 นาที นับตั้งแต่น้ำในบีคเกอร์เดือด ระวังไม่ให้สารละลาย potassium hydroxide ที่อยู่ในหลอดทดลองเดือด เพราะจะทำให้ตัวอย่างเสียหาย


3.2 นำตัวอย่างเพลี้ยแป้งที่ต้มแล้วมาล้างในน้ำกลั่น กดเบาๆ บนลำตัวด้วยเข็มดัดปลายให้
โค้ง เพื่อทำให้ไข่หรือตัวอ่อนและของเหลวที่อยู่ในลำตัวหลุดออกมาทางรอยที่เจาะไว้ แต่ถ้ายังมีก้อนไขมันตกค้างอยู่ในลำตัว ต้องกำจัดออกไปโดยนำไปแช่ใน alcohol 95% นานประมาณ 2 – 3 นาที แล้วย้ายไป  แช่ใน carbol xylene ประมาณ 10 นาที จนกระทั่งตัวอย่างเพลี้ยแป้งใสดีแล้วจึงนำไปแช่ใน alcohol 95% อีกครั้ง เพื่อล้าง carbol xylene จากนั้นย้ายตัวอย่างเพลี้ยแป้งไปแช่ใน acid alcohol (สารละลายของ glacial acetic acid กับ alcohol 50% อัตราส่วน 1 : 4) ประมาณ 2 – 3 นาที


3.3 นำตัวอย่างเพลี้ยแป้งแช่ในน้ำย้อมสี (สารละลายของ acid fuchsin 0.5 กรัม
hydrochloric acid 10% 25 มิลลิลิตร และน้ำกลั่น 300 มิลลิลิตร) นาน 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นย้ายไปแช่ใน alcohol 95% ประมาณ 2 – 3 นาที เพื่อให้สีที่เป็นส่วนเกินหลุดออกไป


3.4 ย้ายตัวอย่างเพลี้ยแป้งไปแช่ในสารละลายของ N-butyl alcohol กับ alcohol 95%
อัตราส่วน 1:1 นาน 10 นาที จากนั้นย้ายไปแช่ใน N-butyl alcohol อีก 10 นาที และย้ายไปแช่ใน colve oil ประมาณ 20 นาที


3.5 นำตัวอย่างเพลี้ยแป้งขึ้นจาก clove oil วางลงบนแผ่นสไลด์แก้ว ใช้กระดาษกรอง
ซับ clove oil ส่วนเกินออกไป หยด canada balsam 1 หยดบนตัวอย่างเพลี้ยแป้ง ปิดด้วยแผ่นแก้วปิดสไลด์ แล้วนำไปอบในตู้อบที่อุณหภูมิ 50OC ประมาณ 1 เดือน จากนั้นจึงนำมาตรวจจำแนกชนิดต่อไป


4. ตรวจจำแนกชนิดของเพลี้ยแป้ง โดยนำตัวอย่างเพลี้ยแป้งบนแผ่นสไลด์แก้วมาตรวจจำแนก
ชนิด ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ชนิด compound microscope ที่มีกำลังขยายสูง 600 เท่า ตรวจดูลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกชนิดได้แก่ หนวด (antennae) ขน (setae) รู (pores) ท่อ (tubular ducts) กลุ่มอวัยวะที่ผลิตเส้นแป้งด้านข้างลำตัว (cerarii) ช่องเปิดที่มีลักษณะคล้ายรอยแตกตามขวางของลำตัว(ostioles) และวงแหวนที่ล้อมรอบช่องเปิดของอวัยวะขับถ่าย (anal ring)


5. วาดรูปแสดงลักษณะทางอนุกรมวิธานของเพลี้ยแป้งแต่ละชนิด โดยใช้ camera lucida ติดกับกล้องจุลทรรศน์ชนิด compound microscope โดยวาดรูปเพลี้ยแป้งทางด้านบน (dorsum) ครึ่งหนึ่งและด้านล่าง (venter) ครึ่งหนึ่งให้อยู่ในรูปเดียวกันบนกระดาษไขเขียนแบบ แล้วจัดทำแนวทางวินิจฉัย(key) ชนิดของเพลี้ยแป้งสกุล Dysmicoccus ที่รวบรวมได้ พร้อมภาพประกอบ


6. บันทึกชื่อชนิดของเพลี้ยแป้งในสกุล Dysmicoccus ที่สำรวจพบ พืชอาศัย เขตการแพร่
กระจาย และแมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้งแต่ละชนิด และจัดเก็บตัวอย่างเพลี้ยแป้งและแมลงศัตรูธรรมชาติที่ศึกษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แมลง


8. ระยะเวลา (เริ่มต้น – สิ้นสุด)
เวลา : เดือนตุลาคม 2548 - เดือนกันยายน 2550


9. สถานที่ดำเนินการ
สถานที่ :
1. แหล่งปลูกพืชต่าง ๆ ทุกภาคของประเทศ
2. ห้องปฏิบัติการกลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง กลุ่มกีฏและสัตววิทยา



10. ผลการทดลองและวิจารณ์
จากการเก็บรวบรวมตัวอย่างเพลี้ยแป้งจากแหล่งปลูกพืชต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ ระหว่าง
เดือนตุลาคม 2548 ถึงเดือนกันยายน 2550 พบแต่เพลี้ยแป้งเพศเมีย ในการตรวจจำแนกชนิดจึงใช้ลักษณะทางอนุกรมวิธานของเพลี้ยแป้งเพศเมีย ซึ่งมีรูปร่างลักษณะทั่วไป ดังภาพที่ 1 สำหรับเพลี้ยแป้งสกุล Dysmicoccus มีรูปร่างลักษณะทางอนุกรมวิธานที่สำคัญ ดังนี้
Genus Dysmicoccus Ferris, 1950
Dysmicoccus Ferris, 1950


รูปร่างลักษณะตัวเต็มวัยเพศเมียรูปร่างคล้ายรูปไข่ ค่อนข้างกลม มีจำนวนปล้องหนวด 8 ปล้อง ช่องเปิดที่มีลักษณะคล้ายรอยแตกตามขวางของลำตัว (ostioles) มีจำนวน 2 คู่ อยู่ทางส่วนหน้า (anterior) ของลำตัว 1 คู่ และส่วนหลัง (posterior) อีก 1 คู่ ขายาวเรียว ปลายเท้า (tarsus) มี 1 ปล้อง ส่วนใหญ่มีเล็บ (claw) 1 อัน และใกล้ฐานของเล็บมีคล้ายเส้นขน (seta like) จำนวน 2 เส้น เรียกว่า digitules ซึ่งบริเวณปลายเส้นมีลักษณะเป็นปม (knob) เล็บไม่มีปุ่มขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายฟัน (denticle) กลุ่มอวัยวะผลิตเส้นแป้งด้านข้างลำตัว (cerarii) มีจำนวน 6-17 คู่ ไม่มีคู่ที่ 2 ที่อยู่บนส่วนหัว (preocular cerarii) แต่ละอันประกอบด้วยรูเปิดรูปสามเหลี่ยม (trilocular pores) ขนปลายแหลมคล้ายรูปกรวย (conical setae) ขนาดใหญ่จำนวน 5-6 เส้น และมีขนเส้นเล็กๆบางๆ (auxiliary setae) จำนวน 2-3 เส้น แต่บางครั้งไม่พบขนเส้นเล็กๆบางๆที่คู่ที่อยู่บนปล้องท้องก่อนปล้องรองสุดท้าย (antepenultimate cerarii)โดยทั่วไปจะมีแผ่นแข็งที่มีลักษณะเป็นวง (circulus) แต่บางชนิดไม่มีแผ่นแข็งดังกล่าว ไม่มีท่อชนิดที่บริเวณรอบปากท่อเป็นขอบแข็ง (oral rim tubular duct) ขนที่อยู่ด้านบนของลำตัวมีหลายลักษณะสำหรับขนด้านล่างของลำตัวมีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาวคล้ายแส้ (flagellate setae) แต่อาจมีขนปลายแหลมคล้ายรูปกรวยปะปนอยู่ด้วย ด้านล่างของลำตัวที่ติ่งปลายปล้องท้องปล้องสุดท้าย (anal lobe)แต่ละอันอาจมีหรือไม่มีลักษณะเป็นแผ่นแข็ง (sclerotized area) ปรากฏอยู่ ไม่มีแถบแคบๆ บนติ่งที่ปลายปล้องท้องปล้องสุดท้าย (anal lobe bar) (Williams และ Watson,1988)

จากการตรวจจำแนกชนิดของเพลี้ยแป้งตามหลักอนุกรมวิธานพบเพลี้ยแป้งสกุล Dysmicoccus  จำนวน 2 ชนิด คือ Dysmicoccus brevipes (*****erell) และ Dysmicoccus neobrevipes Beardsley ซึ่งได้จัดทำแนวทางวินิจฉัย (key) และรายละเอียดของเพลี้ยแป้งทั้งสองชนิดนี้ ดังต่อไปนี้


แนวทางวินิจฉัยชนิดเพลี้ยแป้ง สกุล Dysmicoccus
- ด้านบนของลำตัว มีกลุ่มขนเส้นเรียวยาวคล้ายแส้ (Flagalerte setae) อยู่บริเวณด้านหน้า (anterior) เหนือวงแหวนที่ล้อมรอบช่องเปิดอวัยวะขับถ่าย (anal ring) กลุ่มอวัยวะผลิตเส้นแป้งด้านข้างลำตัวบนปล้องท้องปล้องสุดท้าย (anal lobe cerarii) ตั้งอยู่บนแผ่นแข็งรูปร่างค่อนข้างกลม และด้านล่าง (venter) ปรากฏแผ่นแข็งรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมบนติ่งปลายด้านบนของลำตัว มีขนเส้นสั้นๆ อยู่บริเวณด้านหน้าเหนือวงแหวนที่ล้อมรอบช่องเปิดอวัยวะขับถ่าย กลุ่มอวัยวะผลิตเส้นแป้งด้านข้างลำตัวบนปล้องท้องปล้องสุดท้าย ตั้งอยู่บนแผ่นแข็งรูปร่างยาวรี และด้านล่างปรากฏแผ่นแข็งลักษณะแคบยาวบนติ่งปลายปล้องท้องปล้องสุดท้ายรายละเอียดของเพลี้ยแป้งแต่ละชนิด


เพลี้ยแป้ง Dysmicoccus brevipes (*****erell)

ชื่อสามัญ เพลี้ยแป้งสับปะรด pineapple mealybug

รูปร่างลักษณะ  ลักษณะในธรรมชาติ ตัวเต็มวัยเพศเมีย รูปร่างรูปไข่ ค่อนข้างกลม ลำตัวยาวประมาณ 2.2-3.0 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 1.6-1.9 มิลลิเมตร ผนังลำตัวสีชมพูปกคลุมด้วยไขแป้ง (mealy wax) สีขาว ด้านข้างรอบลำตัวประกอบด้วยเส้นแป้ง (filament of wax) สั้นๆ เส้นแป้งที่อยู่ทางด้านท้ายของลำตัวยาวกว่าเส้นทางด้านข้าง


ลักษณะบนแผ่นสไลด์แก้ว ตัวเต็มวัยเพศเมีย รูปร่างรูปไข่ ค่อนข้างกลม ลำตัวยาว
ประมาณ 2.2-3.0 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 1.6-1.9 มิลลิเมตร มีจำนวนปล้องหนวด 8 ปล้อง ขายาวเรียวมีรูโปร่งใส (translucent pores) ที่ต้นขา (femur) และน่องขา (tibia) ของขาคู่หลัง (hind legs)


เล็บไม่มีปุ่มขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายฟัน กลุ่มอวัยวะผลิตเส้นแป้งด้านข้างลำตัวมีจำนวน 17 คู่ แต่ละอันประกอบด้วยรูเปิดรูปสามเหลี่ยมและขนปลายแหลมคล้ายรูปกรวยจำนวน 2-4 เส้น สำหรับคู่สุดท้าย (anal lobe cerarii) แต่ละอันจะมีขนดังกล่าวขนาดใหญ่จำนวน 2 เส้น ขนเส้นเล็กๆบางๆ อีก 6-7 เส้น และรูเปิดรูปสามเหลี่ยมจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่บนแผ่นแข็ง รูปร่างค่อนข้างกลม สำหรับด้านล่าง (ventral surface) ปรากฏแผ่นแข็งมีลักษณะรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมและมีขนค่อนข้างยาวอยู่ปลายสุดของติ่ง (apical setae) ช่องเปิดที่มีลักษณะคล้ายรอยแตกตามขวางของลำตัว มีจำนวน 2 คู่ อยู่ทางส่วนหน้าของลำตัว 1 คู่ และส่วนหลังอีก 1 คู่ แผ่นแข็งที่มีลักษณะเป็นวงเจริญดี


ผนังลำตัวด้านบน มีขนสั้นแข็ง ปลายแหลม และมีขนเส้นเล็กๆบางๆปะปนอยู่ด้วย สำหรับกลุ่ม
ขนที่อยู่บนปล้องท้องปล้องสุดท้าย บริเวณด้านหน้า (anterior) เหนือวงแหวนที่ล้อมรอบอวัยวะขับถ่ายมีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาวคล้ายแส้ (flagellate setae) ซึ่งมีความยาวมากกว่าขนบริเวณอื่น มีรูเปิดรูปสามเหลี่ยมเป็นจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วไป รูกลมเล็กๆ (discoidal pores) มี 2 ขนาดกระจายอยู่บนผนังลำตัว แต่ละรูบริเวณพื้นผิวหน้ามีลักษณะเป็นร่างแห (reticulated surface) พวกที่มีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดบนแนวกลาง (median area) ของส่วนท้อง โดยเฉพาะบริเวณแนวกลางของปล้องท้องที่ 5-8 ส่วนที่ขนาดเล็ก มีจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วไป วงแหวนที่ล้อมรอบช่องเปิดของอวัยวะขับถ่าย (anal ring) ประกอบด้วยขนจำนวน 6 เส้น


ผนังลำตัวด้านล่าง มีขนสั้นแต่บางกว่าขนบนผนังลำตัวด้านบน รูเปิดรูปวงกลม (multilocular
disc pores) จะอยู่เรียงเป็นแถว 1 แถวที่ขอบด้านหลัง ( posterior) ของปล้องท้องปล้องที่ 6-7 และพบจำนวนน้อยที่บริเวณขอบด้านหน้าของปล้องท้องปล้องที่ 7 และจากด้านหลังของปล้องนี้ไปจนถึงช่องเปิดของอวัยวะสืบพันธุ์ (vulva) รูเปิดรูปสามเหลี่ยมมีจำนวนน้อยกว่าที่พบบนผนังลำตัวด้านบน รูกลมเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป และมีรูกลมเล็กๆ จำนวน 1-4 รู อยู่บริเวณด้านหลังของขอบรอบตา ท่อชนิดที่ปากท่อเป็นแผ่นแข็ง (oral collar tubular ducts) มี 2 ขนาด พวกที่มีขนาดใหญ่ ปากท่อกว้างกว่ารูเปิดรูปสามเหลี่ยมเล็กน้อย พบอยู่เดี่ยวๆที่ขอบปล้องท้องปล้องที่ 5-7 สำหรับพวกที่มีขนาดเล็กปากท่อแคบกว่ารูเปิดรูปสามเหลี่ยม มักจะพบกระจายอยู่ที่ปล้องท้องที่ 5-6 และที่ขอบด้านข้างของปล้องท้องปล้องที่ 7ไม่มีแถบแคบๆ บนติ่งที่ปลายปล้องท้องปล้องสุดท้าย ขนที่ปลายส่วนท้องซึ่งอยู่ใกล้วงแหวนที่ล้อมรอบช่องเปิดของอวัยวะขับถ่าย (cisanal setae) มีขนาดสั้นกว่าขนที่อยู่บนวงแหวนที่ล้อมรอบช่องเปิดของอวัยวะขับถ่าย
ความสำคัญและพืชอาศัย



เพลี้ยแป้ง D. brevipes
เป็นแมลงศัตรูสำคัญของสับปะรด พบดูดกินน้ำเลี้ยงที่ราก กาบใบ และผลบริเวณโคนสับปะรด อีกทั้งเป็นพาหะถ่ายทอดเชื้อไวรัสสาเหตุของโรคเหี่ยวสับปะรด (pineapple wiltdisease) อีกด้วย Zimmerman (1948) รายงานว่าเพลี้ยแป้งชนิดนี้เป็นศัตรูสำคัญของสับปะรดในมลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา  เขตการแพร่กระจาย ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ภาคตะวันตก จังหวัดเพชรบุรี ภาคใต้ จังหวัดชุมพร


ขื่อสามัญ เพลี้ยแป้งสับปะรดสีเทา grey pineapple mealybug

รูปร่างลักษณะ  ลักษณะในธรรมชาติ ตัวเต็มวัยเพศเมีย รูปร่างค่อนข้างกลม ลำตัวยาวประมาณ 3.3-3.5 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 2.7-3.0 มิลลิเมตร ผนังลำตัวสีเทาปกคลุมด้วยไขแป้งสีขาว ด้านข้างรอบลำตัวมีเส้นแป้งสั้นๆ เส้นแป้งด้านท้ายของลำตัวยาวกว่าด้านข้างเล็กน้อยลักษณะบนแผ่นสไลด์แก้ว (ภาพที่ 3) ตัวเต็มวัยเพศเมีย รูปร่างค่อนข้างกลม ลำตัวยาวประมาณ 3.3-3.5 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 2.7-3.0 มิลลิเมตร มีจำนวนปล้องหนวด 8 ปล้อง ขายาวเรียว มีรูโปร่งแสงที่ต้นขาและน่องขาของขาคู่หลัง เล็บไม่มีปุ่มขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายฟัน กลุ่มอวัยวะผลิตเส้นแป้งด้านข้างลำตัวมีจำนวน 17 คู่ แต่ละอันประกอบด้วยรูเปิดรูปสามเหลี่ยมและขนปลายแหลมคล้ายรูปกรวย คู่ที่อยู่บริเวณส่วนหัวมีขนดังกล่าวจำนวน 3-6 เส้น ที่สว่ นอกมีจำนวน 2-3 เส้น ที่ส่วนท้องมีจำนวน 4-7 เส้น แต่คู่รองสุดท้าย (penultimate cerarii) และคู่สุดท้าย แต่ละคู่จะมีขนชนิดนี้ขนาดใหญ่จำนวน 2 เส้น และมีขนเส้นเล็กๆบางๆจำนวน 4-6 เส้น สำหรับคู่สุดท้ายอยู่บนแผ่นแข็งรูปร่างยาวรี
สำหรับด้านล่างปรากฏมีแผ่นแข็งลักษณะแคบยาวและมีขนค่อนข้างยาวอยู่ปลายสุดของติ่ง ช่องเปิดที่มีลักษณะคล้ายรอยแตกตามขวางของลำตัว มีจำนวน 2 คู่ อยู่ทางส่วนหน้าของลำตัว 1 คู่ และส่วนหลังอีก1 คู่ แผ่นแข็งที่มีลักษณะเป็นวงเจริญดี ผนังลำตัวด้านบน มีขนสั้นปลายแหลม รวมทั้งขนที่อยู่บนปล้องท้องปล้องสุดท้ายบริเวณด้านหน้าเหนือวงแหวนที่ล้อมรอบอวัยวะขับถ่าย มีรูเปิดรูปสามเหลี่ยมเป็นจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วไป รูกลมเล็กๆ มีขนาดต่างๆกันกระจายอยู่บนผนังลำตัว แต่ละรูมีขอบหนาและผิวหน้ามีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ (granular) พวกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่ารูเปิดรูปสามเหลี่ยม เห็นได้ชัดบนแนวกลางของส่วนท้อง โดยเฉพาะบริเวณแนวกลางของปล้องท้องปล้องท้ายๆ ส่วนที่เหลือมีเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับรูเปิดรูปสามเหลี่ยม หรือขนาดเล็กกว่า วงแหวนที่ล้อมรอบช่องเปิดของอวัยวะขับถ่ายประกอบด้วยขนจำนวน 6 เส้น


ผนังลำตัวด้านล่าง มีขนสั้นๆ ยกเว้นที่ส่วนหัวและปล้องท้องปล้องท้ายๆ ซึ่งมีขนาดยาวกว่า รูเปิดรูปวงกลมเรียงเป็นแถว 1 แถวที่ขอบด้านหลังของปล้องท้องปล้องที่ 7 และพบจำนวนน้อยที่บริเวณขอบด้านหน้าของปล้องท้องปล้องที่ 7 และจากด้านหลังของปล้องนี้ไปจนถึงช่องเปิดของอวัยวะสืบพันธุ์ (vulva) โดยทั้งหมดนี้พบอยู่บริเวณกึ่งกลางหรือเกือบกึ่งกลางของปล้อง รูเปิดรูปสามเหลี่ยมและรูกลมเล็กๆกระจายอยู่ทั่วไป มีรูกลมเล็กๆ จำนวน 2-3 รูอยู่บริเวณด้านหลังของขอบรอบตา ท่อชนิดที่ปากท่อเป็นแผ่นแข็งมี 2 ขนาด พวกที่มีขนาดเล็กจะมีความยาวของท่อเท่ากับรูเปิดรูปวงกลม และปากท่อกว้างเท่ากับรูเปิดรูปสามเหลี่ยม โดยเรียงกันเป็นแถวจำนวน 1 แถวหรือ 2 แถวตามขวางโดยผ่านกลางปล้อง ท้องปล้องที่ 5-7 นอกจากนี้ยังพบที่ปล้องท้องปล้องแรกๆ แต่ไม่มากนักและพบบนบริเวณกลางส่วนอกบางครั้งพบระหว่างฐานของหนวดอีกด้วย สำหรับพวกที่มีขนาดกว้างจะมีความยาวของท่อสั้นกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของรูเปิดรูปวงกลม มักพบเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ขอบด้านข้างของปล้องท้องปล้องที่ 4-7 ไม่มีแถบแคบๆ บนติ่งที่ปลายปล้องท้องปล้องสุดท้าย ขนที่ปลายส่วนท้องซึ่งอยู่ใกล้วงแหวนที่ล้อม รอบช่องเปิดของอวัยวะขับถ่าย มีขนาดสั้นกว่าขนที่อยู่บนวงแหวนที่ล้อมรอบช่องเปิดของอวัยวะขับถ่าย

ความสำคัญและพืชอาศัยเพลี้ยแป้ง D. neobrevipes มีพืชอาศัยมากชนิดรวมทั้งสับปะรด พบดูดน้ำเลี้ยงบริเวณส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ดูดน้ำเลี้ยงบนผลมังคุดที่ขั้วผลบริเวณกลีบเลี้ยงและก้านผล บนผลมะม่วง น้อยหน่า กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง ขนุน ฝรั่ง ทับทิม มะขาม บนใบและผลชำมะเลียง สับปะรด บนใบและกิ่งของลีลาวดี จามจุรี พะยอม อากาเว่ กร่าง สัก แคแดง ปีบ บนใบลำไย กุหลาบ เทียนญี่ปุ่นซ่อนกลิ่นฝรั่ง หมากเหลือง และพบบนดอกทานตะวันอีกด้วย

เขตการแพร่กระจายภาคกลาง จังหวัดกรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี  ภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ เชียงใหม่
ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี ระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา
ภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี
ภาคใต้ จังหวัดชุมพร


การสำรวจและรวบรวมแมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้ง สกุล Dysmicoccus พบแมลง
ศัตรูธรรมชาติ 2 ชนิด ได้แก่


1. ด้วงเต่า Cryptolaemus montrouzieri Mulsant (Coleoptera : Coccinellidae) พบทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัยเป็นแมลงห้ำของเพลี้ยแป้ง D. brevipes ตัวเต็มวัยเป็นด้วงที่มีลำตัวยาวประมาณ 4.2-4.6 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 2.8-3.0มิลลิเมตร มีสีดำ หัวและอกปล้องแรกมีสีส้ม ปีกคู่หน้าสีดำปลายปีกมีสีส้ม ตัวหนอนมีขนาดเล็ก ลำตัวปกคลุมด้วยไขแป้ง มีลักษณะเป็นเส้นยาวคล้ายเส้นแป้งของเพลี้ยแป้ง Mani et al. (1995) รายงานว่าพบด้วงเต่าชนิดนี้ที่ประเทศอินเดีย หนอนด้วงเต่า 1 ตัวสามารถกินตัวอ่อนของเพลี้ยแป้ง Rastrococcus
iceryoides (Green) ได้ 498 หรือกินไขได้ 355 ฟอง นอกจากนี้สมหมาย (2545) รายงานว่าด้วงเต่า C.maontrouzieri เป็นแมลงห้ำของเพลี้ยแป้ง Nipaecoccus viridis (Newstead), D. brevipes, Maconellicoccus hirsutus (Green) และ Rastrococcus iceryoides (Green)


2. หนอนผีเสื้อ Spalgis epius epius Westwood (Lepidoptera : Lycaenidae) พบตัวหนอนเป็นแมลงห้ำทำลายเพลี้ยแป้ง D. neobrevipes ตัวหนอนมีขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 5.0-10.0 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 3.0-3.5 มิลลิเมตร ลำตัวประกอบด้วยขนเล็กๆ ละเอียดและปกคลุมด้วยสารสีขาวคล้ายแป้ง ทำให้ดูคล้ายเพลี้ยแป้ง ดักแด้มีสีดำ ลักษณะคล้ายหอยตัวเล็กๆ ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางวันขนาดเล็ก ปีกด้านบนสี น้ำตาลแกมเทา ด้านล่างสีขาวอมเทา



11. สรุปผลการทดลอง
การศึกษาอนุกรมวิธานของเพลี้ยแป้งสกุล Dysmicoccus ระหว่างเดือนตุลาคม 2548 ถึงเดือนกันยายน 2550 พบเพลี้ยแป้งสกุลนี้จำนวน 2 ชนิด คือ Dysmicoccus brevipes (*****erell) และ Dysmicoccus neobrevipes Beardsley ซึ่งเพลี้ยแป้งทั้งสองชนิดสามารถจำแนกชนิดได้โดยดูลักษณะทางอนุกรมวิธานที่แตกต่างระหว่างชนิด ได้แก่ ลักษณะ ความยาวและตำแหน่งของเส้นขนบริเวณด้านหนา้ วงแหวนที่ล้อมรอบช่องเปิดอวัยวะขับถ่าย และแผ่นแข็งที่ปรากฏอยู่ด้านบนและด้านล่างของปล้องท้องปล้องสุดท้าย


เพลี้ยแป้ง D. brevipes เป็นศัตรูสำคัญของสับปะรดพบบริเวณรากและโคนกาบใบ มีเขตการ
แพร่กระจายทางภาคตะวันออก ภาคตะวันตกและภาคใต้ โดยพบในเขตจังหวัดชลบุรี เพชรบุรี และชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งปลูกสับปะรด สำหรับ D. neobrevipes มีพืชอาศัยมากชนิดรวมทั้งสับปะรดด้วย พบดูดน้ำเลี้ยงบริเวณกิ่ง ใบ ดอก ผล มีเขตการแพร่กระจายทุกภาคของประเทศ นอกจากนี้พบแมลงศัตรูธรรมชาติจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ด้วงเต่าในวงศ์ Coccinellidae จำนวน 1 ชนิด คือ Crytolaemus montrouzieri Mulsant เป็นแมลงห้ำของเพลี้ยแป้ง D. brevipes และหนอนผีเสื้อ ในวงศ์ Lycaenidae จำนวน 1 ชนิด คือ Spalgis epius epius Westwood เป็นแมลงห้ำของ D. neobrevipes เนื่องจากแมลงห้ำทั้งสองชนิดมีขนาดเล็กและอาศัยปะปนอยู่ในกลุ่มของเพลี้ยแป้ง อีกทั้งตัวหนอนมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับเพลี้ยแป้ง ดังนั้นในการตัดสินใจปอ้ งกันกำจัดเพลี้ยแป้ง จำเป็นต้องสังเกตกลุ่มของเพลี้ยแป้งเหล่านั้นว่ามีด้วงเต่าและหนอนผีเสื้อดังกล่าวอาศัยปะปนอยู่ด้วยหรือไม่ ถ้ามีควรเลือกสารป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งที่มีผลกระทบน้อยที่สุดต่อแมลงห้ำ หรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์แมลงห้ำให้คงอยู่เพื่อสร้างความสมดุลในธรรมชาติต่อไป


12. การนำไปใช้ประโยชน์ : ให้ระบุว่าผลงานที่สิ้นสุดได้นำไปใช้ประโยชน์ พัฒนาต่อหรือถ่าย
ทอดได้ในประเด็นอะไรบ้าง (ระบุเป็นข้อๆ)


12.1. เป็นข้อมูลพื้นฐาน การศึกษาอนุกรมวิธานของเพลี้ยแป้งสกุล Dysmicoccus เป็นข้อมูลสำคัญ ในการจำแนกชนิดเพลี้ยแป้ง สกุล Dysmicoccus ซึ่งบางชนิดเป็นพาหะถ่ายทอดโรคพืช เช่น เพลี้ยแป้งสับปะรด เป็นพาหะถ่ายทอดโรคเหี่ยวสับปะรด


12.2. การป้องกันกำจัด สามารถนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางการป้องกัน
กำจัดเพลี้ยแป้งแต่ละชนิดอย่างเหมาะสม ตลอดจนการศึกษาวิจัยด้านอื่น เช่น ชีววิทยาและนิเวศวิทยา


12.3. เป็นฐานข้อมูล ได้ข้อมูลสำหรับจัดทำฐานข้อมูลแมลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการส่งออก และนำเข้าผลผลิตเกษตร




13. เอกสารอ้างอิง
ชลิดา อุณหวุฒิ บุปผา เหล่าสินชัย ศิริณี พูนไชยศรี และสมหมาย ชื่นราม. 2546. การศึกษาอนุกรมวิธานของเพลี้ยแป้งศัตรูมังคุด, หน้า 723 – 743. ใน รายงานผลงานวิจัยเรื่องเต็มปี 2546. สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
ชำนาญ พิทักษ์. 2541. มดในไร่สับปะรด. น.ส.พ.กสิกร 71 (5) : 435 – 436.
บุปผา เหล่าสินชัย. 2538. การศึกษาอนุกรมวิธานของเพลี้ยแป้งศัตรูกล้วยและแมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้ง, หน้า 116 – 128. ใน รายงานผลการค้นคว้าและวิจัยปี 2538. กลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง, กองกีฏและสัตววิทยา, กรมวิชาการเกษตร.
สมหมาย ชื่นราม. 2545. ด้วงเต่าในประเทศไทย. กองกีฏและสัตววิทยา, กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ. 211 หน้า.



ที่มา  :  กรมวิชาการเกษตร









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-04-13 (2985 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©