-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 288 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ทุเรียน




หน้า: 1/13




ที่มา : http://www.paiboonrayong.com



                    ทุเรียน


ลักษณะทางธรรมชาติ     

- เป็นผลไม้ที่ได้รับสมญานามว่า “ราชาแห่งผลไม้” มิใช่เฉพาะในประเทศเท่านั้น แม้ต่างประเทศก็ยอมรับ อันเนื่องมาจากรสชาติและคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ต่างจากำผลไม้อื่นๆนั่นเอง จากสมญานามนี้ได้กลายมาเป็นเสน่ห์ที่ไม่เคยจืดจางลงเลย
- แผงขายผลไม้ของฝากเยี่ยมคนป่วยหน้าวชิรพยาบาล กทม.วันดีคืนดีจะมีทุเรียนใส่สาแหรกแขวนโชว์หน้าร้านพร้อมกับป้ายบอกราคา 1,500-2,000 บาท กำกับ ที่น่าสงสัยมากก็คือ สนนราคาแพงระดับนี้ถ้าไม่มีคนซื้อ ร้านค้าคงไม่นำมาขายแน่และต้องมั่นใจว่าขายได้จึงตั้งราคาจนแพงลิบลิ่ว กับสงสัยอยู่นิดๆว่าช่วงเวลานั้นไม่ใช่ฤดูกาลทุเรียนแล้วเขาเอามาจากไหน คงไม่ใช่นำเข้าจากต่างประเทศแน่ และ ทุเรียนก้านยาว. หมอนทอง. ลวง. กบ. ชะนี. จากหลายสวนย่านนนทบุรี  ราคาหน้าสวนผลละ 1,200-1,500 บาท ผลผลิตทุกปีจะมีขาประจำจองล่วงหน้า ทั้งนี้เพราะผู้ซื้อมั่นใจในคุณภาพนั่นเอง
      
                   
- เป็นไม้ผลยืนต้นทรงพุ่มกว้างสูงใหญ่อายุยืนนับร้อยปี ปลูกได้ทุกภาคของประเทศ ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีในเขตภาคกลางได้แก่ กทม. นนทบุรี นครนายก.....เขตภาคตะวันออกได้แก่ ปราจีนบุรี ระยอง ตราด จันทบุรี....เขตภาคใต้ได้แก่ ชุมพร พังงา นครศรีธรรมราช สงขลา....ภาคเหนือได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก .....แม้แต่ศรีสระเกษ. กาญจนบุรี. ก็ปลูกทุเรียนได้ดี
                        
- ชอบเนื้อดินหนา ลึก 1.5-2 ม. ระดับน้ำไต้ดินลึก  ถ้าระดับน้ำใต้ดินตื้น เมื่อรากเจริญยาวลงไปถึงน้ำจะเกิดอาการใบไหม้แห้ง ต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะแตกใบชุดใหม่ ไม่นานใบชุดใหม่ก็จะไหม้แห้งอีก เป็นอย่างนี้จนกระทั่งยืนต้นตาย......แนวทางแก้ไข ให้ปลูกต้นตอด้วยการเพาะเมล็ด เสริมราก เมื่อต้นตอและต้นรากเสริมเจริญเติบโตดีแล้วจึงเปลี่ยนยอดเป็นพันธุ์ดี กรณีนี้รากแก้วจากต้นตอและรากแก้วจากต้นเสริมรากจะช่วยแก้ปัญหาระดับน้ำไต้ดินตื้นได้
                         
- ชอบน้ำสะอาด เมื่อคิดจะปลูกทุเรียนต้องแน่ใจว่ามีน้ำสะอาดสำหรับทุเรียนตลอดไป ทุเรียนนนทบุรีส่วนใหญ่ยืนต้นตายเพราะสาเหตุน้ำเสียจากโรงงานหรือชุมชน
                        
- ชอบแสงแดด 100 เปอร์เซ็นต์ การตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่งจนแสงแดดส่องได้ทั่วภายในทรงพุ่มสามารถช่วยกำจัดเชื้อราที่เกาะกินเปลือกลำต้นทำให้เปลือกสะอาด...ออกดอกติดผลที่ท้องกิ่งใหญ่และตามลำต้นเช่นเดียวกับ ชมพู่ ขนุน ลองกอง ลางสาด มะไฟ ตาดอกที่ใต้ผิวเปลือกสะอาดไม่มีเชื้อราจับจะทำให้ได้ดอกสมบูรณ์ แต่หากมีเชื้อราเกาะจับตามผิวเปลือก เชื้อราก็จะแย่งอาหารจากตาดอกทำให้ดอกไม่ออกหรือออกมาก็ไม่สมบูรณ์

- เป็นไม้ผลที่มีระบบรากหาอาหารตื้นโดยอยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 20-30 เซนติเมตร จึงต้องการช่วงแล้วเพื่อให้เกิดสภาพเครียดก่อนออกดอกไม่นานนัก ต้นทุเรียนที่สมบูรณ์มีใบยอดแก่ ผ่านช่วงแล้งเพียง 10-14 วัน และมีอากาศหนาวเย็นลงเล็กน้อย ทุเรียนจะออกดอก ระยะพัฒนาของดอก (ระยะไข่ปลา-ดอกบาน) ใช้เวลาประมาณ 55-60 วัน ระยะพัฒนาของผล (จากดอกบาน-เก็บเกี่ยว) จะแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ เช่น กระดุม 12-13 สัปดาห์ หรือประมาณ 90 วัน ชะนี 15-16 สัปดาห์ หรือประมาณ 110 วัน หมอนทอง 18-19 สัปดาห์ หรือประมาณ 130 วัน อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาผลผลิต 14-16 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % เก็บรักษาทุเรียนได้นานประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 14 องศาเซลเซียส  จะเกิดอาการ chilling injury ฤดูกาลของผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออก คือ เมษายน - มิถุนายน และภาคใต้ คือ มิถุนายน - สิงหาคม
                     
- ทุเรียนอยู่คู่กับทองหลาง (พืชตระกูลถั่ว)ได้ดีมาก ให้ปลูกทองหลางแซมแทรกระหว่างต้น ช่วงแรกเพื่อใช้ทองหลางเป็นพี่เลี้ยง เมื่อทุเรียนโตขึ้นก็ให้พิจารณาตัดกิ่งใบทองหลางออกบ้างเพื่อไม่ให้บังแสงแดดทุเรียน....รากทองหลางสามารถตรึงไนโตรเจนไปไว้ในตัวเองได้ เมื่อรากทองหลางอยู่กับรากทุเรียน ทำให้ทุเรียนได้ไนโตรเจนจากรากทองหลางไปด้วย
                                               
- ต้นที่อายุมาก เปลือกแก่ผุเปื่อยเป็นแหล่งแหล่งอาศัยของเชื้อรา ใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพหรือจุลินทรีย์หน่อกล้วยฉีดพ่นบ่อยๆ จะช่วยให้เปลือกเก่าหลุดร่อน แล้วเกิดเปลือกใหม่สมบูรณ์และดีขึ้นกว่าเดิม
                        
- เป็นผลไม้ที่มีจำนวนสายพันธุ์มากที่สุดชนิดหนึ่ง ปัจจุบันเท่าที่มีผู้รวบรวมไว้ได้หลายร้อยสายพันธุ์แต่สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมจริงๆ ได้แก่ หมอนทอง. ก้านยาว. ชะนี. รวง. กบ. กระดุม. ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีรสชาติดีถูกรสนิยมคนกิน ในขณะที่อีกหลายร้อยสายพันธุ์ก็ไม่ใช่ว่าจะรสชาติไม่ดี เพียงแต่ขาดหรืออ่อนประชาสัมพันธ์ไปบ้างเท่านั้น ใครอยากรู้ว่าทุเรียนพันธุ์อื่นๆอร่อยหรือไม่อร่อย อย่างไรก็น่าจะลองเลียบๆ เคียงๆ ถามคนปลูกเอาเอง
                        
- สายพันธุ์ยอดนิยมที่ออกดอกพร้อมกันแล้วกลายเป็นผลแก่ให้เก็บเกี่ยวได้ไม่พร้อมกัน ได้แก่ กระดุม-ชะนี-หมอนทอง ตามลำดับ....สายพันธุ์เดียวกันแต่ต่างพื้นที่กันก็ออกดอกติดผลแล้วแก่เก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดไม่พร้อมกัน โดยทุเรียนภาคตะวันออกแก่ก่อนแล้วตามด้วยทุเรียนภาคกลาง (กทม.นนทบุรี) ปิดท้ายด้วยทุเรียนภาคใต้....ทุเรียนพันธุ์เบา (ชะนี. กระดุม. ลวง.) ออกดอกต้น ธ.ค.เก็บเกี่ยวหลังดอกบาน 163-165 วัน...ทุเรียนพันธุ์กลาง (ก้านยาว. กบ.) ออกดอกพร้อมพันธุ์เบา เก็บเกี่ยวหลังดอกบาน 122-130 วัน....และทุเรียนพันธุ์หนัก (ทองย้อย. อีหนัก. กำปั่น. หมอนทอง.) ออกดอกพร้อมกันพันธุ์เบา เก็บเกี่ยวหลังดอกบาน 140-150 วัน
                        
- ให้ “น้ำ 100 ล.+ ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี.+ เอ็นเอเอ.30-50 ซีซี.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100ซีซี.” ฉีดพ่นให้เปียกโชกทั้งใต้ใบบนใบลงถึงพื้นช่วงเดือน พ.ค.- มิ.ย.ทุก 15-20 วัน จะช่วยทุเรียนออกดอกก่อนกำหนด 1-1 เดือนครึ่งได้ ทั้งนี้ต้นต้องผ่านการเตรียมต้นมาอย่างดีและมีความสมบูรณ์สูง
                                    
- ต้นอายุมากๆ ผลที่ติดต่ำๆกับผลที่ติดชิดโคนกิ่งจะมีคุณภาพดีกว่าผลที่ติดสูงๆหรือค่อนไปทางปลายกิ่ง (ลูกยอด) โดยผลที่อยู่ต่ำกับชิดโคนกิ่งจะได้รับอาหารที่ต้นลำเลียงส่งไปให้ก่อนที่เหลือจึงจะผ่านไปให้ผลที่อยู่ถัดไป ทำให้ผลที่อยู่สูงมากๆ หรือสูงสุดได้รับธาตุอาหารน้อย 

แนวทางแก้ไขสามารถทำได้  ดังนี้......
- ต้นสูงมาก 8-10 ม.ขึ้นไป เพิ่มปริมาณธาตุอาหารโดยให้ทางใบด้วยการติดตั้งสปริงเกอร์ในทรงพุ่มและเหนือยอดสูงสุดของต้น เมื่อให้  “น้ำ + ปุ๋ยทางใบ + ธาตุรอง/ธาตุเสริม + ฮอร์โมน” ผ่านสปริงเกอร์พอเปียกใบหรือให้จนโชกแล้วตกลงพื้นที่โคนต้นก็ถือเป็นการให้น้ำตามปกติได้ด้วย
                        
- ตัดต้น (ยอดประธาน)เพื่อควบคุมความสูง และตัดกิ่งประธานเพื่อควบคุมความกว้างของขนาดทรงพุ่มแล้วสร้างใบใหม่ก็จะได้ต้นที่มีขนาดและรูปทรงตามต้องการ การตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมขนาดทรงพุ่มตั้งแต่ทุเรียนมีอายุต้นยังน้อยจะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของต้น และคุณภาพของผลผลิตระยะยาว
                        
- เคยมีผู้เปรียบเทียบระหว่างต้นสูงมากๆ ตามธรรมชาติกับต้นควบคุมความสูงไว้ที่ 5 ม. ด้วยการตัดแต่งตั้งแต่แรก ทราบว่า....ต้นมีความสูงมากๆตามธรรมชาติ ผลที่ติด ณ ความสูง 1 ใน 3 ของความสูงต้นจากพื้นทุกผลจะเป็นผลที่มีคุณภาพดี ส่วนผลที่ติดในบริเวณความสูง 2 ใน 3 ของต้นที่เหลือจะไม่ดี หรือในต้นทุเรียนที่มีความสูงมากๆตามธรรมชาติจะให้ผลดีมีคุณภาพเพียง 1 ใน 3 ของผลทั้งต้นเท่านั้น....ต้นที่มีการควบคุมความสูง 3-4 เมตร ทรงพุ่มกว้าง 5-6 เมตร ให้ปริมาณผลดกกว่าและคุณภาพเหนือกว่าต้นสูงตามธรรมชาติ
                          
- ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรครากเน่าโคนเน่า (ไฟธอปเทอร่า) สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ คือ น้ำขังค้างโคนต้น ดินเหนียวจัดระบายน้ำไม่ดี อุ้มน้ำมากเนื่องจากฝนตกชุก สะสมยาฆ่าหญ้าและสารเคมีจำกัดโรคและแมลง
                        
- รากฝอยหาอาหารอยู่ที่หน้าดินตื้นๆ (รากลอย) จึงควรพูนโคนต้นด้วยอินทรีย์วัตถุหนาๆ กระจายเต็มพื้นที่ทรงพุ่มปีละ 1 ครั้ง หลังจากคลุมโคนต้นด้วยอินทรีย์วัตถุหนาๆจะพบว่ามีรากทุเรียนจำนวนมากเจริญแทรกอยู่ในอินทรีย์วัตถุนั้น เป็นรากที่สมบูรณ์ ใหญ่ อวบ ดีมาก
                           
- การบำรุงดอกตั้งแต่เริ่มแทงออกมาด้วย “แคลเซียม โบรอน + เอ็นเอเอ.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม” ด้วยการฉีดพ่นทางใบ 2-3 รอบจนกระทั่งดอกบาน วิธีนี้จะได้ประสิทธิภาพสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อก่อนเปิดตาดอกมีการบำรุงด้วยปุ๋ยทางดินสูตร 8-24-24 และ “ธาตุอาหารกลุ่มสร้างดอกบำรุงผล” อย่างเพียงพอจนปรากฏอาการอั้นตาดอกเต็มที่จริงๆ นอกจากนี้อุณหภูมิช่วงแทงช่อดอกก็เป็นปัจจัยประกอบที่สำคัญด้วย
                        
- การตัดแต่งช่อดอกมีส่วนสำคัญ เนื่องจากต้นสมบูรณ์เต็มที่มักออกดอกรุ่นละจำนวนมาก แต่ดอกกลายเป็นผลจริงๆได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงควรมีแผนการตัดแต่งช่อดอกออกทิ้งบ้าง 1-2 รอบ โดยตัดแต่งรอบแรกให้เหลือไว้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์ และตัดแต่งรอบสองก่อนการผสมเกสรอีก 25 เปอร์เซ็นต์ หลังจากตัดแต่งรอบสองไปแล้วจะเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์หรือน้อยกว่าของดอกที่เหลือจากการตัดแต่งรอบสอง ทั้งนี้การมีดอกน้อยๆจะทำให้ดอกที่เหลือได้รับธาตุอาหารเต็มที่ ส่งผลให้ได้ดอกที่สมบูรณ์
                       
- ดอกที่ออกมาจำนวนมากให้พิจารณาตัดทิ้งดอกอยู่ชิดกับลำต้น หรือดอกบนกิ่งมุมแคบกับลำต้นหรือดอกอยู่กับกิ่งเล็ก ทั้งนี้ควรตัดตั้งแต่ก่อนดอกบาน 2-3 สัปดาห์
                        
- ดอกบานและพร้อมผสมเกสรได้ในช่วงกลางคืน การช่วยผสมเกสรด้วยแมลงจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะแมลงประเภทช่วยผสมเกสรมักออกหากินเฉพาะตอนกลางวัน เช่น ผึ้ง. ผีเสื้อสวยงาม. ดังนั้นตอนค่ำหรือกลางคืนจะมีก็แต่ชันโรง้ท่านั้นที่อาจจะเข้ามาช่วยผสมเกสรได้ ส่งผลให้การผสมติดตามธรรมชาติจึงมีเพียงสายลมพัดเป็นหลักเท่านั้น นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทุเรียนติดเป็นผลน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนดอกที่ออกมาในแต่ละรุ่น
                        
- วิธีช่วยผสมเกสรทุเรียนด้วยมือทำได้โดยใช้พู่กันขนอ่อนป้ายเกสรตัวผู้จากดอกตัวผู้  แล้วป้ายใส่เกสรตัวเมียของต้นพันธุ์ที่ต้องการให้ติดผล ก่อนป้ายเกสรตัวผู้ใส่เกสรตัวเมียควรตัดเกสรตัวผู้ของดอกที่จะรับการป้ายเกสรออกก่อนเพื่อป้องกันการได้รับเกสรตัวผู้ซ้ำซ้อน การเก็บเกสรตัวผู้และการป้ายเกสรต้องทำในช่วงเวลา 19.30-20.30 น.(20.00 น.ดีที่สุด) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกสรทั้งสองพร้อมผสม.....ช่วงดอกระยะหัวกำไล (15 วันก่อนดอกบาน)ควรบำรุงดอกด้วย “เอ็นเอเอ.+ สาหร่ายทะเล + แคลเซียม โบรอน” 1 ครั้ง จะช่วยให้เกสรทั้งสองสมบูรณ์แข็งแรงผสมติดดีขึ้น
                         
- ดอกชะนีมีเปอร์เซ็นต์ติดเป็นผลค่อนข้างต่ำและช่วงเป็นผลอ่อนก็เจริญเติบโตช้า แก้ไขโดยตัดแต่งช่อดอกให้เหลือเฉพาะกลุ่มกลางกิ่ง และควรให้เหลือไว้มากว่าหมอนทอง
                        
- ผลที่เกิดจากการเกสรในดอกเดียวกันผสมกันเองมักมีลักษณะบิดเบี้ยว คดงอ เป็นพูหลอก และแคระแกร็น ส่วนผลที่เกิดจากการช่วยผสมด้วยมือมักเป็นผลที่สมบูรณ์และคุณภาพดี
                         
     
หมายเหตุ :                         
- เกสรตัวผู้มีก้านเกสรสั้นกว่าก้านเกสรตัวเมีย.....เกสรตัวผู้มีสีขาวแต่เกสรตัวเมียมีสีเหลือง เกสรทั้งสองมักพร้อมผสมในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน โดยเกสรตัวเมียจะมีความพร้อมก่อนเกสรตัวผู้พร้อมทีหลัง ซึ่งช่วงเวลาพร้อมก่อน-หลังนี้ห่างกันไม่เกินครึ่งชั่วโมง....การใช้เกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมียต่างสายพันธุ์ผสมกันจะได้ผลดีกว่าใช้เกสรตัวผู้ตัวเมียสายพันธุ์เดียวกันผสมกัน ยกเว้นหมอนทองที่ใช้เกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมียพันธุ์เดียวกันแต่ต่างต้น หรือในต้นเดียวกันแต่ต่างดอกกัน หรือในดอกเดียวกันผสมกันได้
   
- ดอกทุเรียนบานพร้อมรับการผสมช่วงกลางคืน (หัวค่ำ) สัตว์ธรรมชาติที่สามารถช่วยสมเกสรให้แก่ทุเรียนได้จึงมีเพียงค้างคาวกินน้ำหวานในดอกไม้เท่านั้น
                         
- ขั้นตอนพัฒนาการของดอกทุเรียน 9 ระยะ คือ  ระยะไข่ปลา.  ระยะตาปู.  ระยะเหยียดตีนหนู.  ระยะกระดุม.  ระยะมะเขือพวง.  ระยะหัวกำไล.  ระยะดอกขาว. ระยะดอกบาน.  และ  ระยะปิ่น (ไม้กลัดหรือหางแย้).
                        
- ช่วงดอกระยะมะเขือพวง ถึง หัวกำไล  ฉีดพ่น “เอ็นเอเอ. อัตรา 10-20 ซีซี./น้ำ 100 ล.” ให้เปียกโชกทั้งใต้ใบบนใบลงถึงพื้น สามารถช่วยลดการร่วงของดอกได้ดี
      
สายพันธุ์ทุเรียนต่อการผสมเกสรโดยช่วยผสมเกสรด้วยมือ หรือปล่อยให้ผสมเกสรเองตามธรรมชาติ คู่สายพันธุ์ที่ผสมกันได้ดี คือ
                         

เกสรตัวผู้หมอนทอง และ/หรือ เกสรตัวผู้ก้านยาว ผสมให้กับเกสรตัวเมียชะนี ผลที่เกิดมาเป็นชะนี
      
เกสรตัวผู้หมอนทอง และ/หรือ เกสรตัวผู้ชะนี ผสมให้กับเกสรตัวเมียก้านยาว ผลที่เกิดมาเป็นก้านยาว
      
เกสรตัวผู้หมอนทอง และ/หรือ เกสรตัวผู้ชะนี  ผสมให้กับเกสรตัวเมียอีหนัก ผลที่เกิดมาเป็นอีหนัก
      
เกสรตัวผู้หมอนทองต่างต้น  และ/หรือ  เกสรตัวผู้ชมพูศรี   ผสมให้กับเกสรตัวเมียหมอนทอง ผลที่เกิดมาเป็นหมอนทอง                        
     
เกสรตัวผู้ชะนี และ/หรือ เกสรตัวผู้ชมพูศรี ผสมให้กับเกสรตัวเมียกระดุม ผลที่เกิดมาเป็นกระดุม
      
เกสรตัวผู้หมอนทอง ผสมกับเกสรตัวเมียพวงมณี ผลที่เกิดมาเป็นนวลทองจันทร์
                         
คำว่า และ/หรือ หมายถึง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง ผลทุเรียนที่เกิดจากการผสมเกสรตัวเมียเป็นพันธุ์อะไร เมื่อโตขึ้นผลจะเป็นพันธุ์นั้น โดยไม่มีอาการกลายพันธุ์หรือเพี้ยนพันธุ์ นอกจากนี้การช่วยผสมเกสรยังทำให้ผลมีรูปทรงดีไม่บิดเบี้ยวเพราะเกิดจากเกสรที่แข็งแรงผสมกัน

------------------------------------------------------

วิธีผสมเกสรทุเรียน
ถ้าเกสรทุเรียนผสมกันเองตามธรรมชาติ ถามว่า จะเกิดอะไรขึ้น ?
1. ทุเรียนจะติดผลน้อย โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์ชะนีจะติดผลไม่เกิน 3% และพันธุ์ก้านยาวจะติดผลไม่เกิน 7%


2. ทุเรียนมักจะติดผลปลายกิ่งหรือกิ่งเล็ก ทำให้การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวลำบากต้องมีการโยกกิ่ง มักทำให้กิ่งฉีกหักได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีลมพายุ หรือฝนตกหนัก จากสาเหตุ 2 ประการนี้ หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การปลูกทุเรียนได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน


การแก้ไข

การนำเทคนิคการผสมเกสรทุเรียยมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการติดผลของทุเรียนจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้การติดผลของทุเรียนเกิดขึ้นได้ช้า เร็ว หรือมีขนาดของผลเท่า ๆ กัน และมีคุณภาพดีได้ด้วยนั้น เพียงใช้ขั้นตอนการปฏิบัติง่าย ๆ ดังนี้


การเตรียมอุปกรณ์
อุปกรณ์ที่ใช้ในการผสมเกสรทุเรียน มีดังนี้
1. พู่กัน
2. ยันได
3. ถุงผ้าขาวบาง
4. กรรไกรตัดแต่งกิ่ง
5. กรรไกรเล็ก
6. ขวดหรือกระบอกพลาสติก
7. ไฟฉายหรือแสงสว่างชนิดอื่น
8. ป้ายสำหรับบันทึกชื่อพันธุ์ วัน เดือน ปี


ขั้นตอนการผสมเกสรทุเรียน
1. เวลา 09.00-12.00 น. ใช้กรรไกรเล็กตัดแต่งดอกพันธุ์แม่ให้เหลือเฉพาะดอกขาว และตัดเกสรตัวผู้ออกทิ้ง หลังจากนั้นใช้ถุงผ้าขาวบางคลุมดอกขาวพันธุ์แม่ไว้


2. เวลา 19.00-19.30 น. ทำการเก็บละอองเกสรตัวผู้ของพันธุ์พ่อ โดยใช้กรรไกรเล็กตัดเฉพาะอับละอองเกสรตัวผู้ที่แตกใส่ไว้ในขวดหรือกระบอกพลาสติก สำหรับละอองเกสรนี้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าซึ่งจะมีลักษณะเป็นละอองสีขาวเกาะติดอยู่กับอับละอองเกสร


3. เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป เริ่มทำการผสมเกสร โดยใช้ปลายพู่กันแตะละอองเกสรตัวผู้แล้วนำไปแตะที่ยอดเกสรตัวเมียพันธุ์แม่ ซึ่งดอกเกสรพันธุ์แม่นี้จะมีลักษณะดอกกลม สีเหลือง แล้วคลุมด้วยผ้าขาวบางไว้ตามเดิม ผูกป้ายบันทึก เขียนชื่อพันธุ์ วัน เดือน และ ปีที่ทำการผสมเกสร




กิ่งทุเรียน ในแต่ละต้นมักจะมีระดับความสูงต่ำต่างกัน จึงแนะนำให้ปฏิบัติด้วยวิธีการดังนี้
วิธีผสมเกสรกิ่งที่อยู่ในระดับต่ำ
1. ตัดดอกทุเรียนที่กำลังบาน และพร้อมที่จะผสมเกสรของพันธุ์พ่อในเวลา 19.00-19.30 น. ไปทำการผสมเกสรโดยให้ส่วนของอับเกสรตัวผู้ที่มีละอองเกสรตัวผู้สีขาวไปแตะกับยอดเเกสรตัวเมียพันธุ์แม่


2. ตัดเฉพาะชุดของเกสรตัวผู้พันธุ์พ่อ โดยใช้มือจับก้านเกสรตัวผู้ ซึงที่ปลายก้านจะมีอับละอองเกสรตัวผู้เกาะอยู่ แล้วนำไปแตะกับยอดเกสรตัวเมียพันธุ์แม่


3. ตัดเฉพาะอับละอองเกสรตัวผู้ ที่มีละอองเกสรสีขาวเกาะอยู่ภายในดอกพันธุ์พ่อใส่ขวด แล้วใช้ปลายพู่กันแตะละอองเกสรตัวผู้นำไปแตะที่ยอดเกสรตัวเมียพันธุ์แม่


วิธีผสมเกสรกิ่งที่อยู่ในระดับสูง
1. เก็บละอองเกสรตัวผู้พันธุ์พ่อใส่ขวดผูกเชือกแล้วคล้องคอ ซึ่งเกษตรกจะต้องทำการปีนขึ้นต้นทุเรียนแลวใช้ปลายพู่กันแตะละอองเกสรตัวผู้ในขวด นำไปแตะที่ยอดเกสรตัวเมียพันธุ์แม่


2. ทำการเก็บละอองเกสรตัวผู้พันธุ์พ่อใส่ในกระป๋องพลาสติก แล้วใช้แปรงขนอ่อนต่อด้ามไม้ยาว ใช้ปลายแปลงแตะละอองเกสรตัวผู้ในกระป๋อง นำไปแตะที่ยอดเกสรตัวเมียพันธุ์แม่ วิธีนี้ไม่ต้องปีนขึ้นไปผสมเกสรบนต้นทุเรียน ในกรณีต้นพันธุ์พ่ออยู่ใกล้กับต้นพันธุ์แม่ ไม่ว่าจะเป็นกิ่งต่ำหรือกิ่งสูง สามารถใช้แปรงขนอ่อนแตะละอองเกสรตัวผู้พันธุ์พ่อ แล้วนำไปแตะที่ยอดเกสรตัวเมียพันธุ์แม่ได้เลย


คู่พันธุ์ที่เหมาะสมในการผสมเกสร
การเลือกคู่พันธุ์ทุเรียนที่เหมาะสมสำหรับการผสมเกสรเพื่อให้ทุเรียนติดได้ผลดี สามารถเลือกจากคู่พันธุ์ที่เหมาะสมได้ดังนี้


- เกสรตัวผู้พันธุ์หมอนทองและก้านยาว ผสมกับ พันธุ์แม่ชะนี
- เกสรตัวผู้พันธ์หมอนทองและชะนี ผสมกับ พันธุ์แม่ก้านยาว
- เกสรตัวผู้พันธุ์หมอนทองและชะนี ผสมกับ พันธุ์แม่อีหนัก
- เกสรตัวผู้พันธุ์หมอนทองต่างต้นและชมพูศรี ผสมกับ พันธุ์แม่หมอนทอง
- เกสรตัวผู้พันธุ์ชะนีและชมพูศรี ผสมกับ พันธุ์แม่กระดุม

ผลทุเรียนที่เกิดจากการผสมเกสร
ผลทุเรียนที่ได้จากการใช้เทคนิคผสมเกสรนั้นจะสังเกตได้ 2 ลักษณะดังนี้

ลักษณะภายนอก :

- การเจริญเติบโตของผลทุเรียนจะเร็วกว่าการผสมเกสรกันเองตามธรรมขาติ
- รูปทรงของผลสวยงามไม่บิดเบี้ยว พูเต็มเกือบทุกพู


ลักษณะภายใน
- ลักษณะเนื้อทุเรียน สีเนื้อทุเรียน รสชาติไม่แตกต่างจากทุเรียนที่ผสมเกสรกันเองตามธรรมชาติ
- ในแม่พันธุ์ชุนี จะได้พูเต็ม และจำนวนพูต่อผลมากขึ้น
- ในแม่พันธุ์กระดุมทอง จะได้เมล็ดลีบตั้งแต่ 29-55%
- ในแม่พันธุ์หมอนทอง จะได้ความหนาของเนื้อมากตั้งแต่ 1.9-2.78 เซ็นติเมตร และมีเมล็ดลีบตั้งแต่ 40-59%


ประโยชน์ที่ได้รับ
1. สามารถกำหนดตำแหน่งการติดผล ตามกิ่งที่มีขนาดใหญ่ หรือกิ่งที่อยู่ในระดับต่ำได้
2. จะช่วยให้ทุเรียนติดผลดีขึ้น
3. ช่วยในการปฏิบัติและดูแลรักษาสวนทำได้สะดวก
4. สามารถกำหนดวันเก็บเกี่ยวได้ และเก็บเกี่ยวได้ง่าย
5. จะทำให้ผลทุเรียนแก่ใกล้เคียงกัน หรือพร้อมกัน
6. รูปทรงผลสวยงาม พูเต็มเกือบทุกพู น้ำหนักและขนาดผลดี
7. ลักษณะคุณภาพของเนื้อทุเรียน และรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง
8. ได้รับผลผลิตทุเรียนมากขึ้น
9. ผลผลิตทุเรียนจะเป็นที่ต้องการของตลาด




ที่มา :
วิทยาสารสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯ.
วันทนา บัวทรัพย์ มนตรี วงศ์รักษ์พานิช. 2533. "การปลูกทุเรียน"
กรมส่งเสริมการเกษตร.

------------------------------------------------------

- ธรรมชาติของทุเรียนทั้งต้นที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ เมื่อถึงฤดูออกดอกจะออดอกจำนวนมาก แต่ดอกที่จะพัฒนาเป็นผลได้น้อยมากขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น ถ้าต้นไม่สมบูรณ์จริงต้นจะสลัดดอกทิ้ง แม้แต่ต้นที่สมบูรณ์ก็ยังสลัดดอกทิ้ง ดังนั้นเพื่อป้องกันต้นสลัดดอกทิ้งเองจึงจำเป็นต้องชิงตัดเสียก่อนเพื่อให้เหลือแต่ดอกที่สมบูรณ์และอยู่ ณ ตำแหน่งที่เหมาะสม
                           
      
การเลือกดอกตัดทิ้งหรือดอกเก็บไว้ให้พิจารณา....
- ดอกรุ่นเดียวกันอยู่ในกิ่งเดียวกันบริเวณกลางกิ่งให้เก็บไว้ แต่ดอกต่างรุ่น และอยู่ค่อนไปทางปลายกิ่งให้ตัดทิ้ง                        
- ดอกที่ออกมาเป็นกระจุกให้ตัดทิ้งดอกเล็ก เก็บดอกใหญ่ไว้
- ดอกในกระจุกเดียวกันให้ตัดทิ้งดอกไม่สมบูรณ์ ดอกต่างรุ่น รวมประมาณ 1 ใน 4 ของกระจุก
- หลังจากตัดแล้วพิจารณาตำแหน่งของดอกที่เก็บไว้แต่ละจุดให้อยู่ห่างกระจายทั่วบริเวณ
- ถ้าดอกออกมากแต่หลายรุ่นให้พิจารณารุ่นที่จะเป็นผลมีราคาเก็บไว้ แล้วตัดทิ้งดอกรุ่นที่จะไม่มีราคา
- ถ้ามีดอกน้อยแต่หลายรุ่นให้พิจารณารุ่นเดียวกันกับตำแหน่งที่ออกดอก อาจจะเก็บไว้ดอกต่างรุ่นแต่อยู่ในตำแหน่ง (ระยะห่าง) ที่เหมาะสมแล้วบำรุงไปตามปกติก็ได้
- การตัดแต่งช่อผลก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ผลที่จะมีคุณภาพดีเพราะได้รับน้ำเลี้ยงอย่างสมบูรณ์นั้นลักษณะขั้วผลต้องอวบอ้วนเหยียดตรงเดี่ยวออกมาจากกิ่ง  บางจุดอาจจะมีมากกว่า 1 ผล แต่ถ้าทุกผลมีขั้วดีก็สามารถเก็บไว้ได้ ส่วนผลขั้วคดงอเล็กเรียวหรือเป็นขั้วแยกจากขั้วใหญ่ไม่ควรเก็บไว้ให้ตัดทิ้งไป
      
ตำแหน่งไว้ผลในแต่ละกิ่งควรห่างเท่าๆกัน โดยคำนวณจากจำนวนผลทั้งหมดแล้วเฉลี่ยระยะห่างซึ่งกันและกันก็จะช่วยให้แต่ละผลได้รับน้ำเลี้ยงจากลำต้นและจากใบกระจายได้อย่างทั่วถึงทุกผล
- สร้างความสมบูรณ์ต้นด้วยปุ๋ยทางด่วน (สูตร : ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี) เพื่อให้ต้นมีความพร้อมสำหรับการออกดอกติดผล ให้ผลผลิตดีมีคุณภาพและสร้างภูมิต้านทานต่อโรคแมลงศัตรูพืช ใช้อาหารเสริมทางด่วน ซึ่งมีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบหลัก โดยฉีดพ่นทางใบให้โชก ทั้งใต้ใบบนใบ “ทางด่วน 20-30 ซีซี.+ 15-30-15 หรือ 20-20-20 หรือ 10-20-30(40-60 กรัม)+ ฮิวมิค แอซิด(20 ซีซี.)/น้ำ 20ลิตร” ทุก 5-7 วัน ติดต่อกัน 3-4 สัปดาห์
                        

หมายเหตุ :                            
- อาหารเสริมทางด่วนการค้า ได้แก่  ดร็อปไจแอนท์. โพลีแซค.  มอลตานิค. ฟลอริเจน.
    
- อาหารเสริมทางด่วนทำเอง ได้แก่ กลูโคส. เด็กซ์โตรส. ฟลุกโตส. กลูโคลิน. ยาคูลท์. นมสัตว์สดรีดใหม่. น้ำมะพร้าวอ่อน. ไข่สด. น้ำตาลสดจากงวงมะพร้าวหรือตาล. อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ 2-3-4 อย่างๆละเท่าๆ กัน คนเคล้าให้เข้ากันดี ผสมเสร็จแล้วใช้ใหม่ๆจะได้ผลดี
    
- สถานีวิจัยพืชสวนพลิ้ว จ.จันทบุรี ส่งเสริมให้ชาวสวนทุเรียน มังคุด  เงาะ  ลองกองและไม้ผลอื่นๆ บำรุงต้นด้วย “ฮอร์โมนน้ำดำ” อย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี โดยช่วงมีดอกผลอยู่บนต้นให้บำรุงเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนช่วงที่ไม่มีดอกผลอยู่บนต้นให้บำรุง 2 เดือน/ครั้ง ปรากฏว่าต้นมีความสมบูรณ์สูงมาก สังเกตได้จากใบใหญ่ หนาเขียวเข้ม เป็นมันวาว
   
- ช่วงไว้ผลบนต้นแล้วต้นมีอาการโทรม เริ่มจากใบอ่อนเหลืองซีด แต่ใบแก่ยังเขียวสดใสอยู่ แสดงว่าต้นขาดธาตุอาหารรอง/เสริม อย่างรุนแรง ซึ่งช่วงนี้ต้นต้องการใช้ธาตุอาหารจำนวนมากส่งไปเลี้ยงผล หากปล่อยไว้จะทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพและต้นไม่พร้อมสำหรับการให้ผลผลิตรุ่นต่อไป บางทีอาจถึงต้นตายได้ แก้ไขโดยให้ธาตุอาหารรอง/เสริม (เน้น แคลเซียม โบรอน. แมกนีเซียม.สังกะสี.)ควบคู่กับธาตุอาหารหลัก (เอ็น. พี. เค.) ด้วยระยะการให้ถี่ขึ้น
   
- บำรุงผลขนาดเล็กหรือผลลักษณะไม่สมบูรณ์ด้วยการฉีดพ่น  “แคลเซียม โบรอน + ธาตุรอง/เสริม + ไคตินไคโตซาน + ทางด่วน” ที่ผลโดยตรงและที่ใบให้โชกตั้งแต่ผลยังเล็ก ทุก 7-10 วัน จะช่วยพัฒนาผลให้ดีขึ้นได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสมบูรณ์ของต้นเป็นปัจจัยหลัก
                    
- กลูโคส. ยาคูลท์. นมสัตว์สดรีดใหม่. กระทิงแดง. มีส่วนประกอบของน้ำตาล เมื่อให้แก่ต้นไม้ผลโดยฉีดพ่นทางใบช่วงที่กำลังมีผลอยู่บนต้นจะช่วยให้ผลได้รับธาตุอาหารทันที เหมาะสำหรับต้นที่ติดผลดกจำนวนมากจนธาตุอาหารไม่พอเลี้ยง ช่วยให้ผลโตเร็วมีขนาดใหญ่ขึ้น และแก้อาการผลร่วงผลแตก หากมีการใช้ร่วมกับปุ๋ยเกร็ดทางใบด้วยจะเสริมประสิทธิภาพให้สูงยิ่งขึ้น
    
- ธาตุ ฟอสฟอรัส กับ โปแตสเซียม จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมี สังกะสีรวมด้วยและแคลเซียม จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมี โบรอน รวมอยู่ด้วยเช่นกัน
    
- ทุเรียนฉีดสาร หมายถึง การใช้สารพาโคลบิวทาโซลบังคับทุเรียนให้ออกนอกฤดู เริ่มด้วยการเรียกใบอ่อน 3 รุ่น โดยรุ่น 1 กับรุ่น 2 ออกมาแล้วต้องเร่งให้เป็นใบแก่โดยเร็ว  ส่วนใบอ่อนรุ่น 3 ไม่ต้องเร่งให้เป็นใบแก่ แต่พอเริ่มเพสลาดก็ให้ใส่ปุ๋ยทางรากสูตร 8-24-24 จากนั้นสังเกตใบชุด 3 ที่แตกออกมานี้ ถ้าใบปลายยอด 2 ใบยังอ่อน (ใบหางปลา)ในขณะที่ใบล่างเริ่มแก่ก็ให้ฉีดพ่นสารพาโคลบิวทาโซล อัตรา 200 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร ที่ปลายทรงพุ่มบริเวณใบ ให้เปียกทั่วทุกใบทั้งใต้ใบบนใบแต่อย่าให้เปียกถึงในทรงพุ่ม เทคนิคก็คือ ต้องปรับหัวฉีดให้น้ำออกเป็นฝอยเล็กๆยิ่งเล็กมากยิ่งดี ควรฉีดพ่นช่วง 09.00-10.30 น. ซึ่งเป็นช่วงปากใบเปิด ในทรงพุ่มโปร่ง แสงแดดส่องทั่วถึง อากาศถ่ายเทดี ไม่มีฝนตกก่อนฉีด 2 วัน และหลังฉีดไม่มีฝนตก 2 วันเช่นกัน เมื่อฉีดพ่นแล้วให้งดน้ำ ถ้างดน้ำแล้วไม่มีฝนตกหรือแล้งจัด ประมาณ 40-45 วัน ดอกชุดแรกจะออกมาให้เห็น
    
- ช่วงเดือน ก.ค. ถ้างดน้ำอย่างเด็ดขาดได้ แล้วฉีดพ่นสารพาโคลบิวทาโซล อัตรา 100 กรัม/น้ำ 100 ล.(1,000 พีพีเอ็ม.) ให้แก่ทุเรียนที่ผ่านการเตรียมต้นมาดี แล้วสามารถทำให้ทุเรียนออกดอกหลังการให้พาโคลบิวทาโซล 2-3 เดือนได้ แต่มีข้อแม้ว่า ช่วงก่อนออกดอกและกำลังออกดอกนั้นสภาพอากาศจะต้องแห้งแล้ง  หรือควบคุมน้ำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
   
- ชะนีฉีดสารฯ ไม่ควรช่วยผสมเกสรด้วยมือ แต่ปล่อยให้ผสมติดเองตามธรรมชาติ เพราะถ้าช่วยผสมแล้วเมื่อแก่จะสุกช้า สุกแล้วเนื้อขาวซีด
                       
- ช่วงกำลังมีผลอยู่บนต้นแล้วแตกใบอ่อน จะทำให้ให้เกิดการแย่งอาหารระหว่างใบกับผล ส่งผลเสียต่อผลดังนี้                        
   
- แตกใบอ่อนช่วงหลังดอกบาน (สัปดาห์ที่ 3-5)ทำให้ผลเล็กร่วง
- แตกใบอ่อนช่วงหลังดอกบาน (สัปดาห์ที่ 5-8)ทำให้รูปทรงผลบิดเบี้ยว 
- แตกใบอ่อนช่วงหลังดอกบาน (สัปดาห์ที่ 10-12)ทำให้เนื้อด้อยคุณภาพ เป็นเต่าเผา เนื้อแกร็น เนื้อสามสีไม่น่ารับประทาน                        
   
- ลักษณะทุเรียนที่กำลังจะแตกใบอ่อนระหว่างมีผล ให้สังเกตเยื่อหุ้มตาเริ่มเจริญ หรือระยะหางปลา ให้ยับยั้งการแตกใบอ่อนด้วย 13-0-46(150-300 กรัม)/น้ำ 20 ล.1 ครั้งก่อน ถ้าพบว่ายังจะแตกใบอ่อนอีกหรือกดไม่อยู่ก็ให้ฉีดซ้ำอีกครั้งด้วยอัตราเดิม นอกจากนี้การให้ "ธาตุรอง/ธาตุเสริม" สม่ำเสมอระหว่างมีผล นอกจากจะช่วยบำรุงผลให้ได้คุณภาพดีแล้วยังช่วยกดใบอ่อนได้อีกด้วย
                         

แนวทางแก้ไข :                        
1. ระยะที่ยอดมีการพัฒนาโดยเยื่อหุ้มตาเริ่มเจริญหรือที่ชาวสวนเรียกว่า “ระยะหางปลา” ฉีดพ่นด้วยปุ๋ยทางใบสูตร “13-0-46(150-300 กรัม)/น้ำ 20 ล.” ให้ทั่วทรงพุ่ม 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน
    
2. ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบสูตร “0-52-34(100 กรัม)/น้ำ 20 ล.” เพื่อป้องกันการแตกใบอ่อน และเร่งการแก่ของใบ                        
    
3. ใช้สารเคมี “ไดเมทโธเอท (40-50 ซีซี.)/น้ำ 20 ล.” ฉีดพ่น สามารถควบคุมใบอ่อนได้ดีมาก  โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนทอง
                        
4. ใส่ปุ๋ยทางรากสูตร “8-24-24” หรือ “9-26-26” เพื่อเพิ่มปริมาณแป้ง-น้ำตาล ลดปริมาณไนโตรเจนทั้งในดินและในต้น
                        
5. ควบคุมการแตกใบอ่อนโดยให้ “ธาตุรอง/ธาตุเสริม” ในรูปอาหาร “ทางด่วน” ทุก 5-7 วัน เพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารทั้งต่อใบอ่อนและผลอ่อน
    
6. ควบคุมการให้น้ำหรือลดปริมาณน้ำอย่าให้มากเกินไปและอย่าให้ขาดน้ำ เพื่อป้องกันการแตกใบอ่อนเร็วเกินไป                        
   
7. การไว้ผลบนต้นมากๆเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ป้องกันการแตกใบอ่อนระหว่างมีผลอยู่บนต้นได้
    
8. ใช้สาร “พาโคลบิวทาโซลชนิด 10 เปอร์เซ็นต์ (100-150 ซีซี.)/น้ำ 20 ล.” ฉีดพ่นที่ใบสามารถควบคุมการแตกใบอ่อนได้ แต่หลังจากฉีดพ่นพาโคลบิวทาโซลไปแล้วต้องให้น้ำและธาตุอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากอัตราเคยให้ตามปกติ
                        
9. ใช้สาร “เมพิควอทคลอไรด์ ชนิด 50% (20 ซีซี.)/น้ำ 20 ล.” ฉีดพ่นทางใบ 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 10-15 วันช่วงที่มีฝนตกชุกเพื่อลดปริมาณออกซินในต้นไม่ให้ขึ้นไปสู่ยอดซึ่งจะทำให้ต้นแตกใบอ่อนได้ก็สามารถควบคุมใบอ่อนได้เช่นกัน...หรือใช้ “พาโคลบิวทาโซล ชนิด 10% (50 ซีซี.)/น้ำ 100 ล.” ฉีดพ่นให้เปียกโชกทั้งใต้ใบบนใบลงถึงพื้น 1 ครั้งหลังฝนตกใบแห้ง หลังจากฉีดพ่นแล้ว 10 วัน ให้น้ำจนดินชุ่ม 3 วันติดต่อกันก็สามารถยับยั้งการแตกใบอ่อนได้เช่นกัน
      
- อายุผลตั้งแต่เริ่มติดหรือกลีบดอกร่วงถึงเก็บเกี่ยว....กระดุม 90-100 วัน...ก้านยาว 120-135 วัน..... ชะนี 110-120 วัน.....หมอนทอง 140-150 วัน..
...ทั้งนี้ช่วง 20-30 วันสุดท้ายของอายุผลนั้นสภาพอากาศจะต้องแห้งแล้งหรือไม่มีฝน หากมีฝนหรือต้นได้รับน้ำมากอายุผลจะยืดยาวออกไปอย่างไม่มีกำหนดหรือจนกว่าจะกระทบแล้ง
      
- ฝนชุกช่วงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวทำให้ผลทุเรียน แก่ช้า เปลือกหนา เนื้อเป็นเต่าเผา ไส้ล้ม สีไม่ออก กลิ่นไม่ออก ผลแตกและผลร่วง สาเหตุเป็นเพราะต้นได้รับไนโตรเจนจากน้ำฝนมากเกินไป
                                   
แนวทางแก้ไข :                            
- ตามปกติช่วงผลแก่ใกล้เก็บมักใส่ปุ๋ยทางรากสูตร “8-24-24” หรือ “9-26-26” ควบคู่กับการให้ปุ๋ยทางใบสูตร “0-0-50 หรือ 0-21-74 + ธาตุรอง/ธาตุเสริม” ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าจะมีฝนแล้วก็ควรให้ล่วงหน้าเป็นการเตรียมตัวไว้ก่อนจะได้ประสิทธิภาพดีกว่าฝนตกแล้วจึงให้
    
- ผลแก่ใกล้เก็บแล้วได้รับน้ำจากฝนทำให้ผลแก่ช้า อายุผลที่ควรแก่จัดตามกำหนดจึงต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด การปฏิบัติสำหรับขั้นตอนนี้ คือ ให้ปุ๋ยทั้งทางรากและทางใบสูตรดังกล่าวไปเรื่อยๆ พร้อมกับเปิดหน้าดินโคนต้นให้แสงแดดส่องถึงพื้นดินมากๆเมื่อมีแสงแดดหรือฟ้าเปิด ทำร่องระบายน้ำป้องกันน้ำขังค้างโคนต้น
      
หลังจากฝนหมดแล้วให้บำรุงด้วยสูตรเดิมทั้งทางใบและทางรากต่อไปอีกพร้อมกับงดน้ำ 15-20 วัน ระหว่างนี้ให้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของผล แล้วสุ่มเก็บมาผ่าดูภายในก็จะเห็นและรู้ว่าสมควรต้องยืดอายุผลออกไปอีกนานเท่าไรผลจึงจะแก่จัดและเก็บเกี่ยวได้
     
แนวทางแก้ปัญหาเรื่องผลแก่ตรงกับฝนชุก คือ วางแผนกะเวลาบำรุงต้นล่วงหน้าให้ได้ผลแก่ตรงกับช่วงแล้ง
- วิธีเก็บเกี่ยวทุเรียนของชาวสวนทุเรียนเมืองนนทบุรีไม่ใช้วิธีนับอายุผล เพราะรู้ว่าเอาแน่นอนไม่ได้เนื่องจากน้ำใต้ดินโคนต้นหรืออาจจะมีฝนตก แต่ใช้วิธีปล่อยให้ผลใดผลหนึ่งร่วงจากต้นลงมาเองก่อน 1 ผล แล้วเก็บผลร่วงนั้นมาผ่าดูภายในก็จะเห็นชัดว่าทุเรียนแก่สมควรเก็บเกี่ยวได้หรือยัง เมื่อเห็นว่าแก่จัดเก็บเกี่ยวได้แล้วจะลงมือเก็บผลที่เป็นรุ่นเดียวกันนั้นก่อน จากนั้นอีก 7 วันจะลงมือเก็บรุ่นสอง และรุ่นสามไปเรื่อยๆ แต่ละรุ่นห่างกัน 5-7 วัน จนกระทั่งหมดทั้งต้น
   
- นำผลทุเรียนแก่ที่เก็บเกี่ยวลงมาแล้วแช่ใน "อีเทฟอน 50 ซีซี.+ น้ำ 100 ล." จนมิดทั้งผล นาน  2 นาที นำขึ้นผึ่งลมให้แห้งจากนั้นนำไปบ่มตามปกติ ผลทุเรียนจะสุกภายใน 3 วัน.....วิธีนี้ใช้กับผลที่แก่ไม่จัดก็ได้ หลังจากผลได้รับอีเทฟอนไปแล้วเนื้อจะอ่อนนุ่มเหมือนทุเรียนสุกทุกประการ แต่รสและกลิ่นไม่ดี
    
- ทุเรียนออกดอกติดผลที่กิ่งประธาน ผลเกิดจากกิ่งประธานคนละกิ่ง (ในต้นเดียวกัน) มักแก่ไม่พร้อมกัน แก้ไขโดยแบ่งกิ่งประธานในต้นเดียวกันนั้นเป็นกิ่งละรุ่น จากนั้นพิจารณาผลที่อยู่ในกิ่งประธานกิ่งเดียวกันแล้วเลือกผลอายุใกล้เคียงกันที่สุด (ไม่ควรห่างกันเกิน 3-5 วัน)ไว้ ซึ่งผลที่คงไว้นี้จะแก่เก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน ส่วนผลอายุต่างจากผลอื่นมากๆให้ตัดทิ้งและการตัดทิ้งให้ทำตั้งแต่เป็นผลขนาดเล็ก เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวก็ให้เก็บผลในกิ่งประธานเดียวกันพร้อมๆกัน ซึ่งทุกผลจะแก่เท่ากัน จากนั้นจึงเลือกเก็บจากกิ่งประธานอื่นๆต่อไปตามลำดับอายุ
   
- ต้นที่ติดผลจำนวนมาก ปริมาณสารอาหารอาจจะส่งไปเลี้ยงผลทุกผลได้ไม่ทั่วถึงหรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละผลจึงจำเป็นต้องตัดผลบางส่วนทิ้ง เพื่อให้ผลที่คงไว้ได้รับสารอาหารเต็มที่ การตัดผลทิ้งจะต้องทำตามขั้นตอน ดังนี้.
                        

ครั้งที่ 1.....เมื่ออายุผลได้ 3-4 สัปดาห์(ขนาดเท่ามะเขือพวง-ไข่นกกระทา)เลือกตัดทิ้งผลไม่สมบูรณ์ รูปทรงบิดเบี้ยว ผลขนาดเล็กผิดปกติ หางแย้ที่ก้นผลบิดเบี้ยวเรียวเล็กคดงอซึ่งเมื่อโตขึ้นมักเป็นผลแป้ว ไม่มีพู คุณภาพไม่ดี และผลที่ต่างอายุกับผลส่วนใหญ่
       
ครั้งที่ 2.....เมื่ออายุผลได้ 5-6 สัปดาห์ (ขนาดไข่ไก่) เลือกตัดทิ้งผลที่มีหนามแดง หนามบิดเบี้ยวผิดรูปร่าง หางแย้ที่ก้นผลบิดเบี้ยวเรียวเล็ก ผลที่หางแย้ใหญ่อวบอ้วนตรงจะเป็นผลดีมีคุณภาพ    
      
ครั้งที่ 3.....เมื่ออายุผลได้ 7-8 สัปดาห์(ขนาดกระป๋องนม)เลือกตัดทิ้งผลก้นจีบผลขนาดเล็กผิดปกติ
             
- ด้วยมาตรการบำรุงแบบทำให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่องหลายปี ปรากฏว่าทุเรียนกลายเป็นไม้ผลประเภททะวาย ออกดอกติดผลแบบไม่เป็นรุ่น หรือมีผลตลอดปีได้นั่นเอง 
    
- แนวทางในการใส่ปุ๋ยไม้ผลที่ให้ผลดีที่สุด ควรใช้ค่าวิเคราะห์พืชและค่าวิเคราะห์ดินมาเป็นเครื่องมือช่วยตัดสินใจในการใส่ปุ๋ย เนื่องจาก ค่าวิเคราะห์พืชบอกให้ทราบถึงความเข้มข้นของธาตุอาหารในใบพืช ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสามารถในการดูดธาตุอาหารของพืช ส่วนค่าวิเคราะห์ดิน บอกให้ทราบว่า ดินมีธาตุอาหารพืชอยู่แล้วมากน้อยเพียงใดและมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะทำให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์หรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสมจะปรับปรุงดินอย่างไร เพื่อให้ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่แล้วในดินรวมทั้งปุ๋ยที่จะใส่เพิ่มให้กับดินอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมากที่สุด  
   
- ผลการวิจัยเรื่อง การจัดการธาตุอาหารพืชกับทุเรียน พบว่า ค่ามาตรฐานธาตุอาหารของทุเรียน(หมายถึงความเข้มข้นของธาตุอาหาร ที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทุเรียน)วัดจากใบทุเรียนในตำแหน่งที่ 2–3 ซึ่งมีอายุประมาณ 5–7 เดือน เป็นดังนี้
     
ไนโตรเจน(N)2.0-2.3% ฟอสฟอรัส(P)0.15-0.25% โพแทสเซียม(K)1.7–2.5% แคลเซียม(Ca)1.5–2.5%  แมกนีเซียม(Mg)0.35–0.60% เหล็ก(Fe)50-120 ส่วนในล้านส่วน(ppm.)แมงกานีส(Mn)40–100 ส่วนในล้านส่วน(ppm.) ทองแดง(Cu)10–25 ส่วนในล้านส่วน(ppm.) สังกะสี(Zn)10–30 ส่วนในล้านส่วน(ppm.) โบรอน(B)35–60 ส่วนในล้านส่วน(ppm.)  
     
ซึ่งถ้าวิเคราะห์ใบแล้วพบว่า ความเข้มข้นของธาตุอาหารพืชต่ำกว่าค่ามาตรฐาน แสดงว่าพืชขาดธาตุอาหารนั้น แต่ถ้าพบว่าความเข้มข้นของธาตุอาหารพืชสูงกว่าค่ามาตรฐานแสดงว่า ธาตุอาหารเป็นพิษ ทำให้การเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของพืชลดลงได้ 
   
- มีการวิจัยพบว่าดินในสวนไม้ผลภาคตะวันออกส่วนใหญ่ มักะขาด ไนโตรเจน. โพแทสเซียม. แคลเซียม. แมกนีเซียม. เหล็ก. แมงกานีส. และสังกะสี.  โดยพบอาการขาดสังกะสี.มากที่สุด ส่วนธาตุฟอสฟอรัส.นั้น สวนไม้ผลส่วนใหญ่ใส่ปุ๋ยชนิดนี้มากเกินกว่าความต้องการของพืช  แต่มิได้หมายความว่าสวนไม้ผลทั้งหมดจะขาดธาตุดังกล่าวที่กล่าวมาข้างต้น เพราะดินแต่ละแห่งมีธาตุอาหารที่พืชจะดูดไปใช้ได้ไม่เท่ากัน สวนแต่ละสวนมีประวัติการใส่ปุ๋ยและการจัดการดินที่แตกต่างกัน 
   
- การจัดการธาตุอาหารพืชให้เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและสลับซับซ้อน การจัดการที่ไม่ถูกต้อง นอกจากจะสิ้นเปลืองเงินค่าปุ๋ยแล้ว ยังทำให้เกิดผลเสียในระยะยาวต่อพืช วิธีที่ดีที่สุดคือ การใช้ค่าวิเคราะห์ดินและพืชมาช่วยในการวางแผนและตัดสินใจ
    
- (หิรัญ หิรัญประดิษฐ์ และคณะ /2542)ได้ทดลองสารพาโคลบิวทราโซลกับทุเรียนและก่อนใช้สารต้องมีการเตรียมความพร้อมของต้นทุเรียนซึ่งมีปฏิบัติดังนี้ การเร่งให้ทุเรียนแตกใบอ่อนด้วยการตัดแต่งกิ่ง เช่น การตัดแต่งกิ่ง กิ่งที่เป็นโรค กิ่งแขนงด้านในพุ่มและกิ่งเล็กๆ ที่อยู่ส่วนปลายกิ่งออก โดยเฉพาะกิ่งที่ชี้ลงหรือกิ่งที่ชี้ตั้งขึ้น เลือกกิ่งที่สมบูรณ์ขนานแนวพื้นไว้ แล้วใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 พร้อมให้น้ำ ทุเรียนจะแตกใบอ่อนให้สมบูรณ์ โดยป้องกันกำจัดโรคและแมลงไม่ให้ใบถูกโรคและแมลงทำลาย

       
การใช้สารพาโคลบิวทราโซลที่มีความเข้มข้น 1,00-15,000 พีพีเอ็ม. (สารชนิด 10% ใช้อัตรา 200-300 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร) ต้นทุเรียนที่พร้อมจะฉีดพ่นใบต้องเป็นใบแก่ สีเขียวเข้มเป็นมัน มีการแตกใบอ่อนหลายชั้นในช่วงที่ผ่านมา การฉีดพ่นควรฉีดพ่นให้ถูกกิ่งอ่อน เป็นตำแหน่งที่สารพาโคลบิวทราโซลจะเข้าสู่พืชได้ดีและสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายไปสะสมและทำปฏิกิริยา

      
การฉีดพ่นต้องปรับหัวฉีดให้เป็นฝอย ฉีดพ่นทั้งภายในและภายนอกทรงพุ่มให้เปียกพอสม่ำเสมอและต้องฉีดพ่นให้เสร็จก่อนฝนตกประมาณ 2 ชั่วโมง

      
เมื่อทุเรียนดอกบานต้องช่วยผสมเกสรและควบคุมการให้ปุ๋ยให้น้ำให้พอเหมาะ เมื่อผลทุเรียนโตขึ้นจะต้องมีการตัดแต่งผลให้เสร็จภายในสัปดาห์ที่ 4 หลังจากดอกบานโดยตัดแต่งผลที่บิดเบี้ยว มีขนาดเล็ก หรือต่างรุ่นออกให้ผลอยู่ในตำแหน่งที่มีระยะห่างที่พอเหมาะ เมื่อผลโตขึ้นจะได้ไม่เบียดกัน


การป้องกันและการกำจัดใบอ่อน ในช่วงวิกฤตระหว่างการพัฒนาของผล เพื่อป้องกันผลอ่อนร่วง หรือ ทรงผลบิดเบี้ยว หรือเนื้อด้อยคุณภาพ (แกน เต่าเผา) โดย...
- การชะลอการแตกใบอ่อน ด้วยการพ่นสารชะลอการเจริญเติบโต เช่น สาร มีพิควอทคลอไรด์ ความเข้มข้น 37.5 พีพีเอ็ม. ให้ทั่วต้น

- การปลิดใบอ่อน ด้วยการพ่นปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรท (13-0-46) อัตรา 100-300 กรัม/น้ำ 20 ลิตร แตกใบอ่อน

- การลดความเสียหายที่เป็นผลจากการแตกใบอ่อน ด้วยการพ่นปุ๋ยสูตรทางด่วน(คาร์โบไฮเดรตสำเร็จรูป อัตรา 20 ซีซี.+ ปุ๋ยเกล็ด 15-30-15 ที่มีธาตุรองและธาตุปริมาณน้อย อัตรา 60 กรัม + กรดฮิวมิค อัตรา 20 ซีซี. ผสมรวมในน้ำ 20 ลิตร) ร่วมกับสาร มีพิควอทคลอไรด์ ความเข้มข้น 37.5 พีพีเอ็ม.

       เกรดทุเรียน 

     1.ไอ้เข้ หมายถึง ทุเรียนผลใหญ่สุดประมาณ 5 กก.ขึ้น ทรงดีพูเต็ม แก่จัด (ราคาดี รับซื้อไม่อั้น)

     2. เบอร์กล่อง หมายถึง ทุเรียนเบอร์สวยที่สุด ทรงสวย มี 4 พูเต็ม หนามสวย (หนามบริเวณขั้วไม่ติดกัน)ไม่มีตำหนิ น้ำหนักประมาณ 2.7-4.5 กก. เปอร์เซ็นต์แก่ 80 ขึ้น ใช้ไม้เคาะต้องไม่มีเสียงปุ (ทุเรียนกำลังจะสุก)เรียกเบอร์กล่อง เพราะพ่อค้าจะซื้อใส่กล่อง (ลังกระดาษ) ส่งนอก

     3. เบอร์กลาง หมายถึง ทุเรียนเบอร์รองจากเบอร์กล่อง ทรงสวย มี 3 พูครึ่ง - 4 พู  หนามสวย น้ำหนักประมาณ 2-4 กก. แก่ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้น เคาะไม่ปุ หากเป็นช่วงที่ทุเรียนขาด (น้อย) อาจขยับตำแหน่งเป็นเบอร์กล่องได้

     4. เบอร์หาง หมายถึง ทุเรียนผลเล็กกลม ขนาด 1-2 กก. หรือทุเรียนผลใหญ่ แต่รูปทรงแป้ว (มีแค่ 2 พูครึ่ง)หนามที่ขั้วอาจติดกันได้บ้าง เคาะไม่ปุ 

     5. ป๊อกแป๊ก หมายถึง ทุเรียนตกไซด์ที่กล่าวมาทั้งหมด เคาะไม่ปุ หรือผลใหญ่แต่มีแค่พูเดียว

     6. สุก/แตก/หล่น หมายถึง ทุเรียนส่งเขมร หรือเอาไปกวน


ทุเรียน มีถิ่นกำเนิดที่หมู่เกาะอินเดียและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลไม้ที่มีขนาดใหญ่ มีหนามแหลม รสชาติหวานมัน จึงได้ชื่อว่า “ราชาผลไม้ King of Fruits” เนื้อทุเรียนให้ธาตุอาหารหลายชนิด ได้แก่ ไนโตรเจน แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส โพแตสเซียม และกำมะถัน พันธุ์ดั้งเดิมทั่วไป ได้แก่ ลวง กระดุม ชมพูศรี ฉัตรสีนาก อีหนัก กำปั่น กบ และหลงลับแล ส่วนพันธุ์ส่งเสริม มี 4 พันธุ์ ได้แก่

1. "พันธุ์กระดุม"  ผลมีขนาดเล็ก ค่อนข้างกลม หัวและท้ายผลค่อนข้างป้าน น้ำหนักเฉลี่ย 1 กก. หนามเล็กสั้นและถี่ ขั้วค่อนข้างเล็กและสั้น พูเต็มสมบูรณ์ ร่องพูค่อนข้างเล็ก เนื้อค่อนข้างบางแต่ละเอียด นุ่ม สีเหลืองอ่อน เมล็ดมีขนาดใหญ่ รสชาติหวานไม่ค่อยมัน และง่ายเมื่อสุกจัด

2. "พันธุ์หมอนทอง"  ผลมีขนาดใหญ่ ค่อนข้างยาว มีบ่าผล ปลายผลแหลม น้ำหนักเฉลี่ย 3-4 กก. พูไม่ค่อยเต็มทุกพู หนามแหลมสูง ฐานหนามเป็นเหลี่ยม ระหว่างหนามใหญ่จะมีหนามเล็กแซมอยู่ทั่วไป เรียกว่า เขี้ยวงู ก้านใหญ่แข็งแรง ช่วงกลางก้านผลจนถึงปากปลิงจะอ้วนใหญ่เป็นทรงกระบอก เนื้อหนาสีเหลืองอ่อนละเอียด เนื้อแห้งไม่แฉะรสชาติหวานมัน เมล็ดน้อยและลีบเป็นส่วนใหญ่

3. "พันธ์ก้านยาว"  ผลมีขนาดปานกลาง ทรงผลกลมเห็นพูไม่ชัดเจน พูเต็มทุกพู น้ำหนักเฉลี่ย 3 กก. หนามเล็กถี่สั้นสม่ำเสมอ ก้านใหญ่และยาว เนื้อละเอียดสีเหลืองหนาปานกลาง รสชาติหวานมัน เมล็ดมากค่อนข้างใหญ่

4. "พันธุ์ชะนี"  ผลมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ รูปทรงหวด คือ กลางผลป่อง หัวเรียว ก้นตัด น้ำหนักเฉลี่ย 2.5-3 กก. ร่องพูเล็กมองเห็นชัด ขั้วผลใหญ่และสั้น เนื้อละเอียดมีสีเหลืองจัด รสชาติหวานมัน เมล็ดค่อนข้างเล็กและมีจำนวนเมล็ดน้อย

การเลือกซื้อทุเรียน
o ดูปากปลิง ทุเรียนแก่จัดปากปลิงจะพองโตเห็นรอยชัดเจน
o ดูหนาม ผลทุเรียนแก่ปลายหนามจะออกสีน้ำตาลเข้ม
o บีบปลายหนาม 2 หนามเข้าหากัน ทุเรียนแก่เมื่อบีบปลายหนามเข้าหากัน จะมีลักษณะยืดหยุ่นเหมือนมีสปริง
o ดูขั้วผล ขั้วทุเรียนแก่จะเป็นสปริง ส่วนขั้วผลทุเรียนอ่อนจะไม่เป็นสปริง
o ดูสีผล ด้านบนผลทุเรียนแก่สีจะมันและแห้ง
o ดูร่องพู ทุเรียนแก่ร่องพูเป็นสีน้ำตาลปนเหลือง ไม่มีริ้วรอยจากแมลงและโรค
o ชิมปลิง โดยตัดขั้วผลหรือปลิง ทุเรียนแก่จะเห็นน้ำใสที่ขั้วผล ไม่ข้นเหนียวเหมือนทุเรียนอ่อน เมื่อชิมดูจะมีรสหวาน รอยตัดขั้วผลจะเป็นวงแหวนสีเหลืองระหว่างแกนกับเปลือก
o ดมกลิ่น ทุเรียนสุกจะมีกลิ่นหอม ส่วนทุเรียนแก่จะมีกลิ่นสาบของความหอม ไม่เหม็นเขียว
o เคาะที่โกรกหนาม ทุเรียนแก่มีเสียงโพรกดังหลวม ๆ ไม่ทึบ
o ควรซื้อทุเรียนที่ตัดมาจากสวนใหม่ๆหากเป็นไปได้แวะไปที่สวนผลไม้ที่เปิดให้เข้าชม จะได้ทุเรียนที่ตัดมาสด ๆ นำไปเป่าพัดลมไล่น้ำ 3-5 ชั่วโมง เนื้อทุเรียนจะไม่อมน้ำ ทำให้ทานอร่อยยิ่งขึ้น
o ซื้อทุเรียนที่ตัดตอนแก่ พันธุ์ชะนีให้ทิ้งข้ามคืน 3 คืน ส่วนหมอนทองให้ทิ้งข้ามคืน 5 คืน จะได้รสชาติอร่อยยิ่งขึ้น
o การใช้มีดผ่าทุเรียน ควรใช้มีดขนาดกระชับมือ มีความคมเป็นพิเศษผ่าตามร่องพู แล้วค่อย ๆ บิดเปลือกออกจะทำให้แกะง่ายขึ้น
o ทุเรียนที่สุกมาก ใช้มีดเจาะก้นผลแล้วบิแปลือกออกจะทำให้แกะง่ายขึ้น
o ถ้าทานทุเรียนไม่หมดให้นำไปแช่ช่องฟิต จะได้ไอศกรีมทุเรียนที่อร่อยไม่แพ้ทานทุเรียนสด ๆ

 





หน้าถัดไป (2/13) หน้าถัดไป


Content ©