-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 301 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

แฟ้มงานวิจัย30





เทคโนโลยีการผลิตกระเจี๊ยบเขียว


คณะผู้ดำเนินงาน
หัวหน้าโครงการวิจัย
นางพัชรี เนียมศรีจันทร์

หัวหน้าการทดลอง
นายศักดิ์ดา เสือประสงค์

ผู้ร่วมงาน
นางอรัญญา ภู่วิไล
นางจันทนา ใจจิตร
นายทอม เตียะเพชร
นางสาวเครือวัลย์ บุญเงิน
นางมณฑาทิพย์ อรุณวรากรณ์




บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ได้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมกับการผลิตกระเจี๊ยบเขียวในเขตภาคตะวันตกที่สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตให้ได้มาตรฐานคุณภาพเพิ่มขึ้น 30% ของปริมาณผลผลิตที่ตกเกรดในวิธีเกษตรกร ระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี เริ่มเดือนตุลาคม 2548 สิ้นสุด กันยายน 2550 ประกอบด้วยขั้นตอนการดำเนินงา 4 ขั้นตอน คือ

1) การคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย
2) การวิเคราะห์พื้นที่และปัญหาการผลิต
3) วางแผนการทดสอบในวิธีปรับปรุงร่วมกับเกษตรกรอาสาสมัคร
4) ดำเนินการทดสอบเทคโนโลยีในวิธีปรับปรุงเปรียบเทียบกับวิธีปฏิบัติเดิมของเกษตรกร



ผลการดำเนินงาน
คัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรปลูกกระเจี๊ยบเขียวในตำบลสระพังลาน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีลักษณะสภาพพื้นที่เป็นที่ราบ อยู่ในเขตชลประทาน เหมาะสำหรับการปลูกพืชไร่ พืชผัก จากประเด็นปัญหาที่พบในการปลูกนำมาวางแผนร่วมกับเกษตรกรอาสาสมัครเพื่อทำการทดสอบในวิธีปรับปรุง คือ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี และมีการสังเกตลักษณะอาการผิดปกติของพืชจากการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืช รวมทั้งเทคนิคการใช้สารบีที (Bacillus thuringiensis : Bt.) และสารปิโตรเลียม ออย เปรียบเทียบกับวิธีปฏิบัติเดิมของเกษตรกร


ผลการทดสอบ
พบว่า การใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 25 กก./ไร่ พร้อมปุ๋ยเคมีอัตรา 10 กก./ไร่ แบ่งใส่ทุก 10 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,896.25 กก./ไร่ สูงกว่าวิธีเดิมของเกษตรเฉลี่ย 401.65 กก./ไร่ ได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐานคุณภาพสูงกว่าวิธีเกษตรกร 53% ใช้ต้นทุนการผลิตรวมเฉลี่ยสูงกว่าวิธีเดิมของเกษตรกร 3,379.4 บาท/ไร่ ค่าอัตราผลตอบแทนการลงทุน (B/C ratio) ต่ำกว่าวิธีเกษตรกร 0.26



คำนำ
กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชผักส่งออกที่สำคัญพืชหนึ่ง ที่มีปริมาณการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2547 กระทรวงพาณิชย์ (
http://www.ops2.moe.go.th) รายงานปริมาณและมูลค่าการส่งออกกระเจี๊ยบเขียวไปยังประเทศต่างๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ และฮ่องกง มีปริมาณ 4.1  4.0   0.08 และ 0.01 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 422.0 410.0 8.4 และ 1.7 ล้านบาท ตามลำดับ  ซึ่งมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศ   กำหนดคุณภาพของกระเจี๊ยบเขียวที่คู่ค้าต้องการ คือ “ผลผลิตกระเจี๊ยบเขียวจะต้องปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง และต้องปลอดจากแมลงศัตรูพืชตามที่ประเทศคู่ค้ากำหนด เก็บเกี่ยวที่อายุเหมาะสม ตรงตามพันธุ์ ฝักตรง มีห้าเหลี่ยม สี และขนาดสม่ำเสมอ ไม่มีตำหนิจากการเข้าทำลายของศัตรูพืช ความยาวฝัก 7-12 ซม.” และกระเจี๊ยบเขียวเป็น 1 ใน 12 พืชที่ต้องมีใบรับรองสารพิษตกค้างเพื่อการส่งออก


ชลิดาและคณะ (2540) ศึกษาประสิทธิภาพของปิโตรเลียม ออย ในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไก่แจ้ส้ม พบว่าใช้น้ำมันปิโตรเลียม DC tron plus , FT99 เข้มข้น 0.5-2.0 % ป้องกันกำจัดตัวอ่อนวัย 3-4 ได้ 90-100% สอดคล้องกับเสาวนิตย์และคณะ (2542) ที่ศึกษาประสิทธิภาพของน้ำมันธรรมชาติในการป้องกันกำจัดเพลี้ยหอยในส้มเขียวหวาน พบว่า petroleum oil อัตรา 0.5 % ป้องกันกำจัดเพลี้ยหอยในส้มเขียวหวานได้ 45 %

กองกีฏะวิทยา กรมวิชาการเกษตร (2542) ให้คำแนะนำการควบคุมปริมาณหนอน โดยให้สำรวจและเก็บกลุ่มไข่และตัวหนอนทำลาย ใช้เชื้อไวรัส NPV อัตราตามฉลาก หรือเชื้อแบคทีรีย Bt. อัตราตามฉลาก พ่นในช่วงเย็น 3 ครั้งเมื่อมีการระบาด


กรมวิชาการเกษตร (2545) รายงานเกี่ยวกับโรคเส้นใบเหลืองว่า เกิดจากเชื้อไวรัสและมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะในการถ่ายทอดโรค ในด้านกีฏะวิทยาพบว่า สารฆ่าแมลง imidacloprid มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝ้ายและแมลงหวี่ขาวดีที่สุด ส่วนสาร carbosulfan,  etofenprox สามารถควบคุมแมลงหวี่ขาวในกระเจี๊ยบเขียวได้


บุญทิวา และศรีสมร (2546) ให้คำแนะนำถึงแนวทางการควบคุมการระบาดของแมลงหวี่ขาวที่เป็นศัตรูที่สำคัญในการปลูกถั่วเหลือง ว่าควรกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูก หลีกเลี่ยงการใช้สารฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ ติดตั้งกับดักกาวเหนียวสีเหลืองให้กระจายทั่วแปลง เพื่อใช้ในการพยากรณ์การระบาดของตัวเต็มวัย จำนวน 8 กับดักต่อไร่ ใช้สารที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดตัวอ่อนแมลงหวี่ขาว เรียงตามลำดับดังนี้


ก) น้ำมัน petroleum spray oil 83.9% EC อตรา 60 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ petroleum oil 98 % SL อัตรา 60 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร


ข) สารฆ่าแมลง triazophos 40%EC อัตรา 40 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ imidacloprid 10%SL อัตรา 10 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ bifentrin 2.5% EC อัตรา80 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ethofenprox 5% EC อัตรา 30 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นสารเคมีให้ถูกบริเวณที่แมลงหวี่ขาวอาศัยอยู่ คือด้านใต้ใบพืชที่มีสีเขียวและปรับหัวฉีดให้เหมาะสม ควรสลับกลุ่มสารเคมีในการพ่นเพื่อป้องกันการสร้างการพัฒนาความต้านทาน และการใช้สารฆ่าแมลงอย่างต่อเนื่อง มีผลทำให้ศัตรูธรรมชาติถูกทำลายดังนั้นจึงอาจพบว่าแมลงหวี่ขาวได้สารความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงหลายชนิด

สุนันทา (2546) รายงานว่า น้ำหมักชีวภาพเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เกษตรกรนำวัสดุที่มีในท้องถิ่นหมักกับกากน้ำตาล น้ำหมักชีวภาพที่ใช้ปลาเป็นวัสดุหลัก มีแนวโน้มให้ปริมาณธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง  โดยเฉลี่ยสูงกว่าน้ำหมักชีวภาพที่ใช้ผัก  ผลไม้  เป็นวัสดุหลัก และยังพบกรดฮิวมิคและสารประกอบอินทรีย์ เช่น กรดอะมิโน เอนไซด์ และวิตามิน ในน้ำหมักชีวภาพ สารนี้มีประจุในการแลกเปลี่ยนได้จำนวนมาก ทำให้มีความสามารถในการดูดซับธาตุอาหารพืช สารฮิวมิคมักเกาะติดอยู่กับอนุภาคดิน ทำให้ธาตุอาหารพืชไม่ถูกชะล้างไป ช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืชได้มากขึ้น และยัง

ออมทรัพย์ และคณะ (2547) รายงานว่า พบแอลกอฮอร์ในการหมักปลาสูงสุดที่ 90วัน และพบเอสเทอร์.ในการหมักปลาและหอย สูงสุดที่ 210 วัน ซึ่งสารในกลุ่มแอลกอฮอร์ จัดเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการไล่แมลง สำหรับเอสเทอร์.นั้นบางชนิดมีคุณสมบัติเป็นสารไล่และล่อแมลง นอกจากนี้ยังให้ข้อเสนอแนะว่า ไม่ควรใช้ปุ๋ยชีวภาพเพียงอย่างเดียวแทนปุ๋ย จำเป็นต้องใช้ร่วมกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด หรือปุ๋ยเคมี   "พืชสมุนไพรไม่ควรหมักด้วยกากน้ำตาล"   ควรใช้วิธีหมักค้างคืนแล้วฉีดพ่นเลย  และการใช้น้ำหมักชีวภาพ ควรใช้ในลักษณะป้องกันก่อนการเกิดโรค ไม่ควรใช้เมื่อพบโรคระบาดรุนแรง

จากเทคโนโลยีในการผลิตกระเจี๊ยบเขียว ที่ได้มีงานวิจัยในสาขาต่างๆ ดังกล่าว และเทคโนโลยีการใช้น้ำหมักชีวภาพที่เป็นภูมิปัญญาพัฒนาโดยเกษตรกร มีรายงานการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงได้ทำการทดสอบในพื้นที่ปลูกของเกษตรกร ให้ผู้ปลูกได้มีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับนักวิชาการเกษตรเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกระเจี๊ยบเขียวให้ได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐานสูงขึ้น 30% ของปริมาณผลผลิตที่ตกเกรดในวิธีเกษตรกร



อุปกรณ์และวิธีการ
1. การคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย โดยคัดเลือกจังหวดที่มีพื้นที่ปลูกมากเป็นตัวแทนในเขตภาค
กลางและภาคตะวันตก
2. วิเคราะห์ประเด็นปัญหาการผลิต โดยการศึกษาสภาพพื้นที่ และสัมภาษณ์เทคโนโลยีการผลิตกระเจี๊ยบเขียวของเกษตรกร นำมาวิเคราะห์ประเด็นปัญหาการผลิต
3. วางแผนการทดสอบเทคโนโลยีในวิธีปรับปรุง โดยการประชุมอาสาสมัครเกษตรกรที่ร่วมทำงานทดสอบ
4. ดำเนินการทดสอบเทคโนโลยีในวิธีปรับปรุงเปรียบเทียบกับวิธีปฏิบัติเดิมของเกษตรกร
ดำเนินการทดสอบระหว่างเดือน ตุลาคม 2548 –กันยายน 2550 รวมระยะเวลา 2 ปี



ผลการทดลองและวิจารณ์
1. ผลการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายคัดเลือกกลุ่มผู้ปลูกกระเจี๊ยบเขียวที่ทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทส่งออก ในตำบลสระพังลาน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นตัวแทนพื้นที่ทดสอบในเขตภาคตะวันตก


2. ผลการวิเคราะห์ประเด็นปัญหา
2.1 เทคโนโลยีการผลิตกระเจี๊ยบเขียวของเกษตรกรในตำบลสระพังลาน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่า ลักษณะพื้นที่ทำการเกษตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนเหนียว หรือร่วนปนทราย เหมาะสำหรับการปลูกพืชไร่ พืชผัก อยู่ในเขตชลประทาน ในการปลูกกระเจี๊ยบเขียว เกษตรกรจะเปลี่ยนจากพื้นที่ปลูกอ้อยมาปลูกกระเจี๊ยบเขียว เริ่มปลูกในเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปีเช่นเดียวกัน การเตรียมดินก่อนปลูก โดยการไถ ตากดิน ประมาณ 7 วัน ระยะปลูก 50 & times; 75 ซม. ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 800กรัม/ไร่ ปลูกโดยการหยอดเป็นหลุมๆ ละ 2 เมล็ด เมื่อกระเจี๊ยบเขียวอายุประมาณ 15 วัน ถอนกำจัดวัชพืชพร้อมใส่ปุ๋ยเคมีครั้งที่ 1 สูตร 46-0-0 หลังจากนั้นใส่ปุ๋ยเคมี ทุก 10 วัน โดยใช้สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ผสมกับสูตร 8-24-24

2.2 แมลงศัตรูกระเจี๊ยบเขียวที่พบ ได้แก่ เพลี้ยจักจั่นเขียว แมลงหวี่ขาว เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง และหนอนกัดกินใบและฝัก ในการป้องกันกำจัดเกษตรกรส่วนใหญ่สารเคมีที่ได้รับอนุญาตให้ใช้จากบริษัทรับซื้อ ได้แก่ ปิโตเลียมออย เชื้อบีที อะบาเม็กติน กำมะถัน และไดโนทีฟูแรน การควบคุมโรคพืชใช้แมนโคเซบ ลักษณะการฉีดพ่นสาร เกษตรกรจะฉีดพ่นจนเปียกโชกทั่วทั้งต้น และการฉีดพ่นเชื้อบีทียังไม่ถูกต้อง เพราะพบว่ามีหนอนหลายวัยในแปลงปลูกซึ่งเกษตรกรไม่มีการเก็บกลุ่มไข่ หรือตัวหนอนออกจากแปลง ไปทำลาย การกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกใช้แรงงานคนดายหญ้า และรอบแปลงปลูกใช้สารเคมีอะลาคลอร์ และไกลโฟเสท แต่เกษตรกรประมาณครึ่งหนึ่งใช้น้ำหมักชีวภาพฉีดพ่นในแปลงกระเจี๊ยบ มีทั้งสูตรที่หมักจากพืชสมุนไพร และจากสัตว์ (ปลาและหอยเชอรี่) การเก็บเกี่ยวใช้มีดคม ตัดขั้ว โดยให้มีขั้วติดยาวประมาณ 1 ซม. มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต100-150 วัน เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ทราบปริมาณผลผลิตต่อไร่


2.3 ประเด็นปัญหาที่เป็นสาเหตุให้ผลผลิตไม่ได้มาตรฐานคุณภาพจากการสัมภาษณ์เกษตรกรที่เป็นตัวแทนในเขตภาคกลาง พบว่า ประเด็นปัญหาที่เป็นสาเหตุให้ผลผลิตไม่ได้มาตรฐานคุณภาพ คือ
1) เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวในการปลูกกระเจี๊ยบเขียว
2) เกษตรกรส่วนใหญ่ ไม่มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปรับปรุงบำรุงดินในการปลูกกระเจี๊ยบเขียว
3) กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชที่มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตค่อนข้างนาน 60-120 วัน
4) ในระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต มีแมลงศัตรูพืชหลายชนิดเข้าทำลายฝักกระเจี๊ยบ ได้แก่เพลี้ยจักจั่นเขียว แมลงหวี่ขาว เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน และหนอนกัดกินฝัก
5) การใช้สารปิโตรเลียม ออย และการใช้สารชีวภัณฑ์เชื้อบีที ยังไม่ถูกต้อง ทำให้เกษตรกรยังคงใช้สารเคมีอื่นในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ดังกล่าวในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต


3. ผลการวางแผนการทดสอบเทคโนโลยีที่ต้องการพัฒนาร่วมกับเกษตรกรนำเทคโนโลยีการผลิตกระเจี๊ยบเขียวของเกษตรกรที่เป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่น และของกรมวิชาการเกษตร มาประชุมกับอาสาสมัครที่จะร่วมทำแปลงทดสอบ สรุปเป็นเทคโนโลยีในวิธีปรับปรุง ดังนี้



วิธีปรับปรุง
1) บำรุง รักษาให้ต้นกระเจี๊ยบเขียวมีความสมบูรณ์ แข็งแรง โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทางดิน อัตรา
250 กก./ไร่ แบ่งใส่ครั้งละ 25 กก./ไร่ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีทางดิน อัตรา 150 กก./ไร่ แบ่งใส่ทุก 10 วัน
2) การใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำฉีดพ่นทางใบ อัตรา 50 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
3) ขณะเก็บเกี่ยวผลผลิตให้สังเกตปริมาณแมลงและลักษณะอาการผิดปกติของพืชที่ถูกแมลง
ทำลาย เพื่อจะได้เลือกวิธีในการควบคุมการถูกทำลายในระยะแรกก่อนที่จะมีการระบาด เมื่อพบหนอนให้เก็บกลุ่มไข่ กลุ่มหนอน หรือตัวหนอนออกไปทำลายนอกแปลงปลูกพืช
4) เทคนิคการใช้
- สารปิโตรเลียม ออย ฉีดพ่นในช่วงแสงแดดอ่อน โดยปรับละอองให้เป็นฝอยละเอียด
- เชื้อบีที ฉีดพ่นเมื่อพบหนอนวัย 1-2 ซึ่งมีความยาวของลำตัว ไม่เกิน 1.5 ซม.
5) เมื่อเกิดการะบาดของแมลงศัตรู ใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร



วิธีปฏิบัติเดิมของเกษตรกร
1) ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 0-50 กก./ไร่
2) การใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ อัตรา 50 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
3) การใช้ปุ๋ยเคมี อัตรา 150 กก./ไร่
4) ไม่มีการสังเกตปริมาณแมลงในแปลงปลูกพืช จะฉีดพ่นสารเมื่อพบแมลงศัตรูพืชค่อนข้างมาก


4. ผลการดำเนินการทดสอบเทคโนโลยีเปรียบเทียบกับวิธีเดิมของเกษตรกร
ปี 2549 การทดสอบในเขตภาคกลาง ดำเนินการในแปลงเกษตรกรตำบลสระพังลาน อำเภอ
อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 5 รายๆ ละ 1 ไร่ เปรียบเทียบกับวิธีปฏิบัติเดิมของเกษตรกร ไม่สามารถเก็บข้อมูลจากแปลงทดสอบได้เพราะประสบปัญหาน้ำท่วม ในเดือนตุลาคม 2549
ปี 2550 การทดสอบในเขตภาคตะวันตก ดำเนินการในแปลงเกษตรกรตำบลสระพังลานอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 5 รายๆ ละ 1 ไร่ เปรียบเทียบกับวิธีปฏิบัติเดิมของเกษตรกร เตรียมแปลงปลูกในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2550 ในวิธีปรับปรุง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เฉลี่ย 53 วัน มากกว่าวิธีปฏิบัติเดิมของเกษตรกร 3 วัน ผลผลิตเฉลี่ยรวม 1,896.25 กก./ไร่มากกว่าวิธีเกษตรกร 401.65


ระหว่างการดำเนินงานทดสอบ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประสบปัญหาในการซื้อขายผลผลิตกับบริษัทส่งออก เนื่องจากตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 จนสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้รับซื้อหลัก ได้ระงับการซื้อขายผลผลิตกระเจี๊ยบเขียวจากประเทศไทย ผลผลิตกระเจี๊ยบเขียวจังหวัดสุพรรณบุรี ไม่มีตลาดรองรับ เกษตรกรจึงหยุดการบำรุงรักษาต้นกระเจี๊ยบเขียวไประยะหนึ่ง แล้วจึงกลับมาดูแลรักษาใหม่อีกครั้ง เมื่อมีพ่อค้ามารับซื้อ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่า BCR ในวิธีทดสอบต่ำกว่าวิธีเกษตรกรทั้งที่ได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐานคุณภาพมากกว่า ผลผลิตกระเจี๊ยบเขียวจึงขายตลาดในประเทศซึ่งไม่มีการแบ่งมาตรฐานคุณภาพในราคาเดียวกัน ราคาขายผลผลิตเฉลี่ยจากแปลงทดสอบในจังหวัดสุพรรณบุรี 14.36 บาท


สรุปผลการทดลอง
จากการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตกระเจี๊ยบเขียวในแปลงเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อให้ได้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และเพิ่มปริมาณผลผลิตที่ได้มาตรฐานคุณภาพเพิ่มขึ้น 30% กรรมวิธีที่ใช้ในวิธีปรับปรุง คือ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีและมีการสังเกตุลักษณะอาการผิดปกติของพืชจากการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืช รวมทั้งเทคนิคการใช้สารบีที (Bacillus thuringiniensis : Bt.) และสารปิโตรเลียม ออย เปรียบเทียบกับวิธีปฏิบัติเดิมของเกษตรกร


ผลการทดสอบในจังหวัดสุพรรณบุรี พบว่า การใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 25 กก./ไร่ แบ่งใส่ทุกครั้งพร้อมปุ๋ยเคมีทุก 10 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,896.25 กก./ไร่ สูงกว่าวิธีเดิมของเกษตรเฉลี่ย 401.65 กก./ไร่ ได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐานคุณภาพสูงกว่าวิธีเกษตรกร 53% ใช้ต้นทุนการผลิตรวมเฉลี่ยสูงกว่าวิธีเดิมของเกษตรกร 3,379.4 บาท/ไร่ ค่าอัตราผลตอบแทนการลงทุน (BCR) ต่ำกว่าวิธีเกษตรกร 0.26



การนำไปใช้ประโยชน์
เกษตรกรในพื้นที่ได้เทคโนโลยีที่ใช้เพิ่มผลผลิตที่ได้มาตรฐานในการผลิตกระเจี๊ยบเขียว




เอกสารอ้างอิง
กองกีฏและสัตววิทยา.2542.แมลงศัตรูผักและการป้องกันกำจัด.ในเอกสารวิชาการการอบรมหลักสูตรแมลง-สัตว์ศัตรูพืชและการป้องกันกำจัด ครั้งที่ 10.กองกีฏและสัตววิทยา,กรมวิชาการเกษตร. 138 หน้า
กรมวิชาการเกษตร.2545.กระเจี๊ยบเขียว.ในผลงานวิชาการประจำปี 2545.เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2545 ระหว่างวันที่ 20-22 พฤษภาคม 2545 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จังหวัดชลบุรี หน้า 122-123
กรมวิชาการเกษตร. 2546. เกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับกระเจี๊ยบเขียว. 34 หน้า.
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ. กระทรวงพานิช.
http://www.Ops2.moe.go.th/tradeth/cgihs/Exctr3.asp.
ชลิดา อุณหวุฒิ วิทย์ นามเรืองศรี และบุษบง มนัสมั่นคง.2540.   ประสิทธิภาพของปิโตรเลียม ออย ในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไก่แจ้ส้ม Diaphorina citri Kuwayamaในส้มเขียวหวานและผลกระทบต่อศัตรูธรรมชาติ. รายงานผลการวิจัยปี2540 (บทคัดย่อ). กลุ่มงานวิจัยแมลงศัตรูไม้ผลสมุนไพรและเครื่องเทศ กองกีฏและสัตววิทยา, กรมวิชาการเกษตร. หน้า 396-397
บุญทิวา วาทิรอยรัมย์ และศรีสมร พิทักษ์.2546.แนวทางควบคุมการระบาดของแมลงหวี่ขาวในถั่วเหลือง.
วารสารกีฏและสัตววิทยา ปีที่25 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม – กันยายน 2546 หน้า 207-211
สถาบันวิจัยพืชสวน. 2533. รายงานประจำปี 2533. โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว. หน้า 20
เสาวนิตย์ ไหมมาลา บุปผา เหล่าสินชัย ชลิดา อุณหวุฒิ และวิทย์ นามเรืองศรี.2542. ประสิทธิภาพของ
น้ำมันบางชนิดในการป้องกันกำจัดเพลี้ยหอยในส้มเขียวหวาน. รายงานผลการวิจัยปี2542(
บทคัดย่อ). กลุ่มงานวิจัยแมลงศัตรูไม้ผลสมุนไพรและเครื่องเทศ กองกีฏและสัตววิทยา, กรม
วิชาการเกษตร. หน้า 411-412



ภาคผนวก
ปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ในการทดสอบ ได้จากการนำมูลสัตว์ หมักกับแกลบดำ รำละเอียด และน้ำหมักชีวภาพ (ปลาสด) อัตรา 400 : 100 : 10 : 1 ผสมให้เข้ากัน เติมน้ำสะอาด ตั้งกองให้มีความสูงจากพื้นประมาณ 50 ซม. ทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน จนความร้อนในกองปุ๋ยลดลง จึงนำไปใช้ในแปลงทดสอบ


ที่มา  :  กรมวิชาการเกษตร









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-04-13 (3655 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©