-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 450 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

กล้วยหอม




หน้า: 1/2



ที่มา: http://www.tlcthai.com/webboard/view_topic.php?mode=quote&comment=1&index=0&table_id=1&cate_id=67&post_id=68799

กล้วยหอม

 

           
   คุณลักษณะเฉพาะ
    - มีหลายสายพันธุ์ เช่น  แกรนเนน.  หอมจันทร์.  หอมทองไต้หวัน.
    - สายพันธุ์นิยมมี 2 สายพันธุ์ คือ หอมทอง.  หอมเขียว.
    - ปลูกลึกมิดเหง้าแล้วคลุมทับด้วยเศษพืชแห้งหนาๆ
    - ลงมือปลูกช่วงปลายฝนต่อต้นหนาวจะช่วยให้ต้นโตเร็ว
    - การปฏิบัติขณะขุดแยกจากต้นแม่ การขนย้าย ระวังเหง้าและรากติดเหง้า เหมือนกล้วยไข่
    - ค่อนข้างอ่อนแอต่อน้ำขังแฉะ  แนวทางปฏิบัติและแก้ไขเหมือนกล้วยไข่
    - อายุต้นหลังปลูก 3-4 เดือนจะเริ่มแทงหน่อ  เมื่อหน่อสูง 50-80 ซม.ให้ตัดหน่อเหลือตอสูงจากพื้น 15-20 ซม.และตัดซ้ำทุกครั้งที่หน่อสูง 50-80 ซม.  โดยให้รอยครั้งหลังสูงกว่ารอยตัดครั้งก่อน 5-10 ซม.เสมอ  จนกระทั่งต้นแม่อายุ 7-8 เดือนให้เลือกหน่อชิด 1-2 หน่อที่อยู่คนละด้านกับต้นแม่ เพื่อแทนต้นแม่หลังจากตัดเครือและล้มต้นแม่แล้ว หน่อที่เลือกไว้นี้ไม่ต้องตัดต้นต่อไปอีก ส่วนหน่อตามหรือหน่ออื่นๆให้ตัดต้นตามปกติแล้วขุดแยกออกไปหลังตัดเครือต้นแม่
    - การไว้หน่อเพื่อแทนต้นแม่หลังตัดเครือแล้วสำหรับรุ่นปีต่อไปนั้น  หน่อแต่ละรุ่นควรมีอายุห่างกัน 4-5 เดือนเสมอ
    - อายุต้น ตั้งแต่เริ่มปลูกถึงแทงปลี 7-8 เดือน และตั้งแต่แทงปลีถึงเก็บเกี่ยว 70-80 วัน  หรือตั้งแต่เริ่มปลูกถึงตัดเครือ 10 เดือนครึ่ง
    - ผลผลิตทั่วๆไปอกสู่ตลาดช่วงเดือน ส.ค.- พ.ย.
    - ช่วงที่ยังไม่ออกเครือให้เลี้ยงใบไว้ทั้งหมด แต่ช่วงที่ออกเครือแล้วให้ไว้ใบ 9-10 ใบ  จะทำต้นไม่เฝือใบ  ไม่โทรม  และให้ได้ผลผลิตดี
    - หลังจากตัดปลีแล้ว 20-30 วัน ให้ห่อเครือด้วยถุงโปร่งแสงขนาดใหญ่ เปิดก้นถุง  เพื่อให้ลมผ่านและอากาศถ่ายเท หรือห่อด้วยใบของเขาเอง
    - กล้วยหอมปลูกตื้น ระบบรากมีน้อย  ไม่อาจรับน้ำหนักเครือขนาดใหญ่ได้จึงจำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำต้นเพื่อป้องกันต้นล้ม
    - หลังจากห่อผล 30 วัน ใบบางส่วนจะเริ่มแห้ง ผลกลมไม่มีเหลี่ยม แสดงว่าผลแก่จัดเก็บเกี่ยวได้
    - กล้วยหอมแจ็คพอต หมายถึง กล้วยหอมที่แก่จัดใกล้สุก (ห่าม) หรือสุกพอดีตรงหรือก่อนเล็กน้อยกับช่วงวันสารทจีน. ตรุษจีน. ไหว้พระจันทร์. หรือเชงเม้ง. การปลูกกล้วยหอมให้ได้ผลผลิตตรงกับช่วงเทศกาลดังกล่าวสามารถทำได้โดยการนับระยะอายุจากวันตัดเครือย้อนหลังมาถึงวันที่หน่อยืนต้นได้ 10 เดือนครึ่ง  ให้ลงมือปลูกหน่อกล้วยก่อนวันยืนต้นได้ 2-3 เดือน เพื่อจะได้มีโอกาสตัดต้น 1-2 รอบสำหรับสร้างเหง้าให้ใหญ่  ซึ่งการตัดต้นครั้งสุดท้ายตรงกับวันเริ่มนับอายุปลูก (ยืนต้น) ก็ได้  จากนั้นให้ปฏิบัติบำรุงตามขั้นตอนปกติ  กล้วยหอมต้นนั้นก็จะมีเครือให้ตัดได้ในอีก 10 เดือนครึ่งต่อมาพอดี


กล้วยหอม

 
แหล่งปลูกที่เหมาะสมในการปลูกกล้วยหอมมีสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมขัง มีการระบายน้ำได้ดีมีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดฤดูปลูก มีความอุดมสมบูรณ์ ความเป็นกรด-ด่าง 4.5-7.5 เป็นพื้นที่ที่ไม่มีลมแรง หรือเลือกพื้นที่ที่มีแนวกันลม อุณหภูมิเหมาะสมกับการเจริญเติบโต ประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ไม่ควรต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : ลำต้นเทียมสูง 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 20 เซนติเมตร ตามลำต้นด้านนอกมี ประดำเล็กน้อย ด้านในสีเขียวอ่อน และมีเส้นลายสีชมพู

ใบ
: ก้านใบมีร่องค่อนข้างกว้าง และมีปีก เส้นกลางใบสีเขียว

ดอก
: ก้านช่อดอกมีขนใบประดับรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายแหลม ด้านบนสีแดงอมม่วง มีไข ด้านในสีแดงซีด

ผล : เครือหนึ่งมี 4-6 หวี หวีละ 12-16 ผล ปลายผลมีจุกเห็นชัด เปลือกบาง เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง แต่ที่ปลายจุกจะมีสีเขียว แล้วเปลี่ยนสีภายหลัง เนื้อสีเหลืองเข้ม กลิ่นหอม รสหวาน

พันธุ์
พันธุ์ที่นิยม คือ กล้วยหอมทอง (AAA Group) ให้ผลผลิตสูง รสชาติดี และผลโต

การปลูก

การเตรียมดิน :
ไถดะ 1 ครั้ง ตากดินแล้วไถพรวน 1-2 ครั้ง ให้ดินร่วนซุย ไม่มีวัชพืช ถ้ามีวัชพืชมากกว่าร้อยละ 20 ต้องไถพรวนใหม่

การเตรียมหลุมปลูก:
- ระยะปลูกระหว่างแถวและต้น 2x2 เมตร
- ขนาดหลุมปลูก กว้าง ยาว ลึก 30x30x30 เซนติเมตร
- รองก้นหลุมด้วยดินผสมปุ๋ยอินทรีย์ ด้วย 5 กิโลกรัมต่อหลุม

การเตรียมพันธุ์และการปลูก:
- ใช้หน่อพันธุ์ที่สมบูรณ์ ปราศจากศัตรูพืช มีความยาวหน่อ 25-35 เซนติเมตร มีใบแคบ 2-3 ใบ
- วางหน่อพันธุ์ที่ก้นหลุม จัดวางให้ด้านที่ติดต้นแม่อยู่ในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้มีการออกดอกไปในทิศทางเดียวกัน และสะดวกในการดูแลรักษา
- กลบดินและกดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น คลุมดินด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง และรดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา
การให้น้ำ:
ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดฤดูปลูก เมื่อหน้าดินแห้งต้องให้น้ำ (โดยเก็บตัวอย่างดินจากผิวดินลึก15 เซนติเมตร กำเป็นก้อน ถ้าแบมือแล้วแตกร่วงควรให้น้ำเพิ่มแก่ต้นกล้วย)

การให้ปุ๋ย:
- ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 และ 2 เมื่อกล้วยหอมอายุ 1 และ 3 เดือน ด้วยสูตร 20-10-10 หรือ 15-15-15 หรือสูตร ใกล้เคียงอัตรา 125-250 กรัมต่อต้นต่อครั้ง
- ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 และ 4 เมื่ออายุ 5 และ 7 เดือน ด้วยสูตร 13-13-21 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 125-250 กรัมต่อต้นต่อครั้ง
- ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก) ปีละ 1-2 ครั้ง

การแต่งหน่อ:
หลังจากปลูกกล้วยประมาณ 5 เดือน ให้แต่งหน่อ เพื่อให้ต้นแม่มีความสมบูรณ์

การค้ำยันต้น:
ต้องใช้ไม้ค้ำยันหรือดามกล้วยทุกต้น ที่ออกปลีแล้ว เพื่อป้องกันลำต้นหักล้ม และตรวจดูการค้ำยันให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง

การหุ้มเครือ และตัดใบธง:
การหุ้มเครือกระทำหลังจากตัดปลีไม่เกิน 15 วัน เพื่อให้ผิวกล้วยสวย และป้องกันแมลงทำลายด้วยถุงพลาสติกสีฟ้า แบบเปิดด้านล่าง โดยหุ้มทั้งเครือ และหุ้มทุกเครือ ส่วนการตัดใบธง ตัดเมื่อใบธงเริ่มหักก่อนที่จะเสียดสีกับผิวกล้วย



โรคที่สำคัญ

โรคตายพราย (Panama disease)
เกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum f. cubense

อาการ:
มักเป็นกับกล้วยที่มีอายุ 4-5 เดือนขึ้นไป ลักษณะอาการของกล้วยที่เพิ่งจะเป็นโรคนี้ สังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากเชื้อของโรคจะทำลายลำต้นด้านรากก่อน และเจริญอย่างรวดเร็วไปตามท่อน้ำของลำต้น อาการในช่วงนี้จะสังเกตเห็นเป็นทางสีเหลืองอ่อนตามก้านใบของใบล่างหรือใบแก่ ปลายหรือขอบใบจะเริ่มเหลืองและขยายไปอย่างรวดเร็วจะเหลืองหมดทั้งใบ ใบอ่อนจะมีสีเหลืองไหม้หรือตายนึ่ง และบิดเป็นคลื่นในที่สุดจะหักพับตรงบริเวณโคนก้านใบ ส่วนใบยอดอาจจะเหลืองตั้งตรงเขียวอยู่ในระยะแรก แต่ในที่สุดก็จะแห้งตายไปเช่นกัน

อาการที่บริเวณลำต้น โดยเฉพาะตรงส่วนโคนต้นหรือเหล้าของกล้วย เมื่อผ่าดูภายในจะพบแผลเน่าเป็นจุดสีเหลืองอ่อนจนถึงน้ำตาลแก่หรือแดงส้ม และมีกลิ่นเหม็น ส่วนบริเวณลำต้นที่เรียกว่า กาบกล้วย เมื่อนำมาตัดขวางจะพบเป็นรอยช้ำ เน่า สีน้ำตาลเข้มหรือดำ อาการดังกล่าวจะค่อย ๆ ลามเข้าไปข้างในต้นกล้วยจะยืนต้นแห้งตาย หากเป็นกล้วยที่ให้ผลแล้ว เครือจะเหี่ยวผลลีบเล็กไม่สม่ำเสมอ และแก่ก่อนกำหนด เนื้อจะจืดซีดและเปลี่ยนเป็นสีดำ

การป้องกันกำจัด :
- คัดเลือกหน่อพันธุ์กล้วยจากบริเวณที่ไม่เป็นโรคไปปลูก
- มีการปรับสภาพของดินที่เป็นกรดโดยการใส่ปูนขาว อัตราที่ใช้ประมาณไร่ละ 4-5 ตัน
- หมั่นทำความสะอาดแปลงปลูกและเครื่องมือเครื่องใช้อยู่เสมอ เนื่องจากเชื้อชนิดนี้สามารถแพร่ กระจายได้ง่าย
- ทำลายต้นกล้วยที่เป็นโรค โดยการสุมไฟเผาหรือขุดหลุมฝังให้ลึกอย่างน้อย 3-4 ฟุต
- หลักเลี่ยงการปลูกในหลุมเดิมที่เคยปลูกมาแล้ว
- ควรลดธาตุไนโตรเจนให้น้อยลง การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากจะทำให้พืชอ่อนแอเชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย
- ทำความสะอาดโคนกอกล้วยอย่าให้เกิดรกรุงรัง และทำทางระบายน้ำให้ดี และราดโคนต้นให้ชุ่มด้วย สารเคมี เช่น แคปแทน 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร


โรคใบจุด

เกิดจากเชื้อราหลายชนิด เช่น Cecospora musae, Phyllosticma musarum, Guignardia musae ฯลฯ

ลักษณะอาการ:
เมื่อเริ่มเป็นจะเป็นจุดขนาดเล็ก สีเหลือง สีแดง ดำ หรือน้ำตาลขึ้นอยู่กับเชื้อสาเหตุ แล้วจะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้กล้วยชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง ผลสุกก่อนกำหนด รสชาติหรือคุณภาพเสียไป

การป้องกันกำจัด:
ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น เบนโนมิล อัตรา 8 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแคปแทน อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์เบนดาซิม อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นต้น

ตัดใบที่เป็นโรคมากออกมาเผาทำลาย

โรคใบเหี่ยว (Bacterial wilt)
เกิดจากเชื้อบักเตรี Pseudomonas solanacearum จะอยู่ทั้งในดินบริเวณโคนต้นและในส่วนของกล้วยเป็นโรค จะแพร่กระจายไปกับน้ำและติดไปกับหน่อพันธุ์

ลักษณะอาการ:
ใบกล้วยจะเป็นสีเหลือง เหี่ยวเฉา และอาจห้อยลงมา แต่เมื่อพบเห็นอาการนี้โรคจะอยู่ในระยะรุนแรงมากแล้ว โดยทั่วไปเมื่อโรคเริ่มเป็น จะพบว่าเนื้อเยื่อของกาบลำต้น เหง้า (ลำต้นแท้) ก้านใบ ก้านเครือ มีท่อน้ำท่ออาการถูกทำลาย เป็นสีน้ำตาล เมื่อผ่าออกจะมีของเหลวเหนียวเป็นยางไหลออกมา โรคนี้จะทำให้ต้นกล้วยค่อย ๆ ตายไป ถ้าเป็นในระยะออกเครือจะทำให้ผลอ่อนสุกก่อนกำหนด ขนาดเล็กเท่านิ้วมือปะปนกับผลอ่อนที่ยังเขียวอยู่ เมื่อเป็นในระยะต้นอ่อน ใบจะเป็นสีเหลืองมีขอบใบแห้งอยู่โดยรอบ แคระแกรน ไม่เจริญเติบโต

การป้องกันกำจัด:
ทำความสะอวดเครื่องมือเกษตร เช่น มีด จอบ เสียม ต้องระมัดระวังอย่าใช้มีดที่ตัดแต่งจากกล้วยกอหนึ่งไปยังอีกกอหนึ่ง เพราะจะเพิ่มการระบาดของโรค กล้วยที่เป็นโรคต้องขุดทิ้ง นำไปเผาไฟ แล้วราดหลุมด้วยฟอร์มาลิน 5 เปอร์เซ็นต์
แช่หน่อพันธุ์ปลูกด้วยฟอร์มาลิน 5 เปอร์เซ็นต์


ที่มา  :  กรมวิชาการเกษตร



กล้วยหอมในเมนูไดเอ็ทของสาวญี่ปุ่น

อยู่ในฐานะ “ผลไม้คู่บ้าน” มานมนาน เพิ่งจะมีปีที่แล้วนี่เองที่นับว่าเป็นปีทองของ “กล้วย” โดยเฉพาะกล้วยหอม(ทอง) ความดีความชอบต้องยกให้ “อะสะบานาน่า ไดเอ็ท” โปรแกรมลดน้ำหนักสุดฮอตจากแดนซากุระ ที่มี “กล้วยหอมทอง” เป็นเมนูหลัก หากอยากผอม วันหนึ่งต้องไม่ต่ำกว่าสองลูก  ในวงเล็บว่า ญี่ปุ่นปลูกกล้วยเองไม่ได้ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ต้องนำเข้า ดังนั้นราคาต่อการปอก 1 ครั้งจึงเอาการอยู่ (ราวๆ 30-100 บาทต่อแพ็ค 4 ลูก)ราคานั้นที่เมืองไทยอิ่มได้หลายหวี ประกอบกับเรดาจับเทรนด์ของสาวไทย ไวเสมอ โดยเฉพาะเรื่องผอมๆสวยๆ และถูก อย่างนี้  และหนึ่งในต้นทางกล้วยหอมทองก็ยังอยู่ที่นี่ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี จุดขายอยู่ที่สัดส่วนอวบอัด เหลืองอร่าม รสหวาน เนื้อแน่น แถมเป็นกล้วยปลอดสารพิษอีกต่างหาก  ไม่ใช่โรงงาน หรือสวนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ทำกันแบบรวมไร่เล็กไร่น้อย ทว่าเข้มแข็งภายใต้แบรนด์ “สหกรณ์การเกษตรท่ายาง” ที่ตอนนี้อู้ฟูล่ำซำ รับออเดอร์สั่งซื้อกล้วยล่วงหน้าจากญี่ปุ่นไปถึงปี 2553 แล้ว ประมาณ 1,700 ตัน มูลค่าเหนาะๆ แค่ 70 ล้านบาทเอง


หอมไปถึงญี่ปุ่น
ห่างจากตัวเมือง 30 กิโลเมตร อำเภออากาศร้อนชื้น ฝนตกชุกแห่งนี้ มีของดีอยู่ 2 อย่างคือ มะนาวกับกล้วย ซึ่งแบ่งเป็น กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า และกล้วยหอม ซึ่งก็ซอยย่อยได้อีกสอง คือ กล้วยหอมทอง กับกล้วยหอมเขียว
 

เจ้าถิ่นเดิม คือ กล้วยหอมเขียว ซึ่งป้าแอ๊ว หรือ เสริ่น ขวัญเมือง เจ้าของไร่อ้อยวัย 63 และหนึ่งในสมาชิกสหกรณ์การเกษตรท่ายาง บรรยายสรรพคุณว่า ถึงสุกแล้วเปลือกยังสีเขียว รสชาติอร่อย หอมกว่ากล้วยหอมทอง แต่ด้วยรูปลักษณ์ดิบๆ ภายนอก คนจึงไม่ค่อยนิยม 


มาทีหลังดังกว่าอย่าง กล้วยหอมทอง ป้าแอ๊วจำไม่ได้แล้วว่า เอาหน่อมาจากไหน รู้แต่ว่าคนท่ายางเริ่มขนกันมาทีละร้อยสองร้อยหน่อ ชาวสวนหัวการค้าอย่างป้าจึงเอากับเขาด้วย กล้วยหอมเขียวจึงเฟดตัวออกไปอย่างเงียบๆ จนเดี๋ยวนี้หากินไม่ได้แล้ว


กล้วยหอมทองครองตลาดท่ายางมากขึ้น เดินสายไปตามตลาดนัด ตลาดเร่ ขนกันไปทีละเข่งสองเข่ง สมัยนั้นกล้วยหอมเดินทางไปไกลที่สุดก็แค่กรุงเทพฯ
ตัดสลับไปที่ญี่ปุ่น แม้จะไม่สามารถปลูกกล้วยได้เอง แต่ชาวอาทิตย์อุทัยกับผลไม้ชนิดนี้ รู้จักกันมาหลายสิบปีแล้ว ในฐานะผลไม้คู่บ้าน  กินกันวันละ 1 ลูกต่อคน  ประชากรทั่วประเทศญี่ปุ่นมีประมาณ 120 ล้านคน ยอดนำเข้ากล้วยหอมตอนนี้อยู่ที่ 1 ล้านตันต่อปี 90 เปอร์เซ็นต์มาจากฟิลิปปินส์ อีก 5-6 เปอร์เซ็นต์อุดหนุนโซนอเมริกาใต้ ส่วนที่เหลือเฉลี่ยกันไปหลายประเทศร้อนชื้นฝนตกชุก


กล้วยคุ้นลิ้นนั่นเป็นพันธุ์ Cavendish ซึ่งปลูกกันในไร่ขนาดใหญ่เป็นอุตสาหกรรม หากระยะหลังๆ กระแสรักสุขภาพเข้ามามีอิทธิพลเหนือราคา จึงมีการเสาะแสวงหา กล้วยหอมปลอดสารพิษ ราคาเป็นมิตรต่อเกษตรกร(รายย่อย)กล้วยหอมทองของไทยจึงได้โกอินเตอร์


อ่อนหวานและอวบอัด
18 ปีที่แล้ว สหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี ได้รับการติดต่อจาก มร.ฮิโรยูกิ ยามาโมโต้ อดีตประธานกรรมการสหกรณ์ผู้บริโภคโตโต้ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมาพร้อมความต้องการทานกล้วยหอมทองปลอดสารพิษ เจาะจงว่าต้องเป็นกล้วยหอมพันธุ์ Gros Michel 


กรมวิชาการเกษตรในฐานะคนกลางก็ประสานมายังอำเภอท่ายาง ในฐานะดงกล้วยหอมของประเทศ จากที่เคยปลูกขายกันแบบบ้านๆ ชาวสวนจึงต้องปรับวิธีปลูกให้มีมาตรฐานมากขึ้น ทั้งในแง่คุณภาพและเทคโนโลยี จนส่งออกไปขายที่ญี่ปุ่นครั้งแรกในปี 2535 ในปริมาณ 6 ตันหรือ 1 ตู้คอนเทนเนอร์
แต่ญี่ปุ่นไม่ได้แค่รอรับของที่ปลายทาง หากส่งเจ้าหน้าที่มาควบคุมคุณภาพกันตั้งแต่เตรียมดินปลูกกล้วยกันเลยทีเดียว 

อาคม คงกะเรียน หัวหน้าฝ่ายการตลาด สหกรณ์การเกษตรท่ายาง เล่าให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่แดนซากุระจะลงแปลงด้วยตัวเองคู่กับผู้ตรวจจากสหกรณ์ฯ พร้อมกับข้อปฏิบัติยาวเหยียด เช่น ต้องปลูกกล้วยล้วน ห้ามผสมหรือสลับกับพืชอื่น , ใช้ได้แต่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ถ้ามีโรคหรือแมลง ใช้ได้แค่สารสกัดจากธรรมชาติ และขยายพันธุ์ด้วยหน่อเท่านั้น ห้ามเพาะเนื้อเยื่อ เพราะสามารถตัดแต่งพันธุกรรมได้  "เจอเข้ากับรายละเอียดอย่างนี้ ชาวสวนหลายคนก็ถอยหลังไปเหมือนกัน" แต่อาคมยืนยันว่า ไม่มาก พอเตรียมดิน เตรียมไร่เสร็จ แปลงดังกล่าวก็จะถูกนำเข้าระบบข้อมูล เช็คว่ามีกี่ต้น เพื่อคำนวณว่าอีก 9 เดือนข้างหน้า (อายุเก็บเกี่ยว) จะมีกล้วยพร้อมส่งออกทั้งหมดเท่าไหร่ จะได้ไม่มีปัญหาของขาดหรือกล้วยล้นตลาด  ปีนี้ยอดสั่งซื้อจากญี่ปุ่นอยู่ที่ 800 ตัน ปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ตัน เฉลี่ยแล้วออเดอร์เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 25-30 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเทียบสัดส่วนกับฟิลิปปินส์ กล้วยหอมทองจากไทยยังน้อยมาก แค่ 0.8 เปอร์เซ็นต์ หรือ อันดับ 8 จากประเทศที่ส่งออกกล้วยไปญี่ปุ่นทั้งหมด  "แต่รสชาติของเราดีกว่า หวานน้อยกว่า เนื้อแน่นกว่า แต่เปลือกบางกว่า เก็บไว้ไม่ได้นาน แถมราคาก็แพงกว่าด้วย" กระนั้น ความนิยมในกล้วยหอมไทยๆ ยังทะยานไม่หยุด ในฐานะ "กล้วยมีระดับ" แพ็ค 4 ลูก ต่ำสุดที่ 200 บาท...ที่ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่น


ของดี มีขายเฉพาะที่...
"ต้องสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ตครับ"  ภาษาไทยสำเนียงปลาดิบจาก เคนจิ มาซากิ ประธานบริษัท ออเทนโต้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทลูกที่ทำหน้าที่ประสาน ดูแลผลผลิต (กล้วย) ณ ต้นทาง ของสหกรณ์ผู้บริโภค วาโกเอน (wagoen) (ชื่อเดิมของสหกรณ์ฯ โตโต้) อธิบายต่อว่า กล้วยทุกแพ็คจะมีบาร์โค้ดหรือซีเรียลนัมเบอร์ เก็บข้อมูลไว้โดยละเอียดว่า ปลูกที่ไหน ปลูกโดยใคร และปลูกอย่างไรจนกว่าจะมาเป็นผลให้ได้ปอกเปลือกกิน ในฐานะลูกอาทิตย์อุทัยคนหนึ่ง มาซากิ ซึ่งเกิดและเติบโตในโตเกียว กินกล้วยมาตั้งแต่จำความได้ เมนูหลักคือ กล้วยแกล้มนมสด...ทุกวัน ไม่ตอนเช้าก็ตอนเย็น เพื่อนๆ เขาบางคนก็เอาไปกินกับมื้อกลางวัน "ส่วนใหญ่กินวันละ 1 ลูก เป็นผลไม้ที่ต้องมีไว้ในบ้าน ถือว่าเป็นผลไม้ที่ popular ที่สุด เพราะสารอาหารเยอะ ให้พลังงาน  ราคาไม่แพง กินง่ายแค่ปอกเปลือก เด็กๆ ไม่มีฟันก็กินได้"  มร.มาซากิ เพิ่มเติมว่า ผลไม้ 40 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่นปลูกได้เอง เช่น แอปเปิล สตรอว์เบอร์รี ส้ม ซึ่งมีแต่หน้าหนาว ส่วนที่เหลือพึ่งการนำเข้าทั้งหมด และเมื่อเทียบราคากันแล้ว ผลไม้นำเข้าบางชนิด (โดยเฉพาะกล้วย) ยังถูกกว่าของที่ปลูกได้ในประเทศเสียอีก ถ้าคิดเป็นเงินเยน อย่างถูกที่สุด ประมาณ 4 ลูก 100 เยน (30 บาท) แพงที่สุด 300 เยน (100 บาท) ขณะที่ ราเมน 1 ชาม ราคา 500-600 เยน พอๆ กับอาหารเย็น 1 เซต  ปีที่แล้ว มาซากิ กับลูกทีมในออเทนโต้ ต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ เนื่องจากกระแสลดความอ้วนด้วยกล้วย กำลังบูมสุดๆ  "กล่องข้าวทำช่องสำหรับใส่กล้วยโดยเฉพาะ หรือไม่ก็เป็นกล่องใส่กล้วยเลย ไม่พกข้าวไปกิน" แต่ตอนนี้ มาซากิ บอกว่า ยอดสั่งซื้อยังคงที่ ไม่ตกลงตามกระแส โดยเฉพาะกล้วยรักสุขภาพจากเมืองไทย ที่ต้องสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น  ซีอีโอออเทนโต้ เล่าที่มาที่ไปว่า สหกรณ์วาโกเอน ซึ่งเน้นจำหน่ายพืชผลต่างๆ ในแก่สมาชิกทางอินเทอร์เน็ต อยากทำธุรกิจแนวคิดใหม่ แบบ Social Business ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น 

"ที่ฟิลิปปินส์ปลูกเยอะ ราคาถูกก็จริง แต่เราก็คิดว่า ถ้าราคาถูกอย่างนี้ เกษตรกรรายเล็กจะอยู่ไหวหรือเปล่า สิ่งแวดล้อมก็ไม่ดีด้วย ไหนจะปัญหาโลกร้อนอีก ถ้าเราทำแบบปลอดสารพิษ สภาพแวดล้อมก็จะดีขึ้น ได้ช่วยเหลือเกษตรกรที่เขาปลูกแค่ไร่สองไร่ ที่สำคัญได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วย" แต่มาซากิแอบกระซิบว่า จริงๆ แล้วเขาชอบกล้วยไข่มากกว่า เสียแต่ต้องกินหลายลูกถึงจะอิ่ม แต่ถึงจะเป็นการซื้อขายที่ห่วงโลกร้อนแค่ไหน โลกร้อนก็วกกลับเข้ามาทำร้ายกล้วยจนได้  "ช่วงหลายเดือนก่อนที่หนาวมาก เดี๋ยวก็น้ำท่วมสลับกับร้อนแล้ง ทำให้กล้วยลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราเองก็อธิบายกับทางญี่ปุ่นลำบาก จริงๆ เขาก็ฟังนะเรื่องโลกร้อน แต่เขาก็ตั้งคำถามกลับมาว่า ทำไมเราไม่เตรียมตัวจัดการล่วงหน้า" จิตราพร มูลละออง เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานและดูแลผลิตภัณฑ์ จาก บ.ออเทนโต้ ร่วมเล่า เหตุผลที่โลกร้อนค่อนข้างเบาหวิวในสายตา ญี่ปุ่น จิตราพรเผยว่า ที่โน่นอุณหภูมิค่อนข้างคงที่ เกษตรกรรมที่นั่นไม่ค่อยพึ่งพาธรรมชาติเท่าเทคโนโลยี


อร่อยด้วยขี้ไก่
ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายที่บาร์โคดกล้วยหอมทองของ ป้าแอ๊ว หรือ เสริ่น ไม่ได้ลงรายละเอียดลึกถึงขั้นว่า ใช้ขี้ไก่มาเป็นปุ๋ย  "กล้วยป้า กล้วยขี้ไก่เลยนะ" คนเล่าหัวเราะเอิ๊กอ๊าก ไม่ใช่สักแต่ว่าใส่ แต่เพราะทดลองซ้ำหลายครั้ง ทั้งเคมี ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ก็พบว่าของดีที่แท้ ต้องมาจากไก่เท่านั้น 8 ปีที่แล้ว ก่อนจะมาเป็นสมาชิกสหกรณ์ ป้าแอ๊วผ่านการปลูกมาสารพัด ไม่ว่าจะเป็นมะนาว ชมพู่ ถั่ว มะเขือ มะระ กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า ฯลฯ ทุกอย่างป้าให้ "ยา" หมด  "โอ๊ย ไม่ใช้ยามันจะไม่ไหว มันจะไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าเราใช้ ของมันจะดี สวย" ป้าเผยความคิดที่เคยฝังหัว "ก็รู้อยู่นะว่ามันอันตราย แต่ถ้าไม่ใช้ มะเขือมีหนอน มีรู มันก็ขายไม่ได้"  แต่คนปลูกป้องกันตัวเองดีมาก นอกจากจะกินพืชผักในแปลง (ปลอดสาร) ที่แยกไว้ต่างหาก ทุกครั้งหลังฉีดยาเสร็จจนตัวชุ่มโชก ป้าแอ๊วจะกลับบ้านน้ำทันที ขัดสีฉวีวรรณให้ทุกซอกทุกมุม ตบท้ายด้วยการกินน้ำเกลืออุ่นๆ สักแก้ว  "ถ้าลูกหลานมาที่บ้าน อยากกินอะไร ป้าก็จะบอกว่า จะกินก็กินเลยนะ เดี๋ยวพรุ่งนี้จะฉีดยาแล้ว"  จนเมื่อโปรเจคกล้วยหอมทองปลอดสารพิษเข้ามาทางสหกรณ์ ด้วยความรู้สึกผิดที่เรื้อรังมานาน ป้าแอ๊วจึงตัดสินใจเอา 14 ไร่ของตัวเองเข้าร่วมทันที จนถึงทุกวันนี้ก็ทำรายได้ให้อย่างน้อยๆ เดือนละ 20,000 บาท  ทุกวันนี้ป้าแอ๊วสบายใจมากขึ้นที่คนกินกล้วยของป้าทั้งอร่อย ทั้งปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง  เหลือบมองที่มุมบ้าน เห็นกล้วยหอมเครือใหญ่วางพิงไว้เหลืองอร่าม เลยถามป้าว่า ปลูกเอง กินเอง ..เบื่อไหม คนตอบได้แต่ยิ้มๆ พร้อมกับยกมาหลายหวีให้ลองชิม เท่านั้นไม่พอ ยังจะยัดเยียดให้ใส่ถุงกลับบ้าน   "มันเบื่อ (หัวเราะ) แรกๆ ก็ชอบนะ เก็บกินในไร่เลย แต่เดี๋ยวนี้น่ะเหรอ เฉาะให้กากิน ตักบาตรพระยังไม่ค่อยอยากฉันท์เลย" ป้าอารมณ์ดีตบท้ายด้วยเสียงสูง...


"แต่อร่อยจริงๆ นะ" ...ป้ารับประกัน


ที่มา  :  กรุงเทพธุรกิจ




ลุยดงกล้วยหอมทองส่งออก

ช่วงเดือนเมษายน 2552 นี้ มีวันหยุดยาวอยู่ 2 ช่วงครับ คือวันที่ 4-6 เมษายน ซึ่งวันที่ 6 เมษายนนั้นเป็นวันจักรีตรงกับจันทร์  และอีกช่วงหนึ่งคือช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หยุด 5 วัน ระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน ตอนนี้หลายท่านก็คงเก็บเงินเก็บทอง เตรียมกลับบ้านเกิด เพื่อไปรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือกัน อีกส่วนหนึ่งคิดจะอยู่กับบ้าน เบื่อรถติด รอลูกหลานมารดน้ำดำหัวที่บ้าน


 ตอนที่โต๊ะข่าวเกษตร "คม ชัด ลึก" จัดโครงการเกษตรทัศนศึกษาไปยัง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา หลายท่านสนุกสนานและได้ความรู้เกี่ยวการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ และได้ซื้อได้ชิมมะม่วงพันธุ์ดอกไม้ระดับส่งออกไปถึงในสวนกันเลยครับ ถึงขนาดหลายท่านเสนอให้ "โต๊ะข่าวเกษตร "คม ชัด ลึก" จัดโครงการเกษตรทัศนศึกษาอีกไปยัง จ.เพชรบุรี เพื่อไปดูกระบวนการปลูก การจัดเตรียมส่งกล้วยหอมทองปลอดสารพิษ เพื่อส่งออกไปญี่ปุ่น


ผมเห็นว่าช่วงวันที่ 4-6 เมษายนนี้มีวันหยุดหลายวัน จึงคิดว่าจะจัดโครงการเกษตรทัศนศึกษาไปยัง จ.เพชรบุรีกันในวันอาทิตย์ที่ 5 เมษายนนี้ครับ ไปในลักษณะที่ไปเช้า-กลับเย็น ใครที่คิดว่าไม่อยากไปไหนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมคณะเดินทางไปเพชรบุรีด้วยกันได้ครับ งานนี้ได้ทั้งความรู้ และพักผ่อน รับประทานอาหารอร่อยๆ ซื้อของสดจากสวนในราคาที่ถูก แต่ละจุดที่เราจะไปดูงาน มีวิทยากรบรรยายด้วย


ภายในอาทิตย์นี้ทีมงานจะไปสำรวจพื้นที่ครับ สถานที่เรากำหนดเบื้องต้นคือ ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทราย ต.สามพระยา อ.ชะอำ สวนสมุนไพรนานาชนิด การเลี้ยงปลากระพงในบ่อธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงปูม้าในบ่อดิน และอาจมีกิจกรรมนั่งเรือไปปล่อยลูกปูสู่ธรรมชาติด้วย นอกจากนี้จะไปชมสวนชมพู่เพชร การปลูกมะนาวให้ออกผลนอกฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนที่ผลมะนาวแพงถึงผลละ 6 บาท


ที่ขาดไม่ได้ของงานนี้ ถึงอย่างไรก็ต้องไปนั่นคือ ไปศึกษางานด้านการปลูกกล้วยหอมทองปลอดสารส่งญี่ปุ่น เราจะไปดูงานประเภทครบวงจรไปเลย ทั้งวิธีการปลูกแบบปลอดสารพิษ การดูแล การเก็บเกี่ยว การคัด การฆ่าแมลง การแพ็ก ที่สหกรณ์ท่ายางกล้วยหอมทองส่งออก จำกัด


พูดถึงสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด จ.เพชรบุรี ดำเนินการส่งออกกล้วยหอมทองปลอดสารพิษไปยังประเทศญี่ปุ่น มานานถึง 17 ปีแล้วครับ เป็นการดำเนินงานที่เป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกสมาชิกเข้าร่วมโครงการ การวางแผนการผลิตให้แก่สมาชิก การจัดเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และความชำนาญเข้าไปดูแลตั้งแต่การเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูก จนถึงการเก็บผลผลิต รวมทั้งมีการประกันราคาผลิตผลด้วย


ส่วนทางด้านการตลาด ได้มีการติดต่อและทำสัญญาซื้อขายระหว่างสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด กับสหกรณ์ผู้บริโภคโตโต้ ประเทศญี่ปุ่นโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหรือบริษัทส่งออก ทำให้การผลิตกล้วยหอมทองปลอดสารพิษมีคุณภาพตามความต้องการของผู้ซื้อ ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรแล้ว ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงด้วย


 

"ดลมนัส  กาเจ"


ที่มา  :  คม ชัด ลึก




หน้าถัดไป (2/2) หน้าถัดไป


Content ©