-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 668 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ปุ๋ยเคมี








“ปุ๋ยสั่งตัด”  ช่วยเกษตรกรได้อย่างไร ?



“การเกษตรเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ไสยศาสตร์” ทุกสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงกันและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีนั่น เพราะมีนี่ ทำสิ่งนั้น จึงเกิดสิ่งนี้ จึงต้องไม่คิดแบบแยกส่วน หรือคิดแบบเหตุเดียวผลเดียว เพราะหนึ่งผลมาจากหลายเหตุ ต้องคิดอย่างเป็นระบบให้เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม


พืชทุกชนิดอยู่ภายใต้ “กฎธรรมชาติ” เจริญเติบโตได้ดี และให้ผลผลิตสูง ก็ต่อเมื่อเกษตรกรมีความรู้ความสามารถในการจัดการให้เกิด “ความลงตัวพอดี” ระหว่างพันธุ์พืชที่ปลูกกับปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดิน ปุ๋ย น้ำ วัชพืช โรค แมลง ฯลฯ แต่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม นอกจากจะอยู่ภายใต้ “กฎธรรมชาติ” (เกิด แก่ เจ็บ ตาย) เช่นเดียวกับพืชแล้ว ยังอยู่ภายใต้ “กฎมนุษย์” อีกด้วย


เกือบทุกประเทศในโลกปัจจุบันอยู่ภายใต้ “กฎมนุษย์” ที่เรียกว่า “ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี” ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ “คนแข็งแรง” เป็นผู้กำหนด จึงสร้าง “โอกาสทอง” ให้เฉพาะ “คนที่เข้มแข็ง” เท่านั้น ขณะที่เกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่อ่อนแอย่อมเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น เพราะการแข่งขันมีแนวโน้มนับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้น


เกษตรกรต้องแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพ รวมทั้งการกีดกันทางการค้า เกษตรกรจึงต้องเร่งพัฒนาตนเองให้เป็น “มืออาชีพ” เร็วที่สุด คือ ทำการเกษตรอย่างมีเป้าหมายชัดเจนและท้าทาย มีจินตนาการกว้างไกล มีหลักคิดถูกต้อง มีความรู้และทักษะพอเพียง และใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนจนถึงการนำแผนไปปฏิบัติ


เกษตรกรส่วนใหญ่ต่างคนต่างอยู่ องค์กรเกษตรกรก็ไม่เข้มแข็ง จึงไม่มีบทบาทในการกำหนดราคาขายผลผลิต ฉะนั้น หนึ่งในเป้าหมายลำดับแรกๆ ของเกษตรกรควรอยู่ที่การลดต้นทุนการผลิต เพราะเกษตรกรสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองทันที โดยเริ่มจากการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนการผลิตในฤดูปลูกที่ผ่านมา แล้วกำหนดเป้าหมายต้นทุนการผลิตในฤดูปลูกต่อไปว่า ต้องการลดลงเท่าไร? จะลดค่าใช้จ่ายในส่วนไหน? และจะใช้วิธีการอย่างไร?


เทคโนโลยีการผลิตและระบบการจัดการสำหรับใช้ผลิตสินค้าเกษตร เพื่อให้มีคุณภาพและปริมาณตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งมีต้นทุนที่แข่งขันได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนขั้นพื้นฐานของเกษตรกร


ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าที่สร้างขึ้นใหม่ไม่ได้ และเปรียบเสมือนรากฐานชีวิตของเกษตรกร เป็น “ทุน” ที่สำคัญในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในบรรดาปัจจัยที่ใช้ในการผลิตพืช ดินเป็นสิ่งที่เกษตรกรรู้จักน้อยที่สุด เกษตรกรจึงขาดความตระหนักถึง “คุณค่า” ของดิน


สาเหตุที่เกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องดิน อาจเนื่องจากความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของดิน ได้แก่ อินทรียวัตถุ แร่ธาตุ น้ำ และอากาศ มีความซับซ้อน อธิบายให้เข้าใจได้ยาก อีกทั้งความสัมพันธ์เหล่านั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งที่อยู่ในดินและบนดิน


นอกจากนั้น ดินยังมีศักยภาพ (พลัง) และข้อจำกัดที่แตกต่างกันในการใช้เพาะปลูกพืช กรมพัฒนาที่ดินได้ใช้สมบัติที่เปลี่ยนแปลงได้ยากของดินสำหรับจำแนกดินในพื้นที่การเกษตรของประเทศไทย และพบว่ามีมากกว่า 200 ชุดดิน (Soil series)


ถึงแม้ว่าชื่อชุดดินจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความอุดมสมบูรณ์ของดินเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เพียงแต่เปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก หรือเปลี่ยนวิธีการจัดการดิน เกษตรกรจึงควรตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดินก่อนการใส่ปุ๋ย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยให้สูงขึ้น


นอกจากเรื่องดินแล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องปุ๋ย สับสนในความแตกต่างระหว่างปุ๋ย (อาหารพืช) กับสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช (ยา) ปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยชีวภาพ และขาดความเข้าใจถึงหน้าที่ (ประโยชน์) ของปุ๋ยแต่ละประเภท จึงตกเป็นเยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อได้ง่าย อีกทั้งการส่งเสริมด้านดินและปุ๋ยของบางหน่วยงานก็ผิดทิศผิดทาง


ดินดีหรือดินเลวต้องดูที่ไหน? และจะปรับปรุงแก้ไขดินที่มีปัญหาได้อย่างไร?

ในทางวิชาการ “คุณภาพของดินในการปลูกพืช” เรียกว่า “ผลิตภาพของดิน” ต้องพิจารณาทั้ง 4 องค์ประกอบ ดังนี้


1. ความอุดมสมบูรณ์ของดิน
บ่งบอกถึงปริมาณธาตุอาหารในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ถ้ามีเพียงพอ เรียกว่า ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่ถ้าขาดแคลน เรียกว่า ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แนะนำให้ปรับปรุงโดยการใช้ปุ๋ยเคมี เพราะเมื่อพิจารณาเฉพาะธาตุอาหารพืชเป็นหลักแล้ว การใช้ปุ๋ยเคมีจะให้ผลคุ้มค่ากว่าปุ๋ยอินทรีย์


2. สมบัติทางกายภาพของดิน
ได้แก่ ความโปร่งร่วนซุย ความแข็ง และความแน่นทึบของดิน ซึ่งมีผลต่อการถ่ายเทอากาศและการระบายน้ำของดิน และส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของรากพืช รวมทั้งการดูดน้ำและธาตุอาหาร


ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ถ้าสมบัติทางกายภาพของดินไม่ดี รากพืชจะไม่เจริญเติบโต ดูดน้ำและธาตุอาหารได้ไม่เต็มที่ ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ปุ๋ยที่เหลือจะถูกชะล้างไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ และสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา


การแก้ไขสมบัติทางกายภาพของดินทำได้โดยใช้วัสดุปรับปรุงดิน เช่น ไถกลบเศษซากพืชลงไปในดิน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปลูกพืชปุ๋ยสด การใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพสูงจึงจำเป็นต้องปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินให้ดีเสียก่อน


3. สมบัติทางเคมีของดิน
เช่น ความเป็นกรด-ด่าง ความเค็มของดิน หรือสารพิษต่างๆ ที่เกิดขึ้นในดิน ฯลฯ ถ้าสมบัติเหล่านี้ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของรากพืช ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการดูดน้ำและธาตุอาหารของรากพืช ประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ยเคมีจึงขึ้นอยู่กับสมบัติทางเคมีของดินด้วย


ตัวอย่างของการแก้ไขสมบัติทางเคมีของดิน ถ้าดินเป็นกรดรุนแรง แนะนำให้ใช้วัสดุจำพวกปูน เช่น ปูนมาร์ล หินปูน ปูนโดโลไมต์ ปูนขาว ฯลฯ แต่ถ้าเป็นดินเค็ม มีเกลืออยู่มาก ให้ล้างเกลือด้วยน้ำ เพื่อเอาความเค็มออกไปก่อน พืชจึงจะเจริญเติบโตได้เป็นปรกติ


ดินที่มีทั้งความอุดมสมบูรณ์สูงและสมบัติทางกายภาพดี แต่ถ้าสมบัติทางเคมีไม่เหมาะสม ก็ยังคงถูกจัดอยู่ในประเภท “ดินเลว” หรือ “ดินที่มีผลิตภาพต่ำ”


4. สมบัติทางชีวภาพของดิน
เป็นสมบัติของดินที่ประกอบด้วยสิ่งที่มีชีวิตที่เป็นประโยชน์ ครอบคลุมตั้งแต่สัตว์ที่มีขนาดเล็กไปถึงจุลินทรีย์ที่หลากหลาย จุลินทรีย์เหล่านี้จะตรึงธาตุไนโตรเจนจากอากาศให้กับดิน และช่วยย่อยสลายปลดปล่อยธาตุอาหารจากอินทรียวัตถุและละลายสารประกอบบางชนิดในดินให้มาอยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ได้


ตัวอย่างเช่น พืชตระกูลถั่วเจริญเติบโตดีเมื่อมีจุลินทรีย์พวกไรโซเบียมช่วยจับไนโตรเจนจากอากาศให้มาอยู่ในรูปที่พืชใช้ได้ หรือจุลินทรีย์จำพวกไมคอร์ไรซ่าช่วยทำให้หินฟอสเฟตละลาย และพืชนำไปใช้ได้ดีขึ้น เป็นต้น


“ดินดี” หรือดินที่มี “ผลิตภาพสูง” จึงต้องมีทั้ง 4 องค์ประกอบดังกล่าวเหมาะสม เพราะแต่ละองค์ประกอบมีความสำคัญเท่าเทียมกันต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช


ถึงแม้ว่าการใส่ปุ๋ยเคมีจะทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ต่ำกลายเป็นดินอุดมสมบูรณ์สูง แต่ปุ๋ยเคมีไม่สามารถเปลี่ยนดินเลวให้เป็นดินดีได้ ถ้าสมบัติทางกายภาพ เคมี และชีวภาพของดินไม่ได้รับการแก้ไขให้เหมาะสมเสียก่อน ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงจึงไม่จำเป็นต้องเป็นดินดีเสมอไป ถ้าดินนั้นมีองค์ประกอบอื่นๆ ไม่เหมาะสม แต่ดินดีต้องเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง


สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานว่า ปี 2543 ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมี 2.6 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 4.3 ล้านตันในปี 2550 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 65 ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา แต่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของพืชเศรษฐกิจหลักเพิ่มขึ้นไม่มากนัก และต้นทุนการผลิตเป็นค่าปุ๋ยเคมีสูงถึงร้อยละ 25

สาเหตุหลักเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยเป็นแบบกว้างๆ ที่เรียกว่า “การใช้ปุ๋ยแบบเสื้อโหล” (เสื้อมีขนาดเดียว) ไม่มีการวิเคราะห์ดิน แม้ต่อมานักวิชาการได้พัฒนาเป็น “การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน” (เสื้อมีหลายขนาด เล็ก-กลาง-ใหญ่) โดยนำค่าวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดินขณะนั้น มาใช้กำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ยด้วย แต่เกษตรกรก็ยังคงนิยมใช้ “ปุ๋ยแบบเสื้อโหล” อยู่นั่นเอง


การใช้ปุ๋ยเคมีให้ “ถูกสูตร ถูกปริมาณ ถูกเวลา ถูกวิธี” จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ

ระหว่างปี 2540-2551 โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศ. ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ และคณะ จึงได้ริเริ่มและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยที่มีความแม่นยำสำหรับข้าว ข้าวโพด และอ้อย อีกทั้งต้องการให้เป็นเทคโนโลยีที่เกษตรกรตัดสินใจใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องด้วยตนเอง


ในที่นี้เรียกว่า เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” (เสื้อมีขนาดพอดีตัว) โดยนำข้อมูลพันธุ์พืช แสง อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ชุดดิน และ เอ็น-พี-เค ในดินในขณะนั้น มากำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ย เมื่อใช้ปุ๋ยถูกสูตร ถูกปริมาณ ถูกเวลา และถูกวิธี พืชย่อมแข็งแรง ส่งผลให้ปัญหาโรคและแมลงลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง


เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” มี 3 ขั้นตอน
1. ตรวจสอบข้อมูลชุดดิน (Soil series) ใช้คู่มือสำรวจชุดดินในภาคสนามอย่างง่าย สอบถามได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือตรวจสอบจากเว็บไซต์ www.soil.doae.go.th 

2. ตรวจสอบปริมาณ เอ็น-พี-เค ในดิน ใช้ชุดตรวจสอบ เอ็น-พี-เค ในดินแบบรวดเร็ว ซึ่งเกษตรกรวิเคราะห์ได้ด้วยตนเองภายใน 30 นาที สอบถามได้ที่ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 02 942 8104 – 5


3. ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ ศึกษาจากคู่มือคำแนะนำการใช้ “ปุ๋ยสั่งตัด” หรือโปรแกรมคำแนะนำการใช้ “ปุ๋ยสั่งตัด” ซึ่งดาวน์โหลดโปรแกรมได้ฟรีจากเว็บไซต์ www.ssnm.agr.ku.ac.th


หมายเหตุ
ควรวิเคราะห์ดินก่อนปลูกพืช 3 ฤดูปลูกติดต่อกัน เพื่อปรับการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จากนั้นแนะนำให้วิเคราะห์ดินทุก 2 ปี


ในปี 2550 กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำโครงการบูรณาการลดต้นทุนการปลูกข้าวในเขตชลประทานภาคกลาง 8 จังหวัด เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ช่วยประหยัดค่าปุ๋ย 241 บาทต่อไร่ ขณะที่ค่าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชลดลง 178 บาทต่อไร่ และค่าเมล็ดพันธุ์ลดลง 91 บาทต่อไร่ รวมต้นทุนการผลิตลดลง 510 บาทต่อไร่ต่อฤดูปลูก


นอกจากนี้ ยังพบว่าชาวนาใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและปุ๋ยฟอสฟอรัสเกินความต้องการของข้าวถึง 65% และ 43% ตามลำดับ แต่ใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมไม่เพียงพอ จึงเกิดปัญหาเมล็ดลีบ ต้องเพิ่มปุ๋ยโพแทสเซียม 48% ส่วนผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 7% ฉะนั้น ในนาข้าวชลประทาน 10 ล้านไร่ ต้นทุนการผลิตข้าวจะลดลงมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี


เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 35-200% ในพื้นที่เพาะปลูก 6 ล้านไร่ ถ้าผลผลิตข้าวโพดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 50% เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี


สำหรับอ้อย คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” เพิ่งเสร็จเฉพาะในภาคอีสาน พบว่า ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากไร่ละ 15.2 ตัน เป็น 17.1 ตัน ขณะที่ต้นทุนการผลิตไม่แตกต่างกัน ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นไร่ละ 2,023 บาท


ดังนั้น ควรเร่งยกระดับความรู้ด้านการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกร เพราะถ้าไม่รู้จักดิน ไม่รู้จักปุ๋ย จะปรับปรุงบำรุงดิน หรือใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร?



ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์
มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน
โทร.081-3065373
prateep.v@pan-group.com




sites.google.com/site/banrainarao/column/ssnm_03
-









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-08-25 (1643 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©