-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 298 บุคคลทั่วไป และ 1 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

นาข้าว





กำลังปรับปรุงครับ


 

เอกสารเผยแพร่ สถานีทดลองข้าวราชบุรี

โรค แมลง สัตว์ศัตรูข้าว

------------------------


โรคข้าว



โรคไหม้ (Blast)

เกิดจากเชื้อรา Pyricularia grisea (Cooke) Sacc. จัดว่าเป็นโรคที่สำคัญที่สุดของข้าวที่มีสาเหตุจากเชื้อรา สามารถเข้าทำลายต้นข้าวได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่ระยะกล้าถึงระยะออกรวงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรคที่สำคัญที่สุด คือ ความชื้นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปในช่วงบ่ายถึงเช้าวันรุ่งขึ้น อุณหภูมิที่เหมาะสมระหว่า 27-30 องศาเซลเซียส โรคนี้มักเป็นในแปลงนาที่ปลูกข้าวพันธุ์ ไม่ต้านทานต่อโรคไหม้ เช่น กข 15 กข 23 กข 25 ปทุมธานี 60 ขาวดอกมะลิ 105 ขาวตาแห้ง 17 แปลงนาที่ปลูกข้าวหนาแน่นเนื่องจากปักดำถี่เกินไป หรือใช้อัตราเมล็ดพันธุ์สูงเกินไปสำหรับหว่านน้ำตม และดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงหรือใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตราสูง จะส่งเสริมให้โรคไหม้เข้าทำลายเกิดความเสียหายมากยิ่งขึ้น (Asai et al., 1967)


ลักษณะอาหาร

ระย้ากล้า จะเห็นใบข้าวมีจุดช้ำขนาดเล็กสีเทา ต่อมาแผลขยายใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลลักษณะคล้ายรูปตามีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล มีขนาดแตกต่างกัน ความกว้างระหว่าง 3-5 มิลลิเมตร และความยาว 10-15 มิลลิเมตร ในกรณีที่เกิดอาการรุนแรง แผลอาจมีจำนวนมาก และขยายติดต่อกันทำให้ใบข้าวแห้งและต้นกล้าฟุบตาย


ระยะแตกกอ
จะพบอาการที่ใบ กาบใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ที่ใบและกาบใบจะพบแผลซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า ส่วนที่ข้อต่อของใบนั้นจะมีลักษณะแผลสีน้ำตาลปนดำ ใบข้าวอาจหลุดหรือหักพับได้


ระยะออกรวง
ที่คอรวงจะพบรอยแผลสีน้ำตาลปนดำปรากฏอยู่ ถ้าเกิดในระยะที่ข้าวเพิ่งออกรวงเมล็ดข้าวส่วนมากจะลีบหมด แต่ถ้าเกิดในระยะใกล้เก็บเกี่ยวจะทำให้คอรวงหักพับ เมล็ดมีน้ำหนักเบาและร่วงง่าย ทำให้เก็บเกี่ยวยุ่งยาก (สมคิด ดิสถาพร, 2532)


การระบาดของโรค

เกิดขึ้นโดยสปอร์ (spores) ของเชื้อราปลิวไปกับลม เมื่อตกบนต้นข้าวและสภาพแวดล้อมเหมาะสมมีความชื้นสูง ก็จะงอกเส้นใยเข้าทำลายต้นข้าว โดยเฉพาะในฤดูที่มีหมอกและน้ำค้างลงจัด โรคไหม้ที่ใบมักพบในต้นฤดูนาปี ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม แปลงที่ตกกล้าหนาแน่น อับลม ถ่ายเทความชื้นและอากาศไม่ดี และใช้ปุ๋ยอัตราสูงจะมีโอกาสเป็นโรคมากขึ้น เช่น ปี พ.ศ. 2519 มีโรคไหม้ระบาดในเขต จ.ปทุมธานี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครปฐม ทำให้ต้นข้าวในแปลงกล้าเป็นโรคไหม้แห้งฟุบตายเสียหายอย่างรุนแรง ส่วนโรคไหม้คอรวงหรือเน่าคอรวง (neck blast) นั้นพบรุนแรงเมื่อปี พ.ศ. 2518 ในเขต จ.ราชบุรี และชลบุรี พ.ศ. 2521 ในเขต จ.นครปฐม และสุพรรณบุรี (ฤกษ์ ศยามานนท์, 2522) ในปี พ.ศ. 2537พบในภาคเหนือเขต จ.เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน แพร่ น่าน และลำปาง (Disthaporn, 1994) เชื้อราชนิดนี้สามารถทำลายหญ้าชนิดต่าง ๆ ได้ เช่น หญ้าขน หญ้าไทร หญ้าข้าวนก และหญ้าชันกาด เป็นต้น เนื่องจากเชื้อราชนิดนี้มีความแปรปรวนทางพันธุกรรมในอัตราสูง จึงมีโอกาสสร้างสายพันธุ์ (races) ใหม่ ๆ ที่มีความรุนแรงสามารถทำลายพันธุ์ข้าวที่ต้านทานได้ (Bandong and Ou, 1966)



การป้องกันกำจัด
    1. เลือกใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรคไหม้ เช่น สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 สุพรรณบุรี 1

      ชัยนาท 1 ข้าวเจ้าหอมคลองหลวง 1 ข้าวเจ้าหอมพิษณุโลก 1 พิษณุโลก 2 ปทุมธานี 1 สันป่าตอง 1 กข 6 และหางยี 71

    2. ใช้วิธีเขตกรรม เช่น เลือกแปลงกล้าที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้ดี แบ่งแปลงย่อยขนาดกว้าง 1 เซนติเมตร ให้ความยาวของแปลงขนานกับทิศทางลม เพื่อระบายความชื้นในแปลงกล้าให้ลดน้อยลง หรือใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ให้น้อยลง ในแปลงนาหว่านน้ำตมก็เช่นกัน ควรแบ่งเป็นแปลงย่อย ความกว้างแปลงย่อยประมาณ 4-5 เมตร และความยาวขนานกับทิศทางลม (สมศักดิ์ ทองดีแท้, 2539)
    3. บริเวณที่มีโรคไหม้ระบาดเป็นประจำ ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราสูงเกินไป
    4. ใช้สารเคมีฉีดพ่นเมื่อเริ่มพบอาการของโรคไหม้ สารเคมีที่มีประสิทธิภาพดี ได้แก่ tricyclazole

      (บีม) kasugamycin (คาซูมิน) edifenphos (ฮิโนซาน) benomyl (เบนเลท) isoprothiolane (ฟูจิวัน) IBP (คิตาซิน) blasticidin-s (บลา-เอส) carbendazim (บาวิสติน) thiophanate methyl (ทอปซินเอ็ม) thiabendazol (เทคโต) และ triforine (ซาพรอล) ตามอัตราที่ระบุหรือตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร

    5. หลังเก็บเกี่ยวแล้วควรเผาฟางและตอซังในกรณีที่มีโรคไหม้ระบาดอย่างรุนแรง ทั้งนี้เพื่อทำลาย แหล่งสะสมเชื้อโรค



โรคขอบใบแห้ง (Bacterial Blight)

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv. Oryzae จัดว่าเป็นโรคที่สำคัญมากเนื่องจากมีการระบาดรุนแรงและทำความเสียหายในแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญทุกภาคของประเทศไทย (Eamchit, 1977) แบคทีเรียนี้สามารถเข้าทำลายต้นข้าวทางแผลที่ใบทำให้ใบข้าวแห้งตาย มีผลต่อขบวนการสังเคราะห์แสงทำให้ผลผลิตข้าวลดลง เมล็ดลีบ น้ำหนักเบา คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน สภาพแวดล้อมที่หมาะสมต่อการระบาดของโรคนี้คือ การใช้พันธุ์ข้าวไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง เช่น กข 1 กข 9 กข 10 กข 11 กข 15 ขาวดอกมะลิ 105 โรคนี้มักพบในบริเวณที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตราสูง มีฝนและลมแรงทำให้เกิดแผลที่ใบข้าว หรือบริเวณที่มีน้ำท่วมแปลงนา


ลักษณะอาการ

พบตั้งแต่ระยะกล้า ระยะแตกกอ และระยะออกรวง แผลมักจะเริ่มจากขอบใบห่างจากปลายใบลงมาเล็ดน้อยจะเห็นแถบช้ำชุ่มน้ำ ต่อจากนั้นแผลจะขยายทั้งด้านกว้างและด้านยาวขนานกับขอบใบ บริเวณขอบแผลซึ่งติดกับส่วนปกติมีลักษณะไม่เรียบ คล้ายคลื่นและมีสีเหลือง แผลอาจจะเกิดที่ขอบใบข้างหนึ่งก่อนหรือทั้งสอบข้างพร้อมกันก็ได้ ถ้าเกิดอาการรุนแรงมากแผลอาจขยายทั่วทั้งใบและเปลี่ยนเป็นสีเทาอ่อน ต่อจากนั้นจะแห้งตายอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มักจะเห็นจุดดำของเชื้อราขึ้นปะปนบนแผลเก่าด้วย (ทวี เก่าศิริ, 2507 ; Singh and Saksena, 1968) พันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานต่อโรคนี้มักจะแสดงอาการอย่างรุนแรง แผลจะขยายลุกลามไปถึงกาบใบ


การระบาดของโรค

พบครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2500 บริเวณกิโลเมตรที่ 5 ถนนลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยเป็นกับพันธุ์ข้าวขาวเศรษฐี ขาวตาแห้ง และข้าวเหนียวก้านพลู (วิจิตร ขจรมาลี, 2501) ต่อมาปี พ.ศ. 2501 ได้มีการสำรวจโรคในเขตภาคกลาง ได้พบโรคขอบใบแห้ง บริเวณกิโลเมตรที่ 6 ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ แสดงอาการบนพันธุ์ข้าวขาวเศรษฐี ขาวตาแห้ง พวงนาค และข้าวเหนียวแก่นจันทร์ (สรชัย เพิ่มสิทธิ, 2502) โรคขอบใบแห้งมักจะระบาดหลังจากมีพายุ ฝนฟ้าและลมแรง ทำให้เกิดแผลบนต้นข้าว เชื้อแบคทีเรียแพร่ไปกับเมล็ดฝนและไหลไปกับฝน เมื่อน้ำท่วมเชื้อจะเข้าทำลายต้นข้าวได้ (Ou, 1985)


การป้องกันกำจัด

    1. ใช้พันธุ์ต้านทานโรคขอบใบแห้ง เช่น กข 7 กข 21 กข 23 กข 25 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 1  สุพรรณบุรี 2 ข้าวเจ้าหอมคลองหลวง 1 ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี ปทุมธานี 1 และสันป่าตอง 1
    2. ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ไม่ควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตราสูง
    3. หาแนวทางป้องกันน้ำท่วมแปลงนา
    4. ใช้สารเคมี เช่น phenazin – 5 – oxide (ฟีนาซิน) ในอัตราส่วน 1 ต่อ 500 ซึ่งพื้นที่ 1 ไร่ ใช้

      ฟีนาซินในรูปผง จำนวน 160 กรัม ผสมน้ำฉีดพ่นใน 1 ครั้ง ในแหล่งที่มีโรคนี้ระบาดเมื่อเริ่มพบอาการของโรคควรฉีดฟีนาซิน ประมาณ 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 20 วัน

    5. การป้องกันกำจัดจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อใช้วิธีป้องกันกำจัดโดยวิธีสมทบ (สมศักดิ์ ทองดีแท้, 2522)



โรคกาบใบแห้ง

เกิดจากเชื้อรา Thanatephorus cucumeris (Frank) Donk. (หรือ Rhizoctonia solani Kuhn) ชาวบ้านเรียกว่า “โรคขี้กลาก” โรคนี้พบมากในแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญในเขตชลประทานภาคกลาง และพบทั่วไปทุกภาคของประเทศไทยโดยเฉพาะในแปลงที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง มีการใส่ปุ๋ยอัตราสูงปักดำถี่หรือใช้อัตราเมล็ดพันธุ์สูง ใช้พันธุ์ข้าวที่แตกกอมาก ๆ และไม่ต้านทานต่อโรคกาบใบแห้ง อากาศร้อนและมีความชื้นสูง (Arunyanart et al., 1984)
 

ลักษณะอาหาร

เชื้อราจะเข้าทำลายต้นข้าวในระยะแตกกอถึงระยะออกรวง โดยเข้าทำลายที่โคนต้นตรงระดับนี้ ลักษณะของแผลเริ่มแรกมีสีเขียวปนเทารูปรี ขนาดกว้างประมาณ 1-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-10 มิลลิเมตร แผลจะลุกลามขยายใหญ่จนมีขนาดและรูปร่างไม่จำกัด ถ้าเป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานต่อโรคนี้ความรุนแรงของโรคจะมีมากขึ้น แผลจะขยายและลุกลามถึงใบข้าวและกาบใบหุ้มรวงทำให้กาบใบและใบข้าวแห้ง ถ้าลุกลามถึงใบธงจะทำให้ผลผลิตลดลงเป็นอย่างมาก บางครั้งจะมีเม็ดสเคลอโรเธีย (sulerotia) เกิดขึ้นบริเวณแผลของโรคนี้ด้วย (Gangopadhyay and Chakrabarti, 1982)


การระบาดของโรค

เชื้อราชนิดนี้จะสร้างเม็ดสืบพันธุ์ที่เรียกว่าสเคลอโรเธีย (sclerotia) เป็นเม็ดขนาดเล็กสีน้ำตาลสามารถอยู่ข้ามฤดูในดินและตอซังได้ เมื่อฝนเริ่มตกเม็ดสืบพันธุ์นี้จะลอยตามน้ำไปติดกับต้นข้าวและเข้าทำลายต้นข้าวที่เกาะอยู่ เส้นใยจะเจริญอย่างรวดเร็วบนผิวกาบใบหรือในเนื้อเยื่อของข้าวเมื่อความชื้นภายในกอข้าวมีมากขึ้นและก่อให้เกิดแผลขยายและลุกลามอย่างรวดเร็ว เชื้อราจะสร้างเม็ดสืบพันธุ์ขึ้นที่แผล และติดอยู่กับตอซังหรือร่างลงสู่พื้นนา มีชีวิตอยู่ได้นานจนถึงฤดูทำนาครั้งใหม่ได้อีก โรคนี้จะพบมากในฤดูนาปี ในฤดูนาปรังจะพบบ้างแต่น้อยกว่า


การป้องกันกำจัด

    1. ไถตากดินหลาย ๆ ครั้ง ในแปลงนาที่เคยมีโรคนี้ระบาด
    2. ใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น กข 27 พิษณุโลก 60-1
    3. ไม่ควรปักดำถี่เกินไปหรือใช้อัตราเมล็ดพันธุ์สูงเกินไป
    4. เมื่อพบการระบาดใช้สารเคมีกำจัดเชื้อราฉีดพ่น เช่น benomyl (เบนเลท) validamycin (วาลิดา ซิน) edifenphos (ฮิโนซาน) ตามอัตราที่ระบุในฉลาก หรือตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
    5. ในแปลงที่เคยพบโรคกาบใบแห้งระบาด หลังเก็บเกี่ยวแล้วควรเผาฟาง และตอซังหญ้าขน หญ้าชันกาด ที่เป็นพืชอาศัยและแหล่งสะสมของโรคนี้


 

โรคเมล็ดด่าง (Dirty Panicle)

เกิดจากเชื้อราหลายชนิด เช่น

Curvularia lunata (Walker) Boedijn

Helminthosporium oryzae Breda de Haan

Trichoconis padwickii Ganguly

Fusarium semitectum Berk & Rav.

Acrocylindrium oryzae Sawada

Cercospora oryzae Miyake (สมศักดิ์ ทองดีแท้ และคณะ, 2539 ; Disthaporn et al., 1996)


โรคนี้มักจะเป็นรุนแรงกับข้าวพันธุ์ไม่ต้านทาน โดยเฉพาะข้าวที่ปลูกในฤดูนาปรัง ในระยะข้าวออกดอกมีอากาศร้อนในช่วงบ่าย และมีฝนตกชุกในช่วงเย็นและค่ำ ทำให้สภาพความชื้นในนาสูงเป็นเหตุให้เหมาะสมต่อการทำลายของเชื้อราดังกล่าว


ลักษณะอาการ

รวงข้าวที่ถูกทำลายด้วยเชื้อราจะมีอาการแตกต่างจากโรคไหม้คอรวงตรงที่คอรวงไม่มีอาการแผลสีเทา คอรวงไม่หักและเมล็ดไม่ลีบหมด รวงข้าวที่เป็นโรคจะมีทั้งเมล็ดเต็มและเมล็ดลีบ บนเมล็ดจะมีจุดสีน้ำตาลดำ บางเมล็ดก็มีลายสีน้ำตาลทั้งเมล็ด บางเมล็ดจะลีบและมีสีเทาอมชมพูทั้งเมล็ด ทั้งนี้เพราะมีเชื้อราหลายชนิดที่สามารถเข้าทำลาย และทำให้เกิดอาการบนเมล็ดแตกต่างกันไป โดยเชื้อราจะเข้าทำลายตอนรวงข้าวเริ่มโผล่จากกาบห่อรวง หรือในช่วงที่ดอกข้าวผสมแล้วอยู่ในระยะน้ำนมและกำลังสุก หลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์ อาการเมล็ดด่างจะปรากฏเด่นชัด (สมคิด ดิสถาพร, 2532)


การระบาดของโรค

เริ่มระบาดประปราย เมื่อปี 2519 โดยพบอาการเมล็ดด่างบนพันธุ์ข้าว กข 9 แต่ไม่รุนแรงนัก ต่อมาในปี 2521 พบโรคนี้ระบาดรุนแรงเป็นพื้นที่กว้างขวาง โดยเฉพาะในเขตท้องที่ภาคกลาง เช่น ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา และ ต.บางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยพื้นที่ปลูกข้าวเสียหายเพราะโรคนี้เป็นพันไร่ โรคนี้เป็นปัญหาสำคัญเพราะเมื่อระบาดแล้วผลผลิตจะลดลงมาก คุณภาพเมล็ดเสีย จึงขายข้าวเปลือกได้ราคาต่ำ การแพร่ระบาดโดยสปอร์ของเชื้อราปลิวไปกับลม หรือติดไปกับเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ (ฤกษ์ ศยามานนท์, 2522)


การป้องกันและกำจัด

    1. วางแผนปลูกข้าวให้ออกรวงและเก็บเกี่ยวก่อนฝนตกชุก
    2. ในระยะข้าวเริ่มตั้งท้อง หรือออกรวง (ผสมพันธุ์แล้ว) ถ้ามีฝนตกชุกและเริ่มพบโรคนี้

      ประปราย ควรใช้สารเคมีฆ่าเชื้อราฉีดพ่น ได้แก่ edifenphos (ฮิโนซาน) polyoxin (โพลีอ๊อกซิน) carbendazim (บาวิสดิน) หรือ MBC+ mancozeb (เดลซีน เอ็ม-เอคซ์) ชนิดใดชนิดหนึ่งตามอัตราที่ระบุในสลากหรือตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร

    3. ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากแปลงที่ไม่เป็นโรค



แมลงศัตรูข้าว

เพลี้ยไฟ (Rice thrips)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Baliothrips biformis (Bagnall)


ลักษณะการทำลาย

เพลี้ยไฟทำลายต้นข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบข้าว ข้าวที่ถูกทำลายจะแสดงอาการแห้งที่ปลายใบก่อน กลาง ๆ ใบจะซีด ใบจะม้วนจากขอบใบมากลางใบ ถ้าระบาดรุนแรงจะทำให้ข้าวแห้งตายทั้งแปลงได้


รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็กยาวประมาณ 1-2 มม. มีทั้งมีปีกและไม่มีปีก ตัวอ่อนมีสีเหลืองนวล ตัวแก่มีสีดำ การสังเกตอย่างง่าย ๆ โดยใช้มือจุ่มน้ำแล้วลูบผ่านไปตามใบข้าวจะติดมือขึ้นมาเห็นได้ชัด ทั้งตัวเต็มวัยและตัวอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบข้าว โดยซ่อนอยู่ภายในใบที่ม้วนอยู่หรือใต้กาบใบหรือตามดอกข้าว ไข่ของเพลี้ยไฟจะถูกวางในเนื้อเยื่อของใบข้าว หลังจากฟักออกเป็นตัวอ่อนแล้วจะดูดกินน้ำเลี้ยงภายในใบอ่อนที่ยังม้วนอยู่ใกล้ ๆ ปลายใบหรือบริเวณโคนใบใกล้ ๆ กาบใบ การเจริญจากตัวอ่อนจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย ใช้เวลาประมาณ 15 วัน (Madhusudhan and Gopalan, 1989)


การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

มักระบาดรุนแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ซึ่งเป็นระยะที่ชาวนาทำการตกกล้า ในภาคกลางมักระบาดในนาปรังในระยะต้นฤดูคือระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน การระบาดจะรุนแรงมากในช่วงที่อากาศแห้งแล้ง ฝนไม่ตก และแปลงนาขาดน้ำหล่อเลี้ยงต้นกล้า (จะเห็นได้ชัดในนาหว่านน้ำตม)


การป้องกันกำจัด

    1. หมั่นตรวจดูแปลงนาข้าวในระยะกล้าอย่าให้ขาดน้ำ
    2. ฉีดพ่นด้วย malathion (มาลาไธออน 57%) หรือ carbaryl (เซฟวิน 85 ดับบลิวพี) อัตรา 40 ซีซี หรือกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
    3. ใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) อัตรา 5-10 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของต้นข้าว



เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (Brown planthopper)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Nilaparvata lugens (Stal)


ลักษณะการทำลาย

ทั้งตัวเต็มวันและตัวอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่กาบใบข้าวเหนือระดับน้ำเล็กน้อย เมื่อแมลงจำนวนมากดูดต้นข้าวจะทำให้ข้าวแสดงอาการใบเหลืองและแห้งตายลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก อาการต้นข้าวแห้งตายทั้งกอหรือแห้งตายเป็นหย่อม ๆ ในแปลงนาเรียกว่า “hopper burn” นอกจากนี้ยังเป็นแมลงพาหะนำโรคใบหงิกและโรคเขียวเตี้ยสู่ต้นข้าวอีกด้วย (วีรวุฒิ กตัญญูกุล และประกอบเลื่อมแสง, 2520 ; สุวัฒน์ รวยอารีย์, 2533)


รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ตัวเต็มวัยมีขนาดยาวประมาณ 3 มม. กว้าง 1 มม. มีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลเทา หนวดอยู่ด้านข้างของหัวและตั้งอยู่ใต้ตา ตัวเต็มวัยมีรูปร่าง 2 แบบคือ เป็นได้ทั้งชนิดปีกยาวและชนิดปีกสั้น สามารถเคลื่อนย้ายได้รวดเร็วจากแปลงนาหนึ่งไปอีกแปลงนาหนึ่งโดยกระแสลม เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะวางไข่ที่บริเวณกาบใบหรือเส้นกลางใบข้าว ไข่จะวางเป็นกลุ่มเรียงกันเป็นแถวในลักษณะเป็นแนวตั้งฉากกับกาบใบ การวางไข่ทำให้กาบใบเป็นรอยช้ำสีน้ำตาลมองเห็นได้ชัด ระยะไข่ใช้เวลา 7 วัน จะฟักเป็นตัวอ่อนและผ่านการลอกคราบ 5 ครั้งเป็นเวลา 16 วัน ก็จะเป็นตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยเพศเมียมีชีวิตอยู่ได้ 15 วัน เพศผู้อยู่ได้ 13 วัน ตัวเมียวางไข่เฉลี่ย 48 ฟองต่อตัว (Mochida and Okada, 1979) การเพิ่มปริมาณของแมลงในนาข้าวจะมีปริมาณสูงสุดในชั่วอายุขัย (generation) ที่ 2 และ 3 ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมปริมาณจะเพิ่มขึ้นตามอายุข้าวจากระยะกล้าถึงระยะออกรวง ระยะตั้งท้องและออกรวงมักเป็นระยะที่พบประชากรแมลงสูงที่สุดและอาการ hopper burn มักจะพบในระยะนี้ (Pathak and Khan, 1994)


การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

มักแพร่ระบาดและทำความเสียหายมากในภาคกลาง เช่น นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพฯ การระบาดอาจเกิดขึ้นได้ทั้งนาปีและนาปรัง โดยเฉพาะช่วงที่อากาศร้อนและมีความชื้นสูง (ธรรมนูญ พุทธสมัย และประชา ศิลปศร, 2534)


การป้องกันกำจัด

    1. เลือกใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น กข 21 กข 23 สุพรรณบุรี 90 สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 พิษณุโลก 60-2 ชัยนาท 1 พิษณุโลก 2 ปทุมธานี 1 ในทางวิชาการไม่แนะนำให้ปลูกข้าวพันธุ์เดียวเป็นบริเวณกว้างขวางเพราะเป็นการบังคับให้แมลงปรับตัวและแพร่ขยายพันธุ์ได้ง่ายจึงก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง เนื่องจากแมลงไม่มีทางเลือกที่จะไปดูดกินพันธุ์อื่น ๆ ที่แมลงชอบ ดังนั้นควรแบ่งพื้นที่นาเพื่อปลูกพันธุ์ข้าวอื่น ๆ ที่มีระดับความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแตกต่างกัน เช่น ทำนา 50 ไร่ ควรปลูก กข 21 10 ไร่ กข 23 20 ไร่ และสุพรรณบุรี 90 20 ไร่ เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยลดความเสี้ยงเนื่องจากการทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ดีเพราะแมลงสามารถเลือกดูดกินพันธุ์ข้าวที่แมลงชอบ และหาทางกำจัดแมลงได้ง่าย ส่วนพันธุ์ที่มีความต้านทานสูงจะมีแปลงปริมาณน้อยกว่าจึงไม่เกิดความเสียหายและจะช่วยให้พันธุ์ ต้านทานคงความต้านทานอยู่ได้นาน (สมศักดิ์ ทองดีแท้, 2537)
    2. ในละแวกบ้านเดียวกันหรือทุ่งนาเดียวกันควรปลูกข้าวโดยพร้อมเพรียงกัน จะได้เก็บเกี่ยว พร้อมกัน หลังจากนั้นควรทิ้งนาให้ว่างเปล่าเป็นระยะนานพอสมควรเพื่อตัดชีพจักรของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพราะการปลูกข้าวหลาย ๆ รุ่นติดต่อกันในแปลงนาจะเป็นแหล่งสะสมและเพิ่มปริมาณของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เนื่องจากมีต้นข้าวเป็นอาหารและพืชอาศัยอย่างต่อเนื่อง
    3. ให้ติดตามการพยากรณ์อากาศทางการเกษตรจากโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียงหรือหนังสือพิมพ์ เพื่อจะได้ทราบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการแพร่ระบาด จะได้หาแนวทางในการป้องกันกำจัดได้ทันเหตุการณ์
    4. หมั่นตรวจดูแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตะบาดควรใช้สารฆ่าแมลง ฉีดพ่น
    5. การใช้สารฆ่าแมลงในแปลงกล้าและแปลงปักดำ ในบริเวณที่เคยมีโรคใบหงิกระบาดควร ปฏิบัติดังนี้
    6. แปลงกล้า หว่านสารฆ่าแมลงประเภทดูดซึมได้แก่ carbofuran (ฟูราดาน 3 จี หรือคูราแทร์ 3 จี) อัตรา 8-10 กิโลกรัมต่อไร่ ทันทีหลังหว่านข้าวงอก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการดูดกินน้ำเลี้ยง และการถ่ายทอดเชื้อไวรัสสาเหตุของโรคใบหงิก

แปลงปักดำ หว่านฟูราดาน 3 จี หรือคูราแทร์ 3 จี อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่หลังปักดำ เพื่อป้องกันการดูดกินน้ำเลี้ยงและถ่ายทอดเชื้อไวรัส หลังปักดำข้าวแล้ว 25 วัน จึงสุ่มสำรวจเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทุก ๆ 7 วัน หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเฉลี่ย 1 ตัวต่อกอให้ใช้สารฆ่าแมลงโดยเลือกชนิดใดชนิดหนึ่งดังนี้

    1. isoprocarb หรือ MIPC (มิพซิน 50% ดับบลิวพี) หรือ BPMC (ไบขาบ 500 50% อีซี หรือบัซซ่า 50% อีซี) อัตรา 30 กรัมหรือซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
    2. chlorpyrifos + BPMC (ลอร์สแบน 155 20% อีซี) หรือ carbosulfan (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 80 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
    3. buprofezin (แอพพลอด 25% ดับบลิวพี) อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
    4. ethofenprox (ทรีบอน 10% อีซี) อัตรา 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ทั้งนี้เพื่อป้องกันการดูดกินน้ำเลี้ยง การถ่ายทอดไวรัสโรคใบหงิกและการวางไข่หลังสร้างช่อดอก (ประมาณ 50 วันหลังปักดำ) หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเฉลี่ย 10 ตัวต่อกอจึงฉีดพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อป้องกันการดูดกินน้ำเลี้ยงต้นข้าวและการวางไข่ การใช้สารฆ่าแมลงในแปลงนาหว่านน้ำตม ในบริเวณที่เคยมีโรคใบหงิกระบาดให้ใช้ สารฆ่าแมลงประเภทดูดซึม (ฟูราดาน หรือ คูราแทร์ 3 จี) หว่านตามทันทีหลังหว่านข้าวงอกเสร็จแล้ว โดยใช้อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการดูดกินน้ำเลี้ยงต้นกล้าและถ่ายทอดเชื้อไวรัสโรคใบหงิก หลังหว่านข้าวงอกแล้ว 25 วัน จึงเริ่มสุ่มสำรวจเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทุก ๆ 7 วัน หากพบเฉลี่ย 1 ตัวต่อจุด (พื้นที่ 25 x 25 เซนติเมตร) ให้ใช้สารฆ่าแมลงดังกล่าวฉีดพ่นทั้งนี้เพื่อป้องกันการดูดกินน้ำเลี้ยง การถ่ายทอดเชื้อไวรัสและการวางไข่ หลังข้าวสร้างช่อดอก (ประมาณ 60 วันหลังหว่านข้าวงอก) หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเฉลี่ย 10 ตัวต่อจุดให้ใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการดูดกินน้ำเลี้ยงและการวางไข่

    5. ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดชีพจักรของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล





เพลี้ยจักจั่นสีเขียว (Green leafhopper)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Nephotettix virescens (Distant)

Nephotettix nigropictus (Stal)


ลักษณะการทำลาย

เพลี้ยจักจั่นสีเขียวทำลายข้าวได้ 2 ทางคือ ทางตรงและทางอ้อม การทำลายทางตรงคือ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบข้าว ซึ่งถ้ามีปริมาณแมลงมาก สภาพแวดล้อมเหมาะสมและชาวนาปลูกพันธุ์ไม่ต้านทานข้าวจะถูกทำลายเหี่ยวแห้งตายเกิดความเสียหายได้ อย่างไรก็ดี ปกติแล้วไม่ทำให้ข้าวเสียหาย การทำลายทางอ้อมโดยที่แมลงชนิดนี้เป็นพาหะนำโรคใบสีส้ม (Tungro หรือ yellow orange leaf virus) สู่ต้นข้าว ข้าวที่เป็นโรคผลผลิตจะลดลงมาก


รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

เป็นแมลงปากดูดตัวเล็ก ๆ สีเขียว ยาวประมาณ 3 มม. ปลายปีกมีจุดสีดำข้างละจุด เพลี้ยจักจั่นสีเขียวทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวมีความแตกต่างกันคือ N. nigropictus มีขีดดำพาดโค้งตามความยาวที่ขอบหน้าฝากระหว่างตาทั้ง 2 ข้าง ส่วน N. virescens ไม่มีขีดดำดังกล่าว ชีพจักรของแมลงทั้ง 2 ชนิดใกล้เคียงกันมาก คือจำนวนไข่ต่อกลุ่มมีตั้งแต่ 5-60 ฟอง โดยเฉลี่ยไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนประมาณ 1 สัปดาห์ ตัวอ่อนมี 5 ระยะ รวมเวลาที่เป็นตัวอ่อนประมาณ 2 สัปดาห์ ระยะที่เป็นตัวเต็มวัยประมาณ 10 วัน (วารี หงษ์พฤกษ์, 2514)


การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

เพลี้ยจักจั่นสีเขียวตัวเต็มวัยมีนิสัยเคลื่อนย้ายอยู่เสมอ จึงมีการแพร่กระจายไปได้มาก จะไม่พบว่าแมลงชนิดนี้อยู่เป็นกลุ่มก้อน ช่วงที่พบแมลงนี้มากคือฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ดังนั้นการทำนาปีจึงมีเพลี้ยจักจั่นสีเขียวระบาดมากกว่านาปรัง (สุวัฒน์ รวยอารีย์ และเพชรหทัย ปฏิรูปานุสร, 2527)


การป้องกันกำจัด
    1. ใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น กข 9 สุพรรณบุรี 60 พิษณุโลก 2
    2. ช่วงที่พบแมลงมากควรติดหลอดแสงไฟล่อแมลงและทำลายเสีย
    3. หมั่นตรวจดูแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ ในระยะกล้าข้าวอายุไม่เกิน 60 วัน ใช้สวิงโฉบถ้าพบ

      เพลี้ยจักจั่นสีเขียวเฉลี่ย 2 ตัวต่อ 10 โฉบให้ใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่นเพื่อทำลายแมลงพาหะ หลังจากข้าวมีอายุ 60 วันแล้วถ้าพบเพลี้ยจักจั่นสีเขียว 20 ตัวต่อ 10 โฉบ ให้ใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่นทำลาย

    4. ใช้สารฆ่าแมลงในการป้องกันกำจัดดังนี้
      1. สารฆ่าแมลงชนิดเม็ด ประเภทดูดซึมได้แก่ carbofuran (ฟูราดาน หรือ คูราแทร์) ใน

        อัตรา 5 กก./ไร่ โดยหว่านตามทันทีหลังหว่านข้าวงอก ถ้ายังมีแมลงระบาดอีกก็ให้หว่านเป็นครั้งที่ 2 โดยใช้หลังจากใช้ครั้งแรกแล้ว 25 วัน เพื่อยังยั้งการดูดกินน้ำเลี้ยงและการถ่ายทอดเชื้อไวรัส

      2. isoprocarb (มิพซิน 50% ดับบลิวพี)
      3. MTMC (ซูมาไซด์ 50% ดับบลิวพี)
      4. BPMC (บัซซ่า หรือ ฮอปซิน 50% อีซี) โดยใช้อัตรา 40 กรัม หรือ ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร



บั่ว (Rice gall midge)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Orseolia oryzae (Wood-Mason)


ลักษณะการทำลาย

โดยตัวเต็มวัยจะมาวางไข่ในระยะต้นฤดูหลังจากปักดำ ข้าวจะแสดงอาการมากในระยะแตกกอ โดยที่หนอนบั่วเข้าไปทำลายที่ยอดอ่อนของต้นข้าวและต้นข้าวจะสร้างหลอดหุ้มตัวแมลงและเจริญออกมาเป็นหลอดคล้ายหลอดใบหอม แทนที่จะเจริญเป็นใบตามปกติ ต้นที่เป็นหลอดนี้จะไม่ออกรวง เมื่อต้นข้าวถูกทำลายจะแตกกอออกมาทดแทน หากมีการระบาดมากบั่วก็จะทำลายหน่อที่แตกออกมาใหม่อีกทำให้ข้าวแตกกอมากผิดปกติ ต้นจะเตี้ยและแตกกอมากคล้ายกอตะไคร้ ในแหล่งที่มีการระบาดรุนแรงข้าวอาจไม่ออกรวงเลย ผลผลิตลดลงประมาณ 50-70% (Katanyukul et al., 1980)


รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ตัวเต็มวัยบั่วเป็นแมลงที่มีขนาดใกล้เคียงกับยุง ยาวประมาณ 3-4 มม. ส่วนท้องมีสีส้มหนวดและขามีสีดำ ตัวเมียสามารถวางไข่ได้ประมาณ 208 ฟอง โดยวางไข่ในเวลากลางคืน ไข่จะถูกวางเดี่ยว ๆ มีลักษณะคล้ายผลกล้วยหอม มีขนาดกว้าง 0.09 มม. ยาว 0.44 มม. มีสีชมพูอ่อน มักวางไว้ตามใบข้าวหรือกาบใบ หลังจากนั้น 3-4 วันจะฟักออกเป็นตัวหนอน ตัวหนอนจะคืบคลานบริเวณกาบใบแล้วแทรกตัวเข้าในกาบใบ เข้าไปอาศัยกัดกินที่จุดกำเนิดของหน่อข้าว ตัวหนอนมี 3 ระยะ รวมประมาณ 11 วัน ในขณะที่หนอนบั่วเข้าทำลายที่หน่ออ่อนของข้าว ข้าวจะสร้างหลอดบั่วหุ้มหนอนไว้ หนอนบั่วจะเจริญอยู่ภายในหลอดจนกระทั่งเข้าดักแด้ ขณะเดียวกันหลอดบั่วจะเจริญมีขนาดใหญ่ขึ้นและขณะที่หนอนบั่วเข้าระยะดักแด้หลอดบั่วจะโผล่พ้นกาบใบมองเห็นจากภายนอกได้ ดักแด้บั่วมีอายุประมาณ 6 วัน เมื่อใกล้ออกเป็นตัวเต็มวัยจะขยับตัวขึ้นมาอยู่ที่ปลายสุดของหลอด แล้วเจาะที่ด้านปลายของหลอดฟักออกเป็นตัวเต็มวัยโดยทิ้งคราบดักแด้ไว้ ระยะเวลาของไข่จนกระทั่งออกเป็นตัวเต็มวัย 25-38 วัน ตัวเต็มวัยบั่วอยู่ได้ 2-3 วัน ปีหนึ่งสามารถขยายพันธุ์ได้ 6-7 ชั่วอายุขัย (Hidaka and Yaklai, 1979)


การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

ในประเทศไทยมีการระบาดมากทำความเสียหายในฤดูนาปีในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกที่ตราดและจันทบุรี ภาคกลางพบว่าทำความเสียหายมากเป็นครั้งคราวในฤดูนาปรังที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นครปฐม และเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร


การป้องกันกำจัด

    1. ใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น กข 4 กข 9 เหมยนอง 62 เอ็ม นางมลเอส-4 ขาวตาแห้ง 17 พิษณุโลก 60-1
    2. ใช้แสงไฟดักล่อแมลงและทำลายทิ้งในระยะต้นฤดู
    3. ทำลายพืชอาศัยของบั่ว เช่น ข้าวป่า หญ้าไพร หญ้าปล้องเขียว และหญ้าปล้องหิน ซึ่งขึ้นอยู่ตามคูน้ำ และตามคันนา หลังฤดูกาลทำนาหรือก่อนจะถึงฤดูกาลทำนา
    4. ในแหล่งที่มีบั่วระบาดรุนแรงเป็นประจำ ควรใช้สารฆ่าแมลงในการลดความเสียหายเช่น
    1. carbofuran (ฟูราดาน, คูราแทร์ 3% จี) อัตรา 5 กก.ต่อไร่
    2. mephosfolan (ไซโตรเลน 2% จี) อัตรา 8 กก.ต่อไร่
    3. fonofos (ไดโฟเนท 5% จี) อัตรา 6 กก.ต่อไร่
    4. triazophos (ฮอสตาธีออน 5% จี) อัตรา 6 กก.ต่อไร่

ใช้สารฆ่าแมลงชนิดเม็ดดังกล่าวข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งหว่านหลังปักดำข้าว 20 และ 40 วัน

การหว่านสารฆ่าแมลงประเภทดูดซึมดังกล้าวจะมีประสิทธิภาพดีนั้น แปลงนาจะต้องสามารถควบคุมระดับน้ำได้ประมาณ 5-10 เซนติเมตร (วนิช ยาคล้าย และวีรวุฒิ กตัญญูกุล, 2523)




 

สัตว์ศัตรูข้าว

หนูศัตรูข้าว

หนูเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง มีรายงานบ่อยครั้งทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยว่ามีหนูระบาดทำความเสียหายแก่นาข้าวในหลาย ๆ แห่งจนไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ นอกจากนี้เมล็ดข้าวที่เก็บไว้ในโกดังหรือยุ้งฉางยังถูกกัดแทะทำลายและบูดเน่าเสียหาย ไม่เหมาะแก่การบริโภคหรือจำหน่าย หนูจะทำลายต้นข้าวได้ตั้งแต่ระยะเริ่มปลูก โดยเก็บกินเมล็ดข้าวที่หว่านในแปลงกล้าแปลงหว่านหรือแปลงหยอด เมื่อต้นข้าวเริ่มงอกจนถึงระยะแตกกอหนูจะกัดทำลายได้เช่นเดียวกันโดยไม่จำเป็นต้องกินต้นพืชที่กัดนั้นทั้งหมด เมื่อถึงระยะตั้งท้องหนูจะกัดกินส่วนที่ตั้งท้องนั้นให้เสียหายได้อย่างมาก เมื่อถึงระยะออกรวงหนูจะกัดกินต้นหรือคอรวงให้ขาดแล้วจึงแกะเมล็ดข้าวออกจากรวงกินเป็นอาหารต่อไป นอกจากนี้หนูยังเก็บสะสมรวงข้าวไว้ในรังของมันเพื่อเป็นอาหารหลังฤดูการเก็บเกี่ยวอีกด้วย


โดยปกติหนูจะกินอาหารประมาณ 10% ของน้ำหนักตัวต่อวันและตามสภาพปกติในธรรมชาติหนูจะมีอายุประมาณ 1 ปี ดังนั้นในแต่ละปีถ้าหนูนาใหญ่น้ำหนักตัวประมาณ 200 กรัม จะกินอาหารถึง 7.3 กิโลกรัม ความเสียหายเกิดจากหนูกัดทำลายข้าวในประเทศไทยพบว่าเฉลี่ยประมาณ 6.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งความเสียหายขนาดนี้ถ้าคิดเป็นมูลค่าของผลผลิตแล้วประมาณว่าไม่ต่ำกว่า 3,000.- ล้านบาท
ต่อปี


ลักษณะทั่วไปและชีวประวัติของหนู

หนูเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีขนาดเล็ก และมีประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ได้เร็ว มีลูกได้ครั้งละหลายตัวและสามารถออกลูกได้ปีละหลายครอก หลังออกลูกแล้วภายใน 24 ชั่วโมง เพศเมียจะสามารถผสมพันธุ์ได้อีก หนูมีขนปกคลุมร่างกายเรียบไปตามลำตัวและขา ส่วนหางของหนูจะเกลี้ยงไม่มีขนปกคลุมใช้เป็นอวัยวะช่วยในการเกิดสมดุลย์ในการปีนป่าย ขาคู่หน้าจะสั้นกว่าขาคู่หลัง ขาหน้าของหนูมีข้างละ 4 นิ้ว ส่วนขาหลังมีข้างละ 5 นิ้ว ส่วนสำคัญที่สุดของหนูที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่พืชผล วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ คือฟันแทะซึ่งมี 1 คู่ด้านบนและอีกหนึ่งคู่ด้านล่าง โดยปกติหนูเป็นสัตว์ที่ออกหากินในเวลากลางคืน แต่บางครั้งเมื่ออาหารขาดแคลน หรือการหลีกเลี่ยงศัตรูธรรมชาติหนูอาจจะออกหากินในตอนกลางวันแทนได้ (สวาท รัตนวรพันธุ์, 2514)


หนูเป็นสัตว์ตาบอดสี จะมองเห็นเป็นสีขาวและดำเท่านั้น ประสาทตาของหนูจึงไม่ค่อยดีนัก หนูมักจะออกหากินตามทางเดิม จึงมักจะเห็นเป็นทางเหมืนคนเดินลัดสนามหญ้า หนูมักจะใช้จมูกดมกลิ่นเพื่อค้นหาแหล่งอาหารที่อยู่ไกล ๆ ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่า นาข้าวใกล้สุกหรือเก็บเกี่ยวที่ส่งกลิ่นหอมไปได้ไกลจะมีกองทัพหนูบุกเข้าทำลายเสียหายย่อยยับในระยะเวลาเพียง 2-3 วัน หนูสามารถส่งเสียงบอกหนูตัวอื่น ๆ ถึงแหล่งอาหารหรืออันตรายได้ในระยะไกล ๆ ทั้งนี้เพราะหนูมีประสาทสำหรับฟังเสียงที่ดีมาก ประสาทในการชิมรสที่ลิ้นก็ไวมาก สามารถตรวจชิมสารที่แปลกปลอมในอาหารได้โดยง่าย ทำให้หนูเกิดการเข็ดขยาดต่อสารพิษบางชนิดที่มีรสแปลกออกไปได้ ขณะที่หนูออกหาอาหารมักจะใช้ขนใต้ท้องครูดหรือสัมผัสกับพื้นที่หรือวัสดุต่าง ๆ ทำให้หนูรู้ว่าพื้นที่ที่หนูเดินไปนั้นเป็นแบบไหน อุ้งเท้าของหนูช่วยในการปีนป่ายและสัมผัสวัสดุต่าง ๆ ทำให้หนูจำแนกพื้นวัสดุที่มันปีนป่ายหรือเดินทางได้ (Lekakul and Moneely, 1977)


ปกติหนูสามารถออกลูกเฉลี่ยปีละ 4-6 ครอก ครอกละ 4-10 ตัว ลูกหนูที่เกิดขึ้นใหม่จะไม่มีขน ไม่ลืมตาและไม่ได้ยินเสียง จนอายุประมาณ 12-14 วัน จึงจะลืมตาและเริ่มได้ยินเสียง เมื่อลูกหนูอายุได้ 4-5 สัปดาห์จะเริ่มออกหากินเองได้ สำหรับหนูพุกใหญ่จะออกหากินได้ไกลในระยะ 100 เมตรจากที่อยู่อาศัย ส่วนหนูนาท้องขาวและหนูหริ่งจะออกหาอาหารได้ไกลในระยะ 50 เมตร และ 3-9 เมตรตามลำดับ ถ้าเกิดภาวะขาดแคลนอาหารหนูก็จะอพยพไปหากินตามท้องถิ่นอื่น ๆ ที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ได้ ดังนั้นการแพร่ระบาดของหนูนาจึงขึ้นอยู่กับประชากรของหนูและปริมาณอาหารในแหล่งนั้น ๆ ถ้ามีอาหารอุดมสมบูรณ์ตลอดปี หนูก็จะระบาดทำความเสียหายได้ตลอดปีเช่นกัน (ประจง สุดโต และกรแก้ว เสือสะอาด, 2527)


เมื่อหนูอายุได้ประมาณ 2 เดือนขึ้นไปก็จะสามารถผสมพันธุ์ได้ หนูจะมีระยะเป็นสัด เฉลี่ยประมาณ 5 วัน ระยะตั้งท้องประมาณ 21 วัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจากพ่อแม่หนูเพียง 1 คู่ จะให้ลูกหลานในแต่ละปีเป็นจำนวนหลายร้อยตัว (สุทธิชัย สมสุข และคณะ, 2527)


หนูศัตรูข้าวที่สำคัญในประเทศไทย มี 6 ชนิดคือ

    1. หนูพุกใหญ่หรือหนูแผง (Great Bandicoot) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bandicota indica

      (Bechstein) จัดเป็นหนูศัตรูข้าวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด น้ำหนักตัวเต็มวัยประมาณ 400-600 กรัม ขนตามลำตัวมีสีดำ บางครั้งอาจมีสีน้ำตาล บริเวณด้านหลังจะมีขนแข็งโผล่ออกมาเห็นได้ชัด เท้ามีสีดำ ท้องสีเข้ม หน้าคอนข้างสั้น เท้าหลังจะมีความยาวมากกว่า 50 มิลลิเมตร

    2. หนูพุกเล็ก (Lesser Bandicoot) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bandicota savilei Thomas. มีลักษณะ คล้ายหนูพุกใหญ่มาก ทั้งนิสัยชอบขู่และลักษณะสีขนตามลำตัว แต่ต่างกันที่เท้าไม่ดำและไม่มีขนแผงบริเวณหลัง น้ำหนักตัวเต็มวัยประมาณ 200-500 กรัม เท้าหลังจะมีความยาวน้อยกว่า 41 มิลลิเมตร
    3. หนูนาท้องขาวหรือหนูนา (Rice – field rat) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rattus argentiventer Robinson and Kloss เป็นหนูที่มีขนาดปานกลาง น้ำหนักเมื่อโตเต็มวัยประมาณ 100-200 กรัม ขนตามตัวมีสีน้ำตาล เมื่อใช้มือลูบย้อนขนจะรู้สึกเจ็บมือ เนื่องจากขนแข็งสีขาวแทรกอยู่ ลักษณะแข็งกว่าปกติมีขนสีดำพาดบนเท้าหลัง
    4. หนูนาหรือหนูสวน (Lesser rice – field rat) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rattus losea (Swinhoe) เป็นหนูที่มีขนาดเล็กกว่าหนูนาท้องขาว น้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 90-100 กรัม ขนตามลำตัวคล้ายหนูท้องขาวแต่นุ่มไม่มีขนชนิดแข็งแทรก ขนใต้ท้องเข้มออกดำ มีหน้าสั้นกว่าหนูนาท้องขาว
    5. หนูหริ่งนาหางยาว (Ryukyu mouse) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mus caroli Bonhote. เป็นหนูนาที่มีขนาดเล็กมาก น้ำหนักตัวโดยเฉลี่ย 12 กรัม ขนใต้ท้องสีขาว ฟันหน้าด้านบนตรง ด้านล่างสีเข้มกว่าฟันหนูชนิดอื่นคืออกสีน้ำตาล จมูกสั้น เมื่อมองกะโหลกตรง ๆ ทางด้านบนจะเห็นฟันหน้ายื่นเลยจมูก หางสองสี ด้านบนดำ ด้านล่างสีขาว หางยาวกว่าลำตัวและหัวรวมกัน
    6. หนูหริ่งนาหางสั้น (Fawn-coloured mouse) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Mus cervicolor Hodgson.

เป็นหนูนาที่มีขนาดเล็กพอ ๆ กับหนูหริ่งนาหางยาว ความยาวของหางจะสั้นกว่าความยาวของหัวและลำตัวรวมกัน หางด้านบนสีเทา ด้านล่างสีขาว ท้องเทา เท้าสีขาว ฟันด้านล่างจะมีสีอ่อนกว่าหนูหริ่งชนิดแรก จมูกยาวและยื่นเกินฟันหน้า


การประเมินความเสียหายของข้าวในนาที่ถูกหนูทำลาย

การประเมินความเสียหายที่ถูกหนูทำลาย จะช่วยในการตัดสินใจว่าสมควรที่จะดำเนินการป้องกันกำจัดมากน้อยเพียงใด และจะใช้วิธีไหนที่เหมาะสม การประเมินความเสียหายจะเป็นดัชนีเปรียบเทียบว่าแปลงที่ดำเนินการป้องกันกำจัดหนูจะสำเร็จหรือได้ผลมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับแปลงที่ไม่ได้ดำเนินการป้องกันกำจัด ซึ่งการประเมินความเสียหายควรจะดำเนินการก่อนเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 1-2 สัปดาห์ แปลงนาที่จะสำรวจตรวจนับความเสียหายนั้น ควรจะมีขนาดประมาณ 2,000-4,000 ตารางเมตร ในพื้นที่นาที่มีขนาดใหญ่ควรทำการตรวจนับความเสียหาย โดยการสุ่มตัวอย่างประมาณ 10 แปลง แต่ละแปลงควรมีขนาดพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 2,000 ตารางเมตร


สำหรับข้าวนาดำในแปลงนาขนาด 2,000 ตารางเมตร จะนับกอข้าวจำนวน 100 กอ โดยการสุ่มตัวอย่างตลอดพื้นที่นาแล้วนำมาคำนวณหาเปอร์เซนต์ความเสียหาย ส่วนข้าวนาหว่านในแปลงนาขนาด 2,000-5,000 ตารางเมตร จะสุ่มตัวอย่างเพื่อนับความเสียหายจำนวน 8 แปลง ๆ ละ 10 ตัวอย่าง แต่ละตัวอย่างใช้พื้นที่ 1 ตารางเมตร แล้วนำมาคำนวณตามสูตร

% ความเสียหาย = จำนวนต้นข้าวที่ถูกหนูกัด x 10 จำนวนต้นข้าวทั้งหมด



การป้องกันกำจัด

    1. การป้องกันกำจัดหนูโดยไม่ใช้สารเคมีก่อนการปลูกข้าว
      1. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในนาข้าว เช่น ปรับคันนาให้เล็กสำหรับพอที่จะกักน้ำได้เท่านั้น หรือลดจำนวนคันนาลง เนื่องจากคันนาใหญ่และจอมปลอกจะเป็นที่อยู่อาศัยอย่างดีของหนู กำจัดวัชพืชที่รก ๆ บริเวณคันนาข้าวจะทำให้หนูไม่มีที่หลบซ่อนกำบังจากศัตรูธรรมชาติ ประชากรหนูก็จะลดลงไปเอง (ประจง สุดโต และคณะ, 2525)
      2. การขุดหนู โดยใช้จอบหรือเสียมจะสามารถกำจัดหนูได้ทั้งรังที่อยู่อาศัยของมัน แต่การขุด หนูมักจะเปลืองแรงงานและเวลา
      3. การใช้หน้าไม้ ฉมวกหรือปืนแก๊ปยิง ก็จะช่วยลดประชากรหนูลงได้บ้าง
      4. การล้อมตีหนู บริเวณที่เป็นป่าละเมาะที่รกก่อนการปลูกข้าวสามารถล้อมหนูในบริเวณ เหล่านั้นให้เข้ามาอยู่ในวงแคบ ๆ แล้วค่อย ๆ ใช้วัสดุต่าง ๆ เช่นไม่ตีหนูได้โดยง่าย
      5. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติเพื่อกำจัดหนู เช่น งูชนิดต่าง ๆ นกแสก นกฮูก นกเค้าแมว เหยี่ยว พังพอน ล้วนเป็นศัตรูธรรมชาติคอยกำจัดหนู
    2. การป้องกันกำจัดหนูโดยใช้สารเคมีก่อนการปลูกข้าว ก่อนการปลูกข้าวประมาณ 2 สัปดาห์หรือในระหว่างการเตรียมดิน ควรใช้สารเคมีกำจัด หนูเพื่อลดประชากรของหนูให้เหลือน้อยลงมากที่สุด โดยใช้สารเคมีประเภทออกฤทธิ์เร็ว เช่น ซิงค์ฟอสไฟด์ผสมกับปลายข้าวในอัตราส่วนซิงค์ฟอสไฟด์ 1 ส่วนกับปลายข้าว 100 ส่วน โดยน้ำหนักเป็นเหยื่อพิษ หรือใช้ซิลมูรินผสมกับปลายข้าวในอัตราส่วนของซิลมูริน 1 ส่วนต่อปลายข้าว 20 ส่วน โดยน้ำหนักเห็นเหยื่อพิษ นำเหยื่อพิษที่เตรียมไว้ไปวางตามร่องรอยที่พบตามคันนาหรือตามรูหนูที่พบในปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะทุก ๆ ระยะ 5-10 เมตร (ควรใช้แกลบคลุมเหยื่อพิษที่วางเพื่อป้องกันความชื้นและล่อให้หนูมากินเหยื่อพิษมากขึ้น) การใช้สารเคมีประเภทออกฤทธิ์เร็วนี้ ถ้าใช้มากกว่า 1 ครั้ง หนูจะเกิดการเข็ดขนาดต่อเหยื่อพิษชนิดนี้ก็ได้และจะไม่มากินเหยื่อพิษชนิดนี้อีก (เกษม ทองทวี และกรแก้ว เสือสะอาด, 2527) จึงควรเปลี่ยนมาใช้สารเคมีกำจัดหนูชนิดออกฤทธิ์ช้าได้ ซึ่งเป็นพวกที่หนูกินเพียงครั้งเดียวก็ตายได้ เช่น สะตอม (0.005%) คลีแร็ท (0.005%) หรือเส็ด (0.005%) ซึ่งเป็นเหยื่อพิษสำเร็จรูป ในรูปก้อนขี้ผึ้งก้อนละประมาณ 5 กรัม หรือมีผสมใส่ถุงพลาสติกขนาดเล็กถุงละประมาณ 10 กรัม นำเหยื่อพิษสำเร็จรูปนี้ไปวางตามคันนาหรือแหล่งที่พบร่องรอยหนู โดยแต่ละก้อนหรือถุงวางห่างกันประมาณ 5-10 เมตร (เกษม ทองทวี และคณะ, 2528 ; เกษม ทองทวี และคณะ 2525)
    • ระหว่างการปลูกข้าว เมื่อถึงระยะข้าวตั้งตัวได้แล้ว ให้ใช้เหยื่อพิษประเภทออกฤทธิ์ช้าดังกล่าว วางในนาข้าวที่ต้องการป้องกันกำจัดหนูเดือนละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3 ครั้งก็เพียงพอแก่การควบคุมประชากรหนูได้ดี



หอยเชอรี่ (Golden apple snail)

เป็นหอยน้ำจืดบางครั้งเรียกชื่ออื่น ๆ ว่าหอยโขล่งอเมริกาใต้หรือเป๋าฮื้อน้ำจืด (สันทนา ดวงสวัสดิ์, 2530) หอยเชอรี่ (golden apple snail) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pomacea canaliculata Lamarck จัดเป็นสัตว์ศัตรูข้าวชนิดใหม่ที่ก่อปัญหาในนาข้าวของเกษตรกรไทยตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา ทั้งนี้หอยเชอรี่มิใช่เป็นหอยประจำถิ่นแต่มีผู้นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์เพื่อนำมาเลี้ยงเป็นการค้าหรือขายเป็นหอยสวยงามในตู้ปลา และเลี้ยงปริมาณมากเป็นฟาร์ม เพื่อส่งออกเป็นอาหาร เมื่อไม่มีตลาดรับซื้อประกอบกับหอยเจริญเติบโตและสืบพันธุ์ได้รวดเร็ว จึงมีปริมาณมากและแพร่กระจายไปตามแหล่งนี้สู่ลำคลองและแม่น้ำต่อไปเรื่อย ๆ ในปัจจุบันหอยเชอรี่ระบาดทำความเสียหายแก่ต้นข้าวและพืชน้ำต่าง ๆ เกือบ 60 จังหวัด หากยังไม่มีการรณรงค์ในการควบคุมอย่างจริงจังและต่อเนื่องแล้ว คาดว่าหอยเชอรี่จะแพร่กระจายไปทั่วประเทศ กลายเป็นหอยประจำถิ่นและทำลายพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ เป็นมูลค่ามหาศาล ดังเช่นประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ซึ่งประสพมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 และ 2528 ตามลำดับ (ชมพูนุท จรรยาเพศ, 2537)


รูปร่างและลักษณะ

เป็นหอยฝาเดียวคล้ายหอยโขล่ง รูปร่างค่อนข้างกลมใหญ่ เปลือกเรียบมีฝาปิดเป็นแผ่นแข็ง ซึ่งหอยสามารถหลบเข้าอยู่ในเปลือกแล้วปิดฝาเพื่อป้องกันอันตราย เมื่อดูด้วยตาเปล่าสามารถแบ่งเป็น 2 พวก คือ พวกที่มีเปลือกสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อและหนวดสีเหลือง อีกพวกหนึ่งสีเขียวเข้มปนดำและมีแถบสีดำจาง ๆ พาดตามความยาว เนื้อและหนวดมีสีน้ำตาลอ่อน การหมุนของเปลือกเป็นเกลียววนขวา เมื่อโตเต็มที่มีขนาดยาวประมาณ 83 มิลลิเมตร หนัก 165 กรัม เคลื่อนที่โดยใช้กล้ามเนื้อหนา อาจยืดยาว กว้างแบนใช้คืบคลาน เมื่อถูกรบกวนจะหดลำตัวพร้อมทั้งกล้ามเนื้อเข้าไปในเปลือก


การขยายพันธุ์

ลูกหอยที่ฟักออกมาจากไข่มีรูปร่างเหมือนกับตัวแม่แต่มีขนาดเล็กมาก หอยขนาดโตเต็มวัยจะขยายพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 3 เดือน น้ำหนัก 5 กรัม ความยาวเปลือกประมาณ 25 มิลลิเมตร ตัวเมียจะวางไข่ส่วนมากในเวลากลางคืน โดยคลานขึ้นไปวางไข่ตามที่แห้งเหนือน้ำ เช่น ตามกิ่งไม้ที่ปักในบ่อ ต้นหญ้าริมน้ำ ใช้เวลาออกไข่นานตั้งแต่ 1-6 ชั่วโมงแล้วแต่ขนาดของกลุ่มไข่ ไข่ที่ออกมาใหม่ ๆ จะอ่อนนิ่ม และมีเมือกติดทุกใบ หลังจากนั้นจึงจะเริ่มแข็งและแห้งขึ้น ไข่มีสีชมพูสด เพาะติดกันเป็นกลุ่มยาว 2-3 นิ้ว แต่ละกลุ่มประกอบด้วยไข่ 388-3000 ฟอง ไข่แต่ละฟองมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.0-2.5 มิลลิเมตร ไข่จะมีสีซีดจางลงเกือบเป็นสีขาวภายใน 7-12 วันแล้วแตกออก หลังจากนั้นลูกหอยซึ่งมีขนาดเท่าหัวเข็มหมุดเล็ก จะออกมาและร่วงลงน้ำและจะเริ่มคืบคลานได้เมื่อมีขนาด 2-5 มิลลิเมตร ตัวแม่เมื่อออกไข่แล้วเว้นไปราว 4-10 วัน ก็วางไข่ได้อีกและวางไข่ได้ตลอดทั้งปีจนอายุ 3 ปี (Saxena, 1987)


การกินอาหาร

หอยเชอรี่กินพืชน้ำได้เกือบทุกชนิดที่มีลักษณะใบอ่อนนุ่มเช่นแหน ไข่น้ำ ผักบุ้ง ผักกระเฉด สาหร่ายต่าง ๆ ยอดอ่อนผักตบชวา ต้นกล้าข้าว รวมทั้งซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยในน้ำ หอยกินอาหารได้รวดเร็วโดยกินเฉลี่ยวันละ 50 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวตลอด 24 ชั่วโมง ในเวลากลางวันที่มีแดดจัดหอยจะหลบอยู่ใต้ร่มเงาของพืชน้ำต่าง ๆ หรือใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ริมแหล่งน้ำ หอยเชอรี่อาศัยอยู่ได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำทุกประเภทได้แก่ บึง คลอง หนองน้ำ ลำธาร แม่น้ำ ฯลฯ อุณหภูมิที่พอเหมาะประมาณ 30 องศาเซลเซียส จากการสังเกตพบว่าถึงแม้น้ำจะเน่าจนเกือบดำแต่หอยก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ เพียงแต่อาจเจริญเติบโตไม่ดีและออกไข่น้อยกว่าปกติ (ชมพูนุท จรรยาเพศ และทักษิณ อาชวาคม, 2534)


การกัดทำลายต้นข้าว

หอยเชอรี่ชอบกินต้นข้าวระยะกล้าและที่ปักดำใหม่ ๆ ไปจนถึงระยะแตกกอ โดยเริ่มกัดส่วนโคนต้นที่อยู่ใต้น้ำเหนือจากพื้นดิน ½ - 1 นิ้ว จากนั้นกินส่วนใบที่ขาดลอยน้ำจนหมด หอยขนาดความยาวน้อยกว่า 16 มิลลิเมตรยังกินต้นข้าวไม่ได้แต่กินสาหร่ายต่าง ๆ เป็นอาหารแทน ความสามารถในการกัดกินต้นข้าวขึ้นกับขนาดของหอย โดยหอยขนาดยาว 60.6 มิลลิเมตร กินต้นกล้าอายุ 10 วันได้ 26-27 ต้นต่อวัน จากการทดสอบพบว่าหอยเชอรี่ชอบกินต้นข้าวที่มีอายุน้อยมากกว่าข้าวแก่โดยจะเลือกกินข้าวอายุ 10 วันมากที่สุด (ชมพูนุท จรรยาเทศ และทักษิณ อาชวาคม, 2532)


การจำศีล

หอยเชอรี่ที่อาศัยในนาข้าว เมื่อน้ำแห้งลงมันจะปิดฝา แล้วหมกตัวอยู่ในโคลน แม้น้ำจะแห้งจนดินแตกระแหงนาน 3-4 เดือน หอยก็ยังมีชีวิตรอดอยู่ได้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศไทยหอยขนาดใหญ่ 59.2 x 63.4 มม. สามารถจำศีลอยู่ในดินแห้งนานถึง 7 เดือน โดยปิดฝาเมื่อน้ำเริ่มแห้งอยู่ในดินเพียงครึ่งตัว ดังนั้นจึงแน่นอนว่าหอยจะจำศีลอยู่ในพื้นนาตลอดฤดูแล้งของบ้านเราได้ แม้แต่ในท้องที่ปลูกนาน้ำฝนก็ตาม


ศัตรูธรรมชาติ

ตัวห้ำของหอยได้แก่ นก เช่น นกกะปูด นกปากห่าง หนูชนิดต่าง ๆ ในนาข้าว เป็ดและแมลงบางชนิดได้แก่ตัวอ่อนของแปลงปอ แมลงเหนี่ยง ด้วงสี่ตา ตัวแก่ของมวนวน มวนกรรเชียง แมลงดานา มวนแมงป่อง ด้วงดิ่ง นอกจากนี้มดแดง มดคันไฟ แมงมุม ช่วยกินไข่หอยเชอรี่ในนาข้าวด้วย


การป้องกันกำจัด

    1. ในท้องที่ ๆ ยังไม่มีหอยเชอรี่ระบาด เกษตรกรควรป้องกันหอยเข้ามาที่นาของตนดังนี้
    1. การสูบน้ำจากคลองส่งน้ำหรือลำคลองเข้านา ต้องใช้ตาข่ายไนล่อนตาถี่ (สีฟ้า) ปิดปากท่อเพื่อเป็นการป้องกันลูกหอยติดมากับน้ำเข้ามาในนาได้
    2. จำเป็นต้องหมั่นตรวจตราอย่างสม่ำเสมอตามคันนา ต้นหญ้าริมคันนาส่วนที่อยู่เหนือน้ำว่ามีไข่หอยสีชมพูสดเป็นกลุ่มยาว บ้างหรือไม่ ถ้าพบต้องรีบเก็บไปทำลาย คือทุบทิ้งหรือเผาไฟเพราะถ้าทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน ไข่จะฟักเป็นตัวหล่นลงในน้ำได้อีก และถึงแม้ว่าไข่หอยฟักเป็นตัวหล่นลงบนพื้นดินแห้งก็ตาม ก็ยังพักตัวได้นาน 1-2 เดือน รอจนกว่าจะมีน้ำฝนมาชะล้างลงแหล่งน้ำ แล้วเจริญเติบโตต่อไปได้อีก การเก็บไข่หอยจึงเป็นวิธีการกำจัดที่ดีมาก เพราะสามารถกำจัดได้ครั้งละมาก ๆ เนื่องจากไข่หนึ่งกลุ่ม มีตัวหอย 400-2,000 ตัว
    3. เมื่อเริ่มพบตัวหอยในบริเวณที่นาและรอบ ๆ บ้านให้เก็บมาทุบทำลายเสียหรือถ้าจะนำมาเป็นอาหารต้องทำให้สุกเสียก่อนบริโภค เช่น ต้มในน้ำให้เดือดอย่างน้อย 5 นาทีขึ้นไป การนำไปลวกกับน้ำร้อนเท่านั้นไม่ทำให้ตัวอ่อนของพยาธิตาย เมื่อรับประทานเข้าไปอาจติดต่อเข้าสู่ร่างกายได้
    1. ในท้องที่ ๆ มีหอยระบาดทำลายต้นข้าวในนาแล้ว จะต้องพยายามป้องกันไม่ให้หอยแพร่พันธุ์ออกไปมากกว่าเดิม ดังนี้

ก่อนเตรียมดิน

    1. เก็บไข่หอยและตัวหอยในนาข้าวมาทำลายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การเก็บจะได้ผลดีควรเก็บในช่วงเช้าหรือเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่แดดอ่อนและน้ำในนาไม่ร้อนจัด ถ้าหากแสงแดดจัดหอยจะไปหลบซ่อนอยู่ในบริเวณน้ำลึก หรือหมกตัวอยู่ในโคลนทำให้หาตัวหอยลำบาก วิธีการเก็บหอยให้สะดวกใช้กระชอนสำหรับช้อนลูกปลา ต่อด้ามถือให้ยาวขึ้นเพื่อช้อนหอยโดยไม่ต้องก้มหลัง แล้วรวบรวมใส่กระป๋องหรือถุงพลาสติกนำไปทำลาย อย่ากองทิ้งไว้บนคันนาเพราะหอยไม่ตาย
    2. ถ้ามีการสูบน้ำเข้านาต้องใช้ตาข่ายในล่อนตาถี่กั้นทางน้ำเข้าหรือกรองที่ปลายท่อสูบน้ำ
    3. ก่อนปลูกข้าวถ้ายังพบหอยเชอรี่เหลืออยู่ในแปลงนาเป็นจำนวนมากให้ใช้คอปเปอร์ซัลเฟต (จุนสี) เป็นสารประกอบเคมีสีฟ้าเป็นผงละลายกับน้ำแล้วราดให้ทั่วด้วยบัวรดน้ำ หรือเครื่องฉีดพ่นโดยอัตรา 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อมีระดับน้ำในนาสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร หอยจะตายภายใน 24 ชั่วโมง แล้วตากดินทิ้งไว้ราว 2 วัน จึงเริ่มปลูกข้าว

สำหรับนาหว่านน้ำตม มีวิธีการที่จะช่วยกำจัดหอยได้ง่ายยิ่งขึ้น และไม่เปลืองสารฆ่าหอยคือ ทำร่องน้ำเล็ก ๆ ขนาดกว้างประมาณ 1 ฟุต ลึก 5-6 เซนติเมตร ข้าง ๆ คันนาก่อนที่จะหว่านข้าว เมื่อข้าวตั้งตัวได้แล้วจึงระบายน้ำออกจากนาให้มากที่สุด หอยที่เหลืออยู่จะเคลื่อนย้ายมารวมกันอยู่ในร่องน้ำเล็ก ๆ ดังกล่าว ก็สามารถใช้วิธีช้อนเอาไปทิ้งหรือใช้สารฆ่าหอยใส่เฉพาะในร่องน้ำเป็นการประหยัดแรงงาน และสารกำจัดหอยอีกด้วย


ระหว่างปลูกข้าว

    1. หลังหว่านข้าวแล้ว การสูบน้ำเข้านาต้องใช้ตาข่ายไนล่อนตาถี่กั้นทางน้ำเข้าเพื่อกั้นไม่ให้มีหอยเข้ามาเพิ่ม
    2. พร้อมกันนี้ต้องหมั่นสำรวจดูไข่หอยทุกวัน เพราะถ้ายังมีแม่หอยเหลืออยู่มันจะเริ่มไข่ซึ่งจะมองเห็นเป็นสีชมพูชัดเจนต้องรีบเก็บมาทำลาย


การป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมี

ควรเลือกใช้เป็นวิธีการสุดท้าย โดยมากใช้ในท้องที่ที่มีการระบาดหนักและมีความเสียหายมากเท่านั้น เพราะสารฆ่าหอยหรือสารฆ่าแมลงชนิดต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นพิษต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย ตลอดจนผู้ใช้เอง สารเคมีที่แนะนำสำหรับกำจัดหอยเชอรี่ ได้แก่

    • ไนโคลซามีด หรือชื่อการค้าว่าไบลุสไซด์ 70% WP
    • คอปเปอร์ซัลเฟต ละลายน้ำแล้วรดด้วยบัวรดน้ำหรือเครื่องฉีดพ่น ในอัตรา 1 กิโลกรัม/ไร่
    • เมทัลดีไฮด์ หรือชื่อการค้าว่า แองโกล-สลัก เป็นเหยื่อพิษสำเร็จรูปอัดเม็ด ปกติเป็นการกำจัดหอยทางบก ในการกำจัดหอยเชอรี่ ใช้หว่านในอัตรา 0.5 กก./ไร่

สารฆ่าหอยดังกล่าวนี้สามารถเลือกใช้ในกรณีที่จำเป็น และแนะนำให้ใช้เพียงครั้งเดียวต่อหนึ่งฤดูปลูกเท่านั้น ต้องบังคับระดับน้ำในนาข้าวสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร ทั้งนี้เพื่อต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะสารฆ่าหอยส่วนมากจะมีฤทธิ์อยู่ได้นานราว 2-3 สัปดาห์อยู่แล้ว ถ้าระดับน้ำสูงก็ยิ่งเปลืองสารเคมีมากขึ้น แต่ถ้าหากว่าระดับน้ำต่ำเกินไปหอยจะปิดฝา แล้วหมกตัวอยู่ในโคลนทำให้ไม่ได้รับสนจึงอาจไม่ตาย (Litsinger and Estano, 1993)



ปูนา (Rice-field crab)

เป็นศัตรูข้าวที่สำคัญในนาข้าวในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ปูนาเป็นอุปสรรคมากในการทำนา จะกัดทำลายข้าวกล้าตั้งแต่ยังอยู่ในแปลงตกกล้า และหลังปักดำใหม่ ๆ จนข้าวมีอายุ 7-10 วันผ่านไป การทำลายจึงน้อยลง ส่วนในนาหว่านปูนาทำความเสียหายเมื่อเกษตรกรเริ่มระบายน้ำเข้านาหลังจากหว่านข้าวแล้ว อย่างไรก็ตามปูจะกัดข้าวน้อยลงเมื่อข้าวมีอายุมากขึ้น (ชมพูนุท จรรยาเพศ และวิยะดา สีหบุตร, 2523) ความเสียหายอันเนื่องมาจากปูนายังไม่มีการประเมินผลออกมาได้ว่ามากน้อยเพียงไร เนื่องจากลักษณะความเสียหายมีเป็นหย่อม ๆ มิได้เป็นบริเวณกว้างเช่นเดียวกับหนูในบางท้องที่มีการจัดงานวันพิฆาตปูกันขึ้นทุกปี


การเจริญเติบโต

ปูนาขยายพันธุ์โดยออกไข่ เมื่อไข่เจริญเติบโตก็กลายเป็นลูกปูตัวเล็ก ๆ มีรูปร่างเหมือนกับตัวแม่ การเจริญเติบโตเป็นแบบเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ คือมีการลอกคราบแล้วขนาดจึงเพิ่มขึ้น การลอกคราบครั้งหนึ่งก็ขยายขนาดกระดองและอวัยวะอื่น ๆ ได้ครั้งละหนึ่ง ปูนาสามารถลอกคราบได้ 14-15 ครั้ง ในเขตชลประทาน ปูนาสามารถออกไข่ได้เกือบตลอดปี คือ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ ถึงพฤศจิกายน รวมเวลานานประมาณ 10 เดือน แสดงว่าปูมีไข่ได้ขึ้นอยู่กับน้ำในนาไม่ว่าจะเป็นน้ำจากการชลประทานหรือน้ำฝนขังก็ตาม (สมชาย ตั้งพูนผล และคณะ, 2524)


การกินอาหารและการกัดทำลายข้าว

ปูมีขาคู่แรกเปลี่ยนเป็นก้ามซึ่งใช้ในการจับอาหาร ต่อสู้ และเกาะยืดตัวเมียขณะผสมพันธุ์ ในการกินอาหาร ปูใช้ก้ามจับอาหารดึงไว้ แล้วใช้อวัยวะที่ปากฉีกอาหารออกเป็นชิ้นเล็ก และอวัยวะในปากทำหน้าที่บดเคี้ยวให้ละเอียด ในการกัดต้นข้าวในนาปูใช้ก้ามเหนี่ยวลำต้นเพื่อพยุงตัวให้ลอยขึ้น ทั้งนี้ต้องมีแรงพยุงของน้ำช่วยด้วย แล้วจึงใช้ปากกัดต้นข้าวตรงโคนสูงจากพื้นดินประมาณ 3-5 ซม. ปูกินอาหารได้ทุกอย่างทั้งสิ่งมีชีวิตรวมทั้งของเน่าเปื่อยทั้งหลายในดินและในน้ำ สัตว์ที่เป็นอาหารของมันในธรรมชาติคือ ไรน้ำ ลูกน้ำ กุ้ง และปลาขนาดเล็กรวมทั้งปูด้วยกันที่มีขนาดเล็กกว่าหรือขณะที่กำลังลอกคราบหรือเพิ่งลอกคราบใหม่ ๆ ซึ่งกระดองยังนิ่มอยู่และมีการเคลื่อนไหวช้า พวกพืชได้แก่ ต้นหญ้าต่าง ๆ และต้นข้าวที่ยังมีอายุน้อย โดยกัดกินเฉพาะภายในลำต้นที่อ่อนและอวบน้ำ ปูสามารถกัดทำลายข้าวได้ตลอดวัน ยกเว้นช่วงเวลาที่แดดร้อนจัดมาก ๆ มักพบต้นข้าวที่ถูกกัดลอยน้ำเป็นแพใกล้ ๆ กับคันนา ซึ่งปูขุดรูอาศัยอยู่เชื่อว่าระยะออกหากินของมันไม่ไกลจากคันนามากนัก ปูชอบอากาศเย็นโดยเฉพาะตอนหัวค่ำที่ฝนตกพร่ำ ๆ จะพบปูออกจากรูบนคันนาลงไปหากินในนาข้าวมากกว่าปกติ ในนาที่เป็นโคลนและน้ำขุ่นมากเวลาปักดำปูจะกัดข้าวมากกว่าในนาที่มีน้ำใส (สวาท รัตนวรพันธุ์ และสมชาย ตั้งพูลผล, 2516)


โดยปกติปูนาทุกชนิดขุดรูอาศัยอยู่ตามคันนา หรือคลองชลประทาน เมื่อมีน้ำในนาข้าวปูจะขุดรูอยู่ตามข้างคันนาที่น้ำท่วมไม่ถึง รูปูมักเอียงเล็กน้อยและไม่ลึกมากนัก ถ้าระดับน้ำในดินตื้นมากปากรูจะอยู่เหนือน้ำหรือต่ำกว่าระดับน้ำเพียงเล็กน้อยเพื่อสะดวกในการเข้าออก เมื่อน้ำในนาแห้งแต่พื้นดินยังแฉะอยู่ (หลังเก็บเกี่ยว) ปูจะขุดรูตามพื้นนาทั่ว ๆ ไปหมด ลักษณะรูคดเคี้ยวน้อยมาก และรูดิ่งลึกประมาณ 1 เมตร เมื่ออากาศแห้งแล้งมากเข้าปูจะขุดดินปิดปากรูไว้เพื่อรักษาความชุ่มชื้นภายในรู (ชมพูนุท จรรยาเพศ และคณะ, 2527)


ปูนาที่สำคัญในประเทศไทย มีดังนี้

Somanniathelphusa germaini พบมากในภาคกลาง 20 จังหวัด ภาคตะวันตก 2 จังหวัด ภาคตะวันออก 1 จังหวัด และภาคเหนือ 1 จังหวัด รวม 25 จังหวัด

Somanniathelphusa bangkokensis พบมากในภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันตก 4 จังหวัด ภาคใต้ 4 จังหวัด และภาคตะวันออก 2 จังหวัด รวม 18 จังหวัด

S. sexpunctata พบมากในภาคใต้ 13 จังหวัด ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ภาคตะวันตก 1 จังหวัด และภาคกลาง 1 จังหวัด รวม 19 จังหวัด

S. dugasti พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ภาคกลาง 10 จังหวัด ภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ภาคตะวันตก 3 จังหวัด และภาคใต้ 1 จังหวัด รวม 41 จังหวัด

S.maehongsonensis เป็นชนิดที่พบแห่งเดียวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

S.fangensis พบใน 2 จังหวัดทางภาคเหนือคือ เชียงใหม่ และลำปาง

S.denchaii ชนิดใหม่ที่พบในจังหวัดแพร่

S.nani ชนิดใหม่ล่าสุดพบที่จังหวัดน่าน


การป้องกันกำจัด

    1. ดักจับ โดยใช้ลอบดักปลาในนาตามทางน้ำไหลหรือขุดหลุมฝังไหข้างคันนาที่เป็นโคลนตมให้ขอบภาชนะอยู่ระดับพื้นดิน ใส่เศษปลาหรือกะปิที่มีกลิ่นแรงเป็นเหยื่อก็จะได้ปูเป็นจำนวนมาก
    2. ระบายน้ำออกทันทีหลังจากปักดำ (ถ้าหากเป็นไปได้) เมื่อข้าวตั้งตัวหลังจากนั้นประมาณ 15-20 วัน จึงระบายน้ำเข้านาใหม่ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ปูกัดข้าว วิธีนี้ค่อนข้างยากเพราะต้องปรับระดับผิวน้ำให้ค่อนข้างเสมอกัน อย่าให้มีแอ่งหรือหลุมบ่อ
    3. ใช้ต้นกล้าแก่อายุ 30-35 วัน ปักดำในที่ ๆ ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ เพราะปูชอบกัดต้นข้าวที่มีอายุน้อยกว่าต้นข้าวที่มีอายุมาก
    4. ใช้สารฆ่าแมลงที่มีพิษต่อปู เช่น ซูมิไธออน 50% อีซี 40 ซีซี. ต่อไร่ หรือโฟลิดอล อี 605 3% ดี อัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่ โดยผสมน้ำแล้วดักหยอดเป็นจุด ๆ หรือคลุกกับข้าวสุกหว่าน หรือผสมน้ำแล้วฉีดพ่นด้วยเครื่องให้ทั่วแปลง ใช้สารฆ่าแมลงเหล่านี้ทันทีหลังจากปักดำและทำซ้ำกันอักหลังจากนั้น 15 วัน

นอกจากนี้อาจใช้ แอมบุช 70 ซีซี.ต่อไร่ หรือคองคอร์ด 50 ซีซี.ต่อไร่ โดยผสมน้ำแล้วราดในแปลงด้วยบัวรดน้ำหรือพ่นด้วยเครื่องให้ทั่วแปลง ปฏิบัติทันทีหลังปักดำข้าวและทำซ้ำอีกหลังจากครั้งแรก 7 วัน



 

http://k.domaindlx.com/rbrrice/data/a2.htm









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-07-29 (1741 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©