-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 426 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

นาข้าว







คำศัพท์เฉพาะที่เกี่ยวกับข้าว


เนื่องจากชีวิตคนไทยเกี่ยวพันอยู่กับข้าว วัฒนธรรมไทยจึงเน้นคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับข้าวตามไปด้วย เพื่อความสะดวกในการสื่อสารและทำความเข้าใจ คำศัพท์เฉพาะที่เรียกข้าวในลักษณะต่างๆ มีอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นการเอ่ยคำเพียงคำเดียวก้เข้าใจกันด้ำไม่จำเป้นต้องอธิบายลักษณะของข้าวเหล่านี้เป็นวลีหรือประโยค คำศัพท์เหล่านี้ได้แก่


ข้าวเจ้า
- ข้าวที่มีเนื้อเมล็ดใส ใช้หุงเป็นอาหาร เป็นข้าวที่คนไทยส่วนมากกินเป็นประจำ
ข้าวเหนียว - ข้าวที่มีเนื้อเมล็ดขุ่นกว่าข้าวเจ้า เมื่อหุงหรือนึ่งแล้วเมล็ดจะเหนียวติดกัน

ข้าวเปลือก - เมล็ดข้าวที่ยังไม่ๆได้เอาเปลือกออก
ข้าวปลูก - ข้าวเปลือกที่เก็บไว้สำหรับทำพันธุ์
ข้าวกล้า
- ข้าวเปลือกที่เพาะไว้สำหรับย้ายไปปลูกที่อื่น
ข้าวกล้อง
- ข้าวที่สีแล้ว ยังมีข้าวเปลือกปนอยู่ เพื่อเอาไปซ้อมให้ขาว
ข้าวสาร
- ข้าวเปลือกที่สีซ้อมจนเหลือแต่เมล็ดข้าวดีแล้ว
ข้าวซ้อม
- ข้าวกล้องที่ซ้อมขาวแล้ว
ข้าวลีบ
- ข้าวที่มีแต่เปลือกลีบ ไม่มีเมล็ดข้าวสารอยู่ข้างใน
ข้าวฟ่อน - ข้าวทั้งรวงที่เกี่ยวแล้ว มัดทำเป็นฟ่อนใหญ่ๆ


ข้าวหนักหรือข้าวงัน(ภาษาถิ่นอีสาน) - ชื่อข้าวชนิดหนึ่งที่ได้ผลช้ากว่าจะได้เก็บเกี่ยวก็ในราวเดือนยี่ ออกรวงช้ากว่าข้าวเบา
ข้าวเบา
- ข้าวที่ออกรวงเร็ว เป็นข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในระยะเวลาประมาณ ๓ เดือน บางทีเรียก ข้าวสามเดือน พายัพเรียกข้าวดอ
ข้าวเก่า
- ข้าวที่เก็บเกี่ยวไว้ค้างปี
ข้าวใหม่
- ข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ในปีนั้น
ข้าวนึ่ง
- ข้าวเปลือกที่นึ่งแล้วตากแดดก่อนสี มักส่งไปขายต่างประเทศ
ข้าวสุก
- ข้าวที่หุงสุกแล้ว บางทีเรียกข้าวสวย
ข้าวดิบ
- ข้าวที่อยู่กับต้น ยังไม่สุก หรือข้าวที่หุงไม่สุก
ข้าวสวย
- ข้าวที่หุงแล้ว
ข้าวตาก
- ข้าวสุกที่ตากแห้ง
ข้าวตัง
- ข้าวสุกที่ติดเป็นแผ่นเกรียมก้นหม้อ หรือกระทะ
ข้าวตอก
- ข้าวเปลือกที่เอามาคั่วให้แตกเป็นดอกบาน พายัพเรียกข้าวแตก อีสานเรียกข้าวตอกแตก
ข้าวเม่า
- ข้าวเปลือกที่ยังไม่แก่จัด เอามาคั่วแล้วตำให้แบน
ข้าวฮาง - ข้าวเหนียวที่ยังไม่แก่จัดเอามาคั่วตากแดดให้แห้งแล้วตำแ




นอกจากคำศัพท์ที่คิดขึ้นมาเพื่ออธิบายลักษณะเฉพาะของข้าวแบบต่างๆ แล้ว คนไทยยังนำข้าวไปทำเป็นอาหารประเภท ต่างๆ โดยนำคำศัพท์อื่นเข้ามารวมกับคำข้าว ทำให้เกิดเป็นคำประสม เช่น

ข้าวกรู - ข้าวชนิดที่ทำเพื่ออุทิศให้ปรทัตตูปชีวีเปรตในพิธีสารท
ข้าวเกรียบ - ของกินทำด้วยแป้งข้าวเจ้าหรือแป้งข้าวเหนียวเป็นแผ่นตากให้แห้งแล้ว ปิ้ง หรือทอด มีหลายชนิด เช่น ข้าวเกรียบว่าว ข้าวเกรียบงา ข้าวเกรียบกุ้ง

ข้าวเกรียบปากหม้อ - ของว่างชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเจ้า ละเลงบนผ้าที่ขึงปากหม้อ มีไส้ทำ ด้วยกุ้งหรือหมู เป็นต้น
ข้าวเกรียบอ่อน - ขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเจ้า ละลายกับน้ำตาลโตนด หรือน้ำตาลมะพร้าว มีไส้ทำด้วยถั่วหรือมะพร้าว กินกับน้ำตาลคลุกงา
ข้าวแกง
- อาหารที่ขาย มีข้าวกับแกงเป็นต้น เรียกร้านอาหารประเภทนี้ว่า ร้านข้าวแกง
ข้าวโกบ
(ภาษาถิ่นอีสาน) - ขนมนางเล็ด
ข้าวขวัญ
- ข้าวบายศรี
ข้าวแขก
- ชื่อขนมชนิดหนึ่งทำด้วยข้าวเปียก มีหน้าคล้ายตะโก แต่สีเหลือง มีรสเค็ม ๆ มัน ๆ
ข้าวควบ
(ภาษาถิ่นพายัพ) - ข้าวเกรียบใส่น้ำตาลอ้อย มีรสหวานอย่างข้าวเกรียบว่าว
ข้าวแคบ
(ภาษาถิ่นพายัพ) - ข้าวเกรียบที่มีรสเค็ม ๆ อย่างข้าวเกรียบกุ้ง
ข้าวจี่
(ภาษาถิ่นพายัพ) - ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน ข้างในใส่น้ำอ้อย เอาไข่ทา แล้วปิ้งไฟ
ข้าวแจก ( ภาษาถิ่นอีสาน )- ข้าวที่ทำบุญส่วนกุศลให้ผู้ตาย

ข้าวแช่ - ชื่ออาหารชนิดหนึ่ง มีข้าวสุกขัดแช่เย็น กินกับเครื่องกับข้าวต่าง ๆ
ข้าวซอย
( ภาษาถิ่นพายัพ) - ชื่ออาหารทางภาคพายัพ ทำด้วยแป้งข้าวเจ้าเป็นเส้นใหญ่ ๆ แล้วปรุงเครื่อง
ข้าวแดกงา
- ข้าวเหนียวนึ่งโขลกปนงา
ข้าวต้ม
- ข้าวที่ต้มให้สุก, ข้าวเหนียวที่ห่อใบไม้ เช่น ใบตองหรือใบมะพร้าวแล้วต้มหรือนึ่งให้สุกอยู่ในจำพวกขนม มีชื่อต่างๆ กัน เช่น ข้าวต้มมัด ข้าวต้มผัด
ข้าวต้มน้ำวุ้น
- ของหวานชนิดหนึ่งทำด้วยข้าวเหนียวห่อใบตองเป็นรูปสามเหลี่ยมต้มกิน กับน้ำเชื่อม
ข้าวต้มปัด
- ข้าวเหนียวต้มที่ห่อด้วยใบไม้ เช่น ใบมะพร้าวหรือใบเตย มักทำถวายพระในเทศกาลออกพรรษา บางทีเรียกข้าวปัด
ข้าวตอกตั้ง
- ของหวานทำด้วยข้าวตอกคลุกน้ำตาลและมะพร้าวทำเป็นแผ่น ๆ เกลือกแป้ง
ข้าวตู
- ข้าวตากคั่วแล้วตำเป็นผงเคล้ากับน้ำตาลและมะพร้าว
ข้าวแตน
- ขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยข้าวเหนียวนึ่งแผ่เป็นแผ่นกลมทอดน้ำมันให้พอง มีรสเค็ม ๆ หวาน ๆ บางทีเรียกขนมรังแตน
ข้าวทิพย์
- ขนมอย่างหนึ่ง ปรุงด้วยเครื่องกวน มีน้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำนม ถั่ว งา เป็นต้น นิยมใช้หญิงพรหมจารีกวนให้เข้ากันมักทำให้พิธีสารท บางทีเรียกข้าวกระยาทิพย์
ข้าวบิณฑ์
- ข้าวสุกที่บรรจุในกรวย ใส่ไว้ในพุ่มดอกไม้ ใช้ในการเซ่นบูชา
ข้าวบุหรี่
- ข้าวหุงอย่างวิธีของแขก มีเครื่องปรุงและเนื้ออยู่ในตัว
ข้าวเบือ - ข้าวสารที่ตำกับของอื่นประสมกับน้ำแกง เพื่อให้น้ำแกงข้น

ข้าวประดับดิน (ภาษาถิ่นอีสาน) - ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เอาไปบูชาตามต้นโพธิ์ และพระเจดีย์เวลา เช้ามืดในเดือน ๙
ข้าวปาด
(ภาษาถิ่นอีสาน) - ขนมเปียกปูน
ข้าวปุ้น
(ภาษาถิ่นอีสาน) - ขนมจีน
ข้าวเปรต
- เครื่องเซ่นเปรตในพิธีตรุษสารท
ข้าวเปียก
- ข้าวที่ต้มและกวนให้เหนียว, ข้าวที่ต้มกับน้ำกะทิให้เหลวจนน้ำแห้ง มีรสเค็ม ๆ มัน
ข้าวผอก
- ข้าวห่อหรือข้าวที่บรรจุกระบอกไปกินกลางวัน
ข้าวผอกกระบอกน้ำ
- ของกินเล็ก ๆ น้อย ๆ และมีกระบอกน้ำเล็ก ๆ กรอกน้ำแขวนกิ่งไม้ ที่ทำขึ้นแล้วผูกไว้ที่บันไดเรือนใช้ในพิธีตรุษ
ข้าวพระ
- ข้าวสำหรับถวายพระพุทธ บางทีเรียกข้าวพระพุทธ
ข้าวพอง
- ชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยเมล็ดข้าวประสมกับน้ำตาล อัดเป็นแผ่นแล้ว ทอดให้พอง
ข้าวเภา
- ชื่อข้าวในพิธีธนญชัยบาศ รับช้างเผือกของพราหมณ์พฤฒิบาศ คลุกด้วย สีเหลือง สีแดงแล้วปั้นเป็นก้อน ๆ
ข้าวมัน
- ข้าวที่หุงด้วยกะทิให้สุก
ข้าวเม่าทอด - ขนมชนิดหนึ่งทำด้วยกล้วยไข่ หุ้มด้วยข้าวเม่าดำ คลุกกับมะพร้าว แล้วชุบแป้งทอดเป็นแพ ๆ

ข้าวยาคู - ชื่อขนมอย่างหนึ่ง ทำด้วยเมล็ดข้าวอ่อน ตำแล้วคั้น เอาน้ำเคี่ยวกับน้ำตาล
ข้าวยำ
- อาหารของชาวใต้ชนิดหนึ่ง มีข้าวสุกใช้คลุกกับเครื่องปรุง มีกุ้งแห้งป่น มะพร้าวคั่ว น้ำเคยหรือน้ำบูดู ส้มโอ(มะม่วงหรือมะขามหั่น และผักต่าง ๆ เช่น ใบมะกรูด ตะไคร้ ผักกระถินถั่วฝักยาว ถั่วพู หรือถั่วงอก)
ข้าวสาก
(ภาษาถิ่นอีสาน) - ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เอาไปบูชาตามต้นโพธิ์ และพระเจดีย์เวลาเช้ามืดใน เดือน ๑๐
ข้าวหมก
- อาหารอิสลามแบบหนึ่ง ประกอบด้วยข้าวสวยปรุงด้วยเครื่องเทศและขมิ้น มีเนื้อไก่หรือเนื้อแพะหมกในข้าว
ข้าวหมาก - ของกินอย่างหนึ่ง ทำด้วยข้าวเหนียวนึ่ง แล้วหมักกับแป้งเชื้อ


ข้าวหลาม - ข้าวเหนียวที่บรรจุในกระบอกไม้ไผ่แล้วเผาให้สุก
ข้าวหลามตัด - ข้าวเหนียวนึ่งอัดใส่ถาด โรยถั่วทอง ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มักกินกับข้าวหมาก

ข้าวคั่ว - ข้าวตากคั่วให้สุก ใช้ทำอาหาร
ข้าวหัวโขน
- ข้าวตากคั่วน้ำตาล
ข้าวเหนียวแก้ว
- ข้าวเหนียวกวนกับกะทิและน้ำตาลทราย
ข้าวเหนียวแดง
- ข้าวเหนียวกวนกับกะทิและน้ำตาลหม้อ มีสีแดงเป็นน้ำตาลไหม้
ข้าวเหนียวตัด
- ข้าวเหนียวนึ่ง ใส่หน้ากะทิ ตัดเป็นชิ้นๆ
ข้าวเหนียวห่อ
- นำข้าวเหนียวมาห่อแล้วนึ่ง ใส่หน้ากะทิ
ข้าวแม่ซื้อ
- ข้าวสุกปากหม้อ ปั้นเป็นก้อน ๔ ปั้น ๔ สี คือ ขาว เขียว แดง และดำ ปั้นละสี เอาข้าวสี่ปั้นนี้วางลงในฝาละมี ชามหรือ กระทง แล้วหยิบทีละก้อนวนรอบตัวเด็กแล้ว กล่าวคำฟาดเคราะห์ เพื่อให้เด็กหายจากตัวร้อน นอนผวา เรียก พิธีทิ้งข้าวแม่ซื้อ
ข้าวหม่ำ - ข้าวที่เคี่ยวให้ละเอียดแล้วคายออกมาป้อนให้เด็กเล็กๆ เป็นภาษาไทยใหญ่


ข้าวเหนียวทุเรียน

ข้าวที่นำมาใช้ทำเป็นอาหารนี้มีเป็นจำนวนมาก ถ้าจะจัดจำแนกอาหารที่ทำจากข้าว สามารถแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

๑. อาหารที่ชาวบ้านทำรับประทานกันเป็นสามัญทั้งคาวและหวาน ได้แก่ ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวเหนียวตัด ข้าวหลาม ข้าวหมาก ข้าวแช่ ข้าวซอย ข้าวจี่ ข้าวแขก ข้าวเกรียบ ข้าวต้ม เป็นต้น

๒. อาหารที่ใช้ในพิธีกรรม ได้แก่ ข้าวกรู ข้าวขวัญ ข้าวบิณฑ์ ข้าวแม่ซื้อ ข้าวประดับดิน ข้าวเปรต ข้าวผอกกระบอกน้ำข้าวสาก เป็นต้น

ดังนี้จะเห็นได้ว่า ข้าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยในทุกๆ ด้านทั้งในด้านชีววิทยา คือตอบสนองต่อความต้องการตามธรรมชาติของร่างกายในด้านอาหาร และตอบสนองต่อความเชื่อ ซึ่งเป็นความต้องการทางจิตใจ จึงอาจกล่าวได้ว่าข้าวมีความสำคัญต่อชีวิตคนไทยเป็นอย่างมาก ดังคำกล่าวที่ว่าอดข้าวดอกนะเจ้าชีวาวายนักมานุษยวิทยาถือว่าคำศัพท์ในภาษาย่อมบ่งชี้ถึงความสนใจเฉพาะของวัฒนธรรม เมื่อมีการใช้คำศัพท์ ข้าว ในภาษาไทยมากจึงหมายความว่า วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับ




แม่โพสพ เทวีแห่งข้าว

คนไทยได้เรียนรู้ว่าข้าวเป็นของมีคุณ เป็นพืชที่เลี้ยงชีวิตเผ่าพันธุ์ไทยยั่งยืนมาแต่โบราณกาลจนสืบเชื้อสายอยู่มากมายในปัจจุบัน เมื่อใดที่อยู่ในสภาพ "ข้าวเหลือเกลืออิ่ม" ประชาชนก็จะมีความสงบสุข แต่เมื่อเกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนก็จะหน้าดำคร่ำเครียดด้วยความทุกข์ ในเมื่อข้าวมีความสำคัญต่อชีวิตคนไทย คนไทยจึงมีความกตัญญูต่อข้าว ยกย่องข้าวเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าในข้าวมีวิญญาณ ข้าวเรียกว่า "แม่โพสพ" สถิตอยู่
ฉะนั้นผู้เฒ่าผู้แก่จึงสั่งสอนว่ามิให้เหยียบย่ำข้าว มิให้สาดข้าวหรือทำข้าวหก กินข้าวเสร็จแล้วก็สอนให้ไหว้แม่โพสพขอบคุณ แม้การมหรสพของชาวบ้านยามเมื่อร้องบทไหว้ครูก็จะมีการร้องระลึกคุณแม่โพสพไว้ด้วย ดังบทไหว้ครูเพลงเรือบทหนึ่งมีความว่า

.......จะยกบายศรีขึ้นสี่มุม ลูกจะไหว้พระภูมิ ที่มา ไหว้ทั้งแม่ข้าวเจ้า ทั้งพ่อข้าวเหนียว เสียเเหละเมื่อลูกนี้เกี่ยวกันมา ลูกจะไหว้โพสพ สิบนิ้วนอบนบ นิ้วหน้า ขอให้มาปกปักรักษาลูก ขออย่าให้มีทุกข์เลยหนา ขอให้มาเป็นมงคลสวมบนเกศา กันแต่เมื่อเวลานี้เอย.....

เรื่องเล่าเกี่ยวกับแม่โพสพมีเล่ากันทุกภาค มีความแตกต่างกันเป็น ๒ แนว คือ นิทานภาคกลางและภาคใต้มีเรื่องตรงกันแนวหนึ่ง อีกแนวหนึ่งเป็นนิทานของภาคเหนือและภาคอีสาน

ตำนานแม่โพสพของภาคกลางและภาคใต้
แม่โพสพเป็นเทวีแห่งข้าว มีพาหนะเป็นปลากรายทองและปลาสำเภา ในวันหนึ่งที่เมืองไพสาลี กลางสโมสรสันนิบาต มนุษย์ได้ปรึกษากันว่าระหว่างพระพุทธเจ้ากับแม่โพสพใครมีคุณมากกว่ากัน ที่ประชุมต่างพากันกล่าวว่า คุณพระพุทธเจ้าใหญ่กว่า แม่โพสพและพระเพชรฉลูกรรณได้ฟังดังนั้นก็ข้องใจว่าเรารักษามนุษย์อยู่ มนุษย์ไม่เห็นความดี จึงทรงปลากรายหนีไปยังป่าหิมพานต์เขาคชกูฎ เมื่อแม่โพสพจากไปก็เกิดความอดอยากขึ้นในโลกมนุษย์ ทำไร่ไถนาไม่มีข้าวมีแต่แกลบ มนุษย์จึงชวนกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าให้พระมาตุลีไปเชิญนางกลับมา พระมาตุลีตามไปจนถึงเขาทบกันก็ไปไม่ได้ จึงใช้ให้ปลาสลาดไปตามต่อจนพบ ปลาสลาดได้อ้อนวอนขอให้นางกลับคืนโลก นางตอบว่า อยู่ที่นี่เราสบาย ถ้าจะไปใจแม่หายเพราะเขาไม่รู้บุญคุณ แม่จะให้แต่เมล็ดข้าวไปรักษาแก่ฝูงคน เมื่อเก็บนึกถึงเรา เราจะไปปีละหน เก็บเกี่ยวแล้วให้ทำขวัญ นางได้มอบเมล็ดข้าว ๗ เมล็ด (บ้างก็ว่า ๙ เมล็ดไปทำพันธุ์ พระเพชรฉลูกรรณให้ให้แม่เหล็ก ๑ อัน สำหรับตั้งพร้า นางยังสั่งด้วยว่า เมื่อมนุษย์ทำไร่ไถนา เมื่อข้าวใกล้สุกก็จัดให้มีพิธีทำขวัญให้แต่งด้วยข้าวขวัญและด้วยเหตุที่ปลาสลาดเป็นผุ้บอกทางที่นางซ่อนแก่พระมาตุลี นางจึงสั่งให้นำปลาสลาดมาเป็นเครื่องเซ่นสังเวยด้วย ปลาสลาดก็ลากลับมาเล่าให้พระมาตุลีฟังตามคำแม่โพสพ พระมาตุลีรับเมล็ดข้าวแล้วก็เหาะกลับ ในระหว่างทางพระมาตุลีจึงหยุดพักอาบน้ำ นกกระจาบได้แอบลักเมล็ดข้าวสองเมล็ดบินหนี ข้าวสองเมล็ดนั้นได้ตกลงมายังโลกมนุษย์กลายเป็นข้าวผี พระมาตุลีนำเมล็ดพันธุ์ข้าวถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงเรียกมนุษย์มาพร้อมกัน ทรงอธิบายให้มนุษย์ฟัง และแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่มนุษย์ ตั้งแต่นั้นมาเมื่อข้าวใกล้สุก มนุษย์จะทำขวัญเชิญแม่โพสพเป็นประจำทุกปี

ตำนานแม่โพสพของภาคเหนือและภาคอีสาน
เรื่องเริ่มที่อุทยานของพญานาคมีข้าวเกิดขึ้นเอง ต้นหนึ่งๆ มีขนาดเจ็ดกำมือ เมล็ดใหญ่เท่าผลมะพร้าว มีสีเงินยวงกลิ่นหอมหวาน มีหญิงม่ายคนหนึ่งเป็นคนยากไร้ ไม่มีมีดพร้าสำหรับ ผ่าเมล็ดข้าว จึงใช้ไม้คานทุบข้าว เมล็ดข้าวแตกกระจาย บางส่วนไปเกิดเป็น ข้าวไร่ หรือ ข้าวดอย บางส่วนตกในน้ำเกิดเป็นข้าวนาหรือแม่โพสพ แม่โพสพน้อยใจที่หญิงม่ายทำรุนแรงจึงหนีไปอยู่เสียในถ้ำ ทำให้มนุษย์ไม่มีข้าวกินถึงพันปี
วันหนึ่งลูกชายเศรษฐีหลงทางเข้าไปในป่าพบปลากั้งซึ่งอยู่กับนางโพสพ ปลากั้งพาไปไหว้นาง ลูกเศรษฐีได้อ้อนวอนให้นางคืนสู่เมืองมนุษย์ นางขัดอ้อนวอนไม่ได้จึงกลับมาโลกอีก ลูกเศรษฐีสำนึกในบุญคุณของนางจึงชักชวนมนุษย์ให้ยกย่องนับถือนาง
ต่อมาอีกพันปี มีชายโลภมากผู้หนึ่งสร้างยุ้งฉางเก็บข้าวไว้กินแต่ผู้เดียว แม่โพสพโกรธจึงหนีกลับไปอยู่ถ้ำในป่าอีกทิ้งให้มนุษย์อดอยากเป้นเวลาหลายร้อยปี เทวดาเล็งเห็นความทุกข์ยากจึงอ้อนวอนให้แม่โพสพกลับคืนมา พร้อมกันนั้นก็สอนให้มนุษย์รู้จักนับถือข้าว รู้จักทำขวัญข้าว
นิทานของชาวลื้อในภาคเหนือบางสำนวนเล่าว่า ในสมัยพระพุทธเจ้า นางขวัญข้าวถูกไล่จึงไปอยู่ถ้ำกับพวกครุฑนาค ต่อมาชาวเมืองอดข้าวจึงได้ทำพิธีเชิญแม่โพสพกลับเมือง
จากตำนานนิทานในท้องถิ่นต่างๆ จะเห็นได้ว่าความเชื่อเรื่องแม่โพสพเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนไทย ก่อนหันมารับนับถือพุทธศาสนา นิทานของชาวลื้อแสดงให้เห็นร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเมื่อหันมานับถือพุทธศาสนาและขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิม นิทานของชาวภาคกลางและภาคใต้แสดงให้เห็นชัยชนะของพุทธศาสนาเหนือศาสนาดั้งเดิม (แม่โพสพ-เทวีแห่งข้าว และพระเพชรฉลูกรรณเทพแห่งช่าง เป็นเทพซึ่งชาวบ้านนับถือ) และแสดงให้เห็นการประนีประนอมระหว่างความเชื่อทั้งสอง ทั้งนี้ทั้งนั้นก้เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญของชุมชน

จาก " แม่โพสพ เทวีแห่งข้าว" โดย สุกัญญา ภัทราชัย ใน ข้าวกับวิถีชีวิตไทย (น.๑๒๙ - ๑๓๑) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๖




http://www.culture.go.th/knowledge/story/rice/file09.htm
www.culture.go.th/knowledge/story/rice/file02.htm -









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-07-29 (4379 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©