-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 408 บุคคลทั่วไป และ 1 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

นาข้าว







เทคนิคการสลายตอซังข้าวและปุ๋ยสั่งตัด หนึ่งในนวัตกรรมจากศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน

จากการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix it Center ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา จนปัจจุบัน การดำเนินโครงการเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการขยายบทบาทจากการเป็นศูนย์ที่ส่งนักศึกษาอาชีวศึกษาที่เรียนด้านช่างสาขาต่างๆ ออกไปให้บริการชุมชนแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย มาเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน และเพิ่มทักษะแก่ชุมชนในทุกด้าน รวมทั้งการเพิ่มจำนวนศูนย์จากเดิม 2,000 แห่ง ให้มีจำนวนเพิ่มอีก 8,000 แห่ง ภายในปี 2554 โดยการเริ่มนำร่องในปี 2551 จำนวน 500 แห่ง จึงนับเป็นอีกก้าวหนึ่งในการรุกขยายบทบาทลงสู่ชุมชนในชนบททั่วประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณพงศกร อรรณนพพร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ คุณวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาขอนแก่น นำคณะออกตรวจเยี่ยมโครงการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น โดยร่วมลงแปลงนาสาธิตการสลายตอซังข้าวในนาโดยไม่ต้องเผาทำลาย ในโครงการจัดความรู้เพิ่มพลังให้ดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร ซึ่งใช้พื้นที่ในบริเวณวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น เป็นแหล่งเรียนรู้ในการสลายตอซังข้าว การใช้ปุ๋ยสั่งตัด และการปรับสภาพเครื่องจักรให้พร้อมใช้งาน

อาจารย์บุญช่วย ศรีเกษ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้จัดโครงการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน เพื่อให้คำแนะนำ ถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชน ให้รู้วิธีใช้ การดูแลรักษา และพัฒนาทักษะช่างชุมชน ให้สามารถซ่อมบำรุงเครื่องมือ อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ และเครื่องใช้ในครัวเรือน ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับชุมชน ในการถ่ายทอดความรู้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยทางวิทยาลัยได้จัดตั้งศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน จำนวน 2 ศูนย์ คือ ศูนย์ อบต.สวนหม่อน และศูนย์ อบต.โคกสำราญ อำเภอมัญจาคีรี พร้อมกับการใช้พื้นที่ในวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเฉพาะวิธีการสลายตอซังข้าวในนากับการใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจจากเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างมาก

"การสลายตอซังข้าวในนา เป็นวิธีการแบบเกษตรอินทรีย์ ที่ใช้ภูมิปัญญาไทยผสมผสานกับเทคโนโลยี โดยเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องเผาทำลายตอซังข้าว แต่ทำให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ย โดยนำเทคนิคการล้มตอซังข้าว แล้วใช้วิธีชีวภาพเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ให้ย่อยสลายตอซัง ร่วมกับการใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งหมายถึงการวิเคราะห์ดินแต่ละพื้นที่ และจัดการสั่งปุ๋ยหรือธาตุอาหารที่เหมาะสมกับดินในแต่ละแหล่งเพาะปลูก และพืชที่ปลูก ให้เป็นตัวกำหนดสูตรปุ๋ย N P K หรือ ไนโตรเจน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่เหมาะสมในการเพาะปลูก นอกจากนี้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น ยังให้คำปรึกษาแนะนำ และเพิ่มความรู้ด้านการบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ ให้สามารถพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิต และยังช่วยลดปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติอีกด้วย" อาจารย์บุญช่วย บอก

อาจารย์บุญช่วย กล่าวต่อว่า การย่อยสลายตอซังข้าวด้วยจุลินทรีย์นั้น จะเริ่มใช้ในแปลงนาข้าวที่มีการเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เหยียบหรือทุบหรือไถนาตอซังให้ติดกับดิน แล้วปล่อยน้ำเข้าไปในพื้นที่นาให้ท่วมตอซังและฟางข้าวให้หมด จากนั้นจึงใช้น้ำจุลินทรีย์ในอัตราสัดส่วนพื้นนา 1 ไร่ ใช้หัวจุลินทรีย์ 1 ลิตร หรือ 1,000 ซีซี และผงเอ็กก้า บูมเมอร์ 250 กรัม ซึ่งในการผสมน้ำจุลินทรีย์นั้นก็ไม่ยาก คือให้ใช้ผงเอ็กก้า บูมเมอร์ ละลายในถังที่จะใช้ผสม เมื่อละลายเรียบร้อยแล้ว ให้เติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ลงไป และเติมน้ำลงไปจนเพียงพอกับการที่จะฉีดหรือสาดลงในแปลงนาข้าวอย่างทั่วถึง หลังจากนั้น ให้เก็บกักน้ำไว้ในแปลงนาเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งจุลิทรีย์จะย่อยสลายตอซังและเศษฟางข้าว รวมทั้งวัชพืชอื่นๆ ให้กลายเป็นปุ๋ยหมัก จากนั้นก็ปลูกข้าวได้เลย

"สิ่งที่สำคัญในการทำการเกษตร คือการเตรียมดิน โดยเฉพาะที่นา จะต้องปรับพื้นที่นาให้ราบเรียบ โดยให้ลาดเอียงไปทางใดทางหนึ่ง แต่ปัจจุบัน เกษตรกรมักไม่ค่อยให้ความสำคัญ ซึ่งอาจเป็นเพราะเช่าที่นา จึงไม่ต้องการลงทุนเพิ่มเติมมากนัก หรือแม้แต่เป็นที่นาของตัวเองบางครั้งก็ยังขาดการเอาใจใส่ในเรื่องนี้ ส่วนการเผาตอซังข้าว ก็เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก แต่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ที่ดินก็เสียหาย หากปรับมาใช้การสลายตอซังด้วยเชื้อจุลินทรีย์ จะช่วยย่อยสลายเซลลูโลสของฟางข้าว เมื่อเติมผงเอ็กก้า บูมเมอร์ ที่มีคุณสมบัติเป็นประจุไฟฟ้าลบ จะช่วยทำให้ดินร่วนซุย ทั้งยังช่วยขยายหรือเพิ่มปริมาณของจุลินทรีย์ได้อีกถึง 1,000 เท่า ทำให้ตอซังข้าวย่อยสลายในเวลาอันรวดเร็วภายใน 7 วัน เท่านั้น" อาจารย์บุญช่วย อธิบาย

คุณพงศกร อรรณนพพร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคเอกชน ได้บูรณาการองค์ความรู้ และร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร โดยองค์ความรู้ส่วนหนึ่งที่ถ่ายทอดไปทั่วประเทศคือ การสลายตอซังข้าวในนา การใช้ปุ๋ยสั่งตัด และการปรับสภาพเครื่องจักรกลการเกษตรให้พร้อมใช้งาน โดยจัดพื้นที่แปลงสาธิตและฝึกอบรมกระจายความรู้เกษตรกรรมแนวใหม่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบในการเพิ่มประสิทธิภาพและความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตที่ปลอดสารพิษแก่เกษตรกรและประชาชนผู้บริโภค โดยการปรับลดการใช้สารเคมีจากยาปราบวัชพืช ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีที่เป็นยาปราบวัชพืชปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขึ้นทุกปี ดังนั้น การกลับมาใช้เกษตรแบบอินทรีย์ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทยเข้าด้วยกัน จะช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

คุณวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ภายใต้โครงการจัดความรู้เพิ่มพลังให้ดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร ซึ่งเป็นความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคเอกชน ได้กำหนดให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) จำนวน 11 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นศูนย์ในการดำเนินการเผยแพร่ความรู้ให้เกษตรกรในหมู่บ้านตามพื้นที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งประกอบด้วย วษท.สุพรรณบุรี, วษท.ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร, วษท.พิจิตร, วษท.กำแพงเพชร, วษท.สิงห์บุรี, วษท.ลพบุรี, วษท.พัทลุง, วษท.ขอนแก่น, วษท.ปทุมธานี, วษท.เชียงใหม่ และ วษท.อุบลราชธานี โดยเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง สามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งด้านการเกษตร และการเป็นศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชนในอีกทางหนึ่งด้วย

 
โดย สุเมธ วรรณพฤกษ์
หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

pre-rsc.ricethailand.go.th/knowledge/39.html -









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-07-29 (1119 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©