-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 296 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สารสมุนไพร








 

สมุนไพรควบคุมแมลงศัตรูพืช


อ.รักษ์เกียรติ จิรันธร
ภาควิชาเภสัชเวทฯ คณะเภสัชศาสตร์

                    สมุนไพรได้เข้ามามีบทบาทควบคุมกำจัดแมลงศัตรูพืช ทั้งนี้เป็นเพราะการใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ทั้งทางด้านคุณภาพและความสมดุลของสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ ทำให้วัฎจักรของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในระบบนิเวศน์มีประสิทธิภาพถดถอยลง บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะแนะนำสมุนไพรในประเทศ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการควบคุมกำจัดแมลงศัตรูพืช

                    สมุนไพรตัวแรกที่จะแนะนำ คือ "สะเดาอินเดีย" เป็นพืชในวงศ์ Meliaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A Juss. Var. indica เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 8-15 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอด เป็นพุ่มกลมคล้ายเจดีย์ต่ำ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับกันใบร่วงง่าย มีใบย่อย 5-9 คู่ โค้งเป็นรูปเคียว สีเขียวแก่หนาและเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง สีขาวมีกลิ่นหอม ผลค่อนข้างกลมยาว สีเขียวอมขาว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ภายในมีเมล็ด 1 เมล็ด นิยมใช้ใบแก่ และเมล็ดในการกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ "meliantriol" และ "azadirachtin" โดยพบว่าสาร azadirachtin มีคุณสมบัติเป็นสารไล่ (repellent) ซึ่งมีผลกับแมลงเพลี้ยอ่อน (Myzus persicae) แมลงหวี่ขาว (Bemesia tabaci) ด้วงถั่วเหลือง (Callosobruchus chinensis) มอดแป้ง (Tribolium confusm) และด้วงงวงข้าวโพด (Sitophilus zeamais)

                    มีคุณสมบัติยับยั้งการกินอาหาร (antifeeding) ในแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (Nilaparvata lugens) เพลี้ยอ่อน (Aphis fabae) มีผลยับยั้งการเจริญเติบโต (growth retardant) ทำให้แมลงไม่ลอกคราบ เช่น ตั๊กแตน (Locusta migratoria) เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นสีเขียว (Nephotettix virescens) เพลี้ยกระโดดหลังขาว (Sogatella furcifera) เพลี้ยอ่อน นอกจากนี้ยังมีผลยับยั้งการวางไข่และการฟักไข่ของแมลง มีผลทำให้แมลงมีการแพร่พันธุ์ต่ำ สำหรับชาวไร่ผักจะช่วยป้องกันกำจัด หนอนกะทู้ผัก (Spodoptila litura) หนอนใยผัก (Plutella xylostella) หนอนเจาะสมอฝ้าย (Heliothis armigera) ด้วงปีกแข้ง ตั๊กแตน แมลงวันทอง เพลี้ยจักจั่นสีเขียว เป็นต้น วิธีการใช้ นำใบแก่ 200 กรัม ตำละเอียด ผสมน้ำ 1 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 2 คืน กรองเอากากออกนำน้ำยาที่ได้ไปใช้ หรือใช้เมล็ดแก่แห้งแทน โดยมีอัตราส่วนต่างไปนำเมล็ดบดแห้ง 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

                    นอกจากสะเดาอินเดียแล้ว ยังสามารถใช้สะเดาบ้าน (Azadirachta indica A. Juss. var. siamensis Valeton) แทนได้อีกด้วย ข้อแตกต่างระหว่างสะเดาอินเดียกับสะเดาบ้านคือ ใบอ่อนของสะเดาอินเดียสีเขียวอ่อน ของสะเดาบ้านมักมีสีน้ำตาลแดง ใบย่อยรูปใบของสะเดาอินเดียโค้งเป็นรูปเคียว ในขณะที่สะเดาบ้านใบย่อยเป็นรูปหอก เปลือกต้นสะเดาอินเดียแตกไม่เป็นระเบียบ เปลือกสะเดาบ้านแตกเป็นร่องรูปสี่เหลี่ยมผืน
ผ้า

                    น้อยหน่า หรือที่เรียก Custard Apple, Sugar Apple มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Annona squamosa Linn. อยู่ในวงศ์ Annonaceae เป็นไม้พุ่มแตกกิ่งก้านสูงประมาณ 4-5 เมตร ใบเดี่ยวออกสลับกัน สีเขียวอ่อน รูปใบยาวรี ปลายและโคนใบแหลม ดอกเดี่ยวออกตามง่ามใบ กลีบดอกหนามี 1 ชั้น สีเหลืองอมเขียว มีผลเป็นผลกลุ่ม ขนาดใหญ่ค่อนข้างกลม เปลือกผลขรุขระเป็นช่องๆ เรียกว่า "ตา" ในแต่ละตามีเนื้อสีขาวหุ้มเมล็ดอยู่ภายใน 1 เมล็ด ผลสุกแก่จัดมีรสหวาน นิยมใช้ส่วนของเมล็ดที่มีอัลคาลอยด์ชื่อ anonaine และพบว่ามีน้ำมันอื่น(45%) นำมาเตรียมโดยนำเมล็ด 500 กรัม บดละเอียดผสมน้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้ 1-2 คืน กรองเอาน้ำไปฉีดพ่นฆ่า เพลี้ยจักจั่นสีเขียว เพลี้ยกระโดด มวนเขียว หนอนใยผัก แมลงวัน ตั๊กแตน มอดแป้ง แมลงวันทอง และเหา

                    ยาสูบ หรือที่ชาวบ้านทั่ว ๆ ไปรู้จักในนามของ "ยาตั้ง ยาฉุน ยาเส้น" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nicotiana tabacum Linn. อยู่ในวงศ์ Solanaceae เป็นพืชที่นิยมปลูกทั่วไปในภาคเหนือ ยาสูบเป็นไม้กิ่งล้มลุก มีอายุหนึ่งปี ต้นสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ลำต้นตรง มีขนอ่อนปกคลุม ใบเดี่ยวขนาดใหญ่เป็นรูปไข่กลับ ฐานใบแคบเกือบไม่มีก้านใบ ใบใหญ่หนาสากมือ ยาว 10 - 30 ซม. ดอกออกเป็นช่อยาวที่ปลายยอด บานจากล่างไปบน กลีบดอกเป็นรูปแตร สีชมพูอมขาวจนถึงแดง ผลแห้งแล้วแตก ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก สีน้ำตาลอ่อน จำนวนมาก สืบพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด นิยมใช้ใบแก่ เพราะมี อัลคาลอยด์ nicotine (93% ของอัลคาลอยด์ที่พบในใบยาสูบ) นำมาเตรียมโดยนำใบแก่ 200 กรัม ตำให้ละเอียด ละลายน้ำ 1 ลิตร ทิ้งไว้ 1 คืน กรองเอาน้ำไปฉีดพ่นในแปลงผัก ช่วยกำจัด หนอนใยผัก หนอนกะทู้ผัก เพลี้ยกระโดด มอดแป้ง และแมลงศัตรูพืชอื่นๆ ถ้าต้องการให้ฤทธิ์ฆ่าเพลี้ยแมลงให้ได้ผลดี ควรเตรียมในน้ำยาที่เป็นด่าง โดยใส่น้ำสบู่ลงไปแทน เพราะน้ำสบู่จะทำหน้าที่เป็นสารจับใบ

                   
 โล่ติ๊น หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า "ต้นหางไหล" เป็นไม้เถาเนื้อแข็งในวงศ์ Papilonaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Derris elliptica Benth. มักขึ้นได้ดีในป่าชื้น และริมแม่น้ำลำคลองทั่วไป เป็นพืชโตเร็ว ขึ้นง่าย ชอบเลื้อยพาดกับต้นไม้อื่นๆ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกมี 7 ใบขึ้นไป ใบย่อยเกือบเท่าใบลำใย รูปไข่กลับ กว้าง 5-7 ซม. ยาว 12-18 ซม. ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาล ดอกออกเป็นช่อ ดอกย่อยสีชมพู บานจากล่างไปบน รูปดอกมีลักษณะคล้ายดอกถั่ว(papilionaceous form) ผลเป็นฝักแบนๆ ภายในมี 1-3 เมล็ด พอต้นอายุประมาณ 2 ปีขึ้นไป สามารถนำเถาและรากมาใช้ในการป้องกันและกำจัดแมลง โดยนำรากหรือลำต้นมาบดหรือทุบให้แหลกมาก ๆ แช่น้ำในอัตราส่วนรากหรือลำต้น 0.5-1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หมักค้างคืนประมาณ 2 วัน ในระหว่างที่หมักควรใช้ไม้กวนประมาณ 3-4 ครั้ง กรองเอากากออก จะได้น้ำยาสกัดมีลักษณะขุ่นสีขาว นำไปฉีดพ่นในแปลงผักและแปลงผลไม้ต่างๆ โดยไม่แนะนำให้ใช้กับแปลงผักที่อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ทั้งนี้เพราะสารสำคัญที่พบในโล่ติ๊น rotenone จะมีพิษต่อปลา โดยจะทำให้ปลาหมดความรู้สึกในระยะแรก แต่ไม่ได้ฆ่าปลาในทันที ถ้านำไปปล่อยในน้ำที่สะอาดจะทำให้ปลานั้นสามารถรอดชีวิตต่อไปได้ นอกจากนี้ยังพบอีกว่าสาร rotenone นี้ ไม่เป็นพิษต่อสัตว์เลือดอุ่น ทำให้ชาวบ้านนิยมนำมาใช้เป็น "ยาเบื่อปลา" โดยเฉพาะผู้ที่นำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะล้างบ่อ หนองน้ำที่เลี้ยงสัตว์น้ำเหล่านั้น นอกจากจะพบสาร rotenone แล้วยังพบสารพิษชนิดอื่นอีกหลายชนิด เช่น degualin, sumatrol, toxicarol, elliptone และ malaccol เป็นต้น สารสกัดที่ได้จากรากโล่ติ๊นสลายตัวได้รวดเร็วเมื่อถูกแสงแดดและความชื้น ไม่ติดค้างอยู่บนพืชผัก ถ้าต้องการให้สารสกัดจากโล่ติ๊นมีความคงตัวควรจะทำให้อยู่ในรูปของเกลือฟอสเฟต หรือเกลือซัลเฟต ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 6 เดือน สารออกฤทธิ์ที่ได้จากสารสกัดโล่ติ๊นออกฤทธิ์กำจัดแมลงโดยการกิน (stomach poison) และโดยการสัมผัส (contact poison) และมีผลโดยตรงกับระบบการทำงานของไมโตคอนเดรีย ซึ่งอยู่ภายในเซลล์ (mitochondria electron transportation) นิยมใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชได้แก่ ด้วงเจาะเมล็ดถั่ว หรือด้วงถั่วเหลือง (Callosobruchus chinensis) หนอนกระทู้ผัก, หนอนเจาะสมอฝ้าย, หนอนใยผัก แมลงวันแตง (Dacus cucurbitae) เพลี้ยอ่อนฝ้าย (Aphis gossypii) หนอนกะหล่ำ (Crocidoimia binoltalis) หนอนแตง (Margalonia indica) ตัวอ่อนเพลี้ยจักจั่นฝ้าย (Amrasca biguttula) เพลี้ยอ่อนกะหล่ำ (Lipaphis erysimi) ตั๊กแตนและด้วงหมัดกระโดด เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถกำจัดแมลงในบ้าน เรือด หมัด ลูกน้ำยุง และหนอนแมลงวัน ได้อีกด้วย

                    ขมิ้นชัน หรือขมิ้นแกง เป็นพืชในวงศ์ Zingiberaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa Linn. เป็นพืชที่นิยมปลูกทั่วไปในภาคใต้ ขมิ้นชันเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดินเนื้อในสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใบเรียวยาว ปลายแหลม ก้านใบยาวคล้ายใบพุทธรักษา ดอกออกเป็นช่อมีก้านช่อแทงขึ้นมาจากเหง้า ดอกสีขาวอมเหลือง ขมิ้นชันที่ใช้ควรปลูกให้มีอายุ 9-10 เดือน จึงขุดเหง้าขึ้นมาใช้ได้ มีสารสำคัญคือ turmerone curcumin น้ำมันหอมระเหย และ resin เป็นต้น การเตรียมสารสกัดขมิ้นชันจะใช้เหง้าแก่สดบดผสมกับน้ำในอัตราส่วน ขมิ้นชันบดครึ่งกิโลกรัมผสมกับน้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้ 1 คืน กรองเอาแต่น้ำ ฉีดพ่นแปลงผักใช้ไล่และกำจัดแมลงได้หลายชนิด เช่น ด้วงถั่วเขียว หนอนใยผัก แมลงวันแตง มอดข้าวเปลือก หนอนแมลงวันเจาะต้นถั่ว (Ophiomyia reticulata) และหนอนเจาะยอดกะหล่ำ (Hellula undalis) เป็นต้น จากการวิจัยพบว่าเหง้าขมิ้นชันมีสารที่ทำลายระบบประสาทของแมลง และถ้าใช้สารสกัดที่ได้จากการใช้ตัวทำละลายสกัด เช่น ethanol จะได้สารสกัดที่มีน้ำมันสูง มีกลิ่นรุนแรง สามารถนำไปคลุกเมล็ดถั่วต่างๆ เพื่อป้องกันแมลงในโรงเก็บได้เป็นอย่างดี

                    พริกขี้หนู หรือดีปลีขี้นก (ภาคใต้) เป็นพืชที่คุ้นหูคุ้นปากคนไทยมาช้านาน นิยมใช้ในการปรุงรสอาหารจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับชาวไร่เป็นอย่างดี พริกขี้หนูมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Capsicum frutescens Linn. อยู่ในวงศ์ Solanaceae พริกขี้หนูเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ 45-75 เซนติเมตร ใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม รูปใบกลมรีปลายแหลม ดอกสีขาวออกเป็นกลุ่ม ผลสุกมีสีแดงหรือแดงปนน้ำตาล ผิวลื่นมันภายในกลวง มีแกนกลางและมีเมล็ดแบนกลมสีเหลืองเกาะอยู่ที่แกน มีรสเผ็ด ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ส่วนของพริกขี้หนูที่มีคุณสมบัติฆ่าแมลงคือผลสุก โดยจะไปทำให้เกิดความเป็นพิษต่อกระเพาะอาหารของแมลง ไปขัดขวางการดูดกินของศัตรูพืชหลายชนิด เช่น มด เพลี้ยอ่อน หนอนผีเสื้อ (Pieris rapae) หนอนกะหล่ำ และแมลงศัตรูพืชในโรงเก็บ นอกจากนี้ยังพบว่าผิวผลสุกมีสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดในหลอดทดลอง ส่วนใบและดอกมีสารยับยั้งการขยายตัวของเชื้อไวรัส จากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า การใช้น้ำคั้นจากใบและดอกของพริกไปควบคุมการระบาดของโรคไวรัสในพืช จะได้ผลดีถ้านำไปฉีดพ่นก่อนที่พืชจะเป็นโรคนั้นแล้ว ในการเตรียมสารสกัดพริกเพื่อใช้ในการควบคุมกำจัดแมลงนั้นเตรียมโดย โขลกพริกให้ละเอียด ละลายน้ำในอัตราส่วน 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร คนให้เข้ากัน 10-20 นาที กรองเอาแต่น้ำใสไปใช้ โดยก่อนฉีดต้องมีการผสมน้ำสบู่ลงไปในอัตราส่วน สารสกัดจากพริกขี้หนู 1 ส่วน น้ำสบู่ 5 ส่วน โดยน้ำสบู่ที่ใส่ลงไปจะเป็น "สารจับตัว" ช่วยให้สารสกัดจับเกาะใบพืชดีขึ้น ข้อควรระวังคือควรใช้สารสกัดจากพริกขี้หนูในปริมาณแต่น้อยก่อน ทั้งนี้เพราะสารสกัดที่เข้มข้นจะทำให้เกิดโรคใบไหม้ขึ้นได้ นอกจากนี้ในระหว่างการฉีดพ่นต้องใส่เสื้อผ้าปิดสนิทมิดชิด กันการเกิดการระคายเคืองแสบร้อนต่อผิวหนังของผู้ใช้

                    ผกากรองหรือดอกขี้ไก่ ไม้ประดับที่พบทั่วไปมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lantana camara Linn. เป็นพืชในวงศ์ Verbenaceae เป็นไม้พุ่มลำต้นตั้งตรง สูง 1-2 เมตร กิ่งก้านเป็นสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามรูปไข่ โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบจักแบบซี่ฟัน ดอกช่อออกเป็นกระจุกแน่น มีหลายสี เช่น ชมพู ส้ม เหลือง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเรียงยาว ผลสดรูปทรงกลม เมื่อสุกสีม่วงหรือดำ มีกลิ่นเฉพาะตัว ใบ ดอก และผล สามารถนำมาเตรียมเป็นสารสกัดโดยนำใบบดผสมน้ำในอัตราส่วน 1:1 กรองเอาแต่น้ำไปใช้รดแปลงผัก มีประสิทธิภาพดีในการฆ่าหนอนใยผัก และเพลี้ยต่างๆ

                    กระเทียมเครื่องเทศที่ใช้ในการปรุงรสและแต่งกลิ่นอาหารในครัวเรือน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium sativum Linn. อยู่ในวงศ์ Alliaceae เป็นพืชล้มลุกเนื้ออ่อนมีหัวอยู่ใต้ดิน ประกอบด้วยหัวหลายหัวรวมกัน มีเปลือกนอกสีขาวหุ้ม 2-3 ชั้น ใบเดี่ยว แบบ แคบ ยาว กลวง ปลายใบแหลม กว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 30-50 เซนติเมตร ดอกออกเป็นชื่อสีขาวคล้ายซี่ร่ม ก้านช่อดอกยาว และทุกส่วนของต้นมีกลิ่นเฉพาะตัวฉุน กระเทียมมีสารสำคัญคือ allicin, diallyl disulfide และน้ำมันหอมระเหย(0.6-1.0%) กระเทียมมีฤทธิ์ช่วยลดไขมันในหลอดเลือกและลดความดันแล้ว กระเทียมยังมีฤทธิ์ฆ่าจุลินทรีย์ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งราและแบคทีเรีย กระเทียมยังมีฤทธิ์ขับลม ฆ่าแมลง ไล่แมลงได้อีกด้วย โดยพบว่ากลไกที่สำคัญในการฆ่าแมลงคือ ยับยั้งการดูดกินอาหารของแมลงทำให้แมลงขาดอาหาร การนำกระเทียมไปเตรียมใช้ ให้นำกระเทียมสด 500 กรัม ทุบให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปแช่ในน้ำมันก๊าด หรือน้ำมันเบนซิน 80 มิลลิลิตร ตั้งทิ้งไว้ 1-2 คืน กรองเอาแต่สารละลาย เติมน้ำสบู่ลงไปอีก 100 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 เท่า นำไปพ่นที่แปลงผัก ซึ่งจะได้ผลดีกับแมลงทั่วๆ ไป รวมทั้ง เพลี้ยอ่อน หนอนกระทู้ผัก หนอนผีเสื้อกะหล่ำ หนอนด้วยดีด หนอนแตง และด้วงหมัด (Podagrica uniforma) เป็นต้น

                    นอกจากสมุนไพรที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีการทดลองนำสมุนไพรมาผสมกับสมุนไพรที่มีกลิ่นเฉพาะตัว ที่มีคุณสมบัติในการไล่แมลง(repellent) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าและควบคุมแมลงในแปลงผัก และลดการดื้อต่อฤทธิ์ฆ่าแมลงของสารสกัดสมุนไพร โดยสมุนไพรที่นิยมนำมาผสมได้แก่ ข่า และตะไคร้หอม

                    ข่า เป็นพืชที่ใช้เป็นเครื่องเทศ แต่งกลิ่นอาหารได้หลายชนิด อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับ ขิง กระชาย ข่ามีชื่อวิทยาศาสตร์ เรียกว่า Alpinia galanga (Linn.) Willd. ข่าเป็นพืชล้มลุกมีอายุหลายปี สูงประมาณ 1-2 เมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดินมีข้อปล้องชัดเจน เนื้อในเหง้าสีเหลืองอ่อน สืบพันธุ์โดยการแตกหน่อ ใบเดียวกว้าง 7-10 เซนติเมตร ยาว 20-40 เซนติเมตร รูปไข่ยาว ออกสลับกับรอบลำต้นบนดินเป็นกาบของใบหุ้มกันจนแน่น ดอกออกปลายยอดเป็นดอกช่อติดกันอยู่อย่างหลวมๆ ทั้งช่อดอกเมื่อยังอ่อนอยู่จะมีกาบสีเขียวอมเหลืองหุ้มมิด (spathe) ดอกมีสีขาวประสีม่วงแดง บานจากล่างขึ้นข้างบน ผลสีเขียวกลมขนาดเล็กแก่แตกได้ เหง้าอ่อนจะมีแผ่นบางๆ สีแดงหุ้ม หน่ออ่อนมีสีแดงคล้ำ ใบเหง้าข่าจะมีสารสำคัญประกอบด้วย galangin galangol ซึ่งเป็น sesquiterpene และเป็น acrid resin มีน้ำมันหอมระเหย (0.5-5%) ประกอบด้วย cineol, eugenol, pinene, cadinene methyl cinnamate เป็นต้น การนำข่ามาใช้เตรียมเป็นสารสกัดนิยมใช้ ทั้งเหง้าแก่และลำต้น

                    ตะไคร้หอม เป็นพืชที่มีลักษณะต้นรูปร่างคล้ายตะไคร้แกง เป็นพืชอยู่ในวงศ์เดียวกับต้นข้าวคือ Gramineae พันธุ์ตะไคร้ที่นิยมนำมาสกัดน้ำมันมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ลังกา (Cymbopogon nadus Rendle) และพันธุ์ชวา (Cymbopogon winterianus Jowitt) โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกทั่วไปในประเทศไทย ต้นจะมีสีม่วงแดงเล็กน้อย สูงประมาณ 1.5-2 เมตร ออกเป็นกอ ใบยาวแคบ ผิวเกลี้ยง ใบยาว 1 เมตร กลิ่นหอมเฉพาะตัวที่แตกต่างจากตะไคร้แกงมาก ดอกเป็นช่อยาวใหญ่โน้มเอียงลง มักออกดอกในหน้าหนาว สีของช่อดอก น้ำตาลแดงคล้ำ ผลเป็นผลชนิดแห้งไม่แตก การนำตะไคร้หอมไปสกัดน้ำมันหอมระเหย มักจะนำใบและต้นสดมากลั่นด้วยไอน้ำ จะได้น้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่า citronella oil ประกอบด้วย qeraniol.(55-92%) citronellal, borneol และอื่น ๆ น้ำมันตะไคร้หอม มีฤทธิ์ไล่ยุงดีมาก ใช้กำจัดหมัดสุนัข หนอนใยผัก หนอกกระทู้ผัก แมลงวันทอง เพลี้ยอ่อน จากการวิจัยพบว่า น้ำมันตะไคร้หอมมีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคเชื้อราในพืชได้อีกด้วย

                   
 การเตรียมสารสกัดจากข่าและตะไคร้หอมไม่นิยมเตรียมเป็นสารสกัดจากสมุนไพรเดี่ยว ๆ จากการทดลองจะใช้ส่วนผสมเมล็ดสะเดา (Azadirachta indica var. siamensis Valuton) 50% ตะไคร้หอม (Cymbopogon nardus Rendle) 25% และเหง้าข่า (Alpinia galanga Linn.) 25% บดตัวอย่างพืชแห้งทั้งหมดผสมให้เข้ากัน ผสมน้ำในอัตราส่วน 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 คืน กรองเอาน้ำที่ได้ไปฉีดพ่นแมลง สามารถป้องกันกำจัดหนอนใยผักและหนอนกระทู้ได้เป็นอย่างดี หรือจะนำใบสะเดาสด 2 กิโลกรัมบดผสมเหง้าข่า บด 2 กิโลกรัม ใส่น้ำ 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 คืน กรองเอาสารละลายนี้ไปฉีดพ่นแมลงบนแปลงผักทุกๆ 3 วัน สามารถป้องกันการทำลายของหนอนใยผัก และหนอนกระทู้ได้

                    จากข้อความที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่า สมุนไพรของเราสามารถนำมาสกัดเป็นสารควบคุมกำจัดแมลงได้หลายชนิดในแปลงผัก ในสวน จะทำให้ลดการใช้ยาฆ่าแมลงเคมีสังเคราะห์ได้ จะทำให้ลดอันตรายจากสารเคมีปนเปื้อนแก่เกษตรกรผู้ใช้ สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม ลดการเสี่ยงจากการเป็นโรคภัยต่างๆ ที่เกิดจากสารเคมีตกค้างในผลผลิตต่อผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะสารสกัดจากพืชสมุนไพรสลายตัวได้ง่ายกว่าสารเคมีสังเคราะห์ อย่างไรก็ตามแนวความคิดที่จะนำพืชสมุนไพรมาใช้ประดยชน์ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ต้องมีการค้นคว้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ได้สารสกัดสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพดี มีความคงตัวดี และเตรียมใช้เองได้ง่าย เหมาะแก่การถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้แก่เกษตรกรต่อ
ไป

pcog.pharmacy.psu.ac.th/thi/Article/2546/06.../06-46.html









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-06-09 (3043 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©