-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 458 บุคคลทั่วไป และ 1 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

เทคโนฯ เกษตร








 

ปุ๋ย  ฮอร์โมนพืช และน้ำหมักชีวภาพ 

ศาสตราจารย์ ดร. นันทกร  บุญเกิด

สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

อ. เมือง  จ. นครราชสีมา

 

คำนำ
 

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า โดยทั่วๆ ไป การปลูกพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตและคุณภาพ จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญต่างๆ  ได้แก่  น้ำ  แสงแดด  อุณหภูมิ การปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้พืชได้รับธาตุอาหารที่เพียงพอ  การป้องกันกำจัดศัตรูพืช และการใช้สารกระตุ้นต่างๆ เพื่อการเจริญเติบโต  การออกดอก ติดผลในพืช ปัจจุบันนี้กลุ่มเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อใช้ในการเร่งการเจริญเติบโตของพืช  โดยเข้าใจว่าเป็นปุ๋ยชีวภาพ  เพื่อให้เกษตรกรได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง  จึงได้นำเสนอความรู้เชิงวิชาการเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี  ปุ๋ยอินทรีย์  ปุ๋ยชีวภาพ  ปุ๋ยอินทรีย์  ชีวภาพ  และสารกระตุ้นการเจริญเติบโต  การออกดอก และติดผลในพืช  ซึ่งทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืชว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรในการช่วยให้พืชเจริญเติบโต

 
ปุ๋ยคืออะไร 

ปุ๋ย คือ วัสดุที่มีธาตุอาหารพืชเป็นองค์ประกอบ หรือสิ่งที่มีชีวิตที่ก่อให้เกิดปุ๋ย  เมื่อใส่ลงไปในดินแล้วจะสามารถปลดปล่อยธาตุอาหารพืชที่จำเป็นให้แก่พืช

               
ธาตุอาหารพืชที่จำเป็นแก่พืชมีด้วยกัน 16 ธาตุ คือ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) และ ออกซิเจน (O) ทั้ง 3 ธาตุนี้ พืชได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสง จึงไม่จำเป็นต้องให้  อีก 13 ธาตุ ที่จะต้องพิจารณาให้  ได้แก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) กำมะถัน (S)  ทั้ง 6 ธาตุ พืชมีความต้องการในปริมาณมาก จึงมักเรียกว่าธาตุอาหารหลัก  ส่วนอีก 7 ธาตุ พืชมีความต้องการในปริมาณน้อย จึงมักเรียกว่าธาตุอาหารรอง แต่มีความสำคัญมากเช่นกัน ได้แก่ ธาตุเหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) สังกะสี (Zn) โบรอน (Bo) ทองแดง (Cu) โมลิบดินัม (Mo) และ คลอรีน (Cl) และมีบางธาตุที่มีความจำเป็นเฉพาะพืช  ได้แก่  ซิลิกอน (Si) ซึ่งจำเป็นสำหรับข้าว

               
ปุ๋ยดังกล่าวมี 4 ชนิด  ได้แก่  ปุ๋ยอนินทรีย์ (เคมี)  ปุ๋ยอินทรีย์  ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์   ชีวภาพ

 

ปุ๋ยอนินทรีย์ (เคมี)  (Chemical fertilizer)

NH2      C     NH2

ปุ๋ยอนินทรีย์ หรือปุ๋ยเคมี คือปุ๋ยที่สังเคราะห์ขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ  เช่น  แร่ และหินต่างๆ โดยอาศัยกระบวนการเชิงอุตสาหกรรม  ปุ๋ยเคมีมีสูตรโครงสร้างที่แน่นอน  เช่น  ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต  มีสูตร (NH4)2HPO4  ให้ธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัส  โพแตสเซียมซัลเฟต มีสูตร K2SO4 ให้ธาตุโพแทสเซียมและกำมะถัน 
หรือยูเรีย  มีสูตร    ให้ธาตุไนโตรเจน 

ปุ๋ยเคมีแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ปุ๋ยเดี่ยวและปุ๋ยผสม

               
ปุ๋ยเดี่ยว หรือ แม่ปุ๋ย หมายถึง ปุ๋ยชนิดเดียวที่ให้ธาตุอาหารหลัก N-P-K หนึ่ง หรือ สองชนิด เช่น

               
ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน (N-fertilizer) 
ได้แก่
แอมโมเนียมไนเตรต (NH4NO3) 35% N   
แอมโมเนียมซัลเฟต  (NH4)2SO4  21%  N
NH2 C  NH2
O
แอมโมเนียมคลอไรด์ (NH4Cl) 26%  N  
ยูเรีย 46%  N
                               
ไดแอมโมเนียฟอสเฟต   (NH4)2HPO4 18%  N, 46%  P2O5

               
ปุ๋ยเคมีฟอสฟอรัส (P fertilizer) ได้แก่

หินฟอสเฟต  Ca3(PO4)2  15-20%  P (ทั้งหมด)

ซุปเปอร์ฟอสเฟต (Ca2HPO4)14-25% P2O5                      
ดับเบิลหรือทริปเปิลซูปเปอร์ฟอสเฟต  Ca(H2PO4)2 32-46% P2O5
              
กรดฟอสฟอริก (H3PO4) 55% P2O5


ปุ๋ยเคมีโพแทสเซียม
(K fertilizer)  ได้แก่
                                 โพแทสเซียมคลอไรด์(KCl) 63%  K2O                               
โพแทสเซียมซัลเฟต (K2SO4)54% K2O
                               
โพแทสเซียมไนเตรต (KNO3) 13%  N, 46% K2O

               

ปุ๋ยผสม
หมายถึง การนำเอาปุ๋ยเดี่ยวหรือแม่ปุ๋ยตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปมาผสมกันเพื่อให้ได้สูตรปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลัก N-P-K ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปตามความต้องการของผู้ใช้  เช่น

ต้องการปุ๋ยสูตร  15 – 15 – 20

ต้องใช้ยูเรีย 46% N 33  กิโลกรัม

ทริปเปิลซูเปอร์ฟอสเฟต 46% P2O5  33  กิโลกรัม

โพแทสเซียมคลอไรด์ 60 % K2O   33  กิโลกรัม

  

ปุ๋ยอินทรีย์ (Organic fertilizer)

เป็นปุ๋ยที่ผลิตจากวัสดุพืชหรือสัตว์  เช่น จากพืช ได้แก่  เศษหญ้า  ฟาง  ข้าว  จากสัตว์ได้แก่  กระดูก  ขน  เลือด  และวัสดุของเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ปุ๋ยอินทรีย์ที่รู้จักกันโดยทั่วๆ ไป ได้แก่ ปุ๋ยคอก  เช่น  มูลไก่  วัว  ควาย  หมู  ในรูปอื่นได้แก่  ปุ๋ยมูลค้างคาว  ปุ๋ยเทศ-บาล  ปุ๋ยหมักต่างๆ และที่ใช้พืชปลูกได้แก่ปุ๋ยพืชสด  คือ  นำเมล็ดพืชหว่านลงในแปลงที่จะปลูกพืชหลัก แล้วทำการไถกลบก่อนปลูกพืช  ส่วนใหญ่เป็นพืชตระกูลถั่ว  เช่น  ปอเทือง  โสน  ถั่วพุ่ม เป็นต้น ปุ๋ยอินทรีย์ให้ธาตุอาหารพืชครบทุกธาตุ แต่มีปริมาณน้อย นอกจากปุ๋ยพืชสดให้ธาตุไนโตรเจนสูง

 
ปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer)  

หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่บรรจุด้วยจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือส่วนของเซลล์ที่ยังมีชีวิตอยู่ที่สามารถก่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสารประกอบของธาตุอาหารพืชให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จากความหมายดังกล่าว  ปุ๋ยชีวภาพจึงประกอบด้วย กลุ่มจุลิน-ทรีย์ตรึงไนโตรเจน (nitrogen fixing microorganisms) กลุ่มจุลินทรีย์ที่ทำให้ธาตุฟอสฟอรัสเป็นประโยชน์ต่อพืช (phosphate solubilizing microorganisms) และกลุ่มจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายวัสดุพืช (cellulolytic microorganisms)

               

จุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจน
                               
กระบวนการตรึงไนโตรเจนทางชีวภาพ (biological nitrogen fixation) เกิดจากการกระทำของจุลินทรีย์ดินบางชนิดที่ไม่มีนิวเคลียสและมีเอนไซม์ไนโตรจีเนส  (enzyme nitrogenase)  ที่สามารถรวมแก๊สไนโตรเจนในอากาศกับไฮโดรเจนให้เป็นสารประกอบแอมโมเนีย  ซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกันกับปุ๋ยไนโตรเจนที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม           

จุลินทรีย์ที่ตรึงไนโตรเจนได้เหล่านี้ ถ้าจำแนกโดยการจำแนกจุลินทรีย์จะได้ 3 กลุ่ม คือ แบคทีเรีย (bacteria) ไซยาโนแบคทีเรีย (cyanobacteria) หรือสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน และ แอคทิโนมัยซีส (actinomycete)  ถ้าจำแนกโดยใช้ความสัมพันธ์กับพืชจะได้ 2 กุล่ม คือ  กลุ่มที่อาศัยร่วมกับพืชจึงจะตรึงไนโตรเจนได้ (symbiotic nitrogen fixing microorganisms) และ กลุ่มที่ตรึงไนโตรเจนได้โดยไม่ต้องอาศัยร่วมกับพืช (free living nitrogen fixing microorganisms) พวกที่อาศัยร่วมกับพืชมีทั้งแบคทีเรีย  ได้แก่  ไรโซเบียมกับพืชตระกูลถั่ว  ไซยาโนแบคทีเรีย (cyanobacteria) กับแหนแดงและปรง และแอคทิโนมัยซีส (actinomycete) ในสกุล Frankia กับไม้ยืนต้นบางชนิดที่พบในบ้านเรา  ได้แก่  สนประดิพัท และสนทะเล จุลินทรีย์ที่ตรึงไนโตรเจนอิสระที่พบมีในกลุ่มแบคทีเรีย และ       ไซยาโนแบคทีเรียมีทั้งในน้ำและบนบกมีจำนวนมากมาย โดยเฉพาะแบคทีเรีย มีทั้งที่ต้องการออกซิเจนและไม่ต้องการออกซิเจน เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการตรึงไนโตรเจนโดยระบบอิสระ และอยู่ร่วมกับพืชแล้วพบว่าระบบร่วมกับพืชตรึงไนโตรเจนได้สูงกว่ามาก จึงได้มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง 



หมายเหตุ 

· ที่สามารถผลิตเป็นการค้าและมีการใช้อย่างได้ผลแล้ว ได้แก่ ไรโซเบียม

· ที่มีศักยภาพที่จะนำไปใช้  ได้แก่  สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน Azotobacter, Azospirillum, Kelbsiella pnemoniae strain kmvsy and 342 (endophyte), Herbaspirillum seropedicae Z152



จุลินทรีย์ย่อยหินฟอสเฟต
                               
กลุ่มจุลินทรีย์ช่วยกระทำให้ฟอสฟอรัสเป็นประโยชน์ต่อพืชนั้นมีทั้งที่อยู่ร่วมกับพืชและอิสระ  เนื่องจากฟอสฟอรัสในดินเป็นธาตุที่เคลื่อนที่ได้ช้ามาก และมักจะอยู่ในรูปที่ไม่เป็นประโยชน์ จุลินทรีย์กลุ่มนี้จะช่วยในการเปลี่ยนรูปฟอสฟอรัสให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์มากขึ้น หรือถึงแม้ว่าจะอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์แต่อยู่ห่างไกลจากรากพืช พืชก็ไม่สามารถใช้ได้โดย เฉพาะพืชที่มีระบบรากฝอยน้อยจะมีปัญหาด้านการขาดฟอสฟอรัส จุลินทรีย์ในกลุ่มนี้จะช่วยได้มาก โดยเฉพาะราไมโคไรซา  มีความสามารถในการช่วยดูดซับฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้มาก เพราะเส้นใยส่วนหนึ่งอยู่ในรากพืช อีกส่วนหนึ่งชอนไชอยู่ในอนุภาคของดิน จึงทำหน้าที่เป็นรากฝอยให้แก่พืช



หมายเหตุ
 

· ไมโคไรซา มีการผลิตเป็นการค้าแล้ว
·  จุลินทรีย์ย่อยหินฟอสเฟตอยู่ระหว่างทดลอง และอาจจะมีการผลิตขายบ้างแล้วแต่ยังไม่แพร่หลาย  

จุลินทรีย์ย่อยสลาย
                               
กลุ่มจุลินทรีย์ที่ย่อยเศษพืชเพื่อใช้เป็นปุ๋ยหมักนั้นมีทั้งแบคทีเรีย  แอคทิโนมัยซีส และรา ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ต้องการอุณหภูมิสูง  เนื่องจากในกระบวนการหมักมีอุณหภูมิเกิดขึ้นสูง  ดังนั้นการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าวจึงต้องประกอบด้วยจุลินทรีย์หลายๆ ชนิด  แต่อย่างไรก็ดี    จุลินทรีย์ดังกล่าวส่วนมากมีอยู่แล้วในดินตามธรรมชาติ  เพียงแต่มีการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น ให้ความชื้น  เพิ่มไนโตรเจนจากปุ๋ยเคมีหรือมูลสัตว์ก็สามารถที่จะทำให้กระบวนการย่อยสลายเกิดขึ้นได้  โดยเฉพาะในประเทศที่อยู่ในเขตร้อน


หมายเหตุ
:  มีการผลิตออกจำหน่ายแล้ว

   

ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ (Bio-organic fertilizer)
เป็นปุ๋ยที่มีการคิดค้นขึ้นมาใหม่จากโครงการวิจัยร่วมกันระหว่างกลุ่มงานวิจัย        จุลินทรีย์ดิน กองปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ UPLB-BIOTECH   ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบัน Carl Duisberg Gesellschaft ระหว่างปี พ.ศ. 2533-2537 โดยทำการ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพ แล้วนำมาผสมกับจุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจน Azotobacter และAzospirillum โครงการนี้ผู้เขียนเป็นหัวหน้าโครงการฝ่ายไทย และผลิตภัณฑ์นี้ได้มีการผลิตเป็นเชิงการค้าแล้ว  ที่ประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทย กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดินทำการผลิตและกำลังทำการวิจัยเพิ่มเติม แต่ปรากฎว่ามีการผลิตจำหน่ายโดยบริษัทเอกชนแล้ว ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะได้คุณภาพตามที่กำหนดหรือไม่ เพราะการผลิตปุ๋ยในรูปของปุ๋ยชีวภาพและอินทรีย์ชีวภาพนั้นมีความยุ่งยากมาก   จะต้องใช้นักวิชาการที่ชำนาญเฉพาะด้าน และต้องมีเครื่องมือและห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจสอบคุณภาพได้  ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมาย ควบคุมผลิตภัณฑ์ดังกล่าว


หมายเหตุ
 

· ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ผลิตออกจำหน่ายแล้ว

· ที่มีการจำหน่ายแล้วในประเทศไทยคือปุ๋ยอินทรีย์

 

จุลินทรีย์ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช (Plant growth promoting bacteria)

มีจุลินทรีย์อีกกลุ่มหนึ่งที่ให้ผลคล้ายๆ กับปุ๋ย คือจุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช (plant growth regulators PGRs) หรือ phytohormones ได้แก่ IAA, gibberellins, cytokinins, ethylene และ abscisic acid สารเหล่านี้มีผลในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งเมื่อร่วมกับธาตุอาหารพืชก็จะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น         

จุลินทรีย์ดินหลายชนิดสามารถผลิต PGRs ออกมาเหมือนกับที่พืชผลิตเอง  นอกจากนี้ยังมีแบคทีเรียอีกกลุ่มหนึ่งสามารถเจริญเติบโตบนเปลือกเมล็ดพืชที่ปลูกในดินและบนรากพืช ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคพืชเข้าสู่รากและทำลายพืช  ซึ่งจะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดีเช่นกัน จึงเรียกแบคทีเรียกลุ่มนี้ว่า plant-growth-promoting rhizobacteria (PGPR) และปัจจุบันนี้ในต่างประเทศได้มีการผลิตเป็นเชื้อจำหน่ายแล้วเพื่อใช้คลุกเมล็ดหรือหว่านลงดินในแปลงปลูกพืชที่รู้จักกันดีได้แก่สกุล Pseudomonas และที่ผลิตเป็นการค้าได้แก่ P. fluorescent และสกุลอื่นๆ ได้แก่  Bacillus, Serratia, Arthrobacter จุลินทรีย์ดังกล่าวกำลังมีการศึกษาและพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในรูปของ PGPR และ PGRs 


หมายเหตุ:

เชื้อที่มีศักยภาพที่จะนำมาใช้ได้แก่ Burkholderia vietnamiensis TVV75
เป็นพวก PGPR



 

ฮอร์โมนหรือสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช 

ฮอร์โมนพืช คือ กลุ่มของสารอินทรีย์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการสังเคราะห์ของจุลิ- ทรีย์และพืช ในปริมาณที่มีความเข้มข้นต่ำๆ จะมีอิทธิพลต่อกระบวนการทางสรีระวิทยาของพืช  ทางด้านการเจริญเติบโต การพัฒนาการต่างๆ ของพืช  ปัจจุบันนี้มีการนำเอาฮอร์โมนพืชชนิดต่างๆ มาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง  เช่น  การขยายพันธุ์พืช การเร่งการเจริญเติบโตของพืช การติดดอก ออกผล และการควบคุมการแก่ของผล  อันที่จริงแล้วฮอร์โมนต่างๆ ที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบันไม่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตของพืชมากนัก  ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพ  เช่น  ทำให้ผลไม้บางชนิดติดผลน้อยลงเพื่อให้ขนาดผลโต  ฮอร์โมนบางชนิดสามารถทำให้ผลไม้สุกเร็ว มีสีสวยงาม  เช่น  เอทธิลีน (ethylene)  กระตุ้นการออกดอก และทำให้ผลไม้สุก  ไกรโฟซีน (glyphosine) ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำตาลในอ้อย แดมมิโนไซด์ (daminozide) กระตุ้นให้แอปเปิลมีสีสวย เป็นต้น          รายละเอียดของฮอร์โมนแต่ละชนิดจะได้แนะนำดังต่อไปนี้

 
ออกซิน (Auxins)

เป็นฮอร์โมนประเภทเร่งการเจริญเติบโตของพืช มีการค้นพบและใช้มานานที่สุด เช่น อินโดลอซิติกแอซิด (IAA) และต่อมาได้พบเพิ่มขึ้นได้แก่ IBA, NAA, 2 ,4-D, 2, 4, 5-TP, 4-CPA เป็นต้น

               
บทบาทของออกซินดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการขยายพันธุ์โดยทำให้ออกรากเร็วขึ้น  กระตุ้นให้ผลไม้ติดผลดีขึ้น ป้องกันผลร่วงหรือทำให้ผลร่วงในกรณีที่ผลไม้บางอย่างมีผลมากเกินไป  การที่ออกซินให้ผลต่างๆ กัน ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นด้วย  เช่น  2, 4-D ถ้ามีความเข้มข้นสูง ทำให้พืชบางชนิดตาย  จึงใช้เป็นสารกำจัดวัชพืชได้ 

พืชสังเคราะห์ฮอร์โมนชนิดนี้ที่ส่วนยอด ใบอ่อน และเมล็ดอ่อน

 
ยิบเบอเรลลิน (Gibberellins, GAs)

ยิบเบอเรลลินเป็นกลุ่มของสารที่มีมากมายตั้งแต่ GA1-GA89 แต่ที่มีการใช้มากที่สุด คือ GA3 ซึ่งผลิตโดยเชื้อรา  บทบาทสำคัญของ GA คือ การทำให้ยอดยืดยาวขึ้น  ยืดพวงช่อ และทำให้ผลโตในองุ่น ทำให้ส้มติดผลดี ชลอการแก่–สุกของผลในมะนาว ใช้ในการเร่งออกช่อในอาติโชค  กระตุ้นการแตกตาในหัวมันฝรั่งและพืชหัวอื่นๆ

               
GA ที่ใช้กับพืชส่วนใหญ่ได้จากการสกัดจากเชื้อรา  แต่พืชสามารถสังเคราะห์ GA ได้เองในส่วนของเนื้อเยื่ออ่อนส่วนยอก  เมล็ดอ่อน

  
ไซโตไคนิน (Cytokinins, CKs)

ไซโตไคนิน คือสารเมื่อใช้ร่วมกับอ๊อกซิน ก่อให้เกิดการกระตุ้นให้พืชแบ่งเซลล์ และการพัฒนาการของเซลล์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และที่พบมากในพืชได้แก่ ซีเอติน (zeatin) เบนซิลอะดีนีน (benzyladenine, Pro-Shear)  ใช้ในการกระตุ้นตาข้าง ทำให้เกิดการแตกกิ่งในไม้ผล  แอคเซล (Accel)  ช่วยให้กุหลาบและคาเนชั่นแตกแขนง  โพรมาลีน (promalin) ใช้ในการควบคุมรูปร่างผลแอปเปิล และการแตกกิ่งแขนง  พืชสังเคราะห์ไซโตไคนินจากส่วนปลายราก และเมล็ด อ่อน

 
เอทธีลีน (Ethylene)

เป็นแก๊สที่มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการทำงานในพืชในลักษณะต่างๆ เช่น ในยางพารา สามารถกระตุ้นให้ยางไหลดีขึ้น  ช่วยให้หัวผลเชอรี่  แอปเปิล  วอลนัท  โอลีฟ หลุดจากกิ่งได้ง่าย  เหมาะแก่การใช้เครื่องเก็บ  ช่วยให้ผลไม้สุกเร็วขึ้น  ช่วยให้ผลไม้ออกช่อช้าลง  เนื่องจาก   เอทธิลีนเป็นแก๊ส การนำมาใช้โดยตรงจึงไม่สะดวก  ดังนั้นจึงใช้ในรูปของสารที่สามารถแตกตัวให้แก๊สเอทธิลีนออกมา และที่ใช้แพร่หลาย ได้แก่  เอทธีฟอน (ethephon) ซึ่งอยู่ในรูปของเหลว  เมื่อถูกเนื้อเยื่อพืชที่มี pH เกิน 4 จะแตกตัวเป็นแก๊สเอทธิลีน

               
พืชสามารถสังเคราะห์เอทธิลีนได้ในทุกๆ ส่วน เมื่อพืชอยู่ในสภาพที่กดดัน  ถูกกระทบกระเทือน และใบแก่และผลสุกมีลักษณะกำลังเป็นสีเหลือง

 
แอบซีสสิค แอซิด (Abscisic acid)

สารตัวนี้ไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร เพราะว่ามีราคาสูงมาก และถูกทำลายโดยแสงอุตราไวโอเล็ทง่าย  แอบซิสสิคทำหน้าที่เกี่ยวกับการปิดของปากใบ ลดการคายน้ำ ยับยั้งการเจริญของยอด ช่วยสังเคราะห์โปรตีนในเมล็ด ยับยั้งการงอกของเมล็ด

               
พืชสังเคราะห์แอบซิสสิคแอซิดที่ใบแก่ และที่ราก

 
นอกจากนี้ยังมีสารอีกหลายชนิดที่มีปฏิกิริยาในพืชคล้ายฮอร์โมน  เช่น  polyamines, jasmonates, salicylic acid, brasinosteroids, glyphosine, maleic hydrazine และอื่นๆ อีก เป็นต้น  
สารกระตุ้นอื่นๆ

S

NH2     C     NH2
               

โพแทสเซียมไนเตรท (KNO3) เป็นปุ๋ยเคมีชนิดหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ในรูปเป็นปุ๋ย รู้จักกันดีในรูปสารกระตุ้น  โดยใช้ในปริมาณน้อย  พ่นทางใบเพื่อกระตุ้นให้มะม่วงออกช่อ  ไธโอยูเรีย  ก็เช่นกัน ใช้ในปริมาณที่มีความเข้มข้นต่ำ  สามารถกระตุ้นให้มะม่วงออกช่อได้ และถ้าจะให้ได้ผลดีจะต้องใช้หลังจากที่ยับยั้งการเจริญเติบโต คือ พาโคบูทาโซล


เมื่อเร็วๆ นี้ มีการค้นพบโดยบังเอิญ คือ สารโซเดียมคลอเรต ซึ่งเป็นวัตภุระเบิด สามารถกระตุ้นให้ลำใยออกดอกได้ทุกๆ ฤดู  เห็นได้ว่าในการพัฒนาการของพืชในระยะการเจริญเติบโตต่างๆ ต้องการสารบางอย่างมากระตุ้นเพื่อให้ยีน (หน่วยพันธุกรรม) ได้ทำงานตามที่ต้องการ และคิดว่ายังมีสารอีกเป็นจำนวนมากที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ และยังคงต้องทำงานวิจัยเพื่อค้นหาต่อไป

 

น้ำหมักชีวภาพ
 

น้ำหมักชีวภาพ หมายถึง ของเหลวที่ได้จากการนำเอาชิ้นส่วนของพืช เช่น ต้น ใบ ดอก และผล หรือชิ้นส่วนของสัตว์ มาทำการหมักในภาชนะที่มีน้ำอยู่  ในกระบวนการหมักอาจมีการเติมกากน้ำตาล (โมลาส) ลงไปเพื่อเร่งปฏิกิริยาของจุลินทรีย์  ทำให้กระบวนการหมักเสร็จสิ้นเร็วขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากที่ไม่มีฟองอากาศผุดขึ้น  น้ำหมักดังกล่าวมีชื่อเรียกต่างๆ กัน  เช่น  น้ำหมักชีวภาพ  ปุ๋ยน้ำชีวภาพ  หรือถ้าใช้ปลามาทำการหมักก็เรียกว่า ปุ๋ยน้ำหมักปลา หรือชื่อต่างๆ ที่มักจะลงท้ายด้วยชีวภาพ  การนำไปใช้ประโยชน์ เน้นการเป็นปุ๋ย และการกำจัดศัตรูพืช

               
เป็นที่น่าประหลาดใจมากที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการดำเนินการผลิตอย่างแพร่หลาย ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกิดจากผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์หรือมีงานวิจัยอื่นๆ ที่รองรับ

               
เมื่อพิจารณาสารดังกล่าวในแง่วิชาการด้านการเป็นปุ๋ยนั้น ไม่สามารถจัดเข้ากับกลุ่มของปุ๋ยชีวภาพได้ตามที่มีใช้กันอยู่ แต่สามารถจัดเข้าอยู่ในกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์น้ำได้  เพราะธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในน้ำหมักเกิดจากกระบวนการสลายตัวของอินทรีย์วัตถุจากพืช และสัตว์ที่นำเข้ามาทำการหมัก และปริมาณธาตุอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาหมัก  เช่น  ถ้าใช้ฟางข้าวจะให้น้อยกว่าการใช้ต้นถั่ว  ยอด  ใบอ่อน และผลไม้  และถ้าเป็นวัสดุที่ได้มาจากสัตว์ จะให้ธาตุอาหารสูงกว่าที่มาจากพืช  แต่โดยรวมแล้ว  ธาตุอาหารพืชที่ได้จากกระบวนการหมักดังกล่าวมีน้อยมากเกินกว่าที่จะทำให้พืชเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูงตามที่กล่าวอ้างกัน ถ้าหากว่าไม่มีการใส่ปุ๋ยในรูปอื่นๆ ลงไปช่วย  เพราะเหตุว่าแม้แต่น้ำหมักที่เข้มข้นยังมีธาตุอาหารพืชในปริมาณน้อยอยู่แล้ว แต่การนำไปใช้จริง ได้ทำการทำให้เจือจางอีกถึง 1 : 100 หรือ 1 : 1000 จึงยิ่งทำให้พืชได้รับปริมาณธาตุอาหารน้อยมาก

               
เมื่อพิจารณาในแง่การใช้สารควบคุมศัตรูพืช นักโรคพืชก็ยังไม่พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีสารอะไรที่ก่อให้เกิดกระบวนการกำจัดแมลง และโรคได้  แต่เมื่อพิจารณาตัวกระบวนการหมัก    ดังกล่าว  สารที่พบชัดเจนได้แก่ แอลกอฮอล์  กรดน้ำส้ม และกรดแลคติก ซึ่งแอลกอฮอล์และกรดดังกล่าวอาจมีผลในการไล่แมลง และยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นโรคพืชได้ระดับหนึ่ง

               
แต่อย่างไรก็ดี จากการที่ได้รับฟังจากเกษตรกรที่ทำการผลิต และใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และใช้ได้ผลมาแล้ว  กล่าวว่าหลังการใช้พบว่าพืชมีการตอบสนองดี  มีการแตกยอดงอกงามดี  ไม้ผลมีการแตกช่อ และติดผลดี  โรคและแมลงรบกวนน้อยลง และเมื่อถามว่าได้มีการทำการทดลอง เปรียบเทียบดูไหมว่า  เมื่อมีการปฏิบัติกับพืชในเบื้องต้นเหมือนๆ กัน  เช่น มีการรดน้ำพรวนดิน และกำจัดวัชพืช  แล้วทำการใช้สารดังกล่าวกับไม่ใช้สาร  ในช่วงเวลาเดัยวกัน  ส่วนใหญ่บอกว่าไม่ได้ปฏิบัติดังกล่าว จึงมีข้อสัณนิษฐานว่า การที่ผู้ใช้พบว่ามีผลในทางบวกอาจเป็นเพราะว่า


1. เมื่อมีการใช้สารดังกล่าว เกษตรกรจะทำการปฏิบัติเบื้องต้น  เช่น  การพรวนดิน  กำจัดวัชพืช และให้น้ำกับพืชดีมาก จึงมีผลดีแก่พืชที่ปลูกในระดับหนึ่ง

2. เกษตรกรที่ทำสวนผักและผลไม้มักมีการใส่ปุ๋ยในปริมาณที่สูงมาก่อน จึงทำให้มีธาตุอาหารพืชสะสมอยู่มาก  การไม่ใช้ปุ๋ยเพิ่มและหันมาใช้สารหมักดังกล่าวที่มีธาตุอาหารปริมาณน้อย แต่มีครบทุกธาตุ จึงทำให้เกิดผลดีได้

3. สารหมักดังกล่าว อาจมีฮอร์โมนและสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชอยู่ ถึงแม้มีอยู่ในปริมาณน้อยก็มีผลในทางบวกแก่พืช

 

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนไม่น้อย ที่เคยทำการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์ ดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล แต่ไม่ออกมาพูด เพียงแต่เลิกใช้ เพราะอาจถูกกล่าวหาว่าทำไม่เป็น  เพราะผลิตภัณฑ์น้ำหมักดังกล่าว มีการสร้างสูตรต่างๆ ออกมามากมาย บางรายถึงขนาดซื้อทุเรียนสุกทั้งผลมาทำการบดแล้วหมัก เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์พิเศษ สามารถบังคับให้องุ่นออกดอกตามที่ต้องการได้ จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกมาชี้แจง ทำความเข้าใจกับผู้ใช้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นอะไร และควรทำการวิเคราะห์หาสารต่างๆ เช่น ปริมาณธาตุอาหารพืชมีมากน้อยเพียงใด  มีสารกระตุ้นฮอร์โมนชนิดใดบ้าง  มีสารอะไรบ้างที่สามารถมีผลต่อการควบคุมศัตรูพืช และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวควรจัดอยู่ในประเภทไหน  และควรมีการทำงานวิจัยเพิ่มเติม ดูว่าการที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีผลบวกต่อพืชนั้นเกิดจากอะไร

                            

www.fruitboard.doae.go.th/...ทกร/ปุ๋ย%20%20ฮอร์โมนพืช.doc -









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-06-06 (1863 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©