-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 279 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

กาแฟ




หน้า: 1/3



ต้นกาแฟ


ที่มา: http://www.siamscubadiving.com/board/view.php?tid=3143





กาแฟ                 


      ลักษณะทางธรรมชาติ            
    * เป็นไม้ผลยืนต้นอายุหลายสิบปี ออกดอกติดผลปีละครั้งและยังไม่มีฮอร์โมนหรือสารสังเคราะห์ใดๆบังคับให้ออกนอกฤดูกาลได้                 

    * เป็นพืชทรงพุ่มโปร่ง ลำต้นขนาดเล็ก เมื่อต้นอายุมากขึ้นจะแตกกิ่งยาวออกไปรอบทรงพุ่มจนดูเกะกะเก้งก้าง ออกดอกติดผลจากตาที่อยู่ตามข้อใบทุกใบของกิ่ง ดอกสีขาวกลิ่นหอมเหมือนมะลิป่า เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนสีเปลือกจากเขียวเป็นเหลืองก่อน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นแดงเมื่อแก่จัดใกล้เก็บเกี่ยว การที่กาแฟออกดอกดก มีกลิ่นหอม และติดผลดกกับทั้งสีของผลก็สวยนี้ อาจจะพิจารณาปลูกเป็นไม้ประดับประเภทยืนต้นได้เช่นกัน
                

    * เป็นพืชเมืองร้อนสามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ของประเทศ สวนกาแฟที่มีพืชอื่นแซมแทรกจะเจริญเติบโตดีกว่าสวนที่ปลูกกาแฟเดี่ยวๆ เพราะธรรมชาติของกาแฟชอบความชื้นในดินและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศค่อนข้างสูงและสม่ำเสมอ                

    * อายุให้ผลผลิต 3 ปีหลังปลูก และให้ผลผลิตต่อเนื่องนาน 20-30 ปี

    * อายุผลตั้งแต่ผสมติดถึงเก็บเกี่ยว 9 เดือน ถือว่าเป็นผลไม้ที่มีอายุผลนานที่สุด 

    * ออกดอกติดผลได้ตลอดปีโดยไม่มีฤดูกาล  ถ้าบำรุงต้นได้สมบูรณ์ดีเต็มที่ต่อเนื่องนานหลายๆ ปี เมื่อตัดแต่งกิ่งใดก็จะแทงยอดใหม่แล้วออกดอกติดผลได้ทันที
                

    * เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างไม่สมบูรณ์เกิดจากขาดสารอาหาร/ฮอร์โมน หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (อากาศร้อนจัดหรือฝนตกชุก) ผสมกันแล้วพัฒนาเป็นผล จะเป็นผลไม่สมบูรณ์ ไม่โต รูปทรงบิดเบี้ยว 

    * ปัจจุบันเวียดนามส่งออกกาแฟสำเร็จรูป ปีละ 1,000,000 ตัน ในขณะที่ไทยส่งออกประมาณ 100,000 ตัน           

        * กาแฟไทยกับกาแฟเวียดนามกลิ่นและรสชาติใกล้เคียงกัน  แต่กาแฟไทยกับกาแฟลาว และอินโดเนเซีย กลิ่นและรสต่างกัน
               

     
สายพันธุ์               
      โรบัสต้า :                   
      ชอบฝนชุก ปลูกได้ดีในเขตภาคใต้ที่มีฝนชุก ช่วงที่โรบัสต้าเริ่มดอกบานแล้วมีฝนชุก น้ำฝนจะทำให้เกสรชื้นแฉะจนไม่อาจผสมได้ทำให้ผลผลิตลดลง
                
      อราบิก้า :                 
      ชอบอากาศหนาวเย็น พื้นที่เหนือระดับน้ำทะเลค่อนข้างสูง ต้องการความชุ่มชื้นในดินปานกลาง จึงเหมาะสำหรับปลูกในเขตภาคเหนือโดยเฉพาะพื้นที่เชิงเขาระบายน้ำได้ดี
      โรบัสต้ามีเนื้อ (เมล็ด) ขนาดเมล็ดใหญ่กว่าอราบิก้า ในขณะที่อราบิก้ามีขนาดเมล็ดเล็กกว่าแต่มีกลิ่นหอมแรงกว่า  ผู้จำหน่ายกาแฟจึงใช้ทั้งสองสายพันธุ์ผสมกันทำให้คุณภาพดีขึ้นจึงได้รับความนิยมสูง                

     
การขยายพันธุ์               
      เพาะเมล็ด :
                   
      เลือกผลสดแก่จัดคาต้นจนเป็นสีแดง นำลงแช่น้ำเปล่า คัดผลลอยออกทิ้งเพราะเป็นผลไม่สมบูรณ์ขยำผลจมน้ำเอาเนื้อและเปลือกออกจนเหลือแต่เมล็ดใน พยายามอย่าให้เมล็ดในช้ำหรือแตก เสร็จแล้วนำขึ้นผึ่งลมให้แห้ง แห้งแล้วนำลงแช่ในไคตินไคโตซานหรือจุลินทรีย์หน่อกล้วยนาน 12-24 ชม. เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ดูดซับสารอาหารและให้จุลินทรีย์กำจัดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่กับเมล็ดพันธุ์ จากนั้นจึงนำไปเพาะในกระบะเพาะตามปกติ                 
      ผลกาแฟเกิดจากดอกสมบูรณ์เพศ เมื่อนำเมล็ดไปขยายพันธุ์ต่อจึงมักไม่กลายพันธุ์แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไปเพราะอาจจะมีเกสรตัวผู้ต่างสายพันธุ์จากต้นหรือแปลงข้างเคียงเข้าผสม เมื่อนำผลนั้นไปขยายพันธุ์จึงกลายพันธุ์ได้เช่นกัน
                  
      เมล็ดกาแฟไม่มีระยะพักตัวจึงไม่ควรเก็บทิ้งไว้นาน เกษตรกรนิยมเพาะเมล็ดเพราะทำได้ครั้งละมากๆ และต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 3 ปีหลังปลูก
      ทาบกิ่ง. ติดตา. เปลี่ยนยอด.:                   
      ปฏิบัติเหมือนการขยายพันธุ์ไม้ผลทั่วๆไป ต้นพันธุ์ที่ได้นอกจากจะตรงตามสายพันธุ์เหนือกว่าการเพาะเมล็ดแล้วยังให้ผลผลิตเร็วกว่าอีกด้วย แต่เป็นวิธีการที่ไม่ค่อยนิยมเพราะได้ครั้งละน้อยต้น ใช้ต้นพื้นเมืองหรือพันธุ์ที่มีระบบรากแข็งแรงเป็นตอแล้วเปลี่ยนยอดเป็นพันธุ์ดีก็จะช่วยให้ได้ต้นที่ไม่กลายพันธุ์ สมบูรณ์แข็งแรง ให้ผลผลิตดี อายุต้นยืนนาน และระยะให้ผลผลิตนานยิ่งขึ้น
             
      ระยะปลูก             
    - แปลงปลูกพื้นราบ 2 X 2 ม.               
    - แปลงปลูกยกร่องแห้งลูกฟูก 2 X 4 ม.            

      เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ                 
    - ใส่ปุ๋ยคอก (มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา...แห้งเก่าข้ามปี)ปีละ 2 ครั้ง
    - ให้ยิบซั่มธรรมชาติ ปีละ 2 ครั้ง               
    - ให้กระดูกป่น ปีละ 1 ครั้ง                 
    - คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่มล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
    - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง
                   
      หมายเหตุ :
    - การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่ ปลาสด เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.ฝังปีเว้นปี เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่องหลายๆปีจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์สูงพร้อมต่อการบำรุงทุกขั้นตอน             
    - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน ผลหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่ การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้                  
    - ฮอร์โมนธรรมชาติและฮอร์โมนวิทยาศาสตร์จะให้ประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ต่อเมื่อ ต้นมีสภาพความสมบูรณ์สูง                           

     
เตรียมต้น               
      ตัดแต่งกิ่ง :
            
    - ธรรมชาติการออกดอกติดผลของกาแฟนั้นสามารถออกได้ทั้งกิ่งชายพุ่มและกิ่งในทรงพุ่ม ทั้งนี้ทรงพุ่มต้องโปร่ง แสงแดดส่องได้ทั่วเข้าถึงภายในทรงพุ่ม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งโดยเฉพาะกิ่งในทรงพุ่ม รวมไปถึงกิ่งกระโดงแตกใหม่
กิ่งคด กิ่งงอ กิ่งไขว้ กิ่งชี้ลง กิ่งหางหนู กิ่งเป็นโรค
    - ตัดกิ่งที่บังแสงแดดต่อกิ่งอื่นออก ทำทรงพุ่มให้โปร่งจนแสงแดดสามารถส่องได้ทั่วถึงทุกกิ่ง กิ่งที่ได้รับแสงแดดจะสมบูรณ์ดีกว่ากิ่งที่ไม่ได้รับแสงแดดหรือได้รับแสงแดดน้อย
    - นิสัยการออกดอกของกาแฟไม่จำเป็นต้องกระทบหนาว  แต่ถ้าตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อนช่วงต้นหน้าฝน แล้วเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามลำดับอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์เต็มที่ดีกว่าการตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น
                 
      ตัดแต่งราก :                         
    - อายุต้นยังน้อยไม่ควรตัดแต่งราก แต่ถ้าต้องการสร้างรากใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นให้ใช้วิธีล่อรากโดยพูนโคนต้นด้วยดิน 3 ส่วนกับอินทรียวัตถุ 1 ส่วน
    - ต้นอายุหลายปี ระบบรากเก่าและแก่มาก  ให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก10-15 ซม. แล้วใส่อินทรีย์วัตถุ ให้ฮอร์โมนบำรุงราก ให้น้ำสม่ำเสมอ จากนั้นต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม
  

           ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงต่อกาแฟ     

     1.เรียกใบอ่อน               
       ทางใบ :               
     - ให้น้ำ 100 ล.+ 46-0-0(200 กรัม)หรือ 25-5-5(200 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง + จิ๊บเบอเรลลิน 10 กรัม + สารสกัดสมุนไพร  250 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียกใบ  ต่อการเรียกใบอ่อน 1 ชุด               
     - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน
                         
       ทางราก :               
     - ให้น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 25-7-7(½-1 กก./ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
     - ให้น้ำเปล่า  ทุก 2-3 วัน                
       หมายเหตุ :               
     - เริ่มปฏิบัติทันทีในวันรุ่งขึ้นหลังตัดแต่งกิ่ง                 
     - หลังจากให้ทางใบไปแล้ว 5-7 วัน ถ้าต้นใดแตกใบอ่อนน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ให้ฉีดพ่นซ้ำรอบสองด้วยอัตราและวิธีการเดิม               
     - กาแฟต้องการใบอ่อน 2 ชุด ถ้าต้นสมบูรณ์ดี มีการเตรียมดินและปรับปรุงบำรุงดินสม่ำเสมอต่อเนื่องมาหลายๆปีแล้ว  หลังจากใบอ่อนชุดแรกเพสลาดให้เรียกใบอ่อนชุด 2 ต่อได้เลย ใบชุด 2 นี้อาจจะออกไม่พร้อมกันทั้งต้นเหมือนชุดแรกแต่ก็จะออกห่างกันไม่เกิน 7-10 วัน และหลังจากใบอ่อนชุด 2 เพสลาดก็ให้เข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามปกติ          

     2.เร่งใบอ่อนเป็นใบแก่             
       ทางใบ :               
     - ให้น้ำ 100 ล.+ 0-21-74 (200 กรัม)หรือ 0-39-39 (200 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 กรัม +สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียกใบ 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน
     - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน               
       ทางราก :           
       ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน            
       หมายเหตุ :               
     - เริ่มให้เมื่อใบอ่อนเริ่มแผ่กางรับแสงแดดได้               
     - วัตถุประสงค์เพื่อเร่งใบชุดใหม่ให้สามารถสังเคราะห์อาหารได้ และเร่งระยะเวลาเรียกใบอ่อนชุดต่อไปได้เร็วขึ้น  กับทั้งเพื่อให้ใบอ่อนรอดพ้นจากทำลายของแมลงประเภทปากกัดปากดูด
     - สารอาหารในกลุ่มเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่มีฟอสฟอรัส.และโปแตสเซียม. นอกจากช่วยใบอ่อนเป็นใบแก่แล้วยังช่วยเสริมประสิทธิภาพขั้นตอนสะสมอาหารเพื่อการออกดอกได้อีกด้วย
        
    3.สะสมอาหารเพื่อการออกดอก              
      ทางใบ :                                 
    - ให้น้ำ 100 ล. + 0-42-56 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ทุก 5-7 วัน  ติดต่อกัน 2-3 รอบ ฉีดพ่นพอเปียกใบ จะช่วยให้ต้นสมบูรณ์เต็มที่
                  
    - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรทุก 2-3 วัน               
      ทางราก :               
    - ให้ 8-24-24 (½-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
    - ให้น้ำเปล่าปกติทุก 2-3 วัน            
      หมายเหตุ :               
    - เริ่มปฏิบัติเมื่อใบอ่อนชุดสุดท้ายเพสลาด                
    - แนวทางบำรุงให้ต้นได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอกไว้มากที่สุดควรเตรียมแผนใช้เวลาบำรุง 2-2 เดือนครึ่ง ในห้วงนี้ให้กลูโคสผงหรือนมสัตว์สด 2 รอบ โดยรอบแรกให้เมื่อเริ่มลงมือบำรุงและให้รอบสองห่างจากรอบแรก 20-30 วัน                

     4.ปรับ ซี/เอ็น เรโช           
     - กรณีกาแฟไม่ต้องงดน้ำเหมือนไม้ผลทั่วๆไปแต่ยังคงให้น้ำตามปกติ
     - การทำให้ต้นอั้นตาดอกด้วยวิธีโน้มกิ่งให้ระนาบกับพื้นก่อน แล้วรูดใบแก่ออกประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนใบในกิ่งนั้น (เด็ดใบออกทิ้งใบเว้นใบ) เหลือใบยอดไว้ 2-3 คู่  จะช่วยให้ต้นเกิดอาการอั้นตาดอก แล้วออกดอกได้ดีกว่าไม่ได้โน้มกิ่งเด็ดใบ           
     - ต้นที่มีอาการอั้นตาดอกดีจนพอใจแล้วไม่ต้องฉีดพ่นกลูโคสหรือนมสัตว์สดเพิ่มอีก แต่ถ้าต้นมีอาการอั้นตาดอกไม่ดีหรือยังไม่น่าพอใจ แนะนำให้ฉีดพ่นกลูโคสหรือนมสัตว์ทางใบอีกซ้ำอีก 1 รอบ โดยเว้นระยะเวลาให้ห่างจากที่เคยให้เมื่อช่วงสะสมอาหารไม่น้อยกว่า 30-45 วัน
             
     5.เปิดตาดอก           
       ทางใบ :               
       สูตร 1.....ให้น้ำ 100 ล.+ สาหร่ายทะเล 100 ซีซี.+ ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี. + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ เอ็นเอเอ. 25 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.
       สูตร 2.....ให้น้ำ 100 ล.+ 13-0-46(500 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.
      เลือกใช้สูตรใดสูตรหนึ่งหรือทั้งสองสูตรแบบสลับครั้งกัน ห่างกันครั้งละ 5-7 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ            
       ทางราก :               
     - ให้ 8-24-24(½ กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
     - ให้น้ำปกติทุก 2-3 วัน            
       หมายเหตุ :               
     - เลือกใช้ให้ทางใบด้วยสูตรใดสูตรหนึ่งหรือใช้ทั้งสองสูตรแบบสลับครั้งกันก็ได้
     - เปิดตาดอกแล้ว ถ้าดอกออกมาไม่มากพอ  ระหว่างที่ดอกชุดแรกยังเป็นดอกตูมอยู่นั้น ให้เปิดตาดอกซ้ำอีก 1-2 รอบด้วยสูตรเดิม หรือจนกระทั่งดอกชุดแรกบานแล้วจึงยุติการเปิดตาดอกซ้ำ
     - เปิดตาดอกแล้วมีทั้งใบอ่อนและดอกออกมาพร้อมกัน ให้เปิดตาดอกด้วยสูตรเดิมซ้ำอีก  1-2 รอบ นอกจากช่วยกดใบอ่อนที่ออกมาพร้อมกับดอกแล้วยังดึงช่อดอกที่ยังไม่ออกให้ออกมาได้อีกด้วย 

       
     6.บำรุงดอก              
       ทางใบ :               
       ให้น้ำ 00 ล.+ 15-45-15(200 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ เอ็นเอเอ. 100 ซีซี.+ ฮอร์โมนไข่ 50 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียกใบ 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน
                  
       ทางราก :               
     - ให้ 8-24-24(½ กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
                
     - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน                
       หมายเหตุ :                            
     - ช่วงดอกตั้งแต่เริ่มแทงออกมาให้เห็นหรือระยะดอกตูม บำรุงด้วยฮอร์โมน เอ็นเอเอ.1 รอบ จะช่วยบำรุงเกสรทั้งตัวผู้และตัวเมียให้สมบูรณ์พร้อมรับผสม  แต่ต้องใช้ด้วยระมัดระวังเพราะถ้าให้เข้มข้นเกินไปจะเกิดความเสียหายต่อดอกและถ้าให้อ่อนเกินไปก็จะไม่ได้ผล
     - ช่วงดอกเริ่มแทงออกมาใหม่ๆให้แคลเซียม โบรอน.1 รอบ จะช่วยให้ดอกสมบูรณ์ผสมติดดี               
     - ช่วงดอกตูมควรฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้บ่อยขึ้นเพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชจนถึงช่วงดอกบาน               
     - ช่วงดอกบานควรงดการฉีดพ่นทางใบโดยเฉาะช่วงกลางวัน(08.00-12.00 น.)เพราะอาจทำให้เกสรเปียกจนผสมไม่ติดได้ หากจำเป็นต้องฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้ฉีดพ่นช่วงหลังค่ำ
     - ระยะดอกบานถ้าตรงกับช่วงฝนชุกเกสรจะเปียกชื้นทำให้ผสมไม่ติด กรณีนี้แก้ไขด้วยกะระยะเปิดตาดอกให้ดอกออกมาแล้วไม่ตรงกับช่วงฝนชุกเท่านั้น  แต่ถ้าดอกออกมาตรงกับช่วงแล้งอากาศร้อนมากเกสรจะฝ่อทำให้ผสมไม่ติดเช่นกัน แก้ไขโดยสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศและที่พื้นดินในทั้งในแปลงปลูกและรอบๆแปลงปลูก......มาตรการบำรุงต้นและดอกให้สมบูรณ์อย่างแท้จริงอยู่เสมอตั้งแต่เริ่มต้นจะช่วยลดความสูญเสียได้เป็นอย่างมาก                 
     - เพื่อความมั่นใจในเปอร์เซ็นต์หรือประสิทธิภาพของฮอร์โมน เอ็นเอเอ. แนะนำให้ใช้ฮอร์โมน เอ็นเอเอ.วิทยาศาสตร์แทนฮอร์โมน เอ็นเอเอ.ทำเองจะได้ผลกว่า
     - ฉีดพ่นสารอาหารเพื่อบำรุงดอกด้วยเครื่องมือฉีดพ่นที่มีแรงลมพ่นเบาที่สุดตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อส่วนต่างๆของดอก  ฉีดพ่นที่ช่อดอกโดยตรงพอเปียกหรือฉีดพ่นให้ทั่งทรงพุ่มพอเปียกใบก็ได้
                
     - บำรุงดอกช่วงฝนชุกให้เน้น  “สังกะสี และ แคลเซียม โบรอน”  โดยให้เมื่อดอกออกมาแล้วหรือให้แบบสะสมล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเปิดตาดอก  ด้วยวิธีให้เดี่ยวๆหรือผสมรวมไปกับธาตุอาหารอื่นๆก็ได้               
     - การไม่ใช้สารเคมีเลยติดต่อกันเป็นเวลานานๆจะทำให้มีผึ้งหรือแมลงธรรมชาติอื่นๆเข้ามาช่วยผสมเกสรส่งผลให้ติดผลดกขึ้น
                    

     8.บำรุงผลเล็ก              
       ทางใบ :                               
       ให้น้ำ 100 ล.+ 15-45-15(200 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียกใบ ทุก 7-10 วัน
     - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน               
       ทางราก :           
     - ใส่ยิบซั่มธรรมชาติ 10 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการใส่เมื่อช่วงเตรียมดิน
     - ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง (เน้น มูลค้างคาว)+ 25-7-7(½ กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
     - ให้น้ำปกติทุก 2-3 วัน                 
       หมายเหตุ :           
       เริ่มเมื่อกลีบดอกเริ่มร่วงหรือเกสรผสมติดเป็นผลแล้ว       

     9.บำรุงผลกลาง             
       ทางใบ :                
     - ให้น้ำ 100 ล.+ 15-45-15 (200 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ ไคโตซาน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.
ฉีดพ่นพอเปียกใบ  ทุก 7-10 วัน
     - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรทุก 2-3 วัน               
       ทางราก :               
     - ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง (เน้นมูลค้างคาว)+ 8-24-24 สลับครั้งกับ 21-7-14 หรือให้ 8-24-24 สองรอบแล้วให้ 21-7-14 หนึ่งรอบ (1/2-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
                
     - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน                
       หมายเหตุ :               
     - เริ่มบำรุงเมื่อเมล็ดในเริ่มเข้าไคล               
     - ผลไม้ทั่วไปเมื่อถึงระยะผลเริ่มเข้าไคลให้บำรุงด้วยสูตร “หยุดเมล็ด-สร้างเนื้อ”  เพราะเป็นผลไม้บริโภคส่วนเนื้อแต่กรณีกาแฟจะต้องบำรุงด้วยสูตร  “สร้างเมล็ด-หยุดเนื้อ”  เพราะเป็นผลไม้บริโภคส่วนเมล็ด
                
     - เนื่องจากอายุผลของกาแฟนานมาก ช่วงผลกลางต้องใช้เวลา 6-7 เดือน การบำรุงช่วงผลกลางแนะนำให้ ธาตุรอง/ธาตุเสริม เดือนละ 1 ครั้ง หรือ 2 เดือน/3 ครั้ง โดยแบ่งให้ตลอดช่วงผลกลางนอกจากช่วยบำรุงขยายขนาดผลให้ใหญ่แล้วยังบำรุงให้เนื้อแน่นและน้ำหนักดีขึ้นอีกด้วย
     - ถ้าต้นติดผลดกมากควรให้ฮอร์โมนน้ำดำ กับ แคลเซียม โบรอน 1-2 รอบ ตลอดระยะผลกลางจะช่วยให้ต้นไม่โทรมเนื่องจากรับภาระเลี้ยงผลมาก  ช่วยบำรุงคุณภาพเมล็ดให้ใหญ่และคุณภาพดีขึ้น

     - ให้กำมะถัน 1 รอบ แบ่งให้ตลอดระยะผลกลางหรือให้ก่อนเก็บเกี่ยวเพื่อเร่งกลิ่นให้จัดขึ้น
     - ให้มูลค้างคาว 1-2 กำมือ/ต้น โดยละลายน้ำรดโคนต้นบริเวณชายพุ่ม 3-4 เดือน/ครั้ง จะช่วยบำรุงเมล็ดให้มีขนาดใหญ่และคุณภาพดีขึ้น
                

    10.บำรุงผลแก่                    
       ทางใบ :               
     - ให้น้ำ 100 ล.+ 0-0-50(200 ซีซี.)หรือ 0-21-74(200 ซีซี.) สูตรใดสูตรหนึ่ง 400 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.
หรือ น้ำ 100 ล.+ มูลค้างคาวสกัด 100 ซีซี.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วันก่อนเก็บเกี่ยว  ฉีดพ่นพอเปียกใบ
     - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน                 
       ทางราก :               
     - ให้ 13-13-24 หรือ 8-24-24 (½-1 กก)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
     - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน                 
       หมายเหตุ :               
     - เริ่มบำรุงก่อนเก็บเกี่ยว 10-15 วัน           
     - ช่วงผลแก่จัดใกล้เก็บเกี่ยวมีฝนตกชุก แนะนำให้ฉีดพ่นกลูโคสหรือนมสัตว์สด 1 รอบเพื่อป้องกันต้นสะสมไนโตรเจน (จากน้ำฝน) มากเกินไปซึ่งจะทำให้รสและกลิ่นไม่ดี
     - การบำรุงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวโดยให้ทางรากด้วย 8-24-24 เหมาะสำหรับต้นที่มีผลหลายรุ่นซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลแก่รุ่นแรกไปแล้วจะช่วยบำรุงผลชุดหลังต่อ  นอกจากนี้ยังทำให้ต้นไม่โทรมเหมาะสำหรับการเตรียมความพร้อมต้นต่อการปฏิบัติบำรุงรุ่นปีต่อไปอีกด้วย
                        








กาแฟโรบาสต้า

กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่ผลิตแล้วส่งออกต่างประเทศถึง 70 % เป็นพืชที่มีการแข่งขันกับต่างประเทศสูง ปลูกกันมากในพื้นที่ภาคใต้ ของประเทศไทย ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ในการบริโภค

ปัญหาของพืช ข้อจำกัดและโอกาส

• กาแฟไทยร้อยละ 99 เป็นพันธุ์โรบัสต้า ปลูกในภาคใต้ และร้อยละ 1 ปลูกในภาคเหนือ เป็นกาแฟอาราบิก้า แต่ตลาดโลกต้องการอาราบิก้าร้อยละ 90 และต้องการโรบัสต้าร้อยละ 10
• พื้นที่ปลูกกาแฟอาราบิก้าที่เหมาะสมมีจำกัด
• ต้นทุนการผลิตสูง
• คุณภาพของผลผลิตไม่สม่ำเสมอ
• ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มากเกินไป และขาดการปรับปรุงบำรุงดิน
• ขาดแคลนพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง
• ขาดเทคโนโลยีการแปรรูปเป็นกาแฟสำเร็จรูป

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
• ดินมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง
• มีความเป็นกรดเป็นด่าง ระหว่าง 5.5-6.5
• อุณหภูมิที่เหมาะสม 25-32 องศาเซลเซียส
• ปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,500 มิลลิเมตร/ปี
• มีช่วงแล้ง นาน 8-10 สัปดาห์ เพื่อชักนำให้เกิดตาดอกการปลูก

การปลูก
• ระยะปลูกระหว่างต้น-แถว 3-4 x 3 เมตร อายุต้นกล้า 6-14 เดือน และควรมีการทำร่มเงาชั่วคราวหรือปลูกพืชให้ร่มเงาเช่น สะตอ แค กระถิน เป็นพืชร่วม

การให้ปุ๋ย
• ปีที่ 1 และ 2 ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ผสมสูตร 46-0-0 อัตรา 150 และ 50 กรัมต่อต้นต่อปีตามลำดับ แบ่งใส่ 2 ครั้ง เมื่อต้นฤดูฝน และกลางฤดูฝน
• ตั้งแต่ปีที่ 3 ให้ปุ๋ยสูตร 12-12-17 อัตรา 600 กรัมต่อต้นต่อปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง เมื่ออายุ 3 เดือน และ 6 เดือน หลังจากดอกบาน สำหรับต้นฤดูฝนควรให้ปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้ว อัตรา 10 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อปรับสภาพดินให้ร่วนซุย
• หลังเก็บเกี่ยวและตัดแต่งกิ่ง ให้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 100 กรัมต่อต้นต่อปี

การให้น้ำ
• กาแฟปลูกใหม่ หากไม่มีฝนตกภายใน 1-2 สัปดาห์ ต้องให้น้ำ
หลังจากติดผล ถ้าฝนทิ้งช่วงนานเกิน 3 สัปดาห์ ควรให้น้ำเดือนละ 1-2 ครั้ง จนผลกาแฟมีอายุ 3 เดือน ใช้ระบบการให้น้ำแบบฝอยละเอียด

การตัดแต่งกิ่ง
• ระยะก่อนให้ผลผลิต หลังจากปลูกกาแฟประมาณ 3-4 เดือน ตัดส่วนยอดของลำต้นให้เหลือลำต้นกาแฟสูงจากผิวดิน 30-40 เซนติเมตร
หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน เลือกกิ่งแขนงที่แข็งแรงไว้เพียง 3-5 กิ่งต่อต้น
• ระยะหลังให้ผลผลิต
- ตัดแต่งกิ่งแบบทยอย ต้นกาแฟที่มี 3-5 กิ่ง ให้ตัดกิ่งทิ้งออกที่ละ 1 กิ่ง เลี้ยงกิ่งที่แตกใหม่ทดแทน
- ตัดแต่งแบบให้เหลือไว้กิ่งเดียว มี 2 วิธี

1. ตัดลำต้นกาแฟทั้งหมดสูงจากพื้นดิน 40-50 ซม. ให้เหลือไว้เพียง กิ่งเดียว เพื่อเป็นกิ่งพี่เลี้ยง ต้นกาแฟจะแตกกิ่งใหม่ภายใน 2 เดือน เลือกกิ่งที่แข็งแรงไว้ 3-4 กิ่ง เมื่อเก็บเกี่ยวผลบนกิ่งพี่เลี้ยงแล้ว จึงตัดกิ่งพี่เลี้ยงทิ้งไป

2. ตัดลำต้นกาแฟทั้งหมดสูงจากพื้นดิน 40-50 ซม. โดยไม่ต้องเหลือกิ่งพี่เลี้ยง ต้นกาแฟจะแตกลำต้นใหม่ภายใน 2 เดือน ให้เลือกลำต้นที่แข็งแรงเลี้ยงไว้ 3-5 กิ่ง


โรคที่สำคัญ

โรคแอนแทรคโนส
สาเหตุ:เชื้อรา
ลักษณะอาการ: อาการเกิดตามส่วนต่างๆ ของต้นกาแฟ
ใบ..... เป็นจุดสีน้ำตาลแล้วขยายใหญ่ขึ้น เนื้อเยื่อกลางแผลตาย มีสีน้ำตาลไหม้ จุดแผลแต่ละจุดขยายเชื่อมต่อกันเป็นแผลขนาดใหญ่ ทำให้ใบไหม้

ผล.....เชื้อเข้าทำลายทั้งในผลอ่อนและผลแก่ เริ่มแรกเป็นจุดสีน้ำตาลเข้ม ต่อมาแต่ละจุดขยายรวมกันเป็นแผลมีรูปร่างไม่แน่นอน เนื้อเยื่อยุบ ผลกาแฟหยุดการเจริญและเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลยังคงติดอยู่บนกิ่ง

กิ่ง .....บนกิ่งสีเขียวมีอาการไหม้ เนื้อเยื่อของกิ่งบริเวณที่เป็นแผลจะตาย ทำให้กิ่งเหี่ยวแห้ง ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และร่วง ตาดอกเหี่ยว
ช่วงเวลาระบาด...... ระบาดรุนแรงในสภาพอากาศแห้งแล้ง ต้นกาแฟอ่อนแอ

การป้องกันกำจัด :
• รักษาระดับร่มเงาให้เหมาะสมโดยพรางแสง 50 เปอร์เซ็นต์
• คลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นในดิน
• ให้ปุ๋ยและให้น้ำตามคำแนะนำข้างต้น เพื่อให้มีลำต้นและทรงพุ่มแข็งแรง
• ตัดแต่งกิ่งตามคำแนะนำข้างต้น
• หลังการเก็บเกี่ยว ต้องเก็บผลกาแฟที่เป็นโรคเผาทำลายนอกแปลง
• ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชตามคำแนะนำ
- สารแมนโคแซบ อัตราการใช้ 48 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 5-7 วัน

แมลงศัตรูกาแฟ
มอดเจาะผลกาแฟ
ลักษณะและการทำลาย :เป็นแมลงปีกแข็งสีดำขนาด 1 มิลลิเมตร วางไข่ ขยายพันธุ์และกัดกินอยู่ในผลกาแฟที่มีขนาดตั้งแต่ 0.5 ซม.ขึ้นไป จนกระทั่งผลกาแฟเริ่มสุกและสุกเป็นสีแดง มอดจะติดผลกาแฟไปถึงลาดตาก และอาศัยอยู่ในผลกาแฟสุก จนแห้งดำที่ติดค้างบนกิ่ง และผลที่หล่นใต้ต้น
ช่วงเวลาระบาด: เดือนกันยายนถึงมกราคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผลกาแฟ เริ่มสุกถึงสุก

การป้องกันกำจัด:
• เก็บผลกาแฟสุกหรือแห้งติดค้างบนกิ่ง หรือร่วงหล่นใต้ทรงพุ่ม นำไปเผาทำลายนอกแปลง
• ตัดแต่งกิ่งตามคำแนะนำข้างต้น
• หลีกเลี่ยงการตากผลกาแฟสุกบนพื้นดินบริเวณสวนกาแฟ และบริเวณใกล้เคียง
• ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูกาแฟโรบัสต้า ตามคำแนะนำ
- คลอร์ไพริฟอส (40% อีซี) อัตราการใช้ 35 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 15 วัน ตั้งแต่ผลกาแฟมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5
มิลลิเมตร จนถึงระยะผลกาแฟสุกหรือพ่นเมื่อพบการระบาด หยุดการใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว 14 วัน
- ไดรอะไซฟอส(40% อีซี) อัตราการใช้ 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
พ่นทุก 15 วัน ตั้งแต่ผลกาแฟมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5
มิลลิเมตร จนถึงระยะผลกาแฟสุกหรือพ่นเมื่อพบการระบาด หยุดการใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว 28 วัน

หนอนกาแฟสีแดง
ลักษณะและการทำลาย: ตัวหนอนสีแดงหรือน้ำตาลแดง มีลายวงแหวนสีเหลือง มีขนสีขาวบนท้อง ผีเสื้อเพศเมียจะวางไข่บนกิ่ง และลำต้นใช้เวลาประมาณ 10 วันไข่จะฟักเป็นตัวหนอน หนอนโตเต็มที ่เมื่ออายุ 2-5 เดือน ช่วงนี้จะกัดเจาะเปลือกเป็นรูกลม เจริญเติบโต เป็นดักแด้ และตัวเต็มวัยสีขาวนวล มีจุดประสีดำอยู่เต็ม บริเวณปีกคู่หน้า ต้นและกิ่งกาแฟที่ถูกหนอนเจาะจะมียอดแห้ง กิ่งจะหักตรงบริเวณที่หนอนเจาะ หรือหักโค่นเมื่อมีลมแรง

ช่วงระบาด : ตลอดฤดูปลูก

การป้องกันกำจัด :
• ตรวจต้นและกิ่งกาแฟอย่างสม่ำเสมอ หากพบรอยที่หนอนเจาะทำลาย ให้ตัดกิ่งนำไปเผาทำลาย
• รักษาบริเวณสวนให้สะอาด
• หลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยในสวนกาแฟ และบริเวณใกล้เคียง เช่น ชมพู่ ลิ้นจี่ ชบา เป็นต้น
• ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูกาแฟ ตามคำแนะนำ
- คลอร์ไพริฟอส(40% อีซี) อัตราการใช้ 35 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นบริเวณกิ่งและลำต้นทุก 15 วัน หรือเมื่อพบการทำลาย หยุดการใช้สาร ก่อนการเก็บเกี่ยว 14 วัน


วัชพืชที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

ชนิดวัชพืช
วัชพืชฤดูเดียว เป็นวัชพืชที่ครบวงจรชีวิตภายในฤดูเดียว ส่วนมากขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
- ประเภทใบแคบ เช่น หญ้าตีนนก หญ้าตีนกา หญ้านกสีชมพู หญ้าปากควาย หญ้ากุศล และหญ้าขจรจบดอกเล็ก
- ประเภทใบกว้าง เช่น ผักบุ้งยาง แมงลักป่า กระดุมขน ผักโขม สาบแร้งสาบกา และสร้อยนกเขา
- ประเภทกก เช่น หนวดแมว กกขนาก กกทราย และหนวดปลาดุก


วัชพืชข้ามปี
เป็นวัชพืชที่ส่วนมากขยายพันธุ์ด้วยต้น ราก เหง้า หัว และไหล ได้ดีกว่าการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
- ประเภทใบแคบ เช่น หญ้าคา หญ้าชันกาด หญ้าขน หญ้าเห็บ หญ้าขจรจบดอกเหลือง และหญ้าแพรก
- ประเภทใบกว้างเช่น สาบเสือ ผักปราบ มังเคร่ ขี้ไก่ย่าน และครอบจักรวาล
- ประเภทกก เช่น แห้วหมู และกกตุ้มหู


การป้องกันกำจัด :

• ไถตากดิน 1 ครั้งทิ้งไว้ 7-10 วัน แล้วจึงพรวน 1 ครั้ง
• คราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัว ไหล ของวัชพืชข้ามปี ออกจากแปลงก่อนจัดระยะ และทำหลุมปลูก
• คลุมโคนต้นด้วยเศษพืช ระวังอย่าให้มีความชื้นสูงในฤดูฝน
• ใช้เครื่องตัดวัชพืช ระหว่างแถวระหว่างต้นให้สั้น ก่อนวัชพืชออกดอก
กำจัดวัชพืชใต้ทรงพุ่มกาแฟ โดยใช้จอบดาย ระวังการกระทบกระเทือน รากกาแฟ
• พ่นสารกำจัดวัชพืชตามคำแนะนำ
- วัชพืชฤดูเดียว ใช้พาราควอท(27.6% เอสแอล) อัตรา 75-100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อวัชพืชมี 5-7 ใบ หรือก่อนวัชพืชออกดอก ระวังละอองสารสัมผัสใบและต้นกาแฟ ไม่พ่นเกินปีละ 2 ครั้ง
- วัชพืชข้ามปี ใช้กลูโฟซิเนต แอมโมเนียม (15% เอสแอล)อัตรา 400-500 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ไกลโฟเสท(48% เอสแอล)อัตรา 125-150 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร


การเก็บเกี่ยว

• เก็บเกี่ยวผลกาแฟ อายุ 11 เดือนหลังออกดอก โดยทะยอยเก็บทุก ๆ 3 สัปดาห์ และเก็บผลกาแฟที่สุกพอดี ซึ่งจะมีผลสีส้ม หรือส้มแดง แล้วนำไปคัดเลือกทันที เพื่อตาก และจัดเก็บในห้องเก็บต่อไป

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
• การคัดเลือกผลกาแฟด้วยน้ำ ผลกาแฟที่จมน้ำ เป็นผลที่มีเมล็ดสมบูรณ์
นำผลกาแฟที่จมน้ำไปตาก ควรเกลี่ยผลกาแฟให้มีความหนา ประมาณ 4-5 ซม. และพลิกกลับผลกาแฟวันละ 2-3 ครั้ง ระยะเวลาการตากจนผลแห้ง ประมาณ 15-20 วัน ตอนเย็นควรเก็บผลกาแฟมารวมกัน คลุมด้วยพลาสติก เพื่อป้องกันฝนหรือน้ำค้าง
• ผลกาแฟที่แห้งเมล็ดกาแฟควรมีความชื้นไม่เกิน 13 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนัก ตรวจสอบโดยกำผลกาแฟแล้วเขย่าจะเกิดเสียงดังหรือเมล็ดแตก เมื่อใช้ค้อนทุบ
• ควรกะเทาะเปลือกทันทีหลังตากแห้ง
• เก็บรักษาในกระสอบป่าน สะอาด ใหม่ ปราศจากกลิ่น โรงเก็บ ควรมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก มีความชื้นสัมพันธ์ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์


การแปรรูปและผลิตภัณฑ์

• สามารถแปรรูปเป็นกาแฟคั่วบดด้วยอุปกรณ์ตามประเภทของการคั่ว เช่น คั่วแก่ คั่วไฟปานกลาง คั่วอ่อน และปรุงแต่งความน่าดื่มในภาชนะต่าง ๆ กันตามสูตรผสมของผู้ค้า เช่น เอสเปรสโซ บลูเมาท์เทน บราซิลซานโตส หรือจาวา เป็นต้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กาแฟ มีรสชาติอร่อยตามความต้องการ คือ การคั่ว, การบด และการชง
• การคั่วกาแฟเป็นกระบวนการขึ้นกับเวลาและอุณหภูมิประมาณ 200-240 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการคั่ว 10-20 นาที
• สามารถแปรรูปเป็นกาแฟสำเร็จรูป (instant coffee) โดยใช้การผลิตในระบบพ่นแห้ง คือ การพ่นน้ำกาแฟไปในความร้อน น้ำจะระเหยไป ได้ผงกาแฟสำเร็จรูป และการผลิตในระบบเย็น (freeze dry) นำน้ำกาแฟเข้มข้นที่แช่เย็นจนเป็นเกร็ดแข็งไปผ่านความร้อน เพื่อระเหยน้ำอย่างรวดเร็วจะได้กาแฟผงสำเร็จรูป
• นอกจากนี้นำกาแฟไปบริโภคในรูปอื่นๆ เช่น เป็นส่วนผสม ของอาหารหวาน เช่น ไอศกรีม ขนมเค็กอื่นๆ หรือนำเอาสารกาแฟ ไปสกัดสารคาเฟอีน โดยนำเอาคาเฟอีนไปผสมในเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม และเครื่องดื่มบำรุงกำลังต่าง ๆ


มาตรฐานของเมล็ดกาแฟโรบัสต้า

เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการค้าเมล็ดกาแฟพันธุ์โรบัสต้าของประเทศไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย กรมการค้าภายในโดยความเห็นชอบของกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนด มาตรฐานเมล็ดกาแฟพันธุ์โรบัสต้าของประเทศไทย ดังนี้

1. เมล็ดกาแฟโรบัสต้าจะต้องมีสี กลิ่น ตามธรรมชาติของเมล็ดกาแฟ ไม่บูดเน่า หรือขึ้นราและไม่มีผลกาแฟปะปน
2. เมล็ดสารกาแฟจะต้องมีความชื้นไม่เกินร้อยละ 13
3. ข้อบกพร่องของเมล็ดกาแฟทั้งหมดจะต้องไม่เกินร้อยละ 7 โดยน้ำหนัก ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
• เมล็ดกาแฟซื้อขายโดยทั่วไปไม่ควรจะมีเมล็ดกาแฟที่กะเทาะเปลือก ออกไม่หมด
• เมล็ดดำ คือเมล็ดกาแฟที่มีสีดำเกินครึ่งหนึ่งของเมล็ดจะมีได้ ไม่เกินร้อยละ 2
• เมล็ดมอด คือเมล็ดกาแฟที่มีรูมอดเจาะเกิน 1 รูจะมีได้ไม่เกินร้อยละ 4
• เมล็ดแตก คือ ชิ้นส่วนเมล็ดกาแฟที่มีขนาดเท่ากับหรือน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ของเมล็ดกาแฟทั้งหมดจะมีได้ไม่เกินร้อยละ 2
• เมล็ดเสีย คือ เมล็ดกาแฟที่มีลักษณะเป็นรูพรุน เมล็ดกาแฟหล่นโคนต้น
• เมล็ดกาแฟที่ผิดปกติ และอื่น ๆ ซึ่งจะมีได้ไม่เกินร้อยละ 0.5
• สิ่งเจือปน คือเศษหิน เศษไม้ เปลือกกาแฟ และทุกอย่างที่ไม่ใช่เมล็ดกาแฟ ซึ่งจะมีได้ไม่เกินร้อยละ 0.5


สำหรับเมล็ดกาแฟที่ซื้อขายมิได้เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าว ให้หักน้ำหนัก ดังนี้
1. เมล็ดกาแฟที่มีความชื้นเกินร้อยละ 13 แต่ไม่เกินร้อยละ 14 ให้หักน้ำหนักความชื้นในส่วนที่เกินร้อยละ 13 โดยเทียบอัตราส่วน
2. ข้อบกพร่องทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 7 โดยน้ำหนัก ถ้าข้อบกพร่องบางข้อเกินกว่ากำหนดของแต่ละรายการ ให้หักน้ำหนักได้ ไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อร้อยละ 1 ของข้อบกพร่องที่เกิน
3. ข้อบกพร่องทั้งหมดรวมกันเกินร้อยละ 7 แต่ไม่ถึงร้อยละ 9 โดยน้ำหนักให้หักน้ำหนักได้ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อร้อยละ 1 ของข้อบกพร่องที่เกินกรณีที่ข้อบกพร่องทั้งหมดรวมกันเกินร้อยละ 9 หรือมีความชื้นร้อยละ 14 และหรือมีผลกาแฟหรือมีเมล็ดกาแฟติดเปลือก ปะปนอยู่ ถือว่าเป็นเมล็ดกาแฟที่ต่ำกว่ามาตรฐานให้เป็นการเจรจาตกลงกันเอง ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
2009-01-03


กาแฟอาราบิก้า

แหล่งปลูกที่เหมาะสมสำหรับกาแฟอาราบิก้าคือ พื้นที่ปลูกตั้งแต่เส้นรุ้ง 17 องศาเหนือขึ้นไป มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป มีความลาดเอียงไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์

ลักษณะดิน
ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ชั้นดินลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร มีความเป็นกรดด่าง 5.5 - 6.5 และระบายน้ำดี

สภาพภูมิอากาศ

มีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 15 - 25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 60 %

แหล่งน้ำ

อาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ ปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี
มีการกระจายของฝน 5 - 8 เดือน
มีแหล่งน้ำสะอาดและมีปริมาณพอที่จะให้น้ำได้ตลอดช่วงฤดูแล้ง

พันธุ์
พันธุ์ที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้
• เป็นพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคราสนิม
• มีลักษณะต้นเตี้ย ข้อสั้น ผลผลิตสูงสม่ำเสมอ
• เป็นพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกโดยกรมวิชาการเกษตร คือ สายพันธุ์ คาติมอร์ CIFC 7963
รับกล้าพันธุ์ดีได้ที่หน่วยงานกรมวิชาการเกษตรภาคเหนือ
• ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง จ.เชียงใหม่
• ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงราย(วาวี)
อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
• ศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบูรณ์ (เขาค้อ) อ. เขาค้อ จ. เพชรบูรณ์
• ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตตาก (พืชสวนดอยมูเซอ)
อ. เมือง จ. ตาก

การปลูก
ต้นกล้าอายุตั้งแต่ 8 - 12 เดือน หรือ มีใบจริงไม่น้อยกว่า 4 - 5 คู่
• ระยะปลูก 2 x 2 เมตร
• ขนาดหลุมปลูก 50 x 50 x 50 เซนติเมตร
• รองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต อัตรา 100 กรัม/หลุม และปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัม/หลุม
• ปลูกภายใต้สภาพร่มเงา โดยใช้ไม้โตเร็วได้แก่
ถั่วหูช้าง (Enterolobium cyclocarpum Griseb),
พฤกษ์ (Albizia lebbeck Benth.)
ถ่อน (A.procera),
กางหลวง (A.chinensis),
สะตอ (Parikia speciosa Hassk.),
เหรียง (P.timoriana)
ซิลเวอร์โอ๊ก (Silver. Oak)
• สามารถปลูกร่วมกับไม้ผลยืนต้น เช่น บ๊วย ท้อ มะคาเดเมียนัท

การดูแลรักษา
การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งแบบต้นเดี่ยวของอินเดีย (Indian single stem pruning) หรือ การตัดแต่งแบบทรงร่ม (Umbrella) เป็นวิธีการที่ใช้กับกาแฟอาราบิก้าที่ปลูกภายใต้สภาพร่มเงา โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1. เมื่อต้นกาแฟเจริญเติบโตจนมีความสูง 90 เซนติเมตร ตัดยอดให้เหลือความสูงเพียง 75 เซนติเมตร
2. เลือกกิ่งแขนงที่ 1 (primary branch) ที่อ่อนแอทิ้ง 1 กิ่ง เพื่อป้องกันยอดฉีกกลาง และต้องคอยตัดยอดที่ จะแตกออกมาจาก โคนกิ่งแขนง ของลำต้นทุกยอดทิ้ง และกิ่งแขนงที่ 1 จะให้ผลผลิต 2 - 3 ปี ก็จะแตกกิ่งแขนงที่ 2(Secondary branch) กิ่งแขนงที่ 3 (terriary branch) และ กิ่งแขนงที่ 4 (quarternary branch) ให้ผลผลิตช่วง 1 - 8 ปี
3. เมื่อต้นกาแฟให้ผลผลิตลดลง ต้องปล่อยให้มี การแตกยอดออกมาใหม่ 1 ยอดจากโคนของกิ่งแขนงที่ 1 ที่อยู่สูงสุดหรือถัดลงมา และเมื่อยอดสูงไปถึงระดับ 170 ซม. ตัดให้เหลือความสูงเพียง 150 เซนติเมตร ตัดกิ่ง แขนงที่ 1 ที่อยู่สูงสุดให้เหลือเพียง 1 กิ่ง ซึ่งจะสามารถให้ผลผลิตต่อไปอีก 8 -10 ปี

การตัดแต่งแบบหลายลำต้น (Multiple stem pruning system)
วิธีการนี้ใช้กับต้นกาแฟอาราบิก้าที่ปลูกกลางแจ้ง โดยทำให้เกิด ต้นกาแฟหลายลำต้น จากโคนต้นที่ถูกตัด แต่คัดเลือกเหลือเพียง 2 ลำต้น ซึ่งมีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้
1. เมื่อต้นกาแฟสูงถีง 69 เซนติเมตร ให้ตัดยอดให้เหลือ ความสูงเพียง 53 เซนติเมตร เหนือพื้นดินมียอดแตกออกมาจาก ข้อโคนกิ่งแขนงที่ 1 จากคู่ที่อยู่บนสุด 2 ยอด จะต้องตัดกิ่งแขนงที่ 1 ทิ้งทั้ง 2 ข้าง
2. ปล่อยให้ยอดทั้ง 2 ยอดเจริญเติบโตขึ้นไปทางด้านบน ในขณะเดียวกันกิ่ง แขนงที่ 1 ที่อยู่ต่ำกว่า ความสูง 53 เซนติเมตร เริ่มให้ผลผลิต
3. กิ่ง แขนงที่ 1 ซึ่งอยู่ต่ำกว่าความสูง 53 เซนติเมตร จะถูกตัดทิ้ง หลังจากที่ให้ผลผลิตแล้ว ในขณะเดียว กันกิ่งแขนงที่ 1 ที่อยู่ระดับล่าง ๆ ของลำต้นทั้งสองก็เริ่มให้ผลผลิต
4. ต้นกาแฟที่เจริญเป็นลำต้น ใหญ่ 2 ลำต้น จะสามารถให้ ผลผลิตอีก 2 - 4 ปี และขณะเดียวกันก็จะเกิด หน่อขึ้นมา เป็นลำต้นใหม่ อีกบริเวณโคนต้นกาแฟเดิม ให้ปล่อยหน่อที่แตกใหม่เจริญเป็นต้นใหม่ ตัดให้ เหลือเพียง 3 ลำต้น
5. ให้ตัดต้นกาแฟเก่าทั้ง 2 ต้นทิ้ง และเลี้ยงหน่อใหม่ ที่เจริญเป็นต้นใหม่ ซึ่งจะสามารถให้ผลผลิตได้อีก 2 - 4 ปี แล้วจึงตัด ต้นเก่าเพื่อให้แตกต้นใหม่อีก


การให้น้ำ

พื้นที่ปลูกที่เหมาะสมส่วนใหญ่อยู่บนพื้นที่สูงระดับตั้งแต่ 700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป ซึ่งจะอาศัยน้ำฝน ตามธรรมชาติ ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 1,500 มิลลิเมตร และมีการกระจายของฝนตั้งแต่ 5 - 8 เดือน ในรอบ 1 ปี นอกจากนี้ยังมีสภาพอากาศหนาวเย็น ความชื้นสูง จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องอาศัยระบบการให้น้ำกับต้น กาแฟ นอกจากนี้หากปลูกกาแฟร่วมกับไม้ผลยืนต้น หรือปลูกกาแฟ ภายใต้สภาพร่มเงากับไม้ป่าโตเร็ว รวมถึงการคลุมโคนต้น ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ปลูกไม่ต้องพึ่งพาระบบชลประทาน

การคลุมโคนต้นกาแฟ
การคลุมโคนต้นกาแฟมีประโยชน์มากโดยเฉพาะในช่วงที่สวนกาแฟ ประสบภาวะแห้งแล้ง ซึ่งจะช่วยไม่ให้กาแฟทรุดโทรม หรืออาจถึงตาย เนื่องจากขาดความชื้นในอากาศและในดิน นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันวัชพืช ที่จะเกิดในแปลงกาแฟในขณะที่ทรงพุ่มกาแฟยังไม่ชิดกัน และเป็นการป้องกัน การพังทลายของดินเมื่อเกิด ฝนตกหนัก ข้อควรระวังการคลุมโคน เป็นแหล่ง สะสมของโรคและแมลงศัตรูกาแฟ การคลุมโคนกาแฟ ควรคลุมโคนให้ห่าง จากต้นกาแฟประมาณ 10-20 ซม. เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงศัตรูกาแฟ กัดกระเทาะเปลือกกาแฟ หรือไม่ให้เกิดอันตรายกับโคนต้นกาแฟในระหว่าง ที่วัสดุคลุมโคนเกิดการย่อย สลายได้ โดยคลุมโคนให้กว้าง 1 เมตร และหนาไม่ต่ำกว่า 10 ซม.

การให้ปุ๋ย
กาแฟเป็นพืชที่ต้องการปุ๋ยค่อนข้างสูง โดยเฉพาะช่วง ระยะเวลาเริ่มออกดอก ติดผลหากขาดปุ๋ยในช่วงระยะ เวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งความชื้นในดินและในดอกกาแฟน้อย และอุณหภูมิสูง กาแฟจะแสดงอาการเป็นโรคยอดแห้ง (Die back) ไม่เจริญเติบโต และตายในที่สุด
สำหรับธาตุอาหารที่ต้นกาแฟต้องการมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ
o กลุ่มธาตุอาหารหลัก ได้แก่ N P K (Primary nutrients)
o กลุ่มธาตุอาหารรอง ได้แก่ Ca Ng S (secondary nutrients)
o ธาตุอาหารจุลธาตุ ได้แก่ Fe Mn Zn Cu B Mo และ Cl
ระดับความสูง 700-900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ควรใส่ปุ๋ย ช่วงเดือนพฤษภาคม กรกฎาคม และกันยายน
ระดับความสูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ควรใส่ปุ๋ยช่วง เดือนพฤษภาคม สิงหาคม และตุลาคม

หมายเหตุ
1. ในกรณีที่พืชแสดงอาการขาดธาตุอาหารหลักหรือธาตุ อาหารรอง ให้ใส่ปุ๋ยที่เป็นธาตุอาหารหลัก เพิ่มขึ้นหรือธาตุอาหารรอง เสริมซึ่งมีทั้งในรูปปุ๋ยเม็ด หรือปุ๋ยเกล็ด ที่ฉีดพ่นทางใบ โดยคำนึง ถึงลักษณะของดินและความชื้นในดินในขณะที่ใส่
2. ระยะเวลาในการใส่ปุ๋ยกาแฟอาราบิก้า ขึ้นอยู่กับระดับ ความสูงของสถานที่ปลูก ซึ่งจะมีผลต่ออายุ

การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อคุณภาพของกาแฟ ได้แก่ เนื้อสารกาแฟ (Body) รสชาติ (Flavour) ความเป็นกรด (Acidity) และมีกลิ่นหอม (Aroma) หากเก็บผลที่ยังไม่สุก และช่วงเวลาในการเก็บไม่เหมาะสม นอกจากจะมีผลต่อคุณภาพ และรสชาติแล้ว ยังมีผลทำให้ต้นทุนการผลิต (ค่าแรงงาน) เพิ่มขึ้น

อายุการเก็บเกี่ยว

ผลกาแฟในแต่ละสภาพพื้นที่ปลูกไม่พร้อมกัน
• ระดับความสูง 700-900 เมตรจากระดับน้ำทะเล
• อายุการเก็บเกี่ยว (ตั้งแต่ติดผล-ผลสุก) ประมาณ 6 เดือน
• ระดับความสูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล
• อายุการเก็บเกี่ยว (ตั้งแต่ติดผล-ผลสุก) ประมาณ 9 เดือน

วิธีการเก็บเกี่ยว

การเก็บทีละผลหรือทั้งช่อ โดยเก็บเฉพาะผลที่สุกในแต่ละช่อ หรือเก็บทั้งช่อก็ได้ หากผลสุกพร้อมกัน เป็นวิธีการที่จะสามารถควบคุม คุณภาพของกาแฟได้ดีที่สุด

ดัชนีการเก็บเกี่ยว

• ควรเก็บผลที่สุก 90-100 เปอร์เซ็นต์ คือ เมื่อผลมีสีแดงเกือบทั้งผล หรือทั่วทั้งผลหรือผลมีสีเหลืองเกือบทั้งผลหรือทั่วทั้งผล (บางสายพันธุ์ ผลสุกจะเป็นสีเหลือง)
• การทดสอบผลสุกพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว โดยการปลิดผลกาแฟ แล้วใช้นิ้วบีบผล ถ้าผลสุกเปลือกจะแตกง่ายและเมล็ดกาแฟจะโผล่ออกมา
• การเก็บผลควรจะพิจารณาการสุกของผลบนแต่ละกิ่ง ที่ให้ผลในแต่ละต้น ว่ามีผลสุกมากกว่าร้อยละ 50 ในการเก็บผลผลิตครั้งแรก ซึ่งปกติการเก็บ ผลกาแฟจะต้องใช้เวลาเก็บประมาณ 2-4 ครั้ง


แมลงและการป้องกันกำจัด


เพลี้ยหอยสีเขียว(Green scale)
Coccus viridis Green (Homoptera : Coccidae)
เพลี้ยหอยสีเขียวเป็นศัตรูที่สำคัญที่สุด ในกลุ่มแมลงปากดูด ขนาดเล็กด้วยกันทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เข้าทำลาย โดยการดูดกิน น้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ใบอ่อน เป็นเหตุให้ยอดและใบหงิกงอผิดปกติ ใบร่วง ต้นกาแฟชะงักการเจริญเติบโต ถ้าระบาดขณะกาแฟกำลังติดผล ทำให้ผลอ่อนมีขนาดเล็กลง เมล็ดลีบและผลร่วง ผลผลิตเล็กลง ต้นกาแฟจะโทรมนาน นอกจากนี้ เพลี้ยหอยสีเขียวยังขับถ่ายน้ำหวาน (honey dew) ขึ้นคลุมผิวใบ เป็นผลให้พื้นที่ในการสังเคราะห์แสงลดลง และทำให้ต้นกาแฟชะงักการเจริญเติบโต

การป้องกันกำจัด

ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงประเภทดูดซึม โดยใช้คาร์โบ ซัลแฟน(พอสซ์ 20 % EC) ใช้ในอัตรา 40 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร



หนอนเจาะลำต้นกาแฟ
Xylotrechus quadripes Cherrolat (Coleoptera : Cerambycidae)
หนอนเจาะลำต้นกาแฟเป็นแมลงที่มีความสำคัญ ที่ทำความเสียหาย ต่อต้นกาแฟอาราบิก้าอย่างรุนแรง พื้นที่ซึ่งพบการทำลายสูงสุดร้อยละ 95 และส่วนใหญ่เป็นกาแฟที่ปลูกในสภาพกลางแจ้งร้อยละ 80 ส่วนกาแฟที่ ปลูกในสภาพภายใต้ร่มเงา และปลูกในพื้นที่ระดับต่ำจะพบน้อย โดยเฉพาะ กาแฟที่มีอายุมากกว่า 5 ปี ขึ้นไป ต้นกาแฟที่ถูกหนอนเจาะต้นกาแฟ เข้าทำลายจะแสดงอาการใบเหลือง เหี่ยว และยืนต้นแห้งตายในที่สุด โดยจะพบร่องรอยการควั่นของหนอนเจาะลำต้นกาแฟตั้งแต่บริเวณโคนต้น ขึ้นมาจนถึงกึ่งกลางต้น ทั้งนี้เมื่อฟักออกจากไข่ ก็จะกัดกินเนื้อไม้ โดยควั่น ไปรอบต้นและเจาะเข้าไปกินภายใน

การป้องกันกำจัด

ควรจะกระทำช่วงระยะที่เป็นตัวเต็มวัยก่อนผสมพันธุ์และวางไข ่รวมทั้งการทำลายไข่หรือหนอนระยะแรกที่ฟักออกจากไข่ ก่อนที่จะ เจาะเข้าไปในลำต้นหรือกิ่งจะเป็นการป้องกันกำจัดที่ดีที่สุด เมื่อพบการระบาดควรฉีดพ่นสารฆ่าแมลง เฟนิโตรไธออน (ซูมิไธออน 50 % EC) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ในช่วงเดือนพฤษภาคม- กรกฎาคม และ พฤศจิกายน-มกราคม



หนอนกาแฟสีแดง
Zeuzera coffeae Nietner (Lepidoptera : Cossidae)
หนอนเจาะกินเนื้อเยื่อภายในลำต้นทำให้ยอดแห้งเหี่ยวตาย ตั้งแต่ยอดลงมาจนถึงบริเวณที่ถูกเจาะ และ เมื่อลมพัดก็ทำให้กิ่งหักล้ม ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกสีขาว มีจุดดำประเต็มปีก วางไข่บริเวณเปลือก ลำต้นหรือกิ่งกาแฟ ไข่สีเหลือง ตัวเมีย 1 ตัว วางไข่ได้ประมาณ 300 - 500 ฟอง ระยะไข่ประมาณ 7 - 10 วัน จึงฟักออก เป็นตัวหนอนแล้ว เจาะเข้าสู่กิ่งหรือลำต้น กัดกินเนื้อเยื่อเป็นโพรงเล็ก ๆ ตามความยาวของกิ่ง และลำต้นกาแฟ ขณะเดียวกันก็จะกัดกิ่งและลำต้นกาแฟเป็นรู เล็ก ๆ เพื่อเป็นช่องให้มูลของหนอนออกมา จากกิ่งและลำต้น ระยะหนอนประมาณ 2.5 - 5 เดือน ระยะดักแด้ 2-3 สัปดาห์ ในรอบปีหนึ่งจะพบประมาณ 2 ชั่วอายุขัย เมื่อพบร่อง รอยการทำลายให้ตัดกิ่งหรือต้นที่ถูกทำลายไปเผาทิ้ง

การป้องกันกำจัด

ทำลายพืชอาศัยอื่น ๆ ในบริเวณรอบ ๆ สวนกาแฟ เพื่อไม่ให้เป็น ที่อยู่อาศัยขยายพันธุ์รักษาบริเวณให้สะอาด และหมั่นตรวจดูตามต้นและกิ่งกาแฟอยู่เสมอหากพบรอยที่หนอนเจาะเข้าทำลายให้ ตัดกิ่ง นำไปเผาไฟ เพื่อลดการขยายพันธุ์ต่อไป ในพื้นที่ ๆ พบการระบาดสูงใช้สารเคมีฆ่าแมลงเฟนิโตร ไธออน อัตรา 80 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร ทำด้วยแปลงทาสีบริเวณลำต้นกาแฟให้ทั่ว (ถ้าใช้ฉีดพ่นใช้อัตรา 40 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร ) ในช่วงที่พบตัวเต็มวัยสูงในเดือนเมษายน มิถุนายน และกันยายน และกำจัดต้นกาแฟที่ถูกหนอนเจาะลำต้นเข้าทำลาย ทันที เมื่อตรวจพบโดยการตัดแล้วเผาทิ้ง นอกจากนี้ควรปลูกไม้บังร่ม จะช่วยลดการเข้าทำลายของหนอนได้




โรคและการป้องกันกำจัด


โรคราสนิม (Coffee leaf rust)
เกิดจากเชื้อรา Helmileia vastatrix ทำความเสียหายร้ายแรงแก่กาแฟอาราบิก้ามานานกว่าร้อยปี

ลักษณะอาการของโรค
โรคราสนิมสามารถเกิดกับใบกาแฟอาราบิก้า ทั้งใบแก่และใบอ่อน ระยะต้นกล้าในเรือนเพาะชำ และต้นโตในแปลง อาการครั้งแรก จะเห็นเป็นจุดสีเหลืองเล็ก ๆ ขนาด 3 - 4 มิลลิเมตร ด้านในของใบ มักจะเกิดกับใบแก่ก่อน จุดสีเหลืองบนใบขยายโตขึ้นเรื่อย ๆ สีของแผลจะ เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีส้ม หรือส้มแก่ เมื่ออายุมากขึ้น บนแผลจะมีผงสีส้ม ซึ่งเป็นยูรีโดสปอร์ของเชื้อรา ด้านบนของใบซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดที่เป็นโรค จากนั้น ใบกาแฟอาราบิก้าจะร่วง ต้นโกร๋น กิ่งแห้งในเวลาต่อมา ต้นที่เป็น โรครุนแรงใบจะร่วงเกือบหมดต้น

การป้องกันกำจัด
มีสารป้องกันกำจัดเชื้อราหลายชนิดที่มีประสิทธิภาพใน การป้องกันและกำจัดโรคราสนิมได้ เช่น บอร์โดซ์มิกซ์เจอร์ (alkaline bordeaux mixture) 0.5%,คูปราวิท (cupravit) 85% W.P. อัตรา 50 กรัม น้ำ 20 ลิตร

ใช้พันธุ์กาแฟที่ต้านทานต่อโรคราสนิม ได้แก่ กาแฟอาราบิก้า พันธุ์คาติมอร์ CIFC 7960, พันธุ์คาติมอร์ CIFC 7961, พันธุ์คาร์ติมอร์ CIFC 7962 และ พันธุ์คาติมอร์ CIFC 7963


โรคเน่าดำ (black rot)

โรคเน่าดำของกาแฟสาเหตุจากเชื้อรา Koleroga noxia เป็นโรคที่สำคัญโรคหนึ่งของกาแฟอาราบิก้า ที่ปลูกภายใต้ ร่มเงาค่อนข้างหนาทึบ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับ เกิดโรคนี้มักจะเป็นในฤดูฝน ในช่วงที่ฝนตกติดต่อกันหลายวันโดยไม่หยุด ประกอบกับแปลงกาแฟที่มีร่มเงาค่อนข้างทึบ แดดส่องไม่ถึง ส่วนต้นกาแฟที่ปลูกกลางแจ้งไม่พบโรคนี้ระบาด
ลักษณะอาการของโรค

อาการของโรคจะแสดงออกที่ใบ กิ่ง และผล ที่กำลังพัฒนาในช่วงฝนตกซุก ในเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ในระยะเริ่มแรกใบจะเน่ามีสีดำก่อน แล้วลุกลามไปยังกิ่งและผล กำลังเจริญเติบโต เมื่อใบกาแฟแห้งตาย ในปลายฝนจะมีเส้นใยของเชื้อรา เส้นใหญ่ ๆ เจริญบนผิวใบกาแฟ เส้นใยเหล่านี้จะดึงให้ใบกาแฟติดอยู่กับกิ่ง โดยไม่ร่วงหล่นจากต้น สำหรับผลกาแฟที่กำลังเจริญเติบโตมีสีเขียว ก็จะกลายเป็นสีดำและร่วง และเมื่ออากาศแห้งเห็นเส้นใยสีขาวปกคลุม ก้านผลกาแฟคล้ายใยแมงมุมสีขาว การเน่าของใบกาแฟอาจลุกลาม เข้าสู่ตรงกลางของพุ่มกาแฟ

การป้องกันกำจัด
o ตัดกิ่งที่เป็นโรคออกและเผาไฟ เพื่อทำลายแหล่ง แพร่ระบาดของเชื้อ
o ควรคัดเปลงระบบการตัดแต่งกิ่งต้นกาแฟให้ตรงกลาง พุ่มโปร่ง ลมจะได้พัดผ่านสะดวก เพื่อลด ความชื้นในทรงพุ่ม เช่น ระบบตัดแต่งกิ่งต้นเดี่ยวของประเทศ โคลัมเบียหรืออินเดีย
o ควรตัดแต่งไม้บังร่มให้โปร่งมาก ๆ ในต้นฤดูฝน
o อาจใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช พวกสารประกอบ ทองแดงฉีดพ่นเมื่อพบโรคนี้ระบาด 1 - 2 ครั้ง


โรคเน่าคอดิน (Collar rot หรือ damping off)

โรคเน่าคอดินสาเหตุจากเชื้อราRhizoctonia solani โรคนี้เกิดในระยะกล้าอายุ 1 - 3 เดือนในแปลง เพาะชำ สาเหตุของการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ลักษณะของแปลงเพาะกล้ามีการระบายน้ำไม่สะดวก เพาะเมล็ดซ้ำใน แปลงเดิมติดต่อกันหลายครั้ง ติดต่อกันโดยไม่เปลี่ยนวัสดุใหม่ หลังคาเรือนเพาะชำอาจทึบเกินไป ปริมาณของกล้าที่งอกออกมาหนาแน่น เกินไป และประการสำคัญสภาพอากาศในช่วงที่กล้างอก มีความชื้นสูง สลับกับอากาศร้อน

ลักษณะอาการของโรค
อาการของโรคเน่าคอดินมีอยู่ 2 ระยะคือ
ระยะแรก การเน่าของเมล็ดก่อนงอก คัพภะ (embryo) และเอนโดสเปิร์ม (endosperm) จะถูกเชื้อราซึ่งอยู่ในดินเข้าทำลาย เมล็ดเน่าและแตกออก
ระยะที่สอง การเน่าหลังจากกล้ากาแฟงอกออกจากเมล็ด โผล่ขึ้นมาเหนือดินแล้ว เชื้อราอาจเข้าทำลายตรงโคนที่อยู่เหนือดิน หรือระดับผิวดินจะมีแผลสีน้ำตาลในระยะแรก ต่อมาจะเน่ากลายเป็นสีดำ ในที่สุดกล้าก็เหี่ยวและตาย เชื้อรา R.solani สามารถเข้า ทำลายกล้ากาแฟได้ทุกระยะหลังจากงอกขึ้นมาเหนือดิน ตั้งแต่หัวไม้ขีด ซึ่งใบเลี้ยงคู่ยังไม่หลุดออกจากเมล็ดกาแฟ ระยะปีกผีเสื้อ ซึ่งใบเลี้ยงคู่หลุดออกจากเมล็ดเป็นปีกผีเสื้อ และระยะที่กล้ากาแฟมีใบจริง 1 - 2 คู่ ในกรณีที่ยังอยู่ในแปลงไม่ได้ย้ายลงถุง

การป้องกันกำจัด
o หน้าดิน (top soil) หรือวัสดุเพาะอื่น ๆ ควรจะเป็น ของใหม่ ไม่ควรนำของเก่ามาเพาะซ้ำ เพราะอาจมีเชื้อราสะสมอยู่ใน ปริมาณมากเกินไป
o ไม่ควรให้น้ำแปลงเพาะมากเกินไปในแต่ละครั้ง ซึ่งอาจทำให้น้ำท่วมขังในแปลงได้ ระบบการ ระบายน้ำในแปลงควรจะดี
o การเพาะเมล็ดในแปลง ควรให้มีระยะห่างพอสมควร มิฉะนั้นเมื่อกล้างอกออกมาหนาแน่น จะต้องถอนทิ้งทีหลัง
o กล้าที่เป็นโรคเน่าคอดิน ควรถอนทิ้งและเผาไฟ หลังจากนั้นจึงควรพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ (Mancozeb)



โรครากเน่าแห้ง (Fusarium root disease)

โรครากเน่าแห้งสาเหตุจากเชื้อรา Fusarium spp. ทำความเสียหายร้ายแรงแก่กาแฟอาราบิก้ามากกว่ากาแฟโรบัสต้า ทำให้ต้นตายภายในเวลาอันสั้น โรคนี้จะรุนแรงในสภาพพื้นที ่อุณหภูมิแตกต่างกันมากระหว่างอุณหภูมิสูงสุดและอุณหภูมิต่ำสุด อุณหภูมิของดินแตกต่างกันมาก
ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์แปลงกาแฟที่ปลูกกลางแจ้งและราก หรือโคนต้นที่อยู่ ใต้ผิวดินเกิดแผล เชื้อราก็เข้าทางแผลนั้น จากการตรวจสอบต้นที่เป็นโรครากเน่าพบว่า มีต้นกาแฟจำนวนมาก ที่มีแผลที่เกิดจาก หนอนเจาะโคนหรือควั่นโคนร่วมอยู่ด้วย

ลักษณะอาการของโรค
ต้นกาแฟมีใบเหลืองและเหี่ยว ต่อมาใบจะร่วง กิ่งที่อยู่เหนือดินแห้งตาย เมื่อถอนต้นกาแฟจากดิน จะขึ้นมาง่ายมาก เพราะรากเน่าและแห้งตาย เมื่อปาดเปลือกของรากและโคนต้นกาแฟที่อยู่ใต้ดินจะมีสีน้ำตาล น้ำตาลเทา รากส่วนใหญ่จะแห้ง

การป้องกันและกำจัดโรค
o ถอนต้นกาแฟที่เป็นโรคเน่าแห้งเผาไฟ เพื่อทำลาย แหล่งเพาะเชื้อ
o โรครากเน่าแห้งจะรุนแรงในสภาพการปลูกกาแฟ กลางแจ้งนั้น ดังนั้น ควรปลูกไม้บังร่มให้กาแฟอาราบิก้าในแหล่งที่มี โรครากเน่าแห้งระบาด
o เอกสารต่างประเทศได้แนะนำให้ใส่ปูนขาวลงไปในดิน ในกรณีพบโรครากเน่าแห้งและทดสอบ pH ของดินพบว่าต่ำกว่า 5.5



โรคใบจุดตากบ (Brown eye spot)

โรคใบจุดตากบ มีสาเหตุจากเชื้อรา Cercospora coffeicola. เป็นโรคที่พบระบาดแพร่หลายทั่วไป ทั้งกับกาแฟอาราบิก้าและกาแฟโรบัสต้า ระบาดมากในระยะกล้า ที่ปลูกในเรือนเพาะชำ ขาดการดูแลรักษาที่ถูกต้อง เมื่อนำกล้าที่ เป็นโรคนี้ไปปลูกในแปลง หากขาดการบังร่มให้แก่ต้นปลูกใหม่ในระยะแรก โรคใบจุดตากบก็จะทำความเสียหายกับใบรุนแรง จะพบใบที่เป็นโรคร่วง บ่อยครั้งที่พบต้นกาแฟ เป็นโรคใบจุดตากบภายใต้ร่มเงาที่ไม่เหมาะสม โรคนี้อาจพบได้ทุกฤดู แต่จะพบมากในฤดูแล้ง

ลักษณะอาการของโรค
ใบกาแฟจะเห็นจุดกลม ๆ ขนาด 3 - 15 มิลลิเมตร จะมีสีน้ำตาล ระยะเริ่มแรก ต่่อมาจุดนี้จะกลายเป็นสีเทาหรือเทาอ่อนไปกระทั่งถึงสีขาวตรง จุดกึ่งกลางของแผล ขอบแผลจะมีสีน้ำตาลแดง และจะล้อมรอบไว้โดย วงสีเหลือง ส่วนตรงกลางของแผลที่มีสีเทาจะเห็นจุดเล็ก ๆ สีดำกระจาย อยู่ทั่วไป จุดเล็ก ๆ เหล่านี้คือ กลุ่มของสปอร์และสปอร์ของเชื้อรา
เชื้อราชนิดนี้สามารถทำให้เกิดโรคกับผลกาแฟได้ ทำให้ผลกาแฟ เน่ามีสีดำในระยะรุนแรงกาแฟจะมีสีดำ และเหี่ยวย่น ทำให้ผลร่วง ก่อนสุกในบางครั้ง

การป้องกันกำจัด
o แปลงกาแฟควรมีร่มเงาเพียงพอ ต้นกาแฟที่ปลูกใหม่ ควรมีร่มเงาชั่วคราวเพียงพอ หลีกเลี่ยงความรุนแรงของโรค
o การให้ปุ๋ยไนโตรเจนเพียงพอ จะช่วยลดความ รุนแรงของโรคในระยะกล้าในแปลงเพาะและแปลงปลูกได้



วัชพืชและการป้องกันกำจัด

วัชพืชที่พบทั่วไปในสวนกาแฟอาราบิก้า มีทั้งใบแคบและใบกว้าง ได้แก่ หญ้าตีนนก หญ้าปากควาย หญ้าตีนกา หญ้าเห็บ หญ้านกสีชมพู กระดุมใบเล็ก สาบแร้งสาบกา ลำพาสี ผักปราบ หญ้ายาง ลูกใต้ใบ ตีนตุ๊กแก เป็นต้น

การกำจัดวัชพืชในสวนกาแฟ
  สามารถกระทำได้หลายวิธี คือ
1. การใช้แรงงานและการใช้เครื่องจักรกลตัดวัชพืชระดับผิวดิน
การใช้แรงงานคนเหมาะสำหรับสภาพพื้นทีที่ไม่สามารถ ใช้เครื่องจักรกลได้สะดวก โดยเฉพาะการกำจัดวัชพืชโดยวิธีการตัด หรือถากวัชพืชรอบบริเวณโคนต้นในสวนกาแฟที่ปลูกใหม่ เพราะระยะนี้ การใช้สารกำจัดวัชพืชจะเป็นอันตรายกับต้นกาแฟได้ง่าย และในฤดูแล้ง การกำจัดวัชพืชด้วย วิธีการดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องกระทำ เพื่อลดการแก่งแย่งน้ำในดิน ระหว่างวัชพืชและต้นกาแฟ และใช้วัชพืช ดังกล่าวคลุมโคนต้นกาแฟ เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำ
2. การปลูกพืชคลุมดิน
การปลูกพืชคลุมดินนอกจากจะช่วยควบคุมวัชพืช เจริญเติบโตแข่งกับต้นกาแฟแล้ว ยังเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในกับดิน ซึ่งจะมีผลทำให้ต้นกาแฟเจริญเติบโตและให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
3. การปลูกพืชแซม
สามารถกระทำได้ในพื้นที่ปลูกกาแฟที่ค่อนข้างราบ หรือมีความลาดเอียงในทิศทางเดียวกัน พืชแซมที่นิยมปลูกในสวน กาแฟปลูกใหม่ เช่น พืชผัก ถั่วต่าง ๆ หรือไม้ตัดดอก แต่หลังจากต้นกาแฟ อายุมากขึ้น และให้ผลผลิตแล้วคงไม่สามารถกระทำได้ เพราะ ทรงพุ่มจะชิดกันมากขึ้น ไม่มีพื้นที่ว่างพอที่จะปลูกพืชแซมได
4. การใช้สารกำจัดวัชพืช
ใช้ได้ทั้งในสวนกาแฟขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ่โดยใช้ในอัตราที่ปรากฏข้างล่าง ผสมน้ำสะอาด 60-80 ลิตร/ไร่ ใช้หัวพ่นรูปพัด พ่นให้ทั่วต้นวัชพืช แต่ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ ละอองสารปลิวไปสัมผัสใบและต้นกาแฟ



สารกำจัดวัชพืช|อัตราที่ใช้ (กรัมหรือ ซีซี./ไร่) กำหนดการใช้ ชนิดวัชพืชที่ควบคุมได้

หมายเหตุ

พาราควอท(27.6%AS)|300-800|พ่นหลังวัชพืชงอกและอยู่ในระยะเจริญเติบโตสูงไม่เกิน 15 ซม.|วัชพืชปีเดียว ใบแคบและใบกว้าง|หลีกเลี่ยง สารกำจัดวัชพืชสัมผัสใบและต้นกาแฟที่มีสีเขียว


กลูโฟซิเนทแอมโมเนียม (15 % SL)
|330- 750|พ่นหลังวัชพืชงอกและอยู่ในระยะเจริญเติบโตและก่อนออกดอก|วัชพืชปีเดียวใช้อัตราต่ำ
วัชพืชข้ามปีเช่นหญ้าคาใช้อัตราสูง|ระยะปลอดฝนประมาณ 4-6 ช.ม.


ไกลโฟเลท (48% AS)
|330-750|พ่นหลังวัชพืชงอกและอยู่ในระยะเจริญเติบโตและก่อนออกดอก|วัชพืชปีเดียวใช้อัตราต่ำ วัชพืชข้ามปีเช่น หญ้าคาใช้อัตราสูง|ระยะปลอดฝนประมาณ 4-6 ช.ม.


กลูโฟซิเนทแอมโมเนียม (15% S % L) + ไดยูรอน (80% WP)
|1,800+ 300|พ่นหลังวัชพืชงอกและอยู่ในระยะเจริญเติบโตสูงไม่เกิน 15 ซม. วัชพืชปีเดียว ใบแคบและใบกว้างที่งอกจากเมล็ด|ไดยูรอนสามารถ
ควบคุมการงอกของเมล็ดวัชพืชในดินได้ 1-2 เดือน



การแปรรูป

วิธีการแปรรูปมี 2 วิธีที่นิยมปฏิบัติกัน คือ
1. การทำสารกาแฟโดยวิธีเปียก (Wet Method or Wash Method)เป็น วิธีการที่นิยมกันแพร่หลาย เพราะจะได้สารกาแฟที่มีคุณภาพ รสชาติดีกว่า ราคาสูงกว่าวิธีตากแห้ง (Dry method) โดยมีขั้นตอน ในการดำเนินการมี 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. การปอกเปลือก(Pulping)
โดยการนำผลกาแฟสุกที่เก็บได้มาปอกเปลือกนอกทันที โดยเครื่องปอกเปลือก โดยใช้น้ำสะอาดขณะที่เครื่องทำงาน ไม่ควรเก็บ ผลกาแฟไว้นานหลังการเก็บเกี่ยวเพราะผลกาแฟเหล่านี้จะเกิดการหมัก (fermentation) ขึ้นมาจะทำให้คุณภาพของสารกาแฟ มีรสชาติเสียไป ดังนั้นหลังปอกเปลือกแล้ว จึงต้องนำไปขจัดเมือก

2. การกำจัดเมือก (demucilaging)
เมล็ดกาแฟที่ปอกเปลือกนอกออกแล้ว จะมีเมือก (mucilage) ห่อหุ้มเมล็ดอยู่ซึ่งจะต้องกำจัดออกไป ซึ่งมีวิธีการอยู่ 3 วิธีคือ
2.1 การกำจัดเมือกโดยวิธีการหมักตามธรรมชาติ (Natural Fermentation)เป็นวิธีการที่ปฏิบัติดั้งเดิม โดยนำ เมล็ดกาแฟที่ปอกเปลือกออกแล้วมาแช่ในบ่อซีเมนต์ขนาด 3x1.5x1.2 เมตร มีรูระบายน้ำออกด้านล่าง ใส่เมล็ดกาแฟประมาณ 3/4 ของบ่อ แล้วใส่น้ำให้ท่วมสูงกว่ากาแฟ แล้วคลุมบ่อด้วยผ้าหรือพลาสติกปิดปาก บ่อซีเมนต์ ทิ้งไว้ 24-48 ชั่วโมง ในกรณีที่อุณหภูมิต่ำอากาศหนาวเย็น การหมักอาจจะใช้เวลา 48-72 ชั่วโมง) จากนั้นปล่อยน้ำทิ้งแล้วนำ เมล็ดมาล้างน้ำให้สะอาด นำเมล็ดมาขัดอีกครั้งในตระกล้าที่ตาถี่ ที่มีปาก ตะกร้ากว้าง ก้นไม่ลึกมาก เมื่อขัดแล้วเมล็ดกาแฟจะไม่ลื่นแล้วล้าง ด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งก่อนที่จะนำไปตาก
2.2 การกำจัดเมือกโดยการใช้ด่าง (Treatment with alkali)วิธีนี้จะใช้เวลาประมาณไม่เกิน 1 ชั่วโมง (โรบัสต้า 1 ชั่วโมง 30 นาที) โดยการนำเอาโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) ความเข้มข้น 10% โดยใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) 1 กิโลกรัม/น้ำ 10 ลิตร เทลงในบ่อซีเมนต์ที่ใช้หมักเมล็ดกาแฟ หลังจากเทเมล็ดกาแฟ ประมาณ 250-300 กิโลกรัม และเกลี่ยให้เสมอกัน จากนั้นใช้ไม้พายกวน เมล็ดกาแฟเพื่อให้สารละลายกระจายให้ทั่วทั้งบ่อประมาณ 30-60 นาที หลังจากทิ้งไว้ 20 นาที แล้วตรวจสอบว่าด่างย่อยเมือกออกหมด หรือหากยังออกไม่หมดให้กวนอีกจนครบ 30 นาที แล้วตรวจสอบอีกครั้ง เมื่อเมือกออกหมดต้องนำเมล็ดกาแฟไปล้างด้วยน้ำสะอาด 3-4 ครั้ง ก่อนนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
2.3 การกำจัดเมือกโดยใช้แรงเสียดทาน (Removal fo mucilage by friction)โดยใช้เครื่องปอกเปลือกชื่อ "Aguapulper" สามารถจะกระเทาะเปลือกนอก และกำจัดเมือก ของเมล็ดกาแฟในเวลาเดียวกัน แต่มีข้อเสียคือทำให้เมล็ดเกิดแผล ดังนั้นจึงควรคัดผลกาแฟให้มีขนาดใกล้เคียงกันมากที่สุด เพื่อลดความ เสียหายของเมล็ดให้น้อยลง

3.การตากหรือการทำแห้ง (Drying)
หลังจากเมล็ดกาแฟผ่านการล้างทำความสะอาดแล้วนำเมล็ดกาแฟมาเทลงบนลานตากที่ทำความสะอาดแล้ว หรือเทลงบนตาข่ายพลาสติกบนแคร่ไม้ไผ่ เกลี่ยเมล็ดกาแฟกระจายสม่ำเสมอไม่ควรหนาเกิน 4 นิ้ว ควรที่จะเกลี่ยเมล็ดกาแฟวันละ 2 - 4 ครั้ง จะทำให้เมล็ดแห้งเร็วขึ้น และเวลากลางคืนควรกองเมล็ดเป็นกอง ๆ และใช้พลาสติกคลุมเพื่อป้องกันน้ำฝนหรือน้ำค้าง ใช้เวลาตากประมาณ 7 -10 วัน เมล็ดจะมีความชื้นประมาณ 13 %

4. การบรรจุ (Packing)
เมล็ดกาแฟที่ได้ควรเก็บไว้ในรูปของกาแฟกะลา (Parchment Coffee) เพราะจะสามารถรักษาเนื้อกาแฟและป้องกันความชื้นกาแฟได้ดี ควรบรรจุ ในกระสอบป่านใหม่ และควรกลับด้านในของกระสอบป่านออกมา ผึ่งลมก่อนนำไปใช้ เก็บในโรงเก็บที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อับชื้น หรือมีกลิ่นเหม็น

5.การสีกาแฟกะลา (Hulling)
กาแฟกะลาที่จะนำไปจำหน่ายควรจะสีเพื่อเอากะลาออกด้วยเครื่องสีกะลา จะได้สารกาแฟ (Green Coffee) ที่มีลักษณะผิวสีเขียวอมฟ้า
การทำสารกาแฟโดยวิธีแห้ง (Dry method หรือ Natural method)
เป็นวิธีการที่ดำเนินการโดยนำเอาผลกาแฟ (Coffee Cherry) ที่เก็บเกี่ยวมาจากต้นแล้วนำมาตากแดด ประมาณ 15 -20 วัน บนลานตากที่สะอาดและได้รับแสงแดดเต็มที่ เกลี่ยให้เสมอทั่วกันและ หมั่นเกลี่ยบ่อยครั้ง เมื่อผลแห้งจะมีเสียงของเปลือกกับเมล็ดกระทบกัน จึงนำมาเข้าเครื่องสีกาแฟ (Hulling) แล้วบรรจุในกระสอบที่สะอาด ข้อเสียของวิธีการนี้ คือ สารกาแฟที่ได้จะมีคุณภาพต่ำกว่าการทำ สารกาแฟโดยวิธีหมักเปียก



การคัดเกรดและมาตรฐาน

การคัดเกรด
สารกาแฟ (Green coffee) ที่ผ่านเครื่องสีเอากะลาออกแล้ว จึงนำมาคัดขนาดเพื่อแบ่งเกรด โดยใช้ตะแกรงร่อนขนาดรู 5.5 มิลลิเมตร เพื่อแยกสารกาแฟที่สมบูรณ์ จากสารกาแฟที่แตกหักรวม ถึงสิ่งเจือปน เมล็ดกาแฟที่มีสีดำ (black bean) ซึ่งเกิดจากเชื้อราบางประเภท ใช้เครื่องอีเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องที่ใช้แรงเหวี่ยง (Electronic Coffee Sorting Machine) เพื่อแยกสารกาแฟที่ดีออกจากสารกาแฟที่ไม ่สมบูรณ์


มาตรฐานการแบ่งเกรดของสารกาแฟอาราบิก้าของไทย

เกรดของสารกาแฟอาราบิก้า
เกรด A
ขนาด ขนาดของเมล็ดตั้งแต่ 5.5 มิลลิเมตรขึ้นไป
สี สีเขียวอมฟ้า
เมล็ดแตกหัก มีเมล็ดไม่สมบูรณ์ หรือเมล็ดขนาดเล็กกว่า 5.5 มิลลิเมตร ไม่เกินร้อยละ 13
เมล็ดเสีย มีเมล็ดที่เป็นเชื้อราหรือมีสีผิดปกติ ไม่เกินร้อยละ 1.5
ความชื้น ไม่เกินร้อยละ 13

เกรด X
- ลักษณะและคุณภาพเหมือนเกรด A ยกเว้นสีซึ่งจะมีสีแตกต่างไปจากสีเขียวอมฟ้าหรือมีสีน้ำตาลปนแดง

เกรด Y
- ลักษณะเมล็ดแตกหักหรือเมล็ดกลมเล็ก ๆ (Pea berries) ที่สามารถลอดผ่านตะแกรงขนาด์ 12.5 (5.5 มิลลิเมตร)
- มีสีเขียวอมฟ้า สิ่งเจือปนไม่เกิน 0.5 %
- ความชื้นไม่เกิน 13 %

การเก็บรักษา (Storage)
- ภาชนะบรรจุควรเก็บในกระสอบป่านใหม่ ปราศจากกลิ่น โดยบรรจุให้เหลือ พื้นที่ปากกระสอบบ้าง ไม่ใส่จนเต็มกระสอบ ควรมีแผ่นป้ายบอกเกรด สารกาแฟ วันที่บรรจุ แหล่งผลิต และน้ำหนัก ณ วันที่บรรจุ
- โรงเก็บควรจะตั้งอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี อากาศไม่ร้อน ความชื้นสัมพัทธ์ในโรงเก็บ 60% ไม่ห่างจากฝาผนังและหลังคาประมาณ 0.5-1.0 เมตร
- ตั้งกระสอบที่บรรจุกาแฟบนพื้นที่ที่ทำด้วยไม้ยกสูงจากพื้น 15 ซ.ม.
2008-12-21



ที่มา :  กรมวิชาการเกษตร




หน้าถัดไป (2/3) หน้าถัดไป


Content ©