-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 428 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

นาข้าว




หน้า: 1/2





 

สัมมนาพืชศาสตร์

ประจำภาคการศึกษา 2/ 2545 



เรื่อง   ข้าวบาร์เลย์  :  ธัญพืชเมืองหนาวของไทย


โดย    บุญล้อม   บุญสิทธิ์                   
วันที่ 15 กุมภาพันธ์  2546
 


บทคัดย่อ
ข้าวบาร์เลย์เป็นธัญพืชเมืองหนาวที่มีแหล่งผลิตในแถบอบอุ่นของทวีปยุโรป และอเมริกา  ฯลฯ  จึงพบว่า 50 %ของข้าวบาร์เลย์ที่ผลิตได้ทั่วโลกถูกนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ในรูปต่างๆ ประมาณ 30%ถูกนำไปแปรรูปเป็นมอลท์(malt) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ประเภทกลั่นและอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อื่นๆ ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้แปรรูปเป็นอาหารมนุษย์  สำหรับประเทศไทยได้นำเข้าข้าวบาร์เลย์จากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์และอาหารเสริมบำรุงสุขภาพ  เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ในประเทศไทยได้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น  จึงทำให้ต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์จากข้าวบาร์เลย์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย  ด้วยสาเหตุดังกล่าวกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่จำกัด  จัดทำโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวบาร์เลย์ครบวงจร เพื่อผลิตข้าวบาร์เลย์ขึ้นใช้เองภายในประเทศอันจะช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากข้าวบาร์เลย์ได้ในอนาคต  

คำนำ     
ข้าวบาร์เลย์ปลูกกันทั่ว ๆ ไปมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hordeum vulgare  จัดเป็นธัญพืชชนิดหนึ่งที่สามารถปลูกได้ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศ เช่น ในเขตอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงราย  เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง น่าน ลำพูน และจังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยวัตถุประสงค์หลักของการปลูกก็คือ เพื่อใช้ทำอาหารสัตว์ในรูปเมล็ด หญ้าแห้งและหญ้าหมัก ฯลฯ เพื่อใช้ทำมอลท์สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์และแอลกอฮอล์ และเพื่อใช้เป็นอาหารมนุษย์ 
เนื้อหา พันธุ์ข้าวบาร์เลย์ในประเทศไทย

     
พันธุ์ข้าวบาร์เลย์ที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูง  เหมาะที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคเหนือของประเทศปลูกคือ พันธุ์สะเมิง 1 ซึ่งมีอายุเก็บเกี่ยว 115 วันและ พันธุ์สะเมิง 2 อายุเก็บเกี่ยว 125 วัน นอกจากนี้ยังมีข้าวบาเลย์พันธุ์ดีที่พัฒนาโดยบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่จำกัด ได้แก่พันธุ์ บรบ.2 อายุเก็บเกี่ยว 120 วันและพันธุ์ บรบ.3 อายุเก็บเกี่ยว 115 วัน 






  
ที่มาภาพ
http://barleyworld.org/oregonwolfebarleys/doubledhaploidsfigs.php 1/7/2551



การจำแนกข้าวบาร์เลย์
ข้าวบาร์เลย์สามารถจำแนกโดยอาศัยเกณฑ์ในการพิจารณาที่แตกต่างกัน คือ
1. การจำแนกโดยอาศัยลักษณะการเรียงตัวของดอกสามารถจำแนกได้ 2 ชนิดคือ
1.1 ข้าวบาร์เลย์ชนิด 2แถวเป็นข้าวบาร์เลย์ซึ่งดอกย่อยอยู่ข้างในแต่ละดอกไม่สามารถติดเมล็ดทั้งนี้เนื่องมาจากโครงสร้างของดอกย่อยพัฒนาไม่สมบูรณ์ หรือภายในดอกย่อยมีแต่เกสรตัวผู้ไม่มีเกสรตัวเมีย  ส่วนดอกย่อยเล็กตรงกลางสามารถติดเมล็ดได้อย่างสมบูรณ์
1.2 ข้างบาร์เลย์ชนิดแถวเป็นข้าวบาร์เลย์ซึ่งดอกย่อยข้างในแต่ละดอกสามารถติดเมล็ดได้อย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกับดอกย่อยตรงกลางการเรียงตัวของดอกเป็นแถว




ข้าวบาร์เลย์ 6 แถว และ 2 แถว

ที่มาภาพ  oregonstate.edu/.../330/five/BarleyOverview.htm 1/7/2551





ข้าวบาร์เลย์ 6 แถว

ที่มาภาพ  gemini.oscs.montana.edu/~mlavin/b434/lab1.htm 1/7/2551




2. การจำแนกข้าวบาร์เลย์โดยอาศัยลักษณะนิสัยในการเจริญเติบโตเป็นเกณฑ์ ในการพิจารณาโดยทั่วไปสามารถจำแนกได้ 2 ชนิดคือ
2.1 Winter barley ข้าวบาร์เลย์ชนิดนี้มีการปลูกทั่วไปในเขตอบอุ่นถึงเขตหนาวจัดของโลก ข้าวบาร์เลย์ชนิดนี้ต้องการอุณหภูมิต่ำในช่วงระยะหนึ่งเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัณนาของช่อดอกที่สมบูรณ์ ดังนั้นข้าวบาร์เลย์ชนิดนี้จึงมีอายุยาวนานประมาณ 10 เดือน


3. การจำแนกข้าวบาร์เลย์โดยอาศัยการมีลักษณะเปลือกหุ้มเมล็ดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา สามารถจำแนกได้ 2 ชนิดคือ
3.1 ข้าวบาร์เลย์ชนิดเปลือกล่อน เป็นข้าวบาร์เลย์ชนิดที่เมือนวดหรือกระเทาะเมล็ดเปลือกจะหลุดล่อนออกจากเมล็ด
3.2 ข้าวบาร์เลย์ชนิดเปลือกหุ้ม เป็นข้าวบาร์เลย์ชนิดเมื่อนวดหรือกระเทาะเมล็ดเปลือกจะไม่หลุดล่อนออกจากเมล็ดและยังคงติดแน่นอยู่กับเมล็ดทั้งหมดหรือบางส่วนของเปลือก



Barley For Animal Feed

Barley For Animal Feed

                            


Feed Barley Grade 2

Feed Barley Grade2

                         

ที่มาภาพ www.alibaba.com/.../Barley_For_Animal_Feed.html 1/7/2551






การปลูกและการดูแลรักษา

ดินและการเตรียมดิน
การเตรียมพื้นที่ 
เกษตรกรสามารถใช้รถไถเดินตามเตรียมพื้นที่เหมือนกับการปลูกข้าวทั่วไป โดยการไถดะ 2 ครั้งให้ลึกประมาณ 15–20 เซนติเมตร ตากแดดไว้ไม่น้อยกว่า 15 วัน แล้วจึงทำการไถแปรเพื่อย่อยดินและคราดเพื่อให้ดินละเอียดเหมาะสมต่อการงอกและการเจริญเติบโตของข้าวบาร์เลย์  จากนั้นจึงทำการชักร่องเพื่อทำการปลูกต่อไป

     
ในการเตรียมดินครั้งสุดท้ายนั้นให้หว่านปุ๋ยรองพื้นให้สม่ำเสมออัตราปุ๋ยที่ใส่นั้นขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน  ปุ๋ยที่ใช้อาจจะเป็นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยเคมีสูตร 15–15–15  ปุ๋ยนาสูตร 16–20–0 ก็ได้ถ้าเป็นปุ๋ยสูตร 15–15–15 หรือ 16–20–0 อัตราการใช้ปุ๋ยจำแนกได้ดังนี้ 

ดินดีประมาณ 10–15 กิโลกรัมต่อไร่ 
ดินดีปานกลางใส่ประมาณ 15–20 กิโลกรัมต่อไร่ 
ดินเลวใส่ประมาณ 20–25 กิโลกรัมต่อไร่ (อนุชา,2533)

     
การเขตกรรมเพื่อปลูกข้าวบาร์เลย์แปลงปลูกควรสะอาดใส่ปุ๋ยมูลสัตว์หรือปุ๋ยเคมีก่อนปลูก  ควรจะปลูกโดยวิธีโรยเป็นแถวให้ลึกประมาณ 5 เซนติเมตร ใช้ระยะระหว่างแถวประมาณ 20 เซนติเมตร ซึ่งจะให้ผลดีกว่าวิธีหว่าน  นอกจากนี้ควรมีความชื้นในดินขณะปลูกต้องพอเพียงสำหรับการงอกของเมล็ด อัตราของเมล็ดใช้ประมาณ 80 กิโลกรัมต่อเฮกแตร์ แต่ถ้าเป็นวิธีการหว่านอาจใช้ถึง 120 กิโลกรัมต่อเฮกแตร์ (กฤษฎา, มปป.)

     
การปลูกข้าวบาร์เลย์ในสภาพที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดฤดูปลูก จะทำให้ข้าวบาร์เลย์มีขนาดเมล็ดสมบูรณ์  แต่โปรตีนในเมล็ดต่ำกว่าข้าวบาร์เลย์ที่ปลูกในพื้นที่ ๆ มีอากาศแปรปรวนและมีอุณหภูมิสูงในฤดูปลูก  สำหรับความชื้นในดินถ้ามีปริมาณไม่เพียงพอในระยะออกรวงจะทำให้ขนาดของเมล็ดเล็กลง (http : //
www.doa.go.th)

     
การปลูกข้าวบาร์เลย์ก่อนปลูกควรคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อราคาร์บ๊อกซิน อัตรา 25 กรัมต่อเมล็ดข้าวบาร์เลย์ 10 กิโลกรัม

     
การให้น้ำให้พอชุ่มตั้งแต่ปลูกจนถึงระยะออกรวงอย่าให้ขาดน้ำ (ประเวศ , 2540 )

     
ข้าวบาร์เลย์เป็นพืชที่ต้องการน้ำเพียงเล็กน้อย หากปลูกในช่วงปลายฤดูฝนก็สามารถให้ผลผลิตได้โดยให้น้ำเพียง 200–400 มิลลิเมตรต่อฤดูปลูกเท่านั้น (วราพงศ์และคณะ , 2542)

     
การให้น้ำถ้าปลูกข้าวบาร์เลย์บนที่สูงหรือปลูกแบบอาศัยน้ำฝน เช่นบนเขาใกล้ป่าไม้ความชุ่มชื้นก็เพียงพอ  โดยเฉพาะถ้ามีอากาศหนาวเย็นข้าวบาร์เลย์จะเกิดโรคได้ง่ายจึงสรุปได้ว่าข้าวบาร์เลย์ต้องการน้ำในระยะแรกปริมาณคอนข้างมาก ส่วนระยะหลังจากข้างบาร์เลย์มีใบคลุมพื้นดินหรือใบชนกันแล้ว (อายุประมาณ 25 วัน) ต้องการน้ำปริมาณน้องลง (อนุชา , 2533) 

            
วัชพืชและการป้องกันกำจัด
เนื่องจากการปลูกข้าวบาร์เลย์ทางภาคเหนือของไทยเกษตรกรมักกำจัดวัชพืชโดยการไถพรวนระหว่างร่องหรือใช้จอบถากแต่เป็นวีธีการที่ไม่ได้ผล จึงหันมากำจัดวัชพืชด้วยสารเคมีหลายชนิดได้แก่

Triallate  เป็นสารเคมีประเภทก่อนงอกใช้ควบคุมวัชพืชใบแคบอายุฤดูเดียวเป็นส่วนใหญ่  ต้องมีการคลุกดินหลังจากฉีดยาไปที่ผิวดินแล้วจึงทำการปลูกข้าวบาร์เลย์อัตรา 180–270 กรัมต่อไร่

Chlorsulfuron  เป็นสารเคมีที่ใช้ก่อนงอกและหลังงอก ระยะแรกควบคุมวัชพืชใบกว้างเป็นส่วนใหญ่และใบแคบบางชนิดอัตราที่ใช้ 2.4–5.6 กรัมต่อไร่

Diuron เป็นสารเคมีที่ใช้ประเภทก่อนงอก  ควบคุมวัชพืชใบกว้างเป็นส่วนใหญ่และใบแคบบางชนิดอัตราที่ใช้ 80 – 240 กรัมต่อไร่

Terbutryn  เป็นสารเคมีที่ใช้ประเภทหลังงอกควบคุมวัชพืชใบกว้างเป็นส่วนใหญ่และใบแคบบางชนิด  อัตราที่ใช้  180–240 กรัมต่อไร่

2,4–D  เป็นสารเคมีที่ใช้ประเภทหลังงอก  ควบคุมวัชพืชใบกว้างอย่างเดียว  ไม่ควรใช้ในขณะที่ข้าวบาร์เลย์ยังไม่งอกเป็นต้นกล้าหรือระยะก่อนออกดอก เพราะจะทำให้เกิดอาการเป็นพิษ  ไม่ควรฉีดสารเคมีขณะที่มีลมแรงหรือแดดร้อนจัด อัตราที่ใช้ 60–120 กรัมต่อไร่ (อนุชา , 2533 ) 


โรคที่สำคัญของข้าวบาร์เลย์
1.โรคใบจุด
2.โรคไหม้
3.โรคต้นแห้งตาย
4.โรครากปม
5.โรคจุดสีน้ำตาล 

           
แมลงศัตรูในไร่ข้าวบาร์เลย์
1.เพลี้ยอ่อน
2.เพลี้ยจั๊กจั่น 


การเก็บเกี่ยว
เมล็ดแก่เต็มที่เมื่อต้นข้าวบาร์เลย์เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและจะพร้อมเก็บเกี่ยวเมื่อความชื้นลดลงเหลือประมาณ 12% การเก็บเกี่ยวอาจใช้คนหรือเครื่องจักรเก็บเกี่ยวตามความเหมาะสมของแต่ละท้องที่โดยเก็บเกี่ยวเป็นวันวางลงบนพื้นดินชูขึ้นตากแดดทิ้งไว้ 3–5 วัน จากนั้นจึงนำไปนวดฝัดเมล็ดให้สะอาดนำผลผลิตที่ได้เก็บในยุ้งฉางหรือจำหน่ายต่อไป (ประเวศ . 2520และ กฤษฎา ,มปป ) 

การใช้ประโยชน์
ข้าวบาร์เลย์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายลักษณะกว่า 50% ของข้าวบาร์เลย์ที่ผลิตได้ทั่วโลก  ถูกนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์รูปต่าง ๆ ประมาณ 30% ของข้าวบาร์เลย์ที่ผลิตได้  ถูกนำไปแปรรูปเป็นมอลท์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์  ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ประเภทกลั่นและอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อื่น ๆ  นอกจากนี้ข้าวบาร์เลย์ยังนำไปใช้แปรรูปเป็นอาหารมนุษย์ได้เป็นอย่างดี  มอลท์

     
มอลท์  หมายถึง  ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำเอาเมล็ดธัญพืชไปเพาะให้งอก ภายใต้สภาพที่ควบคุมในช่วงระยะหนึ่งเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแป้งที่สะสมภายในเมล็ดธัญพืชนั้นเป็นน้ำตาล โดยอาศัยน้ำย่อยที่สร้างขึ้นภายในเมล็ด  จากนั้นจึงนำไปอบให้แห้ง (kilning) โดยส่วนที่เป็นเศษรากฝอย (dried rootlets) ถูกแยกออกไปผลิตภัณฑ์ที่ได้จากขบวนการดังกล่าว เรียกว่า  “มอลท์”

     
เมล็ดธัญพืชที่สามารถนำไปทำมอลท์ ได้แก่ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ข้าวฟ่างและข้าวไรย์ แต่ที่นิยมมากที่สุดคือมอลท์ที่ได้จากข้าวบาร์เลย์

     
โดยปกติเมื่อนำเมล็ดข้าวบาร์เลย์ไปผ่านขบวนการทำมอลท์ (malting proces))เพื่อให้ได้มอลท์ออกมานั้นน้ำหนักของมอลท์ที่ได้จะน้อยกว่าน้ำหนักเมล็ดข้าวบาร์เลย์  ที่ใช้เป็นวัตถุดิบประมาณ 1 ใน 4 การที่น้ำหนักแห้งลดลง  เนื่องจากในระหว่างขบวนการทำมอลท์สารบางชนิดอาจถูกละลายออกไปกับน้ำ ฝุ่นละอองบางส่วนที่ติดอยู่กับเมล็ดก็ถูกชะล้างออกไป  ชิ้นส่วนบางส่วนของต้นอ่อนก็ถูกแยกออกไป นอกจากนี้ในขณะที่เมล็ดกำลังงอกมีการหายใจซึ่งทำให้สารประกอบทางเคมีบางส่วนถูกนำไปใช้ในการสร้างพลังงานเพื่อการงอกของเมล็ดและสารประกอบทางเคมีบางชนิดที่เกิดขึ้นก็ถูกปลดปล่อยออกไปด้วย จึงทำให้น้ำหนักแห้งของเมล็ดลดลง   

     
มอลท์นำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมากมายได้แก่
1.อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ มอลท์ที่ผลิตได้ทั้งหมดส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการผลิตเบียร์ ซึ่งในการผลิตเบียร์นั้นมอลท์จะถูกนำไปต้มอุ่นกับน้ำในถังทองแดงขนาดใหญ่ แล้วกรองเอากากมอลท์ออก จากนั้นนำไปเติมดอกฮอพ (hop) นำไปต้มและกรองโปรตีนที่ไม่ละลายออก แล้วนำของเหลวที่ได้ไปหมักด้วยเชื้อยีสต์ (yeast) เมื่อหมักบ่มได้ที่แล้วนำไปกรองและบรรจุขวดเพื่อจัดจำหน่ายต่อไป

           
2.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ประเภทกลั่น  ประมาณ 10 % ของมอลท์ที่ผลิตได้ทั้งหมดถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตแอลกอฮอล์และผลิตวิสกี้

           
3.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร มอลท์สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ได้ เช่น อาหารเสริม อาหารเด็กอ่อน บดเป็นแป้งเมื่อผสมกับแป้งข้าวสาลีสำหรับใช้ทำอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์เป็นส่วนผสมของกาแฟ  น้ำนมเข้มข้นและอื่น ๆ นอกจากนี้กากมอลท์ที่ได้จากอุตสาหกรรมผลิตเบียร์และแอลกอฮอล์

           
4.อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ มอลท์ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อการแพทย์สิ่งทอและงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เช่น ผสมในอาหารเชื้อโรค เป็นต้น


ข้าวบาร์เลย์กับพืชอาหารสัตว์
นอกเหนือจากการทำมอลท์หรือการมอลท์ทำเป็นอาหารสัตว์แล้วข้าวบาร์เลย์ยังเป็นอาหารสัตว์ได้ในรูปของเมล็ด หญ้าแห้ง หญ้าหมักและผลพลอยได้อื่นจากข้าวบาร์เลย์

                
1.เมล็ดข้าวบาร์เลย์ประกอบด้วยแป้งและน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ แต่มีโปรตีนและไขมันเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามเมล็ดข้าวบาร์เลย์ประกอบด้วยแต่ธาตุอาหาร วิตามินและสารอาหารที่จำเป็นแก่การเจริญเติบโตของสัตว์หลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้าวบาร์เลย์ชนิดโปรตีนสูง ดังนั้นเมล็ดข้าวบาร์เลย์จึงเหมาะแก่การใช้เป็นอาหารสัตว์ทั่วไป อย่างไรก็ตามแม้ว่าเมล็ดข้าวบาร์เลย์จะมีคุณหารสูงแต่เมล็ดข้าวบาร์เลย์ทั้งเมล็ดก็ให้พลังงานต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับข้าว ข้าวโพดและข้าวฟ่าง  ดังนั้นเมล็ดข้าวบาร์เลย์จึงไม่เหมาะสำหรับใช้เลี้ยงลูกสัตว์ขุน

                
2.หญ้าสดและหญ้าแห้ง ข้าวบาร์เลย์สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ทั้งในรูปตัดให้สัตว์กินสด หรือให้แทะเล็มในแปลงปลูก เป็นลักษณะหญ้าสดและนำมาทำให้แห้งเป็นหญ้าแห้งเพื่อให้สามารถเก็บรักษาไว้ใช้ยามที่ต้องการได้ในกรณีให้สัตว์แทะเล็มต้นข้าวบาร์เลย์ในแปลงปลูกนั้นจะต้องมีการใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ต้นข้าวบาร์เลย์สามารถเจริญเติบโตขึ้นมาได้ทันกับการแทะเล็ม อย่างไรก็ตามควรต้องระวังอิทธิพลของไนโตรเจนในรูปของไนเตรทที่อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ด้วย  สำหรับในกรณีที่เป็นหญ้าแห้ง  ระยะเวลาการตัดต้นข้าวบาร์เลย์เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพของหญ้าแห้ง ระยะเวลาการตัดต้นข้าวบาร์เลย์เพื่อนำไปทำหญ้าแห้งจะตัดเมื่อข้าวบาร์เลย์มีการพัฒนาของช่อดอกและเป็นน้ำนมหรือเริ่มเป็นแป้งอ่อน  เป็นระยะที่ต้นข้าวบาร์เลย์มีคุณค่าทางโภชนาการสูงที่สุด  ต้นข้าวบาร์เลย์ที่ตัดได้จะต้องทำให้แห้งอย่างรวดเร็ว แล้วเคลื่อนย้ายด้วยความระมัดระวังให้เมล็ดและช่อข้าวบาร์เลย์หล่นและสูญเสียน้อยที่สุด การทำหญ้าที่ตัดแห้งอาจทำได้โดยการตากแดดทิ้งไว้ในแปลง  ซึ่งวิธีนี้จะทำให้คุณภาพของหญ้าแห้งเปลี่ยนไปตามสภาพภูมิอากาศ

                
3.หญ้าหมัก  หญ้าหมักที่ทำจากต้นข้าวบาร์เลย์นิยมใช้เป็นอาหารสัตว์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวัวควาย ข้าวบาร์เลย์ที่นำมาทำหญ้าหมักที่มีคุณภาพดีจะต้องเป็นข้าวบาร์เลย์ที่มีต้นไม่สูงมาก หญ้าหมักที่ดีจะให้คุณภาพเหมือนกับหญ้าสด  และสามารถเก็บไว้ได้นานพอสมควร

                
4.ตอซังข้าวบาร์เลย์สามารถใช้ได้ดีสำหรับกับสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย เนื่องจากตอซังข้าวบาร์เลย์มีโปรตีนต่ำความสามารถในการย่อยสลายได้ของสัตว์ต่ำและให้พลังงานต่ำ ตอซังข้าวบาร์เลย์จึงเหมาะที่จะใช้ผสมในอาหารสัตว์ชนิดอื่น เพื่อลดอาการท้องอืดของสัตว์ นอกจากนี้การนำตอซังข้าวบาร์เลย์มาเป็นอาหารสัตว์ยังอาจเพิ่มคุณค่าทางอาหารได้โดยการผสมยูเรีย ซึ่งอาจทำได้โดยการผสมน้ำราดลงไปบนกองของตอซังหรือฉีดพ่นลงไป


ข้าวบาร์เลย์กับอาหารมนุษย์
มนุษย์นำข้าวบาร์เลย์มาบริโภคเป็นอาหารตั้งแต่สมัยเริ่มแรกที่ริเริ่มมีวิวัฒนาการของข้าวบาร์เลย์ขึ้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันในสมัยโบราณข้าวบาร์เลย์จัดเป็นธัญญาหารที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนยากจนทาสและทหาร  ปัจจุบันมนุษย์รู้จักเรียนรู้วิธีการแปรรูปข้าวบาร์เลย์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อการบริโภค เช่น การนำเมล็ดไปบดเป็นแป้ง เพื่อทำขนมปัง เค้กและคุกกี้การทำเบียร์ การทำน้ำเชื่อมและน้ำหวานต่าง ๆ การทำผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น การทำแป้งข้าวบาร์เลย์ไปผสมกับแป้งข้าวสาลีเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เป็นต้น (อนุชา, 2533)
                                               

สรุป
ข้าวบาร์เลย์เป็นธัญพืชเมืองหนาวชนิดหนึ่งที่มีการส่งเสริมให้ปลูกในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย  เพื่อทดแทนการนำเข้าธัญพืชเมืองหนาวจากต่างประเทศอีกทางหนึ่งรวมทั้งราคาและผลผลิตอยู่ในอัตราที่สูงต่อผู้ปลูก  ข้าวบาร์เลย์เป็นพืชที่ปลูกและดูแลรักษาง่าย ถ้าหากเกษตรกรเข้าไปดูแลและจัดการทางด้านการให้น้ำ การใส่ปุ๋ย การป้องกันกำจัดวัชพืชและโรคแมลงต่าง ๆ นอกจากนี้ข้าวบาร์เลย์มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและระดับความสูงในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยได้เป็นอย่างดีและข้าวบาร์เลย์สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ และน่าจะเป็นพืชที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรภายหลังหมดฤดูการทำนาได้พืชหนึ่งในอนาคต 




เอกสารอ้างอิง
กฤษฎา สัมพันธารักษ์.มปป.พืชไร่. คณะเกษตรภาควิชาพืชไร่นามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.71 น. 

ประเวศ  แสงเพชร. 2540. ก้าวใหม่ของการพัฒนาข้าวบาร์เลย์.เกษตรพัฒนา. 16(186):29-30. 

วราพงศ์  บุญมา, นริศ  ยิ้มแย้มและธีรเดช  พรหมวงศ์. 2542. พันธุ์และอัตราเมล็ดพันธุ์ข้าว บาร์เลย์ที่เหมาะสมในการปลูกร่วมกับกาแฟในช่วง 1–3 ปีแรก. วารสารเกษตร. 15(3):232 – 238. 

อนุชา  จุลกะเสวี. 2533. ธัญพืช.คณะเกษตรศาสตร์บางพระ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล, ชลบุรี. 118 น. 

ผลการค้นคว้าวิจัยปี2543 พืชสวน พืชไร่ธัญพืชเมืองหนาว Http :// www.doa.go.th / home /Publication / pub / Scientific – 1 – 4 / Scientific – 3 / menu – 3. htm / เข้าถึงเมื่อวันที่   3 rd. December 2002.





หน้าถัดไป (2/2) หน้าถัดไป


Content ©