-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 589 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

นาข้าว






นวัตกรรมสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวอีก"ทางเลือก"ทางรอดชาวนาไทย
 

การสร้างมูลค่าเพิ่ม "ข้าวไทย" ด้วยงานวิจัยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่เพียงการเพิ่มช่องทางการตลาดเท่านั้น ยังเพิ่มโอกาสให้ชาวนาในการขายข้าวได้ราคาที่สูงขึ้นอีกด้วย เห็นได้จากการสัมมนา "นวัตกรรมผลงานวิจัย วช.สร้างมูลค่าเพิ่มข้าวไทยสู่อาหารเพื่อสุขภาพ" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มีการนำเสนอมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในวงการข้าวอย่างหลากหลาย


 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ถือเป็นองค์กรหลักของประเทศในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อส่งเสริมและผลักดันงานวิจัย อันจะนำมาซึ่งการอนุรักษ์และพัฒนาข้าวไทยให้คงคุณค่าและคุณประโยชน์ต่อวงการวิจัยและประเทศชาติ เพราะข้าวนั้นรัฐจะต้องให้ความสำคัญมากกว่าพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เพราะนอกจากจะเป็นพืชที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ยังทำรายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

 "ภารกิจงานวิจัยเรื่องข้าว เราได้ทำในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงพันธุ์ข้าว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าว การวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ รวมไปถึงการวิจัยด้านโภชนาศาสตร์ของข้าว สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยยกระดับสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้แก่ข้าวได้ ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่า การวิจัยด้านข้าวบนพื้นฐานของการบูรณาการจากสหสาขาวิชาจะเป็นแนวทางการพัฒนาชาติให้เดินไปได้ด้วยความมั่นคงและเข้มแข็งในอนาคต" ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งในช่วงเปิดงานสัมมนา

 อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย อดีตอธิบดีกรมการข้าว ที่ปัจจุบันรั้งตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มองว่า ความสำเร็จของข้าวไทยในอดีตนั้นไม่ต่างไปจากปัจจุบัน โดยเห็นจากการได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลกมาแล้วถึง 2 ครั้ง และปัจจุบันข้าวหอมของไทยก็ยังคงครองแชมป์ตลาดข้าวระดับบนมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก แม้ตลาดล่างจะสู้คู่แข่งอย่างเวียดนามไม่ได้ก็ตาม

 "ไทยเราส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ไม่ได้ผลิตมากเป็นอันดับ 1 คุณภาพก็ไม่เป็นสองรองใคร และสามารถทำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทในแต่ละปี ปัจจุบันไทยมีพันธุ์ข้าวมากกว่า 100 สายพันธุ์ มีทั้งพันธุ์ข้าว กข. และข้าวหอม ข้าว กข.นั้นตอนนี้มีถึง กข.43 ให้สังเกตว่า ถ้าเป็นเลขคี่หมายถึงข้าวเจ้า ส่วนเลขคู่จะเป็นข้าวเหนียว" อภิชาติเผยข้อมูลระหว่างอภิปรายในหัวข้อ "มุมมองภาคเอกชนกับการผลิตและตลาดในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้ FTA"

 ซึ่งสอดรับกับข้อมูลของ สมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่ระบุว่า เฉพาะ 5 เดือนแรกของปีนี้ (2553) เวียดนามส่งออกข้าว (ข้าวขาว) แล้วประมาณ 3 ล้านตัน ขณะที่เดือนพฤษภาคม 2553 เพียงเดือนเดียว เวียดนามส่งออกถึง 7 แสนตัน ส่วนปีที่แล้ว (2552) เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 6.5 ล้านตัน ซึ่งต้องยอมรับว่าเวียดนามส่งออกข้าวคุณภาพต่ำหรือข้าวขาวมากกว่าไทยมานานแล้ว เฉลี่ยปีละประมาณ 2-3 ล้านตัน มีเพียงข้าวคุณภาพสูง หรือข้าวหอมมะลิเท่านั้นที่ไทยยังครองอันดับ 1

 "ตลาดหลักของไทยคือแอฟริกา ไม่ใช่ประเทศในอาเซียน จะเห็นว่า ไม่ว่าการประมูลที่ฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย เวียดนามจะชนะตลอด เพราะเวียดนามให้ราคาที่จูงใจกว่า ต้องยอมรับความจริงวันนี้ว่า เวียดนามคือผู้นำการส่งออกข้าวคุณภาพต่ำ แต่ผลผลิตไม่ได้เป็นของเวียดนามทั้งหมด แต่เป็นข้าวเขมรที่ส่งออกในนามเวียดนาม เพราะข้าวเขมรจะส่งไปสีที่เวียดนาม" สมเกียรติเผยข้อมูล

 ขณะที่ บรรจง ตั้งจิตรวัฒนากูล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ยอมรับว่า เทคโนโลยีโรงสีข้าวของประเทศไทยเป็นที่หนึ่งในโลก ไม่มีประเทศไหนสู้ได้ ในขณะที่ผลผลิตข้าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบมาป้อนโรงสีกลับมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งกำลังการผลิตของโรงสีทั้งหมดมีมากกว่าผลผลิตถึง 3 เท่า ยิ่งถ้าเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โอกาสของโรงสีเปลี่ยนมาขายเป็นเศษเหล็กก็ย่อมมีสูงเช่นกัน

 "อย่าลืมว่าโรงสีไม่ได้สีข้าวเปลือกเพื่อเอาข้าวสารอย่างเดียว แต่จะมีโปรดักท์อื่นๆ ตามมาอีกมาก เช่น ได้น้ำมันจากรำข้าว ได้น้ำจมูกข้าว ได้แกลบเพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า และอื่นๆ อีกมากมาย นี่คือผลพลอยได้จากโรงสี ยังไม่ต้องพูดถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ที่ผ่านมารัฐยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับชาวนาเท่าไหร่ กลับไปให้ความสำคัญส่งเสริมปลูกพืชชนิดอื่นแทน อย่างราคาข้าวในตลาดจริงๆ ตอนนี้เหลือแค่ 7,000 ต่อตันเท่านั้นเอง ที่เหลือเป็นเงินชดเชยจากภาครัฐตามโครงการประกันรายได้" อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยกล่าว

 ประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย มองว่า ช่วงที่ราคาข้าวพุ่งสูงก็มีวิกฤติตามมา เนื่องจากต้นทุนการผลิตทั้งค่าปุ๋ยค่ายาเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย แต่พอราคาข้าวตกลงมา ปัจจัยการผลิตเหล่านั้นก็ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย ทำให้เป็นการซ้ำเติมชาวนาอย่างช่วยไม่ได้ อย่าลืมว่าประเทศไทยมีผู้ทำนาปลูกข้าวประมาณ 3.7 ล้านครัวเรือน หรือกว่า 20 ล้านราย หากไม่สามารถแก้ปัญหาให้ชาวนาได้ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้เช่นกัน

 "เคยมีบ้างไหมที่กรมการค้าต่างประเทศไปเจาะตลาดใหม่ๆ เพิ่มบ้าง ไม่ใช่อ้างแต่ทำตามแผนที่วางไว้ ถามว่าเมื่อไม่มีตลาดใหม่ๆ เข้ามา ส่งออกก็ไม่ได้ ชาวนาก็ขายข้าวไม่ได้ราคา มันก็จะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่" นายกสมาคมชาวนาไทยกล่าวทิ้งท้ายอย่างมีอารมณ์
 
 เตรียมจัดใหญ่ "ข้าวแห่งชาติ" ครั้งปฐมฤกษ์

 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผนึกมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขยายความร่วมมือพัฒนาข้าวไทยอย่างครบวงจร พร้อมเตรียมจัดประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติครั้งแรกปลายปีนี้

 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวหลังพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อพัฒนาศักยภาพข้าวไทยอย่างเป็นระบบครบวงจรว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้สนใจพืชตัวนี้มาก โดยพระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวน 5 แสนบาท ให้แก่มูลนิธิข้าวไทยฯ เพื่อนำไปดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือชาวนาและพัฒนาข้าวไทยให้ยั่งยืนและมั่นคงต่อไป เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงกังวลที่สุดคือ ชาวนา ถ้าชาวนาอยู่ไม่ได้ ประเทศก็อยู่ไม่ได้

 "ไม่รู้นะ ชาวนาไทยยังยากจนอยู่ อดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้น ขณะที่ชาวนาโลกเขารวยกันไปหมดแล้ว แน่นอนทั่วโลกเขาให้ความสำคัญเรื่องอาหาร เราเป็นประเทศที่ได้เปรียบที่สุด สงครามคราวหน้าเป็นสงครามแย่งน้ำนะ เรื่องพลังงานมันผ่านพ้นไปแล้ว การทำภาคเกษตรก็หนีไม่พ้นเรื่องน้ำ ที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแล ชาวนาเขาก็ช่วยตัวเองได้ระดับหนึ่งเท่านั้น" ดร.สุเมธกล่าว

 ประธานมูลนิธิข้าวไทยฯ ตั้งข้อสังเกตถึงปัจจัยที่ทำให้ชาวนาไทยยังยากจนว่า มี 3 ปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องประกอบด้วย 1.ระบบการผลิตไม่แน่นอน 2.ระบบการค้าที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ ไม่ลงถึงชาวนาโดยตรง และ 3.การช่วยเหลือจากภาครัฐยังไม่เป็นระบบที่ชัดเจน แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ หรือทำแบบไฟไหม้ฟาง ไม่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

 อย่างไรก็ตาม ในโอกาสที่มูลนิธิข้าวไทยฯ ครบรอบ 10 ปีในปี 2553 นี้ จึงได้ร่วมกับองค์กรในเครือข่ายจัดงานใหญ่ประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติครั้งปฐมฤกษ์ ภายใต้หัวข้อ "ขับเคลื่อนงานวิจัยข้าวไทยสู่นวัตกรรม" ระหว่างวันที่ 14-16 ธันวาคม 2553 นี้ด้วย


ที่มา  :  คม ชัด ลึก









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-06-06 (1310 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©