-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 177 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สิ่งแวดล้อม





ผักสลัด



เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.ธวัชชัย ทีฆชุณหเถียร และ น.ส.ขวัญเกล้า มรรคุวัฒนพงษ์
จัดทำเป็นหน้าเว็บ โดย รศ.ดร. อรรณพ วราอัศวปติ
ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา  
 

ตำบลไทยสามัคคี ปลูกผักปลอดสารพิษได้ผลดีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสารพิษอยู่ 4 กลุ่ม ประมาณ 53 ราย อำเภอวังน้ำเขียว มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 300-400 เมตร เป็นป่าเขา ลอนลูกฟูก ต้นน้ำมูล จึงมีความชุ่มชื้น ดินอุดมสมบูรณ์และอุณหภูมิเย็นสบาย โดยมีปริมาณฝนตกเฉลี่ย 1,249 มม./ปี จำนวนวันฝนตกเฉลี่ย 129.2 วัน/ปี อุณหภูมิต่ำสุดและสูงสุดเฉลี่ย/ปี 16.5 และ 36.0 องศาเซลเซียส จึงมีความเหมาะสมในการปลูกไม้ดอกกึ่งเมืองหนาว ผัก ไม้ผล และเห็ดหอม นับว่าเป็นทุนทางธรรมชาติของชาววังน้ำเขียวที่มีค่าสูงยิ่ง



การปลูกผักสลัดปลอดสารพิษ  
 
ผักปลอดสารพิษที่อำเภอวังน้ำเขียว สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี และได้เปรียบคู่แข่งทางภาคเหนือหลายประการ เช่น ในช่วงฤดูฝน ได้เปรียบในด้านพื้นที่เพราะภาคเหนือพื้นที่เป็นภูเขาสูง และทางซับซ้อน เมื่อฝนตกทำให้ถนนลื่น จึงทำให้มีปัญหาในการขนส่ง บางครั้งขนส่งผักลงจากดอยไม่ได้ ส่วนที่อำเภอวังน้ำเขียวมีการคมนาคมที่สะดวก สามารถขนส่งได้เร็วกว่าและไม่มีปัญหาในการข่นส่ง อีกทั้งยังอยู่ใกล้แหล่งตลาดที่สำคัญ ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้ผักถึงมือผู้บริโภคแบบสดๆ และสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 2 อาทิตย์ และรสชาติยังไม่เปลี่ยนอีกด้วย
 
แต่ในการปลูกผักในหน้าหนาวผักมีขนาดใหญ่เกินไป ซึ่งมีผลต่อการจำหน่ายเนื่องจากลูกค้าปฏิเสธผักที่มีน้ำหนักมากเกินไป จึงต้องมีการตัดบางส่วนทิ้งไปเพื่อให้ได้น้ำหนักที่เหมาะสม แต่ในการปลูกผักหน้าหนาวสามารถปลูกระยะชิดเพื่อให้ผักมีขนาดเล็กลง จะได้น้ำหนักที่เหมาะสมตามที่ตลาดต้องการ
 
ปัจจุบันนี้รัฐบาลได้ส่งเสริมการผลิตผักปลอดสารพิษเพื่อการส่งออกมากขึ้น และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากได้ตระหนักถึงปัญหาสารตกค้างในพืชผัก จึงหันมาบริโภคผักปลอดสารพิษมากขึ้น
 


 1. พื้นที่
- พื้นที่อำเภอ วังน้ำเขียว เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นลอนลูกฟูก อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี มีศักยภาพเหมาะอย่างยิ่งในการทำเกษตรกรรมเมืองหนาว
 - มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม
 - มีการคมนาคมที่สะดวก ซึ่งพื้นที่อยู่ใกล้แหล่งตลาดที่สำคัญคือกรุงเทพฯ จึงทำให้สามารถจำหน่ายผลผลิตไปได้ทั่วทุกภาค และสะดวกรวดเร็ว


 

2. พันธุ์ผักสลัดที่ใช้ปลูก  

  พันธุ์ผักสลัดที่ใช้ปลูกมี 6 สายพันธุ์ ได้แก่ กรีนโอ๊ค, เรดโอ๊ค, เรดลีฟ, บัตเตอร์เฮด, คอส และ สลัดแก้ว ซึ่งทั้ง 6 สายพันธุ์นี้มีการปรับตัวในพื้นที่ดีมาก และ พันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีที่สุดคือ สลัดแก้ว พันธุ์ที่เลือกนี้ตรงกับตามความต้องการของตลาด พันธุ์ที่ตลาดต้องการมากที่สุดได้แก่พันธุ์สลัดแก้ว และ คอส โดยจะทำการสั่งเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นพันธุ์ลูกผสม มาจากอเมริกา กิโลกรัมละ 40,000 บาท มีประมาณ 300,000 เมล็ด ในการสั่งแต่ละครั้งเกษตรกรจะรวมกลุ่มกัน และสั่งโดยตรงจากบริษัทเมล็ดพันธุ์



3. การเตรียมวัสดุเพาะ  

 - วัสดุเพาะกล้า ประกอบไปด้วย แกลบเผา 3 ส่วน ดิน 1 ส่วน ปุ๋ยหมัก(โบกาฉิ) 1 ส่วน
 - และกระบะเพาะกล้าผัก ขนาด 6x17 ช่องจะเพาะได้ประมาณ 108 ต้น หรือกระบะโฟมจะเพาะได้ 90 ต้น
 - เมล็ดพันธุ์ผักที่เพาะได้มีความงอกประมาณ 80 %


 4. วิธีการเพาะกล้าผัก  

 1. นำวัสดุเพาะมาผสมกัน และนำใส่กระบะเพาะ
 2. ใช้ไม้จิ้มกลางหลุมของวัสดุเพาะนำเมล็ดผักหยอดลงในหลุมกระบะ เพาะหลุมละ 1 เมล็ดแล้วกลบด้วยวัสดุเพาะบางๆ
 3. นำกระบะเพาะวางไว้ในร่มรำไร หรือในโรงเรือนแล้วรดน้ำให้ชุ่ม วันละ 2 ครั้ง เวลา 7.00 -8.00 น. และ 15.00-16.00 น.
 4. เมล็ดผักจะงอกหลังหยอดเมล็ด 3-5 วัน หลังจากผักมีใบ 3-5 ใบ หรือ มีอายุประมาณ 20 วัน ให้ย้ายกล้าปลูกลงในแปลง



5. การเตรียมแปลงปลูก  

 - ตรวจสภาพของดินวัดความเป็นกรด-ด่างของดิน ซึ่งระดับที่เหมาะสมคือ 6-6.5
 - ไถดะปรับพื้นที่ให้เรียบและโปร่ง จากนั้นให้ไถซ้ำอีก 2-3 ครั้ง เพื่อให้ดินละเอียดขึ้น
 - ตากดินไว้ 7 วัน เพื่อกำจัดโรคพืชและแมลง
 - ขุด,ถอน,และกำจัดพืชที่ไม่ต้องการออก
 - หว่านปูนขาวเพื่อปรับสภาพความเป็นกรดของดิน 100-200 กก./ไร่
 - ยกแปลงขนาด 1.20 x 40 เมตร ยกร่องสูง 50 เซนติเมตร
 - หว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1-2 ตัน/ไร่เพื่อเพื่อความร่วนซุยและไถพรวนอีกครั้งหนึ่ง
 - ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินให้เหมาะสมกับการปลูกผัก อัตรา 50 กก./ไร่
 - คลุมด้วยฟางข้าวแห้งเพื่อรักษาความชื้น 1 แปลงใช้ประมาณ 3 ก้อน
 - พื้นที่ 1 ไร่ ทำแปลงขนาด 1.2 x 40 เมตร ได้ 20-25 แปลง



6. วิธีการย้ายกล้าปลูก  

 1. รดน้ำแปลงผักที่เตรียมไว้แล้วให้ชุ่ม
 2. ย้ายกล้าผักจากกระบะลงในแปลงแต่ยังไม่ต้องรดน้ำเพื่อไม่ให้ดินอัดแน่นเกินไป เพราะอาจจะทำให้รากขาดอากาศหายใจ
 3. รดน้ำแปลงผักให้ชุ่มอีกครั้งในตอนเช้า เพื่อไม่ให้ดินอัดแน่นที่ต้นกล้า
 4. ระยะปลูกผัก 3 - 4 ต้น แล้วแต่ความกว้างของหน้าแปลง ถ้าหน้าแปลงกว้างประมาณ 1 เมตร จะใช้ระยะปลูก 3 ต้น
 5. ควรทำการย้ายกล้าผักในตอนเย็น เพื่อให้ผักพักตัวช่วงกลางคืน และฟื้นตัวเร็วขึ้น
 6. ใน 1 ปีสามารถปลูกผักได้ 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด แต่ไม่ควรปลูกในมากกว่านี้เพราะจะทำให้ดินเสื่อมเร็ว และ ควรมีการพักแปลงอย่างน้อย 1 รุ่น เพื่อให้ดินฟื้นตัว ตัดวงจรศัตรูพืชในดินและปลูกปุ๋ยพืชสด เช่นโสน



7. การดูแลรักษา  

 1. การให้น้ำ
 ไม่แนะนำให้ใช้ระบบฝนเทียมแต่จะใช้แรงงานคนเดินฉีดสายยางตามแปลงเพราะน้ำจากสายยางจะสามารถชะล้างไข่ของแมลงศัตรูพืชที่ติดอยู่ที่ใบลงดินได้ จากนั้นจุลินทรีย์ในดินก็ย่อยกินไข่แมลงศัตรูพืชเหล่านี้
 
นอกจากนี้ผู้ปลูกจะได้ถือโอกาสตรวจแปลงไปในตัวหากมีความผิดปกติก็จะพบเห็นทันที
 - หน้าหนาวรดน้ำวันละ 1ครั้ง เวลา 6.00-7.00 น. ก่อนแดดออก เพราะจะช่วยชะล้างน้ำค้างตอนเช้า ซึ่งน้ำค้างมีฤทธิ์เป็นกรดสามารถทำให้เกิดโรคราน้ำค้างได้ จะเน้นในช่วงหน้าหนาวและหน้ามรสุม
 - หน้าร้อนรดน้ำวันละ 2 ครั้ง ถ้าอากาศร้อนมาก ให้รดน้ำตอนบ่าย เวลาประมาณ 14.00 น. เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในแปลง ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อต้นพืช
 - หน้าฝนถ้าฝนตกก็ไม่ต้องรดน้ำ ถ้าฝนตกมากเกินไปจะทำให้ดินแน่นพืชจะขาดอากาศหายใจ จะต้องใช้ตะขอคุ้ยดินรอบต้นเพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศ 
 
2. การใส่ปุ๋ย
 - ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกหลังจากปลูก 1 อาทิตย์ และอีก 2 อาทิตย์ใส่อีกครั้งหนึ่ง
 - ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 50 กก./ไร่ แบ่งใส่ 2ครั้ง ครั้งแรกหลังจากปลูก 1 อาทิตย์ และอีก 2 อาทิตย์ใส่อีกครั้งหนึ่ง
 - ใช้ปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยน้ำอินทรีย์ อัตรา 30-50 ซีซี.(3-5 ช้อนโต๊ะ) ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน ตั้งแต่เริ่มปลูก (ฉีดช่วงเช้าจะดีที่สุด)



8. โรคและแมลง
- โดยส่วนใหญ่แล้วการเสียหายจากโรคและแมลงทำลายไม่เกิน 10 % จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับการผลิตผักปลอดสารพิษ
 - เมื่อพบโรคและแมลงจะใช้แรงงานคนกำจัด โดยเด็ดใบหรือถอนต้นทิ้ง เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด



9. อายุการเก็บเกี่ยว และ การเก็บเกี่ยว  

 - เรดโอ๊ค อายุเก็บเกี่ยว 45-50 วัน
 - สลัดแก้ว อายุเก็บเกี่ยว 70 วัน
 - เรดลีฟ อายุเก็บเกี่ยว 45 วัน
 - บัตเตอร์เฮด อายุเก็บเกี่ยว 50 วัน
 - คอส อายุเก็บเกี่ยว 55 วัน
 - กรีนโอ๊ค อายุเก็บเกี่ยว 40 วัน
 - การเก็บเกี่ยว ใช้มีดตัดโคนต้นของผักตัดใบแก่ออกแล้ววางใส่ตะกร้า ระวังอย่าให้ผักช้ำ
 - เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ควรพักแปลงทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน และ ทำการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้ดินอุดมสมบูรณ์พร้อมที่จะปลูกผักในครั้งต่อไป



10. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว  

 - ล้างทำความสะอาดผัก
 - ตัดแต่งส่วนที่เน่าเสีย หรือผิดปกติออก แล้วทาปูนแดงที่รอยตัด เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าทำลาย
 - คัดขนาดคุณภาพของผัก ทำการบรรจุในถุงพลาสติก หรือตะกร้า เพื่อการขนส่ง
 - รถที่ใช้รถขนส่งเป็นรถของเกษตรกร เป็นรถห้องเย็นเพื่อป้องกันความเสียหายของผัก และให้ผักสดอยู่ตลอด และการข่นส่ง 1 เที่ยว สามารถบรรจุได้ 500-600 กก. จะส่งทุกสัปดาห์ในวันพฤหัส และอาทิตย์
 - ผักสดสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานถึง 2 สัปดาห์



11. ราคา ขนาด และ ตลาด
- ทุกตลาดราคาขาย อยู่ที่ กก.ละ 30-50 บาท แล้วแต่ฤดูกาล
 - ผักที่มีขนาดใหญ่จะส่งขายให้กับโรงแรมเป็นส่วนใหญ่
 - ผักที่มีขนาดเล็กจะส่งขายให้กับตลาดทั่วๆไป
 

    ตลาด ในปัจจุบัน
  • - ตลาดกลางเสรีเซ็นเตอร์,ซีคอนสแคว์,ตลาด อตก. 300 กก./สัปดาห์
  • - บริษัท GM ตัวแทนโรงแรม จ.ภูเก็ต 300 กก./สัปดาห์
  • - โรงแรมแชงกีรา,โอเรียลเต็ล,คิงสวีท 500 กก./สัปดาห์
  • - โครงการส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 50 กก./สัปดาห์
  • - ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขา บางแค,งามวงศ์วาน,บางกะปิ,และ ดิ เอ็มโพเรียม 400 กก./สัปดาห์
  • - บริษัทดีทแฮม, การท่าเรือ, โรงงานยาสูบ, ตลาดสีลม 100 กก./สัปดาห์

 12. ต้นทุนการผลิต ผลผลิต และ กำไร
ข้อมูลการผลิตผักสลัดปลอดสารพิษโดยเฉลี่ยมี
 ต้นทุนรวมค่าขนส่ง กิโลกรัมละ 12 บาท ราคาขายกิโลกรัมละ 35 บาท กำไร 23 บาทต่อกิโลกรัม
 ใน 1 ตารางเมตร ผลิตได้ 12 ต้น ต้นละ 200 กรัม หรือรวม 2.4 กิโลกรัม
 พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 25 แปลง ขนาด 1.2 x 40 เมตร หรือ 1,200 ตารางเมตร
 ปลูกได้ปีละ 3 ครั้ง รวมผลผลิต 8,640 กิโลกรัมต่อปี รายได้ 302,400 บาท กำไร 198,720 บาท ต่อ ปี ต่อ ไร่



13. ราคาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่สำคัญ 
 - รถไถเล็ก 1 คัน 50,000 บาท
 - เครื่องปั๊มน้ำ 1 เครื่อง 40,000 บาท
 - ตะกร้าพลาสติก ใบละ 170 บาท
 - ถาดเพาะ ขนาด 17x6 ใบละ 35 บาท
 - ปุ๋ยคอก 4 กระสอบราคา 60 บาท
 - ปุ๋ยหมัก(โบกาฉิ) กระสอบละ 45 บาท
 - ฟางข้าวแห้งก้อนละ 45 บาท
 - ปุ๋ย สูตร 46 - 0 - 0 ถุงละ 50 กก. ราคา 650 บาท
 - ปุ๋ย สูตร 15 - 15 - 15 ถุงละ 50 กก. ราคา 550 บาท




เอกสารอ้างอิง

 สำนักงานเกษตรอำเภอวังน้ำเขียว. 2545. แผนพัฒนาการเกษตรตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา.
 นายไกร ชมน้อย. 2546. ติดต่อส่วนตัว. 111 หมู่ 2 ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา 30370. โทรศัพท์ 0-1274-6961


  จัดทำโดย โครงการ "พัฒนาการท่องเที่ยว ตำบลไทยสามัคคี" อำเภอ วังน้ำเขียว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี


หน่วยบริการวิชาการแก่ชุมชน
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • 111 ถนนมหาวิทยาลัย ตำบล สุรนารี อำเภอ เมือง จังหวัด นครราชสีมา 30000
  • โทร. 044-224964   โทรสาร. 044-224965
  หัวหน้าโครงการ
  • ผศ. ดร. ธวัชชัย ทีฆชุณหเถียร
  • โทร. 044-224700   โทรสาร. 044-224700
  • E-mail : thawatch@ccs.sut.ac.th

  Webmaster : วังน้ำเขียวดอทคอม (Wangnamkheo.com)

  • รศ. ดร. อรรณพ วราอัศวปติ
  • โทร. 044-223147 หรือ 09-4249989   โทรสาร. 044-224187
  • E-mail :onnop@ccs.sut.ac.th

http://www.wangnamkheo.com/vegtech01.htm









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-16 (1963 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©