-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 327 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สิ่งแวดล้อม






ผักปลัง



ในบรรดาผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยที่มีมากมายนั้น ผู้เขียนรู้สึกผูกพันมากเป็นพิเศษเพียงไม่กี่ชนิด ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป เมื่อนำผักที่รู้สึกผูกพันเป็นพิเศษเหล่านั้นมาพิจารณาดูก็พบว่า เป็นผักที่มิได้มีคุณสมบัติดีเด่น หรือเป็นที่นิยมกันทั่วไปแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะเข้ามาเกี่ยวข้องกับช่วงหนึ่งของชีวิตผู้-เขียนและทำให้เกิดความประทับใจในคุณสมบัติบางประการที่ไม่มีในผักชนิดอื่น หากความประทับใจนั้นเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็ก คุณสมบัติที่ทำให้ประทับใจก็อาจเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าสำหรับผู้ใหญ่ แต่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับเด็ก เช่น คุณสมบัติในการนำมาประกอบการเล่นสนุกตามประสาเด็กๆ เป็นต้น ผู้เขียนมีความประทับใจจนเป็นความผูกพันกับผักพื้นบ้านที่เรียกว่า ‘ผักปลัง’ ก็เพราะนำมาใช้ประกอบการเล่นตั้งแต่ตอนเด็กนั่นเอง

                                                                   

ผักปลัง : มีทั้งขาวและแดง
พืชที่คนไทยเรียกผักปลังนั้นมีอยู่ ๒ ชนิด คือ ผักปลังขาว ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Basella alba Linn. และผักปลังแดง ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Basella rubra Linn. อยู่ในวงศ์ Basellaceae จะเห็นได้ ว่าทั้งผักปลังขาวและผักปลังแดงต่างก็อยู่ในวงศ์และสกุล(Genus)เดียวกัน อีกด้วย ดังหัวเรื่องที่ผู้เขียนใช้คำว่า “ล้วนเทือกเถาเดียวกัน” คำว่า “เทือกเถา” ตัดเอามาจากสำนวนเต็มคือ “เทือกเถาเหล่ากอ” ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ อธิบายว่า หมายถึง “เชื้อสายวงศ์ตระกูลที่สืบเนื่องต่อกันมา” ทั้งผักปลังขาวและผักปลังแดงต่างก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ โดยเฉพาะต่างก็มีลักษณะเป็น “เถา” อีกด้วย

ทั้งผักปลังขาวและผักปลังแดง มีลักษณะร่วมกันคือ เป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นและใบอวบน้ำ ขึ้นพาดพันรั้วหรือค้าง ใบรูปร่างคล้ายใบพลูแต่เล็กกว่านิดหน่อย ดอกสีแดงอ่อน ผลติดเป็นช่อ ผลขนาดเล็ก ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกสีม่วงดำ

ผักปลังพบขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามที่รกร้างว่างเปล่าที่น้ำไม่ท่วม สันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของผักปลังอยู่ในทวีปแอฟริกาและเอเชียเขตร้อน จึงอาจนับได้ว่าผักปลังเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอีกชนิดหนึ่ง

ความแตกต่างระหว่างผักปลังขาวและผักปลังแดงคือ ลำต้นและใบของผักปลังขาวมีสีเขียว ส่วนผักปลังแดงมีลำต้นและใบสีม่วงแดง

ชื่อภาษาอังกฤษของผักปลังคือ Malabar Nightshade และ Ceylon Spinach น่าสังเกตว่า Malabar เป็นชื่อชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย และ Ceylon คือชื่อประเทศศรีลังกา แสดงว่า ชาวอังกฤษคงพบเห็นผักปลังครั้งแรกแถบประเทศอินเดีย และเกาะศรีลังกา ที่เป็นเมืองท่าติดต่อกับชาวตะวันตก

ส่วนชื่อผักปลังในประเทศไทยนั้นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ใช้คำว่า “ผักปลัง” ซึ่งคำว่า “ปลัง” นั้นไม่มีความหมายอื่น แต่ ในหนังสือเล่มอื่นๆ เช่น THAI-ENGLISH DICTIONARY ของพระอาจวิทยาคม (George Bradley McFarland) ฉบับ Stanford University Press (1969) หนังสือประมวลสรรพคุณยาไทยว่าด้วยพฤกษชาติ วัตถุธาตุ และสัตว์วัตถุนานาชนิด ของสมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ สำนักวัดพระ- เชตุพนฯ พระนคร (พ.ศ. ๒๕๑๐) และหนังสือพืชสมุนไพรของนิจศิริ เรืองรังษี และพยอม ตันติวัฒน์ สำนักพิมพ์โอเดียน สโตร์ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ต่างก็ใช้เขียนว่า “ผักปรัง” (สะกดด้วย ร.เรือ) ทั้งสิ้น คำว่า ‘ปรัง’ ในภาษาไทยใช้เรียกนาที่ทำ ในฤดูแล้งว่า ‘นาปรัง’ เป็นคำนาม มาจากภาษาเขมรว่า ‘ปรัง’ หมายถึง ฤดูแล้ง อีกความหมายหนึ่งเป็น คำวิเศษณ์แปลว่า เกินเวลา เกินกำหนด เป็นคำไทยแท้

เมื่อพิจารณาจากความหมายแล้ว น่าเป็นไปได้ว่า คำว่า ‘ผัก ปลัง’ น่าจะเขียนว่า ‘ผักปรัง’ มากกว่า เพราะน่าจะหมายถึงผัก ฤดูแล้ง (ตามศัพท์เขมร) เพราะผักปลังมีลำต้นอวบน้ำ สามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี เช่นเดียวกับพืชอวบน้ำอื่นๆ (เช่น หางจระเข้, ป่านศรนารายณ์, พืชตระกูลกระบองเพชร ฯลฯ) อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ขอให้ผู้รู้นำไปพิจารณาก่อน ระหว่างที่ยังไม่มีข้อยุติก็คงต้องใช้ “ผักปลัง” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ไปก่อนอย่างเป็นทางการ

ชื่อผักปลังที่ใช้เรียกในประ-เทศไทยมี ผักปลัง ผักปลังใหญ่ ผักปลังขาว ผักปลังแดง (ภาค กลาง) และผักปั๋ง (ภาคเหนือ)



ผักปลังในฐานะผัก
ในฉบับที่แล้วนำเสนอเรื่องกระเจี๊ยบ(เขียวและแดง) ในตอนนี้เสนอเรื่องผักปลัง(ขาวและแดง) เพราะทั้งกระเจี๊ยบและผักปลังเป็นผัก ที่มีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งร่วมกันที่หาได้ยากในผักชนิดอื่นๆ นั่นคือ เป็นผักที่มีเมือก (Mucilage) มากเป็นพิเศษ เมื่อนึกถึงกระเจี๊ยบ (เขียว)และผักปลัง(ทั้งขาวและแดง) ผู้อ่านที่เคยกินก็คงจะนึกถึงเมือกลื่นๆ ของผักทั้ง ๒ ตระกูลนี้ทันที น่าแปลกที่กระเจี๊ยบเขียวและผักปลังมีความแตกต่างกันทางพฤกษศาสตร์มาก เช่น ต่างวงศ์ ลักษณะต้น (ยืน ต้นไม้เถาเลื้อย) ส่วนที่ใช้บริโภค (ผลอ่อน ยอดและใบ) แต่กลับได้ผักที่มีเมือกมากเหมือนกัน

ส่วนของผักปลังที่ใช้เป็นผักคือส่วนยอด ใบ และดอกอ่อน ส่วนมากใช้เป็นผักจิ้ม โดยทำให้สุกเสียก่อน นอกจากนี้ยังนิยมนำไปใช้แกงส้มอีกด้วย ผักปลังนับเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงชนิดหนึ่ง เพราะมีธาตุเหล็กและแคลเซียมอยู่สูง นอกจากนี้ยังมีวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี อยู่มากด้วย สำหรับเมือกที่มีอยู่ในผักปลังนั้นมีคุณสมบัติเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยให้ท้องไม่ผูก

ประโยชน์ด้านอื่นๆของ ผักปลัง
ผักปลัง มีคุณสมบัติทางสมุนไพรหลายอย่าง นอกจากใช้เป็น ยาระบายอ่อนๆแล้ว ยังมีปรากฏในตำรายาไทยแผนโบราณ ดังนี้
ต้น : แก้พิษฝีดาษ
ใบ : แก้กลาก
ดอก : แก้เกลื้อน
ราก : แก้มือเท้าด่าง แก้รังแค แก้พรรดึก (ก้อนอุจจาระที่แข็งกลม)

ประโยชน์ของผักปลังสำหรับเด็กๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น คือนำมาประกอบการเล่น ส่วนที่ใช้คือผลแก่ที่มีสีม่วงเข้มหรือดำ ภายในผลจะมีเนื้อและน้ำสีแดงเข้ม น้ำสีแดงในผลผักปลังสุกนี้ เด็กๆนำไปเล่นได้หลายอย่าง เช่น ใช้ทาหน้า ทาปากก็ติดทนดี เมื่อเล่นลิเกหรือละครต่างๆ นิยมใช้มาก หากเล่นทำครัวหรือขายของก็นำไปย้อมสี หรือนำไปผสมน้ำใช้แทนหมึก(แดง)เขียนหนังสือได้ดี

สำหรับผู้ใหญ่ยุคไอเอ็มเอฟ ซึ่งทางการส่งเสริมให้ปลูกพืชผักสวนครัวเอาไว้บริโภคเองในครัวเรือนเหมือนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็น่าจะเลือกผักปลังเป็นผักที่ปลูกในแปลงสวนครัวอีกชนิดหนึ่งด้วย เพราะนอกจากเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงแล้ว ยังเป็นผักที่ใช้ปลูกและดูแลรักษาง่ายอย่างยิ่ง สามารถเก็บมากินได้ตลอดทั้งปี และยังใช้ปลูกตามริมรั้วหรือขึ้นร้านเป็นไม้ประดับได้ โดยเฉพาะหากปลูกทั้งผักปลังแดงและขาวด้วยกันจะให้สีสันยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อผู้เขียนเดินทางไปประเทศศรีลังกาพบว่า ชาวศรีลังกานิยม ปลูกผักปลังไว้ในสวนครัวมาก นับเป็นผักยอดนิยมอย่างหนึ่งของชาวศรีลังกาทีเดียว(เช่นเดียวกับใบ บัวบก) ผักปลังของศรีลังกามีขนาดลำต้น ใบ และยอดโตกว่าผักปลังพันธุ์ของไทยมาก และพบแต่สีเขียว(ผักปลังขาว) ระยะหลังๆ ผู้เขียนพบว่าผักปลังพันธุ์ใหญ่เช่นเดียวกัน ที่พบในประเทศศรีลังกา ก็มีผู้นำมาปลูกในประเทศไทยกันบ้างแล้ว บางท่านก็เรียกว่าพันธุ์ไต้หวัน ไม่ทราบว่านำเข้ามาจากไต้หวันหรือไม่ แต่ลักษณะเช่นเดียวกับพันธุ์ศรีลังกานั่นเอง

มีคนไทยที่เคยชิมรสชาติของผักปลังพื้นฐานของไทยและพันธุ์ใหญ่จากต่างประเทศ วิจารณ์ว่ารสชาติผักปลังของไทยดีกว่า ผู้เขียนยังไม่ยืนยันข้อนี้ เพราะรสชาตินั้นขึ้นอยู่กับรสนิยมซึ่งถือเป็นยุติไม่ได้ ดังนั้นจึงอยากขอแนะนำให้ผู้อ่านปลูกทั้งพันธุ์ไทย (ผักปลังขาวและผักปลังแดง) และหากหาพันธุ์ต่างประเทศได้ ก็น่าจะลองปลูกควบคู่กันไป แล้วจึงตัดสินด้วยตนเองว่าชอบพันธุ์ไหนมากกว่า

ที่มา :  มูลนิธิหมอชาวบ้าน




"ผักปลัง" จากผักพื้นบ้าน สู่ผักเศรษฐกิจ "เงินแสน"
พื้นที่เกษตรกว่า 15 ไร่ ริมถนนแจ้งสนิท ต.นิเวศน์ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด ของ คงศักดิ์ นาคคุ้ม กลายเป็นแปลงเกษตรที่เพื่อนเกษตรกรให้ความสนใจแวะเยี่ยมชมไม่ขาดสาย


หลังเจ้าของได้นำ "ผักปลัง" ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านมาปลูก และพัฒนาจนเป็นผักที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค ทั้งในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง


คงศักดิ์ กล่าวว่า แปลงเกษตรของตัวเองนี้ปลูกผักหลายชนิด มีทั้ง คะน้า กะหล่ำปลี แต่ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ขณะนี้คือผักปลัง ผักพื้นบ้านที่เกือบจะศูนย์หายไป แต่เพราะได้รับทราบจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า "ผักปลัง" ซึ่งเป็นไม้เลื้อยที่ชาวเหนือเรียกผักปั๋ง เป็นผักที่มีรสหวานเนื้อนุ่ม กินได้ทั้งยอดอ่อน ใบอ่อน และดอก จึงได้นำเมล็ดผักนี้มาปลูกเมื่อปี 2547


"ผักปลังมีคุณค่าทางอาหารมากมาย มีแคลเซียม 40 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 40 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 2.866 ไมโครกรัม วิตามินเอ 478 ไมโครกรัม ช่วยบำรุงสายตา และฟันให้แข็งแรง" เจ้าของแปลงเกษตรเล่าถึงที่มาของการปลูกผักปลัง ซึ่งเขามองว่าเป็นผักพื้นบ้าน แต่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง


พร้อมอธิบายถึงวิธีการปลูกว่า ปลูกด้วยเมล็ดจะมีอายุดีกว่าการปักชำ เริ่มจากเพาะเมล็ดในกระบะราว 2 เดือน จากนั้นนำกล้าไปปลูกในหลุมที่ขุดเตรียมไว้ขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ระยะปลูกที่เหมาะสม 80X80 เซนติเมตร ปรับปรุงให้ดินร่วนซุย รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก และแกลบดำเพื่อรักษาความชื้น จากนั้น 15 วัน ควรเสริมด้วยปุ๋ยชีวภาพประมาณ 1 ช้อนโต๊ะต่อหลุม โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกใบ เพราะจะทำให้ใบเสีย และจะทำให้คุณภาพราคาตกต่ำ


"ผักปลังเป็นพืชอวบน้ำ ต้องการความชื้นอย่างต่อเนื่อง แกลบดำจะช่วยให้ระบบรากเจริญเติบโตเร็วทำให้ต้นอวบ หลังการปลูก 15-20 วัน ก็เด็ดยอดได้ทันทีไม่ต้องปล่อยให้เลื้อย การตัดยอดให้สูงจากดิน 25-30 เซนติเมตร ราคาส่งขั้นต่ำกิโลกรัมละ 50 บาท ขณะนี้ทางเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ส่งเสริมให้เพื่อนเกษตรกรปลูกกันมากขึ้น อย่างช่วงฤดูหนาวผักปลังจะขาดตลาดมาก" คงศักดิ์ แจงและกล่าวถึงช่องทางการตลาดว่า ขณะนี้ผักปลังที่แปลงได้ส่งจำหน่ายเซเว่นอีเลฟเว่นด้วย โดยแต่ละปีสามารถสร้างรายได้กว่า 3-4 แสนบาท


พร้อมกันนี้ คงศักดิ์ ได้กล่าวฝากถึงเพื่อนเกษตรกรที่สนใจจะปลูก ตลอดจนผู้ต้องการเข้ามาศึกษาดูงานที่แปลงก็ให้ไปเยี่ยมชมได้ที่แปลงเกษตร ยินดีต้อนรับและพร้อมให้รายละเอียดกับทุกท่าน



ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก
http://www.komchadluek.net/2008/01/09/b001_184704.php?news_id=184704









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-16 (2010 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©