-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 367 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สิ่งแวดล้อม







พริกใหญ่

1.พันธุ์ พริกใหญ่ พริกมัน พริกหนุ่ม พริกเหลือง จัดอยู่ในพริกใหญ่ ลักษณะพันธุ์มีขายตามท้องตลาดทั่วไป การปลูกขึ้นอยู่กับพ่อค้า และราคา ส่วนมากจะเป็นลูกผสม จะให้ผลผลิตสูง ราคาดี


2. การเตรียมดิน
โดยทั่วไปจะการขุดดิน หรือไถดินตากแดด 7-10 วัน พรวนดิน ใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย โดยจะขุดหลุม ลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร


3. การเพาะกล้า
เตรียมดิน ย่อยดิน ยกร่อง ตากดิน ใส่ปุ๋ยคอก ปรับหน้าดินให้เรียบ หว่านเมล็ดโดยคลุกสารเคมี และสารป้องกันกำจัดเชื้อรา หว่านอย่าให้หนาแน่นมาก คลุมด้วยฟางแล้ว รดน้ำให้ชุ่ม อายุ 30-35 วัน ก็แยกปลูกได้


4. วิธีการปลูก
จะปลูกแบบร่องสวน ร่องผัก หรือขุดหลุมเป็นแถวๆ ก็ได้แล้วแต่พื้นที่ หรือจังหวัดที่ปลูก ระยะปลูก กว้าง x ยาว ประมาณ 0.75-1 เมตร ให้เว้นทางเดินเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานด้วย


5. การให้น้ำ
ให้น้ำแบบสปริงเกอร์ เรือรดน้ำ สายยาง หรือปล่อยไปตามร่อง พิจารณาปล่อยน้ำเมื่อดินแห้ง และพืชต้องการระยะแรกๆ และระยะติดดอกออกผล


6. การใส่ปุ๋ย
จะพิจารณาการใส่ปุ๋ยเคมีตามสภาพของดิน โดยเมื่อพืชอายุประมาณ 10-15 วัน ตั้งต้นแล้ว ใส่ปุ๋ย 46-0-0 มากๆ/หลุม และอายุ 30 วัน ใส่ปุ๋ย 15-15-15 มากๆ และพิจารณาใส่เมื่อพืชแคระแกรน


7. โรค
โรคที่สำคัญ คือ แอนแทรคโนส หรือโรคกุ้งแห้ง โรคเหี่ยวจากเชื้อรา หรือโรคหัวโกรน ควรพ่นด้วย โปรคลอราช สลับกับ คอปเปอร์ไฮดร๊อกไซด์


8. แมลงศัตร
คือ เพลี้ยไฟ ไรขาว หนอนแมลงวันเจาะผล ควรพ่นด้วย อิมิคาโดลพริด อมิทราช และเบตาไซฟลูทริน


ที่มา  :  กรมวิชาการเกษตร






95. ขอทราบข้อมูลการผลิตพริก

   การเก็บพริกทำพริกแห้ง ควรเลือกเก็บพริกที่แก่จัดสีแดงสดตลอดทั้งผลปราศจากโรคแมลงเข้าทำลาย แล้วรีบไปทำให้แห้งโดยเร็วจะทำให้ได้พริกแห้งที่มีสีสวย และคุณภาพดี การทำพริกแห้งให้มีสีสวยคุณภาพดี มีหลายวิธีดังนี้

   1. การตากแดด คือการนำพริกที่คัดเลือกแล้วนำมาตากแดดโดยตรง แผ่พริกบาง ๆ บนเสื่อหรือพื้นลานซีเมนต์ที่สะอาด โดยตากแดดทิ้งไว้ 5-7 แดด

   2. การอบด้วยไอร้อน คือ การนำพริกเข้าอบด้วยไอน้ำในเตาอบ  โดยวางพริกบนตะแกรง แล้ววางตะแกรงเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ วิธีนี้เหมาะสมสำหรับเกษตรกรที่ปลูกพริกเป็นจำนวนมาก และการทำพริกแห้งในช่วงฤดูฝน

   3. การลวกน้ำร้อน คือ การนำพริกไปลวกน้ำร้อนก่อน โดยลวกนาน 15 นาที แล้วนำไปตากแดดประมาณ 5 แดด วิธีนี้จะทำให้สีของพริกแห้งสวย และไม่ขาวด่าง

   4. การอบพริกด้วยโรงอบพลังแสงอาทิตย์ เป็นวิธีที่ทำให้ได้พริกที่มีคุณภาพสี สีสวย ก้านพริกสีทอง ไม่ดำ สะอาดไม่มีฝุ่นจับอบได้ครั้งละ 400 กิโลกรัม ใช้เวลาประมาณ 3 วัน


http://www.kasetonline.net/newsite/index.php?id=45








ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ

งานพัฒนาการปลูก  พริกเหลือง  เชิงพาณิชย์


ฤดูกาลปลูกพริกของเกษตรกรไทยจะอยู่ในช่วงปลายฤดูฝนต้นหนาว เหตุผลเป็นเพราะว่า เกษตรกรจะใช้พื้นที่หลังการทำนา ทำให้ผลผลิตพริกในฤดูกาลจะออกมาสู่ตลาดพร้อมกันในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ทำให้ผลผลิตเกินความต้องการของตลาดและมีผลทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ แต่การผลิตพริกให้ออกนอกฤดูกาลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม จะพบปัญหาจากหลายประการ อาทิ การใช้พื้นที่นามาปลูกพริกจะประสบปัญหาเรื่องการระบายน้ำที่ไม่ดีพอ หลังจากปลูกไปแล้วไม่ทันเก็บเกี่ยวผลผลิตต้นจะตายก่อน ต้นพริกที่ผ่านช่วงฤดูฝนมีโอกาสเป็นโรคแอนแทรกโนสได้ง่ายมาก หรือแม้แต่โรคพริกอื่นๆ เนื่องจากในฤดูฝนมีความชื้นสูง ทำให้การปลูกพริกในเชิงพาณิชย์ในช่วงฤดูฝนจึงมีความเสี่ยงมากกว่าฤดูอื่น แต่ถ้าผลิตพริกนอกฤดูกาลได้ประสบผลสำเร็จ ย่อมสร้างรายได้ดีกว่าการผลิตพริกในฤดูกาลอย่างแน่นอน

ในบรรดากลุ่มพริกใหญ่หรือพริกชี้ฟ้าทั้งหลาย เมื่อแบ่งตามสีของผลจะมีอยู่หลายสีและที่รู้จักกันดีคือ กลุ่มสีเขียว ซึ่งมีตั้งแต่เขียวอ่อน เขียวเหลือง และเขียวเข้ม เป็นต้น ในขณะที่พริกใหญ่ที่มีสีเหลืองจะเป็นกลุ่มที่หายากและมีราคาแพงที่สุด ในขณะที่ความต้องการบริโภคพริกเหลืองของคนไทยยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเมื่อนำมาประกอบอาหารจะได้สีและรสชาติที่มีความหอมเฉพาะตัว ในบางช่วงราคาของพริกเหลืองที่มีวางขายในท้องตลาดจะสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท ปัจจุบันพันธุ์พริกเหลืองที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปจะเป็นพันธุ์พริกเหลืองบางบัวทอง แต่มีจุดอ่อนตรงที่ไม่ค่อยทนทานต่อโรคและผลผลิตต่อไร่ต่ำ ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร กรมวิชาการเกษตร ได้ปรับปรุงพันธุ์พริกเหลืองโดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพริกพันธุ์ พจ.013 (ผลสีส้ม) กับพริกพันธุ์ พจ.07 (ผลสีเขียวอ่อน) และได้คัดเลือกให้เป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา จนได้พันธุ์พริกเหลืองที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพริกเหลืองบางบัวทอง พริกเหลืองพันธุ์ใหม่ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตรปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่นั้น มีลักษณะที่ดีเด่นกว่าพริกเหลืองบางบัวทองตรงที่มีขนาดของผลใหญ่ เรียวยาวกว่า และให้ผลผลิตสูงกว่า ปัจจุบันทางแผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร ได้นำพันธุ์พริกเหลืองมาปลูกและปรับปรุงพันธุ์เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรได้ปลูกต่อไปในอนาคต

การเตรียมพื้นที่ปลูกพริกเหลือง
สำหรับเกษตรกรที่เริ่มต้นปลูกพริกในที่ดินใหม่จะต้องเก็บตัวอย่างดินไปตรวจวิเคราะห์อย่างน้อยที่สุดควรตรวจค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน ดินที่เหมาะต่อการปลูกพริกควรมีค่า pH=6.0-6.8 ถ้าสภาพดินเป็นกรดจะต้องมีการปรับสภาพของดินโดยใช้โดโลไมต์หรือปูนขาว ซึ่งจะใส่ในแต่ละครั้งเฉลี่ย 300 กิโลกรัม ต่อไร่ ก่อนที่จะไถดินให้ใส่ปุ๋ยคอกอย่างน้อยไร่ละ 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน เมื่อไถดินเสร็จให้ตากดินทิ้งไว้นาน 3-7 วัน

หลังจากตากดินเสร็จก็จะเป็นขั้นตอนของการยกแปลงปลูก โดยแปลงปลูกควรจะสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ความยาวของแปลงขึ้นกับสภาพพื้นที่ แต่ความยาวของแปลงไม่ควรเกิน 50 เมตร ในการขึ้นแปลงจะใช้รถไถดินผาล 7 ขึ้นแปลงไป-กลับ 4 รอบ เมื่อขึ้นรอบที่ 5 ให้ใช้เกรดรถไถปรับหลังแปลงให้เรียบเป็นแปลงพริก (ไม่ต้องเสียเวลาใช้แรงงานคน) จากนั้นอาจจะปูพลาสติคและวางสายน้ำหยดหรือจัดระบบการให้น้ำตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่


เทคนิคในการเพาะเมล็ดพริกเหลือง
ในสภาพความเป็นจริงในการเพาะเมล็ดพริกมีอยู่หลายวิธี แต่ขั้นตอนสำคัญลำดับแรกที่เป็นคำแนะนำที่สำคัญของทางราชการก็คือ จะต้องนำเมล็ดพันธุ์พริกมาแช่ในน้ำอุ่น วิธีการทำน้ำอุ่น ใช้น้ำร้อนเทลงไปในภาชนะก่อน 1 ส่วน และเทน้ำเย็นลงไปอีก 1 ส่วน (วิธีการทดสอบอุณหภูมิของน้ำ ใช้มือจุ่มลงไป ถ้ามือของเราพอที่จะทนได้ เป็นอันว่าน้ำอุ่นของเราใช้ได้) แช่เมล็ดพริกในน้ำอุ่นนาน 30 นาที แล้วเอาเมล็ดพริกมามัดไว้ในผ้าขาวบาง บ่มเมล็ดพันธุ์พริกไว้ 1 คืน นำไปเพาะต่อไป

การเพาะเมล็ดพริกที่เกษตรกรไทยนิยมปฏิบัติกันจะแบ่งออกได้ 3 วิธี คือ หยอดเมล็ดลงในถาดเพาะโดยตรง ซึ่งจัดเป็นวิธีการที่ง่ายและสะดวกที่สุด หว่านในตะกร้าพลาสติคที่ใช้ทรายเป็นวัสดุปลูก แนะนำให้ใช้ทรายขี้เป็ดชนิดหยาบเป็นวัสดุเพาะ ขั้นตอนสำคัญจะต้องนำทรายไปต้มเพื่อฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน รอให้ทรายเย็นลงแล้วนำมาใส่ในตะกร้าพลาสติค (อย่าลืมรองก้นตะกร้าด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์) หลังจากหว่านเมล็ดพริกลงตะกร้าแล้วให้กลบด้วยปุ๋ยหมักอินทรีย์ หรือขุยมะพร้าวที่ร่อนเอากากออกแล้ว และพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อราเพื่อป้องกันโรคโคนเน่า รดน้ำอย่าให้แฉะจนเกินไป เพราะจะทำเมล็ดพริกเน่าได้ สำหรับการเพาะเมล็ดพริกในฤดูร้อนหลังจากเพาะไปได้ 7-10 วัน ย้ายต้นกล้าลงถาดหลุม แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 วัน ถึงจะย้ายต้นกล้าลงถาดหลุมได้เพื่อย้ายลงปลูกในแปลงต่อไป และวิธีการสุดท้าย ใช้แปลงเพาะ เป็นวิธีการที่เกษตรกรไทยนิยมมากที่สุด เนื่องจากประหยัดต้นทุนการผลิต ขนาดของแปลงเพาะมีความกว้าง 2 เมตร ความยาว 5-10 เมตร เริ่มต้นจากการขุดพลิกดินและตากดินไว้นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ย่อยดินให้มีขนาดเล็กลง ใส่ปุ๋ยคอกเก่าหรือปุ๋ยหมักอินทรีย์ อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อแปลง คลุกเคล้าดินกับปุ๋ยให้เข้ากันจนร่วนซุย เกลี่ยดินให้เรียบ นำเมล็ดพริกมาเพาะ โดยใช้อัตราพริก น้ำหนัก 50 กรัม ต่อพื้นที่ปลูกพริก 1 ไร่ จะต้องโรยเมล็ดให้ลึกประมาณ 0.5 เซนติเมตร เป็นแถวตามความกว้างของแปลง แต่ละแถวห่างกันประมาณ 10 เซนติเมตร เสร็จแล้วให้กลบดินบางๆ ให้เสมอผิวดินเดิมแล้วใช้ฟางข้าวคลุมแปลงเพาะบางๆ รดน้ำที่ผสมสารป้องกันและกำจัดเชื้อรา เมื่อเห็นต้นกล้างอกขึ้นมาเหนือพื้นดิน ค่อยๆ ดึงฟางออกให้บางลง เพื่อต้นกล้าจะได้เจริญเติบโตได้ดี เมื่อต้นกล้ามีจำนวนใบจริง 4-5 ใบ จะต้องพ่นสารป้องกันและกำจัดแมลงร่วมกับสารเคมีป้องกันโรคโคนเน่าอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ต้นกล้าพริกที่มีอายุเฉลี่ย 25-30 วัน มีความสมบูรณ์และต้นแข็งแรง ไม่มีโรครบกวน ให้ย้ายลงปลูกในแปลงได้


การใช้ปุ๋ยในการปลูกพริกเหลือง
ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่มีความจำเป็นในการปลูกพริกทุกครั้ง ใส่เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินช่วยให้ร่วนซุย จะใส่ปุ๋ยหมักอินทรีย์รองก้นหลุมก่อนปลูกพริก ปุ๋ยเคมี ทางดินจะให้อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง สูตรที่ใช้ยืนพื้นคือ สูตร 25-7-7 เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของต้นและใบ ซึ่งจะใช้สลับกับสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 หรือ 19-19-19 อาจจะบวกปุ๋ยบางสูตร เช่น แคลเซียมไนเตรต (สูตร 15-0-0) เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดธาตุแคลเซียม หมั่นสังเกตต้นพริกที่ให้ผลผลิตดกเกินไป อาจจะพบอาการขั้วนิ่ม ปลายผลเหลืองและร่วง หรือที่หลายคนเรียกกันว่า อาการ "กุ้งแห้งเทียม" แสดงว่าต้นพริกขาดธาตุแคลเซียม


ระบบการให้น้ำพริกเหลือง
เป็นพืชที่มีความต้องการน้ำสม่ำเสมอ แต่พริกมีนิสัยไม่ทนต่อน้ำท่วมขังเลย การให้น้ำพริกมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้งบประมาณ ความสะดวก ประสิทธิภาพ และสภาพพื้นที่ปลูก แต่ในการปลูกพริกในเชิงพาณิชย์นั้น ถ้าปลูกในสภาพแปลงที่มีพื้นที่ราบเรียบ (ไม่มีเนินเขา) จะเลือกระบบการสูบน้ำด้วยการปล่อยน้ำเข้าในร่องแปลงก็เพียงพอแล้ว ซึ่งเป็นวิธีการที่เกษตรกรไทยที่ปลูกพริกหลังฤดูกาลทำนาปฏิบัติกันอยู่แล้ว ซึ่งไม่มีต้นทุนในเรื่องอุปกรณ์ระบบน้ำ แต่ในการปล่อยน้ำเข้าร่องจะต้องมีการระบายน้ำออกได้ดีด้วย ในแปลงปลูกพริกที่มีสภาพดินปลูกเป็นดินทรายมีปริมาณน้ำน้อย แนะนำให้ใช้วิธีการให้น้ำระบบน้ำหยดจะเหมาะสม ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนค่าอุปกรณ์ระบบน้ำสูง ในพื้นที่ปลูกที่เป็นดินร่วนปนทรายและมีพื้นที่อยู่เนินเขาและมีแหล่งน้ำพอเพียงจะติดตั้งระบบการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์จะประหยัดกว่าระบบน้ำหยด สำหรับการให้น้ำพริกของสวนพริกขนาดใหญ่พบว่า จะใช้หัวสปริงเกลอร์ขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า "Big Gun" ที่มีรัศมีการให้น้ำได้ถึง 1.2 ไร่ ต่อหัว


ใช้แรงงานคนจัดการกับวัชพืช
ใช้ต้นทุนต่ำกว่าการใช้พลาสติคคลุมแปลง

การกำจัดวัชพืชของการปลูกพริกที่ใช้แรงงานคนเหมือนว่าจะเป็นวิธีการที่โบราณและน่าจะใช้ต้นทุนในเรื่องของแรงงานมาก แต่ในบางพื้นที่มีแรงงานราคาถูก หาแรงงานได้ง่าย เมื่อคิดคำนวณพบว่า หากยังใช้แรงงานใน "การทำรุ่น" (กำจัดวัชพืช) โดยจะเริ่มทำครั้งแรกหลังจากย้ายกล้าพริกลงหลุมในแปลงปลูกได้ 15 วัน หลังจากนั้นจะมีการทำรุ่นทุกๆ 15 วัน จนต้นพริกมีอายุได้ 3 เดือน ก็จะหยุดทำรุ่น

เนื่องจากต้นพริกโตพอที่จะบังแดดไม่ให้หญ้าขึ้นได้แล้ว เมื่อคำนวณของค่าใช้จ่ายในการทำรุ่นด้วยการใช้แรงงานคนในพื้นที่ปลูกพริก 1 ไร่ ต่อ 1 ฤดูกาล จะใช้ค่าแรงประมาณ 1,800 บาท ต่อไร่ ในขณะที่ถ้าปลูกพริกด้วยการใช้พลาสติคคลุมแปลงจะมีต้นทุนต่อไร่ประมาณ 3,000-4,000 บาท และการใช้พลาสติคคลุมแปลงปลูกพริกมีข้อจำกัดในเรื่องของระบบการให้น้ำที่จะใช้ได้เพียงระบบน้ำหยดเท่านั้น สำหรับการใช้ยาคุมวัชพืชไม่แนะนำเพราะจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นพริกเหลืองหรืออาจจะพบอาการชะงักการเจริญเติบโต ซึ่งการเตรียมแปลงปลูกพริกในครั้งแรกที่ดีมีส่วนช่วยในการลดปริมาณวัชพืชได้ เช่น ควรตากดินเพื่อทำลายเมล็ดวัชพืชหรือคราดส่วนขยายพันธุ์ เช่น เหง้า ออก ถ้ามีการจัดการในเรื่องวัชพืชในแปลงปลูกพริกไม่ดีจะส่งผลต่อการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพริกด้วย


การใช้สารเคมีในการปลูกพริกเหลือง
เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

การบริหารเรื่องต้นทุนในการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชในการปลูกพริกถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากพริกเป็นพืชที่มีแมลงและโรครบกวนมาก ดังนั้น การใช้สารเคมีในการปลูกพริกจึงเป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่เกษตรกรจะมีการจัดการในเรื่องนี้ได้ดีเพียงใด ที่ไร่ช้างขาวจะมีการตั้งโปรแกรมการฉีดพ่นสารเคมีปราบศัตรูพืชอย่างกว้างๆ เฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง ส่วนความถี่ในการฉีดพ่นจะมากน้อยลงกว่านี้ ขึ้นอยู่กับการสำรวจแมลงและโรคที่เราพบเป็นหลัก เกษตรกรที่จะปลูกพริกให้ประสบความสำเร็จจะต้องมีการศึกษาและหาความรู้ในเรื่องสารเคมีที่ดีพอสมควร


แนวทางในการป้องกันโรคแอนแทรกโนสในพริกเหลือ
เกษตรกรที่มีอาชีพในการปลูกพริกต่างก็ทราบดีว่า เมื่อพบการระบาดของโรคแอนแทรกโนสในแปลงปลูกพริกแล้ว ผลผลิตของการปลูกพริกในฤดูกาลนั้นมีโอกาสที่จะได้รับความเสียหายจนขาดทุนได้ แนะนำว่าการป้องกันเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ถ้าปล่อยให้มีการระบาดแล้วยากต่อการควบคุม สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการเกิดโรคคือ การฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดให้ถูกจังหวะ เกษตรกรจะต้องเป็นคนที่หมั่นสังเกตว่าเมื่อเริ่มมีโรคแอนแทรกโนสเข้ามารบกวน ต้นพริกจะเริ่มแสดงอาการบางอย่างออกมาให้เห็น เช่น เริ่มมีใบจุดเล็กๆ บนใบพริก หรือบริเวณโคนต้น



หนังสือ "อาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม เล่มที่ 6" พิมพ์ 4 สี แจกฟรีพร้อมกับ หนังสือ "อาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม เล่มที่ 1-เล่มที่ 5" รวม 6 เล่ม จำนวน 504 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์มูลค่ารวม 200 บาท (พร้อมระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398



http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05014150254&srcday=2011-02-15&search=no



พงษ์สันต์ เตชะเสน

เพื่อนเกษตรกร ต่อยอด เมล็ดพันธุ์พริกชี้ฟ้า เกษตรกรที่อุบลฯ พิสูจน์แล้ว..."อึด ดก ผลใหญ่"


จังหวัดอุบลราชธานี ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตพริกชั้นดีป้อนสู่ตลาดทั่วประเทศมาช้านาน แต่เกษตรกรผู้ปลูกพริกส่วนใหญ่ ยังประสบปัญหาที่พบบ่อยคือ ไม่ทนทานต่อโรค ผลไม่ดก และไม่ได้น้ำหนักตามที่ตลาดต้องการ แต่เมื่อมีการวิจัยและทดลองนำพริกลูกผสมพันธุ์เรดฮอท TA100 ของบริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด มาปลูก ปัญหาทั้งหมดก็ได้รับการแก้ไข ทำให้เกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกพริกเพียงไร่เศษๆ มีรายได้จากการปลูกพริกปีหนึ่งนับแสนบาท

ความสำเร็จนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร คงต้องลองไปฟัง คุณอุดม สายแวว เกษตรกรคนขยัน แห่งบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 9 ตำบลขี้เหล็ก อำเภอเมือง ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกพริกมานานกว่า 10 ปี

คุณอุดมเล่าว่า อดีตนำพริกพันธุ์พื้นเมืองมาปลูก ซึ่งให้ผลดีเช่นกัน แต่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะมีผลใหญ่เกินไปและเผ็ดมาก ประกอบกับให้ผลห่าง รวมทั้งไม่ทนต่อโรค ทำให้การปลูกแต่ละครั้งไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เช่น ผักบุ้ง พริกหยวก และปลูกข้าว

กระทั่งเมื่อ ปี 2553 ที่ผ่านมา บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด นำพริกพันธุ์เรดฮอท TA100 มาให้ทดลองปลูก โดยขั้นแรกได้นำเมล็ดพันธุ์เพาะลงในถาดประมาณเดือนกันยายน และเมื่อต้นพริกเริ่มโตได้ที่ประมาณเดือนตุลาคม ก็นำกล้ามาลงในหลุมที่ขุดไว้ หลุมละ 2 ต้น เพื่อให้ต้นพริกโตเป็นทรงพุ่มคลุมพื้นที่ ไม่มีวัชพืชมารบกวน รวมทั้งต้นจะไม่สูง จึงไม่มีปัญหาต้นล้มหากเกิดมีลมพัดแรง และยังประหยัดเนื้อที่ใช้ในการปลูก โดยต้นพริกจะปลูกห่างกันประมาณ 10-15 เซนติเมตร

การให้น้ำ 1 ครั้ง ก็เว้นระยะไปอีก 2-3 วัน จึงให้อีกที ส่วนปุ๋ยขี้ไก่ก็ให้ประมาณ 15 วัน ต่อครั้ง โดยช่วงที่ต้องดูแลต้นพริกอย่างใกล้ชิดคือ ช่วงที่ยังเป็นต้นอ่อน ต้องหมั่นตรวจสอบแปลงปลูกไม่ให้ถูกรบกวนโดยศัตรูพืช พร้อมฉีดยาป้องกันจนต้นพริกโตเต็มที่ ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องโรคมารบกวนอีก

สำหรับต้นพริกพันธุ์เรดฮอท TA100 คุณอุดมบอกว่า เมื่อต้นพริกมีอายุได้ประมาณ 60 วัน ก็พร้อมให้ผลผลิต ชนิดเรียกว่าดกเอามากๆ เพราะแต่ละช่วงของก้านจะมีความถี่ของผลพริก ซึ่งลักษณะของลำต้นพริกเช่นนี้ นอกจากให้ผลขนาดสม่ำเสมอกันทั้งต้นตลอดอายุแล้ว ยังมีผลเรื่องน้ำหนักต่อต้นดีเยี่ยม รวมทั้งการแทงยอดต่อเนื่อง ทำให้การเก็บผลผลิตสามารถทำได้ตลอด โดยสวนของคุณอุดมจะเก็บผลผลิตของพริกไล่กันเป็นรุ่น เฉลี่ย 5-6 วัน ต่อครั้ง สวนขนาด 1 ไร่ ที่ปลูกต้นพริกจำนวน 5,000 ต้น จึงให้ผลผลิตเป็นน้ำหนักถึง 1 ตัน ต่อครั้ง

ปัจจุบัน ราคาพริกชี้ฟ้าที่ตลาดรับซื้อในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาท เมื่อหักค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าแรง ค่าปุ๋ย คุณอุดมจะมีรายได้เหลืออยู่ 6 บาท ต่อกิโลกรัม เดือนหนึ่งมีรายได้จากการขายพริกกว่า 20,000 บาท แต่การปลูกพริกที่จังหวัดอุบลราชธานี จะทำกันอยู่ 5-6 เดือน เมื่อฝนมาก็จะหยุด เนื่องจากพริกจะไม่ให้ผลดีเท่าที่ควร เกษตรกรผู้ปลูกพริก จะหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน แต่ผลดีที่ตามมาก็คือ ดินที่เคยใช้ปลูกพริกจะยังคงมีความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ ทำให้การปลูกพืชอื่นเจริญงอกงาม เก็บผลผลิตได้ดี และเมื่อหมดฤดูฝนแล้ว กลุ่มเกษตรกรบ้านทุ่งใหญ่ก็จะกลับมาปลูกพริกสร้างรายได้ให้ครอบครัวกันอีกครั้ง

ทำให้จังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่ภาคอีสานได้ชื่อเป็นดินแดนแห่งพริกที่ราบสูง ซึ่งใช้หล่อเลี้ยงความเผ็ดลิ้นในการปรุงอาหารของทุกครัวเรือนในประเทศไทยมาช้านาน

ทั้งหมดคือ คำบอกเล่าจากเกษตรกรผู้ปลูกพริก ซึ่งเล่าให้ฟังด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มจากผลผลิตที่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย คราวนี้ ลองมาดูผลการวิจัยทดลองทางวิชาการในการปลูกพริกพันธุ์เรดฮอท TA100

คุณภุชงค์ บุณยมณี ผู้จัดการเขตภาคอีสาน บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด เล่าว่า การคิดค้นทำเมล็ดพันธุ์พริกพันธุ์เรดฮอท TA100 เพราะบริษัทมองเห็นความจำเป็นในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพริกที่ตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อให้ผลผลิตของเกษตรกรมีแหล่งรับซื้อไปจำหน่าย

การค้นคว้ายังเน้นเรื่องผลตอบแทนด้านน้ำหนักคือ พริกต้องมีผลดก มีขนาดผลพอดี และให้ผลผลิตให้เกษตรกรเก็บขายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าเป็นพริกพันธุ์พื้นเมือง นอกจากผลไม่ดกแล้ว จะให้ผลใหญ่เฉพาะช่วงแรก และผลจะเล็กลงเรื่อยๆ จนไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

ประการต่อมาคือ ต้องทนต่อโรค เพื่อไม่ให้ผลผลิตที่รอการเก็บเกี่ยวเสียหายจากโรคระบาด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรขาดทุนจากการเพาะปลูกในแต่ละครั้ง ผลจากการทดลองของบริษัทพบว่า พริกพันธุ์เรดฮอท TA100 มีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด เกษตรกรผู้ปลูกได้รับประโยชน์เต็มที่จากการลงทุนเพาะปลูกแต่ละครั้ง

จากการเก็บตัวอย่างของนักทดลองพบว่า ต้นพริกเรดฮอท TA100 ที่มีอายุ 2 เดือน 1 ต้น ให้น้ำหนัก 1.8 กิโลกรัม ส่วนพริกพันธุ์ทั่วไปให้น้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม ต่อต้น ซึ่งให้น้ำหนักต่างกันถึง 3 กรัม ต่อต้น จากน้ำหนักที่แตกต่างกันนี้ ก็คือผลกำไรที่เกษตรกรที่ปลูกพริกพันธุ์เรดฮอท TA100 ได้รับเพิ่มขึ้น

ผู้จัดการเขตภาคอีสาน บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด ยังกล่าวอีกว่า บ้านทุ่งใหญ่ ตำบลขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นับเป็นพื้นที่ปลูกพริกแหล่งใหญ่ที่สุดของจังหวัด นอกจากบริษัทจะให้การสนับสนุนปลูกพริกแล้ว ยังมีการประสานพ่อค้าที่รับซื้อพริกจากจุดต่างๆ ให้มาพบกับเกษตรกรโดยตรง เพื่อให้ราคารับซื้อไม่ต้องผ่านคนกลาง ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นจริงของตลาดในขณะนั้นด้วย

สำหรับเกษตรกรในพื้นที่อื่น สนใจปลูกพริกสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง สามารถโทรศัพท์พูดคุยสอบถามขั้นตอนกระบวนการปลูกพริกให้ได้ผลผลิตดีจาก คุณอุดม สายแวว ที่หมายเลขโทรศัพท์ (087) 956-5082 หรือกลุ่มเกษตรกรอยากได้รับการสนับสนุนก็ลองโทรศัพท์หารือกับ คุณภุชงค์ บุณยมณี ผู้จัดการเขตภาคอีสาน บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด ที่หมายเลขโทรศัพท์ (053) 406-333 (083) 765-7770 ดูนะครับ





http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05032150354&srcday=&search=no









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-16 (3394 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©