-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 396 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สิ่งแวดล้อม




หน้า: 2/4



การเพาะเมล็ดผักหวานป่า

ตุณลุงทองมาก พงษ์ละออ อายุ 67 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านนาข่า ตำบลนาข่า อำเภอมัญจาคีรี  จังหวัดขอนแก่น เป็นวิทยากรเกษตรถ่ายทอดความรู้ในการขยายพันธุ์ผักหวานป่าโดยการทุบราก มานานหลายปี

       
ต้นผักหวานต้นแรกเกิดขึ้นในสวนของคุณลุงเมื่อคุณลุงยังเป็นเด็กเล็กๆ  จากวันนั้นถึงวันนี้ผักหวานต้นนี้ก็ให้ผลผลิตทุกปี ระหว่างเดือนกุมภาพันธุ์-มิถุนายน ขณะนี้อายุน่าจะกว่า 60 ปีแล้ว

       

                     


    
เมื่อเป็นหนุ่ม คุณลุงได้ไถพื้นที่เพื่อปลูกพืชไร่ ผานไถซึ่งเป็นเหล็กได้ไปกระทบกับรากต้นผักหวานนี้  เกิดเป็นแผล และไม่นานก็เกิดต้นอ่อนขึ้นตรงรอยแผลนั้น...คุณลุงจึงค้นพบภูมิปัญญา ขยายพันธุ์ผักหวานโดยการทุบราก เกิดต้นลูก ต้นหลานขึ้นรอบๆต้นแม่ สามารถเก็บผลผลิตได้เป็นกอบเป็นกำ


                      


         
อย่างไรก็ตาม  การทุบราก จะทำได้เฉพาะในสวนที่มีต้นผักหวานเกิดอยู่แล้วเท่านั้นไม่สามารถย้ายต้นอ่อนไปปลูกที่อื่นได้

       
คุณลุงพบทางเลือกใหม่  ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

       
ทุกๆปี ในปลายเดือนเมษายน  จะพบผลสุกของผักหวานเหล่านี้  คุณลุงจึงนำมาเพาะดู  ลองผิดลองถูก จนค้นพบ วิธีเพาะที่เหมาะสม


     
ภาพนี้คะแสดงผลสุกของผักหวานป่า ขนาดเท่าผลมะไฟ คุณลุงจำหน่ายกิโลกรัมละ 150 บาท ( 1 กก มีประมาณ 150 ผล) มีเฉพาะปลายเดือนเมษายนเท่านั้น ใครสนใจจองได้



                     

       
เทคนิคการเพาะเมล็ดผักหวานป่า ทำได้ดังนี้

  1. นำผลสุกมาล้างน้ำ  ขยี้เปลือกและเนื้อของผลเททิ้งให้เหลือเฉพาะเมล็ด  ลักษณะคล้ายเมล็ดบัว
  2. ล้างอีกครั้งโดยน้ำแช่ผงซักฟอก  เพื่อความมั่นใจว่าเนื้อลอกออกไปหมดแล้ว  เพราะเนื้อผลผักหวานมีรสหวาน  เชื้อราชอบ และถ้าเกิดเชื้อราแล้วเมล็ดจะเสื่อมความงอก
  3. นำเมล็ดที่ล่อนแล้วไปผึ่งลมให้แห้ง  สามารถเก็บไว้ได้ 15 วัน (ห้ามโดนแดด)
  4. เตรียมวัสดุปลูก โดยการนำดินจอมปลวกหรือดินเหนียวผสมกับใบไม้ผุเช่นใบไผ่  กับปุ๋ยคอก  อัตราส่วน  ดินผสม : ปุ๋ยคอก  10: 3   แล้วจึงนำดินใส่ในถุงเพาะสีดำ
  5. นำเมล็ดลงปลูก  ไม่นานเมล็ดจะงอกคล้ายถั่วงอก   ผักหวานมีรากเดี่ยว ระวังอย่าให้กระทบกระเทือนเด็ดขาด ไม่งั้นถ้าไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต
  6. คอยดูว่าต้นอ่อนสูงขึ้นไม่เกิน 3 นิ้ว ต้องรีบนำไปปลูก  ถ้าเกินนี้แล้วพบว่ารากจะยาวไปถึงพลาสติกแล้วเมื่อเราดึงถุงออก ปลายรากจึงมักจะขาด

       
เทคนิคนี้คุณลุงแนะนำอย่างไม่หวงวิชา ถ้าสนใจติดต่อคุณลุงนะคะ 081-0593126







แรกกล้าผักหวานป่า

มนุษย์เราดำรงเผ่าพันธุ์ด้วยเพศเป็นหลัก เป็นข้อเท็จจริงที่รับรู้กันโดยทั่วไป เป็นเรื่องปกติ เป็นสัญชาตญาณ ต้นไม้ก็เช่นกัน การเพาะเมล็ด เป็นวิธีขยายพันธุ์พืชโดยอาศัยเพศ ทำให้เราได้ต้นกล้าใหม่ที่เกิดมาจากส่วนของเมล็ด แต่ที่พิเศษกว่านั้น แม้ไม่ต้องใช้เพศ ต้นไม้ก็ขยายพันธุ์ได้ครับ เป็นต้นว่า การตอนกิ่ง ปักชำ ติดตา สกัดราก แยกหน่อ ต่อไหล หรือจะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็นับว่าใช่ ด้วยวิธีเหล่านี้เราจะได้ต้นกล้าใหม่จากส่วนอื่น ๆ ของพืช อันได้แก่ กิ่ง ราก เหง้า ไหล ก้าน ใบ ไปจนถึงลำต้น ไม่ใช่จากเมล็ด พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่ต้องมีการผสมพันธุ์ เอ๊ย! ผสมเกสรตัวผู้กับตัวเมียจนกลายเป็นเมล็ดเพื่อสืบสายขยายพันธุ์นั่นเอง

ในแวดวงไม้ผล การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดไม่เป็นที่นิยม ความที่มักจะกลายสายพันธุ์ เติบโตขึ้นมาผิดแผกไปจากต้นแม่ มีผลให้เกิดความผิดเพี้ยนในแง่ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตได้ค่อนข้างสูง

แต่ข้อดีของการเพาะด้วยเมล็ด ก็คือ เราจะได้ต้นไม้ที่มีระบบรากแก้วที่แข็งแรงและหาอาหารเก่ง จากข้อดีนี่เอง ชาวสวนจึงนิยมเพาะเมล็ดเพื่อใช้เป็นต้นตอในการขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอด ติดตา ต่อกิ่ง แทนการเพาะด้วยเมล็ดโดยตรง

ถ้าสนใจเกี่ยวกับการขยายพันธุ์พืชอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แนะนำให้เข้าไปเรียนรู้จากภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามลิงค์นี้เลยครับ http://web.agri.cmu.ac.th/hort/course/359301/pprop/index1.html

ทีนี้เมื่อขยายพันธุ์กันพอหอมปากหอมคอแล้ว ก็ว่าจะชวนมาแวะบ้านสวนเนิร์สเซอรี่ ไปดูเด็กแรกเกิดกัน ปกติแล้วผมเป็นคนเดินช้า แต่ความเร็วของชีวิตในอัตรานี้ ทำให้ผมทันที่จะได้เห็นการผลิบานของเมล็ดพันธุ์ เห็นการก่อกำเนิดของบางชีวิตในสวนนี้อยู่เนือง ๆ

อันที่จริงแล้วจะเร็วหรือช้าก็ไม่น่าใช่ข้อจำกัดในการมองเห็นความงามของธรรมชาตินะ-ผมว่า ความรีบเร่งนั้นอาจทำให้ภาพพร่ามัว ไม่ชัดเจน แต่ขอเพียงคุณเพ่งอย่างพินิจ ค่อย ๆ ปรับโฟกัสให้ชัดขึ้น เพียงเท่านี้คุณก็สามารถสัมผัสสุนทรียะที่รายล้อมอยู่รอบตัวคุณได้ทุกที่ ทุกเวลา

สำคัญที่ตัวคุณเองว่าอยากจะมองเห็นหรือเปล่า …

ในทุก ๆ วันหรืออาจนับเป็นวินาที บนดาวสีน้ำเงินดวงนี้จะมีชีวิตใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ทั้งคน พืช สัตว์ นับกันไม่หวาดไม่ไหว ลองนึกดูสิครับ ถ้าเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการเริ่มต้นของชีวิต แม้จะไม่ใช่เชื้อสายหรือผู้ให้กำเนิด แค่ได้เอื้อให้เกิดช่วงเวลามหัศจรรย์อย่างนั้น ได้ยืนชื่นชมอยู่ใกล้ ๆ หรือคุดคู้แอบดูอยู่ใต้เตียง ก็ล้วนให้ความรู้สึก ‘ลุ้น’ ได้ไม่แพ้กัน


ผมหมายถึง “การเพาะเมล็ดผักหวานป่า” น่ะครับ



เมล็ดผักหวานป่ากลมรีรูปไข่ จะเริ่มสุกสีออกเหลืองมะปรางราวเดือน เม.ย.-พ.ค. (ภาพนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก อ.ธวัชชัย นาคะบุตร http://naturalagri.multiply.com/ ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)



หลังจากแยกเนื้อที่หุ้มเมล็ดออก หย่อนลงถุงเพาะ ออกแรงกดแค่ปริ่มเสมอดิน อย่าถึงกับมิดเมล็ด รดน้ำพอให้ดินชื้น อย่าให้แฉะ นับวันผ่านประมาณเดือน รากก็เริ่มแทงดิน เหมือนลงเสาหลัก



เมื่อสีเขียวโคนกล้าเริ่มจาง หน่ออ่อนก็ค่อย ๆ สลัดหลุดจากขั้ว ออกมาให้แดดให้ลมช่วยบ่มเพาะ รอเวลากล้าแกร่ง



ทำเป็นลืมไปราวสัปดาห์ ต้นกล้าก็ระบัดใบเขียว … งาม



นอกจากการเพาะเมล็ดแล้ว การขยายพันธุ์ผักหวานป่ายังทำได้อีกหลายวิธี ตั้งแต่การตอนกิ่ง การชำราก ไปจนถึงการล้อมไม้ใหญ่มาปลูกกันเลย แต่การเพาะเมล็ดก็ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดทั้งในแง่ปริมาณจากที่สามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมากในเวลาที่รวดเร็ว และในแง่คุณภาพจากการมีระบบรากแก้วที่ดีกว่านั่นเอง และเผื่อไว้ว่ามีใครสนใจ ก็จะขอเขียนคร่าว ๆ ถึงการขยายพันธุ์ผักหวานป่าแบบอื่น ๆ ให้อ่านกันเพลิน ๆ

“การตอนกิ่ง” ว่ากันว่าเป็นวิธีที่ยากที่สุด เพราะนอกจากจะออกรากยากแล้วยังใช้เวลานาน ๓-๔ เดือนเลยทีเดียว น่าจะมีเหตุผลมาจากธรรมชาติของผักหวานป่าที่มักจะ “หวงราก” นั่นเอง แต่วันนี้ผมมีเคล็ดลับจากเซียนมาฝาก กลั่นจากประสบการณ์กว่ายี่สิบปีในการปลูกผักหวานป่าของ ผู้ใหญ่รับ พรหมมา ผญ.บ้าน หมู่ ๗ ต.หนองบัว อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี … รู้ไว้ใช่ว่านะครับ
 

“…ให้เลือกกิ่งกระโดงอายุข้ามปีหรือกิ่งกระโดงที่แตกใหม่ในปีนั้นกลางอ่อนกลางแก่ก็ได้ ควั่นเปลือก ลอกเปลือก ขูดเยื่อเจริญเหมือนการตอนกิ่งทั่วไป ขั้นตอนนี้ให้สังเกตถ้าเปลือกลอกออกง่ายไม่ติดแก่น กิ่งตอนกิ่งนั้นจะแทงรากเร็ว แต่ถ้าลอกเปลือกออกยาก ก็จะแทงรากช้าหรือไม่แทงรากเลย เมื่อขูดเยื่อเจริญแล้ว ใช้กะปิพอกแผลให้มิด ทิ้งไว้จนกะปิแห้งจึงหุ้มด้วยตุ้มตอนขุยมะพร้าวเหมือนการตอนกิ่งทั่วไป หลังจากนั้นประมาณ ๒ เดือน – ๒ เดือนครึ่ง ตุ้มตอนก็จะแทงรากออกมา

เทคนิคการขยายพันธุ์ด้วยวิธีตอนอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อเห็นว่ารากพัฒนาจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลแล้วเป็นสีเขียว (แก่จัด) ลักษณะอวบอ้วนสมบูรณ์ดี จำนวนเต็มตุ้ม จึงลงมือ “ควั่นเตือนก่อนตัด” เพื่อบังคับให้ยอดของกิ่งตอนกิ่งนั้นหาอาหารจากขุยมะพร้าวในตุ้มตอนขึ้นไปเลี้ยงตัวเอง แทนการรับจากกิ่งใหญ่ต้นแม่ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา ๑-๒ อาทิตย์ หรือจนกว่าจะแน่ใจว่าส่วนยอดของกิ่งตอนกิ่งนั้นได้อาหารจากตุ้มตอนแน่นอนแล้ว จึงตัดลงมาจากต้นแม่

ตำแหน่งควั่นตอนกิ่งสำคัญมาก ต้องเลือกตรงที่เป็นตุ่มใหญ่หรือข้อหรือปม โดยให้แผลบนอยู่ที่ข้อหรือปมนั้น ส่วนขุยมะพร้าวจะต้องผสมกับดินชื้นโคนต้นอัตราส่วน ๑:๑ สวมตุ้มตอนแล้วต้องรัดให้แน่นเพื่อกระชับแผลให้สนิท

เมื่อตัดลงมาจากต้นแม่แล้วให้นำลงชำต่อในถุงดำ โดยที่หลังจากแกะถุงพลาสติกหุ้มตุ้มตอนจนเหลือแต่ขุยมะพร้าวลงถุงดำนั้น จะต้องกดวัสดุเพาะชำในถุงดำให้แน่นจนแน่ใจว่ากระชับรากหรือไม่มีช่องว่าง ถ้ามีช่องว่างหรือไม่กระชับรากจะทำให้รากชะงักการเจริญเติบโตได้ แล้วจึงนำมาอนุบาลในเรือนเพาะชำ แสงแดดไม่เกิน ๓๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ต่ออีก ๒-๓ เดือน หรือให้กิ่งตอนได้แตกใบอ่อนในถุงดำอย่างน้อย ๒-๓ ชุด จนแน่ใจว่าต้นกล้ามีระบบรากเลี้ยงตัวเองได้แล้วจึงนำไปปลูกในแปลงจริง…”


ที่มา: วารสารเกษตรใหม่ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๔๒ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗
  

(หมายเหตุ: ‘กะปิ’ เป็นสารเร่งรากชนิดหนึ่งครับ เป็นภูมิปัญญาไทยที่เกิดจากการสังเกตและทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเห็นผล พวกฮอร์โมนเร่งรากราคาแพงที่ฝรั่งมันทำมาขายแหกตาคนไทยน่ะ ลองชิมดูเถอะครับ…เค็มคาวเหมือนกะปิทั้งนั้น)


อีกวิธีคือ “การชำราก” เหมาะกับผักหวานป่าที่มีอายุเกินกว่า ๑๐ ปีขึ้นไป ไม้ใหญ่วัยฉกรรจ์ขนาดนั้นจะมีระบบรากแผ่ทางข้างไปตามผิวดินเป็นทางยาว ให้เริ่มที่เปิดหน้าดินแล้วตัดรากส่วนที่เป็นรากประธานเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ ๓-๕ นิ้ว นำไปเพาะในถุงดำโดยวางท่อนรากราบไปกับพื้นลึกพอมิด บำรุงรักษาตามปกติ ประมาณ ๑-๒ เดือน ตอรากจะแทงรากใหม่ จากนั้นจึงจะแทงยอดขึ้นมาเป็นต้นกล้า หรือเมื่อตัดรากเป็นท่อนแล้ว ให้ทาแผลด้วยปูนกินหมากเมื่อปูนแห้งจึงกลบดินกลับเหมือนเดิม บำรุงรักษาตามปกติ รดน้ำสม่ำเสมอ ประมาณ ๑-๒ เดือนก็จะมีหน่อผักหวานแทงขึ้นมา เมื่อหน่อโตก็ให้ขุดย้ายมาชำในถุงดำต่ออีก ๓-๔ เดือน จึงนำลงปลูก วิธีนี้เรียกอีกอย่างว่า “การแยกหน่อ”



 



มีเกษตรกรบางคนใช้วิธีเปิดหน้าดินให้เห็นราก จากนั้น “ทุบราก” ให้แตกแล้วกลบดินอย่างเดิม คลุมทับด้วยเศษใบไม้ใบหญ้า รดน้ำตามสมควร หน่อผักหวานก็สามารถแทงขึ้นมาจากรากที่ถูกทุบได้ น่าจะคล้ายกันกับภาพข้างบน เป็นผักหวานป่าในสวนผมเองครับ ไม่แน่ใจว่าโดนหินบาดรากหรือคมมีดตัดหญ้าก็ไม่ทราบได้ วันดีคืนดี หน่อผักหวานก็แทงขึ้นมาให้ตาเห็น พิสูจน์ข้อมูลข้างต้นได้หมดจดสิ้นสงสัย

กับบ้านสวนเอง ที่นี่เราขยายพันธุ์ผักหวานป่าด้วยเมล็ดครับ (อาศัยขอปันจากสวนโน้นบ้าง ขอซื้อจากสวนนี้บ้าง) ความที่อายุต้นยังน้อย ไม่เหมาะที่จะ ขูด ควั่น หั่น สับ เพื่อขยายพันธุ์ได้อย่างไม้ใหญ่ ผมจึงไม่สามารถหาภาพการตอนกิ่งหรือการชำรากมาให้ดูได้ เพราะยังไม่ได้ลองทำกับผักหวานป่าในสวนตัวเอง แต่ถึงแม้วิธีการเพาะเมล็ดจะมีท่วงทีลีลาเบสิกไม่พลิกแพลง แต่เปอร์เซ็นต์ ‘ติด’ ก็สูงเอาการ

สำหรับขั้นตอนการเพาะโดยละเอียดสามารถศึกษาได้จากเอกสาร ผักหวานป่า นะครับ คงไม่ต้องนำมาลงซ้ำในบล็อกนี้อีก


เหมือนเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนอย่างไรชอบกล ถือซะว่าได้ย้อนอดีตไปในวัยเด็ก วันที่ถอดรองเท้าเดินย่ำลุยแปลงเกษตรสมัยประถม จำได้ว่าที่ โรงเรียนผม ไม้พรวนดินเป็นงานแรกที่ครูสั่งให้ทำ เหลาไม้ไผ่ให้เป็นช้อนปากยาว ๆ มีด้ามจับ ของใครของมัน ใช้แล้วเก็บไว้ที่โรงเรือน ไม่ต้องเอากลับบ้าน (คงกลัวเอาไปตีกบาลกัน)

ต่อมาก็เรียนวิธีขึ้นแปลงปลูก สูงเท่านั้น กว้างเท่านี้ ต้องเป๊ะ ลองทำแล้วจำให้ดีเพราะมีสอบ พอได้แปลงแล้วก็เริ่มปลูก ทั้งผักกินหัว-กินใบ ยืนพื้นก็พวก ผักกาด คะน้า แครอท โตขึ้นมาหน่อยก็เรียนเรื่องขยายพันธุ์ ปักชำ ตอนกิ่ง ไปตามเรื่อง ในตอนนั้นอะไร ๆ ก็ไม่เข้าหัวเข้าหูหรอกครับ รู้แต่ว่าเรียนสนุกอย่างเดียว

‘เกษตร’ จึงเป็นวิชาที่ผมชอบมากวิชาหนึ่งในวัยและวันเวลานั้น ความที่ได้ออกมาข้างนอก ไม่ต้องอุดอู้อยู่แต่ในห้องเรียน วิชาเกษตรมักจะอยู่ในคาบเช้า เป็นวิชาแรก ๆ ของวัน อากาศจึงเย็นสบาย เด็ก ๆ ก็ยังสด ยังไม่ถูกทุบให้น่วมจากเลขคณิต วิทยาศาสตร์ หรือภาษาไทย อีกหนึ่งความน่ารักของวิชาเกษตรก็คือ เป็นวิชาที่ ‘ตก’ ยาก ถ้าข้อเขียนไม่ผ่าน ไม่ไหวจริง ๆ ครูก็ไล่ไปถอนหญ้า ปลูกผัก รดน้ำ ล้างพลั่ว ล้างจอบ หาคะแนนพิเศษมาเข็นให้จนผ่าน

แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้รับจากวิชานี้มีอยู่สองอย่างที่จำได้ไม่มีลืม หนึ่ง-ซึ่งใครที่เคยผ่านจะรู้สึกได้ถึงความแสบสันต์ นั่นคือ ตุ่มแก้วใสบนฝ่ามือทั้งสองข้างที่แตกเป็นแผลแสบไส้ เรียกมันว่าความเจ็บปวด สอง-วิชานี้สอนให้แรกรู้สึกถึงความหวานกรอบของผักที่ปลูกและรอยยิ้มแย้มยินดีของพ่อกับแม่ในวันที่เราเอากิ่งที่ตอนเองกับมือไปปลูกที่บ้าน เรียกมันว่าความภาคภูมิใจ


เกษตรในวันนี้ที่ทำให้ชีวิตอยู่สุข ก็คงมาจากวิชาเกษตรในวันนั้นที่สนุกสนาน เรียกมันว่าเป็น ‘แรกกล้าของชีวิต’ ก็คงจะไม่ผิดนัก


………………


ที่เคยเขียน – ที่เกี่ยวข้อง




หน้าก่อน หน้าก่อน (1/4) - หน้าถัดไป (3/4) หน้าถัดไป


Content ©