-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 254 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สิ่งแวดล้อม







ผักหวานบ้าน

 

1. พันธุ์ เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่มีการขยายต่อๆกันมา


2. การเตรียมดิน
ไถดินตากประมาณ 7 วันพรวนดินให้ดินร่วนซุยขุดหลุมใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักประมาณ 2-3 กำมือ คลุกเคล้าให้เข้ากับดินใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตรระยะระหว่างแถว 80 เซนติเมตร รดนํ้าให้ชุ่ม


3. การปลูก
นำกิ่งพันธุ์ที่ได้จากการปักชำลงปลูกในหลุมกลบดินรดนํ้าให้ชุ่มนิยมปลูกเป็นรั้วบ้าน
เช่นเดียวกับกระถินและชะอมปัจจุบันปลูกเป็นการค้าแล้ว


4. การใส่ปุ๋ย
ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่เมื่อผักหวานบ้านอายุได้ 15 วันและทุก ๆ 15 วันใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเดิมในอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่


5. การให้นํ้า
เนื่องจากผักหวานบ้านเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดีแต่หลังจากปลูกใหม่ๆควรให้นํ้าสมํ่าเสมอจนเมื่อผักหวานติดดีแล้วก็เว้นการให้นํ้าได้ส่วนถ้าปลูกเป็นการค้าในฤดูแล้งต้องรดนํ้าทุกๆวันหรือเว้นวันตามสภาพดินฟ้าอากาศ


6. การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่งผักหวานเมื่อผักหวานเจริญเติบโตสูงประมาณ 75-100 เซนติเมตรควรตัดแต่งยอดด้านบนของผักหวานให้มีควมสูงในระดับนี้ตลอดเพื่อสะดวกในการเก็บยอดผักหวาน


7. การเก็บเกี่ยว
หลังจากปลูกผักหวานได้ 2-3 เดือนก็จะเริ่มเก็บยอดอ่อนของผักหวานบ้านนำมาบริโภคได้หรือตัดนำไปขายได้โดยใช้มีดที่คมและสะอาดตัดยอดยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร


8. โรคและแมลง
เนื่องจากผักหวานบ้านไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงจึงไม่จำเป็นต้องพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดจะมีก็ช่วยพ่นปุ๋ยนํ้าหรืออาหารเสริมเพื่อให้ยอดผักหวานยาว ใหญ่ อวบหน้ารับประทาน


ที่มา  :  กรมวิชาการเกษตร





ผักหวานลูกผสมไทย-จีน ปลูกง่าย ได้เงินหวานๆ

ในแวดวงชาวสวนผู้เพาะพันธุ์ไม้จำหน่าย คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักชื่อของ คุณอรุณ ณรงค์ชัย อดีตประชาสัมพันธ์ประจำจังหวัดเชียงราย เพราะในสมัยที่ไปดำรงตำแหน่งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี เขาเคยปลุกปั้นให้ชาวสวนที่นั่นสามารถลืมตาอ้าปากได้ ด้วยการเพาะขยายพันธุ์ไม้จำหน่ายแทนการเก็บเกี่ยวผลผลิตขายเพียงอย่างเดียว และจากประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงพันธุ์ไม้มาเกือบทั้งชีวิต ทำให้เขามองเห็นอนาคตอันสดใสของผักพื้นบ้านชนิดหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะปลูกง่ายแล้ว ยังเก็บเกี่ยวขายได้ราคาดีตลอดทั้งปีด้วย ผักที่ว่านั้นก็คือ ผักหวานลูกผสมไทย-จีน

ปลุกชีวิตพันธุ์ไม้ สร้างรายได้ให้ชาวปราจีนฯ
เราเดินทางมาพบ คุณอรุณ ณรงค์ชัย ณ ร้านปราจีนบุรีรวมพันธุ์ไม้ ตรงข้ามโรงเรียนเมืองเชียงราย ใกล้สี่แยกศรีทรายมูล ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

"ที่ชื่อร้านปราจีนบุรีรวมพันธุ์ไม้ เพราะเดิมทีเมื่อปี 2529 ผมไปรักษาการประจำจังหวัดปราจีนบุรี ช่วงนั้นชาวปราจีนบุรีเอง ยังไม่ค่อยได้เอาพันธุ์ไม้อะไรมาขายกันหรอก ผมก็ได้มีโอกาสช่วยแนะนำ เพราะผมเคยอยู่ที่ตลิ่งชัน พุทธมณฑลมา 16-17 ปี แถวนั้นต้องยอมรับว่าเป็นแหล่งที่ผลิตพันธุ์ไม้มาก่อนใครเขาในประเทศ แต่เนื่องจากยิ่งผลิตพื้นที่ก็เหลือแคบลงๆ เพราะบ้านจัดสรรเต็มไปหมด ผมได้คลุกคลีกับชาวบ้าน ชาวสวน ได้เห็น พอเราย้ายไปปราจีนฯ จึงเอาความรู้ไปเผยแพร่ ก็ได้ผล เพราะนอกจากแนะนำแล้ว เรายังทำข่าวด้วยเพราะเป็นประชาสัมพันธ์ เวลามีการจัดงานวันเกษตร เราจะเชิญผู้สื่อข่าวรายการโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อะไรต่อมิอะไร เอารถบัสไปรับที่สนามหลวงเลย เราจัดแถลงข่าวในสวน เข้ามารับประทานข้าวในสวน เดินดูสวน คือสมัยก่อนเราทำแบบถึงลูกถึงคน"

คุณอรุณ ชิงบอกเราเหมือนจะรู้ว่าเรากำลังจะถามอะไร
"ใหม่ๆ ชาวบ้านไม่รู้ว่าการทำกิ่งพันธุ์ขาย มันดีกว่าการเอาผลผลิตไปขาย แต่ทางที่ดีควรจะมีทั้งสองอย่างพร้อมกัน แต่ว่าการที่เขาทำกิ่งขายมันไม่มีฤดูแล้ง ไม่มีฤดูอะไรต่ออะไร ทำได้ตลอด แต่ว่าผลผลิตนี่บางปีได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ติดบ้าง ไม่ติดบ้าง แต่พอแนะนำไปแค่ปีเดียวเท่านั้น ปรากฏว่าพันธุ์ไม้ปราจีนฯ โด่งดังขายดิบขายดี ชาวสงชาวสวนลืมตาอ้าปากได้ มีสตางค์กัน เพราะตอนนั้นยังใหม่ กระท้อนต้นหนึ่ง 400-500 บาท ก็มี ชาวสวนรวยกัน บางคนขายส่งได้วันหนึ่งแสนสองแสนบาท ทางใต้เขาเอาสิบล้อมาขนไป แล้วเมื่อก่อนนี้ไม้มันแพง หลังจากนั้นอีกสองปี จังหวัดปราจีนฯ ก็เป็นจังหวัดที่ผลิตพันธุ์ไม้ขายมากที่สุดในประเทศ จนเดี๋ยวนี้ยังเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาก็นครปฐม ซึ่งที่ปราจีนฯ นี่จะเน้นไม้ผลมาอันดับหนึ่ง อันดับสองนี่เป็นไม้ดอก"

หลังจากสร้างชีวิตให้ตลาดพันธุ์ไม้ และสร้างรายได้ให้ชาวสวนของจังหวัดปราจีนบุรีแล้ว ปี 2531 คุณอรุณได้ย้ายมารับราชการในตำแหน่งประชาสัมพันธ์ประจำจังหวัดเชียงราย ในปีถัดมาเขาได้เปิดร้านจำหน่ายพันธุ์ไม้ในชื่อว่า ปราจีนบุรีรวมพันธุ์ไม้ โดยให้ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากคือ คุณลออศรี ณรงค์ชัย เป็นผู้ดูแลกิจการให้ และเขาจะใช้ช่วงเวลาในวันหยุดลองวีคเอนด์ นำต้นไม้ใส่ท้ายรถออกตระเวนจำหน่ายยังที่ต่างๆ ด้วยตัวเอง

"จริงๆ ผมเป็นคนอุทัยธานี แต่ว่าย้ายไปทั่ว พอเปิดร้านขายต้นไม้ก็ให้แม่บ้านเร่ขายต้นไม้ไปเรื่อย ลำบาก บางทีเสาร์อาทิตย์หยุดติดต่อกัน 3 วัน ผมออกไปขายเองก็มีนะ ช่วงนั้นเราเริ่มก่อสร้างตัว แล้วเราเป็นคนรักต้นไม้ ไปจังหวัดไหนก็มีเพื่อน เพราะวงการค้าต้นไม้นี่รู้จักกันง่าย ผมมาทำงานอยู่เชียงรายถึงปี 2537 จากนั้นจึงย้ายไปเป็นประชาสัมพันธ์ของเชียงใหม่ ทำงานกีฬาซีเกมส์ อยู่เชียงใหม่ 4 ปีกว่าๆ ย้ายกลับมาอยู่เชียงรายอีก 2 ปี ก็เกษียณ พอเกษียณผมมาดูแลเต็มที่ เพราะชีวิตราชการมันทำอะไรไม่ได้เต็มที่

ผักหวานบ้าน พืชเศรษฐกิจเพื่อชีวิตเกษตรกร
จากการติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงพันธุ์ไม้มาเกือบ 20 ปี คุณอรุณ พบว่า ตลาดพันธุ์ไม้ในบ้านเรานั้น เป็นแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสความนิยมของผู้บริโภค เช่น บางช่วงนิยมกระท้อนผลใหญ่เนื้อฟูนุ่ม บางช่วงฮิตปลูกฝรั่งไร้เมล็ด บางช่วงพุทราซุปเปอร์จัมโบ้มาแรง บางช่วงนิยมมะยงชิด เป็นต้น

ปัจจุบันคุณอรุณมองว่า ผักหวานบ้าน ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละภาค อาทิ ผักก้านตรง จ๊าผักหวาน โถหลุ่ยกะนิเต๊าะ นานาเซียม ผักหวานใต้ใบ และมะยมป่า เป็นต้น เป็นพืชเศรษฐกิจที่กำลังมาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักหวานบ้านพันธุ์ลูกผสมไทย-จีน เพราะมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย ปลอดจากสารพิษ และใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแกงเลียง ผัดน้ำมันหอย ใส่สุกี้ ลวกจิ้มน้ำพริก ใส่อาหารจำพวกยำต่างๆ ใส่ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ทำแกงจืด ฯลฯ

อีกทั้งผักหวานบ้านยังเป็นแหล่งอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ที่ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง เมื่อร่างกายได้รับแคลเซียมพร้อมแมกนีเซียม ที่มีอยู่ในผักใบเขียวอย่างผักหวาน จะช่วยให้การยืดหดของกล้ามเนื้อในร่างกายมีประสิทธิภาพสูงสุดตามไปด้วย หากบริโภคบ่อยๆ จะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ ผักหวานสดยังมีวิตามิน ซี สูงมาก ซึ่งวิตามิน ซี เป็นแอนติออกซิแดนต์ที่ช่วยไม่ให้เนื้อเยื่อหรือเซลล์ภายในร่างกายถูกทำลายจากมลพิษทางอากาศ และรังสีจากแสงแดดที่ทำให้เกิดมะเร็งหรือแก่ก่อนวัย รวมทั้งผิวหนังเหี่ยวย่นด้วย ที่สำคัญผักหวานยังมีเบต้าแคโรทีน ที่มีอยู่ในผักใบเขียวทั่วๆ ไป เบต้าแคโรทีน จัดเป็นแอนติออกซิแดนต์ตัวหนึ่ง และเมื่อถูกเปลี่ยนเป็นวิตามิน เอ แล้ว จะช่วยบำรุงสายตาช่วยให้สามารถมองเห็นได้ดีในที่มืด และยังเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายเอาไว้ต่อสู้กับโรคติดเชื้อสารพัดชนิด ประชาชนทั่วไปจึงนิยมรับประทานผักหวานกันทั่วทุกภูมิภาค

ผักหวานมันมีอยู่สองประเภทใหญ่ๆ คือผักหวานป่า กับผักหวานบ้าน ผักหวานป่าใบจะกลมๆ กลิ่นมันจะแรง ชอบขึ้นอยู่ในป่าที่แห้งแล้งมากๆ ข้อดีของมันคือความทนแล้ง มันจะแตกยอดเมื่อฝนแรก น่าจะอยู่ที่ปลายเมษาต้นพฤษภา ซึ่งชาวบ้านจะออกล่าผักหวานกัน เขาจะจำได้ว่าตรงไหนมีกี่ต้นๆ พอฝนตกเขาก็จะไปเก็บผักหวานป่ากัน ราคาแพงถึงกิโลละสองร้อยเลยนะ พอเข้าหน้าฝนแล้วมันก็ไม่ค่อยจะแตกยอดเท่าไหร่"

คุณอรุณเล่าประสบการณ์การนำผักหวานป่ามาทดลองปลูกในที่ราบให้ฟังว่า
"ผักหวานป่านี่มันมีข้อเสียอยู่อย่างคือ พอเอามาปลูกในที่ราบๆ นี่ตายหมด ผมเคยซื้อที่ลำพูน 200 ต้น เอามาปลูกตายหมด ไม่เหลือสักต้น มันไม่ชอบ มันชอบอยู่ในป่า เอาออกมาไม่ได้ แต่ผมเห็นแถวสระบุรี เขาขุดหลุมเอาเมล็ดไปหยอด ปลูกกันในป่าเลย เพราะผักหวานป่านี่มันใช้ระยะเวลาในการฟักตัว ในการสร้างรากนาน มีคนลำพูนเคยบอกว่าระยะการฝังรากนานมาก บางทีแตกยอดมาให้เห็นนิดเดียว แต่รากยาวมาก ดังนั้น เวลาเราซื้อมาปลูกแล้วขึ้นรถเขย่ามานี่ ไม่รอดหรอก รากมันบอบบาง ต้องปลูกกันในป่าเลย ไม่ต้องไปเคลื่อนย้าย ไม่ต้องไปดูแลมันเท่าไหร่ ให้มันขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ผักหวานบ้านลูกผสมไทย-จีน นี่ใบมันจะเรียวยาว ปลายใบจะแหลม ยอดอวบ ถ้าหากดูแลดีๆ ยอดมันจะใหญ่เท่าปลายตะเกียบ รสชาติหวานกรอบอร่อย ไม่มีกลิ่น มันจะแตกยอดตลอดหน้าฝน เก็บไปสามสี่วันแตกออกมาอีกแล้ว จะเก็บกันแทบไม่ทันเลย แต่พอหน้าหนาว ปริมาณการแตกยอดน้อยลง ซึ่งมันเหมือนกันทุกที่ ดังนั้น ผักหวานในฤดูหนาวหรือฤดูแล้งจะแพงมาก กิโลกรัมหนึ่งตกเป็นร้อยๆ บาท แต่หน้าฝนนี่ไม่ถึง ตกกิโลหนึ่ง 50-60 บาท เพราะมันเยอะมาก แต่ก็ยังถือว่าได้ราคาอยู่"

ปัจจุบันผักหวานบ้านมีราคาซื้อขายตามห้างและซูเปอร์มาร์เก็ต ประมาณกิโลกรัมละ 170-200 บาท ทว่าในปัจจุบันยังมีผู้ปลูกผักหวานเพื่อการค้าน้อย จึงมีปริมาณไม่พอเพียงต่อการบริโภคของประชาชนทั่วไป ผักหวานบ้านจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่เหมาะแก่เกษตรกรหรือบุคคลทั่วไป เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย ปลูกได้ทุกภูมิภาค โตเร็ว เพียง 3 เดือน ก็สามารถตัดยอดขายได้ ไม่ต้องการการดูแลมาก และใช้พื้นที่ในการปลูกน้อย

"ผมเห็นว่าชาวสวนที่เชียงรายบางรายปลูกลำไยหรือลิ้นจี่ห่างกันเกินไป บางต้นห่างกันเป็น 10 เมตร ดังนั้น ถ้าเขาปลูกผักหวานเป็นแถวไป ให้ห่างจากโคนต้นไม้ผลสักเมตรเดียว เวลารดน้ำเราก็ไม่ต้องรดน้ำไม้ผลต้นใหญ่เลย เพราะปุ๋ยที่เราใส่ผักหวานพวกไม้ผลก็จะมาดูดไป ผมอยากให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะทุกวันนี้เกษตรกรยังใช้พื้นที่ไม่คุ้มค่า ถ้าเราปลูกผักหวาน ชะอม หรือฝรั่ง หรือไม้ที่ไม่โตมาก จะช่วยให้เราใช้พื้นที่คุ้มค่า อย่างเก็บผักหวานขายก็สามารถมีรายได้ไปจุนเจือสวนได้ บางทีได้ราคากว่าอีก เพราะมันเก็บขายได้ทุกวัน ถ้าเก็บได้วันหนึ่ง 10-20 กิโล ก็รวยไม่รู้เรื่อง"

นอกจากชาวสวนจะปลูกผักหวานบ้านแซมในพื้นที่สวน เพื่อเพิ่มรายได้ระหว่างการรอเก็บเกี่ยวไม้ผลประจำปีแล้ว ผักหวานบ้านยังเป็นพืชที่เหมาะอย่างยิ่งที่จะปลูกบนเขาหรือบนพื้นที่สูงด้วยเช่นกัน"ผมมีความคิดว่าชาวเขาชาวดอยน่าจะปลูกผักหวานบ้านลูกผสมไทย-จีน เพราะนอกจากจะเป็นอาหารของชาวดอยแล้ว เนื่องจากคนดอยอาหารหายาก แต่สิ่งสำคัญที่ผมว่าคือมันจะอนุรักษ์หน้าดิน เพราะว่ารากมันเยอะ มันจะช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เยอะ" ผักหวานบ้าน ปลูกง่าย ได้เงินหวานๆ

จากประสบการณ์การปลูกผักหวานบ้านลูกผสมไทย-จีนด้วยตนเอง ประกอบกับความรู้ที่ได้จากการศึกษาหาข้อมูลและการดูงานตามที่ต่างๆ คุณอรุณ ณรงค์ชัย จึงได้ให้คำแนะนำเรื่องการปลูก การดูแล ตลอดจนการหาตลาดจำหน่ายผักหวานบ้าน

การปลูก
ถ้าปลูกในท้องนา ควรไถและตากแดดทิ้งไว้อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ดินร่วน จากนั้นใช้รถไถยกร่องสูงประมาณ 40-50 เซนติเมตร ขนาดกว้าง 2.30-2.50 เมตร ถ้าเป็นพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วม ไม่ควรยกร่องสูงมาก เพราะถ้ายกสูงมากเกินไป ดินที่อยู่ด้านล่างจะไม่ค่อยมีปุ๋ย หลังจากไถเสร็จแล้วโรยด้วยขี้วัวแล้วกลบ ขุดหลุมห่างกัน 50 เซนติเมตร ขนาดหลุมกว้าง 15 เซนติเมตร ลึก 15-20 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยขี้วัวแห้งคลุกดินในอัตราส่วน 1 : 1 พื้นที่ 1 ร่อง ควรปลูกได้ 4 แถว แต่ละแถวห่างกัน 50 เซนติเมตร และเว้นที่ว่างแต่ละร่องประมาณ 1 เมตร เพื่อสะดวกในการเดินเก็บยอดและกำจัดวัชพืช เมื่อเตรียมหลุมเรียบร้อยแล้ว ให้แกะถุงกิ่งพันธุ์โดยใช้มือดึงรากเบาๆ อย่าให้รากขดอยู่ก้นถุง เพราะจะช่วยให้รากตั้งตรง ทำให้ต้นไม้โตเร็ว ควรปลูกในตอนเย็น และรดน้ำทันทีที่ปลูกเสร็จ

การปลูกบนที่ดอยหรือพื้นที่ลาดเอียง ควรปลูกสลับกันตามแนวขวาง จะช่วยกันดินพังทลายได้ โดยขุดหลุมห่างกัน 50 เซนติเมตร กว้าง 20 เซนติเมตร ลึก 20 เซนติเมตร เพราะถ้าหลุมเล็กเกินไปการขยายรากจะช้า แล้วรองก้นหลุมด้วยขี้วัวแห้ง

การให้น้ำ
ผักหวานบ้านเป็นพืชที่ชอบความชื้น แต่ไม่ชอบน้ำมากจนแฉะ ควรรดน้ำอย่างน้อยวันเว้นวันในช่วงเช้า แต่อย่ารดจนเปียกแฉะ หากปลูกจำนวนมากควรใช้สปริงเกลอร์ดีที่สุด เพราะจะช่วยประหยัดแรงงาน และรดน้ำได้ทั่วถึงแต่ไม่เปียกแฉะจนเกินไป

การให้ปุ๋ย
เมื่อปลูกผักหวานบ้านได้ประมาณ 15-20 วัน ให้สังเกตว่าผักหวานเริ่มแตกยอดอ่อนหรือไม่ ถ้าเริ่มแตกยอดอ่อนแสดงว่ารากของผักหวานเริ่มหาอาหารเองได้แล้ว ให้ใช้กรรไกรอย่างคมตัดลำต้นสูงจากดินประมาณ 20 เซนติเมตร จะทำให้ผักหวานแตกยอดเป็นพุ่มเตี้ย ถ้าไม่ตัดผักหวานจะไม่แตกยอด หลังจากตัดลำต้นช่วงนี้ต้องใจเย็นรอประมาณ 2 เดือน ผักหวานจะแตกยอดใบอ่อน ควรเริ่มใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 แล้วรดน้ำทันที อย่าใส่ปุ๋ยมากในระยะนี้ และควรใช้ปุ๋ยขี้วัวทุกๆ 10 วัน ส่วนปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่เดือนละครั้ง หากต้องการให้ยอดอวบกรอบ รสหวานอร่อย ควรใช้ปุ๋ยฉีดใบชีวภาพ โดยนำก้างปลา หอยเชอรี่ ผสมกากน้ำตาลและหัวเชื้อ อีเอ็ม หมักประมาณ 2 เดือน แล้วนำมาผสมน้ำฉีดพ่นที่ใบ

ศัตรูผักหวาน
ในภาคกลางจะไม่ค่อยพบแมลงศัตรูผักหวาน แต่ในภาคเหนืออาจจะพบตัวทากที่ชอบมากัดกินใบ สามารถกำจัดได้ด้วยการใช้ยาฉีดพ่นที่ทำจากสารสะเดา ตะไคร้หอม ยาสูบ ข่า บอระเพ็ด เหล้าขาว หมักแล้วฉีดพ่น แทนการใช้สารเคมี หากไม่พบไม่ต้องฉีด

การตลาด
เกษตรกรสามารถนำผลผลิตไปเสนอขายให้กับร้านอาหารประเภทข้าวต้มโต้รุ่งในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้โดยตรง โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว จำนวนผักหวานบ้านมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคของนักท่องเที่ยว เพราะมีรสชาติอร่อยและปลอดจากสารพิษด้วย และในอนาคตภาคเอกชนเตรียมแปรรูปยอดผักหวานเป็นชาพร้อมดื่มบรรจุกล่อง และทำเป็นยาอายุวัฒนะในรูปของแคปซูลจำหน่ายด้วย เคล็ด (ไม่) ลับ ความงามของผักหวาน คุณอรุณฝากเคล็ดไม่ลับในการดูแลผักหวานบ้านลูกผสมไทย-จีน ให้เจริญเติบโตแตกยอดอ่อนเก็บเกี่ยวได้ทุกวัน ไว้ดังนี้คือ

"ผักหวานนี่พอปลูกได้ประมาณปีหนึ่ง มันอาจจะมีลูกสีขาวๆ ให้รูดทิ้งหมด ไม่เอาไว้ ถ้าไม่รูดก็ตัดแต่ง มันไม่ตาย สักเดือนกว่าๆ ก็แตกยอดใหม่อีก เพราะถ้าเก็บลูกไว้ มันจะไปแย่งอาหารหมด ไม่แตกยอด และการดูแลผักหวานไทย-จีนนี่ เคล็ดลับมันอยู่ที่การให้น้ำ และให้ปุ๋ยคอกนะ การให้น้ำทางที่ดีควรให้เป็นเวลา ช่วงเช้าสัก 8-9 โมง เป็นช่วงที่เหมาะสม เพราะในความคิดของผม ช่วงนั้นแสงแดดมีอัลตราไวโอเลต พอให้น้ำแบบใช้สปริงเกลอร์ฉีดพ่นไป มันจะมีออกซิเจนอะไรต่างๆ ผสมกันเหมาะสมพอดี บางคนถ้าสูบน้ำบาดาลปั๊บ เอามารดเลย ถ้าอย่างนั้น น้ำบาดาลมันจะขาดออกซิเจน ไม่ว่าจะรดไม้อะไร ไม้ดอกหรือไม้ใบ มันไม่งามหรอก เพราะขาดออกซิเจน เคล็ดลับง่ายๆ คือ ใช้สายยางฉีดน้ำให้เป็นฝอย แล้วยกมือขึ้นสูงๆ ให้น้ำเป็นฝอยมากที่สุด เพราะระหว่างที่มันเป็นฝอย ออกซิเจนในอากาศจะได้มาผสมกลมกลืนกัน แล้วช่วงเช้าที่แสงแดดพอดี จะทำให้ผักหวานเติบโตดี เคล็ดลับง่ายๆ พวกนี้คนไม่ค่อยคำนึงกัน แล้วด้านของปุ๋ยนี้ขอให้เน้นปุ๋ยคอก แต่อย่าใส่ขี้วัวที่แฉะหรือที่ยังไม่แห้งสนิท เพราะมันมีความเป็นกรด แต่ถ้าขี้วัวที่แห้งสนิท ร่วนดี ผักจะงามดี ถามว่าใส่ขี้ไก่ ขี้หมูได้ไหม บางส่วนไม่นิยมคือถ้าจะใส่ก็ได้ แต่น่าจะเอามาผสมดินสักหน่อย เพื่อลดความเค็มลง"


เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้สามารถเนรมิตให้แปลงผักหวานบ้านเจริญงอกงาม สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างคุ้มค่าทีเดียวชาวเชียงรายท่านใดสนใจปลูกผักหวานลูกผสมไทย-จีน สามารถขอรับคำแนะนำได้ที่ คุณอรุณ ณรงค์ชัย โทร. (053) 747-190 หรือ (01) 951-2960

อรพินท์ ประพัฒน์ทอง


ibrary.dip.go.th/multim5/edoc/14123.doc -




เผยเคล็ดไม่ (ลับ) การปลูกผักหวานนมสด...ที่เขาชะเมา

กระแสความนิยมบริโภคผักหวานดูจะมาแรง ยอดขายไม่ตกเลย ใครๆ ก็อยากกินผักหวาน เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูง หาซื้อก็ง่าย เพราะเป็นผักพื้นบ้าน เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะปลูกเอาไว้บ้านละต้นสองต้น เพื่อใช้ประกอบอาหาร เช่น แกงผักหวานใส่กับปลาย่างใส่เห็ด ผัดผักหวานใส่น้ำมันหอย นำผักหวานมาต้มลวกจิ้มน้ำพริก  หรือผักหวานมาใส่ก๋วยเตี๋ยวก็อร่อยไม่เบา

ผักหวานสามารถปลูกเป็นพืชคลุมดินได้ หรือคิดจะปลูกเป็นไม้ประดับก็ดี มีสรรพคุณทางยาสามารถรักษาโรคได้นานาชนิด เช่น บำรุงสายตา แก้ไอ ลดไข้ หรือจะใช้เป็นอาหารเสริมสุขภาพก็ไม่เลว หากใครอึดอัดแน่นท้อง ก็ลองกินผักหวานเป็นยาระบายอ่อนๆ หรือใครคิดอยากลดความอ้วนก็ลองกินผักหวาน เพราะผักหวานมีเส้นใยกากอาหาร (ไฟเบอร์) สูง

สำหรับผักหวานที่กำลังเป็นที่นิยมในท้องตลาดขณะนี้คือ ผักหวานบ้าน (จีน) พันธุ์ยอดใหญ่ ราคาจำหน่ายสูงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 120 บาท ต่อกิโลกรัม หลายคนคงสงสัยว่าเจ้าผักหวานนมสดนี่เป็นพันธุ์ใหม่หรือไร หากอยากรู้ ก็ต้องตามไปดู ให้รู้จักกับแหล่งกำเนิดผักหวานนมสดที่เขาชะเมา จังหวัดระยอง

พื้นที่แห่งนี้มีการปลูกผักหวานกันมากถึง 70 ไร่ โดยเกษตรกร 35 ราย ได้รวมกลุ่มกันปลูกผักหวานบ้านยอดใหญ่กับพันธุ์ยอดเล็ก พวกเขาปลูกผักหวานได้ประมาณ 3 ปีแล้ว

คุณเกียรติชัย ดวงผาสุข อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 177/3 หมู่ 2 ตำบลห้วยทับมอญ กิ่งอำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง โทร.(06)052-2551 ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่ม ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

ตนมีพื้นที่ปลูกผักหวานทั้งหมด 6 ไร่ และรับซื้อผักหวานจากเพื่อนสมาชิกเพื่อส่งไปจำหน่ายต่อที่กรุงเทพฯการลงทุนในช่วงแรก ได้ซื้อกิ่งพันธุ์ผักหวานยอดใหญ่มาจาก คุณวุฒิพงษ์ พึงพิพัฒน์ ในราคากิ่งพันธุ์ละ 10 บาท เป็นจำนวน 10,000 ต้น คิดเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท และได้ลงทุนจัดทำระบบน้ำเป็นแบบสปริงเกลอร์ เป็นเงินจำนวน 150,000 บาท

ไร่ดวงผาสุขของคุณเกียรติชัย ปลูกผักหวานในระยะห่างระหว่างต้น 25 x 25 เมตร ระยะห่างระหว่างแถว ประมาณ 1 ศอก โดยจะใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 25-7-7 ทุกๆ 20 วัน สลับกับปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 รวมทั้งใส่ปุ๋ยคอกปีละ 3 ครั้ง

คุณเกียรติชัยบอกอีกว่า ผักหวานที่ปลูกที่นี่มักจะมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงเป็นส่วนใหญ่ เช่น เชื้อรา เพลี้ยไฟ และโรคแอนแทรกโนส ที่เข้ามาทำลายต้นและยอดอ่อน ปัญหาโรคและแมลงมักจะเกิดในช่วงที่อากาศชื้น สำหรับไร่ของผมจะไม่ฉีดยา แต่จะใช้วิธีถอนต้นผักหวานทิ้ง

การดูแลให้น้ำผักหวานบ้าน ส่วนใหญ่มักจะให้น้ำทางใบ ผ่านทางระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ทั้งหมด เพราะช่วยประหยัดแรงงานได้เป็นอย่างดี ส่วนการเก็บเกี่ยวผักหวานจะเริ่มเก็บตั้งแต่เช้าและต้องเก็บให้เสร็จก่อนเที่ยง เพื่อที่จะได้ยอดผักหวานที่สดและกรอบ

คุณเกียรติชัยบอกว่า ตนคิดค้นเทคนิคพิเศษที่จะช่วยทำให้ยอดผักหวานเขียวสด อวบอ่อนคือ จะนำนมผงคาร์เนชั่น ประมาณ 2 ขีด มาละลายกับน้ำ ประมาณ 200 ลิตร จากนั้นนำไปผสมกับยาจับใบและฉีดพ่นในช่วงเช้าก่อนเก็บผลผลิต ประมาณ 2-3 วัน

การเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องเก็บช่วงเช้าก่อนเที่ยง จึงจะได้ผลผลิตที่ดีและสด สำหรับพื้นที่ปลูกผักหวาน 1 ร่อง จะมีผักหวานจำนวน 15 ต้น เมื่อเก็บเกี่ยวจะได้ผลผลิตประมาณ 4 ขีดกว่าๆ ผักหวานที่เก็บเกี่ยวได้ จะขายให้กับไร่นฤบดินทร์ในช่วงแรกๆ และส่งไปขายที่กรุงเทพฯ เช่น ตลาดสุขาภิบาล 3 ลาดหลุมแก้ว นนทบุรี  แต่ละสัปดาห์จะขายได้ไม่ต่ำกว่า 150 กิโลกรัม โดยขายในราคากิโลกรัมละ 50 บาท นอกจากนี้ ผมยังได้รับซื้อผักหวานจากเพื่อนสมาชิกในกลุ่มอีกประมาณ 700-800 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 40 บาท เวลาไปขายก็จะได้ส่วนต่างไม่มาก เพียงแค่ 10 บาท เท่านั้น

ปัญหาอุปสรรคที่พบในการปลูกผักหวานคือ ผักหวานบ้านจะมีทั้งพันธุ์ยอดใหญ่กับพันธุ์ยอดเล็ก เกษตรกรส่วนใหญ่มักต้องการผักหวานยอดใหญ่ เพราะขายแล้วได้กำไรมากกว่ายอดเล็ก แต่เวลาไปซื้อกิ่งพันธุ์ผักหวานมักจะแยกพันธุ์ยอดใหญ่กับพันธุ์ยอดเล็กไม่ค่อยออก เพราะมีลักษณะใกล้เคียงเหมือนๆ กัน ทำให้เกษตรกรมักจะถูกร้านค้ากิ่งพันธุ์นำเอาผักหวานยอดเล็กมาหลอกขายว่า เป็นพันธุ์ยอดใหญ่กว่าเกษตรกรจะรู้ว่าถูกหลอกก็ต้องเสียเวลาปลูกไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว

นอกจากถูกหลอกให้เจ็บใจแล้ว เจ้าผักหวานพันธุ์ยอดเล็กก็มีน้ำหนักเบา ก้านเล็กกว่าผักหวานยอดใหญ่ถึง 3 เท่า ทำให้เกษตรกรมีผลกำไรที่น้อยอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มก็พยายามแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีการขายผักหวานแบบคละพันธุ์กันไป โดยแต่ละสัปดาห์จะสามารถเก็บผักหวานยอดใหญ่ขายได้ประมาณ 270 กิโลกรัม

ส่วนยอดเล็กจะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 400 กิโลกรัม ซึ่งความจริงแล้วตลาดต้องการผักหวานพันธุ์ยอดใหญ่มากกว่า ดังนั้น จึงอยากวิงวอนผู้ค้ากิ่งพันธุ์ผักหวานให้เห็นใจเพื่อนเกษตรกรบ้าง อย่านำผักหวานพันธุ์ยอดเล็กมาหลอกขายเกษตรกรเลย เพราะทุกวันนี้เกษตรกรผู้ปลูกผักหวานก็มีรายได้พอเลี้ยงตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่คนร่ำรวยอะไร ทุกคนอยากได้กิ่งพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพด้วยกัน เพื่อจะสร้างรายได้และฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นในอนาคต

คุณเกียรติชัยยังบอกอีกว่า ในอนาคตหากมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ทางกลุ่มก็วางแผนที่จะสร้างห้องเย็นขึ้นมา เพื่อใช้รักษาความสดของผักหวานให้สามารถเก็บขายได้นานๆ เวลาส่งไปขายที่กรุงเทพฯ คุณภาพผักหวานจะได้มีความสูญเสียน้อยลง

คุณเกียรติชัยยังบอกอีกว่า ตลาดผักหวานบ้านพันธุ์ยอดใหญ่ ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกมาก ตลาดระดับชาวบ้านที่ขายกันอยู่ยังมีไม่มาก ผักหวานที่ขายส่งไปกรุงเทพฯ จะถูกนำไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า และมีราคาขายไม่ต่ำกว่า 170 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นระดับราคาที่ขายได้ขายดีไม่มีตก เพราะตลาดยังมีความต้องการอีกเยอะ

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้จำหน่ายกิ่งพันธุ์ผักหวานบ้านยอดใหญ่รายหนึ่งคือ คุณวสันต์ พึงพิพัฒน์ อยู่บ้านเลขที่ 55/1 หมู่ที่ 7 ถนนปทุมธานี-บางเลน (ทางหลวง 346) ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี 12140 โทร.(01)914-1211 และลูกชายคือ คุณวุฒิพงษ์ พึงพิพัฒน์ โทร.(01)803-5677

คุณวสันต์บอกว่า ตนเพิ่งเริ่มจำหน่ายกิ่งพันธุ์ผักหวานบ้านยอดใหญ่มาได้ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมานี้เอง ก่อนหน้านี้เดิมจำหน่ายกิ่งพันธุ์ไม้ป่าเศรษฐกิจ ไม้ดอกไม้ประดับและพวกไม้หายาก ไม้ชนิดต่างๆ เช่น เพาว์โลเนีย ยมหอม ไม้กฤษณา ปาล์มประดับชนิดต่างๆ และพวกกล้าไม้ล้อม แต่ปัจจุบันนี้ ผมให้ความสำคัญกับการผลิตและจำหน่ายพันธุ์ผักหวาน จนกลายเป็นศูนย์รวมจำหน่ายกล้าพันธุ์ผักหวานพันธุ์ยอดใหญ่

ด้านตลาด คุณวุฒิพงษ์บอกว่า ตลาดผักหวานกำลังมาแรงมาก สังเกตได้จากยอดสั่งซื้อที่มีเข้ามามาก ต้องวิ่งรถส่งผักหวานให้กับลูกค้าทั้งรายเล็กและรายใหญ่ทุกวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น นอกจากปลูกเองแล้ว ผมก็ยังรับซื้อผักหวานจากเกษตรกรที่ซื้อกิ่งพันธุ์ผักหวานไปปลูกอีกด้วย ซึ่งมีอยู่หลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสมุทรสาคร นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี อ่างทอง สุพรรณบุรี ราชบุรี ระยอง อุทัยธานี นครสวรรค์ ฯลฯ

"ผมจะรับซื้อผักหวานทุกวัน วันละ 100-200 กิโลกรัม ในราคาตั้งแต่ 40-50 บาท ต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับคุณภาพของผักหวานบ้านด้วย ส่วนใหญ่แล้วผมจะรับซื้อผักหวานบ้านจีนยอดใหญ่มากกว่าพันธุ์ยอดเล็ก เนื่องจากผักหวานพันธุ์ยอดใหญ่ทำตลาดได้ดีกว่าพันธุ์ยอดเล็ก และเป็นที่ต้องการของลูกค้ามากกว่า" คุณวุฒิพงษ์ บอก

ส่วนกลุ่มลูกค้าที่ส่งผักหวานนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มร้านอาหารทั่วไป รวมทั้งขายส่งให้กับโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ สะพานสูง ทุกวัน โดยขายให้ในราคากิโลกรัมละ 60 บาท เมื่อถูกถามเกี่ยวกับตลาดกิ่งพันธุ์ก็ได้รับคำตอบว่า ผมขายกิ่งพันธุ์ผักหวานจีนยอดใหญ่ในราคา 5-10 บาท ต่อต้น ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณการสั่งซื้อของลูกค้าด้วย ลูกค้าผมมาจากหลายจังหวัด เรียกว่าเกือบจะทุกภาคก็ว่าได้

คุณวุฒิพงษ์บอกว่า สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกผักหวานบ้านจีนในปัจจุบัน ขอให้สบายใจได้ เพราะยังมีตลาดรองรับอีกมาก โดยเฉพาะผักหวานจีนยอดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การปลูกผักหวานควรเน้นปลูกผักปลอดสารพิษเท่านั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

คุณวุฒิพงษ์ให้คำแนะนำกับเกษตรกรที่สนใจอยากจะปลูกพันธุ์ผักหวานว่า ควรเลือกซื้อกิ่งพันธุ์จากร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือก่อนเป็นสำคัญ หากเกษตรกรท่านใดสนใจกิ่งพันธุ์ผักหวานบ้านจีนยอดใหญ่ คุณภาพดี ก็สามารถติดต่อได้ตามที่อยู่ข้างต้น รับรองได้ผักหวานพันธุ์ดีไม่มีพันธุ์ปลอมมาหลอกขายครับท่าน

ในมุมของเกษตรกรทุกคนล้วนอยากได้กิ่งพันธุ์ที่ดี มีคุณภาพมาปลูกทั้งนั้น แต่สำหรับผู้ประกอบการจะมีสักกี่รายที่มีความซื่อสัตย์ ขายสินค้าคุณภาพดีไม่หลอกลวงประชาชน จึงอยากวิงวอนให้ผู้ค้ากิ่งพันธุ์ทุกคนมีความจริงใจกับลูกค้าด้วย เพราะนอกจากเกษตรกรจะเสียเงินเสียเวลาแล้ว ยังสร้างผลเสียต่อจิตใจของเกษตรกร

กรณีการขายกิ่งพันธุ์ปลอมอาจไม่ได้รับโทษทางสังคม แต่คุณจะมีความสุขและร่ำรวยบนความทุกข์ของเกษตรกรได้จริงหรือ...? ในโลกยุคไฮเทค เวรกรรมมันติดปีก...นะคุณ !!!


เทคโนโลยีการเกษตร
ปรัชญา รัศมีธรรมวงศ์


http://www.212cafe.com/freewebboard/view.php?user=111111111&id=13

















โลกเกษตร : พบผักหวานบ้านพันธุ์ใหม่ ยอดอวบอ้วน หวานกรอบ และกลิ่นเหม็นเขียวน้อยลง

"ผักหวานบ้าน" เป็นผักพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้ที่ชอบบริโภคผักปลอดสารพิษ ผักพื้นบ้านชนิดนี้จะพบมากในเขตพื้นที่ภาคใต้ที่ซื้อ-ขายกันเป็นมัด ราคามัดละ 1-3 บาท (1 มัดจะมีประมาณ 10-15 ยอด) ในตำราสมุนไพรได้ระบุถึงสรรพคุณทางยาของผักชนิดนี้ไว้หลายประการและเป็นผักที่มีวิตามินเอสูงอีกชนิดหนึ่ง (ในยอดอ่อนและใบอ่อนของผักหวานบ้าน น้ำหนัก 100 กรัม มีปริมาณวิตามินเอ 10,000 IU) นอกจากนั้นยังมีข้อมูลตัวเลขจากการส่งออกพบว่าผักหวานบ้านเป็นผักพื้นบ้านไทยที่มีการส่งออกในปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะทางยุโรป ในขณะที่การปลูกผักหวานบ้านของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่จะเก็บมาจากหัวไร่ปลายนา, ปลูกไว้ริมรั้วหรือปลูกไว้รับประทานครัวเรือนเพียงไม่กี่ต้น ไม่ได้ปลูกในเชิงพาณิชย์

คุณวุฒิพงษ์ พึงพิพัฒน์ บ้านเลขที่ 55/1 หมู่ 7 ต.หน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี 12140 ได้มีการนำผักหวานบ้านอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ชาวบ้านมักจะเรียกกันว่า "ผักหวานจีน" มาทดลองปลูกในเชิงพาณิชย์โดยปลูกเปรียบเทียบกับผักหวานบ้านทั่ว ๆ ไป พบว่าผักหวานจีนมียอดที่อวบอ้วน ข้อยาวมีรสชาติหวานกรอบและมีกลิ่นเหม็นเขียวน้อยลง เมื่อคำนวณน้ำหนักพบว่ายอดผักหวานจีนที่เก็บเกี่ยวที่ขนาดความยาวเท่ากันมีน้ำหนักมากกว่าผักหวานบ้านทั่วไปถึง 3 เท่า ด้วยเป็นผักหวานที่มียอดอ้วนจึงได้รับความนิยมในการบริโภคอย่างรวดเร็ว หลายคนที่บริโภคผักหวานจีนบอกว่ามีความกรอบเหมือนหน่อไม้ฝรั่งแต่นุ่มกว่า รับประทานได้ทั้งสดและทำให้สุก (เมื่อนำยอดสดมากินกับน้ำพริกอาจจะมีกลิ่นเหม็นเขียวเล็กน้อย แต่เมื่อนำมาผ่านความร้อนกลิ่นเหม็นเขียวจะหายไป)

ในเรื่องของการปลูกพบว่าผักหวานบ้านขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิดแต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย สำหรับแปลงที่จะปลูกในเชิงพาณิชย์แนะนำให้ไถกลบ 2 ครั้งด้วยผานเจ็ด แล้วทำการยกร่องให้สูงกว่าปกติประมาณ 1 คืบเศษ กว้าง 1 เมตร และเว้นทางเดินอีก 1 เมตร สลับกันไป ย่อยดินให้ร่วนซุยเหมือนกับวิธีการยกแปลงเพื่อปลูกผัก ถ้าเป็นไปได้ควรจัดระบบน้ำแบบมินิสปริง เกิลจะได้ผลดีมาก กิ่งพันธุ์ผักหวานจีนที่นิยมปลูกจะใช้วิธีการปักชำ และการคัดเลือกกิ่งที่จะทำการปักชำนั้นจะต้องเป็นกิ่งที่มีสีเขียวปนน้ำตาล ที่ชาวบ้านเรียกว่ากลางแก่กลางอ่อน วิธีการปักชำให้นำกิ่งพันธุ์มาปักลงในถุงดำที่ใส่แกลบเผา ให้กิ่งจมฝังอยู่ในแกลบ 2 ตา และโผล่เหนือแกลบขึ้นมา 2 ตา ชำทิ้งไว้ประมาณเดือน-1 เดือนครึ่ง จึงปลูกลงแปลงได้ มีเคล็ดลับที่สำคัญสำหรับการเก็บเกี่ยวผักหวานจีนควรจะเป็นช่วงเช้าเห็นดวงอาทิตย์เริ่มส่องแสงเริ่มเก็บเกี่ยวได้ ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาอื่นจะพบว่าก้านของผักหวานจะเป็นสีดำ อายุผักจะอยู่ได้น้อยวัน การเก็บเกี่ยวจะเก็บอาทิตย์ละครั้ง ในแปลงที่ปลูกเชิงพาณิชย์จะได้ผลผลิตเฉลี่ยครั้งละ 70-100 กิโลกรัมต่อไร่ ปกติแล้วผักหวานบ้านที่เก็บของส่วนยอดอ่อนส่งขายนั้นเมื่อบรรจุลงใส่ถุงพลาสติกจะอยู่ได้นานประมาณ 7-8 วัน โดยแช่ในตู้เย็น ข้อได้เปรียบของผักหวานบ้านสามารถวางแผนการปลูกและเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่ผักหวานป่าถึงจะมีรสชาติอร่อยกว่าแต่จะเก็บเกี่ยวได้ปีละครั้งเท่านั้น


"คู่มือการปลูกผักหวานป่า" พิมพ์ 4 สี มีแจก เกษตรกรและผู้สนใจให้เขียนจดหมายสอดแสตมป์ 15 บาท ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/200 ถนนศรีมาลา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิจิตร 66000.


ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ



ที่มา :
http://www.dailynews.co.th/agriculture/each.asp?newsid=13743


http://news.cedis.or.th/detail.php?id=654&lang=en&group_id=1










สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-16 (5209 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©