-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 331 บุคคลทั่วไป และ 1 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สิ่งแวดล้อม







กระบี่ ชู 3 ดี ก้าวเป็นเมืองปาล์มน้ำมันคุณภาพ

ธนสิทธิ์ เหล่าประเสริฐ รายงาน

สำหรับจังหวัดกระบี่ในวันนี้ ต้องถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่การปลูกปาล์มน้ำมันมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ด้วยพื้นที่ปลูกรวมถึง 895,192 ไร่ และจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกกว่า 20,000 ครัวเรือน มีผลผลิตปาล์มน้ำมันทะลายสดที่ผลิตได้ในปัจจุบันโดยเฉลี่ย 3,260 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตทะลายปาล์มสดที่ผลิตได้ทั้งปี รวม 2.57 ล้านตัน

ดังนั้น ปาล์มน้ำมัน จึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในการสร้างรายได้ของประชาชนในจังหวัด อีกทั้งจากที่รัฐบาลมีนโยบายในการขยายพื้นที่การปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันให้เพียงพอกับความต้องการในการใช้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งในการเพิ่มปริมาณผลผลิตปาล์มโดยการขยายพื้นที่ปลูก จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 4 ปี

ประกอบกับจังหวัดกระบี่มีพื้นที่จำกัดในการขยายพื้นที่ปลูก จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ซึ่งในการเพิ่มปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมัน สามารถทำได้โดยการเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันจากการสกัดน้ำมันให้สูงขึ้น



กำหนดยุทธศาสตร์ให้เป็นเมืองแห่งปาล์มน้ำมัน

คุณไพศาล โรจนสราญรมย์ เกษตรจังหวัดกระบี่ ได้กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรชาวสวนปาล์ม และลานเทปาล์มน้ำมันเห็นว่า ทางหนึ่งที่สามารถเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันจากการสกัดให้สูงขึ้นได้

"คือ การจัดการผลิตที่มีคุณภาพในระดับชาวสวนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง โดยรณรงค์ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้นำท้องถิ่น ผู้รับจ้างเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมัน และผู้ประกอบการลานเทในการจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพสู่โรงงาน และเพื่อเป็นฐานในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการผลิตของเกษตรกร ของลานเทและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม" เกษตรจังหวัดกล่าว

อีกทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาอาชีพของจังหวัดกระบี่ให้เป็นกระบี่เมืองปาล์มน้ำมัน สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการส่งเสริมการผลิตพืช (ปาล์มน้ำมัน) ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

1. แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อขับเคลื่อนโครงการกระบี่เมืองปาล์มน้ำมันคุณภาพ เกษตรจังหวัดเป็นคณะทำงานและเลขานุการ

2. แต่งตั้งคณะกรรมการการพัฒนาปาล์มคุณภาพปาล์มน้ำมันระดับอำเภอ

3. จดทะเบียนลานเทรับซื้อปาล์มน้ำมัน ในจังหวัดกระบี่มีลานเทปาล์มน้ำมัน จำนวน 283 ลานเท โดยเป็นลานเทวิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์การเกษตร จำนวน 24 ลานเท ลานเทเอกชน จำนวน 222 ลานเท และลานเทบริษัท จำนวน 23 ลานเท

4. จดทะเบียนแปลงเพาะกล้าปาล์มน้ำมัน จังหวัดกระบี่มีแปลงเพาะกล้าปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี จำนวน 48 แปลง

5. ส่งเสริมและจัดตั้งกลุ่มการผลิตปาล์มน้ำมันคุณภาพ ตำบลละอย่างน้อย 2 กลุ่ม รวม 110 กลุ่ม



ชูหลักปฏิบัติ 3 ดี เผยแพร่สู่เกษตรกร

เกษตรจังหวัดกระบี่กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการกระบี่เมืองปาล์มน้ำมันคุณภาพโดยใช้หลักการปฏิบัติ 3 ดี ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้นั้น จะเน้นหนักไปที่การส่งเสริมให้เกษตรกรได้เรียนรู้ถึงหลักการที่สำคัญใน 3 เรื่อง ได้แก่

อันดับที่หนึ่ง สอนให้รู้ถึงเรื่องการใช้พันธุ์ปาล์มดี เพราะการเลือกใช้พันธุ์มีความสำคัญมาก ถ้าเลือกใช้พันธุ์ผิดจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย จะต้องเป็นพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร่า (DXP) เป็นพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 ได้จากการผสมระหว่างพ่อพันธุ์ คือ ฟิสิเฟอรา และแม่พันธุ์ คือ ดูร่า ทั้งพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์นี้จะต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งรวมเอาคุณสมบัติดีเด่นของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เข้าด้วยกัน

พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมที่นิยมปลูก เป็นแม่พันธุ์เดลิดูร่า (Deli Dura) เป็นกลุ่มพันธุ์ที่นิยมใช้เป็นแม่พันธุ์ของพันธุ์ลูกผสมเทเนอร่า (DXP) เนื่องจากมีลักษณะดีเด่น คือมีความสามารถในการถ่ายทอดลักษณะทางกรรมพันธุ์ที่ดีสู่ลูกหลาน เช่น ให้ผลผลิตทะลายผลปาล์มสดสูงและสม่ำเสมอ องค์ประกอบของน้ำมันต่อทะลายดี มีการเจริญเติบโตดีและแข็งแรง เมื่อนำมาผสมกับพ่อพันธุ์ (Disifera) กลุ่มต่างๆ จะได้ลูกผสมที่มีลักษณะและคุณสมบัติดีเด่น และเหมาะสำหรับใช้ปลูกในสภาพแวดล้อมต่างๆ เมื่อได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีแล้ว การอนุบาลต้นกล้าพันธุ์มีความสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง การดูแลรักษาต้นกล้าระยะแรกจนถึงนำไปปลูกในแปลงจริง (อายุปลูก 10-12 เดือน) โดยเฉพาะต้นกล้าในถุงพลาสติคสีดำ วางในแปลงกลางแจ้ง ให้น้ำ ให้ปุ๋ย กำจัดวัชพืช ในระยะอนุบาลนี้จะต้องมีการคัดทิ้งต้นกล้า ประมาณ 10-25% โดยคัดต้นที่มีลักษณะผิดปกติทิ้ง เพื่อไม่ให้ต้นพันธุ์เหล่านี้ลงไปสู่แปลง จะทำให้เสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

อันดับที่สอง เน้นให้รู้ถึงการจัดการสวนที่ดี เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชอายุยาว ดังนั้น ในการบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันจะต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพราะหากมีการบริหารจัดการผิดพลาดไปในช่วงแรก ก็จะมีผลต่อการให้ผลผลิตในช่วงต่อไปของปาล์มน้ำมัน การบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันจะมีการจัดการแตกต่างกันตามช่วงอายุของปาล์มน้ำมัน ซึ่งสามารถแบ่งการจัดการได้ 4 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การจัดการสวนปาล์มน้ำมันก่อนให้ผลผลิต : เป็นการจัดการสวนปาล์มน้ำมันตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงระยะก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงดังกล่าวจะใช้เวลา 30-36 เดือน หลังการปลูก การจัดการในช่วงนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสมบูรณ์ของปาล์มน้ำมัน ทั้งในด้านคุณภาพของต้นปาล์มน้ำมันและประชากรปาล์มน้ำมันในพื้นที่ปลูก

ช่วงที่ 2 การจัดการสวนปาล์มน้ำมันในช่วงเร่งผลผลิต : การจัดการช่วงนี้จะเริ่มเมื่อปาล์มน้ำมันมีอายุครบ 3 ปี ตั้งแต่เริ่มต้นให้ผลผลิตจนกระทั่งปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตสูงสุดตามศักยภาพของปาล์มน้ำมัน ซึ่งระยะเวลาในช่วงนี้จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับเทคนิคในการจัดการของแต่ละบุคคลและความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก รวมถึงการใช้ปัจจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตที่แตกต่างกัน เช่น ในบางกรณีอาจมีการจัดการให้ผลผลิตสูงสุดภายใน 2 ปี ของช่วงที่ 2 (ผลผลิตสูงสุดในปีที่ 5) แต่บางกรณีอาจจะต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี หลังการปลูก (ผลผลิตสูงสุดในปีที่ 7)

ช่วงที่ 3 การจัดการสวนในช่วงรักษาระดับผลผลิตที่สูงสุด : การจัดการช่วงนี้จะเป็นการรักษาระดับผลผลิตที่สูงที่สุดให้มีความต่อเนื่องนานที่สุด ตัวอย่างเช่น มีการจัดการสวนปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตสูง 4 ตัน/ไร่/ปี ในปีที่ 6 และรักษาระดับการให้ผลผลิตระดับ 4 ตัน/ไร่/ปี จนปาล์มน้ำมันอายุ 20 ปี จะได้ผลผลิตรวมมากกว่าการรักษาการให้ผลผลิตระดับ 4 ตัน/ไร่/ปี แค่ปาล์มน้ำมันอายุ 15 ปี (เมื่อปาล์มน้ำมันอายุ 16 ปี ระดับผลผลิตจะลดลง)

ช่วงที่ 4 การจัดการสวนปาล์มน้ำมันในช่วงผลผลิตลดลง : เมื่อปาล์มน้ำมันอายุมากขึ้นผลผลิตจะลดลง ซึ่งการที่ผลผลิตจะลดลงเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการจัดการสวนในช่วงที่ 3 การจัดการสวนในช่วงนี้ จึงเน้นการลดต้นทุนการผลิต เช่น การใช้ปุ๋ยน้อยลง หรือทำลายต้นที่ให้ผลผลิตน้อย และ

อันดับที่สาม เกษตรจังหวัดกระบี่บอกว่า สำคัญมาก คือการเก็บเกี่ยวดี การเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องจะทำให้ทะลายปาล์มน้ำมันมีคุณภาพดี มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ซึ่งจะมีผลต่อราคาปาล์มน้ำมันด้วย ซึ่งเปอร์เซ็นต์น้ำมันนั้นหมายถึง เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักน้ำมันที่หีบได้ เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำหนักทะลายปาล์มสดที่เกษตรกรนำมาขายให้กับโรงงาน

ทั้งนี้ ปัจจัยที่กำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำมันในทะลายจะประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ องค์ประกอบผล องค์ประกอบของทะลาย และความสุกของผลในทะลาย ซึ่งแต่ละปัจจัยต่างก็มีผลต่อเปอร์เซ็นต์น้ำมันทั้งสิ้น

โดย องค์ประกอบที่หนึ่ง ในเรื่องของผลปาล์มน้ำมัน ผลปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่

ผิวเปลือกนอก (Exocarp) องค์ประกอบส่วนนี้เป็นผิวเปลือกนอกของปาล์มน้ำมัน มีผลต่อเปอร์เซ็นต์น้ำมันน้อยมาก

เปลือกนอก (Mesocarp) เป็นชั้นเนื้อเยื่อเส้นใยสีส้มแดง เมื่อผลปาล์มน้ำมันสุกจะมีน้ำมันในชั้นนี้ ความหนาของชั้นเปลือกนอกจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำมันผลปาล์มน้ำมันที่มีชั้นเปลือกนอกหนาจะให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันมากกว่าผลปาล์มน้ำมันที่มีเปลือกนอกบาง

กะลา (Ednocarp) เป็นเปลือกแข็งซึ่งห่อหุ้มเนื้อเยื่อภายในเมล็ด ผลปาล์มน้ำมันที่มีกะลาหนาจะมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันของทะลายปาล์มน้อยกว่าผลปาล์มน้ำมันที่มีกะลาบาง

เมล็ดใน (Kernel) เป็นเนื้อในที่มีสีขาวอมเทา เนื้อส่วนนี้จะมีน้ำมันสะสมอยู่เช่นกัน ส่วนนี้ไม่ค่อยมีผลต่อเปอร์เซ็นต์น้ำมันมากนัก เพราะองค์ประกอบนี้จะผกผันกับเปลือกนอกหากเมล็ดมีขนาดใหญ่ก็จะทำให้เปลือกนอกบางลง (ซึ่งทั้ง 2 ส่วน จะมีน้ำมันอยู่) จะเห็นว่าการที่เปอร์เซ็นต์น้ำมันจะมีมากหรือน้อยจะต้องคำนึงถึงตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่จะนำมาปลูก

องค์ประกอบที่สอง เรื่องของทะลาย ทะลายปาล์มน้ำมันจะประกอบด้วย แกนทะลาย แขนงทะลาย ผลปาล์มลีบ และผลปาล์มที่สมบูรณ์ โดยผลปาล์มจะเป็นส่วนที่มีน้ำมัน ดังนั้น หากองค์ประกอบของทะลายมีเปอร์เซ็นต์ของผลปาล์มมาก ก็จะทำให้ปาล์มน้ำมันมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันมาก แต่ในทางตรงกันข้ามหากทะลายปาล์มน้ำมันมีเปอร์เซ็นต์ของแขนง แกนทะลาย และเปอร์เซ็นต์ผลลีบมากก็จะทำให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ

องค์ประกอบที่สาม เรื่องความสุกของผลปาล์มน้ำมัน โดยปกติการพัฒนาของผลปาล์มน้ำมันจากระยะเริ่มติดผลจนกระทั่งผลปาล์มน้ำมันสุก จะใช้เวลาประมาณ 20 สัปดาห์ โดยในช่วง 3 สัปดาห์แรก จะมีการพัฒนาในด้านความยาวผล หลังจาก 3 สัปดาห์แล้ว ผลปาล์มน้ำมันจะมีการพัฒนาของชั้นเปลือกนอกและเนื้อใน โดยการขยายของเปลือกจะดำเนินไปพร้อมกับการพัฒนาของเนื้อในและการสังเคราะห์น้ำมันในเนื้อใน จนกระทั่ง 13-14 สัปดาห์ ผลจะหยุดการขยายของเปลือกนอก

หลังจากสัปดาห์ที่ 14 จะมีการสังเคราะห์น้ำมันในเปลือกชั้นนอก โดยในสัปดาห์ที่ 15 จะมีการสะสมน้ำมันอย่างรวดเร็วจนกระทั่งในสัปดาห์ที่ 20 การสังเคราะห์น้ำมันในชั้นเปลือกนอกจะสิ้นสุดและเริ่มมีการร่วงของผล ระยะนี้ถือว่าเป็นระยะที่สุกและเหมาะสมที่จะเก็บเกี่ยว

เกษตรจังหวัดกระบี่ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน เปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มจากการสกัดลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียง 15-16% ซึ่งตามมาตรฐานควรจะได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันอย่างน้อย 17-19% จะเห็นได้ว่าการที่เปอร์เซ็นต์จากการสกัดน้ำมันปาล์มลดลงในระดับ 1-3% จะทำให้น้ำมันปาล์มดิบที่ควรจะได้ สูญหายไป 20,000-40,000 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าปีละหลายร้อยล้านบาท

"ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการผลผลิตของโรงงาน ลานเท และชาวสวน ยังไม่มีประสิทธิภาพ เริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำ ชาวสวนตัดปาล์มดิบมาขายให้กับลานเท หรือโรงงานโดยตรง ลานเทบางแห่งมีการจัดการผลผลิตก่อนส่งโรงงานไม่ถูกต้อง เช่น การบ่ม การรดน้ำ การทำให้ผลปาล์มร่วงโดยผิดธรรมชาติ และส่วนโรงงานมีการแข่งขันการรับซื้อผลผลิต ไม่มีการคัดเลือกผลผลิต ทำให้เกษตรกรและลานเทขาดแรงจูงใจในการจัดการผลผลิตที่มีคุณภาพ" เกษตรจังหวัดกระบี่กล่าวในที่สุด

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินการ เพื่อสร้างให้จังหวัดกระบี่เป็นเมืองปาล์มน้ำมันคุณภาพ ซึ่งเกษตรกรและผู้สนใจที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ โทร. (075) 611-002




ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน

info.matichon.co.th/techno/ -









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-16 (1339 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©