-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 202 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

อาชีพเสริม







ภาวิณี สุดาปัน

ประหยัด รัตนพร แหกกฎธรรมชาติเพาะพันธุ์กบและปลาขาย
รายได้งาม บนผืนดินท้องทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดสุรินทร์


อำเภอชุมพลบุรี ขึ้นชื่อว่าเป็นเขตพื้นที่แห้งแล้งและกันดารแห่งหนึ่ง เพราะอยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งทุ่งกุลาร้องไห้นั้นประกอบไปด้วยอาณาเขต 5 จังหวัดที่ติดต่อกันเป็นพื้นดินที่ราบขนาดใหญ่ ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม จังหวัดมหาสารคาม อำเภอพยัฆภูมิพิสัย จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอพุทไธสง จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดยโสธร อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอโพนทราย และอำเภอสุวรรณภูมิ

คำขวัญอำเภอมีอยู่ว่า "ชุมพลบุรีเขตทุ่งกุลาฯ เมืองปลาไหล ผ้าไหมสวย รวยข้าวมะลิหอม งามพร้อมลำน้ำมูล"

ที่เรียกว่า เขตทุ่งกุลาฯ เพราะมองไปทางไหนก็เจอแต่ทุ่งหญ้ากว้าง ไม่มีต้นไม้สักต้น พื้นดินแตกระแหง ยิ่งช่วงหน้าแล้งเห็นรอยแตกของพื้นดินชัดเจน

เมืองปลาไหล...เพราะชุมพลบุรีมีปลาไหลชุกชุม (คนอีสานเรียก เอื่ยน) โดยเฉพาะตามบ่อน้ำธรรมชาติ

ทุกปีจะมีการจัดงานเทศกาลประจำปีคือ งานปลาไหล จัดขึ้นที่ว่าการอำเภอชุมพลบุรี ช่วงเดือนพฤศจิกายน ประมาณ 2 วัน ภายในงานมีการประกวดจัดแข่งขันจับปลาไหล (ชาวต่างชาติให้ความสนใจและจะเข้าร่วมแข่งขันในทุกปี) ประกวดแห่นางนพมาศของแต่ละตำบล การแสดงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนชุมพลวิทยาสรรค์ การแสดงโชว์ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าไหม และกิจกรรมอื่นๆ อีกมาก

ข้าวหอมมะลิ...ที่ว่าขึ้นชื่ออันดับหนึ่งของไทยก็อยู่ที่อำเภอชุมพลบุรีนี้เอง

ลำน้ำมูล...คือลำน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนทุ่งกุลาฯ ให้มีกินดื่มใช้ ทั้งบริโภคในครัวเรือน และใช้ทางการเกษตร นอกจากลำน้ำมูล แล้วยังมีลำน้ำพลับพลาอีกหนึ่งสายที่เป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน โดยเฉพาะการหาปลาตามลำคลอง หนอง บึง

ทุกวันนี้น้ำในแม่น้ำแต่ละสายเริ่มแห้งขอด ชาวบ้านไม่มีแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคกัน บางหมู่บ้านถึงขั้นมีเรื่องกันเพื่อแย่งชิงแหล่งน้ำ อาหารหลักของชาวบ้านนั้นคือ กบ เขียด ปู ปลา ซึ่งหาได้ยากยิ่งในช่วงฤดูแล้ง บางหมู่บ้านไม่กล้าจับสัตว์เหล่านี้มาเป็นอาหาร เพราะปัจจุบันชาวบ้านทำนากันแบบเร่งสารเคมีมาก ทำให้กลัวยาฆ่าแมลง เลยไม่กล้าจับสัตว์มากินเป็นอาหาร แต่เดิมผืนนาที่เคยอุดมสมบูรณ์ไม่มีอีกแล้ว เหลือแต่ผืนนาที่แห้งแล้งเต็มไปด้วยสารเคมีและยาฆ่าแมลง

ด้วยเหตุนี้เองคือจุดเริ่มต้นของการทำฟาร์มเพาะพันธุ์กบและปลา "ประหยัดฟาร์ม" เจ้าของคือ คุณประหยัด รัตนพร พื้นเพเดิมเป็นคนอีสานจังหวัดมหาสารคาม คุณประหยัดเป็นคนขยัน มีมุมมองและความคิดที่แตกต่างจากชาวบ้านทั่วไป ทั้งที่ไม่ได้จบการศึกษาระดับสูง จบเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้นเอง แต่กล้าที่จะฝืนกฎธรรมชาติของผืนดินในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ (แค่ฟังชื่อก็หดหู่‚แล้วว่าทำไม‚ทุ่งกุลาถึงได้ร้องไห้‚)

คุณประหยัด เลือกเอาทำเลแห่งนี้เป็นที่ทำมาหากินเลี้ยงปากท้องตน และครอบครัว ภรรยา 1 ลูกอีก 2 คน ยังอยู่ในวัยเด็ก

ประหยัดฟาร์ม ตั้งอยู่ในเขตทางพาส ชุมพลบุรี สตึก ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ห่างจากสี่แยกถนนเยื้องทางไปร้อยเอ็ด เพียง 200 เมตร ที่ตั้งฟาร์มบ้านเลขที่ 140 หมู่ที่ 9 ตำบลกระเบื้อง อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ สถานที่เป็นเพิงไม้ยาว มีบ่อสำหรับเพาะพันธุ์กบ ปลา และบ่อขุดสำหรับเลี้ยงปลาดุกและปลาหมอ ขุนส่งตลาด จำนวน 12 ไร่

เดิมก่อนที่จะมาเป็นประหยัดฟาร์มแห่งนี้ เจ้าของเคยประกอบอาชีพมาก็หลากหลายแต่ไม่ประสบผลสำเร็จสักอย่าง เมื่อตอนอยู่ที่อำเภอโกสุม จังหวัดมหาสารคาม คือจุดเริ่มของการทำอาชีพนี้ เพราะมีชาวบ้านประมาณ 3-4 คน เพาะพันธุ์ปลาขาย รวมกันทำเป็นกลุ่ม ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากทางประมงอำเภอ เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องการเพาะพันธุ์ปลา คุณประหยัด จึงได้โอกาสศึกษา เรียนรู้ จากเพื่อนฝูง แต่ไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่ม จากนั้นตนกับพี่ชายจึงได้ทำฟาร์มเพาะพันธุ์ปลา ซึ่งปัจจุบันฟาร์มแห่งนี้พี่ชายเป็นคนดูแลกิจการ ส่วนตนก็ไปหาทำเลเหมาะๆ เปิดฟาร์มใหม่ ได้พื้นที่จากเพื่อนอีกทีหนึ่ง

คุณประหยัดใช้เวลาศึกษาทำเลเพาะพันธุ์กบและปลาจนได้ที่เหมาะสมนานพอสมควร

เจ้าของเล่าให้ฟังว่า "ผมมาสำรวจพื้นที่แถบละแวกนี้ก่อน ผมคิดว่าสถานที่แห่งนี้เหมาะสมที่สุด เพราะอยู่ติดถนนสายหลักของ 4 จังหวัด และมีรถผ่านไปผ่านมาจำนวนหลายคัน ผมยังเคยนั่งนับจำนวนรถที่วิ่งผ่านแต่ละวันเลย รอบๆ พื้นที่ของแต่ละจังหวัดยังไม่มีฟาร์มเพาะพันธุ์กบและปลาจำหน่าย อย่างกรณีระยะทางจากฟาร์มแห่งนี้ไปสุรินทร์ ประมาณ 100 กิโลเมตร ถึงจะมีแหล่งเพาะพันธุ์ปลาจำหน่าย ผ่านไปทางบุรีรัมย์อีกประมาณ 60 กิโลเมตร ถึงจะมีศูนย์ประมงเพาะพันธุ์ปลา ถัดมาทางมหาสารคามอีกประมาณ 100 กิโลเมตร ถึงจะมีฟาร์มเพาะพันธุ์ปลา ผ่านมาทางร้อยเอ็ดก็ยังไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ปลาขาย ผมก็นึกเอาว่า โชคชะตาเข้าข้างเราแล้วซิ ดวงกำลังมาแล้ว จากนั้นผมก็ลงมือทำฟาร์มของผม"

เจ้าของเล่าถึงการทำงานว่า เริ่มจากการปรับพื้นที่ ขุดบ่อสำหรับกักเก็บน้ำความลึกประมาณ 4 เมตร จำนวน 2 บ่อ ขุดบ่อสำหรับเลี้ยงปลาขุน จำนวน 12 บ่อ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ปลาดุกและปลาหมอ ทำบ่อปูนซีเมนต์สำหรับเพาะพันธุ์กบขาย จำนวน 4 บ่อ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กลางแสงแดดจ้า และทำโรงเรือนสำหรับไว้เป็นที่เก็บอาหารสำเร็จรูป พร้อมที่พักคนงาน จำนวน 1 หลัง และโรงเรือนบดกากอาหารสำหรับขุนปลาขาย จำนวน 1 หลัง ซึ่งปัจจุบันยังไม่เป็นที่เรียบร้อยมากนัก เจ้าของยังต่อเติมไปเรื่อยตามกำลังเงิน และความสำคัญในแต่ละพื้นที่

บ่อที่ขุดเป็นผืนนามาก่อน แรกเริ่มขุดบ่อเนื้อที่ 9 ไร่ เริ่มจากการเพาะพันธุ์ปลากินพืชพวก ปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียน จากนั้นก็เพาะพันธุ์ปลาดุก ถ้าหากจะสั่งซื้อก็สั่งได้ที่จังหวัดนครนายก เขาขายเป็นกิโลๆ กิโลกรัมละ 200-400 บาท

เจ้าของฟาร์มเล่าว่า "สำหรับบ่อเพาะพันธุ์ปลาของผม ผมไม่ได้ซื้อ ผมเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ก่อน แล้วค่อยคัดไว้ทำพันธุ์ทีหลัง พ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุ 1 ปี ก็สามารถนำมาทำพันธุ์ได้ ผมจะใช้วิธีการฉีดฮอร์โมนรีดไข่ (ปลาตะเพียน ปลาดุก ปลาไน ปลายี่สก ปลานวลจันทร์) ฉีดเข้าสันหลังตัวเมีย ทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง ก็สามารถรีดไข่ได้ และเก็บไว้เพาะพันธุ์รุ่นต่อไป ส่วนตัวผู้รีดเก็บน้ำเชื้อแล้วค่อยฆ่าทิ้ง พ่อแม่พันธุ์ จำนวน 20 ตัว ได้ลูกประมาณ 1 แสนตัว"

ปลาที่เพาะพันธุ์จำหน่าย ได้แก่ ปลาทับทิม ปลานิลหมัน/นิลแปลงเพศ ปลากด ปลาจะละเม็ด ปลาสวาย ปลาดุก ปลาช่อน ปลาหมอ ส่วนเรื่องราคาต้องติดต่อตกลงกับเจ้าของอีกทีหนึ่ง กรณีปลาทับทิมอายุประมาณ 1 เดือนครึ่ง ขายตัวละ 50 สตางค์

ส่วนกบนั้นอายุที่สามารถจำหน่ายได้อยู่ในช่วง 23-30 วัน หากเกิน 1 เดือน ก็โตแล้วไม่เหมาะที่จะจำหน่าย (ลูกอ๊อดที่ฟาร์มนี้ขายหมด ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าด้วยซ้ำ) ราคาขายตัวละ 2 บาท

นอกจากเพาะพันธุ์กบและปลาจำหน่ายแล้ว ในทุกปีเจ้าของจะเลี้ยงปลาขุนขายส่งตลาดอีกทอดหนึ่ง ช่วงที่เลี้ยงจะเป็นช่วงเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาขาดตลาดพอดี ประจวบเหมาะเจ้าของก็สามารถจำหน่ายปลาหมด แถมราคาสูงด้วย (เขาเรียกว่าบริหารจัดการเป็น รู้จักการวางแผน)

ปลาที่เลี้ยงขายคือปลาดุก ขายส่งตลาดสตึก ราคากิโลกรัมละ 40 บาท 1 บ่อ จับได้จำนวนไม่เกิน 2 ตัน ส่วนปลาหมอจับได้บ่อละไม่เกิน 1 ตัน ขายส่งตลาดปลานา (ถัดไปจากฟาร์มตนประมาณ 200 เมตร) ราคากิโลกรัมละ 60 บาท

สำหรับเรื่องการตลาดนั้น พ่อค้าแม่ค้าติดต่อขอซื้อปลาจากฟาร์มของตนตลอด แต่ตนไม่สามารถผลิตปลาจำหน่ายได้ตามความต้องการ

ส่วนอาหาร เจ้าของจะให้อาหารสำเร็จรูป โดยสั่งมาจากโรงงานที่จังหวัดนครนายก บริษัท หนองบัวฟีด ใน 1 ปี จะสั่งหัวอาหารปลา จำนวน 3 ครั้ง ครั้งละ 16 ตัน ตันละ 800 กระสอบ กระสอบละ 400 บาท เที่ยวหนึ่งก็ตกประมาณ 3 แสนกว่าบาท ตนจะได้เครดิตในเรื่องอาหารสามารถผ่อนจ่ายได้ เพราะเป็นลูกค้าประจำ และค้าขายกันมานานพอสมควร

ถามว่าคุ้มไหม"กับการประกอบอาชีพนี้

เจ้าของตอบแบบอ้อมค้อมว่า "มันก็ดีมากเลยนะ เพราะได้อยู่ใกล้บ้าน ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร เป็นเจ้านายของตัวเอง หากเปรียบอาชีพนี้ก็เหมือนกับร้านขายของชำ แต่ทำอาชีพนี้แล้วรายได้ดีกว่าเยอะ ก็ถือว่าคุ้มนะ ค้าขายได้ตลอดทั้งปี มีลูกค้าเข้าออกร้านตลอด อย่างกรณีผมขายได้กบได้เงิน 300 บาท แต่เงินลงทุนจริงๆ ไม่ถึง 100 บาท อีกอย่างเป็นอาชีพที่อิสระกว่าการทำงานประจำ"

ถามถึงลูกค้า‚เจ้าของบอกว่า ลูกค้ามาจากทุกทั่วสารทิศ ไล่ไปตั้งแต่ชุมพลบุรีไปจนถึงท่าตูม ส่วนใหญ่แล้วเป็นลูกค้าของตนหมด บางกรณีก็เป็นพวกครูอาจารย์ที่มาจากโรงเรียน กศน. มาซื้อลูกกบ ลูกปลา เพื่อไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน สร้างอาชีพให้เหมือนในโครงการชุมชนพอเพียงอยู่ดีมีสุข

นอกจากมีฐานะมั่นคงด้วยอาชีพนี้แล้ว เจ้าของยังใจบุญถวายปลาสวาย และเงินจำนวนหนึ่งเพื่อทำบุญร่วมกับพระครูสุทธิธรรมกันต์ เจ้าอาวาสวัดคันธารมย์นิวาส ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเดินทางมาจากวัดบ้านดู่ เพื่อซื้อปลาไปปล่อยคลองหลังวัด ตามโครงการ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว บ้านเฮามีในหลวง" เพื่อให้ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาหันมาทำบุญทำทานกันมากขึ้น ชีวิตจะได้สดใสรุ่งเรือง

คุณประหยัด เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ซึ่งครั้งหนึ่งก็เคยเดินเตะฝุ่นทำงานไม่เป็นชิ้นไม่เป็นอันเหมือนกัน แต่ด้วยความที่มุ่งมั่นและมุมานะ ทำให้ฟ่าฝันอุปสรรคมาถึงตรงนี้ได้ เมื่อโอกาสมาเราก็ควรจะคว้ามัน ดีกว่าปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย หากสนใจอยากพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรืออยากเข้าเยี่ยมชมฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาของคุณประหยัดก็สามารถติดต่อเจ้าของได้ที่ โทร. (087) 944-6611 ยินดีให้คำแนะนำ



ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-16 (1459 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©