-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 664 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

อินทรีย์ชีวภาพ








 

ถอดบทเรียนเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์
บ้านตระแบกใหญ่ หมู่ที่ 10 ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ 

บทนำ

วันที่ 7 เมษายน 2551 ณ ศาลาบ้านตระแบกใหญ่ มีจำนวนผู้เข้าร่วมในการถอดบทเรียนครั้งนี้ จำนวน 20 คน มีแกนนำในการให้ข้อมูลด้านเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญคือ นายสังวาลย์ ศรีตุลานุ นายประหยัด เสริมสุข และนายวีระ ครึ่งมี ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มของบ้านตระแบกใหญ่ นานบัว งามเลิศ และนายสำรวม คชศิลา ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มเกษตรอินทรีย์ของตำบลเขวาสินรินทร์ โดยมีนายพงษ์เทพ ดีเสมอ เป็นผู้นำการถอดบทเรียน นายพินินทร์ แสนสำราญ เป็นผู้จดบันทึกในกระดาษชาร์จ และนางสาวดัชนี ศรีแก้ว เป็นผู้จดบันทึก ผลการถอดบทเรียน สรุปได้ดังนี้
แรงจูงใจ
               
เมื่อก่อนชาวบ้านตระแบกใหญ่ทำนาแบบอาศัยธรรมชาติ คือทำนาได้ปีละ 1 ครั้ง ระหว่างเดือนพฤษภาคม – มกราคม ของทุกปี ซึ่งวัฒนธรรมในการทำนานั้น เริ่มต้นด้วยการเพาะกล้า การเตรียมดินโดยการไถ 2 ครั้ง มีการปักดำและเกี่ยวข้าวโดยใช้แรงงานคน ใช้ปุ๋ยคอกเพราะทุกหลังคาเรือนมีการเลี้ยงโค กระบือไว้ใช้งาน สำหรับกองฟางและตอซังข้าวตามทุ่งนาเอาไว้เลี้ยงสัตว์ สภาพดินดี กุ้ง หอย ปู ปลาก็หาได้ง่าย และมีพิธีกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับการทำนามามาย เมื่อ 30 ปี ที่ผ่านมาทางราชการได้เข้ามาแนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยแนะนำให้ใช้ปุ๋ยที่เป็นสูตรต่างๆ เช่น 16–16–0 เป็นต้น สัดส่วนการใช้ปุ๋ยเคมี 30 กิโลกรัมต่อนาข้าว 1 ไร่ ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มจริง มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในชุมชน

เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาประชาชนในบ้านตระแบกใหญ่เปลี่ยนการทำนาจากใช้กระบือไถนามาใช้รถไถนาเดินตามแทน ใช้วิธีการหว่านแทนการปักดำ และเกี่ยวข้าวโดยใช้รถเกี่ยวข้าว เนื่องจากใช้ระยะเวลาน้อย ลดปัญหาแรงงานในการดำนา จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้มีการใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาปุ๋ยเคมีแพงขึ้น มีปุ๋ยปลอมระบาด สภาพดินเสื่อมโทรม ต้องใช้ปุ๋ยเคมีในสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี โค กระบือที่เลี้ยงไว้ใช้งานก็ขายไป ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีแทนปุ๋ยคอก

ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ จึงได้ประกาศนโยบายให้จังหวัดสุรินทร์  “ สุรินทร์เมืองเกษตรอินทรีย์ สนใจเทคโนโลยี ยี่สิบนาทีออกกำลังกาย”  มีการจัดการรณรงค์ให้มีการไถกลบตอซังข้าว ส่งเสริมให้มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง จัดตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ มีระบบการตรวจสอบการจัดทำเกษตรอินทรีย์ มีการจัดการอบรมแกนนำประชาชนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชนเกี่ยวกับการเกษตรอินทรีย์ จากนโยบายดังกล่าวประกอบกับสภาพปัญหาเรื่องของปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงขึ้น ดินเสื่อมโทรม และการขาดทุนจากการทำนา จึงมีการริเริ่มมานำแนวทางดังกล่าวมาใช้ในชุมชน โดยดำเนินการทดลองในกลุ่มเล็กๆ ในชุมชน การจัดตั้งกลุ่มแกนนำด้านเกษตรอินทรีย์ การจัดทำแปลงสาธิต การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และการกระตุ้นให้ประชาชนในชุมชนมีความตระหนักในด้านสุขภาพ ด้านการบริโภคอาหารที่สะอาดปลอดภัย
 


กระบวนการดำเนินงาน
กระบวนการเกษตรอินทรีย์มีกระบวนการดำเนินงานที่สำคัญ 5 กระบวนการ คือ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกษตรอินทรีย์ การจัดตั้งกลุ่มในชุมชน กระบวนการผลิตปุ๋ยชีวภาพ กระบวนการผลิตและตรวจสอบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และกระบวนการทางด้านการตลาดเกษตรอินทรีย์                 

การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกษตรอินทรีย์ หน่วยงานภาครัฐจัดกิจกรรมการอบรมเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ แก่แกนนำประชาชนในชุมชน ลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หมอดินอาสา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเกษตรอินทรีย์ การรณรงค์ตรวจหาสารเคมีตกค้างในเลือดเกษตรกรเพื่อสร้างความตระหนักในการบริโภคอาหารที่สะอาดปลอดภัย และป้องกันอันตรายจากการใช้สารเคมี เป็นต้น มีการจัดการศึกษาดูงานบุคคลที่สามารถทำการเกษตรอินทรีย์ที่ประสบผลสำเร็จ เป็นต้น ซึ่งสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในชุมชนได้มีการศึกษาดูงานที่ปราชญ์ชาวบ้านพ่อเชียง ไทยดี และคนอื่นๆ เป็นต้น 
               

การจัดตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ มีการจัดตั้งกลุ่มในระดับตำบล ซึ่งมีประชาชนในบ้านตระแบกใหญ่เข้าร่วมเป็นสมาชิกจำนวน 20 ครอบครัว กิจกรรมของกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นคือการจัดหาและจำหน่ายวัสดุและเมล็ดพันธ์ การจัดทำและจำหน่ายกากน้ำตาล ปุ๋ยอินทรีย์ แก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่สมาชิก การควบคุมคุณภาพมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การจัดการด้านการตลาดโดยการรับซื้อข้าวจากสมาชิก และแปรรูปส่งจำหน่ายตลาดต่างประเทศ 
               

การจัดทำปุ๋ยชีวภาพ มีการรวมกลุ่มกันจัดทำปุ๋ยชีวภาพขึ้นในชุมชน ซึ่งทุกหลังคาเรือนมีการจัดทำน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้ในครัวเรือน และนอกจากนี้ยังมีน้ำหมักของหมู่บ้านที่เก็บไว้ที่ฉางข้าวธนาคารข้าวอีก ในชุมชนมีการจัดทำน้ำหมักใช้เป็นปุ๋ยน้ำ 3 สูตรด้วยกัน คือ  

- สูตรเร่งการเจริญเติบโตเร่งใบ กิ่ง ราก (น้ำแม่)
- สูตรเร่งการติดดอกออกผล ดอก-ผล (น้ำพ่อ) และ
- สูตรสำหรับไล่และกำจัดแมลงศัตรูพืช 

และนอกจากนี้ยังมีนำน้ำหมักเพื่อใช้ในการจัดทำปุ๋ยชีวภาพอีกด้วย โดยสูตรการทำปุ๋ยน้ำที่สำคัญ คือ

- สูตรการทำปุ๋ยน้ำเพื่อเร่งการเจริญเติมโต เร่งใบ กิ่ง ราก(น้ำแม่) โดยนำพืชที่มี
ใบสีเขียวได้แก่ ผักสีเขียว ใบไม้สีเขียว พืชตระกูลถั่วสีเขียว (ควรมีการเก็บแต่เช้าตรู่) หั่นให้เป็นชิ้นๆจำนวน 3 กิโลกรัม  กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม มาคลุกเคล้ากันแล้วเก็บไว้ในถังหมัก ให้หมักใว้อย่างน้อย 15 วัน การนำไปใช้เพื่อพ่นปุ๋ยทางใบมีสูตรในการผสมดังนี้  น้ำหมัก 2–3 ช้อนโต๊ะ กากน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ น้ำ 20 ลิตร ใช้พ่นขณะข้าวกำลังงอกงาม หรือนำไปพ่นพืชผักสวนครัว

- สูตรการทำปุ๋ยชีวภาพ มีการขยายน้ำหมัก(น้ำแม่) เพื่อใช้ในการจัดทำปุ๋ย
ชีวภาพให้ใช้น้ำหมัก 1 กิโลกรัม กากน้ำตาล 3 กิโลกรัม น้ำ 20 ลิตร หมักไว้ 7 วัน และนำมาผสมกับ แกลบดำ แกลบขาว อย่างละ 4 กระสอบ รำพวน 4 กิโลกรัม รำละเอียด 3 กิโลกรัม มูลสัตว์ 6 ปุ้งกี๋ คลุกเคล้ากันรดน้ำตรวจสอบว่าส่วนผสมได้มาตรฐานโดยการใช้มือกำดูว่าหมาดและปุ๋ยจับตัวเป็นก้อน แล้วมีการหมักไว้ 7 วัน จึงจะสามารถนำมาใช้ได้ ปุ๋ยหมักชีวภาพนี้ใช้ในการรองพื้นก่อนหว่านข้าว ระยะข้าวดำลังเจริญเติบโต และระยะข้าวตั้งท้อง

- สูตรเร่งการติดดอกออกผล ดอก-ผล (สูตรพ่อ) นำผลไม้สุก หั่นเป็นชิ้นๆ
จำนวน 3 กิโลกรัม กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม มาคลุกเคล้ากันเก็บไว้ในถังหมัก ให้หมักไว้อย่างน้อย 15 วัน การนำไปใช้เพื่อพ่นปุ๋ยทางใบมีสูตรในการผสมดังนี้  น้ำหมัก 2–3 ช้อนโต๊ะ กากน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ น้ำ 20 ลิตร ใช้พ่นขณะข้าวกำลังตั้งท้อง หรือพ่นใส่ต้นไม้ที่กำลังออกดอก ติดผล

- สูตรน้ำหมักสำหรับไล่แมลงและกำจัดศัตรูพืช นำพืชสมุนไพรที่มีในชุมชน
ได้แก่ ตะไคร้หอมใช้สำหรับไล่แมลง กำจัดโรคพืช  บอระเพ็ดใช้สำหรับกำจัดหนอน สะเดา สาบเสือและโล่ตินใช้สำหรับกำจัดหนอน ใบยูคาลิปตัส ใช้สำหรับกำจัดโรคพืช มาหั่นให้เป็นชิ้นๆ จำนวน 3 กิโลกรัม กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม พืชสมุนไพรที่ใช้นั้นควรแยกถังหมักแต่ละชนิดเพราะว่าแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน การนำไปใช้เพื่อพ่นทางใบมีสูตรในการผสมดังนี้  น้ำหมักสมุนไพร 2–3 ช้อนโต๊ะ กากน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ น้ำ 20 ลิตร ในกรณีที่ใช้ในการกำจัดแมลงให้เพิ่ม น้ำส้มสายชูและเหล้าขาว อย่างละ 1 ขวดด้วย  นอกจากนี้ในชุมชนกำลังเรียนรู้การผลิตและใช้น้ำส้มควันไม้
                  
กระบวนการผลิตและตรวจมาตรฐานเกษตรอินทรีย์  ในหมู่บ้านตระแบกใหญ่นี้ประชาชนทุกหลังคาเรือนมีการนำปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตขึ้นได้มาใช้ โดยใช้ในการรองพื้นก่อนการหว่านข้าว การใช้น้ำหมักพ่นขณะข้าวขณะแตกกอ ขณะตั้งท้อง โดยใช้น้ำหมักทั้งสามชนิด การทำการเกษตรอินทรีย์ที่นี่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ

กลุ่มที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหมด และกลุ่มที่ใช้ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นบางส่วน ในกลุ่มที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหมดส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลเขวาสินรินทร์ มีจำนวน 20 ครอบครัว และไม่ได้ทำในพื้นที่การเกษตรของตนทั้งหมด มีการแบ่งแปลงในการทดลองทำเกษตรอินทรีย์บางส่วน ส่วนกลุ่มที่ใช้ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีนั้นจะใช้ในการรองพื้นก่อนการหว่านข้าวเท่านั้น เมื่อมีฝนตกลงมาก็จะใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ในการหว่านข้าวอีกครั้ง และขณะข้าวตั้งท้องก็หว่านปุ๋ยเคมีอีกครั้ง เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีเนื่องจากมีราคาแพง สัดส่วนการใช้ปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์นั้นขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้า อากาศ ถ้าฝนตกสม่ำเสมอมีน้ำเพียงพอ การใช้ปุ๋ยเคมีจะมีน้อยลง ถ้าฝนทิ้งช่วงจำเป็นจะต้องนำปุ๋ยเคมีมาใช้ เพื่อกระตุ้นให้ข้าวเจริญเติบโต ถ้าจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียว จะต้องทำใจ ยอมรับสภาพให้ได้ และต้องตัดสินใจที่จะทำของสมาชิกในครอบครัวทุกคนด้วย เนื่องจากในปีแรกของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวต้นข้าว หรือพืชผัก จะไม่งอกงามมากนัก ผลผลิตที่ได้รับอาจน้อยกว่าที่ผ่านมา ซึ่งชาวบ้านเข้าใจว่า ดินของเราหมดสภาพหรือชีวมวลในดินอาจตายหมดหรือที่คนเถ้าคนแก่บอกว่าดินตาย แต่ก็ยอมรับว่าถ้าผ่านไปอย่างน้อยสามปีที่ดินแปลงที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปลูกพืชผัก ต้นข้าวก็จะงอกงามดี และต้นข้าวชูใบตระหง่าน สีเขียว เวลาออกรวงจะมีเมล็ดมาก ข้าวเต็มเมล็ดด้วย เวลาสีข้าวมาเมล็ดข้าวสารจะมีสีใสสำหรับผักก็จะเขียวสด อยู่ได้นานซึ่งแตกต่างกับข้าวหรือพืชผักที่ใช้ปุ๋ยเคมีจะเขียวสดไม่นานเหี่ยวเฉาเร็ว ต้นข้าวจะไม่ชูใบ เมล็ดข้าวในแต่ละรวงจะน้อยกว่า และจะมีเมล็ดลีบ เมล็ดดำร่วมด้วย เวลาสีเป็นข้าวสารเมล็ดข้าวจะขุ่นมัว แตกหักมากกว่า 

ชาวบ้านทุกคนรู้เห็นเป็นประจักษ์ว่า การทำเกษตรอินทรีย์นั้นดี แต่ในสภาพที่ต้องใช้เงิน เศรษฐกิจทุกวันนี้ จึงจำเป็นจะต้องได้ผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ ที่ทำกินไม่เหมาะสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์อีกด้วย ดังนั้นคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านตระแบกใหญ่นี้มีการทำปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมัก มาใช้ก็จริงแต่ใช้เพื่อการทดต้นทุนการผลิต ทดแทนปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงเท่านั้น สำหรับสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลเขวาสินรินทร์ที่อาศัยอยู่ในบ้านตระแบกใหญ่ จำนวน 20 คน นั้น  ได้ทำการเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ ทางกลุ่มมีกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานการเกษตรอินทรีย์ โดยกระบวนการของกลุ่ม และสำนักงานเกษตรอำเภอเขวาสินรินทร์มาตรวจมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.สร.)ซึ่งเป็นมาตรฐานของจังหวัดสุรินทร์และองค์กรเอกชนก็มาตรวจสอบในแปลงนาของสมาชิกทุกคน แต่การประเมินสมาชิกส่วนใหญ่ผ่านการประเมิน ถ้าสมาชิกผ่านการประเมินข้าวในแปลงนานั้นๆ กลุ่มจะประกันราคาให้โดยขายให้กลุ่มและกลุ่มจะแปรรูปส่งไปขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในราคากิโลกรัมละ 80 บาท ส่วนพืชและผักสวนครัวอื่นๆ ที่เพาะปลูกในบ้านตระแบกใหญ่ใช้การเกษตรอินทรีย์ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ไม่มีการพ่นสารเคมีแต่อย่างใด และส่วนใหญ่ก็ปลูกกินเองและจำหน่ายในหมู่บ้าน 
               

กระบวนการด้านการตลาดเกษตรอินทรีย์ ด้านการตลาดถ้าเป็นข้าวที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ทางกลุ่มจะรับซื้อทั้งหมด ถ้าไม่ผ่านก็เข้าสู่โรงสีตามระบบตลาดปกติ และนอกจากนั้นข้าวที่ผ่านส่วนหนึ่งจะมีการคัดเป็นพันธุ์ข้าวด้วย ซึ่งข้าวเหล่านี้จะไม่กลายพันธุ์ง่ายเหมือนพันธุ์ข้าวที่ซื้อมาจากตลาด 3 ปี ก็กลายพันธุ์  แต่ก็ต้องมีระบบการคัดพันธุ์เหมือนกันซึ่งคณะกรรมการกลุ่มต้องมีการตรวจแปลงนาด้วย ผลผลิตที่ได้โดยเฉพาะข้าวเปลือกในชุมชนจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ เก็บไว้ทำพันธุ์ เก็บไว้กิน และไว้จำหน่าย ซึ่งไม่มีปัญหาข้าวขายหมดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม แล้ว ส่วนที่เหลือในยุ้งฉาง ก็เก็บไว้กินและทำพันธุ์ สำหรับพืชผักอื่นๆ ที่ปลูกกันส่วนใหญ่ก็ขายที่ในหมู่บ้านไม่มีปัญหาเหมือนกัน 
               

กระบวนการทำเกษตรอินทรีย์เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เมื่อหลายปีที่แล้วคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านมีสารเคมีตกค้างในเลือดในระดับเสี่ยง ตั้งแต่มีการนำเรื่องการเกษตรอินทรีย์มาใช้ในชุมชนพบว่า การใช้สารเคมีฆ่าแมลง ไม่มี ประชาชนมีการใช้น้ำหมักไล่และกำจัดแมลงแทน การใช้ปุ๋ยเคมีค่อยๆ ลดลง ประชาชนใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น เกษตรอินทรีย์จำเป็นต้องใช้มูลสัตว์เป็นวัตถุดิบทำให้คนในชุมชนมีการเลี้ยงวัวเพิ่มขึ้น มีการตัดหญ้าไปเลี้ยงวัว ทำให้ที่นาไม่รกปัญหาโรคฉี่หนูไม่พบว่าคนในชุมชนมีใครป่วย

นอกจากข้าวแล้ว พืชผักที่ผลิตได้จากหมู่บ้านถือว่าไม่มีการใช้สารเคมีแต่อย่างใด ทำให้ประชาชนมีการบริโภคอาหารที่สะอาดและปลอดภัย ผลการตรวจสารเคมีตกค้างในเลือดของประชาชนในระดับปลอดภัยเพิ่มขึ้น
กลุ่ม องค์กร ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการได้แก่ กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เฝ้าระวังโดยตรวจหาสารเคมีตกค้างในเลือด และการตรวจหาสารปนเปื้อน 6 ในอาหาร และให้ความรู้เกี่ยวกับเลือกซื้อ การล้างผัก เป็นต้น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มแกนนำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล ส่งเสริมการจัดทำน้ำหมัก ปุ๋ยชีวภาพใช้เอง  และการส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ ประชาชนทั่วไปร่วมกิจกรรมเกษตรอินทรีย์


ผลการดำเนินงาน
กระบวนการเรียนรู้จากการทำเกษตรอินทรีย์พบว่า การไถกลบตอซังข้าวพบว่ามีกลิ่นเหม็นข้าวไม่งาม สาเหตุน่าจะเป็นการเน่าเปื่อยของฟางข้าว ก่อให้เกิดแก๊ส ทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นส่งผลต่อการเจริญเติมโตของต้นข้าว ระยะหลังไม่มีใครไถกลบอีก ประกอบกับต้องเสียค่าใช้จ่ายในการไถเพิ่มขึ้นจึงมีการเผาตอซังข้าวก่อนไถในปัจจุบัน สำหรับการทำปุ๋ยชีวภาพในชุมชนจะต้องมีการจัดหาวัสดุมาใช้ในการทำปุ๋ยเช่นแกลขาว แกลบดำ ซึ่งมีราคาแพงขึ้นและหาได้ยากขึ้น เนื่องจากมีโรงงานไฟฟ้าแกลบในจังหวัดสุรินทร์ กากน้ำตาลมีราคาสูงขึ้นทุกวัน และหายากเช่นเดียวกันไม่เหมือนปีแรกๆ ที่เริ่มทำ และในขณะนี้ชุมชนมีการเลี้ยงวัวเพิ่มขึ้นเพื่อเอามูลสัตว์มาทำปุ๋ย หญ้าตามแปลงเกษตรที่เคยรก เคยใช้ยาฆ่าหญ้ามากำจัดชาวบ้านตัดเอามาเลี้ยงสัตว์หมด ปัญหาเรื่องการใช้ยาฆ่าหญ้าหมดไปด้วย การเรียนรู้การใช้น้ำหมัก พบว่ามีประโยชน์นอกจากใช้เป็นปุ๋ยแล้ว ยังใช้ล้างห้องน้ำ ใช้ในการเลี้ยงหมู เพื่อการกำจัดกลิ่น สำหรับน้ำหมักป้องกันและกำจัดแมลงมีการนำมาใช้ทาโค กระบือ ป้องกันแมลง และยังใช้ทาแผลกระบือด้วยปรากฏว่า หายเป็นปกติ และกำลังจะทดลองว่าถ้ามนุษย์เรากินน้ำหมักผลไม้ จะเป็นอย่างไร น่าจะมีผลดีต่อสุขภาพ เหมือนกินนมเปรี้ยวที่ขายตามท้องตลาด การเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียการใช้ปุ๋ยชีวภาพกับปุ๋ยเคมี ในที่นาที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพ มีหอย ปู ปลา มากกว่า ผักที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพมีความเขียวสดนานกว่า เมล็ดข้าวสารที่สีถ้าใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะมีสีใส เต็มเมล็ด ไม่หัก จากการดำเนินงานประชาชนสามารถแยกแยะพืชผักและข้าวที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้  

การทำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองสามารถลดต้นทุนได้ การทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้ผลจะต้องเริ่มด้วยการคืนชีวิตให้แผ่นดิน ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี จึงจะเป็นผล คนในครอบครัวต้องตัดสินใจร่วมกัน และต้องยอมเสียรายได้จากผลผลิตลดลงในระยะแรก ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินทำให้ปลาไม่เป็นโรค ปลามีเพิ่มขึ้น กบเขียดก็มีเพิ่มขึ้นด้วย 



สรุป
การที่ประชาชนในชุมชนจะมีสุขภาพที่ดี อาหารเป็นปัจจัยหนึ่ง ถ้ารับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และมีประโยชน์ส่งผลให้สุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหาร การเกษตรอินทรีย์เป็นหนทางหนึ่งที่จะส่งผลให้กระบวนการผลิตอาหารนั้นมีความสะอาดและปลอดภัย ส่งผลต่อการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้มีความอุดมสมบูรณ์อาหารจากธรรมชาติมีเพิ่มขึ้น ประชาชนมีรายจ่ายด้านการซื้ออาหารลดลง มีรายได้เพิ่มขึ้น มีสุขภาพที่ดีสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-10 (2820 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©