-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 307 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

อินทรีย์ชีวภาพ




หน้า: 2/3



เกษตรอินทรีย์...เศรษฐกิจพอเพียงและโอกาสสู่ตลาดโลก
 

ปัจจุบัน ผู้บริโภคให้ความสนใจกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น จึงนิยมหันมาบริโภคอาหารที่ถูกสุขอนามัย ตลอดจนผ่านกรรมวิธีการผลิตที่ปลอดภัยและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ตลาดของเกษตรอินทรีย์ (organic farming) เป็นที่ต้องการและมีการขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements: IFOAM) ได้ระดมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านเกษตรอินทรีย์โดยตรงจากทั่วโลก เพื่อให้คำนิยามหลักการเกษตรอินทรีย์และนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของสหพันธ์ฯ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2548 ซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้ลงมติรับรองหลักการเกษตรอินทรีย์ที่ประกอบด้วยหลักการ 4 ข้อสำคัญ คือ สุขภาพ นิเวศวิทยา ความเป็นธรรม และการดูแลเอาใจใส

แนวคิดพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์
แนวคิดพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์ คือ การทำการเกษตรแบบองค์รวม ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน การรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด รวมทั้งการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของฟาร์ม ทั้งนี้ แนวคิดในการทำเกษตรอินทรีย์จะแตกต่างอย่างชัดเจนจากเกษตรแผนใหม่ที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งให้สูงที่สุด โดยการพัฒนาเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับการให้ธาตุอาหารพืช ตลอดจนการป้องกันและกำจัดสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อผลผลิตของพืชที่ปลูก แนวคิดเช่นนี้เป็นแนวคิดแบบแยกส่วน เพราะแนวคิดนี้ตั้งอยู่บนฐานการมองว่า การเพาะปลูกไม่ได้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ดังนั้น การเลือกชนิดและวิธีการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ จึงมุ่งเฉพาะแต่การประเมินประสิทธิผลต่อพืชหลักที่ปลูก โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรการเกษตรหรือนิเวศการเกษตร


เนื่องจากเกษตรอินทรีย์เป็นการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับการทำฟาร์มเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้น เกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จึงจำเป็นต้องพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ และการบริหารจัดการฟาร์มของตนเพิ่มขึ้นด้วย โดยผลที่ตามมาก็คือ เกษตรกรมีความรู้และเกิดแนวทางการเกษตรที่ตั้งอยู่บนกระบวนการแห่งการเรียนรู้และภูมิปัญญา เพราะเกษตรกรต้องสังเกต ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสรุปบทเรียนเกี่ยวกับการทำการเกษตรของฟาร์มตนเอง ซึ่งจะมีเงื่อนไขทั้งทางกายภาพ เช่น ลักษณะของดิน ภูมิอากาศ และภูมินิเวศ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ เพื่อทำให้เกิดกระบวนการคัดสรรและพัฒนาแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่เฉพาะและเหมาะสมกับฟาร์มของตัวเองอย่างแท้จริง

การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ทำเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น หากแต่ยังสามารถดำเนินการผลิตเพื่อการค้า เนื่องจากครอบครัวของเกษตรกรส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพา
การจำหน่ายผลผลิตเพื่อเป็นรายได้ในการดำรงชีพ ซึ่งผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์นั้น สามารถนำไปจำหน่ายทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศได้


ทั้งนี้ การดำเนินการตลาดในระดับท้องถิ่นอาจมีรูปแบบที่หลากหลายตามแต่เงื่อนไขทางสภาพเศรษฐกิจและสังคมตามแต่ท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ระบบชุมชนสนับสนุนการเกษตร (Community Support Agriculture: CSA) หรือระบบอื่นๆ ที่มีหลักการในลักษณะเดียวกัน ส่วนตลาดที่ห่างไกลออกไปจากผู้ผลิต กระบวนการเกษตรอินทรีย์ได้พยายามพัฒนามาตรฐานการผลิตและระบบการตรวจสอบรับรองที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ว่า "ทุกขั้นตอนของการผลิต แปรรูป และการจัดการนั้นเป็นการทำงานที่พยายามอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรักษาคุณภาพของผลผลิตให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด"

แนวโน้มของเกษตรอินทรีย์


จากการสำรวจโดย Foundation Ecology & Agriculture (SOEL) และ Research Institute of Organic Agriculture (FiBL) ในปี พ.ศ. 2549 พบว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 120 ประเทศ ที่มีการผลิตเกษตรอินทรีย์ อนึ่ง พื้นที่เกษตรอินทรีย์ ที่ได้รับการตรวจสอบรับรองมาตรฐานแล้วมีมากกว่า 196.89 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 0.63% ของพื้นที่การเกษตรทั่วโลก (31,325 ล้านไร่) แต่หากรวมพื้นที่ที่ได้รับการตรวจรับรองว่ามีการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากธรรมชาติอย่างยั่งยืนเข้าไปด้วย พื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองจะเพิ่มขึ้นเป็น 319.86 ล้านไร่ ทั้งนี้ พื้นที่หลักของเกษตรอินทรีย์อยู่ในประเทศออสเตรเลีย (75.63 ล้านไร่) จีน (21.88 ล้านไร่) และอาร์เจนตินา (17.5 ล้านไร่) (ข้อมูลจาก Willer and Yussefi 2006)


การตลาดเกษตรอินทรีย์ในช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนหลายฝ่ายต่างเริ่มยอมรับว่า ตลาดเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกกำลังปรับตัวจากตลาดเฉพาะ (niche market) มาเป็นตลาดกระแสหลัก ถึงแม้การขยายการผลิตจะไม่ใช่ตัวชี้วัดถึงขนาดของตลาดได้โดยตรง แต่ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มและโอกาสทางการตลาดทั่วโลก เพราะการผลิตที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้เองที่เป็นการบ่งบอกว่า ตลาดเกษตรอินทรีย์ก็ต้องมีเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแน่นอน ซึ่งโดยปกติแล้ว การผลิตมักจะปรับตัวได้ช้ากว่าการขยายตัวของตลาด ยิ่งการผลิตขยายตัวเร็วเท่าใดก็แสดงว่ามีความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานอยู่มาก และปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีอย่างสูงเช่นกัน


การพัฒนานวัตกรรมด้านเกษตรอินทรีย์ของเมธีส่งเสริมนวัตกรรม
นายวิฑูรย์ เรืองเลิศปัญญากุล เลขาธิการมูลนิธิสายใยแผ่นดินและเมธีส่งเสริมนวัตกรรม ได้มีแนวทางในการพัฒนาโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้กำหนดกรอบของการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยในเบื้องต้นไว้สองด้าน คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร หรือผู้ประกอบการผู้สนใจการทำเกษตรอินทรีย์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมตลอดจนนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการด้านเกษตรอินทรีย

ทั้งนี้ หลักคิดที่สำคัญในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศ คือ ต้องมีการพัฒนาให้เกิดรูปแบบธุรกิจที่มีความยั่งยืน ดังตัวอย่างเช่นโครงการนวัตกรรมการปรับปรุงการผลิต การตลาด และสร้างมาตรฐานส้มโอด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ โครงการศูนย์บริการครบวงจรด้านเกษตรอินทรีย์ และโครงการวิเคราะห์เชิงลึกด้านการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป การทำเกษตรอินทรีย์สามารถประยุกต์เข้ากับหลักคิด ทั้งแนวความคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง และการผลิตในรูปแบบธุรกิจเพื่อการแข่งขัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการ หากเป็นการผลิตเพื่อการแข่งขันแล้ว การนำนวัตกรรมเข้าไปแทรกแซงจะเป็นการสร้างเพื่อให้เกิดจุดเด่นของผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จากประเทศไทย ซึ่งจะสามารถส่งเสริมให้เกิดตราสินค้าภายใต้คำกล่าวที่ว่า "Think Organic, Think Thailand" ได้ในอนาคตอันใกล้

 
คุณาวุฒิ บุญญานพคุณ
ผู้จัดการโครงการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
http://www.nia.or.th/innolinks/200611/innovambassador.htm
 




หน้าก่อน หน้าก่อน (1/3) - หน้าถัดไป (3/3) หน้าถัดไป


Content ©