-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 472 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ไร่กล้อมแกล้ม




หน้า: 3/4



ใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-เมื่อไร-อย่างไร-ทำไม................เริ่มบันทึก ม.ค.53




1. ที่ไร่กล้อมแกล้ม
อังคารที่ 19 ม.ค. 53  กลุ่มเกษตรกรเขตตลิ่งชัน กทม. จำนวนประมาณ 50 คน  นำโดย  "คุณแหม่ม"  จนท.สำนักงานเกษตรกรุงเทพ  ไปเรียนรู้การทำ  ยูเรก้า.  ไบโออิ.  ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 30-10-10.  แคลเซียม โบรอน.  สารสกัดสมุนไพร.  และระบบสปริงเกอร์. .... การเรียน/-สอนครั้งนี้ทำแบบ  LEARNING  BY  SEEING  คือ  ทำให้ดู  เพราะระยะเวลาเรียนค่อนข้างจำกัด




2. กลุ่มเกษตรกรห้วยสัตว์ใหญ่
ด้วยหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก (นปอ.) ร่วมกับ หน่วยรักษาความปลอดภัย พระตำหนักไกลกังวล

จัดอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เรื่อง "การรายงานข่าวและสังเกตุการณ์อากาศยาน และความรู้เรื่องการเกษตร" ในวันพฤหัสที่ 28 ม.ค. 53 เวลาเช้าถึงค่ำ

ลุงคิมจะไปสอนการทำ ยูเรก้า. ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง+21-7-14. ฮอร์โมนน้ำดำ ไบโออิ(อิ๊อิ๊). ฮอร์โมนไข่สูตรไต้หวัน. แคลเซียม โบรอน ซุปเปอร์. และอื่นๆ (ถ้ามีเวลา)

ณ ลานเอนกประสงค์ อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปุ๋ยทุกสูตรๆ ละ 100 ล.ทำเสร็จแล้วแจกให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม


โครงการนี้ไม่จำกัดบุคคลภายนอกที่สนใจเข้ารับการอบรม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย



ก่อนไปตั้งใจไว้ กลับมาจะเล่าสู่ฟังเลยว่างั้น แต่พอเอาจริงเข้า กลับทันทีไม่ได้ เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า..... ก้าวแรกทันทีที่เหยียบย่างลงสู่ บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใจงี้หายแว้บบบบ รู้สึกวิเวกวังเวงวิโหวเหว ตะลอนเตลิดเปิดเปิงไปอยู่ไหนก็ไม่รู้ ..... สอบถามไปที่"คำเอิน" บ้านนาแห้ว จ.เลย.ก็ว่า ไม่เห็น หายซับหายสอยไปนานแล้ว... สอบถามไปที่"หนานอิน" บ้านแจ่วแห้ว จ.เชียงราย.ก็ว่า เห็นแว็บๆ แล้วหายไปเลย ....สอบถามต่อไปที่ "ไข่นุ้ย" บ้านโต๊ะโมะ จ.นราธิวาส.ก็ว่า เห็นอยู่หลัดๆ ตอนนี้หายไปแล้ว....สอบถามอีกที่ "เซี่ยงเมี่ยง" บ้านเวินบึก จ.อุบลราชธานี.ก็ว่า เห็นนิดเดียว ตอนนี้หายไปแล้ว ..... สอบถามเพิ่มเติมที่ "จะแมว" บ้านอีต่อง จ.กาญจนบุรี.ก็ว่า เห็นอยู่หว็อยๆ ตอนนี้ไปไหนแล้วไม่รู้ .......สอบถามอีกครั้งขอเป็นแหล่งสุดท้ายที่ "สมแยย" ซอยละลายทรัพย์ กรุงเทพ.ก็ว่า หายเงียบไปหลายปีแล้ว ไม่เคยเห็นหัวเลย..... เลยไม่รู้ว่า ใจแว้บบบน่ะหายไปไหน กระทั่งทุกอย่าง เรียบร้อย-ร้อยเรียบ แม้กลับถึงไร่กล้อมแกล้มแล้วก็ยังตั้งสติไม่อยู่ ต้องทำบายศรีสู่ขวัญ เรียกขวัญคืนร่าง ขวัญหัวหัวอยู่หัว-ขวัญหางอยู่หาง ....วันนี้ตัดสินใจเด็ดขาด GENTLE AGREEMENT  ขอเล่าเรื่องขำแต่ไม่น่าหัวเราะให้ฟัง.....

วันนั้นมีคนมาร่วมงานตามทะเบียน 560 คน นอกทะเบียนอีกกว่า 100 คน แบ่งเป็น.....กลุ่ม ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ที่รับคลื่นวิทยุไม่ได้เลย กำนันคัดเลือกมา 50 คน ดันมากว่า 500 เพราะรู้ว่ามีข้าว กินฟรี มีผ้าห่มแจก..... กลุ่มหัวหิน. ปรานบุรี. ประจวบ. ราว 50 คน กลุ่มนี้รู้ข่าวจากวิทยุต้อง การมาเรียนรู้ ต้องการรับปุ๋ยแจก.... กลุ่มท่ายาง. บ้านลาด. เพชรบุรี ราว 30 คน รู้ข่าวจากวิทยุ ต้องการมาเรียนรู้ ต้องการรับแจกปุ๋ย

เริ่มสอนตอนหลังเที่ยงเล็กน้อย เริ่มทั้งๆ ที่ข้าวยังคาอยู่ในจาน เพราะรู้ว่าเวลาน้อย ในใจคิดอยู่ว่า ราวบ่าย 3 ก็น่าจะปล่อย


สูตรแรกเป็น "แคลเซียม โบรอน" เพราะเดี๋ยวจะต้องใช้ทำ "ยูเรก้า" ระหว่างที่มือทำปากก็พร่ำบอกสรรพคุณของแคลเซียม โบรอน.ที่มีต่อพืช พูดอธิบายขนาดนั้นก็ยังมีคนถามแทรก "ใช่ อีเอ็ม ไหม ?" ...... คิดคำถามงี้ได้ไง

บนโต๊ะมีขวดขนาด 5 ล. ใส่ "ฮอร์โมนน้ำดำ - สารสกัดสมุนไพร - ฮอร์โมนไข่ สูตรไต้หวัน" พร้อมกับเขียนรายละเอียดส่วนผสมกำกับ ให้คนมาอ่าน หรือจด หรือถ่ายรูป ได้ตามอัธยาศรัย ก็มีคนมาเก็บรายละเอียดตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มเอามาวางโชว์....สูตรนี้คาดล่วงหน้าว่าคงไม่ได้สอน เพราะเวลามีจำกัด

อีกมุมหนึ่งของโต๊ะเตรียมอุปกรณ์ วัสดุส่วนผสม เรียงตามลำดับมีชื่อกำกับให้เห็น.....ด้านหน้ามี ถังขนาด 100 ล. 2 ใบ พร้อมโมลิเน็กซ์ยักษ์..... ถังหนึ่งเขียน "ยูเรก้า" พร้อมด้วยรายการส่วน ผสม....อีกถังหนึ่งเขียน "ระเบิดเถิดเทิง + 21-7-14" พร้อมด้วยรายการส่วนผสม......เขียนลง บนถังนั่นแหละ ใครอยากรู้มาอ่านเอา จำไม่ได้ก็จดบันทึกไป จดไม่ทันเขียนหนังสือไม่เป็นก็ถ่าย รูปเอา..... ใจจริงอยากโชว์ด้วย POWER POINT แต่ทำไม่ได้ กลางวันแสกๆ แสงสว่างโล่ง โจ้ง ทำได้ไง ไม่เหมือนที่ธรรมศาสตร์นี่


เพราะเวลาน้อย (มีเพียง 3 ชม.) คนเรียนไม่มีความรู้พื้นฐาน ไม่เคยเห็นส่วนผสมมาก่อนแม้แต่ชื่อก็ไม่เคยได้ยิน..... เอาละเหวย เอาละวา..... สอนคนมีพื้นความรู้ให้รู้เรื่องสอนยังไงก็ได้ แต่สอนคนที่ไม่มีพื้นความรู้ให้รู้เรื่อง สอนยังไง .... งานนี้ลุย LERNING BY DOING อย่างเดียว

เริ่มที่ "ยูเรก้า" ก่อน.... สั่งเดินเครื่องโมลิเน็กซ์ยักษ์ แล้วใส่ส่วนผสมทีละตัวๆ ตามลำดับที๋เขียนไว้ข้างถัง ใส่ตัวหนึ่ง ไขก๊อกออกมาสอนวิธีตรวจสอบทีหนึ่ง ทำทุกตัว ตรวจสอบทุกตัว จนครบทุกตัว

เสร็จจากยูเรก้าแล้วต่อที่ "ระเบิดเถิดเทิง + 21-7-14" ทำทุกขั้นตอนตามลำดับเหมือนยูเรก้า ทำไปสอนไป น้ำหมักชีวภาพสูตรที่นี่ไม่เหม็นขนาดเหม็นระเบิดไปแปดบ้าน..... ตอนนั้นก็ถามเหมือนกันว่า ใครทำแล้วเหม็นแปดบ้านบ้าง ยกมือกันระนาว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ใครสอน ไอ้ที่เหม็นน่ะ เชื้อโรคทั้งนั้น ไม่ใช่ปุ๋ย

ใกล้บ่าย 3 โมง คนฟังราว 200 คน ไม่ถอย เพราะยังไม่ได้รับปุ๋ยแจก เลยสั่งกรอกปุ๋ยทั้ง 2 สูตร ใส่ขวดขนาด 500 ซีซี. (ฝ่ายทหารเตรียมขวดเปล่ามาให้) ขณะ จนท.กรอกปุ๋ยลงขวดก็พร่ำบอก วิธีใช้ปุ๋ย "ขยายขนาด" ทั้งทางใบและทางราก.... งานนี้ได้ปุ๋ยแจกไปคนละ 4-6 ขวด 500 ซี ซี. ยิ้มแป้นกลับบ้านได้ ได้ไปแล้วจะใช้เป็นหรือเปล่าก็ไม่รู้


แน่นอนก็คือบอก...... วันนี้คุณได้แค่ "เห็น" ด้วยตาเท่านั้น ว่าปุ๋ยที่เขาทำขายกันน่ะ เขาทำกันยังไง คุณเห็นเพียงครั้งเดียวจะทำเองเลยได้ยังไง เลย "ปรามาส" ต่อตามสไตล์ว่า "กลับไปแล้วใครทำได้ส่งข่าวด้วย ลุงคิมจะไปกราบ...." พร้อมกับให้แง่คิด แม้ไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่ก็ไม่ยากอย่างที่กลัว เรื่องอย่างนี้ต้องมีเวลา เรียนโดยการหัดทำ ทำหลายๆ ครั้งหลายๆ เที่ยว จนกว่าจะชำนาญ

งานนี้ ครั้งแรกจริงๆ ที่ขนย้ายเครื่องมือ อุปกรณ์การสอนออกนอกไร่กล้อมแกล้ม เรียกว่าบันทุกเต็มกระบะเชียวแหละ.... งานหน้าไม่เอานะ ไม่ว่าที่ไหนทั้งนั้น






3... 10 กุมภา วันสีสันชีวิตไทย
10 ก.พ.  "วันสีสันชีวิตไทย"  สมาชิกกลุ่มสีสันชีวิตไทยประมาณ 80-100 คน  มีทั้งสมาชิกรุ่นแรกๆ (พ.ศ. 2537) และสมาชิกรุ่นล่าสุด  ทุกคนล้วนทำการเกษตรแบบ  "อินทรีย์นำ - เคมีเสริม - ตามความเหมาะสม"  ทั้งนั้น  หลายคนพัฒนาตัวเองขึ้นไปเป็นวิทยากรระดับจังหวัด  กับหลายคนยกสวนให้เป็นแหล่งเรียนรู้  ที่แนๆ ทุกคนปลอดหนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์  นอกจากปลอดหนี้แล้วยังได้เพิ่มอสังหาริมทรัพย์  เพิ่มกิจการค้าขายผลิตภัณท์เพื่อการเกษตรอย่างเป็นล่ำเป็นสัน  ที่น่าดีใจ  เมื่อลูกๆ นศ.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร  รุ่น 5 กับ รุ่น 6 มาร่วมงานด้วย  ลูกหลานมาเยี่ยมเยียนแบบนี้มีหรือคนแก่จะไม่ดีใจ

ช่วงเช้ากลุ่มคาราวานสีสันชีวิตไทย  ลงขันรับภาระเลี้ยงพระที่วัด  สายๆกลับมาทานข้าวเช้าที่ไร่กล้อมแกล้ม  บรรยากาศตอนนี้คึกคักสุดๆ  แต่ละคนคุยกันถูกคอ เสียหัวเราะดังลั่น  คุยกันสนุกสนานทั้งๆ ที่รู้จักกันมาก่อน กับที่เพิ่งรู้จักกันวันนี้เอง

หลังเที่ยงบางคนขอตัวกลับก่อนเพราะต้องเดินทางไกล  แต่กลุ่ม  NW-TU-RY-KK  ราว 10 คนยังไม่กลับ  อยู่คุยสารพันปัญหาเกษตรที่เป็นทั้งแนวคิดใหม่และประสบการณ์ตรงสู่กันฟัง  โดยเฉพาะเรื่อง  "ฮอร์โมนน้ำดำ - ฮอร์โมนไข่ - ยูเรก้า -ระเบิดเถิดเทิง"  ว่าได้ผลสุดๆ อยางน่าอัศจรรย์  โดยเฉพาะ  "สูตรลงหัว"  ที่ใช้กับสับปะรด  ขนาดสับปะรดต้นโทรมใกล้ตายมิตายแหล่ยังฟื้นขึ้นมาได้  ทุกคนที่เห็นต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  ได้ผลผลิตแน่ๆ แบบนี้ แม้แต่ปาล์มน้ำมัน.  มะยงชิด.  ทุเรียน.  เงาะ.  มังคุด.  ทั้ง ดก-ดี-ใหญ่  อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  ต่างจากสวนข้างเคียงชนิดคนละเรื่องกันเลย ...... คุยไปคุยมาอยากให้ลุงคิม  ปรุง/สอน  เดี๋ยวนั้นเลย  เสร็จแล้วจะขอซื้อ  ทั้งเอาไปขายต่อให้เกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียง  กับบางส่วนกะเอาไว้ใช้เอง  แรกๆ ก็ว่าจะไม่มีการสอนหรือการซื้อขายอะไรทั้งนั้น  ตั้งใจว่าได้พบกันแล้วก็พูดคุยกันธรรมดาๆ เท่านั้น  แต่เมื่อทุกคนยืนยันจะเอาจริงๆ  เลยตัดสินใจลงมือ  ปรุง/สอน  ทำยูเรก้า.อย่างเดียว  ส่วนสูตรลงหัว.  ฮอร์โมนน้ำดำ.  มีสต๊อกไว้ก่อนแล้ว  ทุกคนพอใจ  พร้อมกับซื้อใน  "ราคาส่ง"  ที่ส่งให้บริษัท  มีฮอร์โมนน้ำดำ.  สูตรลงหัว.  ยูเรก้า.  อย่างละ 100 ล.

หลายคนมาไม่ได้เพราะติดธุระสำคัญ  ก็ส่งข่าวผ่าน 1188 ส่งข้อความฝากทางมือถือกว่า 50 ราย  กับที่โทรศัพท์มาโดยตรงอีกกว่า 20 ราย  ก็มีนะที่มาด้วยตัวเองบุกถึงบ้านเลย...น่าชื่นใจ


10 ก.พ. วันสีสันชีวิตไทย  แท้จริงคือ  "วันแม่เจ็บเจียนตาย"  ของลุงคิม  เริ่มครั้งแรกของปีแรกที่ไร่กล้อมแกล้มถือกำเนิด  โดยมีสมาชิก  "สิงห์กล้อมแกล้ม"  เป็นตัวตั้งตัวตีหลัก โดยที่ลุงคิมไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น  งานนั้นแม้จะเป็นงานแรกแต่ก็มีสมาชิกสายผู้ฟังรายการวิทยุ  กับสมาชิกสายที่เคยมาเรียนเมื่อคราวตระเวนออกไปสอนเกษตรกรทั่วประเทศ  ภายใต้โครงการ  "สีสันสัญจร"  มากันมากขนาดที่จอดรถหน้าไร่กล้อมแกล้มยาวไกลไปถึงทางแยกถนนใหญ่หน้าวัดกันเลย

จากวันนั้นถึงวันนี้  ทุกๆ  "วันสีสันชีวิตไทย"  ของ 4-5 ปีที่ผ่านมา บ่งบอกว่า  แม้ไม่ยิ่งใหญ่ระดับ  ผบ.ทบ. หรือ ผบ.ทหารสูงสุด  หรืออธิบดี  แต่เป็นเพียง พ.ท. ยศเล็กๆ  ก็ยังมีคนมาอวยพรวันเกิดทุกปี นี่คือ  "ใจถึงใจ"  ที่มีต่อกันและกัน ....... ใช่หรือไม่ 

เมื่อผูกพันกันลึกซึ้งปานนี้แล้ว  แผนการในอนาคต หัวข้อ 19 ที่ว่า  "เลิกทุกอย่าง"  จะทำได้อย่างไร


ขอบคุณ....ขอบคุณ จากใจจริง
ลุงคิมครับผม



4.เชิญไปสอนนอกสถานที่
สายๆของวันพุธที่ 17 ก.พ. 52 กลุ่มผู้นำกลุ่มเกษตรกร อ.เมือง จ.กาญจนบุรี  จำนวน 6 ท่าน  ประกอบด้วย  นายก อบต. (ไม่ได้ถามตำบล).  กำนัน.  ครู.  ปราชญ์ชาวบ้าน/เกษตรกรดีเด่น. และเกษตรกร 2 ท่าน. ไปพบลุงคิมที่ไร่กล้อมแกล้ม

ไปแล้วไม่พบลุง  เพราะประจำทุกวันพุธลุงคิมมีนัดพบปะสมาชิกที่ชมรมสีสันชีวิตไทย สี่แยกบางแพ จ.ราชบุรี  แสดงว่าบุคคลกลุ่มนี้ไม่เคยฟังรายการวิทยุ  เมื่อไปแล้วได้แต่พบคนงาน พบคนงานแล้วสอบถามรายละเอียดเรื่องการเรียน การสอน  "ทำปุ๋ย/ฮอร์โมน"  ที่ไร่กล้อมแกล้ม  ซึ่งก็ไม่ได้รายละเอียดอะไรมากนัก  เพราะเป็นแค่คนงาน...... สอบถามคนงานเรื่อง  "เอกสารสูตร"  ว่ามีใหม  คนงานหยิบ  "แผ่นชาร์ต"  ขนาดใหญ่สำหรับแขวนโชว์ข้างห้องเรียนให้คนที่มาเรียน  "อ่าน"  แล้ว  "จด"  ตามอัธยาศรัย  จำนวน 15-20 แผ่น มาวางให้เลือก คณะที่มาเห็นแล้วถอดใจ  ไม่ชอบอ่าน ไม่ชอบจด  สอบถามเอกสารที่เป็นแผ่นๆ  คนงานตอบ  "ไม่มี...ที่นี่ไมใช่ปอเต็กตึ๊ง...ไม่ใช่หน่วยราชการ...ไม่ใช่มูลนิธิหน่วยสงคมสงเคราะห์"
  
ทั้งคณะตัดสินใจตามไปหาลุงคิมที่ชมรมฯ  ไปถึงก็ได้พบกับกลุ่มเกษตรกรที่กำลังปรึกษาปัญหาการเกษตรอยู่กับลุงคิม ต้องรอจนกระทั่งกลุ่มปรึกษาปัญหาเรียบร้อยแล้วจึงได้คุยกัน....ทราบว่า

อยากให้ลุงคิมไปสอนเกษตรกรกลุ่มหน่อไม้ฝรั่งในเขต อ.เมือง จ.กาญจนบุรี มีกลุ่มเกษตรกรประมาณ 40 คน ..... ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ .... ยินดีจ่าย

ลุงคิมตอบไปว่า...
- ค่าวัสดุอุปกรณ์  ประมาณ 10,000 บาท  ต่อการทำ 1 ถัง 100 ล. ต่อ 1 สูตร หรือตกลิตรละ 100 บาท  ถ้าซื้อที่ทำส่งเอเย่นต์ ๆ วางขายลิตรละ 300 บาท

- สูตรที่จำเป็นต้องใช้ .... 1.น้ำหมักชีวภาพระบิดเถิดเทิง .... 2.ฮอร์โมนน้ำดำ  ..... 3.ยูเรก้า.... 4. สารสกัดสมุนไพร ... สำหรับหน่อไม้ฝรั่ง ใช้แค่นี้ก็พอ

ลุงคิม       :  ทำกี่สูตร.  สูตรละกี่ลิตร.  ปุ๋ย/ฮอร์โมน  ที่ทำแล้วเอาไปไหน
นายก อบต :  ทำทุกสูตร.  สูตรละ 100 ล.  ทำแล้วแบ่งกันไปทุกคน

ลุงคิม       :  ทำทุกสูตร.  ปุ๋ย/ฮอร์โมน  ใช้เวลาสูตรละ 4-5 ชม.  สารสกัดสมุนไพรใช้เวลา 2-3 วัน  กลุ่มคุณมีเวลาหรือ ..... คน 40 คน ปุ๋ย 100 ลิตร  แบ่งกันได้คนละ 2 ลิตร  เอาไปวางหัวแปลงหรือ  ปุ๋ย 2 ล.แค่ทดลองก็ยังไม่เห็นผล  แล้วมันจะได้อะไร ทำไมไม่ทำแล้วแบ่งกันได้คนละ 10-20 ล.ไปเลย

นายก อบต. : งบประมาณมีน้อย  ตอนแรกอยากทำน้อยๆก่อน.....แล้วค่าตัว-ค่าสอนล่ะ  คิดเท่าไหร่

ลุงคิม      :  ถ้าคิดจะเรียนเพื่อกลับไปทำเองได้ ต้องมีเวลามากๆ สักหน่อย เพราะขั้นตอนในการทำแต่ละสูตรไม่ใช่ง่ายๆ แต่ก็ไม่ยาก  เกษตรกรเราไม่มีความรู้ขั้นพื้นฐานเรื่องปุ๋ย เรื่องฮอร์โมน  การเรียนด้านวิชาการคงไม่ได้ผล  ต้องข้ามไปเรียนภาคปฏิบัติกันเลย  เรียนปฏิบัติแล้วฝึกทำเองหลายๆ รอบ  ก็รอบละ 100 ลิตร ต่อ 1 สูตรนั่นแหละ  ทุกสูตรก็มีค่าวัสดุอุปกรณ์ต่ามที่ว่า...... ส่วนค่าตัว ค่าสอน  ผมไม่คิดหรอก  รับเงินคุณมาแล้วมีหวังผมเสียคนแน่...... ค่าใช้จ่ายแค่นี้คุณว่ามาก  แล้วที่คุณไปซื้อตามร้าน  คุณต้องจ่ายมากกว่านี้ 3-4 เท่า แล้วยังซื้อผิดสูตรมาด้วย

งานอย่างนี้ไม่ใช่แค่ได้ซื้อปุ๋ยตรงสูตรราคาถูกอย่างเดียว  คุณยังได้ความรู้  ได้ประสบการณ์ที่จะติดตัวคุณไปถึงลูกหลานอีกด้วย

นายก อบต  : ทำไมล่ะ

ลุงคิม        :  คุณมาเรียนแล้วกลับไปทำเองไม่ได้  คุณก็จะว่า  "เสียเงินเปล่า"  แสดงว่าผมสอนไม่ดีน่ะซี

นายก อบต  :  คงไม่ยังงั้นหรอก

ลุงคิม        :  เอาเป็นว่าสรุปเลยดีกว่า ผมตั้งใจแล้วว่า จะไม่ออกไปสอนนอกสถานที่  ถ้าคุณต้องการมาเรียนรู้จริงๆ ก็มาเรียนที่ไร่กล้อมแกล้มก็แล้วกัน  ค่าตัว ค่าสอน ค่าน้ำ  ค่าไฟฟ้า  ผมไม่คิด  ค่าอาหารคุณจัดการกันเองเท่านั้น

งานนี้ยังตกลงกันไม่ได้  เห็นว่าต้องกลับไปปรึกษากันอีกครั้งแล้วจะติดต่อกลับมา  จากนั้นก็ได้พูดคุยอะไต่อมิอะไรที่เกี่ยวกับการเกษตรอีกเยอะแยะ  โดยเฉพาะหน่อไม้ฝรั่งว่าต้องเตรียมดิน  เตรียมแปลง  ใช้ปุ๋ย/ฮอร์โมน  อย่างไร  สูตรไหน  โดยเฉพาะสารเคมีตกค้าง  เคยสร้างความเสียหายแก่ผู้ปลูกมานักต่อนัก  เพราะเมื่อบริษัทรับซื้อตรวจพบแล้วจะปฏิเสธไม่รับผลผลิตล๊อตทันทีโดยไม่มีข้อแม้  เมื่อปฏิเสธผลผลิตล๊อตนี้แล้วยังขึ้นบัญชีดำไม่รับซื้อผลผลิตจากสวนนี้ไปอีกเป็นปี  ซึ่งคณะที่มาก็ยอมรับว่าจริง  นี่คือมูลเหตุหลักที่อยากเรียนรู้เรื่องปุ๋ย/ฮอร์โมน แล้วก็สารสกัดสมุนไพร

คำตอบสุดท้ายจากลุงคิมก็คือ  คุณต้องมีเวลามากๆ  มากขนาดที่คุณฝึกจนกว่าจะทำเป็นด้วยตัวเองนั่นแหละ


ลุงคิม ....ครับผม




5.  นศ.วิทยาลัยเกษตรกรรมสิงห์บุรี 

เมื่อ 23-26 มี.ค. 53 ด้วยเวลา 3 คืนกับ 4 วัน  ที่ลูกชาย 1  ลูกสาว 4  เติมด้วยอาจารย์ปกครอง อีก 1  จากวิทยาลัยเกษตรกรรมสิงห์บุรี  เป็นนักศึกษาระดับ ปวส. เข้าฝึกงาน  LEARNING BY DOING  ที่ไร่กล้อมแกล้ม  นับเป็นช่วงเวลาแสนสนุกกับการทำงาน  กับงานถ่ายทอดแนวคิดอุดมการณ์


 บทเรียนแรก   ดั่งปฐมนิเทศน์ เป็นการบอกกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมถึงวิชาที่ต้องเรียนต้องสอนอันได้แก่ ได้แก่

1. ปุ๋ยทางใบ  “ยูเรก้า”  สูตรขยายขนาด
2. ปุ๋ยทางใบ  “ไบโออิ”  สูตรบำรุงต้น
3. ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง สูตรเจริญเติบโต
4. ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง สูตรขยายขนาด
5. แคลเซียม โบรอน
6. ฮอร์โมนไข่ สูตรไต้หวัน  ...... และ
7. สารสกัดสมุนไพร สูตรรวมมิตร 

บทเรียนที่ 2    เป็นการกล่าวนำให้เข้าใจถึงแนวทางทำการเกษตรแบบ  “อินทรีย์ นำ - เคมี เสริม – ตามความเหมาะสม”   และ  “ปรัชญาการเกษตร”  ที่พืชเป็นศูนย์กลาง  โดยมีเป้าประสงค์ของการทำเกษตรเป็น  “ธง”  เช่น  ปลูกกิน – ปลูกขาย  การเรียนรู้ครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่  “ปุ๋ย/ฮอร์โมน”  สำหรับพืช  เรียนรู้ไปแล้ว  “ทำใช้ – ทำขาย”   ได้ตามอัธยาศัยหรือแนวคิดของแต่ละคน 

ปรับสร้างทัศนคติต่ออาชีพเกษตรระดับครอบครัว  ระดับประเทศ  และระดับโลก  ชี้เปรียบให้เห็นข้อต่างระหว่าง  เกษตรกรรมผู้ผลิตอาหาร กับ อุตสาหกรรมผู้ผลิตของใช้   สิ่งไหนจำเป็นต่อการดำรงชีวิตมากกว่ากัน  ประเทศอุตสาหกรรมทำเกษตรไม่ได้เพราะข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์แต่คนของเขาต้องกิน  ในขณะที่ประเทศเกษตรกรรมทำได้ทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมเพราะโซนภูมิศาสตร์โลกอำนวย  ในเมื่อตัวเราเริ่มเรียนมาทางด้านเกษตรกรรมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง  “เอาดี เอาชนะ เอาสำเร็จ”   ทางด้านเกษตรนี้ให้ได้ 

การเกษตรวันนี้  แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ  แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากถ้าจะทำ   เกมส์นี้  “แพ้-ชนะ”  อยู่ที่ใจ   ลุงคิมเรียนจบ ม.6 สมัยก่อน  เป็นหลักสูตร ม.6 รุ่นสุดท้าย   เทียบเท่า ม.3 ปัจจุบัน  แต่ที่ลุงคิมคุยกับคนระดับดอกเตอร์ได้รู้เรื่องเพราะลุงคิมอ่านหนังสือที่ดอกเตอร์เขียน  อ่านหลายๆ เล่ม  อ่านหลายๆ ดอกเตอร์  อ่าน 10 ดอกเตอร์ก็เท่ากับรู้เท่า 10 ดอกเตอร์     ไม่มีใครทำอะไรเป็นมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่  ทุกคนล้วนเกิดมาแล้วฝึกหัดเรียนรู้ภายหลังทั้งสิ้น 

การเรียนในห้องเรียน  นักเรียน 20-30-50 คน  มีอาจารย์สอนคนเดียวกัน  แต่นักเรียนสอบได้ที่ 1 พียงคนเดียว การที่ผลการเรียนของทุกคนต่างกัน เป็นเพราะ  “กระบวนการคิด”  หรือ  “กระบวนการวิเคราะห์”  หรือ  “การะบวนการรับ”   ต่างกันนั่นเอง  ซึ่งกระบวนการทุกอย่างนี้สามารถปรับได้  และต้องปรับด้วยตัวเองเท่านั้น  เพราะอาจารย์ผู้สอนคงไม่อาจรู้ได้ว่าใจของผู้เรียนกำลังคิดอะไรอยู่   

การทำเกษตรด้านพืชวันนี้  ต้นทุนค่าปุ๋ย 30 %   ค่าสารเคมีฆ่าแมลง 30%   ค่าแรงงาน 20 %  รวมเป็น 80%  ของต้นทุนรวม  หลายปัจจัยดังกล่าวเป็น  “ต้นทุนที่สูญเปล่า”  ตามหลักเศรษฐศาสตร์การลงทุน  ในอีกมุมมองหนึ่ง คือ  หากลดต้นทุนส่วนนี้ได้ เท่ากับมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ  กับอีกมุมมองหนึ่ง คือ หากเราผลิตแล้วจำหน่ายแก่เกษตรกร ก็จะเท่ากับเป็นช่องอาชีพทำกินได้  ปรัชญาการเกษตรวันนี้  ปลูกพืชขายผลผลิตร้อยปีไม่รวย  แต่ขายปุ๋ยขายยาปีเดียวรวยได้   มีตัวอย่างให้เห็นชัดอยู่แล้ว 

วันนี้  ระหว่างที่เธอยังเรียนอยู่ที่วิทยาลัย  ทำปุ๋ย ทำฮอร์โมน ทำสารสมุนไพร ไว้ที่บ้าน  ช่วงแรกให้พ่อ-แม่-พี่น้องใช้เพื่อโปรโมทชื่อเสียงสินค้าและสร้างสมประสบการณ์ไปก่อน  จนเมื่อข้างบ้านเริ่มเชื่อถือก็ถือโอกาส  “ขายซะให้เข็ด”  แต่ขายในสิ่งที่ถูกต้อง  ขั้นสุดท้าย  เมื่อเรียนจบแล้วตั้งบริษัทผลิตออกจำหน่าย  หรือไม่เมื่อเรียนจบแล้วมีงานทำเป็นมนุษย์เงินเดือน  ก็ยังผลิตสินค้าตัวนี้ได้  ทำที่บ้านนั่นแหละ  ทำแล้วให้พ่อแม่ขายเป็นรายได้เสริมก็ไม่เลวนะ

วันนี้มาที่นี่ถือว่าเธอเดินถูกทางแล้ว  เส้นทางนี้เป็นอีกเส้นทางทำกินหนึ่งที่น่าพิจารณานำมาเป็นเครื่องมือสร้างงาน  สร้างอาชีพ  และสร้างเงิน  ในอนาคตได้อย่างภาคภูมิ  ที่นี่เธอจะพบกับคนๆหนึ่ง คือ ลุงคิม  ที่รักเธออย่างลูก  ไม่มีใครที่ไหนบอกสูตรสินค้าที่ตัวเองทำขายให้คนอื่นรู้  แต่ลุงคิมจะบอกเธอ  บอกแบบไม่ปิดบัง  ผลิตภัณฑ์ทุกตัวทำเสร็จ  ไขก๊อกกรอกลงถังส่งให้บริษัทตามออร์เดอร์  แสดงให้เห็นว่านั่นคือของแท้ 

บทเรียนที่ 3    กล่าวถึง  “ประสบการณ์ตรง”   ถึงความต่างระหว่าง  “นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย”  ที่มีพื้นฐานความรู้สูง กับ  “เกษตรกรชาวบ้าน”  ที่มีพื้นฐานความรู้ค่อนข้างต่ำ  กับปัจจัยด้านระยะเวลาซึ่งมีผลโดยตรงต่อความสำเร็จของการเรียนรู้ 

บทเรียนที่ 4    ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนจากรูปแบบเดิมหรือที่นิยมทั่วไปแบบ  “ทฤษฎีนำการปฏิบัติ”  มาเป็นแบบ  “การปฏิบัตินำทฤษฎี”  หรือ  “การปฏิบัติควบคู่ทฤษฎี”   โดยระหว่างการปฏิบัติแต่ละขั้นตอนนั้นจะสอดแทรกข้อมูลทางวิชาการทุกประเด็น  อธิบายเหตุผล  ดี/ไม่ดี.  ใช่/ไม่ใช่.  ผิด/ถูก.  รวมทั้งชี้ให้เห็นปัญหาและวิธีแก้ปัญหาพร้อมเสร็จ 

การทำปุ๋ยแต่ละสูตรแม้จะใช้วัสดุส่วนผสมตัวเดียวกัน  แต่เทคนิคการใส่ส่วนผสมแต่ละตัวของแต่ละสูตรต่างกัน   เริ่มด้วยการนำวัสดุส่วนผสมทุกตัวสำหรับแต่ละสูตรมาวางเรียงรายบนโต๊ะ  แนะนำให้รู้จักทีละตัวตามลำดับ  ตัวไหนเป็นอินทรีย์  ตัวไหนเป็นเคมี  ผสมผสานกันอย่างไร  จุดเด่น/จุดด้อย  ของแต่ละตัวต่างกันอย่างไร  หลักการและเหตุผลในการเลือกใช้ ทุกรายละเอียดมีหลักวิชาการรองรับ อ้างชื่อนักวิจัยหรือสถาบันการศึกษา ทั้งในประต่างประเทศยืนยัน
 

ขั้นตอนการผสมหรือปรุงปุ๋ยแต่ละสูตร  เปิดโอกาสให้แต่ละคน  “ทำกับมือ”  ตัวเอง  สอนให้เห็นการจัดลำดับ.   ความเร็ว.   การเว้นช่วงเวลา.  การทำซ้ำ.   การตรวจสอบแต่ละขั้นตอนและทุกขั้นตอนเพื่อวัดผลว่า  ถูกต้องหรือผิดพลาด  ถูกต้องเป็นอย่างไร แล้วทำต่อไปอย่างไร  หรือถ้าผิดพลาด แล้วแก้ไขอย่างไร  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด
 ทุกวัน ช่วงเช้า ในวงเสวนาบนโต๊ะกินข้าว  ทั้งลุงคิมและอาจารย์พี่เลี้ยง  ต่างช่วยกันรุมเร่งเร้าปลุกกำลังใจให้สู้ต่อ  อย่าเหนื่อย  อย่าเบื่อ  อย่าท้อ  อาจารย์พี่เลี้ยงบอกว่า  วันนี้ลุงคิมทำได้เพราะลุงคิมเคยทำกับมือมาแล้วนับร้อยครั้ง  พวกเธอเพิ่งทำครั้งแรกย่อมต้องงงเป็นธรรมดา  แต่ถ้าเธอคิดว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่ออาชีพเกษตร  ไม่ว่าจะทำใช้ในบ้าน หรือทำขายแบบเกษตรการ์ตูน  เธอจะต้องหาโอกาสฝึกฝีมือให้มากกว่านี้  เพื่อไปสู่เป้าประสงค์นั้นให้ได้  อย่ากลัวความล้มเหลว  เพราะความล้มเหลว คือ ความสำเร็จ  สิ่งใดที่ไม่เคยทำมาก่อนย่อมยากเป็นธรรมดา   แต่เรื่องยากทุกเรื่องยากที่การเริ่มต้นครั้งแรกๆ  อย่าลืมว่า  สถาบันการศึกษาทุกแห่ง ทุกระดับ  ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ  สอนได้เพียง  “พื้นฐาน”  เท่านั้น  ส่วนการต่อยอดขยายผลให้ประสบความสำเร็จนั้น  เธอจะต้องขวนขวายไขว่คว้าเอาเอง  ด้วยตัวเธอเอง และด้วยมันสอง ไหวพริบ ปฏิภาณ ของเธอเอง  โดยมีสถานการณ์เป็นตัวกำหนด

อาจารย์วิเคราะห์แนวทางสอนตามสูตรของไร่กล้อมแกล้ม ณ วันนี้แล้วว่า  สูงกว่าที่เธอเรียนที่วิทยาลัย  แต่เมื่อเธอกลับไปเรียนเทอมหน้า เทอมต่อไป เธอจะต้องได้เรียนหลักสูตรนี้อย่างแน่นอน  เมื่อถึงวันนั้นอาจารย์เชื่อว่าเธอจะเข้าใจดียิ่งกว่าคนอื่นๆในห้องเรียนเดียวกัน  ทุกเรื่องที่ลุงคิมสอนนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่  แต่เป็นเรื่องที่มีอยู่แล้วในหลักสูตร  เพียงแต่เธอยังเรียนไม่ถึงเท่านั้น  เพราะฉะนั้นขอให้ตั้งใจ แล้วก็ใจเย็นๆไว้ก่อน

ปลุกเร้าให้กำลังใจจนใบหน้าเปื้อนยิ้มกันทั่วทั้ง 5 คนแล้ว  ถึงคราวเข้าโรงงาน  ฝึกทำปุ๋ย/ฮอร์โมนสูตรต่อไป  สอนครึ่งวัน  เวลาที่เหลืออีกครึ่งวันซึ่งเป็นช่วงบ่าย  จัดให้เป็นเวลาเสวนา  ถามตอบปัญหา  ตรวจสอบแนวคิด  ที่เกี่ยวเนื่องกับ ปุ๋ย/ฮอร์โมน ที่ฝึกทำมา  แม้บางครั้งต้องย้อนกลับไปดูที่ถังผสมเพื่อดูให้เห็นชัดๆ  นั่นแหละจึงเข้าใจ  ผลรับที่ออกมาก็คือ  ยิ่งเข้าใจ ยิ่งมีคำถาม  เมื่อยิ่งมีคำตอบก็ยิ่งมีวิสัยทัศน์  
 


หลากหลายคำถามสู่การพัฒนา :
ระหว่างการสอนแบบ  “ปฏิบัตินำทฤษฎี”  ต้องมีการปลูกเร้า  ตอกย้ำอยู่เสมอว่า  สิ่งที่ลุงคิมต้องการอย่างมาก ๆ คือ  “คำถาม”  และสิ่งที่ลุงคิมอยากรู้มากๆ คือ  “เธออยากรู้อะไร”   เพราะฉะนั้นเธอต้องถาม เธอต้องบอก  เราสองคนต้องพบกันครึ่งทาง  ปรับความคิดเข้าหากัน  ถามแทรกแบบทะลุกลางปล้องได้เลยทุกสถานการณ์  การสอน  สอนให้คนเรียนไม่รู้เรื่องสอนอย่างไรก็ได้  ถามว่า  ถ้าจะสอนให้คนเรียนรู้เรื่อง สอนอย่างไร  นั่นคือ  คนเรียนต้องบอกคนสอนว่า ต้องการรู้เรื่องอะไร แม้จะได้พยายามเน้นย้ำขอ  “คำถาม”   อยู่ตลอดเวลาก็ยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจนัก  เมื่อเห็นว่า  ภาคปฏิบัติเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว จึงเปลี่ยนสถานที่  ออกจากโรงงานไปห้องพักผ่อนหวังสร้างบรรยากาศใหม่  ถาม-ตอบ-พูด-คุย  ที่เป็นกันเองที่สุด  คราวนี้ได้ผล....

ถาม  : เราจะรู้ได้อย่างไรว่า  ธาตุอาหารพืชแต่ละตัวมีประโยชน์ต่อพืชอย่างไร  ?  ถ้าขาดพืชจะเป็นอย่างไร ?  หรือถ้ามากเกินพืชจะเป็นอย่างไร ?
ตอบ  :  มีแจ้งแล้วในตำราที่เธอเรียน  ให้ย้อนไปอ่านแล้วทำความเข้าใจ  กับท่องให้จำได้ได้ขึ้นใจ  ที่นี่เราคงไม่มีเวลามากพอที่จะมาอธิบายรายละเอียดได้

ถาม  :  จะรู้ได้อย่างไรว่าปุ๋ยทางใบที่ให้แก่พืชแล้วจะไม่เป็นอันตรายต่อพืช  ?
ตอบ  :  ทดสอบ ทดลอง  เริ่มจากน้อยๆ ก่อน เช่น 20 ซีซี./น้ำ 20 ล.   แล้วค่อยๆ เพิ่มอัตราใช้เป็น 40 – 60 – 80 ถึง  100 – 200  จนกระทั่งพบว่าอัตราใช้เท่าใดแล้วเกิดอาการใบไหม้  เมื่อรู้แล้วก็ให้ลดอัตราใช้ลงมาครึ่งหนึ่ง  และนั่นคืออัตราใช้ที่เหมาะสม  ก็ให้ถืออัตราใช้นี้ตลอดไป  กับอีกกรณีหนึ่ง  ในธรรมชาติไม่มีตัวเลข  เพราะฉะนั้นอัตราใช้นี้เป็นอัตราตายตัวไม่ได้   พืชแต่ละชนิดมีความต้านทานสูงต่ำไม่เท่ากัน  จากประสบการณ์ตรงสอนให้เรารู้ว่า  ยูเรก้า.ใช้กับเห็ดทุกชนิด อัตราใช้ 5 ซีซี./น้ำ 20 ล.  ...... ใช้กับชมพู่ 10 ซีซี./น้ำ 20 ล.......ใช้กับไม้ผลอื่นๆหรือพืชกินผลเกือบทุกชนิดที่ 20 ซีซี./น้ำ 20 ล.  นอกจากไม่อันตรายใบไหม้แล้ว ยังได้ผลผลิตดีเหนือกว่าข้างบ้าน  ทั้งคุณภาพแล้วก็ปริมาณอีกด้วย......เราต้องหมั่นเก็บข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์ตรงไว้แล้วเพื่อแนะนำผู้นำไปใช้ให้ถูกต้อง

ถาม  :  อยากให้คุณลุงสอน  เทคนิคการใช้แต่ละสูตร  เพราะวันนี้ยังไม่  “แม่นสูตร - แม่นหลักการ”  ตามที่คุณลุงบอกไว้เลย

ตอบ  :  เรื่องเทคนิคการใช้  ถ้าจะว่ากันให้ครบทุกพืชเลยคงต้องใช้ระยะเวลาเรียนอย่างน้อย 3-6 เดือน  เพราะบ่อยครั้งที่ต้องลงสนาม  ไปดูทุกส่วนของต้นไม้ต้นพืชจริงๆ จึงจะเข้าใจได้  เพราะฉะนั้นงานนี้  เอาเฉพาะที่พวกเธอจะต้องไปใช้จริงในแปลงจริง  แปลงสาธิตที่วิทยาลัยก่อน  ระหว่างนั้นก็ขอให้โทร.สอบถามเพิ่มเติมมาก็แล้วกัน  เรียกว่าสอนกันทางโทรศัพท์เลย ประมาณนั้น...... อย่างไรก็ตาม  ถ้าเธออ่าน  LINE  ธรรมชาติออก  เธอจะเข้าใจแล้วก็รู้เองว่า พืชอะไร ช่วงไหน ใช้สูตรไหน อย่างไร เท่าไร  

ถาม  :  คุณลุงมีเทคนิคการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างไร ?

ตอบ  : อ่านหนังสือระดับปริญญาโท.  ปริญญาเอก.  อ่านหนังสือสรุปงานวิจัย.  ค้นหาข้อมูลจากมหาวิทยาลัยกูเกิ้ล.   อ่านมากๆ อ่านให้มากที่สุดเท่าที่มีโอกาส   สิ่งสำคัญ  อย่าลืมข้อมูลที่เป็นประสบการณ์ตรงจากผู้ใช้........ เปิดตัว  เปิดใจ  กล้าคิด  กล้าริเริ่ม กล้าทำ  อย่ากลัวล้มเหลว เพราะความล้มเหลว คือ ความสำเร็จ....... ใจจดใจจ่อ  หมกมุ่นอยู่กับมัน  เป็นคนช่างสังเกต  ช่างวิเคราะห์เปรียบเทียบ  ค้นหาคำตอบว่า  ใช่หรือไมใช่  ดีหรือไม่ดี  ดีกว่าหรือดีที่สุด  เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้  เพราะอะไร  แก้ไขอย่างไร ....... สร้างประสบการณ์ให้แก่ตัวเอง  ฟัง 100 ครั้งไม่เท่าอ่าน 1 ครั้ง   อ่าน 100 ครั้งไม่เท่าดู 1 ครั้ง  ดู 100 ครั้งไม่เท่าทำเอง 1 ครั้ง   และทำใช้ 100 ครั้งไม่เท่าทำขาย 1 ครั้ง.

อีกหลากลายนานับคำถามและแนวคิดจากการเรียนคราวนี้  ถึงขนาดอาจารย์พี่เลี้ยงเอ่ยปาก.....

“อยู่วิทยาลัย  ถ้าพวกเธอถามเก่งๆ แบบนี้  อาจารย์ที่สอนทุกคนคงพอใจมากๆ......."
“อยู่วิทยาลัย  ถ้าพวกเธอขยันจด ขยันเขียนแบบนี้ก็ดีซินะ......”
“อยู่วิทยาลัย  ถ้าพวกเธอทำงานกันเป็นกลุ่มได้อย่างนี้ก็ดีซินะ......” 

บทสรุปจากลุงคิม   บอกได้เต็มปากว่าเป็น  “รุ่นที่ดีที่สุด”  เท่าที่มีประสบการณ์ตรงเรื่องนี้  คงเป็นเพราะผลจากการวิเคราะห์แนวสอนแบบ  บทต่อบท  เรื่องต่อเรื่อง  เนื้อหาต่อเนื้อหา  นั่นเอง  


แว่วๆว่า  เดือน พ.ค. จะมาอีก 1 รุ่น
ลุงคิม......ครับผม





6. กลุ่มเกษตรกรศรีสระเกษ 
เมื่อ 29 เม.ย. 53 กลุ่มเกษตรกร ประมาณ 50 คน จาก จ.ศรีสระเกษ  เข้าเยี่ยมชมแบบ  "ทางผ่าน"  แจ้งว่ามีเวลาเพียง 3 ชม. เพราะมีเป้าหมายต้องไปทัศนศึกษา (เที่ยว) ยังแหล่งอื่นต่อ

จากการประสานงานกับหัวหน้ากลุ่มล่วงหน้า ลุงคิมได้แจ้งให้ทราบว่า  ที่ไร่กล้อมแกล้มมีเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับอาชีพเกษตรกรรมด้านพืชโดยตรง

1. ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง สูตรสั่งตัดเฉพาะพืช สำหรับทางดิน
2. ปุ๋ยทางใบ สูตรบำรุงต้น (ไบโออิ.หรือฮอร์โมนน้ำดำ)
3. ปุ๋ยทางใบ สูตรขายขนาด (ยูเรก้า)
4. ปุ๋ยทางใบ แคลเซียม โบรอน
5. ปุ๋ยทางใบ สูตรลงหัว
6. ปุ๋ยทางใบ สูตรผักสวนครัว (อเมริกาโน่)
7. ปุ๋ยทางใบ สูตรสหประชาชาติ
8. ฮอร์โมนไข่ สูตรไต้หวัน
9. สารสกัดสมุนไพร สูตรเฉพาะ และสูตรรวมมิตร
10. ระบบสปริงเกอร์
11. ภาควิชาการ ประกอบด้วยหัวข้อ  เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง (FARMER CENTER),  ปรัชญาการเกษตร,  เกษตรประณีต.  และ ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรทั่วไป

ปุ๋ยทุกสูตรมีข้อมูลทางวิชาการ และประสบการณ์ตรง ยืนยันถึง  "ที่มา-ที่ไป"  ที่น่าเชื่อถือ

วิธีการสอนเป็นแบบ  "LEARNING BY DOING"  โดยผู้เรียนได้ปฏิบัติกับมือ

หลังผู้ประสานงานรับทราบแล้วบอกว่า  "ขอรับทุกหัวข้อ"  เพราะเห็นว่าน่าสนใจทั้งนั้น

เมื่อกลุ่มผู้ดูงานมาถึง ราว 10 โมงเช้า  ลุงคิมพาเข้าโรงปุ๋ยทันทีเพราะรู้ว่าเวลามีน้อย  ในโรงปุ๋ยได้ชี้ให้รู้จักปุ๋ยทุกสูตรตามที่แจ้งไว้  อธิบายแบบสั้นๆ พูดครั้งเดียวผ่าน ตั้งแต่ขั้นแรก ถึง ขั้นตอนสุดท้ายพร้อมวิธีใช้   ระหว่างแนะนำปุ๋ยสูตรต่างๆ นั้นก็ได้สอดแทรก  "ปรัชญาการเกษตร-การทำเกษตรแบบประณีต"  โดยยกตัวอย่างจากเรื่องจริงที่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศกำลังประสบอยู่ ณ วันนี้  ซึ่งเกษตรกรในเขต จ.ศรีสระเกษ ก็ไม่ยกเว้น

บรรยากาศในโรงปุ๋ย การเรียนการสอนแบบ "เกาะข้างถัง"  สัมผัสกันด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 เลยนั้น เกิดความคิดแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย  กลุ่มหนึ่งบอกว่า  วันนี้กลับไปก่อนแล้ววันหลังมาเรียนรู้ใหม่ มาที่นี่ที่เดียว มาอยู่กันหลายๆวัน .... กับอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า ยกเลิกไปเที่ยวต่อแต่ขออยู่ที่นี่วันนี้ทั้งวัน  อยู่เรียนรู้จนถึงมืดค่ำไปเลย 

ผลสรุป คือ  กลับไปก่อน เพราะแผนการทุกอย่างกำหนดไว้แล้ว  เรื่องนี้โอกาสหน้าค่อยมาใหม่

ลุงคิมปิดท้ายรายการให้ว่า  วันนี้คุณได้เพียงรู้ว่าที่นี่มีอะไรเท่านั้น  เท่านั้นจริงๆ  สิ่งที่คุณเห็นเหล่านี้ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกับอาชีพเกษตรที่คุณกำลังทำอยู่ ณ วันนี้ ทั้งสิ้น  การทำอาชีพเกษตรยุคนี้ หากลดต้นทุนหรือตัดต้นทุนที่สูญเปล่าได้  ย่อมหมายถึงกำไรจากการขายเพิ่มขึ้น นั่นเอง

พร้อมเมื่อไหร่ก็มาเถอะ  ที่นี่ยินดีต้อนรับ



ลุงคิม.....ครับผม





7. กลุ่มเกษตรกรลำปาง
เมื่อ 6 พ.ค. 53 กลุ่มเกษตรกรจาก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ราว 50 คน  นำโดย นอภ. คนหนุ่ม  กะอายุน่าจะ 35-40 ปี (ไม่ได้ถามชื่อ-ปกติวิสัยที่ไม่ถามชื่อคน) ทราบว่า กลางคืนวันที่ 5 พักค้างกันที่โรงแรมริเวอร์ จ.นครปฐม เดินทางถึงไร่กล้อมแกล้มก่อนที่ลุงคิมจะเริ่มทำรายการวิทยุภาคเช้า (08.00 น.)

เกษตรกรกลุ่มแม่เมาะ ลำปาง.  กับกลุ่มศรีสระเกษตร เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ รู้จักไร่กล้อมแกล้มจากเน็ตเท่านั้น

การมาของเกษตรกรกลุ่มนี้ไม่มีการประสานล่วงหน้าถึงหัวข้อดูงาน  แต่ทราบเมื่อมาถึงไร่กล้อมแกล้มแล้วว่า มีเวลาประมาณ 2-3 ชม. เพราะจะต้องไปทัศนศึกษา (เที่ยว) ต่อ  จึงต้องมาแนะนำกันแบบเดี๋ยวนั้นด้วยแผ่นชาร์ตเดียวกันกับกลุ่มดูงานรุ่นที่แล้ว

1. ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง สูตรสั่งตัดเฉพาะพืช สำหรับทางดิน
2. ปุ๋ยทางใบ สูตรบำรุงต้น (ไบโออิ.หรือฮอร์โมนน้ำดำ.)
3. ปุ๋ยทางใบ สูตรขายขนาด (ยูเรก้า)
4. ปุ๋ยทางใบ แคลเซียม โบรอน
5. ปุ๋ยทางใบ สูตรลงหัว
6. ปุ๋ยทางใบ สูตรผักสวนครัว (อเมริกาโน่)
7. ปุ๋ยทางใบ สูตรสหประชาชาติ
8. ฮอร์โมนไข่ สูตรไต้หวัน
9. สารสกัดสมุนไพร สูตรเฉพาะ และสูตรรวมมิตร
10. ระบบสปริงเกอร์
11. ภาควิชาการประกอบด้วยหัวข้อ  เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง (FARMER CENTER),  ปรัชญาการเกษตร,  เกษตรประณีต.  และ ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรทั่วไป

ที่ห้อง (ลาน) บรรยายประจำไร่กล้อมแกล้ม  เตรียมที่นั่งไว้ 50 ที่  ปรากฏว่ามีผู้ใช้บริการเพียง 15-20 คน  ที่เหลือไปนั่งพักอยู่ที่ศาลากลางน้ำ ...... การบรรยายเริ่มด้วยการบอกให้รู้แจ้งให้ทราบว่า 

..... ที่นี่มีอะไร ?
..... สิ่งที่มีนี้ จำเป็นและมีประโยชน์ต่ออาชีพเกษตรอย่างไร ?

..... สอนแบบ  LEARNING BY DOING  เน้นให้ทุกคนทำเป็น ใช้เป็น ขายเป็น กระทั่งแจกเป็น

..... ประสบการณ์ตรงจากใช้แล้ว ผลผลิตเพิ่ม (คุณภาพ-ปริมาณ) ต้นทุนลด อนาคตดี ได้อย่างไร ?
..... ทุกสูตร ทุกเทคนิค มีหลักวิชาการ และผลงานวิจัยรองรับ 

บอกเกษตรกรกลุ่มนี้ไปว่า  ทุกครั้งที่เกษตรกรมีปัญหาเรื่อง  "การขายผลผลิต"  แก้ไม่ตกก็ต้องไปปิดถนนเรียกร้อง  ผู้ที่มาแก้ปัญหาให้ก็คือ  "น่ายอำเภอ"

ถ้าลุงคิมเป็นนายอำเภอ  ลุงคิมจะขอถามผู้เรียกร้องว่า 

ได้ช่วยตัวเองหรือยัง ? 
ขายสินค้าเกษตรแล้วขาดทุนเพราะต้นทุนสูง ................... ใช่หรือไม่ ?
ต้นทุนที่ลงไปนั้นเป็นต้นทุนที่สูญเปล่า .......................... ใช่หรือไม่ ?

ทำเกษตรแบบซื้อทุกอย่าง สากกะเบือยันเรือรบ  ใครโฆษณาอะไรเป็นซื้อ ........ ใช่หรือไม่ ?
ก่อนจะลงมือปลูกพืชอะไรซักอย่าง ไม่เคยคิดล่วงหน้าเรื่อง ราคาขายกับต้นทุน ... ใช่หรือไม่ ?

ราชการแนะนำ ไม่เชื่อ  แต่เถ้าเก่เส็ง บอก เชื่อ ล้วงกระเป๋าซื้อทันที........... ใช่หรือไม่ ?
ทำตามกระแส  ทำตามข้างบ้าน เคยทำอย่างไรก็ยังคงทำอย่างนั้น ไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ........ ใช่หรือไม่ ? 

กับอีกหลากหลายมูลเหตุแห่งความล้มเหลว  ที่เกษตรกรทุกคนรู้ดี  รู้ทั้งรู้แต่ไม่ยอมรับ  เหมือนโกหกตัวเอง 

การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ  ผู้ที่จะแก้ต้นเหตุแห่งปัญหาได้อย่างแท้จริง คือ ตัวเกษตรกรเอง  โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน คงไม่ใช่ให้นายอำเภอหรือให้เจ้าหน้าที่เกษตรไปรดน้ำใส่ปุ๋ยให้...... ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า  "ราชการ นายอำเภอพูด ไม่เชื่อ  แต่เถ้าแก่เส็ง ร้านขายปุ๋ยขายยาบอก กลับเชื่อ"  เช่นนี้  ผู้ที่จะขยายความได้ดีที่สุด คือ นายอำเภอ.....โอกาสนี้ใคร่ขอเรียนเชิญท่านนายอำเภอให้แนวคิด  ที่จะนำสิ่งที่ ที่นี่มีและพร้อมให้โดยไม่คิดมูลค่านี้ ไปปรับใช้เพื่อแก้ปัญหามูลเหตุแห่งความล้มเหลวได้อย่างไร ... เรียนเชิญให้เกียรติครับ    

(นายอำเภอหัวเราะ.....)

นายอำเภอ :  ผมเห็นด้วยกับลุงคิมเป็นอย่างยิ่ง  ทุกคำที่ลุงคิมพูดคือ สัจจธรรม  เป็นความความจริง  เป็นของจริง ที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธ  ทำการเกษตรทุกวันนี้ ถ้าเราลดต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลงลงได้  นั่นหมายถึงต้นที่ต่ำลงอย่างแท้จริง  การที่เราให้ปุ๋ยตรงตามชนิดพืช นอกจะทำให้ได้คุณภาพของผลิตสูงขึ้นแล้ว  ปริมาณก็ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย  

จริงอย่างลุงคิมบอก  เกษตรกรเราทำการเกษตรไม่เคยวางแผนเรื่องต้นทุนเลย  ซื้อทุกอย่าง  แพงแค่ไหนก็ซื้อ  ผลผลิตที่ได้  คุณภาพต่ำ ปริมาณน้อย ทั้งๆ ที่รู้ว่าขาดทุนก็ยังทำ  บางคนไม่รู้ตัวยด้วยซ้ำว่าขาดทุน 

เรื่องปุ๋ยเรื่องยาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำเกษตร  การบริหารจัดการของพวกเราคือ ซื้อทุกอย่าง  คือซื้อ 100 เปอร์เซ็นต์  อันนี้คือต้นทุน เมื่อได้ผลผลิตมาแล้วขาย  ขายแล้วหักต้นทุนกลับไม่เหลือเลย  หรือว่าเหลือนิดหน่อย  คราวนี้ลองมาคิดดูซิว่า  ปุ๋ยยาเหล่านี้ถ้าเราทำเองได้  ก็จะทำให้ต้นทุนต่ำลง  เมื่อต้นทุนต่ำลงย่อมหมายถึงกำไรที่เพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่ขายในราคาเดิม ใช่หรือไม่  

ที่นี่ ปุ๋ยทุกสูตร ฮอร์โมนทุกสูตร รวมทั้งยาสมุนไพร  คือสิ่งที่เราต้องใช้  แต่เราไม่ทำเองเราเอาแต่ซื้อ  ที่ซื้อก็ซื้อมาผิด  เอามาใช้ก็ใช้ผิดเสียอีก  อันนี้เป็นเพราะเราไม่มีความรู้นั่นเอง  ผมเคยไปดูงานแบบไปเองส่วนตัว  ไปกับราชการ  ไปกับกลุ่มเกษตรกร เคยไปหลายสำนัก  แต่ไม่เคยมีสำนักไหนให้คำแนะนำแบบตรงเป้าเหมือนที่นี่เลยเสียดายนะ ที่วันนี้เวลามีน้อย  ไม่เช่นนั้นจะให้พวกเราอยู่ที่นี่  กินนอนที่นี่  เรียนแล้วก็หัดทำ ทำกับมือเลย...... สอบถามหน่อย  ใครเห็นด้วยกับที่ผมพูด ลุงคิมพูด...... (ทุกคนยกมือ)  

ลุงคิม :  เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา  เชิญทุกคนไปดูของจริงในโรงปุ๋ยกันเลยว่า  ปุ๋ย-ฮอร์โมนอะไร รูปร่างหน้าตาเป็นยังไง.......(บรรยากาศในโรงปุ๋ย.....จากลานบรรยายที่มีคนฟัง 15-20 คน เดินตามเข้าไปในโรงปุ๋ยเพื่อพิสูจน์ของจริงเพียง 6 คน รวมนายอำเภอ) 

.... บน  WHITE BROAD ในโรงปุ๋ย มีสูตรปุ๋ย-ฮอร์โมนทุกสูตร ใครอยากได้จดไปเลย  ถ่ายรูปก็ได้
.... ในถังหมักทุกถัง แนะนำให้พิสูจน์ สี กลิ่น  กาก  ฝ้า  ฟอง   พร้อมกับคนส่วนผสมก้นถังขึ้นมาให้ดู
.... ทุกขั้นตอนการผลิตเป็นแบบ  ภูมิปัญญาพื้นบ้านแต่มีหลักวิชาการรองรับ

คำแนะนำหนึ่งคือ ..... แบบนี้คนเดียวทำไม่ได้หรอกเพราะต้นทุนสูงมาก  รวมกลุ่มกันทำก็ทำไม่ได้อีกเพราะในกลุ่มมีคนมาก  คนยิ่งมากปัญหายิ่งมาก สุดท้ายก็เลิกรา  ...... ทางออกคือ เอาเงินกองกลางจาก อบต.มาเป็นทุนเริ่มต้นซัก 1,000,000  สร้างโรงงาน จัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ทุกอย่างเป็นของส่วนกลาง ......จัดจ้างคนในกลุม 2-3 คน  โดย 2-3 คนนี้มาเรียนที่นี่หรือไปเรียนที่สำนักไหนก็ได้ ใช้เงินจากงบกลาง อบต.นั่นแหละ  เรียนจนกว่าจะทำเป็นหรือจนกว่าจะชำนาญ   เรียนแล้วกลับไปผู้นำทำในตำบลของตัวเอง  เมื่อทำขึ้นมาได้แล้วก็ขาย  ขายให้สมาชิกเอากำไรซัก 10-20 เปอร์เซ็นต์  ขายให้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็เอากำไรซัก 20-30 เปอร์เซ็นต์  อันนี้คนซื้อจะซื้อได้ในราคาถูกแถมได้ของที่ถูกต้องอีกด้วย  เมื่อขายแล้วก็เอาเงินทุนคืน อบต.  ส่วนกำไรก็มาเป็นเงินเดือนให้ค่าแรง 2-3 คนนี้.....

นายอำเภอ  :  เงินงบนี้ทางอำเภอมีให้

ลุงคิม  :  ไม่ดีครับ  เพราะอำเภอต้องจัดสรรให้กับอีกหลายตำบล  ในขณะที่ อบต.มีงบของ อบต. เองอยู่แล้ว ปีละหลาย 10 ล้าน บางทีอาจจะถึง 100 ล้านด้วยซ้ำ  แบบนี้ อบต.ไหนทำ เกษตรกรของ อบต.นั้นก็จะได้รับ  อบต.ไหนไม่ทำก็ไม่ต้องเอา...... เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ถ้าทุกคนเห็นประโยชน์  แทนที่จะเอาเงินนั้นไปซื้อปุ๋ย ซื้อยาแจกแบบให้เปล่า เราก็เอามาทำตัวนี้ ..... ปัญหาจริงๆ จะอยู่ที่ ใครคือ 2-3 คนที่จะอาสาหาข้อมูลความรู้แล้วกลับไปนำทำต่างหาก  เราต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่า  คนไหนอาสาคนนั้นก็จะได้ความรู้ ได้ประสบการณ์เป็นของตัวเองไปตลอดชีวิต  กับปัญหาที่สำคัญสูงสุดก็คือ  การดำเนินงานทุกขั้นตอน ทุกคนต้อง ซื่อสัตย์  จริงใจ  มีอุดมการณ์ร่วมกัน  อย่างแท้จริง 

กล่าวจบด้วยข้อความว่า  วันนี้คุณมาพบขุมทรัพย์ทางการเกษตรแล้ว  เหลืออยู่แต่ว่า  คุณจะมาตักตวงเอาไปเมื่อไร อย่างไร เท่านั้น..... ที่นี่ยินดีต้อนรับทุกเมื่อ


ลุงคิมครับผม




8. ครูเกษตรกรสายไหม
วันเดียวกันนั้น  เมื่อกลุ่มเกษตรกรลำปางเสร็จสิ้นภารกิจดู (เน้นย้ำ...ดู) งาน ราวเที่ยงกว่าเล็กน้อยได้เดินทางกลับ (ไปเที่ยวต่อ) แล้ว  ช่วงเวลาบ่าย 2 โมงพอดีๆ  คณะครูจาก ร.ร.สายไหม กทม. ประมาณ 10 คน นำโดย ผอ.หญิงโสด  มาขอดูงานเพื่อนำไปประกอบการวางแผนส่งเสริมเกษตรกรทั่วไปให้ทำการเกษตรแบบพอเพียง.....เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว งานร่ายยาวก็เริ่มขึ้น

..... ในทัศนะของอาจารย์ คำว่า  "เกษตรพอเพียง"  แปลว่าอะไร  เชื่อว่าทุกคนให้คำตอบได้
..... คำว่า  "พอเพียง"  คำๆ นี้มีความหมายเป็น  "ปรัชญา"  ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพ
..... งานส่งเสริมที่ถูกต้องและได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมจึงควรแปลนัยแห่งปรัชญาให้เป็นการปฏิบัติ


หัวข้อการสอนของที่นี่ :
1. ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง สูตรสั่งตัดเฉพาะพืช สำหรับทางดิน
2. ปุ๋ยทางใบ สูตรบำรุงต้น (ไบโออิ.หรือฮอร์โมนน้ำดำ)
3. ปุ๋ยทางใบ สูตรขายขนาด (ยูเรก้า)
4. ปุ๋ยทางใบ แคลเซียม โบรอน
5. ปุ๋ยทางใบ สูตรลงหัว
6. ปุ๋ยทางใบ สูตรผักสวนครัว (อเมริกาโน่)
7. ปุ๋ยทางใบ สูตรสหประชาชาติ
8. ฮอร์โมนไข่ สูตรไต้หวัน
9. สารสกัดสมุนไพร สูตรเฉพาะ และสูตรรวมมิตร
10. ระบบสปริงเกอร์
11. ภาควิชาการประกอบด้วยหัวข้อ  เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง (FARMER CENTER),  ปรัชญาการเกษตร,  เกษตรประณีต.  และ ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรทั่วไป


โจทย์ :
..... ใครคนหนึ่ง มีที่ดินอยู่แปลงหนึ่ง อยากทำเกษตรพอเพียง  เขาควรเริ่มต้นอย่างไร และทำต่ออย่างไร
..... เกษตรพอเพียง-เกษตรทฤษฎีใหม่-เกษตรผสมผสาน-เกษตรไร่นาสวนผสม-เกษตรยั่งยืน คือ อย่างเดียวกัน


แนวคิดใหม่ :
...... เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง (FARMER CENTER) คือ ส่งเสริม แนะนำ สนับสนุน ให้เกษตรกรทำกิจกรรมเกษตรที่เขากำลังทำอยู่นั้นเพียงอย่างเดียวให้ประสบความสำเร็จสูงสุดเสียก่อน  จากนั้น  เมื่อเขาเข้าใจถึงแก่นแท้ของการทำการเกษตรแล้ว เขาจะสามารถพัฒษนาต่อยอดไปสู่กิจกรรมทางการเกษตรอย่างอื่นที่เขาต้องการได้เอง

..... งานส่งเสริมด้วยวิธี  "พูดปากเปล่า พูดให้ฟัง ฉายภาพให้ดู นำสิ่งสำเร็จรูปแล้วไปให้ดู"   หรือส่งเสริมแบบ  "ทฤษฎีวิชาการ นำ - การปฏิบัติ เสริม"  เพียงเท่านี้ไม่ได้ผล  ตัวอย่างมีให้เห็นอยู่ทั่วไป  เพราะเป็นหลักนิยมที่ระบบราชการใช้ประจำ  ในขณะที่ผู้รับการส่งเสริมซึ่งเป็นเพียงเกษตรกร  เรียนมาน้อยหรือไม่ได้เรียนมาเลยจะไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง และไม่สามารถทำได้  ทั้งนี้เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่  "ขาดความรู้ขั้นพื้นฐาน"  แนวทางแก้ไขคือ  เปลียนรูปแบบการส่งเสริมจาก  "ทฤษฎีวิชาการ นำ  การปฏิบัติ เสริม"  มาเป็น  "การปฏิบัติ นำ ทฤษฎีวิชาการ เสริม"  ปฏิบัติมากๆ วิชาการน้อยๆ  สอนให้เขาทำกับมือตัวเอง  ทำหลายๆ ครั้งหลายๆ รอบ  ทำจนกว่าจะชำนาญ  นั่นแหละเขาจึงจะทำได้และทำเป็น  ผลรับที่ออกมาจึงเป็น  "รูปธรรม"  อย่างแท้จริง   

..... ทำเกษตรอย่างไรที่  "ผลผลิตเพิ่ม ต้นทุนลด อนาคตดี....ผลผลิตเกรด เอ. จัมโบ้. โกอินเตอร์  ขึ้นห้าง  ออกนอกฤดู ..... รวมกลุ่ม สร้างเครือข่าย  แปรรูป  สร้างมูลค่าเพิ่ม ..... ลดรายจ่าย  เพิ่มรายได้  ขยายโอกาส.... เข้าใจ  เข้าถึง  พัฒนา...... ฯลฯ"


ของจริง :
ในโรงปุ๋ยมี  "ปุ๋ย -ฮอร์โมน - ยาสมุนไพร"  ที่เป็นของใช้ได้จริง ทุกอย่างมีหลักวิชาการรองรับ มีงานวิจัยยืนยัน  ของที่นี่นอกจาก  "ทำใช้"  แล้วยัง  "ทำขาย"  ทั้งขายปลีกและขายส่งได้อีกด้วย.....ถ้าเกษตรกรทำเองได้  นอกจากช่วยลดต้นทุนในการผลิตโดยไม่ต้องซื้อแล้ว ยัง MAKE MONEY ได้อีกด้วย

การทำกิจกรรมใดเพื่อขาย  หากลดต้นทุนได้นั่นคือกำไรที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

(เข้าไปในโรงปุ๋ย....) ที่นี่มีสิ่งที่เกษตรกรจำเป็นต้องใช้เพื่อ  ลดต้นทุน  เพิ่มผลผลิต  เป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในหลายๆ อย่างได้เป็นอย่างดี  อยู่แต่ว่า  ถ้าอาจารย์ยอมรับแล้วอาจารย์จะทำอย่างไรจึงจะนำไปเผยแพร่หรือสอนเกษตรกรได้

คำแนะนำวันนั้นใช้ภาษาแบบ  อังกฤษปนไทย   ว่าปากเปล่า ไม่มีโผ ไม่มีโฉนด จนอาจารย์ท่านหนึ่งถาม  "ลุงเรียนจบอะไรมา ?"  คำตอบ (ตีหน้าซื่อแกมโกง) ผมจบจากมหาลัยอัตตะปือครับ 

วันนี้เวลาน้อย  อาจารย์ได้เพียงรู้ว่าที่นี่มีอะไรเท่านั้น ถ้าคิดว่าสิ่งนี้มีประโยชน์ สมควรนำไปเผยแพร่เพื่อการก้าวไปสู่เกษตรพอพียงได้  คิดว่าอาจารย์คงต้องย้อนมาอีกครั้ง  มาเถอะครับ ที่นี่ยินดีต้อนรับ


ลุงคิมครับผม




หน้าก่อน หน้าก่อน (2/4) - หน้าถัดไป (4/4) หน้าถัดไป


Content ©