-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 168 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ไม้ดอก-ไม้ประดับ




หน้า: 1/6


กล้วยไม้.....


องอาจ ตัณฑวณิช ชมรมกล้วยไม้ดิน โทร. (081) 909-8117 หรือ ongart04@yahoo.com

กล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูล กล้วยไม้แสนสวย และทนายนักเลี้ยง ที่
เมืองขุนแผน

กล้วยไม้ในสกุลรองเท้านารี เป็นกล้วยไม้สกุลหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนกับกล้วยไม้ทั่ว
ไป โดยกล้วยไม้ทั่วๆ ไป มีกลีบดอกจำนวน 6 กลีบ แต่กล้วยไม้สกุลรองเท้านารีมีกลีบดอกแค่
5กลีบ และกลีบนอกคู่ล่างติดกันเป็นกลีบเดียว มีลักษณะคล้ายหัวรองเท้าของผู้หญิง จึงเรียกอีก
อย่างหนึ่งว่า เลดี้ สลิปเปอร์ (Lady"s Slipper) ทำให้มองดูเหมือนรองเท้านารีมีแค่ 4 กลีบ บ้าง
ก็คิดว่ารองเท้านารีเป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดหนึ่ง


กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี พบในประเทศไทย 18 ชนิด กระจายอยู่ทั่วทุกภาค และมักจะตั้งชื่อ
กล้วยไม้ตามสีของดอกและสถานที่พบ เช่น รองเท้านารีดอกสีขาว พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2411
ที่จังหวัดสตูล จึงเรียกว่า ขาวสตูล (Paphiopedilum nivium) และพบรองเท้านารีดอกสีเหลือง
ครั้งแรกที่จังหวัดปราจีนบุรี จึงเรียกว่า เหลืองปราจีน (Paphiopedilum concolor) เป็นต้น

กล้วยไม้สกุลนี้เป็นที่นิยมปลูกเลี้ยงกันมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงมีราคาต่อต้นสูง
และมีราคาค่อนข้างแพงกว่ากล้วยไม้สกุลอื่น อาจเป็นเพราะดอกมีความแปลกแตกต่างกว่า
กล้วยไม้สกุลอื่น หรือใช้สถานที่ในการปลูกเลี้ยงน้อย ไม่จำเป็นต้องใช้ราวแขวน โดยจะจัด
วางกระถางให้สูงกว่าพื้นเล็กน้อยก็เพียงพอ

ลักษณะของต้นและใบ
ใบ ของรองเท้านารีขาวสตูล ด้านบนจะเป็นลาย ส่วนด้านล่างจะเป็นสีม่วงอ่อนแก่ต่างกัน ใบ
เป็นรูปขอบขนาน ค่อนข้างหนา ยาวแค่ประมาณคืบเดียว แต่ก้านช่อดอกจะมีความยาวตั้งแต่
15-20 เซนติเมตร ซึ่งมีความเด่นของก้านช่อ สีของดอกจะเป็นพื้นขาว มีจุดกระหรือเส้นบางๆ
ที่โคนกลีบ จุดกระยิ่งน้อยเท่าใด จะยิ่งเป็นที่นิยมมาก เพราะจะดูดอกเป็นสีขาวสะอาดตา ถ้า
ดอกของรองเท้านารีขาวสตูลไม่มีจุดกระเลย มีเฉพาะสีพื้นขาว จะถือว่าเป็น รองเท้านารีเผือก
ซึ่งค่อนข้างหายาก จำนวนดอกในช่อปกติจะมีแค่ 1-2 ดอก ถ้าช่อที่มีดอกได้ 3 ดอก จะถือว่า
พิเศษกว่าต้นอื่น ระยะเวลาในการบานของดอก ประมาณ 30 วัน ยกเว้นถ้ามีน้ำขังอยู่ในกระเป๋า
จะทำให้ดอกช้ำและหลุดร่วงไปก่อนเวลาอันควร บางต้นของรองเท้านารีชนิดนี้จะมีกลิ่นหอม
อ่อนๆ แต่มีจำนวนน้อยมาก

ถิ่นอาศัยที่อยู่ในธรรมชาติ
ถิ่นอาศัยในธรรมชาติของรองเท้านารีชนิดนี้ มักจะพบตามป่าดิบเขา หรือบริเวณที่เป็นเขาหินปูน
เฉพาะในจังหวัดภาคใต้ รวมถึงชายฝั่งทะเล และบนเกาะแก่งต่างๆ รองเท้านารีขาวสตูลที่พบใน
จังหวัดสตูลมีต้นและดอกขนาดเล็ก ฟอร์มดอกค่อนข้างกลม แต่รองเท้านารีที่พบในจังหวัด
กระบี่ และรอยต่อระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดตรัง ดอกและต้นค่อนข้างโตกว่า
ฟอร์มดอกที่พบเห็นจะผึ่งผายกว่าที่พบเห็นในที่อื่นๆ นอกจากนี้ ในจังหวัดกระบี่เราจะพบเห็นลูก
ผสมของรองเท้านารีขาวสตูลกับรองเท้านารีเหลืองพังงาหรือเหลืองตรังที่เกิดขึ้นเองใน
ธรรมชาติ ทั้งบนเกาะและบริเวณชายฝั่ง ลักษณะดอกรองเท้านารีลูกผสมนี้มีความหลากหลาย
มาก

โดยธรรมชาติของกล้วยไม้ชนิดนี้ จะอยู่ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ หรือใต้ชะง่อนหิน ทำให้ฝนที่ตกลงมา
ไม่โดนใบของรองเท้านารีโดยตรง ซึ่งจะทำให้ใบช้ำได้ง่าย ทั้งนี้ จะรวมถึงแสงที่ส่องลงมาก็จะ
ผ่านการกรอง ทำให้รองเท้านารีขาวสตูลได้รับแสงไม่มากจนเกินไป ซึ่งเรามักจะนำสิ่งที่เป็น
สภาพแวดล้อมในธรรมชาติของถิ่นอาศัยมาปรับใช้ในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้แต่ละชนิด

การปลูกเลี้ยงและสภาพโรงเรือน
การปลูกเลี้ยงในปัจจุบันสำหรับนักเล่นกล้วยไม้ จะนิยมปลูกเลี้ยงต้นที่ได้จากการขยายพันธุ์ใน
ห้องแล็บจากฝักใส่ลงในขวดแก้ว ซึ่งเรียกกล้วยไม้ที่ขยายพันธุ์แบบนี้ติดปากว่า ไม้ขวด และ
เรียกต้นว่า ลูกไม้ กล้วยไม้ที่ได้จากการขยายพันธุ์แบบนี้เป็นกล้วยไม้ที่ได้รับการคัดเลือกพันธุ์ที่
มีความโดดเด่นและงามมากกว่าต้นที่พบในธรรมชาติ หรือจะเป็นการผสมข้ามชนิดก็มี ความ
แปลกใหม่หลากหลายรูปแบบ จึงทำให้กล้วยไม้ที่นำมาจากป่าไม่เป็นที่นิยมสำหรับนักเล่นกล้วย
ไม้ สำหรับผู้หัดเลี้ยงมือใหม่จะไม่ค่อยซื้อไม้ขวดมาปลูกเลี้ยง เนื่องจากต้นมีขนาดเล็ก และเข้า
ใจว่าปลูกเลี้ยงยาก แต่ที่จริงแล้วการปลูกให้ถูกวิธีทำให้โอกาสรอดของกล้วยไม้รองเท้านารีจาก
ขวดมีเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว โรงเรือนที่ปลูกเลี้ยงรองเท้านารีมักจะทำเป็นหลังคา ซึ่งโปร่ง
แสง แต่สามารถกันฝนได้ และต้องการพรางแสงให้ด้วยซาแรน 60-80 เปอร์เซ็นต์ ควรพิจารณา
ให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่เลี้ยง การเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารีแทบทุกชนิด จะต้องมีความเอาใจ
ใส่มากกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่น หากไม่มีเวลาดูแล ไม่แนะนำให้เลี้ยงกล้วยไม้สกุลนี้

วัสดุปลูกต้องโปร่งและเก็บความชื้นได้ดี
วัสดุที่ใช้ปลูกต้นที่แยกหน่อมาและมีขนาดโตเต็มที่แล้ว จะใช้โฟมหักขนาดหัวแม่มือรองก้น
กระถาง ประมาณ 1 ใน 3 วางต้นลงแล้วจึงใช้ใบไม้ที่ย่อยสลายแล้วผสมกับดินพร้อมปลูกทับ
รากอีก 1 ส่วน ส่วนที่เหลือด้านบนให้เอาถ่านหรือหินภูเขาไฟโรยทับหน้าไว้ กันไม่ให้ดินกระเด็น
ออกจากกระถางในขณะที่รดน้ำ โรยปุ๋ยละลายช้าทุก 3 เดือน ใช้ยากันราหรือน้ำปูนใส ฮอร์โมน
เร่งราก ยาที่สกัดจากพืชสมุนไพรไล่แมลงฉีด 7-14 วันครั้ง ในกรณีที่เลี้ยงจำนวนไม่มาก

สภาพความเป็นอยู่ของรองเท้านารีขาวสตูลในธรรมชาติค่อนข้างชื้นกว่ารองเท้านารีชนิดอื่น
แต่ไม่ใช่สภาพเครื่องปลูกแฉะเพราะจะเกิดการเน่าที่โคนต้นหรือราก ตอนรดน้ำจะสังเกตเห็นว่า
น้ำไหลผ่านออกทางก้นกระถางทันที จึงถือว่าวัสดุปลูกในกระถางโปร่ง โอกาสที่จะเกิดการเน่า
ค่อนข้างน้อย แต่ทั้งนี้ให้ดูสภาพแวดล้อมอื่นประกอบด้วยในการเลี้ยง เช่น แสงสว่าง กระแสลม
ความชื้นในโรงเรือน เป็นต้น อย่ามุ่งในปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะต้องอาศัย
ปัจจัยอื่นเป็นองค์ประกอบร่วมกัน จึงจะสามารถปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ให้ประสบความสำเร็จได้
พันธุ์แท้รองเท้านารีขาวสตูลที่พัฒนาแล้ว


มีความสวยงามกว่ามาจากป่า

ปัจจุบัน รองเท้านารีขาวสตูล มีการคัดสายพันธุ์ที่มีความสวยงามแล้วทำเป็นไม้ขวดจำหน่าย
มากมาย ยิ่งไม้ขวดที่ได้ทำจากพ่อแม่ที่ได้รับรางวัลเกียรตินิยมแล้วด้วย ลูกไม้ที่ได้มาค่อนข้าง
จะสวย แต่ขอออกตัวก่อนว่า ลูกกล้วยไม้ที่ได้จากการติดฝัก ต้นที่ได้แต่ละต้นจะมีความสวยงาม
ไม่เหมือนกัน เราอาจจะได้ต้นที่ไม่สวยเลยก็ได้ แต่ถ้าไม่มีความผิดพลาดทางเทคนิค ดอกที่ได้
มักจะสวยมากกว่าไม่สวย สนนราคากล้วยไม้ขวดรองเท้านารีขาวสตูลจะอยู่ประมาณ 300-
3,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสวยของพ่อแม่กล้วยไม้ที่นำมาผสม

รองเท้านารีขาวสตูล ......รางวัลเกียรตินิยม
คุณอรรณพ มากสอน หรือ ทนายอั้น ทนายความหนุ่ม จากอำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
เจ้าของรองเท้านารีขาวสตูลต้นสวย รางวัลเกียรตินิยม เอ.เอ็ม. ของสมาคมพฤษชาติแห่ง
ประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์ ชื่อ ไหมแก้ว ในปี 2551 และ ชื่อ พิมพิลาส ในปี 2552 ซึ่ง
เป็นรองเท้านารีขาวสตูลที่มีความสวยงามมาก ทนายอั้น เริ่มเลี้ยงกล้วยไม้สกุลรองเท้านารีจน
ถึงปัจจุปัน เป็นเวลา 11 ปีแล้ว โดยตอนแรกปลูกเลี้ยงรองเท้านารีแทบทุกสกุล แต่มาติดใจ
รองเท้านารีขาวสตูล ทนายอั้นให้เหตุผลว่า ขาวสตูลเป็นรองเท้านารีที่มีก้านยาวเด่นสง่า ดอก
เป็นฟอร์มกลม สีขาวบริสุทธิ์ดูสะอาดและสบายตา เป็นสาเหตุที่ทนายอั้นหลงรักรองเท้านารีขาว
สตูล ตอนนี้ในรังกล้วยไม้จึงมีรองเท้านารีขาวสตูลเสียเป็นส่วนใหญ่ และยังเป็นชนิดที่ทนายอั้น
กำลังพัฒนาสายพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้น

การพัฒนารองเท้านารีขาวสตูล
ในทรรศนะของทนายอรรณพ การคัดพันธุ์ของรองเท้านารีขาวสตูลจะต้องพิจารณาหลาย
ประการ เช่น ก้านช่อดอกจะต้องมีขนาดสูงอย่างน้อย 15 เซนติเมตร ขึ้นไป ฟอร์มดอกจะต้องมี
ความสวยงามสมมาตรกันซ้ายขวา ขนาดดอกต้องกว้างขนาด 5 เซนติเมตร เป็นอย่างน้อย สี
ของดอกต้องมีสีขาวสะอาดตา จุดประมีไม่มากนัก ส่วนต้นควรจะเป็นต้นที่เลี้ยงง่าย มีการแตก
กอง่าย แข็งแรง และไม่ค่อยเป็นโรค เป็นต้น

ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นคุณสมบัติที่จะต้องมีในพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งทนายอั้นได้คัดเลือกรองเท้านารีขาว
สตูลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมาทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ จึงจะทำให้ได้ลูกกล้วยไม้ที่มีความสวยงามตาม
ที่ต้องการ

การใช้พ่อแม่พันธุ์ดังกล่าว จะซื้อพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสวยงามจากแหล่งต่างๆ นำมาคัดต้นที่มี
ความสวยงามตามความต้องการแล้วจึงนำมาผสมเกสร โดยจะไม่ได้นำรองเท้านารีขาวสตูล
ออกจากป่า เพราะนั่นหมายถึงต้องนำออกมาเป็นจำนวนมากแล้วจึงจะคัดต้นที่มีดอกสวยมา ซึ่ง
เป็นการทำลายธรรมชาติ การนำต้นที่มีดอกสวยแล้วมาผสมกันอีกต้นที่สวย เป็นการต่อยอดอีก
ขั้นหนึ่ง สามารถร่นระยะเวลาในการพัฒนาได้เร็วกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนากล้วยไม้
รองเท้านารีขาวสตูลจะต้องใช้เวลาในการติดฝัก 6 เดือน แล้วจึงนำฝักไปเพาะในห้องแล็บ ใช้
เวลาประมาณ 1 ปี เมื่อได้ไม้ขวดแล้วนำมาเลี้ยงตั้งแต่ช่วงอนุบาลถึงออกดอก จะใช้เวลา
ประมาณ 2-3 ปี เป็นอย่างเร็ว รวมระยะเวลาเกือบ 5 ปี เป็นเวลาที่นานพอสมควรสำหรับการรอ
คอย ในช่วงนี้ทนายอั้นจึงยังไม่มีลูกไม้รองเท้านารีขาวสตูลจำหน่าย เพราะลูกไม้ที่ได้ยังมี
จำนวนน้อยอยู่ จะต้องเก็บไว้สำหรับการคัดพันธุ์ต่ออีกระยะหนึ่ง ในช่วงของปีหน้าทนายอั้นจึงจะ
มีลูกไม้รองเท้านารีขาวสตูลสวยๆ มาแบ่งให้ผู้สนใจได้ปลูกเลี้ยงกันบ้าง


ทนายอั้น มีความคิดในเรื่องการพัฒนากล้วยไม้รองเท้านารีว่า นอกจากนักพัฒนาจะ
ต้องมีสายตาที่เฉียบแหลมมองคู่ผสมแต่ละคู่ให้ออกแล้ว ทำให้ได้สมกับที่คาดหวังไว้ ก็
ยังมีจริยธรรมอีกข้อหนึ่งที่ควรยึดถือคือ ความซื่อสัตย์ ในการจับคู่ผสม ไม่ควรที่จะนำ
รองเท้านารีต่างชนิดกัน หรือต้นพ่อแม่ที่มีประวัติคลุมเครือไม่แน่ชัดมาจับคู่ผสม แล้ว
จำหน่ายไปในนามของพันธุ์แท้ สนใจสอบถามรายละเอียดในการปลูกเลี้ยงรองเท้านารี
ขาวสตูลได้ที่ โทร. (085) 235-9516



กล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูล
ชื่อสกุล Paphiopedilum
ชื่อชนิด niveum (Rchb.f.) Stein
ประเภท กล้วยไม้กึ่งดิน
ฤดูดอก เดือนมีนาคม-กรกฎาคม
จำนวนดอกในช่อ 1- 2 ดอก
แหล่งอาศัยในธรรมชาติ ป่าดิบเขา
แหล่งที่พบในประเทศไทย ภาคใต้ สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช สตูล

สถานภาพ ในธรรมชาติมีเหลือจำนวนน้อย ใกล้สูญพันธุ์ แต่ในสถานที่ปลูกเลี้ยง มีจำนวนมาก
เนื่องจากมีการเพาะเมล็ดในห้องปฏิบัติการ ทำให้มีการปลูกเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย

เขตการกระจายพันธุ์ มาเลเซีย



ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน


****************************************************************************************************************************************




ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ

วิชัย รัตนจินดา มือหนึ่งในการเลี้ยง กล้วยไม้สกุลช้าง

สวนกล้วยไม้อีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในเขตภาคเหนือตอนล่างโดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลช้าง
คือ สวนกล้วยไม้วิไลรัตน์ ออร์คิดส์ ที่มี คุณวิชัย รัตนจินดา เป็นเจ้าของสวน บ้านเลขที่ 36/1
หมู่ที่ 2 ตำบลท่ามะเขือ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร 62120 โทร. (055) 724-289,
(081) 887-1080 ปัจจุบันกล้วยไม้ตระกูลช้างของสวนกล้วยไม้แห่งนี้มีโรงเรือนขนาดใหญ่บน
พื้นที่กว่า 10 ไร่ ซึ่งภายในโรงเรือนจะถูกแบ่งเป็นสัดส่วน แยกไม้ในระยะการเจริญเติบโตอย่าง
ชัดเจน เพื่อให้สะดวกในการจัดสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูให้เหมาะสม เช่น แปลงพ่อ-แม่
พันธุ์ที่คุณวิชัยใช้เวลาเสาะหาและสะสมมาอย่างยาวนาน อาทิ แปลงไม้ออกขวด แปลงเลี้ยงไม้
ออกขวด แปลงเลี้ยงไม้รุ่น และแปลงเลี้ยงไม้พร้อมจำหน่าย เป็นต้น

เดิมไม่ได้มีความชอบปลูกเลี้ยงในกล้วยไม้เลย
คุณวิชัยเล่าว่า ได้เริ่มต้นกับกล้วยไม้สกุลแวนด้าเป็นชนิดแรกในปี พ.ศ. 2531 ย้อนกลับไปใน
อดีต ครอบครัวคุณวิชัยมีพี่น้องหลายคน ประกอบอาชีพเปิดร้านโชห่วยค้าขายเป็นระบบกงสี
เหมือนครอบครัวคนจีนทั่วไป ต่อมาก็ได้คิดจะแยกออกมาประกอบอาชีพของตนเอง ในตอนนั้น
มีพรรคพวกที่เขารับจ้างเลี้ยงกล้วยไม้และนำมาส่งขายให้ผู้รับซื้อเพื่อการส่งออก จึงได้เริ่มต้น
สัมผัสการเลี้ยงกล้วยไม้เป็นครั้งแรกโดยเริ่มเลี้ยงกล้วยไม้แวนด้าเป็นชนิดแรก คุณวิชัยกล่าวว่า
เป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากขาดความรู้ ไม่เข้าใจถึงการเลี้ยง ประกอบกับคำดูถูกจากบุคคล
รอบข้างที่คิดว่าไม่น่าจะไปรอด แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีประสบการณ์มากขึ้น เรียนรู้การปลูกเลี้ยง
กล้วยไม้ว่าต้องทำอย่างไร และต่อมาได้ทดลองผสมพันธุ์กล้วยไม้ดูแล้วก็มาลุ้นดูว่าที่เราผสม
พันธุ์ไปนั้น เมื่อไปได้สัก 3 ปี ก็ได้ลุ้นว่าดอกจะออกมาเป็นเช่นไร ในช่วงแรกนั้นคุณวิชัยบอกว่า
ยากมาก เพราะยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องของการดูสีกล้วยไม้ การเรียกเฉดสี และการเลือกคู่
ผสม ได้มีการศึกษา เริ่มศึกษามากขึ้นทั้งจากตำราและสอบถามจากผู้รู้ ไปดูงานประกวดกล้วย
ไม้ ดูฟาร์มกล้วยไม้ และดูสีกล้วยไม้ที่ได้รางวัลชนะการประกวดว่าเป็นเช่นไร ฟอร์มดีเป็นอย่าง
ไร ดอกดี และสีดีเป็นเช่นไร และมีอีกหลายๆ อย่างที่ต้องเรียนรู้ รวมถึงมองอนาคตว่า กล้วยไม้
บางต้นมีจุดเด่นที่ยังนำมาพัฒนาต่อได้อีกหรือให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อเกิดความเข้าใจมากขึ้นตาม
ประสบการณ์ก็สนุกกับการผสมพันธุ์ ได้ลุ้นกับผลงานตัวเอง เพราะกล้วยไม้ที่ผสมออกมา 1 ฝัก
นั้น มันจะมีความหลากหลายมาก นั่นเป็น "เสน่ห์" ที่ทำให้ผู้เลี้ยงกล้วยไม้รวมถึงคุณวิชัยเกิด
ความหลงใหลรักในกล้วยไม้ขึ้นมา

สวนวิไลรัตน์ ออร์คิดส์ ขึ้นชื่อมากในเรื่องของ "ช้างแดง"
คุณวิชัยเล่าว่า ที่สวนจะเน้นการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลช้างมากเป็นพิเศษ เช่น ช้างแดง ช้างกระ
ช้างเผือก ช้างส้ม ช้างประหลาด และช้างการ์ตูน เป็นต้น คือปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลช้างเกือบ
ทุกชนิด รวมถึงกลุ่มไอยเรศด้วย ตัวอย่างไอยเรศ ต้นที่ทำชื่อเสียงให้กับสวนมากที่สุดคือ เมื่อ
ครั้งที่นำกอไอยเรศไปโชว์ในงาน "มหัศจรรย์กล้วยไม้ไทย" ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์การค้าสยามพารา
กอน พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่ไอยเรศออกดอกพอดี ซึ่งออกดอกทั้งหมด 52 ช่อ แต่ผมทำหัก
ในขั้นตอนการห่อช่อดอกตอนขนย้าย 1 ช่อ จึงเหลือไปโชว์ในงานเพียง 51 ช่อ แต่ละช่อก็ยาว
ถึง 60 เซนติเมตร ก็เป็นการขนย้ายที่ยากมาก แต่ก็ผ่านไปด้วยดี หลังงานเลิกไอยเรศต้นนี้ก็มีผู้
มาขอซื้อ แล้วคุณวิชัยจำหน่ายไปในราคา 500,000 บาท เลยทีเดียว


ในบรรดาสกุลช้างด้วยกัน คุณวิชัยกล่าวว่า ช้างแดงถือว่าเลี้ยงยากที่สุด โตช้า ตายง่าย อย่าง
ปลูกเลี้ยงเปอร์เซ็นต์การตายสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว แต่ความนิยมในการปลูกเลี้ยงช้าง
แดงในปัจจุบันกลับสวนทาง คือนักเลี้ยงกล้วยไม้จะนิยมหามาเลี้ยงกันมากขึ้นเป็นลำดับ น่าจะ
ด้วยความท้าทายในการปลูกเลี้ยงนั่นเอง เหตุผลหนึ่งที่กล้วยไม้สกุลช้างเลี้ยงยาก เนื่องจากเป็น
ลักษณะของการ "ห่างป่า" จึงทำให้ช้างอ่อนแอ ทั้งต่อสภาพแวดล้อม ทั้งโรค-แมลง ซึ่งต่อๆ
ไปการพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้สกุลช้างจะต้องนำต้นป่าแท้เข้ามาผสมกลับเข้าไปอีก

การพัฒนากล้วยไม้สกุลช้าง......จะเน้นการเพาะเมล็ดเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ปั่นตา
สวนกล้วยไม้วิไลรัตน์ ออร์คิดส์ ไม่นิยมนำกล้วยไม้สกุลช้างมาปั่นตา เพราะที่ผ่านมา การปั่นตา
กล้วยไม้สกุลช้างยังไม่ค่อยดีนัก มีเปอร์เซ็นต์การตายสูง ซึ่งพ่อ-แม่พันธุ์ดีของเราก็เกิดความ
เสี่ยง แล้วอีกเหตุผลหนึ่ง หากทุกคนในวงการทำแต่เพาะไม้ปั่นตาอย่างเดียว วงการพัฒนากล้วย
ไม้สกุลช้างมันก็จะหยุดอยู่กับที่ทันที แต่จากการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดนั้น เจ้าของหรือ
นักผสมพันธุ์ผสมจนติดฝักเฝ้ารอคอยเวลาได้ลุ้นว่ามันจะหน้าตาเป็นอย่างไร บางครั้งได้ต้นดีที่
สุดก็เพียงต้นเดียวจากหลายๆ ร้อยหลายๆ พันต้นก็ดีใจแล้ว แต่ต้นดีเพียง 1-2 ต้นในแต่ละครั้ง
คุณวิชัยกล่าวว่า สามารถขายให้ผู้ที่ชื่นชอบและนักสะสม ตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสนบาท
ต่อ 1 ต้น เลยทีเดียว ขอเพียงเรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อกล้วยไม้เราสวย ในวงการเขาก็
จะรู้ถึงกันหมด ไกลแค่ไหนผู้ที่ชื่นชอบเหล่านั้นก็จะตามมาซื้อถึงสวนเลยทีเดียว

ผู้ที่ชื่นชอบก็จะไปติดตามไม้ของแต่ละสวนในงานประกวดบ้าง จากอินเตอร์เน็ตบ้าง เพียงดูรูปก็
รู้แล้วว่าไม้ของแต่ละสวนเป็นอย่างไร อย่างไม้สกุลช้างทุกวันนี้คนหันมานิยมกันมากขึ้น ราคาก็
สูงขึ้นสำหรับพ่อ-แม่พันธุ์ดีๆ หรือลูกผสมใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นมา จนในช่วงหลังถึงกับมีการลัก
ขโมยกล้วยไม้ช้างจากสวนดังๆ ก็มาก โดยขโมยสามารถหยิบต้นที่ดีที่สุดได้อย่างถูกต้อง คุณ
วิชัยกล่าว โดยเฉพาะสวนกล้วยไม้ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่โดนขโมยกันมาก

การขยายพันธุ์กล้วยไม้สกุลช้างที่สวนวิไลรัตน์ ออร์คิดส์ จึงเป็นการเพาะเมล็ดทั้งหมด ซึ่งหลัง
จากผสมดอกจนติดฝักประมาณ 10-11 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ด้วย เช่น
ในช่วงอากาศร้อนมาก ฝักกล้วยไม้มักจะแก่เร็วขึ้นและฝักร่วงง่าย แต่ถ้าอากาศทางภาคเหนือซึ่ง
อากาศเย็น ฝักกล้วยไม้ที่ผสมจะแก่ช้ากว่าเล็กน้อย เมล็ดกล้วยไม้ที่ดี ไม่ควรปล่อยให้เมล็ดแก่
จนเป็นสีน้ำตาลเข้มจัด เพราะเมื่อส่งเพาะแล็บ เมล็ดแก่จะเพาะไม่ค่อยขึ้น กล้วยไม้เพียง 1 ฝัก
แล็บก็จะสามารถเพาะได้ถึง 100-300 ขวด เลยทีเดียว โดยเฉพาะถ้าเป็นฝัก "ช้างแดง" คุณ
วิชัยจะสั่งให้ทางแล็บเพาะให้ได้จำนวนขวดมากที่สุด เพราะนอกจากเป็นการผสมระหว่างพ่อ-แม่
ช้างดีแล้ว ก็ต้องเผื่อในการปลูกเลี้ยงที่จะมีการตายไว้ด้วย

เลี้ยงดูจนลุ้นดอกแรกของช้าง ก็ต้องรอเวลาถึง 3 ปีครึ่ง
คุณวิชัยเล่าว่า เมื่อนำลูกกล้วยไม้ออกจากขวดอนุบาลราว 1 ปี บนโต๊ะที่วางไว้บนซาแรนดำ
เลือกซาแรนดำที่ลักษณะหยาบๆ เพื่อให้รากกล้วยไม้สามารถแทงทะลุลงข้างล่างได้ ซึ่งคุณวิชัย
แนะว่า เป็นวิธีที่ได้ผลดี รากกล้วยไม้จะเจริญได้ดีมาก รากยาวเมื่อเราดึงกล้วยไม้ขึ้นกระเช้า
รากกล้วยไม้จะไม่ขาดหรือหักเสียหายเลย ซึ่งส่งผลไม่ให้ลูกกล้วยไม้ชะงักการเจริญเติบโตหรือ
ลดเปอร์เซ็นต์การตายในระหว่างย้ายขึ้นกระเช้าแขวน โดยหากเป็นเมื่อก่อนนั้นเราจะอนุบาล
เลี้ยงลูกกล้วยไม้ในกระถางเล็กๆ หรือกระถางเจี๊ยบ เมื่อเลี้ยงได้ 1 ปี พอจะถอนต้นย้ายขึ้นบน
โต๊ะกระเช้าแขวน รากกล้วยไม้ทั้งหัก ทั้งขาด ทำให้ลูกกล้วยไม้ชะงักการเจริญเติบโตไป พอ
เลี้ยงอนุบาลได้ 1 ปี คุณวิชัยก็จะนำขึ้นกระเช้าแขวน เลี้ยงบำรุงอย่างดีอีกราว 2 ปีครึ่ง ก็จะได้
ลุ้นดอกแรกของช้าง แต่ถ้าเป็นแวนด้าก็จะเร็วกว่านี้คือราว 3 ปี ก็จะเห็นดอกแรก

นิสัยของกล้วยไม้สกุลช้างจะไม่ชอบอากาศร้อน
คุณวิชัยกล่าวว่า กล้วยไม้สกุลช้างจะไม่ชอบอากาศร้อนและแสงแดดแรงจัด ซึ่งในโรงเรือนจะ
ต้องมุงซาแรนให้พรางแสงได้อย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ (คือแสงผ่านได้ 30 เปอร์เซ็นต์) แต่เมื่อ
เข้าสู่หน้าแล้งช่วงเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคมของทุกปี ที่สวนจะต้องเพิ่มซาแรนให้อีกชั้น
หนึ่ง เพราะอากาศในพื้นที่อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร นี้จะร้อนมาก แดดจะแรงมาก
จากนั้นก็ต้องควบคุมเรื่อง "น้ำ" ให้ดี ต้องสร้างบรรยากาศ สภาพแวดล้อมให้เย็น เพื่อลด
อุณหภูมิความร้อนลง สามารถให้น้ำได้วันละ 1-2 ครั้ง ตามแต่สภาพอากาศร้อนมากเพียงใด

การให้ปุ๋ยกล้วยไม้สกุลช้าง
คุณวิชัยแนะนำว่า สามารถให้ได้แต่อย่าให้มาก อย่าปล่อยให้เขางามและใบอวบอ้วนจนเกินไป
เพราะจะทำให้เขาอ่อนแอต่อโรค "ยอดเน่า" ซึ่งหากกล้วยไม้อย่างช้างเป็นมักจะแก้ไขยากมาก
ไม่เหมือนกับกลุ่มแวนด้าที่เป็นยอดเน่า ยังพอใช้ยาเชื้อราฉีดรักษาอาการ ตัดยอดเลี้ยงรักษาได้
แต่สำหรับกล้วยไม้สกุลช้าง เมื่อเป็นโรคยอดเน่าแล้วมีโอกาสตายสูงมาก โดยเฉพาะช้างแดงที่
อ่อนแอมาก ประสบการณ์ที่ผ่านมา ช้างแดงที่มีคนให้ราคาไว้หลายหมื่นบาทตายไปเพราะโรคนี้
แล้วก็มี

การฉีดปุ๋ยทางใบโดยปกติก็จะฉีดให้ไม่บ่อยนัก โดยเฉพาะฤดูฝนเป็นช่วงที่ช้างจะโตเร็ว ก็จะงด
หรือเว้นระยะห่างในการใช้ปุ๋ย อย่าให้เขาอวบอ้วนจนเกินไป ช้างแดงเลี้ยงให้อวบอ้วนนั้นไม่ยาก
แต่เลี้ยงให้เขารอดนั้นยากกว่า แต่คุณวิชัยจะให้ความสำคัญเรื่องการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
มากกว่า สกุลช้างเป็นกล้วยไม้ที่บังคับให้ออกดอกนอกฤดูไม่ได้ ไม่เหมือนกับสกุลแวนด้าหรือ
เขาแกะที่ยังสามารถบังคับให้ออกนอกฤดูได้ พอเข้าสู่ฤดูหนาว ราวเดือนพฤศจิกายน ช้างก็จะ
เริ่มแทงช่อดอกออกมาแล้ว ดอกจะเริ่มบานได้เดือนธันวาคม-เดือนมกราคมของทุกปี ส่วนการ
ออกดอกจะมากหรือน้อยนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าถ้าอากาศเย็นมาก ช้างก็จะออกดอกแทงช่อดี

การมองตลาดกล้วยไม้สกุลช้าง โดยเฉพาะ "ช้างแดง" อนาคตทุกสวนก็ต้องแข่งขันกันเรื่อง
ฝีมือ ที่จะพัฒนาสายพันธุ์ให้ดียิ่งๆ ขึ้น ผลิตลูกไม้จากการเพาะเมล็ดให้เกิดความหลากหลาย ให้
ได้เลือก อย่างที่สวนจะขายไม้เพาะเมล็ด เลี้ยงจนเป็นไม้รุ่นจึงจะจำหน่ายออกไป จะไม่ขายออก
ไปเป็นไม้ปั่นตาหรือขายไม้ในขวด

นอกจากกล้วยไม้สกุลช้างแล้ว สวนกล้วยไม้วิไลรัตน์ ออร์คิดส์ ยังมีกล้วยไม้อย่างตระกูลแวนด้า
แคทลียา ฯลฯ ที่ต้องปลูกเลี้ยงไว้รองรับลูกค้าที่ต้องการความหลากหลายในเวลาเลือกซื้อสินค้า
หรือมาซื้อกล้วยไม้จากทางสวนเพื่อนำไปขายต่อจะได้ไม่เสียเที่ยว เป็นต้น ด้วยประสบการณ์ใน
วงการกล้วยไม้ของคุณวิชัยมากว่า 20 ปีนั้น ท่านจะมาถ่ายทอดแนวคิดประสบการณ์ดีๆ ให้ได้
ติดตาม

คุณวิชัยทิ้งท้ายว่า "แต่ถ้ามีนักเลี้ยงกล้วยไม้รุ่นใหม่ที่เขาสนใจจริง ตั้งใจเลี้ยง คุณวิชัยจะยกไม้
ขวดที่ดีที่สุดให้เขาไปเลี้ยงเพื่ออีกสัก 3-4 ปีข้างหน้า เมื่อเขาเลี้ยงจนเห็นดอกที่สวย เขาก็จะได้
มีกำลังใจและชื่นชอบกล้วยไม้ต่อไป บ้านเราก็จะได้มีนักเลี้ยงกล้วยไม้รุ่นใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้วง
การกล้วยไม้ประเทศไทยไม่หยุดนิ่ง"



หนังสือ "เทคนิคการผลิตกล้วยไม้เงินล้าน" พิมพ์ 4 สี แจกฟรีพร้อมกับ หนังสือ "เทคนิคการ
ผลิตกล้วยไม้เชิงพาณิชย์" และ หนังสือ "การผลิตและการตลาดกล้วยไม้สกุลหวาย" รวม 3 เล่ม
จำนวน 252 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์มูลค่ารวม 100 บาท (พร้อม
ระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ
(081) 886-7398



ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน



เทคนิคการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลช้าง


ในบรรดาเกษตรกรที่ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ในเชิงพาณิชย์ในบ้านเรานั้น คุณวิชัย
รัตนจินดา เกษตรกร จ.กำแพงเพชร ถือได้ว่าประสบความสำเร็จหรืออาจจะกล่าว
ได้ว่ามี ชื่อเสียงมากที่สุดรายหนึ่งของประเทศไทย
   
ในบรรดากล้วยไม้สกุลช้างด้วยกันนั้นคุณวิชัยบอกว่า “ช้างแดง” ปลูกเลี้ยงยากที่
สุด เจริญเติบโตช้าและตายง่าย ปัจจุบันยังมีเกษตรกรและผู้สนใจนิยมเลี้ยงกล้วย
ไม้สกุลช้างกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจะด้วยความท้าทายในการปลูกเลี้ยงนั่น
เอง เหตุผลหนึ่งที่กล้วยไม้ในสกุลช้างปลูกเลี้ยงยากเพราะมีลักษณะของการ
“ห่างป่า” มีผลทำให้อ่อนแอ  ต่อสภาพแวดล้อม,แมลงและโรค
   
กล้วยไม้ จะเน้นการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลช้าง ได้แก่ ช้างแดง, ช้างกระ, ช้าง
เผือก, ช้างส้ม, ช้างประหลาด และช้างการ์ตูน เป็นต้น หรือแม้แต่กล้วยไม้ใน
กลุ่มไอยเรศ เลี้ยงได้งามมากเพียงกอเดียวมีจำนวนช่อดอกถึง 52 ช่อ และชนะ
เลิศการประกวด เป็นที่สังเกตว่าในการพัฒนากล้วยไม้สกุลช้างของคุณวิชัยนั้นจะ
เน้นวิธีการเพาะเมล็ดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ใช้วิธีการปั่นตา เมื่อได้ต้นจากการเพาะ
เมล็ดจะเลี้ยงเป็นไม้รุ่นขายต่อไป เหตุผลที่ไม่นิยมวิธีการปั่นตา เนื่องจากที่ผ่าน
มากล้วยไม้สกุลช้างที่นำมาปั่นตาพบเปอร์เซ็นต์การตายสูง แต่ที่สำคัญในความ
คิดเห็นของคุณวิชัยถ้าหากทุกคนที่เลี้ยงกล้วยไม้สกุลช้างและนำมาขยายพันธุ์
ด้วยการปั่นตา จะทำให้การพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้สกุลช้างหยุดอยู่กับที่ แต่การ
ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดนั้นเจ้าของหรือนักผสมพันธุ์ผสมจนติดฝัก  เฝ้ารอคอยเวลา
ได้ลุ้นและความหลากหลายของสายพันธุ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น
   
สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงกล้วยไม้ในสกุลช้างจะต้องทราบข้อมูลว่า ไม่ชอบสภาพ
อากาศร้อนและแสงแดดแรงจัด ดังนั้นสภาพโรงเรือนจะต้องมุงด้วยตาข่ายพราง
แสงชนิด 70% คือให้แสงแดดผ่านได้เพียง 30% เท่านั้น และเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดู
ร้อนเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ควรจะเพิ่มตาข่ายพรางแสงปูทับอีกชั้นหนึ่ง จะต้อง
สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมให้เย็นเพื่อลดอุณหภูมิของความร้อนลง 
   
ปัจจุบันสวนกล้วยไม้แถบจังหวัดกำแพงเพชร จะใช้น้ำจากแม่น้ำปิงที่ไหลมาจาก
เขื่อนภูมิพลเพื่อใช้รดกล้วยไม้ ในช่วงฤดูแล้งน้ำจากแม่น้ำปิงจะใสสะอาดมาก
สามารถนำมาใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องพักน้ำ แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนน้ำจะขุ่นมาก จะ
ต้องนำน้ำมาพักก่อนใช้ด้วยการใช้สารส้มหรือคลอรีนมาช่วยปรับให้คุณภาพของ
น้ำดีขึ้นก่อนนำใช้รดให้กับต้นกล้วยไม้สกุลช้าง การให้น้ำกล้วยไม้จะเริ่มให้ใน
ช่วงเช้ามืดประมาณตี 4
   
ในเรื่องของการให้ปุ๋ยในกล้วยไม้สกุลช้างให้บ้างแต่น้อยกว่ากล้วยไม้สกุลอื่น
เนื่องจากถ้างามมากและมีใบที่อวบอ้วนเกินไปจะทำให้เกิดโรคได้ง่ายโดยเฉพาะ
โรคยอดเน่า.

ทวีศักดิ์  ชัยเรืองยศ



http://www.dailynews.co.th/web/index.cfm?page=content&categoryID=482&contentID=81567





บันไดสามขั้นสำหรับนักเลี้ยงกล้วยไม้

งานอดิเรกของผู้นิยมชมชอบต้นไม้ที่ฮิตมากก็คือ การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ กล้วยไม้ที่ว่ามักจะเป็น
กล้วยไม้ที่นำออกจากป่า หรือที่นักกล้วยไม้เรียกว่า ไม้กำ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้านำมากำขายเป็นกำๆ
ในตลาดนัดจตุจักรหรือแหล่งขายกล้วยไม้ป่าทั่วๆ ไป กล้วยไม้ดังกล่าวกว่าจะมาถึงมือผู้ซื้อส่วน
ใหญ่อยู่ในสภาพบอบช้ำแสนสาหัสมาแล้วแทบทั้งนั้น 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่ซื้อไปเลี้ยงมักจะไม่
รอด

สำหรับนักกล้วยไม้ที่เป็นมือฉมังขั้นเซียนในปัจจุบันล้วนผ่านเวทีการเลี้ยงกล้วยไม้ป่ามาแล้วทั้ง
สิ้น ตำรากล้วยไม้ที่มีก็ซื้อหามาเพื่ออ่านดูว่ามีชนิดไหนบ้าง ตำราประเภทนี้มักจะเน้นที่รูปดอก
ให้รู้ว่าเป็นกล้วยไม้ชนิดไหน เห็นดอกสวยก็จำชื่อไปเสาะหาซื้อ โดนหลอกมาก็มาก จะเอาต้น
ชื่อนี้ กลับได้อีกต้นหนึ่ง ซึ่งสำหรับมือใหม่ดูต้นกล้วยไม้ไม่ออกว่าเป็นชนิดไหนกันแน่ นักเลี้ยง
กล้วยไม้ทุกคนจะต้องผ่านการเป็นมือใหม่หัดเลี้ยงก่อน และต้องผ่านบันไดสามขั้นนี้ทุกคน

บันไดขั้นที่หนึ่ง เลี้ยงให้รอด
บนบันไดขั้นนี้เป็นขั้นแรกสำหรับนักกล้วยไม้ มือใหม่หัดเลี้ยงกล้วยไม้จะซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า
ชอบดอกกล้วยไม้ชนิดไหนก็จะหาซื้อต้นกล้วยไม้ชนิดนั้น โดยไม่พิจารณาถึงสภาพพื้นที่หรือ
สถานที่เลี้ยงของตนเองเลย ขอให้ชอบเป็นอันซื้อ กล้วยไม้หลายชนิดมีถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติ
เหนือระดับน้ำทะเลสูงกว่าสถานที่เลี้ยงของตัวเองมาก เช่น บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล

แทบจะต่ำกว่าระดับน้ำทะเลด้วยซ้ำ กลับซื้อรองเท้านารีดอยตุง รองเท้านารีเหลืองเลย มาเลี้ยง
หรือไม่ก็ ฟ้ามุ่ย สามปอย ผลที่ได้ก็คือ สภาพต้นจะค่อยๆ เหี่ยวลงทิ้งใบไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตาย
ในที่สุด เพราะฉะนั้นในการอ่านตำรากล้วยไม้ ไม่ว่าของอาจารย์อบฉันท์ หรืออาจารย์ท่านใดก็
ตาม นอกจากดูความสวยงามของดอกแล้ว ควรอ่านถึงสภาพความเป็นอยู่ในธรรมชาติของ
กล้วยไม้ชนิดนั้นด้วย ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงมี 3 ประการ

ประการแรก ให้ศึกษาว่ากล้วยไม้ชนิดนั้นมีสภาพความเป็นอยู่ในธรรมชาติเหนือระดับน้ำทะเลกี่
เมตร แล้วเปรียบเทียบดูสถานที่เลี้ยงของเราเองว่าใกล้เคียงกับที่ตำราบอกไหม ซึ่งประการนี้ไม่
จำเป็นต้องเท่ากันและถ้าสูงกว่าไม่เป็นไร ถ้าต่ำกว่ามากก็ไม่ควรเลี้ยง ขอให้จำไว้ว่า กล้วยไม้ที่
มีถิ่นกำเนิดจากภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันตก มักจะมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลไม่มาก จะ
ปลูกเลี้ยงได้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ถ้าเป็นกล้วยไม้ที่มาจากภาคเหนือหรือภาคตะวัน
ออกเฉียงเหนือ จะอาศัยอยู่ในธรรมชาติที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป อย่างนี้ใน
การเลี้ยงก็ค่อนข้างยาก ยิ่งถ้าแหล่งอาศัยในธรรมชาติสูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป ไม่
ควรเลี้ยงเลย เพราะจะเสียเงินไปเปล่าและยังบั่นทอนกำลังใจในการเลี้ยงอีก


ประการที่สอง ให้ศึกษาดูให้ดีว่า กล้วยไม้ชนิดนั้นๆ พบในแหล่งธรรมชาติที่ป่าชนิดไหน เช่น ป่า
ดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ หรือป่าพรุ สภาพของป่าแต่ละอย่างมีความแตก
ต่างกันทั้งในสภาพของแสง สภาพของความชื้นในบรรยากาศ ปริมาณฝนที่ตก อุณหภูมิในป่า
ตามฤดูกาลต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของการดำรงอยู่ของกล้วยไม้แต่
ละชนิด ยากไหมครับ บอกได้เลยว่าไม่ยาก ถ้าการปลูกกล้วยไม้เป็นสิ่งที่เรารัก เราต้องเอาใจใส่
ในสิ่งที่เรารักเป็นเรื่องธรรมดา เอาอย่างนี้ เรื่องทั้งหมดแทบจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่เรารู้กันแทบทั้ง
นั้น ถ้าเราพูดถึงป่าดิบชื้น ชื่อก็บอกในตัวอยู่แล้วว่า ป่าดิบก็คือป่าที่ยังมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์
อยู่ใช่ไหม แล้วชื้นล่ะ ชื้นก็คือมีความชื้นในป่ามาก ป่าดิบชื้นก็คือสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์และมี
ความชื้นมาก ก็แค่นั้น แล้วยังไงต่อ ต่อก็คือ เมื่อเรารู้ว่ากล้วยไม้ชนิดนี้อยู่ในป่าที่เป็นป่าดิบชื้น
เราก็ต้องดัดแปลงสถานที่ปลูกของเราให้คล้ายสภาพในธรรมชาติที่กล้วยไม้อยู่ เปล่า ไม่ได้บอก
ให้เอาป่ามาปลูกไว้ข้างบ้าน ป่าดิบชื้น เราจะพิจารณาได้ว่า สภาพแสงจะต้องไม่มากนัก ซาแร
นที่พรางแสงใช้ 80% น่าจะใช่ แล้วสภาพความชื้นละ สภาพพื้นโรงเรือนควรจะเป็นทรายไหม
หรือมีสภาพน้ำเจิ่งอยู่ตลอดเวลา แล้วปริมาณฝนในป่าดิบชื้น ควรจะมากหรือน้อย ก็ต้องควรจะ
มาก ถ้าสภาพฝนมากในธรรมชาติแล้วในโรงเรือนควรรดน้ำวันละกี่ครั้ง รดสัก 2 ครั้ง จะคล้าย
ปริมาณฝนที่มากไหม อุณหภูมิที่เลี้ยงล่ะ ก็ให้ดูจังหวัดหรือภาคที่พบ ถ้าพบทั่วประเทศก็แสดงว่า
กล้วยไม้ชนิดนี้มีสภาพความเป็นอยู่หลากหลาย เลี้ยงได้ไม่ยาก แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเลี้ยงที่
กรุงเทพฯ ก็ยังแนะนำให้เอากล้วยไม้ที่มาจากทางภาคใต้เลี้ยง เพราะจะเลี้ยงง่ายกว่าภาคเหนือ
แต่ถ้าอยู่ภาคเหนือเอากล้วยไม้จากภาคไหนก็เลี้ยงได้หมด ยกเว้นการเลี้ยงบนดอยซึ่งมีอากาศ
หนาวมาก กล้วยไม้บางชนิดที่พบในภาคเหนือจะเลี้ยงไม่ได้เลยในกรุงเทพฯ เช่น เอื้องแซะหอม
เอื้องแซะดอยปุย

สรุปแล้ว ถ้าพบชื่อเป็นสถานที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ควรหลีกเลี่ยงในการเอา
มาปลูกเลี้ยงในกรุงเทพฯ เช่น รองเท้านารีดอยตุง รองเท้านารีอินทนนท์ เก๊ากิ่งแม่สะเรียง กะเร
กะร่อนอินทนนท์ หนวดพราหมณ์ดอย สิงโตเชียงดาว เอื้องจำปาน่าน กระดิ่งภู อย่าได้ริซื้อมา
ปลูกเลี้ยงเป็นอันขาด เพราะกล้วยไม้ชนิดนี้จะต้องอาศัยอยู่อุณหภูมิที่ต่ำจึงจะออกดอก

ประการที่สาม คือสาเหตุประการแรกเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ปัจจัยที่สองเราสามารถ
ทำขึ้นมาให้ใกล้เคียงได้ ประการที่สามคือ เราสามารถเอาใจใส่ดูแลกล้วยไม้อย่างที่ว่าในปัจจัย
ที่สองได้ไหม ถ้าไม่ได้ขอแนะนำให้เลี้ยงให้น้อยต้นลง หรือไม่ก็เลี้ยงกล้วยไม้สกุลหวายที่ตัด
ดอกสำหรับไหว้พระเถอะ กล้วยไม้ชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย ออกดอกตลอดปี เป็นที่นิยม
มาก แถมราคาถูกอีกด้วย และไม่เป็นการรังแกธรรมชาติเพราะกล้วยไม้ชนิดนี้เป็นลูกผสมที่นำมา
ปั่นเนื้อเยื่อกันคราละเป็นแสนต้น ตายก็ทิ้งไปแล้วซื้อใหม่ เป็นการอุดหนุนเกษตรกรอีกทาง

บันไดขั้นที่สอง เลี้ยงให้ออกดอก
กล้วยไม้พันธุ์แท้โดยทั่วๆ ไปเมื่อเลี้ยงไม่ตายมักจะออกดอกเมื่อถึงฤดูดอกของแต่ละชนิดนั้นๆ
ถึงสภาพการเลี้ยงดูจะไม่ดีมากก็ตาม ดังจะเห็นได้จากที่เราเอากล้วยไม้พันธุ์แท้ต่างๆ ไปเกาะ
ตามต้นไม้ใหญ่บริเวณบ้าน ไม่ได้ดูแลเอาใจใส่มากนัก จนลืมไปเสียแล้วก็มี พอถึงฤดูดอกก็จะ
มีดอกออกมาให้ชม ถึงรู้ว่าปลูกกล้วยไม้เอาไว้ แต่สภาพดอกอาจไม่ดีนัก อันนี้มักจะไม่แน่เสมอ
ไป บางครั้งสภาพแวดล้อมอาจเหมาะสำหรับกล้วยไม้ชนิดนั้นก็จะได้เห็นดอกที่มีสภาพสมบูรณ์
ได้ไม่ยาก แต่สำหรับกล้วยไม้ลูกผสมต่างๆ ที่ปลูกเลี้ยงกัน เช่น สกุลแวนด้า เอสโคเซนด้า แค
ทลียา ถ้านำไปเกาะตามต้นไม้ฝากเทวดาเลี้ยงมักจะไม่ได้ผล เนื่องจากกล้วยไม้ลูกผสมเหล่านี้มี
คุณสมบัติในการออกดอกถี่มากกว่าปีละ 1 ครั้ง ทำให้ต้องการปุ๋ย ยา และการดูแลเอาใจใส่ค่อน
ข้างดี การซื้อมาปลูกแล้วรดเพียงแต่น้ำ การออกดอกค่อนข้างยาก หนำซ้ำจะตายเอาอีก ส่วน
กล้วยไม้พันธุ์แท้ออกดอกเพียงปีละครั้ง ดังนั้น ความต้องการปุ๋ยยาและการดูแลจะน้อยกว่า การ
ออกดอกก็ง่ายกว่าเพราะสะสมอาหารเพื่อการนี้ไว้ตั้งปี กว่าจะออกดอก แต่ดอกจะสวยสมบูรณ์
หรือไม่ก็อยู่ที่สภาพแวดล้อมของต้นไม้ที่เกาะ แต่ถ้ากล้วยไม้พันธุ์แท้ได้รับการดูแลเอาใจใส่
เหมือนกล้วยไม้ลูกผสม การออกดอกก็ยิ่งจะมีสภาพสมบูรณ์กว่า การให้ปุ๋ยเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้
ต้นกล้วยไม้มีความสมบูรณ์ การรดแต่น้ำอย่างเดียวโดยไม่ให้ปุ๋ยเหมือนกับคนกินเฉพาะข้าวไม่
ได้กินกับ การให้ปุ๋ยอย่างไร เช่น ความถี่ในการให้ เวลาในการให้ จำนวนที่ให้ ชนิดปุ๋ยที่ให้สอด
คล้องกับฤดูกาลหรือระยะเวลาการเจริญเติบโตของวงจรชีวิตช่วงไหนของกล้วยไม้ชนิดนั้น เป็น
สิ่งสำคัญ นักปลูกเลี้ยงมักจะให้ปุ๋ยสูตรเสมอเพื่อความสมบูรณ์ของต้นก่อน จนต้นสมบูรณ์เต็มที่
ใกล้จะออกดอกจึงจะใส่ปุ๋ยเร่งดอก ส่วนยาที่ให้ก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ กล้วยไม้แต่ละชนิดมีความ
ทนทานโรคต่างกัน การให้ยาในกล้วยไม้สกุลเดียวกันค่อนข้างง่าย ถ้าปลูกเลี้ยงหลายๆ สกุลรวม
กัน การให้ปุ๋ยยาค่อนข้างยาก จึงควรแยกโซนการปลูกเป็นแต่ละส่วนไปเพื่อสะดวกในการให้ปุ๋ยยา

บันไดขั้นสาม เลี้ยงอย่างไรให้ดอกสวย
เลี้ยงมาถึงขั้นนี้แล้ว เราจะรู้ว่ากล้วยไม้ชนิดไหนเราเลี้ยงได้ และกล้วยไม้ชนิดไหนไม่เหมาะสม
กับเราด้วยประการทั้งปวง ถ้าชอบก็เลี้ยงไว้ดูบ้างเล็กน้อยจะได้มีเวลาประคบประหงม แต่อย่าดัน
ทุรังเลี้ยงจำนวนมากๆ กล้วยไม้เราจะเหลือแค่ไม่กี่สกุล แต่จำนวนในสกุลที่เลี้ยงได้จะค่อยๆ เพิ่ม
จำนวนขึ้นเรื่อยๆ กล้วยไม้สกุลไหนที่เลี้ยงไม่ได้ก็จะหยุดซื้อ ที่มีอยู่ก็แจกจ่ายให้กับคนอื่นไป
กล้วยไม้ที่เหลือก็จะถูกจัดแบ่งแยกเป็นส่วนๆ แต่ละสกุลไปเพื่อง่ายในการดูแล เมื่อเราเหลือ
เฉพาะกล้วยไม้สกุลที่เลี้ยงได้และที่เรารักแล้ว เราก็ต้องตั้งใจเรียนรู้เกี่ยวกับกล้วยไม้สกุลนั้นๆ
จากผู้รู้หรือตำรับตำราทั้งหลาย เลี้ยงอย่างไรให้ดอกสวย คำตอบนี้คุณต้องเป็นผู้แสวงหาเอง
เลี้ยงให้สวยเพื่ออะไร เอาไว้ชื่นชมเองกับบ้าน หรือเริ่มเข้าวงการเพื่อประกวดกล้วยไม้ เปิดหูเปิด
ตาดูกล้วยไม้ต่างๆ ที่เขาเอามาประกวดบ้างเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ ก็จะค่อยๆ รู้เรื่อง
กล้วยไม้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เอาประสบการณ์ของคนอื่นมาใช้บ้าง แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง
เพราะการเลี้ยงกล้วยไม้ให้ได้ดีต้องมีปัจจัยหลายอย่าง อย่าเอาเพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียง
อย่างเดียวมาใช้กับกล้วยไม้ของเราทันที ให้ค่อยๆ ทดลองทำทีละส่วนน้อยๆ ก่อน ถ้าเห็นว่า
เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ในสวนเราแล้วละก็ค่อยเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าของเรามี
ส่วนดีอยู่แล้วอย่าพยายามริเปลี่ยน เพราะมันอาจจะเลวลงก็ได้

นักกล้วยไม้ที่เริ่มทำสวนกล้วยไม้ เริ่มมาจากการผ่านบันไดสามขั้นนี้มาทั้งนั้น การที่มีเงินแล้ว
เอามาลงทุนทำสวนกล้วยไม้เลยด้วยทุนจำนวนมาก มักจะไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากไม่มี
ประสบการณ์ในงานเลี้ยง จำเป็นต้องอาศัยผู้อื่น เขาว่าอย่างไรก็ว่าตามเขา ไม่นานก็จะค่อยๆ
ม้วนเสื่อกลับบ้าน โบราณว่า อย่าพึ่งจมูกเขาหายใจ มีอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งสามารถเป็นเจ้าของสวน
กล้วยไม้ได้เป็นวิธีการเรียนลัด คือการเข้ามาทำงานในสวนกล้วยไม้ที่เขาประสบความสำเร็จ
แล้ว มาทำงานให้เขา เก็บเกี่ยวประสบการณ์เรียนรู้เรื่องราวจากสวนกล้วยไม้นั้น เอาใจใส่จริงๆ
ไม่เกิน 3 ปี 5 ปี ก็น่าจะมีประสบการณ์พอสำหรับสร้างสวนของตัวเอง วิธีนี้ก็สร้างเจ้าของสวน
ได้หลายแห่ง แล้วแต่จังหวะชีวิตของคนจะใช้วิธีไหนในการเดิน



ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน

***********************************************************************************************************************



ภาวิณี สุดาปัน

ฟาแลนนอปซิส สุดสวย ไปไกลถึงยุโรป...
ประยูร พลอยพรหมมาศ คนไทยทำเอง

ช่วงนี้ก็เข้าสู่ต้นปีใหม่แล้ว อากาศกำลังดี อยู่ในช่วงหน้าหนาว บรรยากาศเหมาะกับของสวยๆ
งามๆ ดอกไม้ออกดอกเบ่งบาน ชูช่อ สร้างสีสันสวยงามเข้ากับฤดูกาลพอดี กล้วยไม้ก็เป็นไม้
ดอกไม้ประดับชนิดหนึ่ง ซึ่งสร้างความเจริญตาเจริญใจให้กับผู้ที่พบเห็นดีนักแล เขาว่ากันว่า
กล้วยไม้เป็นของป่า หายากยิ่งนัก ถ้าจะจริงดังคำกล่าวขาน เพราะกว่าที่ผู้เขียนจะตามหากล้วย
ไม้ เก็บภาพสวยๆ มาฝากแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้ ก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน
ตะวันคล้อย แดดร่ม ลมเย็น ผู้เขียนเดินทางไปถึงจุดหมาย เป้าหมายในวันนี้คือ กล้วยไม้ เมื่อได้
พบเห็นสิ่งอันเป็นสาระดีๆ ก็นำมาฝากท่านผู้อ่าน ด้วยการบอกเล่าผ่านตัวหนังสือ รายละเอียดจะ
กล่าวให้ฟัง

กล้วยไม้ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ในวงศ์ Orcidaceae เป็นไม้ตัดดอกยอดนิยม เนื่องจากมีสีสันสวย
งาม แถมยังเป็นไม้เศรษฐกิจของไทย คนไทยทำเป็นธุรกิจไม้ตัดดอกส่งนอกก็เยอะ บ้างก็นิยม
นำดอกกล้วยไม้มาปักแจกันบูชาพระ ปัจจุบัน ผู้คนนิยมนำมาเลี้ยงไว้เป็นไม้ประดับในสวน ช่วย
เป็นเพื่อนคลายเหงาได้อีกทาง หากจะเลี้ยงเป็นธุรกิจก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่ที่ว่าจะมีวัตถุ
ประสงค์ในการเลี้ยงกล้วยไม้เพื่ออะไร เหมือนดังเช่น คุณประยูร พลอยพรหมมาศ ที่ทำธุรกิจ
เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิส (Phalaenopsis)

ถึงแม้เดิมกล้วยไม้จะเป็นไม้ที่มาจากป่า หากสังเกตแล้วไม่คิดอะไรมาก ก็คงจะเป็นไม้ป่า
ธรรมดาๆ ชิ้นหนึ่ง แต่ถ้าหากสังเกตเห็นแล้วนึกตรองดีๆ ก็จะรู้ว่าไม้ที่ออกจากป่า สามารถนำ
มาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ (แต่ไม่แนะนำให้ลักลอบนำพันธุ์ไม้ป่าออกมาจำหน่ายน่ะ เพียงแต่จะ
บอกว่าของแต่ละชิ้นมันมีคุณค่าในตัวของมันเอง ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะสามารถมองเห็นและสัมผัสได้
ถึงจุดเด่น และดึงส่วนนั้นออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่)

ผู้เขียนได้พบปะพูดคุยกับนักธุรกิจหนุ่มไฟแรงอย่าง คุณประยูร พลอยพรหมมาศ เจ้าของ บริษัท
 ประยูรออร์คิด ผู้ผลิตและส่งออกกล้วยไม้อันดับต้นๆ ของประเทศไทย ก่อนอื่นเรามาทำความ
รู้จักคุณประยูรกันหน่อยเห็นจะดี

คุณประยูร เป็นนักเรียนนอก หันมาจับธุรกิจเป็นผู้ผลิตและส่งออกกล้วยไม้กว่า 30 ปี บนเนื้อที่
กว่า 30 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลหนองสามวัง อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี และ
ปัจจุบันยังได้ขยายต่อยอดธุรกิจออกไปในพื้นที่กว่า 100 ไร่ ที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
เป็นทั้งผู้ผลิตเอง ส่งออกเอง แบบนี้แหละเขาถึงเรียกว่า นักธุรกิจหนุ่มไฟแรง คนไทยผู้นี้เป็น
แบบอย่างที่แสดงให้เห็นว่า กล้วยไม้ส่งออกนอก คนไทยก็สามารถทำได้ ด้วยใจรักและหมั่น
ฝึกฝน หาความรู้อยู่เสมอ จึงทำให้คุณประยูรนำความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ การศึกษาดูงาน
กล้วยไม้นานาชาติ มาเป็นโจทย์ในการพัฒนาห้องแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของตน ซึ่งประยูรออร์
คิดจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศผู้ส่งออกกล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิส

คุณประยูร เล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาในการก่อตั้งบริษัทว่า "ตั้งแต่เล็กอยู่กับกล้วยไม้มา
ก่อน สัมผัสและใช้ชีวิตอยู่กับกล้วยไม้มาตั้งแต่เด็ก เห็นและได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงมา
หลายอย่าง อาเป็นนายกสมาคมพฤกษศาสตร์แห่งประเทศไทย พ่อก็ทำงานอยู่ที่เดียวกับอา
ตอนเด็กๆ ได้เห็นและเรียนรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ต่างๆ จึงทำให้ตนรู้สึกหลงใหล ชื่นชอบกล้วยไม้เป็น
พิเศษ จากนั้นก็ได้ไปเรียนภาษาต่อที่เมืองนอก พอเรียนจบกลับมาจึงตั้งบริษัทเป็นของตนเอง
ชื่อว่า...ประยูร ออร์คิด"

คุณประยูร กล่าวว่า การเลี้ยงกล้วยไม้ทุกคนก็เลี้ยงได้ ถ้าเลี้ยงในปริมาณที่ไม่มาก แต่หากจะ
เลี้ยงเพื่อทำเป็นธุรกิจ คงต้องคิดและศึกษากันให้ดีสักหน่อย เพราะธุรกิจส่งออกกล้วยไม้เป็น
ธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนสูง และที่สำคัญเรื่องคุณภาพต้องให้ตรงตามคุณภาพมาตรฐานสากล วิธี
การจะเพาะพันธุ์กล้วยไม้ส่งนอก จะต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดเป็นหลัก บนหลักของ
ความต้องการนั้น คุณภาพของกล้วยไม้จะต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งคุณประยูรบอกว่า บริษัท
ของตนเป็นมาตรฐานของยุโรป คือ เป็นตลาดหลักที่ต่างชาติต้องการกล้วยไม้ โดยเฉพาะสกุล
ฟาแลนนอปซิส บริษัทจะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเอง ขนาดที่เพาะเลี้ยง มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง
ขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าว่าต้องการกล้วยไม้ขนาดเท่าไร สามารถสั่งทำได้
กลุ่มลูกค้าตลาดหลักคือ ยุโรป รองลงมาจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แอฟริกา
เอเชียบ้างนิดหน่อย

ปัจจุบันนี้ คุณประยูร จะส่งออกเพียง 15 ล้านต้น ต่อปี เท่านั้น แต่ตลาดต่างประเทศมีความต้อง
การสูงถึง 150 ล้านต้น ต่อปี คุณภาพสินค้าที่ดีคือ กล้วยไม้ต้องแข็งแรง รากต้องสมบูรณ์ ไม่มี
แมลง ทางบริษัทจะให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพ ใส่ใจตั้งแต่การควบคุมกระบวนการผลิต เริ่ม
จากการเพาะเลี้ยงจนถึงระบบการขนส่ง โรงเรือนเลี้ยงกล้วยไม้จะต้องทำอย่างดี เครื่องปลูกใช้
เปลือกสนนำเข้าจากประเทศนิวซีแลนด์ ส่วนปุ๋ยที่ใช้จะนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ลูกค้าจะเป็น
คนแนะนำมาว่ากล้วยไม้ แบบนี้จะต้องใช้ปุ๋ยอะไร ส่วนน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ จะใช้น้ำ Reverse
Osmosis (RO) เป็นน้ำบริสุทธิ์ผสมกับสารต่างๆ ที่ทางบริษัทคิดค้นขึ้นเอง

คุณประยูร เล่าถึงเหตุผลในการเพาะพันธุ์กล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิสว่า สาเหตุที่ตนเลือกฟา
แลนนอปซิส เป็นเพราะว่าสกุลนี้ตลาดต่างประเทศมีความต้องการในปริมาณมาก ซึ่งหากเปรียบ
เทียบกับกล้วยไม้สกุลอื่น พวกซิมบิเดียม ตนก็ทดลองปลูกที่เขาใหญ่ แต่ความต้องการของ
ตลาดสู้ฟาแลนนอปซิสไม่ได้ ส่วนออนซิเดียมเป็นไม้เมืองหนาวก็จริง แต่ยังอยู่ในขั้นทดลอง
ปลูกอยู่ ไม่ได้ส่งออก ซึ่งตลอดระยะเวลาการเพาะพันธุ์กล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสไม่เคยตกเกรด
เลย หากจะพูดถึงในเรื่องราคา ตนจะเพาะเลี้ยงขาย ราคาต้นละ 8 บาท หากเป็นไม้รุ่น ขนาด 3
นิ้ว 5 นิ้ว ขายราคาต้นละ 35 บาท หากต่างชาติทำขายเองจะตกราคาต้นละ 100 บาท


กล้วยไม้ของประยูรออร์คิด มี 2 เกรด คือ เกรดเอ เป็นไม้คุณภาพ ไม่มีโรคและแมลง ตรงตาม
มาตรฐานของตลาดยุโรป และเกรดบี เป็นไม้ที่ตกเกรด ต้นสมบูรณ์รองลงมา อาจจะถูกพวก
แมลงรบกวน แต่ยังถือว่าเป็นกล้วยไม้ที่ได้คุณภาพ ทางบริษัทจะไม่ส่งออก แต่จะนำมาวางขาย
ที่ตลาดนัดจตุจักรของไทย เปิดร้านขายเอง ขายทุกวันพุธและวันพฤหัสบดี หากใครสนใจ
สามารถไปเดินดูเลือกซื้อหาได้ หรือหากท่านใดสนใจเข้าเยี่ยมชมสวนกล้วยไม้สกุลฟาแลนนอ
ปซิสที่เขาใหญ่ได้ทุกวัน โดยเฉพาะช่วงนี้ดอกกล้วยไม้จะสวยเป็นพิเศษ เพราะอยู่ในช่วงหน้า
หนาว

ส่วนเรื่องโรคและแมลง ต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมดูแล ทางบริษัทมีมาตรการในการควบคุมส่วน
นี้ ไม่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงรบกวน

นอกจากนี้ ทาง บริษัท ประยูรออร์คิด ยังเน้นเรื่องการประหยัดพลังงาน ใช้อาหารวุ้นธรรมชาติที่
เป็นของไทยหาได้ตามตลาดทั่วไป มีส่วนผสมของกล้วยหอม น้ำมะพร้าว มัน เป็นต้น บริษัท
รับรองเรื่องคุณภาพและป้องกันการกลายพันธุ์ได้ บริษัทประหยัดพลังงานด้วยการใช้ตาข่าย
อำพรางแสงคลุมบนหลังคาห้องเย็นเพื่อป้องกันแสงแดดที่ก่อให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงานได้
หากเป็นห้องที่ต้องการแสงมาก ตนจะนำหลังคาอะลูมิเนียมมาดูดเอาเฉพาะแสงไว้ ส่วนความ
ร้อนก็จะถูกสะท้อนกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศ ช่วยประหยัดพลังงานได้มากเช่นกัน รอบๆ บริเวณ
ห้องแล็บจะปลูกต้นไผ่ เพื่อช่วยให้ความร่มรื่น

เป็นรูปแบบหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการทำธุรกิจที่คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงาน ช่วยลดการปลด
ปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ และลดความสิ้นเปลืองให้กับบริษัทได้อีกช่องทางหนึ่ง


ผู้สนใจถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณประยูร พลอยพรหมมาศ เลขที่ 9 หมู่ที่ 11 ถนนรังสิตนครนายก
(คลองสิบเอ็ด) ซอยวัดโปรยฝน ตำบลหนองสามวัง อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี โทร.
(089) 766-4646 Email:prayoon@prayoonorchids.com

กล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิส
กล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิส เป็นกล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตเป็นแบบโมโนโพเดียล ที่มีแหล่ง
กำเนิดตามธรรมชาติและกระจายพันธุ์กว้างขวางอยู่ในบริเวณทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ
หมู่เกาะใกล้เคียงมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากคุณลักษณะอันงามเด่นของดอกและช่อดอกเป็นที่
น่าสนใจของบรรดาผู้นิยมกล้วยไม้ทั่วๆ ไป ประกอบกับอุปนิสัยเลี้ยงง่าย สามารถเจริญงอกงาม
และออกดอกได้ดีในสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ กันอย่างกว้างขวาง

การปลูกกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิส หากปลูกลงกระถางหรือกระเช้าไม้ ควรจะตั้งต้นกล้วยไม้ลง
ตรงกลาง ให้ระดับโคนต้นส่วนเหนือรากอยู่ต่ำกว่าระดับขอบภาชนะปลูกเล็กน้อย การวางต้น
กล้วยไม้สูงเกินไปจะทำให้รากกล้วยไม้ได้รับความชื้นไม่เพียงพอ แต่ถ้าปลูกต่ำเกินไปกล้วยไม้ก็
จะอยู่ในสภาพที่ชื้นเกินไปหรือแฉะได้ การใส่เครื่องปลูกควรจะใส่พอเพียงแต่กลบรากเท่านั้น
อย่าใส่เครื่องปลูกมากเกินไป จนกระทั่งสูงขึ้นมากลบส่วนของโคนต้น เพราะอาจจะทำให้โคน
ต้นแฉะและโคนใบเน่าได้ ฤดูการปลูกควรเป็นเวลาที่ก่อนจะย่างเข้าฤดูฝน ประมาณเดือนมีนาคม
ถ้าปลูกหลังจากย่างเข้าฟดูฝนแล้วบรรยากาศจะมีความชื้นสูง และกล้วยไม้กำลังอวบน้ำ อาจจะ
ทำให้ใบและยอดเน่าได้ง่าย แต่ถ้าเป็นกล้วยไม้ขนาดเล็ก มีความไวต่อการเจริญเติบโตดีกว่า
กล้วยไม้ใหญ่ ก็ไม่สู้จะเกิดปัญหานัก ยิ่งถ้าหลังจากปลูกแล้ว เก็บไว้ในที่ปลอดฝนและประคับ
ประคองพรมน้ำให้ทีละเล็กละน้อย อย่าให้ชื้นมากก็น่าจะทำได้



ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน

****************************************************************************************************************




ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ

"กันติกานต์" กับความสำเร็จของการเลี้ยงกล้วยไม้สกุลแวนด้า (ตอน 1)

"ผมไม่จบการศึกษาทางด้านการเกษตร ความรู้จากการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลแวนด้าที่ทำให้ประสบ
ความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ ครูและแรงบันดาลใจมาจากคุณพ่อของผมเอง ที่บังคับให้ผมศึกษาและ
ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อเรียนอยู่ ป.3 จากนั้นก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้
ตลอดมา ช่วงรับราชการเมื่อย้ายงานไปจังหวัดต่างๆ จะมีเรือนเพาะชำกล้วยไม้เล็กๆ ตามไปด้วย" นี่คือ
คำพูดของ คุณเกรียงศักดิ์ เหมินทร์ เจ้าของสวนกล้วยไม้กันติกานต์ บ้านเลขที่ 93/15 ถนนฝั่งสถานี
รถไฟ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (081) 474-7755, (081)
498-8585 ปัจจุบัน คุณเกรียงศักดิ์ เกษียณอายุราชการจากงานเร่งรัดพัฒนาชนบท มาทำสวนกล้วย
ไม้ในพื้นที่ 2 ไร่เศษ โดยพื้นที่ทำสวนกล้วยไม้ติดกับแม่น้ำน่าน สวนกล้วยไม้กันติกานต์จะปลูกกล้วย
ไม้สกุลแวนด้าเป็นหลัก และมีชื่อเสียงมากในการเลี้ยงกล้วยไม้ "ฟ้ามุ่ย" จนได้รับรางวัลในการ
ประกวดหลายครั้งและจัดเป็นสวนกล้วยไม้สกุลแวนด้าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคเหนือตอน
ล่าง คุณเกรียงศักดิ์ ย้ำว่า พื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนล่างเหมาะที่จะปลูกกล้วยไม้สกุลแวนด้า แต่ถ้าจะ
ปลูกกล้วยไม้ในสกุลหวายจะต้องพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะที่เขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร
สมุทรสงคราม ฯลฯ และถ้าจะปลูกกล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิสในเชิงพาณิชย์จะต้องปลูกในเขตพื้นที่
ภาคเหนือตอนบน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เนื่องจากต้องการความหนาวเย็น

หลักการเลี้ยงกล้วยไม้ของสวนกันติกานต์
คุณเกรียงศักดิ์ บอกว่า เกษตรกรและผู้สนใจที่คิดจะเลี้ยงกล้วยไม้ในเชิงพาณิชย์มักจะตั้งโจทย์เริ่มต้น
ว่า ปลูกเลี้ยงยากทำให้เกิดความท้อเสียก่อน แต่ในความเป็นจริงแล้วกล้วยไม้จัดเป็นไม้ดอกที่ปลูก
เลี้ยงง่าย เพียงแต่ "มีน้ำใจให้เขาเท่านั้นเอง" หรืออาจจะกล่าวง่ายๆ คือ เริ่มต้นจากใจรัก แล้วค่อยๆ
เรียนรู้ไป ความหมายของน้ำใจก็คือมีการเอาใจใส่ ให้ปุ๋ย ให้น้ำ อย่างสม่ำเสมอ อย่างกรณีของกล้วยไม้
ฟ้ามุ่ย ถ้าเป็นเกษตรกรทั่วไปจะเลี้ยงและให้ดอกเพียงปีละครั้งเท่านั้น แต่ที่สวนกันติกานต์มีการบำรุง
และดูแลรักษาอย่างดี จะให้ดอกได้ถึงปีละ 3 ครั้ง

กล้วยไม้แวนด้า "ฟ้ามุ่ย" จัดเป็นแวนด้าประเภทใบแบน ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ภาคเหนือของประเทศ
ไทย รวมถึงประเทศใกล้เคียงคือ อินเดีย พม่า และสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้ สำหรับ
ประเทศไทยพบมากที่จังหวัดเชียงใหม่ ตาก และกาญจนบุรี ในธรรมชาติจะพบอยู่บนภูเขาสูง สูง
กว่าระดับน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า 1,100 เมตร "ฟ้ามุ่ย" จัดเป็นกล้วยไม้เมืองร้อนและจัดเป็นแวนด้าที่
มีดอกใหญ่ ก้านช่อยาวและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในปัจจุบันนี้

ขั้นตอนการเลี้ยงกล้วยไม้สกุลแวนด้าให้ได้คุณภาพดี
ที่สวนกล้วยไม้กันติกานต์ส่วนใหญ่จะเลี้ยงกล้วยไม้ลูกผสม รวมทั้งที่ผสมพันธุ์เองด้วย ซึ่งกล้วย
ไม้สกุลแวนด้าลูกผสมที่ผสมขึ้นมาเองนั้น จะมีทั้งดีและไม่ดี คุณเกรียงศักดิ์ บอกว่า ลักษณะ
ของกล้วยไม้แวนด้าลูกผสมที่มีลักษณะที่ดีจะต้องมีลักษณะดังนี้ "ก้านช่อจะต้องมีขนาดใหญ่
และยาว กลีบดอกจะต้องแข็ง บานทน อย่างน้อย 1 เดือน ขึ้นไป"

จากภาพรวมของเกษตรกรที่ปลูกกล้วยไม้สกุลแวนด้า ส่วนใหญ่จะสรุปภาพรวมของลักษณะที่
สำคัญ ดังนี้
1. ก้านช่อแข็งและยาว
2. ก้านดอกสั้น ทำมุมกับก้านดอก 30-45 องศา โดยดอกที่ทำมุม 45 องศา จะเป็นดอกที่ดีกว่า
ดอกที่ทำมุมน้อยกว่า
3. มีสีดอกสดใส ไม่ควรมีสีน้ำตาลหรือสีเทาเจือปน
4. ความหนาของดอกดี ผิวพรรณสดใสเป็นประกาย
5. ฟอร์มดอกดี
6. ความดกและมีจำนวนดอกมาก

สำหรับเกษตรกรที่จะปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลแวนด้าในเชิงพาณิชย์ และต้องการไม้ลูกผสมสาย
พันธุ์ใหม่ จะต้องเริ่มต้นจากการผสมพันธุ์จนฝักแก่ จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน และเอาเมล็ดไป
เพาะอีก 2 เดือน รวมเวลาเป็น 8 เดือน และนำไปเลี้ยงในขวดอีกประมาณ 3 เดือน รวมเวลาเริ่ม
จากผสมพันธุ์มาถึงเลี้ยงในขวดจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี หลังออกจากขวดนำมาเลี้ยงในโรงเรือน
ที่มีสภาพแวดล้อมและฝนฟ้าอำนวย คุณเกรียงศักดิ์ บอกว่า จะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะ
เริ่มเห็นดอก หลังจากนั้น จะต้องดูหน้าตาของดอกว่าเป็นอย่างไร ตั้งแต่ดอกแรกมาจนถึงช่อ
ดอกที่ 2 และช่อดอกที่ 3 จะต้องดูความนิ่ง ถ้าพอใจว่าเป็นที่ต้องการของตลาดก็จะนำไปจ้าง
เขาปั่นตา เพื่อนำมาปลูกในเชิงพาณิชย์ต่อไป

"ฟ้ามุ่ย" นำไปผสมพันธุ์กับแวนด้า  สายพันธุ์จะคงลักษณะของฟ้ามุ่ย
คุณเกรียงศักดิ์ เล่าถึงการผสมพันธุ์กล้วยไม้ที่ผู้เลี้ยงกล้วยไม้แวนด้ามักจะนำเอาไปผสมพันธุ์ก็
คือ ฟ้ามุ่ย เมื่อผสมพันธุ์ได้กล้วยไม้ลูกผสมจะคงลักษณะของฟ้ามุ่ยไว้คือ ส่วนของลายที่
กลีบดอกคือ "ลายสมุก" ลายสมุกของฟ้ามุ่ยที่ดีจะต้องเป็นระเบียบ ด้วยความเป็นเอกลักษณ์
ของลายสมุกทำให้คุณเกรียงศักดิ์จะมีความชื่นชอบฟ้ามุ่ยเป็นพิเศษ ฟ้ามุ่ยมีจุดด้อยอยู่ประการ
เดียวตรงที่ก้านเล็ก

วิธีการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลแวนด้า ในหนังสือ "ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ จากประสบการณ์" (ความ
ลับนอกเหนือตำรา) ที่รวบรวมและเรียบเรียงโดย คุณสมศักดิ์ รักไพบูลย์สมบัติ ในบทความเรื่อง
"การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ในกลุ่มสกุลแวนด้า" ซึ่งเขียนโดย คุณคีรีทร วสุวัต ได้อธิบายถึงวิธีการ
ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลแวนด้าอย่างง่ายๆ ดังนี้ ถ้าปลูกเลี้ยงอยู่ในร่มมากจะไม่ค่อยงาม เนื่อง
จากยอดจะอ่อน ใบยาว และตายง่าย ถ้าโดนแดดเล็กน้อยจะแข็งแรง วิธีการย้ายปลูกให้ดูรากที่
กระถาง ถ้ารากพันกระถางแล้วให้ย้ายปลูกได้ ก่อนถ่ายกระถางเปลี่ยนเครื่องปลูกให้เอาไปใส่
ถาดแขวนได้ เอาวัสดุปลูก เช่น ออสมันด้าออกบ้าง เมื่อได้กล้วยไม้ที่ใส่ถาดแล้ว ให้ดูว่าต้นตั้ง
ตรงแข็งแรงแล้วจึงเอาไปถ่ายใส่กระถาง วิธีการถ่ายกระถางที่ถูกต้องให้นำไปแช่น้ำ โดยดึงเอา
วัสดุปลูก เช่น ออสมันด้า มาตรวจดูว่ามีเชื้อราหรือไม่ ถ้าพบให้แยกออกต่างหาก แล้วจึงนำลง
กระเช้าได้ โดยการดึงออสมันด้าเดิมที่มีอยู่แล้วออก แล้วใช้ฟิวส์อ่อนมัดกับก้นกระเช้า ตรึงต้น
ให้แน่น อย่าให้ต้นเคลื่อนไหว เมื่อต้นกล้วยไม้ติดแล้วนำไปแขวนในโรงเรือน โดยหันปลายด้าน
หนึ่งไปทางทิศตะวันออก อีกด้านหนึ่งไปทางทิศตะวันตก

สำหรับการปลูกกล้วยไม้ในเชิงพาณิชย์นั้น คุณเกรียงศักดิ์ บอกว่า ชนิดของ "ซาแรน" หรือ
ตาข่ายพรางแสง มีความสำคัญมาก ในแต่ละอายุของกล้วยไม้สกุลแวนด้าจะใช้ซาแรนที่แตก
ต่างกัน อย่างเช่น ไม้เล็กตั้งแต่ออกจากขวดเลี้ยงจนมีอายุต้นได้ 1 ปี จะใช้ซาแรนสีดำพราง
แสง 70% รับแสงแดดเพียง 30% สำหรับไม้ใหญ่ของกล้วยไม้สกุลแวนด้า จะใช้ซาแรน 60%
แต่ถ้าเป็นกล้วยไม้ไทยและกล้วยไม้สกุลแคทลียาจะใช้ตาข่ายพรางแสง 50%

การให้ปุ๋ยกับกล้วยไม้ในสกุลแวนด้า
ตามหลักวิชาการกว้างๆ เมื่อพบว่า ใบของแวนด้ามีสีเขียวจัดนั้น แสดงว่าได้รับปุ๋ยที่มีไนโตรเจน
สูงหรือปลูกเลี้ยงอยู่ในพื้นที่ร่มจัด คือได้รับแสงแดดไม่พอเพียง ในการให้ปุ๋ยจะต้องดูแสง
ประกอบ ถ้าแสงแดดมาก ลมดี ก็ให้ปุ๋ยมาก กล้วยไม้เล็กควรเน้นปุ๋ยสูตรเสมอ เมื่อต้นกล้วยไม้มี
จำนวน 6-7 ใบ แสดงว่าต้นกล้วยไม้ใกล้จะมีดอกแล้วจะต้องเปลี่ยนสูตรปุ๋ย ใช้นูตราฟอส ซุป
เปอร์-เค

สำหรับการให้ปุ๋ยกับกล้วยไม้สกุลแวนด้าของสวนกันติกานต์นั้น จะเน้นการฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ดทางใบ
 โดยเลือกสูตรปุ๋ยที่ฉีดพ่นตามหลักการทั่วไปคือ ถ้าเร่งการเจริญเติบโตจะเลือกสูตรที่มี
ไนโตรเจนสูงหรือสูตรเสมอ แต่ถ้าเร่งดอกจะเน้นฟอสฟอรัส และถ้าเน้นสีของดอกจะเน้น
โพแทสเซียม เช่น นูตราฟอส ซุปเปอร์-เค แต่สูตรปุ๋ยทางใบที่สวนกันติกานต์ใช้ฉีดพ่นในแต่ละ
ครั้งจะต้องมีอัตรารวมกันของธาตุหลักไม่ต่ำกว่า 60 เช่น ฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ด สูตร 21-21-21 มีธาตุ
ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม รวมกันเท่ากับ 63

คุณเกรียงศักดิ์ ได้ย้ำถึงหลักการที่สำคัญในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลแวนด้าว่า จะต้องมีความรู้
และความเข้าใจในธรรมชาติของไม้สกุลนี้ รากและใบมีความสำคัญเท่าเทียมกัน รากมีหน้าที่จับ
ธาตุอาหาร อาหารจากอากาศ เช่น ไนโตรเจน และฟอสฟอรัสจากน้ำ ส่วนใบจะมีหน้าที่ในการ
สังเคราะห์แสง เมื่อส่วนของรากไม่สะอาดจนอุดตันไม่สามารถรับธาตุอาหารได้ โดยเฉพาะการ
อุดตันจากปัญหา "ตะไคร่น้ำ" การแก้ปัญหาตะไคร่น้ำของเกษตรกรทั่วไป จะใช้วิธีการฉีดพ่นน้ำ
ด้วยแรงดันสูง แต่ที่สวนกันติกานต์ได้มีการใช้สารป้องกันและกำจัดเชื้อรา ที่มีชื่อว่า "อโรไซด์"
หรือที่มีชื่อสามัญว่า แคปแทน ฉีดพ่นเมื่อพบปัญหาเรื่องตะไคร่น้ำ นอกจากนั้น ยังพบว่าในการ
ฉีดพ่นสารอโรไซด์ในกล้วยไม้สกุลช้างทั้งหลาย นอกจากจะป้องกันและกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อ
ราและฆ่าตะไคร่น้ำได้แล้ว ยังพบว่ารากของกล้วยไม้สกุลช้างแทงออกมาใหม่ได้เร็วมาก

การบำรุงรักษากล้วยไม้ส่งประกวด  แตกต่างจากกล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงไว้ขาย
สวนกันติกานต์ ได้รับรางวัลจากการส่งกล้วยไม้เข้าประกวดหลายรางวัล และที่ภูมิใจที่สุดคือ
ชนะเลิศ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากงานพืชสวนโลก ในงานราชพฤกษ์ 2008 จัดขึ้นที่จังหวัด
เชียงใหม่ จากการส่งกล้วยไม้แวนด้า วาสโค ประภาวรรณเข้าประกวดและได้อีกหลายรางวัล จน
ปัจจุบันทางผู้จัดงานประกวดกล้วยไม้ต่างๆ ขอให้สวนกันติกานต์หยุดส่งกล้วยไม้เข้าประกวด
และให้คุณเกรียงศักดิ์มาทำหน้าที่ร่วมเป็นกรรมการตัดสิน

ข้อคิดของเกษตรกรและผู้สนใจ จะทำสวนกล้วยไม้ในเชิงพาณิชย์
คุณเกรียงศักดิ์ มักจะให้คำแนะนำสำหรับมือใหม่ที่คิดจะทำสวนกล้วยไม้ในเชิงพาณิชย์ ควรจะ
เริ่มต้นด้วยการซื้อต้นจากสวนต่างๆ ไปขายก่อน กล่าวง่ายๆ คือ ซื้อมา-ขายไป พร้อมกันนั้นให้
เริ่มต้นซื้อกล้วยไม้ต้นเล็กมาทดลองเลี้ยงควบคู่ไปด้วย ศึกษานิสัยของกล้วยไม้ว่าเขาชอบอะไร
และไม่ชอบอะไร ถ้าเริ่มต้นด้วยการซื้อไม้เล็กที่ออกจากขวดมาเลี้ยงในจำนวนมากจะมีการลง
ทุนที่สูงมากและมีโอกาสเสี่ยงในเรื่องของการตลาด เนื่องจากจะต้องใช้เวลานานถึง 4-5 ปี กว่า
ต้นจะออกดอกและขายได้ คุณเกรียงศักดิ์ ย้ำว่า เริ่มต้นปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ไม่ต้องทำใหญ่โต
ด้วยอาชีพการรับราชการของ คุณเกรียงศักดิ์ จะต้องมีการย้ายสถานที่ทำงานอยู่เป็นประจำ โรง
เรือนกล้วยไม้เล็กๆ จะถูกย้ายตามไปด้วย ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เพียงแค่ 40-50 ต้น ปลูกเลี้ยงให้
ออกดอก ปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยมาตลอดอายุการทำราชการ จนมาถึงปัจจุบัน อายุ 68 ปี



หนังสือ "เทคนิคการผลิตกล้วยไม้เงินล้าน" พิมพ์ 4 สี แจกฟรี พร้อมกับ หนังสือ "เทคนิคการ
ผลิตกล้วยไม้เชิงพาณิชย์" และหนังสือ "การผลิตและการตลาดกล้วยไม้สกุลหวาย" รวม 3 เล่ม
จำนวน 252 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์มูลค่ารวม 100 บาท (พร้อม
ระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ
(081) 886-7398


ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน




หน้าถัดไป (2/6) หน้าถัดไป


Content ©