-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 300 บุคคลทั่วไป และ 1 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

พืชไร่





ยาสูบ


การเพาะกล้ายาสูบ การเพาะกล้า งานอันดับแรกของการทำไร่ยาสูบ คือ การเพาะกล้ายาสูบ ต้นยาสูบในไร่จะเจริญเติบโตดี ต้องมาจากต้นกล้าที่สมบูรณ์ แข็งแรง เมื่อนำไปปลูกแล้วต้นกล้าตายน้อยที่สุด หรือไม่ตายเลย ถ้าต้นกล้าตายหลังจากปลูก ๗-๑๐ วัน ควรจะมีการปลูกซ่อมกล้า และไม่ควรจะปลูกซ่อมบ่อยๆ เพราะการซ่อมกล้าเพียงร้อยละ ๑๐ จะทำให้คุณภาพลดลงได้ถึงร้อยละ ๕ ทั้งนี้เนื่องจากการเก็บใบยาสูบไปบ่ม ผู้เก็บมักจะเก็บทุกต้นเหมือนกันหมด ทำให้มีใบยาที่ไม่สุกติดเข้าไปบ่มด้วย ทำให้คุณภาพใบยาลดลง การที่จะผลิตต้นกล้าให้มีความสมบูรณ์และแข็งแรง จะต้องมีการเตรียมและทำแปลงเพาะกล้าที่ดีมาก่อน นับตั้งแต่การเลือกที่ดิน ควรเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ มีการระบายน้ำดี ถ้าเป็นดินบุกเบิกใหม่ยิ่งดี หลังจากเตรียมดินยกเป็นแปลง (กว้าง ๑ เมตร ยาว ๑๑ เมตร) แล้วคลุมด้วยผ้าพลาสติกและรมด้วยก๊าซเมทิลโบรไมด์ นานประมาณ ๒๔-๔๘ ชั่วโมง เพื่อกำจัดโรคแมลง และวัชพืชในดิน เมื่อเปิดผ้าพลาสติกออกแล้ว ผึ่งดินทิ้งไว้ ๑๒-๒๔ ชั่วโมง ใส่ปุ๋ยรองพื้นสูตร ๔-๑๖-๒๔ ในอัตรา ๒-๔ กิโลกรัมต่อแปลง และใส่ยาฟูราดาน ๓ จี เพื่อป้องกันโรคใบหดในอัตรา ๒๕๐-๓๐๐ กรัมต่อแปลง แล้วกลับปุ๋ยและยาให้อยู่ลึกจากผิวดินประมาณ ๑-๒ นิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดยาสูบที่หว่านได้รับอันตรายจากปุ๋ยและยา การหว่านเมล็ด เนื่องจากเป็นเมล็ดที่มีขนาดเล็กมาก (เมล็ดยาสูบ ๑ กรัม มีจำนวนประมาณ ๑๐,๐๐๐-๑๒,๐๐๐ เมล็ด) จึงควรนำเมล็ดผสมขี้เถ้าในการหว่าน เพื่อให้กระจายทั่วแปลงหรือใส่เมล็ดลงในบัวรดน้ำ คนเมล็ดให้กระจายเข้ากับน้ำจนทั่วแล้วรดให้ทั่วแปลง โดยใช้เมล็ดแปลงละ ๑.๐-๑.๕ กรัม รดน้ำให้ชุ่มแล้วคลุมแปลงเพาะด้วยผ้าดิบเพื่อป้องกันแสงแดดในเวลากลางวัน และลดแรงกระแทกของน้ำฝน ในฤดูฝน ถ้าเป็นฤดูแล้งอาจใช้แกลบคลุมได้ การรดน้ำ รดน้ำวันละ ๔ ครั้งจนกว่าเมล็ดจะงอก จึงค่อยๆ ลดลงเหลือวันละ ๒-๓ ครั้ง การพ่นยาป้องกันโรคและแมลงจะต้องทำทุกสัปดาห์ หลังจากเมล็ดงอกแล้ว โรคที่สำคัญในแปลงเพาะได้แก่ โรคโคนเน่า และโรคแอนแทรกโนส สำหรับแมลงได้แก่ หนอน และแมลงหวี่ขาว เมื่อกล้ายาสูบมีอายุ ๓๕-๔๕ วัน จึงถอนย้ายไปปลูกในไร่


[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

การทำไร่ยาสูบ ยาสูบเป็นพืชที่ต้องการน้ำฝนและความชุ่มชื้นในอากาศ ดังนั้นการปลูกยาในช่วงกลางถึงปลายฤดูฝน จึงจะได้ใบยาที่มีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สมัยก่อนชาวไร่จะปลูกยาสูบในนาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง ทำให้ใบยาแห้งที่ได้ขาดคุณภาพที่ดี ปัจจุบันชาวไร่เลื่อนเวลาเพาะปลูกให้เร็วขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือ โรคและแมลงมีมากตามขึ้นมาด้วย ดังนั้นการป้องกันและกำจัดแมลง จึงมีความสำคัญต้องดูแลอย่างสม่ำเสมอ ดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกยาสูบต้องเป็นดินร่วนปนทราย ดินร่วน และดินร่วนปนดินเหนียว ควรเลือกที่สูง มีการระบายน้ำดี ค่าความเป็นกรด-เบส ของดินอยู่ระหว่าง ๕.๖-๖.๕ การเตรียมดินควรไถให้ลึกอย่างน้อย ๖-๘ นิ้ว เพื่อให้รากหยั่งลึกไปในดินและเจริญเติบโตได้ดี ควรปลูกเป็นแถวเดี่ยวแบบยกร่อง ความต้องการน้ำของต้นยาสูบในระยะเดือนแรกมีน้อยมาก แต่หลังจากปลูกแล้ว ๓๐-๔๐ วัน ต้องการความชุ่มชื้นสูงเพื่อการเจริญเติบโต การเลือกใช้ปุ๋ยเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอาหารธาตุไนโตรเจนต้องไม่สูงเกินไป มิฉะนั้นจะทำให้คุณภาพใบยาแห้งลดลง การเก็บใบยาสดแต่ละครั้ง จะต้องรอให้ใบยาสุกจริงๆ เพื่อให้ได้ใบยาแห้งที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ ยาสูบพื้นเมือง ยาพื้นเมืองที่โรงงานยาสูบนำมาใช้ในกิจการ ได้มาจากจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี ปัจจุบันนำมาใช้ในลักษณะของยาเส้น การเพาะกล้า วิธีการปฏิบัติคล้ายๆ กับการเพาะกล้ายาสูบประเภทอื่นๆ โดยเริ่มหว่านเมล็ดประมาณเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม เมื่อกล้ามีอายุประมาณ ๑ เดือน ถอนย้ายกล้าไปชำในแปลงใหม่อีกประมาณ ๑ เดือน ก่อนนำไปปลูกในไร่ ไร่ปลูก ส่วนมากปลูกในที่ดินบุกเบิกใหม่หรือที่ดินริมน้ำ ไม่นิยมใส่ปุ๋ยไม่ ใช้ยาป้องกันหรือกำจัดโรคและแมลง พอดินจืดก็ย้ายหาที่ปลูกใหม่ การปลูกยาสูบพื้นเมืองอาศัยธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ไม่ต้องให้น้ำมากนอกจากในระยะแรกๆ ที่ย้ายกล้าปลูกเท่านั้น การปลูกจะเริ่มกันในเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน และเก็บใบยาสดเมื่อต้นยาสูบอายุประมาณ ๑๐๐-๑๒๐ วัน เสร็จสิ้นการเก็บใบยาประมาณเดือนมกราคม หรือประมาณ ๒ เดือน หลังจากเริ่มเก็บใบยาสดครั้งแรก

ใบยาเวอร์ยิเนีย ใบยาเบอร์เลย์ ใบยาเตอร์กิช ใบยาพื้นเมือง



ใบยาเวอร์ยิเนีย


[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

เมื่อเก็บใบแล้วนำมาเสียบด้วยไม้เสียบที่โคนก้านใบ แต่ละใบห่างกันประมาณครึ่งนิ้ว แล้วนำไปมัดกับไม้ราวยาอีกทีหนึ่งด้วยตอก ไม้ราวยาหนึ่งๆ จะมีใบยา ๒-๓ เสียบ ขึ้นอยู่กับขนาดของใบยาหรืออาจนำใบยาไปมัดติดกับไม้ราวยาโดยตรงด้วยเชือกก็ได้ แล้วจึงนำไม้ราวยาเข้าไปวางเป็นชั้นๆ ในโรงบ่ม โดยให้ไม้ราวยาแต่ละไม้ห่างกัน ๖-๘ นิ้ว โรงบ่มขนาด ๖x๖x๖ เมตร จะบรรจุใบยาสดได้ประมาณ ๒,๕๐๐-๓,๐๐๐ กิโลกรัม การบ่มใบยาเวอร์ยิเนีย เป็นการบ่มด้วยไอร้อน โดยใช้ความร้อนจากไฟซึ่งมีตัวเตาฝังอยู่กับผนังโรงบ่มด้านนอก แล้วให้ความร้อนผ่านเข้าไปยังท่อโลหะ ซึ่งวางอยู่ภายในโรงบ่มเป็นรูปตัวยู (U) ความร้อนจากผิวท่อจะถ่ายเทให้กับอากาศรอบๆ ท่อ ทำให้อุณหภูมิภายในโรงบ่มเพิ่มหรือลดได้ตามความต้องการ สำหรับเชื้อเพลิงที่ใช้ ได้แก่ ฟืน ลิกไนต์ น้ำมันเตา น้ำมันก๊าดและแก๊ส อุณหภูมิกับความชื้นภายในโรงบ่มจะต้องควบคุมให้มีความสัมพันธ์กันทุกระยะ เพื่อให้ขบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีในใบยาเป็นไปโดยลำดับ จะได้สารใหม่เกิดขึ้นทำให้เพิ่มกลิ่น รส และความหอมในใบยา จำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการบ่มแต่ละครั้งประมาณ ๙๐-๑๒๐ ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพใบยาและตำแหน่งของใบยาบนลำต้น เช่น ใบยาส่วนล่างจะใช้เวลาบ่มน้อยกว่าใบยายอด เป็นต้น

ใบยาเบอร์เลย์


[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

การเก็บใบยา ๒-๓ ครั้งแรก ดำเนินการเช่นเดียวกับใบยาเวอร์ยิเนีย ทั้งการเสียบใบ การมัดกับไม้ราวยาและนำเข้าวางในโรงบ่ม หลังจากนั้นปล่อยให้ใบยาส่วนที่เหลือในไร่แก่สุก โดยสังเกตใบยาล่างสุดมีสีเหลือง ปลายใบและขอบมีสีน้ำตาลและเริ่มแห้ง ใบยายอดเริ่มมีสีเหลือง จึงตัดโคนต้น แล้วเสียบด้วยไม้ราวยาไม้ละ ๕-๖ ต้น ทิ้งไว้ในไร่ ๑-๒ วัน (ถ้าอากาศร้อนจัดให้นำไปแขวนในร่ม) เพื่อให้ใบยาเหี่ยวและอ่อนตัว จึงนำเข้าไปวางบนชั้นในโรงบ่มเช่นเดียวกับการเก็บใบครั้งแรกๆ โดยให้ส่วนยอดชี้ลง ขนาดของโรงบ่มควรให้มีความสูงไม่น้อยกว่า ๕ เมตร เช่น กว้าง ๘.๕ เมตร ยาว ๑๕ เมตร สูง ๕ เมตร การบ่มใบยาเบอร์เลย์เป็นการบ่มอากาศ คือการทำให้ใบยาค่อยๆ แห้งภายในโรงบ่มด้วยอุณหภูมิธรรมชาติ แต่ควบคุมความชื้นภายในโรงบ่มด้วยการปิดเปิดช่องระบายอากาศ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทำให้มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีในใบยา ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ คือ ๑. ระยะทำสีเหลือง เป็นระยะแรกที่ต้องการให้ใบยาเหี่ยวตัวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง จะใช้เวลาประมาณ ๔-๕ วัน ๒. ระยะทำสีน้ำตาล ลักษณะใบยาจากสีเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอย่างช้าๆ เนื้อใบยาค่อยๆ แห้งไปด้วย จะใช้เวลาประมาณ ๑๐-๑๒ วัน ๓. ระยะสุดท้าย เป็นการทำแห้ง ระยะนี้จะเหลือความชื้นเพียงที่ก้านใบเท่านั้น จึงควรเปิดช่องระบายอากาศให้เต็มที่ จะใช้เวลาประมาณ ๑๘-๒๐ วัน

ใบยาเตอร์กิช


[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

การเก็บใบยาเก็บเป็นใบๆ เช่นเดียวกับใบยาเวอร์ยิเนียครั้งหนึ่งๆ เก็บประมาณ ๓-๕ ใบต่อต้น แต่ละครั้งห่างกัน ๔-๗ วัน เมื่อเก็บเสร็จแล้วแยกใบยาเป็นพวกๆ ตามขนาดและคุณภาพ แล้วร้อยที่โคนก้านใบเข้าด้วยกันด้วยเข็มและเชือก เมื่อร้อยเต็มเชือกแล้ว นำไปผูกกับกรอบไม้ผึ่งไว้ในร่มเป็นเวลา ๑-๓ วัน จึงนำไปตากแดดรำไรและแดดจัดอีก ๑๕-๒๐ วัน แล้วแกะเชือกออกจากกรอบไม้นำปลายเชือกแต่ละด้านมาผูกกันคล้ายพวงมาลัย และแขวนผึ่งในร่มอีก ๓-๕ วัน เพื่อให้ใบยาอ่อนตัวก่อนที่จะนำไปกองหมักอีก ๑๐-๑๕ วัน จึงนำไปอัดเป็นห่อ เพื่อรอจำหน่าย

ใบยาพื้นเมือง


[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

เมื่อเก็บใบยาสดแล้ว นำใบมาเรียงซ้อนกันโดยตั้งเอาก้านลง และคลุมด้วยผ้าใบหรือเสื่อบ่มในร่ม ๔-๕ วัน เพื่อให้ใบยาเหี่ยวและเปลี่ยนเป็นสีเหลือง จากนั้นนำใบมากรีดเอาก้านกลางใบออก แล้วนำใบมาซ้อนๆ กันม้วนใบเป็นแท่งกลมโตๆ วางบนรางไม้ของเครื่องหั่นใบยาสดค่อยๆ เลื่อนม้วนใบยาให้ผ่านไม้เจาะรูกลมซึ่งอยู่ติดในแนวตั้งกับรางไม้ ใบยาส่วนที่ผ่านไม้เจาะรูกลมจะถูกหั่นลงด้วยมีดคมขนาดใหญ่และมีภาชนะรองรับ นำยาเส้นที่หั่นได้ไปเกลี่ยเป็นแผ่นบนแผงไม้ไผ่สาน กว้าง ๒๕ เซนติเมตร ยาว ๒.๕๐ เมตร โดยประมาณ ตากแดดอีก ประมาณ ๓ วัน จนแห้งสนิท จึงม้วนยาเส้นหมักเก็บไว้เพื่อรอการจำหน่าย ใบยาส่วนยอดจะจำหน่ายได้ราคาดีกว่าใบยากลางและใบยาส่วนล่างของต้นตามลำดับ


โรคของยาสูบมีอะไรบ้าง แมลงศัตรูพืชของยาสูบมีอะไรบ้าง การจัดชั้นใบยาควรทำอย่างไร


โรคของยาสูบมีอะไรบ้าง


[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

สาเหตุที่ทำให้ยาสูบเกิดโรคมีอยู่หลายประการ ทั้งที่เกิดจากเชื้อโรคที่มีชีวิต เช่น รา บัคเตรี ไวรัส และไส้เดือนฝอย หรืออาจเกิดจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น สภาพแวดล้อมที่ผิดปกติ และการขาดธาตุอาหารต่างๆ โรคที่สำคัญและพบเห็นเป็นประจำ ได้แก่ โรคในแปลงเพาะกล้า ๑. โรคโคนเน่า (damping-off) เกิดจากเชื้อราพิเทียม หรือไรซอกโทเนีย (Pythium spp. หรือ Rhizoctonia spp.) ที่อาศัยอยู่ในดิน ทำให้ต้นกล้าเน่าล้มลงกับพื้นดิน ๒. โรคแอนแทรกโนส (anthracnose) เกิดจากเชื้อรา คอลลีโทตริกุม หรือกลีโอสปอเรียม (Colletotrichum sp. Or Gloeosporium sp.) เชื้อโรคเหล่านี้อาศัยอยู่ในดินหรืออาจปลิวมาตามลมหรือติดมากับเมล็ดได้ อาการเริ่มแรกคือใบเป็นจุดช้ำ แล้วต้นกล้าจะยุบตัวลงคล้ายกับโรคโคนเน่า การป้องกันและกำจัด นอกจากใช้ยาเคมีแล้วควรเปิดผ้าคลุมแปลงเพาะให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดอยู่เสมอ ในเวลาเช้าและเย็น เพื่อลดความชื้นในดิน ถ้าต้นกล้าขึ้นแน่นเกินไปควรถอนทิ้งบ้าง โรคในไร่ปลูก ๑. โรคตากบ (frogeye) เกิดที่ใบ เป็นแผลแห้งกลมๆ ทั่วไป เนื่องจากเชื้อราเซอร์โคสปอเรียม (Cercosporium nicotianae Ell. & Ev.) พบมากเมื่ออากาศร้อนและความชื้นสูง เช่น ฤดูฝน ๒. โรคใบจุดสีน้ำตาล (brown spot) เกิดจากเชื้อราแอลเทอร์นาเรีย (Alternaria alternata Fries.) พบในช่วงที่อากาศอบอุ่นและความชื้นปานกลางใบจะเป็นจุดสีน้ำตาลเป็นวงซ้อนๆ กัน ๓. โรคราแป้ง (powdery mildew) เกิดบนใบ เป็นกลุ่มผงสีขาวคล้ายโรยด้วยแป้ง เนื่องจากเชื้อราอีริซิฟี (Erysiphe chichoracearum DC.) ระบาดเมื่ออากาศเย็น ความชื้นปานกลาง ได้รับแสงแดดน้อย เช่น ไร่ยาสูบที่อยู่ตามเชิงเขา ๔. โรคไฟลามทุ่งและใบจุดเหลี่ยม (wildfire and angular leaf spot) เกิดจากเชื้อบัคเตรีซูโดโมนัส (Pseudomonas tabaci (Wolf & Foster) Steven) อาศัยอยู่ในดิน จะระบาดเมื่อมีความชื้นสูง เริ่มแรกใบยาสูบจะเป็นรอยช้ำและเป็นแผลกลมๆ หรือรูปเหลี่ยม อาการนี้มักจะเกิดปนกัน การป้องกันและกำจัด ป้องกันและกำจัดโดยใช้ยาเคมี ๕. โรคใบหด (leaf curl) เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมีแมลงหวี่ขาว (white fly-Bemisia tabaci Genn.) เป็นพาหะนำโรค ระบาดมากในช่วงฤดูฝนถึงปลายฤดูฝน ถือได้ว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมากที่สุดของการเพาะปลูกยาสูบในประเทศไทย ใบยาสูบจะม้วนลงหรือเป็นคลื่นแล้วแต่ความรุนแรงของโรค การป้องกันและกำจัด ควรใช้ยาประเภทดูดซึมจะได้ผลดีที่สุด เช่น ฟูราดาน ๓ จี หรือคูราแทร์ ใส่รองก้นหลุมก่อนปลูกยาสูบต้นละ ๒ กรัม และ ควรพ่นยาฆ่าแมลงประเภทดูดซึมชนิดอื่นอีกทุกสัปดาห์ ๖. โรคใบด่าง (mosaic) เกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อได้ง่ายโดยการสัมผัส สีของใบไม่สม่ำเสมอ บางครั้งใบเสียรูปทรง ๗. โรคแผลละเอียด (streak) เกิดจากเชื้อไวรัส ระบาดได้โดยการสัมผัส และแมลงพวกตั๊กแตนที่กัดกินใบ จะเห็นแผลสีน้ำตาลเล็กๆ เกิดขึ้นระหว่างเส้นใบ การป้องกันและกำจัด ควรพ่นยาฆ่าแมลงเป็นประจำ และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอระหว่างปฏิบัติงานในไร่ด้วยน้ำกับสบู่ หรือน้ำยาไตรโซเดียมฟอสเฟต ๓ เปอร์เซ็นต์ ๘. โรคเหี่ยวด้านเดียว (fusarium wilt) เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียมที่อาศัยอยู่ในดิน (Fusarium oxysporum Schlecht) เชื้อโรคเข้าทำอันตรายทางราก ทำให้ใบเหี่ยวเพียงด้านเดียวของลำต้น แต่ในระยะสุดท้ายจะเหี่ยวทั้งต้น ๙. โรคแข้งดำ (black shank) เกิดจากเชื้อราไฟทอพโทรา (Phytopthora parasitica var. nicotiana (Breda de Haan) Tucker) เป็นเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในดินได้เป็นเวลานาน เข้าทำลายทางราก ทำให้ใบและลำต้นเหี่ยวตาย ๑๐. โรคเหี่ยวเฉา (bacterial wilt) เกิดจากเชื้อบัคเตรีซูโดโมนัสที่อาศัยอยู่ในดิน (Pseudomonas solanacearum Smith) เข้าทำอันตรายทางรากทำให้ใบและลำต้นเน่าและเหี่ยวในที่สุด การป้องกันและกำจัด ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนสลับกับการปลูกยาสูบ และควรปลูกยาสูบพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคโดยเฉพาะ เช่น พันธุ์โคเกอร์ ๔๘ และสเปจต์จี ๒๘ (Speight G-28) ซึ่งมีความต้านทานต่อเชื้อโรคที่อยู่ในดินทั้งสามชนิดข้างต้น หรือ พันธุ์โคเกอร์ ๓๑๙ ซึ่งมีความต้านทานต่อโรคเหี่ยวด้านเดียว พันธุ์เค (K-399) มีความต้านทานต่อโรคแข้งดำ และพันธุ์โคเกอร์ ๓๔๗ มีความต้านทานต่อโรคเหี่ยวเฉาโดยเฉพาะ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ในบริเวณนั้นจะต้องปราศจากไส้เดือนฝอยรากปม เนื่องจากจะเข้าทำอันตรายระบบราก ทำให้พืชลดความต้านทานลงหรือหมดความต้านทานเลย ๑๑. โรคไส้เดือนฝอยรากปม (root-knot nematode) เกิดจากพยาธิตัวกลมเมลอยโดกาย (Meloidogyne spp.) อาศัยอยู่ในดิน มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ทำให้รากบวมโตผิดปกติ ต้นพืชจะดูดน้ำและอาหารได้ยาก ทำให้ผลิตผลลดลงและพืชลดความต้านทานโรคลงด้วย การป้องกันและกำจัด มีวิธีปฏิบัติอยู่ ๒ วิธี คือ การใช้ยาฉีดลงไปในดิน (fumigation) และปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนสลับกับยาสูบ เช่น ข้าว ข้าวโพด และงา เป็นต้น เพื่อลดปริมาณไส้เดือนฝอยลง สำหรับวิธีแรกนั้นได้ผลดีแต่เสียค่าใช้จ่ายสูง

แมลงศัตรูพืชของยาสูบมีอะไรบ้าง


[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

แมลงที่มีความสำคัญและเป็นอุปสรรคกับการเพาะปลูกยาสูบในประเทศไทยแบ่งออกเป็น ๒ จำพวกใหญ่ๆ คือ ๑. แมลงจำพวกปากดูด ๑.๑ แมลงหวี่ขาว (white fly) เป็นแมลงที่ทำให้เกิดปัญหามากที่สุดในการเพาะปลูกยาสูบในประเทศไทย คือเป็นพาหะนำเชื้อโรคไวรัสมาสู่ต้นยาสูบ ทำให้เกิดโรคใบหด ๑.๒ เพลี้ยอ่อนยาสูบ (green peach aphid : Myzus persicae Sulzer) เกาะดูดน้ำเลี้ยงบนใบและขับถ่ายมูลซึ่งเป็นอาหารอย่างดีของราดำทำให้ใบยาขาดคุณภาพ การป้องกันและกำจัด ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันและกำจัดโรคใบหด ๒. แมลงจำพวกปากกัด ๒.๑ หนอนคืบกินกล้า (cabbage looper : Trichoplusia sp.) ๒.๒ หนอนกระทู้กินยอด (tobacco budworm : Helicoverpa armigera Hubner) ๒.๓ หนอนกระทู้กินใบ (tobacco leaf eating caterpillar : Spodoptera litteralis Fabricius) การป้องกันและกำจัด ถ้าใช้ยาฟูราดาน ๓ จี หรือคูราแทร์ รองก้นหลุมก่อนปลูกยาสูบจะป้องกันหนอนกระทู้ได้ ๓๐-๔๐ วัน แล้วจึงพ่นด้วยยาเมโทมิล (แลเนตและนูดริน) หรือออร์ทีนทุกๆ ๗ วัน นอกจากนี้ยังมีแมลงอื่นๆ อีกหลายชนิดแต่การระบาดไม่ค่อยรุนแรงนัก เช่น หนอนเจาะลำต้นยาสูบ (tobacco stem borer) ตั๊กแตนหนวดสั้น (short horned grasshopper) ตั๊กแตนหนวดยาว (long horned grasshopper) หนอนกระทู้กัดต้นยาสูบ (tobacco cutworm) จิ้งหรีดโป่ง (field cricket) แมลงกระชอน (mole cricket) และด้วงขาวกินรากยาสูบ (white grub) แมลงที่ทำความเสียหายกับใบยาแห้งมี ๒ ชนิด คือ มอดยาสูบ (cigarette beetle) และชีปะขาวยาสูบ (tobacco moth) การป้องกันและกำจัด ใช้การรมด้วยแก๊สและรักษาความสะอาดภายในและภายนอกโรงเรือนที่เก็บใบยา จะได้ผลดีที่สุด

การจัดชั้นใบยาควรทำอย่างไร


[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

ใบยาที่บ่มเสร็จเรียบร้อยแล้ว (เวอร์ยิเนียและเบอร์เลย์) จะต้องนำมาคัดเป็นใบๆ เพื่อกำหนดชั้นมาตรฐานให้ถูกต้องสำหรับการซื้อขายแล้วรวมมัดใบยาชั้นเดียวกันเข้าด้วยกันเป็นกำๆ และมัดหัวกำด้วยใบยาอีกทีหนึ่ง นำใบยาชั้นเดียวกันมาอัดรวมเป็นห่อ โดยใช้เครื่องอัดใบยาซึ่งทำขึ้นโดยเฉพาะ ใบยาแต่ละห่อหนักประมาณ ๖๐-๗๐ กิโลกรัม แล้วห่อหุ้มด้วยกระสอบป่าน สำหรับใบยาเตอร์กิช ได้คัดและแยกใบยาเป็นพวกๆ ตามขนาดและคุณภาพ ตั้งแต่หลังจากเก็บใบยาสดแล้ว และนำมาร้อยด้วยเชือกแยกเป็นพวกๆ หลังจากนั้นจึงนำใบยาที่แห้งและกองหมักได้ที่แล้วมาอัดเป็นห่อๆ ได้เลย ห่อหนึ่งๆ หนักประมาณ ๑๕-๒๐ กิโลกรัม ใบยาเวอร์ยิเนีย การจัดชั้นใบยาได้อาศัยหลักมาตรฐานการจัดชั้นใบยาเวอร์ยิเนียอเมริกัน ซึ่งประกอบด้วย หมู่ คุณภาพ และสี ดังนี้ หมู่ การจัดใบยาสูบให้อยู่ในหมู่ใดนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะบางประการที่มีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับตำแหน่งของใบบนลำต้น คุณภาพ การจัดใบยาสูบให้อยู่ในระดับคุณภาพใดนั้น ขึ้นอยู่กับระดับสูงต่ำขององค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ขนาดของใบยากว้างยาว ตำหนิ และส่วนเสีย เป็นต้น สี สีเป็นองค์ประกอบที่จะระบุคุณค่าของใบยา ใบยาแต่ละสีจะมีกลิ่นและรสแตกต่าง ใบยาเบอร์เลย์ การจัดชั้นใบยาได้อาศัยหลักมาตรฐานการจัดชั้นใบยาเบอร์เลย์อเมริกา เช่นเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วย หมู่ คุณภาพและสี ใบยาเตอร์กิช การจัดชั้นใบยาได้อาศัยหลักแนวทางเดียวกับการจัดชั้นใบยาเวอร์ยิเนียและเบอร์เลย์ของไทย แต่ใช้เพียงอักษร ๑ ตัว และตัวเลข ๑ ตัว โดยที่ตำแหน่งของใบบนลำต้น เป็นตัวกำหนดขนาดของใบยาไปด้วย เช่น ใบยายอด จะมีขนาดของใบกว้างเกิน ๗ เซนติเมตร และยาวเกิน ๑๑ เซนติเมตรไม่ได้ ใบยาล่างจะมีขนาดของใบกว้างเกิน ๑๓ เซนติเมตร และยาวเกิน ๑๗ เซนติเมตรไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากคุณภาพของใบยาเตอร์กิชจะดีที่สุดจากใบยายอดลงมาถึงใบยาล่างตามลำดับ ใบยาขนาดเล็กคือใบยายอด จะมีคุณภาพดีกว่าใบยาขนาดใหญ่คือใบยาล่าง ยาพื้นเมือง การจัดชั้นคุณภาพยาเส้นพื้นเมือง ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่แน่นอน อาจจะเป็นเพราะยังมีปริมาณการผลิตที่ไม่มากพอ (ในปีหนึ่งๆ ยาเส้นพื้นเมืองที่ผลิตในจังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี มีประมาณหนึ่งล้านกิโลกรัม) หรือยังไม่มีหน่วยงานใดที่ส่งเสริมการเพาะปลูกและรับผิดชอบโดยตรง









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-05 (2597 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©