-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 183 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

พืชไร่




หน้า: 1/2


....... ถั่วเขียว .......

พฤกษศาสตร์ทั่วไป

วงศ์ (Family): Papilionaceae
จีนัส (Genus): Vigna
สปีชีส์ (Species): radiata
ชื่อสามัญ (Common name): ถั่วเขียวผิวมัน (mungbean, green gram) และ ถั่วเขียวผิวดำ (black gram)
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name): ถั่วเขียวผิวมัน (Vigna radiata (L) Wilczek) และ ถั่วเขียวผิวดำ (Vigna mungo (L) Hepper)


ราก
ถั่วเขียวมีระบบรากแบบรากแก้ว (tap root system) และมีรากแขนงมาก (secondary root หรือ lateral root)มาย รากแก้วหยั่งลึกแต่รากแขนงจะแตกออกจากส่วนบนใกล้ ๆ ผิวดิน ที่รากจะเป็นที่อาศัยของแบคทีเรีย Rhizobium sp.

ลำต้น
ลำต้นของถั่วเขียวพันธุ์เพาะปลูกเป็นพวกตั้งตรง ไม่ใช่เป็นเถาเลื้อย ต้นเป็นพุ่ม มีความสูงจากระดับดินถึงยอดของลำต้น 50-120 เซนติเมตร ปกติมีการแตกกิ่งก้านมากมายคืออาจมีกิ่งตั้งแต่ 3 ถึง 15 กิ่ง ทั้งนี้แล้วแต่ระยะปลูกและความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าปลูกห่างก็มีจำนวนกิ่งมาก ลำต้นมีสีเขียวมีขนเป็นจำนวนมาก

ใบ
ใบของถั่วเขียวเกิดเป็นกลุ่มที่เรียกว่าใบรวม (compound leaves) มีกลุ่มละ 3 ใบ (trifoliate leaves) ใบเกิดสลับกันบนลำต้น มีก้านใบรวม (petiole) ยาว ตรงโคนก้านใบรวมมีหูใบ (stipule) รูปไข่จำนวน 2 ใบ ใบย่อย (leaflet) ของถั่วเขียวจำนวน 3 ใบนั้น ใบกลางมีก้านใบ (petiolule) ยาว ที่ฐานของใบย่อยแต่ละใบมีหูใบย่อย (stipel) ใบละ 1 คู่ ใบของถั่วเขียวมีสีเขียวอ่อนถึงเขียวจัด มีรูปไข่ (ovate) คือกว้างป้อมปลายเรียวเล็กน้อย ขนาดของใบกว้าง-ยาวราว 1.2-12 + 2-10 เซนติเมตร ตามก้านใบและบนใบมีขนสีขาวมากมาย

ช่อดอกและดอก
ดอกของถั่วเขียวเป็นดอกที่เกิดเป็นกลุ่ม (inflorescence) มีช่อดอกแบบ raceme เกิดจากตาระหว่างก้านใบและลำต้นหรือกิ่ง (axillary bud) กลุ่มละ 5-10 ดอก และเกิดที่ยอดของลำต้นหรือยอดของกิ่งที่ยอดของลำต้นอาจมี 10-20 ดอก ก้านของช่อดอก (peduncle) ยาวราว 2-13 เซนติเมตร มีกลีบรอง (calyx) กลีบดอกมีสีเหลืองอมเขียวเป็นดอกแบบผีเสื้อมี standard 1 กลีบ wing และ keel อย่างละ 2 กลีบ standard ซึ่งเป็นกลีบที่โตที่สุดของดอก มีความกว้าง 1-1.7 เซนติเมตร ภายในกลีบดอกจะมีดอกตัวผู้ (stamen) 10 อัน จับกันแบบ diadelphous (9:1) เป็นกระเปาะห่อหุ้มดอกตัวเมีย (pistil)

ผลและเมล็ด
ฝักของถั่วเขียวมีสีเขียว เมื่อแก่ถึงเก็บเกี่ยวได้ มีสีเทาดำหรือน้ำตาล ฝักยาว 5-10 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของฝัก 0.4-0.6 เซนติเมตร ลักษณะกลมหรือค่อนข้างกลม มีขนสั้นทั่วไปบนฝัก แต่ละฝักมีเมล็ด 5-15 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็ก เมล็ดกลมหรือค่อนข้างกลม โดยทั่วไปมีสีเขียว แต่เมล็ดถั่วเขียวอาจมีสีอื่น ๆ ก็ได้แล้วแต่พันธุ์ เช่น สีเหลืองทอง เหลืองอมเขียวหรือสีดำ ขนาดของเมล็ดถั่วเขียวถ้าวัดเป็นน้ำหนักแล้วจะหนักราว 4-8 กรัม/100 เมล็ด
              
ถั่วเขียวเป็นพืชผสมตัวเอง (self-pollinated) ละอองเกสรจะโปรยเวลา 21.00-03.00 น. และดอกที่ผสมแล้วจะบานในวันรุ่งขึ้น และกลีบดอกของดอกนั้นจะเหี่ยวลงในตอนเย็นของวันเดียวกัน ในระยะออกดอกถ้ามีฝนอัตราการผสมติดจนมีเมล็ดจะต่ำมาก



สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ปัจจัยที่เหมาะสมต่อการปลูกถั่วเขียวมีดังนี้

ดิน
ดินที่เหมาะสมกับถั่วเขียวคือดินเหนียวหรือร่วนเหนียวเกาะตัวกันเป็นโครงสร้างที่โปร่ง ถ่ายเทอากาศและระบายน้ำได้ดี หน้าดินลึกมีอินทรียวัตถุสูงความเป็นกรด-ด่างของดินอยู่ระหว่าง 6.5-7 และไม่มีน้ำขัง การเตรียมดินที่ดีทำให้เมล็ดงอกงามได้เร็ว และช่วยกำจัดวัชพืช ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวหรือหินฟอสเฟต 100-200 กิโลกรัม/ไร่ โดยหว่านพ้อมกับการไถพรวนดิน 

สภาพอากาศ
ถั่วเขียวเป็นพืชที่ขึ้นได้ดีทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในประเทศอินเดียนั้นมีการปลูกกันตั้งแต่ในที่สูงเท่าระดับน้ำทะเลจนถึงที่สูง 6,000 ฟุต ส่วนมากมักปลูกก่อนหรือตามหลังการปลูกพืชหลัก เช่น ข้าว และข้าวโพด เป็นต้น ขึ้นได้ดีในดินร่วนหรือดินเหนียว ทนแล้งได้ดีสามารถขึ้นได้ในแถบที่มีน้ำฝนกระจายเพียงราว 800 มม./ปี ในฤดูปลูกมีน้ำฝน 300-500 มม. ก็เพียงพอ แต่เป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขัง อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส โดยทั่วไปเป็นพืชวันสั้นแต่ในอินเดียมีการพบพันธุ์วันยาวด้วยเช่นกัน   

ฤดูปลูก
ถั่วเขียวในประเทศไทยมีการปลูกกัน 3 ฤดู คือ

1. ต้นฤดูฝน
ปลูกในช่วงระหว่างเดือน พฤษภาคม-กรกฎาคม คิดเป็นผลผลิตประมาณร้อยละ 10 ของผลผลิตทั้งปี เป็นการปลูกก่อนทำนาหรือพืชไร่อื่น
                 
2. ต้นฤดูฝน ปลูกในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน คิดเป็นผลผลิตประมาณร้อยละ 80 ของผลผลิตทั้งปี พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นที่ดอน เป็นการปลูกหลังเก็บเกี่ยวพืชไร่หลัก เช่น ข้าวโพด ผลผลิตที่ได้ค่อนข้างสูงและเมล็ดมีคุณภาพดี
                 
3. ฤดูแล้ง
จะปลูกในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว โดยอาศัยความชื้นในดิน ถ้าเก็บเกี่ยวข้าวช้าความชื้นในดินเหลือน้อย ควรมีการให้น้ำ 1-2 ครั้ง ควรระวังเรื่องอุณหภูมิ เพราะถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ถั่วเขียวจะชะงักการเจริญเติบโต ควรรอให้อุณหภูมิสูงกว่านี้จึงค่อยปลูก โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ควรปลูกหลังจากอากาศหนาวหมดไปแล้วคือประมาณเดือนกุมภาพันธ์
หมายเหตุ สำหรับถั่วเขียวผิวดำพันธุ์พิษณุโลก 2 เมื่อปลูกในฤดูแล้งจะให้ผลผลิตสูง ส่วนพันธุ์อู่ทอง 2 ปลูกในฤดูฝนจะให้ผลผลิตสูง

การปลูกและการดูแลรักษา

การเตรียมดิน
การเตรียมดินควรทำการไถพรวนให้แตกร่วนละเอียดพอสมควร ก่อนปลูกควรตรวจดูเพื่อปรับสภาพของแปลงอย่าให้มีน้ำขังเพราะถ้ามีน้ำขังแล้วถั่วเขียวจะตายหรือไม่เจริญเท่าที่ควร อย่างไรก็ดีการปลูกถั่วเขียวในประเทศไทย ส่วนมากมีการเตรียมดินในระดับต่ำ ถือไถเพียงครั้งเดียว เมื่อหญ้าตายแล้วก็หว่านเมล็ดไถกลบลงไป ในนาข้าวอาจเผาตอซังเสียก่อน หว่านเมล็ดถั่วเขียวแล้วไถกลบเลย การปลูกเช่นนี้ทำให้ผลผลิตต่ำ
         
การปลูกในฤดูฝนในสภาพไร่
เตรียมดินโดยไถ 1 ครั้ง ลึก 20-30 เซนติเมตร ตากดิน 7-10 วัน พรวน 1 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัว และไหล ของวัชพืชข้ามปีออกจากแปลง

         
การปลูกในฤดูแล้งในสภาพนา
มี 2 วิธี
1. ปลูกโดยอาศัยน้ำชลประทาน ให้เตรียมดินปลูกเช่นเดียวกับในฤดูฝน
2. ปลูกโดยอาศัยความชื้นในดิน และไม่มีการให้น้ำชลประทาน ต้องเตรียมดินให้ละเอียด โดยไถดิน 1-2 ครั้ง หว่านเมล็ด แล้วพรวนกลบ



วิธีการปลูก
วิธีการปลูกนิยมปลูกกัน 3 วิธี

1. ปลูกโดยวิธีหว่าน
หว่านเมล็ดให้กระจายพอดี ถ้าห่างเกินไปได้ผลผลิตน้อย ถ้าถี่เกินไปนอกจากเปลืองเมล็ดพันธุ์แล้วก็ทำให้ได้ต้นเล็ก ในการหว่านนี้ใช้เมล็ดพันธุ์ 6-8 กิโลกรัม/ไร่ ข้อเสียของวิธีนี้คือยากแก่การดูแลรักษาและปราบวัชพืช ทั้งนี้เพราะถั่วเขียวขึ้นกระจัดกระจายไม่มีระเบียบ การปลูกวิธีนี้กสิกรอาจฉีดยาป้องกันวัชพืช เช่น อะลาคลอร์

2. ปลูกโดยวิธีหยอดหลุม
วิธีนี้คือการปลูกเป็นแถวนั่นเอง ให้มีระยะระหว่างแถวหลุม 50x20 เซนติเมตร หยอดหลุมละ 4-5 เมล็ด เมื่อถั่วเขียวงอกแล้วประมาณ 10 วัน ก็ถอนแยกให้เหลือ 2-3 ต้น/หลุม วิธีนี้ใช้เมล็ดราว 3 กิโลกรัม/ไร่ วิธีนี้มักใช้ในการทดลองเท่านั้น

3. ปลูกโดยวิธีโรยเป็นแถว
วิธีนี้อาจกาแถวปลูกให้ห่างกัน 40-50 เซนติเมตร ให้แถวที่กาลึก 5-7 นิ้ว แล้วนำเมล็ดไปหว่านในร่องที่กาไว้ ให้เมล็ดห่างกันราว 5-6 เซนติเมตร เมื่อถั่วเขียวงอกก็จะได้จำนวนต้นที่เหมาะสมวิธีนี้ใช้เมล็ดราว 5-6 กิโลกรัม/ไร่ วิธีนี้น่าจะแนะนำให้กสิกรใช้อย่างยิ่ง เพราะใช้เมล็ดน้อย ดูแลแปลง และกำจัดวัชพืชได้สะดวก




การคลุกเชื้อไรโซเบียม
เพื่อเพิ่มผลผลิตของถั่วเขียวก่อนปลูกควรคลุมเมล็ดพันธุ์ด้วยเชื้อไรโซเบียม โดยใช้เชื้อไรโซเบียมสำหรับถั่วเขียวในอัตรา 1 ถึง (200 กรัม) คลุมเมล็ดพันธุ์ 5-7 กิโลกรัม (สำหรับปลูกได้ 1 ไร่) โดยเคล้าเมล็ดถั่วเขียวด้วยน้ำหรือแป้งเปียกใส่ให้ทั่ว เทเชื้อไรโซเบียมลงคลุกกับเมล็ดพันธุ์ให้ทั่วถึงและสม่ำเสมอ แล้วนำไปปลูกทันทีและเมื่อ หยอดเมล็ดแล้วควรกลบดินทันทีเพื่อมิให้เชื้อไรโซเบียมถูกแดดเผาเพราะจะทำให้เชื้อตายได



การดูแลรักษา
ในวันปลูกการฉีดสารเคมีป้องกันการงอกวัชพืช เช่น อะลาคลอร์ ซึ่งลงทุนเพียงไร่ละ 40-50 บาท ถ้าไม่มีการฉีดยาเพื่อป้องกันหรือปราบวัชพืช เมื่อถั่วเขียวอายุได้ราว 12-15วัน ก็ทำการพรวนดินเพื่อปราบวัชพืชครั้งแรก หลังจากนั้นราว 2 อาทิตย์ ก็ปราบวัชพืชครั้งที่ 2 เป็นครั้งสุดท้าย เพราะถั่วเขียวจะมีกิ่งใบแผ่คลุมแปลงป้องกันวัชพืชไปในตัว โดยทั่วไปแล้วกสิกรไม่กำจัดวัชพืช ถ้าถั่วเขียวเริ่มออกดอกไม่สมควรทำการเขตกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น เราอาจสรุปการเจริญเติบโตของถั่วเขียวได้ดังนี้
          
1. ปลูกแล้วจะงอกภายใน 5 วัน
2. เริ่มออกดอกเมื่อมีอายุประมาณ 31-34 วัน
3. เริ่มมีฝักอ่อนเมื่อมีอายุ 35 วัน
4. ฝักเริ่มแก่เมื่อมีอายุ 55 วัน
5. ฝักแก่เริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่อมีอายุ 70 วัน พันธุ์ปัจจุบันนี้เก็บเกี่ยว 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ 75-80 วัน



การให้น้ำ
การปลูกในฤดูแล้ง
โดยการให้น้ำชลประทาน ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทุก 10-14 วัน และหยุดให้น้ำเมื่อถั่วเขียวเจริญเติบโตถึงระยะฝักแรกเปลี่ยนเป็นสีดำ
การปลูกในฤดูฝน
หากมีฝนทิ้งช่วงเกิน 10-14 วัน ควรมีการให้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะออกดอกถึงระยะติดเมล็ด



การให้ปุ๋ย
ถ้าดินมีความเป็นกรดเป็นด่างต่ำกว่า 5.5 ให้หว่านปูนขาวหรือปูนมาร์ลหรือหินปูนบดอัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนกลบก่อนปลูกประมาณ 10-15 วัน

   
ถ้าดินมีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1.5เปอร์เซ็นต์ หลังจากไถพรวนดินให้หว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายแล้วอัตรา 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่

     
ถ้าในดินมีอินทรียวัตถุมากกว่า 1.5เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มากกว่า 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้มากกว่า 60 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมี

   
ถ้าในดินมีอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ต่ำ ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นหลุมก่อนปลูก หรือโรยข้างแถวหลังถั่วเขียวงอก 10-15 วัน แล้วพรวนดินกลบ ในกรณีที่ปลูกแบบหว่าน ใส่ปุ๋ยแบบหว่านพร้อมกับการเตรียมดิน

   
ถ้าในดินขาดธาตุเหล็ก ส่วนใหญ่พบในดินด่างสีดำ เช่น ดินชุดตาคลี อาการที่พบคือ ใบยอดที่แตกออกมาใหม่มีสีเหลืองซีดแต่เส้นกลางใบยังคงมีสีเขียว ถ้าขาดรุนแรงใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซีดจนเกือบขาว ต้นแคระแกร็น ผลผลิตลดลง หรือไม่ได้ผลผลิต ให้ใช้พันธุ์ทนทาน ได้แก่ พันธุ์ชัยนาท 36 และชัยนาท 72 หรือพ่นเหล็กซัลเฟต (ความเข้มข้น 0.5%) อัตรา 3 กิโลกรัม/ไร่ พ่นเมื่อต้นถั่วเขียวอายุ 20, 30 และ 40 วันหลังงอก



โรคใบเหลือง (Mungbean yellow mosaic virus)

เชื้อสาเหตุ
เชื้อวิสา (Virus)

ลักษณะอาการ
ระยะแรกต้นที่เป็นโรคใบจะเป็นจุดสีเหลืองเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไปบนใบรวมที่ 4 ต่อมาอาการจะลามขึ้นไปสู่ใบยอด ทำให้ยอดที่แตกใหม่มีสีเหลือง ถั่วเขียวที่เป็นโรคจะแคระแกร็น ไม่ออกดอก และไม่ติดฝัก แต่ถ้าโรคนี้เกิดในระยะที่ติดฝักแล้ว ฝักจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจัด มีขนาดเล็กสั้นผิดปกติและจะคดงอ ส่วนมากฝักจะงอขึ้นข้างบน

การแพร่ระบาด
โรคใบเหลืองสามารถถ่ายทอดได้โดยแมลงหวี่ขาว (Bemisiatabaci) ซึ่งสามารถถ่ายทอดเชื้อได้ในเวลาสั้นมาก

การป้องกันและกำจัด
1. ถอนต้นที่เป็นโรคเผาทิ้ง
2. ไม่ควรปลูกถั่วเขียวในแปลงที่เป็นโรคทันทีหลังการไถกลบแล้ว





โรคใบจุดสีน้ำตาล (Cercospora Leaf Spot)
โรคใบจุดสีน้ำตาล เป็นโรคที่พบระบาดทั่วไปทุกแห่งที่มีการปลูกถั่วเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเขียวที่ปลูกในฤดูฝน ถั่วเขียวที่เป็นโรครุนแรง ฝักจะลีบ ขนาดของเมล็ดเล็กลง อาจทำให้ผลผลิตลดลงได้ถึง 40%

เชื้อสาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Cercospora canescens Ellis & Martin

ลักษณะอาการ
ใบถั่วเขียวที่เป็นโรคจะมีจุดแผลสีน้ำตาลค่อนข้างกลม ขอบแผลไม่เรียบ บริเวณตรงกลางแผลมีสีเทา ขนาดของแผลไม่แน่นอน โดยจะมีขนาดตั้งแต่ 1 มม. ถึงขนาดเกินกว่า 5 มม. รอบแผลอาจพบมีวงสีเหลืองล้อมรอบ ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม เชื้อราจะระบาดรวดเร็ว ทำให้ใบเป็นสีน้ำตาลแห้งร่วงหล่นก่อนกำหนด

การแพร่ระบาด
โรคใบจุดสีน้ำตาลแพร่ระบาดได้ดีในสภาพที่มีฝนตกชุก ความชื้นในอากาศสูง

การป้องกันและกำจัด
1.กรณีที่มีการระบาดของโรคอย่างรุนแรงในระยะถั่วเขียวออกดอก ถั่วติดฝักอ่อนอาจจำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมีพวก benomyl หรือ thiophanate-methyl จำนวนครั้งที่ฉีดพ่นขึ้นกับความรุนแรงของโรคโดยทิ้งช่วงห่างประมาณ 7-20 วัน
2. ถั่วเขียวพันธุ์กำแพงแสน 1 และพันธุ์กำแพงแสน 2 ต้านทานโรคนี้ดีกว่าพันธุ์อู่ทอง 1



โรคพุ่มแจ้ (Witches' broom)

เชื้อสาเหตุ
เชื้อไฟโตพลาสมา(Phytoplasma)

ลักษณะอาการ
ถั่วเขียวที่เป็นโรคจะชะงักการเจริญเติบโต แตกกิ่งก้านออกเป็นพุ่มแจ้ คล้ายไม้กวาด ใบที่แตกใหม่จะมีขนาดเล็กผิดปกติ ต้นที่เป็นโรคจะแตกกิ่งก้าน และใบดกมากมาย

การแพร่ระบาด
โรคนี้ถ่ายทอดโดยเพลี้ยจั๊กจั่น (Leaf hopper)

การป้องกันและกำจัด
หากพบต้นถั่วเขียวที่แสดงอาการของโรคให้ถอนทำลายเสีย



โรคราแป้ง (Powdery mildew)
โรคราแป้งเป็นโรคที่พบระบาดทำความเสียหายกับถั่วเขียวที่ปลูกในช่วงฤดูแล้งที่มีอากาศค่อนข้างเย็น โรคนี้ระบาดได้ง่ายเนื่องจากสปอร์ของเชื้อราเมื่อตกลงบนผิวใบ จะอาศัยความชื้นในบรรยากาศและบนผิวใบเข้าสู่เนื้อใบ เชื้อราจะสร้าง Haustoria ดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์ผิวใบทำให้เซลล์ตาย ทำให้ใบแห้งตายในที่สุด

เชื้อสาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Oidium sp.

ลักษณะอาการ
ถั่วเขียวที่เป็นโรคราแป้งจะพบอาการได้ที่ใบด้านล่างก่อนแล้วจึงลามขึ้นสู่ใบด้านบนในระยะแรก จะเห็นเส้นใยสีขาวของเชื้อรามีลักษณะคล้ายผงแป้งโรยอยู่บนใบถั่วเขียวมองเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า


เชื้อราจะเจริญได้รวดเร็วและแพร่กระจายเต็มไปหมดทั้งใบ รวมทั้งใบบน ๆ ก็สามารถเป็นโรคได้ ใบที่เป็นโรคจะสังเกตเห็นได้ว่าที่ผิวใบจะมีเส้นใยของเชื้อราสีขาวคล้ายแป้ง แต่เซลล์ของใบจะเป็นสีน้ำตาล และต่อมาจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม จนในที่สุดใบจะแห้งตายไป อาการของโรคสามารถพบได้ทั้งด้านบนและด้านล่างของใบ ความเสียหายที่เกิดจากราแป้งนี้พบว่า ถ้าถั่วเขียวเป็นโรคในระยะติดฝักและเมล็ดเริ่มเต่งแล้ว ความเสียหายด้านผลผลิตจะมีไม่มากนัก แต่หากเกิดในระยะออกดอก พบว่าถั่วเขียวจะแคระแกรน การติดฝักไม่ดี ขนาดของฝักจะเล็ก และขนาดของเมล็ดก็จะเล็กลง

การแพร่ระบาด
เชื้อรา Oidium sp. แพร่ระบาดโดยทางลม มักพบระบาดในช่วงอากาศแห้งเย็น ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

การป้องกันและกำจัด
ในระยะออกดอกติดฝักอ่อน หากมีการระบาดของโรคอย่างรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีพวก benomyl หรือกำมะถันผง




โรครากดำ หรือชาโคลรอท (Charcoal Rot)
โรครากดำเป็นโรคที่พบระบาดทำความเสี่ยหายกับต้นถั่วเขียวในระยะแก่ใกล้เก็บเกี่ยว ในแปลงที่เป็นโรคจะพบว่าฝักถั่วเขียวจะแก่ก่อนแปลงที่ไม่เป็นโรค เมล็ดที่ได้จะลีบและไม่สมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตที่ได้ลดลงมากนอกจากนี้เชื้อสาเหตุของโรคนี้ยังอาจทำให้คุณภาพของเมล็ดเสียหายได้ โดยเฉพาะการติดไปกับเมล็ดถั่วเขียวผิวดำที่ส่งไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่น ทำให้ถั่วเขียวผิวดำที่มีเชื้อรา เน่า เมื่อนำไปเพาะเป็นถั่วงอก

เชื้อสาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Macrophomina phaseoli (maubl) Ashby

ลักษณะอาการ
ลักษณะอาการโดยทั่วไป จะพบว่าถั่วเขียวที่เป็นโรค ใบจะมีสีเหลืองซีด ลักษณะอาการใบเหลืองจะเริ่มจากใบด้านล่างก่อนจะลามสู่ใบด้านบน ต่อมาใบที่เหลืองซีด จะเหี่ยวและแห้งกรอบเป็นสีน้ำตาล โดยที่ก้านใบที่แห้งนี้ยังติดคาอยู่กับต้น ต้นถั่วเขียวจะยืนต้นแห้งตายในที่สุด โดยมักจะพบกระจายเป็นหย่อม ๆ และเมื่อถอนต้นถั่วเขียวที่เป็นโรคขึ้นดู จะพบเม็ดสเคอโรเตียมขนาดเล็กสีดำ มีลักษณะคล้ายผงถ่าน เกาะติดกับส่วนเปลือกของรากกระจายเต็มไปหมด บริเวณเปลือกหุ้มรากและโคนต้นจะเปื่อยยุ่ย ลอกออกได้ง่าย เชื้อรามักจะเข้าทำลายจากปลายรากฝอยลุกลามขึ้นมาสู่ระบบรากที่เหนือขึ้นมา ซึ่งจะต่างกับโรครากและโคนเน่า ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อรา Pythium sp และ Sclerotium sp ที่เชื้อราจะเข้าทำลายจากส่วนโคนต้นลงไปสู่ระบบรากใต้ดิน

การแพร่ระบาด
เชื้อราสามารถอยู่ในเศษซากพืช และสะสมอยู่ในดินได้นานกว่า 1 ปี หากอยู่ในดินที่แห้งเมล็ดถั่วเขียวเป็นแหล่งสะสมของเชื้อและเป็นตัวการในการแพร่กระจายที่สำคัญ

การป้องกันและกำจัด
1. เตรียมดินให้มีการระบายน้ำดี พยายามอย่าให้มีน้ำขัง
2. ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อป้องกันเชื้อราอาศัยอยู่ในเศษซากพืชและสะสมในดิน
3. ถอนต้นที่เป็นโรคและเผาทิ้งทันทีที่พบ
4. คลุกเมล็ดก่อนปลูกด้วยสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา เช่น แคปแทน





โรครากปม (Root Knot)
โรครากปมที่เกิดจากไส้เดือนฝอย เป็นโรคหนึ่งที่มีความสำคัญทำให้ผลผลิตของถั่วเขียวลดต่ำลง การเข้าทำลายของไส้เดือนฝอยในระยะที่ถั่วเขียวอายุยังน้อย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะสูงกว่าเมื่อถั่วเขียวมีอายุมาก

เชื้อสาเหตุ
เกิดจากไส้เดือนฝอย Meloidogyne incognita (Kajoid & White) Chitwood

ลักษณะอาการ
ถั่วเขียวที่เป็นโรครากปม พบว่า ลักษณะอาการของต้นถั่วเขียวที่อยู่เหนือระดับดิน จะไม่แตกต่างกับต้นปกติเพียงแต่จะมีอาการแคระแกรน การเจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่เมื่อถอนดูจะเห็นได้ว่าบริเวณรากจะเป็นปุ่มปมโดยจะพบได้ทั้งส่วนรากฝอย รากใหญ่และบริเวณโคนต้น ส่วนใต้ระดับดินลงมาปุ่มปมที่เกิดบนราก เนื่องจากไส้เดือนฝอยนี้มีลักษณะคล้ายหูด โดยที่รากจะบวมพองออกมาผิดปกติ และจะพบได้ทั้งรากขนาดเล็กและขนาดใหญ่ บางครั้งจะพบว่ารากมีลักษณะ กุดสั้น และบริเวณปลายรากจะบวมพองมีขนาดใหญ่กว่าส่วนโคนราก ทำให้ประสิทธิภาพของรากในการหาอาหารลดน้อยลง ในระยะหลังของการทำลายอาจะพบว่ารากมีอาการเน่า เนื่องจากการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์อื่น

การแพร่ระบาด
ไส้เดือนฝอยรากปมสามารถแพร่กระจายไปได้โดยติดไปกับดินที่ติดไปตามเครื่องมือการเกษตร เช่น ไถ เป็นต้น

การป้องกันและกำจัด
1. ไถดินตากก่อนปลูก
2. ปลูกพืชหมุนเวียน เช่น งา ถั่วลิสง ข้าวโพด ปอเทือง เป็นต้น
3. ใช้สารเคมีป้องกัน และกำจัดไส้เดือนฝอย ได้แก่ Carbofuran (ฟูราดาน 3% จี) อัตรา 4-6 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ aldicarb (ทีมิก 10% หรือไทเมท 10% จี) อัตรา 2 กิโลกรัมต่อไร่




หนอนแมลงวันเจาะลำต้น
ลักษณะและการทำลาย
ตัวเต็มวัยเป็นแมลงวันขนาดเล็ก สีเทาดำ ขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร วางไข่ในเนื้อเยื่อของใบ หนอนจะชอนไชไปกัดกินเนื้อเยื่อแกนกลางลำต้น หรือเนื้อเยื่อรอบๆ ลำต้นในระดับผิวดิน ทำให้เนื้อเยื่อลำต้นเน่าเปื่อย หากเข้าทำลายรุนแรงในระยะต้นอ่อน อาจทำให้ต้นตาย การระบาดในระยะต้นโตทำให้ต้นแคระแกร็น และผลผลิตลดลง

ช่วงเวลาระบาด
พบมากในฤดูแล้ง (ระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม) ในระยะต้นอ่อน ถึง 21 วันหลังงอก

การป้องกันกำจัด
1. ใช้พันธุ์ต้านทาน ได้แก่ พันธุ์ชัยนาท 72
2. ใช้สารเคมีประเภทดูดซึมโมโนโครโตฟอส ในอัตรา 40-50 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารไตรอะโซฟอส อัตรา 30-60 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นตั้งแต่อายุ 7 วัน หรือเมื่อมีการระบาด หรือป้องกันโดยใช้สารคาร์โบฟูรานโรยในร่องเวลาปลูก ในอัตรา 4-6 กก.ต่อไร่



หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก และหนอนม้วนใบ
ลักษณะและการทำลาย
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน เมื่อกางปีกกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร วางไข่เป็นกลุ่มตามใบพืช มีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมไว้ ตัวหนอนมีสีเขียวหรือน้ำตาลอ่อนมีจุดสีดำ 2 จุดด้านข้าง ทำลายถั่วเขียวโดยกัดกินใบ ดอก และฝักอ่อน ในเวลากลางวันมักหลบซ่อนในดิน

ช่วงเวลาระบาด
ระบาดทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช ในถั่วเขียวที่ปลูกฤดูแล้งพบมากระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม

การป้องกันกำจัด
1. เก็บกลุ่มไข่และตัวหนอนทำลาย
2. เนื่องจากหนอนกระทู้หอมดื้อต่อสารฆ่าแมลงทุกชนิดที่แนะนำให้ใส่กับแมลงศัตรูถั่วเขียว ดังนั้นสารแนะนำ เช่น ฟลูฟีน็อกซูรอน 0.005%, คลอฟลูอะซูรอน 0.001% รวมทั้งสารสกัดจากเมล็ดสะเดา 10% w/v (น้ำหนักปริมาตร) จะให้ผลในการควบคุมการลอกคราบของหนอนกระทู้หอมได้ หนอนม้วนใบ ใช้สารสกัดจากเมล็ดสะเดาเข้มข้นฉีดพ่นทุกสัปดาห์




หนอนเจาะสมอฝ้าย
ลักษณะและการทำลาย
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน วางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ตามส่วนต่าง ๆ ของพืช ตัวหนอนมีสีต่าง ๆ กัน ได้แก่ เขียว เหลือง เทา และน้ำตาลเข้ม มีขนรอบตัวและมีแถบสีดำพาดยาวตามด้านข้างลำตัว ทำลายถั่วเขียวโดยกัดกินใบ ดอก เจาะฝักและกัดกินเมล็ดภายในฝัก

ช่วงเวลาระบาด
พบระบาดมากในฤดูแล้ง ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

การป้องกันกำจัด
พ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช



หนอนเจาะฝักมารูค่า
ลักษณะและการทำลาย
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน เมื่อกางปีกกว้างประมาณ 2.3-3 เซนติเมตร วางไข่ไว้ที่กลีบดอก ตัวหนอนมีสีขาวและขาวเหลือง มีจุดสีน้ำตาลดำเป็นคู่ บนส่วนหลังของลำตัวทุกปล้อง ทำความเสียหายกับถั่วเขียวโดยสร้างใยมาพันช่อดอกแล้วอาศัยอยู่ภายในกัดกินเกสรดอก และกลีบดอกจนหมดแล้วเคลื่อนย้ายไปเจาะกัดกินดอกอื่น ๆ ต่อไป เมื่อทำลายดอกหมดแล้วหนอนจะเจาะเข้าทำลายฝักที่อยู่ติดกับดอกหรือติดกับใบ และกัดกินเมล็ดภายในฝัก ทำให้ผลผลิตลดลงมากหรือไม่ได้ผลผลิตเลย

ช่วงเวลาระบาด
ระยะออกดอกและติดฝัก ปลายฤดูฝนประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม

การป้องกันกำจัด
ที่ได้ผลดีที่สุด คือ ให้สารฆ่าแมลงไทรอะโซฟอส 40% อีซี (ฮอสตาธีออน 40% อีซี) อัตรา 50 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตรหรือ แลมดาไซฮาโลทริน 2.5% อีซี (คาราเต้) อัตรา 20 ม.ล. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นประมาณ 1-2 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน เมื่อตรวจสอบว่าฝักถูกทำลายประมาณ 30% ในระยะออกดอกถึงติดฝักอ่อน หรือพบฝักถูกทำลาย 20% เมื่อถั่วอายุ 42 วัน หรือออกดอก และฝักถูกทำลาย 10% เมื่อถั่วอายุ 49 วัน ขึ้นไป

นอกจากนี้ การใช้สารสกัดจากเมล็ดสะเดา 5% ฉีดพ่นถั่วเขียว สัปดาห์ละครั้ง ก็สามารถลดการเข้าทำลายของหนอนชนิดนี้ได้ (ไพฑูรย์ 2538)




มวนเขียวข้าวและมวนเขียวถั่ว
ลักษณะและการทำลาย
ตัวเต็มวัยลักษณะคล้ายโล่ ลำตัวมีสีเขียว ขนาดลำตัวยาว 1.4-1.5 เซนติเมตร ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายถั่วเขียวโดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ลำต้น ดอก และฝัก มักพบการระบาดเมื่อถั่วเขียวเริ่มติดฝักอ่อนแล้ว ทำให้ฝักอ่อนบิดงอ ฝักลีบไม่ติดเมล็ด ส่วนฝักแก่แต่ยังไม่แห้งทำให้เมล็ดลีบหรือเหี่ยวย่น

ช่วงเวลาระบาด
ฤดูแล้งประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ฤดูฝนประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม

การป้องกันกำจัด
1. เก็บกลุ่มไข่หรือตัวอ่อนที่ฝักจากไข่ใหม่ๆ และอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม นำไปทำลาย
2. หากตรวจพบมวน 2-3 ตัวขึ้นไปต่อแถวถั่วเขียวยาว 1 เมตร ควรฉีดพ่นสารฆ่าแมลง ไทรอะโซฟอส (ฮอสตาธีออน) 40% อีซี อัตรา 40 มิลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือเมต้ามีโดฟอส (ทามารอน) 60% เอสแอล อัตรา 30 มิลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร 1-2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 10 วัน



ด้วงถั่วเขียว
ลักษณะและการทำลาย
ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาล เป็นด้วงปีกแข็งขนาดเล็กประมาณ 3.0 – 4.5 มิลลิเมตร ปีกสั้นไม่คลุมสุดลำตัว มีแถบหรือจุดสีน้ำตาลแก่บนปีกทั้งสองข้าง ปลายปีกมีสีดำ ลำตัวเรียวแคบไปทางส่วนหัว หัวเล็กและงุ้มเข้าหาส่วนอก เข้าทำลายเมล็ดโดยวางไข่สีขาวนวลที่ผิวเมล็ด หนอนเป็นระยะเดียวที่ทำลายเมล็ด เมื่อฟักออกจากไข่ แล้วเจาะเข้าไปอาศัยและกัดกินเนื้อภายในเมล็ด และเข้าดักแด้อยู่ภายในจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย จึงเจาะรูกลมออกมาภายนอก ถั่วเขียวจะถูกด้วงถั่วเข้าทำลายตั้งแต่ยังเป็นฝักอยู่ในไร่ ซึ่งจะเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ต่อในโรงเก็บ

ช่วงเวลาระบาด
ระบาดตลอดปี

การป้องกันกำจัด
1. ทำความสะอาดโรงเก็บก่อนนำเมล็ดเข้าเก็บรักษา
2. เมื่อพบแมลงต้องทำการกำจัดทันที โดยใช้สารคลุกเมล็ด หรือสารรมเมล็ด



หนู
ถั่วเขียวที่ปลูกในฤดูแล้ง มักได้รับความเสียหายจากหนูมากกว่าถั่วที่ปลูกในฤดูฝน เพราะในฤดูฝน อาหารในธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มากกว่า ส่วนใหญ่หนูเข้าทำลายถั่วเขียวในระยะต้นถั่วติดฝักอ่อน โดยเจาะกินเฉพาะเมล็ดใต้เปลือกฝักถั่วเท่านั้น ถ้าฝักที่หนูกินยังติดอยู่บนต้น เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าเกิดจากหนู ในสกุลหนูหริ่ง (Mus spp.) แต่ถ้าฝักถั่วถูกกัดมากองอยู่ใต้ต้น และบางครั้งต้นถั่วก็ถูกกัดด้วย เป็นลักษณะการทำลาย ของหนูในสกุลหนูท้องขาว (Rattus spp.) และสกุลหนูพุก(Bandicota spp.)

หนูที่เป็นศัตรูสำคัญของถั่วเขียวมี 3 สกุล 7 ชนิด คือ
1. สกุลหนูพุก มี 2 ชนิด คือ หนุพุกใหญ่ และหนูพุกเล็ก
2. สกุลหนูท้องขาวมี 3 ชนิด คือ หนูนาใหญ่หนูนาเล็กและหนูบ้านท้องขาว
3. สกุลหนูหริ่ง มี 2 ชนิด คือ หนูหริ่งนาหางสั้นและหนูหริ่งนาหางยาว

วิธีการป้องกันกำจัดหนู
การปลูกถั่วเขียวในพื้นที่ใดก็ตามควรรู้ประวัติของพื้นที่นั้น ๆ ว่าเคยมีหนูทำลายพืชที่ปลูกในพื้นที่นั้นหรือไม่ ถ้าเคยควรซักถามให้ทราบได้ว่าเป็นหนูในสกุลใดบ้าง เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกใช้วิธีการป้องกันกำจัดที่เหมาะสม คือ 
        
หนูพุกใหญ่หรือหนูพุกเล็ก
ควรใช้วิธีขุดล่าด้วยปืนหรือฉมวกแทง หรือกับดักกรงดักต่าง ๆ เพราะสามารถนำมาบริโภคได้ แต่ต้องทำให้สุกมากที่สุดและไม่ควรบริโภคเครื่องในหนูทุกส่วนโดยเด็ดขาด เพราะเป็นที่อาศัยของโปรโตซัว และพาราสิต ที่เป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บหลายชนิด เช่น พยาธิในเลือด พยาธิใบไม้และไข้ฉี่หนู เป็นต้น ถ้าต้องใช้สารเคมี ควรใช้เหยื่อพิษออกฤทธิ์ช้าชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ 
         
หนูบ้านท้องขาว หนูนาใหญ่และหนูนาเล็ก
ถ้าพื้นที่ปลูกไม่เกิน 10 ไร่ และมีกำลังงานพอเพียง ควรใช้กรงดักหรือกับดัก เช่น กับดักฟ้าผ่า บ่วงรัดหรือกับดักด้วง ซึ่งเกษตรกรสามารถประดิษฐ์ขึ้นเองจากไม้ไผ่และเชือก หรือถ้าไม่สามารถทำขึ้นใช้ได้ก็ควรใช้กับดักเหล็กตีตาย ซึ่งมีจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปได้ แต่ถ้าต้องการใช้เหยื่อพิษ สามารถใช้ได้ทั้งเหยื่อพิษซิงค์ฟอสไฟด์ ซึ่งเป็นสารกำจัดหนูออกฤทธิ์เร็ว หรือจะใช้เหยื่อพิษสำเร็จรูปออกฤทธิ์ช้าชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ 
          
หนูหริ่งนาหางสั้นและหนูหริ่งนาหางยาว
วิธีที่เหมาะสมที่สุดคือการใช้เหยื่อพิษซิงค์ฟอสไฟด์ เพราะหนูสกุลนี้เกษตรกรไม่นิยมบริโภคเป็นอาหาร
ในการป้องกันกำจัดหนูทุกครั้ง ควรสำรวจร่องรอยของหนู เช่น รูอาศัย ทางเดิน รอยตีน หรือรอยทำลายบนพืช เพื่อเตรียมกับดักหรือเหยื่อพิษได้ถูกต้องพอเพียง วิธีการที่จะให้ทราบแน่ชัดว่ามีหนูอยู่ในบริเวณนั้นหรือไม่ โดยใช้ข้าวเปลือกวางจุดละประมาณ 1 ช้อนชา บนคันนาหรือแปลงปลูกที่ผิวดินแห้งแต่ละจุดห่างกันประมาณ 10 ก้าว แล้วเช็คผลในวันรุ่งขึ้น ถ้าจุดใดมีรอยถูกหนูกัดกิน ให้นำกรงดัก กับดัก หรือเหยื่อพิษมาวางที่จุดนั้น จะประสบผลสำเร็จในการดักหนูมากที่สุด

สารเคมีที่ใช้กำจัดหนูแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. สารกำจัดหนูชนิดออกฤทธิ์เร็ว ได้แก่ ซิงค์ฟอสไฟด์
2. สารกำจัดหนูชนิดออกฤทธิ์ช้า ได้แก่ โฟลคูมาเฟน (สะตอม 0.005%) โบรมาดิโอโลน (Sed 0.005%) ไดฟิทิอาโลน (บาราคี 0.0025%) คูมาเททราลิล (ราคูมิน 0.0375%) เป็นต้น

วิธีการใช้เหยื่อพิษซิงค์ฟอสไฟด์ในการป้องกันกำจัดหนูควรปฏิบัติดังนี้
1. ควรเลือกใช้เฉพาะสารซิงค์ฟอสไฟด์ 80% ที่บรรจุในขวดพลาสติกหรือกระป๋องโลหะที่ป้องกันความชื้นจากอากาศได้ดี เพราะสารซิงค์ฟอสไฟด์สลายได้ง่ายในสภาพอากาศชื้นและเป็นกรดอ่อน ๆ ส่วนสารซิงค์ฟอสไฟด์ที่บรรจุในซองกระดาษมักมีสารออกฤทธิ์น้อยกว่าที่ระบุไว้ข้างซอง เพราะการสลายตัวในสภาพอากาศชื้นของประเทศไทย

2. ต้องผสมเหยื่อพิษซิงค์ฟอสไฟด์ให้เข้มข้นเพียง 1% เท่านั้น เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่อยากให้หนูตายเร็ว ๆ จึงผสมเหยื่อพิษเข้มข้นกว่า 1% และให้ผลเสียหายคือ หนูมักเข็ดขยาดเหยื่อเสียก่อนที่จะกินเหยื่อพิษมากพอที่ จะออกฤทธิ์ฆ่าหนูได้ ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องอัตราส่วนคือ ปลายข้าว รำละเอียด หรือมะพร้าวคั่ว : ซิงค์ฟอสไฟด์ 80% เท่ากับ 75:4:1 โดยน้ำหนัก หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ถ้าใช้เหยื่อพิษซิงค์ฟอสไฟด์ 10 กรัม ต้องผสมปลายข้าว 750 กรัม และรำละเอียดหรือมะพร้าวขูดคั่ว 40 กรัม เป็นต้น 
         
3. อย่าใช้มือเปล่าผสมเหยื่อพิษ เพราะผงซิงค์ฟอสไฟด์อาจจะติดตามซอกเล็บ สารชนิดนี้ไม่ละลายน้ำ แต่จะละลายได้ดีในน้ำมันจึงควรต้องสวมถุงมือขณะผสมเหยื่อพิษ 
         
4. อย่าแขวนหรือวางเหยื่อพิษไว้ใกล้เด็ก หรือสัตว์เลี้ยงในบ้าน เพราะเหยื่อพิษอาจถูกเก็บกินจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ 
         
5. ควรเก็บซากหนูที่ตายเพราะสารเคมีไปฝังหรือเผาเสีย ห้ามนำไปกินเด็ดขาด
รินและเซฟวินตามลำดับ



การเก็บเกี่ยวและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวและการนวดถั่วเขียว
เมื่อถั่วเขียวแก่ฝักจะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือขาวนวล ถ้าเป็นฤดูฝนจะต้องรีบเก็บฝักถั่วเขียวที่แก่นี้ทันที เพราะฝักถูกฝนเมล็ดจะบวม เวลาแห้งเหี่ยวจะไม่งาม จำหน่ายได้ราคาถูก ถ้าเป็นฤดูแล้งอาจจะทิ้งไว้ในแปลงรอเก็บเกี่ยวพร้อมกันได้ เพราะฝักแก่แล้วมีความเหนียวจะทำให้เก็บเกี่ยวได้หมดภายในไม่เกิน 2 ครั้ง ส่วนในการทยอยปลิดฝักต้องระวังไม่ให้ดอกถั่วเขียวที่จะเจริญเป็นฝักต่อไปติดมือมาด้วย แล้วนำถั่วเขียวที่เก็บได้ไปตากบนลานที่เตรียมไว้ อย่างไรก็ตามก่อนถึงระยะเก็บเกี่ยวฝักถั่วเขียวจะเริ่มแก่มีสิ่งพอที่จะสังเกตได้ดังนี้
             
1. ถั่วเขียวจะงอกต้นอ่อนมาหลังจากปลูกแล้ว 3-4 วัน
2. ถั่วเขียวจะเริ่มออกดอกเมื่ออายุประมาณ 28-30 วันนับจากวันงอก
3. ถั่วเขียวจะเริ่มมีฝักอ่อน ๆ เมื่ออายุประมาณ 36-40 วันนับจากวันงอก
4. ถั่วเขียวจะเริ่มมีฝักแก่เมื่ออายุประมาณ 56-65 วันนับจากวันงอก
5. เริ่มเก็บเกี่ยวฝักแก่ได้เมื่อมีอายุประมาณ 60-70 วันนับจากวันงอก
             
สำหรับการนวดถั่วเขียวนั้นจะกระทำเมื่อนำฝักถั่วเขียวที่เก็บได้ได้นำมาตากให้แห้งเสียก่อน แล้วเก็บฝักที่ตากแห้งแล้วนี้ใส่กระสอบทุบด้วยไม้ไผ่เล็กยาวประมาณ 3 หรือ 4 ศอก เมล็ดถั่วจะหลุดจากฝักตกอยู่ในกระสอบนั่นเอง ทุบจนเห็นว่าเมล็ดหลุดหมดแล้วจึงนำมาฝัดด้วยกระด้งหรือเครื่องสีฝัด


การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

นำฝักถั่วเขียว ไปผึ่งแดดเพื่อให้ความชื้นฝักและเมล็ดลดลงเหลือประมาณ 11-13 เปอร์เซนต์

การกะเทาะฝักถั่วเขียว

1. บรรจุฝักในถุงหรือกระสอบ ใช้ไม้ทุบ
2. กองฝักถั่วเขียวสูงประมาณ 25 เซนติเมตร ใช้รถแทรคเตอร์เล็กที่ปล่อยลมยางรถให้อ่อนย่ำบนลานนวด ใช้ความเร็วรอบของเครื่องต่ำ เพื่อลดการแตกหักของเมล็ด 
3. ใช้เครื่องกะเทาะฝัก ที่มีความเร็วรอบ 550 รอบต่อนาที 
4. ทำความสะอาดเมล็ดด้วยวิธีร่อนและฝัด แล้วนำเมล็ดไปผึ่งแดดเพื่อลดความชื้นหรือประมาณ 11-12 เปอร์เซ็นต์
5. บรรจุเมล็ดในกระสอบป่านที่สะอาด เพื่อเก็บรักษาหรือส่งจำหน่าย


การเก็บรักษา

1. โรงเก็บต้องเป็นอาคารโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ป้องกันความเปียกชื้นจากฝนและน้ำท่วมได้ ไม่มีแมลง หนู สัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์เลี้ยงเข้ารบกวน ถ้าเป็นพื้นซีเมนต์ให้หาวัสดุรองกระสอบป่าน เช่น ไม้ไผ่ หรือแคร่
2. ทำความสะอาดโรงเก็บ ก่อนนำเมล็ดเข้าเก็บรักษาทุกครั้ง และทำความสะอาดตลอดระยะเวลาที่เก็บรักษาอย่างสม่ำเสมอ



วัชพืชที่สำคัญและการป้องกันกำจัด
ชนิดวัชพืช แบ่งได้เป็น
1. วัชพืชฤดูเดียว เป็นวัชพืชที่ครบวงจรชีวิตภายในฤดูเดียว ส่วนมากขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1.1 ประเภทใบแคบ
ได้แก่ หญ้านกสีชมพู หญ้าตีนนก หญ้าตีนกา และหญ้าดอกขาว เป็นต้น 
1.2 ประเภทใบกว้าง
ได้แก่ ผักยาง ผักโขม ปอวัชพืช ผักเบี้ยหิน สาบแร้งสาบกา ผักคราดหัวแหวน หญ้ากำมะหยี่ เทียนนา และกะเม็ง เป็นต้น 
 
2. วัชพืชข้ามปี เป็นวัชพืชที่ส่วนมากขยายพันธุ์ด้วยต้น ราก เหง้า หัว และไหลได้ดีกว่าการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
2.1 ประเภทใบแคบ
เช่น หญ้าแพรก หญ้าตีนติด และหญ้าชันกาด เป็นต้น 
2.2 ประเภทใบกว้าง
เช่น ไมยราบเครือ สาบเสือ และตดหมูตดหมา เป็นต้น
2.3 ประเภทกก เช่น แห้วหมู และกกดอกตุ้ม




การป้องกันกำจัด
1. ไถดิน 1 ครั้ง ตากดิน 7-10 วัน พรวน 1 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัว และไหลของวัชพืชข้ามปีออกจากแปลงก่อนปลูกถั่วเขียว 
2. กำจัดวัชพืชโดยใช้แรงงานหรือเครื่องจักรกล เมื่อถั่วเขียวอายุ 15-20 วัน หรือก่อนถั่วเขียวออกดอก
3. คลุมดินด้วยเศษซากวัชพืชหรือฟางข้าวทันทีหลังปลูก
4. ในกรณีที่การป้องกันกำจัดวัชพืชด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อาจเลือกใช้วิธีพ่นสารกำจัดวัชพืช ตามคำแนะนำในตาราง


ตาราง การใช้สารกำจัดวัชพืชในถั่วเขียว

วัชพืช
สารกำจัดวัชพืช1/
อัตราการใช้/น้ำ 20 ลิตร2/
วิธีการใช้/ข้อควรระวัง
วัชพืชฤดูเดียวหรือข้ามปีที่เกิดจากเมล็ด ทั้งวัชพืชใบแคบและใบกว้าง     เมโทลาคลอร์
(40%อีซี)
150-180 มิลลิลิตร พ่นทันทีหลังปลูก ก่อนถั่วเขียวและวัชพืชงอก ขณะพ่นดินควรมีความชื้นและไม่มีวัชพืชขึ้นอยู่  
อะลาคลอร์
(48% อีซี)
125-150 มิลลิลิตร
โคลมาโซน
(48% อีซี)
50-70 มิลลิลิตร
ฟลูเอซิฟอบ-พี-บิวทิล
(15%อีซี)+โฟมีซาเฟน
(25%อีซี)
40+40 มิลลิลิตร พ่นคลุมไปบนต้นถั่วเขียวและวัชพืช ระยะที่วัชพืชส่วนใหญ่มีใบ 3-5 ใบ หรือประมาณ 15-20 วันหลังงอก ห้ามใช้โฟมีซาเฟนเกินอัตราที่กำหนด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อต้นถั่วเขียว 
ควิซาโลฟอบ-พี-เทฟูริล
(6% อีซี) + โฟมีซาเฟน
(25%อีซี)
50+40 มิลลิลิตร
วัชพืชฤดูเดียวหรือข้ามปีที่เกิดจากเมล็ด และเป็นวัชพืชใบแคบมาก  ฟลูเอซิฟอบ-พี-บิวทิล
(15%อีซี)
40 มิลลิลิตร พ่นคลุมไปบนต้นถั่วเขียวและวัชพืช ระยะที่วัชพืชส่วนใหญ่มีใบ 3-5 ใบ หรือประมาณ 15-20 วันหลังงอก 
ควิซาโลฟอบ-พี-เทฟูริล
(6%อีซี)
50 มิลลิลิตร
วัชพืชฤดูเดียวหรือข้ามปีที่เกิดจากเมล็ด และเป็นวัชพืชใบกว้างมาก โฟมีซาเฟน
(25%อีซี)
40 มิลลิลิตร พ่นคลุมไปบนต้นถั่วเขียวและวัชพืช ระยะที่วัชพืชส่วนใหญ่มีใบ 3-5 ใบ หรือประมาณ 15-20 วันหลังงอก ห้ามใช้เกินอัตราที่กำหนด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อต้นถั่วเขียว
วัชพืชฤดูเดียวหรือข้ามปีที่เกิดจากเมล็ด และต้นวัชพืชที่งอกขึ้นมาก่อนปลูกถั่วเขียว ทั้งวัชพืชใบแคบและใบกว้าง  อะลาคลอร์ (48% อีซี) +
พาราควอท
(27.6%เอสแอล)
125+75 มิลลิลิตร พ่นทันทีหลังปลูก ก่อนถั่วเขียวและวัชพืชงอก ขณะพ่นดินควรมีความชื้นและมีวัชพืชงอกขึ้นมาก่อนปลูกถั่วเขียว 

อะลาคลอร์ (48% อีซี) +
ไกลโฟเสท
(48% เอสแอล)

125+100 มิลลิลิตร
















 1/ ในวงเล็บคือ เปอร์เซ็นต์สารออกฤทธิ์และสูตรของสารกำจัดวัชพืช
 2/ ใช้น้ำ 80 ลิตรต่อไร่ เลือกใช้เพียงชนิด
เดียว



©ข้อมูลจาก®

พืชไร่เศรษฐกิจ.

ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กรมวิชาการเกษตร (http://www.doa.go.th)





หน้าถัดไป (2/2) หน้าถัดไป


Content ©