-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 277 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ประมง





กำลังปรับปรุงครับ


การเพาะเลี้ยงไรแดง
         การเพาะเลี้ยงไรแดง 

ไรแดง เป็นอาหารธรรมชาติที่ดีสำหรับการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ทั้งปลาสวยงาม และ ปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลาปอมปาดัวร์ ปลากัด กุ้งก้ามกราม ปลากะพง ปลาบึก ปลาเทโพ ปลาเทพา และ ปลาดุกอุย เป็นต้น ในอดีตไรแดงส่วนใหญ่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำโสโครกตามบ้านเรือน โรงฆ่าสัตว์ หรือ โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีปริมาณไม่แน่นอน ปัจจุบันไรแดง จากธรรมชาติมีปริมาณลดลง เพราะสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เปลี่ยนไปในขณะที่ความต้องการไรแดงกลับเพิ่มขึ้น ทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนไรแดงในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนมากขึ้น ซึ่งมีผลโดยตรงกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกรมประมงได้ศึกษาวิจัยและประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงไรแดง ซึ่งเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนไรแดง และช่วยส่งเสริมการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงไรแดง และการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ


ไรแดงน้ำหนักแห้งประกอบด้วย


โปรตีน 74.09 เปอร์เซ็นต์

คาร์โบไฮเดรต 12.50 เปอร์เซ็นต์

ไขมัน 10.19 เปอร์เซ็นต์

เถ้า 3.47 เปอร์เซ็นต์

ชีวประวัติ รูปร่าง และ ลักษณะของไรแดง

ไรแดง เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกกุ้ง หรือ เรียกว่า crustacean มีชื่อวิทยาศาสตร์ Moina macrocopa และมีชื่อสามัญว่า Water flea เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดหนึ่งมีขนาด 0.4 - 1.8 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีแดงเรื่อ ๆ ถ้าอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากจะมองเห็นไรแดงมีสีแดงเข้ม ไรแดงเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ ลำตัวอ้วนเกือบกลมมีขนาดเฉลี่ย 1.3 มิลลิเมตร ส่วนเพศผู้ตัวเล็กและค่อนข้างยาวกว่า มีขนาดเฉลี่ย 0.5 มิลลิเมตร ตัวอ่อนที่ออกมาจากถุงไข่ของแม่ใหม่ ๆ จะมีขนาด 0.22 - 0.35 มิลลิเมตร มีสีจางกว่าตัวเต็มวัย ในสภาวะสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ไรแดงจะมีประชากรเพศผู้ 5 เปอร์เซ็น เพศเมีย 95 เปอร์เซ็นต์

การสืบพันธุ์ของไรแดง

ไรแดง มีการสืบพันธุ์ 2 แบบ คือ

แบบที่ 1 เป็นการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ไรแดงเพศเมียจะไข่แล้วฟักเป็นตัวโดยไม่ต้องผสมกับไรแดงเพศผู้ โดยปกติไรแดงจะมีอายุระหว่าง 4 - 6 วัน แพร่พันธุ์ได้ 1 - 5 ครั้ง หรือ เฉลี่ย 3 ครั้ง ๆ ละ 19 - 23 ตัว ทั้งนี้ สภาวะแวดล้อมจะต้องเหมาะสม

แบบที่ 2 เป็นการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ในสภาวะแวดล้อมที่ผิดปกติ เช่น อุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป ความเป็นกรดเป็นด่างไม่เหมาะสมหรือขาดแคลนอาหาร ไรแดงจะเพิ่มปริมาณเพศผู้มากขึ้นแล้ว ไรแดงเพศเมียจะสร้างไข่ขึ้นอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งจะต้องได้รับการผสมพันธุ์จากเพศผู้แล้วสร้างเปลือกหุ้มหนา แม่ 1 ตัว จะให้ไข่ชนิดนี้ 2 ฟอง หลังจากนั้นตัวเมียก็จะตาย เนื่องจากสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมนั้น ไข่จะถูกทิ้งไว้อยู่ก้นบ่อหรือก้นแหล่งน้ำนั้น ๆ ไข่เปลือกแข็งนี้สามารถทนต่อสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้นาน และจะฟักออกเป็นตัวเมื่อสภาวะแวดล้อมที่ดีขึ้นและมีอาหารอุดมสมบูรณ์

 ปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ในการเพาะเลี้ยงไรแ

การเพิ่มผลผลิตของไรแดงในบ่อนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการพลังงานจากแสงแดงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่ทำให้กระบวนการต่าง ๆ ในภาพดำเนินไปด้วยดี ปุ๋ยและอาหารต่าง ๆ จะถูกย่อยสลายโดยบักเตรี ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการแพร่ขยายของน้ำเขียว อีกทั้งยังทำให้เกิดขบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งจะใช้ของเสียต่าง ๆ จำพวกแอมโมเนีย คาร์บอนไดออกไซด์ และอื่น ๆ ที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต ทำให้คุณสมบัติของน้ำดีขึ้น การหมุนเวียนของน้ำจะเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อไรแดง การเพิ่มปริมาณน้ำเขียวมากขึ้นและการใส่ยีนต์ก็สามารถช่วยในการเพิ่มผลผลิตของไรแดงได้อย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน

วิธีการเพาะเลี้ยงไรแดง แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
  1. การเพาะเลี้ยงไรแดงในบ่อซีเมนต์
  2. การเพาะเลี้ยงไรแดงในบ่อดิน
การเพาะเลี้ยงไรแดงในบ่อซีเมนต์

ได้รับการพัฒนาเรื่อยมาจากการใช้ฟางต้ม มูลสัตว์ เลือดสัตว์ อาหารผสมและน้ำเขียว จากการศึกษาค้นคว้าทดลองและวิจัยของหน่วยงานที่รับผิดชอบหลาย ๆ องค์กร ทำให้ปัจจุบันสามารถเพาะเลี้ยงไรแดงในบ่อซีเมนต์ได้ 2 วิธีคือ

  1. การเพาะเลี้ยงแบบเก็บเกี่ยวไม่ต่อเนื่อง คือ การเพาะไรแดงแบบการเก็บเกี่ยวเพียงครั้งเดียว การเพาะแบบนี้จำเป็นที่จะต้องมีบ่ออย่างน้อย 5 บ่อ เพื่อใช้ในการหมุนเวียนให้ได้ผลผลิตทุกวัน การเพาะแบบไม่ต่อเนื่องจะทำให้ได้ปริมาณไรแดงที่แน่นอนและจำนวนมาก ไม่ต้องคำนึงในด้านศัตรู(ของไรแดง)มากนัก เพราะว่าเป็นการเพาะในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ
  2. การเพาะแบบเก็บเกี่ยวต่อเนื่อง คือ การเพาะไรแดงแบบเก็บเกี่ยวผลผลิตไรแดงหลายวันภายในบ่อเดียวกัน การเพาะแบบนี้ต้องมีบ่ออย่างน้อย 5 บ่อ การเพาะแบบต่อเนื่องจะต้องคำนึงถึงศัตรูของไรแดงและสภาวะแวดล้อมในบ่อเพาะไรแดง เนื่องจากการเติมพวกอินทรีย์สารต่าง ๆ หรือ การเติมน้ำเขียวลงในบ่อควรมีการถ่ายน้ำและเพิ่มน้ำสะอาดลงในบ่อเพื่อเป็นการลดความเป็นพิษของแอมโมเนียและสารพิษอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในบ่อ

การเพาะไรแดงทั้ง 2 วิธี ควรจะมีเครื่องเป่าอากาศเพื่อเพิ่มออกซิเจนในบ่อให้เพียงพอต่อความต้องการของไรแดง อีกทั้งยังช่วยย่อยสลายอินทรีย์สารและให้น้ำในบ่อหมุนเวียน หรือจะใช้เครื่องปั่นน้ำช่วยก็ได้

วัสดุและอุปกรณ์
  1. บ่อผลิต ลักษณะของบ่อซีเมนต์ ถ้าเป็นการลงทุนใหม่บ่อซีเมนต์ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงไรแดงที่เหมาะสมควรมีลัษณะเป็นรูปไข่ แต่ถ้ามีบ่อซีเมนต์สี่เหลี่ยมอยู่แล้วก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน พื้นก้นบ่อของบ่อไรแดง ควรฉาบและขัดมันให้เรียบร้อยเพื่อความสะดวกในการหมุนเวียนของน้ำ เพราะถ้ามีการหมุนเวียนของน้ำที่ดีแล้ว จะทำให้การย่อยสลายของปุ๋ยและอาหารผสมดีขึ้น อีกทั้งเป็นการป้องกันการตกตะกอนของน้ำเขียว ถ้าน้ำเขียวตกตะกอนแล้วจะทำให้อาหารของไรแดงน้อยลง และ ผลผลิตของไรแดงก็จะลดน้อยลงด้วย บ่อซีเมนต์ที่ใช้ในการเพาะไรแดง ควรมีทางน้ำเข้าและน้ำออกเพื่อสะดวกในการเพาะ การล้าง และการเก็บเกี่ยวไรแดง ทั้งนี้การสร้างบ่อผลิตต้องอยู่กลางแจ้ง ไม่มีหลังคา และ ต้นไม้บังแสงแดดขนาดของบ่อซีเมนต์ ขนาดของบ่อเพาะไรแดงจะขึ้นอยู่กับความต้องการผลผลิตของไรแดง แต่ในด้านความสูงของบ่อควรจะมีความสูงประมาณ 60 เซนติเมตร
  2. เครื่องเป่าลม

    เครื่องตีน้ำหรือเครื่องเป่าลมช่วยเพิ่มออกซิเจนและเร่งการเจริญเติบโตของไรแดง

    ในบ่อเพาะที่มีขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 30 - 50 ตารางเมตร จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องเป่าลมไว้ในบ่อเพาะ เครื่องเป่าลมจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำในบ่อเพาะเป็นการป้องกันการตกตะกอนของน้ำเขียวแล้วยังช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนอีกทั้งยังช่วยเร่งการขยายพันธุ์การเจริญเติบโตของน้ำเขียวและไรแดงให้เร็วขึ้น และ ลดความเป็นพิษของน้ำที่มีต่อไรแดง
  3. ผ้ากรอง การกรองน้ำลงในบ่อเพาะทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำบาดาล น้ำคลอง น้ำประปา และ น้ำเขียว ที่เป็นเชื้อเริ่มต้น ควรผ่านผ้ากรองขนาด 69 ไมครอน หรือ ต่ำกว่าก็ได้ เพื่อเป็นการป้องกันสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ และ ศัตรูของไรแดง
  4. น้ำเขียว
    น้ำเขียวที่เพาะเลี้ยงไรแดง  เป็นสาหร่ายเซลล์เดียวขนาดเล็ก เรียก แพลงก์ตอนพืช โดยทั่วไปจะมีอยู่มากมายหลายชนิดและมีค่าทางอาหารแตกต่างกัน สาหร่ายเซลล์เดียวที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงไรแดง คือ Chlorella sp. มีขนาด 2.5 - 3.5 ไมครอน มีโปรตีนสูงกว่าสาหร่ายเซลล์เดียวชนิดอื่น คือมีโปรตีน 64.15% การเพาะพันธุ์โดยการใช้ปุ๋ยอนินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ก็ได้ ระยะเวลาในการเพาะเพื่อทำให้น้ำเขียวเข้มจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน เชื้อน้ำเขียว เริ่มต้นสำหรับการเพาะเลี้ยงระยะเริ่มแรกนั้นติดต่อได้ที่หน่วยงานของกรมประมงที่มีการเพาะเลี้ยงไรแดง
  5. ไรแดง หัวเชื้อไรแดงใช้สำหรับแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป ควรมีสภาพที่สมบูรณ์ มีขนาดใหญ่ อายุประมาณ 2 วัน ควรทำความสะอาดทุกครั้งก่อนจะนำไรแดงมาเป็นหัวเชื้อ เพื่อเป็นการป้องกันศัตรูที่เกาะติดมากับไรแดง
  6. กากผงชูรส (อามิ-อามิ)

    อามิ-อามิ

    อามิ-อามิ เป็นกากของการทำผงชูรส ซึ่งประกอบด้วยแร่ธาตุไนโตเจน 4.2% และ ฟอสฟอรัส 0.2% การใช้ควรใช้ทั้งน้ำและตะกอนร่วมกัน ในกรณีอามิ-อามิ เกิดการตกตะกอนมากขึ้นควรลดระดับปริมาณการใช้ลง เพื่อป้องกันการเน่าเสียของน้ำในบ่อไรแดง
  7. อาหารสมทบ ได้แก่ รำ กากถั่ว และ ปลาป่น หมัก สามารถนำมาเป็นอาหารของไรแดง ได้โดยตรง และ ทำให้เกิดบักเตรี จำนวนมาก ซึ่งไรแดงสามารถนำมาใช้เป็นอาหารได้อีกทางหนึ่ง

       อาหารเพาะไรแดง

  1. ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ปุ๋ยนา สูตร 16-20-0 , ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต สูตร 0-46-0 , ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 ในการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ทุกครั้งควรละลายน้ำ เพื่อป้องกันการตกค้างของปุ๋ยในบ่อเพาะไรแดง
  2. ปูนขาว การใช้ปูนขาวในบ่อเพาะเลี้ยงไรแดงก็เพื่อเป็นการปรับความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ ช่วยเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำ ช่วยการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของน้ำเขียวเร็วขึ้น การใช้ปูนขาวควรละลายน้ำก่อนจึงใส่ลงในบ่อเพาะเลี้ยงไรแดง

ปูนขาวที่มีขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไป โดยปกติจะมีอยู่หลายประเภท เช่น
9.1 ปูนเผา หรือ Calcium oxide (CaO)
9.2 ปูนเปียก หรือ Calcium hydroxide Ca (OH)2
9.3 หินปูน หรือ CaCO3
9.4 ปูนมาร์ล
ปูนต่าง ๆ เหล่านี้จะมีประสิทธิภาพเรียงจากมากไปหาน้อย โดยปูนเผาจะมีประสิทธิภาพสูงสุด

ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงไรแดง

ไรแดง เป็นสัตว์น้ำจึงต้องการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เช่นเดียวกับสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ และ วิตามิน ดังนั้นเคล็ดลับการเพาะเลี้ยงไรแดงก็คือ การให้อาหารที่เหมาะสมในปริมาณเพียงพอ และการควบคุมสภาวะแวดล้อมในบ่อเพาะเลี้ยงให้เหมาะสม หากอาหารในบ่อเพาะเลี้ยงมากหรือน้อยเกินไปก็จะทำให้ผลผลิตไรแดงลดต่ำลง ไรแดงสามารถทนต่อสภาวะแวดล้อมได้ดี แต่ถ้าสภาวะแวดล้อมเลวมากจนไรแดงทนไม่ได้ผลผลิตก็จะต่ำลง วิธีการเพาะเลี้ยงไรแดง มี 5 ขั้นตอน ซึ่งแต่ละขั้นตอนในการปฏิบัติจะมีผลต่อปริมาณและระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ยาวนานขึ้น ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมบ่อผลิต
ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมน้ำ
ขั้นตอนที่ 3 การเตรียมอาหาร
ขั้นตอนที่ 4 การเตรียมแม่พันธุ์ไรแดง
ขั้นตอนที่ 5
การควบคุมบ่อผลิต

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมบ่อผลิต

การเตรียมบ่อผลิต

กรณีบ่อใหม่จะต้องล้างบ่อให้อยู่ในสภาพเป็นกลางหรือด่างอ่อน ๆ (7 - 8) โดยแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 - 3 สัปดาห์ แล้วระบายน้ำทิ้ง ถ้าต้องการลดระยะเวลาให้หมักฟางหญ้า หรือ เศษพืชผักไว้ในบ่อเพราะจะเกิดกรดอินทรีย์ เช่น กรดฮิวมิค ซึ่งจะช่วยแก้ความเป็นด่างได้เล็กน้อย หรือใช้ กรดน้ำส้มเทียมผสมน้ำในบ่อให้เต็ม แช่ทิ้งไว้ประมาณ 3 - 5 วัน แล้วระบายน้ำทิ้ง และเปิดน้ำใหม่แช่ทิ้งไว้อีก 24 ชั่วโมง ส่วนบ่อเก่าต้องล้างบ่อแล้วตากบ่อให้แห้งเพื่อกำจัดศัตรูไรแดง

ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมน้ำ

ระดับน้ำในบ่อเพาะเลี้ยงไรแดงประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร

การระบายน้ำเข้าบ่อโดยผ่านการกรองด้วยผ้าแพลงก์ตอน จะช่วยป้องกันศัตรูไรแดง และ คัดขนาดของแพลงก์ตอนพืชที่ติดมากับน้ำและเป็นอาหารไรแดงต่อไป ระดับน้ำที่ใช้ประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร

เทคนิคเสริมบางประการในการเตรียมน้ำ

- น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่นแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง จะให้ผลผลิตสูงกว่าน้ำประปา น้ำบาดาล และ น้ำฝน ทั้งนี้เพราะแพลงก์ตอนพืช ปนมากับน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ก็ควรกรองน้ำด้วยถุงกรองแพลงก์ตอนทุกครั้ง เพื่อป้องกันศัตรูของไรแดงที่อาจจะติดมากับแหล่งน้ำธรรมชาติ
- ควรปรับคุณภาพของน้ำให้มีความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 8
โดยใช้ปูนขาวละลายน้ำจะได้น้ำปูนใส ส่วนกากปูนให้ทิ้งไป เพราะเป็นพิษกับไรแดง

ขั้นตอนที่ 3 การเตรียมอาหาร

อาหารที่ใช้ผลิตไรแดงจะต้องมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และ เกลือแร่ ชนิดของอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงไรแดง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  1. อาหารผสม ได้แก่ รำละเอียด ปลาป่น และ กากถั่วเหลือง โดยเฉพาะกากถั่วเหลืองจะมีกรดไขมันที่เร่งการลอกคราบของไรแดงทำให้ผลผลิตไรแดงสูงขึ้น
  2. จุลินทรีย์ เป็นอาหารที่ได้จากการหมักอาหารกับน้ำ ได้แก่ ยีสต์และแบคทีเรีย สำหรับ ยีสต์จะมีวิตามินอี ซึ่งช่วยในการทำงานของระบบสืบพันธุ์
  3. น้ำเขียว เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งในที่นี้ หมายถึง แพลงก์ตอนพืช หลาย ๆ ชนิดที่ไรแดงกินได้ เช่น คลอเรลล่า. ซีเนเดสมัน ฯลฯ ซึ่งทำให้ไรแดงสมบูรณ์จึงมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น


อาหารหมักซึ่งจะเป็นอาหารเสริมของไรแดง

วิธีหมักอาหารกับน้ำ ใช้อาหาร 1 ส่วน : น้ำ 2 ส่วน : ปูนขาว 1 ส่วน จะเกิดจุลินทรีย์พวกบักเตรี ซึ่งจะเป็นอาหารเสริมของไรแดง การหมักอาหารใช้เวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

ส่วนอัตราอาหารผสมที่ใช้ คือ รำละเอียด 2 ส่วน ปลาป่น 1 ส่วน และ กากถั่วเหลือง 1 ส่วน ในปริมาณ 40 กรัมต่อตารางเมตร เช่น บ่อผลิตขนาด 50 ตารางเมตร ใช้รำละเอียด 1 กก. ปลาป่น 0.5 กก. และ กากถั่วเหลือง 0.5 กก.


น้ำเขียวเป็นสาหร่ายเซลล์เดียวในจำพวกแพลงก์ตอนพืช

เทคนิคเสริมบางประการในการเตรียมอาหาร

- ถ้าน้ำมีสีเขียว แสดงว่าเกิดแพลงก์ตอนพืชแล้ว จึงเติมอาหารผสมลงบ่อแพลงก์ตอนพืชจะแพร่พันธุ์เป็นอาหารของไรแดงต่อไป
- อาหารต้องผ่านการหมักอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ระยะเวลาที่หมักอาหารประมาณ 50 - 60 ชั่วโมง
-
อาหารที่หมักแล้วหากใช้ถุงผ้าโอลอนแก้วกรองส่วนที่เป็นกากออก จะทำให้น้ำเสียช้าลงและช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวไรแดงยาวนานขึ้น

ขั้นตอนที่ 4 การเตรียมพันธุ์ไรแดง


คัดพันธุ์ไรแดงด้วยกระชอนมุ้งสีฟ้าตาเล็กสุด

การเพาะเลี้ยงไรแดงให้ได้ปริมาณมากจำเป็นต้องใช้แม่พันธุ์ที่มีชีวิตสมบูรณ์และแข็งแรง มีวิธีการดำเนินการง่าย ๆ ดังนี้

  1. การคัดพันธุ์ไรแดง ควรแยกไรแดงออกจากแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดอื่น โดยใช้กระชอนอวนมุ้งสีฟ้าขนาดตาเล็กสุด ซึ่งสามารถแยกไรแดงจากโคพีพอด และ ลูกน้ำได้ แต่ถ้าได้พันธุ์ไรแดงที่ไม่มีแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดอื่นปะปนมาจะดีที่สุด
  2. การสังเกตเพศไรแดง ไรแดงมี 2 เพศ คือ ไรแดงเพศเมียและไรแดงเพศผู้ ในสภาวะเหมาะสมไรแดงจะสร้างเพศผู้เพียง 5% ของประชากรไรแดง แต่ถ้าสภาวะไม่เหมาะสมไรแดงจะสร้างเพศผู้มากขึ้น สำหรับการเลือกแม่พันธุ์หรือหัวเชื้อโดยสังเกตุไรแดงที่มีรูปร่างอ้วนกลมซึ่งมีวิธีการตรวจสอบ คือ ใช้แก้วใส่น้ำใส ๆ แล้วช้อนไรแดงพอประมาณยกขึ้นส่องดู ถ้าพบไรแดงเพศผู้ซึ่งมีลำตัวผอมยาวรี แสดงว่ามีไรแดงเพศผู้มากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ควรนำไปขยายพันธุ์
  3. การเติมแม่พันธุ์ไรแดง

    การเติมพันธุ์ไรแดง ใช้ความระมัดระวังค่อย ๆ รินแม่พันธุ์ไรแดงออกจากภาชนะ

    ไรแดง 1 กิโลกรัมผสมน้ำ 20% จะได้ไรแดง 1 ลิตร ปริมาณที่ใช้เฉลี่ย 30 - 40 กรัม ต่อตารางเมตร บ่อขนาด 50 ตารางเมตร ใช้แม่พันธุ์ไรแดง 2 กิโลกรัม จะได้ผลผลิตประมาณครั้งละ 12 กิโลกรัม ซึ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ วันละ 5 กิโลกรัม



บ่อเพาะพันธุ์ไรแดง

ขั้นตอนที่ 5 การควบคุมการผลิต

การคงสภาพบ่อผลิตให้สามารถเก็บผลผลิตได้มากกว่า 7 วันมีวิธีการดังนี้

  1. เก็บเกี่ยวผลผลิต

    การเก็บผลผลิตไรแดง
    ผลผลิตไรแดง

    ให้เก็บเกี่ยวเพียงวันละครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมด คือ ครั้งแรก วันที่ 3 หรือ 5 หลังจากเติมแม่พันธุ์ไรแดง
  2. การเติมอาหาร
    การเติมอาหารผสม

    ให้เติมอาหารหมักแล้ว 10 - 25% ของครั้งแรกทุกวัน โดยสังเกตปริมาณผลผลิตไรแดงในบ่อ
  3. การถ่ายน้ำ หมายถึง การระบายน้ำออกและเติมน้ำเข้าทุก 2 - 3 วัน ระดับ 5 - 15 เซนติเมตร โดยสังเกตปริมาณผลผลิตไรแดงในบ่อ
การดำเนินการเพาะเลี้ยงไรแดง
  1. วิธีเพาะเลี้ยงไรแดงแบบเก็บเกี่ยวไม่ต่อเนื่อง
    1. ในบ่อซีเมนต์ขนาด 50 ตารางเมตร ซึ่งทำความสะอาดและตากบ่อทิ้งไว้แล้ว 1 วัน
    2. เปิดน้ำและกรองลงบ่อให้ได้ระดับความสูง 20 เซนติเมตร ปริมาณน้ำ 10 ลูกบาศก์เมตร พร้อมทั้งละลายปุ๋ยและอาหารลงในบ่อโดยใช้สูตรใดสูตรหนึ่งดังนี้

สูตรที่ 1 อามิ-อามิ 8 ลิตร ปุ๋ยนา (16-20-0) 1.2 กก. ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 1.2 กก. ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) 100 กรัม ปูนขาว 1 กก. กากถั่วเหลือง 1 กก.
สูตรที่ 2 รำละเอียด 1 กก. ปลาป่น 0.5 กก. กากถั่งเหลือง 0.5 กก. ปุ๋ยนา (16-20-0) 1.2 กก. ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 1.2 กก. ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) 100 กรัม ปูนขาว 1 กก. (อาหารที่ใช้ควรหมักไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง อัตราส่วนที่ใช้หมัก ได้แก่ อาหาร 1 ส่วน : น้ำ 2 ส่วน : ปูนขาว 1 ส่วน)
สูตรที่ 3 อามิ-อามิ 6 ลิตร กากถั่วเหลืองหมัก หรือ รำละเอียดหมัก หรือ ปลาป่นอย่างใดอย่างหนึ่ง 0.5 กก. ปุ๋ยนา (16-20-0) 1.2 กก. ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 1.2 กก. ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) 100 กรัม ปูนขาว 1 กก.
สูตรปุ๋ยและอาหารที่ใช้เพาะไรแดงทั้ง 3 สูตร ให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อบ่อ ประมาณ 13 - 15 กก.

  1.  
    1. ทำการเติมน้ำเขียวลงในบ่อประมาณ 1 ตัน (1,000 ลิตร) ทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน ในระหว่างนี้ควรเดินคนบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการตกตะกอน
    2. หลังจากน้ำเขียวเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ทำการแบ่งเชื้อน้ำเขียวไปลงบ่อเพาะใหม่จำนวน 1 ตัน หลังจากนั้นจึงนำพันธุ์ไรแดงที่มีความสมบูรณ์ใส่ลงไปจำนวน 2 กิโลกรัม และให้อากาศออกซิเจนในน้ำ ทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน ไรแดงจะขยายพันธุ์ขึ้นและสามารถเก็บเกี่ยวไรแดงได้ประมาณ 13 - 15 กิโลกรัม ใช้เวลาการเพาะเลี้ยงไรแดงประมาณ 5 วัน จะต้องมีบ่อซีเมนต์จำนวน 5 บ่อ จึงจะทำการเพาะไรแดงแบบไม่ต่อเนื่องได้ครบวงจร
  2. วิธีเพาะเลี้ยงไรแดงแบบเก็บเกี่ยวต่อเนื่อง
    1. เมื่อดำเนินขั้นตอนตามวิธีการเพาะในแบบที่ 1 ถึง ข้อ 1.4 ในการเก็บเกี่ยวจะทำการเก็บไรแดงมาใช้เพียง 1/2 ของไรแดงที่เกิดขึ้นในบ่อประมาณ 5 - 6 กิโลกรัม
    2. ลดระดับน้ำลงประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วทำการเติมน้ำสะอาดและน้ำเขียวผสมอาหารและปุ๋ยอย่างละ 5 เซนติเมตร ทำเช่นนี้ทุกวันจนกว่าสภาวะแวดล้อมในบ่อไรแดงไม่เหมาะสม หรือ ผลผลิตต่อไรแดงลดลง จึงทำการล้างบ่อแล้วเริ่มทำการเพาะใหม่
    3. ผลผลิตไรแดงแบบการเพาะต่อเนื่อง จะเก็บเกี่ยวไรแดงได้ประมาณ 25 กิโลกรัม ระยะเวลาในการเพาะจนถึงเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้ายรวม 12 วัน หลังจากนี้ควรล้างบ่อทำความสะอาดและเริ่มเพาะเลี้ยงใหม่
ปัญหาและวิธีแก้ไข

ปัญหาของบ่อผลิตไรแดง คือ ผลผลิตลดลง ซึ่งมีวิธีแก้ไข ดังนี้

  1. เมื่อน้ำในบ่อผลิตมีความความเป็นกรดเป็นด่างต่ำกว่า 6
    1. ใช้ปูนขาวละลายน้ำสาดทั่วบ่อ
    2. ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนประเภทไนเตรต เช่น โซเดียมไนเตรต (16-0-0)
    3. ใช้ปุ๋ยหมักร่วมกับหินฟอสเฟต
    4. ถ้ายน้ำออกครึ่งหนึ่งแล้วเติมน้ำใหม่
  2. เมื่อน้ำในบ่อผลิตมีความเป็นกรดเป็นด่างสูงกว่า 10
    1. ใช้สารส้มละลายน้ำสาดทั่วบ่อ (วิธีนี้ทำให้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้นลงและน้ำเขียวอาจตกตะกอนได้)
    2. ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนประเภทแอมโมเนีย เช่น แอมโมเนียซัลเฟต
    3. ใช้ปุ๋ยคอก คือ มูลไก่ (วิธีนี้ทำให้ผลผลิตต่ำ และ น้ำเสียเร็วขึ้น)
    4. ถ่ายน้ำออกครึ่งหนึ่งแล้วเติมน้ำใหม่
  3. เมื่อปริมาณออกซิเจนต่ำ สังเกตจากไรแดงลอยตัวในตอนเช้า แต่ผลผลิตไรแดงต่ำลงในวันต่อมา หรือ น้ำขุ่นเข้ม
    1. ถ่ายน้ำก้นบ่อออกครึ่งหนึ่งแล้วเติมน้ำใหม่
    2. เติมน้ำโดยยกปลายท่อให้สูงขึ้น
    3. กวนน้ำ หรือ ตีน้ำกระจายสัมผัสกับอากาศ
    4. ใช้เครื่องปั๊มอากาศช่วยเพิ่มออกซิเจน
  4. เมื่อมีศัตรูไรแดงในบ่อผลิต
    1. แมลง ใช้สวิงตาห่างสีฟ้าช้อนขึ้น
    2. ลูกปลา ลูกอ๊อด ลูกเขียด ใช้กากชา ความเข้มข้น 30 ส่วนในล้านส่วน หรือ 30 กรัม ต่อปริมาณน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร
  5. เมื่อน้ำในบ่อผลิตมีความเข้มข้นสูง สีเขียวข้น เนื่องจากมีอาหารมากเกินไป
    1. ถ่ายน้ำก้นบ่อออกครึ่งหนึ่งแล้วเติมน้ำสะอาดลงไป
    2. ลดประมาณอาหารที่ให้
  6. เมื่อน้ำในบ่อผลิตใสจนเห็นก้นบ่อ เนื่องจากอาหารน้อยเกินไป
    1. เติมอาหารผสมทันที 20 - 40 % แล้วหมักอาหารผสมอีก 10 - 25 % เติมในวันรุ่งขึ้นและวันต่อ ๆ ไป
    2. เติมน้ำเขียวประมาณ 5 - 10 เซนติเมตร
เทคนิคที่ควรทราบ
  1. การเตรียมน้ำลงในบ่อเพาะไรแดง ควรกรองน้ำด้วยผ้ากรองทุกครั้ง เพื่อป้องกันสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ หรือศัตรูไรแดงในแหล่งน้ำที่อาจจะเข้ามาพร้อมกับน้ำที่ใช้
  2. น้ำเขียวที่จะนำลงบ่อเพาะไรแดง ควรกรองด้วยถุงกรองแพลงก์ตอน เพื่อป้องกันสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ติดมากับน้ำเขียว
  3. แพลงก์ตอนสัตว์และพืชที่อยู่ในน้ำจืดชอบน้ำที่มีความเป็นด่างเล็กน้อย คือประมาณ 7.5 - 8.5 ฉะนั้นน้ำที่นำมาเลี้ยงเป็นกรดหรือเป็นกลางควรปรับให้เป็นด่าง
  4. การเพาะไรแดงโดยการใช้ปุ๋ยมูลสัตว์หรืออาหารเม็ดเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้ผลผลิตไรแดงสูง อีกทั้งการเติมสารอาหารพวกอินทรีย์สารจะทำให้เกิดการเน่า น้ำเสียได้ง่ายและผลผลิตไรแดงจะไม่แน่นอน การเตรียมอาหารที่เหมาะสมและมีการเพาะน้ำเขียวนอกจากจะเป็นอาหารไรแดงแล้วยังช่วยรักษาระบบนิเวศวิทยาในการอยู่ร่วมกันของไรแดง ทำให้เกิดผลผลิตไรแดงสูงได้
  5. การเพาะไรแดง ปัจจัยที่คำนึงถึงปัจจัยแรกคือ อาหาร (น้ำเขียว) ซึ่งนับว่าเป็นอาหารที่เหมาะสมต่อการใช้เลี้ยงไรแดง คงสภาพอยู่ได้นานไม่เน่าเสีย เจริญเติบโตได้รวดเร็วด้วยปุ๋ยชนิดต่าง ๆ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยอนินทรีย์จะทำให้น้ำเขียวมีการเจริญเติบโตได้ดีและคงสภาพอยู่ได้นาน
  6. การเพิ่มระดับน้ำ อาหารผสม และ ปุ๋ย ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตของไรแดง เนื่องจากการเพิ่มน้ำ และ ปุ๋ย จะเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำเขียวให้มากขึ้น ก็จะทำให้ไรแดงมีผลผลิตสูงขึ้น แต่การเพิ่มระดับน้ำสูงขึ้นจะทำให้เกิดการสังเคราะห์แสงของน้ำเขียวไม่ดีพอ และ ไรแดงขาดออกซิเจน จึงควรวางระบบท่อลมให้เพียงพอ หรือ อาจใช้เครื่องปั่นน้ำก็ได้
  7. การใช้ออกซิเจน โดยทั่วไปสิ่งที่มีชีวิตจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในขบวนการสร้างพลังงาน ฉะนั้นในการเพิ่มออกซิเจนโดยใช้ปั๊มลมลงในบ่อเพาะเลี้ยงไรแดง นอกจากจะช่วยให้ไรแดงมีการขยายพันธุ์ได้รวดเร็วขึ้นแล้ว ยังทำให้บักเตรีที่อยู่ในบ่อทำการย่อยอินทรีย์สารได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยให้น้ำเขียวมีการเจริญเติบโตได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันการตกตะกอนของน้ำเขียวได้ ดังนั้นในการเพิ่มออกซิเจนลงในบ่อเพาะเลี้ยงไรแดง ก็จะมีส่วนให้ไรแดงมีผลผลิตสูงขึ้น
  8. การหมุนเวียนน้ำ การหมุนเวียนน้ำก็เป็นปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเพาะน้ำเขียวและไรแดงโดยตรง โดยจะช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจน และยังช่วยไม่ให้น้ำเขียวตกตะกอนเกิดการสูญเสียเปล่า นอกจากนี้ยังช่วยให้ปุ๋ยที่ตกตะกอนทับถมกันอยู่กระจายฟุ้งขึ้นมา เพื่อเป็นประโยชน์โดยตรงต่อน้ำเขียวซึ่งจะมีผลทำให้ผลผลิตของไรแดงสูงขึ้น
  9. แสงแดด แสงแดดนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด และควบคุมได้ยากมากที่สุด แสงแดดจะมีผลต่อปริมาณความหนาแน่นของน้ำเขียว และ ระยะเวลาที่ใช้ในการเพาะไรแดงโดยตรง ในการเพาะไรแดงถ้าทำการเพาะในช่วยที่มีแดดจัดจะทำให้ผลผลิตของไรแดงสูงขึ้น และใช้ระยะเวลาสั้นกว่าการเพาะในช่วงที่มีแดดไม่จัด หรือ ไม่มีแสงแดด
  10. อุณหภูมิ อุณหภูมิจะเป็นปัจจัยธรรมชาติอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งสามารถควบคุมได้ยาก จะมีผลต่อผลผลิตของไรแดงโดยเฉพาะเมื่ออุณภูมิต่ำก็จะทำให้ผลผลิตของไรแดงต่ำ และ เมื่ออุณภูมิสูงถึงจุดที่เหมาะสมก็จะทำให้ผลผลิตของไรแดงสูงขึ้น ระยะเวลาในการเพาะไรแดงก็จะเร็วขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้การเพาะไรแดงใช้เวลาน้อยลงแต่ได้ผลผลิตสูงขึ้น
  11. ศัตรูของไรแดงก็นับว่า เป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดปริมาณของไรแดงในบ่อ โรติเฟอร์นับว่าเป็นศัตรูชนิดหนึ่งของไรแดง เพราะว่า โรติเฟอร์ เป็นตัวแย่งกินอาหารของไรแดง และ จะเข้าเกาะตามตัวของไรแดง จึงควรระมัดระวังทุกขั้นตอนในการป้องกันโรติเฟอร์


การเพาะเลี้ยงไรแดงในบ่อดิน

  1. กำจัดสิ่งรกภายในบริเวณบ่อและศัตรูต่าง ๆ ของไรแดง ประมาณ 2 วัน
  2. กรองน้ำลงบ่อให้มีระดับน้ำสูงจากพื้นบ่อประมาณ 25 - 40 เซนติเมตร พร้อมกับเติมปุ๋ยและอาหารลงไป
  3. สูตรอาหารที่ใช้มีดังนี้

วัสดุ

บ่อ 200 ตรม.

บ่อ 800 ตรม.

ปูนขาว

15 กก.

60 กก.

อามิ-อามิ

25 ลิตร

100 ลิตร

ปุ๋ย สูตร 16-20-0

2.5 กก.

10 กก.

ยูเรีย

1.2 กก.

5 กก.

กากถั่วเหลืองหมัก

2.5 กก.

10 กก.

4.  ถ้าไม่มีอามิ-อามิ ให้ใช้มูลไก่ ประมาณ 80 กก./ 800 ตารางเมตร แล้วใส่น้ำเขียวประมาณ 2 ตัน ถ้าไม่มีน้ำเขียวก็หมักน้ำทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน

  1. เมื่อน้ำในบ่อมีสีเขียวแล้วให้เติมเชื้อไรแดงอย่างดี ประมาณ 2 กิโลกรัม
  2. เริ่มเก็บเกี่ยวไรแดงได้ในวันที่ 4 - 7 จึงควรเก็บเกี่ยวไรแดงให้ได้มากที่สุด (ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น จะเก็บเกี่ยวได้สะดวก และ ได้ปริมาณมาก) หลังจากนั้นไรแดงจะเริ่มลดน้อยลง จึงควรเติมอาหารลงไป อาหารที่ควรเติมในระยะนี้ควรจะเป็นพวกย่อยสลายเร็ว เช่น น้ำถั่วเหลือง น้ำเขียว รำ เลือดสัตว์ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์และปุ๋ยคอก เป็นต้น โดยเติมอาหารลดลงไปจากเดิมครึ่งหนึ่ง ไรแดงจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีกภายใน 2 - 3 วัน และจะกลับลดลงไปอีกก็ให้เติมอาหารไปเท่ากับครั้งที่ 2 ในกรณีนี้การเกิดไรแดงจะลดจำนวนลงมากถึงจะเติมอาหารลงไปอีก ไรแดงก็จะไม่เพิ่มปริมาณมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการใส่อาหารกับผลผลิตที่ได้ และ เวลาที่เสียไปเห็นว่าไม่คุ้มกับการลงปุ๋ยแล้ว จึงควรเริ่มการเพาะเลี้ยงไรแดงใหม่ ซึ่งปกติแล้วเมื่อเพาะไรแดงไม่ได้ 15 วัน ก็จะเริ่มต้นใหม่
ต้นทุนอาหารไรแดงโดยประมาณ
  1. กากผงชูรส (อามิ-อามิ) ลิตรละ 35 สตางค์
  2. ปุ๋ยนา (16-20-0) กก.ละ 5 บาท
  3. ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) กก.ละ 4 บาท
  4. ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) กก.ละ 8 บาท
  5. ปูนขาว กก.ละ 1 บาท
  6. กากถั่วเหลือง กก.ละ 12 บาท

ไรแดง-การนำมาใช้, การขนส่ง และ การเก็บรักษา   การนำไรแดงมาใช้

การนำไรแดงมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ไรแดงที่ได้จากบ่อผลิตในลักษณะนี้จะมีเชื้อโรคที่ทำอันตรายกับสัตว์น้ำน้อยกว่าไรแดงที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่เพื่อความมั่นใจจึงควรล้างด้วยสารละลายด่างทับทิม 0.1 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ซึ่งจะได้สารละลายสีชมพูอ่อน สารละลายนี้จะเพิ่มออกซิเจนให้กับไรแดงและน้ำด้วย เพราะด่างทับทิมเมื่อละลายน้ำจะให้ออกซิเจนในน้ำ

สำหรับปริมาณไรแดงที่ใช้อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนให้ใช้ในปริมาณ 500 - 800 กรัม / ลูกปลา จำนวน 100,000 ตัว / วัน โดยแบ่งอาหารให้ 4 - 5 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 4 - 6 ชั่วโมง ระวังอย่างให้มีลูกไรเหลือลอยอยู่ตลอดเวลา เพราะลูกไรส่วนมากจะตาย หมักหมมอยู่บริเวณพื้นบ่อ การอนุบาลลูกปลาดุกอุยตั้งแต่ไข่แดงยุบในระยะเวลา 2 สัปดาห์ จะได้ลูกปลาดุกอุยขนาดเฉลี่ย 2 เซนติเมตร ในการอนุบาลลูกปลาดุกอุย หรือ ปลาดุกเทศ อาจใช้อาหารสำเร็จรูปช่วยได้โดยเริ่มฝึกให้ลูกปลากินอาหารสำเร็จรูป เมื่อลูกปลามีอายุได้ 8 - 10
วัน โดยให้พร้อมกับไรแดง แล้วค่อย ๆ ลดปริมาณ ไรแดงลงและเพิ่มปริมาณอาหารสำเร็จรูป จนกระทั่งลูกปลาสามารถกินอาหารสำเร็จรูปได้ทั้งหมด

การลำเลียงขนส่งไรแดง

การขนส่งไรแดงนั้นควรลดกิจกรรมการดำเนินชีวิตของไรแดงโดยบรรจุไรแดงในอุณหภูมิต่ำเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานต่าง ๆ ในตัวให้น้อยที่สุด ในระหว่างการลำเลียงนั้นควรให้อุณหภูมิภายในถุงเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ ไม่รวดเร็วและช่วงกว้างของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิไม่มากนักจนเป็นอันตรายต่อไรแดง การขนส่งไรแดงที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันควรทำดังนี้

  1. การขนส่งไรแดงโดยวิธีนำไรแดงแช่ในน้ำแข็งประมาณ 1 - 2 วินาที เพื่อลดกิจกรรมและระบบการเผาผลาญพลังงานในตัวเอง แล้วรีบบรรจุในน้ำสะอาด และ มีน้ำแข็งคลุมรอบนอกถุง เป็นวิธีที่ดีที่สุด
  2. การขนส่งไรแดงในระยะทางใกล้ ๆ ซึ่งใช้ระยะเวลา 2 - 3 ชั่วโมงนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ไรแดงแช่ในน้ำแข็ง แต่ควรนำไรแดงมาบรรจุในน้ำสะอาดแล้วอัดออกซิเจน คลุมน้ำแข็งรอบ ๆ แล้วขนส่งไรแดงในรถที่มีเครื่องปรับอากาศก็ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งมากยิ่งขึ้น ในกรณีที่ไม่สามารถหาน้ำแข็งได้ก็สามารถขนส่งในรถที่มีเครื่องปรับอากาศได้
  3. การลำเลียงไรแดงในลักษณะแช่แข็งก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง เช่นเดียวกันโดยนำไรแดงไปแช่แข็งในตู้เย็นและให้ไรแดงแข็งโดยเร็ว เพื่อความสด วิธีนี้สามารถเก็บไว้ได้นานและยังสดอยู่เสมอ แต่ไรแดงที่ได้เป็นไรแดงที่ตายแล้ว สัตว์น้ำวัยอ่อนจะชอบกินไรแดงสดมากกว่าไรแดงที่แช่แข็ง การให้อาหารลูกปลาลูกกุ้งวัยอ่อนจึงควรให้ครั้งละน้อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเสียได้ง่าย

การเก็บรักษาไรแดง

  1. ใช้วิธีการเก็บโดยการแช่แข็ง วิธีนี้สามารถเก็บไว้ได้นานและยังสดอยู่เสมอ ส่วนมากเป็นไรแดงที่ตาย (โดยปกติสัตว์น้ำวัยอ่อนมักชอบกินไรแดงที่ยังมีชีวิตอยู่) ไรแดงที่เก็บโดยวิธีนี้ไม่สามารถนำไปใช้เป็นพันธุ์ในการผลิตต่อไป
  2. วิธีการเก็บในอุณหภูมิต่ำประมาณ 10 องศาเซลเซียส โดยเติมน้ำลงไป 50 เปอร์เซ็นต์ จะอยู่ได้นาน 4 วัน ในภาชนะเปิดประมาณวันที่ 3 จะสังเกตุเห็นไข่สีขาวขุ่นหรือสีชมพูซึ่งเป็นไข่ไรแดงชนิดที่จะต้องผสมพันธุ์กับเพศผู้ ซึ่งจะสร้างขึ้นเมื่อสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ความเป็นกรดเป็นด่างต่ำกว่า 6 หรือ สูงกว่า 10 เป็นต้น









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-05 (1816 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©