-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 321 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ประมง





กำลังปรับปรุงครับ


ไปดูเทคนิคผสมพันธุ์กบ-ขายส่งลูกอ๊อด
ของ อุดร พานิช ทำเงินงาม ที่ธาตุพนม


ลูกอ๊อด หรือภาษาอีสานเรียกว่า "ฮวก" เป็นลูกกบตัวอ่อนที่เกิดจากการผสมพันธุ์ ภายหลังกบวางไข่แล้ว ตัวอ่อนจะเติบโตมีหางเพื่อใช้แหวกว่ายในน้ำ แต่ถ้าตัวอ่อนหรือลูกอ๊อดมีขาโผล่ออกมาเป็นอวัยวะเมื่อไหร่เราถึงจะเรียกกันว่า "กบ"

กล่าวถึงสำหรับกบ ผู้คนมักนิยมนำไปปิ้ง ย่าง ผัดเผ็ดใส่พริกแกงใบกะเพรา โขลกกระชายใส่เม็ดพริกไทยอ่อน ชิมรสชาติเมื่อไหร่อร่อยลิ้น หรือจะนำไปต้มซั่วคล้ายซั่วไก่ ก็อร่อยไปอีกแบบ แต่สำหรับลูกอ๊อดจะนิยมรับประทานกันในภาคอีสานบางจังหวัด เช่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี ขอนแก่น เลย สกลนคร และนครพนม บางอำเภอประกอบอาหารโดยนำไปหมก หรือต้มเป็นแกงอ่อม

ที่บ้านดอนแดง หมู่ที่ 8 ตำบลธาตุพนมเหนือ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม มีประชากร 106 หลังคาเรือน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในชนบท ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก คนหนุ่มสาวนิยมแห่ไปทำงานในเมืองหลวง ทิ้งให้พ่อแม่คนแก่และลูกหลานเฝ้าบ้านเฝ้าเรือนประกอบอาชีพเสริมตามความถนัด นอกจากทำนาปลูกข้าวแล้ว ชาวบ้านแห่งนี้ยังมีอาชีพกึ่งอาชีพหลักคือเพาะเลี้ยงกบในนาข้าว ขายพันธุ์กบเป็นส่วนน้อย เน้นขายตัวอ่อนของกบหรือลูกอ๊อดเป็นส่วนใหญ่ โกยเงินเป็นล่ำเป็นสันกันทั้งหมู่บ้าน

ในสมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงกบและลูกอ๊อดกว่า 20 ราย ของบ้านดอนแดง หนึ่งในจำนวนผู้เลี้ยงมี คุณอุดร พานิช หนุ่มใหญ่วัย 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 104 บ้านดอนแดง หมู่ที่ 8 ตำบลธาตุพนมเหนือ เล่าให้ฟังว่า มีอาชีพหลักทำนามาตั้งแต่อายุ 22 ปี ปลูกข้าว กข 6 และข้าวหอมมะลิบนที่นาตัวเอง 4 ไร่ และเช่าทำอีก 15 ไร่ เป็นนาหว่าน ถ้าปักดำจะหมดค่าจ้างเยอะ แบ่งข้าวให้เจ้าของที่แทนค่าเช่า 3 ส่วน เก็บไว้เอง 2 ส่วน ปีที่แล้วขายข้าวหอมมะลิได้เงิน 30,000 บาท

"นอกจากนี้ ยังเคยทำงานก่อสร้างในตัวอำเภอได้ 2 ปี ก่อนเริ่มหันมาเลี้ยงกบในหมู่บ้าน แรกๆ มี 3 ราย เลี้ยงในปี 2543-2544 ขณะนั้นมีเงินทุน 30,000 บาทเศษ เห็นเขาเลี้ยงกบที่ไร่พรเทพ บ้านดอนสวรรค์ อำเภอธาตุพนม ได้เงินหลายล้านบาท จึงอยากลองเลี้ยงบ้าง โดยนำเงินทุนที่มีอยู่ไปซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบเหลืองหัวเขียวจากไร่ดังกล่าวประมาณ 400-500 ตัว พ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบกิโลกรัมละ 80 บาท ตัวขนาด 2 นิ้ว 1 กิโลกรัม ได้ประมาณ 40 ตัว ลงทุนลงแรงเลี้ยงกบในที่นาตัวเองประมาณ 30 กระชัง ร่วมกับภรรยาเพียง 2 คน คือ คุณจันโท พานิช อายุ 52 ปี ส่วนบุตร 4 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 2 คน เสียชีวิต 1 คน เหลือ 3 คน เลี้ยงกบส่งเสียเงินให้เล่าเรียนจนจบ ปัจจุบันทำงานที่ กทม.กันหมดแล้ว" คุณอุดร กล่าว

เจ้าของกระชังเลี้ยงกบวัย 55 ปี เล่าถึงจังหวะชีวิตช่วงหนึ่งที่ล้มป่วยว่า ช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา เลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบขายลูกอ๊อดได้เงินมาก ซื้อเหล้าขาวดื่มทุกวันจนติดเป็นนิสัย สุขภาพร่างกายช่วงนั้นไม่แข็งแรง จึงล้มป่วยหนัก หมอบอกว่าเป็นโรคตับลายและลำไส้บวม ไปรักษาเยียวยาหมดเงินทองไปกว่า 2 แสนบาท ช่วงที่ป่วยเครียดมากจนต้องไปรับยาจากโรงพยาบาลจิตเวชมากิน ขณะที่ป่วยจนถึงขั้นเดินไม่ได้ก็จ้างคนเลี้ยง มีภรรยาคอยดูแลทำแทนเป็นงานทุกอย่าง ปัจจุบันจึงหยุดกินเหล้าโดยเด็ดขาด จึงเชื่อหมอเพราะกลัวตายเป็นเหมือนกัน

สำหรับการเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบ เพื่อผลิตตัวอ่อนหรือลูกอ๊อด มีขั้นตอนการเลี้ยงยุ่งยากกว่าเลี้ยงสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดอื่น ใจไม่สู้ เลี้ยงไม่ได้ไปไม่รอด เริ่มจากใช้คันนาดินที่เป็นบ่อกั้นไว้ให้แล้ว นำตาข่ายไนล่อนพลาสติค ภาษาอีสานเรียก "ดาง" หรือ "แหยง" รูถี่

ตาข่ายกว้าง 1.20 เมตร ความยาวแล้วแต่ขนาดคันนาเป็นมาตรฐาน ใช้ไม้ไผ่สูงขนาดเท่ากับตาข่ายค้ำยัน กั้นเพื่อขึงตาข่ายให้ตึง ป้องกันกบกระโดดหนีระยะห่าง 2 เมตร ต่อเสา และควรกั้นไว้หลายๆ บ่อเพื่อคัดแยกขนาดของกบและลูกอ๊อดออกจากกัน กบพันธุ์ไม่แข็งแรงเหมือนกบนาจะกระโดดเฉพาะช่วงผสมพันธุ์กันและมีฝนตก และควรเตรียมบ่อผสมพันธุ์ไว้ 1-2 บ่อ กรณีฝนไม่ตก 7 วัน จะผสมครั้ง โดยต่อท่อมากึ่งกลางบ่อ ต่อสปริงเกลอร์สูง 2 เมตร 3 จุด ใช้ไดร์ปั๊มน้ำ 2 ตัว ฉุดขึ้นมาจากบ่อบาดาลที่ขุดไว้รวม 4 บ่อ ผ่านสายยางสีเขียวก่อนต่อเข้าท่อ

นำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบ ที่คัดแยกบ่อตัวผู้ไว้ 4 บ่อ และตัวเมีย 4 บ่อ รวม 8 บ่อ นำตัวผู้และตัวเมียอย่างละ 200 ตัว รวม 400 ตัว ผสมเยอะไม่ได้ กบจะกระโดดหนีใส่ตาข่ายจนบาดเจ็บปากแดง วิธีคัดแยกกบมาผสมกันสังเกตกบตัวผู้จะคางย่นพอง ควรให้ผสมพันธุ์กันในช่วงเย็น ถ้าฝนไม่ตกให้เปิดสปริงเกลอร์ให้น้ำแทนฝนจะผสมพันธุ์กันดี พอรุ่งเช้าให้แยกตัวผู้ตัวเมียกลับบ่อ ถ้าแดดร้อนจัดลูกอ๊อดจะขยายพันธุ์รวดเร็ว ถ้าไม่มีแดดต้องรอข้ามคืน ตกเย็นในวันเดียวกันจะเห็นลูกอ๊อดลอยน้ำในบ่อผสม ช่วงนี้ลูกอ๊อดจะกินคราบไข่ในบ่อผสมก่อน 2 วัน ถึงจะให้อาหารเป็นหัวอาหารเมล็ดที่ให้ปลาดุกกิน ยี่ห้อลีเบอร์ 11 สำหรับลูกอ๊อด ส่วนเบอร์ 12 เป็นอาหารพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ตกกระสอบละ 375 บาท

คุณอุดรเล่าเป็นฉากเป็นตอนให้ฟังละเอียดว่า ให้สังเกตว่าในบ่อมีลูกอ๊อดมากน้อยหรือไม่ ถ้าหว่านหัวอาหารเยอะลูกอ๊อดจะตาย แรกๆ ลูกอ๊อดอยู่ในน้ำใส ข้อควรระวังยิ่งควรปรับสภาพน้ำให้เขียวขุ่น โดยใช้น้ำหมักชีวภาพที่รดใส่แปลงพืชผัก ผสมกับกากน้ำตาลเทใส่บ่อเพื่อสร้างอุณหภูมิปรับน้ำให้เขียว เพื่อให้ลูกอ๊อดอำพรางตัวไม่ให้เห็นกัน ถ้าอยู่ในน้ำใสตัวใหญ่จะกินตัวเล็ก เป็นธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้ ระยะเวลาหลังผสมพันธุ์กันเสร็จ 21 วัน ลูกอ๊อดจะโตเต็มที่จะขายได้ ตัวใหญ่และได้น้ำหนัก อาจจะได้ 200-300 กิโลกรัม ขึ้นไป ในระยะ 15 วันแรก จังหวะนี้ควรคัดเกรดแยกบ่อโดยนำตาข่ายความถี่ 8 มิลลิเมตร มาตักคัดแยกไว้อีกบ่อ เพราะลูกอ๊อดตัวใหญ่ตัวเล็ก จะมีราคาไม่เหมือนกัน

สิ่งที่ต้องทำและควรหมั่นเอาใจใส่ดังนี้คือ เมื่อลูกอ๊อดโตได้ 7 วัน ให้รีบเอาออกจากบ่อผสม พักไว้ในบ่อที่เตรียมไว้บ่อละ 200-300 กิโลกรัม หลังคัดเกรดเสร็จก็ควรจะกระจายลงไปในบ่อที่ว่างอีก 5 บ่อ จากนั้นอีก 7 วัน ต้องคัดตัวใหญ่แยกออกจากตัวเล็กที่ไม่สมบูรณ์ ไม่งั้นลูกอ๊อดกินกันเองไม่เหลือผลผลิตตามเป้าแน่ และควรให้หัวอาหารเช้าเย็นวันละ 2 กระสอบ

ในช่วงแรกๆ ราคาลูกอ๊อดตกเฉลี่ยกิโลกรัมละ 120 บาท พอหลังๆ มาราคาลดลงอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท และ 80 บาท ในปัจจุบัน แต่ถ้าลูกอ๊อดขางอกขึ้นมาเป็นกบเมื่อไหร่ จะขายไม่ได้ราคา ก็ต้องคัดแยกมาไว้ในบ่อขุนกบหนุ่มสาวต่างหาก พอขุนกบได้อายุ 1 เดือน จะจับขายได้ตกกิโลกรัมละ 80 บาท ปัจจุบันมีบ่อขุนกบ 2 บ่อ กว่า 3,000 ตัว และบ่อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 8 บ่อ อีก 2,000 ตัว ทั้งนี้ บ่อกบหนุ่มสาวและบ่อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต้องใช้ซาแรนขึงเพื่อป้องกันความร้อนของแสงแดดให้กบด้วย

"ข้อดี กบจะต้านทานโรคได้มากกว่าสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดอื่น ส่วนข้อเสียตามที่ได้ฟังสัตวแพทย์เล่าให้ฟังมาว่า กบจะใจเสาะมากที่สุด และเป็นสัตว์ที่มีความเครียดสูง เนื่องจากหมอได้วิจัยมาแล้วว่ากบจะมีเส้นเลือดขาวใหญ่ มันจะซึมเศร้าและเครียดมากสุด ตนก็จะใช้วิธีนำเกลือแกงสาดลงในบ่อ บ่อละ 1 กิโลกรัม ใส่ตัวกบเพื่อกระตุกให้มันคลายเหงาคลายเศร้า แต่ถ้ากบกินหัวอาหารไม่ดี อาจมีอาการท้องอืด และหากอาการไม่ดีกบจะตายได้ ก็จะแก้ไขโดยนำใบกระถินมาบดขยี้ หรือโขลกใส่ครกหว่านให้กินจะแก้ท้องอืดได้ ซึ่งตนเคยทดลองมาแล้วได้ผลดีด้วย นอกจากนี้ ยังต้องให้วิตามินยี่ห้อเบต้าลแคโรทีน 670 ตกซองละ 150 บาท คลุกผสมหัวอาหารให้กินทุกวัน และคลุกผสมกับน้ำมันตับปลาช่วยให้มีกลิ่นคาว จะเจริญเติบโตเร็ว" คุณอุดร กล่าวถึงเทคนิคพื้นบ้านในการดูแล

ฤดูกาลของลูกอ๊อดผลผลิตจะเริ่มออกในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคม แต่จะออกเยอะในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน เนื่องจากมีอากาศเย็นและมีฝนตกลูกอ๊อดไม่ค่อยตาย ต้นฤดูที่ผสมใหม่ๆ จะทำเงินให้สูงตกกิโลกรัมละ 120 บาท เลยทีเดียว

คุณอุดรกล่าวด้วยว่า สำหรับลูกอ๊อดที่เตรียมจะขายส่ง ตนจะนำถุงพลาสติคใสใบใหญ่บรรจุลูกอ๊อดถุงละ 1 กิโลกรัม เพื่อไม่ให้แออัดและมีโอกาสรอดตายสูง ก่อนอัดออกซิเจนโดยจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นลูกหลานให้ค่าจ้างต่อวัน วันละ 100 บาท เรื่องตลาดไม่น่าเป็นห่วง จะมีลูกค้าและนายทุนขาประจำนำรถมารับผลผลิตถึงบ้าน ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้าจากจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นตลาดขายส่งหลัก และอุดรธานี ขอนแก่น ผลผลิตลูกอ๊อด 21 วัน ต่อครั้ง ตนสามารถผลิตได้แค่ 500-600 กิโลกรัม ทำเงินในรอบ 21 วัน เป็นเงิน 40,000-50,000 บาท ถือว่าเป็นจำนวนไม่เยอะเมื่อเปรียบเทียบกับรายอื่นที่เขาผลิตส่งให้ล็อตละ 1,000 กิโลกรัม ต่อครั้ง

หากผู้เลี้ยงหน้าใหม่ต้องการข้อแนะนำในการเลี้ยง ให้กดโทรศัพท์ได้ที่เบอร์ (084) 974-3482 ภรรยาคือ คุณจันโท จะเป็นคนรับสายพูดคุยให้รายละเอียดได้เช่นเดียวกับคุณอุดร

หรือสะดวกจะเดินทางไปเอง ขอแนะนำให้ไปก่อนเดือนสิงหาคม ถ้ามาจากจังหวัดมุกดาหาร ขับรถเข้าถนนข้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม ผ่านถนนคอนกรีต อบจ.หมายเลข 3081 สายบ้านหนองกุดแคน-หัวดอน ตรงไป 6.2 กิโลเมตร ซ้ายมือจะเห็นถังสูงประปาหมู่บ้านสีเหลือง ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปต่ออีก 4 กิโลเมตร

ถ้ามาจากตัวเมืองนครพนมได้ประมาณ 45 กิโลเมตร ผ่านสามแยกเรณูนคร ตรงไปอีก 2-3 กิโลเมตร สังเกตด้านขวาจะมีป้ายปักทางเข้าบ้านบุ่งฮี และป้าย ตชด.235 หาช่องยูเทิร์นวกกลับเข้าเลนขาออกจากอำเภอธาตุพนม ตรงไปถึงโรงเรียนบ้านหนองกุดแคน ให้เลี้ยวซ้ายผ่านไป 500 เมตร จะเห็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองกุดแคน เลี้ยวขวาตรงไปจนสุดจะพบเห็นหมู่บ้านดังกล่าว ทางเข้าบ้านจะมีตาข่ายสีฟ้าขึงตามคันนาดินยาวเหยียด ถามหาบ่อกบ "ลุงฮุย" และ "ป้าจันโท" สะดวกทางไหนให้ไปทางนั้น

ท้ายสุด เจ้าของบ่อใจดีอุตส่าห์นำกบกว่า 20 ตัว ฝากให้ผู้เขียนติดมือกลับบ้าน จึงวานให้ศรีภรรยานำไปผัดเผ็ดใส่พริกแกง ชิมแล้วแซ่บเหลือหลาย...ต้องขอขอบคุณ คุณอุดรและคุณจันโท มา ณ โอกาสนี้ด้วย


หนังสือพิมพ์เทคโนโลยีชาวบ้าน

http://203.170.192.64/webboard/index.php?topic=437.0









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-05 (1224 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©