-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 222 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ประมง





กำลังปรับปรุงครับ


การเลี้ยงปลาบึก
 

จรัลฟาร์ม" ความสำเร็จการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน ตอนที่ 2 แนวทางการเลี้ยงปลาบึกแบบลดต้นทุน
"ปลาบึก" ยังจัดเป็นปลาน้ำจืดยอดนิยมของคนไทยและเป็นปลาที่มีราคาค่อนข้างแพง ในอดีตปลาบึกจะหารับประทานได้ยากมาก เพราะจะจับได้จากธรรมชาติเท่านั้น คือบริเวณแม่น้ำโขง ตั้งแต่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปจนถึง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันมีเกษตรกรหลายรายนำปลาบึกมาเลี้ยงในเชิงการค้ากันมากขึ้น หลายคนเชื่อว่าปลาบึกเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายและทำรายได้ดี ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่? คุณจรัล ไชยองค์การ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และเป็นเจ้าของจรัลฟาร์ม เลขที่ 99 หมู่ 8 ต.ดอยงาม อ.พาน จ.เชียงราย 57120 โทร. (053) 677-505, (01) 672-1801 เริ่มเลี้ยงปลาบึกตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2534 และจัดเป็นเกษตรกรรายใหญ่รายหนึ่งที่เริ่มต้นเลี้ยงและมีจำนวนปลาบึกมากที่สุดคือ เริ่มต้นเลี้ยงปลาบึก จำนวน 15,000 ตัว ซึ่งจัดเป็นฟาร์มเลี้ยงปลาบึกที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย พบปัญหาและอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาบึกมีต้นทุนสูงมาก ไม่คุ้มต่อการลงทุน ความหนาแน่นของปลาบึกที่เลี้ยงในบ่อ และถ้าเกษตรกรรายใดที่เลี้ยงปลาบึกในเชิงการค้าและเลี้ยงเป็นปลาเดี่ยวมีโอกาสที่จะขาดทุนสูงมาก


เริ่มแรก อ.จรัล ไชยองค์การ
เลี้ยงปลาบึกในพื้นที่ 20 ไร่ อ.จรัล ได้ซื้อพันธุ์ปลาบึกมาจากกรมประมงครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2534 ปล่อยปลาบึก จำนวน 15,000 ตัว ซึ่งคุณจรัลยอมรับว่าหนาแน่นเกินไป แต่ในขณะนั้นยังคำนวณอัตราการปล่อยที่เหมาะสมไม่ได้ ในระหว่างที่เลี้ยงปลาบึกมีอยู่ปีหนึ่ง อ.จรัล ทดลองให้อาหารปลาบึก จำนวน 15,000 ตัว เพื่อจะเร่งการเจริญเติบโต ได้ให้อาหารไปนาน 6 เดือน พบว่า หมดค่าอาหาร ในการเลี้ยงปลาบึกไปถึง 2 ล้านบาท เห็นว่ากินทุนไปมากและเมื่อไรจะได้ทุนคืน อาจจะกล่าวแบบชาวบ้านได้ว่า ปลาบึกกินไม่รู้จักอิ่ม ในการเลี้ยงปลาบึกครั้งแรกของจรัลฟาร์มในครั้งนั้น อ.จรัล ยอมรับว่าไม่ได้มองในเรื่องของต้นทุนในการผลิต และเป็นการเลี้ยงปลาบึก ในเชิงเดี่ยว มุ่งเน้นเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของปลาเพื่อจะจับขายได้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นวิธีการฝืนธรรมชาติ นอกจากจะใช้ต้นทุน ในการเลี้ยงสูงแล้ว ยังได้ปลาที่ไม่มีคุณภาพ คือ เนื้อไม่แน่น ต่อมา อ.จรัล จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงการให้อาหาร เน้นการใช้อาหาร จากธรรมชาติเป็นหลักคือ แพลงก์ตอนและมีการใช้วิธีการผสมผสานโดยเลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลาเพื่อนำเอามูลไก่นำมาใช้ให้เกิด ประโยชน์สูงสุด ความหนาแน่นที่มีความเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาบึกควรจะเป็น 50 ตัว ต่อไร่ เท่านั้น และที่สำคัญจะต้องมีการ เลี้ยงปลาบึกร่วมกับปลาชนิดอื่น เช่น ปลานิล ปลาไน และปลาตะเพียน เป็นต้น หลังจากที่เลี้ยงปลาบึกร่วมกับปลาชนิดอื่นและมุ่งเน้น ให้อาหารจากธรรมชาติเป็นหลักพบว่า จากที่เคยให้อาหารปลาบึกจาก 5% ของน้ำหนักตัวปลา ลดลงเหลือเพียง 1% เท่านั้น อาหาร ที่เหลือจะได้จากแพลงก์ตอน ต้นทุนการผลิตจากที่เคยใช้อาหารเลี้ยงเพียงอย่างเดียว 65 บาท ต่อกิโลกรัม เหลือไม่ถึง 10 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งลดต้นทุนในเรื่องของค่าอาหารไปถึง 5-6 เท่า


เลี้ยงปลาบึกให้ประสบความสำเร็จ
จะต้องพึ่งอาหารจากธรรมชาติมากที่สุด อ.จรัล ได้สรุปบทเรียนจากการเลี้ยงปลาบึกจากแรกเริ่มจนถึงปัจจุบันนี้ แนะนำให้เกษตรกรที่จะตัดสินใจเลี้ยงปลาบึกในเชิงการค้า ควรจะมีอาชีพอื่นควบคู่ไปด้วยและเลี้ยงโดยเน้นการให้อาหารจากธรรมชาติให้มากที่สุด และเน้นการให้อาหารสำเร็จรูปให้น้อยที่สุดเช่นกัน นอกจากนั้นแล้ว การเลี้ยงปลาบึกให้ประสบผลสำเร็จจำเป็นต้องมีพื้นที่ในการเลี้ยงมากพอสมควร ปัจจุบันที่จรัลฟาร์มมีบ่อปลาทั้งหมด 30 บ่อ ในพื้นที่ 350 ไร่ ปลาบึก จำนวน 15,000 ตัว จับขายส่งตลาดหมดแล้ว ขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 บาท ขณะนี้มีปลาบึกรุ่นใหม่เหลืออยู่ประมาณ 6,000 ตัว คุณจรัล ยังได้ย้ำว่า ปลาบึกที่จะจับส่งขายยังตลาดควร จะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 15 กิโลกรัม ต่อตัว และจะต้องใช้เวลาเลี้ยงอย่างน้อย 5 ปี ปลาบึกที่เร่งเลี้ยงโดยวิธีการขุนอาหารและใช้เวลาเลี้ยงเพียง 3 ปี เนื้อปลาจะไม่แน่น คุณภาพของเนื้อจะไม่ดี ตลาดจะไม่ยอมรับความลึกของบ่อเลี้ยงไม่ควรต่ำกว่า 2 เมตร สำหรับบ่อที่จะใช้เลี้ยงปลาบึกให้มีประสิทธิภาพ คุณจรัล บอกว่า นอกจากจะต้องมีพื้นที่เลี้ยงมาก พอสมควรแล้ว ความลึกของบ่อถ้าเป็นไปได้ไม่ควรจะต่ำกว่า 2 เมตร และจากที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า บ่อปลาบึกของจรัลฟาร์มจะเน้นการเลี้ยงโดยใช้อาหารธรรมชาติเป็นหลักคือ แพลงก์ตอน ดังนั้น จึงมีการเลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลาโดยใช้อัตราการเลี้ยงไก่ไข่ 1 เล้า ต่อการเลี้ยงปลา 2-3 บ่อ และระบบถ่ายเทน้ำสำหรับบ่อปลาในแต่ละบ่อค่อนข้างดี ที่จรัลฟาร์มจะมี เครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งจะทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ใช้เป็นระบบน้ำวน และจะมีบ่อที่ขุดว่างไว้ ประมาณ 50 ไร่ สำหรับการเลี้ยงปลาบึกในเชิงการค้านั้นควร จะใช้เครื่องตีน้ำ (ที่ใช้ในการเลี้ยงกุ้ง) ช่วยด้วย เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปลาบึกจัดเป็นปลาน้ำจืดที่มีความทนทานมาก และนี่เป็นข้อดีประการหนึ่งของปลาบึก ความทนทานมีมากกว่าปลาสวาย ปลานิล ฯลฯ ถ้าน้ำในบ่อเลี้ยงปลาบึกที่เลี้ยงร่วมกับปลานิล ปลาไน และปลาตะเพียน เป็นต้น มีปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอและถึงจุดที่ปลาจะต้องตาย ปลาตะเพียน ปลาไน และปลานิล จะต้องตายก่อน ดังนั้น เมื่อเกิดสภาพน้ำเน่าเสียในบ่อเลี้ยงจะพบปลาตะเพียนและปลาไนเริ่มตายหรือมีอาการลอยหัวในช่วงเช้า แสดงว่าน้ำในบ่อได้เกิดปัญหาเน่าเสียแล้ว ปริมาณของออกซิเจนไม่เพียงพอแล้ว จะต้องเร่งแก้ไขทันทีปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการเลี้ยงปลาบึกในเชิงการค้า อ.จรัล บอกว่า เกษตรกรที่เลี้ยงปลาบึกส่วนใหญ่มัก ไม่มองเรื่องการตลาดควบคู่ไปด้วย ว่าเมื่อเลี้ยงแล้วจะจับขายอย่างไรและขายที่ไหน เกษตรกรที่คิดจะเลี้ยงปลาบึกจะต้องมีการเตรียมการในเรื่องนี้ไว้ให้ดีควบคู่ไปด้วย เนื่องจากในการจับปลาบึกขายในแต่ละครั้งไม่ได้มีการจับปลาหมดทั้งบ่อในครั้งเดียว จะต้องทยอยจับทีละไม่กี่ตัว จึงมีความจำเป็นจะต้องมีการจัดการทางด้านการขายปลาบึกที่ดี ที่จรัลฟาร์มเคยมีบทเรียนในขณะที่จะย้ายปลาบึกจากบ่อหนึ่งเพื่อนำไปเลี้ยงอีกบ่อหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดความหนาแน่นของบ่อและคัดขนาดของปลาควบคู่ไปด้วย เริ่มต้นจากการลดระดับน้ำในบ่อเพื่อจะได้จับปลาบึกได้ง่ายขึ้น จากการที่บ่อที่เลี้ยงปลาบึกมีขนาดใหญ่มาก ทำให้การจับปลาบึกมีความยุ่งยากมาก และพบว่าในการย้ายปลาบึกในครั้งนั้น ในเวลาเพียงวันเดียวปลาบึกตายไป จำนวน 300 ตัว ทำให้ อ.จรัล จะต้องค้นหาวิธีการจับปลาบึกด้วยวิธีใหม่ เพื่อให้ปลาบึกมีการตายน้อยที่สุด จึงได้มีการพัฒนาการจับปลาบึกใน รูปแบบใหม่ด้วยการทำโป๊ะไว้ในบ่อเลี้ยงปลาบึกใช้ไม้สาน เมื่อถึงเวลาจะจับปลาในแต่ละครั้งจะใช้อวนลากยาว ใช้รถอีแต๋นลาก จะต้อนปลาบึกส่วนหนึ่งเข้าไปในโป๊ะที่ได้จัดเตรียมไว้ และจับปลาบึกที่อยู่ในโป๊ะขึ้นมาขายลดความเสียหายไปได้มาก อ.จรัล ได้ย้ำว่า ในการค้นหาวิธีการนั้น "ได้ใช้วิธีการทั้งแรงงาน เงินทุน ความคิด ในเรื่องของการจับปลาบึกมาก" เนื่องจากในขณะนั้นไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรจริง ๆ


อ.จรัล ไชยองค์การ
ได้คำนวณค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงปลานิลควบคู่กับปลาบึกที่เลี้ยงในบ่อเดียวกันและจะเลี้ยงอย่างไรให้ได้กำไรสูงสุด ปลานิล พื้นที่ 1 ไร่ ปล่อยปลานิล จำนวน 4,000 ตัว เลี้ยงไป 1 ปี ได้น้ำหนัก 1,333 กิโลกรัม (น้ำหนักปลานิลที่จับได้เฉลี่ย 3 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม ขายปลานิลได้ราคากิโลกรัมละ 28 บาท ในเวลา 1 ปี จะมีรายได้ในการเลี้ยงปลานิลเป็นเงิน 37,300 บาท (ในพื้นที่ 1 ไร่) อาหารที่ใช้เลี้ยงในเวลา 1 ปี คิดเป็นเงิน 24,000 บาท (ให้อาหาร 1% ของน้ำหนักตัวปลา และเป็นอาหารปลากินพืชซึ่งมีราคากิโลกรัมละ 10 บาท) หักค่าพันธุ์ปลานิล จำนวน 4,000 ตัว ตัวละ 30 สตางค์ คิดเป็นเงิน 1,200 บาท เหลือเป็นกำไรจากการเลี้ยงปลานิลเป็น เงิน 12,100 บาท ต่อพื้นที่เลี้ยง 1 ไร่ ในเวลา 1 ปี ปลาบึก พื้นที่ 1 ไร่ ปล่อยปลาบึก จำนวน 50 ตัว เลี้ยงไป 1 ปี ได้น้ำหนัก 750 กิโลกรัม (น้ำหนักปลาบึกที่จับขายตัวละ 15 กิโลกรัม ขายปลาบึกได้ราคากิโลกรัมละ 100 บาท เลี้ย ไปนาน 5 ปี จึงจะจับขายได้ เมื่อครบ 5 ปี จะได้เงินจากการจับปลาบึกขาย 75,000 บาท ดังนั้น เมื่อคิดเป็นแต่ละปีจะมีรายได้จากการเลี้ยงปลาบึกเป็นเงิน 15,000 บาท ค่าอาหารที่ใช้เลี้ยงในเวลา 1 ปี คิดเป็นเงิน 2,737 บาท (ให้อาหาร 1% ของน้ำหนักตัวปลา และเป็นอาหารปลากินพืช ซึ่งมีราคากิโลกรัมละ 10 บาท) หักค่าพันธุ์ปลาบึก จำนวน 50 ตัว ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ราคาตัวละ 80 บาท เลี้ยงนาน 5 ปี คิดเป็นค่าพันธุ์ปลาบึกในแต่ละปีเป็นเงิน 800 บาท เหลือเป็นกำไรจากการเลี้ยงปลาบึกเป็นเงิน 11,463 บาท ต่อพื้นที่เลี้ยง 1 ไร่ ในเวลา 1 ปี ในภาพรวมของการเลี้ยงปลาบึกในขณะนี้ ในอดีตพันธุ์ปลาบึกยังมีอยู่จำนวนจำกัด เนื่องจากเพาะพันธุ์ได้จากแม่พันธุ์ปลาบึกที่จับได้จากธรรมชาติเท่านั้น และจะต้องรอลูกปลาบึกที่ได้ จากการผสมพันธุ์จากแม่พันธุ์ปลาบึกที่จับได้จากธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งบางปีอาจจะจับไม่ได้เลย เท่ากับว่าในปีนั้นจะไม่มีลูกพันธุ์ปลาบึก ขณะนี้มีเรื่องที่น่ายินดีที่กรมประมงได้ประสบ ความสำเร็จในการนำแม่พันธุ์ปลาบึกที่เลี้ยงไว้นำมาเป็นแม่พันธุ์เพื่อใช้ในการผสมเทียมได้ และเพาะพันธุ์ลูกปลาบึกได้นับแสนตัวใน ปี พ.ศ. 2544 และเป็นความสำเร็จแห่งแรกของโลก ทำให้ต่อไปในอนาคตปัญหาเรื่องลูกพันธุ์ปลาบึกที่จะนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรไทยเลี้ยงหมดไปและไม่ต้องพึ่งแม่พันธุ์ปลาบึกที่จับได้จากธรรมชาติ การเลี้ยงปลาบึกในเชิงการค้าจะใช้เงินทุนค่อนข้างสูง ถึงแม้ทางกรมประมงจะประสบความสำเร็จในการผสมเทียมปลาบึกโดยใช้แม่พันธุ์ปลาบึกที่เลี้ยงไว้ แต่ในการเลี้ยงปลาบึกใน เชิงการค้ามีความจำเป็นจะต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเนื้อที่เลี้ยงจะต้องใช้มากพอสมควร อีกทั้งจะต้องมีระบบของการจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงพบว่าเกษตรกรที่ เลี้ยงปลาบึกจึงเป็นเกษตรกรที่มีฐานะพอสมควร สำหรับปลาบึกที่เกษตรกรส่วนใหญ่เลี้ยงและมีการจับขายกันอยู่ในขณะนี้ พบว่าส่วนหนึ่งเป็นปลาบึกที่ด้อยคุณภาพ มีกลิ่นสาป นอกจากนั้น ยังพบว่า มีการย้อมแมวขาย โดยเอาปลาบิ๊กหวาย มาขายเป็นปลาบึก จะต้องยอมรับว่าผู้บริโภคทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอีกเป็นจำนวนมากไม่รู้จักปลาบึก และการให้อาหารเพื่อเร่งการเจริญเติบโตเพื่อที่จะจับปลาได้เร็วขึ้น มีผลทำให้คุณภาพของเนื้อปลาไม่แน่น เรื่องเหล่านี้จะเป็นปัญหาทางด้านของการตลาดปลาบึกในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน อ.จรัล ไชยองค์การ พยายามชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงปลาบึกให้มีกำไรและมีความยั่งยืนนั้น จะต้องเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่นและมุ่งเน้นการใช้อาหารธรรมชาติเป็นหลัก และที่สำคัญยิ่งผู้เลี้ยงอย่าหวังผลกำไรมากกว่าที่ควร จะเป็นโดยคิดเพียงแต่ว่าปลาบึกเป็นปลาที่มีราคาค่อนข้างแพงและหายาก จะทำให้มีกำไรมาก โดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุน ในการผลิตและระยะเวลาในการเลี้ยงที่ยาวนานกว่าการเลี้ยงปลาน้ำจืดชนิดอื่น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกษตรกรหลายรายมักจะมองข้ามโดยไม่มีการศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนที่จะตัดสินใจ เลี้ยง
 

ผู้เขียน ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
ข้อมูลจาก เทคโนโลยีชาวบ้าน  






การเลี้ยงปลาบึก

เพาะพันธุ์ปลาบึกจากบ่อดิน กรมประมงทำได้หนึ่งเดียวในโลก

เอ่ยชื่อ "ปลาบึก" ทุกคนคงรู้จักกันดี ด้วยว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ข่าวปลาชนิดนี้ออกตีพิมพ์และออกอากาศทางโทรทัศน์บ่อยครั้ง เริ่มตั้งแต่ชาวบ้านจับปลาขนาดใหญ่น้ำหนักเกือบ 200 กิโลกรัม ในแม่น้ำโขง จากนั้น เมื่อ ปี 2526 กรมประมง ร่วมกับชาวบ้านออกไล่ปลาชนิดนี้เพื่อมารีดไข่เพาะขยายพันธุ์ และประสบความสำเร็จ กลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก


ลูกปลาบึกที่ได้จากพ่อแม่ปลาธรรมชาติ
กรมประมงนำไปปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ เขื่อน และให้ชาวบ้านที่สนใจอีกส่วนหนึ่งทดลองเลี้ยงในบ่อดินตามสถานีและศูนย์ประมงต่าง ๆ รวมแล้วนับล้านตัว ทั้งนี้เพื่อเป็นการศึกษาถึงการเจริญเติบโต และการเลี้ยงปลาจากบ่อดินให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ รวมทั้งขั้นตอนเพาะขยายพันธุ์พ่อแม่ปลาจากบ่อเลี้ยง เป้าหมายสูงสุดก็เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาบึกสูญพันธุ์นั่นเอง นอกจากไม่ให้ปลาสูญพันธุ์แล้ว ยังต้องการให้ปลาชนิดนี้เป็นสัตว์เศรษฐกิจด้วย 17 ปี ที่กรมประมงได้พยายามศึกษาและเฝ้าติดตามการเจริญเติบโตของลูกปลาบึกในบ่อดิน จนปลาเข้าสู่วัยรุ่น และวัยเจริญพันธุ์ ในที่สุดเมื่อ วันที่ 19 มิถุนายน 2544 คุณยงยุทธ อุนากรสวัสดิ์ หัวหน้าสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา พร้อมคณะ และ ดร.โกมุท อุ่นศรี หัวหน้าศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่ พร้อมคณะ สามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาบึกจากบ่อเลี้ยงได้ผลสำเร็จ ต้นเดือนกรกฎาคม 2544 คุณธำมรงค์ ประกอบบุญ อธิบดีกรมประมง ได้เปิดห้องประชุม ชั้น 7 ตึกกรมประมง แถลงข่าวครั้งใหญ่ถึงความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกจากพ่อแม่พันธุ์ในบ่อเลี้ยงว่า เป็นครั้งแรกของโลกที่เพาะพันธุ์ปลาบึกได้ และเป็นความสำเร็จที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำของโลก เนื่องจากปลาบึกเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและใกล้สูญพันธุ์ ความสำเร็จในครั้งนี้จึงเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมของประชากรทั่วโลก นอกจากเป็นการดำรงความหลากหลายทางธรรมชาติแล้ว ยังสร้างแหล่งอาหารของโลก เพราะว่าปลาชนิดนี้เป็นปลาขนาดใหญ่ที่บริโภคได้ ซึ่งให้ปริมาณเนื้อมาก ในแง่เศรษฐกิจประเทศไทยจะได้สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ พร้อมกับกล่าวว่า "ปลาบึกที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ในครั้งนี้ เป็นปลาที่เลี้ยงไว้ในบ่อดิน สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา จำนวน 1 แม่ สามารถรีดไข่ได้น้ำหนัก 1,200 กรัม เป็นไข่ที่มีความสมบูรณ์ที่สุด ผสมน้ำเชื้อได้ลูกปลาวัยอ่อน จำนวน 350,000 ตัว และที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่ ได้ลูกปลาวัยอ่อนอีก 5,000 ตัว จากแม่ปลา 1 ตัว สาเหตุที่ได้ลูกปลาจำนวนน้อยกว่า เนื่องจากที่เชียงใหม่ไม่มีน้ำเชื้อของพ่อปลาจึงต้องนำน้ำเชื้อจากพะเยา ทำให้ประสิทธิภาพของน้ำเชื้อที่นำมาผสมลดลง"


เสน่ห์ ผลประสิทธิ์ บิดาแห่งปลาบึก
เบื้องหลังแรกแห่งความสำเร็จดังกล่าว ต้องขอยกนิ้วให้กับ คุณเสน่ห์ ผลประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรประมง กรมประมง ด้วยว่าท่านได้เป็นคนริเริ่มศึกษาปลาบึกตั้งแต่ตามไล่พ่อแม่ปลาในแม่น้ำโขงรุ่นแรก และศึกษาอย่างต่อเนื่อง เกือบ 20 ปี แม้ว่าปัจจุบันนี้มีหน่วยงานของกรมประมงหลายแห่งได้ช่วยกันศึกษา แต่ทว่าอยู่ภายใต้การดูแลของท่านอย่างใกล้ชิด และติดตามผลงานตลอด ไม่แปลกประหลาดใจเลยที่ คุณธำมรงค์ ประกอบบุญ อธิบดีกรมประมง ประกาศว่า คุณเสน่ห์ ผลประสิทธิ์ เป็นบิดาแห่งปลาบึกของโลก "เรื่องของเรื่องไม่ใช่ว่าเกิดจากผมอยากทำ แต่สมัยนั้น อธิบดีกรมประมง ชื่อ นาวาโท ฉวาก เจริญผล ท่านเป็นทหารเรือเก่า ท่านได้ไปตรวจราชการทางภาคเหนือ แล้วได้ทราบเรื่องว่าปลาบึกมันลดจำนวนลงทุกที ปีหนึ่งจับได้ไม่ถึง 10 ตัว ท่านก็เลยสั่งให้ผมเพาะปลาบึกให้ได้ ซึ่งตอนที่ท่านสั่งผมยังไม่เคยเห็นหน้าปลาบึกเลย ปี 2524 เรารับคำสั่งแล้วก็ต้องทำ ก็คิดหาทางว่าจะไปหาปลาบึกที่ไหนมาเพาะ ถ้าได้มาแล้วจะเพาะอย่างไร ก็ออกประกาศวิทยุ ติดประกาศตามหมู่บ้านแม่น้ำโขง แถวเชียงแสนแต่ไปไม่ถึงเชียงของเพราะสมัยนั้นยังไม่ได้ราดยาง ก็จนกระทั่งมีลุงคนหนึ่งชื่อ ลุงธงชัย แสงเพชร แกมาซื้อลูกปลาที่สถานีประมง แล้วแกบอกว่ามาจากเชียงของ เราก็ลองคุยดูว่าแถวนั้นมีปลาบึกไหม ลุงแกบอกว่าที่เชียงของเขาจับปลาบึกกันทุกปี เราก็ชักมีความหวัง ก็ถามรายละเอียดแกว่า เขาจับปลาบึกกันอย่างไง และเมื่อไร" คุณเสน่ห์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นและอุปสรรคในการทำงานเพาะพันธุ์ปลาบึก พร้อมเล่าต่อไปว่า "จนกระทั่งได้เวลาจับปลาของชาวบ้าน เราก็ติดต่อไป ไปตีสนิทกับพวกชาวประมง แล้วก็บอกว่า ถ้าได้ปลาบึกดี ๆ เราจะขอซื้อนะ เค้าก็ตกลง ใช้ความพยายามอยู่ 2 ปี ยังไม่ได้เรื่องเลย เพราะว่าปลาบึกที่ซื้อมาส่วนใหญ่ตาย แต่เมื่อผ่าท้องดูมันมีไข่ เราก็มีความหวัง ปี 2526 เป็นปีที่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเราก็เตรียมงานไว้อย่างดี ได้เงินงบประมาณมา 1 แสนบาท ทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น แล้วก็เพาะได้ ด้วยวิธีฉีดฮอร์โมน จากนั้นทำติดต่อกันมาเรื่อย ๆ โดยใช้พ่อแม่พันธุ์จากแม่น้ำโขง คิดว่าในเมืองไทยมีลูกปลาบึกนับล้านตัวแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์จากพ่อแม่ปลาในบ่อเลี้ยง" เขาบอกว่า ลูกปลาบึกที่เพาะพันธุ์จากพ่อแม่ปลาแม่น้ำโขง ส่วนใหญ่จะปล่อยลงไปเลี้ยงตามเขื่อนเก็บน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเท่าที่ตรวจดูพบว่า เจริญเติบโตดีมาก "ในเขื่อนสิริกิต์ เมื่อ 4-5 ปี ที่แล้ว ผมเคยขึ้นไปดูเขาจับปลาบึกตัวหนึ่งหนัก 160 กิโลกรัม เมื่อเราไปผ่าท้องดูพบว่า มันมีไข่ แต่รังไข่มันยังไม่พัฒนามากนักตอนนั้น คิดว่าตอนนี้คงจะขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติได้บ้างแล้ว ซึ่งในเขื่อนสิริกิติ์ผมไปเช็กสถิติจากสำนักงานประมงจังหวัดอุตรดิตถ์ เขาบันทึกไว้ดีทีเดียว ปรากฏว่ารวม ๆ กันในทุก ๆ ปีที่เขื่อนสิริกิติ์มีการปล่อยปลาบึกไป ประมาณ 55,000 ตัว แล้วคิดดูว่าในบ้านเรากรมประมงปล่อยปลาบึกทุก ๆ เขื่อน นับตั้งแต่เขื่อนภูมิพลไล่ลงมา จำนวนก็ไม่หนีห่างกันเท่าไร คิดว่ารวม ๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัว แน่นอน" คุณเสน่ห์ กล่าว


เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบึกในบ่อดิน
คุณเสน่ห์ เล่าว่า นอกจากเราปล่อยพันธุ์ปลาบึกลงในเขื่อนเก็บน้ำต่าง ๆ แล้ว ลูกปลาส่วนหนึ่งได้นำมาเลี้ยงในบ่อดิน เพื่อการศึกษาทางวิชาการในการเพาะขยายพันธุ์รุ่นลูกต่อไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก ๆ ประสบกับปัญหาด้านงบประมาณสนับสนุน แต่ใน ปี 2532 สถาบันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ให้งบประมาณมา 4 ล้านบาท เพื่อทำโครงการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบึกในบ่อดิน และโครงการเพาะพันธุ์และอนุบาลปลาบึกด้วย "โครงการดังกล่าว ให้ระยะเวลาดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 4 ปี ปราฏว่า ไม่ประสบความสำเร็จสักเรื่องหนึ่ง เพราะว่าเลี้ยงปลา 60 ตัว ภายใน 4 ปี ปลาไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ แม้ว่าโครงการจะสิ้นสุดไป แต่เราก็ไม่ทิ้ง ก็ดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ โดยใช้งบประมาณปกติของกรมประมง จนมาถึงยุคอธิบดีคนปัจจุบัน คุณธำมรงค์ ประกอบบุญ ท่านได้เรียกผมเข้าไปคุยแล้วบอกว่า ต้องทำโครงการเลี้ยงปลาบึกให้ประสบความสำเร็จ และได้จัดงบประมาณสนับสนุนมาให้ เราจึงเดินหน้าอย่างเต็มที่ ประกอบกับปลาเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จึงประสบความสำเร็จ" คุณเสน่ห์ กล่าว สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงปลาบึกในบ่อดินนั้นเขาจะใช้ระดับน้ำลึก ประมาณ 1 เมตรครึ่ง และปล่อยเลี้ยงในอัตราหนาแน่น 5-10 ตัว ต่อไร่ "ช่วงปลายังไม่ถึงฤดูเพาะพันธุ์เราเปลี่ยนถ่ายน้ำ 2 อาทิตย์ ต่อหนึ่งครั้ง แต่พอใกล้ ๆ ถึงช่วงผสมพันธุ์จะถ่ายน้ำให้ถี่ขึ้น จาก 2 อาทิตย์ครั้ง ก็เป็นอาทิตย์ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้พ่อแม่ปลาอยากผสมพันธุ์วางไข่" "เดือนมิถุนายน เป็นเดือนที่ปลาบึกในบ่อเลี้ยงไข่แก่มากที่สุด แต่ในธรรมชาติจะเร็วกว่านี้ ราว ๆ กลางเดือนพฤษภาคม เพราะว่ามีความสมบูรณ์กว่า" คุณเสน่ห์ บอกว่า สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา ได้เริ่มทดลองเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบึก จำนวน 30 ตัว ในบ่อขนาด 2 ไร่ จำนวน 3 บ่อ โดยแบ่งเลี้ยงบ่อละ 10 ตัว ซึ่งเราวางแผนการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบึกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 โดยล้างบ่อเตรียมบ่อใหม่ และเปลี่ยนถ่ายน้ำ 1 ใน 3 ส่วน ทุก 2 สัปดาห์ ระหว่างเดือนธันวาคม 2543 - มีนาคม 2544 และเปลี่ยนถ่ายน้ำร้อยละ 50 ทุกสัปดาห์ ในระหว่างเดือนเมษายน - มิถุนายน 2544 ส่วนอาหารนั้นจะให้กินอาหารผสมเอง โปรตีนไม่ต่ำกว่า 32 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีส่วนผสมดังนี้ ปลาป่น 56 เปอร์เซ็นต์ กากถั่วเหลืองและรำละเอียด อย่างละ 12 เปอร์เซ็นต์ ปลายข้าว 15 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันตับปลา 4 เปอร์เซ็นต์ วิตามินและแร่ธาตุ 1 เปอร์เซ็นต์ โดยให้กินแต่ละครั้งร้อยละ 2 ของน้ำหนักตัวปลา


ฉีดฮอร์โมนกระตุ้นความพร้อมพ่อแม่พันธุ์ปลาบึก
เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์พ่อแม่ปลาบึกที่อยู่ในบ่อดินก็ถูกจับขึ้นมาตรวจความพร้อมไข่และน้ำเชื้อ ปรากฏว่า ที่พะเยาและเชียงใหม่มีแม่พันธุ์ที่ไข่แก่พร้อมที่จะฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการออกไข่ รวมแล้ว 10 ตัว แต่ที่ประสบความสำเร็จมีเพียง 2 ตัว เท่านั้น เนื่องจากมีประสบการณ์น้อย อีกทั้งปลาบึก เป็นปลาขนาดใหญ่ ทำให้ขั้นตอนการจับมาตรวจไข่ค่อนข้างบอบช้ำและการจัดการลำบากมากด้วย ปลาบึกเพศเมียที่ฉีดไข่ประสบความสำเร็จที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา มีน้ำหนัก 54 กิโลกรัม ด้วยฉีดฮอร์โมนเข็มที่ 1 เมื่อ วันที่ 18 มิถุนายน 2544 เวลา 18.30 น. โดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ LHRHa 10 ไมโครกรัม ต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม ร่วมกับ Domperidone 10 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม ทิ้งระยะห่าง 8 ชั่วโมง ฉีดฮอร์โมนเข็มที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2544 เวลา 02.30 น. โดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ LHRHa 20 ไมโครกรัม ต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม ร่วมกับ Domperidone 10 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม และตรวจสอบความสมบูรณ์ของไข่ช่วงบ่ายแก่ ๆ ซึ่งสามารถรีดไข่ได้น้ำหนัก ประมาณ 1,200 กรัม "ปลาบึกเพศผู้นั้นไม่ค่อยมีปัญหาในการรีดน้ำเชื้อมากนัก ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ เพราะว่ามีความสมบูรณ์เพศอยู่แล้ว เพียงแต่ฉีดฮอร์โมน เข็มที่ 1 เมื่อ วันที่ 18 มิถุนายน 2544 เวลา 14.00 น. โดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ LHRHa 10 ไมโครกรัม ต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัม ร่วมกับ Domperidone 10 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัม ทิ้งระยะห่าง 3 ชั่;โมง 20 นาที เมื่อเวลา 17.20 น. ฉีดเข็มที่ 2 โดยใช้ต่อมใต้สมอง 1 โด๊ส ตรวจสอบน้ำเชื้อเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2544 เวลา 15.50 น. สามารถรีดน้ำเชื้อได้ มีคุณภาพดีมาก" นำไข่ของแม่ปลาที่รีดได้ผสมกับน้ำเชื้อโดยรีดน้ำเชื้อปลาบึกเพศผู้ลงบนไข่ ใช้ขนไก่คนไข่และน้ำเชื้อผสมกันตามวิธีการผสมเทียมแบบแห้ง แบ่งไข่เป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ล้างด้วยน้ำเกลือแล้วนำไปฟักไข่ในถังไฟเบอร์และบ่อซีเมนต์ และส่วนที่ 2 ล้างด้วยน้ำโคลน นำไปฟักในกรวยฟักไข่เหมือนกับการฟักไข่ปลานิล "ไข่ปลาบึกที่รีดได้จากแม่ปลา จำนวน 1,200 กรัม น้ำหนักไข่ 1 กรัม มีไข่ปลา 656 ฟอง ได้ไข่ปลาบึกทั้งหมด 787,200 ฟอง ไข่ที่ได้รับการผสมทั้งหมด 380,060 ฟอง คิดเป็น 48.28 เปอร์เซ็นต์ ได้ลูกปลาฟักออกเป็นตัวทั้งหมด 330,255 ตัว คิดเป็น 86.89 เปอร์เซ็นต์" คุณเสน่ห์ กล่าว ไข่ปลาบึก เริ่มฟักออกเป็นตัว เมื่อ วันที่ 20 มิถุนายน 2544 เวลา 21.00 น. ใช้เวลาทั้งหมด 28 ชั่วโมง "ไข่ปลาบึกเมื่อรีดจากท้องแม่ปลามีขนาด 1.4-1.6 มิลลิเมตร มีสีเหลืองอ่อนใส เปลือกไข่มีสารเหนียวใช้ยึดติดกับวัสดุ เมื่อไข่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อจะพองตัวออกเล็กน้อย เมื่อเวลาผ่านไป 25 นาที จะเริ่มเห็นเซลล์ 1 เซลล์ หลังจากนั้น จะแบ่งเซลล์ไปเรื่อย ๆ เมื่อพัฒนามาถึงระยะ Late Gastrula ใช้เวลา 10 ชั่วโมง 30 นาที ระยะนี้บลาสโตพอร์จะปิด ไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะเสียหมด ไข่พัฒนามาถึงระยะ Hatch out ใช้เวลา 28 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิน้ำ 26.8-27 องศาเซลเซียส ลูกปลามีความยาว 3.5 มิลลิเมตร" ลูกปลาบึกอายุ 2 ชั่วโมง โยล์คมีขนาดใหญ่ โดยมีส่วนหัวแนบติดอยู่ ลูกปลาอายุ 12 ชั่วโมง โยล์คเริ่มยุบ เริ่มมองเห็นหนวดคู่แรก ลูกปลาอายุ 1 วัน มองเห็นหนวดคู่ที่ 2 ลูกปลาอายุ 2 วัน ปากเริ่มขยับปิด-เปิด มองเห็นฟันจำนวนมาก โยล์คยุบเกือบหมด ลูกปลาอายุ 3 วัน ปากเปิดกว้างเต็มที่ โยล์คยุบลงจนหมด

การอนุบาลลูกปลาวัยอ่อน
คุณยงยุทธ อุนากรสวัสดิ์ หัวหน้าสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา อธิบายเสริมในการอนุบาลลูกปลาว่า เราเลี้ยงลูกปลาวัยอ่อนนี้ไว้ในถังไฟเบอร์กลาส ถังละ 30,000 ตัว จำนวน 10 ถัง เมื่อลูกปลามีอายุ 6 วัน มีขนาดความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร จากนั้นนำลงเลี้ยงในบ่อดินขนาด 2 งาน บ่อละ 25,000 ตัว คุณเสน่ห์ กล่าวถึงการให้อาหารลูกปลาวัยอ่อนว่า "ตอนแรกเรายังไม่เคยมีความรู้เลย เพราะไม่มีใครเขียนตำราการเลี้ยงปลาบึกให้เราอ่าน เราก็เตรียมไว้สารพัดเลย ไรแดงก็เตรียม ไข่แดงต้มก็เตรียม แล้วก็อาร์ทีเมียที่เขาเอามาทำเป็นแผ่นแดง ๆ เอามาบดให้ละเอียด ก็อุตส่าห์ซื้อมาแพงก็แพง ท้ายที่สุดมันก็ชอบกินไรแดง ก็กินไรแดงอยู่เป็นสิบวัน จึงเสริมอาหารลูกปลาดุก หรืออาหารที่มีโปรตีนสูง ๆ หลังจากนั้น พอมันโตขึ้นก็เลี้ยงด้วยอาหารปลาดุกธรรมดา หรือพวกอาหารปลากินพืชก็ได้" งานเพาะพันธุ์ปลาบึกในบ่อดินเป็นก้าวสำคัญที่จะพัฒนาปลาบึกให้ปลาเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้นี้ ในขณะที่ คุณธำมรงค์ ประกอบบุญ อธิบดีกรมประมง กำลังดำเนินการจดสิทธิบัตรอยู่ และเตรียมรายงานให้ "ไซเตส" ซึ่งเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการค้า ระหว่างประเทศ ที่ห้ามทำการค้าขายสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ทราบว่า ขณะนี้ประเทศไทยสามารถเพาะพันธุ์ปลาบึกรุ่นหลานได้แล้ว เพื่อประเทศไทยสามารถส่งออกปลาบึกไปขายยังตลาดต่างประเทศได้ โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งนิยมบริโภคปลาบึกกันมาก "ขั้นตอนต่อไปเราจะส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงเป็น สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ได้ เพราะเป็นปลาโตเร็ว มีเนื้อมาก ขายได้ราคาดี ราคาที่ขายอยู่ในท้องตลาดภายในประเทศขณะนี้ กิโลกรัมละ ประมาณ 200-300 บาท ส่วนไขมันของปลาก็สามารถนำมาทำเครื่องสำอางได้อีกด้วย" คุณธำมรงค์ กล่าวทิ้งท้าย


ผู้เขียน ศุภชัย นิลวานิช

ข้อมูลจาก เทคโนโลยีชาวบ้าน


http://poothai.bravehost.com/plab.html









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-05 (1610 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©