-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 214 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สัตว์เลี้ยง






.......


หมูป่า


หมูป่า นั้นว่ากันว่ามีพื้นเพหรือถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชียนี่เองในทวีปอื่นอาจมีบ้างก็น้อย และโดยเฉพาะในเอเชียนั้นถือได้ว่าเป็นแหล่งหมูป่าแหล่งใหญ่ที่สุด หมูป่าในประเทศไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sus scrofa  ที่พบก็มีอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์หน้ายาว และพันธุ์หน้าสั้น แต่ก็จะรู้จักลักษณะของแต่ละพันธุ์ เราควรมาทำความรู้จักลักษณะโดยทั่วไปกันเสียก่อน


ลักษณะโดยทั่วไปของหมูป่า คือ มีขนหยาบแข็งสีน้ำตาลเข็มหรือดำ รูปร่างไม่อ้วนเทอะทะเหมือนหมูบ้าน กล่าวคือ มีรูปร่างผอมและสูงมาก ในตัวที่โตๆ อาจสูงถึงเอวคนหรือสูงกว่านี้ก็มี หัวยาวและแหลมกว่าสุกรบ้าน ขาเล็กและเรียวยาว กีบเท้าเล็กแต่แข็งแรงมาก หูเล็ก ตาโตสีดำ คอยาวและสั้น ตาลีบบาง ท้ายหักมาก มีขนแปรงสีดำเข็มและสีดอกเลายาวประมาณ 6 นิ้ว ขึ้นตั้งแต่ท้ายทอยตลอดไปตามแนวสันหลังจนถึงสะโพก ขนส่วนนี้จะตั้งขึ้นได้ โดยเฉพาะในเวลาที่หมูตกใจกลัว หรือเตรียมพร้อมที่จะสู้ ส่วนหางไม่มีขน มีความยาวจนถึงข้อขาหลัง หนังหมูป่าจะหนามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังที่บริเวณไหล่ อาจจะหนาประมาณ 5 ซม. หรือมากกว่าก็มี จมูกอ่อนแต่แข็งแรงมาก เนื่องจากหมูป่าจะใช้ปลายจมูกขุดคุ้ยดิน หรือจอมปลวกเพื่อหาอาหาร หมูป่าจะมีเขี้ยว 4 เขี้ยว ยาวและแหลมมาก ในตัวผู้ เขี้ยวนี้จะใช้เป็นอาวุธประจำตัวที่สำคัญมากในการป้องกันตัว เขี้ยวทั้ง 4 จะโค้งงอขึ้นด้านบน ความยาวของเขี้ยววัดจากโคนถึงปลายยาวประมาณ 4-5 นิ้ว และตัวเมียจะมีเต้านมแถวละ 5 เต้า


ลูกหมูป่าเมื่อยังเล็ก สีขนที่ลำตัวลูกหมูป่าจะมีลายเป็นแถบเล็กๆ สีเหลืองสลับขาวพาดตามความยาวของลำตัวคล้ายกับลายแตงไทย อันจะเป็นการช่วยพรางตัวจากศัตรูได้อย่างดีเยี่ยม เมื่ออายุได้ 5-6 เดือน ลายดังกล่าวจึงค่อยๆ เลือนหายไป จนมีสีผิวและขนเหมือนกับพ่อแม่ของมัน

(
ได้มีผู้ที่ทดลองผสมข้ามพันธุ์ระหว่างหมูป่าหน้ายาวเพศผู้กับหมูป่าพันธุ์หน้าสั้นเพศเมีย ลูกที่ผสมได้ 6 ตัว พบว่าสีลายแตงไทย 3 ตัว และสีดำมีทางลายสีน้ำตาลออกน้อยมากพอมองเห็นจางๆ 3 ตัว) ฝูงหมูป่าในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะพบว่ามีหมูป่าที่มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าหมูป่าตัวอื่นๆ ในฝูงอยู่ 2-3 ตัว และมีอยู่ตัวหนึ่งที่มีกิริยาท่าทางองอาจ วางมาดยืนเด่นอยู่กลางฝูงนั่นก็คือ พญาจ่าฝูง


หมูป่าเป็นสัตว์ที่กินอาหารได้หลายอย่าง ฉะนั้นจึงมีระบบฟันที่พัฒนาไปมากเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยทั่วไปกล่าวคือ มีระบบฟันเป็นแบบ : 3/4 1/2 1/4 3/4 x 2 = 44 ฟันหน้าด้านล่างจะยาว แคบและยื่นตรงออกไปข้างหน้า จะทำหน้าที่คล้ายพลั่ว โดยเฉพาะในเวลาที่หาอาหาร โดยการขุดคุ้ยตามพื้นดินหรือตามดินโป่งเป็นต้น ส่วนเขี้ยวของหมูป่าไม่มีราก จะพัฒนาไปมากโดยเฉพาะในตัวผู้ ขนาดของฟันกัดต่อมาเขี้ยวจะค่อยๆ เพิ่มขนาดจากเล็กมาใหญ่ ส่วนฟันกรามพบว่าซี่สุดท้ายจะมีขนาดใหญ่มากคือ มีขนาดเท่ากับฟันกรามซี่ที่ 1 และ 2 รวมกัน ส่วนของกะโหลกศีรษะมีความยาว และลาดเอียง (Slope) มาก โดยที่ส่วนที่เป็นปากและฟันมีความยาวมากคือประมาณ 75-80% ของกะโหลกศีรษะ


สภาพความเป็นอยู่ในธรรมชาติของหมูป่า โดยธรรมชาติแล้ว หมูป่าชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ขนาดฝูงก็มีตั้งแต่ 5-6 ตัวจนถึงฝูงใหญ่ขนาด 50 ตัวก็มี แต่ละฝูงประกอบด้วยหลายวัย ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ในตัวผู้ขนาดใหญ่จะรวมฝูงเฉพาะช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์ แต่ช่วงปกติจะแยกตัวออกจากฝูงและอาศัยอยู่เพียงโดดเดี่ยว ที่เรียกกันว่า หมูโทน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหมูโทนมีรางกายกำยำใหญ่โต มีเขี้ยวที่ยาวและแหลมคมสามารถที่จะรักษาตัวเองได้ หรืออาจเป็นเพราะว่ามันดุร้ายจนหมูป่าที่มีขนาดเล็กกว่าไม่อยากอยู่ด้วยจึงพากันแยกฝูงหนีไปเสีย


หมูป่ามีประสาทรับกลิ่นที่ไวมาก แต่มีประสาทตาไม่ค่อยดี รวมทั้งประสาทหูไม่ดีด้วย (นอกจากบางครั้งที่มันเกิดสงสัยเมื่อได้กลิ่นประสาททั้งตาและหูจะว่องไวผิดปกติ) จมูกจึงเป็นเสมือนเครื่องรับประกันความปลอดภัยโดยธรรมชาติ หมูป่าเวลาออกหากินจะมีเสียงเอะอะและดังมาก ซึ่งเป็นเสียงไล่กัดกัน กัดกินอาหาร แย่งกันกินอาหาร เกลือกกลิ้งเล่นกันและเสียงนี้สามารถได้ยินในระยะไกลๆ อย่างไรก็ตามถ้าหากมันเกิดความสงสัยหรือระแวงเหตุร้ายขึ้นมา หมูป่าจะกลายเป็นสัตว์ที่เงียบที่สุดได้เหมือนกัน คือทุกตัวจะยืนนิ่งและเงียบกริบ ราวกับว่าเป็นสิ่งไม่มีชีวิต ครั้นแน่ใจว่าจะมีภัยอันตรายเกิดขึ้นกับมันจะพากันออกวิ่งหนีพอเข้าป่าได้เรียบร้อยแล้วพวกมันจะยืนนิ่งเงียบกริบอีกครั้ง เพื่อพิสูจน์ให้แน่ใจอีกครั้งว่าปลอดภัยแล้วหรือยัง


ว่ากันว่ากันว่าหมูป่าวิ่งได้เร็วพอ ๆ กับเก้งหรือม้า ไม่กลัวน้ำ ว่ายน้ำเก่ง และชอบเล่นโคลนตมมาก ศัตรูที่สำคัญก็คือ เสือ หมาป่าและหมาไน หมูป่าจัดได้ว่าเป็นสัตว์ที่มีความปราดเปรียวว่องไวมาก มีสันดานลุกลี้ลุกลน ชอบย่ำเท้าหรือตะกุยดินเล่น พรานจึงสังเกตจากรอยเท้าที่มันย่ำตะกุยเพื่อตามล่ามัน ปกติหมูป่าจะเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยดุร้ายเมื่อเห็นคนจะวิ่งหนี แต่ถ้าจนตรอกหรือได้รับบาดเจ็บ อาจกับดุร้ายและทำร้ายคนหรือศัตรูของมันได้เหมือนกัน


หมูป่าเป็นสัตว์ประเภทกินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ (Ommivorous) ซึ่งอาหารของหมูป่าก็มีตั้งแต่พวก ผักต่าง ๆ เผือก มัน เห็ด หน่อไม้ ข้าวโพด สับปะรด ถั่วลิสงและหญ้าอ่อนๆ ส่วนสัตว์จำพวกปลวก งู และหนู เวลาเจอก็กินเหมือนกัน หมูป่าจะมีนิสัยการกินอาหารแบบตะกละและแย่งกันกิน การหากินก็จะออกหากินในตอนเช้าตรู่เป็นส่วนใหญ่ หากถูกรบกวนมาก ๆ ก็จะออกหากินในตอนกลางคืนเช่นกัน


หมูป่าเมื่อเป็นสัดและผสมพันธุ์เรียบร้อย ขนาดตั้งท้องอาจอยู่รวมกับฝูงปกติจนกระทั้งใกล้คลอดจึงจะแยกออกจากฝูง เพื่อเตรียมทำรังสำหรับคลอดลูก ส่วนมากจะทำรังด้วยพวกหญ้าและเศษไม้เศษพืช เท่าที่หาได้มากองสุมกันจนมีความสูงประมาณ 1 เมตรกว่าๆ โดยกองบนเนินดิน แม่หมูจะคลานเข้าไปและขุดยกเป็นโพรงแล้วคลอดในโพรงนี้ เลี้ยงลูกประมาณ 4 เดือนจนลูกโต และแข็งแรง จึงเข้ารวมฝูงใหญ่ และหากินกันตามปกติในลักษณะเช่นเดิม





ข้อแตกต่างระหว่างหมูป่ากับหมูบ้าน จะเห็นลักษณะที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด คือ

  • ขน ขนของหมูป่าแต่ละเส้นจะยาวและหยาบมาก มีรูขุมขนที่หนังจะรวมกันเป็นกระจุก ๆ ละ 3 รู ๆ ละ 1 เส้นขณะที่รูขุมขนของหมูบ้านจะกระจายไปทั่วตัวไม่รวมเป็นกระจุก นอกจากนี้หมูป่าจะมีขนแผงสีดำเข็ม ยาวประมาณ 6 นิ้วขึ้นไป ตั้งแต่ท้ายทอยตลอดไปตามแนวสันหลังจนถึงตะโพก ขนแผงนี้จะตั้งลุกชันเวลาได้ยินเสียงผิดปรกติหรือได้กลิ่นศัตรู แต่หมูบ้านไม่มีขนแผง  
  • ใบหน้า ใบหน้าของหมูป่าจะมีลักษณะหน้าเสี้ยม ปากแหลมยาว หูเล็กตั้งแข้งแนบศีรษะ ตาดุพอง และที่แก้มของหมูป่าจะมีแนวขนสีขาวพาดผ่านคร่อมสันจมูก ส่วนหมูบ้านนั้นกลับหน้าสั้น ปากสั้น หูใหญ่ ตาไม่ดุ และไม่พอง ถ้าอ้วนมากตาจะหยี ส่วนที่แก้มก็ไม่มีแนวขนสีขาว
  • ส่วนไหล่หน้า หรือที่เรียกว่า ผานของหมูป่าจะสูงกว่าขาหลังทำให้รูปร่างของหมูป่าไหล่สูงท้ายต่ำ และที่ไหล่สองข้างเหนือขาหน้าทั้งซ้ายและขวา จะมีเกาะหรือผื่นไขมันนูนออกมาเป็นไตแข็ง สำหรับความหนาของเกาะหรือแผ่นไขมัน จะเพิ่มตามอายุคือถ้าหมูป่ามีอายุ 3 ปีเกาะจะหนาประมาณ 3 ซม. ถ้าอายุ 5 ปี เกาะจะหนาประมาณ 5 ซม. ส่วนหมูบ้านนั้นส่วนไหล่หนาหรือผานนั้นไม่แตกต่างจากขาหลังมาก และไม่มีเกาะหรือแผ่นไขมัน
  • ขา ขาของหมูป่าจะเล็กเรียว คล้ายขาเก้ง กีบเท้าเล็กดำ ปลายกีบหนา 2 กีบแหลมเล็ก กีบลอยสูงจากพื้นมาก แต่ของหมูบ้านขาอ้วนกลมค่อนข้างสั้น กีบเท้าใหญ่ ปลายกีบหนา 2 กีบใหญ่ กีบลอยสูงจากพื้นไม่มาก
  • เขี้ยว เป็นส่วนที่เด่นที่สุดของหมูป่าโดยเฉพาะในตัวผู้เขี้ยวนี้จะงอกยาวออกมานอกปากให้เห็นเมื่อมีอายุ 4-5 ปี ในธรรมชาติเขี้ยวนี้จะใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว ส่วนหมูบ้านจะไม่มีเขี้ยว
  • ส่วนอื่น เช่น ท้องของหมูป่าจะเป็นท้องติ้ว คือท้องไม่ห้อย หางเล็กเรียว และสั้น ส่วนหมูบ้านนั้นท้องไม่ติ้วหรือท้องกลับห้อย หางยาว อ้วนกลม และที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ หมูป่าจะมีประสาทหูไวมาก มีภูมิต้านทานโรคสูง โรคน้อย หมูบ้านมีโรคมาก
  • การเป็นสัด การคลอดลูก และการเลี้ยงดู ลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนของหมูป่าและหมูบ้าน คือเวลาเป็นสัดหมูป่าจะดุกว่าธรรมดา ถ้าอยู่กับดินจะขุดคุ้ยดินจนเป็นหลุมลึกและกว้างเกือบเท่าตัว ออกลูกเองโดยไม่ต้องมีคนคอยช่วยเหลือ ลูกหมูที่คลอดใหม่จะมีทางลายน้ำตาลคล้ายลายแตงไทยหรือปลาชะโด เมื่อลูกหมูอายุ 4 เดือนขึ้นไป ลายนี้จะจางหายไปเอง แม่หมูมีเต้านม 10 เต้า เลี้ยงลูกเก่งกว่าหมูบ้าน ไม่นอนทับลูก ยิ่งแก่ยิ่งลูกดก หมูสาวจะให้ลูก 4-6 ตัว แต่หมูอายุ 4 ปี จะให้ลูก 10-11 ตัว ส่วนหมูบ้านเวลาเป็นสัดหรือออกลูกจะไม่ดุ ถ้าพื้นคอกเป็นดินก่อนคลอดจะคุ้ยดินเช่นกัน แต่หลุมไม่ลึกและกว้างมากนัก บางตัวออกลูกยากต้องมีคนคอยช่วยเหลือ เลี้ยงลูกไม่เก่ง ชอบนอนทับลูก มีเต้านมประมาณ 8-12-14-16 เต้า ยิ่งแก่ยิ่งมีลูกน้อย เพราะนมไม่พอ อย่างไรก็ตามในแง่อุ้มท้องทั้งหมูป่าและหมูบ้านนั้นใช้เวลาใกล้เคียงกันคือ 114 วัน
  • ลักษณะเนื้อและคุณภาพเนื้อ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในความแตกต่างกันที่สุดของหมูป่ากับหมูบ้าน "เนื้อ" หมูป่านั้นเป็นเนื้อที่ไม่มีมันคั่นกลางระหว่างเนื้อกับหนัง คือเนื้อกับหนังจะอยู่ติดกันและเนื้อแดงของหมูป่าจะแข้งกว่าเนื้อหมูบ้าน เพราะกินน้ำน้อยกว่า ส่วนเนื้อของหมูบ้านจะมีมันคั่นกลางระหว่างเนื้อกับหนังคือ เป็นเนื้อสามชั้น เนื้อนิ่มและแฉะมาก เพราะหมูบ้านกินน้ำมาก


 

พันธุ์หมูป่าที่ใช้เลี้ยง

ในเมืองไทยมีหมูป่าอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์หน้ายาวและพันธุ์หน้าสั้น บางคนได้ยินดังนี้มักประมาณเอาเองว่าคงดูไม่ยากว่าตัวไหนเป็นพันธุ์หน้ายาว ตัวไหนเป็นพันธุ์หน้าสั้น แต่เรื่องจริงๆ แล้วจะประมาณเอาจากความสั้นยาวของหน้าไม่ได้ เพราะบางตัวที่เป็นพันธุ์หน้าสั้นอาจมีหน้ายาวกว่าพันธุ์หน้ายาวก็ได้หากมีอายุที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นจึงต้องอาศัยส่วนประกอบอื่นๆ เข้าช่วยกล่าวคือ

  • พันธุ์หน้ายาว ลักษณะพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ หน้ายาวกะโหลกเล็กลำตัวยาวหุ่นเพียวสูง อายุ 2 ปี ขึ้นไปมีความสูงขนาดเอวผม (80-90 เซนติเมตร) ขาเล็กและยาวเป็นกลีบเท้าเล็กแต่แข็งแรงมากคล้าย ๆ เก้งจะออกในลักษณะหน้าสูงท้ายต่ำ หูเล็ก แนบชิดลำตัว มีขนสีขาวขึ้นด้านใต้แก้มทั้งสองข้าง และมีขนเป็นแผงขึ้นจากท้ายทอยไปถึงสันหลังขนจะยาวประมาณ 6 นิ้ว เวลาตกใจขนจะชูสูงขึ้นลักษณะขนโดยทั่วไปจะขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 รูๆ ละ 1 เส้น ตัวผู้จะมีเขี้ยว ตัวเมียไม่มีเขี้ยว และตัวผู้จะมีผาน หรือผื่นไขมัน ซึ่งหนามาก ปืนยิงไม่เข้า ตรงไหล่ขาหน้า ทั้ง 2 ข้าง และมีตุ่มนม 5 คู่ พันธุ์หน้ายาวจะหากินในป่าตื้น
  • พันธุ์หน้าสั้น ลักษณะใกล้เคียงกับพันธุ์หน้ายาว แต่หัวกะโหลกจะใหญ่กว่า ดูแล้วเหมือนพันธุ์หน้ายาว แต่พันธุ์หน้าสั้นมีลักษณะลำตัวจะกลม เตี้ย หูเล็ก ขาสั้น และหนังจะหนากว่าพันธุ์หน้ายาวนมไม่เกิน 10 เต้า จะหากินป่าลึก จะมีจ่าฝูงฝูงหนึ่งประมาณ 30 ตัว ตัวเมียใกล้คลอดจะแยกจากฝูงไปเลี้ยงลูกประมาณ 4 เดือน และจะเข้าฝูงใหม่

อย่างไรก็ตามปัจจุบันได้มีผู้ผสมเป็นหมูป่า 2 สาย และ 3 สายกันมากขึ้นรายละเอียดจะนำเสนอในโอกาสหน้า


การจัดสร้างโรงเรือนเลี้ยงหมูป่า

อันดับแรกของการเลี้ยงหมูป่าก็คือ จะต้องมีการสร้างโรงเรือนเลี้ยงหรือคอก ซึ่งโรงเรือนเลี้ยงหมูป่าจะสร้างคล้ายโรงเรือนการเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ธรรมดา เพียงแต่ว่าโรงเรือนสัตว์พวกเป็ด ไก่ เหล่านั้นมักจะสร้างให้โรงเรือนโปร่งอากาศถ่ายเทสะดวก และรักษาความสะอาดง่าย แต่โรงเรือนหมูป่าจะสร้างให้ทึบกว่าโรงเรือนของสัตว์พวกนี้ เพราะหมูป่าเป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย ถ้าปล่อยให้ตื่นมักจะวิ่งไม่ค่อยหยุด อีกอย่างหนึ่งถ้าตกใจจะมีผลต่อระบบขับถ่ายคือ ทำให้ท้องร่วง


ดังนั้นนอกเหนือจากโรงเรือนซึ่งต้องทำให้ทึบแล้ว รอบๆ โรงเรือนสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตรเศษยังต้องสร้างแผงปิดกั้นรอบๆ โรงเรือนเพื่อไม่ให้หมูป่าเห็นสิ่งรบกวนภายนอกมากนัก แผงกั้นอาจทำด้วยแผงไม้ไผ่หรือทำด้วยกระสอบป่านผ่าซีกและขึงด้วยกรอบไม้ก็ได้


สำหรับพื้นโรงเรือนถ้าเลี้ยงบนพื้นดินธรรมดาแล้วจะทำให้เนื้อตัวสกปรก และง่ายต่อการเป็นโรค แต่ถ้าเลี้ยงบนพื้นซีเมนต์หยาบแบบหมูบ้านทั่วไปก็ได้ผลไม่ดีทำให้เท้าเกิดบาดแผลได้


สรุปแล้ววิธีที่ดีที่สุดสำหรับพื้นโรงเรือนก็คือ ควรทำเป็นพื้นคอนกรีตแบบขัดมัน เพราะนอกจากจะง่ายต่อการทำความสะอาดแล้วยังเป็นการป้องกันการกระโดดออกจากคอกเลี้ยงได้ ซึ่งบางตัวกระโดดได้สูงมาก สามารถกระโดดได้สูงกว่า 2 เมตรทีเดียว


ส่วนคอกเลี้ยงหมูป่านั้น ภายในโรงเรือนแต่ละหลังจะแบ่งคอกย่อยออกเป็น 2 ด้าน โดยจะมีทางเดินอยู่ตรงกลาง คอกเลี้ยงควรสร้างด้วยตาข่ายเหล็ก (ลวด) แบบที่ใช้ทำรั้วทั่วๆ ไป ที่มีขนาดตา 6 นิ้ว ขนาดของคอกเลี้ยงแต่ละคอกกว้างประมาณ 2-2.50 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตร ในแต่ละคอกเลี้ยงหมูป่าได้ 1 ตัว หรืออาจหลายตัวก็ได้ตามขนาดของหมูที่เลี้ยง คอกแต่ละคอกมีความสูงประมาณ 1.50 เมตร ซึ่งสามารถป้องกันการกระโดดหนีของหมูป่าได้ หรือสูงถึง 1.80 เมตรก็ได้ และมีประตูปิด-เปิดด้านหน้า (ช่องทางเดิน) แต่สำหรับคอกแม่หมูป่าที่มีลูกนั้น จะต้องทำคอกพิเศษโดยเปิดช่อง (จะมีแผ่นเหล็กบางๆ ที่ปิดเปิดได้) ไว้สำหรับให้ลูกหมูออกมาจากคอกใหญ่ได้ เพื่อให้ลูกหมูป่าลอดออกมากินอาหารเสริม แต่จะต้องใช้ไม้ตีกั้นเป็นกรงต่างหากไว้ภายนอกด้วย


ทั้งนี้เพื่อกันไม่ให้ลูกหมูป่าออกมาเดินเพ่นพ่าน และสะดวกในการจับลูกหมูฉีดยา หรือดูแลเวลาเป็นอะไรขึ้นมา เพราะแม่หวงลูกมากหากกระทำในคอกเลี้ยงแม่พันธุ์แล้วอาจได้รับอันตรายได้


การเริ่มต้นเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์

การเลี้ยงหมูป่าขั้นแรกจะต้องซื้อลูกมาเลี้ยงเพื่อเตรียมเป็นพ่อแม่พันธุ์เสียก่อนเพราะหากจะเลี้ยงเพื่อส่งตลาดราคาลูกหมูป่าค่อนข้างแพงอาจไม่คุ้มทุน ดังนั้นถ้าใครจะเลี้ยงขยายพันธุ์แล้วควรใช้อัตราส่วนพ่อพันธุ์ 1 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 7-10 ตัว ส่วนราคาของหมูป่าจากฟาร์มขณะนี้ทราบว่าขายคู่ละ 3500-5000 บาท เป็นหมูป่าอายุตั้งแต่หย่านม คือ 60-90 วัน ซึ่งพ่อแม่พันธุ์ หนึ่ง ๆ สามมารถใช้งานได้จนถึงอายุนานนับสิบปี



ลักษณะที่ดีของหมูป่าที่จะใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ จะมีดังนี้ คือ

  1. รูปร่างสูงโปร่ง
  2. สันหลังตรงและยาว
  3. ส่วนไหล่หนา (ผานไหล่) หนาและกว้าง
  4. สะโพกกว้าง

สำหรับพันธุ์หมูป่าที่จะใช้ทำพันธุ์ก็มีด้วยกัน 2 พันธุ์ คือ พันธุ์หน้าสั้น และพันธุ์หน้ายาวทั้งสองพันธุ์นี้มีข้อแตกต่างกันก็ตรงที่หมูป่าพันธุ์หน้าสั้นนั้นจะมีขนสีดำทั้งตัว มีลำตัวอ้วนกลมตัวเตี้ย และมีหน้าผากกว้างหูใหญ่กว่า


พันธุ์หน้ายาวเท่าที่สังเกตดูหมูป่าพันธุ์นี้มีการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างดี แต่ทว่าเมื่อเปรียบเทียบในเรื่องความแข็งแรงแล้วจะสู้พันธุ์หน้ายาวไม่ได้


สำหรับหมูป่าพันธุ์หน้ายาวนั้นจะมีขนไม่ค่อยเข้มเท่าใดนัก (คือมีสีดอกเลา) มีลำตัวค่อนข้างแคบ รูปร่างสูงโปร่ง และมีหน้าผากแคบ หูเล็กกว่าพันธุ์หน้าสั้น ทางด้านการเจริญเติบโตให้เนื้อหนังสู้พันธุ์หน้าสั้นไม่ได้ แต่ทว่าหมูป่าพันธุ์นี้มีความแข็งแรง หรือมีน้ำอดน้ำทนดีกว่ามาก

ส่วนการผสมคัดเลือกพันธุ์นั้นก็มี 2 แบบด้วยกัน คือ

  • การเอาพันธุ์แท้ผสมกับพันธุ์แท้ด้วยกัน ซึ่งก็ทำโดยผสมคัดเลือกพันธุ์ระหว่างพันธุ์หน้ายาวกับพันธุ์หน้ายาว และพันธุ์หน้าสั้นกับพันธุ์หน้าสั้น
  • การผสมคัดเลือกพันธุ์ระหว่างพันธุ์หน้าสั้นกับพันธุ์หน้ายาว หรือที่เรียกกันว่าลูกผสมระหว่าง 2 สายพันธุ์ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้เป็นการรวบรวมเอาความดีของทั้งสองสายพันธุ์เข้าด้วยกัน เช่น พันธุ์หน้าสั้นมีการเจริญเติบโตที่ดี แต่พันธุ์หน้ายาวจะมีความแข็งแรงกว่า เมื่อนำมาผสมกันแล้วก็จะได้ลูกผสมที่มีความดีของทั้งสองพันธุ์เข้าด้วยกัน คือ มีทั้งการเจริญเติบโตที่ดีและความแข็งแรง

การเป็นสัดของหมูป่า โดยปกติหมูป่าตัวเมียจะเป็นสัดเร็วมากบางตัวมีอายุเพียง 8 เดือน ก็เริ่มเป็นสัดแล้วจึงส่งผลทำให้การผสมพันธุ์ทำได้ค่อนข้างยากโดยเฉพาะหมูป่าที่ตัวเมียยังมีขนาดเล็ก แต่ตัวผู้มีขนาดใหญ่ทุลักทุเลถึงกับต้องสร้างเปลให้หมูป่าตัวเมียเพื่อช่วยลดน้ำหนักตัวผู้ที่ขึ้นผสมพันธุ์ ซึ่งการผสมพันธุ์ครั้งแรกจะได้ลูกไม่ดกนัก แต่ก็ถือว่าเป็นการฝึกไปในตัว พอมีอายุมากขึ้นหน่อยลูกหมูป่ามีลูกดกขึ้นมาเอง ปกติหมูสาวแรกจะให้ลูก 4-6 ตัว พอมีอายุมากขึ้นอาจให้ได้ถึง 10-12 ตัว และมีบางตัวที่ให้ลูกมากกว่านี้แต่มักจะเลี้ยงไม่รอด เพราะหมูป่ามีนมเลี้ยงลูกแค่ 10 เต้าเท่านั้นเอง


อย่างไรก็ตามหมูป่าสาวที่เริ่มเป็นสัดควรจะฝึกให้ผสมพันธุ์เสียตั้งแต่ต้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเมื่อโตขึ้นมีอายุมากจะไม่ยอมให้ตัวผู้ขึ้นผสมพันธุ์ถึงแม้จะเป็นสัดก็ตามที อันนี้จึงเป็นข้อคิดที่ขอฝากไว้ว่า อย่าปล่อยไว้จนขึ้นคานเป็นอันขาด


การเป็นสัดของแม่หมู่พันธุ์นั้นก็สามารถสังเกตได้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าหากผู้เลี้ยงไม่คุ้นเคยกับการเลี้ยงหมูป่าก็อาจจะสังเกตไม่ออกว่าแม่หมูพันธุ์นั้นเป็นสัดแล้ว เพราะการสังเกตทราบก็ยากเอาการอยู่พอสมควร เนื่องจากมันไม่แสดงอาการเป็นสัดให้เห็นออกมาเด่นชัด มีเพียงอวัยวะเพศบวมแดงเล็กน้อยและมักจะมีอาการเงียบซึม ไม่เหมือนกับหมูบ้านที่ร้องกระวนกระวาย จึงควรหมั่นสังเกตให้ดีอยู่เสมอ เมื่อเห็นว่าแม่หมูพันธุ์แสดงลักษณะอาการดังกล่าวออกมาให้เห็นก็ให้จับผสมพันธุ์เสีย


การผสมพันธุ์หมูป่าและการคลอดลูกของหมูป่า

โดยทั่วไปแล้วอายุที่เหมาะสมสำหรับพ่อแม่พันธุ์ที่เริ่มผสมพันธุ์ครั้งแรกจะประมาณ 1 ปี สำหรับการผสมพันธุ์หมูป่านั้นหากใช้พันธุ์เดียวกัน เช่น พันธุ์หน้าสั้นผสมกับพันธุ์หน้าสั้น หรือพันธุ์หน้ายาวผสมกับพันธุ์หน้ายาวนั้นจะให้ลูกไม่ดก ไม่แข็งแรง โตช้าให้น้ำหนักน้อย


ถ้าหากเอาพันธุ์หน้าสั้นผสมกับพันธุ์หน้ายาวแล้ว ลูกที่ออกมาจะมีลักษณะดี โตเร็วกว่าพ่อแม่ประมาณ 1 ใน 3 โตเร็ว และแข็งแรง ซึ่งถ้าหากเป็นระหว่างสายพันธุ์เดียวกันจะติดลูกประมาณ 5-7 ตัว แต่ถ้าเป็นการผสมคนละสายพันธุ์ก็จะติดลูกสูงสุดถึง 12 ตัว อย่างไรก็ตามจะมีลูกหมูเหลือรอดเพียงแค 10 ตัวเท่านั้น


ในการผสมพันธุ์ก็จะใช้อัตราส่วนของพ่อพันธุ์ต่อแม่พันธุ์ประมาณ 1 : 7 การผสมพันธุ์ก็จะทำกันในวันที่ 3 ของการเป็นสัด (ของตัวเมีย) โดยจะต้อนตัวเมียเข้าไปหาตัวผู้และให้ผสมกับตัวผู้ตัวแรกในช่วงเช้าจากนั้นก็จะต้อนตัวเมียตัวเดิมให้ไปผสมกับตัวผู้ตัวที่ 2 ในช่วงเย็น

ข้อควรระวังในเรื่องการใช้ตัวผู้เป็นพ่อพันธุ์ ไม่ควรใช้ผสมทุกวัน ทางที่ดีควรใช้ผสมวันเว้นวัน และในวันที่ผสมนั้นให้ผสมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แม่พันธุ์ที่ถูกผสมพันธุ์และผสมติดแล้วจะตั้งท้องนานประมาณ 114-117 วัน (หรือประมาณ 3 เดือน 3 อาทิตย์ 3 วัน) เมื่อได้คำนวณวันที่จะคลอดได้แล้ว ก่อนที่จะคลอดให้เตรียมคอกคลอดเอาไว้ โดยการโรยดินบาง ๆ บนพื้นคอกตลอด เพื่อให้ลูกหมูรู้จักเหมือนกับว่าได้เกิดตามธรรมชาติ และจะล้างดินออกหลังจากคลอดแล้วประมาณ 1-2 อาทิตย์



การคลอดลูกของหมูป่า

ในการคลอดลูกนั้นแม่หมูป่าจะคลอดเอง โดยไม่มีใครไปช่วยทำคลอดแต่อย่างใด เพราะว่าแม่หมูป่าจะดุร้ายมากเข้าไปใกล้ตัวไม่ได้ ต่อคำถามว่าจะสังเกตรู้ได้อย่างไรว่าแม่หมูกำลังอยุ่ในช่วงที่ใกล้คลอด ซึ่งก็ขอได้รับคำตอบว่าแม่หมูป่าก็มีอาการกระวนกระวายเหมือนกับหมูบ้านเรานี่แหละ แต่ความรุนแรงก็มีมากกว่าบางครั้งจะมีการกัดคอกกัดกรง คนเข้าใกล้ไม่ได้เลยจึงต้องปล่อยให้มันคลอดเอง เมื่อแม่หมูคลอดลูกออกมาท่ามกลางกองดินลูกที่คลอดออกมาก็สามารถลุกยืนได้ แต่ถ้าหากว่าคลอดในคอกพื้นปูนแล้วลูกหมูจะยืนไม่ค่อยได้เพราะว่าคอกมีความลื่นทั้งนี้เนื่องจากว่าคอกหมูป่านี้เป็นพื้นปูนที่ขัดมันนั่นเอง


ลูกหมูที่คลอดมาแต่ละครอกมีปริมาณเฉลี่ยแล้วประมาณ 6 ตัว ในแม่หมูสาวจะให้ลูกน้อยกว่าหมูที่มีอายุมาก อย่างไรก็ตามอัตราการรอดของลูกหมูก็มีไม่เกิน 10 ตัว แม้ว่าแม่หมูตัวนั้นจะคลอดลูกได้มากกว่า 10 ตัวก็ตาม ทั้งนี้เพราะว่าเต้านมของหมูป่ามีเพียง 10 เต้าเท่านั้นมีไม่มากเกินนี้ ถ้าหากว่าแม่หมูป่าตัวใดมีเต้านมมากกว่า 10 เต้า แสดงว่าหมูนั้นเป็นหมูลูกผสม


ในขณะเดียวกันการกินนมของลูกหมูจะกินเต้าใครเต้ามัน ฉะนั้นลูกหมูที่มีขนาดเล็กเกิดมาแล้วแย่งเต้านมกับเขาไม่ได้ก็ไม่สามารถกินนมได้ก็ทำให้ผอมตายไป จึงทำให้ลูกหมูแต่ละครอกรอดตายได้ไม่เกิน 10 ตัว แม้ว่าจะนำออกมาเลี้ยงด้วยนมผงก็ตาม แต่ก็เลี้ยงไม่รอดอาจเป็นเพราะว่านมผงไม่มีภูมิต้านทานโรคก็อาจจะเป็นได้ ดังนั้นควรจับให้ลูกหมูได้กินนมน้ำเหลืองซึ่งมีตอนแรกคลอดก่อนทุกตัวเพราะในนมน้ำเหลืองนี้มีภูมิคุ้มกันโรคอยู่มาก


การนำลูกหมูในครอกที่มีเกิน 10 ตัว ไปฝากแม่พันธุ์ตัวอื่น นั้นไม่สามารถทำได้เพราะจะถูกแม่หมูกัดตายเนื่องจากมันรู้ว่าไม่ใช่ลูกของมันโดยสัญชาติญาณนั่นเอง จึงจำไว้ว่าอย่านำลูกหมูป่าจากแม่หนึ่งไปให้อีกแม่เลี้ยง เพราะมันจะขบตายหมดจะเลี้ยงเฉพาะลูกของตัวเอง


ลูกหมูป่าแรกเกิดจะมีลายเป็นแถบเล็ก ๆ สีเหลืองสลับขาวพาดตามความยาวของลำตัวคล้ายลายแตงไทย ลายนี้จะเลือนหายไปเมื่ออายุได้ 4-5 เดือน เมื่อลูกเกิดได้ 3 วันฉีดธาตุเหล็กให้ลูกหมู และให้ระวังการเข้าไปฉีดไว้บ้างเพราะแม่หมูป่าหวงลูกมาก



การเลี้ยงหมูเล็กและแม่พันธุ์หลังคลอด

ลูกหมูหลังคลอดเกิดมาแล้วจะปล่อยให้กินนมแม่ไปเรื่อย ๆ จากลูกหมูมีอายุ 45-50 วันก็จะหย่านม การหย่านมนั้นก็ทำโดยปล่อยลูกหมูให้อยู่ในคอกตามปกติแต่จะไล่ต้อนแม่หมูออกจากคอกไปเลี้ยงยังคอกที่ว่าง แต่ในช่วงก่อนที่จะอย่านมนั้นลูกหมู นอกจากจะได้รับนมจากแม่ของมันแล้วลูกหมูก็จะได้กินอาหารหมูอ่อนตามไปด้วย ทั้งนี้และทั้งนั้นลูกหมูจะเริ่มหัดเลียรางตามแม่ของมันเมื่อมีอายุได้ประมาณ 15 วัน


ฉะนั้นในช่วงนี้จึงต้องใส่อาหารหมูอ่อนให้อาหารนั้นก็เป็นอาหารอัดเม็ดของหมูบ้านที่เลี้ยงกันโดยทั่วไปนั่นเอง ปริมาณการให้อาหารจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามกำลังความสามารถของลูกหมูที่จะกินได้ แม้ว่าจะหย่านมลูกหมูแล้วก็ตาม ลูกหมูก็จะได้รับอาหารอัดเม็ดนี้ต่อไปอีกประมาณ 10 วัน หรือลูกหมูมีอายุประมาณ 60 วันนั่นเอง จึงเปลี่ยนเป็นอาหารลูกขุนซึ่งเป็นอาหารผสมเอง


สำหรับแม่พันธุ์ที่ทิ้งลูกไปแล้วนั้นก็จะเลี้ยงอาหารหมูพันธุ์ตามปกติ ซึ่งจะให้อาหารที่มีโปรตีนประมาณ 13% เท่านั้น ปริมาณการให้ในแต่ละตัวในบรรดาพ่อแม่พันธุ์ทั้งหมดนั้นก็ใช้ตัวละประมาณไม่เกิน 1 กิโลกรัม ต่อวัน การให้อาหารจะให้กินสองเวลาด้วยกันกล่าวคือเวลาเช้า ประมาร 7.00 น. ให้อาหารประมาณ 0.4-0.5 กิโลกรัมและอาจจะให้อีกเวลา 15.00 น.ในปริมาณเท่า ๆ กัน ส่วนน้ำนั้นก็มีให้ตลอดอาจใช้การให้น้ำแบบอัตโนมัติเหมือนกับหมูบ้านที่เลี้ยงกันโดยทั่วไปก็ได้


การให้หัดให้กินน้ำจากที่ให้น้ำอัตโนมัติในช่วงแรกนั้น เพียงแต่กดให้น้ำไหลและเมื่อหมูป่าเกิดความหิวมันก็จะเข้ามากัดก๊อกน้ำกินเอง หลังจากหย่านม 1 อาทิตย์ แม่หมูจะเป็นสัดให้ผสมต่อได้ (ตัวเมียเป็นสัด 21 วันครั้ง) ทำให้ได้ลูก 2 ครอกต่อปี



การเลี้ยงดูหมูขุน

ในการเลี้ยงดูหมูขุนนั้นจะให้อาหารสองเวลา เช้า 7.00 น. และบ่ายเวลา 15.00 น. เหมือนกันโดยให้ในปริมาณ 0.4-0.5 กิโลกรัมต่อเวลาต่อตัว เมื่อลูกหมูมีอายุ 4 เดือนก็จะทำการถ่ายพยาธิและอีก 4 เดือน ถัดไปก็ถ่ายพยาธิอีกครั้ง หมูขุนที่เลี้ยงในฟาร์มนี้ ควรจัดให้อยู่คอกละประมาณ 4 ตัว (คอกขนาด 2-2.50 x 3 เมตร)


ฉะนั้นอาหารที่ให้ก็เฉลี่ยให้รวมทั้ง 4 ตัว อาหารที่ให้นั้นจะมีโปรตีนต่ำเพียง 9% เท่านั้น ระยะขุน 2 เดือนแรกนั้นจะเร่งการเจริญเติบโตถึงการให้อาหารโปรตีน 13% สำหรับอาหารที่ให้นั้นก็มีส่วนประกอบของรำละเอียด ปลายข้าว รำหยาบ และหัวอาหาร รำยาบนั้นให้เพื่อเป็นยาระบายและใส่ลงไปโดยไม่ได้คิดโปรตีนรวมด้วย


การให้อาหารจะเพิ่มปริมาณขึ้นเมื่อหมูโตขึ้นด้วยจนกระทั้งสามารถจับจำหน่ายได้ (การให้อาหารเฉลี่ยตั้งแต่เล็กไปจนจำหน่ายได้นั้นจะใช้ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน)


การเลี้ยงดูหมูขุนเพื่อส่งตลาดเวลาที่เลี้ยงจะแตกต่างกัน คือ ถ้าเป็นพันธุ์หน้าสั้นจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือน ส่วนพันธุ์หน้ายาวจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ทั้งนี้เพราะหมูป่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดก็ตรงหนังของมัน พันธุ์หน้าสั้นหนังจะหนาเร็วเลยถูกเชือดเร็ว พันธุ์หน้ายาวหนังหนาช้าก็ยืดเวลาเชือดออกไปอีก 4 เดือน ทีนี้จะมีคนถามอีกว่าถ้าเอาพันธุ์หน้าสั้นผสมกับพันธุ์หน้ายาว(ตัวผู้หน้ายาวตัวเมียหน้าสั้น) ก็จะได้ลูกผสมที่มีขนาดใหญ่กว่าพันธุ์หน้าสั้น หนังหนาเร็วกว่าพันธุ์หน้ายาว และใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 8 เดือนจึงส่งเชือด เกี่ยวกับต้นทุนค่าอาหาร เมื่อคิดคำนวณต้นทุนอาหารแล้วตกราว 800 กว่าบาทเท่านั้น


ตลอดระยะเวลาเลี้ยงขุน 1 ปีเต็ม ซึ่งจะให้ได้หมูป่าที่มีน้ำหนักประมาณ 60-70 กิโลกรัม แต่เมื่อผ่าซากออกมาแล้วจะได้ส่วนของเนื้อประมาณ 40 กิโลกรัมเท่านั้น คิดคำนวณอัตราการแลกเนื้อแล้วจะได้ประมาณ 2 เท่า เมื่อขายได้ราคาประมาณตัวละสองพันบาทเศษ หากว่าเราสามารถเพาะพันธุ์หมูป่าได้เอง เมื่อคิดหักลบต้นทุนการเลี้ยงด้านต่าง ๆ แล้วจะมีกำไรอยู่ไม่น้อย


อาหารและการให้อาหารเลี้ยงหมูป่า
อาหารนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในหลายๆ อย่างทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าหมูป่าจะเจริญเติบโตให้
ผลผลิตเต็มความสามารถ ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพอาหารที่กินเข้าไปอาหารหลัก คือ ผักและเศษอาหารที่มีอยู่ทั่วไป เช่น ผักบุ้ง ผักตบ หญ้าขน หรืออื่น ๆ ที่พอจะหาได้ แต่ในอาหารที่ให้กินนี้ควรผสมธาตุอาหารอื่นบ้าง เช่น รำ หรือหัวอาหารนิดหน่อยทั้งจะต้องให้ในปริมาณเหมาะสมไม่ใช่กินกันตลอดเวลา หมูป่าจะได้มีเนื้อหนา ไม่มีมัน ถ้าให้หัวอาหารหรืออาหารถุงก็ได้ หมูป่าจะโตไว ตัวใหญ่ แต่ปัญหาจะตามมา คือทำให้มีไขมันมาก หนังไม่กรอบ และไม่หนา ถ้าหมูป่ามีปัญหาแบบนี้ การจำหน่ายจะมีปัญหาทันที



อาหารที่ใช้เลี้ยงหมูป่า แบ่งเป็น 5 ระยะ โดยให้วันละสองมื้อ (เช้า-เย็น)

  1. อาหารสำเร็จหมูดูดนม ให้จนกระทั่งถึงลูกหมูหย่านม
  2. อาหารหมูรุ่น (ช่วงนี้จะกินอาหารประมาณวันละ 0.5 กิโลกรัม) ให้กับลูกหมูหลังหย่านม นาน 2.5 เดือน
  3. อาหารหมูขุน (ช่วงนี้จะกินอาหารประมาณวันละ 0.5 กิโลกรัม)ให้จนหมูมีอายุ 1 ปี แล้วส่งชำแหละจะได้น้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม
  4. อาหารพ่อแม่พันธุ์และระยะหลังตั้งท้อง แม่หมูที่ผสมติดแล้วจะให้กินอาหารวันละ 1 กิโลกรัมเป็นเวลา 2.5 เดือน แล้วจึงให้อาหารเพิ่มขึ้นเป็น 15 กิโลกรัม ต่อวันจนถึงอีก 2 อาทิตย์จะคลอด ให้กินอาหารเพียง 1 กิโลกรม ต่อวัน
  5. อาหารแม่หมูเลี้ยงลูก เมื่อคลอดแล้วให้กินอาหาร 3 กิโลกรัมต่อวัน ว่ากันว่าการให้อาหารหมูป่าจะประหยัดมาก เพราะหมูป่ากินอาหารน้อยกว่าหมูบ้านถึง 5 เท่า อาหารเลี้ยงหมูบ้าน 1 ตัว จึงเลี้ยงหมูป่าได้ 5 ตัว ปกติจะให้อาหารหมูป่าวันละ 2 มื้อ มื้อละครึ่งกิโลกรัม


ส่วนเรื่องน้ำก็ให้เพียงวันละ 1 แกลลอนเท่านั้น การให้อาหารหมูทั่วไป อาจให้อาหารลูกหมูในช่วงแรก ถัดไปจึงเปลี่ยนเป็นอาหารหมูใหญ่


การผสมอาหารต้องไม่ให้หัวอาหารมากเกินไป เพราะมักจะทำให้หมูป่าท้องร่วง ทำให้เปลืองโดยใช่เหตุ แต่ถ้ามีพวก พืช ผัก เช่น เผือก มัน ต้นอ้อย ทีเหลือกินเหลือใช้ จะใช้เป็นอาหารเสริมได้อย่างดี

อาหารสามารถให้ได้โดยเวลาเช้าหั่นหยวกกล้วยแล้วนำไปผสมกับรำข้าว ในอัตราหยวกกล้วย 3 ส่วน รำ 1 ส่วน ให้กินวันละ 2 เวลาเช้า-เย็น ปริมาณการให้จะสังเกตุจากการกินของหมูป่า ว่าตักให้กินขนาดไหนจึงจะพอดี ในช่วงกลางวันอาจเสริมด้วยผักตบชวาหัวมันหรือกล้วย เรื่องการให้อาหารจึงทำได้ง่ายและต้นทุนต่ำ สำหรับน้ำที่ให้กินจะใช้วิธีการตั้งถังเก็บน้ำไว้แล้วปล่อยน้ำไปตามสายยางซึ่งที่สายยางจะต่อที่ให้น้ำสำหรับหมูไว้ ซึ่งเป็นแบบที่ใช้ในฟาร์มทั่วไป

 

หมูป่าชอบกินหญ้าอ่อนเป็นอาหารเหมือนกันโดยเฉพาะหญ้าขน จึงควรที่จะได้จัดหาไปให้หมูป่าได้กิน หรือควรที่จะได้ปลูกไว้ให้กินเป็นอาหารเสริม ยกเว้นเพียง 2 อย่างที่ไม่ควรนำมาเป็นอาหาร ก็คือ ใบกระถินกับมันสำปะหลังดิบ และไม่ควรให้หมูกินเป็นอาหารอย่างเด็ดขาด เนื่องจากมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อหมูป่า


การจัดการและการป้องกันโรค
การเลี้ยงหมูป่ามีความคล้ายคลึงกับการเลี้ยงหมูบ้านมาก จะมีข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันบ้างก็ตรงที่ว่า แสงแดด หมูป่าต้องการแสงแดดมากกว่าหมูบ้าน จึงควรเปิดโอกาสให้มีแสงแดดส่องถึงคอกหมู ความสงบ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหมูป่าตกใจง่าย ประสาทสัมผัสรับรู้เร็วที่สุด โดยเฉพาะเรื่องเสียง หากมีเสียงดังแล้วจะวิ่งกันไม่หยุดโดยเฉพาะเล็บของหมูป่าจะตะกุยกับพื้น มาก ๆ เข้ามันแรงขนาดขุดพื้นปูนจนมีกลิ่นเหม็นไหม้เลยทีเดียวฉะนั้นพื้นหินจึงจำเป็นจะต้องขัดมันใครที่คิดว่าการเลี้ยงหมูป่าจะต้องการให้หมูป่าออกกำลังกายมากหรือวิ่งมาก ๆ เพื่อไม่ให้มีไขมันนั้นจึงไม่เป็นเรื่องจริง ความสะอาด ในด้านความสะอาดก็เช่นกันหมูป่าแทนที่จะชอบเลอะเทอะเหมือนว่าอยู่ดง แต่ความจริงชอบความสะอาด ควรจะมีการฉีดน้ำล้างคอกทุกวันและราดน้ำยาฆ่าเชื้อทุกอาทิตย์จะช่วยป้องกันโรคได้ดีมาก หากโรงเรือนหรือคอกเลี้ยงทำให้สะอาดดีแล้วจะไม่มีปัญหาอะไรเกี่ยวกับโรค เพราะปกติหมูป่ามีความต้านทานโรคสูงอยู่แล้ว ไม่มีโรคประจำตัวอะไรมากนัก



การป้องกันโรค
หมูป่าไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคนักเพราะเป็นสัตว์ที่แข็งแรงอยู่แล้ว อาจมีบ้างก็ในลูกหมูก่อนหย่านม เช่นท้องร่วง โรคปอดบวม แต่มีอาการเพียงเล็กน้อยเมื่อให้ยาที่ถูกต้องก็ไม่มีปัญหาอะไร (โรคของหมูป่ามันจะไม่ค่อยแสดงอาการเป็นโรคให้เห็น ถ้าหากว่าโรคยังคุกคามไม่มาก เมื่อหมูไม่แสดงอาการตั้งแต่แรกที่โรคเข้าแทรกก็ทำให้เราไม่รู้ว่าหมูเป็นโรค จะรู้ก็ต่อเมื่อโรคแทรกซ้อนมากขึ้นจนแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว จึงแสดงอาการให้เห็น บางตัววันนี้ยังสังเกตเห็นท่าทางยังปกติอยู่แต่เมื่อถึงวันรุ่งขึ้นหมูตัวนั้นก็นอนตายคาคอกก็มี)


โรคอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วนี้ก็มีโรคขี้เรื้อน ซึ่งมักจะเกิดในหน้าหนาว แต่โรคนี้เราก็สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการฉีดยา โดยในการฉีดยานั้น ให้ฉีดไปบนสันหลังของหมูป่า ทั้งนี้คนฉีดจะอยู่นอกคอก เมื่อหมูป่าเข้าใกล้ก็เอาเข็มจิ้มลงไปบนหลังแล้วฉีดปล่อยยาเข้า


ถ้าเป็นหมูใหญ่จะมีเรื่องการถ่ายพยาธิทุก 6 เดือน พร้อมทั้งต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่สำคัญในหมู เช่น โรคอหิวาต์ โดยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ ซึ่งจะเข้ามาช่วยดูแลและให้คำแนะนำในเรื่องของการฉีดวัคซีนป้องกันโรค


อย่างไรก็ตามระหว่างการเลี้ยงหมูป่าในปัจจุบันแทบจะไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับโรคภัย จึงเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจในการลงทุนเลี้ยงหมูป่าได้เป็นอย่างดี


http://www.thaifeed.net/animal/wildboar/









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-05 (1564 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©