-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 358 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สัตว์เลี้ยง





สิริพร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

ปลาหมอ ไม่ตายเพราะปาก แต่เลี้ยงแล้วรวย

สุภาษิตโบราณว่าไว้ ปลาหมอตายเพราะปาก หมายถึง คนที่ชอบพูดพล่อยๆ หรือพูดแสดงความอวดดี จนตัวเองต้องรับเคราะห์ก็เพราะปากของตนเอง สำนวนนี้มาจากปลาหมอที่อยู่ในลำน้ำ มักชอบผุดขึ้นฮุบเหยื่อหรือน้ำบ่อยๆ จนเป็นที่สังเกตของนักจับปลาได้ว่า ปลาหมออยู่ตรงไหน ก็เอาเบ็ดล่อลงไปตรงนั้นไม่ค่อยพลาด แต่ปลาหมอในที่นี้ นอกจากจะไม่ทำให้ใครเดือดร้อนแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้เลี้ยงอย่างดีทีเดียว

ปัจจุบันนี้ พบว่ามีผู้นิยมบริโภคเนื้อปลาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเนื้อปลามีโปรตีนเพื่อสุขภาพ ย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ แต่พบว่าปลามีจำนวนลดลงและไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค รวมทั้งปลาที่เลี้ยงตามแหล่งน้ำธรรมชาติประสบปัญหาโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง เช่น ปลานิล และปลาทับทิม เนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติเสื่อมโทรม และมีการปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลงทำให้ปลาตายจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลากและในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ดังนั้น การเลี้ยงปลาหมอไทยแปลงเพศในบ่อดินจึงได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมีความทนทาน เลี้ยงง่าย ใช้น้ำน้อย สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดินขนาดต่างๆ ในกระชังในแหล่งน้ำนิ่ง และเลี้ยงในบ่อพลาสติค รวมทั้งยังขนส่งง่ายโดยไม่ต้องใช้ออกซิเจน

ปลาหมอไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anabas testudineus (Bloch) เป็นปลาที่รู้จักและนิยมบริโภคอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศไทย ขณะที่ผลผลิตปลาหมอไทยส่วนใหญ่ได้มาจากการทำประมงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นผลพลอยได้จากการวิดบ่อจับปลาสลิด กุ้ง และปลาชนิดอื่นๆ ในช่วงที่การเลี้ยงกุ้งกุลาดำประสบปัญหาโรคระบาด เกษตรกรบางส่วนหันมาเลี้ยงปลาหมอไทยและประสบความสำเร็จจนกระทั่งมีเกษตรกรขยายพื้นที่การเลี้ยงปลาหมอไทยมากขึ้น แต่ยังติดในเรื่องของการผลิตลูกพันธุ์ที่เพียงพอและมีคุณภาพ เนื่องจากการเลี้ยงที่ผ่านมายังใช้ลูกพันธุ์ที่ยังไม่แปลงเพศ ทำให้ได้ปลาที่เป็นเพศผู้สูงถึง 40-50% สามารถจำหน่ายได้ในราคาเพียงกิโลกรัมละ 20-40 บาท ทำให้เกษตรกรมีกำไรน้อย แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคและวิธีการในการพัฒนาสายพันธุ์และผลิตลูกปลาหมอไทยแปลงเพศ ตลอดจนการจัดการที่เหมาะสมตลอดการเลี้ยง ทำให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงปลาหมอไทยแปลงเพศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีเกษตรกรขยายพื้นที่การเลี้ยงปลาหมอไทยจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และกาฬสินธุ์ แต่ก็พบว่ายังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

"เนื้อปลาหมอไทยให้โปรตีนมากกว่าเนื้อไก่และเนื้อหมูเกือบเท่าตัว อีกทั้งมีไขมันต่ำกว่าถึง 30 เท่า กรดไขมันที่ได้จากเนื้อปลาเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ถึง 2 เท่า ของกรดไขมันอิ่มตัว อันเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย และยังมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสมากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น เนื้อปลาหมอไทยสามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น ย่าง ต้มยำ ฉู่ฉี่ ทอด รวมทั้งปลาหมอแดดเดียว ตลาดมีความต้องการสูง ทำให้ราคาปลาของตลาดภายในประเทศขยับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ" ผศ.ดร. โฆษิต ศรีภูธร กล่าว

ปลาหมอไทย อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วๆ ไป สามารถปรับตัวเจริญเติบโตเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำกร่อย มีความเค็มไม่เกิน 7 ส่วน ของ 1,000 ส่วน (psu.) ได้ เป็นปลาที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม เนื่องจากมีอวัยวะพิเศษช่วยหายใจ ปลาหมอไทยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า ปลาเข็ง ภาคเหนือ เรียกว่า ปลาสะเด็ด และภาคใต้ตอนล่าง เรียกชื่อเป็นภาษายาวี ว่า อีแกปูยู ชาวบ้านทั่วๆ ไปเรียกว่า ปลาหมอ ดังนั้น ปลาหมอไทยจึงสามารถพัฒนาเลี้ยงได้ในแหล่งพื้นที่ดินเค็มในทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นการลดความเสี่ยงและใช้ทรัพยากรบ่อดินที่มีอยู่ในประเทศอย่างคุ้มค่า

ปลาหมอไทย มีรูปร่างค่อนข้างแบน ลำตัวมีสีน้ำตาลหรือคล้ำ ส่วนท้องมีสีขาวหรือเหลืองอ่อน ลำตัวมีเกล็ดแข็ง กระพุ้งแก้มมีลักษณะเป็นหนามหยักแหลมคม ใช้ในการปีนป่าย บริเวณโคนหางมีจุดกลมสีดำ ปลาหมอไทยเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ เพศผู้มีลักษณะลำตัวเรียวยาวในฤดูวางไข่ ส่วนท้องของปลาเพศเมียจะอูมเป่ง ลูกพันธุ์ปลาหมอไทยควรมาจากฟาร์มที่เชื่อถือได้ ลูกปลาที่ดีควรจะมาจากพ่อแม่ที่มีการคัดสายพันธุ์และมีการสุขาภิบาลฟาร์มที่ดี ลักษณะลูกพันธุ์ที่ดีจะต้องแข็งแรง ครีบไม่กร่อน หางไม่ขาด ไม่มีแผลตามลำตัว และได้รับการแปลงเพศเป็นเพศเมียด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงจะทำให้การเลี้ยงประสบความสำเร็จและมีกำไรมาก เนื่องจากปลาหมอเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ 3-4 เท่า และมีราคามากกว่าถึง 3 เท่า

สำหรับการเลือกสถานที่เลี้ยงนั้น นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้การเลี้ยงปลาหมอไทยประสบผลสำเร็จ จึงควรทำด้วยความรอบคอบ โดยลักษณะดิน ควรเป็นดินเหนียว หรือดินเหนียวปนทราย น้ำไม่รั่วซึม สามารถเก็บกักน้ำได้ 4-6 เดือน ไม่ควรเลือกพื้นที่ที่เป็นดินทรายหรือดินปนกรวด พื้นที่เลี้ยงควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ที่มีน้ำตลอดปี หรืออยู่ในเขตชลประทาน หากเป็นพื้นที่อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ควรพิจารณาปริมาณฝนที่ตกในรอบปีด้วย แต่ถ้าพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีน้ำน้อยต้องปรับเทคนิคการเลี้ยงให้เหมาะสม

ผศ.ดร. โฆษิต กล่าวว่า การเตรียมบ่อก่อนที่จะปล่อยลูกพันธุ์นั้น ควรกำจัดวัชพืชรอบบ่อ กำจัดศัตรูของลูกปลา ใช้มุ้งอวนไนล่อนสีฟ้ากั้นรอบบ่อ หว่านปูนขาวขณะดินชื้น ในอัตรา 50-100 กิโลกรัม ต่อไร่ กรองน้ำเข้าบ่อเลี้ยง ควรมีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพเพียงพอตลอดการเลี้ยง มีการทำสีน้ำโดยใส่ปุ๋ยมูลไก่ 100 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อเพิ่มอาหารธรรมชาติซึ่งควรเติมหัวเชื้อโรติเฟอร์และไรแดงลงในบ่อก่อนปล่อยลูกปลา 3 วัน วัดและปรับคุณภาพน้ำให้เหมาะสมอยู่เสมอ ทั้งก่อนการปล่อยลูกปลาและในระหว่างการเลี้ยง เช่น ค่าความเป็นกรด-ด่าง 7.5-8.5 ค่าความเป็นด่าง 100-150 มิลลิกรัม ต่อลิตร ของแคลเซียมคาร์บอเนต การเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก 7-10 วัน เป็นต้น อัตราการปล่อยมีความเหมาะสมกับขนาดของบ่อ มีการจัดการเรื่องของการป้องกัน และรักษาโรคเป็นระยะ วัสดุอุปกรณ์อื่นๆ เช่น อาหารที่เหมาะกับความต้องการของปลาหมอในแต่ละช่วงอายุ เวชภัณฑ์และสารปรับน้ำ เช่น ยารักษาโรค วิตามิน วัสดุปูนแคลเซียมและซีโอไลต์ น้ำยาตรวจคุณภาพน้ำ ตารางเพื่อใช้ในการบันทึกอาหารแต่ละมื้อ เครื่องชั่ง (ชั่งอาหารและปลา) และเครื่องวัด (สุ่มวัดขนาดปลาอย่างสม่ำเสมอ) อุปกรณ์อื่นๆ เช่น สวิง เกลือ เครื่องสูบน้ำ ฯลฯ

พร้อมกันนี้ ผศ.ดร. โฆษิต กล่าวถึง การเลี้ยงปลาหมอไทยให้ประสบความสำเร็จและมีกำไรสูงว่า จะต้องใช้พันธุ์ปลาหมอที่มีการคัดเลือกสายพันธุ์มาแล้ว และมีการแปลงเป็นเพศเมียโดยใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ได้ปลาเพศเมียประมาณ 85% เนื่องจากปลาเพศเมียจะมีขนาดลำตัวใหญ่ และเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว และที่สำคัญต้องมีอาหารที่มีคุณภาพ รวมทั้งเทคนิคการจัดการเฉพาะ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจึงมีความมั่นใจมากในการเลี้ยงปลาหมอให้มีรายได้สูง เป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและสร้างงานให้กับคนว่างงานในท้องถิ่น

"ปลาหมอไทยแปลงเพศเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 3 เดือน จะมีขนาด 100-150 กรัม สามารถเลี้ยงได้หนาแน่นในพื้นที่จำกัด (25-50 ตัว ต่อตารางเมตร) ให้ผลผลิตสูงถึง 3-4 ตัน ต่อไร่ และยังใช้น้ำในปริมาณน้อย เนื่องจากปลาหมอมีความทนทานและมีอวัยวะช่วยสำหรับหายใจ จึงตัดปัญหาของปลาตายเนื่องจากการขาดออกซิเจน ปัจจุบันตลาดมีความต้องการปลาหมอไทยจำนวนมาก มีการผลิตจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดสกลนครมีการจำหน่ายถึงวันละ 1,000-1,500 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายในตลาดสูงถึงกิโลกรัมละ 100-120 บาท ดังนั้น ในการเลี้ยงปลาหมอไทยแปลงเพศในบ่อดิน กระชังแหล่งน้ำนิ่ง และบ่อพลาสติค จึงเป็นอาชีพทางเลือกของเกษตรกรในปัจจุบัน สามารถสร้างงานและสร้างรายได้อย่างมหาศาล" ผศ.ดร. โฆษิต กล่าว

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผลผลิตปลาหมอไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2543 กรมประมง รายงานว่า มีผลผลิตปลาหมอไทยทั้งหมด 7,200 เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 207 ล้านบาท เป็นผลผลิตจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 6,730 เมตริกตัน และจากการเพาะลี้ยง 470 เมตริกตัน โดยบริโภคในรูปของปลาสด 84% ปลาร้า 12% และอื่นๆ เช่น ตากแห้ง รมควัน 4% ซึ่งในอดีตผลผลิตปลาหมอจากธรรมชาติสูงมาก แต่ปัจจุบันลดลงมาก และยังพบว่าพันธุ์ปลาหมอตามธรรมชาติมีขนาดเล็กลง เคยมีรายงานว่ามีความยาวเพียง 23 เซนติเมตร และได้มีการเริ่มพัฒนาพันธุ์ปลาหมอเพื่อนำมาพัฒนาสายพันธุ์สำหรับการเพาะเลี้ยงต่อไปจนถึงปัจจุบัน แต่ในปี 2544-2548 พบว่า มีการเพาะเลี้ยงมากขึ้นตามลำดับและสามารถผลิตปลาหมอจากการเลี้ยงแบบหนาแน่น 3,800 ตัน ในปี 2544 และเพิ่มเป็น 7,000 ตัน ในปี 2548 ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงจะจำหน่ายในท้องถิ่น 48% และห้องเย็นเพื่อส่งออก 52% ปัจจุบันมีการเลี้ยงแบบหนาแน่นมาก (super intensive system) และขยายพื้นที่การเลี้ยงจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย ในจังหวัดสกลนครและกาฬสินธุ์ ถือว่าเป็นแหล่งผลิตลูกพันธุ์ปลาหมอที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีการขยายบ่อเลี้ยงจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างมหาศาล เพื่อทดแทนสัตว์น้ำหลายชนิดที่ประสบปัญหาโรคระบาดและมีราคาต่ำ

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.โฆษิต ได้ทำการวิจัยร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) พบว่า การพัฒนาเลี้ยงปลาหมอเชิงพาณิชย์ของโฆษิตฟาร์ม สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาของคนว่างงาน คนสูงอายุ และคนพิการ ที่สามารถประกอบอาชีพได้ โดยเกษตรกรที่เลี้ยงปลาหมอแปลงเพศเป็นอาชีพหลักกับโฆษิตฟาร์ม สามารถสร้างรายได้ทุกเพศทุกวัย ประมาณ 80% ของเกษตรกรในอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ที่เลี้ยงปลาหมอเป็นอาชีพ เป็นผู้มีอายุตั้งแต่ 60-70 ปี ซึ่งสามารถเลี้ยงปลาหมอคนละ 1-2 ไร่ ให้อาหารวันละ 2-3 มื้อ เป็นการออกกำลังกาย ทำให้คนสูงอายุไม่เหงา และที่สำคัญสามารถสร้างรายได้สูงถึงไร่ละ 30,000 บาท ต่อเดือน (กว่า 100,000 บาท ต่อไร่ ต่อรุ่น)


ตัวอย่างที่ 1
คุณลุงสนอง แขกวันวงค์ อายุ 63 ปี (บ้านแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร) เลี้ยงปลาหมอ 10,000 ตัว (บ่อขนาด 400 ตารางเมตร) เลี้ยง 2 เดือนครึ่งถึง 3 เดือน

1. ต้นทุน รวม = 33,880 บาท

1.1 ค่าพันธุ์ 10,000 ตัว ตัวละ 0.60 บาท = 6,000 บาท

1.2 ค่าอาหาร (อัตรารอด 80% 8,000 ตัว ขนาด 10 ตัว ต่อกิโลกรัม = 800 กิโลกรัม)

(อัตราแลกเนื้อ 1.4x800 กิโลกรัม = ใช้อาหาร 1,120 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 24 บาท) = 26,880 บาท

1.3 ค่าอื่นๆ น้ำมัน, ยา = 1,000 บาท

2. การจำหน่าย ขนาด 100-125 กรัม ต่อตัว (8-10 ตัว ต่อกิโลกรัม) 800 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 65 บาท = 52,000 บาท

3. กำไร = 18,120 บาท (เลี้ยง 1 ไร่ จะมีกำไร ประมาณ 72,480 บาท)


ตัวอย่างที่ 2
คุณยายสมัย สุวรรณชัยรบ อายุ 68 ปี (บ้านไฮหย่อง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร) เลี้ยงปลาหมอ 25,000 ตัว (บ่อ 800 ตารางเมตร) เลี้ยง 2 เดือนครึ่งถึง 3 เดือน

1. ต้นทุน รวม = 148,250 บาท

1.1 ค่าพันธุ์ 25,000 ตัว ตัวละ 0.6 บาท = 15,000 บาท

1.2 ค่าอาหารทั้งหมด 130,250 บาท

1.3 ค่ายาและการจัดการอื่นๆ 3,000 บาท

2. การจำหน่าย ขนาด 100-125 กรัม ต่อตัว (8-10 ตัว ต่อกิโลกรัม) 3,050 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 65 บาท = 198,250 บาท

3. กำไร = 50,000 บาท (เลี้ยงบ่อขนาด 1 ไร่ จะมีกำไรถึง 100,000 บาท)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผู้จัดการฟาร์ม คุณชัยธวัช ไชยเชษฐ์ โทร. (083) 141-1416



ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-05 (1637 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©