-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 227 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

ข่าวเกษตร







พานิชย์ ยศปัญญา panit@matichon.co.th

เขียวอำพัน ชมพู่พันธุ์ใหม่ ณ ถิ่นดำเนินสะดวก

ชมพู่ยุคเก่าก่อนของไทยมีหลายสายพันธุ์ อาทิ น้ำดอกไม้. แก้มแหม่ม. แขกดำ. เพชรสายรุ้ง. กะหลาป๋า. ขาว เขียว. นก. นาก. น้ำ. พลาสติค. มะเหมี่ยว. สาแหรก. สากกระเบือ.  เป็นต้น

ชมพู่หลายสายพันธุ์ ล้มหายตายจากไป แต่มีบางอย่างยังคงอยู่ เช่น เพชรสายรุ้ง ของเพชรบุรี ส่วนน้ำดอกไม้พอพบเห็นบ้างไม่มากนัก

หากเป็นชมพู่ยุคใหม่ขึ้นมาหน่อยก็มีทูลเกล้า เพชรน้ำผึ้ง เพชรสามพราน แดงอินโดฯ

ที่ครองตลาดอยู่ในปัจจุบัน เป็นสายพันธุ์อื่นไปไม่ได้ นั่นก็คือ...ทับทิมจันท์ การเขียนชื่อชมพู่สายพันธุ์ บางคนเขียนว่า "ทับทิมจันทร์" แต่จริงๆ แล้ว "ทับทิมจันท์" ถูกต้องที่สุด เพราะต้นตอของชมพู่สายพันธุ์นี้ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ถูกนำเข้ามาปลูกและศึกษาอย่างจริงจังครั้งแรกที่จังหวัดจันทบุรี ด้วยลักษณะของผิวผลที่สวยสดงดงามดังทับทิม จึงตั้งชื่อว่า ทับทิมจันท์

งานพัฒนาพันธุ์ชมพู่ หลักๆ แล้วได้จากสองทางด้วยกัน

ทางแรก...ได้จากการกลายพันธุ์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แมลงทำหน้าที่ผสมให้ ชมพู่ที่ได้จากการกลายพันธุ์ โดยฝีมือมนุษย์ แทบไม่มีให้เห็น แต่บางคราว ผู้ค้าต้นพันธุ์ อาจจะอำว่า ตนเองจับโน่นผสมนี่ จริงๆ แล้วยาก

ทางที่สอง...เป็นทางลัด คือนำเข้ามา อย่างชมพู่เพชรน้ำผึ้ง แดงอินโดฯ (มานาลากี) และสุดท้ายคือทับทิมจันท์

ชมพู่ เป็นไม้ผลที่ปลูกมากแถบภาคกลางและภาคตะวันตก เช่น นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สภาพทั่วไปของการปลูก ชาวสวนจะยกร่อง มีน้ำหล่อตรงกลาง อย่างไรก็ตาม พื้นที่สภาพไร่ก็มีปลูกเช่นกัน ปัจจัยที่จะหนุนส่งให้การปลูกชมพู่ประสบผลสำเร็จคือแหล่งน้ำ

ไม้ผลชนิดนี้ หลังปลูกจะให้ผลผลิตเร็ว เพียงปีเศษๆ เจ้าของก็เก็บผลผลิตได้แล้ว จากนั้นก็เก็บผลผลิตไปนาน

เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มภาคกลางและภาคตะวันตก เป็นเกษตรกรหัวไวใจสู้ เปลี่ยนแปลงเร็ว อย่างปลูกลำไยเพชรสาครทะวายแล้วราคาตกต่ำ ก็จะหันมาปลูกชมพู่

หรือปลูกองุ่นแล้วต้นแก่ ก็หันมาปลูกชมพู่แทน

เมื่อปลูกชมพู่สายพันธุ์แรก รายได้ไม่ดี ก็ปลูกสายพันธุ์อื่นแทน

เปรียบเทียบกับไม้ผลชนิดอื่น ชมพู่ถือว่าสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกไม่น้อย ดังนั้น จะเห็นว่า แถบอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เกษตรกรจะยืนหยัดผลิตชมพู่ โดยเกษตรกรรายหนึ่ง อาจจะหมุนเวียนปลูกมะพร้าวน้ำหอมแล้วมาปลูกชมพู่ หรือปลูกมะนาว เมื่อมะนาวอายุมากขึ้น ก็มาปลูกชมพู่แทน อย่างนี้เป็นต้น

คุณสุรินทร์ เกียรติหงสา เกษตรกรอยู่บ้านเลขที่ 321 หมู่ 4 ตำบลบ้านไร่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ยึดอาชีพปลูกชมพู่มานาน สายพันธุ์ที่ปลูกอย่างเป็นล่ำเป็นสันคือทูลเกล้า เจ้าของบอกว่า ชมพู่ทูลเกล้า สามารถทำให้ออกนอกฤดูได้ดี

ระยะต่อมา คุณสุรินทร์ จึงปลูกชมพู่ทับทิมจันท์ตามเพื่อนชาวสวนคนอื่นๆ แต่ยังคงชมพู่ทูลเกล้าไว้ส่วนหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้ว เกษตรกรที่เป็นเพื่อนบ้านของคุณสุรินทร์ จะโละชมพู่พันธุ์เก่าทิ้งทั้งหมด เมื่อปลูกพันธุ์ใหม่ สาเหตุที่เกษตรกรรายนี้ยังคงมีชมพู่ทูลเกล้าอยู่บ้าง เขาบอกว่า เพื่อลดความเสี่ยง อีกทั้งยังเป็นทางเลือกสำหรับผู้ซื้อ

ในระหว่างที่คุณสุรินทร์ยกสวนใหม่ เพื่อปลูกชมพู่ทับทิมจันท์นั้น ชมพู่ที่ปลูกใหม่ได้ตายลงจำนวน 3-4 ต้น เจ้าของเห็นว่า มีชมพู่ที่เกิดจากเมล็ดขึ้นอยู่ข้างๆ ร่องสวน จึงขุดย้ายลงปลูกตำแหน่งที่ชมพู่ทับทิมจันท์ตาย

"ชมพู่ที่ขึ้นเองจากเมล็ดมีหลายต้น แต่ผมขุดขึ้นมาแซมต้นที่ตาย" คุณสุรินทร์บอก

ชมพู่ทับทิมจันท์ที่ปลูกให้ผลผลิตก่อนอย่างแน่นอน จากนั้นก็เป็นทีของชมพู่ที่ได้จากเมล็ดบ้าง มีชมพู่ที่ได้จากเมล็ดต้นหนึ่ง ลักษณะไม่เหมือนใคร เจ้าของจึงเฝ้าดูเป็นพิเศษ เพราะจะบอกว่าเป็นชมพู่ทูลเกล้าก็ไม่ใช่ จะเป็นทับทิมจันท์ก็ยิ่งไม่ใช่ใหญ่

เพราะคุณสมบัติที่โดดเด่น คุณสุรินทร์จึงได้ขยายพื้นที่ปลูก เมื่อมีผลผลิตแล้วทดลองนำออกเผยแพร่ดู ปรากฏว่ามีการตอบรับดี

เมื่องานเกษตรแห่งชาติ วันที่ 28 มกราคม 2553 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของได้นำชมพู่เข้าประกวด ปรากฏว่าได้ที่ 2 แพ้ชมพู่จากเพชรบุรีไปเส้นยาแดงผ่าแปด

เจ้าของบอกว่า ชมพู่ที่เกิดจากเมล็ด น่าจะเป็นลูกผสมระหว่างชมพู่ทูลเกล้าและทับทิมจันท์ ลักษณะนั้น เจ้าของอธิบายว่า รูปทรงของผลคล้ายทับทิมจันท์ แต่ผิวผลเขียวกว่าชมพู่ทูลเกล้า บางฤดูกาล โดยเฉพาะอากาศเย็น จะขึ้นสีออกอำพัน จึงตั้งชื่อให้ชมพู่ว่า "เขียวอำพัน"

ชมพู่เขียวอำพัน มีขนาดของผลที่ใหญ่สุดเคยชั่งได้ 4-6 ผล ต่อกิโลกรัม เนื้อกรอบนอก นุ่มใน เนื้อไม่เหนียว ก้นผลสีชมพู มีริ้วสีชมพูที่ผล ซึ่งชมพู่ทูลเกล้าไม่มี ความหวานหากเจ้าของสวนบำรุงรักษาดี ให้น้ำไม่มากนักก่อนเก็บเกี่ยว เคยวัดความหวานได้ 16 บริกซ์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ชมพู่ความหวานอยู่ที่ 14 บริกซ์

"ปลูกจากต้นเมล็ดมา 6 ปีแล้ว ปัจจุบันมีอยู่ 460 ต้น จุดเด่น ทำให้ออกนอกฤดูได้ง่าย พันธุ์อื่นตอนนี้เริ่มทำออกนอกฤดูยาก ทำแล้วผลสั้น" คุณสุรินทร์บอก

สำหรับราคาซื้อขายนั้น เจ้าของบอกว่า เคยขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2553 วันไปสัมภาษณ์คุณสุรินทร์ ชมพู่ทับทิมจันท์ขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท แต่เขียวอำพันขายได้ 40 บาท เจ้าของบอกว่า การผลิตชมพู่พันธุ์นี้ง่ายกว่าพันธุ์ทั่วไป โดยที่ดูแลรักษาคล้ายกัน แต่ได้ผลผลิตดีกว่า

ผู้สนใจชมพู่พันธุ์นี้ สอบถามกันได้ตามที่อยู่ หรือ โทร. (086) 071-0950



ชมพู่ ผลไม้คุณค่าสูง

ชมพู่ เป็นไม้ผลที่มีคนนิยมปลูกมาก เพราะปลูกง่าย โตเร็ว มีรสชาติหวานกรอบ มีวิตามินซีสูง นิยมนำไปฝากญาติมิตร เพราะเป็นผลไม้ที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคเนื่องจากการปลูกชมพู่ต้องห่อผล ระยะเวลาการห่อผล 20-25 วัน ฤทธิ์ของสารเคมีต่างๆ หมดลงแล้ว หลังจากซื้อมาแล้วนำมาล้างผลด้วยน้ำสะอาดนิดหน่อย รับประทานได้เลย

ชมพู่จัดเป็นไม้ผลเมืองร้อน มีถิ่นกำเนิดแถบประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกับหว้า และยูคาลิปตัส

ชมพู่มีลำต้นค่อนข้างใหญ่ สูงประมาณ 15-25 เมตร ลำต้นขรุขระไม่ตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก สีน้ำตาลคล้ำ ใบค่อนข้างใหญ่เรียวยาวเป็นมัน ดอกสีขาวเป็นแบบชนิดดอกสมบูรณ์เพศ ดอกใหญ่มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ผลมีลักษณะคล้ายระฆังคว่ำ เนื้อสีขาวถึงขาวขุ่น ภายในผลหนึ่งๆ จะมี 1-3 เมล็ด เวลาแก่จัด เมล็ดจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลเข้ม

สรรพคุณของชมพู่และวิธีใช้ ชมพู่มีสรรพคุณใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ส่วนที่ใช้เป็นยาคือ เนื้อของผลชมพู่ โดยนำเอาเนื้อของชมพู่มาทำเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้เกิดความสดชื่น เพราะมีกลิ่นหอม โดยการเอาเนื้อชมพู่แห้งมาบด หรือรับประทานสดก็ได้ จะเกิดความสดชื่นขึ้นมาทันที สามารถนำมาบำรุงหัวใจได้ เพราะชมพู่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ

คุณค่าทางโภชนาการในผลชมพู่ จะมีน้ำตาล วิตามินเอ (สูง) มีวิตามินซี และวิตามินอื่นๆ มีแร่ธาตุ เช่น ฟอสฟอรัส มีคาร์โบไฮเดรต และอื่นๆ

ผลของชมพู่ มีสรรพคุณใช้เป็นยาชูกำลัง บำรุงหัวใจ และทำให้ชุ่มชื่น ใยของชมพู่ มีสรรพคุณใช้เป็นยาลดไข้ แก้ตาเจ็บ ส่วนเมล็ดชมพู่ ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย

วิธีทำน้ำชมพู่

ส่วนผสม ชมพู่ 5 ผล น้ำเชื่อม 1/3 ถ้วย เกลือป่น 1/4 ช้อนชา และน้ำต้มสุก 2 ถ้วย

วิธีทำ ให้ล้างชมพู่ให้สะอาด ผ่าเอาเมล็ดและไส้ออก หั่นชิ้นเล็กๆ แล้วใส่ลงในโถปั่น ใส่น้ำสุกแล้วปั่นให้เข้ากันดี จากนั้นใส่น้ำเชื่อม เกลือป่น แล้วจึงปั่นอีกครั้งหนึ่ง ให้เข้ากันให้ดี ใส่น้ำแข็งดื่มขณะเครื่องดื่มกำลังเย็น สดชื่น ชุ่มชื่นหัวใจ


ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน









สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.

ติดประกาศ: 2010-05-05 (1361 ครั้ง)

[ ย้อนกลับ ]
Content ©