-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 637 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สับปะรด




หน้า: 2/3




พานิชย์ ยศปัญญา panit@matichon.co.th

สวนเพชรรุ่งเรือง ยืนหยัดปลูก  สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี   สับปะรดแกะเนื้อกินได้โดยไม่ต้องปอกเปลือก สร้างรายได้มาต่อเนื่องยาวนาน

เรื่องราวของสับปะรดพันธุ์เพชรบุรี ซึ่งวิจัยโดยศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชนนานพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่ราวปีสองปีมานี่เอง ชื่อเสียงของสับปะรดพันธุ์นี้ ดังระเบิดเถิดเทิง

ในงานเกษตรมหัศจรรย์ วันเทคโนโลยีชาวบ้าน ครั้งที่ 2 ณ ห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ บางแค เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ผู้จัดงานมีตัวอย่างไปแสดงเพียงน้อยนิด แต่ผู้เข้าชมงานมีความต้องการซื้อจำนวนมาก

หลังงานเลิก จึงขออาสาไปพิสูจน์แปลงปลูก เพื่อนำเรื่องราวมาให้ทราบกัน ใครสนใจก็แวะซื้อหาได้ ซึ่งจะระบุที่อยู่ เบอร์โทร.ไว้ ให้ทราบ

เริ่มต้นจากอาชีพรับจ้าง....ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกกว่า 200 ไร่
สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี ออกเผยแพร่สู่เกษตรกรผู้ปลูกนานแล้ว แต่คนสนใจปลูกไม่มากนัก ทราบว่า บางคนปลูกแล้วไถทิ้ง แต่มีเกษตรกรอยู่รายหนึ่ง ที่เริ่มต้นจาก จำนวน 100 ต้น ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอยู่ 20 ไร่ จำนวน 1.5 แสนต้น เกษตรกรที่ว่าคือ คุณรุ่งเรือง ไล้รักษา อยู่บ้านเลขที่ 136 หมู่ที่ 11 ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เดิมคุณรุ่งเรือง เป็นคนอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เข้าไปอยู่ที่ตำบลหินเหล็กไฟเมื่อปี 2515 เขาเริ่มอาชีพรับจ้างทั่วไป จากนั้นเก็บเงินซื้อที่ดินภายในครอบครัวได้ 32 ไร่

เมื่อมีที่ดิน อาชีพเริ่มต้นคือทำพืชไร่ จนกระทั่ง ปี 2526 จึงปลูกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียเพื่อส่งโรงงาน จากการทำงานอย่างจริงจัง คุณรุ่งเรืองเก็บเงินซื้อที่ดิน ทีละเล็กทีละน้อย ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกสับปะรดกว่า 200 ไร่

นอกจากปลูกสับปะรดอย่างจริงจังแล้ว คุณรุ่งเรือง ยังเป็นคนที่ใฝ่หาความรู้ เมื่อปี 2541 ราคาสับปะรดส่งโรงงานตกต่ำมากถึง 3 ปีซ้อน กิโลกรัมละ 1.60 บาท คุณรุ่งเรือง พยายามหาสายพันธุ์สับปะรดสายพันธุ์ใหม่มาปลูก เขาสอบถามไปหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นทางใต้ ทางเหนือ ทางตะวันออก แต่สุดท้ายมาพบที่ใกล้ๆ บ้านเขานั่นเอง คือสับปะรดพันธุ์เพชรบุรี วิจัยโดยศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี ตั้งอยู่ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ชื่อใหม่ของสถานที่แห่งนี้ อย่างเป็นทางการคือ "ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี" ยังขึ้นตรงกับสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คุณรุ่งเรืองได้ต้นพันธุ์สับปะรดลงปลูกที่แปลงของตนเอง จำนวน 100 ต้น จากนั้นเขาได้ขยายออกจนมีพื้นที่ปลูกมากขึ้น

เพื่อนๆ คุณรุ่งเรืองที่ไปด้วยกัน 4 คน ขยายได้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่พื้นที่ปลูกมีอยู่ราว 1 งาน

หลังมีผลผลิต เกษตรกรรายนี้นำผลผลิตไปจำหน่ายที่ตลาดหัวหิน เขาขายได้กิโลกรัมละ 10 บาท ส่วนสับปะรดทั่วไปราคาไม่ถึง 2 บาท ช่วงนั้นการนำเสนอให้กับลูกค้า เป็นการปอกเปลือกอย่างสับปะรดทั่วไป ไม่ได้แกะตาอย่างทุกวันนี้ แต่ก็ได้รับความสนใจ เพราะจุดเด่นของสับปะรดพันธุ์นี้ อยู่ที่เนื้อสีเหลืองสวย รสชาติหวาน


มั่นใจ จึงขยายเพิ่ม
คุณรุ่งเรือง บอกว่า ตนเองได้ปลูกสับปะรดพันธุ์เพชรบุรี เปรียบเทียบกับสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียที่ส่งโรงงาน รวมทั้งขายผลสด โดยใช้ปัจจัยการผลิตเท่ากัน ผลที่ออกมา สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี รสชาติดีกว่า

เกษตรกรรายนี้ อธิบายคุณสมบัติของสับปะรดพันธุ์เพชรบุรี ว่า ผลสวย มีเอกลักษณ์ตรงที่ปลายผลเจริญไม่เต็มที่ แต่ไม่ถือว่าเป็นข้อเสีย เพราะทรงผลสม่ำเสมออยู่แล้ว ตรงนี้อาจจะเป็นข้อดี ทำให้มีการปลอมปนไม่ได้

"สับปะรดเพชรบุรี เวลาสุก จะสุกพร้อมกันทั้งลูก แต่พันธุ์อื่นเริ่มสุกจากโคนผลก่อน ทำให้ความหวานไม่สม่ำเสมอ...สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี เนื้อแห้ง กรอบ ไส้กรอบกินได้หมด เนื่องจากมีกรดน้อย จึงไม่กัดลิ้น" คุณรุ่งเรือง บอก

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง ที่ฮือฮามากคือ สับปะรดสายพันธุ์นี้ สามารถแกะเนื้อกินได้ ทีละตา โดยไม่จำเป็นต้องปอกเปลือก

เมื่อมีผลผลิต เจ้าของนำผลผลิตไปทดลองตลาด ปรากฏว่าผลตอบรับดี จึงปลูกเรื่อยมา รวมระยะเวลาปลูกจริงจังกว่า 10 ปีมาแล้ว


ปลูกสับปะรด ต้องเอาใจใส่
สับปะรดขยายพันธุ์โดย

หนึ่ง...หน่อดิน เป็นหน่อที่แตกชิดกับพื้นดิน เจริญเติบโตเร็ว
สอง...หน่ออากาศ อยู่ที่โคนขั้วผล เมื่อนำไปปลูกเจริญเติบโตและให้ผลผลิตเร็ว
สาม...หน่อตะเกียง อยู่ใต้ผล เจริญเติบโตรองจากหน่ออากาศและหน่อดิน
สี่...จุก ใช้ทำพันธุ์ได้ แต่ช้ากว่าส่วนอื่น

เจ้าของบอกว่า หน่อที่มีขนาดใหญ่ หลังปลูก 8 เดือน ให้ดอกได้ หน่อขนาดกลาง 9 เดือน ให้ดอกได้ หน่อขนาดเล็ก 10 เดือนให้ดอกได้

การนำหน่อลงปลูก เจ้าของจะคัดขนาดให้มีความใกล้เคียงกัน เช่น หน่อใหญ่ แยกต่างหาก หน่อกลาง แยกต่างหาก เพราะจะง่ายต่อการจัดการ เช่น การให้ปุ๋ย รวมทั้งการบังคับให้ออกดอก ในแปลงหากต้นต่างกัน มีต้นใหญ่ ต้นเล็ก การออกดอกจะไม่สม่ำเสมอ

เกษตรกรรายนี้ ปลูกสับปะรดเก็บผลผลิตครั้งเดียวแล้วไถปลูกใหม่ เพราะจะง่ายต่อการจัดการ เกษตรกรบางรายปลูกเก็บผลผลิต 1-2 ปี โดยอาศัยหน่อแตกขึ้นมาใหม่ๆ คล้ายๆ การปลูกอ้อย

คุณรุ่งเรือง อธิบายวิธีการเตรียมดินว่า เมื่อเก็บผลผลิตเก็บหน่อ จะตีป่นเปลือกและต้น พร้อมกับใส่ปุ๋ยหมักที่สั่งซื้อจากนครปฐม จำนวน 1 ตัน ทิ้งไว้ 3-6 เดือน บางคราวก็ปีหนึ่ง เมื่อถึงเวลาปลูกก็ไถแล้วยกร่อง โดยทำแปลงกว้าง 40 เซนติเมตร ส่วนทางเดินกว้าง 80 เซนติเมตร ปลูกสับปะรดแถวคู่ ระยะระหว่างต้น 28 เซนติเมตร ระหว่างแถว 40 เซนติเมตร ไร่หนึ่งปลูกได้ราว 8,000 ต้น

ตั้งแต่ปลูก จนบังคับให้ออกดอก หรือเรียกว่า "ฟอร์ซ" ใช้เวลา 8 เดือน
ตั้งแต่ปลูก จนเก็บผลผลิตได้ ใช้เวลา 12-14 เดือน
สับปะรดมีราคาแพงสุดในรอบปี อยู่ราวเดือนสิงหาคม

เจ้าของบอกว่า สามารถปลูกสับปะรดเดือนไหนก็ได้ ไม่ว่าจะหน้าฝน หน้าแล้ง แต่ปลูกหน้าแล้ง อย่างเดือนเมษายนดีที่สุด เพราะการจัดการง่าย เช่น การเตรียมดิน ปลูกแล้วก็ไม่ต้องรดน้ำ รอจนฝนตกต้นสับปะรดไม่ตาย

หลังปลูก เมื่อดินมีความชื้นบ้าง เจ้าของจะฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดวัชพืช ที่เรียกว่า "ยาคุมหญ้า"

หลังปลูกได้ 2 เดือน จึงให้ปุ๋ยทางใบ ที่ประกอบด้วย ยูเรีย 45 กิโลกรัม เหล็ก 5.6 กิโลกรัม สังกะสี 1.5 ขีด และโพแทสเซียม 1.5 กิโลกรัม ผสมน้ำ 1,500 ลิตร ฉีดพ่นให้ 5 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 เดือน

ส่วนผสมอย่างเหล็กและสังกะสี เขามีจำหน่ายตามร้านเคมีเกษตร ไม่ใช่ว่าสังกะสีไม่มีแล้วไปตัดสังกะสีมุงหลังคามาใช้ ผู้สนใจใช้ตามอย่างเกษตรกรรายนี้ ไปถามตามร้าน เขาสามารถบอกได้

ผ่านการให้ปุ๋ยทางใบครั้งสุดท้ายได้เดือนหนึ่ง ใส่ปุ๋ยทางดินที่โคนต้น จำนวนต้นละ 1 ช้อนกาแฟ สูตร 16-16-16

เมื่อปลูกได้ 10 เดือน ก็ถึงเวลาบังคับให้สับปะรดออกดอกพร้อมกันทั้งสวน เมื่อก่อนนิยมใช้ถ่านแก๊ส ผสมน้ำหยอดที่ยอดสับปะรด ปัจจุบันเกษตรกรบอกว่า ช้า ไม่ทันใจ

วิธีการใหม่ในการบังคับ ที่เกษตรกรเรียกว่า ฟอร์ซ ประกอบด้วยสารอีทีฟอน 900 ซีซี ยูเรีย 27 กิโลกรัม โบรอน 7 ขีด ผสมน้ำ 1,500 ลิตร ฉีดพ่นไปที่ต้นสับปะรด เจ้าของพ่นให้ราว 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน แต่ครั้งหลังไม่ผสมโบรอน หลังจากฟอร์ซไป 1 เดือน จะเริ่มมีดอกโผล่ออกมา เมื่อดอกโผล่ได้ 3 เดือน สับปะรดก็เริ่มสุกแก่ เก็บผลผลิตจำหน่ายได้

พื้นที่ปลูกสับปะรดของคุณรุ่งเรือง 20 ไร่ มีจำนวน 1.5 แสนต้น เจ้าของจะฟอร์ซทีละ 5,000 ต้น ห่างกัน 1 สัปดาห์ ก็จะมีผลผลิตเก็บอย่างต่อเนื่อง

การดูแลรักษา ก่อนเก็บผลผลิตเป็นเรื่องสำคัญ
เจ้าของแนะนำว่า หลังสับปะรดออกดอกได้ 2 เดือน เจ้าของให้ปุ๋ยทางใบ สูตร 7-12-34 เป็นปุ๋ยเกล็ด โพแทสเซียมซัลเฟต จำนวน 7.5 กิโลกรัม และอาหารเสริมไมเทค (มีธาตุอาหาร 12 ชนิด) ผสมน้ำ 1,500 ลิตร ฉีดพ่นให้ 2 ครั้ง

การห่อผลเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อผลสับปะรดอายุได้ 3 เดือน ก่อนเก็บราว 1 เดือน นั่นเอง ต้นทุนการห่อนั้นเจ้าของบอกว่า ตกผลละ 15 สตางค์

"ต้องห่อ ไม่รู้ว่าแดดจะแรงเมื่อไหร่ ลงทุน 15 สตางค์ ดีกว่าเสียไป 40-50 บาท กระดาษที่ใช้ เป็นหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ มติชน ก็ได้ กระดาษหนาๆ ไม่ดี เพราะซื้อมาเป็นกิโลฯ กระดาษหนาเปลือง" คุณรุ่งเรือง บอก

พื้นที่แถบคุณรุ่งเรืองทำสวนอยู่ เป็นดินทราย แต่เป็นเรื่องประหลาด ผืนดินแถบนั้น มีไว้สำหรับปลูกสับปะรดจริงๆ เพราะผลผลิตที่ได้รสชาติหวานล้ำลึก


ตลาดไปได้ดี
สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี เป็นพืชพรรณที่เยี่ยมยอด ผลผลิตมีรสชาติดี แต่การปลูกและดูแลรักษาต้องดีพอสมควร

มีสิ่งดีๆ แล้ว ดูแลรักษาไม่ดี สิ่งที่มีอยู่ก็คงมีค่าไม่มาก อย่างเช่น นักฟุตบอล มีรองเท้ายี่ห้อเดียวกับ เวย์น รูนีย์ นักเตะสุดฮ็อต ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ คริสเตียโน โรนัลโด้ ของรีลมาดริด แต่ไม่ฝึกซ้อม ก็คงไม่มีประโยชน์

กรณีการนำสับปะรดพันธุ์นี้ไปปลูกก็เช่นกัน หากดูแลไม่ดี ผลอาจจะมีขนาดเล็กลง รสชาติก็หวานสู้ที่เดิมไม่ได้

โดยรวมแล้ว สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี ได้ผลผลิตต่อไร่ 7 ตัน สับปะรดปัตตาเวียได้ผลผลิตมากกว่า แต่เมื่อจำหน่ายแล้ว สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี ได้เงินมากกว่า

เจ้าของเล่าว่า ก่อนฟอร์ซ ผู้ปลูกสับปะรดจะรู้เลยว่า สับปะรดที่ตนเองปลูกอยู่จะได้น้ำหนักผลเท่าไร

อย่างต้นสับปะรดมีน้ำหนัก 3 กิโลกรัม เมื่อมีผลออกมา จะได้น้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม
หากต้นสับปะรดมีน้ำหนัก 4 กิโลกรัม เจ้าของจะได้น้ำหนักผล 2 กิโลกรัม
เอาสองหารน้ำหนักต้นนั่นเอง ที่ได้ตัวเลขแบบนี้ การดูแลต้องดีพอสมควร

สิ่งหนึ่งที่เป็นผลพลอยได้ค่อนข้างดี ในการปลูกสับปะรดก็คือ การจำหน่ายหน่อ พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกสับปะรด 8,000 ต้น เมื่อเก็บผลผลิต เจ้าของจะแต่งใบ เพื่อให้หน่อเจริญเติบโต หลังจากเก็บผลผลิตแล้ว 2 เดือน จึงเก็บหน่อจำหน่ายได้ สับปะรด 1 ต้น ให้หน่ออยู่ที่ 3-5 หน่อ

การซื้อขายสับปะรดพันธุ์เพชรบุรี ปัจจุบันนี้ คุณรุ่งเรือง บอกว่า ซื้อง่าย ขายคล่อง เมื่อปี 2541-2542 จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 10 บาท ปัจจุบันขายได้เพิ่มขึ้น

สำหรับผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ผลผลิตมีจำหน่ายเป็นช่วงๆ ที่ตลาด อ.ต.ก. สอบถามได้ที่ร้าน "พรหมภัสสร" ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟฟ้า และที่ตลาด บอง มาร์เช่ ร้าน "เมตตา"

สำหรับ คุณรุ่งเรือง ติดต่อได้ตามที่อยู่ และเบอร์โทร. (085) 299-6701 ส่วนกรุงเทพฯ ติดต่อที่ คุณกุ้ง ลูกสาวคุณรุ่งเรือง โทร. (085) 185-4261 และ คุณติ๊ก (084) 426-2676

แปลงปลูกสับปะรดของคุณรุ่งเรือง มีชื่อว่า "สวนเพชรรุ่งเรือง" การเดินทางไปสวนแห่งนี้ไม่ยาก
ไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านอำเภอเมืองเพชรบุรี บ้านลาด ท่ายาง ก่อนเข้าชะอำ มีถนนบายพาสไปปราณบุรี เลี้ยวไปตามบายพาส จะไปพบสี่แยก ทางที่จะไปตำบลหนองพลับ น้ำตกป่าละอู วัดห้วยมงคล หลวงปู่ทวดใหญ่ที่สุดในโลก

เลี้ยวขวาไปสักพัก มีสี่แยก หากเลี้ยวซ้ายเข้าวัดห้วยมงคล ให้เลี้ยวขวาไป จะพบที่ทำการ อบต.หินเหล็กไฟ สวนเพชรรุ่งเรือง อยู่เลยไปนิดเดียว เขามีป้ายบอกชัดเจน ส่วนหลังคาบ้านสีเขียว


สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี....แกะผลกินได้โดยไม่ต้องปอกเปลือก
กรมวิชาการเกษตรวิจัยสับปะรด "พันธุ์เพชรบุรี" หรือที่รู้จักกันว่า "สับปะรดไต้หวัน" มีลักษณะเด่น บริเวณปลายผลคอดเล็ก ตาค่อนข้างใหญ่และนูนเล็กน้อย ทำให้สามารถแกะผลย่อยออกกินได้ทันทีไม่ต้องปอก รสหวาน หอมแรง และเนื้อกรอบ กำลังได้รับความนิยมอย่างยิ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ได้ให้มีการพัฒนาพันธุ์สับปะรดกว่า 10 ปี จนกระทั่งได้สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี หรือที่เรียกกันว่า สับปะรดไต้หวัน ที่กินได้ทันทีโดยไม่ต้องมานั่งปอกเปลือกเหมือนเช่นสับปะรดทั่วไป ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากตลาดอย่างมาก

ลักษณะพิเศษของสับปะรดพันธุ์เพชรบุรีดังกล่าวคือ สามารถแกะผลย่อย หรือตา (fruitlet) ออกจากกันได้ง่าย ทำให้สามารถแกะผลย่อยออกมากินได้โดยไม่ต้องปอกเปลือก อีกทั้งแกนผลยังสามารถกินได้ รสหวานอมเปรี้ยว มีปริมาณกรดต่ำ กลิ่นหอมแรง เนื้อกรอบ สีเนื้อเหลืองอมส้มสม่ำเสมอ ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ภูเก็ต และสวี 17.7% และ 23.2% ตามลำดับ สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย

สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี เป็นพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Queen เช่นเดียวกับพันธุ์ภูเก็ต สวีหรือตราดสีทอง มีทรงพุ่มปานกลาง ใบค่อนข้างสั้น หนามลักษณะเป็นตะขอม้วนขึ้นไปหาปลายใบ มีช่อดอกแบบรวม (Spike) ดอกเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน กลีบดอกสีน้ำเงินปนม่วง

สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี มีลักษณะผลรวม ทรงเจดีย์ คือด้านล่างของผลใหญ่ บริเวณปลายจะคอดเล็ก ตาบริเวณปลายผลติดกับจุกไม่พัฒนา 2-3 รอบ ผลขนาดปานกลาง น้ำหนักเฉลี่ย 1.00 กิโลกรัม ผลกว้างเฉลี่ย 11.9 เซนติเมตร ผลยาวเฉลี่ย 19.0 เซนติเมตร ตาค่อนข้างใหญ่และนูนเล็กน้อย โดยมีอายุการเก็บเกี่ยวราว 126 วัน มีสีเปลือกผลแก่สีเขียว ผลสุกสีเหลืองอมส้ม (Yog 17 A-B) สีเหลืองอมส้ม (Yog 16 A-B)

สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี เดิมเป็นพันธุ์ของประเทศไต้หวัน ในชื่อพันธุ์ Tainan 41 ในปี 2530 โดย คุณสณทรรศน์ นันทะไชย เป็นผู้นำพันธุ์มาจากบริษัทส่งออกสับปะรด

คุณดนัย นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี บอกว่า อีกไม่นานนัก อาจจะมีสับปะรดสายพันธุ์ใหม่ จากศูนย์ออกเผยแพร่



ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน


***************************************************************************************


ว่าที่ ร.ต.หญิง พิมพ์ใจ กัญชนะ

สับปะรดนางแล ของดีขึ้นชื่อ จังหวัดเชียงราย
รสหวานกรอบ ปลูกง่าย ให้ผลผลิตมีคุณภาพ


สับปะรด เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวจำพวกไม้เนื้ออ่อนที่มีอายุหลายปี สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี รวมทั้งปลูกได้ในสภาพดินแทบทุกแห่งของประเทศไทย มีช่อดอกที่ส่วนยอดของลำต้น เมื่อเจริญเป็นผลแล้วจะเจริญต่อไป นอกจากนี้ ตาที่ลำต้นยังสามารถเติบโตเป็นต้นใหม่ได้อีก สับปะรดแบ่งออกตามลักษณะความเป็นอยู่ได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ พวกที่มีระบบรากหาอาหารอยู่ในดิน หรือเรียกว่าไม้ดิน พวกอาศัยอยู่ตามคาคบไม้หรือลำต้นไม้ใหญ่ ได้แก่ ไม้อากาศต่างๆ ที่ไม่แย่งอาหารจากต้นไม้ที่มันเกาะอาศัยอยู่ พวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ประดับและพวกที่เจริญเติบโตบนผาหินหรือโขดหิน ส่วนสับปะรดที่ใช้บริโภคจัดเป็นไม้ดิน แต่ยังมีลักษณะบางประการของไม้อากาศเอาไว้ คือสามารถเก็บน้ำได้ตามซอกใบได้เล็กน้อย มีเซลล์พิเศษสำหรับเก็บน้ำเอาไว้ในใบ ทำให้ทนทานต่อความแห้งแล้ง พันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 5 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ปัตตาเวีย พันธุ์อินทรชิต พันธุ์ขาว พันธุ์ภูเก็ตหรือสวี และพันธุ์นางแลหรือน้ำผึ้ง

สับปะรดพันธุ์นางแล ถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงราย ปลูกกันมากในพื้นที่ตำบลนางแล ตำบลท่าสุด และตำบลแม่ข้าวต้ม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ตามสันเขาดอยนางแลที่ขนานไปกับถนนสายเชียงราย-แม่จัน

คุณปรีชญา พุดน้อย หัวหน้ากลุ่มงานบริหารกองทุน FAT สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า พื้นที่เพาะปลูกสับปะรดสายพันธุ์ปัตตาเวีย (Smooth Cayenne) ในประเทศไทยมีประมาณ 5 แสนไร่ ผลิตสับปะรดสดได้ จำนวน 2,278,566 ตัน ส่วนใหญ่นำไปแปรรูปเพื่อส่งออกโดยมีมูลค่าการส่งออก เมื่อปี 2551 ประมาณ 122,511 ล้านบาท ประเทศไทยมีการส่งออกสับปะรดผลสด แช่เย็น แช่แข็ง โดยมีตัวเลขในการส่งออกเมื่อเดือนมกราคม-มีนาคม 2552 จำนวนเพียง 958 ตัน และมีมูลค่าการส่งออก ประมาณ 13.8 ล้านบาท ตลาดหลักที่ส่งออกสับปะรดผลสดไทย ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา อิหร่าน สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฯลฯ

ปัจจุบันประเทศไทยได้จัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้แล้ว 5 ข้อตกลง ได้แก่ อาเซียน-จีน ออสเตรเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) สินค้าเกษตรภายใต้พิกัดศุลกากร 0804.30 ประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้ประเทศไทยส่งออกสับปะรดผลสดไปจำหน่ายได้ โดยคิดอัตราภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ (0) จากเดิมการนำเข้าสับปะรดผลสดของประเทศไทยจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 17 โดยให้โควต้าในการส่งออกสับปะรดผลสดปีที่ 1 จำนวน 100 ตัน ปีที่ 2 จำนวน 200 ตัน ปีที่ 3 จำนวน 300 ตัน ปีที่ 4 จำนวน 400 ตัน และปีที่ 5 จำนวน 500 ตัน และเป็นสับปะรดผลสดที่มีน้ำหนักผลรวมทั้งเปลือก 900 กรัม มีหรือไม่มีจุกก็ได้ สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) จึงเป็นเครื่องมือที่ประเทศไทยควรนำมาใช้เพื่อช่วงชิงโอกาสและขยายช่องทางการตลาดของสินค้าสับปะรดผลสดไทยโดยเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจแก่เกษตรกรผู้ผลิตและผู้ส่งออกผลไม้ไทย ตลอดห่วงโซ่การผลิตและการตลาด เพื่อส่งออกสับปะรดผลสดของไทย ดังนั้น ทางกระทรวงพาณิชย์จึงได้ขอความร่วมมือจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ปรับปรุงคุณภาพของสับปะรดให้ได้ตามเกณฑ์ที่ญี่ปุ่นได้กำหนดไว้

รศ.ดร.พิทยา สรวมศิริ หัวหน้าโครงการพัฒนาคุณภาพด้านการผลิตและการตลาดเพื่อการส่งออกสับปะรดผลสดไทยไปยังประเทศญี่ปุ่น ภายใต้สิทธิประโยชน์ทางการค้าตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) กล่าวว่า "การทำโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ตลอดจนเสริมสร้างความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกร ผู้ส่งออกของไทยให้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตและการตลาด ไปสู่การผลิตสับปะรดผลสดคุณภาพเพื่อการส่งออกอย่างครบวงจร รวมถึงขยายโอกาสทางการค้าของสับปะรดผลสดจากประเทศไทยด้วยกระบวนการผลิตภายใต้มาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม (Good Agricultural Practice, GAP) และภายใต้มาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสมของประเทศญี่ปุ่น (JAS) ภายหลังจากเข้าร่วมโครงการกับกระทรวงพาณิชย์ โดยการพัฒนาคุณภาพผลผลิตภายใต้การเปิดเสรีทางการค้า ได้ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสับปะรดในพื้นที่ของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดไว้พอสมควร โดยคาดว่าในช่วงเดือนเมษายน 2553 จะมีผลผลิตที่มีคุณภาพส่งไปประเทศญี่ปุ่นได้"

คุณสิงห์แก้ว และ คุณยุพินทร์ หัตถะผสุ สองสามีภรรยา เกษตรกรผู้นำ ซึ่งได้รับรางวัลที่ 1 การประกวดผลผลิตสับปะรดระดับจังหวัด อยู่บ้านเลขที่ 205 หมู่ที่ 12 ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เล่าว่า "ตนเองปลูกสับปะรดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 พันธุ์ที่ปลูกเป็นพันธุ์นางแล มีลักษณะของพันธุ์นางแล ผลทรงกลม ตานูน เปลือกบาง รสหวาน ผลแก่มีเนื้อในสีเหลืองเข้ม เยื่อใยน้อยเหมาะสำหรับบริโภคสด และพันธุ์ภูแล มีลักษณะให้ผลเล็กเท่ากำปั้น แต่เนื้อในกรอบและหวาน ไม่ฉ่ำน้ำ พื้นที่ปลูก 13 ไร่ โดยเมื่อเริ่มปลูกจะทยอยปลูกแต่ละแปลงไม่ให้พร้อมกัน เพื่อให้ผลผลิตออกตลอดทั้งปี

การปลูกสับปะรดเริ่มจากการเตรียมดิน โดยการไถพรวนดินให้ลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตร เป็นการเปิดหน้าดินเพื่อระบายน้ำและอากาศ หลังจากนั้นปรับระดับหน้าดินให้เท่ากันเพราะถ้าหน้าดินไม่เท่ากันจะเกิดน้ำขังได้ ภายหลังจากไถหน้าดินเรียบร้อยแล้ว ทิ้งไว้ประมาณ 10-30 วัน แล้วจึงนำเอาหน่อสับปะรดที่เตรียมไว้มาปลูก ซึ่งการปลูกสับปะรดต่อไร่ใช้หน่อ ประมาณ 3,000-3,500 ต้น หลังจากปลูกเรียบร้อยแล้วสับปะรดจะให้ผลผลิตเมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 โดยแต่ละต้นให้ผลผลิตเพียง 1 ลูก ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกแล้วจะทำการบำรุงดูแลต้นเพื่อให้ลำต้นแตกหน่อออกผลผลิตในรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 ซึ่งอายุของสับปะรดที่ปลูกแต่ละครั้งมีอายุประมาณ 4-5 ปี หลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ครบอายุแล้ว จะรื้อสับปะรดในแปลงออกแล้วไถพรวนดินตากไว้ประมาณ 10-30 วัน เพื่อให้เชื้อโรคที่อยู่ในแปลงที่ปลูกสับปะรดมาก่อนนั้นตาย จึงจะทำการปลูกสับปะรดต้นใหม่

ส่วนการดูแลรักษาต้นสับปะรดนั้นไม่ยาก แทบไม่ต้องใส่ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า เพราะสับปะรดแทบไม่มีศัตรูพืช หากฉีดพ่นยาฆ่าแมลงก็จะทำให้รสชาติเสียไป การลงทุนน้อยเพียงแต่ตัดหญ้า พรวนดินและบำรุงด้วยปุ๋ยคอกตลอดทั้งปี ก็จะทำให้ผลผลิตออกผลได้เป็นอย่างดี ถือได้ว่าสับปะรดเป็นพืชที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เมื่อออกผลเล็กๆ ใช้ใบห่อผลไว้เพื่อให้ต้นและใบหล่อเลี้ยงผลอย่างเต็มที่ ไม่แตกยอดใบเพิ่ม กระทั่งผลสุกจึงแกะใบออกเก็บผลผลิต ผลที่สุกมากจัดให้อยู่ในระดับเกรดเอหรือน้ำหนึ่ง โดยใช้นิ้วดีดจะมีเสียงแน่นและลดหลั่นเสียงกันลงไปซึ่งเกษตรกรจะทราบเทคนิคนี้กันดี ด้วยภูมิปัญญาที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษทำให้ทราบว่าถ้าจะให้ผลผลิตเลิศรสต้องเก็บเฉพาะช่วง 4-5 เดือน (เมษายนถึงสิงหาคม) เท่านั้น ทำให้ช่วงเดือนเมษายนผลผลิตจะผลิตไม่พอกับตลาด

ผลผลิตที่ได้แต่ละครั้งจะมีพ่อค้ามารับซื้อที่แปลงและนำไปส่งให้กับผู้จำหน่ายตามสองข้างทางเชียงราย-แม่จัน ส่วนของราคาโดยประมาณของสับปะรดพันธุ์นางแล กิโลกรัมละ 5-15 บาท เฉพาะเกรดเอหรือที่เรียกว่าน้ำหนึ่งได้ราคากิโลกรัมละ 15 บาท และราคาของสับปะรดพันธุ์ภูแล กิโลกรัม 8-20 บาท น้ำหนึ่งได้ราคากิโลกรัมละ 20 บาท"

ผู้สนใจโครงการพัฒนาคุณภาพด้านการผลิตและการตลาดเพื่อการส่งออกสับปะรดผลสดไทยไปยังประเทศญี่ปุ่น ภายใต้สิทธิประโยชน์ทางการค้าตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) หรือสนใจปลูกสับปะรดพันธุ์นางแล และพันธุ์ภูแล รสชาติดี ติดต่อสอบถามได้ที่ รศ.ดร.พิทยา สรวมศิริ โทร. (081) 672-4151 หรือคุณสิงห์แก้ว คุณยุพินทร์ หัตถะผสุ โทร. (053) 705-388 และ (084) 741-0264


ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน
 




หน้าก่อน หน้าก่อน (1/3) - หน้าถัดไป (3/3) หน้าถัดไป


Content ©